บทสร้างนิสัย บทที่ ๓

ในห้อง 'ทวีป อเมริกา' ตั้งกระทู้โดย Wat Pa Gothenburg, 1 ธันวาคม 2008.

  1. Wat Pa Gothenburg

    Wat Pa Gothenburg เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    920
    ค่าพลัง:
    +260
    <table border="0" cellpadding="7" cellspacing="7" width="500"><tbody><tr><td colspan="3" align="center">[​IMG]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+2]สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( พิมพ์ ธมฺมธโร)[/SIZE]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+1]วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร[/SIZE]</td> </tr> </tbody></table>

    <center> บทสร้างนิสัย </center>
    <center> บทที่ ๓ </center>

    นิสัยเคารพ เคารพไตรรัตน์น้อม ในกมล
    เคารพผู้เหนือตน มั่นไว้
    เคารพหมู่ทุกคน ให้ยั่ง ยืนแฮ
    เคารพดั่งนี้ได้ สุขให้เจริญผล

    ท่านอารยชนทั้งหลาย
    เราจะประพฤติคุณงามความดี อันเป็นตัวเหตุอำนวยผลให้เป็นคนดีมีความสุขความเจริญ คือจะศึกษาศิลปวิทยาที่ปราศจากโทษ จะตั้งใจรับภารกิจของผู้มีพระคุณ จะอยู่ในปกครองของท่านอย่างสงบ จะปฏิบัติตามศีลธรรมในพระศาสนาแม้ขั้นแต่จะใช้สอยไหว้วาน หรือเจรจาปราศรัยกันให้สำเร็จลุล่วงไปโดยสะดวกราบรื่น และให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้นั้น ต้องอาศัยความเคารพเป็นมูลฐาน
    เพราะว่าความเคารพเป็นระเบียบวินัยสำหรับร้อยรัดให้คนรวมกันเป็น หมู่คณะ และจัดสรรให้เป็นหมู่คณะที่ร่วมฉันทะกัน ประพฤติคุณงามความดี นอกจากเป็นระเบียบวินัยแล้ว ยังเป็นอำนาจดึงดูดหมู่คณะ ให้เคารพรักใคร่นับถือกันสนิทชิดเชื้อด้วยความสามัคคี ให้เอื้อเฟื้อเห็นอกเห็นใจกันด้วยเมตตากรุณา ให้ยกย่องเชิดชูเกียรติแก่กันตามฐานะผู้ใหญ่ผู้น้อย และประคองให้หมู่คณะอยู่สถิตเสถียรเป็นปึกแผ่นแน่นหนา เป็นที่สง่างามแก่ชาติและพระศาสนา
    อันกลุ่มโลกที่หมุนเวียนรอบดวงอาทิตย์ เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่ได้ตามวิถีโคจรนั้น เพราะได้อาศัยอำนาจดึงดูดของดวงอาทิตย์ ถ้าดวงอาทิตย์ไม่มีอำนาจดึงดูดไว้แล้ว กลุ่มโลกต้องลอยเปะปะไม่เป็นส่ำโดยแท้แม้คนเราก็ฉันเดียวกัน ที่มีชีวิตอยู่เป็นระเบียบเรียบร้อย ดำเนินสะดวกราบรื่น และสงบชื่นบานสราญรมย์เพราะได้อาศัยอำนาจดึงดูดของความเคารพซึ่งมีอยู่ต่อ กัน หากอยู่อย่างไม่มีความเคารพเป็นระเบียบวินัยแล้ว ก็จะไม่ผิดอะไรกับกองโจรที่น่าหวาดกลัว และคงประพฤติตัวเลอะเทอะเหลวแหลกไปตามอำเภอใจ
    การแสดงกายประณาม วจีประณาม และมโนประณาม ให้กิริยาอ่อนน้อม ให้วาจาอ่อนหวาน ให้น้ำใจอ่อนโยน เป็นไปสม่ำเสมอต่อบุคคลและวัตถุควรเคารพ เพื่อเทอดทูนยกย่องเชิดชูและเอื้อเฟื้อเชื่อฟังตามฐานะที่ควร นี่คือความเคารพ ในทางพระศาสนาถือการแสดงความเคารพเป็นจารีตประเพณีที่ถูกต้อง เป็นขนบประเพณีที่ชอบ เป็นธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ได้จำแนกความเคารพไว้ ๖ ประการ คือ เคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ เคารพในการศึกษา เคารพในความไม่ประมาท และเคารพในปฏิสัณฐาน การต้อนรับปราศรัย
    อันที่จริง บุคคลควรเคารพนอกนี้ก็ยังมีอยู่อีก คือ บรรพชิต พ่อแม่ ครูอาจารย์ พระมหากษัตริย์ เจ้านายท่านผู้เป็นใหญ่เหนือตน ปู่ย่าตายายพี่ป้าน้าอา และผู้ควรเคารพอื่นๆก็จัดว่าเป็นที่ควรเคารพทั้งสิ้น เพราะเมื่อเราเคารพให้ถูกต้องตามกาละเทศะ และสมควรแก่สถานะของตนของท่านแล้ว ย่อมเป็นที่นิยมนับถือและเมตตาการุณย์ของคนอื่น แม้นักปราชญ์ก็ชื่นชมยินดีไม่ติเตียนคัดค้าน ในทางพระศาสนาได้แบ่งบุคคลควรเคารพนั้นไว้ ๓ ประเภท คือ
    ๑. ชาติวุฑฺโฒ ผู้เจริญโดยกำเนิด หมายถึงบุคคลที่มหาชนยกย่องนับถือว่าเป็นผู้ดีมีอารยธรรม และเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในดินแดนแว่นแคว้นนั้นๆ คือสูงศักดิ์โดยชาติ มีธรรมสำหรับตระกูลวงศ์เป็นเครื่องวัด แม้จะอยู่ในวัยใดๆ ก็เป็นผู้ควรเคารพยำเกรง
    ๒. วยวุฑฺโฒ ผู้เจริญโดยวัย หมายเอาผู้เฒ่าอยู่ในปูนปัจฉิมวัยมีอายุมาก หรือเป็นผู้สูงโดยวยายุกาลและมีธรรมสำหรับวัยเป็นเครื่องวัดว่าเป็นผู้หลัก ผู้ใหญ่ ซึ่งมหาชนในถิ่นนั้นนิยมนับถือ แม้ท่านผู้เช่นนั้น ก็เป็นผู้ควรเคราพยำเกรง
    ๓. คุณวุฑฺโฒ ผู้เจริญโดยคุณงามความดี หมายเอาผู้มีธรรมสำหรับตนเป็นเครื่องวัด จะเป็นครูอาจารย์หรือดำรงตำแหน่งหน้าที่ใดๆ โดยที่สุดแม้ผู้เยาว์วัย เมื่อมีคุณสมบัติมากในสันดาน ซึ่งเป็นผู้น้อยน่าเมตตา เป็นผู้ใหญ่น่านับถือ เป็นผู้เฒ่าน่ากราบไหว้ ก็เป็นผู้ควรเคารพยำเกรง
    ตามธรรมเนียมไทยเรา มีบุคคลควรเคารพอยู่ ๒ ฝ่าย คือฝ่ายคฤหัสถ์ ใช้เคารพกันโดยชาติโดยวัยโดยคุณดังกล่าวแล้ว ส่วนฝ่ายบรรพชิต ใช้เคารพกันตามพระพุทธบัญญัติ โดยถือเวลาบวชก่อนและหลังเป็นหลัก พระผู้บวชทีหลังแม้จะเจริญโดยชาติโดยวัยหรือโดยคุณประการไร ก็ต้องเคารพพระผู้บวชก่อน พึงศึกษาในระเบียบการแสดงความเคารพ ทั้งของบรรพชิตและของคฤหัสถ์ ดังต่อไปนี้
    ระเบียบการแสดงความเคารพของบรรพชิต ทางการคณะสงฆ์ได้วางไว้ ให้ภิกษุสามเณรถือเป็นหลักปฏิบัติมีอยู่ ๔ อย่าง คือ
    ๑. อภิวาท คือ กราบ ไหว้ ลักษณะกราบ นิยมให้ประกอบด้วยองค์ ๕ เรียกเบญจางคประดิษฐ์ คือจดเข่าทั้งสอง จดฝ่ามือทั้งสอง และจดหน้าผากหนึ่ง ลงที่พื้น รวมองค์ทั้ง ๕ นี้เข้าด้วยกัน จัดเป็นกราบ การ กราบนี้ตามระเบียบ นิยมให้กราบ ๓ หน ส่วนลักษณะไหว้ นิยมให้รวมนิ้วมือทั้ง ๑๐ เข้าเป็นกระพุ่ม ยกมือขึ้นประณมเหนือศีรษะหรือเสมอหน้าผาก แล้วก้มศีรษะลงน้อยหนึ่งให้พองาม การไหว้นี้ตามระเบียบ นิยมให้ทำคาบเดียว พึงถือปฏิบัติดังนี้
    ๑.๑ ตามระเบียบพระวินัย ให้ภิกษุผู้อ่อนพรรษากราบหรือไหว้ภิกษุผู้แก่พรรษากว่า ส่วนสามเณรให้กราบหรือไหว้ภิกษุทั้งหลายแม้บวชในวันนั้น
    ๑.๒ เมื่อภิกษุสามเณรเข้าหาพระผู้ใหญ่ ในสถานที่ใช้นั่งบนพื้น พึงใช้กราบ แต่เมื่อเข้าหาท่านในสถานที่ใช้นั่งเก้าอี้หรือยืน พึงใช้ยืนไหว้ ถ้าในสถานที่นั้นมีพระผู้ใหญ่อยู่หลายท่าน พึงกราบหรือไหว้พระผู้แก่พรรษากว่า ครั้นแล้วเมื่อมีธุรกิจเกี่ยวกับท่านผู้ใด พึงพูดกับท่านผู้นั้น
    ๑.๓ เมื่อภิกษุสามเณรเข้าหาพระผู้ใหญ่ ในเวลาท่านเปลือยกาย หรืออยู่ในที่มืดแลไม่เห็นกัน หรือนอนหลับหรือขลุกขลุ่ยอยู่ด้วยธุระ หรือกำลังขบฉันอาหารอยู่ อย่ากราบหรือไหว้
    ๑.๔ เมื่อภิกษุสามเณรนั่งอยู่ในสำนักพระผู้ใหญ่กว่า อย่าทำการกราบหรือไหว้แก่พระผู้อ่อนกว่าท่านเว้นไว้แต่มีบทให้ทำ เช่น ขมากันลงมาโดยลำดับ แม้เมื่อห่มจีวรคลุม ๒ บ่า ก็อย่ากราบหรือไหว้ทั้งในวัด ทั้งบนบ้าน ทั้งตามทางนอกวัด
    ๑.๕ ภิกษุสามเณรจะเข้าไปในวัดอื่น พึงแสดงความเคารพ คือถอดรองเท้า ลดร่ม ลดจีวรเฉียงบ่า ทำความเคารพเจ้าถิ่นผู้แก่พรรษากว่า เมื่อเห็นเจ้าถิ่นกำลังทำธุระพึงรอให้เสร็จก่อนจึงเข้าหา ถ้าเจ้าถิ่นต้องพักงานไว้ อย่าอยู่ให้นาน
    ๑.๖ เมื่อภิกษุสามเณรจะเข้าไปในโบสถ์ วิหาร การเปรียญ หรือสถานอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาก็ดี ในเจดียสถานอันเป็นที่ระลึกถึงพระบรมศาสดาก็ดี พึงแสดงความเคารพ อย่าห่มคลุม อย่ากั้นร่มอย่าสวมรองเท้าเข้าไป พึงกราบในที่ควรกราบ พึงไหว้ในที่ควรไหว้
    ๒. อุฏฐานะ คือลุกยืน ซึ่งมิใช่ลุกยืนเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถตามปกติ แต่หมายถึงลุกขึ้นยืนรับ แสดงความเคารพพระผู้ใหญ่กว่าที่ตรงมา หรือผ่านไปในระยะใกล้ เป็นธรรมเนียมที่ใช้อยู่ในครั้งพุทธกาล เช่นภิกษุยืนรับเสด็จ ภิกษุณียืนเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา และถือเป็นธรรมเนียมมาจนบัดนี้ พึงถือปฏิบัติดังนี้
    ๒.๑ ภิกษุสามเณรอยู่ในที่ควรจะลุกยืนได้ เมื่อเห็นพระผู้ใหญ่กว่ามา พึงลุกยืนรับ และยืนตัวตรงหันหน้าไปทางท่าน อย่าเพิ่งนั่งเมื่อท่านยังไม่นั่ง พึงนั่งต่อเมื่อท่านนั่งแล้ว
    ๒.๒ ภิกษุสามเณรผู้นั่งเข้าแถว หรือเข้าประชุมอยู่ในหมู่สงฆ์ บนอาสน์สงฆ์ หรือในสถานที่ใช้นั่งบนพื้น เมื่อเห็นพระผู้ใหญ่กว่ามา ต้องอย่าลุกขึ้น พึงนั่งท่าตรง แสดงอาการสำรวม ทอดตาดูท่านและมนสิการในท่าน แม้พบท่านในบ้านก็พึงทำเช่นนั้น ไม่ควรลุกขึ้น ไม่ควรกราบหรือไหว้
    ๒.๓ ภิกษุสามเณรนั่งอยู่ในสำนักพระผู้ใหญ่กว่า เมื่อเห็นพระอื่นมา ไม่ควรลุกยืน และไม่ควรกราบหรือไหว้
    ๓. อัญชลีกรรม คือประณมมือ ลักษณะประณมมือนี้ นิยมให้รวมนิ้วทั้ง ๑๐ เข้าเป็นกระพุ่ม และยกขึ้นเพียงอก ใช้ได้ทั้งในขณะยืนและนั่ง โดยปกติใช้ทำแก่ท่านผู้ใหญ่ แต่บางคราวใช้ทำแก่ผู้น้อย แม้แก่คฤหัสถ์และกิจอื่น อันควรแก่ความเคารพ พึงถือเป็นหลักปฏิบัติดังนี้
    ๓.๑ ใช้ทำแก่พระผู้ใหญ่ เช่นประณมมือฟังคำสั่ง และประณมมือพูดกับท่าน เป็นตัวอย่าง
    ๓.๒ ใช้ทำแก่ผู้น้อยและคฤหัสถ์ เช่นประณมมือขมาโทษเขา ประณมมือทำวินัยกรรม ประณมมือรับกราบไหว้ ประณมมือประสิทธิ์พรให้เขา
    ๓.๓ ใช้ทำในกิจอื่นอันควรแก่ความเคารพ เช่น ประณมมือว่าคำนมัสการพระ ประณมมือทำวัตรประณมมือสวดมนต์ ประณมมือฟังพระปาติโมกข์ ประณมมือฟังธรรมเทศนาและวินัยกถา
    ๔. สามีจิกรรม คือการแสดงอัธยาศัย เช่น เดินหลัง นั่งหลัง ให้ที่นั่ง หลีกทาง ลดร่ม ถอดรองเท้าเป็นตัวอย่าง ใช้ทำแก่ผู้แก่กว่าหรือผู้อ่อนกว่า โดยสมควรแก่ประเภทแห่งการ บางอย่างใช้ทำแม้แก่คฤหัสถ์ เช่นมีเป็นวัตรของภิกษุ ไม่สวมรองเท้า ไม่กั้นร่ม เข้าไปในบ้าน พึงถือเป็นหลักปฏิบัติดังนี้
    ๔.๑ ภิกษุสามเณรอยู่ในที่เดียวกันกับพระผู้แก่พรรษากว่า จะสอนธรรม จะอธิบายธรรม จะสาธยายจะแสดงธรรม จะจุดจะดับไฟ จะเปิดจะปิดหน้าต่างประตู พึงบอกขออนุญาตท่านก่อน เว้นแต่ท่านอนุญาตไว้ให้ทำได้เสมอไป ก็ไม่ต้องบอกขออนุญาตทุกขณะก็ได้
    ๔.๒ ภิกษุสามเณรเดินไปตามทาง พบพระผู้ใหญ่เข้า พึงหยุดยืนหันหน้าไปทางท่าน ทำท่าตรงแสดงอาการสำรวมทอดตาดูท่าน และมนสิการในท่าน ถ้ากั้นร่มพึงหุบร่มหรือเบนลงจากศีรษะ ถ้าสวมรองเท้าพึงถอดออก แต่ท่านสวมด้วยก็ไม่จำเป็น
    ๔.๓ ภิกษุสามเณรเดินไปตามทาง พบสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน หรือพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่เสด็จผ่านมา พึงหยุดยืนหันหน้าไปทางพระองค์ แสดงอาการสำรวม ทอดตาดูและมนสิการในพระองค์ ถ้าไปในยานก็พึงนั่งท่าตรง แสดงอาการเช่นนั้น
    ๔.๔ ภิกษุสามเณรพบผู้อื่นแสดงความเคารพตามทาง พึงแสดงมนสิการในเขาด้วยยกมือขวาขึ้น หรือเบนร่ม แต่ต้องอย่าใช้พยักหน้า
    ๔.๕ ภิกษุสามเณรไปพบศพ พึงหยุดยืนหรือนั่ง สุดแต่สถานที่ แสดงอาการนิ่งทอดตาดูศพ นึกให้ส่วนบุญ หรือนึกปลงกรรมฐาน
    ๔.๖ เมื่อภิกษุสามเณรได้เห็นการชักธงชาติขึ้นหรือลง ณ เสาประจำสถานที่ราชการตามเวลาปกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยว หรือนกหวีดเป่าคำนับ หรือให้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลง ถ้านั่งอยู่ที่ใดที่หนึ่งแม้กำลังขบฉันอาหารอยู่ ก็ให้พักไว้ก่อน พึงนั่งตั้งท่าตรง สำรวมใจแผ่เมตตาแก่ชาติ ถ้ากำลังเดินก็พึงหยุดเดินบ่ายหน้าไปทางนั้น และสำรวมใจแผ่เมตตาแก่ชาติเช่นกัน
    ๔.๗ เมื่อภิกษุสามเณรได้เห็นธงชัยเฉลิมพล ธงเรือรบ หรือธงประจำกองลูกเสือ ซึ่งทางราชการเชิญผ่านมา หรืออยู่กับที่ประจำแถวทหาร หรือหน่วยลูกเสือ พึงปฏิบัติตามข้อ ๔.๖
    ๔.๘ เมื่อภิกษุสามเณรได้ยินเสียงเพลงชาติ ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในงานพิธีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี พึงปฏิบัติตามข้อ ๔.๖
    ๔.๙ เมื่อภิกษุสามเณรได้ยินเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีซึ่งทางราชการบรรเลงใน ราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในงานใดๆก็ดี พึงปฏิบัติตามข้อ ๔.๖ และพึงสำรวมใจถวายพระพรแด่พระมหากษัตริย์
    ระเบียบการแสดงความเคารพของคฤหัสถ์ที่ใช้เป็นธรรมเนียมอยู่ใน ปัจจุบันนี้ คือ กราบไหว้ คำนับเปิดหมวก ลุกยืน นั่งลง ประณมมือ วันทยาหัตถ์ วันทยาวุธ ทำท่าตรง แลขวาแลซ้าย ยิงสลุต สลุตธง ลดธงดนตรี
    ๑. กราบ หมายถึงกราบพระและกราบบุคคล กราบพระคือกราบพระสงฆ์ พระพุทธปฏิมา พระธาตุหรือพระเจดีย์ ให้ได้เบญจางคประดิษฐ์ ดังกล่าวไว้ในระเบียบการแสดงความเคารพของบรรพชิต และกราบ ๓หน กราบบุคคลสำหรับผู้น้อยใช้ทำแก่ผู้ใหญ่ เช่นลูกกราบพ่อแม่ คือนั่งพับเพียบโน้มตัวลงกราบ ฝ่ามือไม่ต้องราบกับพื้น ฝ่ามือตั้งประสานไว้ลงจรดพื้น และกราบหนเดียว
    ๒. ไหว้ หมายการรวมนิ้วมือทั้ง ๑๐ เข้าเป็นกระพุ่ม ยกมือขึ้นประณมเหนือศีรษะหรือเสมอหน้าผากก้มศีรษะลงน้อยหนึ่งให้พองาม การไหว้นี้ตามระเบียบนิยมให้ทำคาบเดียว สำหรับผู้น้อยใช้ทำแก่ผู้ใหญ่ คือเคารพท่านด้วยการยกมือประณมไหว้ และผู้ใหญ่ใช้ทำกับผู้น้อย คือรับไหว้
    ๓. คำนับ ทำด้วยอิริยาบถยืน ใช้ทำแก่บุคคลและวัตถุควรเคารพ คือยืนตรงโน้มก้มศีรษะลงพองามไม่เกิน ๔๕ องศา และไม่น้อยจนเกินไป จัดเป็นคำนับ
    ๔. เปิดหมวก หมายถึงผู้น้อยเปิดหมวกแสดงความเคารพผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่เปิดหมวกรับเคารพ แต่ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ เมื่อเปิดต้องก้มศีรษะลงตามหมวกไปด้วยพองาม
    ๕. ลุกยืน หมายถึงการลุกยืนขึ้นรับผู้ใหญ่ที่ตรงมา และยืนตัวตรงหันหน้าไปทางท่าน ไม่นั่งในเมื่อท่านยังไม่นั่ง และนั่งต่อเมื่อท่านนั่งแล้ว
    ๖. นั่งลง หมายถึงการแสดงความเคารพด้วยกาย คือทรุดร่างกายลงนั่งตามควรแก่กาลเทศะ หรือสถานที่นั้นๆ โดยไม่ต้องยกมือขึ้นประณมไหว้
    ๗. ประณมมือ หมายถึงการรวมนิ้วทั้ง ๑๐ เข้าเป็นกระพุ่ม ยกขึ้นเพียงอกใช้ได้ทั้งขณะยืนและนั่งโดยปกติใช้ทำแก่ผู้ใหญ่ เช่น ประณมมือรับคำสั่ง หรือพูดกับท่าน ประณมมือว่าคำนมัสการพระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังเทศน์
    ๘. วันทยาหัตถ์ วันทยาวุธ แลขวาแลซ้าย ทำท่าตรง และยิงสลุต สำหรับทหารทำตามระเบียบวินัยของทหาร
    ๙. สลุตธง ลดธง คือลดธงลงเมื่อเรือได้ผ่านกัน เป็นการแสดงความเคารพด้วยธง ทั้งนี้เรือเมล์ต้องเคารพเรือรบก่อน ตามฐานะผู้ใหญ่ที่มีศักดิ์และอำนาจ และลดธงไว้อาลัยแก่ผู้ที่ล่วงลับ
    ๑๐. ดนตรี หมายถึงการบรรเลงดนตรี เป็นการแสดงความเคารพ เช่นบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงชาติ หรือเพลงมหาฤกษ์ มหาชัย
    ระเบียบการแสดงความเคารพ ทั้งของบรรพชิตและของคฤหัสถ์นี้ จัดเป็นสังคมจรรยาอันดีงาม นำให้หมู่คณะที่ปฏิบัติได้รับตอบด้วยอัธยาศัยไมตรี เข้าในหลักที่ว่า “ผู้สักการะย่อมได้สักการะตอบ ผู้นับถือย่อมได้นับถือตอบ ผู้ไหว้ย่อมได้ไหว้ตอบ ผู้บูชาย่อมได้บูชาตอบ” และสมกับโคลงโลกนิติ ว่า
    ให้ท่าน ท่านจักให้ ตอบสนอง
    นบท่าน ท่านจักปอง นบไหว้
    รักท่าน ท่านจักครอง ความรัก เรานา
    สามสิ่งนี้ เว้นไว้ แต่ผู้ ทรชน
    เมื่อหมู่คณะใดถือความเคารพเป็นสำคัญ หมู่คณะนั้นชื่อว่ามีอำนาจดึงดูดกันและกัน ให้โน้มน้อมเข้าหากัน ต่างนับถือรักใคร่เอื้อเฟื้อเชื่อฟังและสามัคคีกันเป็นอันดี แสดงกิริยาวาจาใจอันสุภาพต่อกันตามฐานะนับเป็นหมู่คณะที่มีระเบียบวินัย ประดับชาติศาสนาให้สง่างาม เป็นทางเจริญแห่งวิทยฐานะและคุณธรรมทั้งหลาย
    การแสดงออกซึ่งนิสัยเคารพ ต่อบุคคลและวัตถุควรเคารพนั้น ย่อมเป็นเครื่องประคองคุณความดีให้ยิ่งขึ้นกว่าปกติ ด้วยกิริยาวาจาใจที่สุภาพของตน ซึ่งจะนำให้คนอื่นกรุณาปรานีในตน และส่งเสริมให้ตนเจริญด้วยลาภผล เกียรติยศ สรรเสริญ ตามคุณานุรูป ทั้งเป็นเครื่องกำจัดกิเลส ๕ ประการออกจากตน
    ๑. มักขะ ลบหลู่คุณท่าน ชักให้เป็นคนอกตัญญู ลบหลู่คุณของผู้อื่นที่ได้มีแก่ตน นิสัยเคารพนำให้ยำเกรง รู้คุณของผู้มีคุณ ยกท่านขึ้นไว้ในตำแหน่งเจ้าพระคุณ
    ๒. ปลาสะ ยกตนเทียมท่าน มอมให้คนหลงผิดว่าตัวดีเสมอท่าน เกิดฮีกเหิมไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง นิสัยเคารพเหนี่ยวรั้งไว้ให้เจียมตัว ยึดคติว่า นุ่งเจียมห่มเจียม ไม่อาจเอื้อมในที่ต่ำสูง
    ๓. ถัมภะ ดื้อดึงแข็งกระด้าง ยุให้เป็นคนหัวแข็ง ดื้อด้านดันทุรัง นิสัยเคารพปราบให้อ่อนน้อมถ่อมตน ถือภาษิตว่า ไม้อ่อนบ่ห่อนหัก หรือ ไม้นุ่มชุมชนอุ้มชู
    ๔. มานะ ถือตัว ลวงให้คนทะนง เชื่อตัวว่าเป็นคนสำคัญ นึกกระหยิ่มหยิ่งจองหองลำพองอยู่ในใจนิสัยเคารพแก้ให้รู้จักประมาณตน นับถือคนอื่นเหมือนนับถือตนเอง
    ๕. อติมานะ ดูหมิ่นท่าน ยั่วให้คนเย่อหยิ่งดูหมิ่นถิ่นแคลน สบประมาทหรือหมิ่นประมาทผู้อื่น เห็นเขาเลวกว่าตนไปหมด ยิ่งเมื่อมีความรู้ ก็ยิ่งเสียความรู้สึกที่เป็นธรรม ถือความรู้ที่มีอยู่ ดูเป็นของหายาก ต้องเก็บซ่อนไว้ให้มิดชิด แสดงออกมาพราวไปด้วยลูกไม้ กลายเป็นคนหยิ่งจมไม่ลง วางตัวเป็นผู้ดีนอกวง นิสัยเคารพทำให้เห็นคนเป็นคน แสดงความเคารพนับถือกันตามที่เหมาะที่ควร
    คนเป็นคน เพราะธรรมอำนวยผล ใครเห็นคนเป็นคน เหมือนตนนั้น
    เขาก็คนเหมือนเรา ตามเผ่าพันธุ์ โลกเสกสรรเขาว่า เผ่าผู้ดี
    ใครเห็นคนมิใช่คน เหมือนตนเล่า โลกว่าเขาเป็นเปรต ประเภทผี
    ยิ่งเขาหลงทะนงตน เป็นคนดี ยิ่งเป็นผีลุกลน ฆ่าตนเอง
    แท้จริง ภายใต้ท้องฟ้าอันสูงลิบนี้ มีอยู่อย่างเดียวที่จะกำจัดความลบหลู่คุณท่าน ยกตนเทียมท่าน ดื้อดึงแข็งกระด้าง ถือตัวและดูหมิ่นท่าน ให้สิ้นไป คือความเคารพ เราจึงควรหลบหลีกโทษเหล่านี้เสียด้วยความเคารพ ให้เหมือนเราหลบหลีกอสรพิษด้วยเลี่ยงไปเสียทางอื่น
    นิสัยเคารพนี้ เป็นคุณสมบัติทั่วไป ผู้ใหญ่และผู้น้อยจำต้องถือปฏิบัติร่วมกัน ด้วยว่ามรรยาทอันดีงามนับเป็นจริยานุวัตรทั้งของผู้ใหญ่และของผู้น้อย เมื่อผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ ชื่อว่าได้แสดงออกซึ่งกิริยาวาจาใจสุภาพต่อสังคม อันจะนำให้ได้รับเมตตากรุณาจากผู้ใหญ่ แม้ผู้ใหญ่เคารพผู้น้อย ก็เพื่อเคารพตอบด้วยมรรยาทชั้นสูง ปิดเสียซึ่งกิริยาหยาบอันเป็นเหตุดูหมิ่นถิ่นแคลนผู้ต่ำศักดิ์ และเพื่อวางแบบอย่างที่สุภาพไว้เป็นวัฒนธรรมแก่อนุชนรุ่นหลัง ซึ่งเมื่อเขาเห็นตัวอย่างแล้วจะได้ดำเนินตาม นิสัยเคารพนี้ เมื่อสรุปลงคงมีอยู่ ๓ อย่าง คือ
    ๑. นิสัยเคารพตน มุ่งทำความดีเว้นชั่วให้แก่ตนเพื่อให้ตนดี มีสุขพ้นทุกข์ภัย ตั้งใจเว้นสิ่งที่ไม่ดีให้ไกลที่สุด มีฉันทะบำเพ็ญสิ่งที่ดีให้ดีที่สุด
    ๒. นิสัยเคารพผู้อื่น มีน้ำใจกว้าง มุ่งทำความดีแก่กัน ไม่เห็นแต่แก่ตนฝ่ายเดียว เว้นทำความไม่ดีแก่กัน อ่อนโยนด้วยความเกรงใจกัน และถ่อมตนด้วยความยำเกรงกัน
    ๓. นิสัยเคารพธรรม มุ่งรักษาหน้าที่และความสมควร เมื่อเห็นว่าเป็นหน้าที่เป็นความสมควรแล้วก็ทำ ไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวขึ้นมาขัดขวาง ให้เสียหน้าที่และความสมควรไป ตั้งใจประพฤติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ไม่ล่วงละเมิดธรรม
    ความจริงระเบียบแบบแผนที่ใช้แสดงความเคารพนั้นมีอยู่เป็นอันมาก แต่คนนิสัยเคารพได้ถือน้ำใจเคารพเป็นสิ่งสำคัญกว่าและจำเป็นยิ่งกว่า เพราะถ้าน้ำใจเคารพมีแล้ว กิริยาวาจาก็แสดงออกเป็นกิริยาเคารพเป็นวาจาเคารพตามกัน อันนิสัยเคารพที่มีน้ำใจเคารพเป็นมูลฐานให้แสดงกิริยาเคารพ และวาจาเคารพออกมารับแขกนั้น ย่อมเป็นเครื่องหมายของผู้ดี เมื่อมีในหมู่ใดซึ่งถือปฏิบัติให้ถูกต้องดีด้วยอาการสม่ำเสมอ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีเชื่อถ้อยฟังคำแห่งกันเป็นลักษณะ ก็ส่องความว่า หมู่นั้นเป็นผู้ดี สามารถบริหารหมู่ให้พ้นภัยพิบัติและวัฒนาการได้
    โดยปกติ คนส่วนมากมักเคารพต่อคนมั่งมี คนมียศศักดิ์ คนผู้เป็นนาย คนผู้มีฐานะดีกว่า หรือผู้เป็นใหญ่เหนือตน แต่มักมองข้ามคนผู้มีฐานะเสมอกันและต่ำกว่า ส่วนผู้มีนิสัยเคารพย่อมไม่นิยมการเหยียดหยามคนอื่น และไม่นิยมการแลเห็นคนอื่นถูกเหยียดหยาม รวมทั้งไม่ต้องการแลเห็นพวกเดียวกันเหยียดหยามกันเอง แต่นิยมเคารพต่อคนทั่วไปโดยเสมอหน้ากัน ไม่เลือกว่ามีฐานะสูงกว่า เสมอกัน ต่ำกว่า หรือเลวทรามปานใด เช่นเคารพญาติตามฉันญาติ ไม่ดูหมิ่นถิ่นแคลนเพราะเหตุไร้วาสนา เคารพมิตรตามฉันมิตร มีจิตใจคงที่ไม่แปรผัน ร่วมสุขในยามสมบัติและร่วมทุกข์ในยามวิบัติ เคารพเพื่อนบ้านตามฉันที่ร่วมถิ่นเดียวกัน ไม่คิดเอารัดเอาเปรียบ ต่างรักษาผลประโยชน์ของกันและกัน
    นิสัยเคารพนี้ นอกจากเป็นระเบียบวินัยและอำนาจดึงดูดแล้ว ยังเป็นเกลียวสัมพันธ์นำให้คนเข้ากันได้สนิท เป็นทางมาแห่งความดี ความเจริญ ประดับผู้ใหญ่ให้น่าเคารพสักการะบูชาของผู้น้อย ส่งเสริมผู้น้อยให้น่ารักใคร่ไว้วางใจของผู้ใหญ่ ปรับคนให้เหมาะกับสังคม จะเข้านมัสการพระสงฆ์ เข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ เข้าเฝ้าเจ้านาย เข้าหาสมาคมคนต่างชาติ หรือไปในงานพิธีรีตองใดๆ ให้รู้จักอนุโลมตัวตามกาลเทศะ ควรไหว้ก็ไหว้ ควรคำนับก็คำนับ ควรหมอบกราบก็หมอบกราบ เป็นทำนองเข้าเมืองตาหลิ่วให้หลิ่วตาตาม
    เมื่อคนในหมู่นั้นแต่ละคน เคารพรักใคร่สนิทสนมกันมั่นคง ประหนึ่งน้ำประสานเชื่อมที่ต่อให้ติดกันสนิทแล้ว กิจการของหมู่คณะทั้งส่วนตัวและส่วนรวมย่อมเจริญรุ่งเรืองเป็นระเบียบเรียบ ร้อย แม้โดยบังเอิญต้องแตกร้าวกัน ก็ร่วมกันระงับความร้าวฉานมิให้แพร่งพรายลุกลาม ไม่แสดงกิริยากายวาจาให้ปรากฏ เท่ากับผูกรัดของที่ร้าวไว้ด้วยปลอก ให้ไม่แตกออกกระจัดกระจาย คงเคารพนับถือรักใคร่กันอยู่ตามเดิม
    ประมวลความว่า นิสัยเคารพนี้ คือชีวิตแห่งความระลึกถึงกัน ชีวิตแห่งความจงรักภักดี ชีวิตแห่งความเคารพนับถือ ชีวิตแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และชีวิตแห่งความสุขความเจริญ เมื่อท่านหวังความสุขความเจริญ พึงสร้างนิสัยเคารพให้เห็น หมู่คณะที่อยู่ร่วมกันเป็นเสมือนครอบครัวเดียวกัน มีกฎเกณฑ์ชิ้นเดียวกัน มีกฎหมายบทเดียวกัน รู้จักที่ต่ำที่สูง ปฏิบัติต่อกันด้วยกิริยาเคารพ วาจาเคารพ และน้ำใจเคารพ ตามฐานะผู้ใหญ่และผู้น้อย โดยอาการอันสม่ำเสมอกัน
    อะไรจะเป็นระเบียบวินัยร้อยรัดหมู่คณะ ให้มีกิริยาอ่อนน้อม มีวาจาอ่อนหวาน มีน้ำใจอ่อนโยนต่อกันเสมอด้วยนิสัยเคารพย่อมไม่มี อะไรจะเป็นอำนาจดึงดูดหมู่คณะให้จงรักภักดีต่อกันเสมอด้วยนิสัยเคารพหามีไม่ แม้อะไรจะเป็นเกลียวสัมพันธ์นำหมู่คณะให้เข้ากันได้สนิทเสมอด้วยนิสัยเคารพ นี้ก็ไม่มี คนนิสัยเคารพได้เคารพนับถือผู้อยู่เหนือตน แผ่ไมตรีจิตแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แสดงอัธยาศัยสุภาพแก่คนทั่วไป แม้ผู้รับจะเลวทรามสักปานไร ก็ผูกสมัครรักใคร่กับเขาไว้ด้วยไมตรี เหมือนพระจันทร์ไม่เว้นความเอื้อเฟื้อ สู้ส่องแสงเข้าไปในบ้าน แม้ของคนจนแสนจน
    ผูกสนิทชิดเชื้อ นี้เหลือยาก ถึงเหล็กฟากรัดไว้ ก็ไม่มั่น
    จะผูกด้วยมนต์เสก ลงเลขยันต์ ไม่เหมือนพันผูกไว้ ด้วยไมตรี
    รักกันอยู่ไกลถิ่น ดุจดินฟ้า เหมือนชายคาเข้าเบียด ดูเสียดสี
    ชังกันอยู่ถิ่นใกล้ มิใยดี ก็เหมือนมีแนวป่า เข้ามาบัง
    ดังนั้น นิสัยเคารพจึงเป็นอภิวัฒโนบายโน้มน้าวหมู่คณะให้นิยมเคารพนับถือรักใคร่กัน อนุเคราะห์กันด้วยความยินดี สามัคคีกันในระหว่างบุคคลและหมู่คณะ ร่วมกันดำเนินกิจการไปโดยปราศจากอุปสรรค เสริมสร้างความร่มเย็นแก่ผู้น้อย เพิ่มพูนความเบาใจแก่ผู้ใหญ่ เป็นที่ไหลมาแห่งความสุขความเจริญแก่กันและกันและก่อให้เกิดความสงบราบคาบ แก่ประเทศชาติบ้านเมือง
    เชิญเคารพมั่นตั้ง ในนิสัย
    เคารพรัตนตรัย อย่าช้า
    เคารพพ่อแม่ไป คู่ชีพ เราเทอญ
    เคารพให้ทั่วหน้า ใหญ่น้อย เจริญถึง

    <table border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="500"> <tbody><tr> <td align="center">*********</td> </tr> </tbody></table>
     

แชร์หน้านี้

Loading...