:-บุญทางสังคมทำอย่างไรให้ได้บุญ-:

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 19 กุมภาพันธ์ 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    :-'บุญทางสังคม'ทำอย่างไรให้ได้บุญ-:

    [​IMG]
    [SIZE=-1]วันอาทิตย์ที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๖ ณ วัดสวนแก้ว นนทบุรี
    จัดโดย กลุ่มเสขิยธรรม โทรศัพท์ ๐-๒๘๖๓-๑๑๑๘ และ ๐-๒๔๓๗[/SIZE][SIZE=-1]-๘๘๗๕
    เว็บไซต์ : http://www.skyd.org อีเมล : seki@skyd.org[/SIZE]อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์
    ภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / เขียน


    [SIZE=+2]เมื่อ[/SIZE]เอยคำว่า "บุญ" ขึ้นมาดูเหมือนว่าคำนี้จะมีปัญหาในเรื่องความหมายในทางปฏิบัติ คือ พูดกันได้ แต่ความหมายในทางปฏิบัติไม่แน่ชัดว่าทำอะไร ? และทำอย่างไร ?
    ความไม่แน่ชัดอยู่ที่ว่า ทำบุญหมายถึงทำอะไร และ ทำอย่างไรจึงจะได้บุญ ความไม่ชัดของความหมายเรื่องบุญนี้เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะคนไทยนิยมทำบุญกันเป็นปกติ จนกลายเป็นประเพณีที่ทำตาม ๆ กันไปด้วยความเคยชิน การอธิบายความหมายของการทำบุญ ดูเหมือนจะหดแคบลงทุกที จนระยะหลัง ๆ นี้การทำบุญดูจะมีความหมายทางปฏิบัติเพียงแค่ว่า เสียสละสตางค์ให้กับวัดหรือถวายสิ่งของแก่พระภิกษุสงฆ์เท่านั้น
    เมื่อกลุ่มเสขิยธรรม ได้จัดงานทอดผ้าป่าเสขิยธรรม ครั้งที่ ๒ ขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๖ ณ วัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี และมีช่วงการเสวนาเรื่อง "บุญทางสังคม" : ทำอย่างไรให้ได้บุญ ? เสวนาโดย พระพิศาลธรรมพาที (พระพยอม กัลยาโณ) / อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ /คุณปรียานุช ปานประดับ และดำเนินรายการโดย คุณสุเมธ โสฬศ นั้น ประเด็นเรื่องบุญจึงถูกนำมาพิจารณากันบนเวทีเสวนา
    เพื่อเตือนความจำ จึงมีการทบทวนความจำร่วมกันว่า คำว่า "บุญ" ตามตัวหนังสือนั้นแปลว่า "ฟู" ที่มีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า "แฟบ" บุญที่แปลว่า ฟู นั้น หมายถึงลักษณะอาการของจิตที่ฟูขึ้น ปรากฎออกมาเป็นความปิติเบิกบาน ความปิติเบิกบานอันเป็นอาการของจิตนี้รู้จักกันโดยเชื่อว่า ความสุข ด้วยเหตุแห่งความหมายเช่นนี้พระพุทธองค์จึงได้ตรัสกับพระภิกษุกลุ่มหนึ่งว่า "บุญเป็นชื่อของความสุข"
    สภาวะแห่งจิตที่เป็นบุญนี้ตรงกันข้ามกับสภาวะที่เป็นบาป อันมีลักษณะเป็นอาการห่อเหี่ยวเศร้าหมอง ที่เรียกกันว่า ความทุกข์ สภาวะที่เรียกว่า บุญ จะต้องเป็นไปภายในจิตที่ประกอบด้วยกุศลกรรม นั้นคือจิตที่มีจาคะ เมตตา และปัญญาเป็นเจ้าเรือน จิตที่เป็นกุศลนี้จะรับรู้และปรุงแต่งตัวตนให้งดงามทั้งกาย - วาจา และใจ ดังที่พระพุทธองค์ทรงเปรียบผู้มีจิตประกอบด้วยกุศลว่า เป็นเหมือนช่างร้อยพวงมาลัย ที่เลือกหยิบเอาดอกไม้ที่หลากสีต่างรูปมาร้อยรวมกันเรียงกันให้เป็นพวงมาลัยที่งดงาม ผู้มีจิตเป็นกุศลก็ย่อมจะเลือกทำกรรมทั้งทางกาย วาจา และใจ ให้เป็นตัวตนบุคคลที่งดงาม บุญและกุศลนี้ต่างก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัยของกันและกันอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ ชาวไทยเราจึงนิยมเรียกรวม ๆ กันว่า ทำบุญ ทำกุศล
    ความหมายของบุญที่นำมาปรารภเพื่อเตือนความจำนี้ ไม่มีปัญหาในการทำความเข้าใจ เพราะเป็นความรู้พื้น ๆ ระดับความจำที่เมื่อปรารภขึ้นก็พอนึกได้ แต่ยังไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจในความหมายเชิงปฏิบัติ เพราะเพียงแต่แปลความหมายตามตัวอักษีได้ ยังไม่ได้หมายความว่าจะปฏิบัติได้ถูกต้องเหมาะสม
    ในครั้งพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงแสดงให้เห็นว่า การประพฤติปฏิบัติในลักษณะใดบ้างที่ก่อให้เกิดบุญขึ้นมาได้ เพื่อแสดงตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม พระพุทธองค์ทรงแสดงบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการไว้ดังนี้
    ๑. การเอื้อเฟื้อแบ่งปันแก่กันและกัน ( ทาน)
    ๒. การฝึกอบรมให้เกิดปกติสุขด้วยการไม่เบียดเบียนต่อกันและกัน (ศีล)
    ๓. การบำเพ็ญภาวนาให้ประจักษ์แจ้งในความเป็นไปต่าง ๆ อย่างรู้เท่าทัน (ภาวนา)
    ๔. การอ่อนน้อมถ่อมตนด้วยความคารวะต่อกันและกัน (อปจายน)
    ๕. การเอาใจใส่ขวนขวายช่วยเหลือกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์ (เวยยาวัจจ)
    ๖. การทำหน้าที่ ( ปฏิบัติธรรม) เพื่อให้เกิดเป็นความดี ความงาม ของส่วนรวม (ปัตติทาน)
    ๗. การชื่นชมยินดีกับความดี ความงาม ที่เพื่อร่วมชุมชน / สังคมได้บำเพ็ญให้เกิดขึ้น (ปัตตานุโมทนา)
    ๘. การน้อมจิตรับฟังข้อปฏิบัติที่ผู้รู้แนะนำ (ธรรมสวน)
    ๙. การแสดง / เปิดเผยข้อพึงปฏิบัติที่ตนเองรู้แล้วให้เพื่อร่วมชุมชน / สังคมได้รู้และปฏิบัติ (ธรรมเทศนา)
    ๑๐. ทำความเห็น / ทัศนคติ / ค่านิยม ของชุมชน / สังคม ให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง (ทิฏฐชุกรรม)
    การประพฤติปฏิบัติอันก่อให้เกิดบุญ (บุญกิริยาวัตถุ) ทั้ง ๑๐ ประการนี้ คือตัวอย่างแห่งการกระทำที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ จากตัวอย่างแห่งบุญที่แสดงไว้ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนานี้ ทำให้เกิดข้อควรพิจารณาว่า แล้วทำไมสังคมไทยจึงยังไม่เข้าใจวิธีทำบุญ เท่าที่ลองนึกดูและพอจะนึกได้ในช่วงขณะนี้ คิดว่าน่าจะเป็นเพราะ มีความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนต่อการทำบุญอยู่ในส่วนต่อไปนี้คือ
    [SIZE=+1]๑. ความเข้าใจที่มองเห็นบุญเป็นกิจส่วนตัว เป็นเรื่องของปัจเจกชน[/SIZE]
    การมองเช่นนี้ทำให้บุญเป็นเรื่องของบุคคลเป็นคน ๆ เป็นกิจส่วนตัวเหมือนการอาบน้ำ การขับถ่าย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วบุญในพุทธศาสนาเป็นเรื่องของชุมชน / สังคม ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนส่วนนี้ น่าจะเกิดมาจากกระบวนการเรียนรู้ในปัจจุบันที่ทำให้มนุษย์แยกเป็นบุคคล เป็นคน ๆ แล้วความหมายของมนุษย์ก็กลายเป็นความหมายของปัจเจกบุคคล ความสำเร็จก็เป็นความสำเร็จของบุคคล เป็นคน ๆ ความดีก็เป็นความดีของคนเป็นคน ๆ ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบนี้จึงทำให้ แม้กระทั่งบุญก็เป็นบุญของปัจเจกบุคคล การมองบุญเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลนี้ เป็นเหมือนที่สังคมปัจจุบันมอง "ความรู้" เป็นทรัพย์ส่วนบุคคลจนถึงจะต้องตรากฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ส่วนบุคคล บุญเองก็มีลักษณะเป็นเช่นนั้นในปัจจุบันนี้
    [SIZE=+1]๒. ความเข้าใจที่มองเห็นบุญเป็นการกระทำเฉพาะช่วงขณะ คือมองเห็นบุญเป็นกิจกรรมแยกเป็นส่วน ๆ ทำสำเร็จแล้วก็เสร็จเลย[/SIZE]
    ความเข้าใจนี้สัมพันธ์อยู่กับการมองโลกและชีวิตแยกเป็นส่วน ๆ เป็นเรื่อง ๆ แบบหยุดนิ่ง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วบุญเป็นกิจกรรมต่อเนื่องตลอดไป ภาษาทางศาสนาใช้คำว่า "สั่งสม" นั้นคือต้องสั่งสมตลอดไป ไม่หยุดนิ่ง
    บุญเป็นกระแสสัมพันธ์เชิงอิงอาศัยเกื้อกูลต่อกันและกัน ในขณะที่บาปเป็นความสัมพันธ์เชิงเบียดเบียนต่อกันและกัน การทำบุญจึงหมายถึงการสร้างเหตุปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการอยู่ร่วมกันในเชิงอิงอาศัย การบำเพ็ญบุญจึงต้องบำเพ็ญอยู่ตลอดเวลา เหมือนที่เราจะต้องหายใจเอาอากาศไปหล่อเลี้ยงกระบวนการดำรงอยู่ของชีวิต
    [SIZE=+1]๓. ความเข้าใจว่าบุญเป็นเรื่องของวัตถุและปริมาณ[/SIZE]
    ความเข้าใจข้อนี้สัมพันธ์อยู่กับการมีชีวิตอยู่ในสังคมเทคโนโลยี ที่คุณค่าและความหมายของสิ่งต่าง ๆ ถูกกำหนดไว้ที่สื่อกลางคือวัตถุ เครื่องมือ เครื่องใช้ และทำให้เกิดความหมายเชิงปริมาณ เช่น การทำบุญ ๑๐๐ บาท ได้บุญมากกว่า การทำบุญ ๑๐ บาท
    ในสังคมเทคโนโลยี เช่นปัจจุบันความหมายและคุณค่าของมนุษย์ถูกทำให้ปรากฎผ่านอุปกรณ์เครื่องใช้ จนกลายเป็นว่า ความสัมพันธ์ต่อกันและกันของมนุษย์ขึ้นอยู่กับวัตถุ รวมทั้งเรื่องบุญก็ถูกตีค่าผ่านวัตถุ ทำให้ความเข้าใจผิดไปว่า บุญมาก บุญน้อย ขึ้นอยู่กับวัตถุ สังคมจะต้องปรับเปลี่ยนความเข้าใจเสียใหม่ เพราะเนื้อแท้ของบุญอยู่ที่จิตใจ ความปิติเบิกบาน อันเป็นอาการแห่งบุญอยู่ที่การเอื้อเฟื้อ เอื้ออาทรต่อกัน ความมากความน้อยของบุญไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนหรือปริมาณของวัตถุ หากแต่อยู่ที่คุณภาพของจิต คนที่ได้บุญมากคือคนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อมากและมีปัญญามาก
    ความเข้าใจคลาดเคลื่อนทั้ง ๓ ประการนี้ ทำให้การทำบุญขาดมิติทางสังคม จนดูเหมือนกับว่าการทำบุญก็เป็นเหมือนการทำประกันชีวิตกับบริษัทขายประกัน ที่บริษัทขายประกันจะจ่ายค่าชดเชยให้เฉพาะกับบุคคลผู้เอาประกันเท่านั้น การทำบุญในปัจจุบันถูกเข้าใจและมองเห็นเป็นเพียงแค่ว่าการให้วัตถุอะไรไป ก็จะได้วัตถุนั้นคืนมา ให้ไปมาก ได้คืนมาก ให้ไปน้อย ได้คืนน้อย
    การเข้าใจแบบนี้ไม่ได้เป็นไปตามแบบอย่างของบุญกิริยาวัตถุ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้เลย ที่สำคัญคือการทำบุญแบบมุ่งวัตถุ มุ่งปริมาณ โดยมีบุคคลเป็นคน ๆ เป็นผู้รับผล ไม่ได้เกิดขึ้นจากจิตที่ประกอบด้วยกุศล กลับตรงกันข้ามเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยอกุศล เพราะจิตยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นเจ้าเรือน
    การทำบุญที่ถูกต้องนั้นผลที่บังเกิดขึ้นสามารถมองเห็นได้ใน ๒ ทางคือ
    ๑. จากทางฝ่ายผู้กระทำ ผลของการทำบุญจะทำให้จิตเบิกบานด้วยความงอกงามแห่งกุศลธรรม คือ ความไม่โลภ (จาคะ) ความไม่โกรธ (เมตตา) และความไม่หลง (ปัญญา) กุศลธรรมที่งอกงามในจิตของผู้บำเพ็ญบุญนี้ คือ อาการแห่งบุญที่มองเห็นได้จากฝ่ายผู้กระทำ
    ๒. จากทางฝ่ายผู้รับ ผลของบุญนั้นแม้จะเริ่มต้นจากภายในจิต แต่เมื่อกระทำให้ปรากฎออกมาเป็นกายกรรม วจีธรรม และมโนธรรมแล้ว ผลย่อมปรากฎในบุคคล / ชุมชน / สังคม เป็นความเอื้อเฟื้อ เอื้ออาทร มีมิตรไมตรีต่อกันและกัน
    การบำเพ็ญบุญในทุก ๆ ลักษณะจึงเป็นไปเพื่อยังผลทั้ง ๒ ทางนี้ให้เกิดขึ้น ในการพรรณาอานิสงส์ของการบำเพ็ญบุญ พระพุทธองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าการทำบุญที่มุ่งชุมชน มีอานิสงส์มากกว่าบุญที่ทำโดยมุ่งบุคคล ดังกรณีของการบำเพ็ญทานที่สังฆทาน มีอานิสงส์มากกว่าปาฏิกบุคคลิกทาน
    ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจเรื่องบุญให้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศานา สังคมไทยต้องรีบกันบำเพ็ญบุญตามหลักบุญกิริยาวัตถุ ข้อที่ ๑๐ ให้มากคือต้องช่วยกันทำความเห็น ของสังคมให้ถูกต้องว่าการทำบุญแท้จริงนั้นหัวใจสำคัญคือ สร้างสรรค์สังคมให้เป็นสังคมที่เอื้ออาทรด้วยมิตรไมตรีต่อกันและกัน
    สังคมจะเป็นสังคมแห่งมิตรไมตรีที่มีความเอื้ออาทรต่อกันและกันได้ ก็ด้วยการทำให้สังคมขับเคลื่อนไปตามวิถีแห่งกุศลคือ พวกเราจะต้องมีจิตที่ปิติ เบิกบาน ด้วยการให้ แบ่งปันแก่กันและกัน มีความสัมพันธ์กันด้วยไมตรีจิต และรับรู้ความเป็นไปต่าง ๆ ด้วยจิตที่รู้เท่าทัน
    การทำบุญทางสังคม ก็คือ การบำเพ็ญตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา ที่มุ่งประโยชน์สุขของพหูชน (ชุมชน-สังคม) บนวิถีแห่งการบำเพ็ญบุญแบบพุทธ ความดี ความงาม ความสุข ไม่ใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่งเพียงผู้เดียว แต่เป็นความดี ความงาม ความสุข ของทุก ๆ คนในสังคมร่วมกัน [​IMG]




    ที่มา : เสขิยธรรม
     

แชร์หน้านี้

Loading...