พวกเธอพึงศึกษาไว้อย่างนี้เถิดว่า จักเป็นบัณฑิต ฯ

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 18 กุมภาพันธ์ 2013.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    [๒๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถ บิณฑิก
    เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ ทั้งหลายว่า
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ

    [๒๓๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยไม่ว่า ชนิดใดๆ
    ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ย่อมเกิดขึ้นแต่คนพาล ไม่ใช่เกิดขึ้นแต่บัณฑิตอุปัทวะไม่ว่าชนิดใดๆ
    ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ย่อมเกิดขึ้นแต่คนพาล ไม่ใช่เกิดขึ้นแต่บัณฑิต อุปสรรคไม่ว่าชนิดใดๆ
    ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ย่อมเกิดขึ้นแต่คนพาลไม่ใช่เกิดขึ้นแต่บัณฑิต ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือน
    ไฟลุกลามแล้วแต่เรือนไม้อ้อ หรือเรือนหญ้า ย่อมไหม้ได้กระทั่งเรือนยอดที่โบกปูน มีบาน
    ประตูสนิทปิดหน้าต่างไว้ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภัยไม่ว่าชนิดใดๆ
    ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ย่อมเกิดขึ้นแต่คนพาล ไม่ใช่เกิดขึ้นแต่บัณฑิต อุปัทวะไม่ว่าชนิดใดๆ
    ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ย่อมเกิดขึ้นแต่คนพาล ไม่ใช่เกิดขึ้นแต่บัณฑิต อุปสรรคไม่ว่าชนิดใดๆ
    ที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนั้นย่อมเกิดขึ้นแต่คนพาล ไม่ใช่เกิดขึ้นแต่บัณฑิต ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดังนี้แล
    คนพาลจึงมีภัยเฉพาะหน้า บัณฑิตไม่มีภัยเฉพาะหน้า คนพาลจึงมีอุปัทวะ บัณฑิตไม่มีอุปัทวะ
    คนพาลจึงมีอุปสรรคบัณฑิตไม่มีอุปสรรค ภัย อุปัทวะ อุปสรรค ไม่มีแต่บัณฑิต
    ดูกรภิกษุทั้งหลายเพราะฉะนั้นแล พวกเธอพึงศึกษาไว้อย่างนี้เถิดว่า จักเป็นบัณฑิต ฯ

    [๒๓๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จะควรเรียกว่าภิกษุเป็นบัณฑิตมีปัญญาพิจารณา ด้วยเหตุเท่าไรหนอแล ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เพราะภิกษุเป็นผู้ฉลาดในธาตุฉลาดในอายตนะ
    ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท และฉลาดในฐานะและอฐานะ ดูกรอานนท์ ด้วยเหตุเท่านี้แล
    จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุเป็นบัณฑิต มีปัญญาพิจารณา ฯ

    [๒๓๗] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็จะควรเรียกว่า ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ ด้วยเหตุเท่าไร ฯ
    พ. ดูกรอานนท์ ธาตุนี้มี ๑๘ อย่างแล ได้แก่ ธาตุคือจักษุ ธาตุคือรูป ธาตุคือจักษุ
    วิญญาณ ธาตุคือโสต ธาตุคือเสียง ธาตุคือโสตวิญญาณ ธาตุคือฆานะ ธาตุคือกลิ่น ธาตุคือฆานวิญญาณ
    ธาตุคือชิวหา ธาตุคือรส ธาตุคือชิวหาวิญญาณธาตุคือกาย ธาตุคือโผฏฐัพพะ ธาตุคือกายวิญญาณ ธาตุคือมโน
    ธาตุคือธรรมารมณ์ธาตุคือมโนวิญญาณ ดูกรอานนท์ เหล่านี้แล ธาตุ ๑๘ อย่าง ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่
    จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ ฯ

    [๒๓๘] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปริยายแม้อื่น ที่ควรเรียกว่า
    ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ จะพึงมีไหม ฯ
    พ. ดูกรอานนท์ มี ธาตุนี้มี ๖ อย่าง ได้แก่ ธาตุคือดิน ธาตุคือน้ำ ธาตุคือไฟ
    ธาตุคือลม ธาตุคืออากาศ ธาตุคือวิญญาณ ดูกรอานนท์ เหล่านี้แลธาตุ ๖ อย่าง แม้ด้วยเหตุ
    ที่ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ ฯ

    [๒๓๙] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปริยายแม้อื่น ที่ควรเรียกว่า
    ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ จะพึงมีอีกไหม ฯ
    พ. ดูกรอานนท์ มี ธาตุนี้มี ๖ อย่าง ได้แก่ ธาตุคือสุข ธาตุคือทุกข์
    ธาตุคือโสมนัส ธาตุคือโทมนัส ธาตุคืออุเบกขา ธาตุคืออวิชชา ดูกรอานนท์เหล่านี้แล
    ธาตุ ๖ อย่าง แม้ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ ฯ

    [๒๔๐] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปริยายแม้อื่น ที่ควรเรียกว่า
    ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ จะพึงมีอีกไหม ฯ
    พ. ดูกรอานนท์ มี ธาตุนี้มี ๖ อย่าง ได้แก่ ธาตุคือกาม ธาตุคือเนกขัมมะ
    ธาตุคือพยาบาท ธาตุคือความไม่พยาบาท ธาตุคือความเบียดเบียน ธาตุคือความไม่เบียดเบียน
    ดูกรอานนท์ เหล่านี้แล ธาตุ ๖ อย่าง แม้ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ จึงควรเรียกได้ว่า
    ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ ฯ

    [๒๔๑] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปริยายแม้อื่น ที่ควรเรียกว่า
    ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ จะพึงมีอีกไหม ฯ
    พ. ดูกรอานนท์ มี ธาตุนี้มี ๓ อย่าง ได้แก่ ธาตุคือกาม ธาตุคือรูป ธาตุคืออรูป
    ดูกรอานนท์ เหล่านี้แล ธาตุ ๓ อย่าง แม้ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่จึงควรเรียกได้ว่า
    ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ ฯ

    [๒๔๒] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปริยายแม้อื่น ที่ควรเรียกว่า
    ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุจะพึงมีอีกไหม ฯ
    พ. ดูกรอานนท์ มี ธาตุนี้มี ๒ อย่าง คือ สังขตธาตุ อสังขตธาตุ ดูกรอานนท์
    เหล่านี้แล ธาตุ ๒ อย่าง แม้ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ จึงควรเรียกได้ว่า
    ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ ฯ

    [๒๔๓] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็จะควรเรียกว่า ภิกษุผู้ฉลาด ในอายตนะ
    ด้วยเหตุเท่าไร ฯ
    พ. ดูกรอานนท์ อายตนะทั้งภายในและภายนอกนี้ มีอย่างละ ๖ แล คือ จักษุและรูป
    โสตและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์ ดูกรอานนท์
    เหล่านี้แล อายตนะทั้งภายใน และภายนอกอย่างละ ๖ แม้ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่
    จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุ ผู้ฉลาดในอายตนะ ฯ

    [๒๔๔] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็จะควรเรียกว่า
    ภิกษุผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท ด้วยเหตุเท่าไร ฯ
    พ. ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า เมื่อเหตุนี้มีผลนี้จึงมี
    เพราะเหตุนี้เกิดขึ้น ผลนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้จึงไม่มีเพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ
    คือเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะ สังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็น
    ปัจจัยจึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ
    เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็น
    ปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติ
    เป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสอย่างนี้เป็นความเกิด
    ขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ แต่เพราะอวิชชานั่นแลดับด้วยวิราคะไม่มีส่วนเหลือจึงดับสังขารได้
    เพราะสังขารดับจึงดับวิญญาณได้ เพราะวิญญาณดับจึงดับนามรูปได้ เพราะนามรูปดับจึงดับ
    สฬายตนะได้ เพราะสฬายตนะดับจึงดับผัสสะได้ เพราะผัสสะดับจึงดับเวทนาได้
    เพราะเวทนาดับจึงดับตัณหาได้เพราะตัณหาดับจึงดับอุปาทานได้ เพราะอุปาทานดับจึงดับภพได้
    เพราะภพดับจึงดับชาติได้ เพราะชาติดับจึงดับชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
    อุปายาสได้ อย่างนี้เป็นความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ดูกรอานนท์ ด้วยเหตุเท่านี้แล จึงควร
    เรียกได้ว่า ภิกษุผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท ฯ

    [๒๔๕] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็จะควรเรียกว่า ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะ
    ด้วยเหตุเท่าไร ฯ
    พ. ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
    (๑) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิ พึงเข้า
    ใจสังขารไรๆ โดยความเป็นของเที่ยง นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้
    แล คือ ปุถุชน พึงเข้าใจสังขารไรๆ โดยความ เป็นของเที่ยง นั้นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๒) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้ถึงพร้อม ด้วยทิฐิ พึงเข้า
    ใจสังขารไรๆ โดยความเป็นสุข นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และ รู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล
    คือ ปุถุชนพึงเข้าใจสังขารไรๆ โดยความเป็นสุขนั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๓) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้ถึงพร้อม ด้วยทิฐิ พึงเข้า
    ใจธรรมไรๆ โดยความเป็นอัตตา นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และ รู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล
    คือ ปุถุชนพึงเข้าใจธรรมใดๆ โดยความเป็นอัตตา นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๔) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้ถึงพร้อม ด้วยทิฐิ พึงปลง
    ชีวิตมารดา นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ ปุถุชนพึงปลงชีวิต
    มารดาได้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๕) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้ถึงพร้อม ด้วยทิฐิ พึงปลง
    ชีวิตบิดา นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ ปุถุชนพึงปลงชีวิต
    บิดาได้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๖) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้ถึงพร้อม ด้วยทิฐิ พึงปลง
    ชีวิตพระอรหันต์ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่าข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ ปุถุชนพึงปลง
    ชีวิตพระอรหันต์ได้ นั่นเป็นฐานะ ที่มีได้ ฯ
    (๗) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้ถึงพร้อม ด้วยทิฐิ มีจิตคิด
    ประทุษร้าย พึงทำโลหิตแห่งตถาคตให้ห้อขึ้น นั่นเป็นฐานะ ที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะ
    มีได้แล คือ ปุถุชนมีจิตคิดประทุษร้ายพึงทำโลหิตแห่งตถาคตให้ห้อขึ้นได้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๘) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้ถึงพร้อม ด้วยทิฐิ พึง
    ทำลายสงฆ์ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ ปุถุชนพึงทำลายสงฆ์ได้
    นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๙) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้ถึงพร้อม ด้วยทิฐิ จะพึง
    มุ่งหมายศาสดาอื่น นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ ปุถุชนจะพึง
    มุ่งหมายศาสดาอื่นได้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๑๐) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ๒ พระองค์
    พึงเสด็จอุบัติในโลกธาตุเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลัง กัน นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า
    ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธพระองค์เดียว พึงเสด็จอุบัติในโลกธาตุเดียว
    นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๑๑) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ พระเจ้าจักรพรรดิ ๒ องค์
    พึงเสด็จอุบัติในโลกธาตุเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลังกันนั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่
    เป็นฐานะมีได้แล คือ พระเจ้าจักรพรรดิ พระองค์เดียว พึงเสด็จอุบัติในโลกธาตุเดียว นั่นเป็น
    ฐานะที่มีได้ ฯ
    (๑๒) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ สตรีพึงเป็นพระอรหันตสัมมา
    สัมพุทธ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ บุรุษพึงเป็นพระอรหันต
    สัมมาสัมพุทธ นั่นเป็นฐานะ ที่มีได้ ฯ
    (๑๓) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ สตรีพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
    นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ บุรุษพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
    นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๑๔) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ สตรีพึงสำเร็จเป็นท้าวสักกะ
    นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือบุรุษพึงสำเร็จเป็นท้าวสักกะ
    นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๑๕) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือสตรีพึงสำเร็จเป็นมาร นั่นไม่ใช่
    ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ บุรุษพึงสำเร็จเป็นมาร นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๑๖) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือสตรีพึงสำเร็จเป็นพรหม นั่นไม่ใช่
    ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ บุรุษพึงสำเร็จเป็นพรหม นั่นเป็นฐานะ
    ที่มีได้ ฯ
    (๑๗) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ วิบากแห่งกายทุจริต พึงเกิดเป็น
    ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ
    วิบากแห่งกายทุจริต พึงเกิดเป็นที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๑๘) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ วิบากแห่งวจีทุจริต พึงเกิดเป็น
    ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ
    วิบากแห่งวจีทุจริต พึงเกิดเป็นที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๑๙) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ วิบากแห่งมโนทุจริต พึงเกิดเป็น
    ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล
    คือ วิบากแห่งมโนทุจริต พึงเกิดเป็นที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ นั่นเป็นฐานะที่
    มีได้ ฯ
    (๒๐) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ วิบากแห่งกายสุจริต พึงเกิดเป็น
    ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมี
    ได้แล คือ วิบากแห่งกายสุจริต พึงเกิดเป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๒๑) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ วิบากแห่งวจีสุจริต พึงเกิดเป็นที่
    ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล
    คือ วิบากแห่งวจีสุจริต พึงเกิดเป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๒๒) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ วิบากแห่งมโนสุจริต พึงเกิดเป็น
    ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะ
    ที่มีได้แล คือ วิบากแห่งมโนสุจริต พึงเกิดเป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ นั่นเป็นฐานะ
    ที่มีได้ ฯ
    (๒๓) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยกายทุจริต
    เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกายทุจริตนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัย นั่นไม่ใช่ฐานะ
    ที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แลคือ บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยกายทุจริตเมื่อตายไป
    พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก เพราะกายทุจริตนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัย นั่นเป็นฐานะ
    ที่มีได้ ฯ
    (๒๔) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยวจีทุจริต
    เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะวจีทุจริตนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัย นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้
    และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แลคือ บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยวจีทุจริต เมื่อตายไป พึงเข้าถึง
    อบาย ทุคติ วินิบาตนรก เพราะวจีทุจริตนั้นเป็นปัจจัย นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๒๕) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยมโนทุจริต
    เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะมโนทุจริต นั้นเป็นเหตุ เป็นปัจจัย นั่นไม่ใช่ฐานะ
    ที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แลคือ บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยมโนทุจริต เมื่อตายไป
    พึงเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก เพราะมโนทุจริตนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัย นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๒๖) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยกายสุจริต
    เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกายสุจริตนั้นเป็นเหตุ เป็นปัจจัย
    นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยกายสุจริต
    เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกายสุจริตนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัย นั่นเป็นฐานะ
    ที่มีได้ ฯ
    (๒๗) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยวจีสุจริต
    เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะวจีสุจริตนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัย นั่นไม่ใช่
    ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แลคือ บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยวจีสุจริต เมื่อตายไป
    พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะ วจีสุจริตนั้นเป็นเหตุ เป็นปัจจัย นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
    (๒๘) ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยมโนสุจริต
    เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะมโนสุจริตนั้นเป็นเหตุ เป็นปัจจัย
    นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยมโนสุจริต
    เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะมโนสุจริตนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัย นั่นเป็นฐานะ
    ที่มีได้ ฯ
    ดูกรอานนท์ ด้วยเหตุเท่านี้แล จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะ และอฐานะ ฯ

    [๒๔๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ ได้ทูลพระผู้มีพระภาค
    ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่น่าเป็นไปได้เลยธรรมบรรยายนี้ชื่อไร
    พระพุทธเจ้าข้า ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพราะเหตุนั้นแล เธอจงจำธรรมบรรยายนี้ไว้ ว่าชื่อพหุธาตุก
    (ชุมนุมธาตุมากอย่าง) บ้าง ว่าชื่อจตุปริวัฏฏ (แสดงอาการเวียน ๔ รอบ)บ้าง ว่าชื่อธรรมาทาส
    (แว่นส่องธรรม) บ้าง ว่าชื่ออมตทุนทุภี (กลองบันลืออมฤต)บ้าง ว่าชื่ออนุตตรสังคามวิชัย
    (ความชนะสงครามอย่างไม่มีความชนะอื่นยิ่งกว่า)บ้าง ฯ
    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดีพระภาษิต
    ของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

    พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ หน้าที่ ๑๓๖/๔๑๓
    ๕. พหุธาตุกสูตร (๑๑๕)
     

แชร์หน้านี้

Loading...