พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุกับคนไทย

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย อ.พราหมเณตร, 19 สิงหาคม 2012.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. อ.พราหมเณตร

    อ.พราหมเณตร Ajarn. Pramarnet

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2010
    โพสต์:
    23
    ค่าพลัง:
    +50
    [​IMG]

    [​IMG]

    ''พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุกับคนไทย''


    พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ (2547)


    คำว่า "ธาตุ" ตามตัวอักษรแปลว่า ผู้ทรงไว้/ทรงอยู่ สิ่งซึ่งทรงไว้/ทรงอยู่ ภาวะที่ทรงไว้/ทรงอยู่ หมายถึง สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่คู่โลก ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ไม่สูญสลายไปไหน แต่อาจจะเปลี่ยนรูปขนาดสีสันไปเมื่อเวลาเปลี่ยนไป หรือเมื่อเปลี่ยนสถานที่ ธาตุเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงโดยไม่ต้องการมี การพิสูจน์ นี่คือความหมายของคำว่า "ธาตุ" โดยทั่วไป ในพระพุทธศาสนานิยมใช้คำนี้มาก เช่น โลกธาตุ หมายถึงความมีอยู่เป็นของโลก นิพพานธาตุ หมายถึงความมีอยู่เป็นอยู่ของนิพพาน กามธาตุ หมายถึงความมีอยู่เป็นอยู่ของภพภูมิของสัตว์ผู้เสพเสวยกาม คือพวกที่เสวยกามคุณ เช่นโลกมนุษย์ รูปธาตุ หมายถึงความมีอยู่เป็นอยู่ของภพภูมิเทวดาชั้นรูปพรหม อรูปธาตุ หมายถึงความมีอยู่เป็นอยู่ของภพภูมิของเทวดาชั้นอรูปพรหม อปริยาปันนธาตุ หมายถึงความมีอยู่เป็นอยู่ของภพภูมิที่เหนือขึ้นไป (โลกุตตรภูมิ)
    "ธาตุ" ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนานิยมหมายถึงธาตุ ๔ ได้แก่ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ(ธาตุไฟ) และวาโยธาตุ (ธาตุลม) ถือเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ตัวมนุษย์ (คน) และสัตว์มีชีวิตทั้งหลายประกอบด้วยขันธ์ ๕ คือ รูป(ธาตุหรือมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๒๔) เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกย่อ ๆ รูปนาม คำว่า "รูปนาม" ไม่ได้หมายถึงว่ามี ๒ อย่างคือ รูปกับนาม แต่หมายถึงรูปนาม คือเขียนติดกันไปเลย ไม่ได้แยกกันในรูปมีนามและในนามมีรูป เป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่แยกกัน "ธาตุ" ๔ นี้ไม่ได้หายไปไหน มีอยู่ในโลกในจักรวาลนี้ตลอดเวลา บางทีก็ปรากฏให้เห็นเป็นรูปร่าง บางทีก็ไม่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปร่าง กล่าวตามภาษา วิทยาศาสตร์ก็คือ บางที ก็เป็นสสาร บางทีก็เป็นพลังงาน เปลี่ยนกลับไปกลับมา
    "ธาตุ ๔" ดังกล่าวมานั้นถือเป็นธาตุพื้นฐาน จาก "ธาตุ ๔" ก็ขยายเป็น "ธาตุ ๑๘" คือ จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ(ความจริงก็คือ ตาเห็นรูป เกิดการรับรู้ทางตา) โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ(ความจริงก็คือ หู ได้ยินเสียง เกิดการรับรู้ทางหู) ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ (ความจริงก็คือ จมูกได้กลิ่น เกิดการรับรู้ทางจมูก) ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ(ความจริงก็คือ ลิ้นลิ้มรส เกิดการรับรู้ทางลิ้น) กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ(ความจริงก็คือ กายสัมผัสกับสิ่ง เกิดการรับรู้ทางกาย) มโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ (ความจริงก็คือ ใจคิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดการรับรู้ทางใจ) คำว่า "ธาตุ" ในความหมายที่แคบลงมา หมายถึงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคน (ทั้งส่วนที่เป็นกระดูกและอวัยวะภายในอื่น) ที่เหลือจากการถูกเผา ที่เห็นชัดก็คือกระดูกของคนที่เหลือจากการถูกเผาแล้ว
    คำว่า "พระธาตุ" มีความหมายเหมือนกับคำว่า "ธาตุ" แต่มีข้อพิเศษออกไปก็คือเป็นส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคนที่บรรลุธรรม มีจิตใจบริสุทธิ์ หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ซึ่งเหลือจากการถูกเผา บางทีเรียกว่า "พระอรหันตธาตุ" พระสาวก สาวิกาของพระพุทธเจ้า(หมายรวมถึงพระปัจเจก-พุทธเจ้า และอุบาสก อุบาสิกาผู้เป็นอรหันต์ด้วย)
    คำว่า "พระบรมสารีริกธาตุ" หมายถึงกระดูกของพระพุทธเจ้า(พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) คำว่า "พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ" นี้ ตรงกับ ภาษาอังกฤษว่า "Relic" ซึ่งตรงกับภาษาลาตินว่า "Reliquiae" แปลว่า ส่วนที่เหลืออยู่ (Remains) เผ่าชนทั้งหลายในอดีตถือว่า กระดูกคนเป็นสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ ลัทธิถือผีสางเทวดา(Shamanism)นิยมเก็บกระดูกคนไว้ ประเพณี นิยมในพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะในยุคของพระพุทธเจ้าองค์ไหน นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกรมาจนถึงพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม การเก็บ กระดูก (อัฐิ หรือเป็นกระดูกของคนบริสุทธิ์ก็นิยมเรียกว่า พระธาตุบ้าง พระสารีริกธาตุบ้าง พระบรมสารีริกธาตุบ้าง) ไว้บูชาสักการะปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป เพราะฉะนั้น ก็จะมีข้อความในคัมภีร์กล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้ว ๔ อย่าง คือ
    ๑. ธาตุเจดีย์ คือ พระบรมสารีริกธาตุ
    ๒. บริโภคเจดีย์ คือ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล
    ๓. ธรรมเจดีย์ คือ จารึกข้อพระธรรม
    ๔. อุเทสิกเจดีย์ คือ พระพุทธรูป ธรรมจักร รอยพระพุทธบาท พระแท่นวัชรอาสน์ หรือสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า
    สรุปได้ในที่นี้ว่า สิ่งที่ควรบูชาสักการะสูงสุดของชาวพุทธคือเจดีย์ ๔ ประเภทดังกล่าว โดยเฉพาะธาตุเจดีย์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง การหายไปของ พระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุเป็นเครื่องแสดงถึงความเสื่อมของศาสนาอย่างหนึ่ง เรียกว่า "ธาตุอันตรธาน" แต่การหายไปของธาตุที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงว่าพระธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุนั้นหายไปจากโลกนี้ เป็นเพียงการหายไปจากที่หนึ่งที่คนไม่นิยมปฏิบัติธรรมแล้วไปปรากฏในอีกที่หนึ่งที่คนนิยมปฏิบัติธรรม หรืออาจไม่ปรากฏในที่ไหนเลยจนกว่าจะมีคนปฏิบัติธรรม จึงจะปรากฏให้เห็นเหตุการณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อไม่มีการบูชาสักการะ พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ในที่ต่างๆ ตำนานบอกว่า ถ้าทั่วทุกหนทุกแห่งไม่มีผู้บูชาสักการะเลย พระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายจากมนุษยโลก เทวโลก และภพพญานาค จะเสด็จมาสู่ต้นพระศรีมหาโพธิ์สถานที่ตรัสรู้ทั้งหมด รวมกัน เป็นรูปพระพุทธองค์ ทรงประดิษฐาน ณ โคนต้นพระมหาโพธิ์นั้น ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ แต่ไม่มีมนุษย์คนใดหรือสัตว์โลกตนใดเห็นพระองค์เลย
    เพราะฉะนั้น คำว่า "ธาตุอันตรธาน" ไม่ได้หมายถึงว่า ธาตุสูญสิ้นไป จากโลก แต่หมายถึงหายไปไม่ปรากฏให้เห็น พระพุทธดำรัสที่ตรัสกับ พระอานนท์คราวหนึ่งว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้น เห็นธรรม" ถ้าจะอธิบายในอีกลักษณะหนึ่งก็ได้ว่า ผู้ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญ คุณความดี มีคุณธรรมประจำใจ ก็จะเห็นพระพุทธเจ้า คำว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา" มี ๒ นัย
    นัยที่ ๑ หมายถึงว่า ขณะที่พระพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์อยู่ คนที่อยู่ห่างไกลประสงค์จะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลเพื่อไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ก็ได้ แต่ให้ผู้นั้นปฏิบัติธรรม ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา พระพุทธเจ้าก็จะเปล่งรัศมีมี ๖ สีไปแสดงพระองค์ปรากฏต่อหน้าผู้นั้น นี่คือนัยของคำว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา"
    นัยที่ ๒ หมายถึงว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ไปแล้ว (ปรินิพพาน=ตาย) ผู้ประสงค์จะเห็นพระพุทธเจ้า ขอให้อธิษฐานจิตบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา กล่าวคำอธิษฐานขอให้พระบรมสารีริกธาตุเสด็จมา ณ ภาชนะหรือสถานที่เหมาะสมซึ่งจัดเตรียมเอาไว้ เมื่อทำความดีถึงขั้น พระบรมสารีริกธาตุก็จะเสด็จมาตามที่ปรารถนา
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 19 สิงหาคม 2012
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...