ประเภทของการให้...........และเรื่องราวของ "ชายตัดฟืน"

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 22 พฤศจิกายน 2005.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    (bb-flower ประเภทของทาน


    .......ทานแบ่งตามวัตถุ คือ สิ่งของที่จะให้ มี ๒ ประเภท คือ


    ๑. อามิสทาน การให้อามิส คือ การให้วัตถุสิ่งของต่างๆ เป็นทาน

    ๒. ธรรมทาน การให้ธรรมะ คือ การให้ความรู้ ความถูกต้องดีงาม เป็นทาน



    อามิสทาน


    .......อามิสทาน คือ การให้สิ่งของเป็นทาน เช่น สิ่งของที่เป็น
    ปัจจัยสี่ หรือ การให้ทานวัตถุ มีข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ที่พักอาศัย ประทีปโคมไฟ เป็นต้น


    อามิสทาน แบ่งตามทายก คือ ผู้ให้ มี ๓ ประเภท ดังนี้


    ๑. ทานทาสะ บางทีเรียกว่า ทาสทาน หมายถึงการที่
    ทายกให้ของที่ด้อยกว่าของที่ตนบริโภคใช้สอยเอง เช่น เมื่อได้
    มะม่วงมา ๓ ผล ก็เลือกผลที่เล็กที่สุดให้ไป หรือได้ ๓ ผล ที่มีขนาด
    เท่าๆ กัน ก็เลือกผลที่ไม่ชอบใจให้ไป การให้อย่างนี้ เรียกทาสทาน
    เพราะว่าใจของทายกตกเป็นทาสของความตระหนี่แล้วจึงให้ ดุจ
    การให้สิ่งของแก่คนที่เป็นข้าทาสบริวาร ฉะนั้น


    ๒. ทานสหาย บางทีเรียกว่า สหายทาน หมายถึง ทายก
    ให้ของที่เสมอกันกับที่ตนบริโภคใช้สอย ตนบริโภคใช้ของอย่างไร
    ถึงคราวจะให้ผู้อื่นก็ให้ของอย่างนั้น เช่น ได้มะม่วงมา ๓ ผล ก็ให้
    ผลที่ดี เช่นเดียวกับที่ตนจะบริโภค ดุจการให้สิ่งของแก่คนที่เป็นมิตรสหาย ฉะนั้น


    ๓. ทานสามี บางทีเรียกว่า สามีทาน หมายถึงทายกให้
    ของที่ดีประณีตกว่าของที่ตนบริโภคใช้สอย โดยเลือกเอาสิ่งของ
    ที่ดีที่สุดให้ไป ซึ่งชาวพุทธทั้งหลายเวลาจะให้ ก็ให้สามีทานเป็นส่วน
    มาก เช่น เวลาจะตักบาตรพระ จะคดข้าวปากหม้อ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่ดีที่สุด
    เอาไว้ถวายพระก่อน

    หรือเวลาเลี้ยงพระภิกษุสามเณรจะตกแต่งข้าวปลาอาหารอย่างประณีต บรรจงกว่าที่ตน
    เองบริโภคถวายท่าน หรือเวลาที่จะให้ของแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง แม้ว่าจะมีฐานะเสมอหรือต่ำกว่า
    เรา ก็เลือกของที่ดีที่ชอบใจให้ไป อย่างนี้เรียกสามีทาน เพราะใจของผู้ให้เอาชนะความตระหนี่
    เป็นนาย เป็นเจ้าของ เป็นอิสระ แล้วจึงให้ทาน ดุจให้สิ่งของแก่คนที่ตนเคารพ หรือมีพระคุณ
    แก่ตน เช่น บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ พระภิกษุสงฆ์ ฉะนั้น


    ผู้ให้ใดที่มีจิตใจชนะความตระหนี่ คือ
    ความตระหนี่ไม่สามารถครอบงำได้ มีการสั่ง
    สมการให้ทานสามีอยู่เสมอ จนมีคุณธรรมนี้
    ติดตัว ท่านเรียกผู้ให้นั้นว่า ทานบดี แปลว่า ผู้
    เป็นใหญ่ในทาน กล่าวคือเป็นผู้มีจิตใจที่ไม่ถูก
    ความตระหนี่ครอบงำ เป็นอิสระในทานนั้น ไม่
    ตกเป็นทาส หรือสหายของความตระหนี่ แต่
    เป็นใหญ่ในทานนั้นสม่ำเสมอทุกเวลา


    .......ทานสามี มีอานิสงส์อย่างยิ่ง เพราะผู้ให้สามารถยกใจ
    ของตนเองให้สูงกว่าทานนั้น ดังเรื่องของ " ชายตัดฟืน " ผู้ได้อาหาร
    ที่ประณีตดีเลิศมาด้วยความลำบาก แต่เขาสามารถขจัดความ
    ตระหนี่ออกจากใจได้ ถวายทานนั้นแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า จึงได้
    รับผลบุญทันตาเห็น ดังเรื่องต่อไปนี้


    ....................ชายตัดฟืน....................


    .......ในครั้งอดีตกาล มีเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อคันธเศรษฐี ทราบ
    ว่ามีสมบัติอยู่ในสกุลเป็นอันมาก เขาเห็นว่าทรัพย์ที่บรรพบุรุษสั่งสม
    ไว้เหล่านั้น เมื่อตายแล้วก็เอาติดตัวไปไม่ได้ คนที่แสวงหาทรัพย์ไว้
    เป็นจำนวนมาก แล้วนำติดตัวไปไม่ได้ ได้ชื่อว่าไม่ฉลาดเลย เศรษฐี
    จึงคิดใหม่ว่า เมื่อนำติดตัวไปไม่ได้ ควรนำมาใช้ให้หมด เมื่อคิดเช่น
    นั้นแล้ว จึงให้บุคคลนำทรัพย์นั้นมาเป็นค่าเครื่องบริโภค คือค่า
    อาหารวันละแสนกหาปณะ ( ๑ กหาปณะ เท่ากับ ๔ บาท ) รวมทั้งสิ่ง
    ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในชีวิต ซึ่งล้วนแต่มีราคาแพงทั้งนั้น

    ความฟุ่มเฟือยของคันธเศรษฐีนั้นเป็นที่รู้กันไปทั่วเมืองพาราณสี
    ขนาดว่าเวลาจะรับประทานอาหารยังต้องเชิญให้คนมาดูเป็นจำนวนมาก
    ทั้งนี้เพราะอาหารและอุปกรณ์ทุกอย่างล้วนแต่เป็นของดีมีราคาแพงทั้งสิ้น

    .......วันหนึ่ง ชายติดฟืนมาเที่ยวในเมืองเพื่อมาพบเพื่อน เพื่อน
    ก็บอกข่าวนี้ให้ทราบ แล้วชวนกันไปดูเศรษฐีบริโภค ซึ่งมีคนมุงดูอยู่
    เป็นจำนวนมากแล้ว ขณะที่กำลังดูการบริโภคของเศรษฐีนั้น เขา
    เกิดความอยากกินอาหารเช่นนั้นบ้าง ขนาดที่ว่าไม่ได้ก็ยอมตายที
    เดียว จึงร้องขออาหารเศรษฐี เศรษฐีไม่ยอมให้ บอกว่า

    " ถ้าให้ท่าน คนอื่นเขาก็จะขอบ้าง อาหารไม่ใช่ราคาเพียง
    เล็กน้อย มีราคาแพงเป็นแสนเชียวนะ "

    ถึงขนาดนั้น ชายตัดฟืนก็ไม่อาจระงับความอยากใน
    อาหารนั้นได้ จึงบอกเศรษฐีว่า ถ้าไม่ได้ เขาคงต้องตายแน่
    เศรษฐีจึงบอกว่า

    " เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าเจ้าสามารถทำงานให้เราครบ ๓
    ปีเต็ม เราจะให้อาหารถาดหนึ่ง ที่มีความประณีตเหมือนกันเลย "
    ด้วยความอยากบริโภคอาหาร ชายตัดฟืนจึงรับคำ ตั้งแต่นั้นมาเขา
    จึงได้ชื่อใหม่ว่า นายภัตตภติกะ แปลว่ารับจ้างทำงานเพื่ออาหาร
    เขาอยู่รับใช้เศรษฐี ๓ ปีเต็ม โดยไม่มีข้อบกพร่องเลยแม้แต่น้อย
    วันหนึ่งคนของเศรษฐีได้มารายงานว่า

    " บัดนี้ชายตัดฟืนนั้น ทำงานครบ ๓ ปีแล้ว ท่านเศรษฐีจะให้ทำอย่างไร "


    .......เศรษฐีจึงสั่งให้บริวารจัดของทุกอย่าง ทั้งเครื่องอาบน้ำ
    ทั้งผ้านุ่งห่มและอาหารในทำนองเดียวกันกับที่เศรษฐีได้ใช้ในวันนั้น
    พร้อมกับป่าวประกาศให้คนทั่วทั้งเมืองมาดูการบริโภคครั้งยิ่งใหญ่
    ของชายตัดฟืนนั้น

    ขณะที่เขากำลังเตรียมจะบริโภคนั่นเอง พระปัจเจกพุทธ-
    เจ้าพระองค์หนึ่ง เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ ได้ตรวจดูว่าใคร
    ที่ควรจะไปโปรด ได้เห็นอุปนิสัยของชายตัดฟืนนั้น จึงเหาะมา
    แล้วยืนปรากฎอยู่เฉพาะหน้าของเขา ทันทีที่ชายตัดฟืนเห็นพระ
    ปัจเจกพุทธเจ้า

    เกิดความเลื่อมใสและคิดว่า กว่าเราจะได้กินอาหาร
    ที่ประณีตสักมื้อหนึ่ง ต้องทำงานให้เศรษฐีถึง ๓ ปี แสดงว่าในอดีต
    ชาตินั้น เราคงทำบุญมาน้อย ทำทานมาน้อย ชาตินี้จึงลำบาก
    ยากจน ถ้าเรากินอาหารนี้หมดภายในวันเดียว เราก็อิ่มเพียงแค่วัน
    เดียวเท่านั้น แต่ถ้าเราถวายอาหารนี้แด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ผลบุญ
    ที่เกิดจากการถวายของเรา จะส่งผลไปหลายภพหลายชาติ

    เมื่อคิดได้ดังนี้ชายตัดฟืนยิ่งมีความเลื่อมใสศรัทธามากขึ้น
    จึงน้อมถาดอาหารเข้าไปถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า พอถวายได้
    กึ่งหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ปิดบาตร แสดงให้ทราบว่าพอแล้ว
    แต่เขาขอร้องขึ้นอีกว่า

    " อาหารมื้อนี้เพียงพอสำหรับคนๆ เดียวเท่านั้น ขอได้โปรด
    รับเถิด อย่าสงเคราะห์ข้าพเจ้าเพียงแค่ชาตินี้เลย ให้ช่วยสงเคราะห์
    ถึงชาติหน้าด้วยเถิด "


    .......พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงเปิดบาตรแล้วรับจนหมด ชายตัด
    ฟืนครั้นถวายอาหารเสร็จแล้ว ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า

    " อาหารนี้ข้าพเจ้าต้องทำงานถึง ๓ ปี จึงจะได้มา ด้วย
    อานุภาพผลแห่งทานนี้ ขอความสุขจงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้าในที่ที่เกิด
    แล้วทุกภพทุกชาติ และขอให้ข้าพเจ้าได้มีส่วนแห่งธรรมที่ท่านเข้า
    ถึงแล้วด้วยเถิด "

    ชายตัดฟืน แม้ตนเองเป็นคนรับใช้ที่ยากจนด้วยทรัพย์
    แต่เมื่อถึงเวลาถวายทาน สามารถยกใจเอาชนะความตระหนี่ได้
    เรียกว่า ได้ถวายสามีทานที่ประณีตกว่าที่ตนเองบริโภค พระปัจเจก-
    พุทธเจ้าครั้นรับอาหารแล้ว จึงให้พรว่า

    " ขอสิ่งที่ท่านตั้งใจดีแล้ว ปรารถนาดีแล้ว จงสำเร็จ
    อย่างบริบูรณ์ เหมือนพระจันทร์เต็มดวงในคืนวันเพ็ญฉะนั้น "

    .......ในขณะที่ชายตัดฟืนถวายอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้โดย
    ยาก มหาชนที่มาดูการบริโภคของเขา ต่างก็ปีติยินดีในกิจที่ทำได้
    ยากนั้น จึงส่งเสียงสาธุการดังสนั่น จนได้ยินไปถึงเศรษฐี เศรษฐี
    คิดว่าชายตัดฟืนนั้นเป็นคนบ้านนอก คงกินอาหารไม่เป็น ทำให้คน
    ทั้งหลายหัวเราะเยาะเอา จึงส่งคนใช้ที่สนิทออกไปสืบดู

    เมื่อคนใช้ออกไปดูทราบเหตุการณ์ทุกอย่างแล้ว จึงกลับ
    มาบอกเรื่องนี้แก่เศรษฐี ครั้นเศรษฐีได้ยินแล้วเกิดความปีติตื้นตันใจ
    ว่า " ชายคนนี้ทำสิ่งที่ทำได้โดยยาก เรามีสมบัติมากมายขนาดนี้
    ยังไม่อาจทำได้เหมือนเขาเลย " เศรษฐีจึงให้คนใช้เรียกชายตัดฟืน
    มาพบ มอบทรัพย์ให้พันหนึ่ง และขอมีส่วนในบุญนั้นด้วย ชายตัด
    ฟืนใจดี ได้อุทิศส่วนบุญให้เศรษฐี เศรษฐีจึงแบ่งทรัพย์ของตนให้
    เขาเป็นจำนวนมาก

    การอุทิศส่วนบุญ หรือแบ่งส่วนบุญนั้น
    เราทุกคนสามารถทำได้ เมื่อเราได้สร้างบุญแล้ว
    ไปเจอคนที่รักที่ชอบพอกัน ก็แบ่งส่วนบุญให้
    แก่กันได้ อุปมาเหมือนเราจุดประทีปขึ้นมาดวง
    หนึ่ง แล้วมีคนอื่นๆ เอาด้ามประทีปมาจุดต่อ
    จากเรา ด้วยการจุดต่อดวงประทีปนั้น มิได้ทำ
    ให้ประทีปของเราหมดไป แต่กลับมีแสงสว่าง
    จากดวงประทีปด้ามอื่นๆ ที่สว่างเพิ่มมากขึ้นอีก
    มีแต่จะทำให้บริเวณนั้นสว่างไสวยิ่งขึ้น

    การแบ่งส่วนบุญก็เปรียบได้ดังการให้
    จุดดวงประทีปต่อๆ กัน บุญย่อมไม่หมด มี
    แต่จะได้มากยิ่งๆ ขึ้นไป


    .......เรื่องของชายตัดฟืนมิได้จบเพียงแค่นั้น ความดีของเขา
    เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว เมื่อพระราชาทรงทราบเรื่องราวของเขา ทรง
    ปีติยินดียิ่ง จึงให้เรียกมาพบ พระราชทานทรัพย์ให้พันหนึ่ง และขอ
    มีส่วนในบุญนั้น ชายตัดฟืนก็ยินดีแบ่งส่วนบุญให้ พระราชาจึงพระ
    ราชทานรางวัลอีกเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งพระราชทานตำแหน่ง
    เศรษฐีให้ด้วย เขาได้ชื่อว่า " ภัตตภติกเศรษฐี " ซึ่งแปลว่า เศรษฐี
    ผู้รับจ้างเพื่ออาหาร

    ภัตตภติกเศรษฐี ได้ทำบุญเป็นอันมากตลอดชีวิต เมื่อละ
    โลกแล้วก็ไปสู่เทวโลก ครั้นถึงเวลาอันสมควร จึงได้มาเกิดในตระกูล
    อุปัฎฐากของพระสารีบุตรในเมืองสาวัตถี ได้ชื่อว่า สุขกุมาร เพราะ
    ในขณะที่เขาเกิดนั้น ทำให้ทุกคนในบ้านมีความสุขกันไปหมด

    ต่อมาเมื่ออายุได้ ๗ ขวบ เกิดความศรัทธาที่จะบวช จึง
    ขออนุญาตพ่อแม่บวชเป็นสามเณร ไม่นานนักก็ได้บรรลุธรรมเป็น
    พระอรหันต์ ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้เอง

    .......จะเห็นได้ว่า ชายตัดฟืนได้พัฒนาชีวิตของตนเอง จากคน
    ยากจนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ขึ้นมาเป็นผู้ที่มีจิตใจยิ่งใหญ่ สามารถขจัด
    ความตระหนี่ออกจากใจได้ ด้วยการเสียสละอาหารอันพิเศษ
    ประณีตเหนือกว่าที่ตนเคยบริโภคหลายเท่า ซึ่งได้มาโดยยากนั้น
    ถวายเป็นทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า เขาจึงได้รับอานิสงส์อย่าง
    ไพศาล ทั้งโภคทรัพย์สมบัติ มนุษยสมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพาน-
    สมบัติในที่สุด นี่เป็นผลจากการทำ " สามีทาน " ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งนั้น
    จึงได้ผลบุญมากถึงเพียงนี้

    ที่มา พันทิพ
     
  2. สุวรรณา รัตนกิจเกษม

    สุวรรณา รัตนกิจเกษม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กันยายน 2005
    โพสต์:
    311
    ค่าพลัง:
    +772
  3. sanya

    sanya เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กันยายน 2005
    โพสต์:
    455
    ค่าพลัง:
    +2,687
    อนุโมทนาครับ...
    สุดยอดครับ.....ชี้ให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีเงินทองมากกว่า
    ขอเพียงเจตนา และ การคิดที่ถูกต้องเท่านั้น
    ไม่ต้องโทษฟ้าโทษดวงชะตา กรรมเก่า
    ทุกอย่างล้วนจากสิ่งที่เราทำไว้แล้วทั้งนั้น จำได้บ้างจำไม่ได้บ้าง ชาตินี้บ้าง
    ชาติที่ผ่านมาบ้าง ปนปนไป
    [b-wai] [b-wai] [b-wai]
     

แชร์หน้านี้

Loading...