ปรารภธรรม ประตูใจ โดย หลวงพ่อจรัล จรณสมปณโณ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 22 เมษายน 2011.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ปรารภธรรม ประตูใจ


    โดย

    หลวงพ่อจรัล จรณสมปณโณ


    ขอกราบพระรัตนตรัย ขอโอกาสจากพระวิปัสสนาจารย์ทุกรูป



    ขอเจริญพรญาติโยม อุบาสก อุบาสิกาทุกท่าน


    เวลาที่เหลืออยู่นี้ เราก็มาทำประโยชน์ร่วมกัน ประโยชน์ที่เราจะทำนั้นก็มีอยู่ว่า การเจริญสตินี้คือประโยชน์ที่พวกเราต้องทำ การเจริญสตินั้นทำอะไรก็แล้วแต่ ภาวะจิตใสใจตาม ขึ้นชื่อว่าเจริญสติ เช่นขณะนี้หลวงพ่อกำลังพูดอยู่ ขณะที่พูดหลวงพ่อก็มีเจตนามีสติกำกับอยู่ ญาติโยมผู้ฟัง ขณะที่ฟัง ญาติโยมก็มีสติกำกับรู้อยู่ นี้คือ เราเจริญสติภาวนา ไม่ใช่เจริญสติเฉย ๆ มีภาวนาร่วมไปด้วย ตัวเจตนารู้ คือ ตัวภาวนา รู้บ่อย ๆ รู้เรื่อย ๆ ขยันรู้ นี้คือภาวนา อย่าอยู่เฉย ๆ ตัวภาวนานี้เป็นตัวบท ตัวบทแรก ให้เราเจริญก้าวหน้าในจิตวิญญาณ คือตัวภาวนา


    ซึ่งเมื่อก่อนคำว่าภาวนา นี้ หลวงพ่ออยากจะกล่าวประสบการณ์ตัวเองให้ฟัง เป็นข้อคิด ซึ่งแต่ก่อนหลวงพ่อเข้าใจว่าภาวนานั้นเป็นการบริกรรม เช่นเราเอาพุทโธเป็นนิมิต เอาจิตไปตั้งไว้ที่ลมหายใจเข้าออก เข้า พุท ออก โธ ๆ ซึ่งก่อนนั้นหลวงพ่อเข้าใจอันนี้ว่าเป็นภาวนา หรือเราเอายุบหนอพองหนอเป็นนิมิต เอาจิตไปตั้งไว้ที่ท้อง ยุบ ก็บริกรรมว่ายุบหนอ พอง ก็บริกรรมว่าพอง หลวงพ่อเข้าใจว่านี้คือภาวนา แต่พอเรามาเจริญสติ เอาความรู้สึกอยู่ที่กาย เป็นหลักเป็นฐาน พอเราทำไป พอจับหลักอันนี้ได้แล้วนั้น ที่เราทำมาแล้วไม่ใช่ภาวนา เราไปบริกรรมว่าพุทโธ บริกรรมว่ายุบหนอพองหนอ อันนั้นไม่ใช่ภาวนา เป็นการบริกรรม คำว่า บริกรรมนี้ ให้จิตอยู่ที่คำบริกรรม หลวงพ่อทำมานาน นานจนเกิดปาฏิหาริย์ เกิดรู้นอกตัวออกไป เห็นหลาย ๆ อย่าง จิตที่เราเอาสมาธิไปกด มันก็เกิดความสงบเหมือนกัน แต่ว่าความสงบที่เอาสมาธิกดจิต เป็นความสงบ แต่ก่อนหลวงพ่อก็ไม่เข้าใจ แต่พอมาได้ยิน หลวงพ่อเทียนพูดว่า สงบใต้โมหะ เอ๊ะ! ที่เราทำมา ทำมามากมายก่ายกอง ขณะที่เรานั่งสมาธิ กิเลสเข้าไม่ได้จริง ๆ แต่พอเราออกจากสมาธิ ไม่ทันอารมณ์ โกรธเหมือนเดิม คิดเหมือนเดิม พอใจไม่พอใจเหมือนเดิมทุกอย่าง


    พอท่านบอกว่ามันความสงบใต้โมหะ คือใต้ความหลง มันเป็นความหลงชนิดหนึ่งคือ หลงไปกับสมาธิ เราทำสมาธิ ทำไมจึงว่าหลง เพราะว่าเราทำบริกรรมมันเป็นอดีต เช่นยุบหนอ พองหนอ ตัวบริกรรมเป็นตัวกั้นไม่ให้ปัญญาเกิด แต่ปัญญาเกิดอยู่ มันเป็นปัญญาสมถะ จะรู้นอกตัวออกไป เห็นออกไป ใช้พลังจิตไปดูทางนอก ไปรู้ทางนอกเช่น หลวงพ่อเคยพูดให้ฟัง ตอนเช้าขนาดนี้ เวลานั่งสมาธิ หลวงพ่อเคยไปอยู่ อำเภอปักธงชัย ทางขึ้นเขา อยู่วัดเขา เวลาขนาดนี้ อากาศดี ๆ เราจะเพ่งจิตล่วงหน้า วันนี้จะออกบิณฑบาต ใครจะเป็นผู้ใส่บาตรก่อน เอาอะไรใส่ เด็กหรือผู้ใหญ่ เพ่งจิตออกไป รู้ล่วงหน้า เห็นจริง ๆ เห็นแท้ ๆ ว่าวันนี้จะมีนักเรียนใส่ เขาใส่รองเท้าสีขาว มันเกิดในนิมิต นี้คือลักษณะจิตที่เราฝึก ถ้าเราเอาสมาธิกด มันจะรู้นอกตัวไปอย่างนี้ มันเป็นปัญญาปาฏิหาริย์ นี้ คือปัญญาสมถะ


    ปัญญาสมถะเป็นลักษณะนี้ แต่พอเรามาเจริญสติแบบรู้ซื่อ ๆ รู้เฉย ๆ ไม่บริกรรม เรายกมือขึ้นรู้ สังเกตตรงนี้ นักปฏิบัติ คำว่ารู้ซื่อ ๆ รู้ตรง ๆ ตัวรู้ตัวนี้ เราอย่าไปบังคับให้รู้อีก ให้มันรู้ธรรมชาติเฉย ๆ ดี ๆ เช่น เราเดินไปไหน เดินชมวิว อากาศดี ๆ สนามกว้าง ๆ หรือเราเดินไปไร่ไปสวนเราทำใจโล่ง ๆ โปร่ง ๆ เดินเฉย ๆ ให้มันเฉย ๆ รู้เฉย ๆ รู้ว่ากายเราเดิน รู้เฉย ๆ อย่าไปบังคับ แล้วมันก็มีอีกว่า ถ้าเราไปบังคับให้รู้ มันก็เป็นความคิดระหว่างความรู้สึกกับความคิด ใหม่ ๆ น่ะ นักปฏิบัติจะโลเลสงสัย จะเกิดความสงสัย หลวงพ่อก็เหมือนกัน แต่ถ้าเราไม่เจตนา ถ้าไม่บังคับให้มันรู้ มันก็เป็นความคิด ถ้าเจตนาเกินไป ก็บังคับให้รู้อีก อึดอัดอีกละ ที่แรกนักปฏิบัติจะท้อแท้เป็นบางคน ถ้าใครอินทรีย์ไม่แก่กล้านี้ จะท้อแท้ ตรงนี้เราตัดสินใจว่า อะไรก็ช่าง อะไรเราก็จะสู้ ขี้เกียจเราก็ทำ ปวดหัว แน่นหน้าอก เราก็ทำ ให้ถือว่าการปวดหัว การแน่นหน้าอก อันนี้เป็นอารมณ์เกิดมาให้เราเห็นแล้ว เราต้องหาวิธีพลิกแพลง พอมันมึน ๆ หัว ให้เราเข้าใจว่า เออ! นี่มันผิดแล้ว ถ้าเราขับรถ ก็เออ! นี่จราจรเขาห้ามเข้าแล้ว ผิด จอดรถผิดที่ อารมณ์ที่มันเกิดขึ้นนี่ ความมึนหัวก็ดี เบื่อเซ็งก็ดี ง่วงก็ดี นี้คืออารมณ์


    เราอย่าว่าเป็นอุปสรรค นักปฏิบัติอย่าว่าเป็นอุปสรรคทันทีนะ หลวงพ่อก็ว่าเหมือนกันแต่ก่อน ทั้ง ๆ ที่หลวงพ่อทำสมาธิมาจน…นั่งสมาธิยุบหนอ พองหนอ พุทโธแล้ว แต่พอมาเจริญสติ เอาทันทีเลย ที่เราทำมาแล้ว เหมือนไม่ได้ทำมาก่อน ปฏิบัติมาแล้วเหมือนไม่ได้ปฏิบัติมาก่อน เหมือนเป็นเด็กเลย มาเข้าเรียนอนุบาลใหม่ ลักษณะนั้นหลวงพ่อ ญาติโยมก็คงเป็นอย่างหลวงพ่อ เราปฏิบัติมา ก็นึกว่าอาจารย์ไหน ๆ ก็เรียนมาแล้ว แต่พอมาเจอการเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียนเหมือนมาเรียนอนุบาลใหม่ เป็นลักษณะนั้น หลวงพ่อเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะว่าการที่เราจับความรู้สึกหรือว่าสติปัฏฐานนี่ หลวงพ่อจะจับได้ทันทีว่า ระหว่างสติปัฏฐานกับสติธรรมดา ระหว่างปัญญากับสัญญา อุสรรคอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวนี้เรารู้สัญญามาก คือรู้จำรู้จัก ภาษาหลวงพ่อเทียนบอกจะรู้จำรู้จัก ความจริงเรารู้สัญญาคือจำมารู้ ไม่ใช่ไปรู้เอง ไม่ใช่เป็นปัจจัตตัง ไม่ใช่ไปพบเห็นเอง


    ทีนี้หลวงพ่อเทียนจะชี้เอาตัวพบเห็นเอง รู้เอง นี่ตรงนี้ มันจะแตกต่างกันตรงนี้ เหมือนเราเรียนอนุบาลมาแล้ว ก็มาเริ่มใหม่ แต่ก็ไม่ใหม่หรอก แต่เรามาหัดใหม่ จับความรู้สึกตัวนี้ใหม่ หลวงพ่อรู้สึกซื่อ ๆ ตรง ๆ นี่ใหม่ สำหรับหลวงพ่อเป็นอย่างนี้ แต่พอเรามาจับความรู้สึก พอมาจับจุดนี้ได้ เราจะเห็นได้เลยว่า สติปัฏฐานกับสติธรรมดา มันคนละช่วงกัน แต่สติปัฏฐานก็ฝึกออกจากสติธรรมดา สติที่เรามีอยู่แล้วนี้ สติตัวนี้ต้องเจตนารู้ ถ้าไม่เจตนา สร้างความรู้สึกก็เป็นความหลง นี่คือสติธรรมดา สติปัฏฐานสร้างจากตัวนี้ แต่สติธรรมดา มันจะมีอุปสรรคคืออารมณ์ คือนิวรณ์5 กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ห้าอย่างนี้ สติธรรมดาจะคลุกคลีอยู่ที่อารมณ์ 5 ออกจากอันหนึ่งไปอีกอันหนึ่ง กลับไปกลับมาอย่างนี้ นี่คือสติธรรมดา แต่เราสร้างจากสติปัฏฐาน โดยเจตนาเอาชนะ เช่นความง่วง เราเจตนายกมือ แรก ๆ เดินแรง ๆ ให้ความง่วงมันผ่านไป อย่าไปอยู่กับความง่วง ความพอใจไม่พอใจ อารมณ์ดีพอใจ อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิด เราอย่าไปอยู่ทั้งสองอารมณ์ อิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ ไม่ต้องอยู่ อยู่กับความรู้สึก ซื่อ ๆ รู้ นี่คืออารมณ์ ไม่ใช่เราเป็น ขณะที่เรานั่งสร้างจังหวะ เดินจงกรมนี่ ทีแรกมันไม่เป็น แต่พอสร้างไปสร้างมา มันเป็น มันเป็นหงุดหงิด บางทีก็ดี บางทีไม่ดี อารมณ์เหล่านี้มันสอนเราแล้ว แต่เราดูไม่เป็น ดังนั้น นักปฏิบัติจะต้อง เฉยเลย อุเบกขา คือวางเลย ไม่สน อิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ สนความรู้สึกซื่อ ๆ เจตนารู้ซื่อ ๆ เจตนารู้ตรง ๆ ตัวนี้ เป็นตัวสติปัฏฐาน ถ้าเราจับตรงนี้ได้แล้ว จิตสำหรับหลวงพ่อเอง จะเปลี่ยนตรงนี้อีกทีหนึ่ง จะสะดุ้งตรงนี้อีกทีหนึ่ง นี่หลวงพ่อเทียนสอนตรงนี้ จะ อ๋อ! แบบหลวงพ่อเทียนเลย พอจับสติปัฏฐานได้แล้วมันจะรู้ซื่อ ๆ จะโล่ง โล่งราบเลย โล่งอกหมด นิวรณ์ทั้ง 5 อะไร ๆ วิ่งหนีหมด นี่คือระหว่างสติปัฏฐานกับสติธรรมดา หัวเลี้ยวหัวต่อ ตรงนี้ลำบากมาก ถ้าอินทรีย์ไม่แก่กล้า หรือไม่เป็นคนจริง จะไม่ผ่านตรงนี้ หลวงพ่อเทียนบอกว่า คนจริงต้องรู้ของจริง สติธรรมดาของเรานี่ มันเป็นสติธรรมดาที่ต้องเจตนาช่วย ช่วยบังคับรู้ แต่พอมาสติปัฏฐานนี้ ไม่ต้องเจตนาก็รู้เอง การเคลื่อนไหวไปมาต่าง ๆ จะรู้เอง กำหนดก็ได้ ไม่กำหนดก็รู้ เราจะรู้ของเราเอง ตรงนี้น่าอัศจรรย์ ความเป็นเอง สติที่เป็นเองเรามีอยู่แล้วทุกคน แต่ตอนนี้เรายังไม่ถึง แต่ถ้าถึงจุดนี้แล้วเราจะ อ๋อ! ทันที อืม! ตรงนี้ ๆ พออ๋อตรงนี้แล้ว หลวงพ่อจะแยกอกเลยว่า นี้คือสติปัฏฐาน นี้คือสติธรรมดา สติธรรมดาตามสัญชาติญาณของมนุษย์มีอยู่ทุกคน สติปัฏฐานก็มีอยู่ทุกคน แต่เรายังไม่ถึง เพราะอะไร เพราะอวิชชาปิดอยู่


    ดังนั้นที่เราได้ทำโครงการเปิดประตูใจ เปิดประตูใจคือ ใจเราปิดอยู่ ใจเรามีสติปัฏฐานทุกคน แต่ถูกอวิชชาปิดเอาไว้ การเปิดประตูใจคือเปิดตรงนี้ เปิดความหลงออกมา ให้มีแต่ความรู้ตรง ๆ ความรู้ตัวนี้ มันไม่ตรงมันไม่ซื่อ เดี๋ยวนี้พวกเรา มันทั้งรู้ทั้งคิด ทั้งคิดทั้งรู้ มันจะอยู่อย่างนี้ นี้คือยังไม่ตรง ให้เราเปิดออกมา เปิดตัวเราออกมา ให้มีความรู้สึกล้วน ๆ เจตนารู้ดี ๆ นั่นแหละ ปฏิบัติตรงแล้ว ตรงไปหาความสงบ ตรงไปหามรรคหาผล ตรง ๆ นี้ เจตนาของสติปัฏฐานจะตรง แต่สติปัฏฐานก็สร้างออกจากสติธรรมดา หลวงพ่อเคยเปรียบเทียบให้ฟัง เหมือนผลไม้ก็เกิดมาจากดอกไม้ จะเป็นฟักเขียว ฟักทอง พริก มะเขือก็เป็นดอกก่อน ถึงเป็นผล การเจริญสติของเราก็เหมือนกัน สติธรรมดาเป็นดอก สติปัฏฐานเป็นผล พระพุทธเจ้าท่านสอนพวกเรา บอกไว้ว่า เหตุผล ปรารภเหตุดี ผลก็ดี ปรารภเหตุไม่ดี ผลก็ไม่ดี เวลาเราสร้างตรงนี้ เราสร้างสติตรงนี้ ให้เกิดสติปัฏฐาน เอาแค่สติปัฏฐาน ได้ต้นทาง ได้ต้นทางแล้ว ได้หลักแล้ว รู้แล้ว มีแต่จะเดินต่อไป สติปัฏฐานเป็นหลักแน่ จับสติปัฏฐานเป็นหลักแล้ว ได้ต้นทางจริง ๆ ได้แท้ ๆ ยืนหยัดอยู่กับสติปัฏฐานอย่างเดียวนี้หละ ทีนี้เราได้ญาณแล้ว คำว่าญาณนี้ ก่อนนี้หลวงพ่อก็นึกว่าเป็นของที่เราสัมผัสไม่ได้ นอกจากพระอริยะ แต่ก่อนเข้าใจอย่างนั้น แต่พอมาสัมผัส ญาณแปลว่ารู้ คำญาณแปลว่ารู้ ไม่ใช่นอกเหนือจากตัวเราไป พอเกิดความรู้สึกที่แจ่มแจ้งนี้ขึ้นมา เกิดญาณ จะรู้ไป รู้ไปทุกอย่าง เริ่มต้นจากรูปกายอันนี้เป็นหลัก เอากายเป็นหลักเอากายเป็นฐาน พอรู้ตรงนี้แล้ว พอได้สติ สติจะพาเราไปเอง ยืนหยัดกับสตินี้ละ อย่าออกจากความรู้สึกตัว ให้ยืนหยัดอยู่ตรงนี้ ทำอะไรให้มันรู้ รู้เอง พอได้สติมันจะเป็นเอง เป็นเองแท้ ๆ แล้วก็ความเปลี่ยนแปลงของจิต ก็จะเปลี่ยนแปลงเอง โดยจนกระทั่งว่า เราไม่ต้องถามใคร ให้ถามตัวเอง เช่นว่า เราปฏิบัติไป ๆ บางท่านไปเจออารมณ์ เช่นอารมณ์ปฏิฆะ ไม่พอใจขึ้นมา เราสังเกตทันทีเลย สังเกตจากจุดไหน เกิดมาจากหูหรือเกิดมาจากตา หรือเกิดมาจากความคิดอดีตหรือ หรือปัจจุบันหรือ เราดูเลย พอดู ละ คำว่าละ อย่าไปอยู่กับมัน รู้ว่ามันผิดแล้ว เออ! ตรงนี้มันจับผิด ความพอใจหรือไม่พอใจอย่าไปคบ ออกจากมันทันที ออกไปอยู่ไหน ออกไปอยู่กับความรู้สึกตัว นี้คือปลอดภัยที่สุด คือสติ ความรู้สึกตัวของเรานี้คือที่ปลอดภัย จิตเราไปอยู่ตรงนี้ อย่าไปอยู่ตรงอื่น ถ้าไปอยู่ตรงอื่นไม่ปลอดภัย


    หลวงพ่อเทียนบอกว่า ความคิด ความคิดอย่างเดียวเป็นได้ทุกอย่าง เราอย่าไปคบกับมัน ให้คบกับความรู้สึกตัว ถึงว่าไม่คบมันก็คิดอยู่ ๆ แต่ว่าอย่าไปบังคับไม่ให้คิด อย่าไปบังคับจิตไม่ให้คิด ไม่บังคับจิตไม่ให้คิด แต่อย่าไปคบกับความคิด ฟังแล้วสับสนนะ ไม่คบความคิดแต่คบความรู้สึกอันหนึ่ง อย่าไปบังคับไม่ให้คิดอันหนึ่ง คือทีแรกนี้ เราจะอยู่กับความรู้สึก ดูอยู่กับกาย ฐานแรก เอาสติมากำหนดรู้อยู่ที่กาย พอกำหนดรู้อยู่ที่กาย นานเข้า ๆ แก่กล้าขึ้น เรียกว่า อินทรีย์แก่กล้าขึ้น สติรู้อยู่ที่กาย แก่กล้าขึ้นแล้ว สติจะไปรับผิดชอบ ดูจิตดูความคิด สติจะไปรับผิดชอบดูเอง ตรงนี้ ดังนั้นเรานี่ชอบจะชิงสุกก่อนห่าม รู้ก่อนรู้ อย่างหลวงพ่อคำเขียนท่านว่า เห็นก่อนเห็น คือสติเรามาเห็นกายนี้ ยังไม่เป็นเอง ยังไม่เป็นอัตโนมัติ สติมันรับผิดชอบกายนี้ ยังไม่เต็มที่ สมาธิที่เราดูอยู่กับกาย ยังไม่เต็มที่ แต่เราไปดูจิต อันนี้จะมีปัญหาขึ้นมาทันที เพราะอะไร เพราะมันข้ามขั้น เพราะเราศึกษาธรรมะข้ามขั้น เราเรียนอยู่ ป.4 เราขยับไปเรียน ม.1 ม.2 ม.3 มันไปไม่ไหว เรียนได้ แต่ไปไม่ไหว มันหนัก อารมณ์เราก็เหมือนกัน ค่อยไป ให้เราอยู่กับกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้สมบูรณ์เสียก่อน ส่วนเวทนา จิตตา เอาไว้ก่อน เราอย่าด่วนไปดูความคิด อย่าด่วนไปดูจิต ให้ดูความรู้สึกนี้ไปก่อน ให้อยู่กับความรู้สึกให้มาก ๆ ถึงคราวแล้วนะ สตินี้จะไปดูเอง จะไปดูความคิดเอง จะไปแก้ความคิดเอง เราไม่ต้องไปสนใจ เรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องของเรา


    เรื่องของเราคือเรื่องเจริญสติ มีสติรู้อยู่กับกายนี้อย่างเดียวก่อน เราไปเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ คือ เราต้องทำตรงนี้ ต้องอยู่ตรงนี้ ส่วนเวทนา จิตตา ธัมมา อันนั้นเป็นผล กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันนั้นเป็นเหตุ ขอให้เราปรารภเหตุให้ดีที่สุดที่จะดีได้ ต้องปรารภเหตุ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ คือตัวองค์สมาธิ สมาธิไม่ใช่นั่งหลับตา เอาขาขวาทับขาซ้าย ตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น บริกรรมพุทโธก็ดี ยุบหนอพองหนอก็ดี หากเรานั่งอย่างนั้นแล้วจิตเราไปที่อื่น ไม่ใช่นั่งสมาธิ


    สมาธิคือตั้งใจมั่น ตั้งใจรู้อยู่เห็นอยู่ในปัจจุบันขณะ นี้เริ่มตรงนี้ เราให้สติเห็นกายอยู่เนืองนิจ กายอยู่ไหนให้ใจอยู่นั่น กายกับใจนี้เป็นหนึ่งเดียวกัน นี้คือตัวสมาธิ องค์สมาธิที่แท้จริงแน่นอน สมาธิที่กายอยู่ไหนใจอยู่นั่น กายกับใจเป็นหนึ่งเดียวกัน สมาธิลักษณะที่เราพูดกันอยู่นี้ ทำให้เกิดปัญญาญาณ หรือญาณปัญญาหรือวิปัสสนาสมาธิอย่างนี้ ถ้าเราเอาสมาธิกดจิต จะเกิดปัญญาของสมถะ ไม่ใช่ปัญญาของวิปัสสนา แต่ถ้าเราอยู่กับความรู้สึกตัว เอาสติเป็นนิมิต เอาความความรู้สึก อาศัยสติรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ ตัวนี้ถ้าหากว่าเกิดปัญญา เป็นปัญญาของวิปัสสนา คือรู้แจ้ง รู้ไป ๆ รอบรู้ทุกแง่ทุกมุม รู้ตัวทั่วพร้อม รับผิดชอบเรื่องกายเรื่องใจ รับผิดชอบหมด


    ดังนั้น มันมีอุปสรรคอยู่ว่า ลักษณะนี้เราจะไปดูความคิด จะมีอุปสรรคอยู่ตรงนี้ อยากจะฝากว่า อย่าไปดูเลยความคิด อย่าไปดู ปล่อยให้สติปัญญาไปดูเอง ถึงจุดเขาดูเอง ไม่อยากดูก็ดูเอง หลวงพ่อรับรองเลย เราไม่ต้องเจตนาดูก็รู้ ก็จะดูเอง ขอให้ถึงขั้นก่อน ถึงจุดก่อน เช่นผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นมะม่วง มะละกอ อะไรก็แล้วแต่ ถึงคราวสุกก็สุกเอง เราบังคับเขาไม่ได้ ถึงคราวสุกแล้ว บอกอย่าสุกนะ ก็ไม่ฟัง เขาสุกเอง สติที่เราฝึกอยู่ก็เหมือนกัน สติจะไปดูความคิดน่ะ จะต้องสติดูกายให้ชำนาญก่อน กำหนดรู้อยู่บ่อย ๆ ตัวรู้อยู่บ่อย ๆ คือตัวภาวนา เราจะเคลื่อนไหวตรงไหน รู้ นี้คือตัวภาวนา รู้บ่อย ๆ กำหนดรู้อยู่บ่อย ๆ นี้ ต่อไปนี้ สติจะไปรับผิดชอบจิตเอง สติจะไปดูจิตเอง จะไปดูจิตดูความคิดเอง เราอย่าคิดไปดูก่อน มีสติอยู่กับกายพอแล้ว สติไปอยู่กับใจนั้น อันนั้นเป็นเรื่องของสติ เป็นหน้าที่ของปัญญา


    แต่ถ้าปัญญาของเราไม่พอนี่ พูดอย่างนี้เราอาจไม่เข้าใจ หลวงพ่อก็ไม่เข้าใจแต่ก่อน เดี๋ยวนี้เข้าใจแล้ว ถ้าปัญญาของเราไม่พอ เหมือนนักมวย กำลังเราไม่พอ แต่ถ้าปะทะกับคู่ต่อสู้ที่เขากำลังเหนืออยู่ เราสู้เขาไม่ไหว สติจะไปดูความคิด ก็เหมือนกัน ถ้ากำลังสติไม่สมบูรณ์ แล้วไปดูความคิด เอาไม่อยู่ ถูกความคิดลากไป ที่หลวงพ่อเทียนบอกเรา เหมือนแมวกับหนู ถ้าไปดูความคิด ๆ จะลากไป ดังนั้นเราสร้างสติให้มีกำลังเหนือความคิดก่อน สติกับความคิดนี้ ถ้าสติมีกำลังเหนือกว่าแล้ว สติจะไปเจอเองกับความคิด……………


    ทำครั้งแรกนี้ อย่าอยากรู้อะไร ให้รู้สติ ให้มีสติรู้อยู่กับกายให้ชัดเจนที่สุด ก่อนที่จะรู้รูปนามนี้นะ ให้รู้ คำว่าสติรู้อยู่ที่กายนี้ให้ชัดเจนที่สุดเสียก่อน ทำไมจึงให้ชัด เพราะว่า เราทั้งหลายทุกคน ถ้าเราไปพบรูปนาม ด้วยเกิดเอง พบเห็นเอง จิตเราจะเปลี่ยน เราจะหลงอารมณ์ตรงนี้ ถ้าหากว่าอารมณ์รูปนามเราชัด ถ้าหากสติเราชัด สติปัฏฐานเราดี ฐานเราดี พอเข้าใจรูปนามหรือเข้าใจสมมุติ มันจะเข้าใจทีละจุดนะ มันจะตื่นทีละจุด ไม่เหมือนหลวงพ่อเทียน ๆ เข้าใจรวดเดียวหมด พอเข้าใจรูปนาม เข้าใจรูปธรรม นามธรรม (รูปทำ-นามทำ) รูปโรค นามโรค สมมติ เข้าใจอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ศาสนา พุทธศาสนา หลวงพ่อเทียนรวดเดียวหมดเลย หลวงพ่อทีละปี อารมณ์หนึ่งทีละปีถึงจะรู้ พอหลวงพ่อผ่านอารมณ์ได้ หลวงพ่อเทียนบอกว่า เอาละ คนแก่ได้ปีละอารมณ์ก็ดีแล้ว ปี26 (พ.ศ.2526) มาอยู่วัดสนามใน หลวงพ่อเทียนให้กำลังใจ หลวงพ่อก็ภูมิใจ ได้แค่รูปนามหลวงพ่อก็ภูมิใจแล้ว บอก(หลวงพ่อเทียนว่า) หลวงพ่อเอ๋ย ผมภูมิใจมาก ดีใจมาก ผมไม่เสียชีวิตที่เกิดมาเป็นคนแล้ว พูดกับหลวงพ่อเทียน ผมได้แค่จับสติ แค่รูปนาม ผมพอใจแล้ว ผมหลงเกิด แต่ผมจะไม่หลงตาย พูดกับท่าน มั่นใจอย่างนั้นจริง ๆ โยม มั่นใจแท้ ๆ หลงอย่างไรล่ะ เรารู้อยู่นี่ พอมีรูปนาม มันรู้แล้ว พอมีสติมันรู้ของมันเอง รูปกับนาม กายกับใจสัมพันธ์กัน เป็นหนึ่งเดียว กายอยู่ไหนใจอยู่นั่น นี่ ถ้าหลงกับมาอยู่กับความรู้สึกตัว มันจะไปไหนล่ะ หลงก็กลับมาอยู่กับความรู้สึกตัว เหตุที่เรากลับไม่เป็น มันสำคัญอยู่ตรงนี้ เหตุเราไม่มีหลัก เรากลับมาอยู่กับความรู้สึกตัวไม่เป็น ไม่ชัด มันอยู่ตรงนี้ เรามีเคล็ดลับอยู่ตรงนี้ พอเรากลับมามันไม่อยู่ เหตุใดมันไม่อยู่ ความรู้สึกเราไม่หลาย(ไม่มาก) ฐานสติเราไม่มั่นคง มีเท่านั้น ขอให้เราสร้างสติขึ้นให้มาก ๆ ก็พอ เหมือนหลวงพ่อเทียนเปรียบเทียบว่า แมวกับหนู เราพยายามเลี้ยงแมวขึ้น สร้างฐานความรู้สึกตัวให้มากพอ ไม่ต้องไปทำอะไรหรอก ไม่ต้อง อย่าไปคิดเอาเหตุเอาผล อย่าไปเอาอะไรทั้งนั้น เกิดอะไรมาก็อยู่กับความรู้สึกตัว เท่านี้ แล้วเอาตรงนี้ดี ๆ


    ถ้าหากว่าเราค่อยเป็นค่อยไป อย่าอยากรู้มาก ให้รู้คำว่าสติ จับความรู้สึกตัวได้ พอใจแล้ว ให้ยืนหยัดอยู่กับความรู้สึกตัวนี้ ทำไป ๆ มันค่อยพัฒนาไปเอง ความรู้สึกตัวนี้พัฒนาจาก รู้น้อย ๆ รู้ยังไง รู้ทีแรก รู้ยกมือสร้างจังหวะ สร้างจังหวะ 14 รู้ ได้แค่ 2-3 รู้ ก็ช่าง ให้เราค่อยทะนุถนอม เอาความรู้น้อย ๆ ไปก่อน 14 รู้ จะรู้ 2 ครั้ง 3 ครั้ง ต่อไปรู้ 4 ครั้ง 5ครั้ง 9 ครั้ง 10 ครั้ง ค่อยรู้ขึ้นไป เดินจงกรมก็เหมือนกัน 14 รู้ 14 ก้าว หรือ 12 รู้ 12 ก้าว บางทีเราอาจจะรู้ 2 ก้าว 3 ก้าว นอกนั้นเป็นความคิดก็ช่าง ปล่อยไปก่อน เรารู้ 2 ก้าว 3 ก้าว ดีแล้ว แต่ก่อนที่ยังไม่มาเจริญสติ มาเดินจงกรมสร้างจังหวะ ไม่รู้อะไรเลย เราไม่รู้เลย หลงมาตลอด เรามารู้ ครั้งสองครั้ง ดีแล้ว ภูมิใจแล้ว ขอให้เรารู้ไปเรื่อย ๆ เถอะ มันจะพัฒนาขึ้นไปเอง ตัวรู้สึกตัวตัวนี้ ตัวสติมันจะค่อยขึ้น ๆ มันจะไต่เต้าไปเอง ค่อยรู้มากขึ้น ๆ ไปเอง ขอให้เราจับสติความรู้สึกตัว อย่าไปทิ้งตัวนี้ อย่าไปหนีตัวนี้ หนีไปก็กลับมา อยู่กับความรู้สึกตัว ตัวนี้ นี่เป็นตัวหลัก ตัวยืนของเรา อันนี้ อย่าไปอยู่กับตัวอื่น


    ดังนั้น ถ้าอยู่กับตัวนี้ได้แล้วนั้น เราจะไม่หลงกับอารมณ์ ไม่หลงจริง ๆ ถึงหลงก็รู้จักกลับ ไม่ใช่หลงไปตลอด ถ้าหากจับหลักได้อย่างนี้แล้ว จะเห็นว่า ความคิดของเราบางทีมันหลงไปกับความคิด เราจะเห็นว่าความคิดของเราสั้นบ้าง ยาวบ้าง บางทีเกือบจะจบเรื่องก็มี บางวันพอคิด รู้ บางวันคิดไปกลาง ๆ รู้แล้ว มันจะอยู่ลักษณะนี้ ความคิดของเรา วันไหนที่เราเริ่มจับสติได้ตั้งแต่ตื่นขึ้น พอลืมตามาจับสติได้แล้ว มีความรู้สึกตัวแล้ว จะกู้มุ้งเก็บที่นอน จะแปรงฟัน ล้างหน้า อยู่กับความรู้สึก อยู่กับสติ วันนั้นความคิดจะสั้น ความคิดจะน้อย พอคิดจะรู้เลย แล้วอารมณ์เราจะแจ่มใส เบิกบาน วันนั้นนะ ถ้าเริ่มต้นจากสติ ตื่นขึ้นให้จับเอาเลย แล้วจะดีตลอด ถ้าวันไหนตื่นขึ้นงัวเงีย อารมณ์ไม่ดี ความคิดออกหน้า วันนั้น ความคิดจะยาวบ้าง ไปกับอารมณ์บ้าง นี้จะหลงไปมากกว่ารู้ ตรงนี้ก็อย่าเสียใจ ให้ถือว่าอารมณ์ก็ไม่เที่ยง อารมณ์ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกัน อารมณ์ไม่แน่นอน วันนี้ดี พรุ่งนี้ไม่ดี ก็มี ตอนเช้าดี ตอนสายไม่ดีก็มี ตอนบ่ายไม่ดีก็มี เราอย่าเสียใจกับอารมณ์ อย่าเป็นผู้เสียใจ ให้ดู หลวงพ่อได้พูดแล้วเมื่อตอนเพลมันเป็นอาการของจิต ให้เรายกให้อาการไปซะ ยกให้ธรรมชาติ ๆ ของจิต อย่างนี้ มีดีมีชั่ว มีผิดมีถูก เราให้เป็นผู้รู้ เป็นผู้ดูดี ๆ อย่าไปเสียใจกับอารมณ์ ค่อยทะนุถนอมอารมณ์ ถ้าอารมณ์เราไม่ดี ให้กับมาอยู่กับความรู้สึก ตัวรู้สึก ตัวมั่นใจที่สุด ตัวดี ๆ แท้ ๆ คือตัวนี้ บางครั้งถ้าตัวนี้เราไม่ชัดมันจะหงุดหงิด หลาย ๆ อย่าง มันจะเป็น ถ้าสติเราไม่ชัด ความรู้สึกตัวเราไม่ชัด พอเอากลับมา มันไม่อยู่ มันไป กลับมามันไป เราก็ต้องหาอุบายอีก วางเลย ไม่ต้องกำหนด ฉันเดินจงกรมอยู่ก็หยุดเดินเลย ไม่ต้องเดินไปทำอย่างอื่น หรือไปเดินดูท้องฟ้า หรือไปทำอะไรก็แล้วแต่ วางอารมณ์ก่อน ถ้าเราดึงมันไม่อยู่ อย่าให้มันเครียดนะ อารมณ์ รู้ทันทีก่อน เอ๊ะ! สติเราอ่อน ความคิดมันแรง หาอุบาย วางเลยไม่ต้องบริกรรม ไม่ต้องกำหนดรู้ วาง หยุด หยุดกำหนดรู้ ถ้าเราอยู่ที่นี่ ถ้าใครอยู่ใกล้ทาง ไปดูรถเลย โยนความคิดไป โยนจิตไป ไปดูรถ รถเก๋ง รถปิกอัพ วิ่งผ่าน รู้ ๆ เอาความรู้สึกไปอยู่ที่รถเลย อย่าให้อยู่ที่ตัวเรา นี่คืออุบาย หาอุบายหลอกมัน แต่พอดูไปสักครู่หนึ่ง กลับมาดูตัวเอง กลับมา สร้างจังหวะเล่น ๆ 2-3-4 รอบ กลับไปดูอีก ก็โยนไปโยนมา โยนความคิดไป โยนความคิดมา นี่มันจะผ่านได้ ความง่วงก็จะหาย ความคิดที่เบื่อ ๆ เซ็ง ๆ มันจะเปลี่ยนใหม่ พอมันเปลี่ยนใหม่ พอมันกลับมาได้แล้ว เราเจตนายกมือ ยกมือขึ้นสูง ๆ เอาลง เอาขึ้น อย่าเฝ้า อย่าด่วนทำให้เป็นจังหวะ หลวงพ่อได้อุบายนี้มาจากหลวงพ่อเทียน อยู่วัดสนามใน ท่านยกมือขึ้นสูง ๆ เอาขึ้นเอาลง พลิก พอจับอย่างนี้ พอจับความรู้สึกกับมือยกขึ้นยกลงมันจะชัดเจน พอตัวนี้ชัด อารมณ์มันจะคลายออกมาทันที สบายทันที จับหลักได้ชัด ตัวรู้สึกจะชัด ถึงสร้างจังหวะต่อ


    นักปฏิบัติธรรมต้องมีไหวพริบ ถ้าสู้เขาตรง ๆ ไม่ได้ หายไปที เหมือนนักมวย เขาต่อยกัน ชกกัน ถ้าเราปะทะเขาไม่ไหว ต้องหาวิธี ใช้เตะใช้ศอกอะไรก็แล้วแต่ เทคนิคใครเทคนิคมัน เราปฏิบัติธรรมกับอารมณ์ก็เหมือนกัน หาวิธีแก้ไข แต่ขอแก้ให้เป็น อย่าไปเป็นอย่าไปพร้อมเขากับอารมณ์ เช่น ความง่วงอย่าไปนอนให้มัน อย่าให้อาหารความง่วง ถ้าวันนี้เราง่วง เรานอน วันหลังก็นอน เป็นอุปนิสัย สู้มันไม่ได้หรอก มันมีกำลังมากกว่า ความง่วงมีกำลังมากกว่าสู้ไม่ได้ เหตุที่ไม่นอนให้มันนี้ พอขณะที่มันง่วงอย่านอน หาวิธีแก้ไขก่อน ให้มันตื่นก่อน มันผ่านความง่วง ถึงนอนให้ นอนก็ไม่ใช่นอนเพราะแพ้ เรานอนเพราะพักผ่อนสู้ สมมุติว่าเราทำความเพียรมาตั้งแต่ตี3 ตี4 จนถึงเที่ยง มันใช้เวลามาหลายชั่วโมง กายเราก็เพลีย แต่ก่อนที่จะพัก ไม่ใช่พักเพราะเราแพ้ พักเพราะว่าพอมันหายง่วง เราพักผ่อน นอน 30-40 นาที อะไรก็ว่าไป ตื่นขึ้นมาเราก็เจตนาสร้างจังหวะอีกหรือเดินจงกรมจับความรู้สึกให้ชัดเจน ล้างหน้า ล้างตา เข้าทางเดินจงกรมอีก มันจะชัดเจนมากกว่าเดิม เหมือนนักมวยเขาชก แล้วเขาก็ให้น้ำ แล้วก็ชกอีก เราก็เหมือนกันกับอารมณ์ เราออก ๆ เข้า ๆ บางทีก็ท้าทาย แกล้งมันลองดู บางทีแกล้งคิด ลองดูซิ ท้าทายกับความคิด ถ้าสติเราสมบูรณ์แล้ว เราจะหยอกมันได้ ความคิดน่ะ ลองแกล้งมัน เอาคิดเรื่องอะไร เรื่องกามรึ แก้มัน ยกมือ ไปแล้วทีนี้ โอ๊ย! เราชนะแล้ว ๆ เท่านี้หรือ แก้ความคิดแก้เท่านี้หรือ ความโกรธ แกล้งมัน ลองหาเรื่องคิดเก่า ๆ อดีตที่ผ่านมา คิดโกรธขึ้นมา บางทีฉุนเฉียวขึ้นมา เราก็มาเดินจงกรมจับความรู้สึก ไปแล้ว ๆ ความโกรธผ่านได้แล้ว ต้องซ้อม การที่เราจะแยกแยะ หยอก เย้ย กับความคิด เราต้องหาวิธี หาวิธีแก้ หาวิธีหยอกบ่อย ๆ ก็เป็นการภาวนาเหมือนกัน เช่นเรากำหนดรู้อยู่ที่กายก็เป็นการเจริญภาวนา กำหนดรู้อยู่ที่จิต ที่มันปรุงมันแต่ง หยอกเย้ยกับความคิด ท้าทายลองดู นั่นก็เป็นการเจริญภาวนา ยิ่งละเอียดขึ้นไปอีก นี้ละ เราอย่าไปดูความคิดตรง ๆ อย่าไปนั่งดูความคิดเฉย ๆ มันไม่ได้เรื่อง อย่าไปดูอย่างนั้น แอบดูเขา แอบดูความรู้สึกนี้ พอเราดูกับมือนี่ รู้สึกอยู่กับตัวสติ พอมันคิด จะรู้ทันที แต่ถ้าห่างตรงนี้ จะไม่เห็นความคิดนะ ไม่เห็นเด๊ะ ถ้าอยู่กับตัวนี้เห็น เดินจงกรมก็เหมือนกัน อยู่กับความรู้สึก สติรู้อยู่กับกายนี้ มันจะไปเห็นเวทนาเอง เห็นจิตตาเอง เห็นธัมมาเอง สติรู้อยู่กับกาย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันนี้ ให้เรายืนหยัดอยู่ตรงนี้ หลวงพ่อว่าไม่ผิด ไม่ผิดทาง ถ้าทำตรงนี้ไม่ผิด จะถูก มีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นมาเราจะยิ้มใส่ได้ เราไม่เป็นผู้แพ้ ไม่เป็นผู้สยบกับอารมณ์


    แต่ก่อนเป็นผู้แพ้ เห็นความง่วงก็โอย ตีโพยตีพาย ทำไมมากแท้ มีพระอยู่ที่วัดหลวงพ่อนะ บางทีพูดออกมาเอ้อ! วันนี้ผมทานข้าวเหนียว วันนี้ผมทานข้าวมาก ทำให้ง่วง อะไรต่าง ๆ นานา ว่าอย่างนั้น หลวงพ่อว่า เออ! ไม่ใช่หรอกคุณ ไม่เกี่ยวกับอาหารหรอก มันเป็นอารมณ์ ถ้าเราข้ามมันได้แล้ว อะไรก็ได้ อันอื่นไม่มีปัญหากับอารมณ์เราได้หรอก จะเป็นอาหารจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ไม่มีปัญหา เรื่องอารมณ์ของเรา มันเป็นอารมณ์ต่างหาก ที่เราง่วงเราเกลียด เราโกรธ นั่น ถ้าเรามีสติสมบูรณ์ไม่มีปัญหา มันผ่านได้ทุกด่าน ดังนั้นเราอย่าไปท้อแท้กับอารมณ์ ถ้าเราจับสติได้ดี ๆ จะไม่ท้อแท้ต่ออารมณ์ ไม่ว่าอารมณ์ไหนก็ตาม สติรู้อยู่กับกายนี้ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้คือทางผ่าน ผ่านได้ทุกด่าน ถ้าตรงนี้ไม่ดี จะผ่านไม่ได้ ขอฝากไว้ตรงนี้ ฝากเป็นการบ้านไว้ คือสติไม่ดี มันจะผ่านไม่ได้สักด่าน ถ้าสติรู้อยู่ที่กายดี ๆ จะผ่านได้ตลอดทุกด่าน ดังนั้นขอเราสร้างสติให้สมบูรณ์เท่านี้พอ เหมือนเรามีมีด ลับมีดให้คม ปาดอะไร ฟันอะไรก็ได้หมด ถ้ามีดไม่คม ถึงจะมีมีดแต่มันไม่คม ก็ประโยชน์น้อย ปาดอะไรก็ไม่ได้ สติของเราก็เหมือนกัน เปรียบเหมือนมีด ต้องฝนให้คมถือการกำหนดรู้ ก็คือการลับมีดฝนมีด ให้คมมันจะตัดความคิดขาดไปเอง ความคิดจะขาดเองถ้าสติคม ๆ แต่เราต้องลับมีด คือกำหนดสติอยู่บ่อย ๆ เท่านี้ นี้คือยืนหยัดอยู่ตรงนี้ ปรารภอยู่ตรงนี้ ส่วนจะพ้นไป แพ้ไป ชนะไป มันเป็นเกมกีฬาของเราเอง


    ดังนั้น วันนี้ที่หลวงพ่อพูดให้ฟังมาก็สมควรแก่เวลา ก็จบลงเพียงเท่านี้ ท้ายนี้พวกเราทั้งหลายจงตั้งใจ เจตนาสร้างสติสร้างปัญญา สร้างสมาธิให้เป็นที่พึ่งจิตใจของเรานี้ได้ ขอให้เราได้ชัยชนะ คำว่ากิเลส ตัณหาหรืออุปทาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดกับจิตก็ดี เกิดจากความคิดก็ดี ขอให้เราได้ชัยชนะด้วยมีจิตสติปัฏฐานที่เราสร้างอยู่นี้ เป็นเครื่องมือประหัตประหารกิเลส ขอให้ทุกคนทุกท่าน จงได้พบได้เห็นเป็นไปในทางดับทุกข์ด้วยกันทุกคนทุกท่านเทอญ

    คัดลอกจาก ประตูธรรม http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp-jaral-jalanasampanno/lp-jaral-jalanasampanno_01.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 22 เมษายน 2011
  2. นางสาวอยู่จ้ะ

    นางสาวอยู่จ้ะ ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    1,041
    ค่าพลัง:
    +3,865
    ขอบคุณค่ะ, อ่านแล้วก็มีความมั่นใจมากขึ้น
    ว่าแนวทางนี้เหมาะกับคนทำงานที่ไ่ม่มีเวลา
    น่ะค่ะ เพราะสามารถทำได้ตลอด
    ทุกที่ ทุกเวลาเลย..
     

แชร์หน้านี้

Loading...