ปิสุณาวาจา

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 23 มิถุนายน 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ปีสติ สามคฺคี สญฺจุณฺเนตีติ ปิสุณา

    "วาจาใด ย่อมบดความสามัคคี คือ ทำความสามัคคี ให้กระจัดกระจายละเอียดไป
    วาจานั้น ชื่อว่า ปิสุณาวาจา"


    ปิสุณาวาจา คือการกล่าววาจาส่อเสียด ยุยงเหล่าชนที่กำลังมีความสามัคคีอยู่ให้แตกความสามัคคีกัน ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มิตตสุญวาจา แปลว่า วาจาที่กล่าวเพื่อทำลายมิตรภาพโดยสังกิลิฐเจตนา คือเจตนาที่ชั่วเศร้าหมองไม่บริสุทธิ์ผ่องใส เป็นเจตนาร้ายทำให้เกิดความเร่าร้อน การกล่าววาจาส่อเสียดยุยงให้เกิดความแตกสามัคคีของหมู่คณะซึ่งอาจจะกระทำได้ด้วยกายและด้วยวาจานี้แล เรียกว่า "ปิสุณาวาจา"


    อนึ่ง ท่านพระโบราณจารย์ได้กล่าวอรรถแห่งปิสุณาวาจาไว้อีกว่า ปิยํ สุญฺญํ กโรตีติ ปิสุณา ซึ่งแปลเป็นใจความว่า คำกล่าวใด ย่อมทำตัวเองให้เป็นที่รัก และกระทำผู้อื่นให้สูญจากความรัก คำกล่าวนั้นเรียกชื่อว่า "ปิสุณาวาจา" ยกตัวอย่างเช่น บุรุษคนที่ ๑ กับบุรุษคนที่ ๒ มีความปรองดอกรักใคร่กันอยู่ บุรุษคนที่ ๓ เกิดความริษยาไม่พอใจมีความประสงค์จะให้บุรุษคนที่ ๑ มารักตน และให้เกลียดชังบุรุษคนที่ ๒ เสีย จึงมีเจตนาชั่วร้ายคิดหาเรื่องมาพูดยุยงให้ร้ายป้ายสี โดยกล่าวหาว่าบุรุษคนที่ ๒ นั้นมีความไม่ดีต่างๆ นานา จนบุรุษคนที่ ๑ หลงเชื่อคิดว่าเป็นเรื่องจริง แล้วเกิดความรักใคร่เห็นใจเจ้าคนปิสุณาวาจาพูดส่อเสียดยุยงคนนั้นว่า เป็นคนหวังดีปรารถนาดีต่อตน จึงโอนความรักใคร่มามอบให้แก่เจ้าบุรุษคนที่ ๓ ซึ่งเป็นคนปิสุณาวาจา กล่าวคำยุยงส่อเสียด และพร้อมกันนั้นก็เกิดความเกลียดชังบุรุษคนที่ ๒ ซึ่งไม่มีความผิดอย่างจับจิตจับใจ ในกรณีนี้แล เจ้าบุรุษคนที่ ๓ ได้ชื่อว่ากล่าวคำเป็นปิสุณาวาจา คือกล่าววาจาที่ทำตัวเองให้เป็นที่รัก และกระทำผู้อื่นให้สูญจากความรัก

    ข้อวินิจฉัยที่จักให้ทราบได้อย่างแน่ชัดว่า ผู้ที่กล่าววาจาส่อเสียด จะสำเร็จเป็นปิสุณาวาจาอกุศลกรรมบถได้หรือไม่นั้น ต้องวินิจฉัยด้วยองค์สัมภาระคือองค์ประกอบแห่งปิสุณาวาจา ซึ่งมีอยู่ ๔ ประการดังต่อไปนี้
    ๑. ภินทิตพฺโพ ปโร มีผู้อื่นที่ถูกทำให้แตกจากกัน
    ๒. เภทปุเรกฺขาโร มีเจตนามุ่งหวังจะทำให้แตกกัน หรือมีความประสงค์จะให้รักตน
    ๓. ปโยโค ทำความพยายามเพื่อจะให้ผู้อื่นแตกจากกัน
    ๔. ตทตฺถวิชานนํ ผู้อื่นมีความเชื่อถือในปิสุณาวาจานั้น แล้วก็แตกจากกันสมเจตนา
    ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย! องค์ประกอบแห่งปิสุณาวาจาอกุศลกรรมบถย่อมมี ๔ ประการ ดังนี้ เมื่อบุคคลใดประกอบอกุศลกรรมบถปิสุณาวาจาครบองค์ทั้ง ๔ ประการแล้ว ก็เป็นอันว่าผู้ที่กระทำปิสุณาวาจานั้น เป็นผู้ก้าวล่วงอกุศลกรรมบถ สำเร็จเป็นอปายคมนียะ คือเป็นชนกกรรมสามารถที่จะชักนำให้เขาไปเกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิได้ แต่ถ้าไม่ครบองค์ทั้ง ๔ ก็หาได้ชื่อว่าเป็นผู้ก้าวล่วงอกุศลกรรมบถไม่

    ในการประกอบอกุศลกรรมบถเพื่อก้าวล่วงซึ่งองค์แห่งปิสุณาวาจานี้ ย่อมต้องมีปโยคะ คือความพยายามอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาปโยคะแห่งปิสุณาวาจาทั้งหลาย ก็ปโยคะหรือความพยายามในปิสุณาวาจาอกุศลกรรมบถนี้ มีอยู่ ๒ ประการคือ
    ๑. กายปโยคะ การส่อเสียดทางกาย! หมายความว่าอย่างไร?
    หมายความว่า เมื่อมีความประสงค์จะให้ผู้อื่นแตกความสามัคคีกัน ได้โอกาสแล้วก็แสดงอาการต่างๆ อันเป็นไปทางกายเพื่อให้เขาแตกสามัคคีกัน ในกรณีนี้มีอุทาหรณ์ว่า

    ยังมีสามีภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งมีความรักใึคร่ปรองดองกันมาก แต่ภรรยานั้นมีสันดานเสียอยู่ คือชอบเล่นการพนัน พอได้เวลาสามีออกไปทำงาน นางที่ถูกผีการพนันเข้าสิงจิตใจ มักจะออกไปเล่นการพนันที่บ้านใกล้เคียงเสมอ ประพฤติอยู่อย่างนี้เป็นเวลาช้านาน โดยสามีจะรู้ระแคะระคายแม้แต่สักนิดหนึ่งก็หามิได้

    อยู่มาวันหนึ่ง สามีผู้โง่กลับมาบ้านเร็วผิดเวลา เมื่อไม่เห็นภรรยาอยู่บ้าน จึงถามญาติคนหนึ่งว่าภรรยาไปไหน ญาติคนมีความเกลียดชังนางที่เป็นภรรยา และมีความปรารถนาจะให้สามีภรรยาแตกแยกกันมานานแล้ว เมื่อถูกถามเข้าเช่นนั้น ก็พลันเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้ชีวิตคู่บังเกิดรอยร้าวและแตกแยกกันได้ในคราวนี้ มีเจตนามุ่งร้ายหวังจักทำลายความสามัคคีของสามีภรรยาให้แตกสลาย แต่ไม่บอกด้วยวาจากกลับใช้กิริยาท่าทางบุ้ยใบ้ เพื่อให้นายสามีนั้นรู้อย่างแจ้งชัดว่า นางที่เป็นภรรยาของเขากำลังเล่นการพนันอยู่ที่บ้านใกล้เคียง และไ้ด้แอบประพฤติชั่วเช่นนี้มานานแล้ว เจ้าบุรุษผู้สามีซึ่งโดยปรกติธรรมดาเป็นผู้เกลียดชังการพนันอยู่นักหนา พอรู้ว่าภรรยามีนิสัยชั่วโดยการแสดงกิริยาท่าทางของญาติผู้มีความประสงค์ร้ายเช่นนั้น ก็พลันบังเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง รีบวิ่งปราดไปที่บ้านใกล้เคียง เห็นภรรยาของตนกำลังเล่นการพนันอยู่พอดี ก็เกิดอาการบ้าดีเดือดเลือดขึ้นหน้า เตะถีบทุบตีและด่าว่าภรรยาเป็นการใหญ่ ในที่สุดเกิดแตกร้าวกันสมความปรารถนาของญาติผู้นั้น การแสดงกิริยาท่าทางส่ิอเสียดด้วยความมุ่งร้ายหมายจะให้เขาแตกแยกกันเช่นนี้แล เรียกว่า "กายปโยคะ" คือล่วงปิสุณาวาจาอกุศลกรรมบถ เพราะกระทำการส่อเสียดโดยทางกาย

    ในกรณีนี้ หากจะมีผู้สงสัยว่า เอ๊ะ! นี่อย่างไรกัน มันน่างุนงงสงสัยเป็นนักหนา เพราะจำได้ว่าองค์ประกอบแห่งปิสุณาวาจาข้อที่ ๒ คือเภทปุเรกฺขาโร นั้น ท่านกล่าวว่าได้แก่การที่มีเจตนามุ่งหวังจะให้เขาแตกกัน หรือมีความประสงค์จะให้เขารักตน แต่ในกรณีที่คู่สามีภรรยาเกิดมีอันเป็นต้องตีด่าขึ้นอย่างอุตลุดจนถึงกับต้องแตกแยก เพราะญาติเจ้ากรรมแสดงกิริยาอาการบุ้ยใบ้ เพื่อให้สามีรู้ว่าภรรยากำลังเล่นการพนันอยู่ ตามตัวอย่างที่ ยกมาสักครู่นี้นั้น น่าจะคัดค้านไว้ว่า ญาติเจ้ากรรมไม่ต้องปิสุณาวาจาอกุศลกรรมบถ เพราะเขาไม่มีความประสงค์จะให้สามีของหญิงนั้นมาผู้สมัครรักใคร่ในตนเลย มีความประสงค์จะให้แตกแยกกันอย่างเดียวเท่านั้น ปัญหานี้ท่านจะว่าอย่างไร?

    ว่าท่านยังไม่เข้าใจน่ะซี! อันที่จริง ถึงแม้ว่าญาติเจ้ากรรม ผู้ใช้กิริยาบุ้ยใบ้เป็นกายปโยคะแห่งสุปิณาวาจานี้ จะไม่มีความหมายมั่น ไม่มีความประสงค์จะให้บุรุษผู้เป็นสามีของหญิงที่ถูกผีการพนันเข้าสิงใจมาเกิดความรักใคร่ในตนเลยก็ตาม แต่ก็ได้ชื่อว่าล่วงอกุศลกรรมบถปิสุณาวาจา เพราะตนมีเจตนาชั่วปรารถนาจะให้คู่สามีภรรยาเกิดแตกแยกกันด้วยใจร้าย ในกรณีนี้พึงทราบไว้จงดีว่า องค์ประกอบแห่งปิสุณาวาจาที่ว่า เภทปเรกฺขาโร คือมีเจตนามุ่งหวังจะให้เขาแตกกัน หรือมีความประสงค์จะให้เขารักตนนั้น ท่านมุ่งหมายเอาความเป็นผู้มีเจตนามุ่งหวังจะให้เขาแตกกันเป็นข้อสำคัญ ส่วนการที่มีความประสงค์จะให้เขารักตนหรือไม่นั้น มิใช่ข้อสำคัญ เพียงแต่ท่านแสดงให้ทราบว่า บุคคลบางคนอาจจะล่วงปิสุณาวาจาอกุศลกรรมบถ โดยมีความประสงค์อย่างนี้ด้วยบ้างก็ได้เท่านั้น

    ๒. วจีปโยคะ การพูดส่อเสียดโดยทางวาจา! หมายความว่าอย่างไร?
    หมายความว่า เมื่อมีความประสงค์จะให้ผู้อื่นเกิดแตกสามัคคีกัน ครั้นได้มีโอกาสแล้วก็พยายามพูดจาเป่าหูยุยงให้ผู้อื่นที่เป็นเหยือแห่งปิสุณาวาจาเกิดมีอาการคล้ายกับจะเป็นบ้า ทุบตีด่าว่าซึ่งกันและกันโดยประการต่างๆ ในกรณีนี้มีอุทาหรณ์ว่า

    ยังมีสามีภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งมีความรักใคร่ปรองดองกันมาก เป็นเหตุให้หญิงเจ้าเล่ห์คนหนึ่งเกิดความริษยาตามประสาคนกิเลสต่ำๆ ไม่อยากให้ใครมีความสุข จึงคิดหาทางที่จะให้สามีภรรยาคู่นั้นเกิดแตกแยกกัน ต่อมาเมื่อหญิงเจ้าเล่ห์คิดอุบายอันชั่วร้ายได้แล้ว จึงแอบเข้าไปกระซิบกระซาบกับบุรุษผู้เป็นสามีแห่งหญิงนั้นว่า ภรรยาของเขาเป็นผีกระสือ! คือว่านางถูกผีสิงเป็นกระสือ ในเพลาราตรี ขณะทีเขานอนหลับสนิทนั้น นางจะค่อยๆ ลุกขึ้นออกไปนอกบ้าน เพื่อไปแสวงหาอาหารตามประสาผีกระสือ กล่าวคืออุจจาระ ปัสสาวะอันเน่าเหม็นของมนุษย์ทั้งหลาย ครั้นได้อาหารอันแสนจะสกปรกลามกก็บริโภคเป็นที่สำราญมานานแล้ว โดยเขาไม่มีโอกาสจะรู้ได้ เพราะก่อนที่นางจะลุกจากที่นอนออกไปหาอาหารนั้น นางจะต้องลูบคลำเขาจนเป็นแน่ใจว่า เขาหลับสนิทหรือไม่ เมื่อแน่ใจว่าหลับสนิทดีแล้ว จึงจะค่อยๆ ลุกขึ้นแล้วย่างเท้าก้าวข้ามศีรษะเขาไป เพื่อเป็นการสะกดให้เขาหลับสนิทหนักเข้าไปอีกขั้นหนึ่ง นางได้กระทำเช่นนี้ทุกคืน

    กล่าวปริศนาให้เป็นที่ค้างใจดังนี้แล้ว ก็ทำทีเป็นไม่สนใจว่า นายงั่งที่นั่งฟังเฉยอยู่นั้น จะเชื่อถือในคำพูดของตนหรือไม่ รีบเดินจากไปก่อนที่เขาจะซักถามความอะไรให้มากไปกว่านี้ ครั้นสบโอกาสดีก็แอบเข้าไปกระซิบกระซาบกับหญิงที่เป็นภรรยานี้ว่า สามีของนางเป็นผีกระหัง! คือเป็นผีที่มีหาง อันใครๆ จะพึงไว้วางใจมิได้ เพราะเป็นผีร้ายในร่างมนุษย์ มันมักจะฉุดกระชากลากไส้และตับไตของคนมากินไม่เลือกหน้า ในเมื่อมันเกิดบ้าคลั่งและหิวกระหายขึ้นมา หากว่านางไม่เชื่อเพลาราตรีขณะที่เจ้าสามีกระหังนั้นมันนอนหลับก็จงค่อยๆ ลูบคลำดูเถิด เพราะหางมันจะเกิิดงอกออกมาเล็กน้อยให้เป็นที่ผิดสังเกต

    เมื่อทั้งสองฝ่ายได้รบคำบอกเล่าจากหญิงเจ้าอุบาย ซึ่งมีเจตนาร้ายหวังจะให้เกิดความแตกแยกกันขึ้นเช่นนี้ แม้จะไม่มีความเชื่อถือเท่าใด แต่ก็ให้เกิดความระแวงใจ เพราะธรรมชาติของคนหรือมนุษย์นั้น โดยมากมักจะไม่ค่อยมีความเข้าใจในเรื่องผีเรื่องสาง จึงต่างก็คอยจ้องหาโอกาสที่จะพิสูจน์ความจริงในกันและกันให้ได้ แล้วฤกษ์ร้ายก็ย่างกรายเข้ามาถึง คือในคืนหนึ่งเมื่อสามีภรรยาซึ่งถูกหญิงเจ้าเล่ห์กล่าวปิสุณาวาจา เสกเป่าให้กลายเป็นผีกระสือและผีกระหังไปแล้วทั้งคู่นี้ พากันเข้านอนด้วยความระแวงใจ จะมีผู้ใดผู้หนึ่งเข้าสู่นิทรารมณ์ ตามปรกติดังเ่ช่นเคยก็หามิได้ แต่ทั้งสองฝ่ายก็แกล้งทำเป็นนอนหลับ เพื่อจะจับความจริงซึ่งกันและกันให้ได้ คือ ฝ่ายสามีก็นอนระวังคอยดูอยู่ว่า เพลาค่ำคืนดึกดื่น นางภรรยาจะเอื้อมมือมาค่อยๆ ลูบคลำ แล้วลุกขึ้นย่างเท้าก้าวข้ามศีรษะเพื่อเป็นการสะกดตนไปจริงตามคำบอกเล่าหรือไม่ ฝ่ายภรรยาก็แกล้งทำเป็นหลับไหล ตนจะต้องพิสูจน์ดูให้รู้แน่ว่ามีหางเข้าลักษณะเป็นผีกระหังตามคำบอกเล่าจริงหรือไฉน ในไม่ช้าก็ถึงนาทีวิกฤติ คือเมื่อนางภรรยาเห็นสามีที่ตนสงสัยว่าเป็นผีกระหังนั้นหลับแล้ว ก็ลุกขึ้นค่อยๆ เอื้อมมือไปต้องร่างสามีเพื่อที่จะคลำดูหาง ฝ่ายเจ้างั่งบุรุษผู้เป็นสามีไร้สติปัญญา พอรู้สึกว่ามือของภรรยามาต้องร่างและลูบคลำตน ก็สะดุ้งตัว ใจหายวาบ ปักใจว่าภรรยาแห่งตนเป็นผีกระสือแน่แล้ว จึงรวบรวมกำลังเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้นพลันยกเท้าขึ้นถึบนางที่เป็นภรรยากระเด็นไป แล้วลุกพรวดพราดขึ้นในทันใด ยกมือขึ้นชี้หน้าพ่นผรุสวาจาด่าเสียงลั่นด้วยโทสะระคนกับความกลัวอยู่เอ็ดอึง
    "อ้อ! ... มึงเป็นผีกระสือ! ข้าจับตัวได้แล้ว นึกว่าข้าไม่รู้หรือนางผีร้าย ตายเสียเถิด อย่าอยู่ให้เป็นที่ทรมานต่อไปเลย เราจะเอาชีวิตเจ้าเสียในบัดนี้"

    แล้วก็แสดงท่าเป็นหมอผีมีกิริยาขวนขวายหาอาวุธมีดาบและมีดเป็นอาทิ ตั้งใจว่าจะนำเอามาฆ่านางผีร้ายให้ตาย ฝ่ายนางคนเคราะห์ร้ายที่เป็นภรรยา ก็ปักใจแน่ว่าสามีตนไม่ใช่คนธรรมดาโดยที่แท้เป็นผีกระหัง เพราะเกิดความกระดากอายไม่อยากให้ใครรู้ว่ามีหางเป็นผีร้าย แต่พอตนเอื้อมมือไปคลำได้นิดเดียว ยังทันจะควานพบเลย ก็แสดงความโกรธเป็นนักหนา และเมื่อเห็นสามีผีกระหังแห่งตน สำแดงความโกรธโหดร้ายออกมาอย่างล้นพ้น ทำท่าว่าจะฆ่าตีตนชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเช่นนี้ ก็ยิ่งแน่ใจว่า มันคงเกิดบ้าคลั่งหิวกระหาย ประสงค์จะฆ่าตนให้ตายแล้วล้วงเอาตับไตไส้พุงออกมาบริโภคเป็นอาหารจริง ตามคำบอกเล่าที่ได้ยินได้ฟังมาเป็นแน่แท้ จึงพลันหวีดร้องขึ้นด้วยความรักตัวกลัวตาย
    "ว้าย! ตายแล้ว ช่วยด้วย! พ่อแม่พี่น้องและประดาคนที่ได้ยินทั้งหลาย จงรีบมาช่วยข้าด้วยเร็วๆ เข้า เจ้าผีกระหังมันเกิดบ้า จะเอาชีวิตข้า"

    "ฮี... ใครเป็นกระหัง! จงบอกมาเดี๋ยวนี้ นางผีกระสือ!" เจ้านั่นถามเหมือนจะสงสัย "แกนั่นแหละเป็นผีกระหัง" นางที่เป็นภรรยาว่าดังนี้แล้วก็รีบวิ่งจากเรือนหนีไปในกลางดึกพร้อมนึกสาบานอยู่ในใจว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จะไม่ขอพบหน้า และไม่ขออยู่ร่วมกับเจ้าคนผีกระหังนั้นอีกเป็นอันขาด

    การส่อเสียดทางวาจา โดยพูดยุยงให้เขาแตกความสาัมัคคีปรองดองกัน เช่น หญิงเจ้าเล่ห์มากไปด้วยความริษยา กล่าววาจาส่อเสียดยังคู่สามีภรรยาซึ่งมีความรักใคร่กันเป็นหนักหนา ให้เกิดความระแวงใจแล้วก็แยกกันไปในที่สุดเช่นนี้ เรียกว่ "วจีปโยคะ" คือล่วงปิสุณาวาจาอกุศลกรรมบถ เพราะพยายามกระทำการส่อเสียดทางวาจา

    การกล่าวปิสุณาวาจานี้ แม้ว่าจะครบองค์ ๔ ประการ และประกอบดวยปโยคะหนึ่งปโยคะใด ไม่ว่าจะเป็นกายปโยคะหรือวจีปโยคะก็ตาม ถ้าผู้ถูกส่อเสียดนั้นไม่แตกแยกกัน ยังคงเป็นกายสามััคคีและยังคงเป็นจิตสามัคคีกันอยู่ตามเดิมแล้ว ผู้ประกอบปิสุณาวาจาก็ยังกล่าวไม่ได้ว่าเป็นผู้ล่วงอกุศลกรรมบถ สมตามคำที่ท่านกล่าวไว้ว่ ปเร ปน อภินฺน กมฺปปถเภโท นตฺถิ ภินฺเนเยว ซึ่งแปลเป็นใจความว่า แม้จะครบองค์ ๔ แล้วก็ตาม เมื่อผู้อื่นไม่แตกแยกกัน ก็ไม่มีการล่วงอกุศลกรรมบถ ถ้ามีการแตกแยกกันแล้วเมื่อใด นั่นแล จึงจะมีการก้าวล่วงอกุศลกรรมบถ ดังนี้

    เมื่อจะกล่าวถึงโทษแล้ว ปิสุณาวาจาอกุศลกรรมบถนี้ ก็ย่อมมีโทษหนักเบาเช่นเดียวกับอกุศลกรรมบถข้ออื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว คือถ้าผู้ที่ถูกส่อเสียดให้แตกแยกกันนั้นเป็นผู้มีศีละรรม เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมสูง ปิสุณาวาจาของบุคคลผู้เป็นเจ้ากรรม ก็ย่อมจักเป็น มหาสาวัชชะ คือมีโทษหนัก มีโทษมาก หากว่าผู้ถูกส่อเสียดให้เกิดการแตกแยกกัน เป็นคนอันธพาล เป็นคนไร้ศีลธรรม ปิสุณาวาจาของบุคคลผู้เป็นเจ้ากรรม ก็ย่อมจักเป็น อัปปสาวัชชะ คือมีโทษน้อย มีโทษเบาเป็นธรรมดา

    วรรณาที่ผ่านมาแล้วนี้ เป็นอรรถาธิบายแห่งปิสุณาวาจาอกุศลกรรมบถ ซึ่งเป็นอกุศลกรรมที่มีฤทธิ์ร้าย โดยความเป็นตัวพืช เป็นตัวการบันดาลให้ประชาสัตว์ในโลกทั้งหลายต้องได้รับความทุกข์ทรมาน ด้วยการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ไม่มีธรรมวิเศษอื่นใดที่จักทำลายล้างให้สูญหายไปได้ นอกจากพระอนาคามีมรรคญาณ จริงอยู่ ธรรมที่จักมีอำนาจเผาผลาญปิสุณาวาจาอกุศลกรรมบถนี้ให้มอดไหม้เป็นภัสมธุลีไปได้ ก็มีอยู่แต่ธรรมคือพระอนาคมิมรรคญาณเท่านั้น เมื่อท่านสาธุชนคนใด อุตสาหะเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งได้บรรลุพระอนาคามิมรรคญาณ สำเร็จเป็นพระอนาคามิีอริยบุคคลแล้ว ท่านผู้นั้นย่อมนับว่าเป็นผู้ได้ไฟวิเศษสำหรับเผาผลาญทำลายล้างปิสุณาวาจาอกุศลกรรมบถอันมีฤทธิ์ร้าย ให้มอดไหม้สูญสิ้นออกไปจากขันธสันดานแห่งตนได้อย่างเด็ดขาด

    thx1

    พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)

    กรรมทีปนี เล่ม ๒
    หน้า ๒๒๘-๒๓๕











     

แชร์หน้านี้

Loading...