ผู้รู้ชั้นเลิศ อยู่ในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก นี้เอง

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ธรรมภูต, 27 กรกฎาคม 2018.

  1. ธรรมภูต

    ธรรมภูต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    3,621
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +2,192
    ?temp_hash=147b39cd7c23d28b2bfa7b3e102c418d.jpg

    ผู้รู้ชั้นเลิศ อยู่ในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก นี้เอง


    1532697790.png น้อมถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑

    วันนี้วันดีเป็นวันเพ็ญแห่งอาสาฬหมาส วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เพื่อเป็นการรำลึกถึงวันอาสาฬหบูชา วันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงประกาศพระศาสนาแบบครบสมบูรณ์ อันมีองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น ต่างกันแต่ชื่อที่เรียกหาเพื่อความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกัน ส่วนความหมายที่แท้จริงนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน เนื้อเดียวกัน

    พระพุทธองค์ทรงค้นหาอมตธรรมความจริงในเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยเห็นว่า สิ่งต่างๆ ในโลกล้วนเป็นทวินิยม เมื่อมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องมีที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นของคู่กัน จึงออกค้นหาโมกขธรรมโดยลำพังพระองค์เอง เมื่อได้พบกับพระอาจารย์ทั้งสอง คือ อาฬารดาบส และอุทกดาบส ตามลำดับ ก็ได้เข้าศึกษากับท่านทั้งสอง โดยแค่ท่านทั้งสองกล่าววาจาที่สอนจบลง พระพุทธองค์ก็เข้าใจและเข้าถึงในอรูปฌานที่ ๗ และที่ ๘ เหล่านั้นในทันที

    ทรงเห็นว่ายังไม่ใช่ทางแห่งความพ้นทุกข์ เพราะจิตยังติดสุขอยู่ในฌานเหล่านั้นอย่างเหนียวแน่น ด้วยกลัวไปว่าอารมณ์ฌานที่ได้มานั้นจะจืดจางไป ต้องคอยประคองอารมณ์จิตที่ติดสุขที่เกิดจากฌานนั้นตลอดเวลา ทำให้เป็นทุกข์อยู่ จัดอยู่ในกามสุขัลลิกานุโยค เป็นสุขที่เกิดจากอารมณ์ฌานอันละเอียด จัดเป็นกาม (พอใจ) อยู่

    เมื่อเห็นว่าไม่ใช่แนวทางเหตุการพ้นทุกข์ จึงหันมาในแนวทางทางสุดโต่งอีกฟากฝั่งหนึ่ง เพื่อทรมานตนให้เกิดความลำบาก หวังว่าจะลดความทะยานอยากลง จัดเป็นอัตตกิลมถานุโยค กลายเป็นว่าอยากที่จะไม่อยาก เป็นการเหนื่อยเปล่า ไม่เป็นธรรมเพื่อห่างไกลจากกิเลส

    พระพุทธองค์ทรงระลึกขึ้นมาได้ว่า ทรงบรรลุปฐมฌานตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ขณะประทับใต้ร่มหว้าในพิธีแรกนาขวัญ ด้วยอานาปานสติ เมื่อเป็นเช่นนั้น พระพุทธองค์จึงทรงหันมาเจริญอานาปานสติแบบต่อเนื่องเนืองๆ โดยไม่ขาดสาย กระทั่งจิตสงบมีสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ ปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตเป็นการต่อเนื่อง เริ่มจากอามีสสัญญา เข้าสู่ฌานที่สอง มีธรรมอันเอกผุดขึ้น เห็นจิตตนเองสงบ มีสติตั้งมั่น เข้าสู่ฌานที่สาม อยู่เป็นสุขด้วยนามกาย มีอุเบกขาอยู่ เข้าสู่ฌานที่สี่ ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ

    จะสังเกตได้ว่า สมาธิที่มีมานานก่อนพระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นมานั้น เป็นสมาธิที่จิตยังเกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์ รูป อรูป เอาไว้อย่างเหนียวแน่น ปล่อยวางไม่เป็น เพราะเกรงไปว่าสุขที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ฌานอันละเอียดอ่อนอยู่นั้น จะจืดจางลง เป็นความหวั่นไหวที่ซ่อนอยู่ ย่อมแตกต่างไปจาก "สัมมาสมาธิ" ที่ปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิต ตั้งแต่ฌานที่ ๑ จนถึงฌานที่ ๔ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งจิตของตนสงบ มีสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว สงบถึงขีดสุด จิตมีสติบริสุทธิ์วางเฉยอยู่ (ฌาน ๔)

    พระพุทธองค์ทรงกล้าประกาศออกมาว่า "เราตรัสรู้ชอบได้ด้วยตนเอง" ดั่งมีพระบาลีรองรับไว้ว่า "ปุพเพ อนนุสสุเตสุ ธัมเมสุ แปลว่า ธรรมอันเราตรัสรู้นี้ ไม่เคยได้ยินได้ฟัง จากที่ไหนในกาลก่อนนี้แล มาปรากฏแก่อาตมภาพ" ผู้ศึกษาพึงระมัดระวังให้ดี อย่านำเอาฌานสมาบัติ มาผสมปนเปกับฌานในสัมมาสมาธิ ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิง ถ้ายังคิดว่า พระพุทธองค์ทรงต่อยอดการตรัสรู้มาจากรูปฌาน อรูปฌานแล้ว ระวังจะกลายเป็นการจาบจ้วงไปโดยไม่รู้ตัว

    เครื่องล่อ (กายสังขาร) ที่ทำให้เกิดฌานในสัมมาสมาธินั้น ทำให้จิตของตนสามารถเห็นไตรลักษณ์อย่างชัดเจน ส่วนฌานสมาบัติไม่อาจเห็นในส่วนนี้ ต่อเมื่อได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องให้หันมาพิจารณาเครื่องล่อในสติปัฏฐาน ๔ จิตของผู้ปฏิบัติฌานสมาบัติอยู่ก่อน ที่มีความชำนิชำนาญในการเข้าออกฌานอย่างคล่องแคล่วแล้ว ย่อมง่ายดายต่อการพลิกกลับมาเข้าสู่ฌานในสัมมาสมาธิได้อย่างรวดเร็ว

    "ข้อปฏิบัติให้ถึงทางตรัสรู้นั้นเป็นปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุด ๒ อย่าง อันพระตถาคตตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว กระทำให้เกิดจักษุ กระทำให้เกิดญาณ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เป็นไฉน คือ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘"

    มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเรียกกันย่อๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นั้น ผู้ศึกษาธรรมะจะต้องทำความเข้าใจว่า "มรรค" นี้เป็นเรื่องของจิต เป็นทางเดินของจิต ที่ทำให้เกิดปัญญา (แยกตัวหรือละเว้นสิ่งที่ผิด ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ถูก) ซึ่งผู้ปฏิบัติจะต้องอบรมให้เกิดขึ้นที่จิต เพื่อสลัดอารมณ์ออกไปให้หมดอย่างสิ้นเชิงในที่สุด

    เราจึงเห็นได้ว่าหลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา มีประโยชน์แก่ผู้ที่ลงมือปฏิบัติจริงเท่านั้น ผู้ใดลงมือปฏิบัติก็ย่อมได้รับประโยชน์เท่าเทียมกัน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น
    พระสงฆ์ หรือ ฆราวาสก็ตาม...ไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องกั้นหรือขีดคั่นไว้เลย

    ผู้ใดปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมาก ก็ย่อมได้รับพลังจิตสำหรับต่อต้านอิทธิพล การครอบงำของอารมณ์ได้ดี และมีความสุขในชีวิตประจำวันมาก

    ผู้ใดปฏิบัติน้อย ก็ย่อมได้รับพลังจิตสำหรับต่อต้านอิทธิพลการครอบงำของอารมณ์ได้น้อย และมีความสุขในชีวิตประจำวันน้อย

    ผู้ใดไม่ปฏิบัติเลย ก็ย่อมไม่มีพลังจิตสำหรับต่อต้านอิทธิพลการครอบงำของอารมณ์เลย คือยังถูกอารมณ์ทั้งหลายครอบงำให้หวั่นไหวตามไปด้วย ทำให้ไม่มีความสุขในชีวิตประจำวันเท่าที่ควร นั่นก็คือ ไม่รู้จักวิธีทำตนให้มีความสุข ทั้งๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว

    มีพระบาลีในมหาปรินิพพานสูตร ยืนยันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนี้ คือ :

    "สีล ปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสงฺโส,
    สมาธิ ปริภาวิโต ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสงฺสา,
    ปญฺญา ปริภาวิโต จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ
    สมาธิที่มีศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
    ปัญญาที่มีสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
    จิตที่มีปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองเสียได้ ดังนี้"

    พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้เรื่องการปฏิบัติ อริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ อริยมรรคมีองค์ ๘ ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน รอยเดียวกัน ทำให้จิตของพระพุทธองค์บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าทั้งหลาย

    ทรงนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนที่ทำให้จิตบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองให้เหล่าพระอริยสาวกออกไปเผยแผ่ ดังในครั้งที่พระพุทธองค์ทรงมีพระสาวกครบ ๖๐ รูป ได้ทรงส่งพระสาวกออกไปประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรก ได้ตรัสแก่พระสาวกเหล่านั้นว่า :

    "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริก (อบรมสั่งสอน) ไป
    เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนทั้งหลาย
    เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
    เพื่อประโยชน์และความสุขของเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายเถิด

    พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกัน ๒ รูป

    จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น (ศีล)
    งามในท่ามกลาง (สมาธิ)
    งามในที่สุด (ปัญญา)
    จงประกาศพรหมจรรย์
    พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะครบบริบูรณ์, บริสุทธิ์

    สัตว์ทั้งหลาย (ผู้ติดข้องอยู่ในอารมณ์) จำพวกที่มี กิเลสเบาบางมีอยู่
    เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม, ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เราเองก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม"

    ภิกษุสาวกที่พระพุทธองค์ทรงให้ออกไปประกาศพระศาสนาเหล่านั้น ล้วนเป็นพระอริยสาวกที่ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ กระทั่งจิตของตนสะอาดบริสุทธิ์หมดจดปราศจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย

    ฉะนั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงเป็นเรื่องเดียวกัน รอยเดียวกัน โดยไม่ต้องไปหาเที่ยวค้นหาผู้รู้ชั้นเลิศจากที่ไหน พระพุทธองค์ทรงให้ค้นหาที่กายยาววา หนาคืบ กว้างศอกนี้ ที่มีจิตครอง ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา

    สรุปสุดท้าย ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกปฏิบัติสมาธิ เพื่ออบรมจิตให้รวมตัวสงบลงจนถึงขีดสุดบ่อยๆ เนืองๆ จนเกิดความชำนาญคล่องแคล่ว หลังจากที่ได้สร้างฐานลมหายใจกระทบแล้วถึงขนาดที่ว่า เมื่อคิดถึงฐานเมื่อใด จิตก็สงบถึงขีดสุดเมื่อนั้นทันที โดยไม่เสียเวลาเนิ่นนานเลย ปัญญาในขั้นนี้ เรียกว่า ภาวนามยปัญญา

    ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่า เมื่อจิตสงบถึงขีดสุดแล้ว อารมณ์และความรู้สึกนึกคิด รวมทั้งจุดนิมิตลมหายใจกระทบ ก็จะถูกสลัดปล่อยวางออกไปจนหมดสิ้น จิตกับสติจะทำงานอยู่ด้วยกัน กล่าวคือ

    จิตอยู่ที่ไหน สติก็จะอยู่ด้วยที่นั่น
    สติอยู่ที่ไหน สมาธิก็จะอยู่ที่นั่น
    สมาธิอยู่ที่ไหน ปัญญาก็จะอยู่ที่นั่น
    และปัญญาอยู่ที่ไหน ศีล (เจตนางดเว้น) ก็จะอยู่ที่นั่นด้วย

    ทั้งนี้หมายความว่า บรรดาคุณธรรมความดีหรือความถูกต้องทั้งหลาย ได้รวมตัวกันที่จิต ดังที่เรียกว่า "มรรคสามัคคี หรือ มคฺคสมงฺคี" แล้วนั่นเอง

    เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
    ธรรมภูต
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...