มหากาพย์พุทธจริต ตอน พระกุมารโพธิสัตว์โต้วาทะพระเจ้าสุทโธทนะ

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 1 มีนาคม 2016.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    มหากาพย์พุทธจริต แปลโดยอาจารย์สำเนียงเลื่อมใส ตอน พระกุมารโพธิสัตว์โต้วาทะพระเจ้าสุทโธทนะ
    [​IMG]
    สรรค ที่ 5

    อภินิษฺกฺรมโณ นาม ปญฺจมะ สรฺคะ

    ชื่อ อภินิษฺกฺรมณ

    (การเสด็จออกผนวช)

    1 พระโอรสของพระเจ้าศากยะแม้จะถูกยั่วยวนด้วยวัตถุเครื่องเร้าอารมณ์ที่มีค่ามากมายอย่างนั้น แต่ก็ไม่ทรงถือความยินดีและไม่ทรงได้รับความสุขเลย เปรียบเหมือนราชสีห์ถูกแทงที่หัวใจด้วยลูกศรอาบยาพิษอย่างลึก

    2 ในคราวครั้งนั้น พระกุมารผู้ต้องการความสงบด้วยทรงมีพระประสงค์จะทอดพระเนตรพื้นที่ป่า เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วจึงเสด็จประพาสข้างนอกโดยมีบุตรอำมาตย์ที่มีความประพฤติเรียบร้อยและพูดจาไพเราะเฝ้าตามเสด็จเป็นพระสหาย

    3 พระกุมารเสด็จขึ้นทรงม้าสายพันธุ์ดีชื่อกันถกะ ซึ่งมีกระดิ่งติดบังเหียนทำด้วยทองใหม่ๆ และมีเครื่องประดับที่เป็นทองงามแวววาวเพราะขนจามรีกวัดแกว่งไปมา ได้เสด็จออกไปเหมือนกับดอกกรรณิการ์ประดับอยู่บนเสาธง

    4 เพราะความอยากได้ป่าและเพราะพื้นดินมีคุณสมบัติดี พระกุมารจึงเสด็จเข้าไปสู่พื้นที่แนวป่าไกลยิ่งกว่าเดิมและทอดพระเนตรเห็นพื้นดินถูกไถพลิกกลับไปมาเหมือนกันคลื่นน้ำ

    5 ครั้นทอดพระเนตรเห็นพื้นที่บริเวณนั้นมีหญ้าอ่อนถูกใบไถตัดขาดกระจัดกระจาย ดาดาษไปด้วยไส้เดือน แมลง และสัตว์เล็กสัตว์น้อยซึ่งถูกฆ่าตายเช่นนั้น พระกุมารจึงทรงสลดพระทัยอย่างหนักราวกับพระญาติของพระองค์ถูกประหาร

    6 เมื่อทอดพระเนตรเห็นบุรุษที่กำลังไถมีผิวกายมหองคล้ำเพราะลม แสดงแดดและฝุ่นละอองทอดพระเนตรเห็นวัวที่ทุกข์ทรมานเพราะความเหน็ดเหนื่อยจากการลากไถ พระกุมารผู้ประเสริฐสูงสุดจึงบังเกิดความกรุณาสงสารเป็นอย่างยิ่ง

    7 จากนั้น พระกุมารผู้ทรงเต็มเปี่ยมด้วยความสลดพระทัย ครั้นเสด็จลงจากหลังม้าแล้วจึงเสด็จดำเนินไปบนพื้นดินช้าๆ เมื่อทรงคิดใคร่ครวญถึงความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของโลก พระองค์จึงเปล่งอุทานออกมาด้วยความทุกข์ว่า "โลกนี้ช่างน่าสงสารจริงๆ"

    8 พระกุมารผู้ทรงปรารถนา ความเงียบสลัดครั้นห้ามพระสหายทั้งหลายที่คอยติดตามไว้แล้วจึงเสด็จเข้าไปสู่โคนแห่งต้นหว้าซึ่งมีใบอันสวยงามเคลื่อนไหวอยู่โดยรอบในที่ไม่มีผู้คน

    9 ณ ที่นั้น พระกุมารทรงประทับนั่งบนภาคพื้นที่สะอาดซึ่งมีหญ้าเขียวสดงดงามดั่งแก้วไพฑูรย์และขณะที่ทรงใคร่ครวญถึงความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของโลก พระองค์ก็ทรงก้าวขึ้นสู่หนทางแห่งความตั้งมั่นในพระทัย

    10 พระกุมารเมื่อทรงมีความตั้งมั่นในพระทัยอย่างสมบูรณ์และทรงหลุดพ้นจากความปรารถนาต่อวัตถุเครื่องเร้าอารมณ์เป็นต้น จึงได้บรรลุประถมธยาน๑ อันสงบ ซึ่งมีวิตก (ความตรึก) และวิจาร (ความตรอง) แต่ไม่มีความกระวนกระวายในพระทัยทันที

    ปรฺถม-ธฺยาน ตรงกับคำบาลีว่า ปฐมฌาน ได้แก่ ฌานที่ 1 ในรูปฌาน 4ปฐมฌานมีองค์ประกอบ 5 คือ 1 วิตก (ความตรึก) 2 วิจาร(ความตรอง) 3 ปิติ(ความอิ่มใจ) 4 สุข (ความสุข) 5 เอกัคคตา (ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว)

    11 จากนั้น เมื่อทรงบรรลุความตั้งมั่นพระทัยอันเกิดจากวิเวกซึ่งมีปิติและสุขเป็นส่วนสำคัญแล้ว ต่อมาพระกุมารจึงเจริญสมาธิที่สูงขึ้นไปพร้อมกับทรงพิจารณาใคร่ครวญถึงความเป็นไปในโลกด้วยพระทัยอย่างละเอียดว่า

    12 "น่าสงสารจริงหนอที่คนบางคนทั้งๆที่ตนเองก็ยังช่วยตัวไม่ได้ ยังมีความเจ็บ ความแก่ และความตายเป็นธรรมดา ทั้งยังไม่รู้แจ้งและยังมืดมนเพราะความมัวเมา แต่กลับปรารถนาที่จะรังเกียจคนอื่นที่เดือดร้อนเพราะชรา ที่เจ็บป่วย และที่ตาย"

    13 "เพราะถ้าเราผู้มีลักษณะเช่นนี้พึงประพฤติรังเกียจคนอื่นที่มีสภาพเช่นเดียวกันในโลกนี้ สิ่งนั้นนับว่าไม่สมควรและไม่เหมาะกับเราผู้รู้แจ้งชั้นสูงนี้เลย"

    14 เมื่อพระกุมารทรงพิจารณาเห็นโทษจากความเจ็บป่วย ความแก่ และความตายของชาวโลกตามเป็นจริงอย่างนี้ ความมัวเมาที่สถิตอยู่ในพระทัยซึ่งเกิดจากความเชื่อว่าตนยังมีเรียวแรงดี มีความหนุ่มแน่นและยังมีชีวิตอยู่ ก็ได้หมดสิ้นไปโดยฉับพลัน

    15 พระกุมารไม่ทรงสนุกสนาน ไม่ทรงเศร้าโศก ไม่ทรงลังเลสงสัย ไม่ทรงง่วงเหงาหาวนอน ไม่ทรงยินดีในกามคุณ ไม่ทรงรังเกียจ และไม่ทรงดูหมิ่นคนอื่นเลย

    16 พุทธิอันบริสุทธิ์และปราศจากความกำหนัดของพระกุมารผู้มีพระทัยประเสริฐได้เจริญเพิ่มพูนขึ้นด้วยประการฉะนี้ (ต่อมา) บุรุษคนหนึ่งผู้ถือเพศแห่งภิกษุได้เดินเข้าไปหาพระองค์อย่างสงบโดยที่คนอื่นๆมองไม่เห็น

    17 พระราชกุมารตรัสถามบุรุษนั้นว่า "ขอจงบอกด้วยเถิดว่าท่านเป็นใคร" ครั้งนั้นบุรุษนั้นจึงกล่าวแก่พระองค์ว่า "ดูก่อนผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์ อาตมาเป็นสมณะผู้กลัวต่อความเกิดและความตายจึงออกบวชเพื่อแสวงหาความหลุดพ้น"

    18 "ในโลกที่มีความพินาศเป็นธรรมดานี้ อาตมามีความรู้สึกเสมอกันทั้งในหมู่ญาติและคนแปลกหน้า ไม่มีความรักและความเกลียดชังในวัตถุเครื่องเร้าอารมณ์ทั้งหลาย เมื่อต้องการจะหลุดพ้นจึงได้แสวงหาสภาวะที่สงบซึ่งไม่มีความพินาศนั้น"

    19 เมื่ออาศัยอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นโคนต้นไม้ วัดร้างห่างผู้คน ภูเขา หรือในป่าอาตมาก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความต้องการ ฉันอาหารตามที่ขอได้ และเที่ยวไปเพื่อค้นหาเป้าหมายขั้นสูงสุด"

    20 บุรุษนั้นกล่าวถ้อยคำดังนี้แล้วก็เหาะขึ้นสู่ท้องฟ้าในขณะที่พระราชกุมารยังทอดพระเนตรเห็นอยู่นั่นเอง เพราะเข้าเป็นเทวดาผู้เคยเห็นพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆมาก่อน ได้แปลงร่างมาเช่นนั้นก็เพื่อเตือนพระสติของพระกุมาร

    21 เมื่อบุรุษนั้นเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้าไปเหมือนกับนก พระกุมารผู้ทรงเป็นยอดมนุษย์ ทรงมีทั้งความปิติยินดีและความประหลาดพระทัย จากนั้นเมื่อทรงได้รับการกระตุ้นเตือนจากธรรมแล้ว พระองค์จึงตัดสินพระทัยที่จะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์

    22 จากนั้น พระกุมารผู้เสมอเหมือนพระอินทร์ ผู้ทรงปราบม้าคืออินทรีย์ได้แล้ว เมื่อปรารถนาจะกลับเข้าสู่เมืองจึงได้เสด็จขึ้นทรงม้า(และ)เพราะทรงห่วงใยหมู่ประชาชนผู้เป็นบริวารพระองค์จึงยังไม่เสด็จเข้าสู่ป่าที่น่าปรารถนาจากสถานที่แห่งนั้น

    23 พระกุมารผู้ปรารถนาจะทำความแก่และความตายให้หมดสิ้นไป เมื่อตัดสินพระทัยแน่วแน่ที่จะประทับอยู่ในป่าแล้วจึงได้เสด็จกลับเข้าไปสู่เมืองอีกครั้ง แต่ไม่ใช่เพราะกามราคะ เปรียบเหมือนพญาช้างกลับจากภูมิประเทศที่เป็นป่าเข้าไปสู่โรงช้างฉะนั้น

    24 ระหว่างทางพระราชธิดาพระองค์หนึ่งทรงเห็นพระกุมารกำลังเสด็จเข้าไปจึงประคองอัญชลีกราบทูลว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระเนตรยาว ในโลกนี้หญิงใดมีพระสวามีเช่นกับพระองค์ หญิงนั้นจะต้องมีความสุขและดับความทุกข์ได้อย่างแน่นอน"

    25 ครั้งนั้น พระกุมารผู้มีพระสุรเสียงกังวานดุจมหาเมฆครั้นสดับถ้อยคำนี้แล้วทรงได้รับความสงบสุขเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อได้ยินคำว่า "ดับความทุกข์" พระองค์ก็ทรงคิดถึงแต่วิธีที่จะได้บรรลุพระนิพพาน

    26 ครั้งนั้น พระกุมารผู้มีพระวรกายสูงสง่าดุจกาญจนสิงขร (เขาพระสุเมรุ) มีพระพาหาล่ำสันดุจงวงคชสาร มีพระสุรเสียงกังวานดุจเมฆคำราม มีพระเนตรงามดุจโคอุสภะ มีดวงพระพักตร์ดุจพระจันทร์เพ็ญ และมีการเยื้องกรายดุจราชสีห์ ได้เสด็จเข้าสู่พระราชวังพร้อมกับความต้องการที่จะบรรลุธรรมอันไม่เสื่อมสูญ

    27 จากนั้น พระกุมารผู้ทรงดำเนินดุจพญามฤคราช (ราชสีห์) จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระราชาซึ่งมีคณะมนตรีเฝ้าถวายงานอยู่ เปรียบเสมือนพระสนัตกุมาร เข้าเฝ้าพระอินทร์ผู้รุ่งเรืองในที่ประชุมของเหล่ามารุตเทพในสวรรค์

    28 พระกุมารประคองอัญชลีถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่องค์นรเทพ ขอพระองค์ได้โปรดประทานพระบรมราชานุญาตเพื่ออนุเคราะห์หม่อมฉันด้วยเถิด หม่อมฉันต้องการออกผนวชเพื่อแสวงหาความหลุดพ้น เพราะว่าความพลัดพรากของมนุษย์นี้เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน"

    29 พระราชาได้สดับถ้อยคำของพระกุมารดังนั้นก็ทรงสั่นสะท้านเหมือนกับต้นไม้ที่คชสารทำให้สั่น ทรงจับพระหัตถ์ทั้งสองที่เหมือนกับดอกบัว (ของพระกุมาร) แล้วตรัสพระดำรัสนี้ด้วยพระศอที่เอ่อคลอด้วยพระอัสสุชลว่า

    30 "ลูกเอ๋ย จงระงับความตั้งใจนั้นไว้ก่อน เพราะเวลานี้ยังไม่เหมาะที่เจ้าจะเข้าไปอาศัยธรรม แท้ที่จริง คนทั้งหลายกล่าวว่าการประพฤติธรรมในปฐมวัยนั้นมีโทษมากเพราะความคิดยังสับสน"

    31 "ใจของคนหนุ่มผู้ยังมีอินทรีย์ตื่นเต้นในวัตถุเครื่องเร้าอารมณ์ ผู้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่ยุ่งยากเกี่ยวกับการบำเพ็ญพรตและยังไม่รู้แจ่มแจ้งในวิเวกเป็นพิเศษย่อมหวั่นไหวเพราะอาศัยป่า"

    32 "แน่ะลูกผู้มีธรรมเป็นที่รัก แต่เวลานี้เป็นเวลาที่พ่อควรจะเข้าไปอาศัยธรรม หลังจากได้มอบราชสมบัติไว้กับเจ้าผู้มีลักษณะงดงามแล้ว แน่ะลูกผู้กล้าหาญมั่นคง แต่ถ้าลูกจะทิ้งพ่อไปด้วยความเด็ดเดี่ยวละก็ ธรรมของลูกก็จะต้องกลายเป็นอธรรม"

    33 "ดังนั้น จงถอนความตั้งใจนี้เสียเถิด จงดำรงอยู่ในธรรมของคฤหัสถ์ก่อน เพราะว่าการเข้าป่าบำเพ็ญตบะเป็นสิ่งที่น่ายินดีสำหรับบุรุษหลังจากได้เสวยความสุขในวัยหนุ่มแล้ว"

    34 เมื่อได้ฟังพระราชดำรัสดังนี้ พระกุมารจึงกราบทูลตอบด้วยพระสุรเสียงเหมือนกับนกกลวิงกะ ว่า"ข้าแต่พระราชบิดา ถ้าพระองค์จักรับประกันแก่หม่อมฉันในเรื่องทั้งสี่ได้ หม่อมฉันก็จะไม่เข้าไปอาศัยป่าบำเพ็ญตบะ"

    35 "(1)ชีวิตของหม่อมฉันจะต้องไปเป็นไปเพื่อความตาย (2)โรคภัยจะต้องไม่เบียดเบียนสุขภาพของหม่อมฉัน (3)ชราจะต้องไม่ฉุดคร่าความเป็นหนุ่มของหม่อมฉัน (4)ความวิบัติหายนะจะต้องไม่นำความสมบูรณ์พูนสุขของหม่อมฉันออกไป"

    36 พระเจ้าศากยะตรัสกับพระโอรสผู้กราบทูลเนื้อความที่ยากจะทำได้ว่า "ขอให้ลูกจงละความคิดเลยเถิดนั้นเสีย ความปรารถนาเกินจริงนี้จัดเป็นเรื่องน่าขันและเป็นไปไม่ได้"

    37 ครั้งนั้น พระกุมารผู้ทรงหนักแน่นตั่งเขาพระสุเมรุได้กราบทูลพระราชบิดาว่า "ถ้าสิ่งนี้เป็นไปไม่ได้ พระองค์ก็ไม่ควรห้ามปรามหม่อมฉัน เพราะเป็นการไม่ควรเลยที่จะเหนี่ยวรั้งบุคคลผู้ต้องการออกจาเรือนที่กำลังถูกไฟไหม้"

    38 "ในเมื่อความพลัดพรากเป็นสิ่งที่แน่นอนสำหรับโลก การพลัดพรากเสียงเองเพื่อไปค้นหาพระสัทธรรมย่อมดีกว่ามิใช่หรือ ความตายจะพึงทำให้หม่อมฉันผู้ไม่มีที่พึ่ง ผู้ยังไม่ได้บรรลุเป้าหมาย และยังไม่รู้สึกอิ่มต้องพลัดพรากมิใช่หรือ"

    39 พระราชาครั้นได้สดับการตัดสินพระทัยของพระโอรสผู้ปรารถนาความหลุดพ้นดังนั้นทรงมีพระบรมราชโองการว่า "เขาจะต้องไม่ไป" ดังนี้แล้วจึงทรงจัดการเฝ้าอารักขาและทรงจัดความสนุกสนานอย่างดีเลิศมากยิ่งกว่าเดิม

    40 ฝ่ายพระกุมารเมื่อได้รับการถวายคำแนะนำจากเหล่าอำมาตย์ตามสมควรแก่ฐานะทั้งด้วยความเคารพและด้วยความรักโดยยกเอาคัมภีร์ต่างๆมาอ้าง ทั้งยังถูกพระราชบิดาทรงห้ามปรามด้วยพระอัสสุชล จึงจำต้องเสด็จเข้าสู่ที่ประทับด้วยความโศกเศร้า

    41 พระกุมารทรงถูกจ้องมองเป็นพิเศษโดยหญิงสาวทั้งหลายผู้มีดวงตาไม่อยู่นิ่งดุจกวางสาวผู้มีใบหน้าถูกจุมพิตโดยต่างหูแกว่งไปแกว่งมาและผู้มียุคลถันกระเพื่อมเพราะการหายใจอย่างแรง

    42 เพราะทรงสดใสดังกาญจนบรรพต (เขาพระสุเมรุ) และทรงทำความเคลิบเคลิ้มให้เกิดขึ้นในใจของหญิงทั้งหลาย พระกุมารจึงได้ดึงดูดหู ร่างกาย ดวงตา และจิตใจ (ของหญิงทั้งหลาย) ด้วยการพูด การสัมผัส ความงาม และคุณความดีทั้งหลาย

    43 จากนั้นเมื่อเวลากลางวันผ่านพ้นไป พระกุมารผู้ทรงรุ่งเรืองด้วยความงามดั่งพระอาทิตย์จึงเสด็จขึ้นสู่ปราสาท ราวกับพระอาทิตย์ที่ต้องการขจัดความมืดด้วยรัศมีของตนอุทัยขึ้นสู่เขาพระสุเมรุ

    44 ครั้นสติสู่ห้องอันหอมอบอวลด้วยกลิ่นธูปซึ่งซึ่งทำจากไม้กฤษณาชั้นดีและมีดวงประทีปเปล่งแสงเรืองรองดุจแสงทองแล้ว พระกุมารจึงเสด็จขึ้นประทับพระราชอาสน์ทองอันเลิศหรูซึ่งงดงามด้วยลวดลายประดับเพชร
    ที่มา http://palungjit.org/threads/ขอเชิญร่วมบุญฉลองพระพุทธรูปรับวัตถุมงคล.561939/
     

แชร์หน้านี้

Loading...