บทความให้กำลังใจ(นิ่งสงบสยบปัญหา)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    (ต่อ)

    ประสบการณ์ที่เราเห็นกันประจำคือ คนจะเข้าวัดก็ต่อเมื่อมีความทุกข์ ถ้าไม่มีความทุกข์ มีความสุขสบายดีก็ยากจะมาปฏิบัติธรรม ทั้งๆ ที่รู้นะ อ่านหนังสือมาก็รู้ว่าปฏิบัติธรรมนี้ดี เจริญสมาธิภาวนานี้ดี แต่ไม่สนใจ ใจยังไม่โน้มตาม ใจยังไม่ใฝ่ไปทางนั้น เพราะยังไม่เจอความเจ็บแสบ ไม่เจอความทุกข์ด้วยตัวเอง ต่อเมื่อเจอความทุกข์ เช่น อกหัก ล้มละลาย หรือมีความเครียดอย่างแรง ประสบความล้มเหลวในธุรกิจการงาน เครียดมาก จนไม่สบาย ทีนี้แหละถึงจะซมซานเข้าหาธรรมะ อย่างนี้เรียกว่าความรู้สึกผลักดันให้ต้องเลือกทางนี้ เพราะเห็นแล้วว่าวิธีอื่นไม่ได้ผล ไปเที่ยวก็แล้ว กินเหล้าก็แล้ว ยังไม่หายทุกข์ แถมยังได้ความทุกข์หรือรู้สึกถึงความทุกข์จากการใช้วิธีการเหล่านั้น ก็เลยต้องมาเข้าวัดปฏิบัติธรรม อันนี้เรียกว่ามาด้วยความรู้สึกล้วนๆ อาจจะมีความรู้ด้วย แต่ความรู้ไม่มีพลังพอเท่ากับความรู้สึก


    คนเราส่วนใหญ่อยู่ด้วยความรู้สึกนะ เวลาจะทำอะไร แม้จะทำความดี ก็อาศัยความรู้สึกเป็นตัวผลักดัน คือเจอทุกข์เต็มที่ หรืออาจจะเคยสัมผัส ได้เสพความสุขจากความสงบ ก็เลยมีแรงจูงใจหรือแรงดึงให้เข้าหาความสงบใจ แต่ส่วนใหญ่อาศัยแรงผลักไม่ใช่แรงดึง แรงผลักก็คือความเจ็บปวด ความทุกข์ ความล้มเหลว ความเจ็บปวด เหล่านี้คือแรงผลัก ส่วนที่เข้าหาธรรมด้วยแรงดึงนั้นมีน้อย แรงดึงหรือแรงจูงใจได้แก่ความสุข หรือการเห็นประโยชน์ของมัน แบบนี้มีน้อย แต่ถ้าเราสามารถปลีกเวลามาปฏิบัติธรรมแล้วได้สัมผัสกับความสงบ จิตได้ซึมซับรับเอาความสงบเย็นอันเป็นความสุขที่ประณีตกว่ากาม ก็จะทำให้ใจโน้มเข้าหาหรือรู้สึกแนบแน่นกับพรหมจรรย์มากขึ้น พรหมจรรย์ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการทิ้งครอบครัวมาเป็นพระอย่างเดียว เป็นฆราวาสถือศีล 5 ปฏิบัติธรรมก็เป็นพรหมจรรย์ได้ เพราะพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนามีความหมายกว้าง ไม่ได้หมายถึงเมถุนวิรัติหรือการไม่ข้องแวะกับเพศรสอย่างเดียว ศีล 5 ก็ถือเป็นพรหมจรรย์ได้ ความพอใจในคู่ครองของตนที่เรียกว่าสทารสันโดษก็เป็นพรหมจรรย์ได้ การช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์เอาใจใส่ส่วนรวมก็ถือว่าเป็นพรหมจรรย์ได้ เพราะพรหมจรรย์แปลว่าชีวิตอันประเสริฐหรือการปฏิบัติที่ประเสริฐ

    หากเราปรารถนาชีวิตที่ดีงาม ก็ต้องเข้าใจถึงอิทธิพลของความรู้สึก ความรู้สึกนี้รวมไปถึงเวทนาและอารมณ์ด้วยนะ ความรู้สึกสุข ทุกข์ และความชอบ ความไม่ชอบ ความอยาก ความไม่อยาก ทั้งหมดนี้มีความสำคัญ ถึงแม้คนเราจะมีความรู้แค่ไหน แต่ก็มักจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความรู้สึกซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี ถ้าเป็นความรู้สึกที่ไม่ได้รับการอบรม ไม่เคยสัมผัสกับสิ่งที่ประณีต ความสงบ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องไปข้องแวะกับความสุขหยาบๆ ที่เรียกว่ากามสุข

    กามสุขนั้นมีหลายแบบ ประณีตก็มี หยาบก็มี กามสุขแบบหยาบ ๆ ก็เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด หรือการเที่ยวผู้หญิง เที่ยวกลางคืน นี้เรียกว่ากามสุขแบบหยาบๆ แบบประณีตก็เช่น การมีความสุขจากการฟังเพลงที่แต่งอย่างประณีต หรือชื่นชมธรรมชาติที่งดงาม นี้เป็นกามสุขที่ประณีต แต่ว่าก็ยังจัดว่ามีโทษอยู่ เช่น ไม่จิรังยั่งยืน ยังเจือด้วยทุกข์ แต่ถ้าเรารู้จักและเห็นโทษของมัน ไม่ว่าเห็นในระดับความคิด จากการอ่านการฟัง หรือได้สัมผัสด้วยตัวเอง แต่ถ้าเราได้สัมผัสกับความสุขที่ประณีตจากการทำความดี จากการได้สัมผัสกับความสงบในจิตใจ จากการได้เจริญสมาธิภาวนา ก็จะช่วยกล่อมเกลาความรู้สึกของเราให้ประณีต ทำให้การหวนหาอาลัยหรือเสียดายกามสุขลดลง ถ้าไม่มีสิ่งนี้จิตใจของเราก็ยังไม่ปลอดภัย ยังอดไม่ได้ที่จะข้องแวะกามสุข ซึ่งทำให้การดำเนินชีวิตพรหมจรรย์ของเราสะดุด แม้แต่การพอใจในคู่ครองของตน ไม่ข้องแวะหญิงหรือชายอื่น ที่เรียกว่าสทารสันโดษก็ยังทำไม่ได้ เพราะอดไม่ได้ที่จะนึกถึงความสุขแปลกๆ ใหม่ๆ กับคนอื่น หรืออะไรที่ผิดทำนองคลองธรรม

    ถ้าเราตระหนักเรื่องนี้ก็ต้องพยายามอบรมความรู้สึกของเราให้เจริญงอกงามด้วย ที่จริงการปฏิบัติเจริญสมาธิภาวนาก็เพื่อสิ่งนี้แหละ เพราะการเจริญสมาธิภาวนานั้นใช้ความรู้น้อย ไม่ค่อยใช้ความคิดเท่าไหร่ อันที่จริงต้องวางความคิดไปเลยด้วยซ้ำ การเจริญสมาธิภาวนาคือการอบรมจิตใจหรืออารมณ์ความรู้สึกโดยตรงเลย ทีแรกก็ให้สัมผัสกับความสงบจากสมถกรรมฐาน สมถกรรมฐานคือกรรมฐานที่ทำให้ใจสงบเย็นเป็นสุข หลังจากนั้นก็จะอบรมด้วยวิปัสนากรรมฐานจนกระทั่งจิตเกิดปัญญาขึ้นมา เป็นความรู้สึกที่ประสานกับความรู้อย่างชัดเจน คือความรู้ว่าขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์ ความรู้ว่ารูปและนาม กายและใจไม่ใช่เรา

    สำหรับหลายคนความรู้อย่างนี้ยังเป็นแค่ความรู้ในหัวสมอง หรือไม่ก็เห็นแบบประพิมประพาย แต่ใจยังไม่น้อมตาม เพราะใจยังมีความหวงแหน ยังมีความหวังลึกๆ ว่า กายนี้สุข ใจนี้สุข ยังอยากเป็นเจ้าเข้าเจ้าของกายและใจ เพราะยังหลงว่ามีตัวตนอยู่ พอนึกว่าตัวตนไม่มี ใจมันเสียววาบเลยนะ มันยอมไม่ได้ว่าตัวตนไม่มี มันขัดขืน มันต่อสู้ มันต้องพยายามพิสูจน์ให้ได้ว่าตัวตนมี ถ้ากายและใจไม่ใช่ตัวตน มันก็ไปยึดอย่างอื่นมาเป็นตัวตน ไปยึดเอาทรัพย์สมบัติเป็นตัวตน หรือไปยึดเอานิพพานเป็นตัวตนก็ได้ ใจมันไม่ยอม เพราะมันจะรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง ความรู้ของคนเราไปไกลแล้ว คือรู้ว่าตัวตนไม่มี แต่ใจยังไม่ยอม ความรู้สึกมันยังไม่ยอม

    การปฏิบัติธรรมคือการกล่อมเกลาความรู้สึกจนยอมรับว่าตัวตนไม่มี และเห็นชัดว่าถ้ายึดถือตัวตนเมื่อไหร่จะทุกข์มากเลย ใจที่เจอความเจ็บแสบรุ่มร้อนจากความยึดติดในตัวตนจะปล่อยวางได้ง่าย และยิ่งเห็นว่าแม้แต่จิตก็เต็มไปด้วยทุกข์มาก ทุกข์ถาวรเลย หวังให้มันสุขไม่ได้เลย พอหวังให้มันสุขไม่ได้ จิตก็ยอมจำนน ยอมแพ้ ยอมรับความจริงได้ ทีนี้ความรู้สึกกับความรู้ก็จะไปด้วยกันได้ ความรู้กับความรู้สึกกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือกอดคอพาไปสู่ความหลุดพ้นได้ในที่สุด

    การปฏิบัติของเราจะต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกให้มาก กล่อมเกลาความรู้สึกรวมทั้งอารมณ์ให้สอดคล้องไปกับความรู้และเหตุผลที่เรามีอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ภาวนามยปัญญาหรือปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติจึงสำคัญ สุตมยปัญญาคือปัญญาที่เกิดจากการฟังการอ่านนั้นก็ดีอยู่ จินตามยปัญญาคือปัญญาเกิดจากการคิดก็ดีอยู่ แต่มันยังอยู่ในฝ่ายของความรู้ เราต้องอาศัยความรู้สึกที่ได้รับการกล่อมเกลาด้วยภาวนามยปัญญา ถึงจะทำให้เกิดปัญญาที่แท้จริงได้

    :- https://visalo.org/article/komol255401.htm
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    SongkranApril12.jpg
    เติมเต็มชีวิตด้วยอะไรดี

    พระไพศาล วิสาโล
    มีเรื่องเล่าว่า อาจารย์วิษณุเป็นคุรุที่มีลูกศิษย์มาก แต่มีศิษย์เด่นสองคน คือ ชัย กับ จิต เป็นผู้ชายทั้งคู่ ชัยมักรู้สึกน้อยใจที่อาจารย์วิษณุโปรดปรานจิตมากกว่า ส่วนอาจารย์รู้ว่าชัยคิดอย่างไรกับตน แต่ก็ไม่ได้พูดหรืออธิบายเหตุผลว่าทำไมจึงโปรดปรานจิตมากกว่า

    วันหนึ่งอาจารย์เรียกลูกศิษย์ทั้งสองคนมาหา แล้วพาไปดูห้องเปล่าสองห้องที่อยู่ไม่ไกลกันนัก มอบเงินให้ลูกศิษย์คนละหนึ่งรูปี แล้วมอบหมายว่า พวกเธอทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ห้องของเธอเต็ม อาจารย์จะมาดูผลงานของเธอค่ำนี้ เมื่อได้รับมอบหมาย ชัยก็รีบไปที่ตลาดทันที แต่เงินหนึ่งรูปีนั้นมีค่าน้อยมาก ซื้ออะไรก็ได้นิดหน่อย เขาคิดอยู่สักพัก ก็ไปหาคนเก็บขยะ ขอซื้อขยะทั้งกองด้วยเงินหนึ่งรูปี คนเก็บขยะยินดียกขยะให้หมด ชัยใช้เวลาหลายชั่วโมงในการขนขยะเข้าไปไว้ในห้องจนเต็ม เขาภูมิใจที่ทำงานที่อาจารย์มอบหมายเสร็จทันเวลา

    ส่วนจิตเมื่อรับมอบหมายจากอาจารย์ เขาก็นั่งสมาธิพักใหญ่ จากนั้นก็ค่อย ๆ เดินไปที่ตลาด ใช้เงินหนึ่งรูปีซื้อไม้ขีดไฟ ธูป และประทีบ พอใกล้ค่ำก็จุดธูปและประทีป ไม่นานห้องก็สว่างและอบอวลด้วยกลิ่นหอม

    เมื่อได้เวลาอาจารย์ก็มาตรวจผลงานของลูกศิษย์ โดยไปที่ห้องของชัยก่อน พอเปิดห้องอาจารย์ก็ผงะ เพราะว่ากลิ่นขยะเหม็นตลบอบอวลเต็มห้องเลย จากนั้นก็เดินไปยังห้องของจิต พอเปิดประตูมาก็เห็นแสงสว่างสีนวลเต็มห้อง และมีกลิ่นหอมอบอวล อาจารย์ยิ้มให้กับบรรยากาศที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ถึงตรงนี้ชัยก็รู้แล้วว่าอาจารย์ชอบห้องไหน และเข้าใจแล้วว่าทำไมอาจารย์จึงโปรดปรานจิตมากกว่าตน

    ทั้งสองคนตอบโจทย์อาจารย์ได้ทั้งคู่ เพราะใช้เงินหนึ่งรูปีทำให้ห้องของตัวเองเต็ม แต่ห้องหนึ่งเต็มไปด้วยขยะ ส่วนอีกห้องเต็มไปด้วยกลิ่นหอมและแสงสว่าง

    นิทานเรื่องนี้ไม่ได้ชี้เพียงแค่ว่าใครฉลาดกว่าใครเท่านั้น แต่สะท้อนให้เห็นมุมมองหรือวิธีคิดของสองคนที่แตกต่างกัน ชัยคิดแต่ในเชิงวัตถุ มองในแง่ปริมาณ เมื่อได้รับโจทย์ว่าทำห้องให้เต็ม เขาก็คิดถึงแต่การหาวัตถุเยอะๆ มาเติมเต็มห้อง ซึ่งลงเอยด้วยการหาขยะมาใส่ ส่วนจิตไม่ได้คิดในเชิงวัตถุ เขามีความคิดที่ละเมียดละไมและประณีตกว่านั้น เขาให้ความสำคัญกับคุณภาพ เพราะฉะนั้นจึงทำให้ห้องนั้นเต็มไปด้วยกลิ่นหอมและแสงสว่าง

    ชัยและจิตเป็นตัวแทนของคนในโลกนี้ที่มีมุมมองต่างกัน ประเภทหนึ่งคิดในเชิงวัตถุ เวลามีปัญหา ก็นึกถึงวัตถุเป็นคำตอบ วัดความสำเร็จในแง่ปริมาณ อีกประเภทนึกถึงสิ่งที่มีคุณค่าในเชิงนามธรรม วัดความสำเร็จในแง่คุณภาพ

    นิทานเรื่องนี้เต็มไปด้วยอุปมาอุปไมย ห้องนั้นเปรียบเสมือนชีวิตของคนเรา เงินหนึ่งรูปี ซึ่งน้อยนิดนั้นหมายถึงเวลาในชีวิตของคนเราซึ่งสั้นมาก การทำให้ห้องเต็ม หมายถึงการเติมเต็มชีวิตของเรา
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    (ต่อ)
    เมื่อพูดถึงการเติมเต็ม คนจำนวนไม่น้อยจะนึกถึงการมีชีวิตที่พรั่งพร้อมด้วยวัตถุ เงินทอง ทรัพย์สมบัติ ยิ่งมีเวลาน้อยเท่าไรยิ่งต้องรีบหามาให้เยอะๆ ชีวิตจะได้ไม่ว่างเปล่า แต่บางคนเห็นว่าชีวิตควรจะเติมเต็มด้วยสิ่งที่งดงาม มีคุณค่าและความหมาย นั่นคือ คุณธรรมและปัญญา กลิ่นหอมเป็นสัญลักษณ์ของคุณงามความดี ส่วนแสงสว่างเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา สองอย่างนี้ต่างหากที่ทำให้ชีวิตงดงามและมีคุณค่าอย่างแท้จริง

    ชีวิตของคนเราจะเติมเต็มและอิ่มเอมได้ ก็เพราะอุดมด้วยคุณธรรมและปัญญา แต่คนจำนวนมากไม่สามารถมองเห็นอย่างนั้นได้ จึงเลือกที่จะไปหาวัตถุมาเติมเต็มชีวิต แต่สุดท้ายสิ่งของเหล่านั้นบางครั้งก็ไม่ต่างจากขยะ นอกจากไม่น่าชื่นชมแล้วยังเป็นภาระ

    หลายคนหาเงินทองทรัพย์สมบัติมามากมาย แต่แล้วก็ทุกข์เพราะสิ่งเหล่านั้น ทุกข์เพราะมันกลายเป็นภาระที่ต้องดูแล มีรถราคาแพงก็ต้องคอยดูแลรักษาให้ดี อาตมาเคยไปบ้านของเศรษฐีคนหนึ่ง มีรถแลมโบกินี เขาต้องทำโรงรถติดแอร์ บุด้วยกระจกทั้งสามด้าน เพื่อดูได้สะดวกว่ามีหนูเข้ามาไหม เพราะหนูอาจเข้าไปทำรังและกัดสายไฟ สายไฟและเครื่องเสียงราคาแพงมาก ต้องติดแอร์ปรับอากาศตลอด ถ้าช่วงไหนไฟดับก็เป็นกังวล ไปจอดที่ไหนก็กลัวคนจะมาขโมย หากรถมาชนท้าย สีถลอกก็เป็นทุกข์

    บางคนโกรธจัดถึงกับไปลากคอคนที่ชนท้ายรถมาตบต่อย อย่างที่เป็นข่าว แล้วตัวเองก็เสียอนาคต เพราะคลิปที่คนอื่นถ่ายไว้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ จนกระทั่งตัวเองต้องถูกปฏิเสธงานมากมาย กลายเป็นว่าทุกข์เพราะรถ? เสียคนเพราะรถ นี่เป็นตัวอย่างว่าสมบัติที่เราพยายามหามาเติมเต็มชีวิตกลับกลายเป็นภาระ สร้างความทุกข์ และอาจจะทำให้ชีวิตย่ำแย่ เพราะว่าบางครั้งก็ยอมทำชั่ว เพื่อจะได้มีทรัพย์สมบัติมากๆ เช่น โกง หรือหักหลังผู้อื่น ขัดแข้งขัดขา สุดท้ายชีวิตก็มีมลทิน ด่างพร้อย เสียชื่อเสียง กิตติศัพท์แพร่กระจายไม่ต่างจากกลิ่นขยะ

    นิทานเรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงการให้คุณค่าและความสำคัญกับสิ่งที่เป็นนามธรรม คือคุณธรรมและปัญญา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวัตถุไม่มีคุณค่า วัตถุก็มีคุณค่า แต่ว่าควรเป็นไปเพื่อเกื้อกูลให้เราสามารถเติมเต็มชีวิตได้ด้วยคุณธรรมและปัญญา คนเราจะมีจิตใจที่งดงามและปัญญาสว่างไสว ก็ต้องอาศัยวัตถุเป็นสิ่งเกื้อกูล แต่หากยกมันขึ้นเป็นนายเมื่อใด ชีวิตเราจะตกต่ำย่ำแย่ ชื่อเสียงเสียหายราวกับกลิ่นขยะก็เป็นได้
    :- https://visalo.org/article/komol6007.html

     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    สุขเพราะให้
    พระไพศาล วิสาโล
    คนเราเมื่อคิดถึงคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการคิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ คิดถึงป้า หรือคิดถึงเพื่อน คิดถึงคนที่ทุกข์ยาก หรือคิดถึงคนที่ไม่รู้จักเลย มันทำให้ความทุกข์ของเรากลายเป็นเรื่องเล็ก มีบาทหลวงท่านหนึ่งเป็นเพื่อนกับอาตมาเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งท่านไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่เป็นนักศึกษาชั้นปีหนึ่งอายุ แค่ ๑๗ ปี เป็นโรคพุ่มพวงคือมีอาการแพ้ภูมิต้านทานของตัวเอง ภูมิต้านทานทำลายอวัยวะต่างๆ อาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล และปวดมาก ผ่าตัดก็ผ่าไม่ได้เพราะมีปัญหาเรื่องเลือด อวัยวะภายในก็พองโต พอเห็นหน้าคุณพ่อบาทหลวงท่านนี้เธอก็ตัดพ้อขึ้นมาว่า “ทำไมพระเจ้าทำให้หนูเป็นอย่างนี้” บาทหลวงท่านนี้ตอบว่า “พ่อก็ตอบไม่ได้ แต่มีอย่างหนึ่งที่อยากให้คุณทำคือ ให้สวดมนต์ถึงพระเจ้า รวมทั้งสวดมนต์ให้กับคนป่วยที่อยู่ในห้องเดียวกับคุณด้วย” วันต่อมาบาทหลวงก็เอาลูกประคำมาให้เธอ และมาเยี่ยมทุกวันๆ สีหน้าของเธอดีขึ้นเรื่อยๆ หน้าตาแช่มชื่น มีรอยยิ้ม เลิกบ่น เลิกตัดพ้อ ไปเยี่ยมได้ ๔ - ๕ วัน ท่านก็มีธุระที่ต่างจังหวัด ไปเป็นเดือนเลย พอกลับมากรุงเทพ ฯ ก็รีบไปเยี่ยมลูกศิษย์ทันที แต่ปรากฏว่าเธอเสียชีวิตแล้ว

    ที่น่าแปลกใจก็คือว่าคนไข้ที่อยู่ในหอผู้ป่วยเดียวกัน ต่างอยากรู้ประวัติของเธอว่า เธอเป็นใครเพราะพวกเขารู้สึกชื่นชมและประทับใจผู้หญิงคนนี้มาก พวกเขาเล่าว่า แม้ป่วยหนักเธอก็ยังอุตส่าห์เดินมาเยี่ยมผู้ป่วยตามเตียงต่างๆ คอยช่วยเหลือ ให้กำลังใจ หาน้ำให้ บางทีก็ช่วยประคองไปห้องน้ำ เป็นต้น คนไข้หลายคนอาการเบากว่าเธอด้วยซ้ำ แต่เธอก็มีน้ำใจมาคุยให้กำลังใจ พวกเขาประทับใจเธอมาก ตอนที่เธอเสียชีวิตก็จากไปอย่างสงบไม่ได้ทุรนทุรายอะไรเลย ผิดกับวันแรกที่บาทหลวงท่านนี้เห็นเธอ ตอนนั้นเธอทุกข์มาก ตัดพ้อต่อว่าพระเจ้า และตัดพ้อต่อว่าชะตากรรม แต่พอเธอทำตามคำแนะนำของท่าน คือให้สวดมนต์ถึงพระเจ้าและสวดมนต์ให้แก่เพื่อนผู้ป่วย ความทุกข์ของเธอกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย

    คนเราเมื่อเรามีน้ำใจต่อผู้อื่นแล้ว ไม่ใช่เขาเท่านั้นที่มีความสุข เราก็พลอยได้รับความสุขด้วย ความสุขที่เราให้แก่เขา ย้อนกลับมาสู่จิตใจของเรา เพราะฉะนั้นการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น หากมองอย่างเห็นแก่ตัว มันเป็นการเกื้อกูลตัวเราเองด้วย พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงนิทานเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของนักกายกรรม สองคน คืออาจารย์กับศิษย์ ลูกศิษย์ต้องปีนขึ้นไปอยู่บนปลายไม้แล้วเลี้ยงตัวบนนั้นโดยถือถาดน้ำมันด้วย ส่วนปลายอีกข้างก็ตั้งอยู่บนศีรษะของอาจารย์ คล้ายกายกรรมปักกิ่ง ทั้งสองคนเลี้ยงชีพด้วยวิธีนี้ มีวันหนึ่งอาจารย์บอกลูกศิษย์ว่า “เมื่อเธอขึ้นไปอยู่บนปลายไม้แล้ว ก็ขอให้ดูแลซึ่งกันและกัน เธอดูแลฉัน ฉันดูแลเธอ ถ้าทำอย่างนี้เราก็จะแสดงกายกรรมได้สำเร็จ ได้ลาภด้วย และลงจากปลายไม้ได้อย่างปลอดภัยด้วย” แต่ลูกศิษย์กลับบอกว่า “ทำอย่างนั้นไม่ได้ดอก อาจารย์จงดูแลตัวเอง ผมก็ดูแลตัวผม เมื่อเราต่างดูแลตนอง ก็จะแสดงกายกรรมได้สำเร็จ ได้ลาภด้วย และลงจากปลายไม้ได้อย่างปลอดภัยด้วย” หลังจากเล่าเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าสรุปเรื่องนี้ให้เป็นข้อคิดที่สำคัญว่า “เมื่อดูแลตนก็คือดูแลผู้อื่น เมื่อดูแลผู้อื่นก็คือดูแลตน”

    มีทีมถ่ายทำภาพยนต์เข้าไปสารคดีในหมู่บ้านแห่งหนึ่งประมาณ ๒ - ๓ วันจนคุ้นเคยกับชาวบ้าน วันหนึ่งมีคุณป้าถือปลามาพวงหนึ่งเดินผ่านมาแล้วถามว่า “รู้ไหมว่าทำอย่างไรถึงจะกินปลาพวงนี้ได้นานๆ ” คนในกองถ่ายทำก็ระดมสมองกันใหญ่ว่าทำอย่างไร บ้างก็เสนอว่า เอาไปตากแดด บ้างก็เสนอว่าเอาไปหมัก ทำส้ม หรือใส่ตู้เย็นก็มี คุณป้าบอกว่าผิดหมดเลย คำตอบคือ “ต้องเอาไปแบ่งเพื่อนบ้านให้ทั่วถึง”

    ในความรู้สึกของคนเมือง การแบ่งให้เพื่อนบ้านทำให้เรากินได้น้อยลง แทนที่จะกินได้ ๒ วัน ก็อาจจะกินได้แค่มื้อเดียว แต่สำหรับคุณป้า เมื่อเราแบ่งให้คนอื่น เราก็จะมีกินได้นาน เพราะเมื่อเพื่อนบ้านหาปลามาได้ เขาก็มาแบ่งให้เราด้วย นี่คือวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่กันมานาน เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน เขาอาจจนไม่มีเงินมีทอง แต่เขามีน้ำใจ มีความเอื้อเฟื้อ น้ำใจและความเอื้อเฟื้อนี่แหละที่ทำให้ชาวบ้านอยู่รอดได้

    หลวงพ่อปัญญานันทะเล่าว่า ตอนท่านเป็นเด็กเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว มีอย่างหนึ่งที่ท่านเบื่อมาก ท่านเบื่อที่ต้องเอาอาหารจากบ้านท่านไปแบ่งให้เพื่อนบ้าน เพราะพ่อแม่เป็นคนมีน้ำใจ เวลาได้อะไรมา เช่น ได้เนื้อชิ้นใหญ่หรือได้ปลามาหลายตัว ก็จะแบ่งเป็นกองเล็กๆ เพื่อแจกชาวบ้าน ถ้าได้ทุเรียนมา ก็จะทำน้ำกะทิหม้อใหญ่แล้วตักแบ่งให้เพื่อนบ้าน ตอนนี้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของเด็กชายปั่น คือหลวงพ่อปัญญาตอนเด็กๆ ต้องเอาอาหารหรือขนมเหล่านี้ไปแจกให้เพื่อนบ้านทุกบ้าน ทำไมถึงเบื่อ เบื่อเพราะว่าตอนเด็กอยากจะเล่น อยากจะสนุก แต่พ่อแม่เรียกให้เอาของไปแจกเพื่อนบ้านอยู่เรื่อย ท่านมาระลึกได้เมื่อโตขึ้นว่านี่คือสิ่งที่ทำให้หมู่บ้านอยู่กันได้อย่างมีความสุข ไม่มีเรื่องไม่มีราว ไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะว่าเราจะทะเลาะกับคนที่มีน้ำใจแบ่งปันอาหารให้กับเราได้อย่างไร

     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    (ต่อ)

    หลวงพ่อท่านเจ้าคุณโพธิรังสีที่เชียงใหม่ก็เล่าคล้ายกัน ว่าตอนท่านยังเด็ก ชาวบ้านแต่ละบ้านเขาทำอาหารเพียงอย่างเดียว กินอย่างเดียวจะไม่เบื่อหรือ จะเบื่อได้อย่างไร ในเมื่อบ้านอื่นเขาก็ทำคนละอย่างเสร็จแล้วก็เอามาแบ่งกัน ทำอย่างเดียวแต่มีกินหลายอย่าง ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลจึงทำให้ชาวบ้านอยู่กันได้อย่างมีความสุข ในทำนองเดียวกันความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลคือสิ่งที่จะทำให้พวกเรามีชีวิตได้อย่างเป็นสุข ถึงแม้ว่าจะประสบอุปสรรคมากมายเพียงใด แต่ถ้ามีน้ำใจสักอย่างแล้ว พวกเราจะอยู่ได้สบาย


    เราคงทราบว่าประเทศธิเบตอยู่บนหลังคาโลก คืออยู่บนพื้นที่ที่สูงที่สุดในโลกประมาณสี่พันห้าพันเมตร พวกเราถ้าขึ้นไปอยู่บนนั้น จะปวดหัวในเวลาเพียงแค่ครึ่งวัน หัวใจจะเต้นแรง กินไม่ได้นอนไม่หลับ เดินแค่จากนี้ไปประตูก็เหนื่อยแล้วต้องพัก แค่ลงจากรถไปฉี่ข้างทางก็เหนื่อยแล้วเพราะอากาศเบาบางมาก บนนั้นต้นไม้ขึ้นไม่ได้ มีแต่หญ้าเล็กๆ แต่มีชาวบ้านอยู่กันเป็นแสนเป็นล้าน เขาอยู่กันได้ ทั้งๆ ที่กันดารและอากาศก็หนาวมาก เขาอยู่กันได้อย่างไร มีเหตุผลอยู่ ๒ ประการ ประการแรกคือน้ำจากหิมะ หิมะเมื่อเจอความร้อนมันก็ละลาย พอละลายแล้วหญ้าต้นเล็กๆ ก็ขึ้นได้ พอมีหญ้าก็มีวัวที่เรียกว่าจามรี จามรีกินหญ้าก็กลายเป็นปศุสัตว์ เนื้อเป็นอาหาร นมทำเป็นเนย หนังให้ความอบอุ่น ส่วนขี้ก็เป็นเชื้อเพลิง

    ประการที่สอง นอกจากน้ำคือน้ำใจ น้ำใจและความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ทำให้เขาอยู่กันได้ ไม่ว่าจะอยู่ในถิ่นที่กันดารแค่ไหน อย่างเช่น บนเขาสูงหรือในแดนหิมะอย่างชาวเอสกิโม หรือในทะเลทรายอย่างพวกบุชแมน เขาอยู่กันได้อย่างมีความสุข คือ สุขด้วยน้ำใจ สุขด้วยความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เพราะฉะนั้นน้ำใจในคณะธรรมยาตราเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่อยากจะเชิญชวนให้พวกเราหล่อเลี้ยงให้คงอยู่ และมันจะดีกับเราด้วย

    คนที่เห็นแก่ตัวคือคนที่ทำร้ายตัวเอง เพราะคนที่เห็นแก่ตัวจะเต็มไปด้วยความโกรธ เต็มไปด้วยความโลภ และจะมีความผิดหวังได้ง่าย เพราะจิตคับแคบ ถูกอะไรกระทบก็จะทุกข์เพราะคิดถึงแต่ตัวเอง แค่เป็นสิว ผิวแห้ง ผมแตกปลายก็จะตายให้ได้เพราะว่าไม่สวย คิดถึงแต่ตัวเอง แต่ถ้าคิดถึงคนอื่น เห็นคนอื่นลำบากกว่านี้เขาก็ยังอยู่ได้ มีชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งพิการ เกิดมามีแต่หัวกับตัว ไม่มีแขนไม่มีขา เขียนหนังสือเรื่อง “ไม่ครบห้า” คือมีแต่หัว ไม่มีแขนสองขาสอง เขาพูดตอนหนึ่งว่า “ผมเกิดมาพิการ แต่ผมมีความสุข และสนุกทุกวัน”

    คนที่ทุกข์เพราะเป็นสิวผิวแห้ง ผมแตกปลาย ให้ลองนึกถึงคนพิการเหล่านี้ เราจะรู้สึกเลยว่าความทุกข์ของเราเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือไม่ก็นึกถึงเด็กยากจน เด็กที่ไม่มีอะไรจะกิน เราจะรู้สึกเลยว่า แม้เราจะไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรือโทรศัพท์มือถือเป็นรุ่นเก่า ก็ไม่ได้เสียหายอะไรเลย กลับดีเสียอีก ไม่เปลืองเงิน อยากย้ำว่า การนึกถึงคนอื่นทำให้เราทุกข์น้อยลง แต่ถ้าเราคิดถึงแต่ตัวเอง เราจะทุกข์มาก

    เมื่อร้อยปีที่แล้ว มีผู้หญิงญี่ปุ่นคนหนึ่ง ชื่ออิวาซากิ พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่เล็ก อยู่กับลุงด้วยความทุกข์ยากลำบาก อาหารก็ไม่ค่อยจะมีกิน หนังสือเรียนไม่ต้องพูดถึง ลุงก็เลยขายให้สำนักเกอิชา เกอิชาก็เหมือนกับโสเภณี แต่เป็นโสเภณีชั้นสูง คือต้องมีความสามารถทางด้านการร่ายรำ เขียนบทกวีเพื่อบำรุงบำเรอคนรวย แต่ก็อยู่อย่างลำบาก เป็นเกอิชาก็ถูกกดขี่ รู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่สมหวัง ต่อมาน้องก็ตาย ไม่นานหลังจากนั้น เธอก็สูญเสียแฟนซึ่งเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของเธอ เธอมีความทุกข์มาก รู้สึกว่าชีวิตนี้ลำเค็ญเหลือเกิน ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปแล้ว วันหนึ่งจึงเดินเข้าไปในป่า ขณะที่หิมะตกหนัก หวังจะให้หิมะตกทับถมร่างจะได้ตาย แต่ปรากฏว่ามีชาวบ้านคนหนึ่งช่วยเอาไว้ได้ พอคุณลุงคนได้ฟังเรื่องราวของผู้หญิงคนนี้ แกก็บอกว่าคนที่คิดถึงแต่ตัวเองย่อมอยากตายทั้งนั้น แล้วคุณลุงก็แนะว่าให้เธอกลับเข้าไปในเมือง แล้วช่วยทำดีกับใครก็ได้วันละคน ถ้าเธอทำแล้วยังอยากตายอยู่ให้มาบอกฉัน ฉันจะช่วยให้เธอตายสมใจ

    อิวาซากิได้คิดขึ้นมาก็เลยทำความดี เริ่มต้นด้วยการซื้อหนังสือให้เด็กยากจนคนหนึ่ง ต่อมาก็เล่านิทานให้เด็กฟังวันละคนสองคน หลังจากนั้นก็เริ่มแต่งนิทานเอง นับแต่นั้นเธอก็เลิกคิดที่จะฆ่าตัวตาย คงเพราะเหตุผลสองประการ ประการแรก เมื่อเห็นเด็กยากจนก็เลยได้คิดว่ามีคนที่ลำบากกว่าเธออีกมาก ประการที่สองพอเธอไปช่วยเขา เธอก็มีความสุข พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข” เมื่อเราให้ความสุขแก่ผู้อื่น ความสุขนั้นก็จะย้อนกลับมาสู่เรา

    ถ้าพวกเราฉลาด เราต้องมีน้ำใจช่วยเหลือกัน ไม่ใช่ช่วยเฉพาะคนที่รู้จักมานานแล้วเท่านั้น แม้แต่เพื่อนที่เพิ่งรู้จักเราก็ควรมีน้ำใจต่อเขา มาธรรมยาตราครั้งนี้อาตมาอยากให้พวกเราเห็นความจริงข้อนี้ ถ้าเราลองสังเกตใจของเรา เวลาเราช่วยเหลือคนอื่น เรารู้สึกอย่างไร เราเห็นเขายิ้มแย้ม เรารู้สึกอย่างไร นั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้เราตระหนักว่าความสุขที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการเอาเข้าตัวมากๆ แต่เกิดจากการให้ อันนี้คือสิ่งที่ควรจะได้เรียนรู้เพื่อช่วยให้เราสามารถพบกับความสุขได้อย่างแท้จริง

    :- https://visalo.org/article/komol5503.htm
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    Buddhaintheforest.jpg
    สยบเจ้าตัวร้าย

    พระไพศาล วิสาโล
    มานะหรือความถือตัวตนนั้นเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่มาแห่งความทุกข์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น มานะทำให้เราอิจฉาคนที่เก่งกว่า และทนฟังคำวิจารณ์ไม่ได้ แม้เพียงแค่ถูกตักเตือนท้วงติงก็โกรธ โดยเฉพาะจากคนที่มีอายุน้อยกว่า สถานะต่ำกว่า หรือเป็นลูกน้อง มานะทำให้ข้าราชการระดับสูงหลายคนไม่พอใจเวลาถูกตรวจบัตรผ่านประตู หรือไม่มีคนมาแห่แหนต้อนรับ แต่ถึงจะเป็นคนธรรมดาสามัญก็เป็นทุกข์เพราะมานะเช่นเดียวกัน เช่น โมโหที่ลูกไม่เชื่อฟัง

    มานะนั้นมีประโยชน์ เช่น อาจผลักดันให้เกิดความขยัน (หลายคนจึงตั้งชื่อลูกว่า “มานะ” เพราะคิดว่ามานะแปลว่าพยายาม) แต่มีโทษมากกว่า ดังนั้นในขณะที่เราควรรู้จักใช้มานะให้เป็นประโยชน์ ก็ควรพยายามลดละมานะให้เบาบาง ซึ่งทำได้หลายวิธี


    ฉบับที่แล้วได้พูดถึงสิ่งที่ช่วยลดละมานะ ๓ ประการได้แก่ ความอ่อนน้อมถ่อมตน การมองเห็นข้อดีของคำวิจารณ์ การเห็นแก่ผู้อื่น ฉบับนี้จะพูดถึงวิธีลดมานะเพิ่มเติมอีก ๓ ประการ

    ๑. ทำสิ่งที่ฝืนตัวตน

    เราจะลดมานะได้ก็ต้องกล้าขัดขืนมานะบ่อย ๆ ไม่ยอมทำตามใจมันอยู่ร่ำไป นั่นก็คือทำสิ่งที่ฝืนมานะหรือ มีเพื่อนคนหนึ่งเป็นนักเขียนมีชื่อเสียงมาก เมื่อใดก็ตามที่เธอรู้สึกว่าอีโก้ฉันมากแล้วนะ อย่างหนึ่งที่เธอชอบทำก็คือ ไปเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารของเพื่อน การที่ต้องบริการรับใช้คนอื่น ทำตามความต้องการของคนอื่น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสวนทางกับมานะ แต่การทำเช่นนั้นบ่อย ๆ ช่วยให้มานะลดน้อยลง ยิ่งเจอคนตำหนิ เจอคนต่อว่า ก็ยิ่งช่วยลดตัวตนได้มาก

    อัตตาหรือมานะต้องการประกาศความเหนือกว่าความโดดเด่นกว่าคนอื่น แต่การทำสิ่งที่สวนกระแสของกิเลส ก็สามารถช่วยลดกิเลสลดกิเลสได้ กิเลสต้องการอะไรเราก็ทำตรงข้าม กิเลสต้องการเป็นใหญ่ เราก็ทำตัวให้เล็กลง อย่าไปทำตามใจมันทั้งหมด รวมถึงการไม่อวดเก่ง มานะชอบอวดเก่ง และบางทีเราก็มีความเก่งที่อยากอวดแต่ลองฝืนความอยากที่จะอวดเก่งบ้าง

    มีคราวหนึ่งอาจารย์เซนท่านหนึ่งพาลูกศิษย์ไปธุดงค์ในป่า อาจารย์มีชื่อเสียงมาก ใครๆ ก็ลือกันว่าท่านเป็นผู้ที่มีภูมิธรรมขั้นสูง ขณะที่กำลังธุดงค์ก็เจอเสือตัวใหญ่ ลูกศิษย์จึงวิ่ง อาจารย์ก็วิ่งด้วย ลูกศิษย์เห็นอาจารย์วิ่งหนีเสือก็ผิดหวังและกังขาอยู่ในใจว่าทำไมอาจารย์ปอดกลัวอย่างนั้น ต่อมาอีกหลายปีอาจารย์ป่วยหนัก เมื่อถึงตอนอาจารย์ใกล้มรณภาพ อาจารย์ถามว่า ใครมีอะไรสงสัยก็ขอให้ถามเพราะเวลามีน้อย ลูกศิษย์คนหนึ่งจึงถามว่าวันนั้นอาจารย์เจอเสือ ทำไมอาจารย์ถึงวิ่งหนีเสือ อาจารย์กลัวตายหรือ อาจารย์ตอบว่า “ไม่ได้กลัวหรอก แต่ที่วิ่งหนีเพราะคิดว่า หนีเสือดีกว่าเจอความลำพองใจ”

    ที่จริงอาจารย์ไม่กลัวตาย จะไม่หนีเสือก็ได้ แต่ก็รู้ว่าหากไม่วิ่งหนีเสือ ก็จะเกิดความรู้สึกว่า กูแน่ ไปไหนใคร ๆ ก็จะชมว่า อาจารย์เก่ง ไม่วิ่งหนีเสือเลย ในที่สุดก็จะเกิดความลำพองใจว่ากูแน่ อาจารย์เห็นว่าสิ่งนี้อันตรายกว่าเสือ ดังนั้นสิ่งที่อาจารย์ทำคือวิ่งหนีเสือ อันนี้เรียกว่าเป็นการฝืนอัตตา ทวนกระแสกิเลส แม้จะทำให้ภาพลักษณ์ดูไม่ดี ไม่สมกับเป็นครูบาอาจารย์ที่ใคร ๆ นับถือแต่บางทีเราก็ต้องกล้าทำสิ่งที่ทำลายภาพลักษณ์ตัวเองบ้าง เพื่อไม่ให้มานะฟูฟ่อง

    ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านมีชื่อเสียงมากในเรื่องการทำให้คนเข้าใจท่านผิด เพราะไม่ต้องการให้ใครมายึดติดท่าน อาจารย์โกวิท เขมานันทะ มีเรื่องเล่าว่าอาจารย์พุทธทาสทำหลายสิ่งที่ไม่คิดว่าท่านจะทำเพื่อไม่ให้ลูกศิษย์ยึดติดในตัวท่าน บางทีเราต้องทำสิ่งเหล่านี้บ้าง อย่าไปอวดเก่งตลอดเวลาทั้งๆ ที่เรามีเก่งจะอวดก็ตาม ทำตัวง่ายๆ ทำตัวเป็นคนไม่เก่งบ้าง มันเป็นการลดละขัดเกลาตัวตน และอย่างที่อาตมาบอกไว้ว่า ตราบใดที่เรายังลดละมานะไม่ได้ ก็ต้องใช้ให้เป็น ใช้เพื่อส่งเสริมการทำความดี เพื่อส่งเสริมความเสียสละ เพื่อไม่ให้เราย่อท้อต่อความยากลำบาก คำว่ามานะพยายามนั้น บางครั้งก็จำเป็นโดยเฉพาะเวลาที่เราพยายามทำความดี แต่ถ้าเราทำดีโดยไม่ต้องอาศัยตัวมานะ หรืออัตตาเป็นตัวขับเคลื่อนก็ยิ่งดี

    ๒. รู้เท่าทันสมมุติ

    อีกอย่างที่อาตมาคิดว่าสำคัญมากนั่นคือการรู้เท่าทันสมมุติ อันนี้ก็ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนต้นว่า อะไรที่ทำให้มานะนั้นเจริญงอกงาม สิ่งที่ทำให้คนเราเกิดมานะหรืออัตตามากขึ้นนั้นมีอยู่มากมาย ยกตัวอย่างเช่น ปริญญาบัตรหรือความรู้ คนเราพอเรียนสูงๆ แล้ว มักจะดูถูกคนอื่นได้ง่าย ถ้าจบมัธยมก็จะดูถูกพ่อแม่หรือคนที่ไม่จบมัธยม ถ้าจบปริญญาตรี ก็ดูถูกคนจบม. ๓ ส่วนคนที่จบปริญญาเอก ก็ดูถูกคนที่จบปริญญาตรี เพราะเดี๋ยวนี้คนเราคลั่งไคล้ไหลหลงกับปริญญาบัตรมาก เรายึดติดกับเปลือกนอกมากกว่าเนื้อหาสาระ เลยสำคัญผิดไปว่าปริญญาบัตรทำให้เราสูงกว่าคนอื่น ทำให้เกิดมานะ ฉะนั้นใครที่มีการศึกษาน้อยกว่าจะมาสอนฉันได้อย่างไร

     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    (ต่อ)

    สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจก็ทำให้เราเกิดมานะมากขึ้น เช่น คิดว่าถ้าฉันเป็นเจ้านาย ฉันจะทำอย่างไรกับคนใช้ก็ได้ จะปฏิบัติอย่างไรกับพี่เลี้ยงเด็กก็ได้ ทำไมเราจึงปฏิบัติกับเขาอย่างนั้น ก็เพราะเราหลงยึดติดกับสถานภาพว่าฉันเป็นเจ้านาย เขาเป็นคนใช้ จึงเกิดความถือตัวถือตน มานะฟูฟ่อง ทำไมต้องให้พี่เลี้ยงหรือคนงานคลานเข้ามาหาฉัน นั่นเพราะฉันมีสถานภาพสูงกว่า ถ้าเราเป็นเจ้านาย ผู้จัดการ หัวหน้ากอง หรืออธิบดี เราจะปฏิบัติกับคนรถอย่างไร ถ้าเป็นเศรษฐี เราปฏิบัติต่อคนยากคนจนอย่างไร ปฏิบัติกับเขาอย่างเท่าเทียมกับเราหรือไม่ ทั้งหมดนี้มันเกี่ยวกับสถานภาพ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องสมมติหรือหัวโขนทั้งนั้น


    อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างมานะหรืออัตตาขึ้นมา ได้แก่ ตำแหน่ง หรือ ยศถาบรรดาศักดิ์ รวมทั้งสมณศักดิ์ด้วย มีพระรูปหนึ่งเล่าให้ฟังว่า คราวหนึ่งเจ้าคณะจังหวัดมาที่วัดของท่าน แต่ท่านไม่รู้จักเจ้าคณะจังหวัด ท่านจึงต้อนรับอย่างพระอาคันตุกะธรรมดา ท่านเจ้าคณะจังหวัดไม่พอใจ ถามว่า เธอรู้ไหมว่าฉันเป็นใคร ที่ท่านไม่พอใจก็เพราะท่านยึดติดกับยศถาบรรดาศักดิ์ ซึ่งก็เป็นสมมติอีกประเภทหนึ่ง

    ชนชั้นวรรณะก็เช่นเดียวกัน ในเมืองไทยอาจจะไม่มากเท่าไหร่ แต่ในอินเดีย วรรณะกษัตริย์และวรรณะพราหมณ์จะปฏิบัติต่อวรรณะอื่นต่ำกว่า แต่ในเมืองไทย เราจะถือเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์มากกว่า เราเป็นคนไทยแล้วเราคิดอย่างไรกับคนลาวคนเขมรหรือพม่า เวลาเจอฝรั่งเราปฏิบัติกับเขาอย่างเดียวกับคนม้งหรือชาวเลหรือไม่

    ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่พุทธศาสนาเรียกว่า สมมุติ มันสามารถทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็น somebody หรือ nobody ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสมมติอะไร แต่ในความเป็นจริงก็คือว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่สิ่งที่เราให้ค่ากันเอง แต่ไม่ใช่ความจริงแท้ มันไม่จีรังยั่งยืน มีขึ้นมีลง ถ้าเราไปยึดติดกับมันเมื่อไหร่เราก็จะรู้สึกหลงตัวลืมตน อัตตาหรือมานะก็จะออกมาเพ่นพ่านได้ง่าย เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่อยากทุกข์หรือเสียผู้เสียคนเราก็ต้องรู้เท่าทันสมมติเหล่านี้ด้วย ถ้าเรารู้ทันสมมติเมื่อไหร่เราจะไม่ทุกข์ เราต้องรู้จักหัวเราะเยาะสมมติเหล่านี้ อย่าไปยึดติดถือมั่นกับมันมาก

    มีผู้ว่าฯ คนหนึ่งของจังหวัดใหญ่ มีบริษัทบริวารห้อมล้อมมากมาย แล้ววันหนึ่งต้องเกษียณอายุราชการกลับมาเป็นประชาชนเต็มขั้น ชีวิตก็เหงาหงอย ไม่มีใครมาเยี่ยม ไม่มีใครมาพินอบพิเทา วันหนึ่งได้รับเชิญไปงานที่จังหวัดที่ตัวเองเคยเป็นผู้ว่าฯ ก็รู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้นมาทันที เฝ้ารอวันนั้นเมื่อไหร่จะมาถึง เมื่อวันนั้นมาถึง ก็เข้าไปร่วมงานด้วยความรู้สึกแช่มชื่น แต่ปรากฏว่า บริษัทบริวารที่เคยห้อมล้อมไม่สนใจตัวเองเลย ไปพินอบพิเทาผู้ว่าฯ คนใหม่ คหบดีร้านค้าก็ไม่มาโค้งคำนับเหมือนก่อน แกคาดไม่ถึงว่าจะเจอแบบนี้ ผิดหวัง อกหัก หลังจากนั้นอีกไม่นานก็เสียชีวิต เพราะทำใจไม่ได้ ที่ตัวเองเคยเป็นใหญ่แล้วกลายมาเป็นคนธรรมดา

    อัตตาที่ฟูฟ่องทำให้เรามีความสุข แต่ถ้าแฟบแล้วมันทำร้ายเราได้ ยศถาบรรดาศักดิ์ก็ทำให้เราฟูแต่ก็ทำให้เราทุกข์ได้ ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน ถ้าเราไปยึดติดมันไว้ อาตมาคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ควรรู้เท่าทันด้วย

    ๓.ทำงานด้วยจิตว่าง

    ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนว่าให้ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง จิตว่างในที่นี้คือว่างจากความยึดติดในตัวกู ว่างจากตัวมานะ ปุถุชนสามารถว่างจากตัวมานะได้เป็นพักๆ ไม่ได้ตลอด แต่ถ้ามีสติก็จะว่างจากมานะ หรือความยึดติดในตัวตนได้มากขึ้น และถ้าว่างจากมานะเมื่อไหร่ ปัญญาหรือเมตตากรุณาก็ขึ้นมามีบทบาทแทน เราควรพยายามใช้ปัญญาและเมตตากรุณาเป็นตัวขับเคลื่อนเสมอ เราจะทำอะไรก็ตามก็ไม่ใช่เพราะคิดว่านี่เป็นของเราเท่านั้น ถึงไม่ใช่ของเรา หรือเราไม่ได้ประโยชน์ก็ควรทำ หากว่ามันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

    ที่วัดป่าสุคะโต อาตมามักขอร้องให้พระช่วยกันดูแลรักษาป่า คราวหนึ่งมีคนมาลักลอบตัดสมุนไพร อาตมาจึงขอร้องให้พระทุกรูปช่วยกันไปตรวจป่า หากคนที่มาลักตัดสมุนไพรเห็นพระก็จะหนีออกไป พระรูปหนึ่งท่านไม่ยอมไป ท่านบอกว่าท่านปล่อยวางแล้ว นี่เป็นตัวอย่างของการปล่อยวางอย่างไม่ถูกต้อง ปล่อยวางนั้นดีแล้ว ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่านี่เป็นป่าของฉันก็ดีแล้ว แต่อย่าลืมเรามีหน้าที่ที่จะต้องตอบแทนบุญคุณของป่า รวมทั้งควรมีน้ำใจช่วยเหลือธรรมชาติด้วย เหตุผลที่เรารักษาป่าไม่ใช่เพราะป่าเป็นของเรา ถึงแม้ป่านี้ไม่ใช่ของเรา เราก็ควรใส่ใจดูแลรักษา เพราะป่ามีบุญคุณแก่เรา เราก็ต้องตอบแทนบุญคุณป่า ขณะเดียวกันก็ทำเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ เพราะเขาต้องอาศัยป่า นี่เรียกว่าทำด้วยเมตตากรุณาและด้วยความกตัญญู ไม่ใช่เพราะมันเป็นของเรา

    อะไรที่ไม่ใช่ของเรา ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะปล่อยปละละเลย ไม่สนใจดูแลรักษา สมมติว่าคุณยืมโทรศัพท์มือถือของคนอื่นมาใช้ มันไม่ใช่ของคุณใช่ไหม ฉะนั้นคุณจะทำอะไรกับมันก็ได้ใช่ไหม คำตอบคือไม่ได้ คุณมีหน้าที่ดูแลโทรศัพท์เครื่องนั้นให้ดี และคืนให้กับเจ้าของในสภาพเดิม ในทำนองเดียวกัน ป่าไม่ใช่ของเรา ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของเรา นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเราจะใช้มันอย่างไรก็ได้ เราต้องดูแล และที่เราดูแลไม่ใช่เพราะว่ามันเป็นของเรา แต่เป็นเพราะว่ามันเป็นประโยชน์ เกื้อกูลต่อผู้อื่น นี่เรียกว่าเป็นการทำด้วยอำนาจของปัญญาและกรุณา ทำงานด้วยจิตว่างมีความหมายอย่างนี้คือ ทำโดยไม่ยึดติดถือมั่นว่างานนี้เป็นของเรา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปล่อยปละละเลย แต่ทำด้วยความรับผิดชอบ โดยมีปัญญาและกรุณาเป็นพลังขับเคลื่อน เราควรทดลองทำด้วยกุศลธรรมดังกล่าวบ่อย ๆ ไม่ใช่ทำเพราะอำนาจของตัณหา มานะ ทิฏฐิหรือทำด้วยความยึดมั่นในตัวกูของกู ถ้าเราปลุกกุศลธรรมให้เป็นแรงขับเคลื่อนแทนตัณหา มานะ อยู่บ่อย ๆ ต่อไปกุศลธรรมเหล่านั้นจะกลายเป็นแรงจูงใจหลัก และทำให้ตัณหา มานะ ทิฏฐิลดลงไปเรื่อยๆ เราก็จะมีความสุข เราจะทำอะไรเราก็มีความสุข ใครด่าเราก็ไม่ทุกข์

    หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร อดีตเจ้าอาวาสวัดถ้ำยายปริก ที่เกาะสีชัง ท่านเพิ่งมรณภาพไปเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง ตอนที่ท่านบุกเบิกสร้างวัดใหม่ๆ มีนักเลงท้องถิ่นชอบมารังควานท่าน เพราะอยากครอบครองที่ดินของวัด บางทีก็ด่าท่านแรง ๆ บางทีก็แกล้งจนท่านล้มขณะบิณฑบาต แต่ท่านนึกถึงญาติโยมจึงไม่ยอมหนี วันหนึ่งท่านเดินผ่านบ้านนักเลงคนหนึ่ง เขาจึงยืนด่าท่านด้วยถ้อยคำหยาบคาย แทนที่ท่านจะโกรธหรือแกล้งไม่ได้ยิน ท่านกลับเดินเข้าไปหาเขาแล้วจับมือ พร้อมกับถามว่า “มึงด่าใคร” ชายคนนั้นตอบว่า “ด่ามึงไงล่ะ” ท่านจึงตอบว่า “แล้วไป ที่แท้ก็ด่ามึง ดีแล้ว อย่าด่ากูก็แล้วกัน” ว่าแล้วท่านก็เดินจากไป ปล่อยให้นักเลงคนนั้นยืนงงอยู่พักใหญ่

    :- https://visalo.org/article/suksala17.htm
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    งานบำรุงใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    นอกจากอาชีพการงานหรือการทำมาหากินแล้ว เรายังมีงานด้านในที่ควรใส่ใจด้วย หากอาชีพการงานเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิต งานด้านในก็เป็นสิ่งบำรุงใจ ความสงบและความดีเป็นเสมือนอาหารใจ ที่ทำให้จิตใจเป็นสุขและเจริญงอกงาม ร่างกายนั้นเมื่อถึงวันหนึ่งก็หยุดเจริญเติบโต แต่ใจนั้นสามารถเจริญงอกงามไปได้เรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่ในยามเจ็บป่วย

    อุปสรรคสำคัญที่กีดขวางความเจริญงอกงามของใจก็คืออัตตาหรือความเห็นแก่ตัว อัตตาทำให้จิตถูกบีบคั้นด้วยความอยากและความคับแค้น ความเห็นแก่ตัวทำให้จิตคับแคบและหมกมุ่นอยู่กับตัวอง จึงไม่เคยว่างเว้นจากความทุกข์ งานด้านในคือการพาใจให้เป็นอิสระจากการครอบงำของอัตตาหรือมีความเห็นแก่ตัวน้อยลง อัตตานั้นเราไม่จำเป็นต้องทำอะไรมันมากไปกว่าการรู้เท่าทันมัน ทุกครั้งที่เราเผลอไผลหรือหลงลืม อัตตาหรือความสำคัญมั่นหมายในตัวตนก็ปรากฏ แต่ก็เช่นเดียวกับความมืดที่หายไปทันทีเมื่อมีแสงสว่างสาดส่องเข้ามา ความสำคัญมั่นหมายในตัวตนย่อมคลายไปจากจิตใจเมื่อแสงแห่งสติสาดส่องเข้ามา

    นอกจากการรู้เท่าทันมันด้วยพลังแห่งสติแล้ว การปลุกมโนธรรมขึ้นมายังทำให้อัตตาไม่มีที่ตั้ง เหมือนกับการปล่อยน้ำดีเข้ามาในร่องสวน ย่อมทำให้น้ำเสียถูกขับไล่ไปเอง โดยที่เจ้าของสวนไม่ต้องเหนื่อยกับการวิดน้ำเสียออกไป มโนธรรมนั้นมีอยู่แล้วในจิตใจของเรา แต่มักจะอ่อนแรงหรือซุกอยู่ในหลืบลึกเกินไป จนทำให้อัตตาขึ้นมาครองใจ และกลายเป็นเปลือกหนาที่ครอบใจให้อยู่ในความมืดมน แต่เมื่อใดที่มโนธรรมได้รับการบำรุงหรือกระตุ้นเร้า ก็จะเติบใหญ่จนสามารถทำลายเปลือกแห่งอัตตา เปิดทางให้แสงสว่างสาดส่องเข้ามาในจิตใจได้

    งานด้านในเพื่อบำรุงใจนั้นไม่ได้หมายถึงการหลบหลีกปลีกตัวไปอยู่ป่า หรือนั่งหลับตาภาวนาอยู่ผู้เดียวเสมอไป หากยังสามารถทำได้ท่ามกลางผู้คน หรือทำควบคู่ไปกับอาชีพการงานได้ ความสงบในจิตใจนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ หากขึ้นอยู่กับการวางใจ แม้อยู่ผู้เดียวในห้องก็อาจว้าวุ่นใจได้หากไม่รู้เท่าทันความคิดหรือปักจิตอยู่กับเสียงรบกวน แต่หากมีสติรู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบและอารมณ์ที่ผุดขึ้น แม้ทำงานกับผู้คนก็ยังสามารถรักษาใจให้สงบได้

    การทำงานสามารถเป็นเครื่องฝึกฝนจิตใจได้เป็นอย่างดี นอกจากการฝึกสติหรือดูใจของตนระหว่างทำงานได้ งานยังช่วยเสริมสร้างมโนธรรมให้เข้มแข็งได้ หากวางใจอย่างถูกต้อง เช่น เมื่อทำงานก็นึกถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับส่วนรวม ไม่มัวคิดว่า “ทำแล้วฉันจะได้อะไร ?” การคิดถึงผู้อื่นอยู่เสมอทำให้อุปสรรคและความเหนื่อยยากที่เกิดขึ้นกับเรากลายเป็นเรื่องเล็กน้อย ดังนั้นจึงทำให้เรามีความทุกข์น้อยลงจากการงานและทำให้เราทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

    ช่างก่ออิฐสามคนทำงานอยู่ใกล้กัน คนแรกทำอย่างเนือยนาย ก่ออิฐได้ไม่กี่ก้อนก็พักแล้ว ปล่อยเวลาผ่านไปนานถึงเริ่มก่ออิฐใหม่ คนที่สองท่าทางขยันกว่าคนแรก แต่ทำไปก็ดูนาฬิกาไป หน้าตาไม่ค่อยสดใส ส่วนคนที่สามนั้นทำงานอย่างกระฉับกระเฉง แม้เหงื่อจะท่วมตัว แต่ก็มีสีหน้าแช่มชื่น

    เมื่อไปถามทั้งสามคนเขากำลังทำอะไรอยู่ คนแรกตอบว่า “ผมกำลังก่ออิฐ ” คนที่สองตอบว่า “ผมกำลังก่อกำแพง” ส่วนคนที่สามตอบว่า “ผมกำลังสร้างวัดครับ”

    ทั้งสามคนทำงานอย่างเดียวกัน แต่อากัปกิริยาและความรู้สึกแตกต่างกัน สองคนแรกนั้นนอกจากเห็นว่างานของตนไม่ได้มีคุณค่ามากไปกว่าการก่ออิฐก่อกำแพงแล้ว ลึก ๆ ก็คิดว่างานที่กำลังทำอยู่เป็นแค่อาชีพที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตนเท่านั้น ตรงข้ามกับคนที่สามซึ่งเห็นว่าตนกำลังสิ่งที่มีคุณค่าต่อศาสนา เขาไม่ได้คิดว่าตนกำลังประกอบอาชีพเท่านั้น แต่เป็นการทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม มีส่วนในการทำบุญมหากุศล เขาจึงทำด้วยความกระตือรือร้น ไม่รู้จักเหนื่อย ทั้ง ๆ ที่อาจทำมากกว่าอีกสองคนด้วยซ้ำ

    การคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่น ทำให้ไม่มีที่ว่างให้อัตตาเข้ามาครอบงำใจเราได้ ความอ่อนน้อมถ่อมตัว ไม่ถือตัวถือตน จึงเกิดขึ้นได้ง่าย มีเรื่องเล่าว่ามีคนพบเด็กหญิงอายุ ๑๒ ขวบนอนซมอยู่ริมถนน จึงพามาส่งโรงพยาบาล เด็กเป็นไข้สูงมาก หมอหนุ่มจึงเอายาน้ำป้อนใส่ปากเด็ก แต่เด็กกลับปัดมือหมอจนช้อนหลุดมือ หมอพยายามอีกครั้ง เด็กก็ยังปัดอีก หมอหนุ่มโมโหมาก เดินออกจากห้องไปเลยเพราะไม่เคยเจอใครทำเช่นนี้กับตัวมาก่อน
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    (ต่อ)
    เมื่อหมอใหญ่รู้ก็มาหาเด็กที่ห้อง หมอใหญ่ลงมือป้อนยาด้วยตัวเอง แต่เด็กก็ยังขัดขืน ปัดมือหมอจนช้อนหลุด ยาเปรอะพื้น หมอป้อนยาอีกครั้ง คราวนี้พูดปลอบว่า “กินยาหน่อย ไม่ขมหรอก” แต่เด็กก็ยังไม่ยอมให้ยาเข้าปาก ปัดอีกครั้งจนยากระเซ็นเลอะเสื้อของหมอ แต่หมอก็ไม่โกรธ พยายามเป็นครั้งที่สาม คราวนี้นอกจากพูดเชิญชวนแล้ว ก็ยังยิ้มให้ด้วย เด็กปัดมือหมออีกครั้งแต่คราวนี้เบาลง

    หมอป้อนยาเป็นครั้งที่สี่ นอกจากสบตาเด็กแล้วยังอ้าปากเชิญชวนให้เด็กทำตาม ไม่ต่างจากแม่ที่พยายามป้อนข้าวใส่ปากลูกน้อย เมื่อช้อนสัมผัสปาก เธอทำท่าจะปัดมือหมอ แต่แล้วก็ชะงักและยอมเปิดปาก เมื่อกินยาเสร็จเด็กก็หันตัวไปซุกกับหมอน ราวกับเสียใจในสิ่งที่ได้ทำลงไป
    หมอใหญ่ชนะใจเด็กสาวได้ก็เพราะเขาอดทนที่จะทำดีกับเธอ โดยไม่โกรธเคืองเธอเลย หมอใหญ่มีประสบการณ์มากพอที่จะรู้ว่าเด็กสาวมีปัญหา เธออาจถูกข่มเหงรังแกจนไม่ยอมไว้ใจใคร และไม่ยอมที่จะรับความช่วยเหลือจากใคร แต่หากหมอใหญ่คิดถึงแต่ตัวเอง ก็คงยอมไม่ได้ที่จะให้เด็กทำกิริยาอาการอย่างนั้นกับเขา เขาคงนึกในใจไม่ต่างจากหมอคนแรกว่า “ ถือดียังไงถึงทำกับฉันแบบนี้ ฉันอุตส่าห์ปรารถนาดีกับแก” แต่ความคิดเช่นนั้นหาได้อยู่ในจิตใจของเขาไม่ เพราะในใจของเขาคิดแต่เพียงว่า “ทำอย่างไรเด็กถึงจะยอมกินยาได้ ?” หมอไม่ได้คิดถึงตัวเองเลย สิ่งที่หมอใส่ใจคือตัวเด็กมากกว่า หมอสนใจว่าจะช่วยเด็กให้หายป่วยได้อย่างไร

    ถ้าเราคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นเป็นสำคัญ ก็จะมีเรื่องมากระทบอัตตาได้ยาก เพราะเมตตากรุณาเข้ามาแทนที่อัตตา เราจะทุกข์เพราะถ้อยคำหรือการกระทำของผู้อื่นน้อยลง เมื่อถูกตำหนิ แทนที่จะตกอยู่ในร่องความคิดว่า “ทำไมถึงมาว่าฉัน ?“ หรือ “ถือดีอย่างไรถึงมาพูดกับฉันอย่างนี้?” เรากลับสนใจว่า “ทำไมเขาถึงพูดอย่างนั้น?” สำหรับคนที่ใฝ่รู้ใฝ่ความจริง สิ่งที่เขาสนใจก็คือ “ที่เขาพูดนั้นจริงไหม?” คนเราถ้าเอาเมตตากรุณาหรือปัญญานำหน้า ไม่ว่ามีอะไรมากระทบ ก็ไม่กระเทือนถึงใจ แต่ถ้าเอาอัตตานำหน้า อัตตาก็จะถูกกระทบไม่หยุดหย่อน เพราะไม่ว่าคิด พูด ฟัง หรือทำ ก็มีแต่ “ตัวฉัน”โดดเด่นเป็นประธานอยู่เสมอ

    ชาวบ้านคนหนึ่งเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง มารักษาที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง วันหนึ่งหมอที่ตรวจร่างกายประจำไม่อยู่ มีหมอด้านสูตินรีเวชมาตรวจแทน เมื่อตรวจเสร็จ หมอก็เขียนใบสั่งยา โดยเพิ่มจากเดิม ๑ เม็ดเป็น ๒ เม็ด คนไข้สงสัยจึงถามหมอว่า “หมอ แล้วมันจะดื้อยาไหม ?” ทันทีที่ได้ยิน หมอก็ทำเสียงแข็งใส่คนไข้ว่า “แล้วลุงเป็นหมอหรือเปล่า ถ้าอย่างนั้นลุงมาเป็นหมอเองไหม? ” ว่าแล้วก็ไล่คนไข้ออกจากห้องตรวจ

    เมื่อได้ยินคนไข้ทัก อะไรทำให้หมอโกรธหากไม่ใช่เพราะฤทธิ์เดชของอัตตาที่รู้สึกถูกกระทบจากคำทักท้วง แต่หากหมอผู้นั้นมีสติเท่าทันอัตตา ก็จะไม่ฉุนเฉียวอย่างนั้น แทนที่จะเคืองในใจว่า “พูดกับฉันอย่างนี้ได้อย่างไร ? ดูถูกฉันหรือไง?” ก็จะมองอีกมุมหนึ่งว่า “อะไรทำให้เขาพูดอย่างนั้น?” และหากหมอคิดถึงประโยชน์ของคนไข้ ก็จะรู้ได้ไม่ยากว่าคนไข้กำลังวิตกกังวล แทนที่จะโกรธ ก็จะอธิบายให้คนไข้หายวิตกกังวล หาไม่ก็อาจลดยาลงหากรู้ว่าตัวเองผิดพลาดไป

    ผู้ที่นึกถึงคนอื่นอยู่เสมอ เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น เขาจะคิดถึงคนที่เดือดร้อนก่อนที่จะนึกถึงตัวเอง อะไรที่จะช่วยคลายความเดือดร้อนของผู้นั้นได้ เขาก็พร้อมที่จะทำ รวมทั้งเอ่ยปากขอโทษโดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลต่อตนเองอย่างไร อย่างน้อยคำขอโทษก็ช่วยเยียวยาจิตใจของผู้นั้นได้บ้าง หมอผ่าตัดคณะหนึ่งทำงานผิดพลาดทำให้เด็กเสียชีวิต หมอผู้หนึ่งในคณะนั้นเสียใจมาก เมื่อออกจากห้องผ่าตัดเขาเดินไปหาแม่เด็กและขอโทษเธอ ในเวลาต่อมาแม่ของเด็กได้ฟ้องหมอทั้งคณะ ยกเว้นคนเดียวคือหมอผู้นั้น หมอผู้นั้นไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อทนายของหมอถามแม่เด็ก ก็ได้คำตอบว่า “เพราะเขาเป็นคนเดียวที่ใส่ใจ”

    ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าขอโทษเมื่อทำผิดพลาดเพราะกลัวว่าจะก่อผลเสียหายแก่ตนตามมา เช่น เป็นหลักฐานให้แก่ฝ่ายโจทย์ในการฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่การทำด้วยเจตนาที่เห็นแก่ตัวเช่นนี้บ่อยครั้งกลับกระตุ้นให้อีกฝ่ายเกิดโทสะและทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะหรือแก้แค้น ใช่หรือไม่ว่าอัตตาของฝ่ายหนึ่งย่อมปลุกเร้าอัตตาของอีกฝ่ายเสมอ ในทางตรงข้ามการกระทำด้วยเจตนาที่ปรารถนาดีย่อมบันดาลใจให้อีกฝ่ายอยากทำดีด้วย มโนธรรมของฝ่ายหนึ่งย่อมดึงดูดมโนธรรมของอีกฝ่ายให้แสดงตัวออกมาเสมอ

    ท่านอาจารย์พุทธทาสย้ำเสมอว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” ไม่ว่าจะทำอาชีพการงาน หรือทำกิจวัตรประจำวัน ก็สามารถเป็นโอกาสปฏิบัติธรรมหรือฝึกฝนจิตใจได้เสมอ เช่น ฝึกให้มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ หรือลดละความเห็นแก่ตัว บ่มเพาะเมตตากรุณา รวมทั้งเสริมสร้างมโนธรรมให้เข้มแข็ง อันจะนำไปสู่การปล่อยวางจากความยึดติดถือมั่นในตัวตน หากปล่อยวางสิ่งติดยึดได้มากและลึกเท่าใด โพธิจิตซึ่งอยู่แกนกลางของใจก็จะงอกงามและเปล่งประกายสุกสว่างมากเท่านั้น ทำให้ชีวิตปลอดโปร่งสงบเย็นอย่างยิ่ง

    :- https://visalo.org/article/suksala06.htm
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    บริหารชีวิตเพื่อจิตสดใส
    พระไพศาล วิสาโล
    คำว่า “ไม่มีเวลา” เป็นปัญหาใหญ่ของคนยุคนี้ ส่วนหนึ่งเป็นข้ออ้าง อีกส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เพราะเราไม่รู้จักจัดลำดับความสำคัญ เวลาส่วนใหญ่ของเรามักหมดไปกับสิ่งที่เร่งด่วน หรือมีเส้นตาย มีกำหนดเสร็จที่แน่นอน เช่น งานการ พรุ่งนี้ต้องเสร็จ อาทิตย์หน้าต้องส่งงาน

    สิ่งที่เร่งด่วนนั้นมี ๒ ประเภท คือ ๑.ด่วนและสำคัญ กับ ๒.ด่วนแต่ไม่สำคัญ ด่วนและสำคัญ เช่น งานที่ต้องทำให้เสร็จพรุ่งนี้ หรือ ป่วยหนักต้องรีบไปหาหมอวันนี้ ส่วนด่วนแต่ไม่สำคัญ เช่น คืนนี้มีมิดไนท์เซลที่ห้างดัง ต้องไป หรือ คืนนี้มีประกวดนางงามจักรวาล มีการถ่ายทอดตอนสุดท้ายของละครบุพเพสันนิวาส ต้องดู อย่างอื่นเอาไว้ก่อน บางครั้งก็เป็นงานสังคม เช่น งานเลี้ยงเย็นนี้ ทุกวันนี้เราหมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับสิ่งที่ด่วน ทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญ จนไม่มีเวลาเหลือให้กับสิ่งอื่นไม่ด่วนแต่สำคัญ

    สิ่งที่ไม่ด่วนแต่สำคัญคืออะไร ได้แก่ การฝึกฝนจิตใจ ทำสมาธิ หรือจิตภาวนาและปัญญาภาวนา รวมทั้งการให้เวลากับครอบครัว เช่น เยี่ยมเยียนพ่อแม่ สนทนากับลูก การออกกำลังกาย สิ่งเหล่านี้ แม้รู้อยู่ว่าสำคัญ แต่หลายคนชอบผัดผ่อนว่า ทำวันหลังก็ได้ เอาไว้ก่อน สุดท้ายก็ไม่ได้ทำเพราะไม่มีเวลา หรือหมดโอกาสเสียแล้ว เช่น อยากจะมีเวลาให้พ่อแม่แต่ผลัดไปเรื่อย จนท่านจากไป หรือรู้ว่าควรปฏิบัติธรรมแต่ก็ผลัดไปเรื่อย จนล้มป่วย เลยไม่สามารถทำอย่างที่คิดได้ เป็นเช่นนี้กันมาก

    มีผู้หนึ่ง มีข้อคิดเตือนใจได้ดี คือ หมอวิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ รองศาสตราจารย์ที่จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคนเคารพนับถือมาก เป็นอาจารย์แพทย์ด้านสูตินารีที่เก่ง ติดอันดับต้น ๆ ของอาเซียน มีลูกศิษย์ลูกหาเคารพมากมาย แต่วันดีคืนดีถูกจับข้อหาฆ่าภรรยา ถูกลงโทษประหารชีวิต ตอนหลังถูกลดโทษ จนเหลือติดคุกตลอดชีวิต แล้วก็ถูกลดโทษอีก จนภายหลังพ้นโทษ เป็นอิสระ

    ตอนที่ใกล้จะพ้นโทษ หมอวิสุทธิ์พูดให้ข้อคิดที่ดีมากว่า “เสียดายที่ทุ่มเทกับงานมากเกินไป จนไม่ค่อยได้ฝึกปฏิบัติธรรม สมัยก่อนในหัวมีแต่เรื่องงาน ตำราวิชาการ งานวิจัย ไม่ค่อยมีเวลาฝึกจิตใจ เรียนรู้เรื่องการครองสติ บัดนี้รู้แล้วว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญกว่าวิชาความรู้ ถ้าได้ย้อนกลับไปเป็นหนุ่มอีกครั้ง ผมจะให้เวลากับการปฏิบัติธรรมมากขึ้น ไม่ใช่มัวมารอตอนแก่แล้วค่อยทำ”

    หมอวิสุทธิ์เห็นว่า การครองสติเป็นสิ่งสำคัญ แต่เป็นเพราะละเลย ไม่ใส่ใจกับการฝึกสติ เมื่อเกิดปัญหาชีวิตขึ้นมา จึงพลั้งพลาด เสียศูนย์ ทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะทำได้ เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับคนที่สุภาพ ใจเย็น ในสายตาของเหล่าลูกศิษย์และหมอ ต่อเมื่อได้เผลอทำไปแล้วจึงมาตระหนักว่าการฝึกสติเป็นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้

    เรื่องนี้เป็นอุทธาหรณ์ที่ดีสำหรับคนที่หมดเวลาไปกับงานการ เพราะเป็นสิ่งที่เร่งด่วน ต้องรีบทำ จนมองข้ามสิ่งที่สำคัญและไม่เร่งด่วน เช่น การฝึกสติ คนส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้ ชีวิตจึงขาดสมดุล ทั้งๆ ที่รู้ว่า งานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต แต่ทั้งชีวิตก็หมดไปกับงานการ ไม่มีเวลาให้กับการฝึกจิต ไม่ว่าจิตภาวนา หรือปัญญาภาวนา พอชีวิตเกิดวิกฤตขึ้นมา เกิดปัญหาในครอบครัว ก็บันดาลโทสะ สติแตก ระเบิดออกไปจนเกิดความเสียหายมากมาย แต่ก็ยังดีที่คุณหมอวิสุทธิ์มีโอกาสกลับมาแก้ตัวใหม่ แต่จะมีกี่คนที่มีโอกาสกลับมาแก้ตัว หรือถึงแม้จะทำได้ ก็คงมีความรู้สึกผิดค้างคาใจ เป็นบาดแผล หรือปมในจิตใจ ที่ยากจะคลี่คลายได้ เพราะฉะนั้นเราอย่ารอให้เกิดเหตุร้ายแรงแล้วค่อยมาคิดแก้ไข

    บางคนอาจจะไม่ได้เสียใจเพราะทำร้ายใคร แต่เป็นเพราะไม่ได้ทำความดีกับคนรักมากเพียงพอ เช่นตั้งใจจะไปเยี่ยมพ่อแม่ ตั้งใจจะดูแลท่านในยามแก่ชรา แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ทำ เพราะเอาแต่ผัดผ่อนเนื่องจากงานรัดตัว แม้กระทั่งท่านป่วยก็ยังไม่มีเวลาไปเยี่ยม เอาแต่ผัดผ่อนว่าเดี๋ยวก่อนๆ จนท่านเสียชีวิต แล้วมานั่งเสียใจว่าเราไม่น่าทำอย่างนั้นเลย นี่เป็นเพราะว่ามัวแต่หมกมุ่นกับการงาน หรือไม่ก็เพลินอยู่กับความสนุกสนาน รู้ทั้งรู้ว่าควรจะให้เวลาแก่ท่าน เพราะท่านแก่ชราแล้ว เวลาของท่านลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ แต่เป็นเพราะไม่รู้จักจัดสรรเวลาอย่างจริงจัง รวมทั้งมีความประมาทด้วย ในที่สุดโอกาสทองจึงหลุดลอยไป ไม่สามารถเรียกคืนมาได้
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    (ต่อ)
    มีชายคนหนึ่งสนิทสนมกับพ่อมาก ตั้งแต่เล็กจนโต กินข้าวด้วยกันเช้า-เย็น พอเรียนจบ ก็ทำงาน ได้งานดี แม้อยู่บ้านเดียวกัน แต่แทบจะไม่มีเวลากินข้าวด้วยกันกับพ่อเลย เพราะตัวเองงานเยอะ ต้องกินข้าวนอกบ้าน พอกินเสร็จก็ประชุมต่อ พ่อก็รอลูกว่าเมื่อไหร่จะกลับมากินข้าวเย็นกับพ่อ โทรศัพท์ไปถามลูกเป็นประจำ ระยะหลังพอลูกเองเห็นเบอร์โทรศัพท์พ่อก็อารมณ์เสีย จนบางทีก็ขึ้นเสียงกับพ่อว่า “ผมยังไม่ว่าง พ่อกินข้าวเย็นไปก่อน” มีวันหนึ่งพ่อถามลูกว่าเมื่อไรจะพาพ่อไปเที่ยว เพราะลูกเคยรับปากว่าเรียนจบแล้วจะพาพ่อไปเที่ยว แต่ไม่เห็นพาไปเสียที ผัดผ่อนอยู่เรื่อย จนผ่านมาหลายปี แล้ววันหนึ่งพ่อก็ป่วยหนัก สุดท้ายก็ตายจากไป

    ลูกเสียใจมากที่ไม่ได้พาพ่อไปเที่ยวตามสัญญา ตอนหลังเวลาจะไปเที่ยวที่ไหน ก็จะเอารองเท้าคู่โปรดของพ่อขึ้นรถไปด้วย วางบนเบาะ แล้วบอกว่า “พ่อ เราไปเที่ยวด้วยกันนะ” นี่เป็นวิธีคลายปม บรรเทาความรู้สึกผิดของเขา อาตมาหวังว่าจะช่วยคลี่คลายความรู้สึกผิดได้ แต่ทำอย่างนั้นก็ไม่ดีเท่ากับการพาท่านไปเที่ยวตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่


    จัดเวลาให้เป็น

    มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เรารู้ว่าสำคัญ แต่ก็ไม่ได้ทำ เพราะอะไร? เพราะงานด่วนเอาเวลาไปใช่ไหม? ที่จริงมันไม่ได้เอาเวลาไป แต่เป็นเพราะเราจัดเวลาไม่เป็น ฉะนั้น ถ้าเราตระหนักว่าสาเหตุที่แท้อยู่ที่เราจัดเวลาไม่เป็น ก็ควรมาแก้ที่ตรงนี้ คือจัดเวลาให้กับสิ่งที่สำคัญแม้ไม่ด่วน ไม่ใช่ปล่อยเวลาให้หมดไปกับสิ่งที่ด่วน ทั้งสำคัญและไม่สำคัญ จนไม่เหลือสำหรับอย่างอื่น แต่จะจัดเวลาให้กับสิ่งเหล่านี้ได้ถูกต้องเหมาะสมและครบถ้วน ก็ต้องรู้จักจัดลำดับความสำคัญให้ดี เช่น อะไรที่สำคัญมาก ควรมาก่อน และให้เวลามาก ๆ ส่วนอะไรที่สำคัญน้อย หรือไม่สำคัญ ควรมาทีหลัง หรือให้เวลาน้อยกว่า

    สิ่งที่ไม่ด่วนแต่สำคัญ ได้แก่ จิตภาวนา ปัญญาภาวนา หรือศีลภาวนา รวมไปถึงกายภาวนา เช่น การออกกำลังกาย มันไม่ใช่งานเร่งด่วน ผัดผ่อนได้ก็จริง แต่เราก็อย่าเอาแต่ผัดผ่อน ควรหาโอกาสทำทุกวันหรือทุกอาทิตย์ แม้นิดหน่อยก็ยังดี เช่น กำหนดว่าเราจะเจริญสติ ทำสมาธิ ทุกวัน เมื่อตื่นเช้าหรือก่อนนอน วันละ ๑๐ นาทีหรือครึ่งชั่วโมง ขณะเดียวกันก็จะให้เวลากับการออกกำลังกาย เช่น วิ่ง หรือ โยคะ ทุกวัน ๆ ละครึ่งชั่วโมง เช้าหรือเย็น ก็แล้วแต่ รวมทั้งจัดเวลาไว้สำหรับคนในครอบครัวทุกวันหรือทุกเสาร์-อาทิตย์ เช่น กินอาหารด้วยกัน หรือไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ นอกจากนั้นควรจัดเวลาให้กับการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม รวมทั้งการทำงานเพื่อส่วนรวม ช่วยเหลือผู้อื่น หรือการทำบุญด้วย ทั้งหมดนี้เรียกรวม ๆ ว่า สิ่งที่ไม่ด่วนแต่สำคัญ

    พูดง่าย ๆ คือ ทำตารางประจำวันและประจำอาทิตย์ ว่า จะทำอะไร ช่วงไหน นานเท่าใด โดยให้ครอบคลุมทั้ง สิ่งที่ด่วนและสำคัญ สิ่งที่ด่วนแต่ไม่สำคัญ รวมทั้งสิ่งที่ไม่ด่วนแต่สำคัญ ดังที่กล่าวมา และมีเวลาเหลือบ้างสำหรับสิ่งที่ไม่ด่วนและไม่สำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งชูรสหรือสิ่งที่เป็นสีสันของชีวิต

    ถ้าเราสามารถให้เวลาสำหรับการพัฒนาตน ได้ โดยแทรกไว้ในแต่ละวัน แต่ละอาทิตย์ และทุกเดือน จะทำให้เรามีโอกาสพัฒนาชีวิตของเรา ทั้งในแง่กาย จิต และความสัมพันธ์ อันจะนำเราไปสู่ชีวิตที่สงบเย็น และเป็นประโยชน์ ไม่ใช่ว่ามีความสำเร็จด้านอาชีพการงาน มีตำแหน่งใหญ่โต มีเงินทองมากมาย แต่ป่วยด้วยโรคร้าย รักษาไม่หายเพราะละเลยสุขภาพมานาน หรือครอบครัวแตกแยก ลูกไปอยู่กับเมีย ร้าวฉานกับพ่อแม่ หรือว่าไม่มีความใส่ใจ เอื้ออาทรต่อส่วนรวม ต่อสังคม อย่างนี้ชีวิตที่สงบเย็นเป็นประโยชน์ ก็เกิดขึ้นได้ยาก

    ในแต่ละวัน แต่ละอาทิตย์ และแต่ละเดือน จะมีกิจกรรมอยู่ ๔ ประเภทที่อาตมาพูดถึง คือ ๑.ด่วนและสำคัญ ๒. ด่วนแต่ไม่สำคัญ ๓.ไม่ด่วนแต่สำคัญ กับ ๔.ไม่ด่วนและไม่สำคัญ การดูละคร ทีวี ฟังเพลงจัดเป็นสิ่งที่ไม่ด่วนและไม่สำคัญ ยิ่งสมัยนี้สามารถดูทีวีย้อนหลังได้ คือไม่ต้องรีบดูก็ได้ ทุกวันนี้นอกจากการงานซึ่งเป็นสิ่งที่ด่วนและสำคัญแล้ว ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ด่วนและไม่สำคัญ แต่ก็ดึงเวลาเราไปไม่น้อย เพราะมันสนุก มันตื่นตาตื่นใจ อย่างการช็อปปิ้ง มันไม่ด่วนและไม่สำคัญเท่าไร แต่ผู้คนก็หมดเวลาไปกับเรื่องนี้เยอะ เพราะมันมีรสชาติ

    การเล่นเฟสบุ๊ค เล่นไลน์ หรืออินสตาแกรม ก็เช่นกัน มันด่วนไหม? มันสำคัญไหม? ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องด่วน และไม่สำคัญด้วย แค่เป็นสิ่งที่ชวนให้เพลิดเพลิน แต่ทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมากหมดเวลาไปกับสิ่งนี้วันละหลายชั่วโมง ปากก็บอกว่าไม่มีเวลาออกกำลังกาย ไม่มีเวลานั่งสมาธิ ไม่มีเวลาไปเยี่ยมพ่อแม่ แต่มีเวลาเล่นไลน์ เล่นเฟสบุ๊ควันละ ๕-๖ ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น อันนี้เป็นเพราะว่าขาดสติ จิตใจไม่เข้มแข็ง ขาดวินัย

    มีคำพูดหนึ่งอาตมาชอบมาก “ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้” หลายคนรู้ทั้งรู้ว่าเฟสบุ๊คไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ก็หมดเวลาไปกับมัน ไม่ได้หมดเวลาไปกับการเสพ หรือการอ่านเท่านั้น แต่เสียเวลาไม่ใช่น้อยไปกับการเขียนคอมเมนต์ ต่อว่าด่าทอเรื่องการเมือง หรือเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย แต่เราก็เสียเวลาและเสียอารมณ์ไปกับมันวันละหลายชั่วโมง ไม่ใช่แค่เสียเวลาและเสียอารมณ์ตอนที่มันอยู่ข้างหน้าเราเท่านั้น แม้เวลาจะนอนก็ยังหงุดหงิด เครียดเพราะคิดถึงข้อความที่ได้อ่านเมื่อเช้า

    ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะขาดจิตภาวนา ขาดปัญญาภาวนา เป็นเพราะวางแผนชีวิตไม่เป็น จัดเวลาและลำดับความสำคัญไม่ถูก ดังนั้น เมื่อเห็นความสำคัญก็ต้องวางแผน กำหนดเวลาให้แน่ชัดว่า จะให้เวลากับเรื่องนี้เท่าไร จะออกกำลังกายเช้ากี่โมง นั่งสมาธิกี่โมง ต้องทำขนาดนี้ ไม่เช่นนั้นเวลาจะหมดไปกับสิ่งที่ด่วน ทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญ รวมทั้งเรื่องที่ไม่ด่วนและไม่สำคัญแต่มีเสน่ห์ มีรสชาติ เป็นสีสันของชีวิต
    :- https://visalo.org/article/dhammamata14_2.html
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    ความสงบอันประเสริฐ
    พระไพศาล วิสาโล
    หลายคนที่มาวัดป่าสุคะโต เมื่อมาครั้งแรกมักจะพูดเหมือนกันว่าชอบความสงบ แสดงให้เห็นว่าความสงบนั้นเป็นสิ่งที่ผู้คนปรารถนา ขณะเดียวกันก็ชี้ว่าทุกวันนนี้ความสงบกลายเป็นเรื่องหายากแล้ว หลายคนจึงรู้สึกประทับใจเมื่อสัมผัสความสงบของที่นี่

    หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าตัวเองชอบความสงบ จนกระทั่งมาพบความสงบที่วัดป่าสุคะโต แล้วรู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่ตัวเองปรารถนา เพราะส่วนลึกของผู้คนต่างโหยหาความสงบกันทั้งนั้น โดยเฉพาะคนยุคนี้ ซึ่งมีความไม่สงบเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสมัยใหม่ไปแล้ว

    บางอย่างถ้าเราไม่เคยเจอ เราอาจไม่รู้ว่าต้องการสิ่งนั้น แต่พอได้เจอก็พบว่า ใช่เลย เช่นเดียวกับที่สตีฟ จ๊อบส์เคยพูดว่า คนที่ยังไม่เจอไอแพด ก็ไม่รู้ว่าหรอกตัวเองต้องการไอแพด แต่พอเห็นแล้วก็บอกว่า ใช่เลย นี่คือสิ่งที่ตัวเองต้องการมาตลอดชีวิต คนส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ว่าต้องการอะไร จนกว่าจะได้เห็นสิ่งนั้น แต่ไอแพดก็เป็นเพียงสิ่งของที่ให้ความสุขได้ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น ส่วนความสุขจากความสงบนั้นยั่งยืนถาวรกว่า

    ความสงบมี ๒ อย่างคือ สงบกายกับสงบใจ สงบกายหมายถึงไม่มีเสียงรบกวน เช่นในป่า แม้จะมีเสียงบ้างแต่ไม่รู้สึกว่ารบกวน เพราะไม่ใช่เสียงอึกทึกครึกโครม ความสงบอย่างนี้เรียกว่าสงบกาย สงบเพราะไม่มีเสียงดังรบกวน เสียงดังในที่นี้หมายถึงเสียงที่ไม่ชอบ เพราะถ้าเป็นเสียงที่ชอบก็คงไม่เรียกว่าเสียงดัง เช่น ห้องที่เปิดเพลงคลาสสิกหรือเพลงป๊อปที่คนอยากฟัง คนฟังก็จะไม่รู้สึกว่าเสียงดัง หรือไม่สงบ จะเรียกว่าไม่สงบก็ต่อเมื่อมีเสียงคนคุยรบกวน หรือเสียงวิทยุโทรทัศน์ขณะที่ตัวเองกำลังอ่านหนังสือ แต่ที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสียงดนตรี หรือเสียงพูดคุย ถ้าเป็นเสียงที่ดังมากก็จะรู้สึกว่าไม่สงบทั้งนั้น

    ความสงบอีกอย่างหนึ่งคือความสงบใจ ความสงบใจจะเกิดขึ้นไม่ได้หากสมองคิดไม่หยุด มีความทุกข์ หรือมีอารมณ์มาบีบคั้นเผาลนจิตใจ เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นคนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า ถ้าเป็นความคิดที่ชอบ เช่นคิดถึงเรื่องเที่ยว หรือจินตนาการว่ากำลังอยู่กับแฟน จะไม่เรียกว่าเป็นความไม่สงบ แต่จะเรียกว่าใจไม่สงบก็ต่อเมื่อคิดเรื่องไม่ดี คิดถึงเหตุการณ์ที่เจ็บปวด หรือคิดถึงงานการที่ทำให้เกิดความหนักอกหนักใจ

    แต่ที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะคิดถึงความสุขหรือความทุกข์ จะคิดดีหรือคิดไม่ดีก็ถือว่าไม่สงบทั้งนั้น สงบกายก็คือไม่มีเสียงดัง สงบใจคือใจนิ่ง นิ่งเพราะไม่ถูกความคิดกระทบทำให้กระเพื่อม ไม่ถูกอารมณ์บีบคั้นเผาลนจนกระสับกระส่าย ถ้าจิตกระสับกระส่าย หรือจิตกระเพื่อม ไม่ว่าจิตดิ้นรนเพราะความอยากได้หรือผลักไสก็เป็นความไม่สงบทั้งนั้น

    ความสงบใจเป็นสิ่งที่ผู้คนปรารถนามากกว่าความสงบกาย เมื่อเราได้มาอยู่ในสถานที่สงบกาย ไม่มีเสียงดัง ไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอก แวดล้อมด้วยธรรมชาติ ป่าเขา เรียกว่ามีความสงบกายแล้ว แต่ใช่ว่าจะสงบใจด้วย บางครั้งอยู่ในที่เงียบ ๆ อยู่ในป่าที่วิเวก แต่ใจไม่ได้วิเวกตาม เพราะจิตใจว้าวุ่น ฟุ้งซ่าน มีความวิตกกังวล มีความกลัว หรือไม่ก็มีเสียงดังระงมอยู่ในหัวเพราะมีความคิดต่าง ๆ มากมาย ดังนั้นถึงแม้จะมีความสงบกาย ก็ใช่ว่าจะสงบใจได้ทันที ต่อเมื่ออยู่ไปนาน ๆ สิ่งแวดล้อมรอบตัวก็ช่วยให้ใจสงบตาม เช่นเวลาที่เรามาอยู่ท่ามกลางป่าเขา ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ และไม่พูดคุยกันเอง ใจเราก็จะค่อย ๆ สงบลงได้

    ความสงบใจมี ๒ อย่าง อย่างแรกคือสงบเพราะไม่รู้ หรือตัดการรับรู้ เช่น บังคับไม่ให้มีเสียงดัง หรือมาอยู่วัดก็ไม่เปิดวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ ไม่พูดคุยกันเอง หรือแม้จะมีเสียงแต่เราตัดการรับรู้ เช่น หลับตา พยายามบังคับจิตให้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น อยู่กับลมหายใจ หรือเอาจิตมาเพ่งที่เท้าขณะเดิน แม้เสียงรอบตัวจะดังแค่ไหน แต่จิตไม่รับรู้ เพราะจดจ่ออยู่กับอารมณ์เดียว อย่างนี้ใจก็สงบได้ ในทำนองเดียวกันบางคนก็สงบได้เมื่อเก็บตัวอยู่ในห้องพระ ห้องแอร์ อยู่ในพื้นที่ส่วนตัว มีการตัดเสียงรบกวนและไม่ให้คนเข้ามายุ่มย่าม จึงไม่มีการรับรู้ที่จะทำให้จิตใจกระเพื่อมได้ ไม่ต้องรับรู้ข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมือง อย่างนี้เรียกว่าสงบเพราะไม่รู้ หรือตัดการรับรู้ เกิดจากการควบคุมสิ่งแวดล้อม หรือควบคุมจิตใจให้แน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

    ความสงบใจอย่างที่ ๒ คือสงบเพราะรู้ หมายความว่าแม้หูได้ยินเสียง ตาเห็นรูป แต่ใจก็สงบได้ บางครั้งอาจจะกระเพื่อมเพราะเห็นรูปหรือได้ยินเสียง แต่เมื่อใจกระเพื่อมแล้วมีสติรู้ รู้แล้ววาง ก็ทำให้สงบต่อไปได้ ความสงบชนิดนี้อาศัยสติเป็นพื้นฐาน เสียงดังแต่ใจยังสงบได้ อย่างที่เคยเล่าเรื่องหลวงปู่บุดดาว่า มีเสียงเกี๊ยะดังเข้ามาในห้องที่ท่านจำวัดอยู่ ลูกศิษย์รู้สึกรำคาญ แต่ท่านไม่รู้สึกรำคาญ ใจยังสงบได้เพราะไม่เอาหูไปรองเสียงเกี๊ยะ ทำอย่างไรจึงจะไม่เอาหูไปรองเสียงเกี๊ยะได้ ก็ต้องมีสติกำกับใจ หูก็จะไม่หาเรื่อง เสียงดังแต่ใจไม่กระเพื่อมเพราะเสียงนั้น อย่างนี้เรียกว่าสงบเพราะรู้ สงบทั้ง ๆ ที่ได้ยินเสียง แต่สงบได้ เพราะรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีผัสสะมากระทบ

    ธรรมชาติของใจอย่างหนึ่งคือ เมื่อรู้ทันอารมณ์ใด ก็จะวางอารมณ์นั้นได้ เมื่อรู้ว่าโกรธก็วางความโกรธ แต่คนทั่วไปพอได้ยินเสียงเกี๊ยะก็ลืมตัว เกิดความหงุดหงิดรำคาญขึ้นมาแล้วก็ยังไม่รู้ตัว ความรำคาญจึงครอบงำจิต จนกระทั่งกลายเป็นความโกรธขึ้นมาได้ง่าย ๆ

    ความสงบเพราะรู้นี้ หมายถึงใจสงบได้ทั้ง ๆ ที่รู้ คือ เห็นรูป ได้ยินเสียง ทั้งนี้เพราะรู้ทันผัสสะที่เกิดขึ้น ความสงบแบบนี้สำคัญมาก เพราะไม่ว่าเราอยู่ที่ไหนก็สงบได้ทุกที่ แม้มีสิ่งที่ชวนให้ทุกข์ใจมากระทบ แต่ใจไม่หงุดหงิดตาม บางคนฝึกให้ใจสงบแบบตัดการรับรู้ แต่ไม่ได้ฝึกใจให้เข้าถึงความสงบเพราะรู้ ความสงบที่เกิดขึ้นจึงเป็นความสงบเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

    มีผู้ชายคนหนึ่ง ไปเข้าคอร์สนั่งสมาธิ ๑ วันของสมาคมแห่งหนึ่ง ห้องปฏิบัติธรรมสงบมาก เป็นห้องแอร์ ผู้ชายคนนี้ปฏิบัติได้ดี สงบเย็นทั้งใจและกาย กายเย็นเพราะอยู่ห้องแอร์ ส่วนใจไปเพ่งรับรู้อยู่แค่อารมณ์เดียว ไม่มีเรื่องรบกวนที่ทำให้ใจกระเพื่อม พอถึงเวลาเลิก ๔ โมงเย็น เดินไปลานจอดรถ จะขับรถกลับบ้าน ปรากฏว่าพอเห็นรถอีกคันมาจอดซ้อน ทำให้เขาขับออกไม่ได้ ความโกรธพุ่งขึ้นมาทันที ถึงกับโวยวายออกมา “ใครวะจอดรถแบบนี้” แล้วก็ต่อว่าอีกมากมาย

    ทำไมเขาถึงโกรธขนาดนั้น ทั้ง ๆ ที่เพิ่งทำสมาธิมา นั่นเป็นเพราะทั้งวันความสงบที่เกิดกับเขาเป็นความสงบเพราะตัดการรับรู้ ถ้าเขารู้จักความสงบเพราะรู้ เมื่อเห็นรถตัวเองถูกจอดขวาง เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เขาก็จะมีสติเห็นความไม่พอใจนั้น จิตจะไม่พลุ่งพล่านจนกลายเป็นอารมณ์โกรธถึงกับด่าทอเสียงดัง
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    (ต่อ)
    เพิ่งออกมาจากการปฏิบัติธรรมแท้ ๆ แต่พอเจอเรื่องแค่นี้ก็โวยวายแล้ว ทำไมจึงจิตจึงขึ้นลงรวดเร็ว นี่เป็นสิ่งที่เกิดกับนักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก ที่มุ่งแสวงหาความสงบ ด้วยการไม่รับรู้หรือการตัดการรับรู้ พอสงบแล้วก็เพลิน พอเจออะไรที่ไม่ถูกใจไม่พอใจ ก็โกรธปรี๊ดทันที

    เราต้องรู้จักรักษาใจให้สงบได้ แม้อยู่ท่ามกลางเสียงต่าง ๆ แม้เจอคำพูดที่ชวนให้ขัดใจ ความสงบแบบนี้ เป็นสิ่งที่เราควรรู้จักและเข้าถึงให้ได้อย่างชำนิชำนาญ เพราะเราไม่สามารถหลีกเร้นจากโลกที่วุ่นวายได้ตลอด ไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน ที่ทำงาน หรือบนท้องถนนก็จะมีเสียงดัง มีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้ไม่พอใจได้มากมาย

    แม้แต่ที่วัดป่าสุคะโตก็ใช่ว่าจะสงบเงียบตลอดเวลา บางทีก็มีเสียงดัง เช่น เสียงประกาศจากรถขายของ เสียงโฆษณาหาเสียง หรือเวลามีงานศพชาวบ้านก็จะเปิดเพลงดังตั้งแต่เช้าจนค่ำ ถึงกลางคืนก็ฉายหนังกลางแปลงต่อ นักปฏิบัติธรรมที่อยู่ในวัดหลายคนจะหงุดหงิดรำคาญ "ทำไมเขาเปิดเสียงดังขนาดนี้วะ" แต่ลืมถามตัวเองว่า "ทำไมเราต้องรำคาญเสียงดังด้วย" คือไม่ได้ดูตัวเอง ถ้ากลับมาดูใจตัวเองก็จะรู้ว่า เรากำลังเป็นทุกข์เพราะเสียง ตบมือข้างเดียวนั้นไม่ดัง ความทุกข์ไม่ได้เกิดเพราะเสียงดังอย่างเดียว แต่เกิดเพราะใจไปจดจ่ออยู่กับเสียงนั้นด้วย หรือเป็นเพราะใจยึดติดกับความสงบ พอมีเสียงทำลายความสงบก็เกิดความไม่พอใจ เกิดความขัดอกขัดใจขึ้นมา

    เมื่อมีผัสสะมากระทบ ควรมีสติรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ เมื่อตาเห็นอาหารอร่อย สติก็เห็นความอยาก เมื่อหูได้ยินเสียงดัง สติก็เห็นความหงุดหงิดข้างใน เราควรทำทั้งสองอย่างไปพร้อม ๆ กันคือเห็นทั้งข้างนอกและข้างใน ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ แม้ว่าตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ใจก็สงบได้ อย่างนี้เรียกว่าสงบเพราะรู้

    สงบเพราะรู้มี ๒ อย่าง อย่างแรกรู้เพราะสติ คือ เห็นความโกรธ ความเศร้า ความเบื่อ เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็น เห็นความโกรธแต่ไม่เป็นผู้โกรธ ความโกรธก็จะค่อย ๆ ดับไป ถ้าเราไม่เห็นความโกรธ กลายเป็นผู้โกรธ ก็เท่ากับต่ออายุความโกรธให้ยืนยาวมากขึ้น เหมือนกับกองไฟ ถ้าอยู่เฉย ๆ กองไฟก็จะมอดดับไปในที่สุด แต่คนส่วนใหญ่มักจะไปเติมฟืนเติมเชื้อไฟเข้าไป แต่ถ้าเห็นแล้วไม่เข้าไปเป็น พอเห็นปุ๊บมันก็จะดับไป เพราะจิตนั้นรับรู้ได้ทีละอารมณ์เท่านั้น

    เมื่อสติครองใจแล้วก็ไม่มีอะไรมาครอบงำใจได้ เหมือนกับความมืดถ้าเจอแสงสว่าง ความมืดก็หนีไป แสงสว่างขับไล่ความมืดได้ แต่ความมืดไม่เคยขับไล่แสงสว่างได้เลย ยิ่งมืดก็ยิ่งทำให้แสงสว่างเด่นชัดยิ่งขึ้น ฉันใดก็ฉันนั้น ความหลงจะหายไปเมื่อมีสติ ความรู้สึกตัวเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ความหลงก็เกิดขึ้นไม่ได้ ที่มันหลงเพราะสติหายไป เช่น ขณะที่เรากำลังคิดอยู่เพลิน ๆ แล้วรู้ตัวขึ้นมา พอรู้ตัวหรือมีสติ ความคิดก็ดับไป แต่ถ้าสติอ่อน ความคิดก็อาจผุดขึ้นอีก หากสติเกิดขึ้นเพียง ๒-๓ ขณะแล้วดับหายไป ความฟุ้งซ่านก็เข้ามาแทนที่ ความฟุ้งซ่านไม่ได้ขับไล่สติ แต่มาตอนสติหายไปหรือมาตอนที่เราเผลอ

    สงบเพราะรู้อย่างที่ ๒ คือรู้ด้วยปัญญา หมายถึงการเข้าใจความจริงของชีวิตและโลก เช่น คนที่เข้าใจเรื่องโลกธรรม ๘ เมื่อถูกต่อว่าติฉินนินทา ใจก็ไม่กระเพื่อม เพราะรู้ว่าเป็นธรรมดาโลก ไม่มีใครจะรอดพ้นจากคำตำหนิได้ เมื่อรู้เช่นนี้จิตใจก็มั่นคงไม่หวั่นไหว ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีวุฒิภาวะด้วย โดยทั่วไปคนที่มีอายุมาก จะมีความหนักแน่นมั่นคงมากกว่าคนหนุ่มสาว เพราะผ่านโลกมามาก รู้ว่าคำติฉินนินทานั้นเป็นธรรมดาโลก เมื่อรู้อย่างนี้ก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ใจสงบได้

    จากการศึกษาผู้คนทั่วโลก จาก ๗๐-๘๐ ประเทศ พบว่าคนที่อายุมาก คือเลยวัยกลางคนไปแล้ว มีแนวโน้มที่จะมีความสุขได้มากกว่าวัยรุ่นหรือวัยกลางคน ส่วนวัยที่มีความทุกข์มากที่สุด มีความเครียดมากที่สุด มีความสุขน้อยที่สุด คือวัยกลางคน อายุ ๔๐ กว่าขึ้นไป งานวิจัยบางชิ้นระบุเลยว่า คนอายุ ๔๖ เป็นวัยที่มีความเครียดมากที่สุด มีความสุขน้อยที่สุด พวกเราถึงหรือยัง เตรียมตัวไว้นะ พอพ้น ๔๖ ไป เส้นความสุขจะค่อย ๆ สูงขึ้น จนกระทั่ง ๘๐

    วัยกลางคน เป็นวัยที่ยังมีสุขภาพดี ตำแหน่งหน้าที่การงานก็มีความมั่นคงแล้ว เรียกได้ว่า มีทั้งเงินทองและกำลังวังชา แต่ทำไมคนอายุ ๘๐ ถึงมีความสุขมากกว่า มีความเครียดน้อยกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวุฒิภาวะ ผ่านโลกมามากก็ทำใจได้ ปล่อยวางได้ เข้าใจเรื่องโลกธรรม เข้าใจว่าความสำเร็จความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดาโลก ติฉินนินทาก็เป็นธรรมดาโลก อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นปัญญาในการเข้าใจโลกธรรม การมีปัญญาเข้าใจโลก นอกจากจะสามารถเกิดขึ้นได้จากการมีวุฒิภาวะแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการไตร่ตรงชีวิตหรือปฏิบัติธรรม ยิ่งถ้าปฏิบัติจนเข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนิจจา ไม่ยึดมั่นในตัวกูของกู หรือตัวกูของกูน้อยเบาบาง เมื่อเกิดความสูญเสียก็ไม่ทุกข์ เพราะไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเราตั้งแต่แรก เงินหาย ถูกโกง ถูกด่าแต่ก็ไม่รู้สึกโกรธแค้นขุ่นเคือง เพราะไม่เอาตัวตนเข้าไปรองรับการกระแทก ไม่ได้ยึดมั่นถือว่าเป็นตัวกูของกู

    หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโรเมื่อโดนอันธพาลด่า แทนที่ท่านจะโกรธ ท่านกลับเดินไปหาคนที่ด่าท่าน จับแขนเขาเขย่าแล้วถามว่า "มึงด่าใคร ๆ" เขาตอบว่า "ก็ด่ามึงนะสิ" ท่านยิ้มแล้วพูดว่า "แล้วไป ที่แท้ก็ด่ามึง ดีแล้วอย่าด่ากูแล้วกัน" แล้วก็เดินออกไป ส่วนอันธพาลก็งงว่าตกลงกูด่าใครกันแน่วะ

    คนที่จะทำอย่างหลวงพ่อประสิทธิ์ได้ต้องมีตัวตนน้อยมาก ถ้ามีตัวตนมาก ก็อดไม่ได้ที่จะเอาตัวตนไปรับการกระแทกว่า "มันด่ากู ๆ" แต่เนื่องจากท่านมีตัวตนน้อย คำด่านี้ก็ทะลุไปเหมือนทะลุอากาศธาตุ เหมือนฝุ่นถ้าไม่มีกระจก มันก็ไม่รู้จะเกาะกับอะไร ต่อเมื่อมีกระจก ฝุ่นจึงจะเกาะได้ กระจกเปรียบเหมือนอัตตาหรือตัวตน คำด่าเปรียบได้กับฝุ่นหรือหิน ถ้าหินตกลงมามีกระจกขวางอยู่ กระจกก็ย่อมร้าวหรือแตก เหมือนคนที่เอาตัวตนไปรับคำด่าก็ย่อมโกรธ เป็นทุกข์ แต่ถ้าตัวตนน้อยเบาบางจนไม่มีเลย ก็เหมือนกับว่าไม่มีกระจก แม้ก้อนหินตกลงมาก็ไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะมันผ่านอากาศธาตุไป ไม่มีความเสียหาย ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่าสงบเพราะรู้ รู้ด้วยปัญญา

    ทำนองเดียวกันเมื่อมีปัญญา เวลาเจ็บป่วย ใจก็ไม่ทุกข์ สงบได้ อย่างนี้เรียกว่าสงบเพราะรู้เช่นกัน เหมือนอย่างหลวงปู่บุดดา ถาวโร ซึ่งฉันอาหารเป็นพิษ ขณะที่พระรูปอื่นอาเจียรจนหมดแรง นอนหมดสภาพ หลวงปู่ยังนั่งคุยกับญาติโยมได้ มีบางครั้งก็รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน พออาเจียนเสร็จ ก็หันมาคุยกับญาติโยมต่อ กายท่านทุกข์ แต่ใจท่านไม่เดือดร้อนเลย เพราะท่านมีปัญญาเข้าใจเรื่องรูปนาม ว่าไม่มีตัวเรา มีแต่รูปกับนาม เวลาที่กายเป็นทุกข์ ใจไม่ทุกข์ด้วย เพราะไม่ได้หลงยึดว่าความปวดของกายเป็นความปวดของกู เพราะกูไม่มีจริงตั้งแต่แรก ท่านรู้สึกปวดท้องก็จริง แต่ใจไม่ปวดด้วย เพราะไม่มีความรู้สึกว่ากูปวด

    ตอนที่หลวงพ่อคำเขียนป่วย ท่านมีทุกขเวทนาเยอะ แต่ใจท่านสงบมาก เพราะท่านเห็นชัดว่าไม่มีผู้ปวด ท่านบอกเสมอว่า “ไม่เป็นอะไรกับอะไร” หรือ “ไม่เป็นอะไรกับอาการของกายและใจ” คือไม่ไปยึดมั่นถือมั่นกับอะไรที่เกิดขึ้น อะไรเกิดขึ้นก็เป็นสักว่าเรื่องของกาย หรือเรื่องของใจ แต่ไม่มีตัวกูเป็นนั่นเป็นนี่เลย

    หลวงพ่อคำเขียนสอนอยู่เสมอว่า "เห็น อย่าเข้าไปเป็น" เห็นความปวด แต่ไม่เข้าไปเป็นผู้ปวด ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นกับกายหรือใจก็ตาม แม้ว่าจะเจออนิฏฐารมณ์ เจอความพลัดพรากสูญเสีย เจอความเจ็บปวด เจอทุกขเวทนาบีบคั้นร่างกายก็ตาม อันนี้เป็นหลักประกันของความสงบที่แท้จริง สงบเพราะรู้ด้วยปัญญา

    สงบเพราะรู้ มี ๒ อย่างคือ รู้ด้วยสติ และรู้ด้วยปัญญา รู้ด้วยสติคือเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้ววางได้ ไม่ปล่อยให้อารมณ์ครอบงำ รู้ด้วยปัญญาคือการเห็นความจริง จนกระทั่งไม่ยึดมั่นถือมั่นกับอะไรสักอย่าง คำว่ารู้หรือคำว่าเห็นมีความหมายเหมือนกัน เวลาที่หลวงพ่อบอกว่า "เห็น อย่าเข้าไปเป็น" ท่านหมายถึงเห็นด้วยสติ เช่นเวลามีความโกรธ ความคับแค้นใจ ความเสียใจเกิดขึ้น ก็เห็นด้วยสติ เห็นแล้วก็วางได้ เมื่อเห็นด้วยสติบ่อย ๆ ก็จะนำไปสู่การเห็นด้วยปัญญา คือเห็นว่าสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ เป็นของหนัก ไม่น่ายึดถือ เมื่อนั้นก็วางได้ ไม่แบกเอาไว้อีกต่อไป นั่นคือการเห็นอย่างลึกซึ้งที่สุด คือเห็นด้วยปัญญา

    ในบทสวดมนต์ มีข้อความตอนหนึ่งซึ่งเป็นพุทธพจน์ว่า "เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง นั่นแหละ เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด" ข้อความนี้ระบุชัดว่า “เห็นด้วยปัญญา” คือเมื่อมีปัญญารู้ชัดว่า สิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ไม่น่ายึดถือ จิตก็จะสงบอย่างแท้จริง เพราะปัญญาที่เกิดขึ้นนั้นคงอยู่ไม่แปรเปลี่ยน ในขณะที่สติ ถ้าไม่ฝึกก็หายไปหรืออ่อนแรงไป ต้องฝึกอยู่เสมอ แต่เมื่อฝึกจนถึงที่สุด ก็เกิดปัญญาเห็นกายและใจตามความเป็จริง ช่วยให้เห็นสัจธรรมแจ่มแจ้ง โดยไม่มีอคติเจือปน

    สติกับอคตินั้นตรงข้ามกัน อคติคือเห็นอย่างคลาดเคลื่อน เห็นไม่ตรงตามความเป็นจริง เหมือนกับกระจกที่บิดเบี้ยว อคติเกิดจากความโลภ ความโกรธ ความกลัว ความหลง ทำให้เห็นความจริงคลาดเคลื่อน แต่สติทำให้เห็นกายและใจตามความเป็นจริง จนถึงที่สุดก็จะเกิดปัญญาเห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนิจจา

    ความสงบที่ดีที่สุดคือ สงบเพราะรู้ เริ่มต้นด้วยการรู้เพราะสติ ต่อจากนั้นก็รู้ด้วยปัญญา จะทำเกิดสภาวะจิตอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตัวอยู่ในโลก แต่จิตอยู่พ้นโลก หรือจิตอยู่เหนือโลก เปรียบเหมือนกับดอกบัวที่เกิดในน้ำ โตในน้ำ แต่สามารถเจริญพ้นน้ำได้ นี้คือสภาพจิตของคนที่มีปัญญา เกิดในโลก โตในโลก แต่จิตอยู่เหนือโลกได้ น้ำไม่สามารถฉาบติดดอกบัวหรือใบบัวได้ฉันใด กิเลสหรือความทุกข์ก็ไม่อาจแปดเปื้อนจิตใจได้ฉันนั้น นี้แหละคือความสงบอันประเสริฐสุด ที่เราควรรู้จักและไปให้ถึง
    :- https://visalo.org/article/dhammamata9_2.html
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    น้อมใจรับสัจธรรม
    พระไพศาล วิสาโล
    ชายหนุ่มทำโทรศัพท์มือถือหาย รู้สึกเป็นทุกข์อย่างมากเพราะเพิ่งซื้อมาได้ไม่นาน แถมราคาก็แพงด้วย จึงไปหาหลวงพ่อขอคำปรึกษา เผื่อจะได้ของคืนมา

    หลวงพ่อฟังปัญหาแล้ว แทนที่จะซักถามเรื่องโทรศัพท์มือถือ กลับถามว่า
    “มีทองไหม ?”
    “มีครับ”
    “อีกไม่นานทองก็จะหาย” แล้วท่านก็ถามต่อว่า “มีรถไหม ?”
    “มีครับ”
    “อีกไม่นานรถก็จะหาย...แล้วมีแฟนไหม?”
    “มีครับ”
    “อีกไม่นานแฟนก็จะหาย”

    ชายหนุ่มได้ยินเช่นนั้นก็ได้คิด ปัญหาถูกเปลื้องไปจากใจ กราบหลวงพ่อแล้วเดินออกจากกุฏิด้วยสีหน้าที่ดีขึ้น

    ชายหนุ่มไม่รู้สึกเป็นทุกข์ที่สูญโทรศัพท์มือถืออีกต่อไป เพราะได้คิดว่านั่นเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความสูญเสียอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เขาคงระลึกได้อีกด้วยว่าความสูญเสียพลัดพรากนั้นเป็นธรรมดาของชีวิต หลวงพ่อไม่ได้แช่งว่า ทอง รถ และแฟนของเขาจะมีอันเป็นไป หากแต่ท่านพูดถึงสัจธรรมของชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น เพราะมีกับเสียนั้นเป็นของคู่กัน

    คนเรามักลืมคิดถึงธรรมดาของชีวิตที่ต้องมีการพลัดพรากสูญเสีย เมื่อมีหรือได้อะไรก็ตามก็ทึกทักเอาว่ามันจะต้องอยู่กับเราไปตลอด เรายอมไม่ได้ที่มันจะพรากจากเราไป (เว้นเสียแต่ว่าเราเป็นฝ่ายละทิ้งมันไปเอง) น้อยนักที่เราจะเผื่อใจนึกถึงความไม่เที่ยงของสิ่งที่เรามี และในบรรดาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เรามีนั้น มีสิ่งหนึ่งที่เราแทบจะไม่ยอมนึกถึงวันที่จะต้องพลัดพรากจากมันไป สิ่งนั้นคือชีวิตของเราเอง

    ชีวิตเราไม่ว่าจะยืนยาวแค่ไหน สักวันหนึ่งก็ต้องสิ้นสุด ความตายเป็นสิ่งที่เราหลีกหนีไม่พ้น นี้คือความแน่นอนที่ต้องบังเกิดขึ้น แต่น่าแปลกที่ผู้คนเป็นอันมากไม่ค่อยนึกถึงเรื่องนี้เท่าไร หลายคนมีชีวิตราวกับลืมไปว่าตัวเองจะต้องตาย เอาแต่เที่ยวเตร่สนุกสนานราวกับว่าความสนุกสนานจะช่วยตนเองได้ในวาระสุดท้ายของชีวิต หลายคนง่วนกับการสะสมทรัพย์สมบัติ ราวกับว่าจะสามารถเอามันไปได้หลังตายไปแล้ว

    ทุกวันนี้ผู้คนพากันวางแผนกับสิ่งต่าง ๆ มากมายในชีวิต วางแผนการศึกษา วางแผนครอบครัว วางแผนสร้างบ้าน วางแผนงานการ ฯลฯ แต่แทบไม่ได้วางแผนที่จะเผชิญกับความตายเลย เราให้เวลากับการฝึกฝนอบรมสารพัด เช่น ฝึกทำอาหาร ฝึกขับรถ ฝึกตีกอล์ฟ ฝึกปีนเขา ฯลฯ แต่น้อยมากที่จะให้เวลาสำหรับการฝึกฝนตระเตรียมตนเองในวาระสุดท้ายของชีวิต เราเตรียมตัวสำหรับการสอบมากมาย เช่น สอบเข้าโรงเรียน สอบเข้ามหาวิทยาลัย สอบเข้าทำงาน สอบชิงทุนไปนอก แต่มีใครบ้างไหมที่เตรียมตัวสำหรับการสอบครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต

    ความตายเป็นบททดสอบที่สำคัญที่สุดของชีวิต บททดสอบทั้งหลายนั้น หากสอบตก เรายังสามารถสอบใหม่ได้ แต่บททดสอบที่ชื่อว่าความตายนั้น เรามีโอกาสสอบได้ครั้งเดียวเท่านั้น หากสอบตก ก็ไม่สามารถสอบแก้ตัวได้เลย ยิ่งไปกว่านั้นความตายยังเป็นบททดสอบที่ยากที่สุดในชีวิต และสามารถเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า และไม่ทันให้ตั้งตัว อีกทั้งยังเกิดในสถานการณ์ที่เราไม่อาจควบคุมได้เลย ไม่ว่าเวลา สถานที่ หรือแม้กระทั่งอาการที่เกิดกับร่างกายและจิตใจของเราเอง บททดสอบชนิดนี้มีบทลงโทษที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับผู้ที่สอบตก ความทุกข์จากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือสมัครงานไม่ได้เทียบไม่ได้เลยกับความทุกข์จากการไม่พร้อมเผชิญความตาย

    ไม่มีใครสามารถเลือกได้ว่าจะตายอย่างไร มีเงินหรืออำนาจมากมายเพียงใดก็ไม่มีหลักประกันว่าจะได้ตายดี และเมื่อวาระสุดท้ายใกล้มาถึง ทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็ช่วยได้น้อยมาก แม้เงินจะซื้อเทคโนโลยีที่ล้ำยุคที่สุดได้ แต่อย่างมากที่สุดก็ช่วยได้แค่คลายความทุกข์ทรมานของร่างกายเท่านั้น แต่ไม่สามารถลดทอนความทุกข์ทรมานที่เกิดกับใจได้ ที่ร้ายก็คือความทุกข์ทางใจนั้นคือตัวการสำคัญที่ทำให้ผู้คนทุรนทุรายในวาระสุดท้ายของชีวิต หาใช่ความทุกข์ทางกายไม่ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เศรษฐีหมื่นล้านตายด้วยความทุกข์ทรมานท่ามกลางเทคโนโลยีทันสมัย ขณะที่ชาวนากลับตายอย่างสงบในกระท่อมทั้ง ๆ ที่ป่วยด้วยโรคชนิดเดียวกัน

    ชีวิตที่ปราศจากการเตรียมเผชิญความตายจึงเป็นชีวิตที่สุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง จัดว่าเป็นชีวิตที่ประมาท การเตรียมเผชิญความตายนั้นไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การตระเตรียมทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกหลาน จัดทำมรดก หรือเตรียมงานศพของตนเอาไว้ก่อนตายเท่านั้น จริงอยู่การตระเตรียมสิ่งภายนอกเป็นเรื่องจำเป็น แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือการตระเตรียมภายในคือใจของเราเอง ให้พร้อมเผชิญกับวาระสุดท้ายในชีวิตให้ได้ด้วย

    การเตรียมใจอย่างแรกก็คือการระลึกถึงความตายที่เรียกว่ามรณสติอยู่เสมอ คือระลึกว่าเราเองในที่สุดก็ต้องตาย แต่จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ อาจเป็นปีหน้า วันพรุ่งนี้ วันนี้ หรือชั่วโมงนี้ก็ได้ การระลึกถึงความตายอยู่เสมอทำให้เรายอมรับความตายของตนเองได้ง่ายเมื่อเวลานั้นมาถึง คนที่เป็นทุกข์ในยามใกล้ตายนั้นส่วนใหญ่มักเป็นเพราะไม่ได้นึกถึงความตายของตนไว้เลย จึงทำใจยอมรับความตายไม่ได้ เราจะยอมรับความตายของตนเองได้เมื่อระลึกนึกถึงมรณสติเสมอ
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    (ต่อ)
    มรณสติเป็นสิ่งที่พึงระลึกนึกถึงเสมอ และควรทำในทุกโอกาส อย่างน้อยก่อนนอนก็เตือนใจตนเองว่านี้อาจเป็นการนอนครั้งสุดท้ายของเรา อาจไม่มีวันพรุ่งนี้อีก เมื่อตื่นขึ้นก็เตือนใจตนเองว่านี้อาจเป็นวันสุดท้ายของเรา เมื่อขึ้นรถ ลงเรือ ก็ให้ระลึกว่านี้อาจเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเรา

    มรณสติวิธีหนึ่งที่น่าลองทำกันดูก็คือ ให้นอนราบกับพื้นในห้องที่สงบสงัด ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่ปลายหัวจรดปลายเท้า ทิ้งน้ำหนักของร่างกายทุกส่วนลงพื้น กำหนดใจที่อยู่ที่ลมหายใจเข้าออกจนจิตสงบ จากนั้นให้จินตนาการว่าในอีก ๑-๒ ชั่วโมงข้างหน้านี้เราจะจากโลกนี้ไป จะไม่มีโอกาสได้พบพ่อแม่ ลูกหลาน มิตรสหาย หรือพูดคุยกับคนรักอีกต่อไป ทรัพย์สินทั้งหลายที่สะสมมาทั้งหมดจะต้องทิ้งไว้เบื้องหลัง จะไม่มีโอกาสได้ใช้อีกแล้ว งานการที่ทำค้างอยู่จะต้องปล่อยทิ้งไป ให้จินตนาการต่อไปว่าอีกไม่นานเราจะหมดลม ร่างกายจะนอนแน่นิ่งและแข็งทื่อไม่ต่างจากท่อนไม้ เบื้องหน้าหลังตายจะเป็นอะไร เราจะไปไหน ก็ไม่อาจรู้ได้

    จากนั้นให้ถามตนเองว่า เราพร้อมจะตายแล้วหรือยัง

    ถามต่อไปว่า มีอะไรบ้างที่สมควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ รู้สึกอย่างไรที่จะไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งเหล่านั้นอีกต่อไป

    ข้อสุดท้ายก็คือถามตัวเองว่า หากยืดชีวิตต่ออีก ๓ วันเราคิดจะทำอะไรบ้าง

    จากนั้นค่อย ๆ ลืมตาและลุกขึ้น ทบทวนดูว่าชีวิตที่ผ่านมาเราได้ทำสิ่งที่สมควรทำไปแล้วมากน้อยเพียงใด อะไรทำให้เราไม่ได้ทำในสิ่งที่สมควรทำ แล้วสิ่งที่เราคิดอยากจะทำในช่วง ๓ วันสุดท้ายล่ะ ในชีวิตที่ผ่านมาเราเคยทำบ้างหรือไม่ หรือผัดผ่อนมาตลอด และหากจะทำควรหรือไม่ที่จะต้องรอให้ถึง ๓ วันสุดท้ายก่อนจึงจะทำ หรือว่าควรทำเสียแต่วันนี้ เพราะในชีวิตจริงเราอาจไม่มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้า ๓ วันก่อนตายด้วยซ้ำ

    นอกจากการจินตนาการถึงความตายที่จะเกิดกับตนเองแล้ว เรายังควรนำโอกาสและสถานการณ์ต่าง ๆ มาเป็นเครื่องเตือนตนให้ระลึกถึงความตาย เช่น เวลาไปงานศพ ก็ควรระลึกว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องลงเอยเช่นเดียวกับผู้ที่นอนอยู่ในโลง เมื่อเห็นข่าวอุบัติเหตุหรือพิบัติภัยต่าง ๆ ก็ให้นึกน้อมในใจว่าสักวันหนึ่งเราอาจประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับผู้ที่เคราะห์ร้ายเหล่านั้นก็ได้ ไม่ควรอ้างว่าเหตุร้ายเหล่านั้นเป็นกรณีพิเศษที่จะไม่เกิดขึ้นกับเรา เพราะการคิดเช่นนั้นเป็นความประมาทอย่างหนึ่ง

    การนำเหตุร้ายเหล่านี้มาโยงกับตนเองแม้จะทำให้รู้สึกตื่นตระหนกหรือหดหู่อยู่บ้าง แต่ก็มีประโยชน์ตรงที่ช่วยกระตุ้นให้เราตื่นตัวและขวนขวายที่จะตระเตรียมตนเองให้พร้อมเผชิญกับเหตุร้ายเหล่านี้ หาไม่แล้วเราก็จะเพลิดเพลินไปกับความสนุกสนานหรืองานการที่กำลังทำอยู่เฉพาะหน้า จนไม่มีเวลาเตรียมตัวกับเรื่องไม่คาดฝัน

    ในทำนองเดียวกันเมื่อไปเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระยะสุดท้าย นอกจากไปให้กำลังใจเขาแล้ว เราควรได้ประโยชน์กับตนเอง ด้วยการระลึกว่าเราอาจต้องมานอนป่วยเช่นเดียวกับเขาไม่วันใดก็วันหนึ่ง จากนั้นให้ถามตนเองต่อไปว่าเราพร้อมที่จะรับมือกับภาวะดังกล่าวแล้วหรือยัง อะไรบ้างที่เราสามารถเรียนจากเขา ไม่ว่าเขาจะอยู่ในอาการทุรนทุรายหรือมีอาการสงบนิ่ง เขาก็สามารถเป็นครูสอนเราได้ทั้งสิ้นว่า อะไรที่ควรหลีกเลี่ยง อะไรที่ควรกระทำ

    การหมั่นพิจารณามรณสติ จะทำให้เรารู้จักใช้ประโยชน์จากการสูญเสียสิ่งรักสิ่งหวงแหน แทนที่จะเอาแต่ทุกข์ไปกับเหตุการณ์ดังกล่าว ควรถือว่าความสูญเสียเหล่านั้นมิใช่อะไรอื่นหากคือสัญญาณเตือนภัยว่าสักวันหนึ่งเราจะต้องประสบกับความสูญเสียที่ใหญ่หลวงกว่านั้น ถ้าหากเรายังทำใจกับความสูญเสียสิ่งรักสิ่งหวงแหนไม่ได้ เราจะรับมือกับความตายได้อย่างไร เพราะถ้าวันนั้นมาถึงเราจะต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่มี ไม่ว่าทรัพย์สมบัติ ครอบครัว คนรัก อำนาจ ตลอดจนชีวิตจิตใจและร่างกาย รวมทั้งโลกที่เรารู้จัก

    นอกจากการระลึกถึงความตายอยู่เสมอแล้ว เรายังสามารถเตรียมตัวเผชิญความตายได้ด้วยการหมั่นทำความดีอยู่เสมอ เพราะความดีนั้นช่วยเสริมสร้างคุณภาพจิต ให้มีความสงบเย็น และเป็นปกติ ขณะเดียวกันการละเว้นความชั่วก็ทำให้จิตไร้สิ่งเศร้าหมอง คุณภาพจิตเหล่านี้มีความสำคัญมากในวาระสุดท้ายของชีวิตเพราะช่วยประคองใจไม่ให้อารมณ์อกุศลเข้ามาครอบงำจนเกิดความทุกข์ทรมาน ขณะเดียวกันความอิ่มเอิบปีติก็จะเกิดขึ้นเมื่อระลึกถึงบุญกุศลที่ได้เคยทำ ทำให้จากไปอย่างสงบ ในทางตรงกันข้ามกับคนที่ทำความชั่วอยู่เป็นอาจิณ จิตจะเต็มไปด้วยอารมณอกุศล ในยามใกล้ตายบาปกรรมที่เคยกระทำจะมาปลุกเร้าอารมณ์อกุศลให้แผ่ซ่าน เช่น ความรู้สึกผิด ความหวาดกลัว ความตื่นตระหนก ความเคียดแค้นชิงชัง ซึ่งทำให้ทุรนทุรายและตายอย่างไม่สงบ

    ควบคู่ไปกับการทำความดีหมั่นบำเพ็ญกุศล ก็คือฝึกจิตอย่างสม่ำเสมอให้มีสติที่เข็มแข็งฉับไวหรือมีความตื่นรู้อยู่เป็นนิจ ในยามที่ร่างกายใกล้แตกดับ จิตจะแปรปรวนและง่ายที่จะเข้าไปในอารมณ์ที่เป็นอกุศล ซึ่งทำให้ทุกข์และทุรนทุรายมากขึ้น สติที่ฝึกฝนไว้ดีแล้วจะเป็นเครื่องรักษาใจไม่ให้ถลำจมในอารมณ์อกุศลทั้งหลาย และช่วยให้จิตใจเกิดความสงบเย็นเป็นสมาธิได้ง่าย ยิ่งศึกษาและปฏิบัติจนเกิดปัญญาคือความเข้าใจแจ่มชัดในความจริงของสิ่งทั้งปวง ก็จะปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ลงได้ง่ายดาย ไม่คิดเหนี่ยวรั้งสิ่งใด ๆ ไว้แม้กระทั่งร่างกายหรือชีวิต เพราะตระหนักชัดว่าสิ่งทั้งปวงล้วนไม่เที่ยงและไม่น่ายึดถือแต่อย่างใด ความตายจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอีกต่อไป และดังนั้นจึงพร้อมรับความตายได้อย่างสงบ ไม่ต่างจากคนที่เมื่อได้ยินระฆังเลิกงานก็วางงานลงและกลับบ้านโดยไม่มีความรู้สึกอาลัยแต่อย่างใด

    การเผชิญกับความตายด้วยใจสงบย่อมช่วยให้ไปสู่สุคติหรือภพภูมิที่ดีงาม แต่สำหรับคนที่ไม่เชื่อในเรื่องภพภูมิหลังจากชีวิตนี้ การเตรียมใจต้อนรับความตายก็ยังมีประโยชน์อยู่นั่นเอง เพราะช่วยให้ชีวิตในวาระสุดท้ายเป็นไปอย่างไม่ทุกข์ทรมาน แม้กายจะเจ็บปวดแต่ใจไม่ทุรนทุราย ยิ่งไปกว่านั้นใจที่สงบยังช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทางกายจนอาจไม่ต้องอาศัยยาเลยด้วยซ้ำ พึงระลึกว่าความสงบระงับทางใจนั้นไม่มีเทคโนโลยีใด ๆ จะช่วยได้ แม้มีเงินมากมายเพียงใดก็ไม่สามารถซื้ออาการดังกล่าวได้ มีแต่การฝึกฝนตระเตรียมตนเองไว้ก่อนเท่านั้นที่จะช่วยให้ใจเข้าถึงภาวะดังกล่าวได้

    นอกจากช่วยให้ตายอย่างสงบแล้ว การเตรียมใจพร้อมรับความตายอยู่เสมอด้วยวิธีที่กล่าวมายังมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในขณะที่ยังเป็นปกติอีกด้วย เพราะแม้เราจะยังห่างไกลจากความตาย แต่ก็ต้องประสบกับความพลัดพรากสูญเสียและความไม่สมหวังอยู่เนือง ๆ เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น การระลึกถึงความตายจะทำให้เราตระหนักว่าการสูญเสียเงิน โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ การล้มละลาย หรือความผิดหวังในรัก นั้นยังนับว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความตายที่จะมาถึง การระลึกเช่นนี้จะทำให้เรายอมรับกับความสูญเสียสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

    ขณะเดียวกันการทำความดี ละเว้นความชั่ว และการฝึกจิตให้มีความตื่นรู้อยู่เสมอก็ช่วยให้เรามีชีวิตที่ผาสุกและจิตใจสงบเย็นเป็นรางวัลทันที โดยไม่ต้องคอยรับผลเมื่อใกล้จะตาย การเตรียมตัวตายตามนัยที่กล่าวมาจึงไม่เพียงช่วยให้ตายดีเท่านั้น แต่ยังช่วยให้อยู่ดีด้วย ถ้าการรู้จักดำเนินชีวิตให้มีความสุขและปลอดพ้นจากความทุกข์หมายถึงการ “อยู่เป็น” ก็หมายความว่าการเตรียมตัวตายไม่เพียงช่วยให้เรา “ตายเป็น” หรือตายอย่างสงบเท่านั้น หากยังช่วยให้ “อยู่เป็น”ด้วย

    ความตายนั้นเป็นหน้าที่ของทุกชีวิต ไม่มีผู้ใดจะหลบเลี่ยงหน้าที่นี้ไปได้ แต่ธรรมชาติไม่ได้มีแต่ด้านลบอย่างเดียว เพราะขณะที่เรามีหน้าที่ต้องตายนั้น เราก็มีสิทธิที่จะตายอย่างสงบด้วยในเวลาเดียวกัน นี้เป็นสิทธิที่มีกับคนทุกเพศทุกวัย ไม่เลือกว่ารวยหรือจน ราชาหรือยาจก แต่สิทธินี้จะได้มาก็ต่อเมื่อเราทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ถ้าเราเตรียมตัวตายอย่างดีที่สุด สิทธิที่จะตายอย่างสงบก็เป็นอันหวังได้ คำถามก็คือเราพร้อมและมีคุณสมบัติพอที่จะใช้สิทธิอันทรงคุณค่านี้หรือไม่
    :- https://visalo.org/article/dhammamata550601.htm
    .... . EndLineMoving.gif

     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    รู้ทุกข์ พบธรรม
    พระไพศาล วิสาโล
    พุทธศาสนานั้นพูดถึงความทุกข์ไว้มาก จนมีความเข้าใจในหมู่คนจำนวนไม่น้อยว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแบบทุกข์นิยม หรือมองโลกในแง่ร้าย ที่จริงแล้วที่ท่านพูดถึงทุกข์ไว้มากก็เพราะทุกข์กับธรรมะมีความสัมพันธ์กันมาก สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดจนแยกไม่ออก จะเข้าถึงธรรมได้ก็ต้องเจอทุกข์เสียก่อน ถ้าไม่เจอทุกข์ก็เข้าถึงธรรมหรือพบธรรมได้ยาก ในแง่หนึ่งก็เพราะว่าทุกข์เป็นตัวผลักให้เราเข้าหาธรรมะ ถ้าสุขสบายดีก็ไม่รู้สึกว่าจะต้องเข้าหาธรรมะ แต่พอเจอทุกข์ก็อยู่เฉยไม่ได้ ต้องเข้าหาธรรมะ เหมือนกับว่าเจอร้อนแล้วก็ต้องไปหาน้ำมาดับร้อน หรือเข้าหาที่ที่สงบเย็น ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แม้แต่สัตว์เองก็เหมือนกัน เราสังเกตไหมว่าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น โดยเฉพาะในเมือง มักจะมีหมาข้างถนนมานอนหน้าร้าน เพราะอะไร ก็เพราะมันเย็น พอประตูเปิด แอร์เย็น ๆ ก็จะโชยออกมา

    คนจำนวนไม่น้อยพบธรรมเพราะถูกความทุกข์ผลักดัน อย่างเช่นท่านโกเอ็นก้า ท่านเป็นคฤหัสถ์ที่มีบทบาทสำคัญมากในการเผยแผ่ธรรมะให้แพร่หลายไปทั่วโลก คำว่าวิปัสสนาเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกก็เพราะศูนย์วิปัสสนาของท่านโกเอ็นก้า เดี๋ยวนี้พอพูดกับฝรั่งว่าวิปัสสนาก็ไม่ต้องแปลความหมายแล้ว เพราะเขาเข้าใจ จนบางทีเข้าใจว่าหมายถึงการปฏิบัติแนวของท่านโกเอ็นก้าอย่างเดียว ที่จริงแล้วคำว่าวิปัสสนามีความหมายกว้างกว่านั้น การที่ท่านโกเอ็นก้าหันมาสนใจพุทธศาสนา จนกระทั่งกลายเป็นครูบาอาจารย์ที่สำคัญก็เพราะว่าท่านมีความทุกข์ คือท่านเป็นไมเกรนตั้งแต่ยังหนุ่ม ตอนอายุ ๓๐ กว่า ท่านเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในพม่า แต่ท่านไม่มีความสุข ทั้ง ๆ ที่มีทั้งเงินและชื่อเสียง สาเหตุก็เพราะปวดไมเกรน รักษาเท่าไรก็ไม่หาย เงินมีมากมายแต่รักษาไมเกรนไม่ได้ บังเอิญมีคนแนะนำให้ท่านไปลองทำสมาธิ ตอนนั้นท่านก็ไม่เคยรู้จักสมาธิมาก่อน พอมีคนแนะนำก็เลยไปฝึกกับอาจารย์วิปัสสนาซึ่งเป็นฆราวาสชื่อท่านอูบาขิ่น ปรากฏว่าทำไปแล้วได้ผล คือไมเกรนหาย พอหายก็เกิดศรัทธาในสมาธิภาวนา จึงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งกลายเป็นผู้ช่วยอาจารย์วิปัสสนา จากนั้นก็กลายเป็นอาจารย์วิปัสสนาเสียเอง

    ต่อมาท่านได้ทราบว่าคุณแม่กำลังป่วยหนัก ท่านจึงย้ายไปอินเดียเพื่อสอนวิปัสสนาให้แก่คุณแม่ แต่พอไปถึงอินเดียก็ไม่ได้สอนวิปัสสนาให้บุพการีเท่านั้น แต่ยังสอนให้ผู้คนวงกว้างด้วย เพราะว่าอินเดียไม่ค่อยมีอาจารย์ด้านวิปัสสนา ท่านมีชื่อเสียงที่อินเดียก่อน จากนั้นก็เดินทางไปสอนวิปัสสนาในในยุโรปและอเมริกา ทำให้ท่านมีชื่อเสียงก้องโลก และทำให้ธรรมะเผยแพร่ไปทั่วโลก นี่เป็นตัวอย่างของการที่ทุกข์ผลักดันให้พบธรรมะ ไม่ว่าความเจ็บป่วย หรือการถูกบีบบังคับให้พลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอน ล้วนเป็นผลดีต่อธรรมะทั้งสิ้น

    มีหลายคนที่มาพบธรรมะได้ก็เพราะความเจ็บความป่วย โดยเฉพาะโรคมะเร็ง เพราะเป็นโรคที่ถึงตาย รักษาได้ยาก ใครที่เป็นแล้วก็จะนึกถึงความตาย และเห็นว่าธรรมะเท่านั้นที่จะช่วยบำบัดความทุกข์ ทำให้ใจสงบได้ เพราะหวังพึ่งยาไม่ค่อยได้แล้ว หลายคนถ้าไม่เป็นมะเร็งก็ไม่เข้าวัดปฏิบัติธรรม เมื่อพบธรรมะและความสงบในจิตใจ บางคนถึงกับขอบคุณโรคมะเร็ง เพราะถ้าไม่เป็นโรคนี้ก็ไม่มีทางได้พบธรรมะซึ่งเป็นหนทางพาไปสู่ความสุขที่ประเสริฐ หรือได้พบคำตอบว่าเกิดมาทำไม อะไรคือคุณค่าและความหมายของชีวิต

    การที่ธรรมะได้รับความนิยมมากในเมืองไทยในปัจจุบันนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ ที่ทำให้หลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่ใช่แค่สิ้นเนื้อประดาตัวอย่างเดียว แต่ยังมีทุกข์ท่วมท้นใจ หลายคนไม่รู้จะไปไหน จึงต้องใช้ธรรมะดับความทุกข์ กลายเป็นผู้ใฝ่ธรรม ฆราวาสหลายคนที่มีชื่อเสียงด้านธรรมะ ก็เป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ นั้นเอง หากเขายังมีความเจริญรุ่งเรืองในทางธุรกิจ ก็คงไม่เหลียวแลธรรมะ เพราะคิดว่าความรู้ที่ตัวเองมี กิจการที่ตัวเองมี หรือทรัพย์สินเงินทองที่ตัวเองมีมากมายนั้น เป็นที่พึ่งของชีวิตได้ แต่พอสูญเสียสิ่งเหล่านี้จนแทบไม่เหลือ ก็ต้องอาศัยธรรมะเป็นที่พึ่งแทน

    บางคนเสียคนรัก เสียพ่อ เสียแม่ เกิดความเศร้าโศกเสียใจ จึงต้องไปหาธรรมะมาดับความทุกข์ในใจ บางคนก็เสียลูก มีผู้หญิงคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นลูกชายอายุ ๑๕ ปี มาขออนุญาตเธอไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย เธอเห็นว่าลูกเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ มีความใฝ่รู้ พึ่งตัวเองได้ อีกทั้งอินเดียเป็นประเทศที่น่าจะทำให้ลูกได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง รวมทั้งภาษาอังกฤษด้วย จึงอนุญาตให้ลูกไป แต่พอลูกไปอินเดียได้ไม่กี่เดือน ก็ปรากฏว่าจมน้ำตาย พอแม่ได้ข่าวก็ช็อคเลย ไม่ได้แค่เสียใจที่ลูกตาย แต่รู้สึกผิดด้วยว่าตัวเองมีส่วนทำให้ลูกตาย เธอโทษตัวเองว่าถ้าไม่อนุญาตให้ลูกไปอินเดีย ลูกก็จะไม่ตาย เธอได้แต่ลงโทษตัวเอง หัวใจแทบจะสลาย เสียศูนย์อยู่เป็นปี โดยไม่รู้สึกดีขึ้น สุดท้ายก็เลยต้องเข้าหาธรรมะ

    พอได้เรียนรู้เรื่องธรรมะเธอก็เข้าใจเลยว่า ความพลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดาของชีวิต คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ไม่มีใครหนีพ้น บางคนตายเร็ว บางคนตายช้า ขึ้นอยู่กับกรรมที่ได้ทำไว้ เพราะทุกคนมีกรรมเป็นของตน คนเรามาเจอกัน มีชีวิตอยู่ด้วยกันก็เพียงแค่ชั่วคราว สักวันหนึ่งก็ต้องจากกัน พอเธอเห็นความจริงเช่นนี้ก็คลายความเศร้าโศกลงได้

    ขณะเดียวกัน การเจริญสมาธิภาวนา ก็ทำให้เธอรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัว ความเศร้าโศกเสียใจก็ดี ความรู้สึกผิดก็ดี แต่ก่อนมันกัดกินใจเธอมาก แต่ตอนหลังก็ทำร้ายจิตใจเธอได้น้อยลง เพราะรู้ทันมัน พอมันเกิดขึ้น ก็มีสติเห็นมัน ไม่จมเข้าไปในอารมณ์นั้น สติยังช่วยให้เธอเห็นว่ามันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ยึดเหนี่ยวอารมณ์นั้นเอาไว้ให้หนักอกหนักใจอีกต่อไป จิตใจเธอจึงเบา สบาย โปร่ง โล่ง เดี๋ยวนี้พอเธอนึกถึงลูกก็ไม่เสียใจแล้ว เพราะเข้าใจและทำใจได้ ทุกวันนี้เทอจึงมีจิตใจที่เบาสบายยิ่งกว่าตอนที่ยังไม่เสียลูกไปเสียอีก ตอนที่ลูกยังไม่เสีย เธอก็มีความทุกข์ตามประสาปุถุชน ถึงแม้ตอนนี้ยังเป็นปุถุชนอยู่ แต่ก็สามารถปล่อยวางได้มากขึ้น จึงขอบคุณลูกที่ทำให้แม่ได้พบธรรมะ เธอบอกว่าความตายของลูกนับว่าคุ้มค่ามาก เพราะทำให้แม่ได้มาพบธรรมะอันประเสริฐยิ่ง คงมีแม่ไม่กี่คนที่กล้าพูดว่าขอบคุณความตายของลูก เพราะว่าความตายของลูกนั้นใหญ่หลวงมาก แต่เธอก็สามารถพูดได้เต็มปาก เพราะว่าสิ่งที่ได้พบ ซึ่งเป็นผลจากการสูญเสียลูกนั้นมีคุณค่ามากเหลือเกิน

    มีผู้หญิงคนหนึ่งต้องพบเจอกับความทุกข์แบบที่เรียกได้ว่าน้อยคนจะได้เจอ เธอเป็นสาวสวย ตอนอายุ ๒๑ ปี เป็นดาวมหาวิทยาลัย ต่อมาเธอได้รู้จักผู้ชายคนหนึ่งทางอินเทอร์เน็ต ติดต่อกันสักระยะหนึ่ง ผู้ชายคนนั้นก็หลงรักเธอทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยเจอตัวกัน พอได้เจอตัวกันก็ยิ่งหลงรักมากขึ้น แต่เธอบอกกับชายคนนั้นว่าเธอไม่ได้รักเขา ผู้ชายคนนั้นโกรธมาก ถึงกับเอาน้ำกรดสาดหน้าเธอจนเสียโฉมไปทั้งใบหน้า และยังทำให้ตาบอดไปอีกข้างหนึ่งด้วย คนที่เคยภูมิใจกับความสวยงามของตน พอถูกน้ำกรดทำลายให้เสียโฉมอย่างนี้ ก็ไม่อยากมีชีวิตอยู่ทั้งนั้น เธอก็เช่นกัน คิดถึงการฆ่าตัวตาย แต่พอนึกถึงแม่แล้วก็เปลี่ยนใจ ไม่อยากทำร้ายตัวเอง เพราะจะทำให้แม่เสียใจ

    เธอตัดสินใจย้ายบ้าน เพราะอับอายคนที่เคยรู้จักเธอและเห็นใบหน้าที่สะสวยของเธอมาก่อน แต่แม้จะย้ายบ้านเธอก็มีความทุกข์มาก อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป ๓-๔ ปี เธอกลับกลายเป็นคนใหม่ ไม่รู้สึกอับอายกับใบหน้าที่เสียโฉมอีกแล้ว ปล่อยวางได้ ทุกวันเธอนั่งรถไฟฟ้าไปทำงาน มีคนมาทักเธอ เธอก็ไม่รู้สึกอับอาย พูดคุยกับเขาด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เธอมีอาชีพเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารแห่งหนึ่ง มีความสุขกับการทำงาน เพราะเจ้านายก็ดี เพื่อนร่วมงานก็ดี

    เคยมีคนมาถามเธอว่าโกรธคนที่เอาน้ำกรดมาสาดหน้าหรือไม่ เธอบอกว่าไม่โกรธเลย ต้องขอบคุณเขาด้วยซ้ำ ที่ทำให้เธอเป็นแบบนี้ เธอบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลดีแก่เธอหลายอย่าง คือ ทำให้เธอมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ถ้าเธอหน้าตาไม่เสียโฉมก็คงจะไม่อยู่ติดบ้าน เพลิดเพลินกับแสงสี แต่พอเป็นอย่างนี้แล้วเธอจึงอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ที่สำคัญก็คือ เหตุการณ์นั้นทำให้เธอมีความคิดเป็นผู้ใหญ่ ทำให้เธอได้คิดว่า ทุกอย่างมันไม่เที่ยง มีวันหมดอายุ เธอบอกว่า “ถ้าเราไม่สูญเสียตรงนี้ อนาคตเราแก่ไป มันก็ต้องไปตามกาลเวลา มันก็ทำให้เราปล่อยวาง พอเราปล่อยวางเรื่องตัวของตัวได้ เวลาเจอเรื่องอะไรที่มันแย่ ๆ หรือมีคนพูดไม่ดี เราก็ไม่สนใจ เพราะเราไม่ได้ยึดติดตรงนั้นแล้ว” นี้เป็นตัวอย่างของคนที่เจอทุกข์แล้วจึงได้พบธรรมะ

    ที่จริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างทุกข์กับธรรมะไม่ได้มีเพียงเท่านั้น หากใคร่ครวญให้ดีจะเห็นว่าการเจอทุกข์ช่วยให้ได้เห็นธรรมะแจ่มแจ้งโดยตรง ยกตัวอย่างเรื่องของนางกีสาโคตมี ที่เสียลูกไป หากนางไม่เสียลูกไปก็คงจะไม่เห็นว่าสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง ที่จริงแล้วนางเป็นคนฉลาด แต่ว่ายากที่จะพบธรรมได้หากไม่เสียลูก ลูกของนางยังเล็ก กำลังน่ารัก พอนางต้องเสียลูกไปก็เห็นเลยว่าคนเราหนีความพลัดพรากสูญเสียไม่พ้น นางยอมรับได้ว่าทุกคนต้องตาย ทุกคนต้องสูญเสียคนรัก หรือสิ่งอันเป็นที่รัก พอนางเผาลูกของตนเองแล้วก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์แสดงธรรมเพียงแค่ไม่กี่ประโยคเท่านั้น ชี้ให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของชีวิต นางก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันทันที ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะนางได้เจอได้เจอความทุกข์มาด้วยตนเอง จึงเข้าใจธรรมะของพระพุทธองค์อย่างแจ่มแจ้ง ถ้านางไม่พบเจอความสูญเสียด้วยตนเอง ฟังไปก็แค่เข้าใจ คงไม่เกิดปัญญาถึงขั้นที่จะบรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    (ต่อ)
    เช่นเดียวกับนางปฏาจารา ซึ่งไม่ใช่เสียลูกเพียงคนเดียว แต่เสียสามี และเสียพ่อเสียแม่ด้วย ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ก็ถูกไฟเผาผลาญจากฟ้าผ่า เรียกว่าสิ้นเนื้อประดาตัว การสูญเสียทั้งหมดเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันในเวลาอันรวดเร็วมาก นางไม่เหลือใครเลย จนกระทั่งแทบจะเป็นบ้า พอนางได้มาพบพระพุทธเจ้า พระองค์ก็พูดเตือนสติ พอนางตั้งสติได้ พระองค์ก็ทรงแสดงธรรมเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องความเป็นทุกข์ของชีวิต เรื่องความไม่เที่ยงของสังขาร นางก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันทันที คือถ้าไม่เจอทุกข์ด้วยตนเองก็ไม่มีทางที่จะซาบซึ้งถึงธรรมได้

    พระเถรีบางท่านแก่หง่อม เดินไปไหนมาไหนก็ต้องกระย่องกระแย่ง มีไม้เท้ายัน คราวหนึ่งเดินพลาด หกล้ม ตัวกระแทกพื้น เจ็บปวดมาก แต่ท่านมีสติจึงเห็นชัดว่าสังขารเป็นทุกข์ ไม่น่ายึดถือเลย เกิดปัญญา ปล่อยวางสังขารทั้งปวง ก็บรรลุธรรม เรียกว่าท่านบรรลุธรรมได้เพราะความทุกข์ สำหรับบางคนแม้ไม่บรรลุธรรมถึงขั้นเป็นพระอริยเจ้า แต่ความทุกข์ก็สามารถสอนธรรมจนปล่อยวางได้มาก เช่น ตอนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ ผู้คนสูญเสียทรัพย์สมบัติไปมากมาย แต่มีบางคนได้ธรรมะเป็นรางวัล เพราะได้เห็นอย่างชัดเจนจากเหตุการณ์นี้ว่าแท้จริงแล้วไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลยสักอย่าง ทรัพย์สมบัติที่อยู่กับเราเป็นของชั่วคราวเท่านั้น ไม่นานก็ต้องพรากจากกัน ถึงแม้จะไม่มีคนเอาไป ก็อาจถูกน้ำพัดพาไป อันนี้เป็นตัวอย่างธรรมะที่สามารถเห็นได้จากน้ำท่วม ใครที่ไม่เจอธรรมะแบบนี้ก็ถือว่าขาดทุน คือทั้งเสียทรัพย์และเสียใจด้วย แต่ถ้าใครเจอทุกข์แล้วเห็นธรรมก็เรียกได้ว่าคุ้มมาก

    ขอให้พิจารณาดูว่าความทุกข์นั้นไม่ใช่เป็นสิ่งเลวร้ายอย่างเดียว มันสามารถนำสิ่งดี ๆ มาให้แก่ชีวิตของเราได้ โดยเฉพาะธรรมะ ความทุกข์สามารถเขย่าใจของเราให้เกิดปัญญาจนเห็นธรรมะได้ เพราะฉะนั้น เวลาเราเจอความทุกข์ อย่ามัวตีอกชกหัวว่าทำไมเราถึงมีเคราะห์กรรมอย่างนี้ จะคิดแบบนั้นก็ได้ ถ้าคิดแล้วทำให้รู้สึกว่าต้องเข้าหาธรรมะเพื่อดับความทุกข์ในจิตใจ แต่จะดีกว่าหากว่าเวลามีความทุกข์เกิดขึ้นเราพยายามหาประโยชน์จากมัน ถ้ามองดูให้ดีจะเห็นว่าความทุกข์ล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้น ไม่ใช่แค่ประโยชน์ในทางโลกอย่างเดียว เช่น พอเราป่วยก็มีคนมาเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ แต่ว่ามันยังสามารถทำให้เราได้เห็นธรรมะที่ลึกซึ้ง ยิ่งทุกข์มาก โอกาสที่จะเห็นความจริงที่ลึกซึ้งก็มากขึ้น

    มีผู้หญิงคนหนึ่ง วันหนึ่งพบว่าสามีที่อยู่ด้วยกันมา ๑๐ กว่าปีนอกใจ เธอโกรธแค้นมาก ถึงกับเรียกสามีว่ามึง และด่าว่าเป็นหมูเป็นหมาไปเลย สุดท้ายก็เลิกกัน พอหย่ากันเสร็จเธอก็สบายใจ รู้สึกแปลกใจด้วยซ้ำที่ทำใจได้ ไม่ระทมทุกข์ โศกเศร้า เธอเข้าใจว่าเป็นผลของการปฏิบัติธรรม จึงปล่อยวางได้เร็ว แต่ที่ไหนได้ ๒-๓ เดือนต่อมาเธอไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ๗ คืน ๘ วัน ปรากฏว่าเพียงแค่วันแรกเท่านั้น จิตใจเธอก็รุ่มร้อนมาก เพราะใจนึกถึงพฤติกรรมของอดีตสามี ยิ่งนึกก็ยิ่งแค้น เพราะรู้สึกว่าถูกหักหลัง ถูกหลอกลวง ที่เคยคิดว่าตัวเองปล่อยวางได้ ที่จริงไม่ใช่ แต่เป็นเพราะว่าใจยังไม่ว่างต่างหาก มัวทำโน่นทำนี่ ใจก็เลยไม่ได้คิดถึงเรื่องสามี แต่พอมาปฏิบัติธรรมแล้วใจก็ว่าง จึงเอาเรื่องเก่า ๆ มาคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งแค้น

    ปฏิบัติธรรมวันที่ ๒ ก็ยังรู้สึกรุ่มร้อน วันที่ ๓ ก็ยังร้อนอยู่เพราะเรื่องเดิม พอถึงวันที่ ๔ เช้าวันนั้นเธอเดินจงกรมโดยเอามือกุมไว้ข้างหน้า พอเดินไปหนึ่งชั่วโมงก็รู้สึกเมื่อยมือ จึงปล่อยมือลง พอปล่อยแล้วก็รู้สึกสบายทันที ขณะนั้นเองเธอก็ได้คิดว่าปล่อยเมื่อไรก็สบายเมื่อนั้น ถ้ายึดเอาไว้มันก็ทุกข์ พอเห็นอย่างนี้เธอก็ปล่อยเรื่องของสามีไปจากใจทันที รู้สึกเบาสบายอย่างไม่เคยปรากฏ เธอได้เห็นตอนนั้นอย่างแจ่มแจ้งว่า ทุกข์เพราะยึด สุขเพราะปล่อย

    ตอนที่เธอนึกถึงสามีนั้น เธอลืมตัว ทั้ง ๆ ที่คิดแล้วก็ทุกข์แต่ก็ยังคิดไม่หยุด เพราะลืมตัว แต่พอรู้ตัวขึ้นมาหลังจากที่ปล่อยมือแล้วสบาย เธอก็ปล่อยวางเรื่องสามีไปทันที เพราะรู้ว่าคิดไปก็ไม่มีประโยชน์ มันผ่านไปแล้ว จะคิดไปทำไม แต่ตอนคิดนั้นไม่รู้ตัวเลย เรื่องนี้ยังชี้ให้เห็นว่าความทุกข์นั้นเกิดขึ้นเพราะใจที่หมกมุ่นยึดติดกับอดีต แม้สามีจะนอกใจ แต่ถ้าไม่เอามาคิด ก็ไม่ทุกข์

    ทุกข์เพราะยึด สุขเพราะปล่อย คือธรรมที่ผู้หญิงคนนี้เห็น เนื่องจากเจอทุกข์ด้วยตนเอง ถ้าไม่เจอทุกข์ก็ไม่เห็นธรรม ทุกข์มีประโยชน์ตรงนี้เอง ดังนั้นเวลาเราเจอความทุกข์ต้องรู้จักหาประโยชน์หรือใช้ประโยชน์จากมันให้ได้ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายถึงพูดเรื่องความทุกข์ไว้มาก ก็เพราะว่าทุกข์กับธรรมะนั้นใกล้กันมาก ถ้าเจอทุกข์ก็จะมีแรงผลักให้เข้าหาธรรมะ ยิ่งถ้าเราเห็นทุกข์ด้วยสติ หรือใคร่ครวญทุกข์ด้วยปัญญา ก็จะยิ่งพบธรรมะหรือความจริงที่ลึกซึ้ง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเมื่อรู้ทุกข์ก็พบธรรม

    เพราะฉะนั้นเมื่อเจอความทุกข์ก็ขอให้ตั้งสติดูใจของตน ที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์นั้นไม่ใช่เพื่อให้เราเป็นทุกข์ แต่เพื่อให้เรารู้จักทุกข์ อย่างน้อยก็เริ่มต้นจากการเห็นทุกข์ก่อน คนเราถ้าเห็นทุกข์แล้วจะไม่เป็นทุกข์ ส่วนผู้คนที่เป็นทุกข์นั้นก็เพราะไม่เห็นทุกข์ สังเกตหรือไม่เวลาเรามีความหงุดหงิด หรือความโกรธเกิดขึ้น ถามว่าทุกข์ไหม ทุกคนก็ทุกข์ทั้งนั้น แต่พอเรามีสติเห็นความหงุดหงิด เห็นความโกรธ ความทุกข์ก็จะดับไปเลย เพราะว่า “เห็น” ทุกข์ แต่ไม่ “เป็น”ทุกข์ หรือไม่ “เป็น”ผู้ทุกข์ คนส่วนใหญ่เวลามีความทุกข์แล้วก็จะเป็นผู้ทุกข์ไปเลย ไม่ใช่เห็นทุกข์

    เราต้องฉลาดในการเห็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นทุกข์ ต้องฉลาดที่จะเห็นความโกรธ ไม่ใช่เป็นผู้โกรธ ฉลาดที่จะเห็นความหงุดหงิด ไม่ใช่เป็นผู้หงุดหงิด แต่ส่วนใหญ่คนเราจะไม่เป็นอย่างนั้น พอเกิดความโกรธขึ้นก็เป็นผู้โกรธเลย พอโกรธแล้วก็ร้อน แต่บางทีไม่รู้สึกว่าร้อนด้วยซ้ำ เพราะว่าใจมัวหมกมุ่นอยู่กับการคิดด่าเขา สรรหาถ้อยคำเพื่อด่าเขาให้เจ็บแสบ หรือคิดหาวิธีแก้แค้น ร้อนก็ร้อน แต่ตอนนั้นใจไม่ได้รับรู้ความร้อนด้วย เพราะคิดแต่จะเล่นงาน ตอบโต้ แก้แค้นเขา อย่างนี้เรียกว่าทุกข์แต่ไม่รู้ว่าทุกข์

    เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าเมื่อมีทุกข์ สิ่งที่ต้องทำคือกำหนดรู้ทุกข์ อย่างที่เราสวดบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีตอนหนึ่งว่า “ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้” ไม่ใช่สิ่งที่ต้องละ สิ่งที่ต้องละคือสมุทัย ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ เมื่อเราเจอทุกข์ อย่างแรกที่ต้องทำคือรู้ทุกข์ คือรู้ว่ากำลังทุกข์อยู่ รู้ว่ากำลังโกรธ รู้ว่ากำลังหงุดหงิด เวลามีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นคนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว เพราะกำลังถูกอารมณ์ครอบงำอยู่ การมีสติจะช่วยให้เรารู้ทันอารมณ์เหล่านั้น เมื่อมีทุกข์ ก็รู้ว่าทุกข์ นี้คือความหมายแง่หนึ่งของ การรู้ทุกข์

    ต่อมาก็เห็นว่าที่กำลังทุกข์อยู่นั้นไม่ใช่เราทุกข์ มันเป็นกายที่ทุกข์ เป็นกายที่ปวด ไม่ใช่เราปวด ที่ร้อนนั้นไม่ใช่เราร้อน แต่เป็นกายที่ร้อน ที่โกรธก็ไม่ใช่เราโกรธ แต่เป็นจิตที่โกรธ ถ้าไม่มีสติก็ไม่เห็น หลงคิดว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ไปหมด ไปคิดว่าเราปวด เราเจ็บ เราโกรธ เราโมโห มีแต่ตัวเราเป็นผู้กระทำ แต่พอมีสติเราจะเห็นว่าที่จริงแล้วความปวดนั้นเป็นเรื่องของกาย ส่วนความโกรธเป็นเรื่องของใจ เวลาเดินก็เห็นว่า ที่เดินนั้นคือรูปหรือกาย ไม่ใช่เราเดิน เวลาเผลอคิด ก็เห็นว่าใจคิด ไม่ใช่เราคิด ต่อไปก็จะเห็นว่า เวลามีความโกรธเกิดขึ้น ไม่ใช่จิตโกรธหรอก แต่เห็นว่ามีความโกรธเกิดขึ้นที่ใจ ความโกรธก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง เวลาเมื่อยหรือเกิดทุกขเวทนา ก็จะเห็นว่าทุกขเวทนาก็อันหนึ่ง ร่างกายหรือรูปก็อันหนึ่ง คือจะเห็นแยกเป็นส่วน ๆ แต่ก่อนนั้นไม่ใช่อย่างนี้ คือ รู้สึกว่าฉันปวด ฉันเมื่อย ฉันโกรธ

    บ่อยครั้งเรามักจะเอาความทุกข์ของรูป ความทุกข์ของนาม มาเป็นความทุกข์ของเราหรือตัวเรา ที่จริงแล้วตัวเราหรือ “ตัวกู”นั้นไม่มีอยู่จริง แต่เกิดจากการปรุงแต่งขึ้นมา แล้วก็หลงคิดว่ามันมีจริง ๆ ตัวกูนี้แหละที่รับสมอ้างว่าเป็นเจ้าของความทุกข์ต่าง ๆ มากมาย ไปเอาความทุกข์ของกายมาเป็นความทุกข์ของกู ไปเอาความทุกข์ของใจมาเป็นความทุกข์ของกู ก็เลยทุกข์หนักขึ้น ที่จริงแล้วยิ่งทุกข์เท่าไร ยิ่งต้องสลัดความทุกข์ออกไป ไม่ใช่ดึงมาเป็นของกูหรือตัวกูตลอดเวลา แต่ถ้าเราเจริญสติ พอมีทุกข์ก็จะเห็นว่าที่ทุกข์นั้นไม่ใช่เราทุกข์ แต่เป็นกายที่ทุกข์ เป็นกายที่ปวด ที่โกรธก็ไม่ใช่เราโกรธ แต่เป็นใจที่โกรธ และต่อไปก็จะเห็นว่าความโกรธก็อันหนึ่ง ใจก็อันหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีสติ จิตก็จะไปรวมกับความโกรธ หรือสำคัญมั่นหมายว่าความโกรธเป็นกู แล้วก็เลยมีกูผู้ทุกข์ขึ้นมา

    ความรู้สึกว่า กูทุกข์ กูปวด กูโกรธ อุปมาเหมือนตัวเราไปอยู่กลางกองไฟ ก็ต้องร้อนจนทุกข์ทรมาน แต่พอก้าวออกมาจากกองไฟ ความทุกข์ทรมานก็จะหายไป กองไฟยังร้อนอยู่ ยังลุกโพลงอยู่ แต่เราไม่รู้สึกร้อนแล้ว เพราะว่าเราอยู่ห่างจากมัน จิตที่เห็นความโกรธก็เหมือนกับคนที่เดินออกมาจากกองไฟ แม้ความโกรธยังมีอยู่ แต่ไม่รู้สึกทุกข์แล้ว เพราะมันมีระยะห่างระหว่างจิตกับความโกรธ

    เวลามีความโกรธ ถ้าเรามีสติก็จะเห็นว่าความโกรธก็อันหนึ่ง ใจก็อันหนึ่ง จิตไม่ไปผสมโรงกับความโกรธ มันจะแยกออกมาเป็นผู้รู้ ผู้เห็น จิตเห็นความโกรธ แล้วจะทุกข์ร้อนได้อย่างไร สิ่งที่เราทำในเวลาเจริญสติก็คือเห็นอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายและใจ ไม่ว่าทุกข์เกิดขึ้นกับกายหรือใจ ก็เห็นมันเฉย ๆ ไม่ไปผสมโรงกับมัน แต่วางระยะห่างจากมัน เปรียบเหมือนกับการเดินออกมาจากกองไฟ มีระยะห่างระหว่างเรากับกองไฟ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ทุกข์อีกต่อไป ทีนี้พอเราไม่ทำอะไรกับมัน กองไฟก็ดับไป แต่ที่กองไฟมันยังลุกโพลงอยู่ก็เพราะเราคอยเติมเชื้อเติมฟืนให้มัน เราคิดถึงเรื่องที่โกรธเมื่อไรก็เท่ากับไปเติมเชื้อเติมฟืนให้กับความโกรธ เมื่อคิดถึงคนที่เราโกรธ ก็ยิ่งโกรธมากขึ้น คิดถึงคนที่เกลียด ก็ยิ่งเกลียดมากขึ้น นั่นคือการต่ออายุให้กับความโกรธความเกลียด

    ความโกรธความเกลียดเหมือนกับกองไฟ มันไม่ได้อยู่ถาวรตลอดกาล ไม่ช้าไม่นานมันก็ต้องมอดดับ แต่เป็นเพราะเราไปต่ออายุให้มัน ไปเติมฟืนเติมเชื้อให้มัน มันก็เลยลุกอยู่อย่างนั้น ต่อเมื่อเราวางเฉย เราเห็นมันเฉย ๆ ดูมันเฉย ๆ มันก็จะค่อย ๆ ดับไปเอง ทุกข์จะไม่ยืดยาวต่อไป

    สรุปก็คือ ที่ท่านสอนว่า ให้รู้ทุกข์ หรือกำหนดรู้ทุกข์นั้น คือ นอกจากรู้ว่าทุกข์คืออะไรแล้ว ยังหมายความว่า เมื่อทุกข์เกิดขึ้นก็ให้รู้ว่าตัวเองทุกข์ เวลาโกรธ ก็ให้รู้ว่าตัวเองกำลังโกรธอยู่ แล้วก็ควรรู้ไปถึงขั้นว่า ที่กำลังทุกข์อยู่นี้ไม่ใช่เราทุกข์ แต่เป็นรูปหรือกาย นามหรือใจที่ทุกข์ มันเป็นขันธ์ ๕ ที่ทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะเห็นธรรมชัดขึ้นเรื่อย ๆ รู้ทุกข์ขั้นสุดท้ายก็คือ รู้หรือเห็นว่าไม่มีอะไรที่ไม่ทุกข์เลย สังขารทุกอย่างเป็นทุกข์ไปหมด กายนี้ก็ทุกข์ ใจนี้ก็ทุกข์ ทุกข์ในที่นี้หมายถึงถูกบีบคั้น ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ มีแต่จะเสื่อมสลายดับไป ไม่มีอะไรที่จะให้ความสุขได้อย่างแท้จริง ทรัพย์สินเงินทองก็เป็นทุกข์ ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม มันเป็นทุกข์ไปหมด ก็เลยไม่อยากจะยึดหรือครอบครองอีกต่อไป
     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    (ต่อ)
    ที่เราหวงแหนสิ่งต่าง ๆอยากครอบครองมัน เพราะคิดว่ามันจะให้ความสุขกับเราได้ แต่พอเห็นว่าทุกอย่างมันเป็นทุกข์ไปหมด เหมือนกับดุ้นฟืนที่ติดไฟ ก็ไม่อยากจะจับหรือถืออีกต่อไป พอรู้ว่ามันเป็นของร้อนก็ปล่อยมันเอง ไม่จับแล้ว อันนี้คือการปล่อยวางเมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า โลกนี้มีแต่ทุกข์และความดับทุกข์ ที่ดับทุกข์ได้ก็เพราะปล่อย ที่ปล่อยก็เพราะเห็นและรู้ว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ นอกจากทุกอย่างจะถูกบีบคั้นจนแตกสลายในที่สุดแล้ว มันยังบีบคั้นผู้ที่ไปยึดถือมันด้วย ยิ่งยึดแน่นเท่าไร ก็ถูกบีบคั้นมากเท่านั้น การเห็นความจริงเช่นนี้ คือความหมายที่ลึกซึ้งของคำว่ารู้ทุกข์ พอรู้ทุกข์แล้วใจก็จะปล่อยวางเอง เกิดความอิสระขึ้นมา ได้พบกับสุดยอดของธรรม คือนิพพาน ซึ่งเป็นความสงบเย็น ทั้งหมดนี้เป็นผลของการรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง

    รู้ทุกข์ก็พบธรรม นี้คือความจริงที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายค้นพบ ดังนั้นความทุกข์จึงไม่ใช่สิ่งที่เราต้องกลัวและปฏิเสธเสมอไป มันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่ามากที่เราควรรู้จัก ถ้าเราเข้าใจเช่นนี้ก็จะไม่หันหลังให้ทุกข์แล้ว แต่เราจะหันหน้าดูทุกข์ เพื่อรู้จักมัน แล้วเราจะได้ประโยชน์จากมัน

    ทีแรกทุกข์จะผลักเราให้เข้าไปหาธรรมะ แต่ต่อไปเมื่อเรามีสติแก่กล้า เราก็จะรู้จักดูทุกข์ แล้วในที่สุดก็จะพบธรรมที่ลึกซึ้ง เกิดปัญญาจนพาใจออกจากความทุกข์ พบความสงบเย็นได้ในที่สุด
    :- https://visalo.org/article/dhammamata7_3.htm

    , . . RoseUnderline.gif
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    BuddhaSunrise.jpg
    ยอมรับได้ ใจก็ปล่อยวาง

    พระไพศาล วิสาโล
    ตอนที่สวนโมกข์เริ่มมีการสร้างถาวรวัตถุ เช่น โรงมหรสพทางวิญญาณ หรืออาคารต่าง ๆ ก็ดี อาคารแต่ละแห่ง ใช้เวลานานหลายปี เพราะว่าอาศัยกำลังพระเณรช่วยกันสร้าง ไม่มีการจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้างมาทำ พระเณรก็ทำกันวันละนิด วันละหน่อย

    คราวหนึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสสร้างอาคารชื่อว่า “ธรรมนาวา” เรียกสั้น ๆ ว่า “เรือ” เพราะมีรูปร่างคล้ายเรือ คราวหนึ่งมีลูกศิษย์มาเยี่ยมสวนโมกข์ เมื่อไปกราบท่านอาจารย์พุทธทาส ถามท่านว่าเรือสร้างถึงไหนแล้ว เสร็จหรือยัง อาจารย์พุทธทาสตอบว่าเสร็จแล้ว ชายคนนั้นก็แปลกใจ เพราะว่ามาสวนโมกข์เมื่อ ๒ เดือนก่อนก็เห็นว่ายังสร้างไปไม่ได้มากเท่าไร ทำไมเสร็จเร็วจัง จึงเดินไปดู ปรากฏว่าคืบหน้าไปได้ไม่มาก เขาจึงกลับมาหาท่านอาจารย์พุทธทาสและถามว่า เรือยังสร้างไปไม่ถึงไหนเลย ทำไมอาจารย์ถึงว่าเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์พุทธทาสตอบว่า “เสร็จแล้ว เสร็จจริง ๆ วันนี้เสร็จ พรุ่งนี้ก็เสร็จ มะรืนนี้ก็เสร็จ เสร็จทุกวัน”

    ชายคนนั้นคงง เพราะตามความเข้าใจของเขา คำว่าเสร็จก็คือเรียบร้อยสมบูรณ์ แต่สำหรับท่านอาจารย์พุทธทาส เสร็จในความหมายของท่าน คือ วางลงจากใจแล้ว ไม่เอามาเป็นเครื่องกังวลใจ หมายความว่า เวลาจะทำอะไรก็ตาม ก็ทำเต็มที่ แต่พอเลิกงาน ก็วางมันลง อย่างนี้เรียกว่าเสร็จ คนเราเวลาทำอะไรสำเร็จเสร็จสิ้น จะรู้สึกว่ามันเบา ไม่มีความวิตกกังวลอีกต่อไป ท่านอาจารย์พุทธทาสก็มีความรู้สึกอย่างนั้นทุกครั้งที่เลิกงาน ได้แค่ไหนก็แค่นั้น พอเลิกงานก็วางงานลงจากใจ ไม่ใช่แค่วางค้อน วางเครื่องไม้เครื่องมือเท่านั้น ใจก็วางด้วย เสมือนว่ามันเสร็จแล้ว ถึงเวลาไปทำสมาธิ ภาวนา ทำวัตรสวดมนต์ หรือพักผ่อน ก็ไม่เอางานมาครุ่นคิดให้หนักอกหนักใจ แม้จะยังไม่เสร็จสมบรูณ์ เวลาเข้านอนก็นอนด้วยใจที่ปลอดโปร่ง เพราะว่าวางทุกอย่าง เสมือนว่ามันเสร็จแล้ว อันนี้คือความหมายหนึ่งของการทำงานด้วยใจที่ปล่อยวาง

    พวกเราหลายคนพอมาปฏิบัติธรรม ก็นึกในใจว่า เมื่อไรคอร์สจะจบสักที อาจจะคิดอย่างนี้ทุกวันเลย ลองเอาคำสอนหรือคำแนะนำของท่านอาจารย์พุทธทาสไปใช้ก็ได้ คือว่า คอร์สนี้เสร็จทุกวัน ไม่ต้องไปคิดว่าอีกกี่วันถึงจะได้กลับบ้าน การคิดแบบนั้นมีแต่จะทำให้ทุกข์ และไม่ได้ช่วยให้เวลาผ่านไปเร็วขึ้นกว่าเดิม

    มิใช่แต่การปฏิบัติธรรมเท่านั้น ทำงานอย่างอื่นก็เช่นกัน เวลาเราทำงานก็ให้ลองนึกว่า เสร็จทุกวัน เลิกงานแล้วก็กลับบ้านไปหาลูก พ่อแม่ หรือคนรัก ด้วยใจที่ปลอดโปร่งเสมือนกับว่างานเสร็จแล้ว

    แต่คนจำนวนมากทำอย่างนั้นไม่เป็น เวลากลับไปบ้านก็แบกเอางานไปด้วย ไม่ได้ถือแฟ้มแบกกลับไป แต่ว่าแบกที่ใจ เวลาอยู่กับลูก ก็นึกถึงงาน ใจไม่ได้อยู่กับลูกเต็มร้อย เวลานึกถึงงานก็รู้สึกวิตกกังวล หงุดหงิด แสดงอารมณ์ออกทางสีหน้าให้ลูกเห็น ลูกก็จะรู้สึกเครียดเวลาอยู่กับเรา เพราะใจเรายังแบกงานไว้เต็มที่ ให้เรานึกว่ามันเสร็จแล้ว วางมันลงเสีย เราจะได้กลับบ้าน จะได้อยู่กับลูก กับคนรัก หรืออยู่กับตัวเองด้วยใจที่ปลอดโปร่ง และทำสิ่งที่ควรทำเมื่ออยู่บ้าน เช่น พักผ่อน สวดมนต์ นั่งสมาธิ หลายคนแบกงานกลับบ้าน เอาเข้าห้องนอน แม้กระทั่งจะนอนก็ยังไม่ยอมวาง เลยนอนไม่หลับ ตื่นขึ้นมาก็เลยไม่มีเรี่ยวแรงทำงาน

    ที่จริงงานไม่ใช่ปัญหา หลายคนมักจะบ่นว่างานเยอะ มีภาระมาก จริง ๆ แล้วงานไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ว่าเราแบกมันเอาไว้ไม่ยอมวางต่างหาก เวลาทำงานใจก็ไม่ได้อยู่กับงานจริง ๆ มัวแต่จดจ่ออยู่กับผลของงาน ว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ เจ้านายจะพอใจไหม เพื่อนร่วมงานจะว่าอย่างไร หรือไม่ก็เอาแต่คิดว่า เมื่อไรจะเสร็จ เวลามาปฏิบัติธรรมก็คิดว่าเมื่อไรจะได้กลับบ้าน เวลาเดินทางกลับบ้านก็เอาแต่คิดว่าเมื่อไรจะถึง อันที่จริงมันถึงทุกขณะอยู่แล้ว มันถึงทุกเวลา มันถึงทุกวินาที ให้ลองคิดแบบนี้ดูบ้าง

    การที่ใจเรามัวคิดถึงจุดหมายปลายทางว่าเมื่อไรจะเสร็จ เมื่อไรจะถึง เมื่อไรไฟแดงจะเปลี่ยนเป็นไฟเขียว วิธีคิดแบบนี้สร้างความทุกข์ให้กับจิตใจมาก ทำให้เครียด วิตกกังวล จนส่งผลเสียต่อสุขภาพ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการแบกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราลองวางมันลงบ้าง อนาคตจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของอนาคต ให้นึกถึงคำของหลวงพ่อคำเขียนก็ได้ ท่านเคยพูดไว้ว่า “ถึงต่อเมื่อมันถึง” เวลาเดินทางก็ไม่ต้องกังวลว่าเมื่อไรจะถึง ถึงต่อเมื่อมันถึง หรือจะมองอย่างท่านอาจารย์พุทธทาสก็ได้ว่า มันเสร็จทุกเวลาอยู่แล้ว เสร็จทุกวัน เสร็จทุกชั่วโมง เสร็จทุกนาที สิ่งสำคัญก็คือ ใจอยู่กับปัจจุบัน

    ใจอยู่กับปัจจุบัน เวลาทำงานก็ทำด้วยใจที่ปล่อยวาง คือปล่อยวางอดีต ปล่อยวางอนาคต เหตุการณ์เมื่ออาทิตย์ก่อน เดือนก่อน งานการล้มเหลวอย่างไร มีอุปสรรคอย่างไร ก็เป็นเรื่องของอดีต ปล่อยมันไป ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของอนาคต ไม่ต้องเอามาใส่ใจ ใจอยู่กับปัจจุบันก็พอ เมื่อใดก็ตามเราทำงานตรงหน้าด้วยใจเต็มร้อย ก็เรียกได้ว่าทำงานด้วยใจปล่อยวาง ยิ่งถ้าเราทำใจถึงขั้นที่ว่า มันไม่ใช่งานของเรา ถึงแม้ไม่ใช่งานของเรา เราก็ทำเต็มที่ หากว่ามันมีประโยชน์ เราก็ทำ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าต้องเป็นงานของเรา เราถึงจะทำ และเมื่องานเสร็จก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นผลงานของเรา

    ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า “ยกผลงานให้เป็นของความว่าง” ทำงานเสร็จก็ยกผลงานให้เป็นของความว่าง หรือยกให้เป็นของส่วนรวมก็ได้ เพราะว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่ทำให้งานสำเร็จ มีคนอีกมากมายที่ร่วมกันทำให้สำเร็จ ทั้งที่ทำด้วยกัน ทั้งที่อยู่เบื้องหลัง คนที่เป็นแม่ครัว คนที่เป็นนักการภารโรง แม้กระทั่งพ่อแม่ของเราที่บ้าน ก็มีส่วนช่วยทำให้งานสำเร็จ เพราะถ้าไม่มีคนเหล่านั้น ก็คงไม่มีเรา หรือเราก็คงจะไม่มีเรี่ยวแรง กำลัง หรือสติปัญญาที่จะทำให้งานสำเร็จได้ งานแต่ละชิ้นจึงเป็นผลงานร่วมของผู้คนมากมายด้วย การวางใจอย่างนี้ ก็เรียกได้ว่าทำงานด้วยใจที่ปล่อยวาง
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,064
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044
    (ต่อ)
    การวางใจแบบนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก แต่ว่าเราสามารถทำได้จากการมาฝึกปฏิบัติที่นี่ ฝึกปฏิบัติด้วยการเจริญสติ เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับกาย กายเมื่อเคลื่อนไหว ใจก็รับรู้ เพราะว่าใจไม่ได้ออกไปเที่ยวเตร่ที่ไหน ใจอยู่กับเนื้อกับตัว เพราะฉะนั้น เมื่อกายเคลื่อนไหว ใจก็รับรู้ รับรู้ว่ากายทำอะไร ไม่ใช่แค่ยกมือสร้างจังหวะ ไม่ใช่แค่เดินจงกรม แต่รวมถึงเวลาเดินมาที่ศาลา เดินขึ้นบันได อาบน้ำ ล้างจาน หรือทำอย่างอื่นด้วย

    แต่ละวัน เราใช้กายทำอะไรต่าง ๆ มากมาย ในขณะที่กายเคลื่อนไหว ถ้าใจอยู่กับเนื้อกับตัว รับรู้ว่ากายทำอะไร อันนี้เรียกว่ากายเคลื่อนไหว ใจก็รับรู้ หรือเรียกอีกอย่างว่า เห็นกายเคลื่อนไหว เวลาที่ใจคิดนั่น คิดนี่ แล่นออกไปนอกตัว เที่ยวเตร่สารพัด เราก็รู้ แค่รู้ว่าใจเผลอคิดไป มันก็กลับมา มันจะวางอดีตและอนาคตลงทันที แล้วกลับมาอยู่กับปัจจุบัน

    ถ้าเรามีสติ แม้สัมผัสกับอารมณ์ปัจจุบัน เช่น เสียงดัง หรือความปวดเมื่อย อันนี้เรียกว่าอารมณ์เหมือนกัน คำว่าอารมณ์ ในพุทธศาสนาหมายถึงสิ่งที่จิตรับรู้ ไม่ว่ารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความคิด เมื่อมีเสียงดังมากระทบหู มีแดดมากระทบกาย เกิดความคิดหรืออารมณ์ตามมา เหล่านี้เรียกว่าอารมณ์ปัจจุบัน เมื่อเกิดขึ้น เราก็เพียงรับรู้เฉย ๆ รู้โดยไม่ไปยึดติด วางมันลง มันก็รบกวนจิตใจเราไม่ได้

    เสียงดังไม่ได้สร้างปัญหาให้กับเรา ถ้าหากเราแค่รับรู้เฉย ๆ แต่เพราะใจเราไปยึดติด จดจ่อ หรือผลักไสมัน ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา ปัญหาไม่ได้เกิดจากเสียง แต่ปัญหาเกิดจากการที่เราไม่ชอบมัน เราไปทะเลาะเบาะแว้งกับมัน อย่างที่หลวงพ่อชาเรียกว่า “ไปรบกวนเสียง” แดดร้อนก็ไม่ใช่ปัญหา มันแค่ทำให้กายร้อน แต่ถ้าใจไม่ชอบ ใจผลักไส ความทุกข์ใจก็เกิดขึ้นทันที ที่แปลกก็คือ อะไรที่เราผลักไส ไม่ชอบ ใจก็ยิ่งยึดติด คำต่อว่าด่าทอของใครก็ตาม เราไม่ชอบเลย แต่พอได้ยินก็จะคิดแล้วคิดอีก เก็บเอามาคิดอยู่นั่นแหละ คิดจนนอนไม่หลับ

    เวลาเราโกรธเกลียดใคร ก็มีความรู้สึกอยากผลักไสออกไป แต่ยิ่งโกรธ ยิ่งเกลียด มันก็ยิ่งคิด ยิ่งนึกถึงเขา เวลามือหรือนิ้วถูกของเหม็น เช่น น้ำปลา ปลาร้า หรือกะปิ มันเหม็นมาก เราไม่ชอบ เราก็ล้างมือ แต่พอล้างมือเสร็จแล้ว เราทำอย่างไร ก็เอานิ้วมาดม เราไม่ชอบกลิ่นเหม็นที่ติดอยู่ปลายนิ้ว แต่เราก็ดมมันอยู่นั่นแหละ ถ้ามันยังเหม็นอยู่เราก็ดมไม่เลิก นี้เรียกว่า ยิ่งผลักไสก็ยิ่งยึดติด เพราะฉะนั้นจึงมีคำพูดว่า “สิ่งใดที่เราผลักไสจะคงอยู่ แต่สิ่งใดที่เราตระหนักรู้จะหายไป” ถ้าเรายิ่งผลักไส มันก็ยิ่งรบกวน ยิ่งยึดติด ยิ่งจดจ่อ แต่ถ้ารู้เฉย ๆ มันก็จะหายไป

    อารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน ไม่ใช่ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเสียงดัง แดดร้อน แต่ปัญหาคือใจที่ผลักไส ใจที่ไม่ชอบต่างหาก หลายคนบอกว่า ไม่อยากทำสมาธิ ไม่อยากเจริญสติ เพราะทำแล้วมันฟุ้งไปหมดเลย ฟุ้งตลอดเวลา บางคนนั่งสมาธิ ๕ นาทีก็ไม่ไหวแล้ว เพราะใจฟุ้ง ที่จริงความฟุ้งเป็นเรื่องธรรมดา และไม่ใช่ปัญหาด้วย แต่ปัญหาเกิดเมื่อใจเราไม่ชอบความฟุ้ง เมื่อใจเราไม่ชอบ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทันที เพราะเมื่อไม่ชอบ จิตก็จะดิ้นรน ผลักไส อยากให้สิ่งนั้นหายไป แต่เมื่อมันไม่หาย ยังอยู่ ก็เกิดความผิดหวัง ไม่พอใจ เกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที เราทุกข์เพราะเราอยากผลักไส แต่มันไม่ไป มันไม่หาย

    แม้กระทั่งโรคภัยไข้เจ็บ มันทำได้อย่างมากคือ ทำให้เกิดความทุกข์กาย แต่ทำให้เกิดความทุกข์ใจไม่ได้ แต่ความทุกข์ใจจะเกิดขึ้นทันทีที่เราไม่ชอบ ผลักไส ยอมรับมันไม่ได้ ตีโพยตีพาย หรือโอดครวญ ยิ่งเรายอมรับมันไม่ได้ ก็ยิ่งเปิดช่องให้ความทุกข์เข้ามาเล่นงานจิตใจเราได้มากขึ้น

    บางคนเป็นมะเร็ง แต่สามารถอยู่กับมะเร็งได้ด้วยใจปกติ เพราะเขายอมรับ ไม่รังเกียจ ไม่ผลักไสมัน บางคนกลับมีเมตตาต่อมันด้วย มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นมะเร็ง ปวดมาก แต่ว่าเธอไม่ค่อยกินยาระงับปวด เธอใช้วิธีคุยกับมะเร็ง เช่นพูดว่า “มะเร็ง ตอนนี้ก็มืดค่ำแล้วนะ ฉันจะนอนแล้ว เธอก็ควรนอนด้วยเหมือนกัน พรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่” แล้วเธอก็ร้องเพลงกล่อมมะเร็ง ทำนองเดียวกับกล่อมลูก แล้วก็หลับไปด้วยกัน ทั้งเธอทั้งมะเร็ง เธออยู่กับมะเร็งโดยไม่ต้องใช้ยาระงับปวด แล้วก็อยู่ได้นานด้วย

    แต่บางคนพอรู้ว่าเป็นมะเร็งได้ไม่กี่วันก็แย่เลย มีคุณป้าคนหนึ่งเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลอยู่หลายครั้ง ไม่รู้ว่าเป็นอะไร จนกระทั่งวันหนึ่งหมอบอกว่า “ป้าเป็นมะเร็งตับ อยู่ได้ไม่เกิน ๓ เดือนนะ” แกตกใจมาก กลุ้มอกกลุ้มใจ ยอมรับไม่ได้ รู้สึกวิตกกังวล กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่มีเรี่ยวแรง หมดอาลัยตายอยาก ปรากฏว่าอยู่ได้แค่ ๑๒ วันก็ตาย

    ถามว่ามะเร็งลุกลามอย่างรวดเร็วจนทำให้คุณป้าตายหรือเปล่า มันไม่ลุกลามเร็วขนาดนั้นหรอก แต่ที่เธอตายเป็นเพราะใจของเธอมากกว่า ใจเธอยอมรับไม่ได้ พยายามต่อต้าน ผลักไส เกิดความกลัววิตก ยิ่งกลัวยิ่งวิตกก็ยิ่งครุ่นคิดถึงมัน ยิ่งผลักไสก็ยิ่งยึดติด ยิ่งยึดติด กายและใจก็ยิ่งแย่ จนในที่สุดก็ทนไม่ไหว

    ปัญหาของคุณป้าคนนี้อยู่ที่ใจไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะโรคมะเร็ง พอใจไม่ยอมรับก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมาทันที แต่ถ้าใจยอมรับได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ใจก็สามารถสงบได้

    เพื่อนอาตมาคนหนึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่เชียงใหม่ วันหนึ่งมีธุระต้องบินมาที่กรุงเทพ ฯ ปกติก็นั่งเครื่องบิน บังเอิญเจอเพื่อนซึ่งมีเครื่องบินส่วนตัวขนาดเล็ก เขากำลังจะเข้ากรุงเทพ ฯ วันเดียวกัน เลยชวนอาจารย์นั่งเครื่องบินเข้ากรุงเทพ ฯ ด้วยกัน ก่อนบินมีฝนตกหนัก พอฝนหยุดก็ออกเดินทาง เครื่องบินขึ้นไปได้แค่ ๕ นาที ปรากฏว่าเครื่องดับ นักบินพยายามสตาร์ท แต่ทำอย่างไรก็ไม่ติด เลยคิดว่าเครื่องบินต้องตกแน่ ๆ ถึงตอนนั้นอย่างเดียวที่ทำได้ คือ ทำอย่างไรให้เครื่องบินไม่ตกในเขตชุมชนหรือหมู่บ้าน นักบินจึงพยายามบังคับเครื่องให้ร่อนไปยังภูเขา เพื่อให้เครื่องบินตกในป่า ตอนนั้นอาจารย์ทำใจแล้วว่าถ้าเครื่องบินตกก็ตายแน่

    อาจารย์เล่าว่าตอนนั้นบรรยากาศรอบตัวสงบมาก เครื่องบินที่เคยส่งเสียงดังก็เงียบสนิท มองไปข้างบนเป็นท้องฟ้าสีคราม ข้างล่างเป็นภูเขา เป็นป่าเขียวขจี บรรยากาศทั้งสวยงามและเงียบสงบ ในช่วงนั้นเขาทำใจได้แล้วว่าจะต้องตายแน่ ๆ พร้อมยอมรับความตายที่จะเกิดขึ้น จิตใจก็เลยสงบ เป็นความสงบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่มีความทุกข์ใจ ไม่มีความวิตกกังวลอะไรเลย ทุกอย่างรอบตัวสงบและสวยงามไปหมด

    สักพักปรากฏว่าเครื่องยนต์สตาร์ทติด เครื่องต้องติดอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นอาจารย์คงไม่สามารถกลับมาเล่าให้ฟังได้ เมื่อเครื่องติดทั้งสองคนก็ปรึกษากันว่าจะบินต่อหรือกลับเชียงใหม่ ได้ข้อสรุปว่ากลับดีกว่า ไปตรวจสภาพเครื่องบินให้เรียบร้อย ตอนที่เครื่องบินกลับไปที่สนามบินเชียงใหม่ รถดับเพลิงมารอกันหลายคัน เพื่อเตรียมรับเหตุร้าย แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เมื่อเช็คเครื่องยนต์ก็พบว่ามีน้ำฝนเข้าไปในเครื่อง หลังจากแก้ไขเรียบร้อย เจ้าของเครื่องบินก็ถามอาจารย์ว่า ยังคิดจะบินเข้ากรุงเทพ ฯ ด้วยกันอยู่หรือเปล่า อาจารย์ตอบตกลง ในใจตอนนั้นไม่มีความรู้สึกกลัวเลย

    เห็นได้ชัดว่า ความตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนหวาดกลัว แต่หากทำใจยอมรับได้ ความสงบก็เกิดขึ้นทันที เพราะฉะนั้น ความตายจะน่ากลัวหรือไม่ อยู่ที่ใจ ถ้าใจยอมรับได้ ความตายก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว หลายคนพบว่า พอทำใจยอมรับความตายได้ ความสงบก็เกิดขึ้นกับจิตใจ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

    มีอีกรายหนึ่ง เป็นผู้หญิงไปเที่ยวทะเลที่ระยอง เล่นน้ำไปได้สักพัก ก็สังเกตว่าตัวเองถูกกระแสน้ำซัดห่างฝั่งออกไปทุกที ๆ เพื่อนที่มาด้วยกันพยายามว่ายน้ำไปช่วย แต่พอว่ายไปสักพัก ก็พบว่ากระแสน้ำพัดออกห่างจากฝั่งไกลขึ้น เลยต้องว่ายน้ำกลับมา ส่วนหญิงคนนี้ตอนที่รู้ว่ากำลังถูกกระแสน้ำซัดออกทะเล เธอตกใจมาก พยายามว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง แต่ว่ายเท่าไรก็ไม่เกิดประโยชน์ ถูกกระแสน้ำพาห่างออกจากฝั่งเรื่อย ๆ เพราะกระแสน้ำแรงมาก จนเกือบจะหมดแรง

    ถึงตอนนั้นเธอรู้ว่าต้องตายแน่ เลยทำใจยอมรับ ตายก็ตาย เธอหยุดว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง ลอยคออยู่เฉย ๆ พร้อมรับความตายที่จะมาถึง เธอเล่าว่าตอนนั้นใจสงบมาก สงบอย่างที่ไม่เคยนึกมาก่อน ขณะที่ลอยคอพร้อมตาย ปรากฏว่าจู่ ๆ ก็รู้สึกว่ามีคลื่นซัดเธอเข้าหาฝั่ง แสดงว่าเธอหลุดจากกระแสน้ำเชี่ยวนั้นแล้ว เธอจึงรวบรวมกำลังว่ายเข้าหาฝั่ง เพื่อน ๆ พอเห็นเช่นนั้นก็ว่ายมาช่วยพาเธอเข้าฝั่ง

    เธอรู้ภายหลังว่าชายหาดบริเวณนั้นมีกระแสน้ำเชี่ยวที่สะท้อนออกจากฝั่ง มีความแรงมาก และทำให้คนตายหลายคนแล้ว ที่ตายก็เพราะพยายามว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง แต่สู้กระแสน้ำไม่ได้พอหมดแรงก็จมน้ำ เธอได้บทเรียนว่าหากเจอกระแสน้ำแบบนี้ อย่าว่ายทวนน้ำเข้าหาฝั่ง ต้องว่ายขนานกับฝั่ง ไม่นานก็จะออกจากกระแสน้ำได้ เพราะมันเป็นกระแสที่แคบ ไม่กว้างเท่าไร อย่างไรก็ตามที่เธอประหลาดใจกว่านั้นก็คือ ทั้ง ๆ ที่เฉียดตาย แต่ใจเธอกลับสงบอย่างยิ่ง ไม่รู้สึกว่าความตายน่ากลัวแต่อย่างใด นั่นเป็นเพราะเธอทำใจยอมรับมันได้

    การยอมรับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา เพียงแค่ยอมรับ ใจก็สงบได้ทันที เมื่อมีเสียงดัง เราทุกข์ก็เพราะใจเรายอมรับไม่ได้ ความฟุ้งซ่าน เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราเป็นทุกข์ มันไม่ใช่เพราะความฟุ้งซ่าน แต่เป็นเพราะใจยอมรับมันไม่ได้ ไม่ชอบ พยายามผลักไสมัน แต่เราจะไม่เป็นทุกข์เลย ถ้าใจเรายอมรับ หรือรู้สึกเป็นกลางกับมัน

    การเจริญสติ เป็นการฝึกให้ใจเป็นกลางกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ความคิดดีเกิดขึ้นก็ไม่โจนเข้าหา ความคิดไม่ดีเกิดขึ้นก็ไม่ผลักไส หลวงพ่อคำเขียนพูดเสมอว่า “คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง” อะไรเกิดขึ้นก็ช่างมัน คำว่าช่างมัน ไม่เป็นไร กับการทำใจเป็นกลาง ๆ มีความหมายคล้ายกัน พอเราคิดว่าไม่เป็นไร ช่างมัน ใจก็ยอมรับได้ พอใจยอมรับได้ สิ่งต่าง ๆ ก็ไม่มีพิษสงที่จะมาทำร้ายจิตใจเราได้ แม้แต่ความปวดเมื่อยก็เหมือนกัน พอใจเรายอมรับได้ ความทุกข์ก็ลดลงไป

    อาตมาเคยพาคนไปเดินจงกรมเช้าเย็นรอบสวน ตามทางมีมดมากมายไต่ขา วันแรก ๆ ผู้คนทรมานกันมาก แต่วันที่ ๒ หลายคนบอกว่าความทุกข์ลดลงไปเยอะ เพราะว่ายอมรับได้ มันจะกัดก็กัดไป ความทุกข์กายยังมีอยู่ ยังคัน ยังปวดอยู่ แต่ว่าใจสงบลงได้ การยอมรับช่วยให้เราปล่อยวาง พอเรายอมรับได้ ใจก็ไม่ดิ้นรน ไม่ผลักไส มันก็วาง พอวางก็เกิดความโปร่ง โล่ง เบาสบาย

    ให้เราลองฝึกทำใจเป็นกลางกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบ การเจริญสตินั้นเปรียบเหมือนกับการนั่งอยู่ริมฝั่ง ดูกระแสน้ำที่ไหลผ่านไป มีอะไรไหลผ่านมา เราก็แค่ดูเฉย ๆ แค่รับรู้เฉย ๆ มันจะเป็นของดี หรือของไม่ดี ก็แค่ดูเฉย ๆ จะมีเรือสำราญแล่นผ่านมาก็ดูเฉย ๆ จะมีหมาเน่าลอยน้ำมาก็ดูเฉย ๆ ไม่กระโดดลงไปเพื่อที่จะขึ้นเรือสำราญ และไม่พยายามหาไม้มาเขี่ยหมาเน่าให้ลอยไปห่าง ๆ การไม่ต้องทำอะไรเลย น่าจะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก

    การเจริญสติก็คือการดูเฉย ๆ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า “รู้ซื่อ ๆ” การทำโน่นนี่ต่างหากที่ยุ่งยาก ทำให้เหนื่อย แต่ว่าเราชอบทำอะไรต่ออะไรจนติดเป็นนิสัย พอไม่ต้องทำอะไร แค่ดูเฉย ๆ กลับทำไม่เป็น แปลกนะ ของง่ายกลับไม่ทำ ไปทำของยาก เรื่องสบายไม่ทำ กลับทำสิ่งที่ยากลำบาก

    ลองฝึกใจ ดูใจของเรา แล้วจะพบว่าสิ่งที่ควรทำ คือการดูเฉย ๆ รู้เฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ เท่านั้น แล้วยอมรับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยใจที่เป็นกลาง
    :- https://visalo.org/article/dhammamata10_1.html
     

แชร์หน้านี้

Loading...