บทความให้กำลังใจ(สร้างพลังใจในยามวิกฤต )

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    underbothitree.jpg
    ความสุขสองแบบ

    พระไพศาล วิสาโล
    ในทางพุทธศาสนา ความสุขเป็นเรื่องสำคัญ ถึงแม้ว่าพุทธศาสนาจะพูดถึงความทุกข์เป็นเรื่องแรกในอริยสัจ แต่ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เราเข้าใจทุกข์อย่างแท้จริง เมื่อเราเข้าใจทุกข์อย่างถึงรากแล้ว ความสุขก็จะเกิดขึ้นเอง เพราะเราจะรู้ว่าที่ทุกข์ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะความยึดติดถือมั่น โดยเฉพาะความยึดติดถือมั่นในตัวตน ในตัวกูของกู ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ ความคิด ทฤษฎี หรือภาพตัวตนที่เราสร้างขึ้นมา ทั้งหมดนี้คือที่มาหรือรากเหง้าแห่งความทุกข์ เพียงแค่เรารู้ด้วยใจ ไม่ได้รู้ด้วยสมอง ก็จะวางได้เอง และเมื่อถึงตรงนั้นความสุขก็จะเกิดขึ้น แต่ว่าความสุขแบบนี้จะต้องเกิดจากปัญญาที่แจ่มแจ้ง

    ความสุขสำหรับคนทั่วไป เป็นความสุขที่เกิดจากการเสพทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือกามสุข เรียกอีกอย่างว่า ความสุขที่เกิดจากการเร้าจิตกระตุ้นใจ ลองสังเกตดู ความสุขทางโลกที่ผู้คนแสวงหา ไม่ว่ารูปธรรม หรือนามธรรมล้วนเป็นเช่นนี้ รูปธรรมอย่างเช่น อาหารที่อร่อย เพลงที่ไพเราะ หรือสัมผัสที่น่าพึงพอใจ ส่วนนามธรรมก็ได้แก่ ชื่อเสียง เกียรติยศ อำนาจ ทั้งหมดนี้ล้วนมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่คล้ายกันคือ เร้าใจให้ตื่นเต้นเวลาที่ได้มาหรือได้เสพ เช่น อาหารอร่อยก็เพราะว่ามันกระตุ้นลิ้นแล้วก็ไปกระตุ้นใจ ต่างจากอาหารที่จืดชืด ไม่อร่อย เพลงที่มีโทนเดียว ใครฟังก็รู้สึกว่าไม่เพราะ เพลงที่คนส่วนใหญ่ฟังแล้วมีความสุขต้องเป็นเพลงที่มีจังหวะกระตุ้นเร้า ถ้าเป็นวัยรุ่นก็ต้องเป็นเพลงที่กระแทกกระทั้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อกระตุ้นผัสสะซึ่งนำไปสู่ความสุขทางใจ แม้แต่ความสุขทางเพศก็เกิดจากการกระตุ้นเร้าทั้งกายและใจ อำนาจก็เช่นกัน ผู้คนแสวงหาก็เพราะมันตื่นเต้นเร้าใจ ทำให้หัวใจพองโต แม้แต่ตัวเลขในสมุดบัญชี เห็นแล้วก็มีความสุขเพราะมันทำให้เกิดความกระเพื่อมไหวพองฟูในจิตใจ ทั้งๆ ที่เราไม่รู้ว่าจะได้ใช้เงินนั้นหรือเปล่า หลายๆ คนพอใจที่มีเงินเข้ามาเรื่อยๆ แม้ยังไม่ได้ใช้เงินก็มีความสุขแล้ว เพราะว่ามันเร้าจิตกระตุ้นใจ ในทำนองเดียวกัน ทำไมผู้คนชอบไปเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้า ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเงิน นั่นเป็นเพราะเขารู้สึกตื่นเต้นเร้าใจเมื่อได้เห็นของแปลกๆ ใหม่ๆ นี่คือความสุขประเภทแรกที่ผู้คนเสาะหา

    แต่ความสุขประเภทนี้เมื่อได้เสพ ได้สัมผัสไปสักพักก็จะเริ่มชินชา อยากได้ใหม่ หรืออยากได้มากขึ้น ไม่ต่างจากคนที่สูบบุหรี่ หรือกินกาแฟ เมื่อก่อนสูบบุหรี่เพียงแค่ครึ่งมวนก็สบาย มีความสุขแล้ว หรือชงกาแฟดื่มเพียงแค่ครึ่งช้อนก็รู้สึกกระชุ่มกระชวย แต่ถ้าสูบบุหรี่หรือดื่มกาแฟไปเรื่อยๆ ถามว่าบุหรี่ครึ่งมวน หรือกาแฟครึ่งช้อนเท่าเดิมพอไหม ไม่พอแล้ว ต้องเพิ่มมวนบุหรี่มากขึ้น ต้องเพิ่มปริมาณกาแฟมากขึ้น ความสุขแบบนี้ทำให้เราต้องเสพมากขึ้น หรือมีของใหม่มากขึ้นอยู่เรื่อย ๆ

    ทั้ง ๆ ที่มีเสื้อนับร้อยตัว ทำไมเราถึงอยากได้เสื้อตัวใหม่ เพราะว่าความสุขของคนส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นกับว่ามีเท่าไหร่ แต่อยู่ที่ได้ของใหม่เพิ่มขึ้น คุณมีเงินร้อยล้านพันล้าน คุณก็ไม่มีความสุขถ้าคุณไม่มีเงินก้อนใหม่เข้ามา แม้จะเป็นเงินหมื่นเงินแสนก็ตาม เพราะฉะนั้นคนที่มีเงินร้อยล้านพันล้านจึงต้องหาเงินไม่รู้จักจบสิ้น จนกระทั่งกลายเป็นทาสของมัน เพราะว่าเงินก้อนใหม่หรือของใหม่ที่ได้มานั้นมันไปกระตุ้นจิตใจ ทำให้มีความสุข ความสุขของคนเราถึงที่สุดแล้วไม่ได้เกิดจากการมี แต่เกิดจากการได้ มีเท่าไหร่ก็ไม่มีความสุข ถ้าไม่ได้อะไรมาใหม่ๆ นี่คือโทษของความสุขแบบนี้ คือพอเสพเข้าไปมากๆ เราจะขาดมันไม่ได้ อยากได้เรื่อยไปจนตกเป็นทาสของมัน

    มีเศรษฐีคนหนึ่งอายุ ๗๐ กว่าปี มีโรคภัยเบียดเบียน นอนป่วยอยู่ แต่แทนที่จะพักผ่อน กลับหมกมุ่นครุ่นคิดถึงโครงการลงทุนใหม่ๆ ไม่หยุดหย่อนจนเครียด ทั้งๆ ที่เขาควรจะหาเวลาพักผ่อนเพราะสุขภาพไม่อำนวย แต่เขากลับหยุดหาเงินไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่มีอยู่แล้วมากมายมหาศาล และที่ได้มาใหม่ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ใช้หรือไม่ แสดงว่าเงินไม่ใช่ของเขา แต่ว่าเขาเป็นของเงิน จึงต้องทุ่มเทชีวิตเพื่อหาเงินหาทองจนกว่าจะหมดลม

    จะว่าไปแล้วอุทกภัยครั้งนี้ช่วยให้เราให้เห็นตัวเองชัดเจนว่า สมบัติทั้งหลายนั้นเป็นของเราหรือเราเป็นของมัน ถ้ามันเป็นของเรา ถ้าเราเป็นนายมัน เมื่อเสียมันไปก็สามารถปล่อยวางได้ ไม่ทุกข์ร้อน แต่ถ้าเราเป็นของมัน เราก็จะคร่ำครวญเสียอกเสียใจ หรือถึงแม้จะยังไม่สูญเสียมันไป แต่ก็กังวลพะว้าพะวง ตัวเองอยู่ที่นี่แต่ใจไปอยู่ที่บ้าน อยู่กับทรัพย์สมบัติ หรือรถยนต์ หรือแม้ตัวจะอยู่บ้าน แต่ก็กินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะเครียดกับความสูญเสียที่กำลังจะเกิดขึ้น

    นี่คือโทษของกามสุข คือเมื่อติดใจมันเข้าแล้ว นอกจากจะต้องเพิ่มปริมาณในการเสพมากขึ้น หรือดิ้นรนหามาเพิ่มไม่หยุดหย่อนแล้ว เรายังตกเป็นทาสของมัน แล้วมันก็จะเผาใจของเรา พระพุทธเจ้าอุปมาว่ากามสุข รวมไปถึงสุขจากโลกธรรม เปรียบเหมือนคบไฟที่ทำด้วยหญ้าแห้ง แม้จะให้แสงสว่าง แต่ก็เต็มไปด้วยควัน ซึ่งทำให้ระคายจมูก ระคายตา บางที่พระองค์ก็เปรียบว่าเหมือนกับการถือคบไฟเดินต้านลม ถ้าเราถือไปเรื่อย ๆ ไม่ยอมปล่อย ในที่สุดไฟก็จะเผามือ

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 กุมภาพันธ์ 2024
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    (ต่อ)
    มีความสุขอีกประเภทหนึ่ง เกิดจากจิตที่สงบ ปลอดจากสิ่งยั่วยุกระตุ้นเร้าของวัตถุ ความสุขประเภทนี้ตรงข้ามกับความสุขประเภทแรก คือ ใจยิ่งสงบเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นสุขมากเท่านั้น เช่นสุขที่เกิดจากสมาธิ หรือสุขที่เกิดจากการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สงบสงัด

    ความสงบใจมีสองแบบ คือ สงบเพราะไม่รู้ กับสงบเพราะรู้ สงบเพราะไม่รู้เช่น ถ้าเราไม่ฟังข่าวน้ำท่วม ไม่ฟังวิทยุ ไม่ดูโทรทัศน์ เราเก็บตัวอยู่ในห้องพระ ใจเราก็สงบได้ แต่เมื่อใดที่เราเปิดโทรทัศน์ดูข่าว เราก็ไม่สงบแล้ว หรือบางคนแม้อยู่คนเดียว ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่ฟังวิทยุ ใจก็ไม่สงบ แต่พอเริ่มเอาจิตมาอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้ารู้สึก หายใจออกรู้สึก จิตไม่ออกไปคิดถึงเรื่องน้ำท่วม จิตก็สงบนิ่ง อันนี้คือความสงบเพราะไม่รับรู้ ไม่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยที่ใจก็ไม่รับรู้อะไรอย่างอื่นนอกจากลมหายใจ

    แต่มีความสงบอีกประเภทหนึ่งคือ ความสงบเพราะรู้ รู้อารมณ์ที่กระเพื่อมไหว และรู้ใจที่คิดนึก ถึงแม้ว่าไม่ได้อ่านข่าว ไม่ได้ฟังวิทยุ แต่พอใจฟุ้งหรือนึกอาลัยข้าวของที่จมน้ำ หรือกังวลว่ารถของเราจะเป็นอย่างไร ถ้าเกิดน้ำท่วมในวันพรุ่งนี้หรือวันพรุ่ง พอรู้ว่าใจฟุ้งซ่านก็วางความคิดนั้น จิตก็สงบ

    สงบเพราะรู้ คือรู้ใจที่กระเพื่อม รู้อารมณ์ที่ครอบงำใจ รู้แล้วก็วาง นั่นคือรู้เพราะมีสติ เมื่อมีสติก็รู้ทันอารมณ์ รู้ทันจิตที่คิด ที่ปรุงแต่ง รู้แล้วก็วาง ถ้ารู้แบบนี้ใจเราก็สามารถสงบได้แม้อยู่ท่ามกลางเสียงอึกทึกวุ่นวาย แม้เราจะฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ทีแรกใจก็กระเพื่อม กังวล แต่พอมีสติรู้ทัน ก็วางมันได้ ความสงบก็กลับมาสู่จิตใจ เราไม่จำเป็นต้องปิดหูปิดตา สามารถรับรู้ข่าวสารบ้านเมืองโดยที่ใจยังสงบอยู่ได้ เพราะไม่ได้รู้เรื่องภายนอกหรือข่าวสารบ้านเมืองเท่านั้น แต่ยังรู้ภายในคือรู้ใจด้วย รู้ใจแล้วก็วางความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ลงได้ จึงทำให้ใจสงบ นี่คือสงบเพราะรู้ รู้ด้วยสติ

    เรายังสามารถจะรู้ด้วยปัญญา รู้ด้วยปัญญาคือ รู้ความจริงว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง รู้ถึงความเป็นอนิจจังของสิ่งต่างๆ รู้ว่าวันนี้สุขพรุ่งนี้ทุกข์ รู้ว่าวันนี้ทุกข์พรุ่งนี้สุข และรู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเราได้ คือรู้ไตรลักษณ์นั่นเอง เมื่อรู้ไตรลักษณ์แล้วใจก็สงบ แม้มีอะไรมากระทบใจก็ไม่กระเพื่อม แม้ของจะสูญหายไปกับสายน้ำก็ไม่ทุกข์ เพราะเรารู้ตั้งแต่แรกแล้วว่า มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เรารู้และตระหนักถึงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา แม้ในวันที่มีความสุข เราก็ตระหนักถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า อนาคตภัย

    อนาคตภัยคือ ภัยในอนาคต วันนี้สุขก็จริงแต่ว่าพรุ่งนี้ไม่แน่ วันนี้สุขภาพดี แต่พรุ่งนี้ก็อาจเจ็บป่วย วันนี้ยังมีกำลังวังชา แต่พรุ่งนี้ก็จะไม่มีเรี่ยวแรง วันนี้อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ แต่พรุ่งนี้ก็อาจขาดแคลน วันนี้ครอบครัวชุมชนมีความสงบ แต่พรุ่งนี้ก็อาจจะวุ่นวายวิวาทกัน เมื่อระลึกได้เช่นนี้ก็พยายามป้องกันไม่ให้ภัยเหล่านั้นเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็เตรียมตัวเตรียมใจหากมันเกิดขึ้นมา จะได้ไม่เป็นทุกข์ เพราะเผื่อใจไว้แล้ว พร้อมกันนั้นก็มีปัญญารู้ว่าไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย ในยามที่เจ็บป่วยเราก็ยอมรับว่านี่เป็นธรรมชาติหรือธรรมดาของสังขาร เมื่อรู้เช่นนี้เราก็ปล่อยวางได้ น้ำจะท่วมบ้านเราก็ปล่อยวางและทำใจได้ เพราะเรารู้แต่แรกว่าไม่มีอะไรแน่นอนเลย หรือเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง

    แต่เมื่อใดก็ตามที่เราทุกข์ก็แสดงว่าเรายังไม่เข้าถึงความจริง ยังไม่เกิดปัญญา หลวงพ่อชา สุภัทโท พูดไว้น่าคิดว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรานั้นมันถูกเสมอ แต่ถ้าเราทุกข์เมื่อไหร่นั่นแปลว่าใจเราวางไว้ผิด ใจที่วางไว้ผิดในที่นี้ได้แก่การยึดติดถือมั่นเพราะความไม่รู้ เพราะขาดปัญญา แต่ถ้าเรามีปัญญา วางใจได้ถูกต้อง จิตก็จะสงบ ไม่ทุกข์เพราะความผันผวนปรวนแปรที่เกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่า สงบเพราะรู้ สงบอย่างนี้แหละที่จะนำไปสู่ความสุขอันสูงสุด คือพระนิพพาน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี”
    :- https://visalo.org/article/PosttoDay25550101.htm
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    6144.jpg
    ชัยชนะที่ยั่งยืน

    พระไพศาล วิสาโล
    ในการอบรมคราวหนึ่ง วิทยากรได้ชูกำปั้นขึ้น และเชิญชวนให้ทุกคนในห้องหาทางทำให้เขาแบมือออกมา คนแล้วคนเล่าลุกขึ้นมางัดแงะกำปั้นของเขา พยายามดึงนิ้วของเขาให้ถ่างออก หรือไม่ก็บีบข้อมือของเขาโดยหวังว่าความเจ็บปวดจะทำให้เขาคลายกำปั้น แต่ก็ไม่ได้ผล

    ถ้าเป็นคุณ จะทำอย่างไร ?

    ชายผู้หนึ่งเดินตรงมาหาเขาด้วยหน้าตายิ้มแย้ม แล้วก็พนมมือไหว้ เขายกมือไหว้ตอบทันที สักพักคนในห้องจึงสังเกตว่ากำปั้นของเขาได้คลายออกแล้ว

    โดยไม่ได้ใช้กำลังอย่างคนอื่น ๆ เลย ชายผู้นี้สามารถทำให้วิทยากรคลายกำปั้นออกมาได้ เขาเพียงแต่แสดงไมตรีด้วยการพนมมือไหว้เท่านั้น

    คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ที่คิดอย่างชายผู้นี้ ถ้าใช่คุณเป็นคนส่วนน้อยมาก ๆ เพราะจากประสบการณ์ของวิทยากร คนส่วนใหญ่คิดแต่การเอาชนะเขาด้วยกำลัง ไม่ว่าหญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ มีไม่กี่คนที่คิดจะชนะใจเขา ถ้าไม่ด้วยการไหว้ ก็ด้วยการยื่นดอกไม้หรือยื่นมือมาทักทายเขา

    กิจกรรมเล็ก ๆ นี้บอกอะไรบ้างไหมเกี่ยวกับวิธีคิดของผู้คนส่วนใหญ่ในเวลานี้ ใช่หรือไม่ว่าเราคิดถึงการใช้กำลังมากกว่าวิธีการที่สันติ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับใครก็ตาม เราคิดแต่จะเอาชนะด้วยกำลังยิ่งกว่าการชนะใจ แต่กิจกรรมเดียวกันนี้เองก็บอกเราว่าวิธีการที่สันตินั้นสามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่าแม้ในกรณีที่ดูเหมือนว่าต้องใช้กำลังเท่านั้นเป็นทางออก การใช้ไมตรีนั้นสามารถทำให้อีกฝ่าย “ยอมจำนน”ได้ หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือ “ชนะ”ทั้งสองฝ่าย เพราะขณะที่วิทยากรได้มิตรภาพ อีกฝ่ายก็สามารถคลายกำปั้นเจ้าปัญหาออกมาได้

    จริงอยู่กิจกรรมนี้เป็นแค่เกม ในชีวิตจริงเราคงไม่คิดจะใช้กำลังแก้ปัญหากับใคร แต่ใช่หรือไม่ว่าเมื่อมีข้อขัดแย้งกับใคร คนส่วนใหญ่นิยมใช้วิธี “แรงมาก็แรงไป” ถ้าเขาโกรธมา ก็โกรธไป ด่ามา ก็ด่าไป การใช้วิธีที่นุ่มนวลหรือใช้ความดีเข้าเผชิญมักจะถูกมองข้ามไป หรือถูกบอกปัดไปเพราะเข้าใจว่าไม่ได้ผล แต่ในความเป็นจริงวิธีการดังกล่าวก็ได้ผลไม่น้อยไปกว่าในเกม “คลายกำปั้น”ข้างต้น

    สตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้กำกับและนักสร้างหนังชื่อดังแห่งฮอลลีวู้ด เล่าว่าเมื่ออายุ ๑๓ ปีชีวิตของเขาเหมือนตกอยู่ในนรก เพราะที่โรงเรียนมีอันธพาลวัย ๑๕ คนหนึ่งชอบทำร้ายเขา ทั้งทุบตีและขว้างปาระเบิดไข่เน่าใส่เขา เขาทนสภาพนี้อยู่นาน แล้ววันหนึ่งเขาก็เข้าไปหาอันธพาลคนนั้นและพูดว่า “เธอรู้ไหม ฉันกำลังถ่ายทำหนังเรื่องสู้กับนาซี เธออยากเล่นบทพระเอกไหม ?” ทีแรกอันธพาลหัวเราะใส่เขา แต่ในที่สุดก็ตกลง สปีลเบิร์กเล่าว่า หลังจากถ่ายทำวีดีโอเสร็จ อันธพาลคนนั้นได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทของเขา

    การที่สปีลเบิร์กให้การยอมรับเขาและเปิดโอกาสให้เขาได้เป็นพระเอก มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนเขาจาก “ศัตรู” ให้กลายเป็นมิตรได้ เพราะลึก ๆ วัยรุ่นคนนั้นก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการได้รับความยอมรับ สปีลเบิร์กชนะใจเขาด้วยการยื่นไมตรีให้แทนที่จะตั้งตัวเป็นศัตรูหรือยอมจำนนต่ออำนาจบาตรใหญ่ของเขา

    น้ำใจไมตรีไม่เพียงแปรเปลี่ยนความขัดแย้งให้คลี่คลายไปในทางที่ดีเท่านั้น หากยังสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ด้วย
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    (ต่อ)
    นักธุรกิจไทยผู้หนึ่งได้เล่าถึงประสบการณ์เมื่อครั้งไปเรียนหนังสือในเมืองบอสตันว่า เธอเคยถูกคนผิวดำล็อกคอและเอามีดจี้ขณะรอสัญญาณไฟเขียวบนเกาะหน้ามหาวิทยาลัย เมื่อโจรพบว่าในกระเป๋าของเธอมีเงินแค่ ๒๐ ดอลลาร์ ก็ไม่พอใจ เขาขุ่นเคืองหนักขึ้นเมื่อพบว่าเธอไม่มีนาฬิกา แหวนและกำไรเลยสักอย่าง เขาจึงถามเธอว่า “เป็นคนเอเชียมาเรียนที่นี่ได้ก็ต้องรวยไม่ใช่หรือ ?” เธอตอบว่า “สำหรับฉันน่ะไม่ใช่ เพราะได้ทุนมา” แล้วโจรก็ย้อนกลับมาถามถึงเงิน ๒๐ ดอลลาร์ว่าจะเอาไปทำอะไร เธอตอบว่า เอาไปซื้อไข่ เขาถามเธอว่าเอาไข่ไปทำอะไร “ เอาไปต้มกินได้ทั้งอาทิตย์” เธอตอบตามความจริงเพราะตอนนั้นการเงินฝืดเคือง

    ระหว่างที่โต้ตอบกันอยู่นั้น ยามหน้ามหาวิทยาลัยเห็นผิดสังเกต จึงยกหูโทรศัพท์เรียกตำรวจ เธอมองเห็นพอดีก็เลยโบกมือว่า “ไม่ต้อง ๆ เราเป็นเพื่อนกัน” โจรได้ยินเช่นนั้นก็งง ถามว่า “คุณรู้จักกับผมตั้งแต่เมื่อไหร่ ?” “ก็เมื่อกี้ไง” เธอตอบ

    โจรเปลี่ยนท่าทีไปทันที หลังจากสนทนาพักใหญ่ โจรไม่เพียงแต่จะคืนเงินให้เธอ หากยังพาเธอไปซื้อไข่และซื้ออาหาร ๓ ถุงใหญ่ พร้อมทั้งหิ้วมาส่งถึงหน้ามหาวิทยาลัย แล้วยังแถมเงินอีก ๕๐ ดอลลาร์

    เรื่องนี้ยังไม่จบเพราะวันรุ่งขึ้นเธอนำเงิน ๕๐ ดอลลาร์นั้นไปซื้อเครื่องปรุงอาหารไทย แล้วไปเยี่ยมบ้านเขาเพื่อทำต้มยำกุ้งให้กินกันทั้งครอบครัว นับแต่นั้นทั้งสองฝ่ายก็ไปมาหาสู่กัน เธอเล่าว่าทุกวันนี้หากมีธุระไปบอสตันก็จะไปแวะเยี่ยมครอบครัวนี้ทุกครั้ง

    น้ำใจไมตรีและความดีนั้นมีพลังที่สามารถเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี และเปลี่ยนภัยคุกคามให้เป็นสะพานสานมิตรภาพได้ ใช่หรือไม่ว่าการกำจัดศัตรูที่ดีที่สุดก็คือการเปลี่ยนเขามาเป็นมิตรนั่นเอง นี้คือชัยชนะที่ให้ผลยั่งยืนกว่าชัยชนะด้วยกำลังที่เหนือกว่า

    พลังของน้ำใจไมตรีและความดีนั้นอยู่ที่การดึงเอาคุณธรรมและความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายหนึ่งออกมาแม้จะซ่อนเร้นหรืออยู่ลึกเพียงใดก็ตาม ในทางตรงกันข้ามการใช้พละกำลังและความรุนแรงมีแต่จะดึงเอาความโกรธเกลียดและคุณสมบัติทางลบของคู่กรณีออกมาปะทะกัน ผลก็คือความขัดแย้งลุกลามจนกลายเป็นความรุนแรง หรือทำให้ความรุนแรงไต่ระดับจนยากแก่การระงับ เวรไม่อาจระงับด้วยการจองเวรก็เพราะเหตุนี้

    น้ำใจและไมตรีไม่เพียงสามารถชนะใจคู่กรณีในความขัดแย้งระหว่างบุคคลเท่านั้น หากยังมีอานุภาพแม้กระทั่งในความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนที่ลุกลามจนกลายเป็นสงครามระหว่างกัน การหยิบยื่นน้ำใจและไมตรีให้แก่ผู้จับอาวุธต่อสู้รัฐเมื่อ ๒๕ ปีก่อนมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้รัฐบาลได้รับชัยชนะในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)หลังประกาศนโยบาย ๖๖/๒๓ ชัยชนะในระดับประเทศเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบนั้นสามารถแลเห็นได้จากเรื่องเล่าเกี่ยวกับชัยชนะในพื้นที่แห่งหนึ่งที่จังหวัดน่าน ซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นของพคท.

    พื้นที่แห่งนั้นมีชาวม้งเป็นผู้ปฏิบัติงานและแนวร่วมที่สำคัญ แล้ววันหนึ่งก็มีข่าวว่าทหารได้ “จับ”แกนนำและแนวร่วมที่เป็นชาวม้งไปหลายคน อดีตสมาชิกพคท.ผู้หนึ่งเล่าว่าเมื่อได้ยินข่าวนั้นก็มั่นใจว่าชาวม้งเหล่านั้นต้องประสบชะตากรรมที่เลวร้ายแน่ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อพคท.เพราะจะทำให้มีชาวม้งอีกหลายคนเข้าร่วมกับพคท.มากขึ้น แต่ปรากฏว่าไม่กี่วันต่อมาชาวม้งเหล่านั้นก็กลับมาอย่างปลอดภัย พวกเขาเล่าว่าทหารปฏิบัติกับพวกเขาอย่างดี อีกทั้งยังพาไปกินก๊วยเตี๋ยวและไปเที่ยวในเมือง เสร็จแล้วก็ปล่อยกลับมา ชาวม้งเหล่านั้นพูดว่า “ต่อไปนี้พวกผมไม่ขึ้นเขาอีกแล้ว” เมื่อได้ยินเช่นนั้นอดีตสมาชิกพคท.ผู้นั้นก็เห็นลางร้าย เขาถึงกับพูดขึ้นว่า “เราแพ้ทางเขาแล้ว”

    ใช่หรือไม่ว่ายิ่งรัฐใช้ความรุนแรงมากเท่าไรในการปราบผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยิ่ง “เข้าทาง”ของเขามากขึ้นเท่านั้น การหยิบยื่นน้ำใจไมตรีและใช้สันติวิธีเท่านั้นที่จะทำให้เขา “แพ้ทาง” เพราะถึงจะยังชนะใจเขาไม่ได้ แต่ก็สามารถชนะใจและดึงประชาชนที่เป็นแนวร่วมของเขาให้กลับมาเป็นมิตรกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ นี้คือปัจจัยแห่งชัยชนะที่ยั่งยืนซึ่งอาวุธปืนไม่สามารถสร้างขึ้นได้
    :- https://visalo.org/article/PosttoDay254810.htm
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    reallifetooshort.jpg
    สุสานกับลายมือบนกำแพง

    พระไพศาล วิสาโล
    เหนือกรุงปักกิ่งมีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมไปชม ได้แก่สุสานราชวงศ์หมิง ยกเว้นสุสานของจักรพรรดิจิ๋นซีแล้ว สุสานราชวงศ์หมิงนับว่ามีชื่อเสียงมากที่สุดของจีน เพราะนอกจากอยู่ในสภาพสมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่แล้ว ยังมีความยิ่งใหญ่อลังการทั้งด้านขนาดและวิจิตรศิลป์ เนื่องจากส่วนใหญ่สร้างในช่วงที่ราชวงศ์นี้ยังเรืองอำนาจและว่างเว้นจากสงคราม

    ในบรรดาสุสานของจักรพรรดิ ๑๓ พระองค์ที่จับกลุ่มอยู่ในบริเวณเดียวกันนี้ มีเพียงสุสานเดียวที่ทางการได้ขุดสำรวจเรียบร้อยแล้ว ได้แก่สุสานติ้งหลิงของจักรพรรดิองค์ที่ ๑๓ คือจักรพรรดิวั่นลี่ (ค.ศ.๑๕๖๓-๑๖๒๐) สุสานแห่งนี้จัดว่าวิจิตรอลังการมากที่สุด ผู้ที่เข้าไปชมสุสานแห่งนี้นอกจากจะต้องเดินผ่านลานด้านหน้าและซุ้มประตูหลายซุ้มแล้ว ยังต้องลงบันไดลึก ๓๐ เมตรกว่าจะถึงวังใต้ดิน และต้องผ่านประตูหินขนาดใหญ่หลายบานซึ่งในอดีตถูกปิดตาย

    ในวังใต้ดินซึ่งมีห้องโถงใหญ่สามห้อง นอกจากบรรจุพระศพของจักรพรรดิและพระมเหสีกับพระสนมแล้ว ยังมีบัลลังก์หินอ่อนสามบัลลังก์ และสมบัติของจักรพรรดิอีกมากมาย รวมทั้งมงกุฎทองคำและเครื่องราชูปโภคที่ทำอย่างวิจิตรบรรจง รวมแล้วหลายพันชิ้น

    วังดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการบุกรุกและลักขโมย ดังนั้นจึงสร้างประหนึ่งซุกซ่อนอยู่ใต้ดิน นอกจากนั้นยังมีประตูพิเศษที่ลั่นดาลด้วยตนเองจากด้านใน เมื่อปิดแล้วก็ไม่สามารถเปิดได้อีก เท่านั้นยังไม่พอ ทางเข้าวังยังปกปิดไว้เป็นความลับ กล่าวกันว่าช่างที่ออกแบบและสร้างทางเข้าดังกล่าวถูกฆ่าปิดปากทันทีที่บรรจุพระศพเสร็จ ส่วนผู้ที่ฆ่านั้นก็ไม่วายถูกฆ่าอีกทอดหนึ่ง เป็นเช่นนี้อยู่หลายทอด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครที่ล่วงรู้ความลับดังกล่าวหลงเหลือแม้แต่คนเดียว

    สมบัติมากมายประมาณค่ามิได้เหล่านี้ถูกเก็บไว้ในสุสาน ก็ด้วยความเชื่อว่าจะตามไปอำนวยสุขให้แก่จักรพรรดิอย่างพรั่งพร้อมในภพหน้า ดังนั้นจึงต้องป้องกันรักษาอย่างเต็มที่ไม่ให้ใครขโมยไปได้แม้แต่ชิ้นเดียว แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไร้ผล เพราะเมื่อทางการจีนสามารถเข้าไปในวังใต้ดินได้สำเร็จเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ได้พบว่าสมบัติหลายชิ้นในนั้นถูกขโมยไปแล้ว แม้กระนั้นก็ยังเหลืออีก ๓,๐๐๐ ชิ้นที่ต่อมาถูกย้ายไปเก็บในพิพิธภัณฑ์

    จักรพรรดิวั่นลี่เมื่อยังทรงพระชนม์ชีพนั้น ทรงหมกมุ่นในกามสุข เอาแต่เสวยน้ำจัณฑ์และมัวเมาในเพศรส ไม่ใส่ใจราชการแผ่นดิน ปล่อยให้ขันทีและขุนนางกังฉินขึ้นมาเป็นใหญ่ ทำการฉ้อราษฎร์บังหลวงและรีดนาทาเร้นราษฎรจนเดือดร้อนทั้งแผ่นดิน ความตายดูเหมือนจะไม่ทำให้พระองค์สำนึก เพราะคิด(หรือหวัง)ว่าถึงตายไปแล้วก็ยังสามารถเสวยสุขได้ต่อไปในภพหน้า ดังนั้นจึงสะสมทรัพย์สมบัติไม่หยุดยั้งเพื่อเอาไว้ใช้ต่อในปรโลก

    แต่ความจริงก็เป็นความจริงอยู่วันยังค่ำว่า ไม่ว่ายิ่งใหญ่เพียงใด เมื่อตายไปแล้วก็ไม่สามารถเอาอะไรไปได้แม้แต่อย่างเดียว เมื่อยังทรงพระชนม์ชีพ ทรงมีอำนาจล้นฟ้า เป็นเจ้าชีวิตของผู้คนนับร้อยล้าน แต่เมื่อสิ้นลมแล้ว แม้แต่เข็มเล่มเดียวก็ยังรักษาหรือหน่วงเหนี่ยวเอาไว้ไม่ได้เลย

    ความยึดติดถือมั่นว่า “ของกู” นั้นฝังลึกมากในใจของผู้คน ทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าตัวเองจะต้องตายก็ยังไม่ยอมปล่อยวางทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ยังยึดมั่นว่าสิ่งเหล่านั้นยังจะต้องเป็น “ของกู”ต่อไปในปรโลก จึงพยายามหวงแหนเอาไว้อย่างถึงที่สุด จักรพรรดิองค์แล้วองค์เล่าพยายามสร้างสุสานหรือวังใต้ดินให้ซับซ้อนยิ่งกว่าองค์ก่อน ๆ แต่ก็ไม่เคยประสบผล ไม่มีสุสานใดเลยที่ปลอดพ้นจากการบุกรุกและลักขโมย

    มิใช่แต่ “ของกู” เท่านั้น ความยึดติดถือมั่นว่า “ตัวกู” ก็ฝังลึกในจิตใจของผู้คนด้วยเช่นกัน ใช่หรือไม่ว่าสุสานเหล่านี้สร้างขึ้นจากแรงขับภายในของจักรพรรดิที่ต้องการเป็นอมตะ จริงอยู่ร่างกายไม่มีวันคงทน ในที่สุดย่อมต้องเสื่อมสลายไป แต่สิ่งที่จักรพรรดิและผู้คนทั้งหลายปรารถนาในส่วนลึกก็คือ ความยั่งยืนของ “ตัวกู”ที่สืบเนื่องไปถึงภพหน้า แม้ตายไปแล้วก็ยังมี “ตัวกู”เป็นผู้รับรู้และเสวยสุขต่อไปได้อีก ดังนั้นนอกจากจะหวงแหนทรัพย์สมบัติทั้งหลายเอาไว้เป็น “ของกู”ต่อไปในยามที่หมดลมแล้ว ยังต้องการให้ทายาทและข้าราชบริพารเซ่นไหว้ต่อไปชั่วกาลนาน โดยมีประเพณีพิธีกรรมที่ซับซ้อนเป็นเครื่องกำกับ รวมทั้งการวางผังและออกแบบสุสานตลอดจนลวดลายเครื่องประดับให้ถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ยเพื่อบันดาลสิริมงคลแก่เจ้าของสุสานไปชั่วนิรันดร์

    อย่างไรก็ตาม “ตัวกู” ไม่ได้ต้องการเป็นอมตะอย่างเดียวเท่านั้น หากยังต้องการประกาศความยิ่งใหญ่ของ “ตัวกู”ด้วย มิใช่ด้วยการแสดงอำนาจเหนือผู้อื่นเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการแสดงยศศักดิ์อัครฐาน สำหรับจักรพรรดิจีน ความยิ่งใหญ่ของสุสานเป็นเครื่องประกาศความยิ่งใหญ่ของ “ตัวกู” อีกอย่างหนึ่ง จักรพรรดิวั่นลี่ทรงมีบัญชาให้สร้างสุสานสำหรับพระองค์เองตั้งแต่มีพระชนม์ ๒๒ พรรษา แม้อยู่ในวัยหนุ่ม ยังห่างไกลจากความตาย แต่หลังจากที่ทรงครองราชย์มาได้ ๑๓ ปี ก็คงตระหนักแล้วว่าเพียงกามสุขเท่านั้นยังไม่พอ สิ่งที่ทรงต้องการมากกว่านั้นคือการประกาศความยิ่งใหญ่ จึงทรงสร้างสุสานอันมโหฬารขึ้นมา กล่าวอีกนัยหนึ่งสุสานมิใช่หลักประกันความสุขสำหรับภพหน้าเท่านั้น แต่ยังเป็นการประกาศความยิ่งใหญ่ของ “ตัวกู”ในภพนี้ด้วย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 25 กุมภาพันธ์ 2024
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    (cont.)
    ความยิ่งใหญ่ของ “ตัวกู”นั้น นอกจากแสดงออกด้วยวัตถุเช่น สุสาน วัง คฤหาสน์ หรือบ้านเรือน แล้ว ยังวัดกันด้วยชื่อเสียงอีกด้วย ยิ่งมีชื่อเสียงขจรขจายกว้างไกลเพียงใด ก็ยิ่งชวนให้รู้สึกว่า “ตัวกู” นั้นยิ่งใหญ่หรือโดดเด่นมากเพียงนั้น คนเรานั้นมีทรัพย์สินมากมายเพียงใดก็ยังไม่รู้สึกพอ แต่ยังต้องการความยิ่งใหญ่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง นอกจาก “ของกู”แล้ว “ตัวกู”ยังต้องการยืนยันให้คนอื่นรู้ว่า “นี่กูนะ”อีกด้วย

    “นี่กูนะ” เป็นแรงปรารถนาที่ทรงพลังมาก ในด้านหนึ่งมันทำให้เราต้องการเป็นใหญ่หรือโดดเด่นเหนือผู้อื่น ( หากอวดเบ่งไม่ได้ผล ก็ต้องอ้างบารมีของพ่อหรือย้อนถามว่า“รู้ไหมว่าอั๊วเป็นใคร” ) แต่ในอีกด้านหนึ่งมันทำให้เราทนไม่ได้ที่จะอยู่ในสภาพต่ำต้อยหรือไร้ชื่อเสียงเรียงนาม โดยเฉพาะในยุคนี้ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราทุกข์ทรมานได้เท่ากับการเป็น nobody เพราะนั่นไม่ต่างจากการอยู่เหมือนคนตาย ถึงแม้จะมีกินมีใช้สะดวกสบายก็ตาม ไม่มีวิธีใดที่จะทำร้ายจิตใจของผู้คนได้มากเท่ากับการทำกับเขาประหนึ่งว่าเขาไม่มีตัวตนอยู่ในโลกนี้ ใช่หรือไม่ว่านั่นคือสาเหตุที่ผลักดันให้ผู้คนมากมายเลือกที่จะปลิดชีวิตตนเองมากกว่าที่จะทนอยู่ในสภาพดังกล่าว

    มีกินมีใช้อย่างเดียวไม่พอ เราทุกคนยังต้องการเป็น somebody นั่นคือเป็นที่ยอมรับหรืออย่างน้อยก็เป็นรู้จักของผู้คน ยิ่งมากยิ่งดี ชื่อเสียงจึงเป็นยอดปรารถนาของผู้คนในเวลานี้ อะไรที่จะทำให้ตัวเองโดดเด่นเป็นที่รู้จักหรือมีชื่อเสียง ก็ยอมทำทั้งนั้น หากเด่นในทางดีไม่ได้ ก็พร้อมจะเด่นในทางที่เลว เพราะถึงอย่างไรก็ดีกว่าการทนอยู่ในสภาพ “ตายทั้งเป็น” ฆาตกรต่อเนื่องรายหนึ่งในสหรัฐอเมริกาให้สัมภาษณ์ว่า “ผมจะต้องฆ่าคนสักกี่คนถึงจะมีชื่อในหนังสือพิมพ์หรือได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศ” เขาบ่นว่ากว่าจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเขาก็ต้องลงมือฆ่าไปแล้วหกคน

    ยังดีที่สำนึกทางศีลธรรมทำให้คนส่วนใหญ่ยับยั้งชั่งใจ ไม่ใช้วิธีที่โหดร้ายดังกล่าวเพื่อประกาศตัวตนให้โลกรู้ แต่หันไปใช้วิธีอื่นแทน มีวิธีหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมกันมากเวลานี้และพบเห็นได้ไม่ไกลจากสุสานราชวงศ์หมิง ห่างออกไปไม่ถึง ๒๐ กม.คือกำแพงเมืองจีนที่พาดผ่านเหนือกรุงปักกิ่ง ความยิ่งใหญ่โด่งดังของกำแพงแห่งนี้ดึงดูดคนทั้งแผ่นดินจีนและจากทุกมุมโลกไปเยี่ยมเยือนนับล้านคน เมื่อปีนขึ้นไปได้ไม่กี่สิบเมตร สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ก็คือเส้นสายลายมือบอกชื่อแซ่ที่เปรอะเปื้อนตลอดแนวกำแพง ยิ่งผนังภายในหอคอยหรือเก๋งจีนด้วยแล้ว ชื่อแซ่ทุกสีทุกขนาดและทุกภาษาจะปรากฏอย่างโดดเด่นเต็มตา ตรงไหนที่มีคนเดินผ่านมาก ก็ยิ่งมีชื่อแซ่เปรอะเปื้อนมากเท่านั้น

    ผู้คนเหล่านี้ไม่ได้ทิ้งชื่อแซ่ของตนเอาไว้เป็นที่ระลึกอย่างแน่นอน ใช่หรือไม่ว่าเขาทำเช่นนั้นเพื่อประกาศตัวตนให้คนอื่นรับรู้ และที่ใดเล่าจะมีผู้คนรับรู้ถึงการประกาศนั้นได้มากเท่ากับที่กำแพงเมืองจีน สิ่งมหัศจรรย์ ๑ ใน ๗ ของโลก มองให้ลึกลงไป เขาไม่เพียงต้องการประกาศชื่อเสียงเรียงนามของตัวเองเท่านั้น หากยังต้องการบอกว่า “มีกูอยู่ในโลกนี้ด้วยนะ”

    ที่น่าคิดก็คือลำพังตัวเขาเองไม่เพียงพอหรือที่จะยืนยันว่า “มีกูอยู่ในโลกนี้ด้วยนะ” ทำไมถึงต้องให้คนอื่นร่วมรับรู้หรือเป็นสักขีพยานด้วย เป็นไปได้หรือไม่ว่าในส่วนลึกของจิตใจเราทุกคนสงสัยว่า “ตัวกู”มีอยู่จริงหรือ หรือว่า “ตัวกู”เป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นเอง มองในแง่ของพุทธศาสนา ความสงสัยดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมดา เพราะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วอัตตาหรือ “ตัวกู”นั้นหามีจริงไม่ หากเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาหรือยึดมั่นเอาเองว่าเป็นตัวตน แต่ไม่ว่าจะยึดอะไรเป็นตัวตน ในที่สุดก็พบว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนอันเที่ยงแท้ยั่งยืนได้เลย แม้กระทั่งร่างกาย หรือจิตใจ จริงอยู่ในชีวิตประจำวันเรามักสำคัญตนว่า “กู”เป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เป็นคนเก่ง เป็นคนดี เป็นพ่อ เป็นลูก เป็นคนไทย แต่บ่อยครั้งจะพบว่า “ตัวกู” หรือความสำคัญตนเช่นนั้นไม่เคยคงที่หรือคงตัวเลย หากแปรเปลี่ยนไปเสมอ สุดแท้แต่เหตุการณ์หรือปฏิสัมพันธ์กับผู้คน แม้แต่ความสำคัญตนว่า “กู”เป็นคนไทยก็หายไปเมื่อเจอคนบ้านเดียวกัน เกิดความสำคัญตนว่า “กู”เป็นคนขอนแก่นหรือภูเก็ตมาแทนที่

    ความไม่เที่ยงแท้คงทนของ “ตัวกู” นี้เองที่ทำให้ในส่วนลึกของจิตใจ ผู้คนอดสงสัยไม่ได้ว่า “ตัวกู”นั้นมีจริงหรือไม่ แต่หากจะยอมรับความจริงว่า “ตัวกู”ไม่มีอยู่จริง “ตัวกู”ก็ยอมรับไม่ได้ ดังนั้นมันจึงพยายามทุกอย่างที่จะหาสิ่งต่าง ๆ มายืนยันว่า “ตัวกู”มีจริง ยิ่งมีผู้คนยืนยันมากเท่าไร ก็ยิ่งมั่นใจหรือหายสงสัยมากเท่านั้น การมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเป็นวิธีหนึ่งที่จะยืนยันกับตนเองว่า “ตัวกู”มีอยู่จริง ในทางตรงข้าม การไม่มีใครรู้จักหรือไม่อยู่ในสายตาของคนอื่นเลย เท่ากับตอกย้ำความสงสัยว่า “ตัวกู”ไม่มีจริง ซึ่งเป็นเรื่องเจ็บปวดมาก ดังนั้นการพยายามเผยแพร่ชื่อเสียงของตนจึงเป็นเรื่องใหญ่มากโดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน แต่สำหรับคนที่ไม่มีชื่อเสียงโด่งดัง คงไม่มีวิธีใดที่ง่ายและสะดวกเท่ากับการทิ้งลายมือชื่อแซ่ไว้ตามที่สาธารณะ (รวมทั้งฉีดสเปรย์ตามกำแพงริมถนน) เพื่อยืนยันว่า “นี่กูนะ” หรือ “มีกูอยู่ในโลกนี้ด้วยนะ”

    “ตัวกู”นั้นกลัวความขาดสูญเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นมันจึงปรารถนาความเป็นอมตะ แต่หากจะต้องตาย ก็หวังว่าจะมีโลกหน้าเพื่อให้ตัวตนได้สืบต่อ แต่ถ้าไม่เชื่อโลกหน้า ก็ยังหวังว่า “ตัวตายแต่ชื่อยัง” เพราะหากยังมีชื่อเสียงปรากฏแม้สิ้นลมไปแล้ว ก็เท่ากับว่าตนยังไม่ตาย (ความเชื่อดังกล่าวสะท้อนชัดเจนจากคำกล่าวของลองเฟลโลว์ กวีอเมริกันเมื่อพูดถึงไมเคิลแองเจโลว่า “เขาจะตายได้อย่างไรในเมื่อเขาอยู่อย่างเป็นอมตะในหัวใจของผู้คน” ) ด้วยเหตุนี้คนเราจึงกลัวที่จะถูกลืมหลังตาย (อาจกลัวถูกลืมมากกว่ากลัวตายด้วยซ้ำ)

    แต่ที่ “ตัวกู”กลัวยิ่งกว่านั้นก็คือกลัวความจริงว่า “ตัวกู”ไม่มีอยู่จริง นี้คือปัญหาที่รบกวนจิตใจของผู้คนทั้ง ๆ ที่ยังห่างไกลจากความตาย ดังนั้นจึงพยามทำทุกอย่างเพื่อยืนยันว่า “ตัวกู”นั้นมีอยู่จริง อาทิ การสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักให้มากที่สุด รวมถึงการแสวงหาทรัพย์สมบัติและอำนาจเพื่อเติมเต็มความรู้สึกพร่องอันเนื่องจากความสงสัยในความว่างเปล่าแห่งตัวตน (อนัตตา)

    จักรพรรดิประกาศตัวตนและสนองความต้องการเป็นอมตะด้วยการสร้างสุสาน ส่วนคนเล็กคนน้อยที่ไม่สามารถสร้างอนุสาวรีย์ให้ตนเองได้ ก็มีวิธีประกาศให้ผู้คนรู้ว่า “นี่กูนะ” ด้วยการทิ้งชื่อเสียงเรียงนามไว้บนกำแพงเมืองจีนและสถานที่ท่องเที่ยว ยิ่งเป็นโบราณสถานที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรและจะอยู่คู่โลกไปอีกนานแสนนาน ก็ยิ่งมีหวังว่าตนเองได้เป็นอมตะตามไปด้วย

    แต่ความพยายามทั้งหมดนี้ย่อมล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเพราะความจริงก็เป็นความจริงอยู่วันยังค่ำว่า “ตัวกู” นั้นหามีจริงไม่ และไม่มีอะไรเที่ยงแท้ยั่งยืนเลยแม้แต่อย่างเดียว
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255206.htm
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    lotusintherain.gif
    กับดักความดี

    พระไพศาล วิสาโล
    การทำดีนั้นเป็นเรื่องดีก็จริง แต่หากวางใจไม่ถูก ก็อาจก่อปัญหาขึ้นได้ เช่น ทำบุญแล้วหวังได้โชคได้ลาภ ก็เท่ากับเพิ่มพูนกิเลสให้มากขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้เป็นทุกข์ได้ง่าย เพราะเฝ้าแต่รอว่าเมื่อไรจะถูกหวยหรือร่ำรวยเสียที เช่นเดียวกับคนที่เสียสละแล้วอยากให้คนอื่นเห็นความดีของตน หรือช่วยเหลือใครก็อยากให้เขาสำนึกในบุญคุณของตน หากสิ่งที่อยากเห็นนั้นไม่เกิดขึ้นหรือไม่ถึงระดับที่ต้องการ ก็อาจท้อใจหรือขุ่นเคืองใจได้ง่าย

    ปัญหาของการทำดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทำแล้วรู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น ความรู้สึกว่าเหนือกว่านี้จัดว่าเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง เรียกว่า “มานะ” (ซึ่งไม่ได้แปลว่าความพยายาม) กิเลสชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ดูถูกคนอื่น เกิดอาการหลงตัวลืมตน ใครวิจารณ์หรือตำหนิไม่ได้ ถูกแตะต้องเมื่อใดเป็นโกรธเมื่อนั้น นักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อย เมื่อถูกทักท้วงว่ากำลังหงุดหงิดหรือไม่มีสติ ก็จะรู้สึกโกรธหนักกว่าเดิม ทั้ง ๆ ที่อาการดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชน บางคนเมื่อรู้ว่าได้ทำความผิดพลาดขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย อย่างมากก็แค่ “หน้าแตก”เท่านั้น กลับพยายามกลบเกลื่อนหรือถึงกับโกหก ทั้งนี้ก็เพราะกลัวเสียภาพลักษณ์คนดีหรือนักปฏิบัติธรรม

    ความดีนั้นหากตั้งจิตไว้ไม่ถูกตั้งแต่แรก หรือไม่รู้ทันตนเองเมื่อได้ทำไปแล้ว ก็อาจเปิดช่องให้กิเลสครอบงำใจได้ นอกจากตัณหา (ความอยากได้นั่นได้นี่เป็นผลตอบแทนในทางปรนเปรอตัวตน) และมานะ (ความถือตัวถือตนว่าเหนือกว่าผู้อื่น) แล้ว ทิฏฐิก็เป็นกิเลสอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น การยึดมั่นในความคิดว่าต้องดีเหมือนตนเท่านั้นจึงจะถูก ถ้าไม่ดีเหมือนตน หรือไม่ดีอย่างที่ตนคิด ก็แสดงว่าผิด และสิ่งที่มักจะตามมาก็คือ ความไม่พอใจ การดูถูก หรือถึงกับเกลียดชังคนที่ไม่ดีเหมือนตน ยิ่งคน ๆ นั้นเป็นคนใกล้ตัว รู้สึกรักหรือผูกพัน ก็ยิ่งเป็นทุกข์เพราะความผิดหวัง จนกลายเป็นความโกรธเคืองอย่างรุนแรง

    ชายผู้หนึ่งเป็นคนชอบทำบุญ ช่วยงานวัดไม่ขาด ส่วนลูกชายนั้นไม่สนใจเข้าวัดเลย ชอบสนุกตามประสาวัยรุ่น พ่อพยายามเคี่ยวเข็นอย่างไรก็ไม่เป็นผล จึงไม่พอใจลูก ในที่สุดก็มีปากเสียงกันจนลูกไม่คุยกับพ่อ พ่อยิ่งขุ่นเคืองใจหนักขึ้นเพราะไม่คิดว่าลูกจะปฏิบัติกับพ่ออย่างนั้น

    วันหนึ่งลูกขอยืมรถพ่อขับไปบ้านเพื่อน พ่อปฏิเสธเพราะค่ำแล้ว ลูกควรอยู่บ้าน แต่พอพ่อเผลอ ลูกก็แอบเอารถพ่อไปใช้ พ่อโกรธมากที่ลูกไม่เชื่อฟังพ่อ ไปตามลูกกลับมา เมื่อถึงบ้านก็ทะเลาะกันอย่างรุนแรง ด้วยอารมณ์โกรธชั่ววูบ พ่อเห็นปืนอยู่ใกล้ ๆ จึงคว้าปืนมายิงลูกตาย พอรู้ตัวว่าได้ทำอะไรลงไป ก็ทำใจไม่ได้ ยิงตัวตายไปพร้อมกับลูก

    พ่อนั้นเป็นคนธัมมะธัมโม อยากให้ลูกเป็นคนดี แต่พอลูกไม่ดีอย่างที่ตนคิด ก็ไม่พอใจลูก ทั้ง ๆ ที่ลูกไม่ได้เที่ยวสำมะเลเทเมาที่ไหน ความไม่พอใจกลายเป็นความโกรธเมื่อลูกมึนตึงกับตน เพราะคนดีย่อมไม่ทำเช่นนั้นกับพ่อบังเกิดเกล้า ยิ่งลูกขัดขืนคำสั่งของพ่อ แถมไม่ยอมรับผิด เถียงพ่อไม่หยุดหย่อน ใช้ถ้อยคำรุนแรง ขาดสัมมาคารวะ พ่อก็ยิ่งโกรธลูก จากความโกรธก็ลามเป็นความเกลียด จนในที่สุดก็ห้ามใจไม่อยู่ ยิงลูกตายคาที่

    ความดีนั้นหากยึดติดถือมั่นมาก สามารถนำไปสู่การทำชั่วได้ไม่ยาก เพราะเมื่อพบว่าคนอื่นไม่ดีเหมือนตน หรือไม่ดีตามความคิดของตน ย่อมเกิดความเกลียดและโกรธตามมา ถ้าไม่รู้ทัน ปล่อยให้มันครองใจ ก็สามารถทำร้ายเขาได้ง่ายมาก ไม่ด้วยการกระทำก็ด้วยคำพูด

    จะว่าไปแล้วความยึดติดถือมั่นนั้นไม่ว่ากับอะไรก็ตาม แม้กระทั่งกับสิ่งที่ดีงามหรือประเสริฐ ก็สามารถผลักดันให้เราทำสิ่งที่เลวร้ายได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะเมื่อเจอคนที่ไม่ได้ยึดถือสิ่งเดียวกับเรา เช่น ศาสนา ศีลธรรม อุดมการณ์ หรือประเพณีพิธีกรรม ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยจับอาวุธเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ในนามของศาสนาหรืออุดมการณ์ที่ถือว่าดีงาม

    เมื่อใดก็ตามที่เราเชื่อมั่นว่าเรากำลังยึดถือสิ่งที่ดีงาม เป็นไปได้ง่ายมากที่เราจะมองคนที่คิดหรือนับถือต่างจากเราว่าเป็นคนที่หลงผิด และเห็นเขาเป็นคนเลวในที่สุด ทันทีที่เห็นว่าเขาเป็นคนเลว ความเกลียดโกรธก็ตามมา จากนั้นการมุ่งร้ายก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก เริ่มจากการประณามหยามเหยียดเขาอย่างสาดเสียเทเสีย ต่อด้วยการทำร้ายเขาด้วยวิธีสกปรก โดยรู้สึกว่าตนมีความชอบธรรมที่จะกระทำเช่นนั้น (“คนเลว ๆ อย่างมัน สมควรแล้วที่จะต้องเจอแบบนี้”) กลายเป็นว่ายิ่งเห็นเขาเป็นคนเลวมากเท่าไร ก็ยิ่งประจานตัวเองด้วยการทำสิ่งเลวร้ายมากเท่านั้น ยิ่งคิดว่าตัวเองดีเลิศประเสริฐกว่าผู้อื่น ก็ยิ่งถลำเข้าสู่ความเสื่อมจนตกต่ำย่ำแย่กว่าเขา

    เมื่อต้นปีที่แล้ว นักการเมืองขวาจัดชื่อดังชาวดัตช์ผู้หนึ่ง (Geert Wilders) ให้สัมภาษณ์โจมตีศาสนาอิสลามว่าเป็นอุดมการณ์ “ฟาสซิสต์แบบเบ็ดเสร็จ” ว่าแล้วเขาก็เรียกร้องให้ “กำจัด” สัญลักษณ์ของศาสนานั้น รวมทั้งปิดมัสยิดและโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามให้หมด เขาไม่รู้ตัวเลยว่าในขณะที่กล่าวหาคนอื่นว่าเป็นฟาสซิสต์นั้น เขากำลังทำตัวเป็นฟาสซิสต์อย่างชัดเจน

     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    (ต่อ)
    นักการเมืองผู้นั้นยึดติดถือมั่นในศาสนาคริสต์ จึงมองศาสนาอิสลามไปในทางลบ แต่ไม่ใช่ศาสนาคริสต์เท่านั้น แม้กระทั่งศาสนาพุทธ หากยึดติดถือมั่นมากเกินไป ก็สามารถมองศาสนาอื่นเป็นศัตรูได้ จนถึงกับทำร้ายคนที่นับถือศาสนาดังกล่าว ดังเกิดขึ้นแล้วหลายต่อหลายครั้ง ล่าสุดก็คือการก่อเหตุรุนแรงในพม่าเมื่อปลายปีนี้กับเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ชาวมุสลิมตายร่วม ๒๐๐ คน ผู้คนอพยพหนีภัยอีกนับแสน ๆ ทั้งนี้โดยมีสาเหตุจากการที่พระกลุ่มหนึ่งปลุกระดมอย่างต่อเนื่องมาหลายปีว่าพม่ากำลังจะ “สิ้นชาติ” และพุทธศาสนากำลังจะสูญสิ้นเพราะน้ำมือของชาวมุสลิม ซึ่งกำลังขยายอิทธิพลไปทุกวงการ ทำให้ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเกิดความเกลียดชังชาวมุสลิม ยิ่งเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจด้วย การประหัตประหารก็เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

    พุทธศาสนานั้นปฏิเสธความรุนแรงในทุกกรณี แต่หากยึดติดถือมั่นในพุทธศาสนา เกิดการแบ่งเขาแบ่งเราจนเห็นคนที่นับถือศาสนาอื่นเป็นศัตรู ก็สามารถลงเอยด้วยการทำสิ่งที่ตรงข้ามกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังนั้นการฆ่าฟันผู้คนในนามของพุทธศาสนาจึงไม่สามารถทำให้พุทธศาสนามีความมั่นคงเพิ่มขึ้นเลย กลับทำให้พุทธศาสนาตกต่ำกว่าเดิมด้วยซ้ำ

    เหตุการณ์เหล่านี้เป็นข้อเตือนใจอย่างดีสำหรับชาวไทย ไม่ว่านับถือศาสนาใด หรืออุดมการณ์ใดก็ตาม ยิ่งมั่นใจในความดีงามของศาสนาและอุดมการณ์ของตนมากเท่าใด ก็ยิ่งต้องระวังใจของตน ไม่ด่วนตัดสินว่าคนที่นับถือศาสนาหรืออุดมการณ์ที่ต่างจากตนนั้นเป็นคนเลว พึงระลึกว่าคนที่ไม่คิดหรือปฏิบัติเหมือนตนนั้น อาจเป็นคนดีก็ได้ ความคิดที่ว่า จะเป็นใครก็ตาม ต้องคิดหรือปฏิบัติเหมือนตน หรือตรงกับความคิดของตนเท่านั้น จึงจะเรียกว่าเป็นคนดี ย่อมเป็นความหลงตนอย่างหนึ่ง การเอาตนเองเป็นศูนย์กลางอย่างนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะความยึดติดถือมั่นในความคิดของตน (ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่าทิฏฐุปาทาน)

    ความดีงามนั้น ไม่ว่ามาในรูปของศาสนา อุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือชาติ ศาสน์ กษัตริย์ก็ตาม มีกับดักที่เราต้องรู้เท่าทันไม่เผลอพลัดตกลงไป กับดักนั้นคือความยึดติดถือมั่นจนเกิดความหลงตัวลืมตน หรือถูกกิเลสครอบงำใจโดยเฉพาะความโกรธเกลียด ซึ่งสามารถนำไปสู่ความชั่วและความทุกข์ได้ ด้วยเหตุนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสจึงเตือนว่า “ระวังความดีกัดเจ้าของ”

    สำหรับชาวพุทธนั้น ย่อมถือว่าพุทธศาสนาหรือพระธรรมนั้นประเสริฐที่สุด แม้กระนั้นก็พระพุทธองค์ก็ตรัสเตือนไว้ว่า
    “ธรรมที่เราแสดงนั้น ก็เพื่อรื้อถอนตนออกจากทุกข์ ไม่ใช่เพื่อให้ยึดถือเอาไว้ เปรียบได้กับพ่วงแพ (เมื่อถึงฝั่ง ก็วางไว้ไม่แบกขึ้นไปด้วย) ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายผู้ได้ฟังธรรมอันเราแสดงแล้ว อันเปรียบด้วยพ่วงแพ ควรละธรรมทั้งหลายเสีย จะกล่าวทำไมถึงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม”

    ธรรมนั้นมีไว้เพื่อพาเราไกลจากความชั่วและความทุกข์ แต่หากยึดถือจนเป็นทุกข์หรือทำชั่วเสียเอง จะเรียกว่าปฏิบัติถูกได้อย่างไร ที่แท้ต้องเรียกว่าปฏิบัติผิดในสิ่งที่ถูก ต่างหาก
    :-
    https://visalo.org/article/jitvivat255604.html
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 กุมภาพันธ์ 2024
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    Eboat.jpg
    เรือเปล่า

    พระไพศาล วิสาโล
    จางจื๊อเป็นปราชญ์จีนโบราณซึ่งมักนำเสนอปรัชญาที่ลึกซึ้งโดยอาศัยเรื่องเล่าที่ง่าย ๆ เรื่องหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงคือเรื่อง “เรือเปล่า” จางจื๊อเริ่มต้นด้วยการเล่าว่า ชายคนหนึ่งกรรเชียงเรืออยู่ในแม่น้ำ ถ้าหากมีเรือเปล่าลำหนึ่งมาชนเข้า แม้เจ้าของเรือกรรเชียงจะเป็นคนเจ้าโทสะ เขาก็คงโกรธไม่ได้มาก แต่ถ้าเห็นคนอยู่ในเรือนั้น เขาคงต้องตะโกนบอกให้พายเรือหนีไปให้พ้น ถ้าอีกฝ่ายยังไม่ได้ยิน ก็ต้องตะโกนดังขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจถึงต้องร้องด่า ทั้งนี้ก็เพราะมีคนอยู่ในเรือลำนั้น แต่อากัปกิริยาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าหากไม่มีคนอยู่ในเรือลำนั้น ดังนั้นจางจื๊อจึงแนะให้เราทำเรือของเราให้ว่างเปล่า หรือทำตนเป็น “เรือเปล่า” เพื่อจะได้ข้าม “แม่น้ำ”อย่างสะดวกสบาย ไม่มีใครมาขัดขวางหรือกระทบกระทั่งด้วย

    มองอย่างพุทธ “เรือเปล่า” ก็คือจิตที่ว่างเปล่าจากตัวตน หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือจิตที่ว่างเปล่าจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนั่นเอง ผู้ที่มีจิตว่างเปล่าตามนัยดังกล่าวย่อมอยู่ในโลกนี้ได้อย่างราบรื่นและผาสุก แม้จะไม่ถึงกับปลอดพ้นจากการถูกตะโกนด่าว่าดังเรือเปล่าของจางจื๊อ แต่คำตะโกนด่าว่านั้นย่อมไม่อาจทำให้ทุกข์ได้ เพราะไม่มี “ตัวตน”ออกไปรับคำด่า ใช่หรือไม่ว่า ถ้ามีตัวตนหรือยึดมั่นถือมั่นใน “ตัวกู”เมื่อไร ก็อดไม่ได้ที่จะเอาคำด่านั้นมาเป็น “ของกู” เกิดความสำคัญมั่นหมายว่า “ตัวกู”ถูกด่า หรือมี “ตัวกู”เป็นเป้าให้คำด่าว่านั้นเข้ามากระทบกระแทก

    ตัวตนหรือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนั้นเป็นที่มาแห่งความทุกข์ทั้งหลายของมนุษย์ ไม่ใช่แค่ทุกข์เพราะถูกต่อว่าเท่านั้น หากยังทุกข์เมื่อประสบกับความสูญเสียพลัดพราก เพราะไปสำคัญผิดว่าสิ่งที่สูญเสียไปหรือบุคคลที่พลัดพรากไปนั้นล้วนเป็น “ ของกู” แม้แต่เวลาเจ็บปวดทางกาย ก็ยังทุกข์ไปถึงใจเพราะไปสำคัญมั่นหมายว่า “กูเจ็บ” ท่านอาจารย์พุทธทาสเปรียบ เทียบให้เห็นง่าย ๆ ว่า เมื่อมีดบาดนิ้ว ถ้าไปสำคัญมั่นหมายว่า “มีดบาดฉัน”เมื่อไร จะเจ็บยิ่งกว่าเวลารู้สึกว่า “มีดบาดนิ้ว”เสียอีก

    ทั้ง ๆ ที่สมัยนี้เต็มไปด้วยความสะดวกสบายและความพรั่งพร้อมทางวัตถุมายมาย แต่
    เหตุใดผู้คนจึงทุกข์กันง่ายและทุกข์กันมากเหลือเกิน คำตอบก็คือเพราะไม่รู้เท่าทันความจริงข้อนี้ แถมยังเน้นตัวตนกันมากขึ้น จึงเกิดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนอย่างสูง อะไรก็ตามที่ปรนเปรอ พะเน้าพะนอ หรือตอบสนองความต้องการของตัวตน เป็นต้องทำหรือหามาให้ได้ ดังนั้นจึงเกิดความต้องการไม่รู้จักหยุดหย่อน ผลคือเกิดความเร่าร้อน เครียด กระสับกระส่าย และเกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งกับผู้คนมากมาย ไม่เว้นแม้แต่คนใกล้ตัว ความขัดแย้งนี้บ่อยครั้งก็ลุกลามเป็นการประหัตประหารระหว่างกลุ่มชน เพราะการแบ่งเขาแบ่งเรา ใครก็ตามที่ไม่ใช่ “พวกกู”ก็ถือเป็นศัตรูไปหมด

    ตัวตนนั้นไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง แต่เกิดจากการปรุงแต่งขึ้นมาเองของจิต (ซึ่งตัวมันเองก็ไม่มีตัวตนอยู่เช่นกัน) เมื่อปรุงแต่งแล้วก็เข้าไปยึดมั่นถือมั่นซ้ำเข้าไปอีก (เหมือนคนที่คิดเอาเองว่าแฟนนอกใจแล้วก็ยึดมั่นกับความคิดความเชื่อนั้นจนไม่ยอมเปิดใจรับความจริง) แต่ไม่ว่าจะยึดมั่นตัวตนอย่างไร มันก็ไม่สามารถเป็นไปตามใจเราได้ อาการอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็คือ ความเป็น “ฉัน” นั้นแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เมื่อประสบความสำเร็จก็สำคัญว่า “ฉันเป็นคนเก่ง” แต่เมื่อล้มเหลวก็เปลี่ยนมารู้สึกว่า “ฉันเป็นคนไม่เก่ง” บางคนรู้สึกว่า “ตัวตนของฉันคือชายชาติทหาร” แต่พอโดนโรคร้ายเกาะกินติดต่อกันหลายปี ความรู้สึกว่า “ฉันเป็นผู้ป่วยใกล้ตาย”ก็เข้ามาแทนที่ อันที่จริงในวันหนึ่ง ๆความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นสามารถ
    เปลียนแปลงไปได้นับสิบ ๆ อย่าง เช่นเป็นพ่อแม่เมื่ออยู่กับลูก เป็นอาจารย์เมื่อพบหน้าศิษย์ และเป็นลูกน้องเมื่อไปหาเจ้านาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือความเป็นฉันนั้นเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นเอง หาได้มีจริงไม่

    อะไรก็ตามที่ไม่มีอยู่จริง ย่อมชวนให้เราฉุกคิดสงสัยในความมีอยู่ของมัน ตัวตนก็เช่นกัน ความเกิดดับและแปรเปลี่ยนอยู่เสมอของ “ตัวกู” หรือความเป็นฉัน ทำให้ในส่วนลึกของจิตใจเราย่อมอดสงสัยไม่ได้ว่าตัวตนมีจริงหรือ ความไม่มั่นใจว่าตัวตนมีอยู่จริงนั้นคอยรบกวนจิตใจของเราเป็นครั้งคราว แต่คนเรานั้นยากที่จะยอมรับได้ว่าตัวตนไม่มีอยู่จริง กล่าวได้ว่าเป็นสัญชาต ญาณของคนเราที่ต้องการมีตัวตนให้เป็นที่ยึดมั่น ดังนั้นจึงพยายามกดความลังเลสงสัยนี้เอาไว้ลึกลงไปถึงจิตไร้สำนึก แต่ไม่มีอะไรที่เราสามารถกดเอาไว้ในจิตไร้สำนึกได้ตลอด ความลังเลสงสัยดังกล่าวก็เช่นกัน มันไม่ได้หายไปไหน แต่ผุดออกมาสู่จิตสำนึกโดยแสดงตัวในรูปลักษณ์อื่น เช่น ความรู้สึกพร่อง คับข้องใจ กระสับกระส่าย ไม่เป็นสุข หรือความรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่ขาดหายไปในชีวิต เกิดความรู้สึกว่าชีวิตนี้ว่างเปล่าพิกล อาการเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกทุกข์อยู่ลึก ๆ แต่หาไม่พบว่าคืออะไร
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    (ต่อ)
    เป็นเพราะเกิดอาการดังกล่าว คนจำนวนไม่น้อยจึงพยายามแสวงหาวัตถุมาครอบครองให้มากที่สุด ไม่ใช่เพื่อความสะดวกสบายหรือเพื่อปรนเปรอตัวตนเท่านั้น จุดหมายที่ลึกลงไปกว่านั้นก็คือเพื่อถือเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็น “ตัวกู ของกู” หรือเพื่อยืนยันความมีอยู่ของตัวตน อะไรที่เป็นวัตถุรูปธรรม จิตก็อยากเข้าไปยึดถือเป็นตัวตน ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ตัวตน และเพื่อความมั่นคงของจิตใจ

    พฤติกรรมอีกประเภทที่แสดงออกมาก็คือการเข้าไปผูกพันยึดติดกับสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง อาทิ ชุมชน แก๊ง ตลอดจนชาติ (หรือแม้แต่บริษัท) การไปผูกพันกับสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อถือเอาเป็นตัวกูของกูและเพื่อสร้างความมั่นคงของตัวตนเช่นกัน ยิ่งยึดถือมากเท่าไรก็ยิ่งมั่นใจในความมีอยู่ของตัวตน ทำให้ชีวิตไม่รู้สึกว่างเปล่าอีกต่อไป

    อันที่จริงแม้กระทั่งการดิ้นรนอยากมีชื่อเสียงหรือ “อยากดัง” ซึ่งเป็นพฤติกรรมยอดนิยมของคนยุคปัจจุบัน ก็อธิบายได้ด้วยสาเหตุเดียวกัน การที่ผู้คนอยากให้ตนเองเป็นที่รู้จัก ลึกลงไปแล้วก็เพื่อยืนยันว่าตัวฉันมีอยู่จริง เพราะถ้าไม่มีคนรู้จัก ก็เท่ากับเป็น “ nobody” คือนอกจากชีวิตจะไม่มีความหมายแล้ว ยังหมายถึงการไม่มีตัวตนในสังคม ลึกไปกว่านั้นยังตอกย้ำความสงสัยในความไม่มีตัวตนให้หนักขึ้น

    แต่ไม่ว่าจะครอบครองทรัพย์สมบัติมากมายเพียงใด มีกลุ่มก้อนสังกัดยิ่งใหญ่หรือรักชาติแค่ไหน มีชื่อเสียงขจรขจายอย่างไร ก็ไม่สามารถขจัดความรู้สึกพร่อง คับข้องใจ กระสับกระส่ายในส่วนลึกไปได้ ความรู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่าก็ยังจะมารบกวนอยู่เรื่อย ๆ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไรเราก็ไม่สามารถมีตัวตนที่เที่ยงแท้ยั่งยืนอยู่ได้

    ทางออกจากทุกข์ที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาตัวตนที่เที่ยงแท้ยั่งยืนหรือมั่นคงให้ได้ แต่อยู่ที่การยอมรับความจริงเสียแต่แรกว่าตัวตนนั้นหามีอยู่จริงไม่ รวมทั้งขจัดความกลัวที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง การยอมรับดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการคิดเอง แต่เกิดจากการประจักษ์ถึงมายาภาพของตัวตน เห็นถึงอาการของจิตที่ปรุงแต่งความเป็นตัวฉันขึ้นมา รวมทั้งตระหนักถึงโทษของการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนว่าทำให้เป็นทุกข์เพียงใด

    การมีปัญญาเห็นความจริงดังกล่าวอย่างถึงที่สุดอาจเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน แต่เราก็สามารถฝึกฝนตนเองได้ในชีวิตประจำวัน เริ่มจากการสังเกตถึงความเป็นตัวฉันที่ผันแปรตลอดเวลา และอาการ “ตัวกู”ที่ชอบแล่นออกมารับคำตำหนิหรือสิ่งไม่พึงปรารถนาที่มากระทบ มองให้เห็นถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นตามมา และเปลี่ยนมาใช้สติและปัญญาออกรับสิ่งกระทบดังกล่าว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่สนใจว่า “ตัวกู” จะได้รับการปรนเปรอหรือถูกกระทบ จำคำของซุนวูได้หรือไม่ที่ว่า “บุกต้องมิหวังคำยกย่อง ถอยต้องมิกลัวอับอาย” จะรุกหรือถอยก็เพราะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมหรือ “ความถูกต้อง”เป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เพราะเอาตัวตนหรือ “ความถูกใจ”เป็นใหญ่

    ด้วยวิธีนี้แหละ เราจึงจะค่อย ๆ กลายเป็น “เรือเปล่า” ที่ข้ามฝั่งได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย
    :- https://visalo.org/article/jitvivat254810.htm
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    สองด้านของเหรียญ
    พระไพศาล วิสาโล
    แม่กลุ้มใจที่ลูกชายวัย ๑๑ ขวบทำตัวเหินห่าง มีปัญหาอะไรก็ไม่เคยบอกแม่ จนแม่รู้จากปากของคนอื่นว่าลูกถูกเพื่อนร่วมโรงเรียนแกล้งเป็นประจำ กลายเป็นคนเงียบขรึม ไม่สุงสิงกับใคร ซ้ำยังมีปัญหากับครูที่ชอบดุด่า จนลูกไม่อยากไปโรงเรียน บางวันถึงกับแกล้งป่วย ครั้นแม่พยายามคะยั้นคะยอให้เปิดใจคุยกับแม่เรื่องเหล่านี้ ลูกก็มีอาการหงุดหงิด และถึงกับหัวเสียเมื่อแม่ให้คำแนะนำลูก

    แม่เสียใจจนร่ำไห้ที่ลูกไม่เห็นตัวเองอยู่ในสายตา แถมมีอาการต่อต้านแม่ด้วย แต่วันหนึ่งเธอได้ร่วมกิจกรรมไตร่ตรองชีวิตและได้สนทนากับกัลยาณมิตรที่มีประสบการณ์ เธอก็พบความจริงอย่างหนึ่งว่า ตอนเธอเป็นเด็กนั้น เธอก็ทำกับพ่ออย่างเดียวกับที่ลูกทำกับเธอทุกวันนี้ แม้อยู่บ้านเดียวกันแต่เธอแทบไม่คุยกับพ่อเลย รู้สึกว่าห่างได้เป็นดี เจอหน้าทีไรก็รู้สึกมึนตึง ในใจนั้นรู้สึกเกลียดพ่อด้วยซ้ำ

    เธอไม่ชอบพ่อก็เพราะพ่อชอบจู้จี้ขี้บ่น ต่อว่าเธอเป็นประจำ และไม่เคยฟังเธอเลย มีหลายครั้งที่พ่อระบายอารมณ์ใส่เธออย่างรุนแรง ยิ่งนึกถึงพ่อก็ยิ่งโกรธ แต่ชั่วขณะหนึ่งเธอก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า สิ่งที่พ่อทำกับเธอนั้น เธอก็เอาไปทำกับลูกเช่นกัน แม้จะรุนแรงน้อยกว่าก็ตาม เธอชอบจู้จี้กับลูกและต่อว่าเขาเป็นประจำ และไม่ค่อยฟังเขาเลย เธออดแปลกใจไม่ได้ว่า ทั้ง ๆ ที่เธอไม่ชอบนิสัยของพ่อ แต่เธอกลับรับเอานิสัยของพ่อมาใช้กับลูกของเธอ

    เธอได้พบว่าลูกคือภาพสะท้อนของเธอตอนเป็นเด็ก ส่วนเธอก็เป็นภาพสะท้อนของพ่อในอดีต ตอนเป็นเด็กเธอรู้สึกว่าตนถูกกระทำจากพ่อ แต่ตอนนี้เธอกำลังเป็นฝ่ายกระทำต่อลูก มาถึงตอนนี้เธอเข้าใจลูกมากขึ้น ลูกไม่ใช่ตัวปัญหา ปัญหาอยู่ที่ตัวเธอเองต่างหาก นับแต่วันนั้นเธอพยายามระมัดระวังคำพูดมากขึ้น ไม่จู้จี้ขี้บ่น ขณะเดียวกันก็เปิดใจฟังลูก ไม่คิดแต่จะให้คำแนะนำสั่งสอนอย่างเดียว ไม่นานเธอก็พบว่าลูกเปิดใจให้เธอมากขึ้น นอกจากฟังเธอแล้ว ยังพร้อมจะเล่าความในใจให้เธอฟังเพราะรู้ว่าเธอจะฟังเขาอย่างจริงจังโดยไม่ด่วนตัดสิน

    เราต่างเป็นทั้งผู้กระทำและถูกกระทำโดยไม่รู้ตัว แม่รู้สึกว่าลูกปฏิบัติไม่ดีกับแม่ แต่เมื่อสืบสาวก็จะพบว่า นั่นเป็นเพราะแม่ปฏิบัติไม่ดีกับลูกก่อน ที่ลูกไม่ฟังแม่ ก็เพราะแม่ไม่ฟังลูกหรือเอาแต่จู้จี้ขี้บ่น อย่างไรก็ตามหากสืบสาวไปให้ไกลอีกหน่อยก็จะพบว่า ที่แม่ทำตัวเช่นนั้นก็เพราะเคยถูกกระทำอย่างเดียวกันกับพ่อ(หรือแม่)ของตน

    จากเรื่องราวข้างบน ความจริงอย่างหนึ่งที่ดูแปลกก็คือ ลูกสาวไม่ชอบสิ่งที่พ่อทำกับตน แต่พอเป็นแม่ก็ทำอย่างเดียวกันนั้นกับลูกของตน ราวกับว่าซึมซับรับเอาการกระทำของพ่อมาไว้กับตัว คงไม่ผิดหากจะพูดว่าความรุนแรงนั้นถ่ายทอดกันได้ ด้วยเหตุนี้คนที่เป็นฝ่ายถูกกระทำด้วยความรุนแรง จึงมักลงเอยด้วยการกลายเป็นผู้กระทำความรุนแรงนั้นเสียเอง

    ในสังคมวงกว้างเรามักพบเช่นกันว่า คนที่ก่อความรุนแรงกับผู้อื่นนั้น ในอดีตก็เคยเป็น “เหยื่อ” หรือผู้ถูกกระทำมาก่อน โดยอาจจะเริ่มจากครอบครัว เยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ก่ออาชญากรรมทางเพศหรือยกพวกตีกันจนมีคนบาดเจ็บล้มตาย ล้วนเป็นคนที่มีบาดแผลในวัยเด็ก เช่น ถูกพ่อแม่ละทิ้งหรือทำร้ายร่างกาย ถูกเหยียดหยามจากคนรอบข้าง หรือถูกยัดเยียดให้รู้สึกว่าเป็นคนไร้ค่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นธรรมดาที่คนเหล่านี้ย่อมซึมซับความรุนแรงรวมทั้งความเกลียดชังไว้ในใจ และพร้อมจะระบายใส่คนอื่นเมื่อมีโอกาส ยิ่งถูกกระทำทารุณกรรมเมื่อถูกจับเข้าสถานพินิจ ฯหรือเรือนจำ ก็ยิ่งสะสมความรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อคนรอบตัว

    ประสบการณ์อันเลวร้ายที่ได้รับทำให้คนเหล่านี้เกลียดชังคนทั้งโลก ยกเว้นพวกเดียวกัน เพราะคนกลุ่มหลังนี้เป็นพวกเดียวที่ทำให้เขารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า หรือมี “ตัวตน” อยู่ในโลกนี้ ดังนั้นเขาจึงพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของเพื่อน ๆ แม้นั่นจะหมายถึงการทำร้ายคู่อริหรือรุมโทรมหญิงก็ตาม

    เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะยอมรับว่า คนที่มีพฤติกรรมเลวร้ายนั้น แท้จริงเขาคือ “เหยื่อ” หรือผู้ถูกกระทำด้วยเช่นกัน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ หาได้แยกจากกันไม่ ทำนองเดียวกับสองด้านของเหรียญเดียวกัน
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    (ต่อ)
    ความจริงดังกล่าว ท่านติช นัท ฮันห์ ได้ถ่ายทอดเป็นบทกวีอย่างงดงามและสะเทือนใจ

    “ฉันคือแมลงเม่า ที่กำลังกลายรูปบนผิวน้ำ
    และฉันคือนก โฉบลงขยอกกลืนเจ้าแมลง
    ฉันคือกบแหวกว่ายอย่างเป็นสุข
    และฉันคืองูเขียว เลี้ยวลดกินกบอย่างเงียบเชียบ
    ฉันคือเด็กในอูกันดา มีแต่หนังหุ้มกระดูก
    ขาฉันเล็กบางราวลำไผ่
    และฉันคือพ่อค้าอาวุธ ขายเครื่องประหัตประหารแก่อูกันดา
    ฉันคือเด็กหญิงสิบสองขวบ ลี้ภัยในเรือน้อย
    โถมร่างลงกลางสมุทร หลังถูกโจรสลัดข่มขืน
    และฉันคือโจรสลัด
    หัวใจฉันยังขาดความสามารถในการเห็นและรัก”
    (จากบทกวี “เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง” แปลโดย ร.จันเสน)

    ผู้ที่ก่อความรุนแรงนั้นล้วนเป็นผลมาจากการที่เคยเป็นเหยื่อมาก่อน การรุมประณามหยามเหยียดหรือใช้ความรุนแรงกับเขา จึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา มีแต่จะทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น ยังไม่ต้องพูดถึงว่า การทำเช่นนั้นเป็นความยุติธรรมจริงหรือ ประสบการณ์ของทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การปฏิบัติด้วยความรักความเคารพและให้เกียรติแก่เยาวชนที่ต้องโทษเพราะก่ออาชญากรรมนั้น สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้ เพราะจิตใจได้รับการเติมเต็ม รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และเกิดความเคารพในตนเอง จนไม่อยากทำชั่วอีกต่อไป พูดอีกอย่างคือ ความใฝ่ดีในจิตใจของเขาถูกกระตุ้นให้กลับมีพลังจนเอาชนะความเห็นแก่ตัวได้ เมื่อบาดแผลในใจที่เกิดจากการเป็น “เหยื่อ” ในอดีตได้รับการเยียวยา ความโกรธเกลียดที่เคยผลักดันให้เป็นผู้ก่อความรุนแรงก็เจือจางไป สามารถอยู่อย่างมีสันติกับตนเองและผู้อื่นได้ (อ่านเรื่องราวของเธอได้จากหนังสือเรื่อง “เด็กน้อยโตเข้าหาแสง” โดย “มิลินทร์” สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา)

    คนที่แสดงแต่ด้านมืดออกมา มักเป็นเพราะมีเงามืดของคนอื่นมาทาบทับชีวิตของเขานานเกินไป การเปิดโอกาสให้เขาได้รับแสงสว่างในชีวิต ย่อมช่วยขยายด้านสว่างและลดทอนด้านมืดในใจเขา จนสามารถส่องสว่างให้แก่ผู้อื่นได้ในที่สุด
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255512.html
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    6144.jpg
    ไม่มีคำว่าสายเกินไป
    พระไพศาล วิสาโล
    กานดาวศรี มีอาชีพพยาบาล คราวหนึ่งป่วยหนักถึงขั้นโคม่าเนื่องจากครรภ์เป็นพิษ เธอเล่าว่าในขณะที่หมดสติอยู่นั้น เธอได้ยินเสียงผู้คนรอบตัว และรู้ว่าหมอและพยาบาล พูดอะไรกันบ้างขณะที่อยู่ข้างเตียงเธอ

    ประสบการณ์เกือบ ๓๐ ปีในการเป็นพยาบาล ทำให้เธอรู้ว่ามีผู้ป่วยขั้นโคม่าหลายคนที่มีประสบการณ์คล้ายเธอ บางคนเล่าว่าได้ยินเสียงพระสวดมนต์จากเครื่องอัดเสียงที่ลูกเปิดไว้ข้างศีรษะขณะที่หมดสติ บางคนมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อคำพูดของญาติมิตร เช่น น้ำตาไหล หรือถึงกับพนมมือ

    ตามความเข้าใจของคนทั่วไป ผู้ที่หมดสติหรือเข้าสู่ภาวะโคม่า ย่อมไม่สามารถรับรู้อะไรได้ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรกับเขา ก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้หรือมีทีท่าตอบสนอง แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ อย่างน้อยก็มิได้เป็นเช่นนั้นในทุกกรณี การที่เขาไม่สามารถตอบสนองออกมาได้ มิได้หมายความว่า เขาไม่สามารถรับรู้อะไรได้เลย เป็นแต่ร่างกายของเขาไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ได้อย่างคนทั่วไปเท่านั้น

    มีผู้ป่วยบางคนที่ล้มป่วยเนื่องจากสมองขาดเลือด จนเข้าสู่ภาวะโคม่า มีสภาพไม่ต่างจาก “ผัก” และมีโอกาสที่จะฟื้นขึ้นมาได้น้อยมาก แต่ในที่สุดก็ฟื้นขึ้นมาได้ เขาเล่าว่าในช่วงที่หมดสติอยู่นั้น เคยถูกหมอทดสอบด้วยการบิดและบีบนิ้วหัวแม่เท้าของเขา เขารู้สึกเจ็บปวดมากจนร้องขึ้นมาว่า “หยุดได้แล้ว ๆ” แต่เขาก็ไม่สามารถพูดหรือแสดงอาการเจ็บปวดออกมาได้ ผลคือหมอยังคงบิดและบีบต่อไป ก่อนจะเลิกบีบเขายังได้ยินหมอพูดว่า “ผู้ป่วยคนนี้เป็นผักแบบยืดเยื้อ”

    มิเพียงแต่ได้ยินหรือรู้สึกทางกายเท่านั้น ผู้ป่วยในภาวะโคม่ายังสามารถ “เห็น”ได้ด้วย คริสเติล เป็นเด็กชาวอเมริกันอายุ ๗ ขวบ มีคนพบเธอหลังจากจมอยู่ใต้สระน้ำเป็นเวลา ๒๐ นาที อาการของเธอเพียบหนัก นอกจากจะอยู่ในภาวะโคม่าแล้ว การตรวจด้วยเครื่องซีทีสแกนพบว่าสมองของเธอบวมมาก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อีกทั้งเลือดของเธอก็มีความเป็นกรดสูงมาก บ่งชี้ว่าเธอใกล้จะเสียชีวิตแล้ว หมอยอมรับว่ามาถึงจุดนี้แล้วก็ทำอะไรแทบไม่ได้แล้ว

    แต่แล้วเธอก็ฟื้นขึ้นมาหลังจากโคม่าได้ ๓ วัน ทันทีที่เห็นหมอเข้ามาในห้อง เธอก็ทักหมอผู้นั้นทันที เพราะเธอ “เห็น” หมอคนนี้ในขณะที่ยังหมดสติอยู่ เธอยังพูดถึงลักษณะของหมออีกคนที่รักษาเธอได้อย่างถูกต้อง แม้ว่ายังไม่ได้พบกันเลยก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังพรรณนาลักษณะของห้องฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งอุปกรณ์และผู้คนที่อยู่ในห้องนั้น

    เมื่อปี ๒๕๔๔ วารสารทางการแพทย์ของอังกฤษฉบับหนึ่งกล่าวถึงผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลอย่างรีบด่วน หมอทำการช่วยเหลือด้วยการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจ แต่ก่อนที่จะใส่ท่อช่วยหายใจพยาบาลได้ถอดฟันปลอมของเขาออก ในที่สุดหัวใจเขาก็เต้นเป็นปกติ หนึ่งสัปดาห์ต่อมา เมื่อผู้ป่วยรายนี้เห็นหน้าพยาบาลคนที่ถอดฟันปลอมให้ เขาก็จำเธอได้ทันที และถามว่า “คุณเป็นคนถอดฟันปลอมให้ผมใช่ไหมครับ” ใช่แต่เท่านั้นเขายังเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้นได้อย่างถูกต้อง

    ทั้งสองกรณีข้างต้น ผู้ป่วยล้วนหมดสติไร้สัมปฤดี สมองอยู่ในสภาพไม่ปกติเพราะขาดอากาศ แต่เขา “เห็น” ผู้คนและสถานที่รอบตัวได้อย่างไร เขาไม่ได้เห็นด้วยตาอย่างแน่นอน อีกทั้งไม่ได้รับรู้ด้วยระบบประสาทหรือสมองอย่างในภาวะปกติด้วย ทั้งสองกรณีเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากเขาจะเห็นด้วย “ใจ”

    ทั้งสองกรณีมิใช่กรณีพิเศษหรือยกเว้น มีรายงานการวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่าผู้ป่วยในภาวะโคม่ายังสามารถรับรู้ได้ เช่น รายงานของนายแพทย์พิมฟอน ลอมเมล ซึ่งได้สัมภาษณ์ผู้ป่วย ๓๔๓ รายที่รอดชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้น ข้อสรุปที่ออกมาก็คือ ผู้ป่วยร้อยละ ๑๘ จดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นขณะไร้ความรู้สึกตัวได้อย่างแม่นยำ รายงานอีกชิ้นหนึ่งของนักวิจัยชาวอังกฤษพบว่าผู้ป่วยร้อยละ ๑๑ สามารถจดจำเหตุการณ์ขณะหมดสติได้

    ตัวอย่างที่กล่าวมาบ่งชี้ว่าการรับรู้โลกภายนอกนั้นไม่ได้เกิดขึ้นที่สมองเท่านั้น เราสามารถได้ยิน รู้สึก หรือเห็นได้แม้ในภาวะที่สมองไม่อาจทำงานอย่างปกติได้ หากการรับรู้รวมทั้งความจำได้หมายรู้เป็นเรื่องของจิต นั่นก็หมายความว่าจิตไม่ได้ผูกติดกับสมอง หากเป็นอีกส่วนหนึ่งที่แยกต่างหากจากสมอง แต่ทำงานเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จิตอาจรับรู้หรือมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกโดยผ่านสมอง แต่ก็มิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ในภาวะที่สมองหยุดทำงานหรือมิอาจทำงานได้อย่างปกติ จิตก็ยังสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ แต่อาจไม่ชัดเจนเท่าในยามปกติ อีกทั้งไม่อาจบัญชาให้ร่างกายมีปฏิกริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกได้ แม้จิตปรารถนาจะทำเช่นนั้นก็ตาม กระนั้นก็ตามมีบางกรณีที่ผู้ป่วยสามารถแสดงปฏิกิริยาตอบสนองได้ หากจิตถูกกระตุ้นเร้าเพียงพอดังกรณีที่จะกล่าวต่อไป
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 29 กุมภาพันธ์ 2024
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    (ต่อ)
    จิตกับสมองสัมพันธ์กันอย่างไร จิตเกิดจากสมอง หรือเป็นอีกส่วนที่แยกจากสมอง เหล่านี้เป็นประเด็นที่ยังคงโต้เถียงกันอีกนาน แต่นั่นก็ไม่สำคัญสำหรับคนเท่าไปเท่ากับความจริงที่ว่า ผู้ที่หมดสติหรืออยู่ในภาวะโคม่านั้น ยังมีความสามารถที่จะรับรู้ได้ ประเด็นนี้มีความสำคัญมาก เพราะนั่นหมายความว่า ผู้ที่อยู่รอบตัวผู้ป่วยยังสามารถมีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้ป่วยได้ คำพูดหรือการกระทำของหมอ พยาบาล และญาติผู้ป่วย อาจส่งผลในทางบวกหรือลบต่อผู้ป่วยก็ได้ ดังนั้นหากปรารถนาดีต่อผู้ป่วย จึงควรปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่หมดสติประหนึ่งคนปกติ แม้เขาจะอยู่ในภาวะอย่าง “ผัก” ก็ตาม

    มีหลายกรณีที่คำพูดของญาติมิตรสามารถส่งผลในทางบวกต่อผู้ป่วยที่หมดสติ จนเขาสามารถแสดงอาการรับรู้ออกมาได้ หรือถึงกับรู้สึกตัวขึ้นมาได้ มีเรื่องเล่าว่าติช นัท ฮันห์ พระเซนชาวเวียดนาม เคยไปเยี่ยมอัลเฟรด แฮสเลอร์ มิตรชาวอเมริกันที่อยู่ในภาวะโคม่าและใกล้จะหมดลม ท่านนัทฮันห์ได้นั่งข้างเตียงอัลเฟรด และพูดถึงประสบการณ์อันน่าประทับใจที่ทั้งสองได้ผ่านมาร่วมกันเมื่อครั้งเรียกร้องสันติภาพในเวียดนาม ท่านพูดอยู่ประมาณ ๔๐ นาที เมื่อพูดจบ อัลเฟรดก็ลืมตาขึ้นแล้วพูดว่า “วิเศษ ๆ” จากนั้นก็หลับตา สองชั่วโมงหลังจากนั้นเขาก็จากไปอย่างสงบ

    สารคดีของบีบีซีเรื่อง “Human Body” ที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้พูดถึง ไวโอล่า หญิงวัย ๕๘ ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง จนถึงกับหมดสติ หมอไม่สามารถช่วยให้ฟื้นขึ้นมาได้ จนในที่สุดลูกชายก็พูดกับแม่ว่า “แม่ต้องฟื้นนะ เพราะพ่อกำลังจะพาผู้หญิงอีกคนไปเที่ยว” พอพูดจบ ไวโอล่าก็เปิดตาและรู้สึกตัวขึ้นมาทันที เธอเล่าว่าเธอยอมไม่ได้ที่สามีจะควงผู้หญิงอื่นไปเที่ยว

    อีกกรณีหนึ่งซึ่ง “วีรกร ตรีเศศ” นักเขียนประจำมติชนสุดสัปดาห์ ได้อ้างดร.สมศักดิ์ ชูโต อีกทีว่า หญิงฝรั่งผู้หนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองไทยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนหมดสติ อาการหนักมาก ถูกนำส่งโรงพยาบาล แต่ไม่มีใครคิดว่าจะรอด ขณะที่หมอและบุรุษพยาบาลกำลังช่วยชีวิตเธออยู่นั้น มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “อีนี่ไม่น่าตายเลย นมมันสวย” ปรากฏว่าเธอได้ยินและมีกำลังใจฮึดสู้ขึ้นมาว่า ฉันต้องไม่ตาย ในที่สุดก็กลับฟื้นขึ้นมาได้

    ผู้ป่วยขั้นโคม่าที่ฟื้นขึ้นมาก็มี แต่ที่ไม่ฟื้นเลยก็มาก เพราะสังขารไม่อำนวยแล้ว แต่ไม่ว่าผลในท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในขณะที่เขายังหมดสติอยู่นั่น อย่าลืมว่าเขายังสามารถรับรู้อะไรได้ ดังนั้นญาติมิตรจึงยังสามารถช่วยเขาได้อีกมาก โดยเฉพาะในด้านจิตใจ เช่น ช่วยให้เขาคลายความวิตกกังวลหรือความหวาดกลัว ด้วยการพูดให้เขาเบาใจ รำลึกถึงบุญกุศลหรือความดีที่เขาเคยบำเพ็ญ หรือน้อมใจให้รำลึกถึงพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ และคลายความกังวลเกี่ยวกับลูกหลานหรือคนรัก การพูดถึงประสบการณ์ในอดีตที่เขาประทับใจหรือภูมิใจ ก็ช่วยเขาได้เช่นกัน

    ในอีกด้านหนึ่งก็ควรระมัดระวังคำพูดหรือการกระทำที่จะทำให้เขาเป็นทุกข์ เช่น ทะเลาะวิวาทกัน หรือร่ำไห้คร่ำครวญข้างเตียง หรือพูดถึงความเจ็บป่วยของเขาในทางที่ไม่สร้างสรรค์

    ตราบใดที่ผู้ป่วยยังมีลมหายใจอยู่ ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่เราจะทำสิ่งดี ๆ ให้เขา ไม่ว่าการช่วยเขาทำบุญถวายสังฆทาน ขออโหสิกรรมจากเขา หรือเอ่ยปากให้อภัยเขา (หากคิดว่าความรู้สึกผิดยังค้างคาใจเขาอยู่) หรือแม้แต่การบอกความในใจบางอย่างให้เขารับรู้

    หญิงชราผู้หนึ่งนั่งเศร้าซึมข้างเตียงสามีซึ่งอยู่ใกล้ตายและอยู่ในภาวะโคม่า เธอเสียใจที่ไม่เคยบอกสามีว่าเธอรักเขาเพียงใด มาได้คิดก็สายเสียแล้วเพราะเขาหมดสติไม่ตอบสนองใด ๆ แต่พยาบาลแนะให้เธอพูดทุกอย่างที่อยากพูดเพราะเขายังอาจได้ยินคำพูดของเธอได้ เธอจึงขออยู่กับเขาอย่างเงียบ ๆ แล้วบอกเขาว่า เธอรักเขาอย่างสุดซึ้ง และมีความสุขที่ได้อยู่กับเขา หลังจากนั้นเธอก็กล่าวคำอำลาว่า “ยากมากเลยที่ฉันจะอยู่โดยไม่มีเธอ แต่ฉันไม่อยากเห็นเธอทุกข์ทรมานอีกต่อไป ฉะนั้นหากเธอจะจากไป ก็ขอให้จากไปเถิด” พูดจบ สามีของเธอก็หายใจเฮือกยาวออกมาและสิ้นชีวิตอย่างสงบ

    สำหรับผู้ป่วยที่หมดสติ ความดีงามที่สื่อตรงจากใจถึงใจนั้นมีอานุภาพเหลือประมาณ สามารถเยียวยาความทุกข์และเป็นกำลังใจให้เขาก้าวสู่ความตายได้อย่างสงบ ชนิดที่เงินจำนวนมหาศาลและเทคโนโลอันล้ำเลิศมิอาจทำได้
    :- https://visalo.org/article/jitvivat254909.htm
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    thePowerofNow.jpg
    อิสรภาพจากตัวตน

    พระไพศาล วิสาโล
    หากจัดอันดับ “คุรุ”ทางจิตวิญญาณชาวตะวันตกที่ทรงอิทธิพลและยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน หนึ่งใน ๑๐ อันดับแรกย่อมได้แก่เอกคาร์ท โทลเลอ (Eckhart Tolle) หนังสือและคำบรรยายของเขาแม้ไม่ใช่ประเภท “How to” ที่ให้สัญญาว่าจะพาไปสู่ความสำเร็จในชีวิต แต่ก็มีผู้ติดตามผลงานของเขานับล้าน ๆ คน คำสอนของเขามีแก่นแกนอยู่ที่ “การอยู่กับปัจจุบัน” ดังชื่อหนังสือเล่มแรกที่สร้างชื่อเสียงแก่เขาคือ The Power of Now

    แม้ตัวเขาเองไม่ได้ประกาศว่าสังกัดศาสนาใด แต่คำสอนของเขาก็มีหลายส่วนที่ใกล้เคียงกับพุทธศาสนามาก โดยเฉพาะการเน้นให้ “ดูตัวคิด” และการถอนจิตออกมาจากความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง จนเกิดภาวะตื่นรู้โดยปราศจากความคิด ในทัศนะของเขาขั้นตอนสำคัญของการเดินทางสู่ความรู้แจ้งคือ “เรียนรู้ที่จะไม่ยึดเอาความคิดของคุณเป็นตัวคุณ” เพราะแท้จริงแล้ว “ความคิดของคุณมิใช่ตัวคุณ” พูดอย่างอาจารย์พุทธทาสก็คือ อย่าไปยึดถือความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงว่าเป็น “ตัวกู ของกู”

    ชีวิตของเขาน่าสนใจตรงที่ เขาค้นพบความจริงดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมทางด้านจิตวิญญาณของศาสนาใดมาก่อน จะว่าไปแล้วความทุกข์ต่างหากที่ผลักดันให้เขาพบความจริงอันลึกซึ้งยิ่ง เขาเล่าว่าในวัยหนุ่มเขาเป็นโรคซึมเศร้าอย่างแรงจนอยากจะฆ่าตัวตายหลายครั้ง อาการดังกล่าวรบกวนจิตใจเขามาตลอดจนเกือบอายุ ๓๐ ปี แต่แล้วจุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นในคืนวันหนึ่ง

    คืนนั้นเขาตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกที่เลวร้ายมาก แปลกแยกกับทุกสิ่ง ชิงชังโลกทั้งโลก และที่หนักที่สุดคือชิงชังตัวเอง จนไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปทำไม “ฉันทนอยู่กับตัวเองต่อไปไม่ได้อีกแล้ว” เป็นความคิดที่ผุดขึ้นมาในใจเขาตลอดเวลา จู่ ๆ เขาก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า นี่เป็นความคิดที่แปลก “ตัวฉันมีหนึ่งหรือสองกันแน่ ถ้าฉันทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ ก็แสดงว่าตัวฉันนั้นมีสอง คือ “ฉัน” กับ “ตัวตน”ที่ “ฉัน”ทนอยู่ด้วยไม่ได้” เขาสงสัยขึ้นมาว่า คงมีเพียงหนึ่งเท่านั้นที่จริง

    เขาพิศวงงงวยกับความคิดดังกล่าวจนจิตหยุดปรุงแต่ง ไร้ความคิดใด ๆ มีแต่ความรู้สึกตัวเต็มที่ แล้วเขาก็รู้สึกว่าตัวเองถูกดูดลงไปในที่ว่าง เป็นที่ว่างข้างในตัวมากกกว่าที่ว่างภายนอก เขาเล่าว่าจำสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่ได้ แต่เมื่อตื่นขึ้นมา เขาพบกับความรู้สึกใหม่ เป็นความตื่นตาตื่นใจในมหัศจรรย์ของชีวิต ราวกับว่าเพิ่งลืมตาขึ้นมาดูโลกเป็นวันแรก เขายังได้พบกับความสงบที่ดำรงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

    เป็นเวลานานหลายปีที่เขาไม่เข้าใจว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่ต่อมาเขาก็เริ่มเข้าใจ เขาอธิบายว่าความทุกข์แสนสาหัสในคืนนั้นได้บีบคั้นให้จิตของเขาต้องถอนจากความยึดติดในตัวตนที่อมทุกข์ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการปรุงแต่งของจิต เขาเชื่อว่าการถอนจากความยึดมั่นดังกล่าวเป็นการถอนอย่างสิ้นเชิง จนตัวตนที่อมทุกข์นั้นพินาศพังภินท์ไปทันที เหมือนกับถอดปลั๊กออกจากตุ๊กตาพองลมจนแฟบ คงเหลือแต่ธรรมชาติแท้จริงที่เป็นปัจจุบันขณะอย่างต่อเนื่อง

    คำอธิบายดังกล่าวใกล้เคียงกับพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนามองว่า ตัวตนนั้นไม่มีอยู่จริงตั้งแต่แรก แต่เป็นสิ่งที่จิตสร้างขึ้นมาเอง ซ้ำยังไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นสิ่งจริงแท้ ความหลงดังกล่าวเป็นรากเหง้าของการไปยึดอะไรต่ออะไรมาเป็น “ตัวกู ของกู” อีกมากมาย ไม่เพียงยึดร่างกายนี้ หรือทรัพย์สมบัติรอบตัวว่าเป็น “ ตัวกูของกู”เท่านั้น แม้แต่ความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ทั้ง ๆ บวกและลบ ก็ยังยึดว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ผลก็คือ เมื่อความเครียดเกิดขึ้น ก็สำคัญมั่นหมายว่า “กูเครียด” เมื่อเกิดทุกขเวทนาไม่ว่ากับกายหรือใจ ก็ยึดมั่นสำคัญหมายว่า “กูทุกข์”

    รากเหง้าของความทุกข์ทั้งปวงจึงเกิดจากความยึดติดถือมั่นว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ต่อเมื่อปล่อยวางจากความยึดติดดังกล่าว จึงจะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ อะไรเล่าที่จะทำให้เกิดการปล่อยวางดังกล่าวได้ คำตอบก็คือ ปัญญาที่แลเห็นความจริงว่า ไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ หรือยึดถือว่าเป็นตัวตนได้เลยแม้แต่อย่างเดียว
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    (ต่อ)
    อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นไม่ได้ ก็คือความหลงว่าสิ่งทั้งปวงนั้นอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา และสามารถใช้มันปรนเปรอสร้างสุขแก่เราได้ทุกเมื่อ แต่เมื่อใดก็ตามที่ตระหนักว่าแท้จริงแล้วไม่มีอะไรที่เราควบคุมได้เลย แถมยังเต็มไปด้วยทุกข์จนไม่น่ายึดถือหรือน่าเอาด้วยซ้ำ จิตก็ปล่อยวางสิ่งทั้งปวงทันที

    ตรงนี้เองที่ความทุกข์มีความสำคัญ เพราะสามารถทำให้ผู้คน “ตาสว่าง” และหลุดจากความหลงดังกล่าวได้ จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดของโทลเลอเกิดขึ้นเมื่อเขาประสบกับความทุกข์อย่างหนักถึงขั้นอยากตายไปจากโลกนี้ ในด้านหนึ่งความทุกข์ดังกล่าวทำให้จิตของเขากระสับกระส่ายทุรนทุราย แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ผลักดันให้เขาจำต้องปล่อยวางจาก “ตัวตนที่อมทุกข์” พูดอีกอย่างคือเขาตระหนักชัดว่า “ตัวตนที่อมทุกข์”นั้นไม่น่ายึดถืออีกต่อไป ยิ่งมาได้คิดว่า “ตัวตนที่อมทุกข์”นี้เป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเอง เขาก็สลัดมันทิ้งได้ทันที

    ในสมัยพุทธกาล มีภิกษุและภิกษุณีหลายรูปที่หลุดพ้นจากทุกข์ได้เพราะถูกทุกข์บีบคั้นอย่างหนักจนเห็นว่าขันธ์ทั้ง ๕ คือร่างกายและจิตใจนั้นไม่น่ายึดถือแม้แต่น้อย อาทิ พระธรรมาเถรีซึ่งเป็นภิกษุณีวัยชราผู้ทุพพลภาพ เวลาไปบิณฑบาตต้องถือไม้เท้าประคองร่างกายที่สั่นเทา มีคราวหนึ่งท่านเกิดสะดุดล้มลง ร่างกระแทกกับพื้น ได้รับทุกขเวทนาอย่างแรง ชั่วขณะนั้นเองที่ท่านเห็นว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ความตระหนักชัดว่าร่างกายนี้ไม่น่ายึดถือ ทำให้จิตของท่านปล่อยวางในขันธ์และหลุดพ้นทันที

    อีกกรณีหนึ่งได้แก่พระสัปปทาสเถระ ท่านมีความทุกข์ใจอย่างมากที่ไม่พบความสงบทั้ง ๆ ที่บวชมาถึง ๒๕ ปี รู้สึกว่าชีวิตของตนไร้คุณค่า ครั้นจะลาสิกขาก็รู้อับอาย จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย ขณะที่ท่านสะบัดมีดโกนปาดคอ เกิดความเจ็บปวดอย่างแรง ท่านก็ได้ประจักษ์ชัดว่าว่า สังขารนั้นเป็นทุกข์ น่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายึดถือ จิตก็ปล่อยวางและหลุดพ้น บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที

    ความทุกข์สามารถเปิดใจให้เกิดปัญญาได้ แต่ปัญญาจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อจิตไม่จมดิ่งอยู่ในความทุกข์อย่างสิ้นเชิง แต่สามารถ “ทะลึ่ง”โผล่พ้นความทุกข์แม้ชั่วขณะ จนแลเห็นความทุกข์ แทนที่จะเป็น “ผู้ทุกข์” ชั่วขณะนั้นเองที่ปัญญาสามารถผุดโพลงขึ้นมาได้ โดยเฉพาะเมื่อเห็นความทุกข์ตามที่เป็นจริง การฉุกคิดระคนฉงนสงสัยที่เกิดขึ้นกับโทลเลอว่า “ตัวฉัน”ที่อมทุกข์นั้น มีจริงแน่หรือ เป็นเชื้ออย่างดีให้ปัญญาญาณสว่างโพลงขึ้นมา จนสามารถสลัดตัวตนที่ปรุงแต่งนั้นทิ้งไปได้

    อย่างไรก็ตามการที่จะ “เห็น”ทุกข์ โดยไม่ “เป็น”ทุกข์ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่มีสติเป็นเครื่องยกจิตออกจากทุกข์ สติที่เกิดขึ้นหากมีกำลังมากพอสามารถทำให้จิตหลุดจากทุกข์ บางครั้งภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ แต่ก็นานพอที่ปัญญาจะมารับช่วงต่อ จนหลุดจากทุกข์ หรือ “ได้คิด”ขึ้นมาจนเปลี่ยนใจเปลี่ยนชีวิต ดังที่เกิดขึ้นกับหลายคนที่กลุ้มใจจนเตรียมโดดตึกฆ่าตัวตาย แต่พลันได้เห็นแสงเงินแสงทองยามรุ่งอรุณ ก็เกิดฉุกคิดขึ้นมา มองชีวิตในมุมใหม่ จนเลิกคิดฆ่าตัวตาย และเริ่มต้นชีวิตใหม่จนก้าวข้ามความทุกข์ที่รุมเร้าได้

    คนทั่วไปเมื่อถูกทุกข์กลุ้มรุม หากยังพอมีสติอยู่ ก็มักหาทางหนีจากทุกข์ ด้วยการหันเหใจให้ไปรับรู้สิ่งอื่นที่น่าพึงพอใจแทน เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยวห้าง หรือเสพไพศรส แต่หากถูกทุกข์รุมเร้าอย่างหนักจนทนไม่ไหว ก็อาจปลิดชีวิตตัวเอง มองในแง่หนึ่งนั่นคือความพยายามที่จะหนีจาก “ตัวตนที่อมทุกข์” โดยสำคัญผิดว่า ร่างกายและจิตใจนี้คือตัวตน

    น่าสนใจก็ตรงที่มีบางคนที่พยายามหนีจาก “ตัวตนที่อมทุกข์” ด้วยการสลัดมันทิ้งไป แต่แทนที่จิตจะเป็นอิสระ กลับไปยึดเอาตัวตนอื่นเป็นที่พึ่งแทน กลายเป็นอีกคนหนึ่ง ต่อเมื่อตัวตนเดิมหายทุกข์ จึงกลับไปหาตัวตนนั้นและดำรงชีวิตเหมือนปกติ นี้อาจเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดบางคนจึงมีความผิดปกติทางจิตที่เรียกว่าบุคลิกซ้อน (multiple personality disorder)

    เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการเปิดเผยกรณีหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง “คาเรน”เป็นหญิงวัย ๓๔ ที่จิตแพทย์พบว่าเธอมีบุคลิกต่าง ๆ ถึง ๑๗ แบบ แต่ละแบบนั้นแตกต่างกันราวกับเป็นคนละคน และไม่สื่อสารกัน แต่ละบุคลิกมีชื่อและสำนึกตัวตนแตกต่างกัน ราวกับมีคน ๑๗ คนในร่างเดียวกัน บางบุคลิกชื่อ “แคลร์” เป็นเด็ก ๗ ขวบ บางบุคลิกชื่อ “ซิดนีย์” อายุ ๕ ขวบ ในแต่ละวันคาเรนจะสลับอยู่ในบุคลิกต่าง ๆ กัน โดยไม่เฉลียวใจเลยว่ามีบุคลิกอื่น ๆ อยู่ในตัวเธอด้วย

    คาเรนเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์เมื่อ ๑๗ ปีที่แล้ว ด้วยอาการซึมเศร้าและอยากฆ่าตัวตาย ต่อมาจิตแพทย์พบว่าเธอถูกบิดาล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่เด็ก น่าแปลกก็ตรงที่เธอจำไม่ได้ว่ามีเพศสัมพันธ์กับพ่อ ทั้ง ๆ ที่มีลูกด้วยกันสองคน การปรึกษากับจิตแพทย์อย่างต่อเนื่องทำให้เขาค่อย ๆค้นพบบุคลิกทั้ง ๑๗ อย่างในตัวเธอ
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    (ต่อ)
    จิตแพทย์ได้พบว่า บุคลิกเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นด้วยจิตไร้สำนึกเพื่อเป็นทางหนีทุกข์ เมื่อใดก็ตามที่ไปอยู่ในบุคลิกหนึ่ง ก็จะไม่รับรู้ความทุกข์ที่เกิดกับอีกบุคลิกหนึ่ง เพราะแต่ละบุคลิกนั้นเสมือนเป็นคนละตัวตนที่ไม่เกี่ยวข้องหรือรู้จักกัน ดังนั้นเวลาคาเรนถูกพ่อกระทำมิดีมิร้าย เธอจะกลายไปเป็นเด็กชายที่ชื่อ “ไมลส์” วัย ๘ ขวบทันที เพราะจิตไร้สำนึกรู้ดีว่าเด็กชายย่อมไม่ถูกกระทำเช่นนั้นจากพ่อ พูดอีกอย่างหนึ่ง ในขณะนั้นตัวตนที่ชื่อคาเรน ถูกสลัดทิ้งไป และมีตัวตนใหม่เข้ามาแทนที่ เป็นตัวตนที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับคาเรน นี้คือเหตุผลว่าทำไมคาเรนจำไม่ได้ว่าพ่อทำอะไรกับเธอ

    แต่ละตัวตนมีหน้าที่ต่าง ๆกันซึ่งช่วยให้เธอสามารถทนกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ เวลาพูดคุยกับพ่อ ตัวตนที่ชื่อ “ซิดนีย์”ก็เข้ามาแทน เพราะเป็นเด็กที่ร่าเริง สามารถคุยเล่นกับพ่อได้ วิธีนี้ทำให้เธอไม่ต้องเป็นปฏิปักษ์กับพ่อ เพราะยังต้องพึ่งพาพ่ออยู่

    การสลัดตัวตนเดิมทิ้งเพื่อไปยึดตัวตนใหม่ สามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดบางคนจึงมีลักษณะเหมือนผีเข้า อาการดังกล่าวอาจเกิดกับหญิงสาวที่อยู่ภายใต้การดูแลกวดขันอย่างใกล้ชิดจากพ่อหรือแม่เจ้าระเบียบ ในด้านหนึ่งเธอจึงเป็นคนสุภาพเรียบร้อยราว นุ่มนวล แต่บางครั้งก็กลายเป็นคนก้าวร้าว อามรณ์รุนแรง และน่ากลัว ด่าทอพ่อแม่ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ราวกับเป็นคนละคน ใช่หรือไม่ว่า บุคลิกหรือตัวตนอย่างหลังนั้นเป็นทางออกของเธอ เพื่อระบายความโกรธเกลียดใส่พ่อแม่ได้เต็มที่ ขณะเดียวก็สามารถทำอะไรก็ได้ตามใจเธอ ซึ่งปกติไม่สามารถทำได้ในฐานะคนธรรมดา พูดอีกอย่างหนึ่ง ความเครียดจากการถูกกดดันให้อยู่ในระเบียบ รวมทั้งความทุกข์จากความรู้สึกผิดที่โกรธเกลียดพ่อแม่ ทำให้เธอไม่สามารถทนอยู่กับตัวตนเดิมที่เรียบร้อยได้ จึงต้องสลัดตัวตนนั้นทิ้ง และหาตัวตนใหม่ที่อนุญาตให้เธอทำสิ่งต่าง ๆ ได้ตามอำเภอใจ

    การทิ้งตัวตนเดิม แล้วไปยึดตัวตนใหม่นั้น เป็นวิธีหนีทุกข์ไปได้ชั่วคราว แต่ไม่นานก็ต้องกลับมาเจอทุกข์ดังเดิม เพราะในที่สุดก็ต้องหวนคืนสู่ตัวตนเดิม ซ้ำยังมักสร้างทุกข์ใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความสับสนทางใจ กรณีดังกล่าวยังชี้ว่า การสลัดตัวตนมิใช่ของง่าย เพราะจิตมักไปยึดเอาสิ่งอื่นมาเป็นตัวตน หรือสร้างภาพลวงอย่างใหม่ให้มาเป็น “ตัวกู” แทน ความทุกข์นั้นมีพลังบีบคั้นให้จิตปล่อยวางจากตัวตน(ที่ปรุงแต่งขึ้นเอง)ก็จริง แต่หากไม่มีสติเพื่อพลิกจิตให้เห็นทุกข์แล้ว ก็ยากที่จะเกิดปัญญาจนอยู่เหนือทุกข์ได้ ตรงข้ามความทุกข์นั้นเองกลับผลักให้ไปหาตัวตนใหม่ด้วยหวังว่าจะเป็นสรณะสำหรับหลบทุกข์ได้ แต่นั่นเป็นความหลงอีกอย่างหนึ่ง เพราะตราบใดที่ยังยึดติดถือมั่นว่ามีตัวตนอยู่ ก็ต้องมี “กู ผู้ทุกข์”อยู่ร่ำไป ไม่ว่าตัวตนนั้นจะถูกปรุงแต่งให้เลอเลิศเพียงใดก็ตาม
    :-
    https://visalo.org/article/jitvivat255104.htm
     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    seed.jpg
    ต่อยอดด้วยมิติทางจิตใจ

    พระไพศาล วิสาโล
    พระชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อนสมัยที่สงครามในเขมรเพิ่งยุติใหม่ ๆ ท่านกับเพื่อน ๆ รวบรวมเงินได้หลายล้านเยนเพื่อจะนำไปช่วยเหลือชาวเขมรที่ประสบภัยพิบัติ เนื่องจากท่านต้องการให้เงินก้อนนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้คนที่ทุกข์ยากจริง ๆ จึงเดินทางไปพบปะกับชาวเขมรตามที่ต่าง ๆ ด้วยตนเอง

    มีคราวหนึ่งท่านได้ไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งหนึ่งในชนบท โรงเรียนแห่งนี้ขัดสนไปเกือบทุกอย่าง มีเพียงอาคารหลังเก่า ๆ และบรรยากาศที่ดูเศร้าสร้อย ท่านได้ถามครูใหญ่ว่าอยากให้ท่านช่วยเหลืออะไรบ้าง ปรากฏว่าคำตอบที่ได้นั้น ไม่ใช่โต๊ะ เก้าอี้ กระดาน และเครื่องเขียน แต่ได้แก่ “เมล็ดพันธุ์และกล้าไม้ดอก”

    พระญี่ปุ่นนึกไม่ถึงว่าจะได้คำตอบนี้ จึงถามถึงเหตุผล ครูใหญ่อธิบายว่า เด็กนักเรียนในโรงเรียนนี้ได้พบเห็นสงคราม การฆ่าฟันและการทำลายล้าง มาตั้งแต่เกิด เด็กเหล่านี้แทบจะไม่เห็นอะไรที่ดี ๆ เลยในชีวิต จิตใจจึงหดหู่แห้งแล้ง ครูใหญ่เห็นว่าสิ่งสำคัญอย่างแรกที่เด็ก ๆ ต้องการก็คือ ความสดใสงดงามและความชื่นบาน ครูใหญ่เชื่อว่าดอกไม้ที่เบ่งบานไปทั่วโรงเรียนจะช่วยให้เด็กกลับมีความหวังและความเบิกบานขึ้นใหม่

    พระญี่ปุ่นท่านนี้บอกว่าฟังแล้วก็รู้สึกละอายใจที่นึกถึงแต่วัตถุ ตัวเองเป็นพระแท้ ๆ แต่ไม่ได้นึกถึงเรื่องของจิตใจเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อท่านกลับไปญี่ปุ่น ได้ส่งเงินไปให้โรงเรียนซื้อเมล็ดพันธุ์และกล้าไม้ตามต้องการ ไม่นานโรงเรียนแห่งนั้นก็สะพรั่งด้วยดอกไม้ ทั้งดอกไม้บนพื้นดินและดอกไม้ในใจเด็ก

    ใช่หรือไม่ว่าคนส่วนใหญ่ก็คิดแบบพระญี่ปุ่นท่านนี้(ในตอนแรก) ดูเหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จไปแล้วว่าหากเจอโรงเรียนเก่า ๆ ที่ยากจน ก็ต้องนึกถึงโต๊ะ เก้าอี้ และเครื่องเขียน (จะให้ทันสมัยหน่อยก็ต้องพ่วงคอมพิวเตอร์ไปด้วย) เป็นอันดับแรก ส่วนสิ่งที่จะบำรุงจิตใจนั้นเอาไว้ท้าย ๆ หรือไม่ก็ลืมไปเลย

    การเน้นวัตถุแต่มองข้ามจิตใจ มิเพียงสะท้อนให้เห็นจากค่านิยมของโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศที่แข่งกันทำป้ายชื่อโรงเรียนขนาดยักษ์และรั้วราคาแพง ๆ ในขณะที่คุณธรรมและความรู้ของนักเรียนกลับตกต่ำอย่างน่าเป็นห่วงแล้ว เรายังพบทัศนคติอย่างนี้ไปทุกวงการแม้กระทั่งวงการศาสนา

    มิติทางจิตใจนับวันจะกลายเป็นส่วนเกินของชีวิตและกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมไปเสียแล้ว การทำมาหากินและการพัฒนาเศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องของการหาเงินและเพิ่มรายได้ล้วน ๆ จนเม็ดเงินกลายเป็นจุดหมายในตัวมันเอง วัฒนธรรมและประเพณีก็มิใช่อะไรอื่นหากคือสินค้าอีกอย่างหนึ่งที่สามารถดึงเงินจากกระเป๋านักท่องเที่ยวได้เท่านั้น เวลารัฐบาลรณรงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ผลเสียที่ยกมาย้ำเตือนให้ประชาชนตระหนักก็คือ ความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ราวกับว่าความทุกข์ยากและความเศร้าโศกจากการสูญเสียชีวิตหรือพิการนั้นไม่มีความสำคัญพอที่จะกล่าวถึง

    ความจริงแล้วมิติทางจิตใจไม่จำเป็นต้องแยกขาดจากชีวิตและกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมเลย กล่าวอีกนัยหนึ่งการให้ความสำคัญแก่จิตใจไม่ได้หมายความว่าต้องละทิ้งเรื่องวัตถุหรือเงินทอง เราสามารถทำอาชีพการงานเพื่อปากท้องควบคู่กับการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ตนเอง หรืออาจไปถึงขั้นพัฒนาคุณภาพจิตใจพร้อม ๆ ไปกับการทำงานได้ ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุย้ำว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม”
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    (ต่อ)
    ในทำนองเดียวกันการพัฒนาเศรษฐกิจก็สามารถผนวกมิติทางด้านจิตใจเข้าไปได้ กล่าวคือแทนที่จะเน้นแต่เม็ดเงินอย่างเดียว ก็มุ่งนำโภคทรัพย์ที่ได้นั้นมาพัฒนาสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ช่วยให้ผู้คนเอื้อเฟื้อต่อกันรวมทั้งมีชีวิตที่สงบสุขมากขึ้น วัตถุนั้นมิได้เป็นปฏิปักษ์ต่อจิตใจเสมอไป หากรู้จักใช้กลับก็มีประโยชน์ต่อจิตใจ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงได้แนะให้สาวกของพระองค์รู้จักใช้โภคทรัพย์เพื่อ “ฝึกอบรมตน ทำตนให้สงบ ทำตนให้ดับเย็นสนิท”

    เราสามารถต่อเติมมิติทางจิตใจหรือจิตวิญญาณเข้าไปแม้กระทั่งในกิจกรรมพื้น ๆ ของชีวิต เช่น การกิน การหายใจ และการเดิน เวลากิน เราไม่เพียงบำรุงร่างกายเท่านั้น หากยังสามารถบำรุงจิตใจได้ด้วยหากกินอย่างมีสติ หรือกินโดยตระหนักถึงบุญคุณของสรรพชีวิต เช่นเดียวกัน เวลาหายใจ เราสามารถนำความสงบมาเลี้ยงจิตใจได้ด้วยหากมีสติกับการหายใจ เมื่อก้าวเดิน เราไม่เพียงแต่พาตัวให้ถึงเป้าหมายเท่านั้น หากยังสามารถนำพาจิตใจให้บรรลุถึงความรู้ตัวทั่วพร้อมได้ด้วย

    กายกับใจไม่จำเป็นต้องแยกจากกัน แต่มาเดี๋ยวนี้เรากำลังแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันมากขึ้น การกิน การหายใจกลายเป็นเรื่องกายล้วน ๆ ในทำนองเดียวกันเพศสัมพันธ์ก็ถูกทอนให้เหลือเพียงแค่กิจกรรมทางกาย แม้แต่เพศศึกษาก็มุ่งไปทำนองนี้ คือเน้นแต่เรื่องชีววิทยาและกายวิภาค ทั้ง ๆ ที่อีกส่วนที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ ความรัก ความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจกันในระหว่างคนสองคน เช่นเดียวกันกีฬาก็กลายเป็นเพียงแค่การออกกำลังกาย ทั้ง ๆ ที่สามารถใช้เป็นสื่อสร้างคุณธรรม คุณภาพจิตและความเข้าใจในชีวิตได้เป็นอย่างดี

    การตัดมิติทางจิตใจออกไปจากกิจกรรมต่าง ๆ ของชีวิตและสังคมนั้น มีแต่จะทำให้มนุษย์แปลกแยกจากตนเองมากขึ้น เพราะจิตใจนั้นก็เป็นส่วนสำคัญของเราทุกคน ละทิ้งจิตใจก็เท่ากับละทิ้งอีกครึ่งหนึ่งของตัวเราเองให้ตกต่ำ ผลก็คือมันจะคอยก่อกวนและฉุดรั้งชีวิตของเราให้เสื่อมถอยลงไปเรื่อย ๆ ชีวิตที่ละเลยมิติทางจิตใจคือชีวิตที่อมทุกข์ ในทำนองเดียวกันประเทศที่ละเลยมิติทางจิตวิญญาณย่อมหาความสงบสุขได้ยาก แม้จะมั่งคั่งเพียงใดก็ตาม

    จะร่ำรวยแค่ไหน จะพัฒนาประเทศด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการนำมิติทางจิตใจมาต่อยอดทุกกิจกรรมของชีวิตและสังคม
    :- https://visalo.org/article/jitvivat254704.htm
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,033
    BuddhaElephantMonkey.jpg
    คุณธรรมในสายเลือด

    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อ ๒-๓ ปีก่อนมีการทดลองเพื่อศึกษาแบบแผนการเลือกคู่ของผู้คน ผู้วิจัยได้นำภาพถ่ายของชายและหญิงที่อยู่กินด้วยกันนานหลายปีมาสลับกันแล้วรวมไว้ในกองเดียวกัน จากนั้นให้อาสามัครเลือกเอาภาพของคนที่หน้าตาคล้ายกันมาจับคู่กัน ปรากฏว่าคู่ที่อาสาสมัครเลือกมานั้นมักเป็นคู่สามีภรรยากันจริง ๆ การทดลองหลายครั้งได้ผลถูกต้องบ่อยครั้งเกินกว่าที่จะเรียกว่าเป็นความบังเอิญ

    มีการทดลองคล้าย ๆ กันอีก คราวนี้ให้อาสาสมัครทำการเจรจาต่อรองเรื่องเงิน ปรากฏว่าคู่เจรจาอีกฝ่ายมักจะได้รับความไว้วางใจมากกว่าหากว่าเขาหรือเธอมีหน้าตาคล้ายกับอาสาสมัคร การทดลองนี้ให้ผลสอดคล้องกับข้อสังเกตที่มีมานานแล้วว่า คนเราจะให้ความไว้วางใจมากกว่าแก่คนที่มีหน้าตาใกล้เคียงกับตน

    การทดลองทั้งสองกรณีชี้ว่าหน้าตาที่คล้ายกันนั้นมีผลต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยั่งยืน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าหน้าตาและรูปร่างที่คล้ายกันนั้นกันนั้นบ่งชี้ถึงความใกล้ชิดกันทางด้านพันธุกรรม สัตว์ทุกชนิดมีสัญชาตญาณอย่างหนึ่งคือการพยายามถ่ายทอดและรักษาพันธุกรรม(หรือยีน)ของตนให้อยู่รอดและยั่งยืน แม่เสือยอมตายเพื่อรักษาชีวิตของลูกน้อยก็เพื่อให้ยีนของลูก(ซึ่งมียีนของแม่ครึ่งหนึ่ง)สามารถอยู่รอดและถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อ ๆ ไปได้ มดปลวกและผึ้งยอมตายเพื่อปกป้องรังและพวกพ้องของมัน ก็เพราะทุกตัวในรังล้วนมียีนเหมือนกัน (เพราะมาจากแม่หรือนางพญาตัวเดียวกัน) “ตัวตายแต่ยีนอยู่” คือภารกิจของทุกชีวิต ซึ่งไม่ได้หมายถึงการรักษาตัวให้รอดเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการช่วยเหลือให้ตัวอื่น ๆ ที่มียีนใกล้ชิดกับตนอยู่รอดด้วย ด้วยเหตุนี้สัตว์จึงมีความรู้สึกใกล้ชิดเป็นพิเศษกับตัวอื่น ๆ ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้าย ๆ กัน เพราะนั่นหมายถึงการมีพันธุกรรมเดียวกัน(หรือใกล้กัน)

    สมมติฐานดังกล่าวสามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดสัตว์จึงมักจับคู่กับตัวที่มีลักษณะคล้ายกับมัน แต่ต้องไม่คล้ายกันมากเกินไป (เพราะนั่นอาจหมายถึงการสืบพันธุ์กับพี่น้องร่วมสายเลือดซึ่งเป็นผลเสียต่อพันธุกรรมของลูกหลาน) เคยมีการทดลองกับหนูและนกคุ่ม พบว่าตัวผู้มักจะจับคู่และผสมพันธุ์กับตัวเมียที่มีสีหรือกลิ่นคล้ายกับพี่น้องหรือแม่ของมัน หรือคล้ายกับตัวที่มันคุ้นเคยตั้งแต่ยังเล็ก ๆ

    ทั้งหมดนี้อธิบายได้ไม่มากก็น้อยว่าทำไมเราถึงนิยมแต่งงานกับคนที่มีหน้าตาใกล้เคียงกัน และเหตุใดคนที่มีหน้าตาใกล้เคียงกันจึงคบหาหรืออยู่กินด้วยกันได้นานกว่า อย่างไรก็ตามคำอธิบายดังกล่าวมีนัยที่กว้างกว่านั้น เพราะหากคำอธิบายดังกล่าวเป็นความจริง นั่นก็หมาย ความว่า ความรู้สึกว่าเป็น “พวกเรา” นั้นมีรากเหง้าอยู่ในยีนของเราด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมหรือการบ่มเพาะทางสังคมเท่านั้น

    ความรู้สึกว่าเป็น “พวกเรา” นั้นมักเกิดขึ้นเมื่อพูดภาษาเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน บริโภคสินค้ายี่ห้อเดียวกัน ชื่นชมนักร้องคนเดียวกัน สังกัดสถาบันเดียวกัน และอยู่ประเทศเดียวกัน แต่ปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันก็คือ การมีสีผิวและชาติพันธุ์เดียวกัน
    สีผิวและชาติพันธุ์เดียวกันในสมัยก่อน(และแม้กระทั่งปัจจุบัน)ย่อมหมายถึงภาษา วัฒนธรรม และเผ่าเดียวกัน อย่างไรก็ตามลึกลงไปกว่านั้นมันยังหมายถึงการมียีนหรือพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน อย่างน้อยก็ใกล้กว่าคนต่างเผ่า ต่างสีผิวและต่างชาติพันธุ์

    ยีนหรือพันธุกรรมในเซลของเรานั้นมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อความรู้สึกนึกคิดของเราชนิดที่ยากจะปฏิเสธได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะถูกกำหนดโดยยีนไปเสียทั้งหมด มีพฤติกรรมหลายอย่างของมนุษย์ที่อธิบายไม่ได้ว่าเป็นเพราะอำนาจของยีน เช่น การมีกลุ่มนักบวชที่ครองชีวิตพรหมจรรย์ หรือการเห็นแก่ประเทศชาติ(ซึ่งประกอบด้วยคนหลากหลายชาติพันธุ์)ยิ่งกว่าชีวิตของตน จนเกิดคำพูดว่า “ตัวตายแต่ชื่อยัง”

    มนุษย์เรานั้นมีความคิดที่สามารถพัฒนาเป็น “ปัญญา” และมีอารมณ์ความรู้สึกที่สามารถพัฒนาเป็น “กรุณา” ได้ ปัญญาและกรุณานี้เองที่ทำให้มนุษย์สามารถเป็นอิสระจากอำนาจบงการของยีน อย่างน้อยก็ในแง่พฤติกรรม (แม้มันยังคุมได้ในแง่กายภาพอยู่) ด้วยเหตุนี้เองความสำคัญมั่นหมายว่า “พวกเรา” จึงสามารถข้ามพ้นเส้นแบ่งทางด้านสีผิว ชาติพันธุ์ ตลอดจนศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมได้ อิสรภาพดังกล่าวทำให้มนุษย์สามารถทำวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ที่พบเห็นได้แม้ในชีวิตประจำวัน
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 มีนาคม 2024

แชร์หน้านี้

Loading...