พลังจิต - พลังจักรวาล

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ยอดคะน้า, 16 มกราคม 2016.

  1. ยอดคะน้า

    ยอดคะน้า เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 มกราคม 2010
    โพสต์:
    947
    ค่าพลัง:
    +710
    พลังจิต - พลังจักรวาล

    พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

    วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

    แสดงธรรมที่กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๓๙

    คัดลอกจาก : www.geocities.com/thaniyo/dhamma/preach13.doc




    บัดนี้ จะได้แสดงพระธรรมเทศนา พรรณนาศาสนธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ว่าด้วยพลานุภาพของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
    ที่นำเรื่องนี้มาแสดงก็ เพราะเหตุว่า

    ในปัจจุบันนี้ ชาวพุทธของเรานี่กำลังพากันตื่นพลังใหม่
    ซึ่งมีชาวต่างประเทศเขานำมาเผยแพร่ พลังที่เขานำมาเผยแพร่นั้นเรียกว่า พลังจักรวาล

    ทีนี้

    อะไรเป็นพลังจักรวาล


    ในจักรวาลนี้มีสิ่งที่เป็นวัตถุซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มีอยู่ ๔ อย่าง

    ๔ อย่างนี้ ทางภาษาศาสนาพุทธท่านบัญญัติว่าเป็นธาตุ ๔

    ธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ
    ในจักรวาลนี้มีธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

    และในกายในใจของเรานี่ก็มีธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

    เราอาศัย กายกับใจ ของเราเป็นหลัก
    แล้วมาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เราสามารถที่จะสร้างพลังซึ่งเกิดจากส่วนผสมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ
    ให้เกิดมีพลังมหาศาลขึ้นมาได้ เรียกว่า พลังพุทธะ

    พลังพุทธะนี้ก็หมายถึง

    สภาวะจิตของเรามีสมรรถภาพ มีความเข้มแข็ง
    เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

    เมื่อท่านผู้ใดสามารถทำจิตของตนเองให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
    หมายถึง จิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง
    ผู้นั้นสามารถสร้างพลังขึ้นภายในจิตในใจของตนเองได้

    การสร้างพลังตามแนวทางของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    เป็นอุบายวิธีสร้างสมรรถภาพทางจิตของตนเอง

    ให้มีพลังเหนือพลัง

    ที่ว่าจิตของเรามีพลังเหนือพลัง
    หมายถึง
    จิตที่บริสุทธิ์สะอาด ปราศจากกิเลสอาสวะทั้งหลายทั้งปวง
    บรรลุถึงพระนิพพานสำเร็จเป็นพระอรหันต์

    สภาพจิตของพระอรหันต์เป็นสภาพจิตที่มีพลังเหนือพลัง
    ที่เรียกว่าเหนือพลัง

    ก็เพราะเหตุว่า

    ไม่มีพลังแห่งธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ใด ๆ
    สามารถที่จะดึงดูดจิตของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์
    ให้มาตกอยู่ในอำนาจของสิ่งนั้น ๆ ได้ จึงได้ชื่อว่าจิตของพระอรหันต์

    พระพุทธเจ้าเป็นพลังเหนือพลัง

    เพราะฉะนั้น อุบายวิธีปฏิบัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ที่เราศึกษาและปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันนี้

    พระองค์สอนให้เราสร้างจิตของเราเอง
    ให้มีพลังพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
    จนกระทั่งจิตของเรามีสภาวะสะอาด บริสุทธิ์
    ปราศจากกิเลสอาสวะทั้งปวง
    แล้วจิตของเราจะกลายเป็นจิตที่มีพลังเหนือพลัง

    อุบายวิธีการที่เราจะสร้างจิตของเราให้มีพลังงาน ต้องมีจุดยืน

    คือ

    เราจะต้องมีศรัทธา
    เชื่อมั่นในคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

    ปัญหามีว่าคุณของพระพุทธเจ้าตามตำรับตำรา
    ได้แก่ บทสวดมนต์ที่เราใช้สวดกันอยู่ทุกวัน
    บางท่านอาจจะยังไม่เข้าใจหรือแปลไม่ออก

    "อิติปิ โส แม้เพราะเหตุนี้ ภะคะวา พระผู้มีพระภาคเจ้า อะระหัง เป็นพระอรหันต์ ไกลจากกิเลส ดับเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์สิ้นเชิง สัมมาสัมพุทโธ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง วิชชาจะระณะสัมปันโน สมบูรณ์ด้วยวิชชา และจรณะคือข้อวัตรปฏิบัติที่ถูกต้อง สุคะโต เสด็จไปดีแล้ว โลกะวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ยอดเยี่ยมไม่มีใครอื่นเสียยิ่งไปกว่า สัตถาเทวะมะนุสสานัง เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พุทโธ เป็นผู้รู้แล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้ตื่นแล้ว ภะคะวา เป็นผู้จำแนกธรรมะคำสั่งสอนให้เป็นประโยชน์แก่ประชุมชน"

    อันนี้คือคุณของพระพุทธเจ้าที่เราสวดอิติปิโสเป็นต้นนั้นเอง

    ทีนี้

    เราจะสร้างจิตของเราให้มีพลังงาน
    จะต้องมีความยึดมั่นในพระพุทธเจ้าเป็นหลัก

    ทีนี้พระพุทธเจ้านี่ อยู่กันที่ตรงไหน
    ใคร ๆ เรียนพุทธประวัติแล้วก็ว่า

    พระพุทธเจ้าเกิดที่ประเทศอินเดีย
    เวลานี้พระองค์ก็ปรินิพพานไปนานแล้ว
    เราจะไปยึดเอาพระองค์ที่ไหนเป็นที่พึ่งที่ระลึก

    เราเคยกล่าวคำบูชาพระพุทธองค์
    ว่า ข้าพเจ้าขอบูชาคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    แม้ปรินิพพานนานแล้ว

    แต่ยังปรากฏอยู่ โดยพระคุณ
    อาศัยเหตุผลดังกล่าวนี้ คุณความเป็นพุทธะไม่ได้หายสาบสูญไปจากโลก

    และเป็นคุณธรรมที่ทุกคนสามารถ
    ที่จะสร้างขึ้นให้มี ในจิตในใจของตนเองได้
    โดยที่เรามายึดมั่นในพระคุณของพระองค์ ดังที่กล่าวแล้ว

    อย่างน้อยเราก็มีศรัทธาตั้งมั่นในคุณของพระพุทธองค์อย่างมั่นคง
    มีความรักในพระพุทธองค์อย่างมั่นคงมีศรัทธาไม่คลอนแคลน

    ในเมื่อเรามีศรัทธาเชื่อมั่นและตั้งมั่นในสิ่งไหน
    จิตที่เชื่อมั่นนั้นย่อมเกิดมีพลัง

    พลังที่จะปรากฏเด่นชัดก็ คือ
    วิริยะ ความแกล้วกล้าอาจหาญ
    กล้าเสียสละกายและใจของตนเอง
    เพื่อบูชาข้อวัตรปฏิบัติ

    เช่น

    การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น

    เมื่อเรามีวิริยะความพากความเพียร ความพยายาม

    สติที่จะระลึกรู้สิ่งที่ผิดชอบชั่วดีก็ย่อมมีปรากฏขึ้น
    เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตใจมั่นคงเพราะอาศัยความมีศรัทธาตั้งมั่น

    จิตใจมั่นคงนั้น คือ สมาธิ


    ทีนี้

    เมื่อมีสมาธิแล้วก็ มี สติ ปัญญา

    เมื่อจิตสงบ ตั้งมั่น นิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน
    อย่างน้อยเราก็รู้ มีปัญญารู้ว่า จิตแท้ จิตดั้งเดิมของเรานี่มันเป็นอย่างไร

    เมื่อจิตสงบ นิ่ง ว่าง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน ขึ้นมาเมื่อไร
    เราสามารถรู้ความจริงของจิตแท้ จิตดั้งเดิมของเรา

    เมื่อนั้น

    เราจะมีความรู้สึกว่านี่แหละคือจิตแท้ จิตดั้งเดิมของเรา

    เมื่อจิตสงบ นิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน นอกจากจะรู้ความจริงของจิตของตนเอง
    เราก็ยังจะได้รู้

    ว่า

    คุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
    ได้บังเกิดขึ้นในจิตของเราแล้ว

    เพราะฉะนั้น

    ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา
    ในเมื่อเรามาปฏิบัติให้ถึงพร้อม จิตสงบ นิ่ง มีสติ รู้ตัวอยู่ มีความมั่นคง

    เมื่อจิตมีความมั่นคง แม้ว่าเราจะเคลื่อนไหวไปมาทางใด
    เราก็มีสติสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่ทุกขณะ

    การทำ การพูด การคิด เรามีสติรู้ตัวอยู่ทุกขณะ

    ความมีสติรู้ตัวนั่นแหละ คือ ธรรมะแท้แห่งพุทธะที่เกิดขึ้นที่จิตของเรา
    เราจะต้องสังเกตดูความเป็นไปของจิตของเราอย่างนี้

    ทีนี้

    ในเมื่อในขณะใดที่เราสามารถทำจิตให้นิ่ง ว่าง สว่าง รู้ตื่น เบิกบาน
    แล้วก็มีปีติ มีความสุข จิตของเราได้สัมผัสกับคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ

    เมื่อเราสามารถสร้างจิตให้เป็นพุทธะ ให้บังเกิดขึ้นพร้อมที่จิตของเราแล้ว
    ธรรมะก็ปรากฏขึ้น

    ธรรมะก็คือคุณธรรม

    ได้แก่

    สภาวะจิต รู้ ตื่น เบิกบาน นั้นเอง

    เมื่อเป็นเช่นนั้น
    ธรรมชาติของความเป็นพระสงฆ์ก็ย่อมบังเกิดขึ้นพร้อมกัน
    เพราะธรรมชาติของผู้ที่มีสภาพจิตเป็นเช่นนั้น
    เขาจะต้องมีความรู้สึกสำนึกเสมอ

    ว่า

    เราจะต้องละความชั่ว ประพฤติความดี ทำจิตของตนเองให้บริสุทธิ์ สะอาด
    อันนี้เป็นจุดเริ่มของความมีพุทธะ เป็นจุดเริ่มของพลังจิต เป็นจุดเริ่มของพลังจักรวาล


    ในเมื่อท่านผู้ใดปฏิบัติได้อย่างนี้

    แม้แต่เพียงเชื่อมั่นในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อย่างมั่นคง
    อธิษฐานจิตของตนเองให้แน่วแน่
    ขอบารมีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงขจัดปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บและอันตรายทั้งหลายทั้งปวง
    ให้ไปปราศจากกาย วาจา และจิตของข้าพเจ้าโดยเด็ดขาด

    และ

    ปลูกความเชื่อมั่นลงในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อย่างมั่นคง
    สามารถที่จะรักษาโรคภัยไข้เจ็บของตนเองและคนอื่นให้หายได้

    แต่ความจริงการใช้พลังจิตรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ในเมืองไทยเรานี้
    มีมาแต่เก่าแก่โบราณสมัยที่โรงพยาบาลยังไม่มีในประเทศไทย

    เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หมอชาวบ้านทั้งหลายเขาก็อาศัยอมยาพ่น
    ฝนยาทา ตามประสาจน ใช้เวทย์มนต์คาถาเสกเป่า กระดูกแตก กระดูกหัก
    ใช้มนต์เสกน้ำมนต์หรือน้ำ หรือน้ำมัน แล้วก็เอามาทา
    เป่า กระดูกมันก็สามารถต่อกันได้

    อันนี้คือตัวอย่างที่คนโบราณรักษาโรคด้วยพลังจิต

    แม้ว่าในสมัยปัจจุบันนี้
    ครูบาอาจารย์บางท่านเวลาท่านเจ็บป่วย
    ท่านไม่ได้คำนึงถึงมดหมอ หรือคิดจะไปโรงพยาบาล

    พอรู้สึกว่าไม่สบาย ท่านก็เข้าสมาธิ
    นั่งสมาธิภาวนาของท่าน ทำจิตให้สงบ นิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน

    บางทีสภาพจิตของท่านมีความรู้สึกสว่าง รู้ตื่น เบิกบาน ร่างกายตัวตนหาย
    ในเมื่อร่างกายตัวตนหาย โรคภัยไข้เจ็บมันก็ไม่มีปรากฏ เพราะมันไม่มีที่เกิด

    โรคภัยไข้เจ็บมันเกิดที่กาย แต่ที่ใจมันไม่มีโรคอะไรที่จะไปบังเบียดมันได้
    นอกจากกิเลสเท่านั้นเอง

    ในเมื่อท่านปฏิบัติอย่างนี้ก็สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้หายได้

    เพราะฉะนั้น

    ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

    จุดเริ่ม ที่ว่าสามารถสร้างพลังจิตพลังใจของเราให้เกิดมี
    เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตของเราได้

    หนึ่ง เราจะต้องมีศรัทธาตั้งมั่นในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
    มีความรัก ตั้งมั่นในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

    และ

    มีความเชื่อมั่นว่าคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

    คือ

    คุณธรรมที่อยู่ในจิตใจของเรา


    เมื่อเราทำสมาธิให้จิตใจสงบ นิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน ได้เมื่อไร

    เมื่อนั้นคุณของพระพุทธเจ้าก็ปรากฏแก่เราได้อย่างชัดเจน
    จิตของเราก็เป็นจิต
    ในเมื่อจิตของเราเป็นจิตพุทธะ นิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน
    ถ้าจิตของเราจะก้าวหน้าไปในทางปฏิบัติ

    ทางไปของจิตจะมีอยู่ ๓ ทาง ขอให้ท่านทั้งหลายพึงสังเกตเอาไว้


    ถ้าหากว่าในช่วงนั้นกระแสจิตส่งออกนอก
    จะเกิดมโนภาพได้แก่ภาพนิมิต

    ในเมื่อภาพนิมิตปรากฎ อย่าไปเอะใจ อย่าตกใจ
    กำหนดสติ รู้จิตเฉยอยู่เท่านั้น

    เพราะนิมิตอันนั้น

    เป็นจิตของเราสร้างมโนภาพขึ้นมาเท่านั้น
    อย่าไปสำคัญมั่นหมายว่ามีสิ่งอื่นมาแสดงตัวให้เรารู้เราเห็น

    จิตของเราเองแท้ ๆ เป็นผู้แสดงขึ้นมา

    แต่ในช่วงที่เราภาวนาแล้วเกิดนิมิตเกิดมโนภาพขึ้นมา
    ถ้าหากมีใครมาชักจูงว่าเมื่อเห็นนิมิตแล้วให้น้อมเข้ามาในจิตในใจของเรา
    ให้ผู้วิเศษทั้งหลายเหล่านั้นมาช่วยพลังสมาธิ สติ ปัญญาให้แก่กล้า

    ถ้าน้อมมโนภาพนั้นเข้ามาถึงตัวได้เมื่อไร

    เมื่อนั้น

    จะกลายเป็นการทรงวิญญาณ
    เพราะ
    เมื่อนิมิตเข้ามาถึงตัวแล้ว สมาธิที่ปลอดโปร่ง สบาย เบา
    จะ รู้สักว่าอึดอัด หนักหน่วงไปทั้งตัว หัวใจเหมือนถูกบีบ

    จิตซึ่งเคยเป็นอิสระจะตกอยู่ในอำนาจของสิ่งที่เข้ามาแทรกสิง
    ในที่สุดกลายเป็นการทรงวิญญาณ นี่ ในจุดนี้นักปฏิบัติต้องระมัดระวังให้ดี



    ทีนี้ทางหนึ่ง

    ถ้าหากว่าจิตไม่ออกนอก วิ่งเข้ามาข้างใน มาสงบ นิ่ง สว่างอยู่ภายในของร่างกาย
    เมื่อจิตสงบ สว่างในท่ามกลางของร่างกาย ถ้าหากว่ามีครูบาอาจารย์มาแนะนำ

    ว่า

    ให้รวมเอาความสว่างเป็นดวงแก้ว สร้างดวงกลมให้กลายเป็นพระพุทธรูป
    เพ่งให้ใสบริสุทธิ์สะอาด แล้วจะเห็นดวงธรรมปรากฏเด่นชัดขึ้นมา

    ถ้าหากมีใครแนะนำชักจูงให้เป็นไปอย่างนั้น ก็จะเป็นไปตามคำแนะนำชักจูงนั้น ๆ

    แต่ในทางปฏิบัติที่ถูกต้อง
    ในเมื่อมีปรากฏการณ์เช่นนั้นปรากฏขึ้น
    นักปฏิบัติต้องกำหนดรู้ เฉยอยู่เท่านั้น
    ไม่ต้องไปนึกปรุงแต่งให้ดวงหรือความสว่างนั้นเป็นอะไร
    ถือแต่เพียงว่าสิ่งนั้นเป็นอารมณ์สิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติเท่านั้น



    แล้วในขณะ
    ที่จิตนิ่ง สว่างอยู่ในท่ามกลางของร่างกาย

    ความสว่างของจิตจะพุ่งออกมารอบ ๆ
    เราจะรู้สึกว่า เรานั่งอยู่ในท่ามกลางแห่งความสว่าง
    แต่ภายในดวงจิตนั้นสามารถมองเห็นอวัยวะต่าง ๆ ภายในทั่วหมด
    ในขณะจิตเดียว เรียกว่ารู้อาการ ๓๒
    จนกระทั่งจิตสงบละเอียดยิ่งลงไป

    จนถึงขนาดร่างกายตัวตนหาย ยังเหลือจิตดวงเด่น นิ่ง สว่างไสวอยู่เท่านั้น


    ถ้าหากว่าจิตจะเดินไปในทางสมถะทางสายฌานสมาบัติ
    จิตก็มีจะแต่สงบ นิ่ง สว่าง ละเอียดยิ่งขึ้นไปตามลำดับขั้นของฌานสมาบัติ


    แต่ถ้าหากว่าจิตไม่ไปเช่นนั้น
    เมื่อร่างกายตัวตนหายไปแล้วจะย้อนกลับมามองร่างกายของตัวเอง
    จะปรากฏว่าร่างกายของตัวเองตาย ขึ้นอืด เน่าเปื่อยผุพัง สลายตัวไปไม่มีอะไรเหลือ

    เมื่อจิตถอนจากสมาธิ จะได้ความรู้ขึ้นมา

    ว่า

    นี่แหละคือการตาย ตายแล้วก็ต้องเน่าเปื่อยผุพัง สลายตัวไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่
    เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

    ไหนเล่าสัตว์ บุคคลตัวตนเราเขา มีที่ไหน

    ถ้ามองเห็นความตาย จิตก็รู้ว่านี่แหละคือความตาย มองเห็นความเน่าเปื่อยผุพัง
    นี่แหละอสุภกรรมฐานมองเห็นร่างกายสลายตัวไปเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

    ก็จะรู้ธาตุสมถะ รู้ว่ากายของเราสักแต่เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ
    ไหนเล่าสัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา มีที่ไหน

    อันนั้น อนัตตานุปัสนาญาณ ความรู้ว่าร่างกาย ตัวตน ไม่มีอัตตาตัวตน เป็นอนัตตาเท่านั้น
    เราจะได้ความรู้ตามลำดับขั้นตอน อย่างนี้



    ในขณะ ที่จิตมองดูเห็นว่าร่างกายเน่าเปื่อยผุพัง สลายตัวไป
    ความรู้ความเห็นอันนั้นเป็นสมาธิขั้นสมถกรรมฐาน
    แต่เมื่อจิตถอนออกมาแล้ว สิ่งรู้เห็นทั้งหลายหายไป

    จิตมาสัมพันธ์กับร่างกายเมื่อไรเกิดความรู้
    เป็นภาษาอธิบายซ้ำเติมสิ่งที่รู้นั้นอีกทีหนึ่ง

    ตอนนี้เรียกว่า เจริญวิปัสสนา

    เพราะฉะนั้น ในคำที่บางท่านกล่าว

    ว่า

    ถ้าไม่มีสมาธิก็ไม่มีญาณ ไม่มีญาณก็ไม่มีวิปัสสนาคือปัญญา
    ไม่มีวิปัสสนาปัญญา ก็ไม่มีความรู้แจ้งเห็นจริง

    เมื่อไม่มีความรู้แจ้งเห็นจริง

    ก็ไม่มีวิมุติความหลุดพ้น ท่านผู้กล่าวอย่างนี้กล่าวถูก

    แต่ท่านผู้ที่กล่าวว่าสมาธิขั้นสมถะไม่เกิดภูมิรู้อะไรนั้น
    เป็นการกล่าวผิด เราจะบอกตรง ๆ ว่าท่านเหล่านั้นภาวนาไม่ถึงขั้น


    อันนี้ขอฝากท่านนักปฏิบัติผู้สนใจทั้งหลาย
    ลอง ๆ จดจำเอาไว้พิจารณา

    ตามที่อาตมากล่าวมานี้ อย่าเพิ่งเชื่อ
    ให้รับฟังเอาไว้ก่อน สิ่งใดที่เรายังไม่รู้ไม่เห็น
    ยังปฏิบัติไม่ถึง ให้รับฟังเอาไว้ก่อน

    อย่ารับรองแล้วก็อย่าปฏิเสธทันทีจนกว่าเราจะพิสูจน์ให้รู้ได้ด้วยตนเอง
    อันนี้คือทางไปของจิตเมื่อมีสมาธิตามธรรมชาติแล้ว



    อีกทางหนึ่งจิตไม่ไปอย่างนั้น

    เมื่อจิตสงบแล้ว กระแสจิตไม่ส่งออกนอก
    แล้วไม่วิ่งเข้ามาภายในกาย แต่ไปกำหนดรู้อยู่ที่จิตเพียงอย่างเดียว
    ก็จะรู้เห็นอารมณ์ที่เกิดดับกับจิตอยู่ตลอดเวลา

    เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติสัมปชัญญะกำหนดรู้อยู่ตลอดเวลา
    ในเมื่อความรู้มันเกิดขึ้น ผุดขึ้นมา ๆ อย่างกับน้ำพุ

    ผู้ปฏิบัติมีสติกำหนดรู้เองโดยอัตโนมัติ
    เมื่อไปถึงจุด ๆ หนึ่ง จิตจะหยุดนิ่ง สว่างไสว รู้ ตื่นเบิกบาน

    สภาวะทั้งหลายที่เป็นอารมณ์จะไปวนรอบจิตอยู่ตลอดเวลา
    แต่จิตหาได้หวั่นไหวต่อเหตุการณ์นั้นๆ ไม่

    มีแต่ทรงอยู่ในความเที่ยงตรง รู้ ตื่น เบิกบาน เป็นจิตพุทธะแท้
    ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์

    ในจุดนี้ ท่านอาจารย์มั่นท่านบัญญัติศัพท์ของท่านเรียกว่า ฐีติภูตัง

    ฐีติ คือ จิตสงบ นิ่ง เด่น สว่างไสว ภูตัง
    มีสภาวะที่เป็นปรากฏการณ์ให้จิตรู้เห็นเกิดขึ้นแล้วดับไป
    เกิดขึ้นแล้วดับไปอยู่ตลอดเวลา
    อันนี้ทางหนึ่งที่จิตสมาธิธรรมชาติแล้วจะพึงเป็นไป

    แต่สิ่งที่กล่าวทั้งหลายนี้

    ในขณะที่จิตสงบเป็นสมาธิ นิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน
    ความรู้สึกที่จะน้อมจิตไปทางใดนั้นย่อมไม่มี
    จิตจะออกนอกไปเกิดนิมิต ก็จะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ
    จะวิ่งเข้ามารู้ภายในกายก็เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ
    จะไปรู้ที่จิตก็เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

    ถ้าหากว่าเราสามารถยังมีสัญญาเจตนา น้อมจิตให้เป็นไปอย่างไรนั้น
    จิตดวงนั้นยังไม่ใช่สมาธิตามธรรมชาติ
    เป็นแต่เพียงความสงบที่เราตกแต่งเอาได้เท่านั้น


    ถ้าเป็นสมาธิตามธรรมชาติจริง ๆ
    สัญญาเจตนาที่จะไปควบคุมบังคับจิตใด ๆ นั้นย่อมไม่มี
    มีแต่ความเป็นเองตามธรรมชาติของสมาธิ

    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงตรัสรู้เรื่องอดีต
    คือ ปุพเพนิวาสนุสติญาณ
    รู้เรื่องปัจจุบันคือควรประพฤติอย่างไรจึงจะได้ถึงคุณงามความดี

    รู้อนาคต ผู้ทำดี ทำชั่วแล้ว เมื่อตายแล้ว
    วิถีชีวิตของเขาจะเป็นไปอย่างไร จึงได้ชื่อว่า รู้อดีต รู้ปัจจุบัน รู้อนาคต

    ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

    ความแตกต่างของลัทธิศาสนา
    มีเฉพาะในภพภูมิของมนุษย์เท่านั้น
    ในเมื่อมนุษย์ทั้งหลายและสัตว์ทั้งหลายตายไปแล้ว

    ไปเกิดเป็นวิญญาณในโลกอื่น มีแต่กฎของกรรมอย่างเดียวเท่านั้นเป็นศาสนา

    ท่านผู้ใดได้รับการเสี้ยมสอนมาว่า ฆ่าสัตว์ไม่บาป
    เพราะสัตว์เกิดมาเป็นอาหารของมนุษย์ อันนี้ก็เป็นเพียงความเข้าใจของศาสดาของเขา
    มันไม่ใช่กฎธรรมชาติของกรรม

    แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี่
    พระองค์ตรัสรู้เรื่องอดีตเป็นเรื่องสำคัญ

    พระองค์ระลึกชาติได้ พระองค์ไปเกิดแต่ละภพแต่ละชาตินั้น เพราะกรรมอะไร
    พระองค์รู้ละเอียดหมด

    ในเมื่อพระองค์รู้แล้ว จึงนำมาสอนพวกเราทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้น

    ความแตกต่างของศาสนามีเฉพาะในภพภูมิของมนุษย์
    แต่เมื่อมนุษย์ทั้งหลายตายไปแล้ว มีแต่กฎของกรรมเท่านั้นเป็นศาสนา

    ผู้ที่ถูกเสี้ยมสอนว่า ฆ่าสัตว์ไม่บาป เพราะสัตว์เกิดมาเป็นอาหารของมนุษย์
    แต่เมื่อเขาตายปุ๊บลงไป เขาได้รับผลของกรรมเกิดจากการฆ่าสัตว์
    เขาจะได้ความรู้สึกขึ้นมาทันทีว่า อ้อ ! พระสมณโคดมสอนถูกต้อง ศาสดาเราสอนผิด อันนี้เป็นเรื่องกฎของกรรม



    วันนี้ขอบรรยายธรรมะพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของท่านผู้ฟังพอสมควรแก่กาลเวลา ในท้ายที่สุดนี้ ขอบารมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายมีจิตใจสงบตั้งมั่นยึดมั่นในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นจุดยืนตลอดไปแล้วก็ยึดมั่นในข้อวัตรปฏิบัติที่พระองค์สอนให้เราบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอุบายสร้างความรัก ความเมตตาในสังคมของมนุษย์ เมื่อเรามีความรัก ความเมตตาปราณีต่อกัน เราจะได้ผนึกกำลังกันช่วยกันสร้างสรรค์ประเทศชาติศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองตลอดไป
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 มกราคม 2016
  2. บ้องแบ้ว

    บ้องแบ้ว นางฟ้าผู้น่ารัก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    3,294
    กระทู้เรื่องเด่น:
    105
    ค่าพลัง:
    +5,301
    แล้วโรคซึมเศร้า ไบโพลาร์ ..ใช้ธรรมะรักษาได้มั้ยคะ?
     
  3. ยอดคะน้า

    ยอดคะน้า เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 มกราคม 2010
    โพสต์:
    947
    ค่าพลัง:
    +710
    ต้องลองดูครับ
     
  4. ธรรม-ชาติ

    ธรรม-ชาติ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    2,566
    ค่าพลัง:
    +9,966
    จิตคือพุทธะ

    +++ ข้อความบางตอนของ "จิตคือพุทธะ" โดย หลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์

    "สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในจักรวาล มีนับไม่ถ้วนรวมแล้วมี รูปกับนาม สองอย่างเท่านั้น"

    "รูปนามรวมกัน เป็นเหตุเกิดปฏิกิริยา ให้เปลี่ยนแปลงตลอดกาล และ เกิดกาลเวลาขึ้น คือรูปย่อมมีความดึงดูดซึ่งกันและกัน จึงเป็นเหตุให้รูปเคลื่อนไหว และหมุนรอบตัวเองตามปัจจัย รูปเคลื่อนไหวได้ ต้องมีนาม ความว่างคั่นระหว่างรูป รูปจึงเคลื่อนไหวได้"

    "จิต วิญญาณ ก็เกิดมาจาก รูปนามของจักรวาล"

    "ต้นเหตุเกิดรูปนามของจักรวาลนั้น เป็นเหตุเกิด รูปนามพิภพ ต่างๆ ตลอดจนดวงดาวนับไม่ถ้วน เพราะไม่มีที่สิ้นสุด รูปนามพิภพต่างๆ เป็นเหตุให้เกิด รูปนามพืช รูปนามพืชเป็นเหตุให้เกิด รูปนามสัตว์ เคลื่อนไหวได้ จึงเรียกกันว่า เป็นสิ่งมีชีวิต

    ความจริง รูปนามจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตมันก็เคลื่อนไหวได้ เพราะมันมีรูปกับนาม เป็นเหตุเป็นผลให้เกิดปฏิกิริยาอยู่ในตัว ให้เคลื่อนไหวตลอดกาล และ(เกิด) การเปลี่ยนแปลง บางอย่างเรามองด้วยตาเนื้อไม่เห็น จึงเรียกกันว่าเป็นสิ่งไม่มีชีวิต

    เมื่อรูปนามของพืชเปลี่ยนมาเป็นรูปนามของสัตว์ เป็นจุดตั้งต้นชีวิตของสัตว์ และเป็น เหตุให้เกิด จิต วิญญาณ การแสดง การเคลื่อนไหว เป็นเหตุให้เกิดกรรม"

    "ด้วยอำนาจกรรมชั่วในสุขุมรูป ๕ กอง ก็เกิดหมุนรวมกันเข้าเป็น รูปปรมาณูกลม คงรูปอยู่ได้ด้วยการหมุนรอบตัวเอง มิหยุดนิ่ง"

    "เมื่อสัตว์ตาย ชีวิตร่างกายหยาบของภพภูมิชาตินั้นๆ ก็หมดไปตามอายุขัย (ของ) ชีวิตร่างกายหยาบของภูมิชาตินั้นๆ ส่วนชีวิตแท้ รูป ปรมาณู วิญญาณ จะไม่ตายสลายตาม จะต้องไปเกิดตามภพภูมิต่างๆ ตามเหตุปัจจัยของวัฏฏะหมุนเวียนเปลี่ยนไปด้วย"

    "ชีวิตแท้-รูปถอดหรือวิญญาณหมุนรอบตัวเอง นี้เอง เป็นเหตุให้จิตเกิดดับ สืบต่อ คอยรับเหตุการณ์ภายนอกภายในที่มากระทบ จะดีหรือชั่วก็สะสมเข้าไว้ เป็นทุน เหตุเกิด เหตุดับ หรือปรุงแต่งต่อไป จนกว่า กรรมชั่ว-เหตุเกิด จะหมดไป ชีวิตแท้-รูปถอดหรือวิญญาณ ก็จะหยุดการหมุน รูปสุขุม-รูปวิญญาณ ซึ่งเกิดมาจากกรรมชั่ว สืบต่อมาแต่ชาติแรกเกิด ก็จะสลายแยกออกจากกันไป คงรูปอยู่ไม่ได้ มันก็กระจายไป ส่วนกิจกรรมดี ธรรมะที่ติดอยู่กับวิญญาณ มันก็จะกระจายไปกับรูปปรมาณู คงเหลือแต่ความว่างที่คั่นช่องว่างของรูปปรมาณูทุกๆ ช่อง ฉะนั้น โดยปราศจากรูปปรมาณู ความว่างนั้น จึงบริสุทธิ์และสว่าง รวมเข้ากับความว่าง บริสุทธิ์ สว่าง ของจักรวาลเดิม เข้าเป็นหนึ่งเรียกว่า นิพพาน"
    =======================================================

    +++ ข้อความเต็ม มีดังนี้

    "จิตคือพุทธะ"

    โดย หลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์

    พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียง จิตหนึ่ง นอกจาก จิตหนึ่ง แล้วมิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย

    จิตหนึ่ง ซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น และไม่อาจจะถูกทำลายได้เลย มันไม่ใช่เป็นของมีสีเขียวหรือสีเหลือง และไม่มีทั้งรูป ไม่มีทั้งการปรากฏ ไม่ถูกนับรวมอยู่ในบรรดาสิ่งทั้งที่มีการตั้งอยู่ และไม่มีการตั้งอยู่ ไม่อาจจะลงความเห็นว่า เป็นของใหม่หรือของเก่า ไม่ใช่ของยาวหรือของสั้น ของใหญ่หรือของเล็ก ทั้งนี้เพราะมันอยู่เหนือขอบเขต เหนือการวัดเหนือการตั้งชื่อ เหนือการทิ้งร่องรอยไว้ และเหนือการเปรียบเทียบทั้งหมดทั้งสิ้น

    จิตหนึ่ง นี้เป็นสิ่งซึ่งเราเห็นตำตาเราอยู่แท้ๆ แต่จงลองไปใช้เหตุผล (ว่ามันเป็นอะไร เป็นต้น) กับมันเข้าดูซิ เราจะหล่นลงไปสู่ความผิดพลาดทันที สิ่งนี้เป็นเหมือนกับความว่างอันปราศจากขอบทุกๆ ด้านซึ่งไม่อาจจะหยั่งหรือวัดได้

    จิตหนึ่ง นี้เท่านั้นเป็น พุทธ ไม่มีความแตกต่างระหว่าง พุทธ กับสัตว์โลกทั้งหลาย เพียงแต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลายไปยึดมั่นต่อรูปธรรมต่างๆ เสีย และเพราะเหตุนั้นเขาจึงแสวงหา พุทธภาวะ จากภายนอก การแสวงหาของสัตว์เหล่านั้นเองทำให้เขาพลาดจาก พุทธภาวะ การทำเช่นนั้นเท่ากับการใช้สิ่งซึ่งเป็น พุทธ ให้เที่ยวแสวงหา พุทธ และการใช้จิตให้เที่ยวจับฉวยจิต

    แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะได้พยายามจนสุดความสามารถของเขาอยู่ตั้งกัปป์หนึ่งเต็มๆ เขาก็จะไม่สามารถบรรลุถึงพุทธภาวะได้เลย เขาไม่รู้ว่าถ้าเขาเองเพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่ง และหมดความกระวนกระวาย เพราะการแสวงหาเสียเท่านั้น พุทธ ก็จะปรากฏตรงหน้าเขา เพราะว่าจิตนี้คือ พุทธ นั่นเอง และ พุทธ ก็คือสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง สิ่งๆ นี้เมื่อปรากฏอยู่ที่สามัญสัตว์จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็หาไม่ และเมื่อปรากฏอยู่ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะเป็นสิ่งใหญ่หลวงก็หาไม่

    สำหรับการบำเพ็ญปารมิตาทั้งหกก็ดี การบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติที่คล้ายๆ กันอีกเป็นจำนวนมากก็ดี หรือการได้บุญมากมายนับไม่ถ้วนเหมือนจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาก็ดี เหล่านี้นั้น จงคิดดูเถิดเมื่อเราเป็นผู้สมบูรณ์โดยสัจจะพื้นฐานในทุกๆ กรณีอยู่แล้ว คือเป็นจิตหนึ่ง หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ พุทธ ทั้งหลายอยู่แล้ว เราก็ไม่ควรพยายามจะเพิ่มเติมอะไรให้แก่สิ่งซึ่งสมบูรณ์อยู่แล้วนั้น ด้วยการบำเพ็ญวัตรปฏิบัติต่างๆ ซึ่งไร้ความหมายเหล่านั้นไม่ใช่หรือ เมื่อไหร่โอกาสอำนวยให้ทำ ก็ทำมันไป และเมื่อโอกาสผ่านไปแล้วอยู่เฉยๆ ก็แล้วกัน

    ถ้าเรายังไม่เห็นตระหนักอย่างเด็ดขาดลงไปว่า จิต นั้นคือ พุทธ ก็ดี และถ้าเรายังยึดมั่นต่อรูปธรรมต่างๆ อยู่ก็ดี ต่อวัตรปฏิบัติต่างๆ อยู่ก็ดี และต่อวิธีการบำเพ็ญบุญกุศลต่างๆ ก็ดี แนวความคิดของเราก็ยังคงผิดพลาดอยู่ และไม่เข้าร่องรอยกันกับทางๆ โน้นเสียเลย

    จิตหนึ่ง นั่นแหละ คือ พุทธ ไม่มีพุทธะอื่นใดที่ไหนอีก ไม่มีจิตอื่นใดที่ไหนอีก มันแจ่มจ้าและไร้ตำหนิ เช่นเดียวกับความว่าง คือ มันไม่มีรูปร่าง หรือปรากฏการณ์ใดๆ เลย ถ้าเราใช้จิตของเราให้ปรุงแต่งความคิดฝันไปต่างๆ นั้น เท่ากับเราทิ้งเนื้อหาอันเป็นสาระเสีย แล้วไปผูกพันตัวเองอยู่กับรูปธรรมซึ่งเป็นเหมือนกับเปลือก พุทธ ซึ่งมีอยู่ตลอดกาลนั้น ไม่ใช่ พุทธ ของความยึดมั่นถือมั่น

    การปฏิบัติปารมิตาทั้งหก และการบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ที่คล้ายคลึงกันอีกเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ด้วยเจตนาที่จะเป็น พุทธ สักองค์หนึ่งนั้นเป็นการปฏิบัติชนิดคืบหน้าทีละขั้นๆ แต่ พุทธ ซึ่งมีตลอดกาลดังที่กล่าวแล้วนั้นหาใช่ พุทธ ที่บรรลุถึงได้ด้วยการปฏิบัติเป็นขั้นๆ เช่นนั้นไม่ เรื่องมันเป็นเพียงแต่ ตื่น และ ลืมตา ต่อ จิตหนึ่ง นั้นเท่านั้น และไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร นี่แหละ คือ พุทธที่แท้จริง พุทธ และสัตว์โลกทั้งหลาย คือ จิตหนึ่ง นี้เท่านั้น ไม่มีอะไรอื่นนอกไปจากนี้อีกเลย

    จิตเป็นเหมือนกับความว่าง ซึ่งภายในนั้นย่อมไม่มีความสับสนและความไม่ดีต่างๆ ดังจะเห็นได้ในเมื่อดวงอาทิตย์ผ่านไปในที่ว่างนั้น ย่อมส่องแสงไปได้ทั้งสี่มุมโลก เพราะว่าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นย่อมให้ความสว่างทั่วทั้งพื้นโลก ความว่างที่แท้จริงนั้นมันก็ไม่ได้สว่างขึ้น และเมื่อพระอาทิตย์ตก ความว่างก็ไม่ได้มืดลง ปรากฏการณ์ของความสว่างและความมืดย่อมสับเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แต่ธรรมชาติของความว่างนั้น ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่นั่นเอง จิต ของ พุทธ และของสัตว์โลกทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น

    ถ้าเรามองดู พุทธ ว่าเป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่บริสุทธิ์ ผ่องใส และรู้แจ้งก็ดี หรือมองสัตว์โลกทั้งหลายว่า เป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่โง่เง่า มืดมน และมีอาการสลบไสลก็ดี ความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้ อันเป็นผลเกิดมาจากความคิดยึดมั่นต่อรูปธรรมนั้น จะกันเราไว้เสียจากความรู้อันสูงสุดถึงแม้ว่าเราจะได้ปฏิบัติมาตลอดกี่กัปป์นับไม่ถ้วน ประดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาแล้วก็ตาม มีแต่จิตหนึ่งเท่านั้นและไม่มีสิ่งอื่นใดแม้แต่อนุภาคเดียว ที่จะอิงอาศัยได้ เพราะจิตนั้นเองคือ พุทธะ

    เมื่อพวกเราที่เป็นนักศึกษาเรื่องทางโน้น ถ้าไม่ลืมตาต่อสิ่งซึ่งเป็นสาระ กล่าวคือ จิตนี้ พวกเราจะปิดบังจิตนั้นเสียด้วยความคิดปรุงแต่งของเราเอง พวกเราจะเที่ยวแสวงหาพุทธนอกตัวเราเอง พวกเรายังยึดมั่นถือมั่นต่อรูปธรรมทั้งหลายต่อการปฏิบัติเมาบุญต่างๆ และสิ่งอื่นๆ ทำนองนั้น ทั้งหมดนี้เป็นอันตราย และไม่ใช่หนทางอันนำไปสู่ความรู้อันสูงสุดที่กล่าวนั้นแต่อย่างใดเลย

    เนื้อแท้แห่งสิ่งสูงสุดสิ่งนั้น โดยภายในแล้วย่อมเหมือนกันไม้หรือก้อนหิน คือ ภายในนั้นปราศจากความเคลื่อนไหว และโดยภายนอกแล้วย่อมเหมือนกับความว่าง กล่าวคือ ปราศจากขอบเขต หรือสิ่งกีดขวางใดๆ สิ่งนี้ไม่ใช่เป็นฝ่ายนามธรรมหรือฝ่ายรูปธรรม มันไม่มีที่ตั้งเฉพาะ ไม่มีรูปร่าง และไม่อาจจะหายไปไหนได้เลย

    จิตนี้ ไม่ใช่จิตซึ่งเป็นความคิดปรุงแต่ง มันเป็นสิ่งซึ่งอยู่ต่างหาก ปราศจากการเกี่ยวข้องกับรูปธรรมโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และสัตว์โลกทั้งปวงก็เป็นเช่นนั้น พวกเราเพียงแต่สามารถปลดเปลื้องตนเองออกจากความคิดปรุงแต่งเท่านั้น พวกเราจะประสบความสำเร็จทุกอย่าง

    หลักธรรมที่แท้จริงก็คือ จิต นั่นเอง ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้ว ก็ไม่มีหลักธรรมใดๆ เลย จิตนี่แหละคือหลักธรรม ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้วมันก็ไม่ใช่จิต จิตนั้นโดยตัวมันเองก็ไม่ใช่จิต แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังไม่ใช่ มิใช่จิต การที่กล่าวว่าจิตนั้น มิใช่จิตดังนี้ นั่นแหละ ย่อมหมายถึงสิ่งบางสิ่งซึ่งมีอยู่จริงสิ่งนี้มันอยู่เหนือคำพูด ขอจงเลิกละการคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น เมื่อนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า คลองแห่งคำพูดก็ได้ผูกตัดขาดไปแล้ว และพฤติของจิต ก็ถูกเพิกถอนขึ้นสิ้นเชิงแล้ว

    จิตนี้คือ พุทธโยนิ อันบริสุทธิ์ ซึ่งมีประจำอยู่แล้วในคนทุกคน สัตว์ซึ่งมีความรู้สึกนึกคิดกระดุกกระดิกได้ทั้งหมดก็ดี พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็ดี ล้วนแต่เป็นของแห่งธรรมชาติ อันหนึ่งนี้เท่านั้น และไม่มีแตกต่างกันเลย ความแตกต่างทั้งหลายเกิดขึ้นจากเราคิดผิดๆ เท่านั้น ย่อมนำเราไปสู่การก่อสร้างกรรมทั้งหลายทั้งปวง ทุกชนิดไม่มีหยุด

    ธรรมชาติแห่งความเป็น พุทธ ดั้งเดิมของเรานั้นโดยความจริงอันสูงสุดแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวตน แม้แต่สักปรมาณูเดียว สิ่งนั้นคือความว่าง เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกแห่ง สงบเงียบและไม่มีอะไรเจือปน มันเป็นสันติสุขที่รุ่งเรืองและเร้นลับ และก็หมดกันเพียงเท่านั้นเอง

    จงเข้าไปสู่สิ่งๆ นี้ได้ลึกซึ้ง โดยการลืมตาต่อสิ่งนี้ด้วยตัวเราเอง สิ่งซึ่งอยู่ตรงหน้าเรานี้แหละคือ สิ่งๆ นั้น ในอัตราที่เต็มที่ทั้งหมดทั้งสิ้น และสมบูรณ์ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรนอกไปจากนี้อีกแล้ว

    จิต คือ พุทธ (สิ่งสูงสุด) มันย่อมรวมสิ่งทุกสิ่งเข้าไว้ในตัวมันทั้งหมด นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้วทั้งหลาย เป็นที่สุดในเบื้องสูง ลงไปจนกระทั่งถึงสัตว์ประเภทที่ต่ำต้อยที่สุด ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานอยู่ด้วยอีก และแมลงต่างๆ เป็นที่สุดในเบื้องต่ำ สิ่งเหล่านี้ทุกสิ่งมันย่อมมีส่วนแห่งความเป็น พุทธ เท่ากันหมดและทุกสิ่งมีเนื้อหาเป็นอันเดียวกันกับ พุทธ อยู่ตลอดเวลา

    ถ้าพวกเราเพียงแต่สามารถทำความเข้าใจในจิตของเราเองได้สำเร็จ แล้วค้นพบธรรมชาติอันแท้จริงของเราเองได้ ด้วยความเข้าใจอันนี้เท่านั้น ก็จะเป็นที่แน่นอนว่า ไม่มีอะไรที่พวกเราจำเป็นที่จะต้องแสวงหาแม้แต่อย่างใดเลย

    จิตของเรานั้น ถ้าเราทำความสงบเงียบอยู่จริงๆ เว้นขาดจากการคิดนึก ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของจิต แม้แต่น้อยที่สุดเสียให้ได้จริงๆ ตัวแท้ของมันก็จะปรากฏออกมาเป็นความว่าง แล้วเราก็จะพบว่ามันเป็นสิ่งที่ปราศจากรูป มันไม่ได้กินเนื้อที่อะไรๆ ที่ไหน แม้แต่จุดเดียว มันไม่ได้ตกลงสู่การบัญญัติว่าเป็นพวกที่มีความเป็นอยู่ หรือไม่มีความเป็นอยู่ แม้แต่ประการใดเลย เพราะเหตุที่ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกไม่ได้โดยทางอายตนะ เพราะจิตซึ่งเป็นธรรมชาติที่แท้ของคนเรานั้น มันเป็นครรภ์หรือกำเนิด ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นและไม่อาจถูกทำลายได้เลย

    ในการทำปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ นั้น มันเปลี่ยนรูปของมันเองออกมาเป็นปรากฏการณ์ต่างๆ เพื่อสะดวกในการพูด เราพูดถึงจิตในฐานะที่เป็นตัวสติปัญญา แต่ในขณะที่มันไม่ได้ทำการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม คือไม่ได้เป็นตัวสติปัญญาที่นึกคิด หรือสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมานั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจถูกกล่าวถึงในการที่จะบัญญัติว่ามันเป็นความมีอยู่ หรือไม่ใช่ความมีอยู่

    ยิ่งไปกว่านั้น แม้ในขณะที่มันทำหน้าที่สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมา ในฐานะที่ตอบสนองต่อกฎแห่งความเป็นเหตุและผลของกันและกันนั้น มันก็ยังเป็นสิ่งที่เรารู้สึกไม่ได้โดยทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมโนทวาร อยู่นั่นเอง ถ้าเราทราบความเป็นจริงข้อนี้ เราทำความสงบเงียบสนิทอยู่ในภาวะแห่งความไม่มีอะไร ในขณะนั้น พวกเรากำลังเดินอยู่แล้วในทางแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายโดยแท้จริง ดังนั้น เราควรเจริญจิตให้หยุดอยู่บนความไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น

    มูลธาตุทั้ง ๕ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นวิญญาณนั้น เป็นของว่างเปล่า และมูลธาตุทั้ง ๔ ของรูปกายนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นตัวของเรา จิต จริงแท้นั้น ไม่มีรูปร่าง และไม่มีอาการมาหรืออาการไป ธรรมชาติเดิมแท้ของเรานั้นเป็นสิ่งๆ หนึ่ง ซึ่งไม่มีการตั้งต้นที่การเกิด และไม่มีการสิ้นสุดลงที่การตาย แต่เป็นของสิ่งเดียวกันรวด และปราศจากการเคลื่อนไหวใดๆ ในส่วนลึกจริงๆ ของมันทั้งหมด

    จิตของเรากับสิ่งต่างๆ ซึ่งแวดล้อมเราอยู่นั้นเป็นสิ่งๆ เดียวกัน ถ้าเราทำความเข้าใจได้ตามนี้จริงๆ เราจะได้ลุถึงความรู้แจ้งเห็นแจ้งได้โดยแวบเดียวในขณะนั้น และเราเป็นผู้ที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องในโลกทั้งสามอีกต่อไป เราจะเป็นผู้อยู่เหนือโลก เราไม่มีการโน้มเอียงไปสู่การเกิดใหม่อีกแม้แต่นิดเดียว เราจะเป็นแต่ตัวเราเองเท่านั้น ปราศจากความคิดปรุงแต่งโดยสิ้นเขิง และเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งสูงสุดสิ่งนั้น เราจะได้ลุถึงภาวะแห่งความที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้อีกต่อไป ฉะนั้น นี่แหละคือหลักธรรมที่เป็นหลักมูลฐานอยู่ในที่นี้

    สัมมาสัมโพธิ เป็นชื่อของการเห็นแจ้งชัดว่าไม่มีธรรมใดเลยที่ไม่เป็นโมฆะ ถ้าเราเข้าใจความจริงข้อนี้แล้ว ของหลอกลวงทั้งหลายจะมีประโยชน์อะไรแก่เรา

    ปรัชญา คือความรู้แจ้ง ความรู้แจ้ง คือจิตต้นกำเนิดดั้งเดิม ซึ่งปราศจากรูป ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจได้ว่า ผู้กระทำและสิ่งที่ถูกกระทำ คือจิตและวัตถุเป็นสิ่งๆ เดียวกัน นั่นแหละ จะนำเราไปสู่ความเข้าใจอันลึกซึ้ง และลึกลับเหนือคำพูด และโดยความเข้าใจอันนี้เอง พวกเราจะได้ลืมตาต่อสัจธรรมที่แท้จริงด้วยตัวเราเอง

    สัจธรรมที่แท้จริงของเรานั้น ไม่ได้หายไปจากเรา แม้ในขณะที่เรากำลังหลงผิดอยู่ด้วยอวิชชา และไม่ได้รับกลับมา ในขณะที่เรามีการตรัสรู้ มันเป็นธรรมชาติแห่งภูตัตถตา ในธรรมชาตินี้ไม่มีทั้งอวิชชา ไม่มีทั้งสัมมาทิฐิ มันเต็มอยู่ในความว่าง เป็นเนื้อหาอันแท้จริงของจิตหนึ่งนั้น เมื่อเป็นดังนี้แล้ว อารมณ์ต่างๆ ที่จิตของเราได้สร้างขึ้น ทั้งฝ่ายนามธรรมและฝ่ายรูปธรรม จะเป็นสิ่งซึ่งอยู่ภายนอกความว่างนั้นได้อย่างไร

    โดยหลักมูลฐานแล้ว ความว่างนั้นเป็นสิ่งซึ่งปราศจากมิติต่างๆ แห่งการกินเนื้อที่ คือปราศจากกิเลส ปราศจากกรรม ปราศจากอวิชชา และปราศจากสัมมาทิฏฐิ พวกเราต้องทำความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งว่า โดยแท้จริงแล้ว ไม่มีอะไรเลย ไม่มีมนุษย์สามัญ ไม่มีพุทธทั้งหลาย เพราะว่าในความว่างนั้น ไม่มีอะไรบรรจุอยู่แม้เท่าเส้นขนที่เล็กที่สุด อันเป็นสิ่งซึ่งสามารถจะมองเห็นได้โดยทางมิติ หรือกฎแห่งการกินเนื้อที่เลย มันไม่ต้องอาศัยอะไร และไม่ติดเนื่องอยู่กับสิ่งใด มันเป็นความงามที่ไร้ตำหนิ เป็นสิ่งซึ่งอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง และเป็นสิ่งสูงสุดที่ไม่มีอะไรสร้างขึ้น มันเป็นเพชรพลอยที่อยู่เหนือการตีค่าทั้งปวงเสียจริงๆ เราต้อง แยกรูปถอด ด้วยวิชชา มรรคจิต เหตุต้องละ ผลต้องละ ใช้หนี้ก็หมด พ้นเหตุเกิด

    สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในจักรวาล มีนับไม่ถ้วนรวมแล้วมี รูปกับนาม สองอย่างเท่านั้น นามเดิม ก็คือ ความว่างของจักรวาล เข้าคู่กันเป็น เหตุเกิด ตัวอวิชชา เกิดเหตุก่อ ที่ใดมีรูป ที่นั้นต้องมีนาม ที่ใดมีนาม ที่นั้นต้องมีรูป รูปนามรวมกัน เป็นเหตุเกิดปฏิกิริยา ให้เปลี่ยนแปลงตลอดกาล และ เกิดกาลเวลาขึ้น คือรูปย่อมมีความดึงดูดซึ่งกันและกัน จึงเป็นเหตุให้รูปเคลื่อนไหว และหมุนรอบตัวเองตามปัจจัย รูปเคลื่อนไหวได้ ต้องมีนาม ความว่างคั่นระหว่างรูป รูปจึงเคลื่อนไหวได้

    เมื่อสภาวธรรมเป็นอย่างนี้ สรรพสิ่งของวัตถุ สสารมีชีวิต และไม่มีชีวิตจึงต้องเปลี่ยนแปลง เป็นไตรลักษณ์ เกิด ดับ สืบต่อทุกขณะจิตไม่มีวันหยุดนิ่งให้คงทนเป็นปัจจุบันได้

    จิต วิญญาณ ก็เกิดมาจาก รูปนามของจักรวาล มันเป็นมายาหลอกลวงแล้วเปลี่ยนแปลงให้คนหลง จากรูปนามไม่มีชีวิต เปลี่ยนมาเป็นรูปนามที่มีชีวิต จากรูปนามที่มีชีวิต มาเป็นรูปนามมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณ แล้วจิตวิญญาณก็เปลี่ยนแปลงแยกออกจากกัน คงเหลือแต่ นามว่างที่ปราศจากรูป นี้ เป็นจุดสุดยอดของการหลอกลวงของรูปนาม

    ต้นเหตุเกิดรูปนามของจักรวาลนั้น เป็นเหตุเกิด รูปนามพิภพ ต่างๆ ตลอดจนดวงดาวนับไม่ถ้วน เพราะไม่มีที่สิ้นสุด รูปนามพิภพต่างๆ เป็นเหตุให้เกิด รูปนามพืช รูปนามพืชเป็นเหตุให้เกิด รูปนามสัตว์ เคลื่อนไหวได้ จึงเรียกกันว่า เป็นสิ่งมีชีวิต

    ความจริง รูปนามจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตมันก็เคลื่อนไหวได้ เพราะมันมีรูปกับนาม เป็นเหตุเป็นผลให้เกิดปฏิกิริยาอยู่ในตัว ให้เคลื่อนไหวตลอดกาล และ(เกิด) การเปลี่ยนแปลง บางอย่างเรามองด้วยตาเนื้อไม่เห็น จึงเรียกกันว่าเป็นสิ่งไม่มีชีวิต

    เมื่อรูปนามของพืชเปลี่ยนมาเป็นรูปนามของสัตว์ เป็นจุดตั้งต้นชีวิตของสัตว์ และเป็น เหตุให้เกิด จิต วิญญาณ การแสดง การเคลื่อนไหว เป็นเหตุให้เกิดกรรม

    สัตว์ชาติแรกมีแต่สร้างกรรมชั่ว สัตว์กินสัตว์ และ(มี)ความโกรธ โลภ หลง ตามเหตุ ปัจจัย ภายนอกภายในที่มากระทบ กรรมที่สัตว์แสดง มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ อย่าง ไปกระทบกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ๕ อย่าง แล้วมาประทับ บรรจุ บันทึก ถ่ายภาพ ติดอยู่กับ รูปปรมาณู ซึ่งเป็น สุขุมรูป แฝงอยู่ในความว่าง เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาได้ ที่แฝงอยู่ในความว่างระวางคั่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้นไว้ได้หมดสิ้น

    เมื่อสัตว์ชาติแรกเกิดนี้ ได้ตายลง มี กรรมชั่ว อย่างเดียว เป็น เหตุให้สัตว์ต้องเกิดอีก เพื่อให้สัตว์ต้อง ใช้หนี้ กรรมชั่วที่ได้ทำไว้ แต่สัตว์เกิดขึ้นมาแล้วหายอม ใช้หนี้เกิด กันไม่ มันกลับ เพิ่มหนี้ ให้เป็น เหตุเกิด ทวีคูณ ด้วยเพศผู้เพศเมียเกิดเป็น สุขุมรูป ติดอยู่ใน ๕ กองนี้ เป็นทวีคูณจนปัจจุบันชาติ

    ดังนั้น ด้วยอำนาจกรรมชั่วในสุขุมรูป ๕ กอง ก็เกิดหมุนรวมกันเข้าเป็น รูปปรมาณูกลม คงรูปอยู่ได้ด้วยการหมุนรอบตัวเอง มิหยุดนิ่ง เป็นคูหาให้จิตใจได้อาศัยอยู่ข้างใน เรียกว่า รูปวิญญาณ หรือจะเรียกว่า รูปถอด ก็ได้ เพราะถอดมาจากนามระวางคั่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นเอง ซึ่งเป็นสุขุมรูปแฝงอยู่ในความว่าง รูปวิญญาณ จึงมีชีวิตอยู่คงทนอยู่ ยืนนานกว่า รูปหยาบ มีกรรมชั่วคอยรักษาให้หมุนคงรูปอยู่ ไม่มีเทพเจ้าองค์ใดฆ่าให้ตายได้ นอกจาก นิพพาน เท่านั้น รูปวิญญาณจึงจะสลาย

    ส่วนการแสดงกรรมของสัตว์ที่ประทับอยู่ในสุขุมรูป มีรูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ กองนั้นรวมกันเข้าเรียกว่า จิต จึงมี สำนักงานจิต ติดอยู่ในวิญญาณ ๕ กอง รวมกันเป็นที่ทำงานของ จิตกลาง แล้วไปติดต่อกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ภายนอก ซึ่งเป็นสื่อติดต่อของจิต ดังนั้น จิต กับ วิญญาณ จึงไม่เหมือนกัน จิตเป็นผู้รู้สึกนึกคิด ส่วนวิญญาณเป็นคูหาให้จิตได้อาศัยอยู่ และเป็นยานพาหนะพาจิตไปเกิด หรือจะไปไหนๆ ก็ได้ เป็นผู้รักษา สุขุมรูป รูปที่ถอดจากรูปหยาบ มีรูปเพศผู้ เพศเมีย รูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย อยู่ในวิญญาณไว้ได้เป็นเหตุเกิดสืบภพต่อชาติ

    เมื่อสัตว์ตาย ชีวิตร่างกายหยาบของภพภูมิชาตินั้นๆ ก็หมดไปตามอายุขัย (ของ) ชีวิตร่างกายหยาบของภูมิชาตินั้นๆ ส่วนชีวิตแท้ รูป ปรมาณู วิญญาณ จะไม่ตายสลายตาม จะต้องไปเกิดตามภพภูมิต่างๆ ตามเหตุปัจจัยของวัฏฏะหมุนเวียนเปลี่ยนไปด้วย

    ชีวิตแท้-รูปถอดหรือวิญญาณหมุนรอบตัวเอง นี้เอง เป็นเหตุให้จิตเกิดดับ สืบต่อ คอยรับเหตุการณ์ภายนอกภายในที่มากระทบ จะดีหรือชั่วก็สะสมเข้าไว้ เป็นทุน เหตุเกิด เหตุดับ หรือปรุงแต่งต่อไป จนกว่า กรรมชั่ว-เหตุเกิด จะหมดไป ชีวิตแท้-รูปถอดหรือวิญญาณ ก็จะหยุดการหมุน รูปสุขุม-รูปวิญญาณ ซึ่งเกิดมาจากกรรมชั่ว สืบต่อมาแต่ชาติแรกเกิด ก็จะสลายแยกออกจากกันไป คงรูปอยู่ไม่ได้ มันก็กระจายไป ส่วนกิจกรรมดี ธรรมะที่ติดอยู่กับวิญญาณ มันก็จะกระจายไปกับรูปปรมาณู คงเหลือแต่ความว่างที่คั่นช่องว่างของรูปปรมาณูทุกๆ ช่อง ฉะนั้น โดยปราศจากรูปปรมาณู ความว่างนั้น จึงบริสุทธิ์และสว่าง รวมเข้ากับความว่าง บริสุทธิ์ สว่าง ของจักรวาลเดิม เข้าเป็นหนึ่งเรียกว่า นิพพาน

    เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงสร้างชีวิตพระพุทธศาสนา ให้ก่อเกิดอย่างบริบูรณ์ดังพระประสงค์แล้ว พระพุทธองค์จึงได้ทรงเสด็จสู่อนุปาทิเสสนิพพาน (นิพพานไม่มีอุปาทิเหลือ, ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ คือสิ้นทั้งกิเลสและชีวิต) เป็นผู้หมดสิ้นทุกตัณหา เป็นผู้ดับรอบโดยลักษณาการแห่งอนุปาทิเสสนิพพานของพระพุทธองค์ก็คือ ลำดับแรก ก็เจริญฌานดิ่งสนิทเข้าไปจนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ หมายความว่า เข้าไปดับลึกสุดอยู่เหนือ อรูปฌาน

    ในวาระแรกนั้น พระองค์ยังไม่ได้ดับขันธ์ต่างๆ ให้สิ้นสนิทเป็นเด็ดขาดแต่อย่างใด ยังเพียงเข้าไปเพื่อทรงกระบวนการแห่งการสู่นิพพาน หรือนิโรธ เป็นครั้งสุดท้ายแห่งชีวิต พูดง่ายๆ ก็คือสู่สิ่งที่พระองค์ได้ทรงสร้าง ได้ทรงพากเพียรก่อเป็นทาง เป็นแบบอย่างไว้ เป็นครั้งสุดท้ายเสียหน่อย ซึ่งเรียกได้ว่าสิ่งอันเกิดจากที่พระองค์ได้ยอมอยู่กับธุลีทุกข์ อันเป็นธุลีทุกข์ที่มนุษย์ธรรมดา (เป็น) ผู้ที่มีจิตหยาบเกินกว่าจะสัมผัสว่า มันเป็นทุกข์

    นี่แหละ กระบวนการกระทำจิตตน ให้ถึงซึ่งสัญญาเวทยิตนิโรธนั้น เป็นกระบวนการที่พระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้เป็นยอดแห่งศาสดาในโลกเท่านั้นที่ทรงค้นพบ ทรงนำมาตีแผ่เผย แจ้งออกสู่สัตว์โลกให้พึงปฏิบัติตาม เมื่อทรงสิ่งซึ่งสุดท้ายนี้แล้ว จึงได้ถอยกลับมาสู่สภาวะต้น คือ ปฐมฌาน แล้วจึงได้ตัดสินพระทัยสุดท้าย เสด็จดับขันธ์ต่างๆ ไปทีละขันธ์ วิญญาณขันธ์แห่งชีวิต และร่างกายนั้น เพราะต้องดับสังขารขันธ์ หรือสังขารธรรมชั้นแรกเสียก่อน วิญญาณขันธ์จึงได้ดับ ดังนั้น จึงไม่มีเชื้อใดเหลืออยู่แห่งวิญญาณขันธ์ที่หยาบนั้น

    พระองค์เริ่มดับ สังขารขันธ์ หรือ สังขารธรรม ชั้นในสุดอีกที อันจะส่งผลให้ก่อ วิภวตัณหา ได้ชั้นหนึ่งเสียก่อน แล้วจึงได้เลื่อนเข้าสู่ ทุติยฌาน แล้วจึงดับ สัญญาขันธ์ เลื่อนเข้าสู่ ตติยฌาน เมื่อพระองค์ดับสังขารขันธ์ หรือสังขารธรรม ชั้นในสุดอีกที ก็เป็นอันเลื่อนเข้าสู่ จตุตถฌาน คงมีแต่ เวทนาขันธ์ สุดท้ายแห่งชีวิต นั้นแล คือลักษณาการแห่งขั้นสุดท้ายของการจะดับสิ้นไม่เหลือ

    เมื่อพระองค์ดับ สังขารขันธ์ หรือ สังขารธรรม ใหญ่สุดท้ายที่มีทั้งสิ้นแล้ว แล้วก็มาดับ เวทนาขันธ์ อันเป็น จิตขันธ์ หรือ นามขันธ์ ที่ในจิตส่วนในคือ ภวังคจิต เสียก่อน แล้วจึงได้ออกจาก จตุตถฌาน พร้อมกับมาดับ จิตขันธ์ หรือ นามขันธ์ สุดท้ายจริงๆ ของพระองค์เสียลงเพียงนั้น

    นี่ พระองค์เข้าสู่นิพพานอย่างจริงๆ อยู่ตรงนี้ พระองค์ไม่ได้เข้าสู่นิพพานในฌานสมาบัติอะไรที่ไหนดอก เมื่อพระองค์ออกจากจตุตถฌานแล้ว จิตขันธ์หรือนามขันธ์ก็ดับพร้อม ไม่มีอะไรเหลือ นั่นคือ พระองค์ ดับเวทนาขันธ์ในภาวะจิตตื่น หรือวิถีจิตปกติของมนุษย์ ครบพร้อมทั้งสติและสัมปชัญญะ ไม่ถูกภาวะอื่นใดที่มาครอบงำอำพราง ให้หลงใหลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นภาวะแห่งตนเองอย่างบริบูรณ์

    เมื่อ เวทนาขันธ์ สุดท้ายแท้ๆ จริงๆ ได้ถูกทำลายลงอย่างสนิท จึงเป็นผู้บริสุทธิ์ หมดสิ้นแล้วซึ่งสังขารธรรม และหมดเชื้อ จิตขันธ์ หรือ นามขันธ์ ทั้งปวงใดๆ ในพระองค์ท่าน ไม่มีเหลือ คงทิ้งแต่ รูปขันธ์ อันจะมีชีวิตนั้นไม่ได้แน่ เพราะรูปไม่ใช่ชีวิตหากสิ้นนามเสียแล้ว ก็คือแท่ง คือก้อนวัตถุหนึ่ง เท่านั้นเอง

    นั่นแล คือ ลำดับฌาน ที่พระอนุรุทธเถระเจ้าได้นำฌานจิตเข้าไปดู เป็นวิธีการดับโดยแท้ ดับโดยจริงโดยพระองค์เป็นผู้ดับเองเสียด้วย
    =======================================================

    +++ อ้างอิง "จิตคือพุทธะ" โดย หลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ จาก

    จิตคือพุทธะ ของหลวงปู้ดุลย์ อตุโล

    +++ จากพระป่า "สายหลวงปู่มั่น" ขณะนี้ก็ 2 องค์แล้วที่กล่าวถึง "จิตกับจักรวาล" คือ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย กับ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล และ มีอัฐิเป็นพระธาตุทั้งคู่

    +++ หากผู้ใดเจอเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง "จิตจักรวาล" โดยพระป่าสายหลวงปู่มั่น องค์อื่น ๆ อีกก็ช่วยกันรวบรวมมาไว้ในกระทู้นี้ด้วยนะครับ
     
  5. Tboon

    Tboon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    2,094
    ค่าพลัง:
    +3,424
    เนี่ยขอโทษนะ ความลังเลใจมันมีไง
    มันถึงมาสนใจเอาเปลือกมากกว่าแก่นแท้
    ตามหาพยานจิตจักรวาลจากภายนอก
    เพราะจริงๆยังไม่มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองรู้
    ก็คือวิจิกิจฉาสังโยชน์มันยังไม่ขาดไง
    แล้วพอไปให้น้ำหนัก ใส่ใจค้นคว้าแบบนั้น
    ก็เลยกลายเป็นตาบอดคลำช้าง เข้าอาการ
    สีลพตปรามาส ปฏิบัติแบบลูบๆคลำๆไปทันที
    ครูบาอาจารย์ถ้าท่านทราบท่านคงไม่เห็นด้วยแน่ๆ
    จะมามัวให้น้ำหนักอะไรกับเรื่องพวกนี้มากนัก
    พอทักท้วงให้เห็นความจริง ก็หาว่าพยาบาทกันอีก
    เมื่อไหร่จะเข้าใจก็ไม่รู้
     
  6. ธรรม-ชาติ

    ธรรม-ชาติ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    2,566
    ค่าพลัง:
    +9,966
    +++ 555 เหรอ Tboon ยังลังเลอยู่เหรอ

    +++ แหกตาอ่านหรือเปล่า คิดจะ "ปรามาส หลวงปู่ดูลย์ อตุโล" เลยหรือไง

    +++ "มโนมทึบทึบ" อีกตามเคยนะเราหนะ ตัว Tboon หนะ "จิตหลอนจนเคยตัวแล้วนะ" เวรจริง ๆ เลย

    +++ จิตจักรวาล จากครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น "เป็นจักรวาลที่ออกมาจากภายในตนทั้งนั้น"

    +++ มีแต่ จิตจักรวาลจอมปลอม ของสาย Tboon นั่นแหละ มาจากภายนอก ดังนั้นคำพูดนี้ "ตามหาพยานจิตจักรวาลจากภายนอก" ย่อมไม่ออกมาจากปากของ Tboon หรอกจิงม่ะ

    +++ ฟังดูแล้ว ทุเรศ สิ้นดี ถามจริง ๆ นะ ว่าเคยมีอาการ "สมองขาดออ๊กซิเจน" บ้างหรือเปล่า เวลาโพสท์แต่ละที "มันโชว์ระดับ สติปัญญา ว่าขาดออ๊กซิเจน ทุกโพสท์เลย"

    +++ ถ้าเคยมีอาการ "สมองขาดออ๊กซิเจน" มาก่อน "วิบาก" อาจจะไม่เท่าไร แต่ถ้าหากการโพสท์ของ Tboon มาจาก "เจตนาที่เป็น มิจฉาทิฐิ" แล้วละก็ อ่านต่อลงไปข้างล่างได้เลย

    +++ เวรกรรมจริง ๆ แหละนะ Tboon งานนี้ "งานงอกแน่ ๆ" คิดจะด่าหลวงปู่ดูลย์ เลยเหรอ

    +++ เหรอ "กำลังหาเรื่องกับหลวงปู่ดูลย์" เลยนะเนียะ

    +++ ครูบาอาจารย์ของ Tboon หนะ "ขนาดไหน" ตัว Tboon ถึงคิดจะ "เข้ามาเทียบรุ่นกับหลวงปู่ดูลย์" หา.........

    +++ ก็ "พยาบาทจนตาบอด" นั่นแหละ Tboon เอ๋ย นี่กำลังเล่นงาน "หลวงปู่ดูลย์ กับ หลวงพ่อพุทธ" แบบตรง ๆ เลยนะเราหนะ

    +++ นั่นหนะซี "เมื่อไหร่จะเข้าใจก็ไม่รู้" ว่า Tboon ไม่พ้น "นรก" แน่นอน

    +++ "สติ+ปัญญา" อ่อน จนไม่รู้เลยว่า "ใครเป็นผู้บรรยาย" นี่แหละที่เรียกว่า "พิษพยาบาท" ปรามาสกับผู้ที่ "อัฐิเป็นพระธาตุ" ทีเดียว 2 องค์เลย

    +++ หาเรื่อง เพ่งโทษ ผูกพยาบาท มืดบอด "ไร้สติ-ปัญญา" จนกระทบ "หลวงปู่ดูลย์ กับ หลวงพ่อพุทธ" แบบตรง ๆ ซวยแล้ว Tboon เอ๋ย ไม่รอดแล้วนะเราหนะ
     
  7. Tboon

    Tboon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    2,094
    ค่าพลัง:
    +3,424
    จิตที่ถูกพยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกครอบงำอยู่
    จะปิดบังสติปัญญาการรู้การเห็นตามความเป็นจริง
    ไม่ให้รู้แจ้งในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็นตามความเป็นจริงได้
    ข้อนี้ต้องระวังให้ดี ตัวงอแงนั่นแหละสำคัญ ดูให้ออก
     

แชร์หน้านี้

Loading...