พุทธศาสนา-กรุงรัตนโกสินทร์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 6 มิถุนายน 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    [​IMG]



    พระพุทธศาสนาวันนี้และพรุ่งนี้เป็นอย่างไร? ต้องย้อนกลับไป "ศึกษาอดีต เข้าใจปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคต" เพื่อน้อมเกล้าฯในมหามงคลสมัยอย่างดียิ่งๆ

    เรื่องนี้พระไพศาล วิสาโล บอกไว้ในหนังสือพุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2546) ว่า ในการทำความเข้าใจพุทธศาสนาในปัจจุบันให้ถ่องแท้ เพื่อมองเห็นทิศทางอนาคต จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกลับไปพิจารณาความเปลี่ยนแปลงเมื่อ 150 ปีที่แล้ว ทั้งในด้านหลักธรรมคำสอน และในด้านคณะสงฆ์ จะขอคัดบทสรุปย่อของ "หลวงพี่" มาดังนี้

    พุทธศาสนาในไทยมีพัฒนาการหรือความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด แยกไม่ออกจากความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง

    แต่ไม่มีจุดเปลี่ยนใดที่ส่งผลอย่างมากต่อความเป็นไปของพุทธศาสนาในปัจจุบันมากเท่ากับการปฏิรูปพุทธศาสนาในสมัยรัชกาลที่ 3 ความเปลี่ยนแปลงในยุคนี้กล่าวได้ว่าส่งผลกระทบต่อพุทธศาสนายิ่งกว่าการเสียกรุงครั้งที่ 2 เสียอีก จริงอยู่หายนะครั้งนั้นได้ทำให้พุทธศาสนาทรุดโทรมลงไปอย่างมาก แต่เมื่อกู้บ้านกู้เมืองกลับมาได้ พุทธศาสนาก็ได้รับการฟื้นฟูจนต่อเนื่องกับแบบแผนเดิมได้

    การปฏิรูปพุทธศาสนาในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น มิได้เกิดจากพระมหากษัตริย์ดังในอดีต หากริเริ่มโดยวชิรญาณภิกขุ ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปฏิรูปครั้งนั้นได้นำพุทธศาสนาสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อสนองตอบต่อความทันสมัยที่มีพื้นฐานอยู่บนแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยม ขณะเดียวกันก็เพื่อเผชิญหน้ากับคริสต์ศาสนาที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีจากตะวันตกด้วย

    การปฏิรูปที่เริ่มจากวชิรญาณภิกขุและสืบทอดโดยคณะธรรมยุตของท่านนั้น ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการตีความและการเผยแผ่หลักธรรม

    หลักธรรมหรือคติความเชื่อแบบเดิมๆ หลายประการถูกลดความสำคัญ หรือเลือนหายไป ขณะที่หลักธรรมที่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยมได้รับการเน้นย้ำ โดยเฉพาะหลักธรรมที่เน้นประโยชน์อันประจักษ์รับรู้ได้ในชีวิตนี้

    การทอนพุทธศาสนาให้เหลือเพียงหลักธรรมที่สนองประโยชน์ในโลกนี้เท่านั้น ได้เปิดทางให้แก่ลัทธิชาตินิยมในการครอบงำกำกับพุทธศาสนาในเวลาต่อมา และมีผลสืบเนื่องถึงปัจจุบัน

    นอกจากความเปลี่ยนแปลงทางด้านหลักธรรมแล้ว อีกด้านที่ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน ได้แก่ คณะสงฆ์ ซึ่งได้ถูกปฏิรูปให้อยู่ภายใต้องค์กรระดับชาติที่รวมศูนย์และเดินตามระบบราชการ

    แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็สามารถสืบสาวไปถึงวชิรญาณภิกขุในฐานะผู้ก่อตั้งธรรมยุต อันเป็นคณะที่มีบทบาทอย่างมากในการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่คณะสงฆ์ทั้งในด้านการปกครองและการศึกษา

    ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรก แล้วเคยยกมาเขียนถึงด้วยความศรัทธาหลายหน แต่ก็ยังอยากให้ใครต่อใครอ่านอีกมากๆ เลยต้องเอามาบอกกล่าวไว้อีก เพราะรู้สึกวังเวงนัก


    คอลัมน์ สยามประเทศไทย


    [​IMG]
     

แชร์หน้านี้

Loading...