บทความให้กำลังใจ(ความคิดที่ต้องเปลี่ยนแปลง)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    เพื่อนคนหนึ่งเรียกรถแท็กซี่ไปวัดพระแก้วเพื่อจะไปทำบุญ เช้าวันนั้นรถติดมาก เขาต้องโทรศัพท์บอกพี่สาวหลายครั้งว่าจะไปสาย เขาหงุดหงิดรุ่มร้อน แต่สังเกตเห็นว่าคนขับรถแท็กซี่ไม่มีอาการรุ่มร้อนเลย เปิดวิทยุแถมฮัมเพลงไปด้วยอย่างมีความสุข เขาจึงถามคนขับรถว่าพี่ไม่หงุดหงิดเหรอ คนขับรถตอบดี เขาตอบว่า “ผมไม่รู้จะหงุดหงิดไปทำไมครับ หงุดหงิดแล้วมันก็ติดเท่าเดิม”

    เขายังพูดต่ออีกว่า แต่ก่อนเขาทำงานบริษัท ตอนหลังเบื่อเลยลาออกมาขับแท็กซี่ มันอิสระดี ที่น่าสนใจคือเขาพูดว่า “ผมรู้ว่าผมเลือกทำอาชีพอะไร แล้วจะต้องเจอกับอะไร ถ้าเลือกขับแท็กซี่ก็ต้องยอมรับได้ว่าต้องเจอรถติด”

    คนขับแท็กซี่ไม่หงุดหงิดเวลารถติดเพราะเขายอมรับมันได้ ส่วนคนที่ทุกข์ใจก็เพราะยอมรับมันไม่ได้ แถมยังคิดปรุงแต่งต่อไปว่าถ้ารถติดหนักกว่านี้จะไปทำงานสาย จะไปส่งลูกไม่ทัน จะตกเครื่องบิน ก็เลยกระสับกระส่าย

    ไม่ว่าเจอทุกข์อะไรก็ตาม ถ้าเรายอมรับไม่ได้ ใจจะเป็นทุกข์มาก เป็นทุกข์ยิ่งกว่าความทุกข์อันแรกที่เจอ

    หญิงผู้หนึ่งพูดไว้ดีว่า “มะเร็งไม่ได้ทำให้ยิ้มคุณหายไป ทุกข์ในใจต่างหากเป็นตัวทำ” ถามว่าทุกข์ใจเพราะอะไร คำตอบคือยอมรับความจริงไม่ได้ สิ่งที่เธอพูดนั้นเป็นสัจธรรมมาก เธอพูดว่า “ในขณะที่เราคิดว่าความจริงมันโหดร้าย แต่การไม่ยอมรับความจริงนั้นโหดร้ายกว่า เพราะมันเปรียบเหมือนคุกที่ขังใจเราไว้”

    ประโยคข้างต้นเธอพูดจากประสบการณ์ของตัวเอง เธอเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะตอนอายุ 30 ปี ขณะที่ชีวิตกำลังรุ่งโรจน์ หมอเองทีแรกก็ยังไม่เชื่อ เพราะมะเร็งที่เกิดกับเธอนั้นมักเกิดขึ้นผู้สูงอายุหรือสูบบุหรี่จัด แต่เธอไม่เคยสูบบุหรี่ ตอนที่เธอรู้ว่าเป็นมะเร็ง เธอรู้สึกทุกข์มาก ทุกข์กายไม่เท่าไหร่แต่ทุกข์ใจมากเธอเอาแต่คร่ำครวญว่า ว่าทำไมต้องเป็นฉัน ทำไมต้องเป็นมะเร็งชนิดนี้ มันไม่น่าจะเกิดกับฉัน ฉันอายุแค่ 30 ปีเท่านั้น พอเธอไม่ยอมรับความจริงนี้ ก็เครียด จนเหวี่ยงวีนใส่หมอ เหวี่ยงวีนแม้กระทั่งกับคนที่บ้าน
    ภายหลังเธอหันมาสนใจการปฏิบัติธรรม เจริญสติ เมื่อสังเกตจิตใจของตนก็พบว่า สาเหตุของความทุกข์ใจคือการไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับโรคมะเร็ง แต่พอเธอยอมรับมันได้ ใจก็สงบ แม้ว่ามะเร็งจะลามไปเยอะแล้ว
    คนเรามักจะมองข้ามความจริงว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเราไม่ร้ายเท่ากับการไม่ยอมรับความทุกข์นั้น สิ่งที่เรากลัวเราเกลียด ไม่ร้ายเท่ากับความกลัวความเกลียดสิ่งนั้น ลองพิจารณาดูให้ดีว่า คนที่เป็นปัญหากับเรา ยังไม่ทำให้เราทุกข์มากเท่ากับความรู้สึกเกลียดชังหรือโกรธคนนั้น มะเร็งก็เหมือนกัน มันไม่ร้ายเท่ากับความกลัวความเกลียดและการไม่ยอมรับมะเร็ง
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    เหตุผลที่เราควรยอมรับความทุกข์
    ประการแรก เราควรยอมรับมันก่อนอื่นใด ก็เพราะมันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถปฏิเสธ ผลักไสไปได้
    ประการที่สอง ให้ตระหนักว่า ยิ่งผลักไสก็ยิ่งทุกข์ เป็นการซ้ำเติมตัวเอง อย่างที่คนขับแท็กซี่พูด “ผมไม่รู้จะหงุดหงิดไปทำไม หงุดหงิดแล้วรถมันก็ติดเท่าเดิม” ความหงุดหงิดทำให้จิตใจรุ่มร้อน ส่วนปัญหาหรือความทุกข์เดิมก็ไม่ได้หายไปไหน

    มีคนเปรียบเทียบชีวิตไว้ดีว่า เหมือนกับการเล่นไพ่ บางครั้งเราก็จั่วได้ไพ่ที่ไม่ดี แต่ป่วยการที่จะบ่น ตีโพยตีพายว่า ทำไมได้ไพ่ใบนี้ คนที่เล่นไพ่เก่งเขาไม่บ่นโวยวายอย่างนั้น แต่เขาจะพยายามใช้ปัญญาเพื่อเล่นให้ดีที่สุด บางครั้งเขาก็ชนะทั้งที่ไพ่ในมือเขาไม่ดีเลย ถ้าเขาโวยวาย ก็หัวเสีย ปัญญาก็ไม่เกิด สู้ตั้งสติให้ดีว่าจะใช้ไพ่ที่มีในมือให้เกิดประโยชน์อย่างไร

    แม่ครัวซึ่งได้เครื่องเคราไม่ครบ เขาไม่มัวหัวเสียบ่นปอดแปดว่าว่าทำไมเครื่องไม่ครบ เขาจะคิดเพียงว่าทำอย่างไรจะปรุงอาหารให้อร่อยหรือดีที่สุดเท่าที่อุปกรณ์มีอยู่ ไม่มีเนื้อ มีแต่ผักก็ไม่เป็นไร ไม่มีน้ำตาล เอาอย่างอื่นแทนได้ไหม ในขณะที่แม่ครัวที่มีเครื่องครบแต่อาจปรุงอาหารไม่อร่อยก็ได้ มันไม่ได้อยู่ที่ว่าในมือมีอะไร แต่อยู่ที่ว่าเราจะใช้ของที่มีอยู่ในมือให้เกิดประโยชน์แค่ไหน แต่เราไม่สามารถใช้สิ่งที่มีอยู่ในมือให้เกิดประโยชน์ได้ดีที่สุดหากเรายังหัวเสียหงุดหงิด ไม่ยอมรับกับข้อจำกัดที่เกิดขึ้น

    ผู้ป่วยมะเร็งที่เพิ่งกล่าวถึง พอทำใจยอมรับได้ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว นอกจากเธอจะยิ้มได้แล้ว เธอยังมีสติปัญญาที่จะเยียวยาตัวเองต่อไป แต่ถ้าหัวเสียหงุดหงิด ก็คิดอะไรไม่ออก แทนที่จะทุกข์จะบรรเทาทุกข์กลายเป็นทุกข์หนักขึ้น ป่วยการที่จะบ่นโวยวายว่า ทำไมต้องเป็นฉัน มันไม่ยุติธรรม ฉันอายุแค่ 30 ปี เอง ไม่เคยสูบบุหรี่ ทำไมฉันต้องเป็นมะเร็งปอด ฉันทำดีตลอดชีวิต ทำไมฉันต้องมาป่วย ทำไมต้องเสียลูกตั้งแต่ยังเล็ก ๆ หรือฉันออกกำลังกายเป็นปีทำไมต้องมาป่วย คิดแบบนี้เป็นการทำร้ายตัวเอง

    ผู้หญิงคนหนึ่ง ดูแลสุขภาพดีมาก กินอาหารชีวจิต อาหารแมคโครไบโอติก อาหารเสริมที่ใครบอกว่าช่วยป้องกันมะเร็งและโรคหัวใจเธอหามากินหมด อาหารเสริมใดที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ รวมทั้งสไปรูไลนา ใบแปะก๊วย โคคิวเท็น แพงแค่ไหนเธอก็หามา ออกกำลังกายเธอก็ทำเป็นประจำ เพราะเชื่อว่าจะทำให้อายุยืน มีสุขภาพดี แล้ววันหนึ่งเธอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เธอทำใจไม่ได้ โกรธมาก รู้สึกว่าถูกโกหก ถูกหลอกลวง ตลอดเวลาที่ป่วยเธอไม่มีความสุขทั้งกายทั้งใจ กราดเกรี้ยวใส่คนรอบข้าง จนกระทั่งวาระสุดท้ายก็ตายไม่สงบ ในขณะที่คนบางคนเจอโรคร้าย แต่เขารู้จักทำใจ จึงไม่ทุกข์มาก

    หมอคนหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปเยี่ยมผู้ป่วยชายวัยกลางคนคนหนึ่ง เมื่อเธอดูประวัติแล้วก็รู้สึกหนักใจ ชายคนนี้เป็นมะเร็งที่ใบหน้า แผลใหญ่กินตั้งแต่แก้มไปถึงจมูกและริมฝีปาก หมอรู้ดีว่าคนที่เป็นมะเร็งชนิดนี้จะเจ็บปวดมาก ไม่แค่เฉพาะปวดกาย แต่อาจเจ็บปวดที่ใจด้วย เพราะส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเป็นที่รังเกียจ เนื่องจากแผลที่ใบหน้าเห็นชัด จนอยากเก็บตัวลบลี้หนีหน้าผู้คน และอันที่จริงโรคนี้ก็ไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยออกไปนอกบ้านเพราะถ้าโดนแสงแดดจะเจ็บปวดมาก จำเป็นต้องเก็บตัวในบ้าน แถมต้องมีม่านพรางแสงด้วย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยทั้งหดหู่ ซึมเศร้า และเครียดมาก ในประเทศสหรัฐอเมริกา คนที่เป็นมะเร็งใบหน้า ฆ่าตัวตายถึง 1 ใน 4

    หมอเองรู้สึกหนักใจที่จะไปเยี่ยมผู้ป่วยคนนี้ เพราะกลัวว่าจะเจออารมณ์กราดเกรี้ยวของเขา แต่พอเจอเข้าจริง ๆ หมอก็แปลกใจ เพราะเขาโอภาปราศรัยดี คุยอย่างคนปกติ ไม่มีความก้าวร้าวอะไรเลย

    คนไข้เล่าว่า ตอนหนุ่ม ๆ เขาชอบกินเหล้าสูบบุหรี่มาก เมาหัวราน้ำ การงานก็ทำได้ไม่ดี มีครอบครัวก็ต้องเลิกกัน เมียทนไม่ได้ที่เขาเอาแต่กินเหล้า สูบบุหรี่ ลูกก็ต้องไปอยู่กับเมีย เขาเล่าเหมือนกับยอมรับ ว่าที่เขาเป็นมะเร็งก็เพราะมีพฤติกรรมเสี่ยงแบบนี้ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้เขาสงบ ไม่มีอาการหงุดหงิดทุรนทุราย

    เขาเล่าว่าทุกวันเขาไม่มีอะไรทำ นอกจากวาดรูปและเปิดโทรทัศน์ ช่องที่ดูประจำคือ CNN ซึ่งมีข่าว 24 ชั่วโมง ส่วนใหญ่เป็นข่าวเกี่ยวกับการก่อการร้าย อุบัติเหตุ สงคราม ความอดอยากหิวโหย ภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว ไฟไหม้ น้ำท่วม เขาดู ๆ ไปไม่นานก็ได้คิดว่า คนเราไม่ว่ารวยหรือจน ชาติใด ภาษาใด นับถือศาสนาใด ก็หนีความทุกข์ไม่พ้น ความทุกข์เป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษยชาติ พอคิดได้แบบนี้เขาก็มองมาที่ตัวเอง แล้วได้คิดว่า ความเจ็บป่วยของเรา ก็เป็นส่วนหนึ่งของความทุกข์ที่เกิดกับมนุษย์ทั้งโลก

    พูดง่าย ๆ ว่า เขามองว่าความทุกข์ที่เกิดกับตัวเองเป็นธรรมดาของมนุษย์ทุกคน พอมองอย่างนี้ได้เขาก็ยอมรับมะเร็งได้ ไม่ปฏิเสธ ผลักไสมันอีกต่อไป ใจจึงสงบ
    เขายังบอกอีกว่า ตอนนี้เขาพยายามดูแลสุขภาพให้ดีเพื่อจะได้มีชีวิตยืนยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมาเขาแทบไม่ได้อยู่กับลูกเลย ตอนนี้อยากจะอยู่กับลูกให้นานที่สุด
    หมอเจ้าของไข้บอกเขาว่า เขาจะอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน แต่ชายคนนี้อยู่ได้ปีกว่า ช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ ก็ไม่ได้ทุกข์ทรมาน เหมือนผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่ ตอนตายก็ตายอย่างสงบ
    ชายคนนี้แม้จะมีความทุกข์กายมาก แต่ใจเขาไม่ค่อยทุกข์เท่าไหร่ ทั้งนี้เพราะเขายอมรับความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น
    การยอมรับช่วยให้ใจสงบ เป็นทุกข์น้อยลง นี้คือเหตุผลหนึ่งที่เราควรยอมรับเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมาในรูปใด เช่น ความเจ็บป่วย ความสูญเสีย
    :- https://visalo.org/article/dhammamata14_3.html
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ความสงบอันประเสริฐ
    พระไพศาล วิสาโล
    หลายคนที่มาวัดป่าสุคะโต เมื่อมาครั้งแรกมักจะพูดเหมือนกันว่าชอบความสงบ แสดงให้เห็นว่าความสงบนั้นเป็นสิ่งที่ผู้คนปรารถนา ขณะเดียวกันก็ชี้ว่าทุกวันนนี้ความสงบกลายเป็นเรื่องหายากแล้ว หลายคนจึงรู้สึกประทับใจเมื่อสัมผัสความสงบของที่นี่

    หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าตัวเองชอบความสงบ จนกระทั่งมาพบความสงบที่วัดป่าสุคะโต แล้วรู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่ตัวเองปรารถนา เพราะส่วนลึกของผู้คนต่างโหยหาความสงบกันทั้งนั้น โดยเฉพาะคนยุคนี้ ซึ่งมีความไม่สงบเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสมัยใหม่ไปแล้ว

    บางอย่างถ้าเราไม่เคยเจอ เราอาจไม่รู้ว่าต้องการสิ่งนั้น แต่พอได้เจอก็พบว่า ใช่เลย เช่นเดียวกับที่สตีฟ จ๊อบส์เคยพูดว่า คนที่ยังไม่เจอไอแพด ก็ไม่รู้ว่าหรอกตัวเองต้องการไอแพด แต่พอเห็นแล้วก็บอกว่า ใช่เลย นี่คือสิ่งที่ตัวเองต้องการมาตลอดชีวิต คนส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ว่าต้องการอะไร จนกว่าจะได้เห็นสิ่งนั้น แต่ไอแพดก็เป็นเพียงสิ่งของที่ให้ความสุขได้ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น ส่วนความสุขจากความสงบนั้นยั่งยืนถาวรกว่า

    ความสงบมี ๒ อย่างคือ สงบกายกับสงบใจ สงบกายหมายถึงไม่มีเสียงรบกวน เช่นในป่า แม้จะมีเสียงบ้างแต่ไม่รู้สึกว่ารบกวน เพราะไม่ใช่เสียงอึกทึกครึกโครม ความสงบอย่างนี้เรียกว่าสงบกาย สงบเพราะไม่มีเสียงดังรบกวน เสียงดังในที่นี้หมายถึงเสียงที่ไม่ชอบ เพราะถ้าเป็นเสียงที่ชอบก็คงไม่เรียกว่าเสียงดัง เช่น ห้องที่เปิดเพลงคลาสสิกหรือเพลงป๊อปที่คนอยากฟัง คนฟังก็จะไม่รู้สึกว่าเสียงดัง หรือไม่สงบ จะเรียกว่าไม่สงบก็ต่อเมื่อมีเสียงคนคุยรบกวน หรือเสียงวิทยุโทรทัศน์ขณะที่ตัวเองกำลังอ่านหนังสือ แต่ที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสียงดนตรี หรือเสียงพูดคุย ถ้าเป็นเสียงที่ดังมากก็จะรู้สึกว่าไม่สงบทั้งนั้น

    ความสงบอีกอย่างหนึ่งคือความสงบใจ ความสงบใจจะเกิดขึ้นไม่ได้หากสมองคิดไม่หยุด มีความทุกข์ หรือมีอารมณ์มาบีบคั้นเผาลนจิตใจ เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นคนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า ถ้าเป็นความคิดที่ชอบ เช่นคิดถึงเรื่องเที่ยว หรือจินตนาการว่ากำลังอยู่กับแฟน จะไม่เรียกว่าเป็นความไม่สงบ แต่จะเรียกว่าใจไม่สงบก็ต่อเมื่อคิดเรื่องไม่ดี คิดถึงเหตุการณ์ที่เจ็บปวด หรือคิดถึงงานการที่ทำให้เกิดความหนักอกหนักใจ

    แต่ที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะคิดถึงความสุขหรือความทุกข์ จะคิดดีหรือคิดไม่ดีก็ถือว่าไม่สงบทั้งนั้น สงบกายก็คือไม่มีเสียงดัง สงบใจคือใจนิ่ง นิ่งเพราะไม่ถูกความคิดกระทบทำให้กระเพื่อม ไม่ถูกอารมณ์บีบคั้นเผาลนจนกระสับกระส่าย ถ้าจิตกระสับกระส่าย หรือจิตกระเพื่อม ไม่ว่าจิตดิ้นรนเพราะความอยากได้หรือผลักไสก็เป็นความไม่สงบทั้งนั้น

    ความสงบใจเป็นสิ่งที่ผู้คนปรารถนามากกว่าความสงบกาย เมื่อเราได้มาอยู่ในสถานที่สงบกาย ไม่มีเสียงดัง ไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอก แวดล้อมด้วยธรรมชาติ ป่าเขา เรียกว่ามีความสงบกายแล้ว แต่ใช่ว่าจะสงบใจด้วย บางครั้งอยู่ในที่เงียบ ๆ อยู่ในป่าที่วิเวก แต่ใจไม่ได้วิเวกตาม เพราะจิตใจว้าวุ่น ฟุ้งซ่าน มีความวิตกกังวล มีความกลัว หรือไม่ก็มีเสียงดังระงมอยู่ในหัวเพราะมีความคิดต่าง ๆ มากมาย ดังนั้นถึงแม้จะมีความสงบกาย ก็ใช่ว่าจะสงบใจได้ทันที ต่อเมื่ออยู่ไปนาน ๆ สิ่งแวดล้อมรอบตัวก็ช่วยให้ใจสงบตาม เช่นเวลาที่เรามาอยู่ท่ามกลางป่าเขา ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ และไม่พูดคุยกันเอง ใจเราก็จะค่อย ๆ สงบลงได้

    ความสงบใจมี ๒ อย่าง อย่างแรกคือสงบเพราะไม่รู้ หรือตัดการรับรู้ เช่น บังคับไม่ให้มีเสียงดัง หรือมาอยู่วัดก็ไม่เปิดวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ ไม่พูดคุยกันเอง หรือแม้จะมีเสียงแต่เราตัดการรับรู้ เช่น หลับตา พยายามบังคับจิตให้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น อยู่กับลมหายใจ หรือเอาจิตมาเพ่งที่เท้าขณะเดิน แม้เสียงรอบตัวจะดังแค่ไหน แต่จิตไม่รับรู้ เพราะจดจ่ออยู่กับอารมณ์เดียว อย่างนี้ใจก็สงบได้ ในทำนองเดียวกันบางคนก็สงบได้เมื่อเก็บตัวอยู่ในห้องพระ ห้องแอร์ อยู่ในพื้นที่ส่วนตัว มีการตัดเสียงรบกวนและไม่ให้คนเข้ามายุ่มย่าม จึงไม่มีการรับรู้ที่จะทำให้จิตใจกระเพื่อมได้ ไม่ต้องรับรู้ข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมือง อย่างนี้เรียกว่าสงบเพราะไม่รู้ หรือตัดการรับรู้ เกิดจากการควบคุมสิ่งแวดล้อม หรือควบคุมจิตใจให้แน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

    ความสงบใจอย่างที่ ๒ คือสงบเพราะรู้ หมายความว่าแม้หูได้ยินเสียง ตาเห็นรูป แต่ใจก็สงบได้ บางครั้งอาจจะกระเพื่อมเพราะเห็นรูปหรือได้ยินเสียง แต่เมื่อใจกระเพื่อมแล้วมีสติรู้ รู้แล้ววาง ก็ทำให้สงบต่อไปได้ ความสงบชนิดนี้อาศัยสติเป็นพื้นฐาน เสียงดังแต่ใจยังสงบได้ อย่างที่เคยเล่าเรื่องหลวงปู่บุดดาว่า มีเสียงเกี๊ยะดังเข้ามาในห้องที่ท่านจำวัดอยู่ ลูกศิษย์รู้สึกรำคาญ แต่ท่านไม่รู้สึกรำคาญ ใจยังสงบได้เพราะไม่เอาหูไปรองเสียงเกี๊ยะ ทำอย่างไรจึงจะไม่เอาหูไปรองเสียงเกี๊ยะได้ ก็ต้องมีสติกำกับใจ หูก็จะไม่หาเรื่อง เสียงดังแต่ใจไม่กระเพื่อมเพราะเสียงนั้น อย่างนี้เรียกว่าสงบเพราะรู้ สงบทั้ง ๆ ที่ได้ยินเสียง แต่สงบได้ เพราะรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีผัสสะมากระทบ
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    ธรรมชาติของใจอย่างหนึ่งคือ เมื่อรู้ทันอารมณ์ใด ก็จะวางอารมณ์นั้นได้ เมื่อรู้ว่าโกรธก็วางความโกรธ แต่คนทั่วไปพอได้ยินเสียงเกี๊ยะก็ลืมตัว เกิดความหงุดหงิดรำคาญขึ้นมาแล้วก็ยังไม่รู้ตัว ความรำคาญจึงครอบงำจิต จนกระทั่งกลายเป็นความโกรธขึ้นมาได้ง่าย ๆ

    ความสงบเพราะรู้นี้ หมายถึงใจสงบได้ทั้ง ๆ ที่รู้ คือ เห็นรูป ได้ยินเสียง ทั้งนี้เพราะรู้ทันผัสสะที่เกิดขึ้น ความสงบแบบนี้สำคัญมาก เพราะไม่ว่าเราอยู่ที่ไหนก็สงบได้ทุกที่ แม้มีสิ่งที่ชวนให้ทุกข์ใจมากระทบ แต่ใจไม่หงุดหงิดตาม บางคนฝึกให้ใจสงบแบบตัดการรับรู้ แต่ไม่ได้ฝึกใจให้เข้าถึงความสงบเพราะรู้ ความสงบที่เกิดขึ้นจึงเป็นความสงบเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

    มีผู้ชายคนหนึ่ง ไปเข้าคอร์สนั่งสมาธิ ๑ วันของสมาคมแห่งหนึ่ง ห้องปฏิบัติธรรมสงบมาก เป็นห้องแอร์ ผู้ชายคนนี้ปฏิบัติได้ดี สงบเย็นทั้งใจและกาย กายเย็นเพราะอยู่ห้องแอร์ ส่วนใจไปเพ่งรับรู้อยู่แค่อารมณ์เดียว ไม่มีเรื่องรบกวนที่ทำให้ใจกระเพื่อม พอถึงเวลาเลิก ๔ โมงเย็น เดินไปลานจอดรถ จะขับรถกลับบ้าน ปรากฏว่าพอเห็นรถอีกคันมาจอดซ้อน ทำให้เขาขับออกไม่ได้ ความโกรธพุ่งขึ้นมาทันที ถึงกับโวยวายออกมา “ใครวะจอดรถแบบนี้” แล้วก็ต่อว่าอีกมากมาย

    ทำไมเขาถึงโกรธขนาดนั้น ทั้ง ๆ ที่เพิ่งทำสมาธิมา นั่นเป็นเพราะทั้งวันความสงบที่เกิดกับเขาเป็นความสงบเพราะตัดการรับรู้ ถ้าเขารู้จักความสงบเพราะรู้ เมื่อเห็นรถตัวเองถูกจอดขวาง เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เขาก็จะมีสติเห็นความไม่พอใจนั้น จิตจะไม่พลุ่งพล่านจนกลายเป็นอารมณ์โกรธถึงกับด่าทอเสียงดัง

    เพิ่งออกมาจากการปฏิบัติธรรมแท้ ๆ แต่พอเจอเรื่องแค่นี้ก็โวยวายแล้ว ทำไมจึงจิตจึงขึ้นลงรวดเร็ว นี่เป็นสิ่งที่เกิดกับนักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก ที่มุ่งแสวงหาความสงบ ด้วยการไม่รับรู้หรือการตัดการรับรู้ พอสงบแล้วก็เพลิน พอเจออะไรที่ไม่ถูกใจไม่พอใจ ก็โกรธปรี๊ดทันที

    เราต้องรู้จักรักษาใจให้สงบได้ แม้อยู่ท่ามกลางเสียงต่าง ๆ แม้เจอคำพูดที่ชวนให้ขัดใจ ความสงบแบบนี้ เป็นสิ่งที่เราควรรู้จักและเข้าถึงให้ได้อย่างชำนิชำนาญ เพราะเราไม่สามารถหลีกเร้นจากโลกที่วุ่นวายได้ตลอด ไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน ที่ทำงาน หรือบนท้องถนนก็จะมีเสียงดัง มีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้ไม่พอใจได้มากมาย

    แม้แต่ที่วัดป่าสุคะโตก็ใช่ว่าจะสงบเงียบตลอดเวลา บางทีก็มีเสียงดัง เช่น เสียงประกาศจากรถขายของ เสียงโฆษณาหาเสียง หรือเวลามีงานศพชาวบ้านก็จะเปิดเพลงดังตั้งแต่เช้าจนค่ำ ถึงกลางคืนก็ฉายหนังกลางแปลงต่อ นักปฏิบัติธรรมที่อยู่ในวัดหลายคนจะหงุดหงิดรำคาญ "ทำไมเขาเปิดเสียงดังขนาดนี้วะ" แต่ลืมถามตัวเองว่า "ทำไมเราต้องรำคาญเสียงดังด้วย" คือไม่ได้ดูตัวเอง ถ้ากลับมาดูใจตัวเองก็จะรู้ว่า เรากำลังเป็นทุกข์เพราะเสียง ตบมือข้างเดียวนั้นไม่ดัง ความทุกข์ไม่ได้เกิดเพราะเสียงดังอย่างเดียว แต่เกิดเพราะใจไปจดจ่ออยู่กับเสียงนั้นด้วย หรือเป็นเพราะใจยึดติดกับความสงบ พอมีเสียงทำลายความสงบก็เกิดความไม่พอใจ เกิดความขัดอกขัดใจขึ้นมา

    เมื่อมีผัสสะมากระทบ ควรมีสติรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ เมื่อตาเห็นอาหารอร่อย สติก็เห็นความอยาก เมื่อหูได้ยินเสียงดัง สติก็เห็นความหงุดหงิดข้างใน เราควรทำทั้งสองอย่างไปพร้อม ๆ กันคือเห็นทั้งข้างนอกและข้างใน ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ แม้ว่าตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ใจก็สงบได้ อย่างนี้เรียกว่าสงบเพราะรู้

    สงบเพราะรู้มี ๒ อย่าง อย่างแรกรู้เพราะสติ คือ เห็นความโกรธ ความเศร้า ความเบื่อ เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็น เห็นความโกรธแต่ไม่เป็นผู้โกรธ ความโกรธก็จะค่อย ๆ ดับไป ถ้าเราไม่เห็นความโกรธ กลายเป็นผู้โกรธ ก็เท่ากับต่ออายุความโกรธให้ยืนยาวมากขึ้น เหมือนกับกองไฟ ถ้าอยู่เฉย ๆ กองไฟก็จะมอดดับไปในที่สุด แต่คนส่วนใหญ่มักจะไปเติมฟืนเติมเชื้อไฟเข้าไป แต่ถ้าเห็นแล้วไม่เข้าไปเป็น พอเห็นปุ๊บมันก็จะดับไป เพราะจิตนั้นรับรู้ได้ทีละอารมณ์เท่านั้น

    เมื่อสติครองใจแล้วก็ไม่มีอะไรมาครอบงำใจได้ เหมือนกับความมืดถ้าเจอแสงสว่าง ความมืดก็หนีไป แสงสว่างขับไล่ความมืดได้ แต่ความมืดไม่เคยขับไล่แสงสว่างได้เลย ยิ่งมืดก็ยิ่งทำให้แสงสว่างเด่นชัดยิ่งขึ้น ฉันใดก็ฉันนั้น ความหลงจะหายไปเมื่อมีสติ ความรู้สึกตัวเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ความหลงก็เกิดขึ้นไม่ได้ ที่มันหลงเพราะสติหายไป เช่น ขณะที่เรากำลังคิดอยู่เพลิน ๆ แล้วรู้ตัวขึ้นมา พอรู้ตัวหรือมีสติ ความคิดก็ดับไป แต่ถ้าสติอ่อน ความคิดก็อาจผุดขึ้นอีก หากสติเกิดขึ้นเพียง ๒-๓ ขณะแล้วดับหายไป ความฟุ้งซ่านก็เข้ามาแทนที่ ความฟุ้งซ่านไม่ได้ขับไล่สติ แต่มาตอนสติหายไปหรือมาตอนที่เราเผลอ
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    สงบเพราะรู้อย่างที่ ๒ คือรู้ด้วยปัญญา หมายถึงการเข้าใจความจริงของชีวิตและโลก เช่น คนที่เข้าใจเรื่องโลกธรรม ๘ เมื่อถูกต่อว่าติฉินนินทา ใจก็ไม่กระเพื่อม เพราะรู้ว่าเป็นธรรมดาโลก ไม่มีใครจะรอดพ้นจากคำตำหนิได้ เมื่อรู้เช่นนี้จิตใจก็มั่นคงไม่หวั่นไหว ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีวุฒิภาวะด้วย โดยทั่วไปคนที่มีอายุมาก จะมีความหนักแน่นมั่นคงมากกว่าคนหนุ่มสาว เพราะผ่านโลกมามาก รู้ว่าคำติฉินนินทานั้นเป็นธรรมดาโลก เมื่อรู้อย่างนี้ก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ใจสงบได้

    จากการศึกษาผู้คนทั่วโลก จาก ๗๐-๘๐ ประเทศ พบว่าคนที่อายุมาก คือเลยวัยกลางคนไปแล้ว มีแนวโน้มที่จะมีความสุขได้มากกว่าวัยรุ่นหรือวัยกลางคน ส่วนวัยที่มีความทุกข์มากที่สุด มีความเครียดมากที่สุด มีความสุขน้อยที่สุด คือวัยกลางคน อายุ ๔๐ กว่าขึ้นไป งานวิจัยบางชิ้นระบุเลยว่า คนอายุ ๔๖ เป็นวัยที่มีความเครียดมากที่สุด มีความสุขน้อยที่สุด พวกเราถึงหรือยัง เตรียมตัวไว้นะ พอพ้น ๔๖ ไป เส้นความสุขจะค่อย ๆ สูงขึ้น จนกระทั่ง ๘๐

    วัยกลางคน เป็นวัยที่ยังมีสุขภาพดี ตำแหน่งหน้าที่การงานก็มีความมั่นคงแล้ว เรียกได้ว่า มีทั้งเงินทองและกำลังวังชา แต่ทำไมคนอายุ ๘๐ ถึงมีความสุขมากกว่า มีความเครียดน้อยกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวุฒิภาวะ ผ่านโลกมามากก็ทำใจได้ ปล่อยวางได้ เข้าใจเรื่องโลกธรรม เข้าใจว่าความสำเร็จความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดาโลก ติฉินนินทาก็เป็นธรรมดาโลก อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นปัญญาในการเข้าใจโลกธรรม การมีปัญญาเข้าใจโลก นอกจากจะสามารถเกิดขึ้นได้จากการมีวุฒิภาวะแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการไตร่ตรงชีวิตหรือปฏิบัติธรรม ยิ่งถ้าปฏิบัติจนเข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนิจจา ไม่ยึดมั่นในตัวกูของกู หรือตัวกูของกูน้อยเบาบาง เมื่อเกิดความสูญเสียก็ไม่ทุกข์ เพราะไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเราตั้งแต่แรก เงินหาย ถูกโกง ถูกด่าแต่ก็ไม่รู้สึกโกรธแค้นขุ่นเคือง เพราะไม่เอาตัวตนเข้าไปรองรับการกระแทก ไม่ได้ยึดมั่นถือว่าเป็นตัวกูของกู

    หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโรเมื่อโดนอันธพาลด่า แทนที่ท่านจะโกรธ ท่านกลับเดินไปหาคนที่ด่าท่าน จับแขนเขาเขย่าแล้วถามว่า "มึงด่าใคร ๆ" เขาตอบว่า "ก็ด่ามึงนะสิ" ท่านยิ้มแล้วพูดว่า "แล้วไป ที่แท้ก็ด่ามึง ดีแล้วอย่าด่ากูแล้วกัน" แล้วก็เดินออกไป ส่วนอันธพาลก็งงว่าตกลงกูด่าใครกันแน่วะ

    คนที่จะทำอย่างหลวงพ่อประสิทธิ์ได้ต้องมีตัวตนน้อยมาก ถ้ามีตัวตนมาก ก็อดไม่ได้ที่จะเอาตัวตนไปรับการกระแทกว่า "มันด่ากู ๆ" แต่เนื่องจากท่านมีตัวตนน้อย คำด่านี้ก็ทะลุไปเหมือนทะลุอากาศธาตุ เหมือนฝุ่นถ้าไม่มีกระจก มันก็ไม่รู้จะเกาะกับอะไร ต่อเมื่อมีกระจก ฝุ่นจึงจะเกาะได้ กระจกเปรียบเหมือนอัตตาหรือตัวตน คำด่าเปรียบได้กับฝุ่นหรือหิน ถ้าหินตกลงมามีกระจกขวางอยู่ กระจกก็ย่อมร้าวหรือแตก เหมือนคนที่เอาตัวตนไปรับคำด่าก็ย่อมโกรธ เป็นทุกข์ แต่ถ้าตัวตนน้อยเบาบางจนไม่มีเลย ก็เหมือนกับว่าไม่มีกระจก แม้ก้อนหินตกลงมาก็ไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะมันผ่านอากาศธาตุไป ไม่มีความเสียหาย ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่าสงบเพราะรู้ รู้ด้วยปัญญา

    ทำนองเดียวกันเมื่อมีปัญญา เวลาเจ็บป่วย ใจก็ไม่ทุกข์ สงบได้ อย่างนี้เรียกว่าสงบเพราะรู้เช่นกัน เหมือนอย่างหลวงปู่บุดดา ถาวโร ซึ่งฉันอาหารเป็นพิษ ขณะที่พระรูปอื่นอาเจียรจนหมดแรง นอนหมดสภาพ หลวงปู่ยังนั่งคุยกับญาติโยมได้ มีบางครั้งก็รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน พออาเจียนเสร็จ ก็หันมาคุยกับญาติโยมต่อ กายท่านทุกข์ แต่ใจท่านไม่เดือดร้อนเลย เพราะท่านมีปัญญาเข้าใจเรื่องรูปนาม ว่าไม่มีตัวเรา มีแต่รูปกับนาม เวลาที่กายเป็นทุกข์ ใจไม่ทุกข์ด้วย เพราะไม่ได้หลงยึดว่าความปวดของกายเป็นความปวดของกู เพราะกูไม่มีจริงตั้งแต่แรก ท่านรู้สึกปวดท้องก็จริง แต่ใจไม่ปวดด้วย เพราะไม่มีความรู้สึกว่ากูปวด

    ตอนที่หลวงพ่อคำเขียนป่วย ท่านมีทุกขเวทนาเยอะ แต่ใจท่านสงบมาก เพราะท่านเห็นชัดว่าไม่มีผู้ปวด ท่านบอกเสมอว่า “ไม่เป็นอะไรกับอะไร” หรือ “ไม่เป็นอะไรกับอาการของกายและใจ” คือไม่ไปยึดมั่นถือมั่นกับอะไรที่เกิดขึ้น อะไรเกิดขึ้นก็เป็นสักว่าเรื่องของกาย หรือเรื่องของใจ แต่ไม่มีตัวกูเป็นนั่นเป็นนี่เลย

    หลวงพ่อคำเขียนสอนอยู่เสมอว่า "เห็น อย่าเข้าไปเป็น" เห็นความปวด แต่ไม่เข้าไปเป็นผู้ปวด ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นกับกายหรือใจก็ตาม แม้ว่าจะเจออนิฏฐารมณ์ เจอความพลัดพรากสูญเสีย เจอความเจ็บปวด เจอทุกขเวทนาบีบคั้นร่างกายก็ตาม อันนี้เป็นหลักประกันของความสงบที่แท้จริง สงบเพราะรู้ด้วยปัญญา

    สงบเพราะรู้ มี ๒ อย่างคือ รู้ด้วยสติ และรู้ด้วยปัญญา รู้ด้วยสติคือเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้ววางได้ ไม่ปล่อยให้อารมณ์ครอบงำ รู้ด้วยปัญญาคือการเห็นความจริง จนกระทั่งไม่ยึดมั่นถือมั่นกับอะไรสักอย่าง คำว่ารู้หรือคำว่าเห็นมีความหมายเหมือนกัน เวลาที่หลวงพ่อบอกว่า "เห็น อย่าเข้าไปเป็น" ท่านหมายถึงเห็นด้วยสติ เช่นเวลามีความโกรธ ความคับแค้นใจ ความเสียใจเกิดขึ้น ก็เห็นด้วยสติ เห็นแล้วก็วางได้ เมื่อเห็นด้วยสติบ่อย ๆ ก็จะนำไปสู่การเห็นด้วยปัญญา คือเห็นว่าสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ เป็นของหนัก ไม่น่ายึดถือ เมื่อนั้นก็วางได้ ไม่แบกเอาไว้อีกต่อไป นั่นคือการเห็นอย่างลึกซึ้งที่สุด คือเห็นด้วยปัญญา

    ในบทสวดมนต์ มีข้อความตอนหนึ่งซึ่งเป็นพุทธพจน์ว่า "เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง นั่นแหละ เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด" ข้อความนี้ระบุชัดว่า “เห็นด้วยปัญญา” คือเมื่อมีปัญญารู้ชัดว่า สิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ไม่น่ายึดถือ จิตก็จะสงบอย่างแท้จริง เพราะปัญญาที่เกิดขึ้นนั้นคงอยู่ไม่แปรเปลี่ยน ในขณะที่สติ ถ้าไม่ฝึกก็หายไปหรืออ่อนแรงไป ต้องฝึกอยู่เสมอ แต่เมื่อฝึกจนถึงที่สุด ก็เกิดปัญญาเห็นกายและใจตามความเป็จริง ช่วยให้เห็นสัจธรรมแจ่มแจ้ง โดยไม่มีอคติเจือปน

    สติกับอคตินั้นตรงข้ามกัน อคติคือเห็นอย่างคลาดเคลื่อน เห็นไม่ตรงตามความเป็นจริง เหมือนกับกระจกที่บิดเบี้ยว อคติเกิดจากความโลภ ความโกรธ ความกลัว ความหลง ทำให้เห็นความจริงคลาดเคลื่อน แต่สติทำให้เห็นกายและใจตามความเป็นจริง จนถึงที่สุดก็จะเกิดปัญญาเห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนิจจา

    ความสงบที่ดีที่สุดคือ สงบเพราะรู้ เริ่มต้นด้วยการรู้เพราะสติ ต่อจากนั้นก็รู้ด้วยปัญญา จะทำเกิดสภาวะจิตอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตัวอยู่ในโลก แต่จิตอยู่พ้นโลก หรือจิตอยู่เหนือโลก เปรียบเหมือนกับดอกบัวที่เกิดในน้ำ โตในน้ำ แต่สามารถเจริญพ้นน้ำได้ นี้คือสภาพจิตของคนที่มีปัญญา เกิดในโลก โตในโลก แต่จิตอยู่เหนือโลกได้ น้ำไม่สามารถฉาบติดดอกบัวหรือใบบัวได้ฉันใด กิเลสหรือความทุกข์ก็ไม่อาจแปดเปื้อนจิตใจได้ฉันนั้น นี้แหละคือความสงบอันประเสริฐสุด ที่เราควรรู้จักและไปให้ถึง
    :- https://visalo.org/article/dhammamata9_2.html
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    รู้ทุกข์ พบธรรม
    พระไพศาล วิสาโล
    พุทธศาสนานั้นพูดถึงความทุกข์ไว้มาก จนมีความเข้าใจในหมู่คนจำนวนไม่น้อยว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแบบทุกข์นิยม หรือมองโลกในแง่ร้าย ที่จริงแล้วที่ท่านพูดถึงทุกข์ไว้มากก็เพราะทุกข์กับธรรมะมีความสัมพันธ์กันมาก สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดจนแยกไม่ออก จะเข้าถึงธรรมได้ก็ต้องเจอทุกข์เสียก่อน ถ้าไม่เจอทุกข์ก็เข้าถึงธรรมหรือพบธรรมได้ยาก ในแง่หนึ่งก็เพราะว่าทุกข์เป็นตัวผลักให้เราเข้าหาธรรมะ ถ้าสุขสบายดีก็ไม่รู้สึกว่าจะต้องเข้าหาธรรมะ แต่พอเจอทุกข์ก็อยู่เฉยไม่ได้ ต้องเข้าหาธรรมะ เหมือนกับว่าเจอร้อนแล้วก็ต้องไปหาน้ำมาดับร้อน หรือเข้าหาที่ที่สงบเย็น ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แม้แต่สัตว์เองก็เหมือนกัน เราสังเกตไหมว่าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น โดยเฉพาะในเมือง มักจะมีหมาข้างถนนมานอนหน้าร้าน เพราะอะไร ก็เพราะมันเย็น พอประตูเปิด แอร์เย็น ๆ ก็จะโชยออกมา
    คนจำนวนไม่น้อยพบธรรมเพราะถูกความทุกข์ผลักดัน อย่างเช่นท่านโกเอ็นก้า ท่านเป็นคฤหัสถ์ที่มีบทบาทสำคัญมากในการเผยแผ่ธรรมะให้แพร่หลายไปทั่วโลก คำว่าวิปัสสนาเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกก็เพราะศูนย์วิปัสสนาของท่านโกเอ็นก้า เดี๋ยวนี้พอพูดกับฝรั่งว่าวิปัสสนาก็ไม่ต้องแปลความหมายแล้ว เพราะเขาเข้าใจ จนบางทีเข้าใจว่าหมายถึงการปฏิบัติแนวของท่านโกเอ็นก้าอย่างเดียว ที่จริงแล้วคำว่าวิปัสสนามีความหมายกว้างกว่านั้น การที่ท่านโกเอ็นก้าหันมาสนใจพุทธศาสนา จนกระทั่งกลายเป็นครูบาอาจารย์ที่สำคัญก็เพราะว่าท่านมีความทุกข์ คือท่านเป็นไมเกรนตั้งแต่ยังหนุ่ม ตอนอายุ ๓๐ กว่า ท่านเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในพม่า แต่ท่านไม่มีความสุข ทั้ง ๆ ที่มีทั้งเงินและชื่อเสียง สาเหตุก็เพราะปวดไมเกรน รักษาเท่าไรก็ไม่หาย เงินมีมากมายแต่รักษาไมเกรนไม่ได้ บังเอิญมีคนแนะนำให้ท่านไปลองทำสมาธิ ตอนนั้นท่านก็ไม่เคยรู้จักสมาธิมาก่อน พอมีคนแนะนำก็เลยไปฝึกกับอาจารย์วิปัสสนาซึ่งเป็นฆราวาสชื่อท่านอูบาขิ่น ปรากฏว่าทำไปแล้วได้ผล คือไมเกรนหาย พอหายก็เกิดศรัทธาในสมาธิภาวนา จึงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งกลายเป็นผู้ช่วยอาจารย์วิปัสสนา จากนั้นก็กลายเป็นอาจารย์วิปัสสนาเสียเอง

    ต่อมาท่านได้ทราบว่าคุณแม่กำลังป่วยหนัก ท่านจึงย้ายไปอินเดียเพื่อสอนวิปัสสนาให้แก่คุณแม่ แต่พอไปถึงอินเดียก็ไม่ได้สอนวิปัสสนาให้บุพการีเท่านั้น แต่ยังสอนให้ผู้คนวงกว้างด้วย เพราะว่าอินเดียไม่ค่อยมีอาจารย์ด้านวิปัสสนา ท่านมีชื่อเสียงที่อินเดียก่อน จากนั้นก็เดินทางไปสอนวิปัสสนาในในยุโรปและอเมริกา ทำให้ท่านมีชื่อเสียงก้องโลก และทำให้ธรรมะเผยแพร่ไปทั่วโลก นี่เป็นตัวอย่างของการที่ทุกข์ผลักดันให้พบธรรมะ ไม่ว่าความเจ็บป่วย หรือการถูกบีบบังคับให้พลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอน ล้วนเป็นผลดีต่อธรรมะทั้งสิ้น

    มีหลายคนที่มาพบธรรมะได้ก็เพราะความเจ็บความป่วย โดยเฉพาะโรคมะเร็ง เพราะเป็นโรคที่ถึงตาย รักษาได้ยาก ใครที่เป็นแล้วก็จะนึกถึงความตาย และเห็นว่าธรรมะเท่านั้นที่จะช่วยบำบัดความทุกข์ ทำให้ใจสงบได้ เพราะหวังพึ่งยาไม่ค่อยได้แล้ว หลายคนถ้าไม่เป็นมะเร็งก็ไม่เข้าวัดปฏิบัติธรรม เมื่อพบธรรมะและความสงบในจิตใจ บางคนถึงกับขอบคุณโรคมะเร็ง เพราะถ้าไม่เป็นโรคนี้ก็ไม่มีทางได้พบธรรมะซึ่งเป็นหนทางพาไปสู่ความสุขที่ประเสริฐ หรือได้พบคำตอบว่าเกิดมาทำไม อะไรคือคุณค่าและความหมายของชีวิต

    การที่ธรรมะได้รับความนิยมมากในเมืองไทยในปัจจุบันนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ ที่ทำให้หลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่ใช่แค่สิ้นเนื้อประดาตัวอย่างเดียว แต่ยังมีทุกข์ท่วมท้นใจ หลายคนไม่รู้จะไปไหน จึงต้องใช้ธรรมะดับความทุกข์ กลายเป็นผู้ใฝ่ธรรม ฆราวาสหลายคนที่มีชื่อเสียงด้านธรรมะ ก็เป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ นั้นเอง หากเขายังมีความเจริญรุ่งเรืองในทางธุรกิจ ก็คงไม่เหลียวแลธรรมะ เพราะคิดว่าความรู้ที่ตัวเองมี กิจการที่ตัวเองมี หรือทรัพย์สินเงินทองที่ตัวเองมีมากมายนั้น เป็นที่พึ่งของชีวิตได้ แต่พอสูญเสียสิ่งเหล่านี้จนแทบไม่เหลือ ก็ต้องอาศัยธรรมะเป็นที่พึ่งแทน

    บางคนเสียคนรัก เสียพ่อ เสียแม่ เกิดความเศร้าโศกเสียใจ จึงต้องไปหาธรรมะมาดับความทุกข์ในใจ บางคนก็เสียลูก มีผู้หญิงคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นลูกชายอายุ ๑๕ ปี มาขออนุญาตเธอไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย เธอเห็นว่าลูกเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ มีความใฝ่รู้ พึ่งตัวเองได้ อีกทั้งอินเดียเป็นประเทศที่น่าจะทำให้ลูกได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง รวมทั้งภาษาอังกฤษด้วย จึงอนุญาตให้ลูกไป แต่พอลูกไปอินเดียได้ไม่กี่เดือน ก็ปรากฏว่าจมน้ำตาย พอแม่ได้ข่าวก็ช็อคเลย ไม่ได้แค่เสียใจที่ลูกตาย แต่รู้สึกผิดด้วยว่าตัวเองมีส่วนทำให้ลูกตาย เธอโทษตัวเองว่าถ้าไม่อนุญาตให้ลูกไปอินเดีย ลูกก็จะไม่ตาย เธอได้แต่ลงโทษตัวเอง หัวใจแทบจะสลาย เสียศูนย์อยู่เป็นปี โดยไม่รู้สึกดีขึ้น สุดท้ายก็เลยต้องเข้าหาธรรมะ

    พอได้เรียนรู้เรื่องธรรมะเธอก็เข้าใจเลยว่า ความพลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดาของชีวิต คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ไม่มีใครหนีพ้น บางคนตายเร็ว บางคนตายช้า ขึ้นอยู่กับกรรมที่ได้ทำไว้ เพราะทุกคนมีกรรมเป็นของตน คนเรามาเจอกัน มีชีวิตอยู่ด้วยกันก็เพียงแค่ชั่วคราว สักวันหนึ่งก็ต้องจากกัน พอเธอเห็นความจริงเช่นนี้ก็คลายความเศร้าโศกลงได้

    ขณะเดียวกัน การเจริญสมาธิภาวนา ก็ทำให้เธอรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัว ความเศร้าโศกเสียใจก็ดี ความรู้สึกผิดก็ดี แต่ก่อนมันกัดกินใจเธอมาก แต่ตอนหลังก็ทำร้ายจิตใจเธอได้น้อยลง เพราะรู้ทันมัน พอมันเกิดขึ้น ก็มีสติเห็นมัน ไม่จมเข้าไปในอารมณ์นั้น สติยังช่วยให้เธอเห็นว่ามันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ยึดเหนี่ยวอารมณ์นั้นเอาไว้ให้หนักอกหนักใจอีกต่อไป จิตใจเธอจึงเบา สบาย โปร่ง โล่ง เดี๋ยวนี้พอเธอนึกถึงลูกก็ไม่เสียใจแล้ว เพราะเข้าใจและทำใจได้ ทุกวันนี้เทอจึงมีจิตใจที่เบาสบายยิ่งกว่าตอนที่ยังไม่เสียลูกไปเสียอีก ตอนที่ลูกยังไม่เสีย เธอก็มีความทุกข์ตามประสาปุถุชน ถึงแม้ตอนนี้ยังเป็นปุถุชนอยู่ แต่ก็สามารถปล่อยวางได้มากขึ้น จึงขอบคุณลูกที่ทำให้แม่ได้พบธรรมะ เธอบอกว่าความตายของลูกนับว่าคุ้มค่ามาก เพราะทำให้แม่ได้มาพบธรรมะอันประเสริฐยิ่ง คงมีแม่ไม่กี่คนที่กล้าพูดว่าขอบคุณความตายของลูก เพราะว่าความตายของลูกนั้นใหญ่หลวงมาก แต่เธอก็สามารถพูดได้เต็มปาก เพราะว่าสิ่งที่ได้พบ ซึ่งเป็นผลจากการสูญเสียลูกนั้นมีคุณค่ามากเหลือเกิน
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    มีผู้หญิงคนหนึ่งต้องพบเจอกับความทุกข์แบบที่เรียกได้ว่าน้อยคนจะได้เจอ เธอเป็นสาวสวย ตอนอายุ ๒๑ ปี เป็นดาวมหาวิทยาลัย ต่อมาเธอได้รู้จักผู้ชายคนหนึ่งทางอินเทอร์เน็ต ติดต่อกันสักระยะหนึ่ง ผู้ชายคนนั้นก็หลงรักเธอทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยเจอตัวกัน พอได้เจอตัวกันก็ยิ่งหลงรักมากขึ้น แต่เธอบอกกับชายคนนั้นว่าเธอไม่ได้รักเขา ผู้ชายคนนั้นโกรธมาก ถึงกับเอาน้ำกรดสาดหน้าเธอจนเสียโฉมไปทั้งใบหน้า และยังทำให้ตาบอดไปอีกข้างหนึ่งด้วย คนที่เคยภูมิใจกับความสวยงามของตน พอถูกน้ำกรดทำลายให้เสียโฉมอย่างนี้ ก็ไม่อยากมีชีวิตอยู่ทั้งนั้น เธอก็เช่นกัน คิดถึงการฆ่าตัวตาย แต่พอนึกถึงแม่แล้วก็เปลี่ยนใจ ไม่อยากทำร้ายตัวเอง เพราะจะทำให้แม่เสียใจ

    เธอตัดสินใจย้ายบ้าน เพราะอับอายคนที่เคยรู้จักเธอและเห็นใบหน้าที่สะสวยของเธอมาก่อน แต่แม้จะย้ายบ้านเธอก็มีความทุกข์มาก อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป ๓-๔ ปี เธอกลับกลายเป็นคนใหม่ ไม่รู้สึกอับอายกับใบหน้าที่เสียโฉมอีกแล้ว ปล่อยวางได้ ทุกวันเธอนั่งรถไฟฟ้าไปทำงาน มีคนมาทักเธอ เธอก็ไม่รู้สึกอับอาย พูดคุยกับเขาด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เธอมีอาชีพเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารแห่งหนึ่ง มีความสุขกับการทำงาน เพราะเจ้านายก็ดี เพื่อนร่วมงานก็ดี

    เคยมีคนมาถามเธอว่าโกรธคนที่เอาน้ำกรดมาสาดหน้าหรือไม่ เธอบอกว่าไม่โกรธเลย ต้องขอบคุณเขาด้วยซ้ำ ที่ทำให้เธอเป็นแบบนี้ เธอบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลดีแก่เธอหลายอย่าง คือ ทำให้เธอมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ถ้าเธอหน้าตาไม่เสียโฉมก็คงจะไม่อยู่ติดบ้าน เพลิดเพลินกับแสงสี แต่พอเป็นอย่างนี้แล้วเธอจึงอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ที่สำคัญก็คือ เหตุการณ์นั้นทำให้เธอมีความคิดเป็นผู้ใหญ่ ทำให้เธอได้คิดว่า ทุกอย่างมันไม่เที่ยง มีวันหมดอายุ เธอบอกว่า “ถ้าเราไม่สูญเสียตรงนี้ อนาคตเราแก่ไป มันก็ต้องไปตามกาลเวลา มันก็ทำให้เราปล่อยวาง พอเราปล่อยวางเรื่องตัวของตัวได้ เวลาเจอเรื่องอะไรที่มันแย่ ๆ หรือมีคนพูดไม่ดี เราก็ไม่สนใจ เพราะเราไม่ได้ยึดติดตรงนั้นแล้ว” นี้เป็นตัวอย่างของคนที่เจอทุกข์แล้วจึงได้พบธรรมะ

    ที่จริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างทุกข์กับธรรมะไม่ได้มีเพียงเท่านั้น หากใคร่ครวญให้ดีจะเห็นว่าการเจอทุกข์ช่วยให้ได้เห็นธรรมะแจ่มแจ้งโดยตรง ยกตัวอย่างเรื่องของนางกีสาโคตมี ที่เสียลูกไป หากนางไม่เสียลูกไปก็คงจะไม่เห็นว่าสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง ที่จริงแล้วนางเป็นคนฉลาด แต่ว่ายากที่จะพบธรรมได้หากไม่เสียลูก ลูกของนางยังเล็ก กำลังน่ารัก พอนางต้องเสียลูกไปก็เห็นเลยว่าคนเราหนีความพลัดพรากสูญเสียไม่พ้น นางยอมรับได้ว่าทุกคนต้องตาย ทุกคนต้องสูญเสียคนรัก หรือสิ่งอันเป็นที่รัก พอนางเผาลูกของตนเองแล้วก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์แสดงธรรมเพียงแค่ไม่กี่ประโยคเท่านั้น ชี้ให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของชีวิต นางก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันทันที ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะนางได้เจอได้เจอความทุกข์มาด้วยตนเอง จึงเข้าใจธรรมะของพระพุทธองค์อย่างแจ่มแจ้ง ถ้านางไม่พบเจอความสูญเสียด้วยตนเอง ฟังไปก็แค่เข้าใจ คงไม่เกิดปัญญาถึงขั้นที่จะบรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้

    เช่นเดียวกับนางปฏาจารา ซึ่งไม่ใช่เสียลูกเพียงคนเดียว แต่เสียสามี และเสียพ่อเสียแม่ด้วย ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ก็ถูกไฟเผาผลาญจากฟ้าผ่า เรียกว่าสิ้นเนื้อประดาตัว การสูญเสียทั้งหมดเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันในเวลาอันรวดเร็วมาก นางไม่เหลือใครเลย จนกระทั่งแทบจะเป็นบ้า พอนางได้มาพบพระพุทธเจ้า พระองค์ก็พูดเตือนสติ พอนางตั้งสติได้ พระองค์ก็ทรงแสดงธรรมเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องความเป็นทุกข์ของชีวิต เรื่องความไม่เที่ยงของสังขาร นางก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันทันที คือถ้าไม่เจอทุกข์ด้วยตนเองก็ไม่มีทางที่จะซาบซึ้งถึงธรรมได้

    พระเถรีบางท่านแก่หง่อม เดินไปไหนมาไหนก็ต้องกระย่องกระแย่ง มีไม้เท้ายัน คราวหนึ่งเดินพลาด หกล้ม ตัวกระแทกพื้น เจ็บปวดมาก แต่ท่านมีสติจึงเห็นชัดว่าสังขารเป็นทุกข์ ไม่น่ายึดถือเลย เกิดปัญญา ปล่อยวางสังขารทั้งปวง ก็บรรลุธรรม เรียกว่าท่านบรรลุธรรมได้เพราะความทุกข์ สำหรับบางคนแม้ไม่บรรลุธรรมถึงขั้นเป็นพระอริยเจ้า แต่ความทุกข์ก็สามารถสอนธรรมจนปล่อยวางได้มาก เช่น ตอนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ ผู้คนสูญเสียทรัพย์สมบัติไปมากมาย แต่มีบางคนได้ธรรมะเป็นรางวัล เพราะได้เห็นอย่างชัดเจนจากเหตุการณ์นี้ว่าแท้จริงแล้วไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลยสักอย่าง ทรัพย์สมบัติที่อยู่กับเราเป็นของชั่วคราวเท่านั้น ไม่นานก็ต้องพรากจากกัน ถึงแม้จะไม่มีคนเอาไป ก็อาจถูกน้ำพัดพาไป อันนี้เป็นตัวอย่างธรรมะที่สามารถเห็นได้จากน้ำท่วม ใครที่ไม่เจอธรรมะแบบนี้ก็ถือว่าขาดทุน คือทั้งเสียทรัพย์และเสียใจด้วย แต่ถ้าใครเจอทุกข์แล้วเห็นธรรมก็เรียกได้ว่าคุ้มมาก

    ขอให้พิจารณาดูว่าความทุกข์นั้นไม่ใช่เป็นสิ่งเลวร้ายอย่างเดียว มันสามารถนำสิ่งดี ๆ มาให้แก่ชีวิตของเราได้ โดยเฉพาะธรรมะ ความทุกข์สามารถเขย่าใจของเราให้เกิดปัญญาจนเห็นธรรมะได้ เพราะฉะนั้น เวลาเราเจอความทุกข์ อย่ามัวตีอกชกหัวว่าทำไมเราถึงมีเคราะห์กรรมอย่างนี้ จะคิดแบบนั้นก็ได้ ถ้าคิดแล้วทำให้รู้สึกว่าต้องเข้าหาธรรมะเพื่อดับความทุกข์ในจิตใจ แต่จะดีกว่าหากว่าเวลามีความทุกข์เกิดขึ้นเราพยายามหาประโยชน์จากมัน ถ้ามองดูให้ดีจะเห็นว่าความทุกข์ล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้น ไม่ใช่แค่ประโยชน์ในทางโลกอย่างเดียว เช่น พอเราป่วยก็มีคนมาเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ แต่ว่ามันยังสามารถทำให้เราได้เห็นธรรมะที่ลึกซึ้ง ยิ่งทุกข์มาก โอกาสที่จะเห็นความจริงที่ลึกซึ้งก็มากขึ้น

    มีผู้หญิงคนหนึ่ง วันหนึ่งพบว่าสามีที่อยู่ด้วยกันมา ๑๐ กว่าปีนอกใจ เธอโกรธแค้นมาก ถึงกับเรียกสามีว่ามึง และด่าว่าเป็นหมูเป็นหมาไปเลย สุดท้ายก็เลิกกัน พอหย่ากันเสร็จเธอก็สบายใจ รู้สึกแปลกใจด้วยซ้ำที่ทำใจได้ ไม่ระทมทุกข์ โศกเศร้า เธอเข้าใจว่าเป็นผลของการปฏิบัติธรรม จึงปล่อยวางได้เร็ว แต่ที่ไหนได้ ๒-๓ เดือนต่อมาเธอไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ๗ คืน ๘ วัน ปรากฏว่าเพียงแค่วันแรกเท่านั้น จิตใจเธอก็รุ่มร้อนมาก เพราะใจนึกถึงพฤติกรรมของอดีตสามี ยิ่งนึกก็ยิ่งแค้น เพราะรู้สึกว่าถูกหักหลัง ถูกหลอกลวง ที่เคยคิดว่าตัวเองปล่อยวางได้ ที่จริงไม่ใช่ แต่เป็นเพราะว่าใจยังไม่ว่างต่างหาก มัวทำโน่นทำนี่ ใจก็เลยไม่ได้คิดถึงเรื่องสามี แต่พอมาปฏิบัติธรรมแล้วใจก็ว่าง จึงเอาเรื่องเก่า ๆ มาคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งแค้น
    ปฏิบัติธรรมวันที่ ๒ ก็ยังรู้สึกรุ่มร้อน วันที่ ๓ ก็ยังร้อนอยู่เพราะเรื่องเดิม พอถึงวันที่ ๔ เช้าวันนั้นเธอเดินจงกรมโดยเอามือกุมไว้ข้างหน้า พอเดินไปหนึ่งชั่วโมงก็รู้สึกเมื่อยมือ จึงปล่อยมือลง พอปล่อยแล้วก็รู้สึกสบายทันที ขณะนั้นเองเธอก็ได้คิดว่าปล่อยเมื่อไรก็สบายเมื่อนั้น ถ้ายึดเอาไว้มันก็ทุกข์ พอเห็นอย่างนี้เธอก็ปล่อยเรื่องของสามีไปจากใจทันที รู้สึกเบาสบายอย่างไม่เคยปรากฏ เธอได้เห็นตอนนั้นอย่างแจ่มแจ้งว่า ทุกข์เพราะยึด สุขเพราะปล่อย
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    ตอนที่เธอนึกถึงสามีนั้น เธอลืมตัว ทั้ง ๆ ที่คิดแล้วก็ทุกข์แต่ก็ยังคิดไม่หยุด เพราะลืมตัว แต่พอรู้ตัวขึ้นมาหลังจากที่ปล่อยมือแล้วสบาย เธอก็ปล่อยวางเรื่องสามีไปทันที เพราะรู้ว่าคิดไปก็ไม่มีประโยชน์ มันผ่านไปแล้ว จะคิดไปทำไม แต่ตอนคิดนั้นไม่รู้ตัวเลย เรื่องนี้ยังชี้ให้เห็นว่าความทุกข์นั้นเกิดขึ้นเพราะใจที่หมกมุ่นยึดติดกับอดีต แม้สามีจะนอกใจ แต่ถ้าไม่เอามาคิด ก็ไม่ทุกข์
    ทุกข์เพราะยึด สุขเพราะปล่อย คือธรรมที่ผู้หญิงคนนี้เห็น เนื่องจากเจอทุกข์ด้วยตนเอง ถ้าไม่เจอทุกข์ก็ไม่เห็นธรรม ทุกข์มีประโยชน์ตรงนี้เอง ดังนั้นเวลาเราเจอความทุกข์ต้องรู้จักหาประโยชน์หรือใช้ประโยชน์จากมันให้ได้ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายถึงพูดเรื่องความทุกข์ไว้มาก ก็เพราะว่าทุกข์กับธรรมะนั้นใกล้กันมาก ถ้าเจอทุกข์ก็จะมีแรงผลักให้เข้าหาธรรมะ ยิ่งถ้าเราเห็นทุกข์ด้วยสติ หรือใคร่ครวญทุกข์ด้วยปัญญา ก็จะยิ่งพบธรรมะหรือความจริงที่ลึกซึ้ง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเมื่อรู้ทุกข์ก็พบธรรม
    เพราะฉะนั้นเมื่อเจอความทุกข์ก็ขอให้ตั้งสติดูใจของตน ที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์นั้นไม่ใช่เพื่อให้เราเป็นทุกข์ แต่เพื่อให้เรารู้จักทุกข์ อย่างน้อยก็เริ่มต้นจากการเห็นทุกข์ก่อน คนเราถ้าเห็นทุกข์แล้วจะไม่เป็นทุกข์ ส่วนผู้คนที่เป็นทุกข์นั้นก็เพราะไม่เห็นทุกข์ สังเกตหรือไม่เวลาเรามีความหงุดหงิด หรือความโกรธเกิดขึ้น ถามว่าทุกข์ไหม ทุกคนก็ทุกข์ทั้งนั้น แต่พอเรามีสติเห็นความหงุดหงิด เห็นความโกรธ ความทุกข์ก็จะดับไปเลย เพราะว่า “เห็น” ทุกข์ แต่ไม่ “เป็น”ทุกข์ หรือไม่ “เป็น”ผู้ทุกข์ คนส่วนใหญ่เวลามีความทุกข์แล้วก็จะเป็นผู้ทุกข์ไปเลย ไม่ใช่เห็นทุกข์
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    เราต้องฉลาดในการเห็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นทุกข์ ต้องฉลาดที่จะเห็นความโกรธ ไม่ใช่เป็นผู้โกรธ ฉลาดที่จะเห็นความหงุดหงิด ไม่ใช่เป็นผู้หงุดหงิด แต่ส่วนใหญ่คนเราจะไม่เป็นอย่างนั้น พอเกิดความโกรธขึ้นก็เป็นผู้โกรธเลย พอโกรธแล้วก็ร้อน แต่บางทีไม่รู้สึกว่าร้อนด้วยซ้ำ เพราะว่าใจมัวหมกมุ่นอยู่กับการคิดด่าเขา สรรหาถ้อยคำเพื่อด่าเขาให้เจ็บแสบ หรือคิดหาวิธีแก้แค้น ร้อนก็ร้อน แต่ตอนนั้นใจไม่ได้รับรู้ความร้อนด้วย เพราะคิดแต่จะเล่นงาน ตอบโต้ แก้แค้นเขา อย่างนี้เรียกว่าทุกข์แต่ไม่รู้ว่าทุกข์

    เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าเมื่อมีทุกข์ สิ่งที่ต้องทำคือกำหนดรู้ทุกข์ อย่างที่เราสวดบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีตอนหนึ่งว่า “ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้” ไม่ใช่สิ่งที่ต้องละ สิ่งที่ต้องละคือสมุทัย ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ เมื่อเราเจอทุกข์ อย่างแรกที่ต้องทำคือรู้ทุกข์ คือรู้ว่ากำลังทุกข์อยู่ รู้ว่ากำลังโกรธ รู้ว่ากำลังหงุดหงิด เวลามีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นคนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว เพราะกำลังถูกอารมณ์ครอบงำอยู่ การมีสติจะช่วยให้เรารู้ทันอารมณ์เหล่านั้น เมื่อมีทุกข์ ก็รู้ว่าทุกข์ นี้คือความหมายแง่หนึ่งของ การรู้ทุกข์

    ต่อมาก็เห็นว่าที่กำลังทุกข์อยู่นั้นไม่ใช่เราทุกข์ มันเป็นกายที่ทุกข์ เป็นกายที่ปวด ไม่ใช่เราปวด ที่ร้อนนั้นไม่ใช่เราร้อน แต่เป็นกายที่ร้อน ที่โกรธก็ไม่ใช่เราโกรธ แต่เป็นจิตที่โกรธ ถ้าไม่มีสติก็ไม่เห็น หลงคิดว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ไปหมด ไปคิดว่าเราปวด เราเจ็บ เราโกรธ เราโมโห มีแต่ตัวเราเป็นผู้กระทำ แต่พอมีสติเราจะเห็นว่าที่จริงแล้วความปวดนั้นเป็นเรื่องของกาย ส่วนความโกรธเป็นเรื่องของใจ เวลาเดินก็เห็นว่า ที่เดินนั้นคือรูปหรือกาย ไม่ใช่เราเดิน เวลาเผลอคิด ก็เห็นว่าใจคิด ไม่ใช่เราคิด ต่อไปก็จะเห็นว่า เวลามีความโกรธเกิดขึ้น ไม่ใช่จิตโกรธหรอก แต่เห็นว่ามีความโกรธเกิดขึ้นที่ใจ ความโกรธก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง เวลาเมื่อยหรือเกิดทุกขเวทนา ก็จะเห็นว่าทุกขเวทนาก็อันหนึ่ง ร่างกายหรือรูปก็อันหนึ่ง คือจะเห็นแยกเป็นส่วน ๆ แต่ก่อนนั้นไม่ใช่อย่างนี้ คือ รู้สึกว่าฉันปวด ฉันเมื่อย ฉันโกรธ

    บ่อยครั้งเรามักจะเอาความทุกข์ของรูป ความทุกข์ของนาม มาเป็นความทุกข์ของเราหรือตัวเรา ที่จริงแล้วตัวเราหรือ “ตัวกู”นั้นไม่มีอยู่จริง แต่เกิดจากการปรุงแต่งขึ้นมา แล้วก็หลงคิดว่ามันมีจริง ๆ ตัวกูนี้แหละที่รับสมอ้างว่าเป็นเจ้าของความทุกข์ต่าง ๆ มากมาย ไปเอาความทุกข์ของกายมาเป็นความทุกข์ของกู ไปเอาความทุกข์ของใจมาเป็นความทุกข์ของกู ก็เลยทุกข์หนักขึ้น ที่จริงแล้วยิ่งทุกข์เท่าไร ยิ่งต้องสลัดความทุกข์ออกไป ไม่ใช่ดึงมาเป็นของกูหรือตัวกูตลอดเวลา แต่ถ้าเราเจริญสติ พอมีทุกข์ก็จะเห็นว่าที่ทุกข์นั้นไม่ใช่เราทุกข์ แต่เป็นกายที่ทุกข์ เป็นกายที่ปวด ที่โกรธก็ไม่ใช่เราโกรธ แต่เป็นใจที่โกรธ และต่อไปก็จะเห็นว่าความโกรธก็อันหนึ่ง ใจก็อันหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีสติ จิตก็จะไปรวมกับความโกรธ หรือสำคัญมั่นหมายว่าความโกรธเป็นกู แล้วก็เลยมีกูผู้ทุกข์ขึ้นมา

    ความรู้สึกว่า กูทุกข์ กูปวด กูโกรธ อุปมาเหมือนตัวเราไปอยู่กลางกองไฟ ก็ต้องร้อนจนทุกข์ทรมาน แต่พอก้าวออกมาจากกองไฟ ความทุกข์ทรมานก็จะหายไป กองไฟยังร้อนอยู่ ยังลุกโพลงอยู่ แต่เราไม่รู้สึกร้อนแล้ว เพราะว่าเราอยู่ห่างจากมัน จิตที่เห็นความโกรธก็เหมือนกับคนที่เดินออกมาจากกองไฟ แม้ความโกรธยังมีอยู่ แต่ไม่รู้สึกทุกข์แล้ว เพราะมันมีระยะห่างระหว่างจิตกับความโกรธ

    เวลามีความโกรธ ถ้าเรามีสติก็จะเห็นว่าความโกรธก็อันหนึ่ง ใจก็อันหนึ่ง จิตไม่ไปผสมโรงกับความโกรธ มันจะแยกออกมาเป็นผู้รู้ ผู้เห็น จิตเห็นความโกรธ แล้วจะทุกข์ร้อนได้อย่างไร สิ่งที่เราทำในเวลาเจริญสติก็คือเห็นอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายและใจ ไม่ว่าทุกข์เกิดขึ้นกับกายหรือใจ ก็เห็นมันเฉย ๆ ไม่ไปผสมโรงกับมัน แต่วางระยะห่างจากมัน เปรียบเหมือนกับการเดินออกมาจากกองไฟ มีระยะห่างระหว่างเรากับกองไฟ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ทุกข์อีกต่อไป ทีนี้พอเราไม่ทำอะไรกับมัน กองไฟก็ดับไป แต่ที่กองไฟมันยังลุกโพลงอยู่ก็เพราะเราคอยเติมเชื้อเติมฟืนให้มัน เราคิดถึงเรื่องที่โกรธเมื่อไรก็เท่ากับไปเติมเชื้อเติมฟืนให้กับความโกรธ เมื่อคิดถึงคนที่เราโกรธ ก็ยิ่งโกรธมากขึ้น คิดถึงคนที่เกลียด ก็ยิ่งเกลียดมากขึ้น นั่นคือการต่ออายุให้กับความโกรธความเกลียด

    ความโกรธความเกลียดเหมือนกับกองไฟ มันไม่ได้อยู่ถาวรตลอดกาล ไม่ช้าไม่นานมันก็ต้องมอดดับ แต่เป็นเพราะเราไปต่ออายุให้มัน ไปเติมฟืนเติมเชื้อให้มัน มันก็เลยลุกอยู่อย่างนั้น ต่อเมื่อเราวางเฉย เราเห็นมันเฉย ๆ ดูมันเฉย ๆ มันก็จะค่อย ๆ ดับไปเอง ทุกข์จะไม่ยืดยาวต่อไป

    สรุปก็คือ ที่ท่านสอนว่า ให้รู้ทุกข์ หรือกำหนดรู้ทุกข์นั้น คือ นอกจากรู้ว่าทุกข์คืออะไรแล้ว ยังหมายความว่า เมื่อทุกข์เกิดขึ้นก็ให้รู้ว่าตัวเองทุกข์ เวลาโกรธ ก็ให้รู้ว่าตัวเองกำลังโกรธอยู่ แล้วก็ควรรู้ไปถึงขั้นว่า ที่กำลังทุกข์อยู่นี้ไม่ใช่เราทุกข์ แต่เป็นรูปหรือกาย นามหรือใจที่ทุกข์ มันเป็นขันธ์ ๕ ที่ทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะเห็นธรรมชัดขึ้นเรื่อย ๆ รู้ทุกข์ขั้นสุดท้ายก็คือ รู้หรือเห็นว่าไม่มีอะไรที่ไม่ทุกข์เลย สังขารทุกอย่างเป็นทุกข์ไปหมด กายนี้ก็ทุกข์ ใจนี้ก็ทุกข์ ทุกข์ในที่นี้หมายถึงถูกบีบคั้น ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ มีแต่จะเสื่อมสลายดับไป ไม่มีอะไรที่จะให้ความสุขได้อย่างแท้จริง ทรัพย์สินเงินทองก็เป็นทุกข์ ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม มันเป็นทุกข์ไปหมด ก็เลยไม่อยากจะยึดหรือครอบครองอีกต่อไป

    ที่เราหวงแหนสิ่งต่าง ๆอยากครอบครองมัน เพราะคิดว่ามันจะให้ความสุขกับเราได้ แต่พอเห็นว่าทุกอย่างมันเป็นทุกข์ไปหมด เหมือนกับดุ้นฟืนที่ติดไฟ ก็ไม่อยากจะจับหรือถืออีกต่อไป พอรู้ว่ามันเป็นของร้อนก็ปล่อยมันเอง ไม่จับแล้ว อันนี้คือการปล่อยวางเมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า โลกนี้มีแต่ทุกข์และความดับทุกข์ ที่ดับทุกข์ได้ก็เพราะปล่อย ที่ปล่อยก็เพราะเห็นและรู้ว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ นอกจากทุกอย่างจะถูกบีบคั้นจนแตกสลายในที่สุดแล้ว มันยังบีบคั้นผู้ที่ไปยึดถือมันด้วย ยิ่งยึดแน่นเท่าไร ก็ถูกบีบคั้นมากเท่านั้น การเห็นความจริงเช่นนี้ คือความหมายที่ลึกซึ้งของคำว่ารู้ทุกข์ พอรู้ทุกข์แล้วใจก็จะปล่อยวางเอง เกิดความอิสระขึ้นมา ได้พบกับสุดยอดของธรรม คือนิพพาน ซึ่งเป็นความสงบเย็น ทั้งหมดนี้เป็นผลของการรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง

    รู้ทุกข์ก็พบธรรม นี้คือความจริงที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายค้นพบ ดังนั้นความทุกข์จึงไม่ใช่สิ่งที่เราต้องกลัวและปฏิเสธเสมอไป มันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่ามากที่เราควรรู้จัก ถ้าเราเข้าใจเช่นนี้ก็จะไม่หันหลังให้ทุกข์แล้ว แต่เราจะหันหน้าดูทุกข์ เพื่อรู้จักมัน แล้วเราจะได้ประโยชน์จากมัน

    ทีแรกทุกข์จะผลักเราให้เข้าไปหาธรรมะ แต่ต่อไปเมื่อเรามีสติแก่กล้า เราก็จะรู้จักดูทุกข์ แล้วในที่สุดก็จะพบธรรมที่ลึกซึ้ง เกิดปัญญาจนพาใจออกจากความทุกข์ พบความสงบเย็นได้ในที่สุด
    :- https://visalo.org/article/dhammamata7_3.htm
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    เพ่งนอก ลืมใน
    พระไพศาล วิสาโล
    หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงปู่มั่น ท่านเคยอธิบายอริยสัจสี่อย่างน่าสนใจไม่เหมือนใคร ท่านบอกว่า การที่จิตส่งออกนอกคือสมุทัย ผลของการที่จิตส่งออกนอกคือทุกข์

    ตรงนี้เป็นเรื่องน่าพิจารณา เพราะพิจารณาดูแล้วความทุกข์ส่วนใหญ่ของคนเราก็เกิดจากการที่จิตส่งออกนอกนี่แหละ จิตส่งออกไม่ใช่ออกจากตัวอย่างเดียว แต่หมายถึงออกจากปัจจุบันด้วย ไปอยู่กับอดีตหรือไม่ก็อนาคต หรือไม่ก็จดจ่ออยู่กับอายตนะภายนอก คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ พอส่งจิตออกไปอย่างนั้นก็ทำให้ลืมกายลืมใจ ลืมปัจจุบันไป ก็เลยพลาดท่าเสียที เกิดทุกข์ขึ้นได้


    เมื่อเกิดผัสสะหรือรับรู้อายตนะภายนอกแล้วก็เกิดเวทนาขึ้น จะเป็นสุขเวทนาหรือหรือทุกขเวทนาก็แล้วแต่ เวทนาส่วนใหญ่เกิดจากการที่เราไปรับรู้เรื่องข้างนอก หรือมีสิ่งข้างนอกมากระทบ จะเป็นดินฟ้าอากาศ การกระทำของผู้คน หรือคำพูดของคนรอบข้าง น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็แล้วแต่ ถ้าเกิดสุขเวทนาขึ้นก็พอใจ ถ้าเกิดทุกขเวทนาขึ้นก็ไม่พอใจ พอไม่พอใจก็เลยอยากผลักไสออกไป ถ้ามันไม่ไปก็ทุกข์ ส่วนสุขเวทนาเมื่อเกิดขึ้นก็พอใจ พอใจแล้วก็อยากครอบครองหรืออยากยึดให้มันอยู่นานๆ แต่ถ้ามันหายไป ก็ไม่พอใจ กลายเป็นทุกข์อีก แต่ถึงแม้มันไม่หายไป ยังอยู่ ยังได้เสพได้สัมผัสอยู่ ก็อาจทำให้เป็นทุกข์ได้เหมือนกัน อาหารที่เอร็ดอร่อย เพลงที่ไพเราะ หนังที่สนุกสนาน เสพใหม่ๆ หรือดูทีแรกก็มีความสุขดี แต่ถ้าลองเสพทุกวัน กินทุกมื้อสัก ๑ เดือน หรือดูสัก ๑๐ รอบ หรือฟังซ้ำสัก ๒๐ เที่ยว ความสุขก็เริ่มจืดจาง รู้สึกเฉยๆ แล้วกลายเป็นความเบื่อความหน่าย ถ้าเสพนานกว่านั้นความเบื่อก็กลายเป็นความเอียนไป

    มีเหมือนกัน คนที่ดูหนังเป็นร้อย ๆ รอบ อย่างดูหนังสตาร์วอร์ส ได้ข่าวว่ามีบางคนดูเป็น ๑๐๐–๒๐๐ รอบแล้ว พวกนี้เป็นแฟนสตาร์วอร์สตัวจริง อาจเป็นพวกคลั่งก็ได้ แต่ว่าสักวันก็ต้องเบื่อโดยเฉพาะเมื่อตัวเองโตขึ้น ได้พบเห็นโลกมากขึ้น ดูหนังที่หลากหลายมากขึ้น หรือดูหนังที่มีเทคนิคดีกว่า เร้าใจตื่นเต้นมากกว่า ก็จะรู้สึกว่าสตาร์วอร์สไม่สนุกเสียแล้ว อันนี้เรียกว่าเป็นปริณามทุกข์ คือทุกข์ที่เกิดจากการแปรปรวน หรือสุขที่กลายเป็นทุกข์

    สุขสามารถกลายเป็นทุกข์ได้เมื่อประสบการณ์เปลี่ยนแปลงไป อย่างอากาศบนศาลาตอนนี้ก็เย็นสบายดี แต่พอเราเข้าไปอยู่ในห้องแอร์ที่เย็นกว่านี้ แล้วกลับออกมาอยู่ที่ศาลานี้เราจะรู้สึกเลยว่าศาลานี้อากาศร้อน ไม่รู้สึกว่าอากาศเย็นสบายเหมือนตอนก่อนจะเข้าไปในห้องแอร์ ความทุกข์ของคนเราบ่อยครั้งก็เกิดขึ้นในลักษณะนี้ คือเกิดจากการเปรียบเทียบกับสิ่งที่ดีกว่า อร่อยกว่า สบายกว่า ที่เคยพอใจให้ความสุข ก็กลายเป็นไม่สุข หรือกลายเป็นทุกข์ไปทันที ความทุกข์อย่างนี้เกิดจากการเปรียบเทียบ แต่ก็เป็นผลอีกแบบหนึ่งที่เกิดจากจิตส่งออกนอก ทำให้ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ

    เมื่อจิตส่งออกนอก ไปกระทบกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่น่าพอใจ ซึ่งเรียกรวมๆ ว่ากาม ก็เกิดความอยาก ความอยากมันเป็นทุกข์ในตัว เพราะอยากแล้วแต่ยังไม่ได้สมอยากก็เป็นทุกข์ เมื่ออยากแล้วก็ต้องดิ้นรนให้ได้มา ถ้าของมีจำกัด ก็ต้องแก่งแย่งกัน ถ้าใช้วิธีการที่ชอบธรรม ก็เดือดร้อนน้อยหน่อย แต่ถ้าใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม คือลักขโมย โกงเขา ก็ต้องมีเรื่องเดือดร้อนตามมา

    แต่ถ้าส่งจิตออกนอกแล้ว ไปรับรู้สิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็เกิดทุกข์ขึ้นมาทันทีถ้าไม่มีสติ เพราะมันจะปรุงแต่งไปต่างๆ นานา จากความไม่พอใจก็กลายเป็นความหงุดหงิดและลุกลามไปเป็นความโกรธ ยิ่งหงุดหงิดยิ่งโกรธ จิตก็ยิ่งส่งออกนอก เพราะคิดหาทางผลักไส ตอบโต้ หรือเล่นงาน จนอาจถึงขั้นคิดหาทางทำร้าย ถึงตรงนี้ใจก็ยิ่งปักตรึงอยู่กับสิ่งนั้น จนลืมกายลืมใจ ลืมไปว่าความโกรธมันลุกลามและเผาลนจิตใจเพียงใด โกรธก็ยังไม่รู้ว่าโกรธ ต่อเมื่อด่าเขาหรือทำร้ายเขาไปแล้ว จึงค่อยรู้ตัว แต่รู้ตัวแล้วก็ยังอดไม่ได้จะไปโทษคนอื่น หาว่าคนอื่นเป็นเหตุให้เราทำอย่างนั้น

    เมื่อจิตเพ่งออกไปที่ข้างนอก เราก็มักจะลืมใจของเรา มีเกร็ดเล่าเกี่ยวกับท่านเว่ยหล่าง ซึ่งเป็นสังฆปริณายกลัทธิเซ็นในจีนเมื่อหลายร้อยปีก่อน คราวหนึ่งท่านไปร่วมงานเฉลิมฉลองของสำนักหนึ่ง มีคนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ระหว่างนั้นเอง ก็มีพระ ๒ รูปยืนดูธงที่โบกสะบัด รูปหนึ่งบอกว่า “ธงไหว” อีกรูปบอกว่า ไม่ใช่ “ลมไหว”ต่างหาก ต่างคนต่างมีเหตุผล ตอนแรกก็คุยกันดี ๆ ตอนหลังก็ชักมีอารมณ์ ระหว่างนั้นก็มีคนมาร่วมถือหางกันมากขึ้น บรรยากาศเริ่มร้อนแรง เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงไปหาท่านเว่ยหล่างเพื่อขอให้ท่านตัดสินว่า ธงไหวหรือลมไหวกันแน่ พอท่านเว่ยหล่างได้ฟังปัญหา ท่านกลับตอบว่า จิตของพวกท่านต่างหากที่ไหว

     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)

    แทนที่จะตอบว่าอะไรที่ไหว ท่านเว่ยหล่างกลับเตือนพระทั้ง ๒ รูปให้หันมาดูใจของตัวว่า กำลังไหวกระเพื่อมด้วยอารมณ์ ตรงนี้สำคัญกว่าคำตอบว่าธงไหวหรือลมไหว เพราะใจที่ไหวกำลังทำให้ทั้ง ๒ รูปทะเลาะกันจนแทบจะเป็นเรื่องอยู่แล้ว ขนาดใจไหวกระเพื่อมจนทะเลาะกัน พระทั้ง ๒ รูปยังไม่รู้ตัว เพราะมัวแต่ไปสนใจสิ่งนอกตัว


    เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าถ้าไปสนใจสิ่งนอกตัว หรือส่งจิตไปปักตรึงนอกตัว ก็จะลืมตัวได้ง่ายๆ พอลืมตัวแล้วกิเลส เช่นความโกรธหรือความโลภก็ครอบงำได้ง่ายโดยไม่รู้ตัว ซึ่งก็ทำให้เกิดการทะเลาะบาดหมางกันได้ง่าย ยิ่งถ้าไปจับผิดคนอื่น ก็ยิ่งมีโอกาสลืมตัวได้ง่าย แล้วก็เลยทำให้เผลอทำอะไรที่ไม่น่าทำขึ้นมาได้
    ง่ายๆ

    ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยเล่าว่า ที่สวนโมกข์เคยมีแม่ชีคนหนึ่งมีหน้าที่หาหน่อไม้ไปทำอาหารถวายพระ แม่ชีพบว่าหน่อไม้ที่ยังไม่ทันโตได้ที่มักจะถูกตัดบ่อยๆ สงสัยว่าจะเป็นชาวบ้าน ดังนั้นจึงมักจะบอกชาวบ้านว่าถ้าเห็นหน่อไม้ที่ยังโตไม่ได้ที่ก็อย่าเพิ่งไปตัดมัน รอให้โตเสียก่อน แต่บอกเท่าไรก็ไม่ได้ผล หน่อไม้อ่อนๆ ก็ยังถูกตัด ซึ่งเป็นการเสียของอย่างมาก แม่ชีจึงโกรธ วันหนึ่งไปเห็นหน่อไม้อ่อนอยู่หลายหน่อ ทันทีที่เห็นแม่ชีก็รู้เลยว่าหน่อไม้เหล่านี้คงไม่พ้นมือชาวบ้าน คิดแล้วก็โมโห แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร พอโมโหหนักเข้าแม่ชีก็เลยตัดหน่อไม้นั้นเสียเอง ในใจคงคิดว่า ถ้าห้ามไม่ฟัง ก็อย่าหวังจะได้แตะหน่อไม้อ่อนเลย

    แม่ชีบอกใครๆ ว่าอย่าตัดหน่อไม้อ่อน แต่ทำไมตัวเองถึงตัด เป็นเพราะแม่ชีต้องการสั่งสอนชาวบ้าน ใจที่คิดจะตอบโต้ชาวบ้านทำให้ลืมตัว เลยตัดหน่อไม้นั้นเสียเอง ทั้งหมดนี้เกิดจากความคิดที่จะเอาชนะชาวบ้าน ก็เลยลืมตัว ทำสิ่งที่ตัวเองห้ามไม่ให้คนอื่นทำ

    ที่สุคะโตเมื่อสิบกว่าปีก่อน พระเณรฉันอาหารเป็นวงทั้งเช้าและเพล ก็มีพระรูปหนึ่งฉันดัง เคี้ยวดัง เวลาตักอาหารช้อนจะกระทบกับจานเสียงดัง ที่จริงไม่ได้ดังมาก แต่พอได้ยินบ่อยๆ ทั้งเช้า เพล ทุกวัน พระรูปหนึ่งก็หงุดหงิด ความไม่พอใจสะสมมากขึ้นๆ ทุกวัน ในที่สุดวันหนึ่งขณะที่พระกำลังฉันกันอยู่ดีๆ ท่านก็ลุกขึ้นจากวงต่อว่าพระรูปนั้นเสียงดังลั่นไปทั้งศาลาเลยว่า “ฉันดังเหลือเกิน รบกวนคนอื่นเขา ไม่รู้จักมารยาทหรือไง” ว่าแล้วก็เดินออกไป ท่านโมโหพระรูปนั้นที่ฉันเสียงดัง แต่ท่านไม่รู้เลยว่าที่ท่านลุกขึ้นมาโวยวายนั้น ส่งเสียงดังรบกวนคนอื่นยิ่งกว่าพระรูปนั้นเสียอีก

    คนเราเมื่อจ้องมองคนอื่นมากเท่าไร ก็มักจะลืมมองตัวเอง เลยเผลอทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงอยากจะเตือนว่าเมื่อใดที่เรามองใครว่าเป็นปัญหา ขอให้ระวังว่าตัวเราเองจะกลายเป็นปัญหาไปเสียเอง เพราะเมื่อเรามองเห็นคนอื่นเป็นปัญหา เราก็จะเริ่มสะสมความไม่พอใจเอาไว้ ความไม่พอใจเมื่อสะสมมากเข้าก็กลายเป็นความโกรธโดยไม่รู้ตัว โกรธมากเท่าไรก็ลืมตัวมากเท่านั้น จึงเผลอทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำ ซึ่งกลายเป็นปัญหากับส่วนรวม บางทีก่อปัญหามากกว่าคนที่เราไม่พอใจเขาเสียอีก

    เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ก็เพราะใจที่ไปจดจ่อกับสิ่งนอกตัวจนลืมดูใจของตน ปล่อยให้ความโกรธเกลียดสะสมจนวันหนึ่งก็ระเบิดออกมา มีหลายกรณีที่ไม่ใช่แค่ด่าเฉยๆ แต่ถึงกับลงไม้ลงมือและฆ่ากัน อย่างเมื่อไม่นานมานี้ในผับแห่งหนึ่ง มีคนพูดจาเอะอะโวยวาย อีกคนก็ไม่พอใจ หาว่ารบกวนคนอื่น พอขุ่นเคืองหนักเข้า ก็กลั้นโมโหไม่อยู่ ควักปืนยิงเขาตาย การกระทำแบบนั้นแรงเกินกว่าเหตุ แค่เขาส่งเสียงดัง ก็ไปฆ่าเขาแล้ว แต่เรื่องแบบนี้มักเกิดขึ้นเสมอ เป็นเพราะผู้คนมัวแต่เพ่งจ้องความไม่ดีของคนอื่น จนลืมตัว ปล่อยให้ความโกรธครอบงำจนฆ่าเขา เสร็จแล้วตัวเองก็ต้องติดคุกติดตะราง

    การส่งจิตออกนอกเป็นตัวการแห่งความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ใจหรือการสร้างความทุกข์ให้แก่ชีวิตของตน จึงประมาทไม่ได้เรื่องการส่งจิตออกนอก ทำอย่างไรเราจะไม่เผลอส่งจิตออกนอก ก็ต้องมีสติ สติช่วยพาจิตมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับงานที่เราทำ ดึงจิตกลับมาดูตัวเอง หันมาเห็นความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท รวมทั้งความอิจฉาริษยา ที่กำลังสะสมอยู่ในใจ เมื่อเห็นแล้วการปล่อยวางก็จะเกิดขึ้นตามมา ทำให้จิตโปร่งเบา ไม่ทุกข์ หลวงปู่ดูลย์จึงว่า จิตเห็นจิตคือมรรค

    จิตเห็นจิตหมายความว่ารู้ทันอารมณ์ เห็นความเครียด ความเกลียด ความโกรธที่มันเกิดขึ้น รู้แล้วก็วาง พูดอีกอย่างคือยกจิตออกมาจากอารมณ์เหล่านั้น การปรุงแต่งก็เกิดขึ้นต่อไม่ได้ เหมือนไฟไม่มีเชื้อ มันก็มอดดับไปเอง แค่รู้ทันหรือเห็นมัน ก็หลุดแล้ว แต่ถ้าอารมณ์นั้นรุนแรง มันก็ดึงจิตกลับเข้าไปใหม่ บางคนสงสัยว่า รู้ทันความโกรธแล้วทำไมยังโกรธอยู่ ตอนที่รู้หรือเห็นความโกรธนั้น จิตหลุดออกไปจากความโกรธ แต่เนื่องจากความโกรธมันมีพลังมาก มันจึงดูดจิตเข้าไปใหม่ เข้าไปครอบครองจิตใหม่ มันเหมือนกับรถที่กำลังแล่นเร็วๆ เราแตะเบรกทีแรก มันไม่หยุดทันทีหรอก เพราะมันเร็วมาก ต้องแตะเบรกหลายๆ ครั้ง การเห็นความโกรธก็เหมือนกัน ไม่ใช่เห็นแล้วจะหยุดเลย ถ้าอารมณ์มันแรงมาก พอมีสติเห็นมัน มันก็หยุดชั่วขณะ แต่แรงส่งยังมีอยู่ ก็เลยปรุงแต่งต่อ ฉะนั้นก็ต้องมีสติเข้าไปเห็นถี่ๆ จนมันคลายลงไป หรือไม่ก็ต้องอาศัยสติที่มีกำลังมาก ถ้าสติมีกำลังมาก ก็หลุดจากอารมณ์นั้นได้ทันที

    จิตเห็นจิตยังมีความหมายลึกกว่านั้น คือเห็นจนรู้ว่าจิตนั้นไม่เที่ยง เต็มไปด้วยทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน เห็นจนชัดเจนแจ่มแจ้งว่าจิตนั้นไม่สามารถยึดว่าเป็นเราเป็นของเราได้ และไม่สามารถคาดหวังให้มันเป็นอะไรได้เลย แม้แต่จะหวังให้มันสุขก็หวังไม่ได้ พอเห็นอย่างนี้ นอกจากจะไม่ยึดมั่นว่าเป็นตัวกูของกู หรือไม่มีตัวกูของกูอีกต่อไปแล้ว ยังปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในจิตอย่างสิ้นเชิง ผลก็คือจิตเป็นอิสระ
    เกิดความสงบล้ำ เป็นสุขอย่างยิ่ง เรียกว่านิพพาน หลวงปู่ดูลย์จึงพูดว่า ผลของการที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งคือนิโรธ

    จิตเห็นจิตจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องมีสติเป็นเครื่องมือ สตินั้นทำงานหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ดึงจิตที่เคยส่งออกนอก หรือเกาะติดกับอายตนะภายนอก กลับมาอยู่กับตัว รวมทั้งดึงจิตที่พลัดไปอยู่กับอดีต หรืออนาคต กลับมาอยู่กับปัจจุบัน สติยังทำหน้าที่กำกับผัสสะ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น เกิดสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาขึ้นมา ถ้าไม่มีสติเห็นเวทนา ก็จะปรุงต่อเป็นตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ยืดยาวเป็นสาย แต่เมื่อไรก็ตามที่เรามีสติ พอผัสสะเกิดขึ้น เกิดสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาตามมาก็แล้วแต่ มันไม่ปรุงแต่งไปเป็นตัณหาอุปาทาน เพราะไม่มีตัวกูเป็นผู้เสวยเวทนานั้น ถ้าไม่มีสติ ก็มีตัวกู เป็นผู้สุขผู้ทุกข์ เป็นเจ้าของเวทนา ทีนี้มันไม่ใช่แค่สุขกาย ทุกข์กายเท่านั้น แต่จะปรุงเป็นผู้สุข ผู้ทุกข์ เกิดสุขหรือทุกข์ขึ้นที่ใจ

    อย่านึกว่าสติเป็นเรื่องเล็กน้อย สติเป็นตัวมรรคที่สำคัญ ทำให้จิตเห็นจิตได้ พูดอย่างนี้มิใช่เราจะต้องปิดหูปิดตาไม่รับรู้สิ่งภายนอก ไม่ใช่ ถ้าทำอย่างนั้นก็ผิดทาง ถือว่านอกทางพุทธศาสนา เคยมีพราหมณ์คนหนึ่งที่สอนวิธีฝึกจิตด้วยการไม่ให้ไปรับรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าการทำเช่นนี้ทำให้คนพ้นทุกข์ได้ คนตาบอดหูหนวกก็พ้นทุกข์ไปนานแล้ว ก็อย่างที่เรารู้กัน แม้ตาบอดหูหนวก จิตก็ยังส่งออกนอกได้ ใจก็ยังทุกข์ได้ การปิดกั้นหูตาไม่ให้รับรู้ จึงไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์

    :- https://visalo.org/article/dhammamata03.htm
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    น้อมใจรับสัจธรรม
    พระไพศาล วิสาโล
    ชายหนุ่มทำโทรศัพท์มือถือหาย รู้สึกเป็นทุกข์อย่างมากเพราะเพิ่งซื้อมาได้ไม่นาน แถมราคาก็แพงด้วย จึงไปหาหลวงพ่อขอคำปรึกษา เผื่อจะได้ของคืนมา
    หลวงพ่อฟังปัญหาแล้ว แทนที่จะซักถามเรื่องโทรศัพท์มือถือ กลับถามว่า
    “มีทองไหม ?”
    “มีครับ”
    “อีกไม่นานทองก็จะหาย” แล้วท่านก็ถามต่อว่า “มีรถไหม ?”
    “มีครับ”
    “อีกไม่นานรถก็จะหาย...แล้วมีแฟนไหม?”
    “มีครับ”
    “อีกไม่นานแฟนก็จะหาย”
    ชายหนุ่มได้ยินเช่นนั้นก็ได้คิด ปัญหาถูกเปลื้องไปจากใจ กราบหลวงพ่อแล้วเดินออกจากกุฏิด้วยสีหน้าที่ดีขึ้น

    ชายหนุ่มไม่รู้สึกเป็นทุกข์ที่สูญโทรศัพท์มือถืออีกต่อไป เพราะได้คิดว่านั่นเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความสูญเสียอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เขาคงระลึกได้อีกด้วยว่าความสูญเสียพลัดพรากนั้นเป็นธรรมดาของชีวิต หลวงพ่อไม่ได้แช่งว่า ทอง รถ และแฟนของเขาจะมีอันเป็นไป หากแต่ท่านพูดถึงสัจธรรมของชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น เพราะมีกับเสียนั้นเป็นของคู่กัน

    คนเรามักลืมคิดถึงธรรมดาของชีวิตที่ต้องมีการพลัดพรากสูญเสีย เมื่อมีหรือได้อะไรก็ตามก็ทึกทักเอาว่ามันจะต้องอยู่กับเราไปตลอด เรายอมไม่ได้ที่มันจะพรากจากเราไป (เว้นเสียแต่ว่าเราเป็นฝ่ายละทิ้งมันไปเอง) น้อยนักที่เราจะเผื่อใจนึกถึงความไม่เที่ยงของสิ่งที่เรามี และในบรรดาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เรามีนั้น มีสิ่งหนึ่งที่เราแทบจะไม่ยอมนึกถึงวันที่จะต้องพลัดพรากจากมันไป สิ่งนั้นคือชีวิตของเราเอง

    ชีวิตเราไม่ว่าจะยืนยาวแค่ไหน สักวันหนึ่งก็ต้องสิ้นสุด ความตายเป็นสิ่งที่เราหลีกหนีไม่พ้น นี้คือความแน่นอนที่ต้องบังเกิดขึ้น แต่น่าแปลกที่ผู้คนเป็นอันมากไม่ค่อยนึกถึงเรื่องนี้เท่าไร หลายคนมีชีวิตราวกับลืมไปว่าตัวเองจะต้องตาย เอาแต่เที่ยวเตร่สนุกสนานราวกับว่าความสนุกสนานจะช่วยตนเองได้ในวาระสุดท้ายของชีวิต หลายคนง่วนกับการสะสมทรัพย์สมบัติ ราวกับว่าจะสามารถเอามันไปได้หลังตายไปแล้ว
    ทุกวันนี้ผู้คนพากันวางแผนกับสิ่งต่าง ๆ มากมายในชีวิต วางแผนการศึกษา วางแผนครอบครัว วางแผนสร้างบ้าน วางแผนงานการ ฯลฯ แต่แทบไม่ได้วางแผนที่จะเผชิญกับความตายเลย เราให้เวลากับการฝึกฝนอบรมสารพัด เช่น ฝึกทำอาหาร ฝึกขับรถ ฝึกตีกอล์ฟ ฝึกปีนเขา ฯลฯ แต่น้อยมากที่จะให้เวลาสำหรับการฝึกฝนตระเตรียมตนเองในวาระสุดท้ายของชีวิต เราเตรียมตัวสำหรับการสอบมากมาย เช่น สอบเข้าโรงเรียน สอบเข้ามหาวิทยาลัย สอบเข้าทำงาน สอบชิงทุนไปนอก แต่มีใครบ้างไหมที่เตรียมตัวสำหรับการสอบครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต

    ความตายเป็นบททดสอบที่สำคัญที่สุดของชีวิต บททดสอบทั้งหลายนั้น หากสอบตก เรายังสามารถสอบใหม่ได้ แต่บททดสอบที่ชื่อว่าความตายนั้น เรามีโอกาสสอบได้ครั้งเดียวเท่านั้น หากสอบตก ก็ไม่สามารถสอบแก้ตัวได้เลย ยิ่งไปกว่านั้นความตายยังเป็นบททดสอบที่ยากที่สุดในชีวิต และสามารถเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า และไม่ทันให้ตั้งตัว อีกทั้งยังเกิดในสถานการณ์ที่เราไม่อาจควบคุมได้เลย ไม่ว่าเวลา สถานที่ หรือแม้กระทั่งอาการที่เกิดกับร่างกายและจิตใจของเราเอง บททดสอบชนิดนี้มีบทลงโทษที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับผู้ที่สอบตก ความทุกข์จากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือสมัครงานไม่ได้เทียบไม่ได้เลยกับความทุกข์จากการไม่พร้อมเผชิญความตาย

    ไม่มีใครสามารถเลือกได้ว่าจะตายอย่างไร มีเงินหรืออำนาจมากมายเพียงใดก็ไม่มีหลักประกันว่าจะได้ตายดี และเมื่อวาระสุดท้ายใกล้มาถึง ทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็ช่วยได้น้อยมาก แม้เงินจะซื้อเทคโนโลยีที่ล้ำยุคที่สุดได้ แต่อย่างมากที่สุดก็ช่วยได้แค่คลายความทุกข์ทรมานของร่างกายเท่านั้น แต่ไม่สามารถลดทอนความทุกข์ทรมานที่เกิดกับใจได้ ที่ร้ายก็คือความทุกข์ทางใจนั้นคือตัวการสำคัญที่ทำให้ผู้คนทุรนทุรายในวาระสุดท้ายของชีวิต หาใช่ความทุกข์ทางกายไม่ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เศรษฐีหมื่นล้านตายด้วยความทุกข์ทรมานท่ามกลางเทคโนโลยีทันสมัย ขณะที่ชาวนากลับตายอย่างสงบในกระท่อมทั้ง ๆ ที่ป่วยด้วยโรคชนิดเดียวกัน
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    ชีวิตที่ปราศจากการเตรียมเผชิญความตายจึงเป็นชีวิตที่สุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง จัดว่าเป็นชีวิตที่ประมาท การเตรียมเผชิญความตายนั้นไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การตระเตรียมทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกหลาน จัดทำมรดก หรือเตรียมงานศพของตนเอาไว้ก่อนตายเท่านั้น จริงอยู่การตระเตรียมสิ่งภายนอกเป็นเรื่องจำเป็น แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือการตระเตรียมภายในคือใจของเราเอง ให้พร้อมเผชิญกับวาระสุดท้ายในชีวิตให้ได้ด้วย

    การเตรียมใจอย่างแรกก็คือการระลึกถึงความตายที่เรียกว่ามรณสติอยู่เสมอ คือระลึกว่าเราเองในที่สุดก็ต้องตาย แต่จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ อาจเป็นปีหน้า วันพรุ่งนี้ วันนี้ หรือชั่วโมงนี้ก็ได้ การระลึกถึงความตายอยู่เสมอทำให้เรายอมรับความตายของตนเองได้ง่ายเมื่อเวลานั้นมาถึง คนที่เป็นทุกข์ในยามใกล้ตายนั้นส่วนใหญ่มักเป็นเพราะไม่ได้นึกถึงความตายของตนไว้เลย จึงทำใจยอมรับความตายไม่ได้ เราจะยอมรับความตายของตนเองได้เมื่อระลึกนึกถึงมรณสติเสมอ

    มรณสติเป็นสิ่งที่พึงระลึกนึกถึงเสมอ และควรทำในทุกโอกาส อย่างน้อยก่อนนอนก็เตือนใจตนเองว่านี้อาจเป็นการนอนครั้งสุดท้ายของเรา อาจไม่มีวันพรุ่งนี้อีก เมื่อตื่นขึ้นก็เตือนใจตนเองว่านี้อาจเป็นวันสุดท้ายของเรา เมื่อขึ้นรถ ลงเรือ ก็ให้ระลึกว่านี้อาจเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเรา

    มรณสติวิธีหนึ่งที่น่าลองทำกันดูก็คือ ให้นอนราบกับพื้นในห้องที่สงบสงัด ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่ปลายหัวจรดปลายเท้า ทิ้งน้ำหนักของร่างกายทุกส่วนลงพื้น กำหนดใจที่อยู่ที่ลมหายใจเข้าออกจนจิตสงบ จากนั้นให้จินตนาการว่าในอีก ๑-๒ ชั่วโมงข้างหน้านี้เราจะจากโลกนี้ไป จะไม่มีโอกาสได้พบพ่อแม่ ลูกหลาน มิตรสหาย หรือพูดคุยกับคนรักอีกต่อไป ทรัพย์สินทั้งหลายที่สะสมมาทั้งหมดจะต้องทิ้งไว้เบื้องหลัง จะไม่มีโอกาสได้ใช้อีกแล้ว งานการที่ทำค้างอยู่จะต้องปล่อยทิ้งไป ให้จินตนาการต่อไปว่าอีกไม่นานเราจะหมดลม ร่างกายจะนอนแน่นิ่งและแข็งทื่อไม่ต่างจากท่อนไม้ เบื้องหน้าหลังตายจะเป็นอะไร เราจะไปไหน ก็ไม่อาจรู้ได้

    จากนั้นให้ถามตนเองว่า เราพร้อมจะตายแล้วหรือยัง

    ถามต่อไปว่า มีอะไรบ้างที่สมควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ รู้สึกอย่างไรที่จะไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งเหล่านั้นอีกต่อไป

    ข้อสุดท้ายก็คือถามตัวเองว่า หากยืดชีวิตต่ออีก ๓ วันเราคิดจะทำอะไรบ้าง

    จากนั้นค่อย ๆ ลืมตาและลุกขึ้น ทบทวนดูว่าชีวิตที่ผ่านมาเราได้ทำสิ่งที่สมควรทำไปแล้วมากน้อยเพียงใด อะไรทำให้เราไม่ได้ทำในสิ่งที่สมควรทำ แล้วสิ่งที่เราคิดอยากจะทำในช่วง ๓ วันสุดท้ายล่ะ ในชีวิตที่ผ่านมาเราเคยทำบ้างหรือไม่ หรือผัดผ่อนมาตลอด และหากจะทำควรหรือไม่ที่จะต้องรอให้ถึง ๓ วันสุดท้ายก่อนจึงจะทำ หรือว่าควรทำเสียแต่วันนี้ เพราะในชีวิตจริงเราอาจไม่มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้า ๓ วันก่อนตายด้วยซ้ำ

    นอกจากการจินตนาการถึงความตายที่จะเกิดกับตนเองแล้ว เรายังควรนำโอกาสและสถานการณ์ต่าง ๆ มาเป็นเครื่องเตือนตนให้ระลึกถึงความตาย เช่น เวลาไปงานศพ ก็ควรระลึกว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องลงเอยเช่นเดียวกับผู้ที่นอนอยู่ในโลง เมื่อเห็นข่าวอุบัติเหตุหรือพิบัติภัยต่าง ๆ ก็ให้นึกน้อมในใจว่าสักวันหนึ่งเราอาจประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับผู้ที่เคราะห์ร้ายเหล่านั้นก็ได้ ไม่ควรอ้างว่าเหตุร้ายเหล่านั้นเป็นกรณีพิเศษที่จะไม่เกิดขึ้นกับเรา เพราะการคิดเช่นนั้นเป็นความประมาทอย่างหนึ่ง

    การนำเหตุร้ายเหล่านี้มาโยงกับตนเองแม้จะทำให้รู้สึกตื่นตระหนกหรือหดหู่อยู่บ้าง แต่ก็มีประโยชน์ตรงที่ช่วยกระตุ้นให้เราตื่นตัวและขวนขวายที่จะตระเตรียมตนเองให้พร้อมเผชิญกับเหตุร้ายเหล่านี้ หาไม่แล้วเราก็จะเพลิดเพลินไปกับความสนุกสนานหรืองานการที่กำลังทำอยู่เฉพาะหน้า จนไม่มีเวลาเตรียมตัวกับเรื่องไม่คาดฝัน

    ในทำนองเดียวกันเมื่อไปเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระยะสุดท้าย นอกจากไปให้กำลังใจเขาแล้ว เราควรได้ประโยชน์กับตนเอง ด้วยการระลึกว่าเราอาจต้องมานอนป่วยเช่นเดียวกับเขาไม่วันใดก็วันหนึ่ง จากนั้นให้ถามตนเองต่อไปว่าเราพร้อมที่จะรับมือกับภาวะดังกล่าวแล้วหรือยัง อะไรบ้างที่เราสามารถเรียนจากเขา ไม่ว่าเขาจะอยู่ในอาการทุรนทุรายหรือมีอาการสงบนิ่ง เขาก็สามารถเป็นครูสอนเราได้ทั้งสิ้นว่า อะไรที่ควรหลีกเลี่ยง อะไรที่ควรกระทำ

    การหมั่นพิจารณามรณสติ จะทำให้เรารู้จักใช้ประโยชน์จากการสูญเสียสิ่งรักสิ่งหวงแหน แทนที่จะเอาแต่ทุกข์ไปกับเหตุการณ์ดังกล่าว ควรถือว่าความสูญเสียเหล่านั้นมิใช่อะไรอื่นหากคือสัญญาณเตือนภัยว่าสักวันหนึ่งเราจะต้องประสบกับความสูญเสียที่ใหญ่หลวงกว่านั้น ถ้าหากเรายังทำใจกับความสูญเสียสิ่งรักสิ่งหวงแหนไม่ได้ เราจะรับมือกับความตายได้อย่างไร เพราะถ้าวันนั้นมาถึงเราจะต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่มี ไม่ว่าทรัพย์สมบัติ ครอบครัว คนรัก อำนาจ ตลอดจนชีวิตจิตใจและร่างกาย รวมทั้งโลกที่เรารู้จัก

    นอกจากการระลึกถึงความตายอยู่เสมอแล้ว เรายังสามารถเตรียมตัวเผชิญความตายได้ด้วยการหมั่นทำความดีอยู่เสมอ เพราะความดีนั้นช่วยเสริมสร้างคุณภาพจิต ให้มีความสงบเย็น และเป็นปกติ ขณะเดียวกันการละเว้นความชั่วก็ทำให้จิตไร้สิ่งเศร้าหมอง คุณภาพจิตเหล่านี้มีความสำคัญมากในวาระสุดท้ายของชีวิตเพราะช่วยประคองใจไม่ให้อารมณ์อกุศลเข้ามาครอบงำจนเกิดความทุกข์ทรมาน ขณะเดียวกันความอิ่มเอิบปีติก็จะเกิดขึ้นเมื่อระลึกถึงบุญกุศลที่ได้เคยทำ ทำให้จากไปอย่างสงบ ในทางตรงกันข้ามกับคนที่ทำความชั่วอยู่เป็นอาจิณ จิตจะเต็มไปด้วยอารมณอกุศล ในยามใกล้ตายบาปกรรมที่เคยกระทำจะมาปลุกเร้าอารมณ์อกุศลให้แผ่ซ่าน เช่น ความรู้สึกผิด ความหวาดกลัว ความตื่นตระหนก ความเคียดแค้นชิงชัง ซึ่งทำให้ทุรนทุรายและตายอย่างไม่สงบ

    ควบคู่ไปกับการทำความดีหมั่นบำเพ็ญกุศล ก็คือฝึกจิตอย่างสม่ำเสมอให้มีสติที่เข็มแข็งฉับไวหรือมีความตื่นรู้อยู่เป็นนิจ ในยามที่ร่างกายใกล้แตกดับ จิตจะแปรปรวนและง่ายที่จะเข้าไปในอารมณ์ที่เป็นอกุศล ซึ่งทำให้ทุกข์และทุรนทุรายมากขึ้น สติที่ฝึกฝนไว้ดีแล้วจะเป็นเครื่องรักษาใจไม่ให้ถลำจมในอารมณ์อกุศลทั้งหลาย และช่วยให้จิตใจเกิดความสงบเย็นเป็นสมาธิได้ง่าย ยิ่งศึกษาและปฏิบัติจนเกิดปัญญาคือความเข้าใจแจ่มชัดในความจริงของสิ่งทั้งปวง ก็จะปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ลงได้ง่ายดาย ไม่คิดเหนี่ยวรั้งสิ่งใด ๆ ไว้แม้กระทั่งร่างกายหรือชีวิต เพราะตระหนักชัดว่าสิ่งทั้งปวงล้วนไม่เที่ยงและไม่น่ายึดถือแต่อย่างใด ความตายจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอีกต่อไป และดังนั้นจึงพร้อมรับความตายได้อย่างสงบ ไม่ต่างจากคนที่เมื่อได้ยินระฆังเลิกงานก็วางงานลงและกลับบ้านโดยไม่มีความรู้สึกอาลัยแต่อย่างใด

    การเผชิญกับความตายด้วยใจสงบย่อมช่วยให้ไปสู่สุคติหรือภพภูมิที่ดีงาม แต่สำหรับคนที่ไม่เชื่อในเรื่องภพภูมิหลังจากชีวิตนี้ การเตรียมใจต้อนรับความตายก็ยังมีประโยชน์อยู่นั่นเอง เพราะช่วยให้ชีวิตในวาระสุดท้ายเป็นไปอย่างไม่ทุกข์ทรมาน แม้กายจะเจ็บปวดแต่ใจไม่ทุรนทุราย ยิ่งไปกว่านั้นใจที่สงบยังช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทางกายจนอาจไม่ต้องอาศัยยาเลยด้วยซ้ำ พึงระลึกว่าความสงบระงับทางใจนั้นไม่มีเทคโนโลยีใด ๆ จะช่วยได้ แม้มีเงินมากมายเพียงใดก็ไม่สามารถซื้ออาการดังกล่าวได้ มีแต่การฝึกฝนตระเตรียมตนเองไว้ก่อนเท่านั้นที่จะช่วยให้ใจเข้าถึงภาวะดังกล่าวได้

    นอกจากช่วยให้ตายอย่างสงบแล้ว การเตรียมใจพร้อมรับความตายอยู่เสมอด้วยวิธีที่กล่าวมายังมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในขณะที่ยังเป็นปกติอีกด้วย เพราะแม้เราจะยังห่างไกลจากความตาย แต่ก็ต้องประสบกับความพลัดพรากสูญเสียและความไม่สมหวังอยู่เนือง ๆ เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น การระลึกถึงความตายจะทำให้เราตระหนักว่าการสูญเสียเงิน โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ การล้มละลาย หรือความผิดหวังในรัก นั้นยังนับว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความตายที่จะมาถึง การระลึกเช่นนี้จะทำให้เรายอมรับกับความสูญเสียสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

    ขณะเดียวกันการทำความดี ละเว้นความชั่ว และการฝึกจิตให้มีความตื่นรู้อยู่เสมอก็ช่วยให้เรามีชีวิตที่ผาสุกและจิตใจสงบเย็นเป็นรางวัลทันที โดยไม่ต้องคอยรับผลเมื่อใกล้จะตาย การเตรียมตัวตายตามนัยที่กล่าวมาจึงไม่เพียงช่วยให้ตายดีเท่านั้น แต่ยังช่วยให้อยู่ดีด้วย ถ้าการรู้จักดำเนินชีวิตให้มีความสุขและปลอดพ้นจากความทุกข์หมายถึงการ “อยู่เป็น” ก็หมายความว่าการเตรียมตัวตายไม่เพียงช่วยให้เรา “ตายเป็น” หรือตายอย่างสงบเท่านั้น หากยังช่วยให้ “อยู่เป็น”ด้วย

    ความตายนั้นเป็นหน้าที่ของทุกชีวิต ไม่มีผู้ใดจะหลบเลี่ยงหน้าที่นี้ไปได้ แต่ธรรมชาติไม่ได้มีแต่ด้านลบอย่างเดียว เพราะขณะที่เรามีหน้าที่ต้องตายนั้น เราก็มีสิทธิที่จะตายอย่างสงบด้วยในเวลาเดียวกัน นี้เป็นสิทธิที่มีกับคนทุกเพศทุกวัย ไม่เลือกว่ารวยหรือจน ราชาหรือยาจก แต่สิทธินี้จะได้มาก็ต่อเมื่อเราทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ถ้าเราเตรียมตัวตายอย่างดีที่สุด สิทธิที่จะตายอย่างสงบก็เป็นอันหวังได้ คำถามก็คือเราพร้อมและมีคุณสมบัติพอที่จะใช้สิทธิอันทรงคุณค่านี้หรือไม่

    :- https://visalo.org/article/dhammamata550601.htm
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    เตรียมตัวเดินทางครั้งสุดท้าย
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อคนรักตายจากไป ญาติมิตรลูกหลานย่อมทำใจได้ยาก อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่เวลาจะช่วยเยียวยาเขาได้ หากผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ ไม่ทุรนทุราย ก็ถือว่าเป็นของขวัญที่มีค่ามากสำหรับญาติมิตรลูกหลาน เพราะช่วยให้เขายอมรับความตายของคนรักได้ คน ๆ หนึ่งแม้ชีวิตจะประสบความสำเร็จแค่ไหน ความสำเร็จเหล่านั้นก็ไม่ประเสริฐหรือมีความหมายเท่ากับการตายอย่างสงบ มีหลายคนที่ยิ้มทั้งน้ำตาเมื่อคนรักจากไปอย่างสงบ เขาเสียใจเพราะคนรักจากไปก็จริง แต่ก็ดีใจที่เขาไปอย่างสงบ มันเป็นของขวัญที่มีค่ามาก ทั้งกับผู้จากไปและผู้ที่ยังอยู่

    แม้ผู้ป่วยจะทำอะไรไม่ได้กับโรคในร่างกาย ที่จริงแม้กระทั่งอวัยวะต่าง ๆ ผู้ป่วยก็ควบคุมบังคับบัญชาได้น้อยลงหรือไม่ได้เลย แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่เขาทำได้ นั่นคือการดูแลรักษาใจ ไม่ให้กังวล หรือกระสับกระส่าย จนกระทั่งจากไปอย่างสงบ สิ่งนี้จะช่วยเยียวยาคนที่อยู่ข้างหลัง ทำให้เขายอมรับ หรือยิ้มรับการจากไปของผู้ป่วยได้ จะว่าไปแล้วการยอมรับหรือยิ้มรับความตายได้เป็นของขวัญล้ำค่าที่ผู้ป่วยและญาติ ๆ สามารถมอบให้แก่กันได้ เมื่อผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ ญาติแม้เสียใจแต่ก็ยิ้มทั้งน้ำตา เขาจะเสียใจไม่นาน ขณะเดียวกันหากญาติยอมรับความตายของผู้ป่วยได้ ไม่คร่ำครวญเศร้าโศกให้ผู้ป่วยเห็น ผู้ป่วยก็จะคลายความห่วงใย รู้สึกสบายใจ และพร้อมตายได้มากขึ้น

    เงินมากมายเท่าใดก็ซื้อความตายอย่างสงบไม่ได้ มีแต่ความรักที่มอบให้แก่ผู้ป่วย รวมทั้งความไว้วางใจว่าเขาจะไปดี สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบได้ ไปดีในที่นี้ หมายความว่า ก่อนหมดลมก็ไม่ทุกข์ทรมาน หมดลมแล้วก็ไปสุคติ ลูกก็ดี คนรักก็ดี พ่อแม่ก็ดี จึงควรมอบความรักอย่างไร้เงื่อนไขให้แก่ผู้ป่วยเพราะเป็นสิ่งที่มีค่ามาก

    ขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าผู้ป่วยอยากจะช่วยคนที่ตนรัก ก็ช่วยด้วยการตายอย่างสงบ เพราะการตายสงบจะช่วยเยียวยาพวกเขา ทำให้เขายอมรับการจากไปของเราได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยเองก็อย่าไปพะวงมากว่า เราจะไปอย่างสงบได้หรือไม่ ให้อยู่กับปัจจุบันอย่างสบายๆ อาตมาเจอมาหลายคนแล้วที่ทีแรกมีความวิตกกังวล ว่าตนจะไปอย่างสงบได้ไหม จะทุรนทุรายก่อนตายไหม จะมีสติไหม แต่แล้วในที่สุดส่วนใหญ่ก็ไปดี จากไปอย่างสงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากว่าผู้ป่วยยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ ไม่ว่าจะมีความเจ็บความปวด มีความไม่สบายอย่างไร ก็อย่าไปผลักไสมัน ให้ยอมรับและเป็นมิตรกับมันให้ได้

    เป็นมิตร หมายความว่า ไม่รังเกียจ ไม่ผลักไส ต่างคนต่างอยู่ ความเจ็บปวดจะอยู่ก็อยู่ไป ฉันไม่ทำอะไรเธอ ฉันไม่ทะเลาะกับเธอ ต่างคนต่างอยู่ก็แล้วกัน ถ้าจะให้ดีก็แผ่เมตตาให้ความเจ็บปวดด้วย แผ่เมตตาให้โรคที่ทำให้เราไม่สบาย แผ่เมตตาให้อวัยวะที่ติดขัด สิ่งนี้จะช่วยให้ใจเราสงบ ความปวดทำอะไรเราไม่ได้ ถ้าเรารู้ทัน แล้วอยู่อย่างเป็นมิตรกับเขา ก็คือ ไม่ผลักไส ต่างคนต่างอยู่ ถ้าเราผลักไสความปวด ผลักไสอาการต่าง ๆ เราจะทุกข์ เพราะความทุกข์เกิดจากการผลักไส

    หากทุกขเวทนารบกวนมาก อยากใช้ยาระงับปวด ก็ทำได้ แต่ก็อย่าใช้มากจนถึงกับทำให้เบลอ ขอให้มีความรู้สึกตัวอยู่ แล้วก็ขอให้มีความมั่นใจว่าเมื่อวินาทีนั้นมาถึง เราจะผ่านมันไปได้ มันเป็นแค่ก้าวเดียว ถ้าพร้อมที่จะก้าวไป ก็จะไปได้ดี แต่คนส่วนใหญ่เขาไม่แน่ใจ เขากลัว อันที่จริง อีกฟากหนึ่งไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เหมือนกับเด็กที่อยู่ในท้องแม่ เด็กในท้องแม่ทุกคนไม่อยากออกมา ต้องให้แม่เบ่ง ต้องให้หมอช่วยดึงออกมา ทำไมแม่ต้องเบ่ง หมอต้องดึง ก็เพราะเด็กไม่อยากออก เขาคิดว่าข้างนอกมันน่ากลัว แต่จริง ๆ แล้ว ข้างนอกดีกว่าในท้อง เด็กออกมาอยู่ข้างนอกจะดีกว่าอยู่ข้างใน แต่เด็กเข้าใจผิด คิดว่าในท้องแม่วิเศษที่สุด เด็กจึงไม่ยอมออก พอออกมาเด็กจะร้อง เด็กจะตกใจ เพราะคิดว่าข้างนอกมันแย่ แต่จริง ๆ แล้วข้างนอกดีกว่าข้างในมาก กว้างขวาง ไม่อึดอัด เด็กออกมาข้างนอกแล้ว ก็สามารวิ่งเล่นได้ ทำอะไรได้อีกมากมาย มีสิ่งดี ๆมากมายรออยู่ข้างนอก
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    คนที่กลัวตายเพราะคิดว่าข้างหน้ามันน่ากลัว เขาจึงไม่อยากจากโลกนี้ไป แต่ถ้าเขารวบรวมความกล้า เต็มใจเดินทาง แล้วก้าวไปข้างหน้าเลย เขาจะพบว่ามันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด ให้เราคิดว่าเรากำลังออกจากท้องแม่ไปสู่โลกใหม่ อย่าคิดว่าข้างหน้ามันแย่กว่าตอนนี้ มันอาจจะดีกว่าก็ได้ ถ้าเชื่อว่ามันดีกว่า และถ้ามั่นใจในความดี ในบุญกุศล ก็ก้าวไปเลย เมื่อวินาทีนั้นมาถึง

    คนที่ไม่มั่นใจเพราะกลัวว่าความตายคือการสิ้นสุด ที่จริงมันเป็นการเปลี่ยนสภาพ เหมือนกับดักแด้เปลี่ยนสภาพเป็นผีเสื้อ เหมือนกับน้ำที่ระเหยเป็นไอ น้ำแข็งในแก้วถ้าปล่อยทิ้งไว้สัก 15 นาทีก็จะหายไป ที่จริงมันไม่ได้หายไปไหน มันแค่เปลี่ยนสภาพ และยังคงอยู่ในแก้วนั้น ชีวิตของเราก็เหมือนกับก้อนน้ำแข็ง สักวันหนึ่งก็ต้องเปลี่ยนสภาพ น้ำแข็งละลายหายไป ส่วนคนเราก็ตายจากไป แต่ที่จริงเราไม่ได้หายไปไหนเพียงแต่เปลี่ยนสภาพ เพราะฉะนั้นก็อย่าไปคิดว่า ความตายคือการสิ้นสุด มันคือการเปลี่ยนสภาพเท่านั้นเอง เปลี่ยนแล้วก็ไม่ได้ไปไหม เหมือนน้ำแข็งซึ่งเมื่อละลายแล้ว ก็ยังอยู่ในถ้วยนั่นแหละ แล้วเราก็เปลี่ยนสภาพอย่างนี้มาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ

    นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเดินทาง เราเดินทางมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว หลายครั้งก็ผ่านไปด้วยดี ครั้งนี้ก็เช่นกัน ก็อย่าวิตกกังวลหรือหวาดกลัวว่าจะเจออุปสรรคปัญหา หรือความทุกข์ทรมาน

    ข้อสำคัญคือทำตอนนี้ให้ดี อยู่กับปัจจุบันอย่างมีคุณค่า เราทำให้ตนเองได้แม้จะยังป่วยอยู่ อย่าคิดว่าตัวเองเป็นภาระของลูก ๆ ของครอบครัว ให้คิดว่า ขณะที่ป่วยอยู่นี้เรากำลังสอนลูก ๆ และคนรักว่า จะตายให้ดีได้อย่างไร หน้าที่ของพ่อแม่ไม่ใช่แค่สอนลูกว่าจะอยู่ให้ดีอย่างไร เรายังมีหน้าที่สอนลูกว่าจะตายดีได้อย่างไรด้วย ขณะที่ป่วยอยู่นี้ขอให้ตระหนักว่าเรากำลังทำหน้าที่นี้ นี้คือสิ่งสำคัญที่เราจะมอบให้แก่คนที่เรารักอย่าคิดว่าตัวเองเป็นภาระของใคร ให้คิดว่าเรากำลังทำหน้าที่สุดท้ายให้แก่ลูกและคนรัก ว่าจะตายดีได้อย่างไร นี่คือการอยู่อย่างมีความหมาย แม้อยู่ตรงนี้ นอนอยู่ตรงนี้ เราก็ยังมีคุณค่ามีความหมาย ดังนั้นขอให้ทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด แต่ผลจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ไม่มีใครสอบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ถึงแม้จะเรียนเก่งแค่ไหนก็สอบได้แค่ 90 เปอร์เซ็นต์

    ความตายเป็นการสอบวิชาชีวิตครั้งสุดท้าย ที่จริงเป็นการสอบครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในเวลาเดียวกัน ก็อย่าไปคาดหวังว่าจะสอบได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำได้แค่ 70 หรือ 80 เปอร์เซ็นต์ก็น่าพอใจแล้ว ถ้าคิดจะสอบให้ได้ 90 หรือ 100 เปอร์เซ็นต์ก็จะรู้สึกเกร็ง แล้วเราก็จะเครียด ผลจะเป็นอย่างไร อย่าไปกังวล ขอให้เตรียมตัวให้ดีก็แล้วกัน ทำเต็มที่แต่อย่าคาดหวังผลสำเร็จ อย่าคาดหวังว่าจะทำได้ทุกข้อ ไม่ผิดเลย ถ้าจะมีผิดบ้าง 20 เปอร์เซ็นต์ 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่เป็นไร ถ้าได้ 70 - 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ควรพอใจแล้ว

    :- https://visalo.org/article/dhammamata16_1.html
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ทุกข์เพราะยึด
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อพูดถึงความทุกข์กายแล้ว สาเหตุมีเยอะแยะไปหมด ความหิว ความเจ็บป่วย แผ่นดินไหว อุบัติเหตุ อุทกภัย การปล้นจี้ ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุของความทุกข์ทางกาย แต่ถ้าพูดถึงความทุกข์ใจแล้ว ก็มีอยู่สาเหตุเดียว นั่นคือ ทุกข์เพราะยึด

    ความยึดติด ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง คือสาเหตุหลักที่ทำให้คนเรามีความทุกข์ใจ ยึดติดเรื่องอะไรบ้าง ก็ยึดติดเรื่องราวในอดีต เช่น ความสูญเสียในอดีต โดยเฉพาะสูญเสียของรัก สูญเสียคนรัก รวมไปถึงความเจ็บปวดรวดร้าวที่ถูกกระทำโดยใครบางคน ที่จริงมันผ่านไปนานแล้ว แต่พอยึดเอาไว้ที่ใจ ไม่ยอมปล่อยวาง ก็เลยทุกข์ เจ็บปวด โกรธแค้น เสียดาย อาลัย ถ้าไม่ทุกข์เพราะยึดในอดีต ก็กังวลกับอนาคต เหตุร้ายยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็กังวลหรือตีตนไปก่อนไข้เสียแล้ว บางทีก็นึกถึงอุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้า บางคนเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย แต่ก็นึกปรุงแต่งไปไกลว่าฉันจะตายแล้วหรือนี่ ความกังวลกับอนาคตก็เป็นความยึดติดอีกแบบที่ทำให้เราทุกข์ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่นึกถึงอนาคต ความกังวลก็ไม่เกิด ความกลัวก็เช่นกัน ส่วนใหญ่เรากลัวสิ่งที่ยังไม่เกิด ตอนนี้ยังสบายดีอยู่ แต่นึกถึงเหตุร้ายล่วงหน้า อันนี้เรียกว่าคิดข้ามช็อต ก็เลยทำให้เป็นทุกข์


    นอกจากความยึดติดในอดีต ในอนาคตแล้ว สิ่งที่เป็นปัจจุบัน ถ้ายึดติดก็ทุกข์เหมือนกัน อย่างเช่น เสียงที่มารบกวนขณะที่เรากำลังนั่งสมาธิ เสียงโทรศัพท์ก็ดี เสียงรถยนต์ก็ดี อาจจะไม่ดังเท่าไหร่ แต่พอใจเราไปยึดติดเข้า ก็เป็นทุกข์ทันที เกิดความหงุดหงิด ไม่พอใจ ยิ่งปรุงแต่งต่อไปว่ามันไม่น่า มันไม่ควร เราก็ยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น เกิดโทสะ เกิดความโกรธ นี่ก็เรียกว่าเป็นเพราะยึดติดกับอารมณ์ปัจจุบัน อารมณ์ปัจจุบันอีกอย่างหนึ่งก็คือ เวทนา เรานั่งนานๆ หรือว่าอยู่กลางแดด ก็เกิดทุกขเวทนาขึ้น ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเป็นของจริง ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต มันเป็นปัจจุบัน แต่พอใจเราปักตรึงลงไปตรงนั้น ทีนี้ไม่ใช่แค่ทุกข์กายแล้ว แต่ยังมีทุกข์ใจด้วย ถ้าเราไม่ปล่อย ไม่วาง ความทุกข์ก็ตามมารบกวนจิตใจของเรา

    นอกจากนี้เรายังทุกข์เพราะยึดติดกับสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา อาจจะไม่ใช่ปรุงแต่งเกี่ยวกับเรื่องราวในอนาคต แต่ปรุงแต่งต่อจากสิ่งที่เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู เห็นเงาพาดผ่านกลางดึกก็ปรุงว่าเป็นคนบ้าง เป็นผีบ้าง เห็นกิ่งไม้บนพื้นดินก็ปรุงว่าเป็นงูบ้าง แค่นี้ก็มากพอที่จะทำให้กลัว ยิ่งไปยึดมันเข้า บางทีก็ทำให้นอนไม่หลับ หรือว่าเห็นเพื่อนร่วมงานกระซิบกระซาบกันก็ปรุงว่าเขากำลังนินทาเรา ก็เลยไม่สบายใจ บางคนฟังหลวงพ่อบรรยายก็ปรุงต่อไปว่าท่านกำลังตำหนิเรา ต่อว่าเรา พอคิดอย่างนี้เข้าก็กระสับกระส่าย รุ่มร้อนในใจ หารู้ไม่ว่าปรุงทั้งนั้น

    ปกติคนเราปรุงวันละหลายสิบเรื่อง ถ้าปล่อยให้ผ่านเลยไปก็ไม่มีอะไร แต่พอไปยึดเป็นจริงเป็นจัง ก็ทุกข์ขึ้นมาทันที บางทีสามีภรรยาทำร้ายกัน หรือทำร้ายตัวเองก็เพราะความคิดปรุงแต่ง ปรุงว่าเขากำลังนอกใจเรา ไม่ซื่อต่อเรา พอคิดแบบนี้ก็เลยเครียด นอนไม่หลับ จนเป็นโรคประสาท หรือทะเลาะเบาะแว้งกัน อันนี้ก็เพราะว่ายึดติดในสิ่งที่ปรุงแต่ง ผู้คนเป็นทุกข์ก็เพราะเหตุนี้มาก ยิ่งไม่มีหลัก ไม่รู้จักไตร่ตรองก็ทำให้หลงเชื่อความคิด ความคิดทั้งหลายล้วนเกิดจากการปรุงของเรา แต่สุดท้ายมันกลับมาปรุงเรา จนกลายเป็นนายเราก็มี

    เบื้องลึกของความยึดติดทั้งหลายที่พูดมา ก็คือความยึดติดในตัวตน อันนี้เป็นรากเหง้าของความยึดติดและความทุกข์ทั้งหลายเลยก็ว่าได้ ความยึดติดในตัวตน จะว่าไปแล้ว ก็เป็นความยึดติดในสิ่งที่ปรุงแต่งอย่างที่พูดเมื่อกี้ แต่เป็นการปรุงแต่งในระดับจิตใต้สำนึกเลยก็ว่าได้ ยึดติดว่ามีตัวกู แล้วก็ทำให้มีของกูตามมา ความทุกข์เกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตและอนาคต ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับของกูและตัวกูทั้งนั้น เช่น แค้นใจที่ถูกต่อว่า กลัวตกงาน กลัวสอบเข้าไม่ได้ กลัวถูกทิ้ง เหล่านี้มีรากเหง้าที่ตัวกู ของกู กลัวบ้านจะถูกยึด กังวลว่าลูกจะอยู่อย่างไร ใครจะดูแล กังวลที่ลืมทิ้งกระเป๋าเอาไว้ที่บ้าน หรือลืมล็อคกุญแจบ้าน เหล่านี้ล้วนเกี่ยวกับของกูทั้งนั้น ถ้าเป็นของคนอื่นก็ไม่รู้สึกกังวลใช่ไหม ใครจะตาย ใครจะป่วย กี่มากน้อย ก็ไม่ทำให้เราทุกข์ ตราบใดที่เขาไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่พี่น้อง หรือไม่ใช่เพื่อนร่วมชาติของเรา เราก็ไม่ทุกข์อะไร ได้ยินข่าวว่ามีคนหิวตายนับล้านคนที่แอฟริกา เราก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่ใช่เพื่อนร่วมชาติของเรา ไม่ใช่ญาติของเรา ไม่ใช่คนที่เรารู้จัก แต่ถ้ารู้ว่าพี่น้องของเราป่วยด้วยโรคมะเร็ง เรานอนไม่หลับเลยก็มี

    ขอให้พิจารณาดู ความทุกข์ใจทั้งหลายทั้งปวง สาวหาสาเหตุก็จะไปสุดอยู่ที่ความติดยึดในตัวตน หรือความติดยึดว่ามีตัวกูของกู แม้แต่ความทุกข์เพราะยึดติดในอารมณ์ปัจจุบัน เช่นหงุดหงิดเพราะเสียงที่ดัง หรือทุกข์เพราะปวดท้อง เสียงดังและอาการปวดท้อง เป็นอารมณ์ปัจจุบันไม่ใช่สิ่งปรุงแต่ง และทำให้ทุกข์กายก็จริง แต่มันจะไม่ขยายจากทุกข์กายเป็นทุกข์ใจไปได้ถ้าไม่มีความยึดมั่นในตัวกู ของกูเข้าไปผสมโรงด้วย เช่นเวลาปวดหรือเมื่อย มันเป็นรูปที่เมื่อย เป็นกายที่ปวด เป็นทุกขเวทนา แต่พอไปยึดและปรุงว่าฉันปวด ฉันเมื่อย ใจก็จะเป็นทุกข์ทันที แทนที่จะเห็นว่าเป็นกายที่ปวด เป็นรูปที่เมื่อย ก็เกิดความสำคัญมั่นหมายว่าฉันปวดฉันเมื่อย ตรงนี้เป็นที่มาของความทุกข์ใจ

    การปรุงจนเกิดมี ตัวกู ของกูขึ้นมา เป็นสาเหตุของความทุกข์ใจ เช่น ปรุงว่ามี กูผู้ปวด กูผู้เมื่อย กูผู้รำคาญ กูผู้โกรธ อันนี้เป็นการเกิดแบบหนึ่ง เรียกว่าภพชาติ ไม่ใช่ว่าต้องเกิดจากท้องแม่ถึงจะเรียกว่าเป็นการเกิด การมีตัวกูเกิดขึ้นมาก็เป็นภพชาติ อย่างที่เราสวดเมื่อกี้ว่า การเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป ไม่ใช่แค่เกิดจากท้องแม่เท่านั้น แม้กระทั่งการเกิดตัวกูขึ้นมา ในใจ ก็ทำให้เป็นทุกข์เช่นกัน มันเป็นการเกิดที่สืบเนื่องจากการปรุงแต่ง เมื่อเกิดตัวกูขึ้นมาแล้วก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น เช่น พอเกิดตัวกูผู้เป็นพ่อเป็นแม่ก็ย่อมทุกข์เพราะลูก ไม่ใช่แค่ห่วงกังวลลูกเท่านั้น แต่ยังทุกข์เพราะว่าลูกไม่เชื่อฟัง ลูกไม่เคารพฉันซึ่งเป็นพ่อแม่

     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    ธรรมดาของคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็อยากจะให้ลูกเป็นอย่างที่ตัวเองคิด นี้เป็นความยึดติดถือมั่นอีกแบบหนึ่ง อยากจะให้เขาดีเหมือนตัว อยากจะให้เขามีชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ แต่พอลูกไม่ดีเหมือนตัว มีชีวิตไม่ตรงตามที่เราวาดหวังก็ทุกข์ พูดแล้วก็ไม่ฟังก็ทุกข์ ลูกบางคนไม่พูดกับแม่ ประท้วงแม่ เพราะถูกแม่ต่อว่าที่ชอบเล่นเน็ต เล่นเกมส์ออนไลน์ทั้งวันทั้งคืน จนไม่สนใจเรียนหนังสือ และไม่เป็นอันหลับอันนอน พอถูกแม่ว่ามากๆ เข้า ลูกก็ไม่พูดกับแม่ แม่เลยเสียใจและโกรธลูก ยื่นคำขาดว่าถ้าลูกไม่พูดกับแม่ แม่จะโดดตึก ขู่แล้วคิดว่าจะได้ผล ปรากฎว่าไม่ได้ผล แม่ก็เสียใจ น้อยใจลูก เลยโดดลงจากระเบียงตึกตาย นี่ก็เป็นความทุกข์ของคนเป็นแม่ พอยึดติดในความเป็นแม่ ก็วาดหวังว่าลูกจะต้องเชื่อฟังแม่ พอลูกไม่เชื่อฟัง แม่ก็เป็นทุกข์ทันที

    คนเป็นพ่อก็ทุกข์เพราะลูกเหมือนกัน พ่อเป็นคนธรรมะธรรมโม ชอบเข้าวัด แต่ลูกเป็นเด็กวัยรุ่น ไม่ค่อยสนใจธรรมะ เรียนหนังสือก็ไม่ค่อยเรียน เหมือนกับวัยรุ่นทั่วๆ ไป แต่ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกกมะเหรกเกเร ไม่ได้ติดเหล้าติดยา พ่อก็รู้สึกผิดหวังในตัวลูก ผิดหวังแล้วก็เลยโกรธ ต่อว่าลูก มีปากเสียงกัน สุดท้ายลูกกับพ่อก็ไม่คุยกัน พ่อก็พยายามเข้าหาลูก ซื้อรถมาให้ลูก แต่ก็พยายามควบคุมการใช้รถของลูก ลูกก็ไม่พอใจ วันหนึ่งลูกจะขับรถไปบ้านเพื่อนตอนกลางคืน พ่อไม่อนุญาต แต่ลูกไม่ฟัง ขับรถฝืนคำสั่งพ่อ พ่อโกรธ ตามไปบ้านเพื่อน แล้วก็ไปเอารถกลับมาพร้อมลูก พอถึงบ้านก็มีปากเสียงทะเลาะกัน ทะเลาะกันท่าไหนไม่รู้ จู่ ๆ พ่อก็ควักปืนออกมายิงลูกตาย แล้วก็ยิงตัวตาย คงทำใจไม่ได้ว่าฉันเผลอฆ่าลูก รู้สึกผิดมหันต์ ก็เลยฆ่าตัวตายตาม

    นี่เป็นผลของความยึดติดถือมั่น โดยเฉพาะความยึดติดถือมั่นของพ่อ ว่าลูกต้องเชื่อฟังพ่อ ต้องอยู่ในโอวาทของพ่อ ต้องดีเหมือนพ่อ หรือดีอย่างที่พ่อคิด แต่เมื่อลูกไม่เป็นอย่างนั้นก็โกรธ แล้วกลายเป็นเกลียด สุดท้ายก็ทำร้ายลูก นี่เป็นความทุกข์เพราะยึดติด คือยึดติดถือมั่นว่าฉันเป็นพ่อ แกเป็นลูก เพราะฉะนั้นต้องฟังฉัน พอลูกไม่ฟัง ก็เกิดโทสะขึ้นมา เห็นไหมว่าความยึดติดถือมั่นในความเป็นพ่อ ก็มีโทษและทำให้เป็นทุกข์ เช่นเดียวกับความยึดมั่นสำคัญหมายในความเป็นแม่ เพราะมันทำให้เกิดกิเลสตัวใหญ่ตามมา ว่าลูกต้องเชื่อฟังฉัน ต้องเคารพฉัน ต้องเป็นอย่างที่ฉันต้องการ พอไม่เป็นดั่งใจ เมตตาก็กลายเป็นโทสะไป หรือไม่ก็กลายเป็นอกุศล เป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ นี่ก็เป็นความทุกข์จากการยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูอีกแบบหนึ่ง


    ความยึดมั่นถือมั่นในตัวกู เป็นอุปาทานอย่างหนึ่ง พอมีอุปาทานหรือความยึดมั่นแล้ว ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ก็จะมีกิเลสตามมา และถ้ากิเลสนั้นไม่สมหวัง ไม่สมประสงค์ก็เกิดทุกข์ ถ้าไม่ระบายทุกข์ใส่คนอื่น ก็ระบายทุกข์ใส่ตัวเอง อันนี้รวมถึงความยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันเป็นคนดีด้วย มีความยึดมั่นแบบนี้ก็ทำให้ทุกข์ได้ เช่น ทุกข์เพราะว่าคนไม่เห็นความดีของฉัน ทุกข์เพราะว่าฉันทำดีไม่ได้ดี ทุกข์เพราะเห็นคนอื่นดีกว่าตัว ทำความดีนั้นเป็นสิ่งดี แต่พอยึดมั่นสำคัญว่าฉันเป็นคนดี ก็ทำให้อัตตาฟูฟ่อง พอเจอคนที่เขาดีกว่า ก็ไม่พอใจ เกิดความอิจฉา นี่ก็เป็นทุกข์ของคนดี หรือทุกข์ของคนที่ยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันเป็นคนดี นี่ก็เป็นทุกข์เพราะการเกิดอีกแบบหนึ่ง คือเกิดตัวกูผู้เป็นคนดี เป็นการเกิดที่ปรุงขึ้นมาโดยมีรากเหง้ามาจากความยึดมั่นในตัวกูของกู

    ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีพราหมณ์ถามพระพุทธองค์ว่าท่านเป็นใคร ท่านเป็นเทวดาหรือ พระองค์ก็ปฏิเสธ ท่านเป็นคนธรรพ์หรือ พระองค์ก็ปฏิเสธ ท่านเป็นยักษ์หรือ พระองค์ก็ปฏิเสธ สุดท้ายพราหมณ์ก็ถามว่าท่านเป็นมนุษย์หรือ พระองค์ก็ปฏิเสธอีก พราหมณ์ยิ่งงงใหญ่ว่าตกลงท่านเป็นอะไร พระพุทธเจ้าอธิบายว่า กิเลสที่จะทำให้พระองค์เป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ เป็นยักษ์ เป็นมนุษย์ไม่มีแล้ว พูดง่าย ๆ กิเลสที่จะทำให้เป็นนั่นเป็นนี่ไม่มีแล้ว แต่ถ้าจะเรียกก็เรียกพระองค์ว่า พุทธะก็แล้วกัน

    ความรู้สึกว่าเป็นนั่นเป็นนี่ มันไม่ใช่ของจริง มันเป็นความปรุงแต่ง พอเราไปยึดเข้า ก็เตรียมตัวทุกข์ได้เลย เพราะว่าไม่มีอะไรที่จะยึดติดถือมั่นได้เลยซักอย่าง เนื่องจากทุกอย่างล้วนไม่เที่ยงและแปรเปลี่ยน ขณะเดียวกันพอยึดติดถือมั่นว่าเป็นอะไร ก็จะมีกิเลสตามมา ขึ้นชื่อว่ากิเลสก็ล้วนทำให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความอยากได้หรืออยากผลักไส ก็ล้วนนำไปสู่ความทุกข์ใจ เพราะเมื่อความจริงไม่เป็นอย่างที่อยาก ก็เป็นทุกข์แล้ว ที่จริงเพียงแค่นึกอยาก ไม่ว่าอยากผลักไสหรือ อยากได้ครอบครองก็เป็นทุกข์แล้ว เพราะมันทำให้จิตดิ้นรน ทนอยู่เฉยไม่ได้ ก็ทุกข์ขึ้นมาทันที


    นี่เป็นผลของความยึดติดถือมั่น โดยเฉพาะความยึดติดถือมั่นของพ่อ ว่าลูกต้องเชื่อฟังพ่อ ต้องอยู่ในโอวาทของพ่อ ต้องดีเหมือนพ่อ หรือดีอย่างที่พ่อคิด แต่เมื่อลูกไม่เป็นอย่างนั้นก็โกรธ แล้วกลายเป็นเกลียด สุดท้ายก็ทำร้ายลูก นี่เป็นความทุกข์เพราะยึดติด คือยึดติดถือมั่นว่าฉันเป็นพ่อ แกเป็นลูก เพราะฉะนั้นต้องฟังฉัน พอลูกไม่ฟัง ก็เกิดโทสะขึ้นมา เห็นไหมว่าความยึดติดถือมั่นในความเป็นพ่อ ก็มีโทษและทำให้เป็นทุกข์ เช่นเดียวกับความยึดมั่นสำคัญหมายในความเป็นแม่ เพราะมันทำให้เกิดกิเลสตัวใหญ่ตามมา ว่าลูกต้องเชื่อฟังฉัน ต้องเคารพฉัน ต้องเป็นอย่างที่ฉันต้องการ พอไม่เป็นดั่งใจ เมตตาก็กลายเป็นโทสะไป หรือไม่ก็กลายเป็นอกุศล เป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ นี่ก็เป็นความทุกข์จากการยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูอีกแบบหนึ่ง


    ความยึดมั่นถือมั่นในตัวกู เป็นอุปาทานอย่างหนึ่ง พอมีอุปาทานหรือความยึดมั่นแล้ว ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ก็จะมีกิเลสตามมา และถ้ากิเลสนั้นไม่สมหวัง ไม่สมประสงค์ก็เกิดทุกข์ ถ้าไม่ระบายทุกข์ใส่คนอื่น ก็ระบายทุกข์ใส่ตัวเอง อันนี้รวมถึงความยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันเป็นคนดีด้วย มีความยึดมั่นแบบนี้ก็ทำให้ทุกข์ได้ เช่น ทุกข์เพราะว่าคนไม่เห็นความดีของฉัน ทุกข์เพราะว่าฉันทำดีไม่ได้ดี ทุกข์เพราะเห็นคนอื่นดีกว่าตัว ทำความดีนั้นเป็นสิ่งดี แต่พอยึดมั่นสำคัญว่าฉันเป็นคนดี ก็ทำให้อัตตาฟูฟ่อง พอเจอคนที่เขาดีกว่า ก็ไม่พอใจ เกิดความอิจฉา นี่ก็เป็นทุกข์ของคนดี หรือทุกข์ของคนที่ยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันเป็นคนดี นี่ก็เป็นทุกข์เพราะการเกิดอีกแบบหนึ่ง คือเกิดตัวกูผู้เป็นคนดี เป็นการเกิดที่ปรุงขึ้นมาโดยมีรากเหง้ามาจากความยึดมั่นในตัวกูของกู

    ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีพราหมณ์ถามพระพุทธองค์ว่าท่านเป็นใคร ท่านเป็นเทวดาหรือ พระองค์ก็ปฏิเสธ ท่านเป็นคนธรรพ์หรือ พระองค์ก็ปฏิเสธ ท่านเป็นยักษ์หรือ พระองค์ก็ปฏิเสธ สุดท้ายพราหมณ์ก็ถามว่าท่านเป็นมนุษย์หรือ พระองค์ก็ปฏิเสธอีก พราหมณ์ยิ่งงงใหญ่ว่าตกลงท่านเป็นอะไร พระพุทธเจ้าอธิบายว่า กิเลสที่จะทำให้พระองค์เป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ เป็นยักษ์ เป็นมนุษย์ไม่มีแล้ว พูดง่าย ๆ กิเลสที่จะทำให้เป็นนั่นเป็นนี่ไม่มีแล้ว แต่ถ้าจะเรียกก็เรียกพระองค์ว่า พุทธะก็แล้วกัน

    ความรู้สึกว่าเป็นนั่นเป็นนี่ มันไม่ใช่ของจริง มันเป็นความปรุงแต่ง พอเราไปยึดเข้า ก็เตรียมตัวทุกข์ได้เลย เพราะว่าไม่มีอะไรที่จะยึดติดถือมั่นได้เลยซักอย่าง เนื่องจากทุกอย่างล้วนไม่เที่ยงและแปรเปลี่ยน ขณะเดียวกันพอยึดติดถือมั่นว่าเป็นอะไร ก็จะมีกิเลสตามมา ขึ้นชื่อว่ากิเลสก็ล้วนทำให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความอยากได้หรืออยากผลักไส ก็ล้วนนำไปสู่ความทุกข์ใจ เพราะเมื่อความจริงไม่เป็นอย่างที่อยาก ก็เป็นทุกข์แล้ว ที่จริงเพียงแค่นึกอยาก ไม่ว่าอยากผลักไสหรือ อยากได้ครอบครองก็เป็นทุกข์แล้ว เพราะมันทำให้จิตดิ้นรน ทนอยู่เฉยไม่ได้ ก็ทุกข์ขึ้นมาทันที

     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)

    ถามว่า ในเมื่อความยึดติดเป็นทุกข์ แล้วทำไมผู้คนถึงยึดอยู่ได้ ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง นั่นก็เพราะความหลงและลืมตัว พูดง่ายๆ คือเพราะลืม และเพราะหลง ลืมคือขาดสติ หลงคือขาดปัญญา ทำอย่างไรถึงจะปล่อยวางได้ ก็ต้องมีสติ และมีปัญญา สติทำให้ระลึกได้ ทำให้ไม่ลืมตัว ไม่ใช่ระลึกได้ในเรื่องอื่นเท่านั้น แต่ระลึกได้ในกายและใจ ก็ทำให้ไม่ลืมตัว เมื่อไม่ลืมตัว ก็ไม่ไปยึดอดีตกับอนาคต หรือถ้ารู้ว่ายึด ก็วางได้


    คนเราเวลาเกิดทุกข์แล้วมักจะไม่รู้ทุกข์ เพราะลืมตัว แต่พอมีสติ ก็เห็นทุกข์ รู้ว่าแบกความทุกข์เอาไว้ ก็ทำให้วางได้ เป็นการวางได้เองโดยไม่ต้องสั่ง และถ้าเห็นว่า ทุกข์นี้สักแต่ว่าเกิดขึ้นโดยไม่ไปยึดเอาไว้ เช่น เมื่อความปวด ความเมื่อย ความเจ็บ เกิดขึ้น แต่ไม่เข้าไปยึดติดถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา ความสำคัญหมายว่า เราทุกข์ เราปวด เราเมื่อย เราโกรธ ก็ไม่เกิดขึ้น เวลานึกถึงอดีต นึกถึงอนาคตแล้วเกิดความโกรธหรือกังวลขึ้นมา นี่เรียกว่าลืมตัว

    แต่ถ้ามีสติ เห็นความโกรธ เห็นความกังวล ความยึดมั่นสำคัญหมายว่าเราโกรธ เรากังวล ก็ไม่มี เพียงแต่เห็นความกังวลเกิดขึ้นที่ใจ ความโกรธเกิดขึ้นที่ใจ ไม่เข้าไปเป็นมัน ไม่มีฉันผู้โกรธ ฉันผู้กังวล ฉันผู้ทุกข์ จิตก็หลุดจากความทุกข์ได้ ความปวดกายก็เช่นเดียวกัน มันปวดมันเมื่อย ก็เห็นความปวดความเมื่อย แต่ไม่ปรุงเป็นฉันผู้ปวดผู้เมื่อย ก็ไม่มีความทุกข์ใจ ไม่มีความปวดใจ ถามว่าทำไมถึงปรุงเป็นฉันผู้ปวดผู้เมื่อยได้ ตอบสั้น ๆ ว่าเป็นเพราะไม่มีสติ ไม่มีสติเมื่อไร ก็ปรุงตัวกูขึ้นมาเมื่อนั้น สติจึงเป็นเครื่องสลายตัวตน หรือพูดให้ถูกต้องคือทำลายความยึดติดถือมั่นในตัวตน มีสติเมื่อไร ความยึดถือมั่นว่ามีตัวกูของกูก็หายไป ถ้าเพียงสักแต่ว่ารับรู้สิ่งต่างๆ อย่างมีสติ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสกับท่านพาหิยะ ก็ไม่มีตัวกูมาก่อความทุกข์

    ท่านพาหิยะเป็นนักบวชสมัยพุทธกาล อุตสาห์เดินทางข้ามวันข้ามคืนเพื่อจะมาพบพระพุทธเจ้า มาถึงเมืองสาวัตถีขณะที่พระพุทธองค์กำลังเสด็จบิณฑบาตอยู่ จึงรีบเข้าไปทูลขอให้พระองค์แสดงธรรม ท่านพาหิยะอยากจะฟังธรรมเดี๋ยวนั้นเลย พระองค์ก็ปฏิเสธ ท่านพาหิยะก็ยืนกราน ขอให้พระองค์แสดงธรรมอยู่นั่น พระองค์ก็ปฏิเสธว่าไม่ใช่เวลา เพราะกำลังบิณฑบาตอยู่ ท่านพาหิยะทูลขอถึงสามครั้ง สุดท้ายพระองค์ก็ยอมแสดงธรรม ทรงแสดงธรรมสั้นๆ ว่า “เมื่อเห็นรูป ก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อฟัง ก็สักแต่ว่าฟัง เมื่อทราบ ก็สักแต่ว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งในอารมณ์ ก็สักแต่ว่ารู้แจ้งในอารมณ์ เมื่อนั้นตัวเธอย่อมไม่มี เมื่อใดตัวเธอไม่มี เมื่อนั้นย่อมไม่มีทั้งในโลกนี้ ทั้งในโลกหน้า และระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลคือที่สุดแห่งทุกข์” พอพระองค์ตรัสจบ ท่านพาหิยะก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทันที ได้ชื่อว่าเป็นเอตทัคคะในเรื่องการตรัสรู้เร็ว แต่ท่านไม่ทันได้บวชก็โดนวัวขวิดตายกลางถนนนั้นเอง

    นี่ก็เป็นคำสอนที่ชี้ให้เห็นว่าเมื่อมีสติขณะเกิดผัสสะ สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่ารับรู้อารมณ์ ก็ไม่มีตัวตนเกิดขึ้น สติจึงเป็นอุบายสลายตัวตนที่สำคัญมาก ฉะนั้น การที่จะไม่เกิดภพชาติ ไม่ต้องรอให้ตายหรือหมดลมไปก่อนถึงจะหลุดพ้นจากภพชาติ ในขณะที่เรายังมีลมหายใจ การทำให้ความเกิดไม่มี หมดการปรุงเป็นภพเป็นชาติก็สามารถทำได้ ไม่ได้ทำได้เฉพาะพระอรหันต์เท่านั้น ปุถุชนก็สามารถทำได้ เพียงแต่ว่าเป็นครั้งคราว ไม่ใช่ถาวรอย่างพระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้าที่ท่านไม่มีภพไม่มีชาติแล้ว

    เราก็สามารถทำได้ แต่ก็เฉพาะในยามที่มีสติ พอไม่มีสติ ก็ปรุงตัวกูขึ้นมาใหม่ เมื่อเห็น แทนที่สักแต่ว่าเห็น ก็มีตัวกูผู้เห็น ได้ยิน-ก็ไม่ใช่สักแต่ว่าได้ยิน แต่มีตัวกูผู้ได้ยิน โกรธ-ก็ไม่ใช่สักแต่ว่าโกรธ หรือเห็นความโกรธเฉย ๆ แต่มีตัวกูผู้โกรธ เมื่อย-ก็ไม่ใช่สักแต่ว่าเมื่อย หรือเห็นความเมื่อยเท่านั้น แต่ว่ามีตัวกูผู้เมื่อย มันมีการปรุงอยู่ตลอดเวลาถ้าไม่มีสติ แต่ถ้ามีสติ การปรุงก็หมดไป ไม่มีตัวกูขึ้นมา ไม่มีกูผู้โกรธ ผู้เมื่อย อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่มีการเกิด แต่สติเรามีเป็นขณะๆ พอมันดับไป ก็ปรุงตัวกูขึ้นมาอีก

    สติหรือความระลึกได้นั้นเกิดเป็นขณะๆ อยู่ที่ว่าจะต่อเนื่องนานแค่ไหน หลวงพ่อคำเขียนท่านเปรียบเป็นโซ่ ที่ต่อกันเป็นข้อๆ บางคนมีไม่กี่ข้อก็ขาด บางคนมีสี่ห้าข้อเท่านั้นก็ขาด แต่บางคนที่ก้าวหน้าในการปฏิบัติ ข้อของสติก็เชื่อมต่อกันเป็นสายยาว แต่ก็ขาดเหมือนกัน จนกว่าจะมีสติสมบูรณ์เป็นพระอรหันต์ ซึ่งมีข้อที่ยืดยาว ไม่ขาด แต่ถึงเราจะทำไม่ได้ขนาดนั้น ก็ไม่เป็นไร ขอให้เพียรสร้างสติให้ต่อเนื่อง เพื่อที่จะทำให้ทุกข์นั้นสั้นลง ๆ เป็นลำดับ

    การเจริญสติจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเราเจริญสติแล้วเราไม่พอใจแค่ใจสงบเท่านั้น แต่ว่ายกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา คือพิจารณากายและใจหรือรูปกับนามด้วย ก็ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา การเจริญสตินี้ ทำไปๆ เรื่อย ๆ จิตก็สงบ แต่ระวังอย่าให้จิตแนบไปกับอารมณ์ ถ้าจิตแนบกับอารมณ์ ได้ความสงบก็จริงแต่ไม่เกิดปัญญา เพราะไม่เห็นความจริงที่เกิดขึ้นกับจิต พอสงบแล้ว อาการขึ้นลงของจิตก็ไม่ปรากฏเพื่อแสดงให้เห็นไตรลักษณ์ อันนี้เป็นข้อเสียที่ไม่ทำให้เกิดปัญญา หลวงพ่อเทียนจึงแนะลูกศิษย์ว่า เวลาจิตสงบมากๆ ต้องเดินให้เร็ว ยกมือสร้างจังหวะให้เร็ว เพื่ออะไร เพื่อกระตุ้นให้ความคิดออกมา จะได้ฝึกสติพร้อม ๆ กับเห็นธรรมชาติของจิตชัดเจนขึ้น นั่นคือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เช่นนั้นถ้าจิตสงบมาก ๆ บางทีไปคิดว่าจิตเป็นนิจจังคือเที่ยง หรือคิดว่าเป็นตัวตนที่ควบคุมบังคับบัญชาได้ด้วยซ้ำ

    ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกระตุ้นจิตให้มีความคิดออกมา จะได้เห็นอาการอันเป็นธรรมดาของจิต ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญาตามมา ถ้าจิตนิ่งเสียแล้ว หรือแนบกับอารมณ์ก็จะเพลินในความสงบ แต่ปัญญาไม่เกิด อันนี้ เราก็ต้องเข้าใจหลักของการปฏิบัติด้วย ต้องรู้ว่ามีหลุมพรางตรงไหนเพื่อเราจะได้หลีกเลี่ยง ไม่ถลำเข้าไป หรือเพลินนานเกินไปจนไม่ก้าวหน้า

    :- https://visalo.org/article/dhammamata55_14.htm
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    สายสัมพันธ์ที่ตัดไม่ขาด
    พระไพศาล วิสาโล
    การทอดผ้าป่าที่ทำกันเป็นประเพณีนั้น เดิมมุ่งสงเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ในเรื่องจีวร เพราะในสมัยพุทธกาลจีวรเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ถ้าพระต้องการผ้ามาทำจีวร ก็ต้องไปชักมาจากศพ จึงเรียกว่าผ้าบังสกุล หรือผ้าเปื้อนฝุ่น นั่นคือวิธีที่ท่านจะได้ผ้ามาทำเป็นจีวร ต่อมาก็มีญาติโยมอยากสงเคราะห์ท่าน ไม่ให้ท่านต้องลำบาก ก็เอาผ้ามาพาดไว้บนกิ่งไม้ เพื่อให้ท่านมาชักเอา เรียกว่าชักผ้า ก็ได้ผ้ามาทำเป็นจีวร กลายเป็นประเพณีทอดผ้าป่า ต่อมาก็มีประเพณีทอดผ้ากฐินตามมา ซึ่งเป็นสังฆทานในรูปแบบหนึ่ง

    การทอดผ้าป่าเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ แต่ตอนหลังผ้าหาได้ง่ายขึ้น น้ำหนักก็เลยไปเน้นที่บริวาร ไม่ว่าบริวารผ้าป่า หรือบริวารกฐิน อาจจะเป็นเงิน ข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยตรงเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย เพราะว่าสมัยก่อนเมื่อชาวบ้านนับถือพุทธศาสนามากขึ้น พระก็กลายเป็นผู้นำชุมชน วัดเป็นศูนย์กลางของชาวบ้าน เรียกว่าเป็นสมบัติของชาวบ้านก็ได้ เพราะฉะนั้น
    การทอดผ้าป่าที่ทำกันเป็นประเพณีนั้น เดิมมุ่งสงเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ในเรื่องจีวร เพราะในสมัยพุทธกาลจีวรเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ถ้าพระต้องการผ้ามาทำจีวร ก็ต้องไปชักมาจากศพ จึงเรียกว่าผ้าบังสกุล หรือผ้าเปื้อนฝุ่น นั่นคือวิธีที่ท่านจะได้ผ้ามาทำเป็นจีวร ต่อมาก็มีญาติโยมอยากสงเคราะห์ท่าน ไม่ให้ท่านต้องลำบาก ก็เอาผ้ามาพาดไว้บนกิ่งไม้ เพื่อให้ท่านมาชักเอา เรียกว่าชักผ้า ก็ได้ผ้ามาทำเป็นจีวร กลายเป็นประเพณีทอดผ้าป่า ต่อมาก็มีประเพณีทอดผ้ากฐินตามมา ซึ่งเป็นสังฆทานในรูปแบบหนึ่ง

    การทอดผ้าป่าเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ แต่ตอนหลังผ้าหาได้ง่ายขึ้น น้ำหนักก็เลยไปเน้นที่บริวาร ไม่ว่าบริวารผ้าป่า หรือบริวารกฐิน อาจจะเป็นเงิน ข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยตรงเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย เพราะว่าสมัยก่อนเมื่อชาวบ้านนับถือพุทธศาสนามากขึ้น พระก็กลายเป็นผู้นำชุมชน วัดเป็นศูนย์กลางของชาวบ้าน เรียกว่าเป็นสมบัติของชาวบ้านก็ได้ เพราะฉะนั้นอะไรที่ถวายแก่พระ ก็เหมือนกับเป็นสมบัติที่สามารถเป็นประโยชน์แก่ญาติโยมได้ ในเวลาต่อมาพระเองก็มีบทบาทในการเป็นผู้นำชุมชน นอกจากการเผยแผ่ธรรมะแล้ว ท่านยังนำพาชาวบ้านในการพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาชุมชน บางทีก็สงเคราะห์ญาติโยมในรูปแบบต่างๆ เช่นเป็นหมอยาบ้าง สงเคราะห์เด็กที่มาอาศัยวัด จัดการศึกษาให้เด็กเหล่านั้นบ้าง ก็ต้องอาศัยปัจจัย ซึ่งท่านเองไม่สามารถหามาได้ลำพัง ก็ต้องมีญาติโยมนำมาถวาย เป็นเงินบ้าง ข้าวของเครื่องใช้บ้าง เป็นยาบ้าง อุปกรณ์ก่อสร้างบ้าง ทั้งหมดนี้พระไม่ได้ใช้โดยตรงก็มี แต่เป็นประโยชน์แก่ญาติโยม
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,372
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    เพราะฉะนั้นผ้าป่าในระยะหลัง จึงไม่ใช่การสงเคราะห์พระสงฆ์ในเรื่องปัจจัยสี่อย่างเดียว แต่เป็นการสงเคราะห์หรือช่วยเหลือท่านให้มีกำลังในการทำประโยชน์ให้แก่ชาวบ้าน ให้คนได้เห็นคุณค่าแห่งพระศาสนา หรือมีใจน้อมนำไปทางธรรมะ มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยมีพระสงฆ์เป็นแบบอย่าง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นการเกื้อกูลธรรมะให้เกิดขึ้นกับชุมชน กับท้องถิ่น พระในสมัยก่อน ท่าน ไม่ได้สอนธรรมะด้วยคำพูดเท่านั้น แต่ยังสอนด้วยการกระทำ สอนด้วยการเป็นแบบอย่างของผู้เสียสละ ผู้ที่ไม่ยึดติดอยู่กับวัตถุ แต่มุ่งเกื้อกูลผู้คน

    การทอดผ้าป่าพันธุ์ไม้ที่เราทำกันในวันนี้ แม้จะไม่ได้จัดที่วัดตามประเพณี แต่เป้าหมายก็เพื่อส่งเสริมให้พระสงฆ์มีบทบาทในการสงเคราะห์ชุมชน ช่วยเหลือสังคม รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดความเจริญงอกงามในทางธรรม ในเรื่องคุณภาพชีวิต ดังที่เราทราบดีใน ปัจจุบันมีปัญหาสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติเสื่อมโทรม ส่งผลต่อชีวิตของผู้คน ในสภาพเช่นนี้พระสงฆ์น่าจะมีบทบาทในการกระตุ้นให้ผู้คนตื่นตัว เห็นคุณค่าธรรมชาติ เห็นว่าธรรมชาติมีคุณค่าในด้านปัจจัย 4 อีกทั้งยังมีคุณค่าในทางจิตใจ มีคุณค่าในการส่งเสริมให้เกิดธรรมะได้ เพราะว่าธรรมะกับธรรมชาตินั้นเกี่ยวข้องกันกันมาก พระพุทธเจ้าทรงอยู่กับธรรมชาติอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ชีวิตของพระองค์เชื่อมโยงกับธรรมชาติตลอด นอกจากนั้นยังทรงแนะนำพระสงฆ์ให้บำเพ็ญธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐานในป่า เพื่อให้เข้าใจธรรม รวมทั้งเข้าใจว่า ธรรมชาติของใจกับธรรมชาติที่เป็นภูเขาแม่น้ำ ไม่ได้แตกต่างกันเลย จะเห็นเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อมีปัญญาซึ่งเกิดจากการบำเพ็ญภาวนา คุณค่าและความสัมพันธ์ของธรรมชาติทั้งภายในและภายนอก เป็นสิ่งหนึ่งที่พระสงฆ์ควรมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ผู้คนได้ตระหนัก
    การทอดผ้าป่าในวันนี้ ไม่เพียงเป็นการแสดงบทบาทของญาติโยมในการช่วยเหลือรักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับพระสงฆ์ ได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมนี้ด้วย ในด้านหนึ่งก็ช่วยให้ผู้คนเห็นว่าพระสงฆ์ไม่ได้แยกขาดจากสังคม ท่านพร้อมที่จะมีส่วนร่วม สนับสนุนหรือในบางโอกาสก็เป็นผู้นำ ในการรักษาฟื้นฟูธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการทำกิจอย่างอื่น ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย
    การทอดผ้าป่าในวันนี้ไม่ได้แตกต่างจากการทอดผ้าป่าในอดีตที่มุ่งการส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์ให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน หรือช่วยเหลือเกื้อกูลญาติโยมทั้งในทางธรรมและในทางโลก ว่าเฉพาะจุดมุ่งหมายของการทอดผ้าป่าพันธุ์ไม้ในวันนี้ ก็คือการช่วยกันฟื้นฟูธรรมชาติ โดยมุ่งชี้ให้เห็นว่าธรรมชาตินั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพของเรา เราทุกคนย่อมตระหนักดีว่าธรรมชาติมีประโยชน์มากมาย ไม่ใช่เพียงแค่ให้ปัจจัย 4 เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เท่านั้น อันนี้เป็นประโยชน์ที่เราเห็นได้ชัด แต่เดี๋ยวนี้ก็ชักจะลืมเลือนกันไปแล้ว เดี๋ยวนี้ถ้าไปถามเด็กว่า น้ำมาจากไหน เด็กก็จะตอบว่าน้ำมาจากก๊อก อาหารมาจากไหน อาหารก็มาจากซุปเปอร์มาร์เกตหรือร้านเซเว่น การคิดแบบนี้คล้ายคลึงกับบางท่านในสมัยพุทธกาล พระอนุรุทธะ ก่อนที่จะมาบวชและเป็นพระอรหันต์ ท่านเป็นเจ้า มีชีวิตที่สะดวกสบายมาก เคยมีคนถามท่านกับเพื่อน ๆตอนเป็นเจ้าชายว่า ว่าข้าวที่ท่านกำลังรับประทานนั้นเกิดขึ้นที่ไหน คนหนึ่งตอบว่าเกิดขึ้นที่ฉาง อีกคนตอบว่าเกิดขึ้นที่หม้อข้าว ส่วนพระอนุรุทธะตอบว่าข้าวเกิดขึ้นที่ถาด คือท่านไม่เข้าใจว่าอาหารมีที่มาที่ไปอย่างไร ไม่เคยเห็นว่าข้าวก็ดี ผักก็ดี มันมาจากธรรมชาติ ท่านเห็นอาหาร เห็นข้าว ก็เฉพาะตอนที่อยู่ในถาดแล้ว
     

แชร์หน้านี้

Loading...