บทความให้กำลังใจ(จุดอ่อนของความหลง)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    แม่ชีเทเรซ่าเล่าว่าครั้งหนึ่งได้ข่าวว่ามีชาวฮินดูครอบครัวหนึ่งซึ่งมีลูกแปดคนไม่ได้กินอาหารมาหลายวันแล้ว ท่านจึงจัดอาหารเพียงพอสำหรับหนึ่งมื้อและเดินทางไปยังบ้านของพวกเขา ภาพที่ท่านเห็นคือเด็กผอมแห้ง ตาโปน น่าสะเทือนใจมาก เมื่อผู้เป็นแม่ได้ข้าวมา ก็แบ่งข้าวออกครึ่งหนึ่ง และเดินออกไปข้างนอก เมื่อเธอกลับมา แม่ชีเทเรซ่าถามว่า “เธอไปไหนมา ?” ผู้เป็นแม่ตอบว่า “ พวกเขา ก็หิวเหมือนกัน” เธอหมายถึงเพื่อนบ้านซึ่งอยู่ถัดไป พวกเขามีลูกที่ต้องเลี้ยงดูจำนวนใกล้เคียงกัน และไม่ได้กินอะไรเลยมาหลายวัน ทั้งหมดเป็นครอบครัวมุสลิม แต่ความต่างศาสนาไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกว่าพวกเขาเป็น “คนอื่น” และแม้เธอจะลำบากมากแต่ก็ยังมีใจนึกถึงคนอื่นซึ่งลำบากเหมือนกัน

    ยีนที่ทำให้สัตว์นึกถึงแต่พวกพ้องที่มีสายเลือดใกล้เคียงกันนั้นอธิบายเรื่องนี้ไม่ได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่สามารถบงการให้ผู้เป็นแม่คิดถึงแต่ลูกของตนเท่านั้น มองในอีกแง่หนึ่ง ถ้าเราเชื่อว่ายีนมีอิทธิพลจริง ๆ เป็นไปได้ไหมว่ามียีนอีกชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการเอื้อเฟื้อเสียสละข้ามสายเลือด ข้ามพันธุกรรม ข้ามชาติพันธุ์ หรือแม้แต่ข้ามชนิดพันธุ์ (species)

    เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ที่รัฐแมรี่แลนด์มีผู้พบเห็นห่านตัวหนึ่งติดอยู่กลางลำธารซึ่งกลายเป็นน้ำแข็ง ปีกทั้งสองข้างอ่อนแรงหุบอยู่ข้างตัว ส่วนเท้าทั้งสองจมหายไปในแผ่นน้ำแข็ง ขณะที่เธอกำลังตัดสินใจทำอะไรบางอย่างก็เหลือบเห็นฝูงหงส์บินผ่านมา สักพักก็แปรขบวนเป็นวงกลมและร่อนลงพื้นรอบ ๆ ตัวห่าน หงส์กับห่านนั้นปกติไม่ค่อยคบค้าสมาคมกัน บางครั้งก็เป็นปฏิปักษ์กันด้วยซ้ำ ขณะที่เธอกำลังวิตกว่าห่านกำลังจะถูกหงส์รุมจิกตี การณ์กลับกลายเป็นว่าหงส์ต่างพากันใช้จะงอยปากจิกแซะน้ำแข็งที่ยึดเท้าห่านอยู่ เหล่าหงส์ใช้เวลาอยู่นานจนน้ำแข็งบางพอที่ห่านจะยกเท้าขึ้นได้ พอเป็นอิสระแล้วห่านก็ขยับปีก แต่ก็ไม่สามารถบินได้ ทีนี้ก็มีหงส์สี่ตัวเข้ามาไซ้ปีกห่านทั้งด้านนอกและด้านในเพื่อเอาน้ำแข็งออก สักพักห่านก็ลองสยายและหุบปีกทีละนิด พอหงส์เห็นห่านสามารถกางได้สุดปีก ก็รวมกลุ่มกันใหม่แล้วบินต่อไปจนลับสายตา

    ความเอื้ออาทรมิได้มีอยู่แต่ในมนุษย์เท่านั้น หากยังมีในหมู่สัตว์โดยไม่จำกัดเฉพาะเผ่าพันธุ์ของตัว เรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าคุณธรรมนั้นก็เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของสัตว์ด้วย (อย่างน้อยก็ในสัตว์ชั้นสูง) แม้ไม่มีการอบรมบ่มเพาะ ก็สามารถแสดงอานุภาพให้ประจักษ์ได้

    มนุษย์เรามีความสามารถที่จะรักและเอื้อเฟื้อผู้อื่นแม้จะต่างสีผิว ศาสนา และเผ่าพันธุ์ ความสามารถนี้เกิดจากคุณสมบัติที่ฝังอยู่ในสัญชาตญาณของเราไม่น้อยไปกว่าปัญญาและกรุณาที่สั่งสมบ่มเพาะในภายหลัง บางทีเราอาจไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าการเปิดโอกาสให้คุณสมบัติดังกล่าวมีโอกาสแสดงออกเท่านั้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ไปทำลายมันด้วยการเรียนรู้แบบผิด ๆ ซึ่งมีอยู่มากมายในสังคม
    :- https://visalo.org/article/jitvivat254803.htm
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    all different mind.jpg
    ความคับแคบสุดโต่งในยุคข้อมูลข่าวสาร

    พระไพศาล วิสาโล
    ในยุคที่ใคร ๆ เรียกว่ายุคข้อมูลข่าวสาร ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ในขณะที่ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยให้มีความรู้กว้างขวาง และเข้าถึงความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ผู้คนจำนวนมากมีมุมมองที่คับแคบลง และมีความเห็นที่สุดโต่งมากขึ้น

    ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทุกวันนี้ข้อมูลมีมากมายท่วมท้น จนผู้คนจัดการกับมันได้ยากขึ้น จึงเกิดมีเทคโนโลยีคัดกรองข้อมูลข่าวสาร ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ตัวคัดกรองหรือ filter ดังกล่าว มีทั้งที่ผู้บริโภคเลือกเอง และที่ถูกเลือกมาให้ผู้บริโภค โดยผู้ให้บริการ เช่น Google , Amazon และ Facebook เป็นต้น ทั้งนี้โดยประมวลจากข้อมูลการใช้งานของเรา เช่น เมื่อเราต้องการให้ Google ค้นหาข้อมูลเรื่องใด Google จะเอาข้อมูลเกี่ยวกับเรา เช่น สถานที่ การค้นหาคำในอดีต รวมทั้งความสนใจส่วนตัว มาใช้ในการหาคำตอบ เพื่อให้ได้ผลที่สอดคล้องกับความต้องการของเรามากที่สุด ส่วน Amazon ก็สามารถคาดการณ์ได้จากพฤติกรรมของเราว่า เรามีรสนิยมแบบใด ดังนั้นจึงน่าจะชอบหนังสือเล่มใด หรืออัลบั้มเพลงใดบ้าง ทั้งนี้เพื่อแนะนำสินค้าที่ตรงกับรสนิยมของเรา ในทำนองเดียวกัน Facebook ก็จะอัพเดทข้อมูลของเพื่อนที่เราติดต่อบ่อยที่สุด ขณะเดียวกันก็กรองเอาคนที่เราติดต่อน้อยที่สุดออกไป เป็นต้น

    เทคโนโลยีเหล่านี้ดูเหมือนดี ช่วยทุ่นเวลาให้แก่เรา เพราะคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่เราไม่สนใจออกไป แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้เรารับรู้แต่ข้อมูลที่ถูกใจเรา รวมทั้งรับรู้ประเด็นที่หลากหลายน้อยลง มิหนำซ้ำยังรับรู้แต่แง่มุมที่แคบลงด้วย

    ใช่แต่เท่านั้น สื่อออนไลน์หรือเว็บข่าวที่เกิดขึ้นมากมายยังหนุนเสริมปรากฏการณ์ดังกล่าวให้เข้มข้นขึ้น เพราะสื่อดังกล่าวจะตอบสนองความต้องการของคนเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นเนื้อหาจึงขาดความหลากหลาย ผิดกับสื่อดั้งเดิมที่มุ่งตอบสนองความต้องการของมวลชนซึ่งมีความหลากหลายสูง (เป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า สื่อมวลชน) จึงมีเนื้อหาที่หลากหลาย ครอบคลุมคนทุกกลุ่มเท่าที่จะทำได้ สื่อออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่มีเนื้อหาที่หลากหลายน้อยลงเท่านั้น แม้แต่มุมมองก็แคบลง เจาะจงเฉพาะแนวใดแนวหนึ่ง สุดแท้แต่กลุ่มผู้อ่าน ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นคือ ผู้อ่านรับรู้แต่มุมเดียว รวมทั้งได้ข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้องกับความคิดความเชื่อเดิมอยู่แล้ว

    ขณะเดียวกันความจำเป็นในทางธุรกิจยังกระตุ้นให้สื่อออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่ให้บริการฟรี พยายามลงข่าวที่ถูกใจผู้อ่าน มากกว่าคำนึงถึงความถูกต้อง ทั้งนี้เพราะหากมีผู้เข้าชมมาก ก็จะได้ค่าโฆษณามากขึ้น แน่นอนว่าการลงข่าวให้ถูกใจผู้อ่าน มักหนีไม่พ้นที่จะเติมสีสัน เขียนให้หวือหวา รวมทั้งสนองอคติของผู้อ่าน ผลก็คือหากผู้อ่านมีอคติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่แล้ว ก็จะมีอคติเพิ่มขึ้น นี้คือแรงจูงใจเดียวกันกับที่กระตุ้นให้โซเชียลมีเดียทั้งหลายพยายามนำเสนอสิ่งที่ผู้บริโภคอยากเห็น เพื่อค่าโฆษณาจะได้เข้ามา

    ธรรมดาคนเราก็อยากคบหาและแวดล้อมด้วยคนที่คิดเหมือนกัน มีรสนิยมคล้ายกัน จุดยืนเดียวกันอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งก็เพราะเสริมอัตตาของกันและกัน แต่ในชีวิตจริง เราต้องเจอคนที่หลากหลาย แม้ในหมู่บ้านเดียวกัน ผู้คนก็ยังนานาจิตตัง ยิ่งในเมืองด้วยแล้ว การพบคนที่ต่างความเห็น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ไม่ชอบ แต่ก็มีข้อดีคือทำให้เรามีมุมมองที่กว้าง ยอมรับความหลากหลาย เข้าใจคนที่เห็นต่าง แต่ในยุคปัจจุบันเราสามารถสนทนาพูดคุยกับคนที่คิดแบบเดียวกันได้ทั้งวัน โดยไม่ต้องเจอคนที่เห็นต่างเลย เพียงแต่อยู่บ้านและนั่งหน้าคอม ฯ หรือก้มหน้าจิ้มโทรศัพท์ ผ่านโปรแกรมอย่าง Facebook , Line , Twitter ซึ่งเปิดโอกาสให้เราเลือกคนที่คอเดียวกัน และปฏิเสธคนที่คิดต่างกัน
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    เทคโนโลยีดังกล่าวสนองความต้องการของอัตตาเป็นอย่างดี เพราะช่วยให้ความคิดความเชื่อที่มันฝังตัวอยู่นั้นเหนียวแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น และถูกท้าทายน้อยลง หากความคิดความเชื่อดังกล่าวแฝงไปด้วยอคติ หรือเป็นการรับรู้ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เทคโนโลยีดังกล่าวก็ยิ่งทำให้อคติรุนแรงขึ้น รับรู้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมากขึ้น นำไปสู่ทัศนะที่สุดโต่งในที่สุด ในอดีต แม้คนที่มีความคิดสุดโต่งจะมีอยู่ แต่ไม่ง่ายที่คนเหล่านี้จะได้มาพบปะกัน เพราะมีจำนวนน้อยและอยู่กระจัดกระจายกันมาก แต่ปัจจุบันคนที่มีความคิดสุดโต่ง สามารถพบปะสนทนากัน และตอกย้ำความเชื่อของกันและกันได้ง่ายมาก เพราะสามารถเข้าถึงทางอินเทอร์เน็ต แม้จะมีจำนวนน้อย แต่ก็สามารถพบปะพูดคุยกันได้ทุกวันและทุกเวลา เพียงแต่ใช้Line , Facebook, Skype หรือโปรแกรมอื่น ๆ อีกมากมาย

    สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้คนมากมายในยุคข้อมูลข่าวสาร ก็คือ ความสามารถที่เพิ่มขึ้นในการตอกย้ำอคติของตนเอง ซึ่งบางคนเรียกว่า auto propaganda หรือการโฆษณาฝังหัวตัวเอง แม้จะเจอคนมากมาย แต่ผู้คนก็เลือกที่จะได้ยินแต่เสียงสะท้อนของตนเอง ผ่านคำพูดของคนพวกเดียวกัน อย่างที่บางคนเรียกว่า echo chamber ลำพังอุบายของอัตตาที่ใช้ในการปกป้องความคิดความเชื่อที่มันผูกติดฝังตัว เราก็รู้ทันได้ยากอยู่แล้ว ทุกวันนี้ยังมีเครื่องมือมากมายรอบตัวที่อัตตาสามารถฉวยใช้เพื่อปกป้องความคิดความเชื่อดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

    จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ซึ่งแม้มีศักยภาพในการเปิดมุมมองของเราให้กว้าง แต่ก็สามารถจำกัดความคิดเห็นของเราให้แคบลง มีอคติมากขึ้น รวมทั้งสามารถเผยแพร่ความเท็จได้อย่างรวดเร็วและน่าเชื่อถือ นอกจากนี้พึงตระหนักด้วยว่าโซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ทั้งหลาย พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เรา “ติด”มัน และใช้เวลาอยู่กับมันให้นานที่สุด ด้วยการสนองและปรนเปรออัตตาของเรา ( อาทิ การมีปุ่ม like ให้กด มี newsfeed ที่ถูกใจเรา และได้แสดงภาพ selfie)

    การที่ผู้คนในสังคมมีความเห็นแตกต่างกันจนกลายเป็นคนละขั้ว และมีความเกลียดชังกันอย่างรุนแรง รวมทั้งมีกลุ่มสุดโต่งมากมายไม่เฉพาะในเมืองไทย แต่ในหลายประเทศทั่วโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่า โซเชียลมีเดีย และสื่อออนไลน์ มีส่วนอย่างมากในการตอกย้ำอคติและความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ซึ่งล้วนเป็นผลแห่งการยึดติดถือมั่นในความคิด ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตนคือฝ่ายที่ถูกต้อง ดีงาม ส่วนอีกฝ่ายคือพวกที่หลงผิด ชั่วร้าย ผลก็คือผู้คนจำนวนไม่น้อยพากันพลัดตกในกับดักแห่งความรุนแรง ซึ่งแต่ละคนกระทำแก่กันในนามของการปกป้องความดีและความถูกต้อง แต่แท้จริงแล้วเป็นการปกป้องอัตตาของตนต่างหาก

    เราจะออกจากกับดักดังกล่าว ไม่พลัดเข้าไปสู่กระแสแห่งความสุดโต่งและความรุนแรงได้อย่างไร ในด้านหนึ่งก็ต้องมีความหนักแน่น ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ เพียงเพราะมีคนบอก แม้จะเป็นเพื่อน คำสอนของพระพุทธองค์ที่เรียกว่าหลักกาลามสูตรนั้น มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะข้อความที่ “อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะฟังตามกันมา หรือเพราะเข้าได้กับความเชื่อความเห็นของตน หรือเพราะมองเห็นรูปลักษณะว่าน่าจะเป็นไปได้” แต่ควรเชื่อต่อเมื่อได้ไตร่ตรองด้วยเหตุผลและด้วยสติปัญญาของตน

    อีกด้านหนึ่งก็ควรเปิดใจ พร้อมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย และแตกต่างจากเรา ยอมที่จะรับคนที่คิดไม่เหมือนเรา มาเป็นเพื่อน ไม่ว่าในโลกจริงหรือในโลกไซเบอร์ แม้อัตตาจะไม่ชอบ แต่มันจะกลายเป็นเรื่องเล็กทันที หากเราถือว่าความดี ความถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญกว่าอัตตา
    :- https://visalo.org/article/jitvivat256009.html

     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    Sati LpMahaBua.jpg
    “สติ” ที่ถูกมองข้าม

    พระไพศาล วิสาโล
    การฝึกสติกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐอเมริกา สิ่งซึ่งครั้งหนึ่งจำกัดวงอยู่ในสำนักปฏิบัติธรรมของชาวพุทธกลุ่มเล็ก ๆ บัดนี้ได้แพร่หลายไปตามโรงเรียน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย องค์กรธุรกิจ หน่วยงานราชการ ไม่เว้นกระทั่งเรือนจำ ไม่ผิดหากจะกล่าวว่าการฝึกสติได้เข้าสู่กระแสหลักของสังคมอเมริกันไปแล้ว

    บรรษัทชั้นนำของอเมริกาเป็นอันมากได้จัดคอร์สเจริญสติให้แก่ผู้บริหารและพนักงานอย่างจริงจัง กูเกิลมีโครงการฝึกสติชื่อ “แสวงหาด้านในของคุณ” (Search Inside Yourself) ปีละ ๔ ครั้ง ๆ ละ ๗ สัปดาห์สำหรับเจ้าหน้าที่ของตน ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ในสำนักงานของกูเกิลยังมีทางเดินจงกรมซึ่งทำเป็นรูปเขาวงกต ขณะที่อีเบย์จัดห้องสมาธิที่มีบรรยากาศชวนนั่งเจริญสติ ส่วนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คก็ไม่ยอมน้อยหน้า มีการจัดคอร์สเจริญสติแก่พนักงานเช่นกัน ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์คนหนึ่ง แม้แยกตัวมาตั้งบริษัทใหม่ แต่ก็ยังจัดให้มีการฝึกสติเป็นประจำ

    ล่าสุดท่านติช นัท ฮันห์ ได้รับนิมนต์ให้ไปนำการเจริญสติที่สำนักงานของกูเกิล โดยมีผู้บริหารของบรรษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีมาร่วมปฏิบัติด้วย ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้นธนาคารโลกเป็นเจ้าภาพอาราธนาท่านติช นัท ฮันห์ไปบรรยายเรื่องพลังแห่งสติ ซึ่งได้รับความสนใจจากพนักงานอย่างล้นหลามจนห้องประชุมแน่นขนัด

    กิจกรรมหนึ่งที่ดึงดูดให้ผู้นำด้านเทคโนโลยีมีร่วมอย่างคับคั่ง คือ Wisdom 2.0 ซึ่งเป็นเสมือนมหกรรมประจำปีด้านการเจริญสติ ปีนี้มีคนเข้าร่วมกว่า ๒,๐๐๐ คน (ปีแรกที่จัดคือ ๒๕๕๒ มีคนร่วมเพียง ๓๒๕ คน) มีองค์กรมากมายผุดขึ้นเพื่อรับจัดคอร์สฝึกสติให้แก่บริษัทต่าง ๆ โดยมีรูปแบบและจุดเน้นจุดขายที่หลากหลาย ใช่แต่เท่านั้นอุปกรณ์ส่งเสริมการเจริญสติก็ขายดีมาก นอกจากเบาะรองนั่ง เสื่อ ระฆัง ธูป แล้ว ปัจจุบันมีแอปส์( apps)นับร้อย ๆ ที่เกี่ยวกับการฝึกสติและทำสมาธิ ยิ่งหนังสือด้วยแล้ว ไม่ยากเลยที่จะหาหนังสือที่มีชื่อผูกกับคำว่า “สติ” หรือ mindfulness เช่น การเลี้ยงลูกอย่างมีสติ การกินอย่างมีสติ การสอนอย่างมีสติ การบำบัดด้วยสติ การเรียนรู้อย่างมีสติ การเมืองแห่งสติ (Mindful Politics) สมองกับสติ (The Mindful Brain) ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่นิตยสารไทม์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขึ้นปกด้วยภาพหญิงสาวในชุดขาวกำลังหลับตาทำสมาธิอย่างสงบ พร้อมกับพาดข้อความว่า “The Mindful Revolution” เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกา

    อะไรทำให้การฝึกสติได้รับความนิยมอย่างมากมายเช่นนี้ เหตุผลสำคัญก็คือ ความเครียดที่มากขึ้น อันเนื่องจากชีวิตที่เร่งรีบและข้อมูลที่ท่วมท้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น อีกส่วนหนึ่งเกิดจากเทคโนโลยีด้านสารสนเทศที่ทำให้ผู้คนเชื่อมต่อกับโลกแห่งข้อมูลอันมากมายมหาศาล ทำให้ผู้คนแทบไม่มีเวลาเป็นของตนเอง ยังไม่ต้องพูดถึงการงานที่สามารถแทรกเข้ามาในช่วงเวลาที่ควรจะเป็นส่วนตัว (เช่น เวลาพักผ่อน อยู่กับครอบครัว หรือเวลานอน) ความเครียดเหล่านี้ผู้คนพบว่าไม่อาจบรรเทาได้ด้วยวิธีการที่คุ้นเคย เช่น กิน เที่ยว เล่น เพราะให้ผลเพียงชั่วคราว อีกทั้งยังมีโทษตามมาโดยเฉพาะการเสพติดยาหรืออบายมุข

    หลายปีที่ผ่านมามีงานวิจัยมากมายที่ชี้ว่า การเจริญสตินั้นช่วยลดความเครียดได้ อีกทั้งยังมีผลดีต่อสุขภาพ แถมยังช่วยให้มีสมาธิดีขึ้นด้วย ผลดีที่เป็นรูปธรรมเหล่านี้เชื้อเชิญให้ผู้คนเข้าหาการเจริญสติ ขณะเดียวกันองค์กรธุรกิจก็เห็นว่ามันเป็นผลดีต่อหน่วยงานของตนด้วย เพราะช่วยให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประการหลังนี้เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดใจผู้บริหารองค์กรธุรกิจมากเพราะเชื่อว่ามันจะทำให้หน่วยงานของตนมี “ข้อได้เปรียบในการแข่งขัน” นี้คือเหตุผลประการหนึ่งที่มีการนำการเจริญสติเข้าไปในคณะธุรกิจ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) ใช่แต่เท่านั้นมันยังเป็นจุดขายขององค์กรที่รับจัดทำคอร์สเจริญสติให้แก่องค์กรธุรกิจด้วย
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    สภาพการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องดีเสมอไป หลายคนเป็นห่วงว่า การเจริญสติกำลังกลายเป็นธุรกิจทำกำไร ซึ่งทำให้ “สติ”กลายเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่ง นั่นหมายความว่า ความหมายและคุณค่าของสติย่อมแปรเปลี่ยนผิดเพี้ยนไป คุณค่าของสติไม่ได้อยู่ที่การลดความเครียดหรือการมีสมาธิกับงานเท่านั้น ที่สำคัญก็คือสติช่วยให้เรารู้เท่าทันกิเลสตัณหาของตนและไม่ตกอยู่ในอำนาจของมัน รวมทั้งช่วยให้เห็นกายและใจตามเป็นจริง ไม่เห็นผิดหรือหลงในมายาภาพที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา สติอย่างนี้แหละที่เรียกว่าสัมมาสติ ตราบใดที่การเจริญสติยังอยู่ในระดับที่ช่วยให้จิตหายฟุ้งซ่านเท่านั้น ความเครียดหรือความสงบที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นของชั่วคราว เนื่องจากกิเลสตัณหายังมีอยู่เท่าเดิม พอมีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้อยาก หรือประสบกับความไม่สมอยาก หรือเห็นคนอื่นได้รับความสำเร็จมากกว่าตน จิตใจก็จะรุ่มร้อน เครียดและเป็นทุกข์อีก

    การใช้สติเพื่อช่วยให้จิตสงบและเป็นสมาธิ จะได้ทำกำไรยิ่งกว่าเดิมนั้น จะไม่ช่วยให้เราพบกับความสงบเย็นและผ่อนคลายอย่างแท้จริง กลับทำให้รากเหง้าของความทุกข์และความเครียดมั่นคงแข็งแรงขึ้น เพราะเป็นการส่งเสริมกิเลสตัณหาให้มากขึ้น การเจริญสติที่แท้ไม่เพียงบรรเทาความฟุ้งซ่านเท่านั้น หากยังช่วยให้เราเห็นความจริงว่า ความสุขที่แท้มิได้อยู่ที่เงินทอง ชื่อเสียง และความสำเร็จ หากอยู่ที่ใจซึ่งสงบจากกิเลส ตัณหาเบาบาง ไม่คับแคบเพราะความเห็นแก่ตัว แม้จะทำงานเต็มที่ แต่ก็มิได้มุ่งหมายเอาชนะผู้อื่นหรือตักตวงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แทนที่จะเอาเข้าตัว สติช่วยเปิดใจให้กว้าง มีเมตตาเกื้อกูลผู้อื่น ซึ่งยิ่งทำก็ยิ่งช่วยให้ใจสงบเย็น

    จะว่าไปแล้วสัมมาสติดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ย่อมอาศัยกุศลธรรมอื่น ๆ เป็นตัวรองรับสนับสนุน เช่น ความเห็นชอบ การคิดชอบ การพูดชอบ การกระทำชอบ(คือ มีศีล ) และการเลี้ยงชีพชอบ เป็นต้น ดังนั้นการรักษากาย วาจา ใจให้ดีงาม จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเจริญสติด้วย เพียงแค่นั่งในห้องสมาธิหรือเดินอย่างสงบบนทางจงกรม ยังไม่พอ หากจำต้องปฏิบัติตัวให้ถูกต้องทั้งภายในและภายนอกอย่างกลมกลืนกับชีวิตประจำวัน รวมทั้งในการทำงานด้วย

    สติจึงไม่ใช่แค่เทคนิคการฝึกจิตเท่านั้น แต่สัมพันธ์กับโลกทัศน์และการดำเนินชีวิตทั้งหมดด้วย หากแยกการเจริญสติออกมาจากการดำเนินชีวิต หรือเอามาใช้เฉพาะเรื่องเฉพาะกิจ มันก็อาจกลายเป็นมิจฉาสติได้ เพราะอย่าลืมว่าแม้แต่โจรหรือขโมยก็ต้องใช้สติในการประกอบมิจฉาชีพเช่นกัน แต่สติอย่างนั้นย่อมเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากมิจฉาสติ เพราะนอกจากจะปล่อยให้กิเลสตัณหาครอบงำจิตแล้ว ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทำความชั่วอีกด้วย

    สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกานั้น จะว่าไปก็ไม่ต่างกับที่กำลังเกิดในเมืองไทย ดังทุกวันนี้แทบทุกวงการพากันพูดถึงการเจริญสติ ทำสมาธิ และปฏิบัติธรรม ขณะที่หนังสือธรรมะก็ขายดี แต่หากการปฏิบัติธรรมยังไม่ช่วยให้กิเลสของเราลดลง ยังมีความเห็นแก่ตัว อยากได้ใคร่ดี หรือไร้น้ำใจเหมือนเดิม ก็แน่ใจได้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่การเจริญสัมมาสติอย่างแน่นอน
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255705.html
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    Buddhateaching.jpg
    วางลงบ้าง
    พระไพศาล วิสาโล
    “เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร”

    นี้เป็นพุทธภาษิตบทหนึ่งที่ชาวพุทธไทยคุ้นหูมาก น่าสนใจก็ตรงที่พระพุทธองค์มิได้ตรัสภาษิตนี้ด้วยเหตุที่ฆราวาสอาฆาตพยาบาทต่อกันเท่านั้น หากยังทรงปรารภเหตุมาจากการที่ภิกษุสงฆ์ทะเลาะเบาะแว้งกันด้วย ดังมีปรากฏในโกสัมพิยชาดก อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับภิกษุกรุงโกสัมพีที่แตกแยกกันเป็นฝักฝ่ายในสมัยพุทธกาล

    เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งพระธรรมกถึก (ผู้แสดงธรรม)ซึ่งมีลูกศิษย์หลายร้อย ได้เข้าไปปลดทุกข์ในส้วม เมื่อเสร็จกิจแล้วเหลือน้ำชำระไว้ในภาชนะ ต่อมาพระวินัยธร (ผู้ชำนาญวินัย) ซึ่งมีลูกศิษย์หลายร้อยเช่นกัน เข้าไปใช้ส้วมนั้น ครั้นเห็นน้ำชำระนั้น ก็ออกมาถามพระธรรมกถึกว่า “ท่านไม่รู้หรือว่าการเหลือน้ำทิ้งไว้นั้นเป็นอาบัติ” เมื่อพระธรรมกถึกยอมรับว่าไม่ทราบ และขอปลงอาบัติ แต่พระวินัยธรตอบว่า “ในเมื่อท่านไม่ได้ตั้งใจ ก็ไม่เป็นอาบัติ”

    เรื่องน่าจะจบเพียงเท่านี้ แต่หลังจากนั้นพระวินัยธรได้กล่าวกับศิษย์ของตนทำนองตำหนิพระธรรมกถึกว่า แม้ต้องอาบัติก็ยังไม่รู้ ศิษย์พระวินัยธรจึงเอาคำพูดดังกล่าวไปพูดเยาะเย้ยให้ศิษย์พระธรรมกถึกฟัง เมื่อรู้ถึงหูพระธรรมกถึก ก็ไม่พอใจ พูดขึ้นมาว่า “พระวินัยธรรูปนี้ เมื่อก่อนบอกว่า ไม่เป็นอาบัติ แต่ตอนนี้บอกว่าเป็นอาบัติแล้ว อย่างนี้ก็พูดมุสาสิ” เมื่อได้ยินเช่นนี้ศิษย์ของพระธรรมกถึกก็ไปพูดข่มศิษย์พระวินัยธร ว่า “อาจารย์ของพวกท่านพูดมุสา” ผลก็คือเกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างศิษย์ของสองอาจารย์ ลามไปถึงครูบาอาจารย์ กลายเป็นปฏิปักษ์กัน เท่านั้นยังไม่พอ ญาติโยมและอุปัฏฐากของทั้งสองท่านก็แตกแยกกันเป็นสองฝ่าย ต่างทุ่มเถียงกล่าวโทษกันจนเสียงอื้ออึง พระไตรปิฎกบรรยายว่า แม้กระทั่งเทวดาอารักขาทั้งสองฝ่ายก็แตกกันเป็นสองพวกไปจนถึงพรหมโลก

    เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบความ ก็เสด็จไปเตือนสติภิกษุทั้งสองฝ่าย ทรงชี้ให้เห็นโทษของความแตกสามัคคี และชักชวนให้ทั้งสองฝ่ายคืนดีกัน ทรงแสดงอานิสงส์ของความสามัคคี พร้อมกับชี้แจงแสดงเหตุผลนานัปการ รวมทั้งนำชาดกต่าง ๆ มาเล่าเป็นคติเตือนใจ

    แม้กระนั้นภิกษุทั้งสองฝ่ายก็ยังดื้อรั้น ไม่ยอมฟังคำของพระองค์แม้แต่น้อย กลับกราบทูลพระองค์ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่าได้มายุ่งเกี่ยวให้ลำบากพระองค์เลย โปรดอยู่สบายแต่พระองค์เดียวเถิด ปล่อยให้พวกข้าพระองค์ทะเลาะวิวาทกันต่อไปเถิด”

    เมื่อเป็นเช่นนี้ วันรุ่งขึ้นพระองค์ได้เสด็จไปบิณฑบาตเพียงพระองค์เดียว กลับจากบิณฑบาต ทรงเก็บเสนาสนะ ก่อนเสด็จออกจากกรุงโกสัมพี ได้ตรัสคาถา ตอนหนึ่งมีความว่า “ชนเหล่าใดเข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่อาจระงับได้ ... แต่ไหนแต่ไรมา ในโลกนี้ เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร แต่ยอมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า”

    จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปยังป่าปาลิเลยกะ และจำพรรษาที่นั่น ฝ่ายชาวโกสัมพีเมื่อไม่เห็นพระองค์ และรู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ก็ไม่กราบไหว้ ไม่ถวายภัตตาหารแก่ภิกษุเหล่านั้น จนซูบผอมเพราะขาดอาหาร ในที่สุดภิกษุทั้งสองฝ่ายสำนึกตัวว่าผิด ยอมสามัคคีกัน และไปขอขมาโทษต่อพระพุทธองค์

    เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ว่า คนที่ดื้อรั้นไม่ฟังคำสอนของพระพุทธองค์นั้น บางครั้งไม่ใช่คนที่ไกลวัดไกลธรรมหากได้แก่ภิกษุผู้อยู่ใกล้พระพุทธองค์นั้นเอง อีกทั้งไม่ใช่พระอลัชชีที่ติดในลาภสักการะ ไม่ใส่ใจในพระธรรมวินัย หากเป็นถึงครูบาอาจารย์ เป็นผู้มีความรู้มีการศึกษาทางธรรมวินัย มีลูกศิษย์และญาติโยมให้ความเคารพนับถือมากมาย อีกทั้งยังมีเทวดาอารักขาอีกด้วย หากไม่เกิดเหตุทะเลาะวิวาทดังกล่าว ท่านเหล่านั้นสามารถเรียกว่าเป็น “พระดี”ได้ด้วยซ้ำไป
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    คำถามก็คือ อะไรทำให้ท่านเหล่านั้นดื้อรั้นจนทำผิดพลาดได้ถึงขนาดนั้น คำตอบก็คือ ความยึดติดถือมั่นในความถูกต้องของตน ซึ่งทำให้ปักใจเชื่อว่าอีกฝ่ายผิดเต็มที่ เมื่อหมกมุนอยู่กับความเชื่อว่าฉันถูก แกผิด ใจก็ปิดสนิท ไม่ยอมรับฟังความเห็นของใครทั้งนั้นที่ต่างไปจากตน ไม่เว้นแม้กระทั่งคำสอนของพระศาสดา เดาได้ไม่ยากว่าขณะที่พระองค์แสดงธรรมให้ภิกษุโกสัมพีฟัง ในใจของท่านเหล่านั้นอื้ออึงดังระงมด้วยคำกล่าวโทษอีกฝ่าย และปรารถนาให้ฝ่ายตรงข้ามมาขอโทษตนเอง แม้หูจะฟังแต่ก็ไม่ได้ยินคำสอนของพระพุทธองค์ กลับจะรู้สึกรำคาญด้วยซ้ำ ถึงกับทูลขอให้พระองค์ทรง “อยู่เฉย ๆ”

    ใช่แต่เท่านั้นความเชื่อมั่นว่าตนเองถูกเต็มร้อย ยังทำให้ไม่สามารถมองเห็นความผิดของตน หรือยอมรับได้ว่าตนเองก็มีส่วนผิดที่ทำให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย จนวุ่นวายทั้งวัดและลามไปถึงฆราวาสญาติโยม(รวมทั้งเทวดาในสวรรค์) แม้ถึงเพียงนั้นแล้วก็ยังมองไม่เห็นว่าเกิดโทษภัยอะไรบ้าง เพราะใจจดจ่ออยู่แต่ความถูกของตนและความผิดของอีกฝ่าย

    ไม่มีอะไรทำให้ใจปิดและสติปัญญาคับแคบ มองเห็นแค่ปลายจมูก ได้มากเท่ากับความยึดติดถือมั่นในความถูกต้องของตน ผลก็คือทำผิดโดยไม่รู้ตัว และทั้ง ๆ ที่ทำผิดก็ยังเชื่อว่าตนเองทำถูก ซึ่งก็หนุนส่งให้ทำผิดมากขึ้น โดยยากที่จะยอมรับผิด ดังกรณีภิกษุโกสัมพี ทั้ง ๆ ที่พระพุทธองค์ทรงปลีกพระองค์ไปจำพรรษาในป่าแต่พระองค์เดียว ก็ยังไม่รู้สำนึก ทุ่มเถียงกันต่อไป ต่อเมื่อถูกชาวบ้านประท้วงด้วยการไม่กราบไหว้ ไม่ถวายอาหาร ร่างกายซูบผอม จึงยอมลดทิฐิมานะ ยอมรับผิด กลับมาสามัคคีกัน แม้กระนั้นก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการสำนึกผิดอย่างแท้จริง เนื่องจากทำไปเพราะถูกแรงกดดันจากญาติโยม นั่นเป็นเหตุผลเดียวกับที่พากันไปขอขมาโทษจากพระพุทธองค์ เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นก็จะไม่ได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากญาติโยมอีกต่อไป

    นี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับ “คนดี” เพราะยิ่งทำดีมากเท่าใด ก็ยิ่งยึดติดในความดีหรือความถูกต้องของตนได้ง่ายเท่านั้น สามารถทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้โดยไม่รู้ตัว ความขัดแย้งที่ลุกลามจนกลายเป็นการทะเลาะวิวาทถึงกับฆ่าฟันห้ำหั่นกันกลายเป็นสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า จำนวนไม่น้อยเป็นเพราะความยึดติดถือมั่นในความถูกต้องของตน จนไม่สนใจว่ามีความพินาศเกิดขึ้นกับตนและผู้อื่นมากมายเพียงใด ขอให้ตนเป็นฝ่ายชนะก็พอ

    ถ้าเรายึดติดถือมั่นในความถูกต้องของตนให้น้อยลง เปิดใจฟังผู้อื่นมากขึ้น รวมทั้งเปิดตามองเห็นโทษภัยที่เกิดจากความยึดติดดังกล่าวบ้าง อย่าคิดแต่จะเอาชนะกัน ความวิวาทบางหมางและการทำลายล้างกันจะน้อยลง ชีวิตจะผาสุกและบ้านเมืองจะมีความสงบกว่านี้มาก
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255701.html


     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    “ใช้กรรม” หรือ “ทำดี”?
    พระไพศาล วิสาโล
    “เจี๊ยบ” มีอาชีพที่มั่นคงพอสมควร แต่วันหนึ่งเมื่อพบว่าแม่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ เธอได้ลาออกจากงานเพื่อมาดูแลแม่ ไม่ใช่เพราะเธอเป็นน้องคนสุดท้อง แต่เพราะไม่มีพี่คนใดสามารถปลีกตัวมาดูแลแม่เต็มเวลาเนื่องจากมีครอบครัวกันแล้วทั้งนั้น ปีแรก ๆ พี่ ๆ ก็ให้เงินช่วยเหลือไม่ขาดมือ ทั้งค่าอาหาร ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเจี๊ยบ แต่เมื่อผ่านไปหลายปี เงินช่วยเหลือจากพี่ ๆ ก็เริ่มขาด ๆ หาย ๆ ทั้ง ๆ ที่ฐานะยังดีอยู่ เธอต้องตามทวงครั้งแล้วครั้งเล่ากว่าจะได้เงินมา บางครั้งก็ขอไม่ได้ เธอต้องควักเงินเองขณะที่เงินเก็บก็ร่อยหรอลงเรื่อย ๆ

    ระยะหลังความจำของแม่เลอะเลือนหนักขึ้น แถมช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ จำเป็นต้องมีคนงานมาช่วยเธอ เช่น อุ้มแม่ขึ้นหรือลงจากเตียง รวมทั้งทำงานบ้านแทนเธอ แต่พี่ ๆ กลับไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเป็นค่าจ้างคนงาน เธอจึงดูแลแม่คนเดียวต่อไปด้วยความยากลำบาก หลังจากดูแลต่อเนื่องนานนับสิบปีจนอายุเลย ๕๐ แล้ว กายก็เหนื่อยล้ามากขึ้น ส่วนใจก็คับข้องและขุ่นเคืองที่พี่ ๆ ไม่เห็นใจเธอเลย แถมไม่สนใจแม่ด้วย จะมาหาแม่ก็ต่อเมื่อเป็นวันแม่ กราบแม่เสร็จ พูดคุยกับแม่สักพักก็ไป แล้วหายไปเป็นปี ทิ้งเธอให้อยู่คนเดียวกับแม่ บ่อยครั้งเวลานึกถึงพี่ ๆ ที่สุขสบายขณะที่เธอลำบาก เธอก็อดท้อใจไม่ได้ว่าทำไมทำดีจึงต้องเป็นทุกข์อย่างนี้ แล้วทำไมคนที่ไม่ไยดีแม่เลยจึงมีชีวิตที่สุขสบาย

    วันหนึ่งเธอเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนซึ่งเป็นคนสนใจธรรมะ แทนที่เพื่อนจะเห็นใจเธอ กลับบอกว่า ที่เธอเหนื่อยยากทุกวันนี้เป็นเพราะเคยทำกรรมไม่ดีกับแม่ในชาติก่อน ชาตินี้จึงต้องมาใช้กรรม ส่วนพี่ ๆ ของเธอนั้นทำกรรมดีในชาติที่แล้ว ชาตินี้จึงสุขสบาย

    เธอได้ฟังก็ทั้งผิดหวังและงงงวยว่า ทำไมเพื่อนจึงคิดเช่นนั้น ที่จริงเธอคงไม่รู้ว่า คนที่คิดอย่างเพื่อนของเธอนั้นมีเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ชอบเข้าวัดทำบุญ และจำนวนไม่น้อยก็เรียกตัวเองว่านักปฏิบัติธรรม

    น่าคิดอย่างมากทีเดียวว่า การดูแลพ่อแม่ในยามชราหรือยามเจ็บป่วยนั้น ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นความกตัญญูอย่างหนึ่ง ถือเป็นความดีในพุทธศาสนา แต่เหตุใดทุกวันนี้คนจำนวนไม่น้อยจึงมองว่าเป็นการใช้กรรม (ซึ่งมีนัยยะของการถูกลงโทษ) ทัศนะเช่นนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์อย่างหนึ่งซึ่งแพร่หลายมากในหมู่ชาวพุทธปัจจุบัน นั่นคือ เวลาเห็นใครประสบความเหนื่อยยากลำบาก ก็มักจะ “ฟันธง” ทันทีว่าเขากำลังใช้กรรม อันเป็นผลสืบเนื่องจากบาปในชาติที่แล้ว ส่วนใครที่สุขสบาย ก็เป็นเพราะเขากำลังเสวยผลแห่งความดีที่ได้ทำไว้ในชาติก่อน

    ทัศนคติดังกล่าวเป็นการมองแบบเหมาคลุมมาก เพราะความเหนื่อยยากลำบากนั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของการทำความดีก็ได้ ขณะที่ความสุขสบายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการไม่ทำความดี เพิกเฉยหน้าที่ที่พึงกระทำ ยกตัวอย่างเช่น เด็กหญิงก. เป็นคนที่เอาใจใส่ในการเรียน ขณะที่เด็กชายข. เป็นเด็กขี้เกียจ เป็นธรรมดาที่เด็กหญิงก. ย่อมเรียนหนักกว่าเด็กชาย ข. แทนที่จะเที่ยวเล่นสนุกสนานหรือนั่งดูโทรทัศน์ก็ต้องตรากตรำทำการบ้านหรืออ่านหนังสือ ใครที่บอกว่าเด็กหญิงก. เรียนหนักเพราะกำลังใช้กรรม ส่วนเด็กชาย ข. สุขสบายก็เพราะชาติที่แล้วทำกรรมดี แสดงว่าคนนั้นย่อมมีความเห็นผิดอย่างแน่นอน เป็นความคิดที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ

    แน่นอนคงไม่มีชาวพุทธคนใดคิดว่าเด็กหญิง ก.กำลังใช้กรรม ตรงกันข้ามย่อมเห็นตรงกันว่าเธอกำลังทำความดี แต่เหตุใดเมื่อคนอย่างเจี๊ยบเหน็ดเหนื่อยจากการดูแลแม่ คนจำนวนไม่น้อยจึงคิดว่าเธอกำลังใช้กรรม ทำไมจึงไม่คิดว่าเธอกำลังสร้างกรรมดี ในทำนองเดียวกันเมื่อพี่ ๆ ของเจี๊ยบสุขสบายเพราะไม่สนใจดูแลแม่ ทำไมชาวพุทธหลายคนจึงคิดว่าเขาเหล่านั้นกำลังรับผลจากการทำความดี เหตุใดจึงไม่คิดว่าที่พวกเขาสุขสบายเพราะละเลยการทำความดีต่อแม่บังเกิดเกล้า
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    การทำความดีนั้นคือการสร้าง “เหตุ” ส่วนการใช้กรรมนั้นคือการรับ “ผล” สองอย่างนี้แตกต่างกันมาก แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าชาวพุทธจำนวนไม่น้อยไม่อาจแยกแยะสองสิ่งนี้ได้ กล่าวคือถ้าใครประสบความเหนื่อยยาก ก็คิดว่าเขากำลังใช้กรรม ไม่ใช่เพราะกำลังเพียรทำความดี ถ้ามองให้ลึกลงไปก็จะพบว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวบ่งบอกถึงทัศนคติที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้น นั่นคือ การแยกไม่ออกระหว่าง การทำความดี กับ การละเลยที่จะทำความดี หรืออาจถึงขั้นแยกไม่ออกระหว่าง การทำความดี กับ การทำความชั่วด้วยซ้ำ

    กรณีของเจี๊ยบสะท้อนชัดเจนว่า ทั้ง ๆ ที่พี่ ๆ ของเธอไม่สนใจดูแลแม่ที่กำลังป่วย แทนที่หลายคนจะมองว่านี่เป็นการละเลยหน้าที่ต่อบุพการี อันเป็นสิ่งที่ควรตำหนิ กลับมองว่าเป็นโชคของเขา (เพราะชาติที่แล้วเขาทำดี ชาตินี้จึงสบาย ไม่ต้องเหนื่อยกับการดูแลแม่) ส่วนเจี๊ยบซึ่งดูแลแม่ตัวเป็นเกลียว แทนที่จะผู้คนจะมองว่านี้คือการทำความดีที่ควรสรรเสริญ กลับมองว่าเธอกำลังรับโทษทัณฑ์อันเป็นผลจากบาปกรรมในอดีต

    ถามว่าความคิดดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร คำตอบส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ที่ ทัศนคติที่มองเห็นความเหน็ดเหนื่อยว่าเป็นเรื่องไม่ดี และมองเห็นความสุขสบายว่าเป็นเรื่องดี ทัศนคติเช่นนี้หากสืบสาวไปก็อาจพบว่าเป็นอิทธิพลของบริโภคนิยมที่เชิดชูความสะดวกสบาย ใฝ่เสพมากกว่าใฝ่ทำ เมื่อผู้คนมีความรู้สึกดีกับความสุขสบาย เวลาเห็นใครสุขสบาย ก็พยายามหาคำอธิบายแบบสำเร็จรูป และคำอธิบายส่วนหนึ่งก็คว้ามาจากคำสอนของพุทธศาสนา โดยเฉพาะกฎแห่งกรรมตามที่ตนเข้าใจ

    ผลก็คือ เวลาใครมีชีวิตที่สุขสบาย ก็ฟันธงว่าเป็นเพราะเขาทำกรรมดีในอดีตชาติ ทั้ง ๆ ที่หากใคร่ครวญดูดี ๆ ก็จะพบได้ไม่ยากว่า ความสุขสบายของเขานั้นเกิดจากการละเลยหน้าที่ หรืออาจเกิดจากการทำความชั่วด้วยซ้ำ เช่น คดโกง หรือคอร์รัปชั่น

    ในทางตรงข้าม เมื่อมีความรู้สึกลบกับความเหนื่อยยากลำบาก ก็เอากฎแห่งกรรมมาอธิบายอย่างง่าย ๆ หยาบ ๆ ว่า เป็นเพราะเขาทำกรรมไม่ดีในชาติที่แล้ว ข้อสรุปดังกล่าวเท่ากับหนุนส่งให้ผู้คนไม่อยากทำความเพียร เพราะขึ้นชื่อว่าความเพียรแล้วย่อมหนีไม่พ้นความเหน็ดเหนื่อยเพราะทำงานหนัก ผลก็คือชาวพุทธจำนวนมากกลายเป็นคนที่หนักไม่เอาเบาไม่สู้ เอาแต่ทำบุญเพื่อหวังสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาดลบันดาลให้ร่ำรวยมีเกียรติยศ จะได้สุขสบายโดยไม่ต้องเหนื่อย ในทำนองเดียวกันหากทำความดีแล้วเหน็ดเหนื่อย ก็เลิกทำเช่นกัน

    หากทัศนคติดังกล่าวแพร่หลาย ก็น่าห่วงว่าสังคมไทยจะเป็นอย่างไร

    :- https://visalo.org/article/jitvivat255809.html
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    buddhaundertree.jpg
    ความพร่องที่เติมเต็มได้ยาก

    พระไพศาล วิสาโล
    ผู้คนทุกวันนี้แม้มีเงินทองมากมาย พรั่งพร้อมด้วยวัตถุสิ่งเสพ แต่สิ่งหนึ่งที่คอยรบกวนจิตใจอยู่เนือง ๆ คือ ความรู้สึกพร่อง ดูเผิน ๆ เหมือนความรู้สึกว่ายังมีเงินไม่พอ หรือมีสุขไม่พอ แต่ลึกไปกว่านั้นก็คือการพร่องความสงบ ซึ่งเชื่อมโยงกับความรู้สึกพร่องอีกประการหนึ่ง

    ในด้านหนึ่งมันคือความกลัวตาย แต่ที่จริงมันคือความกลัวว่าตัวตนจะไม่ยั่งยืน จะว่าไปแล้วคนเราไม่ได้กลัวตายมากเท่ากับกลัวตัวตนจะดับสูญ แต่ว่าในระดับพื้นผิว เพียงแค่ความตายอย่างเดียวก็ทำให้ผู้คนเกิดความกลัว รู้สึกกระสับกระส่าย นี่คือสิ่งที่รบกวนจิตใจผู้คน ทางออกของผู้คนจำนวนมากก็คือเสพสุขให้เยอะ ๆ จะได้ลืมตาย เมื่อสนุกสนานเพลิดเพลินมาก ๆ ก็จะไม่มีเวลาคิดถึงความตายของตน หรือลืมไปเลยว่าสักวันหนึ่งเขาจะต้องตาย หลายคนจึงอยู่เหมือนคนลืมตาย นี่เป็นวิธีที่หลายคนใช้รับมือกับความกลัวตาย คือทำตัวให้วุ่น ทำใจไม่ให้ว่าง บางคนก็วุ่นกับการทำงาน แต่หลายคนก็วุ่นกับการเสพ ความสนุกสนาน ช่วยทำให้ลืมตายไปได้ อย่างน้อยก็ช่วงเวลาหนึ่ง

    แต่นอกจากความกลัวตายแล้ว ยังมีความรู้สึกลึกๆ ที่รบกวนจิตใจผู้คนในระดับจิตไร้สำนึก นั่นคือความไม่มั่นใจว่าตัวตนมีจริงไหม เรื่องนี้ไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันเท่าไหร่ แต่ว่าอาตมาเชื่อว่ามันรบกวนจิตใจผู้คนจำนวนไม่น้อย จริงอยู่คนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า ตัวกูนี้มีอยู่จริง แต่ในส่วนลึกๆ ก็เกิดความระแวงสงสัยว่าตัวกูมีจริงไหม

    การค้นพบของพุทธศาสนาที่สำคัญคือการค้นพบว่าตัวกูไม่มีอยู่จริง ตัวกูหรือตัวตนเป็นแค่ภาพปรุงแต่ง ที่จิตปรุงขึ้นมา เป็นมายาอะไรที่เป็นมายา อะไรที่ไม่เป็นความจริง ในส่วนลึกของจิตใจเราทุกคนก็ย่อมรู้ แม้มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน แต่ก็จะมีบางช่วงบางขณะที่เราเกิดความสงสัยว่า ตัวกูมีจริงหรือ เพราะว่าตัวตนหรือตัวกูในความรู้สึกของเรามันแปรเปลี่ยนไปเรื่อย ตัวอย่างเช่น เวลาเราเจอลูก ตัวตนที่เป็นพ่อแม่ หรือความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นพ่อแม่ก็ปรากฏ แต่เวลาเราเจอพ่อแม่ ตัวตนใหม่ก็เกิดขึ้น คือ ตัวตนที่เป็นลูก เวลาเราเจอลูกศิษย์ ตัวตนที่เป็นครูก็ปรากฏ แต่เวลาเราเจอครูเก่า ๆ ตัวตนที่เป็นศิษย์ก็ปรากฏ เวลาเราเจอฝรั่ง ตัวตนที่เป็นไทย หรือความสำคัญมั่นหมายว่าฉันคือคนไทยก็ผุดขึ้นมา พอเจอคนใต้ ตัวตนที่เป็นคนอีสานก็ผุดขึ้นมาแทนที่ เวลาเจอคนชัยภูมิ ตัวตนที่เป็นคนขอนแก่นก็ปรากฏ

    เราจะสังเกตเห็นได้ว่า “ตัวกู” แปรเปลี่ยนไปเรื่อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบริบท ถ้า “ตัวกู” จริงแท้แน่นอน แล้วทำไมมันแปรเปลี่ยนไปเรื่อย? ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่ทำให้หลายคนหรือแทบจะทุกคนก็ว่าได้ เมื่อถึงจุดหนึ่งก็สงสัยหรือเกิดกังขาขึ้นมาว่า “เอ๊ะ ตัวกู มีจริงไหม?” แต่ธรรมชาติของจิตส่วนลึกยอมรับไม่ได้ว่า “ตัวกู” ไม่มีจริง เพราะถ้าตัวกูไม่มีจริงก็เคว้งสิ สิ่งที่เรามักทำก็คือพยายามกดความลังเลสงสัยนี้เอาไว้ กดมันเอาไว้ในส่วนลึกของใจ แต่สิ่งที่กดเอาไว้นั้นไม่เคยหายไปไหน มันแค่หลบไปอยู่ในจิตไร้สำนึก คอยโผล่ออกมารบกวนจิตใจตอนเราเผลอ

    อะไรที่เรากดเอาไว้มันไม่เคยหาย แต่หลบซ่อนอยู่แล้วโผล่อออกมาในยามที่เราเผลอ หรือไม่ก็แสดงตัวในลักษณะอื่น คนที่โกรธเกลียดพ่อถึงขั้นอยากทำร้ายพ่อ แม้จะกดข่มความรู้สึกโกรธเกลียดพ่อเอาไว้ แต่บางครั้งมันโผล่ออกมาเป็นความโกรธเกลียดอย่างอื่นแทน มีบางคนเกลียดศาลพระภูมิ อยากเตะศาลพระภูมิทุกครั้งที่เห็น แต่เมื่อสาวไปลึกๆ ก็พบว่าเขาโกรธเกลียดพ่อ แต่เจ้าตัวยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองมีความรู้สึกนี้กับพ่อ เพราะคนดีเขาไม่โกรธเกลียดพ่อ จึงกดความรู้สึกนี้เอาไว้ในส่วนลึกของใจ แต่ความรู้สึกนี้ไม่ได้หายไปไหน มันเพียงแต่โผล่ในรูปอื่น นั่นคือโกรธเกลียดศาลพระภูมิ

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 8 มีนาคม 2024
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    ความลังเลสงสัยว่า “ตัวกูไม่มีจริง” ก็เช่นกัน ใจเรายอมรับไม่ได้ว่า ตัวกูไม่มีจริง จึงพยายามกดความสงสัยนี้เอาไว้จนอยู่ในจิตไร้สำนึก วันดีคืนดีมันก็โผล่ออกมาสู่จิตสำนึก เป็นความรู้สึกพร่อง อันนี้เป็นแนวคิดของ เดวิด ลอย(David Loy) นักคิดชาวพุทธที่น่าสนใจมาก ความรู้สึกพร่องดังกล่าวทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง ง่อนแง่น คับข้อง กระวนกระวาย ทำให้ไม่เป็นสุข

    วิธีหนึ่งที่คนทั่วไปใช้ในการบรรเทาความรู้สึกพร่องก็คือ การเสพและครอบครองวัตถุ หรือมีเงินมาก ๆ ทั้งนี้เพื่อเติมเต็มจิตใจ ทรัพย์สินเงินทองเป็นวัตถุรูปธรรม ที่หลายคนคิดว่าจะช่วยทำให้ใจหายพร่อง ได้รับการเติมจนเต็มได้ นี้คือเหตุผลว่าทำไมผู้คนพากันแสวงหา บริโภค และสะสมวัตถุอย่างเอาจริงเอาจังไม่ใช่เพียงเพื่อความสะดวกสบายทางกาย ไม่ใช่เพื่อความเอร็ดอร่อยทางอายตนะ หรือเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น ที่สำคัญคือเพื่อเติมเต็มจิตใจ เพื่อลดความรู้สึกพร่อง โดยพยายามยึดหาอะไรมาเป็นตัวตน หรือรองรับค้ำจุนภาพตัวตนให้ดูเป็นจริงขึ้นมา

    แต่ไม่ว่ามีทรัพย์สินเงินทองมากเท่าใด ความรู้สึกพร่องดังกล่าวก็ไม่ได้หายไปไหน อาจถูกกลบเกลื่อนไปชั่วคราว แต่แล้วก็กลับมารบกวนใหม่ ความสำคัญประการหนึ่งของพุทธศาสนาอยู่ตรงที่ช่วยช่วยให้เราลดความรู้สึกพร่องได้อย่างแท้จริง โดยการชี้ให้เห็นความจริงว่า ไม่มี “ตัวกู” อยู่เลย “ตัวกู”เป็นแค่สิ่งที่จิตปรุงแต่งหรือทึกทักว่ามีจริง มันเป็นมายา

    อย่างไรก็ตามความจริงดังกล่าว เพียงแค่คิดเอาหรือไตร่ตรองด้วยเหตุผลอย่างเดียว ไม่พอ ใจต้องเห็นความจริงนี้อย่างแจ่มแจ้งด้วย จึงจะหายสงสัยกังขา พูดอีกอย่างคือต้องเป็นการประจักษ์แจ้งอย่างถ่องแท้ว่า “ตัวกูไม่มีจริง” การประจักษ์แจ้งดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จากการทำสมาธิภาวนาที่เรียกว่าวิปัสสนา โดยอาศัยการเจริญสติปัฏฐานเป็นสำคัญ

    การเจริญสติปัฏฐานแม้เพียงเบื้องต้น คือการรู้กาย เห็นกายตามที่เป็นจริงก็ช่วยได้มาก เมื่อเรามีสติขณะเดิน ก็จะเห็นว่า ที่เดินนั้นไม่ใช่เราหรือ “กู”เดิน แต่เป็น “รูป” ที่เดิน เวลามีความคิดเกิดขึ้น มันไม่ใช่เราคิดหรือ “กู”คิด แต่เป็น “นาม” หรือ “จิต” ที่คิด หรือมีความคิดเกิดขึ้นกับจิตหรือนามนั้น เวลาโกรธมันไม่ใช่เราโกรธ แต่เป็นความโกรธที่เกิดขึ้นในใจ ถ้าเราเจริญสติอย่างถูกต้อง จะช่วยไถ่ถอนความยึดมั่นถือมั่น หรือลดความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูได้ เพราะจะเห็นว่า ไม่ว่าทำอะไรลงไป มันไม่มีตัวกูเป็นผู้ทำ มีแต่ “รูป” หรือ “นาม” หรือมีแต่ “กาย” กับ “ใจ” ที่เป็นตัวกระทำ เอาเข้าจริง ไม่มีคำว่า “ใคร” มีแต่คำว่า “อะไร” มากกว่าที่กระทำหรือเป็นไป

    ฉะนั้น ถ้าหากภาวนาไปจนถึงระดับวิปัสสนาก็จะเห็นชัดเจนว่า จริงๆ แล้วมันไม่มีตัวกูตั้งแต่แรก ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นไม่ต้องวาง “ตัวกู” เพียงแค่วางหรือสละความยึดถือว่ามีตัวกูเท่านั้นก็พอแล้ว เมื่อเห็นชัดแจ่มแจ้งว่าไม่มีตัวกู ความลังเลสงสัยว่าตัวกูมีอยู่จริงไหมก็จะหมดไป จิตจะยอมรับอย่างสิ้นเชิงว่าไม่มีตัวกูเลยแม้แต่น้อย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะกดข่มความลังเลสงสัยในตัวกูอีกต่อไป ความรู้สึกพร่องที่รบกวนจิตใจก็จะหายไป เกิดความรู้สึกเต็มอิ่ม หรือความรู้สึกโปร่งเบาขึ้นมา เป็นอิสระอย่างแท้จริง

    ในขณะที่การประจักษ์ดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น อย่างน้อยเราก็ควรลดความยึดติดถือมั่นในตัวกู ด้วยการให้ทาน เพื่อลดความยึดมั่นในของกู รวมทั้งลดความยึดมั่นในความคิดของกู ไม่เอาตัวกูเป็นศูนย์กลาง นึกถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง อีกทั้งหมั่นมองตนจนรู้ทันความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ เหล่านี้ล้วนช่วยให้ “ตัวกู”ไม่รบกวนจิตใจ และได้พบความสงบในใจมากขึ้นเรื่อย ๆ
    :- https://visalo.org/article/jitvivat25630111.html
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    jitvivat5410.jpg
    หวังสะอาด ไยสาดโคลน

    พระไพศาล วิสาโล
    เย็นวันหนึ่ง ทันทีที่พ่อรู้ว่าลูกชายวัยรุ่นมีเรื่องชกต่อยกับเพื่อนร่วมโรงเรียนจนต้องหามส่งโรงพยาบาล พ่อก็ตำหนิลูกว่าทำอย่างนั้นได้อย่างไร ลูกให้เหตุผลว่าตนถูกเจ้าหมอนั่นก่อกวนที่โรงเรียนเป็นประจำ เขาพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ไม่ต่อล้อต่อเถียงด้วย แต่กลับทำให้นักเรียนเกเรนั้นได้ใจ จึงรังควาญเขาหนักขึ้น บ่ายวันนี้เจ้าหมอนั่นก็มาเยาะเย้ยถากถางเขาอีกต่อหน้าผู้คนนับสิบ คราวนี้เขาทนไม่ได้ จึงต่อยและเตะมันจนหมอบ

    ลูกไม่รู้สึกผิดเลยกับการทำเช่นนั้น พ่อจึงถามลูกว่า หากพ่อแม่ของเด็กคนนั้นฟ้องตำรวจจะทำอย่างไร ลูกโต้กลับว่า “เจ้านั่นมันเลวมาก สมควรแล้วที่เจ็บตัว” พ่อพยายามชี้แจงด้วยเหตุผล ลูกก็ไม่ฟัง เถียงตลอด สุดท้ายพ่อก็พูดเสียงดังว่า “ครอบครัวของเราจะไม่แก้ปัญหาด้วยกำลัง” ลูกจึงพูดสวนขึ้นมาว่า “ถ้าเป็นครอบครัวของเรา ต้องยิงมันทิ้ง”

    พ่อคิดไม่ถึงว่าลูกจะพูดเช่นนั้น จึงบันดาลโทสะ ตบหน้าลูกอย่างแรง กว่าพ่อจะรู้ตัวว่าทำอะไรลงไป ความเจ็บปวดก็เกิดขึ้นกับลูกทั้งกายและใจไปแล้ว

    พ่อต้องการสอนลูกให้แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี แต่พอลูกไม่เชื่อพ่อ พ่อกลับใช้ความรุนแรงกับลูก เป็นความรุนแรงที่เกิดจากความต้องการให้ลูกใช้สันติวิธี

    น่าคิดว่า อะไรทำให้พ่อทำสิ่งตรงข้ามกับความเชื่อของตน คำตอบก็คือ นอกจากพ่อจะไม่พอใจที่ลูกคิดต่างจากพ่อแล้ว ยังโกรธที่ความคิดเห็นของตนถูกโต้แย้งและท้าทายซึ่ง ๆ หน้า

    เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่า ความคิดความเชื่ออะไรก็ตาม แม้นดีวิเศษเพียงใด แต่หากเรายึดติดถือมั่นกับมันแล้ว ก็ย่อมเป็นทุกข์และทนไม่ได้ที่ความคิดนั้นถูกปฏิเสธ เพราะเหมือนกับว่าตัวตนนั้นถูกปฏิเสธหรือถูกกระทบไปด้วย จึงขุ่นเคืองใจ และหากไม่รู้ทันอารมณ์ดังกล่าว ปล่อยให้มันลุกลามเป็นความโกรธ ถึงจุดหนึ่งก็ลืมตัวและพร้อมที่จะระบายความโกรธ หรือทำสิ่งต่าง ๆ ออกไปโดยไม่รู้ตัว ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งตรงข้ามกับความคิดความเชื่อนั้น

    มิใช่แต่ความคิดความเชื่อในทางสันติวิธีเท่านั้น ที่หากยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้ว ก็ทำให้แสดงความรุนแรงออกไป แม้แต่ความคิดความเชื่อในทางศาสนา ก็สามารถเป็นประเด็นที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ เพราะยึดติดถือมั่นในความเชื่อนั้นจนทนไม่ได้ที่เห็นคนอื่นคิดต่างจากตน ในประวัติศาสตร์มีตัวอย่างมากมายของสงครามและการประหัตประหารเพราะความแตกต่างทางด้านศาสนา ทั้ง ๆ ที่ศาสนาเหล่านั้นพร่ำสอนสันติภาพก็ตาม

    แม้กระทั่งในหมู่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยที่มีศรัทธาแน่นแฟ้นในพุทธศาสนา บ่อยครั้งที่พบว่ามีการใช้ท่าทีที่ไม่เป็นพุทธ ในการตอบโต้รับมือกับบุคคลในศาสนาอื่นหรือผู้ที่ถูกมองว่ากำลังบั่นทอนคุกคามพุทธศาสนา ท่าทีดังกล่าวได้แก่การใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หยาบคาย หรือถึงขั้นใส่ร้าย ปล่อยข่าวลือ หนักกว่านั้นก็คือสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับคนเหล่านั้น ท่าทีเหล่านั้นล้วนตรงข้ามกับคำสอนของพระพุทธองค์ แต่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยพร้อมจะใช้ท่าทีดังกล่าวอย่างเต็มที่ด้วยเหตุผลว่าเพื่อปกป้องพุทธศาสนา การใช้ท่าทีไม่เป็นพุทธเพื่อธำรงพุทธศาสนากลายเป็นเรื่องที่ดูเหมือนชอบธรรมด้วยเหตุผลว่า พุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐและควรแก่การปกป้องด้วยวิธีใด ๆ ก็ได้แม้จะเป็นวิธีที่ผิดศีลผิดธรรมก็ตาม นี้ก็ไม่ต่างจากการใช้วิธีรุนแรงเพื่อปกป้องแนวทางสันติวิธี ซึ่งวิญญูชนย่อมรู้ดีว่าเป็นวิธีการที่กลับบั่นทอนสันติวิธีเสียเอง

    การใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้เพื่อปกป้องความคิดความเชื่อหรือจุดหมายที่ถือกันว่าดีงามนั้น ได้กลายเป็นกระแสหลักในสังคมไทยไปแล้วก็ว่าได้ ดังนั้นเราจึงเห็นการใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเพื่อปกป้องประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น ก่อการ(และสนับสนุน)รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อหวังจะรักษาประชาธิปไตยให้พ้นจากน้ำมือของนักการเมืองที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือใช้อำนาจที่มีอยู่เพื่อปิดปากคนที่ตนเชื่อว่ามีอุดมการณ์ที่สวนทางกับประชาธิปไตย ส่วนคนที่ไม่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ จำนวนไม่น้อยก็หันไปใช้วิธีการอื่นเพื่อกดดันและกีดขวางคนที่คิดต่างจากตน ไม่ให้แสดงความคิดความอ่านที่ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย เช่น ใครที่สนับสนุนรัฐประหารหรืออยู่ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตยในแบบของตน หรือแม้แต่คิดเห็นไม่เหมือนตนหรือพวกของตน ก็จะถูกรุมด่าทอดูหมิ่นเหยียดหยาม ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย หรือถูกโห่ฮาด้วยอารมณ์เกลียดชัง แทนที่จะโต้เถียงกันด้วยเหตุผล อันเป็นวิถีทางประชาธิปไตย

    จริงอยู่เรามีสิทธิที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดเหล่านั้น แต่อย่าลืมว่าประชาธิปไตยหมายถึงการให้พื้นที่และโอกาสในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทั้งปวง รวมทั้งความเห็นที่ล้าหลังหรือไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยตราบใดที่มิได้ดูถูกเหยียดหยามใคร หากใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว แม้จะทำเพื่อประชาธิปไตยก็ตาม แต่ในที่สุดวิธีการดังกล่าวกลับบ่อนเซาะประชาธิปไตยเสียเอง

    จะว่าไปแล้ว เชื่ออะไร ก็ไม่สำคัญเท่ากับเชื่ออย่างไร แม้จะเชื่อสิ่งที่ดีมีเหตุผล แต่หากเชื่ออย่างยึดติดถือมั่นหรืองมงายหัวปักหัวปำ ก็อาจก่อผลเสียได้ เพราะการเชื่ออย่างนั้นมักทำให้ตนใจแคบ ทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นคิดต่างจากตน ยิ่งมีความมั่นใจว่าสิ่งที่ตนเชื่อนั้นประเสริฐเลิศล้ำ ใครที่ไม่เชื่อเหมือนตน ก็มักจะถูกตราหน้าได้ง่าย ๆ ว่า เป็น คนโง่ หรือเป็นคนเลวไปเลย และเมื่อใดก็ตามที่ตัดสินเขาว่าแล้ว ก็ง่ายที่เราจะทำอะไรกับเขาก็ได้ แม้จะใช้วิธีการเลว ๆ หรือชั่วร้ายกับเขา ก็ไม่รู้สึกผิด เหตุผลก็เพราะ “มันเลว จึงไม่สมควรที่จะทำดีกับมัน” เป็นเพราะเหตุนี้คนไทยไม่น้อยจึงเห็นด้วยกับการสังหารโหดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในนามของการพิทักษ์ชาติศาสน์กษัตริย์เมื่อเช้าวันที่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙รวมทั้งสนับสนุนการฆ่าตัดตอนพ่อค้ายาเสพติด และเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงกลางกรุงเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว รวมทั้งกรณีอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น อาทิ กรณีประท้วงที่ตากใบปี ๒๕๔๗

    ความดีนั้น หากยึดติดถือมั่นมาก ก็อาจทำให้เผลอทำเลวได้ โดยเฉพาะเมื่อทำในนามของความดี ยิ่งยึดติดถือมั่นว่าตนเป็นคนดีด้วยแล้ว ก็พร้อมจะทำอะไรกับคน(ที่ตนตัดสินว่า)เลวได้ ทั้งนี้เพราะมั่นใจว่าที่ทำไปนั้นเพื่อธำรงความถูกต้อง แต่บ่อยครั้งมันกลับเป็นการทำเพื่อยืนยันความถูกต้องของตนเองมากกว่า หรือเพื่อกำจัดคนที่คุกคามความเชื่อของตน กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการทำเพื่อ “ตัวกู ของกู” แรงจูงใจดังกล่าวอาจถึงขั้นผลักดันให้จัดการกับคนที่คิดต่างจากตนด้วยซ้ำ คือไปไกลถึงขั้นเห็นว่าคนที่ไม่เชื่อความดีอย่างตนนั้นเป็นคนชั่ว ดังนั้นจึงสมควรที่จะใช้วิธีการใด ๆ กับเขาก็ได้ แม้จะทำในนามของความถูกต้อง แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็เป็นการทำเพื่อค้ำจุนปกป้องความยิ่งใหญ่มั่นคงแห่งตัวตน เพราะในส่วนลึกจะรู้สึกอยู่เสมอว่า “ตัวกู” หรือ “ความเชื่อของกู”นั้นถูกบีบคั้นคุกคามตราบใดที่คน “เลว”เหล่านั้นยังเห็นแย้งหรือคิดต่างจากตนไม่หยุดหย่อน
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    เป็นเพราะทำทุกอย่างเพื่อตัวกูของกูโดยสำคัญผิดว่าทำเพื่อความถูกต้อง จึงไม่น่าแปลกใจที่ยิ่งทำมากเท่าไร ก็ยิ่งห่างไกลจากความถูกต้อง และสวนทางกับความดีหรือความคิดความเชื่อที่ตนเองเชิดชู ขณะเดียวกันก็ส่งผลร้ายกลับมาที่ตนเอง เพราะเมื่อใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องกับผู้อื่น ก็ย่อมถูกเขาตอบโต้กลับมาด้วยความโกรธเกลียด หากไม่รู้ทันตนเอง ก็จะถลำเข้าไปในวงจรแห่งการจองเวรแก้แค้น จนเดือดเนื้อร้อนใจและบอบช้ำทุกฝ่าย

    จะเชื่ออะไรก็ตาม พึงระวังอย่าให้กลายเป็นความยึดติดถือมั่นมากเกินไป จริงอยู่ปุถุชนย่อมมีความยึดติดถือมั่นเป็นธรรมดา แต่อย่างน้อยก็ควรมีสติรู้เท่าทันว่าที่เรากำลังจะทำไปนั้น เป็นการทำเพื่อสนองความยิ่งใหญ่มั่นคงแห่งตัวกู หรือเพื่อความดีงามที่ตนเองเชิดชูยกย่อง และแม้แน่ใจว่าทำเพื่อความดีงาม ก็ควรระมัดระวังไม่เผลอทำสิ่งที่ตรงข้ามกับความดีงามนั้น ๆ ซึ่งจะกลายเป็นการบั่นทอนสิ่งนั้นไปโดยไม่รู้ตัว พึงระลึกว่าตัวการที่จะผลักดันให้เราเผลอทำสิ่งที่ตรงข้ามกับความดีงามนั้นก็คือ ความโกรธเกลียด(และกลัว) ที่มีคน “เลว” เป็นเป้าหมาย จนพร้อมจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้นเพื่อตอบโต้หรือขจัดเขาออกไป ไม่ให้มาคุกคามความดีที่เราเชิดชู

    นอกจากการมีสติรู้เท่าทันตนเองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยป้องกันมิให้การกระทำของเรานั้นแทนที่จะส่งผลดี กลับส่งผลเสียต่อตนเองและความดีงามที่เราเชิดชู นั่นก็คือ การใช้วิธีการที่ถูกต้อง สอดคล้องกับความดีงามที่มุ่งหมาย แม้ในยามที่ต้องต่อสู้กับ “ศัตรู” หรือผู้ที่จ้องทำลายสิ่งดีงามที่เราเชิดชูด้วยวิธีการอันเลวร้ายก็ตาม เพราะหากเราใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้เพื่อเอาชนะคนเหล่านั้นแล้ว ในที่สุดเราจะกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสียเอง ถึงแม้จะกำจัดเขาได้สำเร็จก็ตาม มีคำกล่าวว่า “เมื่อใดก็ตามที่เราต่อสู้กับอสูรร้าย พึงระวังว่าเราจะกลายเป็นอสูรร้ายเสียเอง” ใช่หรือไม่ว่า ตำรวจที่พร้อมจะใช้วิธีการใด ๆ กับโจร ไม่เว้นแม้กระทั่งวิธีการนอกกฎหมายหรือโหดร้ายป่าเถื่อน ในที่สุดกลับมีนิสัยหรือพฤติกรรมเยี่ยงโจรเสียเอง

    ในระดับบุคคลฉันใด ในระดับประเทศก็ฉันนั้น หลังจากเหตุการณ์ ๑๑ กันยา สหรัฐอเมริกาได้ทุ่มเทกำลังและทรัพยากรอย่างมหาศาลเพื่อตอบโต้แก้แค้นกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เป็นเหตุให้คนเกือบ ๒,๘๐๐ คนต้องตายในวันนั้น ความเลวร้ายของกลุ่มดังกล่าวถูกยกเป็นเหตุผลรองรับความชอบธรรมที่สหรัฐจะใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้เพื่อปราบคนกลุ่มนั้นให้สิ้นซาก ถึงกับยกทัพไปก่อสงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก จนผู้บริสุทธิ์ล้มตายกว่าแสนคน มากกว่าที่ตายในเหตุการณ์ ๑๑ กันยาถึง ๕๐ เท่า ผู้คนบ้านแตกสาแหรกขาดเกือบสิบล้านคน แต่ผลร้ายไม่ได้เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายและชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ในอีกมุมหนึ่งของโลกเท่านั้น หากยังเกิดกับชาวอเมริกันด้วยกัน ไม่จำเพาะแต่ทหารที่บาดเจ็บล้มตายหรือกลับมาในสภาพที่บอบช้ำทางจิตใจ(แม้ร่างกายจะครบถ้วน)เท่านั้น ประชาชนทั่วไปก็เต็มไปด้วยความหวาดผวาและถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐบาลของตนเอง ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องวิถีชีวิตและคุณค่าที่คนอเมริกันเชิดชู อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่กลับอนุญาตให้มีการทรมานผู้ต้องหา ตัดสิทธิที่จะแก้ต่างในศาลพลเรือน ในขณะที่ประชาชนทั่วไปก็ถูกดังฟังโทรศัพท์อย่างแพร่หลาย กลายเป็นว่ายิ่งต่อสู้กับพวกผู้ก่อการร้าย สหรัฐอเมริกากลับถอยห่างจากหลักการที่ตนเชิดชูไกลขึ้นทุกที และมีพฤติกรรมโน้มไปในทางเดียวกับกลุ่มก่อการร้ายที่ตนหมายกำจัดให้สิ้นซาก ยิ่งต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกากลับบั่นทอนคุณค่าดังกล่าวเสียเอง

    หลังจากเหตุการณ์ ๑๑ กันยาผ่านไปสิบปี สหรัฐอเมริกากลับมีสถานะที่ตกต่ำลงในสายตาของชาวโลก ไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่โดดเด่นในทางประชาธิปไตยได้อีกต่อไป ทั้งนี้เพราะความต้องการเอาชนะศัตรูโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นวิธีการใด ๆ ก็ได้ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการจมปลักในสงครามที่ยากจะถอนตัวได้ และงบประมาณมหาศาลที่ทุ่มเทลงไปจนก่อผลร้ายต่อเศรษฐกิจอเมริกันอยู่ในขณะนี้

    กรณีของสหรัฐอเมริกานั้นตรงข้ามกับกรณีของนอรเวย์ ซึ่งประสบความสูญเสียครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์จากเหตุก่อการร้ายเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่แทนที่รัฐบาลจะหันมาใช้วิธีการไล่ล่าปราบปรามกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายขวาซึ่งเชื่อว่ากำลังเป็นภัยคุกคามต่อความสงบสุขของประเทศ นายกรัฐมนตรีนอรเวย์กลับประกาศว่า “เราจะรับมือกับการโจมตีครั้งนี้ด้วยประชาธิปไตยที่มากกว่าเดิม เปิดกว้างกว่าเดิม และมีมนุษยธรรมยิ่งกว่าเดิม” แม้ว่าการก่อการร้ายนี้มีรากเหง้ามาจากอุดมการณ์ขวาจัดที่กำลังแพร่หลายผ่านสิ่งพิมพ์และสื่ออินเตอร์เน็ตมากมาย แต่รัฐบาลกลับมองว่า “การกดห้ามความคิดเห็นนั้นเป็นเรื่องอันตราย เราต้องยอมรับว่ามีความคิดเห็นสุดโต่งอยู่ในหมู่ผู้คน ความคิดเห็นเหล่านี้เราไม่สามารถบังคับให้สงบเสียงจนตายหายไป หากแต่จะต้องมีการโต้เถียงจนตายหายไปต่างหาก”

    ใช่หรือไม่ว่านี้คือวิธีที่พึงกระทำในการต่อสู้กับสิ่งเลวร้าย การยืนหยัดในความถูกต้อง มั่นคงในหลักการที่ดีงาม เป็นวิธีการเดียวที่จะเอาชนะสิ่งเลวร้ายและปกป้องสิ่งดีงามที่เราเชิดชู อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรย้ำก็คือ แม้เราจะมั่นใจว่าคุณค่าและหลักการที่เรายึดถือนั้นเป็นสิ่งที่ดี ก็ไม่ควรรมองคนที่ไม่ได้ยึดถือคุณค่าและหลักการเหล่านั้นว่าเป็นคนเลว พึงมองว่าเขาเพียงแต่คิดต่างจากเรา แม้ความคิดนั้นเราจะมองว่าเป็นอันตราย แต่ก็ไม่ควรใช้กำลังหรืออำนาจกับผู้ที่มีความคิดดังกล่าว หากควรต่อสู้กันด้วยเหตุผล และควรให้คนเหล่านี้มีพื้นที่และโอกาสในการแสดงความคิดเห็นตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น หากเราเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยคือคุณค่าสูงสุดที่พึงปกป้อง ก็ควรเคารพสิทธิของคนที่มีความคิดสวนทางกับระบอบดังกล่าว ในทำนองเดียวกันหากเราเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์คือคุณค่าสูงสุดที่พึงธำรงรักษา ก็ควรเคารพสิทธิของคนที่ไม่ได้ซาบซึ้งในคุณค่าดังกล่าว การปิดปากหรือข่มขู่คนที่คิดต่างจากเราไม่ว่าด้วยอำนาจ พละกำลัง หรือคำด่าทอหยามเหยียดไม่ว่าในนามของประชาธิปไตยหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตาม นอกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังเป็นผลเสียต่อสิ่งที่เราต้องการปกป้องด้วย พึงระลึกว่า “ ความคิดเห็นเหล่านี้เราไม่สามารถบังคับให้สงบเสียงจนตายหายไป หากแต่จะต้องมีการโต้เถียงจนตายหายไปต่างหาก”

    :-https://visalo.org/article/jitvivat255410.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 9 มีนาคม 2024
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    เดินสู้ทุกข์ สุขสวนกระแส
    พระไพศาล วิสาโล

    เสียงกลองดังเป็นจังหวะขณะที่ผู้คนกว่า ๓๐๐ คนเดินฝ่าแดดร้อนเปรี้ยงไปบนถนนลาดยาง แถวหน้าเป็นพระภิกษุ ตามมาด้วยแม่ชี และฆราวาสซึ่งมีทั้งผู้ใหญ่และเด็ก อายุลดหลั่นตั้งแต่ ๗๔ ปีไปจนถึง ๖ ขวบ จากหลายจังหวัดทั่วประเทศ ต่างถือธงทิวและป้ายผ้าหลากสี บางข้อความเขียนว่า “แผ่นดินล้มป่วย แม่น้ำร้องไห้”


    เมื่อถึงฤดูหนาวของทุกปี คณะธรรมยาตราจะเคลื่อนขบวนไปตามลุ่มน้ำลำปะทาว ซึ่งอยู่บนเทือกเขาภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ โดยแวะพักตามหมู่บ้านต่าง ๆ ตลอด ๗ คืน ๘ วัน เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้คนตระหนักถึงอันตรายที่กำลังเกิดกับป่าเขาลำห้วยและผืนดิน และช่วยกันแสวงหาทางเลือกใหม่เพื่อให้มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ด้วยกันได้

    ขบวนธรรมยาตราไม่ได้เดินเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติภายนอกเท่านั้น หากยังมุ่งฟื้นฟูธรรมชาติภายในใจของผู้เดินด้วย ดังนั้นในขณะที่รณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม ก็เชิญชวนให้ทุกคนเดินด้วยความสงบและอย่างมีสติ เพื่อดูใจของตัวเองไปด้วยขณะที่ถูกแดดแผดเผาหรือร่างกายเหนื่อยอ่อน

    ธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาวทำต่อเนื่องเป็นปีที่ ๑๐แล้ว ครั้งนี้จึงจัดเป็นพิเศษด้วยการชูประเด็น “เดินทวนกระแส” คือแทนที่จะเดินล่องมาตามลำน้ำดังปีก่อน ๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นเดินทวนกระแสน้ำ โดยเริ่มต้นจากตัวเมืองชัยภูมิและไปสุดที่ภูหลงซึ่งเป็นต้นน้ำลำปะทาว ระยะทางกว่า ๙๐ กิโลเมตร

    เดินทวนกระแสน้ำหมายถึงการเดินจากที่ต่ำสู่ที่สูง จากพื้นราบสู่ภูเขา แน่นอนว่าย่อมเหนื่อยกว่าเดินตามน้ำ ธรรมดาของคนเราย่อมชอบความสบายอยู่แล้ว การเดินทวนน้ำจึงเป็นการทวนนิสัยหรือความเคยชินของคนเรา ใช่แต่เท่านั้นยิ่งขึ้นสูง ยิ่งไกลจากเมือง ความสะดวกสบายก็ยิ่งน้อยลง ทางกันดาร อาหารไม่ถูกปาก ต้องนอนกลางดิน กินกลางทราย ไม่ถูกกับรสนิยมของกิเลสเอาเสียเลย การเดินทวนน้ำจึงเป็นการเดินทวนกิเลสไปด้วยในตัว

    สำหรับคนที่นั่งรถเป็นชีวิตจิตใจ ธรรมยาตราถือว่าเป็นการเดินเข้าหาทุกข์โดยแท้ เพราะนอกจากทางจะไกล แดดจะร้อนแล้ว เส้นทางบางจุดยังวิบาก มิหนำซ้ำบางคนถอดหมวกไม่พอยังถอดรองเท้าเดินอีก ทำไมถึงต้องทำตัวให้ลำบากอย่างนั้น ตอบอย่างสั้น ๆ ก็คือ ถ้าไม่เจอทุกข์ก็ไม่ถึงธรรม ถ้าอยากเห็นธรรมก็ต้องไม่กลัวทุกข์

    ปกติเมื่อเราเจอทุกข์เรามักหาทางหนีทุกข์ หรือไม่ก็พยายามขจัดทุกข์นั้นให้หมดไป เช่น ถ้าร้อนก็หลบเข้าร่ม หาไม่ก็เปิดพัดลมหรือติดแอร์ ในยุคที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวก ผู้คนหันมาแก้ทุกข์ด้วยสิ่งเหล่านี้กันอย่างพร่ำเพรื่อ จนขาดมันไม่ได้ กลายเป็นทาสของเทคโนโลยีและเสพติดความสะดวกสบาย ผลก็คือเกิดทัศนคติว่าวัตถุสิ่งเสพเท่านั้นที่จะให้ความสุขแก่เราได้ ดังนั้นจึงลุ่มหลงกับกระแสบริโภคนิยม เงินกลายมาเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของชีวิต เพราะถ้าไม่มีเงินก็ไม่มีวัตถุสิ่งเสพ ไม่มีวัตถุสิ่งเสพก็ไม่มีความสุข

    การหนีทุกข์หรือขจัดทุกข์ด้วยวัตถุสิ่งเสพจนเป็นนิสัย ทำให้เราละเลยที่จะแก้ทุกข์ที่ใจของเรา เราคิดแต่จะจัดการสิ่งภายนอก จนลืมที่จะจัดการกับใจของเรา ทั้ง ๆ ที่สุขหรือทุกข์นั้น กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว อยู่ที่ใจของเราเอง ธรรมยาตราเป็นการพาคนเข้าหาทุกข์ก็เพื่อจะได้เรียนรู้วิธีอยู่กับทุกข์(กาย)ได้โดยไม่ทุกข์(ใจ)

    ธรรมชาติของคนเรานั้นต้องการหนีทุกข์ ดังนั้นเมื่อเจอความทุกข์กับตัว หากไม่สามารถพากายหนีทุกข์ได้ จิตก็จะค้นหาวิธีการอื่นเพื่อจะได้ไม่ทุกข์ไปกับกาย การพยายามสรรหาวิธีการนานาชนิดเพื่อจัดการกับความทุกข์ในใจ ในที่สุดจะช่วยให้เราได้พบธรรม จะเรียกว่าในทุกข์มีธรรมก็ได้ หลังจากที่เดินฝ่าเปลวแดดมาทั้งวันหลายคนพบว่าการมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการนับก้าวช่วยให้เป็นทุกข์น้อยลง ยิ่งมีสมาธิแน่วแน่ก็ยิ่งเพลินกับการเดิน “ปัน”เด็กชายวัย ๙ ขวบบอกว่าเหนื่อยน้อยลงเมื่อตาจับจ้องอยู่ที่เท้าของคนข้างหน้า บางคนจดจ่ออยู่กับเสียงกลองจนลืมเมื่อย ขณะที่บางคนท่อง “คาถา”ในใจขณะก้าวเดินว่า “ซ้ายทนได้ ขวาสบายมาก” ทำให้ใจฮึดสู้ขึ้นมาแม้เท้าจะพองก็ตาม

    “กายเหนื่อย ใจไม่เหนื่อย” ไม่ใช่เป็นแค่คำปลุกใจ แต่สามารถปฏิบัติได้จริง แต่จะปฏิบัติได้จริงก็ต่อเมื่อมาเจอทุกข์กับตัว ถึงแม้กายจะเหนื่อย แดดจะร้อน แต่ถ้ามีสติเห็นความเหนื่อยกาย หรือเห็นใจที่บ่นโวยวาย ใจก็จะวางความเหนื่อยและความหงุดหงิดลงได้ทันที บ่อยครั้งกายยังไหว แต่ใจต่างหากที่ไม่ไหว เมื่อใดที่เห็นใจร้องงอแงว่า “ไม่ไหว ๆ ๆ” ความงอแงจะหลบลี้หนีไป ใจจะกลับมาตั้งมั่นขึ้นใหม่ และเดินหน้าต่อไปได้ ใครที่บ่นว่า “เมื่อไหร่จะถึง ๆ ๆ” ลองมีสติอยู่กับแต่ละก้าว ๆ จะพบว่าใจสงบเย็นลงมาก ใจที่อยู่กับปัจจุบันจะทุกข์น้อยกว่าใจที่กังวลอยู่กับจุดหมายปลายทางข้างหน้า

     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)

    ทุกข์อย่างหนึ่งที่แทบทุกคนต้องเจอ โดยเฉพาะคนที่ถอดรองเท้า นั่นคือความเจ็บปวด โดยเฉพาะเมื่อเดินทางลาดยางที่ร้อนระอุหรือถนนลูกรังที่เต็มไปด้วยกรวดแหลมคม ธรรมยาตราเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ฝึกการอยู่กับความเจ็บปวดโดยใจไม่ทุกข์ ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ หลายคนใช้วิธีจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่นเพื่อลืมความปวด แต่บางคนก็ใช้สติในการรับรู้หรือเห็นความปวด โดยใจไม่พลัดเข้าไปในความปวด หรือปรุงตัวกูเป็นเจ้าของความปวด กล่าวอีกนัยหนึ่ง “เห็นความปวด ไม่ใช่ผู้ปวด” แต่ถ้ายังไม่ถนัดที่จะไปรับรู้ความปวด โดยไม่เผลอเป็นผู้ปวดเสียเอง ก็หันมาดูใจที่ดิ้นเร่าหรือถูกโทสะรุมเร้าเพราะความปวด ใจที่สงบลงได้ช่วยให้ความทุกข์บรรเทาลง


    การเรียนรู้ที่จะอยู่กับความทุกข์โดยใจไม่ทุกข์ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิต เพราะไม่ว่าเราจะร่ำรวย ฉลาดหลักแหลม มีอำนาจยิ่งใหญ่ หรือพรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยี แต่เราก็ไม่สามารถหนีทุกข์ไปได้ตลอด รวยแค่ไหนก็ต้องเจอการพลัดพรากสูญเสียคนรัก ฉลาดเพียงใดก็ต้องเจ็บป่วย ยิ่งใหญ่เพียงใดสักวันหนึ่งก็ต้องตาย ถ้าเราไม่ยอมเรียนรู้วิธีที่จะอยู่กับความทุกข์เลย ก็เห็นจะต้องเจ็บปวดครั้งแล้วครั้งเล่าจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

    การเดินเข้าหาทุกข์คือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความทุกข์โดยไม่ทุกข์ จะทำได้หรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับการพยายามทำ แม้สมาธิหรือสติยังไม่เข้มแข็งแต่ก็ได้ฝึกความอดทนและสร้างภูมิต้านทานความทุกข์ ใช่หรือไม่ว่าคนสมัยนี้มีภูมิต้านทานความทุกข์น้อยมาก แค่เจอความผิดหวังเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ทุกข์ระทมจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ การมีภูมิต้านทานความทุกข์จะช่วยให้ทานทนกับอุปสรรคในชีวิตได้มากขึ้น แต่ภูมิต้านความทุกข์จะเกิดขึ้นกับใจได้อย่างไรถ้าไม่เจอความทุกข์บ่อย ๆ เช่นเดียวกับภูมิต้านทานเชื้อโรคจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่างกายเจอเชื้อโรคอยู่เป็นนิจ

    ตลอด ๗ คืน ๘ วันที่เจอทุกข์ตลอดทาง แทบทุกคนดูเหมือนจะมีภูมิต้านทานความทุกข์มากขึ้น ไม่มีใครที่เปลี่ยนใจถอนตัวก่อนกำหนด มีแต่เปลี่ยนใจเลื่อนวันกลับ เพื่อเดินให้นานขึ้น ยิ่งผ่านความยากลำบากมานานวัน รอยยิ้มและเสียงหัวเราะก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะได้เพื่อนใหม่เพิ่มขึ้น หรือเพราะความทุกข์ช่วยหลอมใจให้เป็นหนึ่งเดียวกันเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะหลายคนได้พบว่าตนเองมีสิ่งที่ไม่คิดว่ามี นั่นคือความอดทนและความพากเพียรพยายาม นักเรียนหลายคนยอมรับว่าถอดใจตั้งแต่เดินวันแรกและไม่คิดว่าจะเดินถึงวันสุดท้ายได้ แต่ในที่สุดก็ทำได้ บ่อยครั้งการค้นพบตัวเองต้องได้มาด้วยความยากลำบาก ใช่หรือไม่นี้คือ unseen ที่สำคัญกว่า unseenหลายแห่งที่ขบวนธรรมยาตราผ่านพบระหว่างทาง (ทั้งที่ททท.รู้จักและไม่รู้จัก)

    ทั้ง ๆ ที่เดินเข้าหาทุกข์ แต่ความสุขของผู้คนในขบวนธรรมยาตรามีให้เห็นตลอดทาง และยิ่งมากขึ้นเมื่อใกล้ถึงที่หมาย ทั้ง ๆ ที่ยิ่งห่างไกลจากเมือง ความสะดวกสบายยิ่งน้อยลง แต่ความสุขไม่ได้ลดลงเลย กลับเพิ่มขึ้น นั่นก็เพราะความสุขกับความสะดวกสบายนั้นมิใช่สิ่งเดียวกัน ความสุขสามารถเกิดขึ้นได้ท่ามกลางความยากลำบาก เพราะความสุขนั้นแท้จริงอยู่ที่ใจ

    การเดินทวนกระแสน้ำคือการเดินสู้กับแรงโน้มถ่วง แม้จะเหนื่อยและยากลำบาก แต่ยิ่งเดิน ทัศนียภาพสองข้างทางก็ยิ่งงดงาม ต้นไม้ที่ขึ้นประปรายกลับหนาตามากขึ้น จากแท่งคอนกรีตสีหม่นกลายเป็นป่าใหญ่สีเขียวขจี ขณะเดียวกันน้ำที่ขุ่นคล้ำ ก็เริ่มใส และใสยิ่งขึ้นเมื่อเข้าใกล้ต้นน้ำ มลพิษในอากาศค่อย ๆ หายไป มีอากาศบริสุทธิ์สดใสมาแทนที่ นี้คือรางวัลของความเหนื่อยยาก ฉันใดก็ฉันนั้น ยิ่งเดินทวนกระแสกิเลส ก็ยิ่งได้สัมผัสกับความงดงามของมิตรภาพรอบตัว ทั้งจากผู้ร่วมเดินและชาวบ้านสองข้างทาง ขณะเดียวกันใจก็ยิ่งแจ่มใส เบาสบาย ความสุขกลายเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย แค่ได้ดื่มน้ำเปล่าดับกระหาย หรือได้พักใต้ร่มไม้ มีลมเย็นพัดมาเบา ๆ ก็สุขแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีอาหารหรูหราราคาแพงหรือสินค้ายี่ห้อดังมาปรนเปรอก็ได้

    การเดินสู้ทุกข์ทำให้หลายคนตระหนักว่าเราสามารถเป็นสุขได้แม้จะทวนกระแสความสะดวกสบายหรือกระแสบริโภคนิยม แต่กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว เราจะสุขได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อกล้าสวนกระแสกิเลสเท่านั้น เพราะตราบใดที่ยังตามกระแสกิเลสอยู่ ก็จะไม่รู้จักคำว่าพอเสียทีไม่ว่าจะได้มามากเท่าไรก็ตาม ยิ่งเห็นคนอื่นได้มาก ก็ยิ่งเป็นทุกข์ที่ได้น้อยกว่าเขา แม้ดิ้นรนจนรวยเป็นอันดับหนึ่งของโลก ก็ยังทุกข์เมื่อเห็นคนอื่นไล่มาประชิด จนกว่าจะกล้าขัดขืนกิเลส และหันไปเติมเต็มชีวิตด้วยสิ่งอื่นที่มีคุณค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง

    คนที่ทำตามบัญชาของกิเลส ย่อมนึกถึงแต่ตัวเอง แต่ยิ่งตักตวงความสุขใส่ตัวมากเท่าไร ก็กลับพบว่าในใจเต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์เพราะรู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่าไร้คุณค่า และทุกข์เพราะอัตตาตัวตนพองโตจนหวั่นไหวต่อทุกอย่างที่มากระทบหรือสะกิดแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ไม่ต่างจากลูกโป่งพองโตที่พร้อมจะแตกเมื่อถูกเศษฟางทิ่ม ต่อเมื่อขัดขืนบัญชาของกิเลส อยู่อย่างเรียบง่าย พร้อมแบ่งปันความสุขแก่ผู้อื่น จึงจะเป็นคนที่สุขง่าย ทุกข์ยาก

    ในทุกข์มีสุข ถ้ารู้จักทุกข์ก็พบสุขได้ไม่ยาก ดังนั้นจึงไม่หวั่นเกรงว่าความสะดวกสบายจะลดลง แม้หุ้นจะตก ทองจะขึ้น ก็ยังสามารถมีความสุขสวนกระแสเศรษฐกิจได้ แม้เศรษฐกิจปีหน้ายังไม่ฟื้นตัว ก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจตราบใดที่ยังกินอิ่มนอนอุ่น เพราะไม่ได้เอาความสุขไปผูกติดกับกระแสเศรษฐกิจที่เน้นเงินตราเป็นสรณะ ในทำนองเดียวกันแม้กระแสการเมืองยังร้อนแรง แต่คนที่รู้จักทวนกระแสกิเลสย่อมสามารถรักษาใจให้สงบเย็นได้ กระนั้นก็มิได้นิ่งดูดายหรือเฉยเมยด้วยความเห็นแก่ตัว หากพร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูลตามกำลัง โดยมิได้คิดแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หรือทำไปตามอำนาจของความโกรธเกลียดและกลัว

    บ้านเมืองแม้ยังเต็มไปด้วยทุกข์ แต่เราก็ไม่ควรกลัวทุกข์ การพร้อมเผชิญทุกข์ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา จะช่วยให้เราเข้าถึงสุขได้แม้จะสวนกระแสนานาชนิดก็ตาม
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255212.htm

     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    อยากดัง ฟังทางนี้
    พระไพศาล วิสาโล

    จอห์น เลนนอน นักร้องชื่อก้องโลก ถูกยิงจนถึงแก่ชีวิตหน้าอพาร์ทเมนท์ของเขาเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว มาร์ค แช็ปแมน วัยรุ่นที่สังหารเลนนอนมิได้มีเรื่องโกรธเคืองเขาแม้แต่น้อย ที่จริงแช็ปแมนเป็นแฟนเพลงของเลนนอนด้วยซ้ำ แต่ที่เขาก่อเหตุสะเทือนขวัญครั้งนั้นก็เพราะ “ผมรู้สึกว่า ถ้าได้ฆ่าจอห์น เลนนอน ผมจะกลายเป็น somebody”

    การฆ่าใครสักคนเพียงเพราะอยากมีชื่อเสียงนั้น เป็นการกระทำที่ดูไร้เหตุผลอย่างยิ่งในความรู้สึกของคนทั่วไป เพราะนอกจากทำให้คน ๆ หนึ่งต้องสิ้นชีวิตทั้ง ๆ ที่มิได้ทำผิดใด ๆ แล้วยังเป็นการสร้างความเดือดร้อนนานัปการมาสู่เจ้าตัว อาจถึงขั้นถูกประหารชีวิตด้วยซ้ำ แต่สำหรับแช็ปแมนแล้วการเจอโทษทัณฑ์เหล่านั้นอาจจะดีเสียกว่าการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้โดยเป็นแค่ nobody เพราะการอยู่โดยไร้คนรู้จัก หรือไม่อยู่ในสายตาของใครเลยนั้น จะว่าไปก็ไม่ต่างจากการตายทั้งเป็น สู้อยู่ในคุกถูกตีตรวนแต่เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลกไม่ได้ อันที่จริงก่อนหน้านั้นเขาเคยพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนล้มเหลว ล้มเหลวทั้งด้านครอบครัว การศึกษา อาชีพการงาน แม้แต่จะฆ่าตัวตายก็ยังล้มเหลว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความรู้สึกไร้คุณค่าในตนเองจะรบกวนจิตใจเขามากเพียงใด

    มิใช่มีแต่แช็ปแมนคนเดียวที่รู้สึกเช่นนี้ มีคนจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะทำอะไรก็ได้เพื่อให้ตนมีชื่อเสียง หลังจากแช็ปแมนแล้ว ฆาตกรต่อเนื่องรายหนึ่งถูกจับได้ในสหรัฐอเมริกา เขาให้สัมภาษณ์ว่า “ผมจะต้องฆ่าคนสักกี่คนถึงจะมีชื่อในหนังสือพิมพ์หรือได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศ” เขาบ่นว่ากว่าจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเขาก็ต้องลงมือฆ่าไปแล้วหกคน

    คนที่สังหารผู้บริสุทธิ์เพียงเพราะอยากมีชื่อเสียงนั้น ย่อมอยู่ในข่ายเป็นโรคจิตเพราะขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีเพียงคนโรคจิตเท่านั้นที่ยอมทำสารพัดสิ่งเพื่อเป็นsomebody ในโลกทุกวันนี้มีคนมากมายที่พร้อมจะทำอะไรต่ออะไรเพื่อให้ตนเป็นที่รู้จัก จะว่าไปแล้วความอยากเป็นsomebody ล้วนมีอยู่ในทุกคน เพราะเป็นธรรมชาติของอัตตาที่ต้องการประกาศตัวตนให้ใคร ๆ รับรู้ ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกแรงขับชนิดนี้ว่า “ปมเขื่อง”

    ปมเขื่องทำให้ผู้คนมีความรู้สึกอยากโดดเด่นเหนือผู้อื่น แต่หากตัวเองอยู่ในสถานะที่ต่ำต้อย ถูกบดบังหรืออยู่ใต้เงาของผู้อื่น หรือยิ่งกว่านั้นคือไม่เป็นที่สนใจของใครเลย อัตตาย่อมทนไม่ได้ มันย่อมพยายามทำทุกอย่างเพื่อแสดงตัวตนให้ปรากฏ หากใช้วิธีที่ถูกต้องหรือสังคมยอมรับแล้วไม่ได้ผล ก็พร้อมทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง กล่าวอีกนัยหนึ่ง หากเด่นทางดีไม่ได้ ก็ต้องเด่นทางร้าย

    สังคมทุกวันนี้ได้กระตุ้นแรงขับดังกล่าวให้รุนแรงขึ้น ในด้านหนึ่งวิถีชีวิตของสังคมสมัยใหม่ทำให้ผู้คนอยู่แบบตัวใครตัวมันมากขึ้น สายสัมพันธ์ดั้งเดิม เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือในชุมชน ถูกบั่นทอนหรือถึงกับขาดสะบั้น ทำให้ผู้คนอยู่อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้างมากขึ้น แม้อยู่ท่ามกลางฝูงชนในเมือง แต่ก็เหมือนอยู่ตัวคนเดียว ยิ่งไม่มีสถานภาพหรือความสามารถอันโดดเด่นเป็นที่รู้จักแล้ว ก็ยิ่งรู้สึกเสมือนว่าถูกกลืนหายไปในฝูงชนหรือเมืองใหญ่ สภาพเช่นนี้ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกเป็น nobody จึงมีความทุกข์ทรมานในจิตใจเป็นอย่างยิ่ง

    ในเวลาเดียวกันค่านิยมของสังคมที่ถูกขับเน้นผ่านสื่อนานาชนิด ก็ให้ความสำคัญอย่างมากแก่ความเป็นปัจเจกชน เช่น ความเป็นตัวของตัวเอง มีอัตลักษณ์ไม่ซ้ำแบบใคร ใครที่เป็นคนเก่ง ประสบความสำเร็จในชีวิต ย่อมเป็นที่สรรเสริญ นับหน้าถือตา ค่านิยมเช่นนี้ย่อมกระตุ้นปลุกเร้าปมเขื่องของผู้คน ทำให้ดิ้นรนขวนขวายที่จะโดดเด่นเหนือผู้อื่น แต่คนที่จะทำเช่นนั้นได้ มักเป็นคนส่วนน้อยเสมอ ขณะที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเป็นผู้แพ้ ไร้คุณค่า รู้สึกเจ็บปวดเพราะปมเขื่องนั้นย้อนกลับมาทำร้ายตนเอง

    อย่างไรก็ตาม เพียงแค่ความรู้สึกเป็นผู้แพ้หรือรู้สึกด้อยกว่าคนอื่น คงไม่ถึงกับผลักดันให้คนอย่างแช็ปแมนกลายเป็นฆาตกรทั้ง ๆ ที่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นแก่ตนตามมา สิ่งที่กัดกินใจเขามากกว่านั้นก็คือความรู้สึกว่าตนเองนั้นไม่มีตัวตนอยู่ในโลกนี้ เพราะไม่เป็นที่รู้จักของใคร จริงอยู่เขาอาจมีพ่อแม่ ญาติมิตร แต่นั่นจะมีความหมายอะไรหากรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าในสายตาของคนเหล่านั้น เมื่อไม่อยู่ในสายตาของใครเลย จะต่างอะไรกับการไม่มีตัวตนอยู่ในโลกนี้

    การเป็น nobody มิได้หมายถึงการเป็นคนเล็กคนน้อย ไร้คุณค่า ไม่เด่นไม่ดัง ถูกกลืนหายไปในฝูงชนเท่านั้น ที่สุดของ nobody ก็คือ ความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตนอยู่ในโลกนี้ นั่นเป็นสิ่งที่อัตตาทนไม่ได้เลย เพราะมันเลวร้ายยิ่งกว่าความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่นเสียอีก จริงอยู่ความรู้สึกด้อยกว่าคนอื่น ก็เป็นเรื่องที่เจ็บปวดอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยมันก็ยังให้ความรู้สึกว่ามีตัวตนอยู่ในโลกนี้

    มักพูดกันว่าสิ่งที่คนเรากลัวมากที่สุดคือความตาย แต่ถ้าพูดให้ถูกต้องแล้ว ความรู้สึกว่าไม่มีตัวตนหรือตัวตนสูญหายไปต่างหาก ที่คนเรากลัวมากที่สุด คนจำนวนไม่น้อยเดินหน้าเข้าหาความตายโดยไม่กลัว เพราะเชื่อว่าตัวตนยังคงสืบเนื่องต่อไป เช่น ได้ไปเกิดใหม่ในสวรรค์หรือโลกหน้า แม้คนในยุคนี้เชื่อนรกสวรรค์น้อยลง แต่ก็ยังพร้อมสละชีวิตเพื่อชาติหรือเพื่ออุดมการณ์ ไม่ใช่เพียงเพราะว่าชาติหรืออุดมการณ์เป็นตัวตนอย่างหนึ่งที่ตนยึดมั่นสำคัญหมายเท่านั้น แต่ยังเพราะเชื่อว่า แม้ตายก็ตายแต่ร่างกาย แต่ตัวตนยังสืบเนื่องต่อไป ในรูปชื่อเสียง มีเกียรติประวัติจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ หรือมีอนุสาวรีย์ให้(ดังมีสำนวนว่า “ตัวตายแต่ชื่อยัง” )
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    การมีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขานต่อไปชั่วกัลปาวสานนั้น เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความเป็นอมตะ ลองเฟลโลว์ กวีอเมริกัน สะท้อนทัศนะดังกล่าวอย่างชัดเจนเมื่อพูดถึงไมเคิลแองเจโลว่า “เขาจะตายได้อย่างไรในเมื่อเขาอยู่อย่างเป็นอมตะในหัวใจของผู้คน” แต่ก่อนที่จะเป็นอมตะ หรือเป็นที่กล่าวขานหลังหมดลม อย่างแรกที่ทุกคนปรารถนาก็คือมีชื่อเสียงตั้งแต่ยังมีลมหายใจอยู่ ไม่ใช่แค่เพราะอยากดังด้วยอำนาจของปมเขื่องเท่านั้น เหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การเป็นที่รู้จักของผู้คนนั้นเป็นเครื่องยืนยันว่า “ตัวกู”มีอยู่จริง

    ทำไมเราต้องการสิ่งยืนยันว่า “ตัวกู”มีอยู่จริง ก็เพราะในส่วนลึกของจิตใจนั้น ผู้คนอดไม่ได้ที่จะสงสัยว่าตัวกูมีอยู่จริงหรือ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น อธิบายแบบพุทธก็คือ แท้จริงแล้วตัวตนหามีจริงไม่ แต่เป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาแล้วก็ยึดมั่นถือมั่นอย่างเหนียวแน่น จนเกิดความรู้สึกว่ามีตัวกูอยู่ โดยยึดกายและใจว่าเป็น “ตัวกู ของกู” บ่อยครั้งก็ลามไปยึดสิ่งอื่นนอกตัว เช่น ทรัพย์สมบัติ ลูกหลาน วงศ์ตระกูล พวกพ้อง หรือแม้แต่ประเทศชาติ ว่าเป็น “ตัวกู ของกู”ด้วย

    อย่างไรก็ตามในส่วนลึกของจิตใจ ย่อมมีความสงสัยว่า อัตตาหรือ “ตัวกู”นั้นมีอยู่จริงหรือ เพราะความเป็นตัวกูนั้นแปรเปลี่ยนตลอดเวลา บางครั้งกูก็เป็นลูก แต่ประเดี๋ยวก็เป็นพ่อแม่ และเป็นคนไทย บางครั้งกูเป็นชายชาติทหาร แต่ต่อมาก็กลายเป็นกูคนป่วย แม้แต่ความรู้สึกนึกคิดที่ยึดว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ก็เปลี่ยนแปลงไม่คงที่ ความสงสัยดังกล่าวเป็นสิ่งที่อัตตายอมรับไม่ได้ ด้านหนึ่งก็พยายามกดข่มเอาไว้ไม่ให้มารบกวนจิตใจ แต่อีกด้านหนึ่งก็พยายามหาสิ่งต่าง ๆ มายืนยันว่า “ตัวกู”มีอยู่จริง หนึ่งในนั้นก็คือ การเป็นที่รู้จักของผู้คน

    คนเราจะมั่นใจว่าเป็นคนเก่ง มีความสามารถ หน้าตาสะสวย หรือหล่อเหลา ก็ต่อเมื่อมีผู้คนยืนยันหรือยกย่องสรรเสริญ ฉันใด เราจะมั่นใจว่า “ตัวกู”มีอยู่จริง ก็ต่อเมื่อมีผู้คนยืนยันหรือรู้จัก ฉันนั้น ยิ่งมีผู้คนยืนยันมากเท่าไร ก็ยิ่งมั่นใจมากเท่านั้น ดังนั้นชื่อเสียงจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของผู้คนโดยเฉพาะในยุคนี้ที่ส่วนใหญ่กลายสภาพเป็นปัจเจกไร้หน้าค่าตาท่ามกลางฝูงชนนับล้าน

    ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนในยุคนี้ต่างขวนขวายไล่ล่าหาชื่อเสียง พยายามทำทุกอย่างให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งมักหนีไม่พ้นการทำตนให้เป็นข่าว เป็นจุดสนใจของสื่อนานาชนิด รวมทั้งการแข่งขันกันเป็นดารา นักร้อง นางแบบ ไม่เว้นแม้แต่การเขียนชื่อตามกำแพงหรือสถานที่ท่องเที่ยวทั้งนี้เพื่อประกาศว่า “มีกูอยู่ในโลกนี้ด้วยนะ”

    เมื่อยังมีชีวิตอยู่ แรงขับส่วนลึกของผู้คนในยุคนี้ก็คือการประกาศตัวตนว่ามีกูอยู่ในโลกนี้ และเมื่อจะตายก็ปรารถนาให้คนข้างหลังไม่ลืมตน จะด้วยการทำอนุสาวรีย์ จารึกชื่อ ประกาศเกียรติคุณ หรือตั้งมูลนิธิก็แล้วแต่ ทหารคนหนึ่งเมื่อรู้ว่าตนต้องตายอย่างแน่นอน คำพูดสุดท้ายที่บอกเพื่อน มิใช่คำสั่งเสียหรือล่ำลา แต่เป็นการตอกย้ำว่า “ถ้าฉันตาย อย่าลืมฉันนะ” ในเมื่อจะตายแล้วทำไมจึงอยากให้คนอื่นจดจำตน นั่นก็เพราะตัวตนปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะดำรงอยู่ต่อไปเป็นอมตะ ตราบใดที่ผู้คนยังจดจำตัวเองได้ ก็มีหวังว่าตัวตนจะเป็นอมตะ

    แต่ความจริงที่น่าเศร้าก็คือ สักวันหนึ่งเราทุกคนก็จะถูกลืม ไม่ใช่หลังตายเท่านั้น แม้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ถึงจะมีชื่อเสียงเพียงใด ไม่ช้าไม่นานผู้คนก็จะลืมเลือน เพราะมีคนอื่นที่ดังกว่ามาแทนที่ นี้คือธรรมดาโลก แต่ถ้าหากเราเข้าถึงความจริงที่ยิ่งกว่านั้น นั่นคือตัวกูไม่มีอยู่จริงตั้งแต่แรก ถึงจะไม่เด่นดัง ไม่มีใครรู้จัก เป็นแค่ nobody ก็หาเป็นทุกข์ไม่ เพราะในเมื่อไม่มีตัวกูผู้ทุกข์ แล้วจะมีใครล่ะที่เป็นทุกข์
    :- https://visalo.org/article/matichon255401.htm
     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    BuddharaytreeTiger.jpg
    ศัตรูที่แท้จริง

    พระไพศาล วิสาโล
    เหตุการณ์ร้ายแรงเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายนที่ถนนราชดำเนินกลาง เป็นความสูญเสียของทุกฝ่าย รวมทั้งรัฐบาล นปช. และชาวไทยทั้งมวล ทุกคนเป็นผู้แพ้ หากความพินาศในวันนั้นเรียกว่าชัยชนะ มันก็คือชัยชนะของความโกรธเกลียดนั่นเอง

    ในขณะที่ทุกคนพากันชี้นิ้วกล่าวโทษผู้อื่น ตัวการที่แท้จริงกลับถูกมองข้ามและยังคงลอยนวลอยู่ได้ นั่นคือความโกรธเกลียด ความโกรธเกลียดผลักไสให้เรากลายเป็นศัตรูที่มุ่งจองเวรกัน ใช่แต่เท่านั้น ยิ่งโกรธเกลียดมากเท่าใด ก็ยิ่งชี้นิ้วส่งเสียงประณามผู้อื่นดังมากเท่านั้น จนลืมไปว่าความโกรธเกลียดในใจเราได้ผลักดันให้เรามีส่วนในการทำร้ายกันไม่โดยตรงก็โดยอ้อม


    ความโกรธเกลียดไม่เพียงทำร้ายผู้อื่นเท่านั้น หากยังเป็นโทษต่อตัวเราเองด้วย เมื่อใดก็ตามที่ปล่อยให้ความโกรธเกลียดครอบงำจิตใจ นิสัยใจคอและพฤติกรรมของเราก็จะเปลี่ยน จากคนที่มีน้ำใจ พูดจาไพเราะ สุภาพอ่อนโยน ก็กลายเป็นคนจิตใจแข็งกระด้าง พูดจาหยาบคาย และกราดเกรี้ยว สาวสวยเสียงหวาน ทันทีที่โกรธเกลียด ก็พลันมีสีหน้าดุร้าย ส่งเสียงกระโชกโฮกฮาก พร้อมจะด่าทอผู้อื่น ลงมือทำร้ายผู้คน หรือสะใจกับการที่เขาถูกทำร้าย เป็นเพราะความโกรธเกลียดนี้แหละที่ทำให้คนซึ่งเคยมีไมตรีต่อกัน กลายเป็นศัตรูที่ห้ำหั่นกัน ทุบตีหรือประหัตประหารกันได้อย่างเลือดเย็น ทำให้คนที่เคยเป็นเพื่อนบ้านกัน กลายเป็นปรปักษ์ที่กลุ้มรุมทำร้ายหรือประชาทัณฑ์จนเขาตายคาเท้า กล่าวอีกนัยหนึ่งมันทำให้เรากลายเป็นยักษ์มารไปโดยไม่รู้ตัว

    จริงอยู่เขาอาจเป็นคนชั่วคนเลว โหดเหี้ยมเกินมนุษย์ แต่การทำกับเขาเช่นนั้น กลับทำให้เราห่างไกลจากความเป็นมนุษย์ไม่น้อยไปกว่าเขา ในขณะที่เราเห็นเขาเป็นเดรัจฉาน การกระทำเช่นนั้นกลับลดตัวเราเองให้ต่ำเท่าเขา หรืออาจต่ำยิ่งกว่าเขาเสียอีก ความโกรธเกลียดทำให้เราไม่เห็นเขาเป็นมนุษย์อีกต่อไป แต่ในเวลาเดียวกันมันก็มักผลักดันให้เราทำลายความเป็นมนุษย์ของตนไปพร้อม ๆ กัน

    บางครั้งเขาไม่ได้ทำร้ายใครเลยด้วยซ้ำ แต่เป็นเพราะเขามีความเชื่อทางการเมืองหรืออุดมการณ์ต่างจากเรา หรือเพียงเพราะเขาใส่เสื้อคนละสีกับเรา นั่นก็มากพอที่เราจะเห็นเขาเป็นคนเลว เพราะสรุปล่วงหน้าแล้วว่า ความเชื่อ อุดมการณ์ หรือเสื้อสีนั้น มีแต่คนเลว ไม่รักชาติ นิยมเผด็จการ เท่านั้นที่สมาทานหรือสวมใส่กัน แม้เราไม่รู้จักเขา แต่เพียงเพราะเขาสังกัดกลุ่มก้อนหรือสถาบันที่เราไม่ชอบ นั่นก็มากพอแล้วที่เราจะตราหน้าว่าเขาเป็นคนเลว แม้โดยเหตุผลเราจะรู้ว่าเพียงแค่มีความเชื่ออย่างนั้น ไม่ได้ทำให้เขาเป็นคนเลวได้ แต่ในระดับของอารมณ์ การที่เขาสมาทานอุดมการณ์ที่เราไม่ชอบ หรือสังกัดกลุ่มก้อนที่เราเกลียด มันก็มากพอแล้วที่จะทำให้เราชิงชังเขา เพราะอยู่คนละพวกกับเรา และดังนั้นจึงเห็นเขาเป็นคนเลวได้ไม่ยาก ก็ในเมื่อเรายืนอยู่ฝ่ายที่ถูกต้องเป็นธรรม เขาซึ่งอยู่คนละพวกกับเราก็ต้องเป็นฝ่ายอธรรมอย่างแน่นอน

    แต่มันไม่จบแค่นั้น เพราะเมื่อเขาเป็นฝ่ายอธรรม เราซึ่งเป็นฝ่ายธรรมย่อมมีความชอบธรรมที่จะจัดการเขาอย่างไรก็ได้ เหตุผลก็คือคนเลวอย่างนี้จะปล่อยให้อยู่รกโลกไปทำไม ดังนั้นเราจึงพร้อมที่จะด่าว่าเขาด้วยถ้อยคำหยาบคายที่สุดเท่าที่จะสรรหามาได้ พร้อมจะใส่ร้ายป้ายสี โกหกหลอกลวง หรือทำร้ายเขา แต่ยิ่งเราทำเช่นนั้นกับคนที่เราติดป้ายว่า “เลว” มากเท่าไร เราก็กลับกลายเป็นคนเลวเสียเอง อาจเลวยิ่งกว่าเขาก็ได้ ใช่หรือไม่ว่า “เทพ”ที่พร้อมจะใช้วิธีการใดก็ได้เพื่อจัดการกับ “มาร” ในที่สุดแล้วลงเอยด้วยการกลายเป็น “มาร”เสียเอง จะว่าไปแล้ว เส้นแบ่งระหว่างเทพกับมารนั้น บางมาก เพียงแค่เผลอให้ความโกรธเกลียดครองใจ เทพก็กลายเป็นมารได้ง่าย ๆ มีผู้กล่าวอย่างน่าฟังว่า เมื่อใดก็ตามที่เราต่อสู้กับอสูรร้าย จงระวังว่าเราจะไม่กลับกลายเป็นอสูรร้ายเสียเอง

     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)

    ความโกรธเกลียดเมื่อเกิดขึ้นกับใคร มันจะผลักคนอื่นให้อยู่ห่างจากเรา โดยเฉพาะคนที่เราโกรธเกลียด แม้ว่าคนนั้นจะเป็นสามีหรือภรรยาของเรา เป็นพี่น้องของเรา หรือแม้แต่เป็นพ่อหรือลูกของเรา ยิ่งเป็นคนที่ห่างไกลกันอยู่ก่อนแล้ว มันยิ่งผลักเขาไปให้ไกลกว่าเดิม แต่น่าแปลกว่ายิ่งห่างไกลกันเพราะความโกรธเกลียด ทั้งสองฝ่ายกลับมีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างยิ่ง มีนิสัยใจคอคล้ายกัน มีมุมมองคล้ายกัน มีพฤติกรรมคล้ายกัน ราวกับเป็นกระจกเงาของกันและกัน กล่าวคือต่างมองเห็นว่าฉันถูก แกเลว เหมือนกัน ด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคายเหมือนกัน กราดเกรี้ยวเหมือนกัน รวมทั้งลอกเลียนแบบการกระทำเหมือนกัน เช่น ใส่ร้ายป้ายสี หรือใช้วิธีการเดียวกัน (บุชและบินลาเดน แม้จะอยู่ขั้วตรงข้ามกัน แต่กลับมอง คิด และทำคล้ายกัน เช่น กล่าวหาว่าอีกฝ่ายเป็นมารเหมือนกัน เชื่อว่าพระเจ้าอยู่ข้างตนเช่นเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างโจมตีซึ่งกันและกันว่าฆ่าผู้บริสุทธิ์ แต่แล้วก็ต่างทำอย่างเดียวกัน เป็นแต่ใช้อาวุธและยุทธวิธีต่างกันเท่านั้น)


    น่าแปลกตรงที่ยิ่งเราโกรธเกลียดใคร เราก็ยิ่งทำตัวเหมือนเขา เจริญรอยตามเขา หรือเอาเขาเป็นครู ทั้ง ๆ ที่เราเห็นว่าเขาเลว ชั่ว แต่สิ่งที่เราทำกับเขานั้น ทำให้เราไม่ต่างจากเขาเลย ยิ่งเราประณามเขาด้วยถ้อยคำหยาบคาย ก็ยิ่งกลายเป็นการประจานตัวเองให้คนอื่นได้รู้ว่าเรามีนิสัยอย่างไร ใช่หรือไม่ว่ายิ่งเราคิดจะเล่นงานคนอื่น สุดท้ายเรากลับเล่นงานตัวเอง ยิ่งเราพยายามทำร้ายคนอื่น เรากลับทำร้ายตัวเอง นั่นเป็นเพราะเราปล่อยให้ความโกรธเกลียดครองใจ จนไม่เพียงรุ่มร้อนดังถูกไฟเผาลนเท่านั้น หากยังทำลายภาพพจน์ ลดความเป็นมนุษย์ในตัว และสร้างวิบากกรรมอีกมากมาย ทำให้จมอยู่ในวงจรอุบาทว์แห่งการจองเวร ที่ผลักให้อยู่ในความทุกข์จนยากจะไถ่ถอนออกมาได้

    ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกับเรา มีความกลัวและความใฝ่ฝันเช่นเดียวกับเรา แต่เรามักจดจ่อหรือติดอยู่กับ “ยี่ห้อ”ที่ประทับบนตัวเขา (เช่นไพร่ อำมาตย์ พันธมิตร นปช. ตำรวจ ทหาร) หรือกลุ่มก้อนที่เขาสังกัด จนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา เราจดจ่ออยู่กับสีเสื้อที่เขาสวมใส่ จนไม่สามารถมองเห็นความเป็นมนุษย์ที่อยู่เบื้องหลังเสื้อเหล่านั้น การมองเช่นนี้ ทำให้เราเห็นเขาเป็นคนละพวกกับเรา ยิ่งเป็นพวกที่เราเกลียดด้วยแล้ว ก็ยิ่งมองเห็นเขาเป็นตัวเลวร้ายที่จะต้องกำจัด มีการประณามเขาด้วยถ้อยคำต่าง ๆ ที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของเขา ยิ่งความเป็นมนุษย์ของเขาถูกลดทอนมากเพียงใด ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกสูงส่งในทางจริยธรรมกว่าเขา และดังนั้นจึงมีความชอบธรรมที่จะทำร้ายเขา

    “ยุคมิคสัญญี” อันหมายถึงยุคที่ผู้คนทำร้ายกันอย่างโหดเหี้ยมนั้นเกิดขึ้นเมื่อเรามองเห็นซึ่งกันและกันเป็นเนื้อ (มิค) แทนที่จะเห็นกันและกันเป็นมนุษย์ เราไม่ต้องรออีกหลายกัปกัลป์กว่ายุคมิคสัญญีจะบังเกิด เพราะทุกวันนี้เรากำลังอยู่ในยุคมิคสัญญีอยู่แล้ว เนื่องจากผู้คนไม่ได้มองเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน จะพ้นจากยุคมิคสัญญีได้ต่อเมื่อเรามองให้พ้นยี่ห้อ อุดมการณ์ หรือมองทะลุสีเสื้อจนเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน

    สิ่งสำคัญในวันนี้มิใช่การขอคืนพื้นที่หรือชิงพื้นที่กลับคืน อย่างที่ทำมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หากได้แก่การคืนความเป็นมนุษย์ให้แก่กันและกัน คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่คนเสื้อเหลือ คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่คนเสื้อแดง คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่ทหารตำรวจ เมื่อนั้นเราจึงจะอยู่ด้วยกันได้อย่างสันติ

    เราจะมองเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันได้ก็ต่อเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างมนุษย์ และเปิดใจรับฟังกัน แทนที่จะสวมหัวโขนเข้าหากัน หรือเลือกฟังแต่สิ่งที่ยืนยันอคติดั้งเดิมของตน หลักธรรมที่สำคัญประการหนึ่งในยามที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงก็คือ “สัจจานุรักษ์” นั่นคือ การไม่ยืนกรานยึดติดแต่สิ่งที่ตนรู้หรือคิดเห็นเท่านั้นว่าถูกต้องเป็นจริง ขณะเดียวกันก็ตระหนักหรือเตือนตนอยู่เสมอว่าความคิดเห็นของอีกฝ่ายอาจถูกต้องเป็นจริงก็ได้ ถ้ามีสัจจานุรักษ์ เราก็จะยินดีรับฟังคนอื่นมากขึ้น

    ในยามที่เกิดความขัดแย้ง ทุกฝ่ายมักจะยืนยันว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก คู่กรณีหรือฝ่ายตรงข้ามต่างหากที่เป็นฝ่ายผิด ดังนั้นจึงไม่พร้อมที่จะฟังคู่กรณีเลย อย่าว่าแต่คู่กรณีระหว่างรัฐบาลกับผู้ประท้วงเลย แม้แต่ระหว่างคนที่รักกัน เช่น สามีกับภรรยา พ่อกับลูก เวลาขัดแย้งกันแล้ว มีใครฟังกันบ้าง ที่ไม่มีใครฟังกันก็เพราะเชื่อมั่นแล้วว่าตนเป็นฝ่ายถูกต้อง เป็นเพราะไม่ฟังกันใช่ไหม ผลก็คือทะเลาะวิวาทกันหนักขึ้น

    แม้แต่คนที่รักกัน เรายังเปิดใจฟังอีกฝ่ายยากมาก ยิ่งกับคนที่เกลียดชังกันด้วยแล้ว ก็ยิ่งเปิดใจฟังกันยากขึ้น แต่เพราะไม่เปิดใจฟังกัน จึงยิ่งมั่นใจว่า “ฉันถูก” “แกผิด” คำถามก็คือเราแน่ใจได้อย่างไรว่าเราเป็นฝ่ายถูก(หรือดี)ร้อยเปอร์เซ็นต์ และอีกฝ่ายผิด(หรือเลว)ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราแน่ใจได้อย่างไรว่าข้อมูลที่เราได้รับเกี่ยวกับตัวเขานั้นถูกต้องเป็นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ เราแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เขาเรียกร้องนั้นเกิดจากความเห็นแก่ตัวหรือเอาแต่ได้ล้วน ๆ ทำไมเราถึงแน่ใจอย่างนั้นในเมื่อเราไม่เคยเปิดใจรับฟังความคิดความเห็นของเขาเลย เพราะสรุปตั้งแต่แรกแล้วว่าเขาเลวเขาชั่วเขาผิด

    คำสอนของพระพุทธองค์ในกาลามสูตรนั้นสำคัญมากในยามนี้ เพราะจะช่วยเตือนให้เราไม่หลงเชื่อเพียงเพราะ “ฟังตามกันมา” หรือเพียงเพราะ “ตรรกะ การอนุมาน การคิดตรองตามแนวเหตุผล หรือเพราะเข้าได้กับความคิดของตน” หรือเพียงเพราะ “มองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้” หรือเพียงเพราะ “ผู้พูดเป็นครูของเรา”(คือน่าเชื่อถือ) เท่านั้น ถ้าเชื่อเพียงเพราะเหตุดังกล่าว ก็อย่าเพิ่งฟันธงว่าสิ่งที่ตัวเองได้ยินหรือรู้มานั้น (รวมทั้งความคิดเห็นที่สรุปจากข้อมูลดังกล่าว)เป็นความจริงถูกต้องแน่นอน

    การให้อภัยหรือแผ่เมตตาให้อีกฝ่ายอาจเป็นเรื่องยาก (ทั้ง ๆ ที่มันเป็นผลดีต่อจิตใจของเราเอง) แต่อย่างน้อยเราควรรับรู้เขาตามที่เป็นจริง ในเมื่อเราทุกคนปรารถนาความเป็นธรรม เราจึงควรให้ความเป็นธรรมแก่เขา(และแก่ตนเอง)ด้วยการมองเห็นเขาอย่างที่เขาเป็น แต่จะทำเช่นนั้นได้อย่างไรหากเรามีอคติอันหนาแน่น ต่อเมื่อรู้เท่าทันอคติ เปิดใจรับฟังเขา และไม่ปลงใจเชื่ออะไรง่าย ๆ เราถึงจะเห็นผู้อื่นอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เมื่อนั้นเราจะพบว่าแท้ที่จริงมนุษย์หาใช่ศัตรูของเราไม่ ความโกรธเกลียดต่างหากคือศัตรูที่แท้จริง

    :- https://visalo.org/article/matichon255304.htm
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,164
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    buddhabodhitree.jpg
    บุญที่ถูกลืม

    พระไพศาล วิสาโล
    “คุณนายแก้ว” เป็นเจ้าของโรงเรียนที่ชอบทำบุญมาก เป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าทอดกฐินอยู่เนือง ๆ ใครมาบอกบุญสร้างโบสถ์วิหารที่ไหน ไม่เคยปฏิเสธ เธอปลื้มปิติมากที่ถวายเงินนับแสนสร้างหอระฆังถวายวัดข้างโรงเรียน แต่เมื่อได้ทราบว่านักเรียนคนหนึ่งไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน ค้างชำระมาสองเทอมแล้ว เธอตัดสินใจไล่นักเรียนคนนั้นออกจากโรงเรียนทันที

    “สายใจ” พาป้าวัย ๗๐ และเพื่อนซึ่งมีขาพิการไปถวายภัตตาหารเช้าที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเจ้าอาวาสเป็นที่ศรัทธานับถือของประชาชนทั่วประเทศ เช้าวันนั้นมีคนมาทำบุญคับคั่ง จนลานวัดแน่นขนัดไปด้วยรถ เมื่อได้เวลาพระฉัน ญาติโยมก็พากันกลับสายใจพาหญิงชราและเพื่อนผู้พิการเดินกะย่องกะแย่งฝ่าแดดกล้าไปยังถนนใหญ่เพื่อขึ้นรถประจำทางกลับบ้าน ระหว่างนั้นมีรถเก๋งหลายสิบคันแล่นผ่านไป แต่ตลอดเส้นทางเกือบ ๓ กิโลเมตร ไม่มีผู้ใจบุญคนใดรับผู้เฒ่าและคนพิการขึ้นรถเพื่อไปส่งถนนใหญ่เลย

    เหตุการณ์ทำนองนี้มิใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาดในสังคมไทย “ชอบทำบุญแต่ไร้น้ำใจ” เป็นพฤติกรรมที่พบเห็นได้ทั่วไปในหมู่ชาวพุทธ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าคนไทยนับถือพุทธศาสนากันอย่างไรจึงมีพฤติกรรมแบบนี้กันมาก เหตุใดการนับถือพุทธศาสนาจึงไม่ช่วยให้คนไทยมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ที่ทุกข์ยาก การทำบุญไม่ช่วยให้คนไทยมีเมตตากรุณาต่อผู้อื่นเลยหรือ

    หากสังเกตจะพบว่าการทำบุญของคนไทยมักจะกระทำต่อสิ่งที่อยู่สูงกว่าตน เช่น พระภิกษุสงฆ์ วัดวาอาราม พระพุทธเจ้า เป็นต้น แต่กับสิ่งที่ถือว่าอยู่ต่ำกว่าตน เช่น คนยากจน หรือสัตว์น้อยใหญ่ เรากลับละเลยกันมาก (ยกเว้นคนหรือสัตว์ที่ถือว่าเป็น “พวกกู” หรือ “ของกู”) แม้แต่เวลาไปทำบุญที่วัด เราก็มักละเลยสามเณรและแม่ชี แต่กุลีกุจอเต็มที่กับพระสงฆ์

    อะไรทำให้เราชอบทำบุญกับสิ่งที่อยู่สูงกว่าตน ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะเราเชื่อว่าสิ่งสูงส่งเหล่านั้นสามารถบันดาลความสุขหรือให้สิ่งดี ๆ ที่พึงปรารถนาแก่เราได้ เช่น ถ้าทำอาหารถวายพระ บริจาคเงินสร้างวัดหรือพระพุทธรูป ก็จะได้รับความมั่งมีศรีสุข มีอายุ วรรณะ สุข พละ เป็นต้น หรือช่วยให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ มีความสุขสบายในชาติหน้า ในทางตรงข้ามสิ่งที่อยู่ต่ำกว่าเรานั้น ไม่มีอำนาจที่จะบันดาลอะไรให้เราได้ หรือไม่ช่วยให้เราสุขสบายขึ้น เราจึงไม่สนใจที่จะช่วยเหลือเผื่อแผ่ให้แก่สิ่งเหล่านั้น

    นั่นแสดงว่าที่เราทำบุญกันมากมายก็เพราะหวังประโยชน์ส่วนตัวเป็นสำคัญ ดังนั้นยิ่งทำบุญด้วยท่าทีแบบนี้ ก็ยิ่งเห็นแก่ตัวมากขึ้น ผลคือจิตใจยิ่งคับแคบ ความเมตตากรุณาต่อผู้ทุกข์ยากมีแต่จะน้อยลง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการทำบุญแบบนี้กลับจะทำให้ได้บุญน้อยลง แน่นอนว่าประโยชน์ย่อมเกิดแก่ผู้รับอยู่แล้ว เช่น หากถวายอาหาร อาหารนั้นย่อมทำให้พระสงฆ์มีกำลังในการศึกษาปฏิบัติธรรมได้มากขึ้น แต่อานิสงส์ที่จะเกิดแก่ผู้ถวายนั้นย่อมไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเจือด้วยความเห็นแก่ตัว ยิ่งถ้าทำบุญ ๑๐๐บาทเพราะหวังจะได้เงินล้าน บุญที่เกิดขึ้นย่อมน้อยลงไปอีกเพราะใช่หรือไม่ว่านี่เป็นการ “ค้ากำไรเกินควร”

    บุญที่ทำในรูปของการถวายทานนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเงินก็ตาม จุดหมายสูงสุดอยู่ที่การลดความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกู ยิ่งลดได้มากเท่าไรก็ยิ่งเข้าใกล้นิพพานอันเป็นประโยชน์สูงสุดที่เรียกว่า “ปรมัตถะ” ซึ่งสูงกว่าสวรรค์ในชาติหน้า (สัมปรายิกัตถะ)หรือความมั่งมีศรีสุขในชาตินี้ (ทิฏฐธัมมิกัตถะ) แต่หากทำบุญเพราะหวังแต่ประโยชน์ส่วนตน อยากได้เข้าตัวมาก ๆ แทนที่จะสละออกไป ก็ยิ่งห่างไกลจากนิพพาน หรือกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นนิพพานด้วยซ้ำ อันที่จริงอย่าว่าแต่นิพพานเลย แม้แต่ความสุขในปัจจุบันชาติ ก็อาจเกิดขึ้นได้ยาก เพราะจิตที่คิดแต่จะเอานั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์

    ในทานมหัปผลสูตร อังคุตตรนิกาย พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระสารีบุตรว่าทานที่ไม่มีอานิสงส์มากได้แก่ “ทานที่ให้อย่างมีใจเยื่อใย ให้ทานอย่างมีจิตผูกพัน ให้ทานอย่างมุ่งหวังสั่งสมบุญ” รวมถึงทานที่ให้เพราะต้องการเสวยผลในชาติหน้า เป็นต้น พิจารณาเช่นนี้ก็จะพบว่าทานที่ชาวพุทธไทยส่วนใหญ่ทำกันนั้นหาใช่ทานที่พระองค์สรรเสริญไม่ นอกจากทำด้วยความมุ่งหวังประโยชน์ในชาติหน้าแล้ว ยังมักมีเยื่อใยในทานที่ถวาย กล่าวคือทั้ง ๆ ที่ถวายให้พระสงฆ์ไปแล้ว ก็ยังไม่ยอมสละสิ่งนั้นออกไปจากใจ แต่ใจยังมีเยื่อใยในของชิ้นนั้นอยู่ เช่น เมื่อถวายอาหารแก่พระสงฆ์แล้ว ก็ยังเฝ้าดูว่าหลวงพ่อจะตักอาหาร “ของฉัน”หรือไม่ หากท่านไม่ฉัน ก็รู้สึกไม่สบายใจ คิดไปต่าง ๆ นานา นี้แสดงว่ายังมีเยื่อใยยึดติดผูกพันอาหารนั้นว่าเป็นของฉันอยู่ ไม่ได้ถวายให้เป็นของท่านอย่างสิ้นเชิง

    เยื่อใยในทานอีกลักษณะหนึ่งที่เห็นได้ทั่วไปก็คือ การมุ่งหวังให้ผู้คนรับรู้ว่าทานนั้น ๆ ฉันเป็นผู้ถวาย ดังนั้นตามวัดวาอารามต่าง ๆ ทั่วประเทศ ของใช้ต่าง ๆ ไม่ว่า ถ้วย ชาม แก้วน้ำ หม้อ โต๊ะ เก้าอี้ ตลอดจนขอบประตูหน้าต่างในโบสถ์ วิหารและศาลาการเปรียญ จึงมีชื่อผู้บริจาคอยู่เต็มไปหมด กระทั่งพระพุทธรูปก็ไม่ละเว้น ราวกับจะยังแสดงความเป็นเจ้าของอยู่ หาไม่ก็หวังให้ผู้คนชื่นชมสรรเสริญตน การทำบุญอย่างนี้ จึงไม่ได้ละความยึดติดถือมั่นในตัวตนเลย หากเป็นการประกาศตัวตนอีกแบบหนึ่งนั่นเอง

    การทำบุญแบบนี้แม้จะมีข้อดีตรงที่ช่วยอุปถัมภ์วัดวาอารามและพระสงฆ์ให้ดำรงอยู่ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ไม่ส่งเสริมให้ผู้คนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากหรือไร้อำนาจวาสนา ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เมืองไทยมีวัดวาอารามใหญ่โตและสวยงามมากมาย แต่เวลาเดียวกันก็มีคนยากจนและเด็กถูกทอดทิ้งเป็นจำนวนมาก ไม่นับสัตว์อีกนับไม่ถ้วนที่ถูกละเลย หรือถูกปลิดชีวิตแม้กระทั่งในเขตวัด
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 มีนาคม 2024

แชร์หน้านี้

Loading...