บทความให้กำลังใจ(คำขอที่ยิ่งใหญ่)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    lake-nature-animated-gif-7.gif
    เมื่อความสุขหลุดลอยไป
    พระไพศาล วิสาโล
    ความสุขนั้นใคร ๆ ก็ปรารถนา แต่เคยสังเกตไหมว่า ทันทีที่เราอยากได้ความสุข ความสุขกลับเลือนหาย ยิ่งอยากได้ความสุขมากเท่าไร เรากลับมีความสุขน้อยลง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?

    เหตุผลนั้นมีหลายประการ ทุกครั้งที่เราอยากมีความสุข เรามักจะนึกถึงสิ่งที่เรายังไม่มี เช่น เงิน รถยนต์ ชื่อเสียง ความสำเร็จ หรือสิ่งที่ยังไปไม่ถึง เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว แต่พอคิดเช่นนั้น เราก็จะรู้สึกไม่พอใจกับสภาพปัจจุบันทันที เพราะตรงนี้เดี๋ยวนี้ไม่มีสิ่งที่เราอยากได้ อีกทั้งไม่ใช่สิ่งที่เราอยากไปถึง

    ทั้ง ๆ ที่สภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันอาจให้ความสุขแก่เราอยู่แล้ว เช่น บ้านที่สะดวกสบาย ร่างกายที่ไม่ป่วยไข้ พ่อแม่และคนรักที่รู้ใจ แต่ความสุขเหล่านี้กลับถูกเรามองข้ามเพียงเพราะว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากได้หรือไม่ใช่สิ่งที่เราอยากไปถึง ใช่แต่เท่านั้นเมื่ออยากได้สิ่งที่ยังไม่มี เราก็ต้องดิ้นรนหามันมาให้ได้ ระหว่างที่ดิ้นรนนั้นก็รู้สึกเป็นทุกข์ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้มันมา ยิ่งมีคู่แข่งมากมายด้วยแล้ว จะมีความสุขได้อย่างไร

    กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทันทีที่เราอยากได้ความสุข เราจะไม่เห็นความสุขที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะใจนั้นมัวจดจ่อใส่ใจกับความสุขที่อยู่ข้างหน้า แค่นั้นก็ทำให้ความสุขเลือนหายไปจากใจแล้ว คนส่วนใหญ่ที่อยากมีความสุขนั้นที่จริงเขามีความสุขอยู่แล้ว แต่มองไม่เห็น เพราะเอาแต่มองออกไปนอกตัว เขามองข้ามปัจจุบัน ฝากความหวังไว้กับอนาคต จึงเสียโอกาสที่จะเก็บเกี่ยวความสุขที่มีอยู่ในปัจจุบัน

    เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ ความอยากทำให้เราขวนขวาย และยิ่งขวนขวายไขว่คว้าความสุขมากเท่าไร มาตรฐานความสุขที่เราตั้งเอาไว้ก็ยิ่งสูงมากเท่านั้น คนที่เข้าคิวรอกินอาหาร ยิ่งคิวยาวเท่าไร ความคาดหวังในรสชาติของอาหารก็สูงมากเท่านั้น ครั้นได้กินแล้ว แม้รสชาติจะอร่อย แต่หากไม่ถึงขีดที่ตั้งความหวังเอาไว้ ก็ย่อมไม่พอใจ อาหารราคา ๕๐ บาทซื้อจากร้านข้างถนน กินแล้วรู้สึกว่าอร่อย ครั้นไปโรงแรมระดับห้าดาว สั่งอาหารอย่างเดียวกัน แม้รสชาติจะเหมือนกับร้านข้างถนนที่เคยกิน แต่คราวนี้กลับรู้สึกว่าไม่อร่อยแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะคาดหวังว่ามันต้องอร่อยกว่านั้นเนื่องจากอุตส่าห์ยอมจ่ายถึง ๓๐๐ บาท

    คนที่อยากได้ความสุขมาก ๆ ยังมักเจอปัญหาอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ ยิ่งอยากได้ความสุข ก็ยิ่งนึกถึงแต่ตัวเอง คิดแต่ว่าทำไมตนถึงจะมีความสุขมาก ๆ ความคิดเช่นนี้ทำให้ไม่สนใจคนอื่น จนอาจถึงขั้นไร้น้ำใจต่อคนรอบตัว เท่านั้นไม่พอ ยังอาจเรียกร้องความสุขจากคนอื่น ๆ อีกด้วย จึงเป็นที่ระอาของผู้คน ใคร ๆ ก็ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย ผลที่ตามมาก็คือ ความรู้สึกโดดเดี่ยว ไอริส มอสส์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์คลีย์ พบว่า ยิ่งผู้คนให้ความสำคัญแก่ความสุขมากเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างโดยเฉพาะเวลามีเรื่องเครียดเกิดขึ้น

    ที่ตามมาควบคู่กันก็คือ ความรู้สึกอิจฉาเมื่อเห็นคนอื่นมีความสุขมากกว่า การวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า มีผู้คนถึง ๑ ใน ๓ มีความสุขน้อยลงหรือมีความทุกข์มากขึ้นเมื่อใช้เฟซบุ๊ค เนื่องจากเห็นเพื่อน ๆ หรือคนรู้จักมีความสุขเพราะได้ไปเที่ยวต่างประเทศ กินอาหารตามห้างดัง หรือร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ ฯลฯ ในขณะที่ตนเองต้องอยู่กับบ้าน ทำงาน หรือเตรียมสอบ อันที่จริงการอยู่บ้านหรือที่ทำงานไม่ได้เป็นสิ่งที่แย่เลย แต่พอเห็นคนอื่นมีความสุข ก็พลอยทำให้ตนเองเป็นทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะไม่ได้สุขเหมือนเขา

    ศานติเทวะ ปราชญ์มหายานชาวอินเดีย เคยกล่าวว่า “ความทุกข์ใดในโลกหล้า ล้วนมาจากความปรารถนาให้ตนเองเป็นสุข” สอดคล้องกับโซโฟเคิลส์ นักคิดชาวกรีก ซึ่งกล่าวว่า “ยิ่งพยายามมีความสุขมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขน้อยลงเท่านั้น” นี้ก็ทำนองเดียวกับคนที่อยากได้ความสงบ ก็ยิ่งมีความสงบน้อยลง เพราะเมื่ออยากได้ความสงบ ก็ยิ่งไม่ชอบเสียงรบกวน และยิ่งไม่ชอบเสียงรบกวน ก็ยิ่งเป็นทุกข์เพราะเสียงนั้นมากขึ้น แค่เสียงรบกวนนิดหน่อยก็สามารถทำให้เขาหงุดหงิดรำคาญขึ้นมาได้ ตรงข้ามกับคนที่ไม่หมายมั่นความสงบ แม้มีเสียงรบกวน เขาก็ไม่รำคาญ จิตใจยังคงเป็นปกติ จึงพบความสงบใจได้ไม่ยาก

    คนที่อยากได้ความรัก มักลงเอยด้วยการไม่ได้ความรัก เพราะเมื่ออยากได้ความรักจากใคร ก็มักคาดคั้นหรือเรียกร้องความรักจากเขา ได้แล้วก็ยังไม่พอใจเพราะไม่มากเท่าที่ต้องการ ก็ยิ่งเรียกร้องอีก ทำให้อีกฝ่ายอึดอัดและระอาใจ ใช่แต่เท่านั้น เวลาเห็นเขาให้ความสนใจหรือความรักแก่คนอื่น ตนเองก็จะรู้สึกอิจฉาและโกรธขึ้ง อาจถึงกับอาละวาดอีกฝ่ายด้วยความหึงหวง เมื่อเป็นเช่นนี้หนักเข้า อีกฝ่ายก็ย่อมรู้สึกเหนื่อยหน่ายและหมางเมินเหินห่างในที่สุด

    ตรงข้ามกับคนที่ไม่ได้ต้องการความรักจากใคร กลับมักได้รับความรักจากผู้อื่น เพราะเขาไม่คิดเรียกร้องความรักจากใคร ไม่เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง แต่ใส่ใจคนอื่น คอยช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น จึงมักเป็นที่รักของผู้อื่น

    อยากได้อะไร กลับไม่ได้สิ่งนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น ยิ่งอยากได้ความสุข กลับไม่ได้ ครั้นไม่อยากได้ความสุข กลับได้ ดังนั้นใครที่อยากมีความสุข ควรวางความอยากลงเสีย แล้วหมั่นทำความดี นึกถึงผู้อื่นให้มาก ๆ ลดความเห็นแก่ตัวให้น้อยลง เมื่อนั้นความสุขก็จะมานั่งในหัวใจเราเอง

    “ความสุขใดในโลกหล้า ล้วนมาจากความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข” เป็นวาทะอีกตอนหนึ่งของศานติเทวะที่เตือนใจเราได้เป็นอย่างดี
    :- https://visalo.org/article/secret255605.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 กันยายน 2023
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    orca-killer-whale-animated-gif-16.gif
    ฝึกจิตเพื่อชีวิตที่ผาสุก
    พระไพศาล วิสาโล
    มีนักธุรกิจหญิงคนหนึ่งเป็นโรคหัวใจ ต้องผ่าตัด เมื่อเธอขึ้นไปบนเตียงผ่าตัดแล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่ายังไม่ได้สั่งเสียธุระเรื่องหนึ่งกับลูกน้อง เป็นเรื่องสำคัญเสียด้วย ต้องรีบสั่งเสีย เพราะไม่รู้ว่าการผ่าตัดครั้งนี้เธอจะรอดหรือไม่ ความวิตกกังวลทำให้เธอไม่ยอมสลบทั้ง ๆ ที่หมอวางยาสลบแล้ว ยาสลบทำอะไรเธอไม่ได้เลย หมอก็แปลกใจว่าทำไมไม่สลบ จนกระทั่งเธอขอยืมโทรศัพท์มือถือจากหมอ พอสั่งเสียลูกน้องจนเสร็จ เธอก็สลบไปเลย แล้วก็ผ่าตัดได้สำเร็จเรียบร้อย

    ถ้าจิตของคนเรามีความกังวล ไม่ปล่อย ไม่วาง บางครั้งยาก็เอาไม่อยู่ ร่างกายจะตื่นอยู่ตลอดเวลา แต่พอเสร็จธุระ ความกังวลหมดไป กายก็สลบ ชี้ให้เห็นว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว

    ถ้าหากว่าเราไม่หมั่นฝึกจิต หรือดูแลใส่ใจจิตของเรา จิตก็สามารถที่จะอาละวาด หรือซ้ำเติมเราได้ เพราะมันมีพลัง อะไรก็ไม่สามารถต้านทานได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากเราฝึกใจให้ดี ก็อาจทำในสิ่งที่ไม่น่าเชื่อได้เหมือนกัน

    คุณหมอสุมาลี นิมมานนิตย์ เป็นหมอผู้เชี่ยวชาญโรคไตของศิริราช ท่านเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ท่านเล่าว่ามีคนไข้อยู่คนหนึ่ง ป่วยเป็นโรคพุ่มพวง หรือโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง(SLE) คือภูมิต้านทานมันทำอวัยวะตัวเอง เรียกง่าย ๆ ว่าร่างกายไม่เป็นมิตรกับตัวเอง ตอนอายุสิบสองเคยถูกหมอคนหนึ่งฉีดยาที่ไขสันหลัง หมอคงมือหนัก และอาจจะไม่มีจิตวิทยา ทำให้เด็กเจ็บมาก เจ็บจนเกลียดหมอและกลัวเข็มฉีดยา ถึงกับด่าหมอและร้องกรี๊ดจนชัก เป็นอย่างนี้อยู่หลายครั้ง บางครั้งก็หมดสติไปเลย ต่อมาแม่พาเธอไปรักษาที่ศิริราช ได้รู้จักกับคุณหมอสุมาลี คุณหมอพูดคุยกับเธอ จนเกิดความคุ้นเคย เช่น ไต่ถามเธอว่าร้องไห้เรื่องอะไร โกรธใคร มีเรื่องเครียดหรือไม่ เวลาเด็กตอบว่าฝันร้าย คุณหมอก็ให้เด็กวาดรูปให้ดู สิ่งที่คุณหมอทำคือช่วยให้เด็กกลับมาดูความรู้สึกของตัว และเข้าใจความกลัวของตัว

    พอเธอโตขึ้นคุณหมอก็สอนวิธีเดินจงกรม แล้วพาไปเข้าคอร์สเจริญสติ หลังจากนั้นเธอก็รู้สึกดีขึ้น ไม่เครียด ความดันไม่ขึ้น และไม่กลัวเข็มฉีดยา เวลาฟอกไต ต้องใช้เข็มขนาดใหญ่กว่าตะปู เธอก็นิ่งมาก มองเข็มโดยไม่มีอาการอะไร แถมยังกำหนดลมหายใจจนหลับไป จากเด็กที่กลัวเข็มจนเป็นลม ตอนหลังก็สามารถดูเข็มฉีดยาแทงเข้าร่างกายตัวเองได้

    เมื่อถึงวันที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนไต ปรากฏว่าเธอแพ้ยาระงับปวดอย่างหนักจนอาเจียน แผลระบม หมอไม่รู้จะทำอย่างไรดี แต่เธอบอกว่า ไม่เป็นไรหมอ ขอยาพาราหนึ่งเม็ด เธอกินพาราเสร็จก็กำหนดลมหายใจเข้าออกจนหลับไป ปรากฏว่าหมอสามารถผ่าตัดต่อไปได้จนสำเร็จ โดยไม่มีเสียงร้องเจ็บจากเธอเลย หมออัศจรรย์ใจมาก กลายเป็นกรณีศึกษาว่าอำนาจจิตมีพลังมาก ถ้าใช้ให้เป็น ก็สามารถช่วยให้เราอยู่กับความเจ็บปวดได้ โดยไม่มีอาการทุกข์ทรมาน

    จิตนั้นมีพลังมาก อยู่ที่ว่าเราจะใช้ไปทางไหน ถ้าปล่อยจิตให้จมอยู่กับความกลัว ความตื่นตระหนก มันก็สามารถทำให้เราตายได้ง่าย ๆ เพราะว่าร่างกายแย่ลงจนไม่ทำงาน ถ้ามีความกังวล ยาก็เอาไม่อยู่ แต่ถ้ามีความสงบ มีสมาธิ มีสติ กายเจ็บแค่ไหน จิตก็เอาอยู่ จิตนั้นมีพลัง สามารถทำให้กายซึ่งท้อแท้หรือปวกเปียก กลับมามีพลังขึ้นมาได้

    เมื่อสักประมาณเจ็ดสิบปีก่อน มีนักบินชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ขับเครื่องบินตกแถวเทือกเขาแอนดิส แถวละตินอเมริกา เป็นภูเขาสูง มีหิมะปกคลุมตลอดเทือกเขา นักบินคนนี้รอดตาย แต่ต้องกระเสือกกระสนเดินฝ่าหิมะเป็นเวลาสามวันสามคืน แต่ก็ยังไม่เห็นวี่แววของผู้คนหรือชุมชน เขาเหนื่อยล้าเต็มที แต่ก็รู้ว่าถ้าหยุดเดินเมื่อไรจะต้องตายแน่ ๆ เขาจึงพยายามรวบรวมกำลัง เดินไปให้ได้ไกลที่สุด พอเดินไปได้พักใหญ่ก็หมดแรง คิดว่าตายแน่ เขาทำใจไว้แล้วว่าจะต้องตาย ในใจก็นึกอำลาลูกเมีย แล้วจู่ ๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่าถ้าตายอยู่ตรงนี้คงหาศพได้ยาก จะเกิดปัญหาตามมากับครอบครัว เพราะตามกฎหมายของฝรั่งเศส ถ้าหาศพไม่เจอจะเรียกว่าตายแล้วไม่ได้ ต้องรออีกสี่ปี ศาลจึงประกาศให้เป็นบุคคลสูญหาย จากนั้นคนในครอบครัวถึงจะได้เงินประกันชีวิต

    นักบินคนนั้นไม่อยากลูกเมียต้องรอถึงสี่ปีกว่าจะได้เงินประกันชีวิต เขาจึงคิดว่าทำอย่างไรให้มีคนหาศพตนเองได้ง่ายขึ้น มองไปข้างหน้าประมาณร้อยเมตร ก็เห็นหินก้อนใหญ่อยู่ก้อนหนึ่ง เขาคิดว่าถ้าไปนอนตายบนหินก้อนนั้น หากมีคนมาตามหาศพเขาก็คงจะเจอง่าย เขาจึงรวบรวมกำลังเป็นครั้งสุดท้าย กระเสือกกระสนไปให้ถึงหินก้อนนั้น แต่พอถึงหินก้อนนั้นแล้วว เขากลับมีกำลังเดินต่อไปได้อีกเก้าสิบ กิโลเมตร จนมีคนพบเขา และช่วยให้เขารอดตายในที่สุด

    จากเดิมที่คิดว่าแค่ร้อยเมตรไม่รู้จะเดินไหวหรือเปล่า ในที่สุดเขากลับมีเรี่ยวแรงเดินไปได้เกือบ ร้อย กิโลเมตร เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะใจล้วน ๆ ก็ว่าได้ ความรักลูก รักเมีย ไม่อยากให้คนเหล่านั้นลำบาก ทำให้เขามีเรี่ยวแรง เกิดกำลังใจ จนสามารถเดินไปได้อีกไกล อย่างที่ตัวเองและคนอื่น ๆ ก็ไม่คิดว่าจะทำได้

    ในทางตรงข้ามแม้ว่าร่างกายยังไหว แต่ถ้าใจไม่สู้ ร่างกายก็คงจะไม่ไหว เหมือนกับกรณีผู้ป่วยด้วยโรคพยาธิปากขอ แต่หมดเรี่ยวแรง เรื่องเหล่านี้ชี้ว่าใจนั้นสำคัญมาก

    ด้วยเหตุนี้ คนเราไม่ว่าเจอเหตุเภทภัยอย่างไร ถ้าหากว่าใจเราเข้มแข็ง หรือได้รับการฝึกมาอย่างดี ก็สามารถประคองตนจนฟันฝ่าเหตุร้ายต่าง ๆ ไปได้ แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องรอดตายทุกครั้งไป เพราะบางครั้งมันก็สุดวิสัย เช่น เป็นมะเร็ง บางครั้งแม้ใจจะสู้ หรือใจยังเป็นปกติอยู่ แต่ร่างกายมันไม่ไหว ก็อาจจะไม่รอด แต่ว่าในระหว่างที่ป่วย ใจก็ไม่ได้ทุกข์ทรมาน

    จิตที่ไม่ได้รับการดูแลหรือฝึกฝน จะเข้าไปซ้ำเติมตัวเราให้ทุกข์มากขึ้น แทนที่จะป่วยกายอย่างเดียว กลับต้องป่วยใจด้วย แทนที่จะเสียทรัพย์อย่างเดียว ก็ต้องเสียสุขภาพจิตด้วย ไม่เป็นอันทำงาน เสียงานเสียการ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เสียสุขภาพ อารมณ์ไม่ดี ใครมาหยอกมาล้อก็โกรธ ด่า ทะเลาะเบาะแว้งกัน เลยเสียเพื่อน แทนที่จะเสียแค่หนึ่งอย่างก็เสียสี่อย่าง อย่างนี้เรียกว่าซ้ำเติมตัวเอง เวลามีเหตุร้ายเกิดขึ้น เราจะเสียอะไรอีกหลายอย่างตามมา ถ้าไม่ฝึกจิตไว้ แต่ถ้าเราฝึกจิตเอาไว้เป็นอย่างดี เมื่อป่วยก็จะป่วยอย่างเดียว คือป่วยกาย ไม่ป่วยใจ เมื่อเสียก็เสียอย่างเดียว คือเสียทรัพย์ แต่อย่างอื่นไม่เสีย เมื่องานล้มเหลวก็ล้มเหลวเฉพาะงาน แต่ตัวเองไม่ล้มเหลว

    หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ท่านทำงานเยอะมาก นอกจากสอนกรรมฐานแล้วว ท่านยังทำงานพัฒนาชุมชน ช่วยเหลือชาวบ้านบ้าน เช่น ทำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สร้างสหกรณ์ข้าวเพื่อช่วยชาวบ้านที่ยากจน ชักชวนชาวบ้านทำเกษตรแบบผสมผสาน ฝึกอาชีพให้ชาวบ้าน นอกเหนือจากการสอนวิปัสสนากรรมฐาน ท่านทำงานเหล่านี้มาสิบกว่าปี หลายคนมาดูงานท่านแล้วถามว่างานของหลวงพ่อสำเร็จหรือไม่ ท่านตอบว่า “งานของหลวงพ่อล้มเหลว แต่ตัวหลวงพ่อไม่ล้มเหลว” หมายความว่าแม้งานจะล้มเหลว แต่ใจท่านไม่เป็นทุกข์

    คนส่วนใหญ่ ถ้างานล้มเหลว ก็จะรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวด้วย คือเป็นทุกข์ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เรียกว่าล้มเหลวทั้งงาน ล้มเหลวทั้งตัวเอง ที่เป็นเช่นนี้เพราะจิตมันไปซ้ำเติมตัวเอง

    คนที่ฝึกจิตไว้เป็นอย่างดี เมื่องานล้มเหลว ตัวเองก็ยังมีความสุขได้ ยังกินได้ นอนหลับ ยังมีกำลังใจทำงานต่อ นี้คือสิ่งที่เราทำได้ หากเรียนรู้เรื่องจิตใจของเรา และพยายามพัฒนาจิตใจ โดยใช้ศักยภาพที่มีอยู่ อาทิ สติ สมาธิ ขันติ วิริยะ เหล่านี้เป็นศักยภาพที่มีอยู่แล้วในจิตใจของเรา ถ้าเราพัฒนาจิต จิตก็จะมีคุณภาพ และช่วยให้เรามีความสุข เจอทุกข์ก็ไม่แพ้พ่าย
    :- https://visalo.org/article/jitvivat256105.html
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    letitbe.gif
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • letitbe.gif
      letitbe.gif
      ขนาดไฟล์:
      874.9 KB
      เปิดดู:
      89
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    MoonAnimate.gif
    อย่าร้องไห้เมื่ออาทิตย์ลับฟ้า
    ภาวัน
    กอลเป็นเมืองริมทะเลตอนใต้ของศรีลังกาที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเยือน จุดเด่นอย่างหนึ่งของเมืองนี้คือป้อมปราการอันแข็งแรงที่ฮอลันดาได้มาสร้างไว้เมื่อ ๔๐๐ ปีก่อน ภายในป้อมเป็นเมืองน้อย ๆ มีอาคารโบราณมากมาย ทุกวันนี้ยังมีสภาพดีและได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

    กอลเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายของเขาก่อนเข้ากรุงโคลอมโบเพื่อบินกลับเมืองไทย เช้าวันนั้นเขาอยู่ที่เมืองนูวาราเอเลีย อันเป็นเมืองท่องเที่ยวลือชื่ออีกแห่งหนึ่งที่มีกลิ่นอายแบบอังกฤษ เนื่องจากเคยเป็นเมืองพักตากอากาศของชาวผู้ดีสมัยยึดครองเกาะนี้ มัคคุเทศก์ชาวศรีลังกาบอกเขากับคณะว่าใช้เวลาเดินทางหกชั่วโมงก็จะถึงเมืองกอล

    คณะของเขาออกเดินทางตั้งแต่แปดโมงครึ่ง ลัดเลาะไปตามไหล่เขา มีทัศนียภาพที่งดงามชวนชื่นชมตลอดทาง นอกจากไร่ชาเขียวสดที่เรียงรายเป็นพืดทั่วทั้งเขาแล้ว ยังมีน้ำตกตระการตาปรากฏให้เห็นเป็นระยะ ๆ บางช่วงคณะของเขาก็แวะพักกินอาหาร หรือซื้อชาจากร้านริมทาง แต่ละแห่งใช้เวลาสบาย ๆ ไม่เร่งรีบ กะว่าถึงเมืองกอลก็คงไม่เกินบ่ายสี่ มีเวลาได้พักผ่อนริมทะเลอีก

    แต่ไป ๆ มา ๆ การเดินทางกลับใช้เวลานานกว่าที่คิด ดวงอาทิตย์ใกล้ตกแล้วคณะของเขาก็ยังไม่ถึงเมืองกอล แต่เขาก็ไม่วิตกกังวลอย่างใด เพราะตอนนั้นกำลังชื่นชมความงดงามของอาทิตย์ดวงกลมโตที่ใกล้ลับขอบฟ้าจากหน้าต่างรถยนต์

    คณะของเขามาถึงเมืองกอลหลังจากอาทิตย์ตกไม่นาน พอมาเห็นแสงสุดท้ายฉาบฟ้าเหนืออ่าวกอล โดยมีชายหาดทอดยาวสุดสายตาอยู่เบื้องหน้า เขาก็รู้สึกเสียดายอย่างมากที่มาไม่ทันเห็นอาทิตย์ตกลับมหาสมุทรอินเดีย หากเขามาเร็วกว่านี้แค่ครึ่งชั่วโมงก็ต้องได้เห็นภาพที่งดงามสุดบรรยายอย่างยิ่ง ซึ่งอาจเป็นครั้งเดียวในชีวิตก็ได้

    เขานึกตำหนิคนขับรถทันทีที่ใช้เวลาเกือบสิบชั่วโมงกว่าจะถึงเมืองกอล อีกคนที่ต้องรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือมัคคุเทศก์ เขาน่าจะรู้ว่าอาทิตย์ตกที่เมืองกอลนั้นวิเศษเพียงใด ถ้าเขานึกถึงประโยชน์ของลูกทัวร์ก็ไม่ควรปล่อยให้โชเฟอร์ขับรถหวานเย็นจนเกินเวลาขนาดนั้น หรืออย่างน้อยก็บอกให้เรารู้ว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของเมืองกอลก็คืออาทิตย์ยามเย็น

    กระทั่งเข้าห้องพักแล้วเขาก็ยังรู้สึกหงุดหงิดที่พลาดโอกาสอันวิเศษนั้นไป ในใจนึกถึงแต่ว่า ฉันน่าจะมาถึงเร็วกว่านี้ ๆ ๆ ทำไมฉันถึงโชคไม่ดีเอาเสียเลย แต่แล้วชั่วขณะหนึ่งเขาก็ได้คิดว่า จะมัวเสียใจไปไยกับสิ่งที่พลาดไปแล้ว ในเมื่อยังมีสิ่งงดงามอีกมากมายให้ชื่นชมอยู่รอบตัว เขาเหลียวมองไปบนฟ้า เห็นพระจันทร์เต็มดวงทอแสงสุกสว่าง มองมาข้างล่างเห็นเกลียวคลื่นระยิบระยับล้อแสงจันทร์ พรุ่งนี้เช้าก็ยังจะได้เห็นอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ ซึ่งก็คงงดงามไม่น้อย จะมีกี่คนที่มีโอกาสดี ๆ อย่างเขา พอได้คิดแบบนี้ ความหงุดหงิดเสียใจก็หายไปทันที ใจเปิดรับและชื่นชมความงดงามที่มีอยู่รอบตัวทันที

    ความสุขได้กลับคืนมาสู่จิตใจของเขา เมื่อหันมาใส่ใจกับปัจจุบัน ไม่มัวจมจ่อมอยู่กับอดีต เขาได้ตระหนักว่า แทนที่จะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เสียไป เพียงแค่หันมาชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่รอบตัว ความสุขก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ใช่หรือไม่ว่าผู้คนจำนวนมากทั้ง ๆ ที่มีอะไรต่ออะไรมากมาย แต่ก็ยังเป็นทุกข์ ก่นด่าชะตากรรม เพราะมัวแต่นึกถึงสิ่งที่หลุดลอยไป ใจที่เอาแต่เศร้าซึมเสียใจทำให้เขามองข้ามสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ต่อหน้าไปอย่างน่าเสียดาย กลายเป็นว่าแทนที่จะเสียหนึ่ง ก็เสียสองหรือสามซ้ำเข้าไปอีก

    นักท่องเที่ยวบางคนโมโหที่ถูกแขกโกงขณะที่แลกเงิน เขาเอาแต่ขุ่นเคืองจนกินอะไรก็ไม่อร่อย ไปเห็นทัชมาฮาลก็ไม่รู้สึกว่างดงาม ทั้ง ๆ ที่นั่นคือไฮไลท์ของการท่องเที่ยวของเขา เพียงเพราะเสียดายเงินไม่กี่ร้อยรูปีที่ถูกโกงไป ทำให้เขาไม่รับรู้ความงดงามที่อยู่เบื้องหน้าเขาเลย หรือถึงกับทำให้การท่องเที่ยวของเขาหมดรสชาติไป

    มีคนหนึ่งกล่าวไว้น่าฟังมากว่า “อย่าร้องไห้เมื่อดวงอาทิตย์ลับฟ้า เพราะน้ำตาจะทำให้เธอมองไม่เห็นดวงดาว” อะไรที่เสียไปแล้วป่วยการที่จะอาลัยอาวรณ์ หันมาใส่ใจกับสิ่งดี ๆ มีคุณค่า ตรงนี้และเดี๋ยวนี้ไม่ดีกว่าหรือ
    :- https://visalo.org/article/Image255703.html
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046

    movingpeacocktail.gif
    โยมถามพระตอบ : ตอนที่ ๑
    พระไพศาล วิสาโล

    1. ในปัจจุบัน จะเห็นข่าวหรือได้ยินเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่ทำผิดพระวินัย หรือมีพฤติกรรมแปลกๆไม่น่าเลื่อมใสมากขึ้น สิ่งนี้สร้างความแคลงใจ และ ทำให้ฆราวาสอย่างเราๆ ไม่รู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไรต่อเหตุการณ์เหล่านี้ หากขยับทำอะไรไปก็กลัวว่าจะเป็นบาป แต่หากเงียบอย่างเดียวก็เกรงว่าจะเป็นการส่งเสริมหรือเปล่า.. กรณีเช่นนี้ โยม(ฆราวาสทุกคน)ควรจะทำตัวอย่างไรดีเจ้าคะ

    เมื่อเห็นหรือทราบว่าพระภิกษุรูปใดทำผิดพระวินัย หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ชาวพุทธ ไม่ว่าพระหรือคฤหัสถ์ ไม่ควรนิ่งเฉย ควรทักท้วงหรือหาทางแก้ไข ช่วยกันระงับยับยั้งไม่ให้บานปลาย หากนิ่งเงียบก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมดังกล่าว

    การที่ฆราวาสทักท้วงพระภิกษุนั้น ไม่ถือว่าเป็นบาป หากทำไปด้วยเจตนาดีทั้งต่อท่านและต่อพระศาสนา ที่สำคัญคืออย่าทำด้วยความโกรธเกลียดหรือความมุ่งร้าย หาไม่จิตจะเป็นอกุศล ในเรื่องนี้พระพุทธองค์ได้ให้แนวทางในการทักท้วงหรือวิจารณ์ว่า พูดให้ถูกเวลา เป็นความจริง ใช้คำสุภาพ มีประโยชน์ และมีเมตตาจิต หากมีองค์ประกอบครบทั้ง ๕ ประการ ก็ไม่ต้องกลัวบาป

    อันที่จริงการทักท้วงนั้นเป็นประโยชน์สำหรับบัณฑิตหรือผู้หมั่นฝึกฝนตน ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับพระ ดังมีธรรมเนียมที่พระจะปวารณาต่อกันในวันออกพรรษาว่า หากผู้ใดเห็นหรือได้ยินหรือระแวงสงสัยว่าข้าพเจ้ามีการกระทำกรรมที่ไม่ถูกต้องขอให้ว่ากล่าวด้วยความหวังดี เป็นต้น แม้กระทั่งพระพุทธองค์ก็ยังทรงปวารณากับหมู่สงฆ์ ขอให้ตรวจสอบพระองค์ และทักท้วงติเตียนหากเห็นว่าพระองค์ทำไม่ถูกต้อง พระสารีบุตรก็เคยถูกสามเณรวัย ๗ ขวบทักท้วงว่านุ่งสบงปล่อยชายหย่อนยานไป ท่านก็รับฟังและปรับปรุงแก้ไขตามคำของสามเณรนั้น

    ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรมองว่าการทักท้วง วิจารณ์ หรือติเตียนพระสงฆ์ ซึ่งเกิดจากเจตนาดี เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมสำหรับชาวพุทธ

    2. ทำอย่างไรเราจะวางความอาฆาตพยาบาท หรือละความผูกโกรธได้อย่างแท้จริงคะ พยายามจะคิดแต่ข้อดีของอีกฝ่าย หรือ แม้กระทั่งแผ่เมตตาให้บ่อยๆตามที่หนังสือธรรมะหลายเล่มแนะนำ แต่ก็ยังรู้สึกว่า บางครั้งเราก็ยังคอยแต่คิดถึงสิ่งที่อีกฝ่ายทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ ลึกๆเหมือนอยากให้อีกฝ่ายเจ็บช้ำแบบเราบ้าง ทุกข์ใจกับเรื่องนี้มาก อยากให้พระอาจารย์เมตตาชี้แนะค่ะ

    อาตมาอยากแนะนำให้คุณคิดถึงตัวเองให้มาก โดยตระหนักว่าทุกครั้งที่คุณโกรธและพยาบาท คุณกำลังทำร้ายตนเองทั้งจิตใจและร่างกาย ทันทีที่คุณแช่งชักให้เขาตกนรกหรือมีอันเป็นไป คุณเองก็ตกนรกแล้วเพราะถูกไฟโทสะเผาผลาญ คุณควรรักตนเองให้มาก ๆ อย่าปล่อยให้ไฟโทสะทำร้ายคุณอีกเลย ขอให้ระลึกถึงพุทธภาษิตที่ว่า “ผู้โกรธตอบคนที่ด่า เลวกว่าคนด่าเสียอีก ผู้ไม่โกรธตอบคนที่ด่า นับว่าชนะสงครามที่เอาชนะได้ยากยิ่ง คนที่รู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว มีสติ สงบใจได้ นับว่าได้ทำประโยชน์แก่ตนและคนอื่นทั้งสองฝ่าย” หากคุณไม่สนใจประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่คนอื่น ก็ควรสนใจประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเอง อย่าทำลายประโยชน์นั้นด้วยความโกรธหรืออาฆาตพยาบาทเลย

    พร้อมกันนั้นอาตมาอยากแนะนำวิธีหนึ่งแก่คุณในการรับมือกับความโกรธ กล่าวคือ เมื่อความโกรธเกิดขึ้น คุณไม่ต้องทำอะไรกับความโกรธนั้น แค่รู้ว่ามันเกิดขึ้นในใจก็พอแล้ว รู้เฉย ๆ โดยไม่ต้องกดข่มมัน แค่นี้ก็จะทำให้ความโกรธหมดพิษสงลงจนเลือนหายไป เคยมีคนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโลว่า ทำอย่างไรจึงจะตัดความโกรธให้ขาด หลวงปู่ตอบว่า “ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทันมัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง”

    3. รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนมีอีโก้สูงมาก มักหงุดหงิดไม่พอใจเวลาที่มี?เหตุการณ์มากระทบความเป็นตัวเป็นตน หรือในเวลาที่รู้สึกเหมือนไม่ได้รับการยอมรับทั้งๆที่ทำดีที่สุดแล้ว พาลทำให้ไม่พอใจคนรอบตัวไปหมด (ที่ทำให้ผมหงุดหงิด) พลอยส่งผลกระทบทั้งกับเรื่องงานและความสัมพันธ์อีกด้วย ตลอดมาผมพยายามจะปล่อยวาง หรือทำใจให้กว้าง แต่ก็ไม่เป็นผล ผมเห็นตัวเองมีอัตตามากจนอึดอัด แต่ไม่รู้จะวางมันลงได้อย่างไร นับวันยิ่งเห็นมันมากขึ้นเรื่อยๆด้วยครับ จะมีวิธีจัดการกับอีโก้ หรืออัตตาที่สูงและหนาเป็นกำแพงของตัวเองอย่างไรดีครับ

    คุณควรมองว่า ความหงุดหงิดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความทุกข์ของกิเลส ไม่ใช่ความทุกข์ของคุณ เมื่อมันทุกข์เพราะไม่ได้รับการยอมรับ ก็ปล่อยให้มันทุกข์ไป สมควรแล้วที่มันดิ้นรนกระสับกระส่ายอย่างนั้น ต่อไปจะได้เข็ดหลาบ ปัญหาของคุณอยู่ตรงที่ ไปฉวยเอาความทุกข์ของกิเลส มาเป็นความทุกข์ของคุณ เวลามันทุกข์ทรมาน คุณแค่รับรู้หรือดูมันเฉย ๆ ก็พอแล้ว ที่จริงคุณควรจะสมน้ำหน้ามันด้วยซ้ำ ที่ชอบยกหูชูหาง สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว จึงต้องเจอแบบนี้

    เมื่อมองเช่นนี้แล้ว คุณก็จะเห็นต่อไปว่า คำวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องดี เป็นสิ่งที่ช่วยทรมานกิเลสให้หายพยศ ช่วยให้อัตตาอยู่เป็นที่เป็นทาง รู้จักสงบเสงี่ยมเจียมตัว ไม่มัวยกหูชูหางอยู่ร่ำไป คำวิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นสิ่งที่คุณควรขอบคุณด้วยซ้ำ
    :- https://visalo.org/article/5000s05.html
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    fieldandmountain.jpg
    จุดอ่อนของความหลง
    พระไพศาล วิสาโล
    ธรรมชาติพื้นฐานอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตก็คือพยายามอยู่รอดให้ได้และเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อารมณ์อกุศลก็มีธรรมชาติคล้ายๆ กัน มันพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวมันเติบใหญ่และแพร่ขยายไปเรื่อยๆ มันจะสั่งให้เราทำทุกอย่างเพื่อเราจะได้จมอยู่ในอารมณ์นั้นนานๆ เวลาเราโกรธใคร บางครั้งเรากลัวว่าจะลืมโกรธเขา จึงต้องตอกย้ำ เช่น สักชื่อเขาไว้ที่แขนบ้าง เขียนชื่อติดกระจกในห้องนอนบ้าง เพื่อย้ำเตือนว่าไอ้นี่มันเลว จะต้องโกรธมันชั่วฟ้าดินสลาย

    ในทำนองเดียวกัน เวลาเราเศร้า ความเศร้าจะบงการให้เราอยู่ในอำนาจของมันไปเรื่อยๆ สังเกตไหมเวลาเศร้าเราอยากฟังเพลงอะไร อยากฟังเพลงสนุกหรือเปล่า ไม่อยากหรอก เราอยากฟังเพลงเศร้า เพื่ออะไร เพื่อเศร้าหนักขึ้นๆ ถามว่าอะไรสั่งให้เราฟังเพลงเหล่านั้น ความเศร้ามันสั่ง มันสั่งใจเราว่าให้เปิดแต่เพลงเศร้าๆ มันจะได้ครองจิตใจเราไปนานๆ นี้คืออุบายของมัน

    สุดท้ายมันก็จะบงการให้เราคอยปกปักรักษามันไม่ให้อ่อนแรง เวลาเราโกรธใครบางคน ถ้าหากมีเพื่อนแนะนำเราว่า ให้อภัยเขาไปเถอะ ความโกรธมันจะสั่งให้เราเล่นงานเพื่อนคนนั้นทันที เช่น ต่อว่าเขา หาว่าเขาเป็นพวกเดียวกับคนนั้น เขาไม่รักเราจริง ฯลฯ ความโกรธมันสั่งให้เราทำเช่นนั้น ก็เพราะมันรู้ว่าถ้าเราทำตามคำแนะนำของเขา คือให้อภัย ความโกรธก็จะจืดจางหรือเลือนหายไป

    มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นห่วงแม่ซึ่งอายุ ๗๐ กว่า แม่เป็นคนที่นิสัยดี มีเมตตา แต่เวลาพูดถึงผู้ชายคนหนึ่งจะโกรธมาก พฤติกรรมจะเปลี่ยนไปเลย เหมือนกับเปลี่ยนเป็นคนละคน ไม่ใช่เหล้าเท่านั้น ความโกรธก็เปลี่ยนนิสัยคนได้ พอแม่นึกถึงหรือพูดถึงชายคนนั้นก็จะโกรธมาก เพราะอุตส่าห์ช่วยเหลือเขามากมาย แต่เขากลับเนรคุณ ส่วนลูกก็กลัวว่าสักวันหนึ่งแม่อาจจะเส้นเลือดในสมองแตก หรือกลัวว่าแม่จะไปอบายถ้าหากว่าตายไปโดยที่ยังมีความโกรธหรือความพยาบาทคาใจอยู่ ลูกจึงขอร้องแม่ว่าให้อภัยเขาไปเถิด เรื่องมันก็นานมาแล้ว ผ่านไปแล้วตั้ง ๓๐ ปี ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น

    พอลูกแนะนำแม่เช่นนั้น แม่กลับโกรธลูก ราวกับว่าลูกจะมาแย่งชิงของรักของหวงไปจากแม่ ถามว่าความโกรธนี้น่าหวงแหนที่ไหน ถ้าลูกพยายามเอาที่ดิน เงินทอง เอาเพชรเอาพลอยไปจากแม่ ก็น่าโกรธ แต่สิ่งที่ลูกพยายามทำคือช่วยให้แม่หายโกรธ ความโกรธมันไม่ชอบที่ลูกพูดแบบนี้ จึงสั่งให้แม่ด่าลูก ตกลงแม่กลายเป็นองครักษ์พิทักษ์ความโกรธไปเสียแล้ว ทำทุกอย่างเพื่อให้ความโกรธครองใจอยู่ต่อไป

    ความเศร้าก็เช่นกัน เวลาเศร้ามากๆ ถ้าเราเพียงแต่ออกไปเที่ยวบ้าง เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนบรรยากาศบ้าง ความเศร้าก็จะคลี่คลายลง นี่คือสิ่งที่ความเศร้ากลัว ดังนั้นมันจึงสั่งเราว่า อย่าทำ อย่าไปเที่ยว ให้นั่งเจ่าจุกต่อไป ให้นึกถึงแต่เรื่องที่เศร้าต่อไป ความเศร้ามันจะได้ครองใจเราไปนานๆ จะได้หลงต่อไป หากมีใครมาชวนให้เราไปเที่ยว เรากลับจะไม่พอใจเขาด้วย

    ไม่ว่าความเศร้า ความโกรธหรืออารมณ์อกุศลใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่สิ่งที่น่าหวงแหนเลย แต่เป็นเพราะเราหลง ลืมตัว เราก็เลยหวงแหนมัน อันนี้เป็นเพราะเราปล่อยให้ความหลงบงการจิตใจเรา มันมีอุบายร้อยแปดที่หากเราไม่รู้ทัน มันก็จะครองจิตใจเราได้นาน

    ธรรมชาติของมันอีกอย่างหนึ่งคือมันดื้อด้านมาก เวลาโกรธ เวลาเศร้า ยิ่งเราพยายามกดข่มมัน มันกลับยิ่งมีกำลัง ยิ่งมีอำนาจมากขึ้น

    ลองสังเกตดู ความโกรธ ความเศร้า หรือความอยาก ถ้าเราพยายามกดข่มมัน มันไม่ได้หายไปไหน ยังคงอยู่ และอยู่แบบยั่งยืน แถมมีกำลังมากขึ้นด้วย หลายคนไม่ชอบเวลามีความโกรธหรือความเศร้าเกิดขึ้น รวมทั้งไม่ชอบนิสัยบางอย่าง เช่น ความเห็นแก่ตัว ความเจ้าอารมณ์ แต่มักใช้วิธีกดข่มมัน แต่กดข่มอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เพราะว่ามันดื้อด้าน

    ความคิดหรือความฟุ้งซ่านก็เช่นกัน เคยมีการทดลองให้อาสาสมัครนั่งอยู่ในห้องคนเดียว ผู้ทดลองบอกกับอาสาสมัครว่า เมื่ออยู่ในห้องนี้คุณจะคิดอะไรก็ได้ มีอย่างเดียวที่ห้ามคิดคือ หมีขาว ถ้าคุณนึกถึงหมีขาวเมื่อไหร่ให้กดกริ่งทันที ไม่ทันไรเสียงกริ่งก็ดังระงม เพราะอะไร ก็เพราะพอถูกสั่งว่าห้ามคิดถึงหมีขาว คนส่วนใหญ่กลับคิดถึงทันที ถ้าไม่ห้ามก็ไม่คิดถึง แต่พอห้ามก็คิดเลย จึงกดกริ่งกันใหญ่ ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ

    มีการทดลองอีกคราวหนึ่ง ให้อาสาสมัครลองนึกถึงสิ่งที่ไม่ชอบหรือสิ่งที่รบกวนจิตใจ มาสักเรื่องหนึ่ง จากนั้นแบ่งอาสมัครเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งก่อนนอนให้พยายามกดข่มความคิดนั้น หรือพยายามบังคับจิตไม่ให้คิดเรื่องนั้น อีกกลุ่มหนึ่งปล่อยตามสบาย เมื่อตื่นนอนขึ้นมาก็ให้อาสาสมัครแต่ละคนเขียนถึงความฝันของตัว เขาพบว่าคนที่ได้รับคำสั่งให้กดข่มความคิดหรือเรื่องที่ไม่ชอบนั้น จะฝันถึงเรื่องเหล่านั้นมากกว่าคนที่ไม่ได้รับคำสั่งให้กดข่มความคิดเหล่านั้น นั่นหมายความว่า เมื่อพยายามไม่คิดถึงมัน พยายามกดข่มมันเอาไว้ มันไม่ได้หายไปไหน แต่ไปโผล่ในความฝันทันที

    อารมณ์และความคิดเหล่านี้ฉลาดมากและดื้อด้านมาก แต่ก็มีจุดอ่อนคือมันกลัวการถูกรู้ถูกเห็น มันกลัวเรารู้ทัน ถ้าเรารู้ทันหรือเห็นมันเมื่อใด มันจะล่าถอยไป วูบไปทันที

    เคยมีคนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งเป็นพระลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงปู่มั่น ใครๆ ก็เชื่อว่าท่านเป็นพระอรหันต์ วันหนึ่งมีคนถามหลวงปู่ว่า ทำอย่างไรถึงจะตัดความโกรธให้ขาดได้ หลวงปู่ตอบว่า “ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง”

    ถ้าเราเห็นว่าความหลงหรืออารมณ์อกุศลเป็นปัญหาที่ทำให้เราไม่พบความสุข ความสงบเย็น ก็ต้องหมั่นสร้างตัวรู้ หรือสติ ซึ่งช่วยให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่ลืมตัว ทำให้เรามีเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับอารมณ์เหล่านี้ มันเป็นภูมิคุ้มกันจิตที่วิเศษมาก ร่างกายเรามีภูมิคุ้มกันที่คอยสู้กับเชื้อโรค จิตใจเราก็มีภูมิคุ้มกัน ชื่อว่าสติ สตินี้เองที่จะเพิ่มกำลังให้แก่ตัวรู้จนมีอานุภาพ สามารถรับมือ และเล่นงานจุดอ่อนของอารมณ์เหล่านี้ได้

    พระไพศาล วิสาโล
    :- https://visalo.org/article/jitvivat256011.html
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    lake-nature-animated-gif-5.gif
    ใกล้แสนใกล้ ไกลแสนไกล
    พระไพศาล วิสาโล
    เดวิด เซอร์วอง ชไรเบอร์ เป็นศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่ผ่านงานวิจัยมานับไม่ถ้วน คราวหนึ่งเขาทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์กับสมอง โดยให้อาสาสมัครดูภาพที่รุนแรงน่ากลัว ขณะเดียวกันก็มีการตรวจวัดคลื่นสมองของอาสาสมัครด้วยเครื่อง MRI

    อาสาสมัครผู้หนึ่งเป็นนักวิจัยสาวในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดียวกับเขา หลังจากที่ฉายภาพดังกล่าวให้เธอดูพักใหญ่ หัวใจของเธอก็เต้นแรงมาก ความดันเลือดพุ่งพรวดจนอยู่ในระดับที่ไม่ปกติ เขารู้สึกเป็นห่วงเธอ จึงแนะนำว่าควรหยุดการทดลองนี้ เธอมีสีหน้าแปลกใจ แล้วบอกกับเขาว่าเธอสบายดี ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย ภาพเหล่านี้ไม่มีผลต่อเธอ เธอไม่เข้าใจว่าทำไมเขาจึงคิดหยุดการทดลอง

    คำตอบของเธอทำให้เขาแปลกใจ เพราะร่างกายของเธอฟ้องชัดเจนว่าเธอกลัว แต่เธอกลับไม่รู้ตัวว่ากำลังมีความกลัว เขารู้ในเวลาต่อมาว่าเธอมีเพื่อนน้อยมาก เพื่อนร่วมงานของเธอไม่มีใครที่ชอบเธอเลย ทั้ง ๆ ที่เธอฉลาดหลักแหลมแต่ไม่มีใครอยากทำงานกับเธอ หลายคนสงสัยว่าเป็นเพราะอะไร บ้างก็คิดว่าเป็นเพราะเธอพูดแต่เรื่องของตัวเอง โดยไม่สนใจคนอื่นเลย ตัวเธอเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่มีใครอยากคบเธอเลย

    แต่เดวิดคิดว่าเขารู้คำตอบ ปัญหาสำคัญของเธอก็คือ การไม่รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ส่งผลให้เธอมืดบอดต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น เธอจึงพูดหรือทำอะไรต่ออะไรที่กระทบความรู้สึกของคนอื่นอยู่เนือง ๆ โดยไม่รู้ตัว ทำให้ใคร ๆ ไม่อยากคบเธอ หรือทำงานร่วมกันกับเธอ

    อารมณ์ความรู้สึกนั้นเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราอย่างยิ่ง เกิดขึ้นเมื่อใดใจก็น่าจะรับรู้ได้ทันที แต่นับวันผู้คนที่ไม่รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อถูกถามว่า “คุณรู้สึกอย่างไรขณะนี้” หรือ “เมื่อกี้รู้สึกอย่างไร” หลายคนกลับตอบไม่ได้ว่ารู้สึกอย่างไร บางคนเอาความคิดในหัวของตนมาตอบ นั่นเป็นเพราะทุกวันนี้ผู้คนเหินห่างแปลกแยกกับตัวเองมาก เนื่องจากหมกมุ่นอยู่กับสิ่งภายนอกมากเกินไป เช่น งานการ เงินทอง จนละเลยความรู้สึกของตน หาไม่ก็ใช้ “สมอง”มากเกินไป จนลืมใช้ “หัวใจ”ของตน

    ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนเป็นอันมากทั้ง ๆ ที่กำลังหงุดหงิด แต่กลับไม่รู้ตัวว่าหงุดหงิด จริงอยู่คนที่ด้านชาต่ออารมณ์ของตน และมืดบอดต่ออารมณ์ของคนอื่น อย่างนักวิจัยสาวผู้นั้น อาจมีไม่มาก แต่เธอก็เป็นภาพสะท้อนของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้คนมากมายในปัจจุบัน

    นอกจากเหินห่างแปลกแยกกับอารมณ์ของตนแล้ว หลายคนยังมีอาการดังกล่าวแม้กระทั่งกับร่างกายของตน เดวิดพบว่าแพทย์ประจำบ้านในโรงพยาบาลของเขาหลายคนมีพฤติกรรมคล้าย ๆ กัน กล่าวคือ หลังจากทำงานอย่างหนักตลอดทั้งวันติดต่อกันวันแล้ววันเล่า แถมยังต้องเข้าเวรดึก หรือถูกเรียกตัวกลางดึกอาทิตย์ละหลายครั้ง คนเหล่านี้เมื่อเสร็จงานก็เดินไปยังร้านฟาสต์ฟูดทันทีราวกับว่านั่นคือสิ่งที่ร่างกายต้องการ

    อันที่จริงร่างกายของคนเหล่านี้ส่งสัญญาณว่าต้องการพักผ่อน แต่เป็นเพราะเขาไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างทุกข์เพราะเหนื่อยล้า กับ ทุกข์เพราะหิว ดังเมื่อเหนื่อยล้าขึ้นมา แทนที่จะไปนอนสักงีบ กลับตรงไปหาของกินทั้ง ๆ ที่ดึกแล้ว ผลก็คือคนเหล่านี้อ้วนเอา ๆ ขณะที่ร่างกายก็เหนื่อยล้าขึ้นเรื่อย ๆ นี้คงเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดผู้คนยุคนี้ยิ่งเครียดยิ่งล้าก็ยิ่งอ้วนขึ้น ๆ

    ฉลาดแค่ไหน รวยเพียงใด ก็ไม่ควรลืมกายและใจ แต่หากเหินห่างแปลกแยกกับใจและกายของตน ก็เท่ากับไม่รู้จักตัวเอง และเมื่อไม่รู้จักตัวเองเสียแล้ว จะมีความสุขหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร
    :- https://visalo.org/article/secret256003.html
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    sati and waves.jpg
    ฝากใจไว้กับสติ
    พระไพศาล วิสาโล
    สติ หมายถึง ความระลึกได้ ความจำได้ ตรงข้ามกับความหลงลืม เรามีความระลึกได้อยู่แล้วเป็นปกติ เช่น จำเบอร์โทรศัพท์ของเพื่อนได้ จำทางกลับบ้านของตัวเองได้ จำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เคยร่ำเรียนมาได้ นี่เป็นเพราะสติ บางครั้งเราระลึกได้เพราะตั้งใจนึก แต่บางครั้งก็ระลึกขึ้นมาได้เอง เช่น กำลังทำงานเพลิน ๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า เย็นนี้ต้องโทรศัพท์ไปหาลูกชาย กำลังรีดเสื้ออยู่ก็นึกขึ้นได้ว่าเราต้มน้ำเอาไว้เป็นชั่วโมงแล้ว เรานึกขึ้นได้เพราะสติทำงาน

    จะเห็นได้ว่าสติไม่ใช่เรื่องลี้ลับซับซ้อน แต่เป็นสิ่งที่เรามีอยู่แล้วตั้งแต่เกิด สติทำให้ไม่ลืมข้อมูล ไม่ลืมนัดหมาย ไม่ลืมการงาน รวมถึงไม่ลืมตัวด้วย มีสำนวนในภาษาไทยว่าได้ดีแล้วไม่ลืมตัว ความไม่ลืมตัวแบบนี้ก็เป็นหน้าที่ของสติเช่นกัน เช่น คนที่ยากจนมาก่อน พอได้ดีแล้วลืมเพื่อน ลืมผู้มีพระคุณ ต่อมามีคนมาเตือนสติให้ระลึกว่า สมัยก่อนเราเคยลำบากด้วยกันมา เมื่อได้ดีแล้วไม่ควรลืมเพื่อน ไม่ควรลืมกำพืด ไม่ควรลืมพ่อแม่ การระลึกได้ไม่ลืมตัวเช่นนี้ก็เป็นงานของสติเหมือนกัน คำว่าเตือนสติ แปลทำให้ไม่ลืม ทำให้ได้คิดขึ้นมา

    สติบางครั้งก็แปลว่าความรู้ตัว ที่จริงความรู้ตัวคือสัมปชัญญะ สติกับสัมปชัญญะนั้นเหมือนฝาแฝด ใกล้กันมาก แต่บ่อยครั้งเราก็พูดรวมๆ กันว่าสติ คนที่นอนสลบไสลอยู่ หลังจากที่หมอช่วยให้ฟื้นขึ้นมา เขาก็รู้ตัว รู้ตัวว่าอยู่ที่ไหน รวมทั้งจำได้ว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างนี้เรียกว่าเขามีสติกลับมา คนที่หลับใหลเพราะเมา พอเราช่วยให้เขาตื่นขึ้น กลับมารู้ตัวใหม่ ก็เรียกว่าทำให้เขามีสติ

    เรามีสติกันอยู่แล้วทุกคน คือระลึกได้และรู้ตัว สติยังหมายถึงความไม่ประมาทด้วย ความไม่ประมาท ในแง่หนึ่งหมายถึง ความระมัดระวังใส่ใจเนื่องจากระลึกได้ถึงอันตรายที่แฝงอยู่ เช่น กำลังขับรถอยู่ก็ระลึกได้ว่า อาจเกิดอันตรายขึ้นได้ ดังนั้นจึงขับรถอย่างระมัดระวัง ไม่ชะล่าใจ อย่างนี้เรียกว่าขับรถอย่างไม่ประมาท การระลึกได้ว่าอุบัติเหตุอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ นี่ก็เป็นงานของสติ

    ความไม่ประมาท ยังหมายถึงการไม่หลงใหลมัวเมาหรือลุ่มหลงในความสุขความสำเร็จ นักกีฬาบางคนได้รับชัยชนะมาหลายครั้งก็หลงตัวลืมตน จึงดูแคลนคู่ต่อสู้ว่าไม่มีน้ำยา นี่ก็คือความประมาท ขาดสติ คนหนุ่มคนสาวที่มีสุขภาพแข็งแรงก็ประมาทได้เหมือนกัน คือลุ่มหลงหรือเพลินในสุขภาพ จนสำคัญผิดคิดว่าจะไม่มีวันเจ็บป่วย หรือคิดว่าความตายยังอยู่อีกไกล อย่างนี้ก็เรียกว่าประมาท ในทางตรงข้าม ถึงแม้ว่าชีวิตจะราบรื่น ไม่ประสบเหตุร้าย แต่ระลึกอยู่เสมอว่า ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ดังนั้นจึงใช้ชีวิตอย่างใส่ใจ ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ทำอะไรก็ระมัดระวัง อย่างนี้ก็เรียกว่าใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องมีสติคือระลึกถึงความไม่เที่ยงของชีวิตตลอดเวลา

    ความไม่ประมาทเป็นอีกชื่อหนึ่งของสติ เอามาใช้กับเหตุการณ์ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นข้างหน้า หรือใช้กับเหตุการณ์ที่จะต้องเกิดขึ้นก็ได้ เช่น การขับรถ การแข่งกีฬา อาจจะแพ้หรือชนะก็ได้ ถ้าเราไม่ประมาทก็อาจจะไม่แพ้ แต่บางอย่างเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น ไม่มีทางหนีพ้น เช่น ความตาย คนที่ไม่ประมาทชีวิต เนื่องจากระลึกอยู่เสมอว่าสักวันหนึ่งฉันจะต้องตาย ความระลึกได้อย่างนี้เป็นหน้าที่ของสติ แต่สติแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะคนเราหลงลืมง่ายเวลามีความสุขความสบาย จึงลืมไปว่าสักวันหนึ่งจะต้องป่วยต้องตาย คนหนุ่มคนสาว ที่มีสุขภาพแข็งแรง มีชีวิตที่สะดวกสบาย บ่อยครั้งก็นึกไม่ถึงว่าจะมีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับตัวเองได้ นี่ก็เพราะเพลินกับความสะดวกสบายจนลืมตัว

    ทุกคนมีสติอยู่แล้ว ไม่ใช่ต้องมาสร้างกันที่นี่ ทุกวันนี้เราก็ใช้สติในชีวิตประจำวันแทบจะตลอดเวลา เช่น เวลาล้างจานก็ระลึกได้ว่าจะวางจาน ชาม ช้อน ส้อมไว้ตรงไหน รีดเสื้ออยู่ก็ไม่ลืมว่าต้มน้ำอยู่ในครัว นัดเพื่อนไว้ก็จำได้และไม่เคยผิดนัดเพื่อน รวมทั้งใช้ชีวิตโดยไม่ลืมว่าวันหนึ่งจะต้องตาย จึงเตรียมพร้อมอยู่ตลอด ถามว่าแค่นี้พอไหม บางคนคิดว่ามีสติแค่นี้ก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมาฝึกสติหรือเข้าวัดเลย แต่ในความเป็นจริงแล้วใช่ว่าชีวิตเราจะราบเรียบหรือราบรื่นเป็นปกติไปหมดทุกอย่าง บางทีอาจมีสิ่งไม่คาดฝันหรือไม่ปกติเกิดขึ้นได้ เมื่อถึงตอนนั้นเราต้องมีสติมากพอที่จะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้

    ส่วนใหญ่แล้วสติที่เรามีหรือใช้ในชีวิตประจำวันนั้นมักไม่มากพอที่จะเอามารับมือกับเหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วนหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ หรือไม่ก็เอาสติมาใช้ไม่ทันการณ์ ผลก็คือตกใจหรือโมโหจนลืมตัว ทำสิ่งที่ไม่สมควรออกมา หรือไม่ก็จมอยู่ในความทุกข์ แต่ถ้าเรามีสติที่พัฒนาดีแล้ว เมื่อเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ก็จะตั้งหลักได้ ไม่ตระหนกตกใจ ไม่โมโหโกรธา ไม่ปล่อยให้เหตุร้ายมาครอบงำจิต สามารถสลัดความรู้สึกตื่นกลัวหรือโมโห ออกไปได้
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (cont.)
    ชีวิตคนเรามักมีเรื่องปัจจุบันทันด่วนอยู่เสมอ แต่เหตุร้ายอาจเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แม้กระนั้นก็ไม่ควรประมาท เพราะอาจจะมีเหตุการณ์ต่างๆ มาทดสอบอยู่เรื่อยๆ ในลักษณะต่างๆกัน เคยได้ยินไหมว่า พอเกิดไฟไหม้ขึ้นมา บางคนรีบแบกตุ่มน้ำออกมาจากบ้าน ทั้งๆที่ของน่าขนมีอีกตั้งเยอะ เช่น โฉนดที่ดิน เพชรนิลจินดา โทรทัศน์ แต่ก็ไม่เอาออกมา กลับแบกตุ่มน้ำออกมาอย่างกระหืดกระหอบ อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติ ถ้ามีสติจะทำอย่างอื่นที่สำคัญกว่านี้

    สิ่งหนึ่งที่เราต้องพบอยู่เสมอก็คือความพลัดพรากสูญเสีย ส่วนใหญ่เมื่อเจอแล้วก็รับมือไม่ทัน จิตพลัดจมอยู่ในความโศกเศร้าเสียใจ บางครั้งเราก็ต้องพบกับความผิดหวัง เช่น ผิดหวังในคู่ครอง ในการเรียน ในการงาน เรื่องเหล่านี้ไม่มีใครอยากเจอ แต่ก็ต้องเจอแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง ถามว่าถ้าเราเจอสิ่งเหล่านี้ สติที่มีอยู่รับมือไหวไหมที่จะช่วยเราให้หายทุกข์ได้ ส่วนใหญ่เอาไม่อยู่หรอก บางคนเสียอกเสียใจจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย เป็นข่าวให้เราได้ยินเป็นประจำ บางคนมุ่งมั่นว่าจะต้องเรียนให้จบภายใน ๓ ปีครึ่ง แต่พอรู้ว่าสอบไม่ผ่านวิชาหนึ่ง ต้องเรียนต่ออีกหนึ่งเทอม เสียอกเสียใจมาก จมอยู่ความเศร้าความเสียใจ ในที่สุดก็กระโดดตึกฆ่าตัวตาย นี่เป็นเพราะขาดสติ

    มีนักศึกษาคนหนึ่งได้รับทุนเรียนดี จากโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ได้ไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมัน แต่ไปถึงแล้วมีปัญหาเรื่องภาษา ภาษาเยอรมันไม่แข็งแรง จึงเรียนไม่ทันเพื่อน การเรียนตกต่ำ โทรศัพท์บอกพ่อแม่ว่าอยากกลับเมืองไทย พ่อแม่ก็ท้วงว่า อย่ากลับมาเลยลูก ถ้ากลับมาแล้ว จะกลับไปเรียนต่อที่เยอรมันอีกไม่ได้ นักศึกษาคนนั้นจึงกลุ้มใจ กินยาพาราเซทตามอลไป ๕๐ เม็ด พอฟื้นขึ้นมาก็ยังไม่หายกลุ้ม ภายหลังจึงกระโดดตึกฆ่าตัวตาย นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าสติที่เรามีในชีวิตประจำวันนั้นมักไม่มีกำลังเพียงพอที่จะรับมือกับความพลัดพรากสูญเสีย หรือความผิดหวัง หากเจอเหตุการณ์ที่ไม่สมหวังอย่างแรง ก็อาจทำให้ตัดสินใจทำร้ายตัวเองได้

    ความผิดหวังของคนเรามีอยู่ ๓ อย่าง คือ ๑. ประสบกับสิ่งที่ไม่น่ารักไม่น่าพอใจ ๒.พลัดพรากจากสิ่งที่น่ารักน่าพอใจ ๓. ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ถ้าชีวิตเราราบเรียบก็คงจะดี แต่ความเป็นจริงเส้นทางชีวิตคนเราล้วนมีหลุมมีบ่ออยู่ข้างหน้า มากบ้างน้อยบาง บางช่วงก็เป็นหุบเหวด้วยซ้ำ สติที่เรามีนั้นไม่ใช่หลักประกันที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นมันไปได้อย่างราบรื่น เวลาเจอเส้นทางที่ขรุขระก็อาจจะสะดุดหลุมหรือโซซัดโซเซได้ บางทีจู่ ๆ ก็พลัดลงคูหรือตกเหวไปเลยก็มี ก็เพราะสติของเรายังอ่อนแอ ไม่ฉับไว ดังนั้น จึงจำเป็นที่เราจะต้องเจริญสติ เพื่อเพิ่มกำลังสติของเราให้มากกว่าที่มีอยู่เดิม เพื่อเผชิญและรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดฝัน ความพลัดพรากสูญเสียและสิ่งเลวร้ายไม่สมปรารถนาต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ได้โดยไม่เสียผู้เสียคน

    ที่จริงเราไม่ต้องรอว่าให้มีวิกฤตในชีวิตก่อน ไม่ต้องรอให้เกิดความพลัดพรากสูญเสียเสียก่อนจึงค่อยมาเจริญสติ เราควรเตรียมพร้อมก่อนที่มันจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันถึงแม้เหตุร้ายยังไม่เกิด การเจริญสติก็จะช่วยให้เรามีความสุขได้มากขึ้น มีชีวิตที่โปร่งเบากว่าแต่ก่อน ทำอะไรก็ทำได้ดีขึ้นเพราะไม่ลืมตัวหรือปล่อยใจไปกับความฟุ้งซ่านหรือความเครียด หรือกังวลอยู่กับอนาคต

    ที่พูดมาจะเห็นว่าสติมีหลายระดับ มีตั้งแต่หยาบ ๆ ไปจนถึงละเอียด มีตั้งแต่งุ่มง่ามไปจนถึงฉับไว คนที่ตื่นจากสลบ พอมีสติกลับมา สติแบบนี้เป็นสติแบบหยาบ ๆ เป็นการรู้ตัวแบบหยาบๆ ยังมีสติและความรู้ตัวที่ละเอียดกว่านั้น เช่น รู้ตัวว่ากำลังฟุ้งซ่าน กำลังหงุดหงิดรำคาญใจ กำลังเศร้า กำลังทุกข์อยู่กับความเจ็บป่วย นี่เป็นสติและความรู้ตัวที่ละเอียด ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีกัน

    การที่เราจำเบอร์โทรศัพท์ของลูกได้ จำได้ว่านัดหมายกับเพื่อนบ่ายนี้ จำได้ว่ามีงานอะไรคั่งค้าง นี่เป็นการระลึกได้ที่หยาบ มันยังมีความระลึกได้ที่ละเอียดและไวกว่านั้น เช่น เมื่อเราเผลอฟุ้งซ่านแล้วระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ กำลังกินข้าว อาบน้ำ หรือเดินอยู่ พอระลึกได้แล้วจิตกลับมาอยู่กับสิ่งที่ทำ อยู่กับปัจจุบัน สติที่ทำให้ไม่คลาดไปจากปัจจุบันคือสติที่ฉับไว สติที่ทำให้ระลึกรู้กายและใจอย่างต่อเนื่อง คือสติที่ฉับไว เป็นสัมมาสติ ที่เราควรสร้างขึ้นให้มาก ๆ

    ความระลึกได้และรู้ตัวอย่างนี้มีประโยชน์ คือ ทำให้เราไม่เผลอหรือพลัดหลงเข้าไปในความทุกข์ ไม่ทำให้ความทุกข์ลุกลามใหญ่โต คนที่เศร้า ท้อแท้ ผิดหวังจนฆ่าตัวตาย ก็เริ่มมาจากความผิดหวังที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ มีบางคนที่ฆ่าตัวตายเนื่องจากกลุ้มใจเพราะมีสิวที่ใบหน้า ปัญหาของเขาเริ่มต้นมาจากจุดเล็ก ๆ แรกๆ อาจจะรู้สึกอับอายเล็กๆ ที่เพื่อนล้อ แต่ตอนหลังก็ชักอับอายมากขึ้น รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ แล้วกลายเป็นกลุ้มใจอย่างหนัก อารมณ์เหล่านี้สะสมและลุกลาม จนทำให้เขาเป็นบ้าเป็นหลัง เรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย จนกระทั่งทำร้ายตัวเอง หรือไม่ก็ทำร้ายคนอื่น นี่เป็นเพราะความลืมตัว ถ้าหากเรามีสติที่ฉับไว ความทุกข์ก็จะไม่ลุกลามขยายตัว พอรู้ตัวว่าทุกข์ก็หายทุกข์ทันที

    เป็นเพราะชีวิตนั้นผันผวนไม่แน่นอน ถ้าไม่อยากถูกทุกข์ท่วมทับ เราก็จำต้องมาฝึกสติกัน ใครที่ปฏิบัติก็จะพบว่าถ้าเรามีสติว่องไว ใจจะฟุ้งซ่านไปได้ไม่ไกล ประเดี๋ยวก็กลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับกาย อยู่กับอิริยาบถ อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ บางครั้งความคิดหรืออารมณ์ความรู้สึกมันรุนแรงมาก เช่น พอครุ่นคิดเรื่องเก่าๆ ที่เคยทำให้เจ็บปวด ถ้าสติเราไม่ไวพอ กว่าจะรู้ตัวก็คิดไปไกลหรือตีอกชกหัวไปแล้ว แต่ถ้าสติไว ก็จะรู้ตัวไว หลุดจากความฟุ้งซ่าน ทำให้ใจเราโปร่งเบาขึ้น

    ความระลึกได้ ความรู้ตัว มีเป็นลำดับขั้น แต่ละขั้นจะละเอียดอ่อนและฉับไวมากขึ้น จะทำให้เราระลึกรู้ในปัจจุบันได้เร็ว ทำให้หลุดจากความทุกข์ได้เร็ว และเข้าถึงความสุขที่ประณีตขึ้น อย่าไปดูถูกความรู้ตัว ความระลึกได้ ความรู้ทัน ถ้าเราพัฒนาสติสัมปชัญญะ ไม่หลงไม่ลืม ก็จะเข้าใกล้นิพพานมาก เป็นวิถีสู่อิสระอย่างแท้จริง

    หลวงปู่ดูลย์ อตุโลเป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลายคนเชื่อว่าท่านเป็นพระอรหันต์ วันหนึ่งมีคนถามท่านว่า “หลวงปู่ครับ ทำอย่างไรจึงจะตัดความโกรธให้ขาดได้” ท่านตอบสั้น ๆ ว่า “ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง” จะรู้ทันได้ก็เพราะมีสตินั่นเอง ต่อมาคนก็ถามหลวงปู่ว่า ท่านมีความโกรธบ้างไหม หลวงปู่ตอบสั้น ๆ ว่า “มี แต่ไม่เอา”

    ทำไมหลวงปู่ดูลย์จึงไม่เอาความโกรธ ก็เพราะท่านรู้ว่ามันไม่น่าเอา ความโกรธมันไม่น่าเอา แต่เราไม่มีสติ พอความโกรธเกิดขึ้น กว่าจะรู้ทัน มันก็ครองใจเราไปเรียบร้อยแล้วเพราะสติเราอ่อน เหมือนกับยามเฝ้าประตูเมืองที่ไม่ตื่นตัว ศัตรูก็จู่โจมบุกเมืองได้อย่างฉับพลัน ยามเฝ้าประตูเมืองก็คือสติ สติที่เฝ้ารักษาใจเอาไว้ ความรู้เท่าทันนั้นมีอานิสงส์มากทีเดียว ถ้าเรารู้ทันได้ไวจิตจะหลุดพ้นจากอารมณ์อกุศลได้เร็ว เช่น ความโกรธ ใครๆ ก็รู้ว่ามันไม่น่าเอา แต่พอเกิดขึ้นทีไรก็เผลอกอดความโกรธเอาไว้ทุกที นั่นก็เพราะลืมตัว

    สิ่งที่ไม่น่าเอา เมื่อเกิดขึ้น สติเตือนให้เรารู้ทัน แต่ก็ไม่ใช่แค่นั้น แม้สิ่งที่เราคิดว่าน่าเอา สติก็เตือนเราเหมือนกันว่าอย่าไปเอานะ เพราะมันก็มีความทุกข์แฝงอยู่ ชื่อเสียงเกียรติยศ ทรัพย์สมบัติ ความสำเร็จ หากได้มา ถ้าเรามีสติไม่ไวพอ เราก็จะหลงใหลในสิ่งเหล่านี้ที่เรียกว่าโลกธรรม โดยที่เราไม่รู้ว่า ถ้าหลงใหลหรือเพลิดเพลินมันแล้ว ความทุกข์จะตามมา เพราะเมื่อจิตลอยฟ่องเนื่องจากเพลิดเพลินในสุข ถึงเวลาสุขผันแปร เลือนหายไป จิตก็ถอยจมตกต่ำ ยิ่งลอยสูง ตกลงมาก็ยิ่งเจ็บ

    สิ่งที่น่าเอาทั้งหลาย ล้วนไม่ยั่งยืน ไม่มีใครชนะได้ตลอด สักวันก็ต้องประสบกับความพ่ายแพ้ คนที่เป็นที่หนึ่งมาตลอด หากเพลิดเพลินในความเป็นเบอร์หนึ่ง เวลาพ่ายแพ้แม้เป็นที่สองก็จะเป็นทุกข์มากกว่าคนที่ไม่เคยชนะ ส่วนคนหลังนั้นหากจะแพ้อีกครั้งก็รู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าเรามีสติ หากหลงเพลินในชัยชนะและความสำเร็จ สติก็จะช่วยให้รู้ทัน และกลับมารู้ตัว ไม่หลงเพลิน และถ้ามีปัญญาด้วยแล้ว เราก็จะไม่หลงยึดมัน เพราะเรารู้ว่า สิ่งที่เป็นบวกหรือน่าเอา เช่น ความสุข ความสำเร็จนั้น ไม่ต่างจากหางงู ถ้าจับเอาไว้แล้วปล่อยไม่ทัน งูก็จะแว้งมากัดเราได้

    ความสำเร็จ ชัยชนะ และโชคลาภเปรียบเหมือนหางงู ถ้าจับแล้วปล่อยไม่ทัน งูก็แว้งมากัดเราจนได้ ดังนั้นต้องปล่อยให้ไว ครูบาอาจารย์บางครั้งก็เปรียบสิ่งเหล่านี้เหมือนกับเหยื่อที่มีเบ็ดซ่อนอยู่ พอปลาเห็นเหยื่อก็จะรีบเข้าไปฮุบ ตอนฮุบเหยื่อใหม่ ๆ ก็จะรู้สึกอร่อย มีความสุข แต่สักพักก็จะรู้สึกเจ็บปวดเมื่อเบ็ดทะลุปาก ทรัพย์ ยศ สรรเสริญ สุขหรือที่เรียกว่าโลกธรรมฝ่ายบวก เป็นเช่นนี้ คือแฝงไปด้วยทุกข์ ตอนได้เสพหรือได้ครอบครองใหม่ ๆก็จะมีความสุข มีความเพลิดเพลิน แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้หรอกว่านั่นแหละคือที่มาแห่งความทุกข์ เพราะมันเป็นไปตามหลักอนิจจัง มีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ เมื่อมีสรรเสริญก็มีนินทา ทุกครั้งที่เราดีใจเมื่อได้รับคำสรรเสริญ เวลาถูกตำหนิหรือถูกด่าเราก็จะทุกข์ทันที ถ้าเราไม่อยากทุกข์เมื่อถูกตำหนิ ก็อย่าดีใจเวลาได้รับคำชม ถ้าเราไม่อยากทุกข์เวลาเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ก็อย่าดีใจเวลาที่ได้ลาภได้ยศ ได้กับเสียเป็นของคู่กัน เช่นเดียวกับฟูและแฟบ ยิ่งฟูมากเท่าไหร่ก็แฟบง่ายมากเท่านั้น

    ความสุขนั้นไม่เที่ยงเพราะสิ่งที่ทำให้เป็นสุขนั้นหาความแน่นอนไม่ได้ ที่จริงแม้สิ่งเหล่านั้นบางครั้งจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย อย่างเช่น ยศหรือทรัพย์ แม้จะยังไม่สูญหายเลย แค่มีเท่าเดิม เราก็ทุกข์แล้ว เพราะอยากจะได้มากขึ้น หรือไม่ก็เพราะเบื่อ เช่น เวลาเรากินอาหารอร่อย ๆ มื้อแรกก็รู้สึกว่าอร่อยดี มีความสุขที่ได้กิน แต่ถ้าเรากินอาหารจานเดิมทุกๆมื้อนานเป็นเดือน เราก็จะรู้สึกว่ามันไม่อร่อยแล้ว เริ่มเบื่อ เริ่มเลี่ยน จนถึงจุดหนึ่งก็เอียนและแทบอาเจียนออกมา ทั้งที่มันก็ยังอร่อยเหมือนเดิม รสชาติเท่าเดิม แต่เมื่อเราเสพไปนาน ๆ ความสุขก็จะเลือนหายไป เราไม่มีความสุขเหมือนเดิม อยากได้ของใหม่ เพื่อจะได้สุขเหมือนเดิมหรือเท่าเดิม เห็นไหมว่าไม่ต้องรอให้มันแปรเปลี่ยนหรือเสื่อมหรอก แค่มันอยู่คงที่หรือเท่าเดิม เราก็ทุกข์แล้ว เพียงแต่ว่าความทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่ค่อย ๆคืบคลานออกมา หรือค่อย ๆ แสดงตัว นี้คือธรรมชาติของทุกข์ที่แฝงมากับความสุข หรืออยู่คู่กับความสุข

    ถ้าเรามีสติ หมั่นมองตนเสมอ ๆ ก็จะรู้ว่า ไม่ใช่แค่ความโกรธ ความเศร้าเท่านั้น ความเพลิดเพลิน ความดีใจ ความปีติ ความสำเร็จ ก็ไม่น่าเอาเหมือนกัน ถ้ามีคนถามหลวงปู่ดูลย์ว่า ท่านเคยดีใจไหม ท่านก็คงตอบว่ามี แต่ไม่เอา เหมือนกัน บวกกับลบที่จริงก็ไม่ต่างกัน มันมีธรรมชาติเหมือนกัน เพียงแต่มันมาคนละลักษณะเท่านั้นเอง สุดท้ายก็มีผลอย่างเดียวกันคือ ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นก็เป็นทุกข์เท่ากัน ถ้าเรามีสติ ดูใจเสมอ ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรเที่ยงเลย มันเป็นเช่นนั้นเอง วันนี้เราชนะ พรุ่งนี้ก็อาจจะแพ้ วันนี้เราสำเร็จ พรุ่งนี้ก็อาจจะล้มเหลวได้ เราจึงไม่ควรประมาท และไม่ควรดีใจมาก วันนี้เขาชมเรา พรุ่งนี้เขาอาจจะด่าเราก็ได้ ถ้าระลึกได้อย่างนี้เราก็จะไม่ปลื้มกับคำชมมาก โลกธรรมมันก็เป็นเช่นนั้นเอง ถ้าไปยึดมั่น ก็ทำให้ทุกข์

    ดังนั้นเมื่อเจริญสติ ก็ให้เราเพียงแต่เห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้น โดยไม่เพลิดเพลินยินดีหรือต่อต้านผลักไส คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง ดีใจก็ช่าง เสียใจก็ช่าง เราเพียงแต่รู้เฉย ๆ ดีใจก็รู้ว่าดีใจ เครียดก็รู้ว่าเครียด อย่าไปผลักไสหรือไขว่คว้า และอย่าไปสำคัญมั่นหมายว่าฉันเครียด ฉันดีใจ เคยมีนักปฏิบัติธรรมคนหนึ่งบอกหลวงพ่อคำเขียนว่า “วันนี้หนูเครียดมาก” หลวงพ่อตอบว่านักกรรมฐานไม่พูดแบบนั้น ให้พูดใหม่ เธอหยุดคิดสักพัก แล้วพูดว่า “วันนี้หนูเห็นมันเครียด” มันแตกต่างกันนะ ถ้า “หนูเครียด”ก็ทุกข์เลย แต่ถ้า “หนูความเห็นความเครียด” ความรู้สึกจะเบากว่า ความดีใจหรือปีติก็เช่นกัน พอมันเกิดขึ้น ก็อย่าไปหลงเพลินว่าฉันดีใจ หรือรู้สึกว่าฉันดีใจ ให้เห็นความดีใจ เท่านั้นก็พอ เห็นปีติ เห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้น โดยไม่ไปยึดมันว่าเป็นเราเป็นของเรา นี่แหละคือหน้าที่ของสติที่ฝึกฝนมาไวพอ ทำให้เราเห็นทุกข์โดยไม่ทุกข์

    อาตมาจึงอยากจะเชิญชวนให้เราฝึกสติให้มาก แม้ว่าจะมีสติในชีวิตประจำวันดีอยู่แล้ว ก็อย่าประมาท เพราะเมื่อต้องเจอเรื่องที่พลิกผันไม่คาดฝัน เราอาจจะตั้งรับไม่ทัน จึงต้องฝึกสติเตรียมพร้อมไว้แต่เนิ่นๆ ถึงแม้เหตุร้ายจะยังไม่เกิด สติที่ฝึกไว้ก็ไม่สูญเปล่า เพราะจะช่วยให้เราอยู่อย่างเป็นสุข โปร่งเบา
    :- https://visalo.org/article/dhammamata13_2.html
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    e2040.jpg
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    naturecoloring.jpg
    ขับเคลื่อนชีวิตด้วยจิตวิวัฒน์ (๑)
    โพธิในเรือนใจ

    พระไพศาล วิสาโล

    เมื่อพูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ เราก็นึกถึงความเห็นแก่ตัว “ใคร ๆ ก็เห็นแก่ตัวทั้งนั้น” เป็นประโยคที่เรามักได้ยินอยู่เสมอ และมักประสบกับกับตัวเป็นประจำ


    อย่างไรก็ตามคนเราไม่ได้มีแต่ความเห็นแก่ตัวเท่านั้น ลึกลงไปในจิตใจเรายังมีความเห็นอกเห็นใจและปรารถนาดีต่อผู้อื่น ตลอดจนความเสียสละ และความเชื่อมั่นในสิ่งดีงาม อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งหมดนี้เรียกรวม ๆ กันว่ามโนธรรม

    มโนธรรมหรือความใฝ่ดีทำให้เรามีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น หรือสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่ส่วนรวม แม้ตนเองจะลำบากหรือสูญเสียทรัพย์ก็ตาม การที่เราปีติหรืออิ่มเอิบภาคภูมิใจเมื่อได้ทำความดี แม้ไม่ได้รางวัลหรือคำสรรเสริญ นั่นก็เพราะเรามีมโนธรรมอยู่ในจิตใจ

    มโนธรรมทำให้เราได้สัมผัสกับความสุขทางจิตใจ เป็นความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพิงทรัพย์ ยศ อำนาจ แต่สุขเพราะได้ทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น หรือเห็นผู้อื่นมีความสุข ตรงข้ามกับความเห็นแก่ตัว ซึ่งแม้จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนแสวงหาทรัพย์สมบัติและอำนาจ แต่แม้จะครอบครองสิ่งเหล่านั้นมากมายเพียงใด ใช่หรือไม่ว่าเขาเหล่านั้นก็ยังเป็นทุกข์ รู้สึกชีวิตไม่มีความหมาย เพราะไม่ได้ใช้ชีวิตให้มีประโยชน์ หรือสร้างสรรค์สิ่งดีงามแก่ส่วนรวม

    ความเห็นแก่ตัวหรืออัตตาทำให้เราเป็นทุกข์เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่าเรา สุขสบายกว่าเรา แต่มโนธรรมกลับทำให้เราไม่สบายใจเมื่อเห็นคนอื่นทุกข์ร้อนกว่าเรา ขณะเดียวกันก็ทำให้ความทุกข์ของเราเล็กลง คนที่อกหักหรือตกงานจะรู้สึกทันทีว่าความทุกข์ของตนเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเห็นผู้คนมากมายสูญบ้านและคนรักจากภัยสึนามิ

    หากจิตของเราแบ่งออกเป็นชั้น ชั้นแรกคืออัตตา ถัดมาคือมโนธรรม คนที่มีอัตตาหรือความเห็นแก่ตัวมาก ย่อมมีเปลือกหรือผิวชั้นแรกที่หนา จนยากที่มโนธรรมหรือความใฝ่ดีจะฝ่าออกมาได้ ส่วนคนที่มีความเห็นแก่ตัวน้อย เปลือกหรือผิวชั้นแรกจะบาง เปิดโอกาสให้คุณธรรมหรือความใฝ่ดีแสดงตัวออกมาได้ง่าย

    อัตตาหรือมโนธรรม จะมากหรือน้อย เป็นเรื่องของการฝึกฝนกล่อมเกลาก็จริง แต่ก็ต้องอิงกับธรรมชาติดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว ปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่ามโนธรรมเป็นธรรมชาติพื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์ จะเรียกว่าเมตตาและความเห็นใจติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดก็ว่าได้ ตัวอย่างเช่น เด็กทารก เมื่อเห็นหรือได้ยินเสียงเด็กอื่นร้อง ก็จะร้องด้วย (แต่จะเงียบหากได้ยินเสียงร้องของตัวเองจากเครื่องบันทึกเสียง) ส่วนทารกที่อายุมากกว่า ๑๔ เดือนจะไม่ร้องเฉย ๆ แต่จะพยายามเข้าไปช่วยเด็กคนนั้น เด็กที่อายุมากกว่านั้นจะร้องน้อยลง แต่จะหาทางไปช่วยมากขึ้น

    ไม่ใช่แต่เด็กเท่านั้น แม้แต่สัตว์ก็ยังมีความเห็นใจ มีการทดลองแขวนหนูเอาไว้จนมันร้องและดิ้น เมื่อหนูหลายตัวเห็นเหตุการณ์ จะมีบางตัวที่พยายามไปช่วยเหลือหนูตัวนั้น จนรู้วิธีคือกดคันบังคับเพื่อหย่อนหนูตัวนั้นลงมาอย่างปลอดภัย

    การทดลองอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือมีการฝึกลิงกัง ๖ ตัวให้รู้จักหากินด้วยการดึงโซ่ที่มีอาหารผูกติดอยู่ แต่ทุกตัวพบว่าเมื่อดึงโซ่ทีไรก็จะเกิดไฟช็อตลิงตัวที่ ๗ ผลที่ตามมาคือลิง ๔ ตัวจะหันไปดึงโซ่เส้นอื่น แม้จะได้อาหารน้อยกว่า แต่ไม่ทำให้เพื่อนถูกช็อต ตัวที่ ๕ จะเลิกดึงโซ่ติดต่อกัน ๕ วัน ส่วนตัวที่ ๖ ไม่ยอมดึงโซ่เลยตลอด ๑๒ วัน นั่นหมายความว่าทั้ง ๒ ตัวยอมหิวเพื่อจะได้ไม่ทำให้เพื่อนเจ็บปวด

    นอกเหนีออัตตาและมโนธรรมแล้ว ใจเรายังมีธรรมชาติอีกชั้นหนึ่งซึ่งอยู่ลึกสุด ได้แก่ สภาวะที่เป็นอิสระ ปลอดโปร่ง ผ่องใส ปลอดพ้นจากความเห็นแก่ตัว หรือความยึดถือในอัตตา เป็นสภาวะที่เส้นแบ่งระหว่าง “ฉัน” กับ “ผู้อื่น” หมดไป เกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง จิตอยู่เหนือการแบ่งเป็นขั้วหรือมองโลกเป็นคู่ตรงข้าม ไม่ว่าดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ ได้-เสีย เกิด-ตาย ดังนั้นจึงไม่หวั่นไหวกับความผันผวนปรวนแปร หรือความพลัดพรากสูญเสีย

    มนุษย์ทุกคนสามารถประจักษ์ถึงสภาวะนี้ได้ ในยามที่จิตเราสงบ ปราศจากกิเลสตัณหา เป็นสภาวะที่ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกว่า “จิตว่าง” คีอว่างจากกิเลสหรือความสำคัญมั่นหมายใน “ตัวกู ของกู” นี้เป็นสภาวะที่มีอยู่แล้วในใจเรา แต่มักถูกเคลือบคลุมด้วยอัตตาหรือความเห็นแก่ตัว จึงทำให้เรารู้สึกหม่นหมองอยู่บ่อยครั้ง ดังมีพุทธพจน์ว่า “จิตนั้นประภัสสร แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่เกิดขึ้นภายหลัง”

    ธรรมชาติส่วนที่สามซึ่งอยู่ลึกสุดนี้ เรียกอีกอย่างว่า “โพธิจิต” คือจิตที่ตื่นรู้ เห็นความจริงแจ่มแจ้ง เป็นศักยภาพที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน แต่จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการฝึกฝนพัฒนา หากมนุษย์สามารถเข้าถึงโพธิจิต หรือให้โพธิจิตได้แสดงตัวออกมา จะมีความสุขอย่างยิ่ง ความสุขจากโพธิจิตที่เปล่งประกายออกมา ทำให้รู้สึกว่าชีวิตได้รับการเติมเต็ม ไม่ดิ้นรนแสวงหาอีกต่อไป เพราะไม่มีตัวตนที่จะต้องปรนเปรอ ดิ้นรน เป็นความสงบอย่างยิ่ง แต่หากยังไม่ได้สัมผัสกับสภาวะเช่นนี้ ก็จะรู้สึกพร่องอยู่ลึก ๆ และโหยหาตลอดเวลา แม้จะมีสมบัติล้นโลก อำนาจล้นฟ้า หรือแม้จะทำความดีมามากมาย ก็ยังรู้สึกว่าบางสิ่งขาดหายไปในชีวิต

    อุปสรรคที่ทำให้เราไม่อาจเข้าถึงชั้นโพธิจิต(หรือปิดกั้นมิให้โพธิจิตแสดงตัวออกมาได้) ก็คือการยึดติดอยู่กับอัตตา การแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว (เปลือกชั้นแรก) และยึดติดถือมั่นในความดี หรือปล่อยใจขึ้นลงไปกับสุขหรือทุกข์ของผู้อื่น (จิตชั้นที่สอง) เช่น ทุกข์เพราะช่วยคนอื่นไม่สำเร็จ หรือทุกข์เพราะทำดีไม่พอ หรือให้อัตตาเข้ามาครอบงำความดี กลายเป็นการทำดีเพื่อหล่อเลี้ยงอัตตา หรือเกิดความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นคนดีนะ (ใครมาตำหนิไม่ได้ หรือถ้าคนอื่นไม่เห็นความดีของฉัน ฉันก็จะโกรธและน้อยใจ) ถ้าใครทำดีกว่าฉัน ฉันก็จะไม่พอใจหรืออิจฉา และถ้าเจอคนที่ไม่ดีเท่าฉัน หรือไม่ดีเหมือนฉัน ฉันก็จะยกตนข่ม หรือดูถูกว่าเขาดีสู้ฉันไม่ได้ เป็นต้น

    จิตชั้นนอกสุดนั้นมุ่งปรนเปรออัตตา ส่วนจิตชั้นที่สอง มุ่งขัดเกลาอัตตาให้ประณีตขึ้นหรือลดอัตตาให้เบาบาง จิตชั้นในสุด คือ สภาวะที่ไร้อัตตา หรือนำไปสู่การไร้ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา

    โพธิจิตเป็นธรรมชาติของจิตที่เราต้องรู้จัก เข้าถึง และ เปิดโอกาสให้แสดงตัว หรือเรียกอีกอย่างว่า หล่อเลี้ยงบ่มเพาะ ก็ได้ เหมือนกับรดน้ำจนเมล็ดแตกเป็นต้นกล้า และจากต้นกล้ากลายเป็นไม้ใหญ่ ที่แผ่ร่มเงา ให้ความสงบเย็น

    โพธิจิตสามารถเบ่งบานเติบใหญ่ได้มิใช่จากการปลีกตัวหลีกเร้นเพื่อบำเพ็ญสมาธิภาวนาเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตประจำวันและทำงานอย่างมีสติ ตื่นรู้ และรู้เท่าทัน
    เวลาอัตตาเข้ามาครอบงำใจ ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็น “ตัวกู ของกู” (เช่น บ้าน “ของกู” งาน “ของกู”) แต่ทำด้วยปัญญาและอุตสาหะ อย่างถูกต้องชอบธรรมและตรงตามความเป็นจริง (ส่วนผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย) พูดอีกอย่างคือทำเต็มที่ด้วยใจปล่อยวาง เพราะตระหนักว่า “ความพยายามเป็นของมนุษย์ ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า”

    “จิตวิวัฒน์” คือการพัฒนาจิตชั้นที่สองและสาม คือมโนธรรมและโพธิจิตให้เจริญงอกงาม จนสามารถบันดาลใจให้เกิดความสุข ตลอดจนขับเคลื่อนชีวิตและการทำงานให้เป็นไปในทางที่ดีงาม จนบรรลุถึงคุณค่าสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ และได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเกิดมาในโลกนี้ นั่นคือเข้าถึงอิสรภาพและความสงบเย็น ชนิดที่ความผันผวนปรวนแปรในโลกมิอาจแผ้วพานได้ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความล้มเหลว ความพลัดพราก ความเจ็บ หรือความตายก็ตาม
    :- https://visalo.org/article/suksala03.htm
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    everythingfromyourmnd.jpg
    เปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี

    พระไพศาล วิสาโล
    อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม เป็นอาจารย์สอนธรรมที่หลายคนรู้จักดี ท่านพิการตั้งแต่คอลงมาเมื่ออายุ ๒๔ ปี แต่ก็ได้อาศัยธรรม โดยเฉพาะการเจริญสติ ช่วยให้อยู่กับความพิการได้โดยไม่ทุกข์ ตอนนี้ท่านกำลังป่วยหนัก หมอวินิจฉัยว่าอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตแล้ว เพราะมะเร็งตับลุกลาม เดิมร่างกายก็พิการอยู่แล้ว ยังต้องทรมานกับมะเร็งตับอีก หากเป็นคนทั่วไปคงจะทุกข์ทรมานมาก แต่เวลาอาตมาไปเยี่ยมกลับเห็นท่านยิ้มแย้มแจ่มใส ร่าเริงเหมือนไม่มีเรื่องอะไรให้อนาทรร้อนใจ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีคนเขียนเอาข้อความของอาจารย์กำพลมาขึ้นเฟซบุ๊ค ว่า "ผมยอมรับความจริง ยอมรับความเป็นไป และยอมรับความตาย"

    ยอมรับความจริง คือยอมรับว่าเป็นมะเร็งตับ ซึ่งเป็นโรคที่รักษายาก ไม่บ่นโวยวาย ยอมรับความเป็นไป คือ เมื่อรู้ว่าโรคนี้ทำให้ร่างกายย่ำแย่ไปเรื่อย ๆ ก็ไม่ปฏิเสธผลักไส และสุดท้ายยอมรับความตาย สามยอมนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้อาจารย์กำพลยังยิ้มแย้มแจ่มใสได้

    ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะอาจารย์กำพลปฏิบัติธรรมมานาน การปฏิบัติธรรมทำให้จิตใจของอาจารย์กำพลพ้นจากความพิการ กายยังพิการอยู่ แต่ใจไม่พิการแล้ว เพราะเจริญสติตามคำแนะนำของหลวงพ่อคำเขียน หลวงพ่อแนะนำว่าในเมื่อยกมือสร้างจังหวะไม่ได้ เดินจงกรมก็ไม่ได้ ก็ให้พลิกมือไปมา แล้วพิจารณาว่าที่พลิกนั้นเป็นรูป ที่คิดเป็นนาม รู้กายเมื่อมือพลิก รู้ใจเมื่อคิดนึก อาจารย์กำพลได้ทำตามที่หลวงพ่อแนะนำ ทำไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดเข้าใจเรื่องรูปนาม อาจารย์กำพลบอกว่า หลงโง่ตั้งนานนึกว่าเราพิการ ที่จริงไม่ใช่ แค่กายพิการเท่านั้น แต่ใจไม่ได้พิการด้วย พอเห็นความจริงตรงนี้ จิตก็หลุดพ้นจากความพิการ จิตลาออกจากความทุกข์ นี่เรียกว่าเห็นด้วยปัญญา

    จำไว้นะว่า เมื่อเจอเหตุร้ายเกิดขึ้น เราไม่จำเป็นต้องทุกข์ระทมก็ได้ เราสามารถผ่านมันไปได้ ถ้าเรามีสติ มีปัญญา มีธรรมะ ในทางตรงข้าม แม้จะได้โชคลาภ ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าไม่มีสติ มันก็พาไปเข้ารกเข้าพง ไปเจอความตกต่ำย่ำแย่ได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราสามารถแยกเป็นสองทางได้เสมอ ดีหรือร้าย สูงส่งหรือตกต่ำ อยู่ที่เราเลือก แต่จะเลือกได้ก็ต่อเมื่อเรามีสติปัญญา ขนาดความพิการยังทำอะไรอาจารย์กำพลไม่ได้ เรื่องเล็กน้อยกว่านั้นควรหรือที่เราจะเป็นทุกข์เพราะมัน

    เราควรเริ่มฝึกใจจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปก่อน ใช้เหตุการณ์ที่ต้องเจอในชีวิตประจำวัน เช่นคำวิจารณ์ สิ่งขัดอกขัดใจ ใช้มันเพื่อฝึกใจเรา ไม่ทุกข์ใจกับเหตุการณ์เหล่านั้น เวลาใครต่อว่าเราก็ไม่ทุกข์ หรือหากทุกข์แล้วก็อย่าทุกข์ฟรี ๆ ต้องรู้จักหาประโยชน์จากสิ่งเกิดขึ้น ให้เรื่องขัดอกขัดใจนั้นมาเป็นเครื่องฝึกความอดทน ลดละอัตตาตัวตน คนเราไม่ชอบคำแนะนำหรือคำตักเตือน เพราะอัตตามันทนไม่ได้ มันต้องการประกาศความยิ่งใหญ่ ว่า กูเก่ง กูแน่ ฉะนั้นพอเจอคำวิจารณ์ก็จะตอบโต้ทันที แต่ถ้าเรามีสติก็จะไม่ทำตามอำนาจของมัน

    ท่านอาจารย์พุทธทาสเล่าว่า สมัยหนุ่ม ๆ ท่านต้องสร้างกุฏิ สร้างศาลาเอง บ่อยครั้งเวลาตอกตะปูผิด ค้อนทุบนิ้ว ท่านจะร้องด้วยความเจ็บปวด ตอนหลังท่านคิดว่าทำอย่างไร ถึงจะไม่ร้องเวลาตอกตะปูผิด ท่านคิดว่าเราจะยิ้มได้ไหม เราจะหัวเราะได้ไหมเวลาค้อนทุบโดนนิ้ว ท่านฝึกแล้วฝึกเล่าในที่สุดก็หัวเราะได้ พวกเราจะลองใช้วิธีนี้ก็ได้นะ เวลาใครวิจารณ์ ตำหนิแทนที่จะโกรธ ทำหน้าบึ้ง ก็เปลี่ยนเป็นยิ้มแทน ลองฝึกดูนะ ขนาดอาจารย์พุทธทาสโดนค้อนทุบนิ้วท่านยังหัวเราะได้ คำแนะนำตักเตือนทักท้วงมันเบากว่าค้อนเยอะ ถ้าเราฝึกว่าฉันจะยิ้มให้ได้เมื่อถูกตำหนิติเตียน วันนี้ฉันยังยิ้มไม่ได้ แต่วันข้างหน้าฉันจะยิ้มให้ได้ เราต้องบอกเพื่อนให้ความร่วมมือ คือ วิจารณ์บ่อย ๆ ตักเตือนบ่อย ๆ วันไหนยิ้มได้ก็ไปเลี้ยงฉลองได้เลย

    หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า "การภาวนา คือการเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี" เปลี่ยนเคราะห์ให้กลายเป็นโชค เปลี่ยนทุกข์ให้เป็นธรรมะ เปลี่ยนคำตำหนิติเตียนให้เป็นของดี หรือมองอย่างหลวงพ่อทองรัตน์ก็ได้ คำต่อว่าด่าทอว่าเป็นอมฤตธรรมจากเทวดา เราควรมองว่าเพื่อน ๆ ในที่ทำงานของเราเป็นเทวดาทั้งนั้น สามารถให้อมฤตธรรมแก่เราได้ ลองทำดูนะ ถ้าทำบ่อย ๆ ต่อไปพอเจออะไรที่หนักกว่านี้ เราจะตั้งสติได้ไวขึ้น ถ้าทำได้อย่างนี้ เวลาทำงานก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย

    มีคนหนึ่งพูดไว้ดีมากว่า "จุดมุ่งหมายในชีวิตของเขา คือ ๑ ค้นพบตัวตน และ ๒ สลายตัวตน" ไม่แน่ใจว่าคนพูดเป็นชาวพุทธหรือเปล่า แต่สิ่งที่เขาพูดนี้สอดคล้องกับหลักธรรมในพุทธศาสนามาก การมาปฏิบัติธรรมส่วนหนึ่งก็เพื่อค้นพบตัวตน เพื่อรู้จักตัวเอง รู้จักว่าเราเป็นใคร เราต้องการอะไรในชีวิต เวลามีความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้นก็รู้ทันมัน ถ้ารู้จักตัวตนอย่างถึงที่สุดแล้ว จะพบว่าแท้จริงไม่มีตัวกูอยู่เลยแม้แต่น้อย

    การค้นพบตัวตนหรือการรู้จักตัวเองอย่างแจ่มแจ้ง คือการค้นพบว่า ไม่มีตัวตน หรือว่างเปล่าจากตัวตนนั่นเอง นี่เป็นการค้นพบที่สำคัญและลึกซึ้งที่สุด เหมือนกับการเฉาะกระบอกไม้ไผ่ สุดท้ายก็พบว่าข้างในหรือแกนกลางนั้นว่างเปล่า เมื่อเราพบว่าไม่มีตัวตนหรือตัวกูอยู่เลยแม้แต่น้อย ใจก็จะวางไปเอง ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้คำว่า "ตายก่อนตาย” คือตัวตนตาย แต่ที่จริงตัวตนไม่ได้ตาย เพราะมันไม่มีตั้งแต่แรก ถ้าเราตระหนักตรงนี้ เวลาทำงานหรือปฏิบัติธรรมก็ควรตั้งจิตมุ่งเพื่อสองประการนี้ ให้ถือว่าการทำมาหาเลี้ยงชีพ และการการช่วยเหลือผู้อื่น เป็นหนทางสู่การค้นพบตัวตน และการสลายตัวตน

    เมื่อเจอคำวิพากษ์วิจารณ์แล้วเราไม่โกรธ เรายิ้มได้ ไม่เอาตัวตนเข้าไปรับการกระแทก นี่คือหนทางสู่การลดละตัวตน วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราไม่เอาตัวตนมาเป็นใหญ่ ก็คือการเอาสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าตัวตนขึ้นมาแทน เช่น บางคนนึกถึงการช่วยเหลือผู้อื่น พอนึกถึงผู้อื่น จะถูกกระทบกระแทกอย่างไรก็อดทนได้ เหมือนพ่อแม่แม้จะลำบากเพียงใด พอนึกถึงลูกก็ทำให้อดทนได้เสมอ

    ถ้าเราเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นใหญ่เหนือตัวตน ก็จะทำให้ตัวตนหรืออัตตามีอำนาจต่อเราน้อยลง พระพุทธเจ้าส่งเสริมให้เอาธรรมะเป็นใหญ่ เมื่อเอาธรรมะเป็นใหญ่ ใครจะว่าเราอย่างไรก็ไม่โกรธ เราก็จะมองว่าที่เขาพูดมาเป็นธรรมะหรือไม่ อาตมาประทับใจนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง เขาเป็นศาสตราจารย์ใหญ่ เชี่ยวชาญด้านเซลล์ อยู่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สมัยนั้นมีข้อถกเถียงกันว่าในเซลล์มีสิ่งที่เรียกกันว่า Golgi Apparatus หรือไม่ เมื่อ ๕๐ กว่าปีมาแล้ว ยังไม่มีกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ศาสตราจารย์คนนี้ปฏิเสธว่าไม่มี Golgi Apparatus ในเซลล์ เป็นเรื่องเข้าใจผิดกันไปเอง เขาทำงานวิจัย เขียนตำรา และบรรยายมานานนับสิบปีเพื่อยืนยันว่ามันไม่มี

    แล้ววันหนึ่งมีอาจารย์หนุ่มจากอเมริกามาบรรยายที่มหาวิทยาลัยของเขา เอาหลักฐานมาชี้แจงว่า Golgi Apparatus มีจริง นักวิชาการหนุ่มบรรยายได้ดีมาก จนหาข้อโต้แย้งไม่ได้เลย ศาสตราจารย์คนนั้นซึ่งอยู่ในห้องประชุมนั้นด้วย แทนที่จะรู้สึกเสียหน้า เขากลับเดินไปหาอาจารย์หนุ่มคนนั้นเมื่อบรรยายเสร็จ เขย่ามือแล้วกล่าวกว่า "เพื่อนรัก ขอบคุณมาก ผมผิดพลาดมานานถึง ๑๕ ปี"

    คนที่เป็นศาสตราจารย์ระดับสูง มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่กลับไม่มีความรู้สึกโกรธหรือเสียหน้าเลยเมื่อถูกอาจารย์หนุ่มโต้แย้งหักล้างความเชื่อของเขา นั่นเป็นเพราะเขาเอาความรู้เป็นใหญ่ เมื่อเอาความรู้เป็นใหญ่ อัตตาก็เป็นเรื่องเล็ก เขาเป็นคนใฝ่รู้ ใจนึกถึงแต่ความรู้ อะไรที่ทำให้มีความรู้เพิ่มเติมก็ยินดีทั้งนั้น แม้ความรู้นั้นจะสวนทางกับสิ่งที่เคยเชื่อ

    อัตตาของเขาเบาบางมาก ที่เบาบางได้เพราะเอาความรู้เป็นใหญ่นั่นเอง ส่วนพวกเราสามารถเอาธรรมะเป็นใหญ่ได้ โดยการเอาประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์องค์กรเป็นใหญ่ก็ได้ การเอาองค์กรเป็นใหญ่ช่วยทำให้เราอดทนต่อคำวิจารณ์ของเพื่อนได้ เพราะสนใจแต่ว่าจะทำให้องค์กรดีขึ้น นี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ที่ช่วยขัดเกลาให้ตัวตนเบาบางลงได้

    เราพึงตระหนักอยู่เสมอว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นกับเรา ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องฝึกสติ เป็นเครื่องขัดเกลาให้เราลดละตัวตน ให้มองว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราดีทั้งนั้น งานล้มเหลว เจอคำต่อว่าด่าทอ ของหาย ให้ถือว่ามันเป็นสิ่งที่ช่วยฝึกให้เรามีความเข้มแข็ง ช่วยทำให้เรามีสติ มีความพร้อมมากขึ้น ในการรับมือกับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในวันหน้า อย่าคิดว่าชีวิตเราตอนนี้ราบรื่นแล้วมันจะราบรื่นตลอดไป มันอาจจะเกิดเรื่องเลวร้ายรุนแรงสักครั้งหนึ่งก็ได้ แต่ถ้าเราฝึกใจสม่ำเสมอโดยอาศัยการทำงานและเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เราก็จะมีความพร้อมในการรับมือกับมันได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วย ความพลัดพราก หรือแม้กระทั่งความตาย

    หลวงพ่อคำเขียนพูดอยู่เสมอว่า "นักภาวนาคือนักฉวยโอกาส" หมายถึง เราควรใช้เวลาและเหตุการณ์ทุกอย่างเพื่อฝึกฝนจิตใจของตน ท่านเปรียบเทียบว่า เหมือนกับแม่ค้าแถวสถานีรถไฟ แม้รถไฟจอดชานชาลาไม่กี่นาที ก็รีบขึ้นไปขายของทันที เขาไม่คิดปล่อยเวลาห้านาทีให้เปล่าประโยชน์ ไม่ได้คิดว่าเวลาห้านาทีมันน้อยนิดจะไปทำอะไรได้ ปล่อยไปเถอะ ไว้รอขึ้นรถขบวนที่จอดครึ่งชั่วโมงดีกว่า แม่ค้าไม่คิดแบบนั้น แม้จะจอดเพียงห้านาทีก็รีบฉวยโอกาสขายของ เก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อย ๆ

    พวกเราก็เช่นกัน เวลาเจอรถติด แทนที่จะเอาเวลาไปบ่นหรือหงุดหงิด ก็ฉวยโอกาสเจริญสติคลึงนิ้วไปด้วย เวลานัดเพื่อนแล้วเพื่อนมาสาย แทนที่จะหงุดหงิดกระสับกระส่าย ดูนาฬิกาไม่หยุด ก็เจริญสติตามลมหายใจไป หากทำได้อย่างนี้เราก็เสียเวลาอย่างเดียว แต่ไม่เสียอย่างอื่นด้วย

    การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เป็นสิ่งที่ควรทำเฉพาะในบ้านหรือในวัดเท่านั้น แม้อยู่ที่ทำงานก็ทำได้ ใช้การทำงานเป็นเครื่องปฏิบัติธรรม ใช้คำติเตียนต่อว่าของเพื่อนร่วมงานเป็นเครื่องมือปฏิบัติธรรม ใช้รถติด ใช้งานที่ไม่ประสบความสำเร็จ อุปสรรคต่าง ๆ เป็นเครื่องฝึกใจ นี้แหละคือศิลปะของการปฏิบัติธรรม ในการเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี เปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโชค ช่วยให้เราเป็นสุขได้ทุกที่ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นใจก็ไม่ทุกข์ หากทำได้เช่นนี้ ชีวิตก็จะพบแต่ความสุขสงบเย็น ไม่ว่าโลกรอบตัวจะผันผวนเพียงใดก็ตาม
    :- https://visalo.org/article/suksala26.html
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    AngerHotcoal.jpg
    รู้ทันมาร

    พระไพศาล วิสาโล
    ในพระไตรปิฎกมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับมารที่มาก่อกวนผู้ประพฤติธรรม ตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงพระอรหันต์ ภิกษุ ภิกษุณี มารมาก่อกวนหลายรูปแบบ บางทีก็ปลอมตัวมาพูดจาชักจูงให้คลายความเพียร เช่น มาพูดกับภิกษุณีที่ทำความเพียรอยู่ว่าท่านยังสาวอยู่ ไปหาความสุขทางโลกก่อนเถอะ แก่แล้วก็ค่อยมาปฏิบัติธรรม เป็นการได้ประโยชน์จากโลกทั้งสอง คือโลกของฆราวาสและโลกของบรรพชิต ตอนสาวก็หาความสุขจากโลกฆราวาสด้วยการเสพกาม พอแก่แล้วค่อยมาหาความสุขจากโลกแห่งบรรพชิต ฟังดูก็มีเหตุผลดี น่าคล้อยตาม บางทีมารก็มาหลอกให้กลัว เช่น ทำให้เกิดแผ่นดินไหว หรือปลอมตัวเป็นพญาช้างเป็นงูใหญ่ มาขู่ให้กลัวจะได้เลิกปฏิบัติ

    แม้กระทั่งพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งบำเพ็ญความเพียร ก็ยังมีมารมารังควาน เช่น ชวนให้พระองค์กลับไปบำเพ็ญทุกรกิริยา มีคราวหนึ่งมากล่าวกับพระองค์ว่า ท่านสั่งสมบุญกุศลมามากแล้ว จะทำความเพียรไปทำไม พระองค์ก็ตอบกลับไปว่า พระองค์ไม่มีความต้องการบุญแม้แต่น้อย แต่ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น แต่ก็มีหลายกรณีที่เมื่อมารมาหลอกพระองค์ พระองค์ก็บอกให้มารรู้ว่าพระองค์รู้ทันแล้ว โดยกล่าวทักแค่ว่า “มารผู้มีบาป” เพียงเท่านี้มารก็ตกใจ อุทานว่า “พระพุทธเจ้าทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา” เมื่อรู้ว่าหลอกไม่สำเร็จ มารก็ยอมแพ้ หายตัวไป จะเห็นได้ว่าพระองค์ไม่ได้ใช้ฤทธิ์เดชอะไรกับมาร เพียงแค่บอกให้รู้ว่าพระองค์รู้ทันมารแล้วเท่านั้น มารก็ยอมแพ้

    คราวหนึ่งพระสมิทธิบำเพ็ญเพียรอยู่ มารก็มาหลอกให้กลัวด้วยการทำให้แผ่นดินไหว พระสมิทธิตกใจจนเลิกปฏิบัติ กลับไปยังเชตวัน แล้วทูลเรื่องนี้ให้พระพุทธเจ้า พระองค์ได้ฟังก็รู้ว่าเป็นอุบายของมาร จึงแนะนำพระสมิทธิว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ก็ให้พูดไปเลยว่า “มารผู้มีบาป เรารู้จักท่าน” พระสมิทธิก็เชื่อ กลับไปบำเพ็ญเพียรที่เดิม มารเห็นก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอีก คราวนี้พระสมิทธิก็บอกกับมารตามที่พระพุทธเจ้าแนะนำ พอมารรู้ว่าพระสมิทธิรู้ทันแล้วก็เสียใจ อุทานว่า “พระสมิทธิรู้จักเราแล้ว” จากนั้นก็ล่าถอยกลับไป

    จะเห็นได้ว่าเพียงแค่การรู้ทันก็มีอานุภาพมากพอที่จะทำให้มารล่าถอยกลับไปได้ ไม่ต้องใช้ฤทธิ์เดช ไม่ต้องต่อสู้หรือโรมรันพันตูกับมาร แค่บอกให้มารรู้ว่าเรารู้ทันเท่านี้ก็พอแล้ว มารในที่นี้ก็หมายถึงกิเลสที่ปรุงความคิดและอารมณ์ต่างๆ ทำให้เกิดความท้อ ความกลัว คลายความเพียร หรืออาจจะรวมถึงอารมณ์อกุศลต่างๆ ที่ทำให้เป็นทุกข์ เครื่องมือสำคัญที่จะเอามารับมือกับสิ่งเหล่านี้ก็คือ สติ ได้แก่การรู้เฉยๆ แค่รู้ว่ามันเกิดขึ้นที่ใจก็พอแล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน ไม่ว่ามันจะมาก่อกวนอย่างไรก็ตาม ขนาดพระโมคคัลลานะ มารก็เคยมาก่อกวนทำให้ปั่นป่วนที่ท้อง ทีแรกท่านไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ครั้นหยั่งจิตดูก็รู้ว่าเป็นฝีมือของมาร ท่านก็พูดกับมารอย่างเดียวกันว่า “มาร เรารู้จักท่าน ท่านอย่าคิดว่าเราไม่รู้จักท่าน” พอมารรู้ว่าพระโมคคัลลานะรู้ทันก็เสียใจ หนีจากไป ความโกรธ ความโลภ ความหงุดหงิด ความรู้สึกผิดต่างๆ ก็เช่นกัน ทันทีที่เรารู้ว่ามันมา มันก็ล่าถอยไปไม่ต่างจากมาร

    เวลามีความคิดและอารมณ์อกุศลเกิดขึ้น แค่รู้ทันเฉยๆ ก็พอแล้ว ไม่ต้องทำอะไร การดูก็ดี การเห็นก็ดี การรู้ทันก็ดี อันนี้เป็นงานของสติ คนส่วนใหญ่เวลาเกิดอารมณ์อกุศลขึ้นมามักจะอยู่เฉยไม่ได้ พยายามกดข่มมัน ยิ่งกดข่ม มันก็ยิ่งต้าน ยิ่งสู้ หรือไม่ก็หลบไประบายออกทางอื่น ผู้ชายคนหนึ่งพบว่าตัวเองมีพฤติกรรมแปลก ๆ คือเวลาเจอศาลพระภูมิทีไร มีความรู้สึกอยากไปทำลาย เขาไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร ความโกรธเกลียดศาลพระภูมิเกิดขึ้นโดยไม่เข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร สุดท้ายก็ไปปรึกษาจิตแพทย์ จิตแพทย์ก็ให้เขาเล่าประวัติให้ฟัง

    ตอนหนึ่งเขาเล่าว่าเขาเป็นคนที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับพ่อ ถูกพ่อดุด่าว่ากล่าวเป็นประจำ มีคราวหนึ่งพ่อด่าเขาอย่างรุนแรง ดูเหมือนจะลงไม้ลงมือด้วย เขาโกรธมากอยากจะตอบโต้ด้วยการต่อยพ่อแต่ก็ห้ามใจเอาไว้ได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขารู้สึกผิดมาก เพราะรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ คนดีไม่ควรเกลียดพ่อหรืออยากทำร้ายพ่อ เขาจึงพยายามกดข่มความโกรธเกลียดพ่อเอาไว้ ไม่ยอมรับว่าตัวเองมีความรู้สึกแบบนี้กับพ่อ ปรากฏว่าความโกรธเกลียดพ่อไม่ได้หายไปไหน มันถูกกดอยู่ในจิตไร้สำนึก แล้วไประบายออกที่ศาลพระภูมิแทน เพราะศาลพระภูมิเป็นเหมือนตัวแทนของพ่อ คือเป็นที่เคารพและดูมีอำนาจ ในเมื่อโกรธเกลียดพ่อหรือทำร้ายพ่อไม่ได้ ก็ไปออกที่ศาลพระภูมิแทน

    กรณีนี้แก้ได้ด้วยการที่เจ้าตัวยอมรับว่ามีความโกรธเกลียดพ่อ ไม่ปฏิเสธ ไม่ผลักไส และไม่ต้องกดข่มความรู้สึกดังกล่าว แค่ยอมรับและดูมันเฉย ๆ แค่เห็นมันเฉย ๆ เรียกว่าไม่ต้องสนใจมันเลยก็ได้ มันเกิดขึ้นก็ปล่อยมันไป ไม่ต้องทำอะไรกับมัน ก็จะพบว่าในที่สุดมันก็จะดับไปเอง ในทางตรงข้ามยิ่งไปกดข่มมัน มันก็ยิ่งรังควานหรือผลักดันให้เรามีอาการประหลาดวิปริตพิศดาร

    หลายคนพอทำสมาธิภาวนา จะเจอความคิดและอารมณ์ที่น่าเกลียด เช่น ความโกรธ ความเห็นแก่ตัว ความพยาบาท พอมันเกิดขึ้นในใจก็รู้สึกผิด รู้สึกแย่ว่าทำไมฉันมีความคิดแบบนั้น ยอมรับมันไม่ได้ ก็พยายามกดข่มอารมณ์เหล่านั้นไว้ ที่จริงมันเป็นเรื่องธรรมดามากที่อารมณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นกับเรา เพราะเรายังเป็นปุถุชนอยู่ มองอีกแง่หนึ่งมันเป็นอุบายของกิเลสที่อยากจะล่อหลอกให้เราเข้าไปพันตูกับมัน ขืนเราทำเช่นนั้นเราก็หลงกลมัน เจอแบบนี้เราก็แค่รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปสนใจมันก็พอแล้ว

    มีหลายคนมาปรึกษาอาตมาว่าทำยังไงดี เพราะมักจะมีคำพูดจ้วงจาบพระรัตนตรัยดังขึ้นในใจ บางทีก็จ้วงจาบพ่อแม่ ด่าท่านอย่างรุนแรงในใจ บางคนสวดมนต์ไปได้สักพักก็มีเสียงตำหนิด่าทอ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เขารู้สึกแย่กับตัวเองมาก ว่าทำไมถึงมีความคิดที่ชั่วร้ายแบบนี้ พยายามกดข่มเท่าไรก็ไม่สำเร็จ อาตมาจึงแนะนำไปว่าไม่ต้องทำอะไรกับความคิดหรือเสียงเหล่านั้น แค่รู้ว่ามันมีอยู่ก็พอ ไม่ต้องไปสนใจมัน อย่าไปคิดกดข่ม อย่าไปทำอะไรกับมัน หากกดข่มมันมันก็ยิ่งได้ใจ รังควานหนักขึ้น

    คนที่มีปัญหาแบบนี้มักคิดว่ามีแต่ตัวเองเท่านั้นที่คิดแบบนี้ จึงรู้สึกว่าตัวเองชั่วร้ายเหลือเกิน แต่ที่จริงมีคนคิดแบบนี้เยอะมาก เพียงแต่เขาไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง เพราะรู้สึกอับอาย พออาตมาเอาคำถามแบบนี้ขึ้นเฟ๊ซบุ๊ค หลายคนก็เขียนมาเล่าว่า ฉันก็เป็น หนูก็เป็น ผมก็เป็น มีเยอะทีเดียว แสดงว่าเหตุการณ์แบบนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องพิเศษพิสดารของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมากทีเดียว โดยเฉพาะคนที่ติดดี ยิ่งอยากเป็นคนดี อยากทำตัวให้เรียบร้อย ความคิดแบบนี้ก็ยิ่งโผล่ออกมา จะว่ามันเป็นมารที่จะมาชวนให้หลงทางก็ได้ เป็นอุบายของมารที่ไม่อยากให้เราเจริญก้าวหน้าในทางธรรม หรืออาจจะเป็นเพราะความติดดีทำให้มีความรู้สึกลบต่อความคิดที่ไม่ดี พอมีความคิดไม่ดีเกิดขึ้นในใจก็พยายามกดข่มมัน ยอมรับไม่ได้ว่าฉันมีความคิดแบบนี้อยู่ ทั้งที่มันเป็นธรรมดา พอกดข่ม มันก็มีแรงต้าน อย่าลืมว่าแรงกดเท่ากับแรงสะท้อน

    สิ่งที่ต้องทำในกรณีอย่างนี้ก็คือไม่ทำอะไรเลย ไม่ต้องทำอะไรกับความคิดเหล่านั้น ปล่อยมันไป ไม่โมโหโกรธามัน ไม่เกลียดมัน และไม่รู้สึกผิดกับตัวเองด้วย แค่รู้เฉย ๆ มันก็จะค่อย ๆ เลือนหายไป นี่เป็นพลานุภาพของการรู้เฉยๆ รู้โดยที่ไม่ต้องไปทำอะไร มันสามารถที่จะจัดการกับอารมณ์ หรือความคิดที่เป็นอกุศลได้

    อย่าไปดูแคลนการรู้เฉยๆ หรือสักแต่ว่ารู้ รู้โดยไม่ต้องทำอะไร รู้โดยไม่นำพาอะไร อย่างไรก็ตามเอาเข้าจริงๆ มันเป็นเรื่องยาก อย่างที่พูดตั้งแต่แรก เพราะคนเราทนอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ มันอดไม่ได้ที่จะต้องทำอะไรสักอย่าง ยิ่งใฝ่ธรรมอยากจะขัดเกลาจิตใจตนเอง ก็ยิ่งทนไม่ได้กับความคิดแย่ ๆ แบบนี้ รู้สึกว่ามันเป็นความคิดที่สกปรก เป็นความคิดที่ชั่วร้าย ต้องจัดการกับมัน พอมีความรู้สึกว่านี่เป็นความคิดที่ชั่วร้าย ใจก็เป็นลบกับมันทันที ทำให้อยากผลักไสกำจัดมัน

    ทันทีที่ความคิดแบบนี้เกิดขึ้นก็เป็นทุกข์แล้ว เพราะใจให้ค่าเป็นลบกับสิ่งนั้น แต่ถ้าเราวางใจเป็นกลางๆ ถือหลักว่า คิดดีก็ช่าง คิดชั่วก็ช่าง หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ อาจารย์ของอาตมาพูดย้ำเสมอว่า “คิดดีก็ช่าง คิดชั่วก็ช่าง” อย่าไปทำอะไรมัน แค่เห็นเฉยๆ รู้เฉยๆ หรือถ้ารู้สึกว่า ดูทีไรเห็นทีไรก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปพันตูกับมัน ก็ลองไม่ให้ความสนใจมัน เวลามีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ก็ให้กลับมารู้กาย เอากายเป็นฐาน วิธีนี้ก็ช่วยได้ วิธีนี้ไม่ได้มีประโยชน์แต่เฉพาะในเรื่องการภาวนาเท่านั้น ในชีวิตประจำวันก็ช่วยได้มาก

    มีเพื่อนคนหนึ่งเล่าว่า วันหนึ่งลูกชายเกิดอารมณ์ดี ไปเด็ดดอกไม้มาใส่แจกัน ดอกไม้มีสอง สี สีเหลืองกับสีแดง เด็กคนนี้แยกดอกไม้สองสีออกจากกัน ดอกสีเหลืองก็ใส่ไว้ในแจกันหนึ่ง ดอกสีแดงก็ใส่ไว้ในอีกแจกันหนึ่ง แล้วเอาไปให้ย่า ย่าก็ขอบอกขอบใจ แต่พอเด็กไม่อยู่ ย่าก็เปลี่ยนเอาดอกสีเหลืองและสีแดงมาผสมในแจกันเดียวกัน พอหลานมาเห็นก็ไม่พอใจ โกรธ โวยวาย บอกให้ย่าเปลี่ยนกลับให้เป็นเหมือนเดิม แต่ตอนนั้นย่าไม่อยู่แล้ว อยู่แต่แม่ เด็กโวยวายมาก อาละวาดเลย แม่ก็บอกว่าเดี๋ยวแม่ทำให้ เด็กก็ไม่ยอม จะต้องให้ย่ามาทำ คือเปลี่ยนให้เป็นเหมือนเดิม แม่บอกว่าย่าไม่อยู่แม่ทำเองก็แล้วกัน เด็กก็ไม่ยอมจะให้ย่าทำ แม่บอกว่างั้นเดี๋ยวย่ากลับมาจะบอกย่าให้ เด็กก็ไม่ยอมจะเอาเดี๋ยวนั้นให้ได้ เจอแบบนี้แม่ชักมีน้ำโห

    ตอนแรกแม่อยากจะดุลูกว่าทำไมทำตัวแบบนี้ ทำไมพูดไม่ฟัง เอาแต่ใจตัว แต่ก็ตั้งสติได้ รู้ว่ายิ่งต่อว่าลูก ก็ยิ่งเพิ่มโทสะให้กับลูก ดังนั้นแทนที่จะดุด่าว่ากล่าวลูกเธอก็ใช้น้ำเย็น พูดกับลูกดีๆ ว่า ลูกโกรธย่าใช่ไหม เด็กตอบว่าใช่ แม่ถามว่า ลูกโกรธย่าที่เอาดอกไม้ของลูกไปสลับกันใช่มั้ย เด็กตอบว่า ใช่ แม่ถามต่อว่า ลูกโกรธมากเลยใช่ไหม เด็กตอบว่าโกรธมาก แม่จึงถามต่อว่า ลูกโกรธเท่าไหร่ โกรธเท่านี้ เท่านี้ หรือเท่านี้ ว่าแล้วก็เอามือผายออกเหมือนกับว่าโกรธเท่าฟ้าเลย เด็กก็ตอบว่าโกรธเท่าฟ้าเลย แม่จึงบอกลูกว่า เดี๋ยวย่ากลับมาแม่จะบอกย่าให้ว่าลูกโกรธย่าเท่าฟ้าเลย

    ปรากฏว่าพูดเท่านี้ ความโกรธของเด็กก็ลดวูบลง แล้วก็หยุดพยศเลย สักพักก็วิ่งออกไปเล่นข้างนอกเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ความโกรธของลูกหายไปทันที เป็นเพราะอะไร อันนี้เป็นเพราะว่าแม่ทำให้ลูกได้เห็นความโกรธของตัว ได้รู้ว่าตัวเองกำลังโกรธ สิ่งที่แม่ทำเป็นเหมือนกับกระจกสะท้อนให้เด็กได้เห็นความโกรธของตัว พอเด็กเห็นความโกรธที่เกิดขึ้นในใจ ความโกรธก็ดับวูบเลย คือเด็กเกิดสติขึ้นมา สติทำให้เห็นความโกรธ เมื่อความโกรธถูกเห็น มันก็จะดับไป อันนี้เป็นธรรมชาติของอารมณ์ทั้งหลาย ความโกรธนั้น เราไม่ต้องกดข่มมัน เพียงแค่เห็น หรือรู้ทันมันด้วยสติมันก็หายไป เด็กโกรธเพราะมีความหลง พอมีสติ มีความรู้สึกตัว ความหลงหายไป ความโกรธก็ตั้งอยู่ไม่ได้
    :- https://visalo.org/article/5000s08.html
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    lake-nature-animated-gif-8.gif
    สุขเหนือสุข
    พระไพศาล วิสาโล

    พระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่องทุกข์ไว้เยอะมาก ในบทสวดมนต์ตอนเช้าก็มีการสาธยายถึงความทุกข์ค่อนข้างเยอะ อันนี้ไม่ได้หมายความว่าพุทธศาสนาชื่นชอบความทุกข์อย่างที่มีคนบอกว่าพระพุทธศาสนาอยู่ในฝ่ายทุกข์นิยม การที่พระพุทธองค์ตรัสถึงทุกข์อยู่บ่อยๆ ก็เพื่อให้รู้จักทุกข์ตามที่เป็นจริง จะได้เกี่ยวข้องกับทุกข์อย่างถูกต้อง ซึ่งจะทำให้มีชีวิตที่ผาสุก

    พระพุทธองค์ตรัสว่าเราควรเกี่ยวข้องกับทุกข์และสุขให้ถูกต้อง ข้อหนึ่งก็คือไม่ไปเอาความทุกข์มาซ้ำเติมหรือทับถมตนเอง เช่น ถ้ามีเงินก็ไม่ควรอยู่อย่างยากลำบาก หรือตระหนี่ถี่เหนียว พระองค์ไม่สรรเสริญด้วยซ้ำคนซึ่งเป็นเศรษฐีแต่กินข้าวปลายหัก ใส่เสื้อผ้าปุปะ อยู่อย่างระกำลำบาก อย่างนี้เรียกว่าเป็นการเอาความทุกข์มาทับถมตน เมื่อมีเงินก็ควรจะเลี้ยงตนให้เป็นสุข รวมทั้งดูแลครอบครัวและบริษัทบริวารให้มีความสุข รวมทั้งเกื้อกูลผู้อื่นด้วย

    ความสุขที่ว่าจะหมายถึงกามสุขด้วยก็ได้ กามสุขคือสุขจากการได้เสพสิ่งที่น่าพอใจ ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อันนี้เรียกว่ากามสุข จะเรียกว่าสุขจากสิ่งเสพสิ่งบริโภค หรือสุขจากวัตถุก็ได้ พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธกามสุข แต่ว่าจะต้องเป็นสุขที่ได้มาโดยชอบธรรม คือ ไม่ได้ไปโกงหรือเอาเปรียบเขา และเมื่อได้มาแล้วก็ใช้หรือเสพให้เป็น ถ้ามีแต่เก็บไว้ไม่ใช้เลย ก็ไม่ถูกต้อง แต่เมื่อใช้แล้วก็ต้องระวังอย่าไปยึดติด อย่าไปยึดติดในกามสุขเพราะว่ากามสุขนั้นเจือไปด้วยโทษ มันเหมือนกับคบเพลิงที่ทำด้วยหญ้าแห้ง มันให้แสงสว่างก็จริง แต่ก็มีควันมาก ทำให้ระคายเคืองหรืออาจสำลักได้ ถ้าเกี่ยวข้องกับมันไม่เป็น มันก็ทำร้ายเราได้

    พระองค์ตรัสถึงคนที่ติดในกามสุขว่าเปรียบเสมือนกวางที่ติดใจในทุ่งหญ้าที่เขียวขจี กินหญ้าอย่างเพลิดเพลินจนกระทั่งถูกพรานซึ่งแอบซุ่มอยู่ยิงเอา ความเพลิดเพลินในกามสุขก็ทำให้ประมาทมองไม่เห็นอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัว แต่ถ้าไม่ยึดติดกามสุข ไม่หลงใหลเพลิดเพลิน มันก็ทำอะไรเราไม่ได้ ดังนั้น กามสุขจึงไม่ใช่เป็นสิ่งที่พุทธศาสนาปฏิเสธ พระพุทธองค์เองก็ได้รับความสุขชนิดนี้พอสมควร เช่น มีคนถวายอาหารหรือจีวรที่ประณีตให้ มีเสนาสนะที่สะดวกสบาย อันนี้ก็จัดเป็นกามสุข แต่ว่าพระองค์ไม่ติด พระองค์เคยตรัสว่า ถ้าเปรียบเทียบกับพระสาวกหลายๆ ท่านแล้ว พระองค์อยู่สุขสบายกว่ามาก มีสาวกบางท่านอยู่ด้วยจีวรที่ได้มาจากผ้าบังสุกุล คือผ้าห่อศพ บางท่านก็ฉันแต่อาหารที่ได้จากบิณฑบาตอย่างเดียว เรียกว่าเคร่งในธุดงควัตรมาก แต่พระองค์ไม่ได้มีวัตรอย่างนั้น บางครั้งทรงฉันอาหารที่ประณีต ครองจีวรที่ทำด้วยผ้าเนื้อดี ถ้าหากดูกันที่ความเคร่งแล้ว มีพระสาวกหลายท่าน เช่น พระมหากัสสปะ ที่เคร่งกว่าพระองค์มาก แต่สาเหตุที่พระพุทธองค์ทรงได้รับความเคารพจากพระสาวกทั้งหลายก็เพราะพระองค์ทรงบรรลุคุณวิเศษ มีปัญญารู้แจ้งในอริยสัจสี่จนเป็นอิสระจากความทุกข์สิ้นเชิง อีกทั้งยังสามารถสอนผู้คนให้เข้าถึงความพ้นทุกข์ได้

    สรุปก็คือกามสุขมิใช่สิ่งที่ต้องปฏิเสธ ถ้าหากว่าเป็นสิ่งที่ได้มาชอบธรรมก็ควรจะใช้ประโยชน์ แต่ก็อย่าไปยึดติด เพราะว่ามันมีโทษ เช่น ไม่เที่ยง และเจือไปด้วยทุกข์ อย่างไรก็ตามการจะเห็นโทษของกามสุขอย่างเดียวเท่านั้นย่อมไม่พอ เพราะว่ายังไม่ช่วยให้เราปล่อยวางกามสุขได้ คือทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันเป็นโทษ แต่ก็ยังเข้าหามันอยู่ พระพุทธองค์ทรงอุปมาอุปมัยว่าเหมือนกับคนที่เดินกลางแดดมาทั้งวัน กระหายน้ำ คอแห้ง ถ้าเจอเหยือกน้ำอยู่ข้างหน้า ข้างในเป็นน้ำสีสวย รสอร่อย แม้มีคนเตือนว่าน้ำมีพิษ กินแล้วตายได้ แต่คนที่หิวมากๆ เขาไม่ฟังหรอก ขอดื่มดับกระหายก่อน เพราะความกระหายมันเป็นความทุกข์เฉพาะหน้าที่ต้องการดับให้ได้ พอดับกระหายแล้วอะไรจะเกิดขึ้นตามมาก็เป็นเรื่องอนาคต คนเรามักจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยไม่สนใจผลที่ตามมา

    ในทำนองเดียวกันแม้จะรู้ว่ากามสุขเป็นโทษ แต่ความรู้อย่างเดียวไม่ทำให้เราห่างไกลจากมันได้ ตราบใดที่ใจยังโหยหาความสุขอยู่ จะเหินห่างจากมันได้ก็ต่อเมื่อมีความสุขอย่างอื่นที่ประณีตกว่าเข้ามาแทนที่ ความสุขอันนี้ได้แก่อะไร ได้แก่ เนกขัมสุข คือ สุขจากการปลอดโปร่งจากกาม สุขชนิดนี้จะเกิดขึ้นได้ ทีแรกเราก็ต้องว่างเว้นจากกามก่อน หรือเสพให้น้อยลง ใหม่ ๆ ก็รู้สึกว่าชีวิตขาดรสชาติ แต่ต่อไปก็จะรู้สึกปลอดโปร่งเบาสบาย เพราะมีเรื่องยุ่งยากน้อยลง

    กามนั้นให้ความสุขก็จริง แต่มันเต็มไปด้วยภาระมาก มันก่อให้เกิดความทุกข์หลายอย่าง ทุกข์ตั้งแต่อยากแล้ว พออยากได้ก็ต้องไปดิ้นรนแย่งชิงเอามา ต้องแข่งกันหาเงินหาทองจนเหนื่อย ในระหว่างนั้นก็ต้องมีความโกรธ มีความไม่พอใจ เพราะต้องกระทบกระทั่งกับคนอื่น เมื่อได้มาแล้วก็ใช่ว่าจะมีความสุข บางครั้งก็อิจฉาคนที่ได้มากกว่า รู้สึกเป็นทุกข์ที่ตัวเองได้น้อยกว่า หรือเกิดเบื่อของเดิม อยากได้ของใหม่ เพราะเดี๋ยวนี้มันมีสิ่งกระตุ้นให้เราอยากได้อยู่เรื่อยๆ ทำให้เรารู้สึกไม่พอใจในสิ่งที่มี ในสิ่งที่ได้มา ยุคนี้เป็นยุคบริโภคนิยม จะมีการกระตุ้นให้เราอยากได้โน่นได้นี่ตลอดเวลา ไม่ว่ามีเงินมากเท่าไรก็ไม่เคยพอ ไม่สามารถซื้อของที่ต้องการได้ครบถ้วน ไม่เหมือนสมัยก่อน เงินไม่ค่อยมีความหมายเท่าไร เพราะว่ามีเงินก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร

    สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เขียนบันทึกเมื่อร้อยปีก่อน ว่าท่านเคยไปหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ขอนแก่น ตอนนั้นท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ท่านพบว่าชาวบ้านที่นั่นผลิตของเองทุกอย่างเลย ไม่ใช่แค่ปลูกข้าวเท่านั้น แต่ยังปลูกพืชผักสวนครัวนานาชนิด ฝ้ายก็ปลูกเพื่อปั่นด้ายทอเสื้อ ไหมก็เลี้ยง เพราะฉะนั้นชาวบ้านจึงไม่จำเป็นต้องซื้ออะไรเลย ชาวบ้านมีทุกอย่างที่ต้องการ ขาดอยู่ ๒ อย่าง ไม้ขีดไฟกับมีดพร้า แค่นี้แหละที่ซื้อจากตลาด ที่เหลือทำเองได้หมด เพราะฉะนั้นชาวบ้านสมัยก่อนไม่ว่ามีเงินมากเท่าไรก็ไม่ค่อยมีความหมายเพราะว่า ของที่ต้องการซื้อมีไม่กี่อย่าง ส่วนของที่จะมาขายก็ไม่ได้มีมากมายเหมือนสมัยนี้ เงินจึงมีความหมายน้อยมาก ความโลภของคนก็ลดไปตามสภาพ เขาไม่สนใจอยากจะรวย หรืออยากได้เงินมาก ๆ ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะธรรมชาติของคนสมัยก่อนมีความโลภน้อยกว่าคนสมัยนี้ แต่เป็นเพราะว่าเขาไม่รู้จะซื้ออะไร อีกทั้งไม่มีสิ่งที่กระตุ้นความอยากหรือความโลภ แต่เดี๋ยวนี้มีเงินเท่าไรก็ไม่รู้สึกพอ มีเงินร้อยล้านพันล้านก็ยังซื้อของที่ต้องการได้ไม่หมด เพราะมีของที่อยากได้เยอะแยะไปหมด เช่น ซื้อหุ้น ใครที่มีเงินมากก็อยากซื้อหุ้นเพื่อที่จะได้เงินมากขึ้น มีเงินมากขึ้นแล้วเอาไปทำอะไร ก็เอาไปซื้อหุ้นต่อ

    ทุกวันนี้มีของขายมากมายเกินกว่าจะซื้อได้หมด ดังนั้นไม่ว่าจะรวยเป็นหมื่นล้านแสนล้านก็ยังรู้สึกว่ารวยไม่พอ อยากได้อีก นี้เป็นผลจากกระแสบริโภคนิยมที่มากระตุ้นให้เราไม่รู้สึกพอเสียที จึงเกิดความโลภอยู่เรื่อยๆ แม้จะได้มาสมอยากก็ยังไม่พอใจ เพราะพอผ่านไปสักพักก็รู้สึกว่ามันตกรุ่นแล้ว ไม่ว่าจะซื้อรุ่นไหนก็จะยังรู้สึกว่ามีรุ่นอื่นที่ดีกว่า ไม่ว่าร่างกายผิวพรรณจะงามแค่ไหนก็ยังรู้สึกว่ายังงามไม่พอ ต้องดิ้นรนไปหาซื้อเครื่องประทินโฉมต่างๆ มา รวมทั้งผ่าตัดเสริมทรง มีน้อยคนที่จะพอใจในสิ่งที่มี ถึงจะพอใจแต่ก็ยังทุกข์เพราะว่ากลัวคนมาแย่ง หรือกลัวจะสูญเสียสิ่งนั้นไป ยิ่งขโมยขโจรชุกชุมหรือมีการแข่งขันมาก ก็ยิ่งกังวลใจ

    นอกจากนั้นผู้คนก็ยังถูกสอนว่า ถ้าคุณไม่เดินหน้า ก็จะต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง คุณมีธุรกิจ ก็ต้องขยายธุรกิจ ไม่เช่นนั้นธุรกิจของคุณก็จะถูกกลืนได้ ถ้าอยู่เฉยๆ ก็จะถูกแย่งลูกค้าไป ก็ต้องขยายกิจการ ทั้งๆ ที่เราอาจจะคิดว่าแค่นี้ก็พอแล้ว แต่ระบบมันทำให้เรารู้สึกว่าต้องขยาย ต้องดิ้นรน ไม่เช่นนั้นเราก็จะกลายเป็นปลาเล็กที่ถูกปลาใหญ่กลืนกิน

    นี่คือวิถีของกามสุข ที่ทำให้ผู้คนเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นหากเราสามารถห่างไกลจากการมสุขได้ก็จะรู้สึกปลอดโปร่งเบาสบาย คนเราคงไม่สามารถว่างเว้นจากกามสุขไปได้หมดหรอก แต่ก็ควรเสพให้น้อยลง อย่างพวกเรามาอยู่ที่นี่ ก็มีสิ่งเสพน้อยลง ไม่ว่า สิ่งเสพทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ก็ตาม ความสะดวกสบายก็ไม่ใช่ว่ามีมาก พูดง่าย ๆ คือเป็นชีวิตที่เรียบง่าย คนที่ติดกามสุขเมื่อมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ ก็จะรู้สึกเป็นทุกข์ เพราะว่าไม่ได้เสพสิ่งที่เคยชอบ ภาพยนตร์ก็ไม่ได้ดู ของอร่อย ๆ ก็ไม่ได้กิน แต่พออยู่ไปสักพักก็จะเริ่มรู้สึกว่าชีวิตแบบนี้เรียบง่ายดี ไม่วุ่นวาย มีเวลาเหลือมากขึ้น ก่อนนี้เวลาไม่ค่อยเหลือนะ คนที่อยู่ในโลกแห่งกามสุข จะรู้สึกเวลามีน้อยลง ไม่ใช่เพราะเสียเวลาไปกับการแข่งขันไล่ลาหาสิ่งเสพต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่านั้น แต่ยังหมดเวลาไปกับการใช้สิ่งเสพสิ่งบริโภคด้วย คือซื้อมาแล้วก็ต้องใช้ อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ มันมีเกมมากมายติดมากับเครื่อง จะไม่เล่นเกมเลยก็กระไรอยู่ ไหน ๆ ซื้อมาแล้วก็ต้องเล่น คอมพิวเตอร์ก็เหมือนกัน มีเกมและโปรแกรมต่างๆ ติดมามากมาย มีแล้วไม่ใช้ก็รู้สึกเสียดาย ก็เลยต้องลองเล่นดู พอเล่นก็เลยเสียเวลา

    ทุกวันนี้ผู้คนเสียเวลาไปกับการใช้หรือการบริโภคสิ่งเสพเยอะมาก รวมทั้งเสียเวลาไปกับ เลือกเฟ้นว่าจะใช้อันไหนดี เช่น มีเสื้อผ้าเยอะก็เสียเวลาไปกับการเลือกว่าใช้ตัวไหนถึงจะเหมาะกับงาน มีนักปฏิบัติธรรมผู้หนึ่งเป็นระดับคุณหญิง เธอเล่าว่า เวลาจะไปออกงาน พอเปิดตู้เสื้อผ้า เห็นเสื้อผ้ามีมากมาย ก็ต้องมานั่งคิดว่า จะต้องใส่เสื้อสีอะไรถึงจะเข้ากับกระโปรง แล้วยังมีรองเท้าอีกมากมายให้เลือกอีก ตอนหลังก็เลยตัดสินใจว่า ต่อนี้ไป เมื่อเปิดตู้มาเห็นเสื้อตัวไหนก็ใส่ตัวนั้นเลย จะไม่มานั่งเลือกว่าจะใส่เสื้อตัวไหนดี นี่ขนาดเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ตั้งใจปฏิบัติตามคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส ก็ยังยอมรับว่าเสียเวลามากมายไปกับการเลือกเครื่องแต่งกาย รวมทั้งเครื่องประดับต่างๆ ด้วย เพราะฉะนั้น วิธีแก้คือเห็นตัวไหนก็ใส่เลย มันทำให้ชีวิตเรียบง่ายมากขึ้น นี่คือปัญหาของคนที่มีเงินเยอะ
    :- https://visalo.org/article/suksala11.htm
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    rhino.jpg
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    GolfOops.gif
    หลุดหลงเพราะรู้ทุกข์

    พระไพศาล วิสาโล
    ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นความจริงที่ไม่มีใครหนีพ้น ดังมีคำกล่าวว่า “เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้” อันนี้เป็นทุกข์แบบหนึ่ง เรียกว่าทุกข์ของสังขาร เป็นเรื่องของกาย ทุกข์อีกแบบหนึ่งคือ ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ อันนี้เป็นเรื่องของอารมณ์ เรื่องของใจ ความทุกข์ทางอารมณ์หรือทุกข์ใจนี้ จะว่าไปแล้วล้วนเกิดจากความหลง

    ความหลงมีสองอย่าง คือ “ไม่รู้ตัว” กับ “ไม่รู้ความจริง” การไม่รู้ตัวเกิดจากความเผลอ ลืมตัว มันทำให้เราคิดไปในทางที่เพิ่มทุกข์ให้แก่ตนเอง เชื้อเชิญความทุกข์ใจให้เกิดขึ้นกับเรา ความโศกความร่ำไรรำพันมักจะเกิดตอนที่เรานึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว สิ่งที่เสียไปแล้ว คนรักที่จากไปแล้ว ไม่สามารถจะเอากลับคืนมาได้ ก็เลยเศร้าโศกเสียใจ ความคับแค้นใจมักจะเกิดตอนที่เรานึกถึงคนที่ขัดอกขัดใจเรา หรือคนที่ต่อว่าด่าทอเรา บางครั้งเรื่องเกิดขึ้นนานแล้ว แต่ใจก็ไม่ยอมวางเสียที บางทีก็จดจ่อหมกมุ่นกับอนาคต คิดไปในทางเลวร้าย มันจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าไม่รู้ แต่ก็คิดไปในทางลบแล้ว เรียกว่ามโน ก็ทำให้เกิดความวิตกกังวล กระวนกระวาย ความทุกข์ใจเกิดขึ้นแล้วก็ยังหลงปกป้องรักษาฟูมฟักหล่อเลี้ยงมันเอาไว้ อันนี้ก็คือความหลง ไม่รู้ตัว

    แต่ที่จริงแล้วรากเหง้าของความทุกข์คือ หลงตัวที่สองคือ “ไม่รู้ความจริง” ความจริงที่ว่า คือ สิ่งทั้งปวงล้วนไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป ดับไป เรียกว่าเป็นทุกข์ หรือ ทุกขัง รวมทั้ง ไม่มีอะไรที่สามารถยึดเป็นตัวเป็นตนได้ คือเป็นอนัตตา สรุปก็คือ สิ่งทั้งปวง ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม ล้วนไม่น่ายึดถือเพราะยึดถือไม่ได้ เพราะว่ามันแปรเปลี่ยนเป็นนิจ มันต้องเสื่อมต้องดับไป แต่พอเราไม่รู้ความจริงข้อนี้ เราก็เลยมีความคิดหรือความอยากที่สวนทางกับความจริง หรือมิอาจเป็นจริงได้ เช่น ยึดว่าร่างกายนี้จะต้องหนุ่มต้องสาวตลอด จะต้องไม่แก่ จะต้องมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง มีกำลังวังชาไปเรื่อย ๆ จะต้องไม่เจ็บไม่ป่วย ทั้ง ๆ ที่ควรจะมองว่าคนเราที่ไม่แก่ ไม่ป่วยนั้นไม่มี แต่ว่าใจไม่ยอมรับเพราะหลงยึดเอาไว้ ยึดไว้ว่าอะไรที่ได้มาแล้วก็จะไม่เสื่อมสูญไป มีของรักมีของถูกใจแล้วก็จะยึดให้มันอยู่กับเราไปนาน ๆ ชั่วฟ้าดินสลาย แต่ความปรารถนาเหล่านี้ล้วนขัดแย้งกับความจริง ก็เลยเกิดความทุกข์ใจ เกิดความอาลัย เกิดความวิตก เมื่อของรักหายไปก็กลุ้มอกกลุ้มใจ เมื่อคนรักจากไปก็โศกเศร้าเสียอกเสียใจ นี่เป็นเพราะความหลง ไม่รู้ความจริง

    ปีที่แล้วมีมิวสิควีดีโอซึ่งเป็นที่รู้จักในแวดวงคนจำนวนหนึ่ง ชื่อว่า “ห้านาทีบรรลุธรรม” เนื้อหาเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่หลงรักผู้หญิง ผู้หญิงก็รักผู้ชายคนนี้หมายมั่นว่าจะแต่งงานกัน แต่แล้ววันหนึ่งผู้หญิงก็ทิ้งเขาไป ชายหนุ่มคนนี้ก็เศร้าโศกเสียใจมาก สุดท้ายจึงตัดสินใจบวช ถือว่าเป็นการบวชเพราะอกหัก ช่วงที่กำลังโกนผม เขาถามหลวงพ่อว่าทำไมคนรักกันจึงทิ้งกันไป ทำไมสุดท้ายต้องจากกัน เป็นเพราะทำกรรมอะไรไว้หรือ หลวงพ่อไม่ได้ตอบตรง ๆ แต่บอกให้ชายหนุ่มคนนี้ลองลืมตาสัก ๕ นาที โดยไม่ต้องกระพริบตาเลยแม้แต่วินาทีเดียว ลองทำดูว่าเป็นอย่างไร ชายหนุ่มคนนี้ลองทำดูก็รู้สึกว่ามันยากมาก พอฝืนไม่กระพริบตา สักพักน้ำตาก็ไหล หลวงพ่อจึงบอกว่า “เมื่อมีลืมตา สุดท้ายก็ต้องหลับตา” หากปฏิเสธหรือขัดขืนไม่ยอมกระพริบตา ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา แล้วหลวงพ่อก็สรุปว่า สรรพสิ่งนั้นไม่เที่ยง เกิดมาแล้วก็ดับไป

    ความรักหรือคนรักนั้น ก็เช่นเดียวกับสิ่งต่าง ๆ ล้วนไม่เที่ยง ถ้าจะยึดมั่นถือมั่น พยายามให้มันเที่ยง มันก็เหมือนกับการพยายามลืมตาตลอดโดยไม่กระพริบตา ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะเป็นธรรมชาติของตาที่จะต้องกระพริบ ลมหายใจก็เช่นกัน ถ้าเราลองหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็จะเกิดความอึดอัดมาก ถ้าทำไปนาน ๆ ก็จะเกิดผลเสียต่อร่างกายหรืออาจถึงตายได้

    ทุกสิ่งมีความแปรเปลี่ยนอยู่เป็นนิจ ก็เหมือนกับเราที่นั่งอยู่ตรงนี้ นั่งไปสักพักเราก็ต้องขยับ ถ้าเราฝืนไม่ขยับก็จะปวดเมื่อย ยิ่งฝืนก็ยิ่งปวดเมื่อยเป็นทุกข์มากขึ้น ทุกข์ทำให้เราต้องขยับ แต่ถ้าเราต้องการตรึงให้ร่างกายเราอยู่ในท่านี้ ก็จะยิ่งทุกข์มากขึ้น มันบอกเราว่า ร่างกายนี้เป็นอนิจจัง ถ้าเราปฏิเสธอนิจจังก็จะทำให้เราเกิดทุกข์มากขึ้น เกิดความคับแค้น ความเครียด รวมถึงความอาลัยอาวรณ์ นี้คือรากเหง้าแห่งความทุกข์ของมนุษย์โดยเฉพาะความทุกข์ใจ

    ความทุกข์ที่เกิดจากความหลงคือไม่รู้ความจริงนั้น ทำอย่างไรเราจะรู้ความจริงว่าทุกข์เพราะหลง สิ่งเดียวที่ทำให้รู้ได้ คือ การเรียนรู้จากความทุกข์ ถ้าเรียนจากหนังสือหรือได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์ แต่ยังไม่เจอทุกข์ด้วยตนเอง ก็ยากที่จะเห็นความจริงที่ว่าได้

    มีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ “กานต์” เธอป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเมื่ออายุ ๓๐ ต้น ๆ โรคนี้มักเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุมาก ๆ ทีแรกหมอไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ หมอคิดว่าสาเหตุที่ทำให้เธอป่วยเป็นมะเร็งนั้น อาจมาจากการที่เธอสูบบุหรี่ แต่เธอก็ไม่เคยสูบบุหรี่เลย ผู้หญิงคนนี้เป็นคนที่กลัวความตายมาก ๆ ครั้งแรกที่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งนั้น อารมณ์ของเธอแปรปรวน กลายเป็นคนขี้โกรธ โมโหใส่คนใกล้ชิดเป็นประจำ แต่ผ่านไปปีหนึ่งเธอก็สามารถทำใจได้ และสงบนิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จนมาถึงจุดหนึ่งเธอก็พบว่า มะเร็งนั้นไม่ร้ายเท่ากับความทุกข์ใจ เธอบอกว่า “มะเร็งไม่ได้ทำให้ยิ้มคุณหายไป ทุกข์ในใจต่างหากเป็นตัวทำ”

    เธอกำลังจะบอกว่ามะเร็งที่เกิดขึ้นกับเธอนั้น อย่างมากก็ทำให้เกิดทุกข์ทางกายเท่านั้น มันไม่สามารถทำให้รอยยิ้มหายไปได้ หากรอยยิ้มจะหายไปก็เป็นเพราะความทุกข์ใจล้วน ๆ ถามว่าความทุกข์ใจเกิดจากอะไร ความทุกข์ใจเกิดจากการที่ไม่ยอมรับความจริง เธอเคยกล่าวว่า “ในขณะที่เราคิดว่าความจริงมันโหดร้าย แต่การไม่ยอมรับความจริงนั้นโหดร้ายกว่า เพราะมันเปรียบเหมือนคุกที่ขังใจเราไว้”

    มะเร็งเป็นเรื่องของกาย ส่วนความทุกข์ใจเป็นเรื่องของจิตใจที่ไม่ยอมรับความจริง คนที่จะเห็นอย่างนี้ต้องเจอความทุกข์มาด้วยตนเอง ถามว่าอะไรทำให้คนเราไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นมะเร็ง คำตอบก็คือความยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย แต่หลังจากที่กานต์ได้หันมาศึกษาธรรม เธอพยายามไตร่ตรองมองตน จนพบว่า ทุกข์กายอันหนึ่ง ทุกข์ใจก็อีกอันหนึ่ง ทุกข์กายเกิดจากมะเร็ง ส่วนทุกข์ใจเกิดจากการวางใจผิด เพราะความหลงนั่นเอง การได้เห็นความจริงทำให้เธอมีใจที่สงบ และยอมรับความตายได้ ในที่สุดเธอก็จากโลกนี้ไปอย่างสงบ

    หากใคร่ครวญดี ๆ จะพบว่าความทุกข์ใจนั้นไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอก มันเกิดจากใจของเรา ใจที่วางผิด ใจที่หลง ใจที่ไม่เห็นความจริง หรือใจที่ลืมตัว หลงจมอยู่กับความทุกข์ คนเราทุกข์เพราะหลง แต่ความทุกข์นั้นเองทำให้เราเห็นความจริงได้ เพราะอะไร ก็เพราะเราหันมาพิจารณาความทุกข์ เมื่อเราพิจารณาความทุกข์ก็ทำให้เราเห็นความจริง

    เป็นเพราะเหตุนี้เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนอริยสัจ ๔ จึงทรงยกเอาทุกข์เป็นอริยสัจข้อแรก พระองค์ตรัสว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ให้รอบ ให้ทั่วถึง ท่านทรงใช้คำว่าปริญญา คือ รู้รอบรู้ทั่ว หมายความว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน จะทำให้เกิดปัญญาที่ทำให้ออกจากทุกข์ได้ แต่การที่เราจะเห็นความจริงอย่างรอบด้านก็ต้องเจอทุกข์ด้วยตัวเองก่อน เมื่อเราเห็นทุกข์ พิจารณาทุกข์ ปัญญาก็จะเกิดขึ้น

    คนเราเมื่อเกิดทุกข์ ก็มักหลงเข้าไปเป็นผู้ทุกข์ แต่ถ้ามีสติ จิตก็จะออกจากทุกข์ มาเป็นผู้เห็นทุกข์ พิจารณาทุกข์อย่างรอบด้านทั่วถึง ความทุกข์ที่พิจารณานั้นไม่ใช่ความทุกข์ที่ไหน ก็เป็นความทุกข์ที่เกิดจากความหลงนั่นเอง เมื่อเราหันกลับมาใคร่ครวญ ก็จะรู้ว่าเราทุกข์เพราะหลง ไม่ใช่ทุกข์เพราะอากาศหนาว ไม่ใช่ทุกข์เพราะอากาศร้อน ไม่ใช่ทุกข์เพราะคำพูดของคนอื่น ไม่ใช่ทุกข์เพราะเกิดโรคร้ายกับตน แต่เกิดจากความหลง ไม่รู้ตัว หรือวางใจผิด

    ดังนั้นเราจะต้องหมั่นมองตนด้วยสติ พิจารณาตัวเรา ดูร่างกายไปเรื่อย ๆ ก็จะเห็นความจริงว่ากายและใจมันไม่จีรังยั่งยืน เกิดแล้วก็ดับไป มีแล้วก็เสื่อมไป เพราะมันเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้น ลองใช้ความทุกข์มาเป็นแบบฝึกหัดในการใคร่ครวญด้วยปัญญา โดยเริ่มจากสติ ดูว่าความโศกเศร้า ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจนั้นเกิดจากอะไร ดูเพื่อให้เรารู้ว่าเรากำลังคับแค้นอยู่ กำลังทุกข์อยู่ โดยไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่รู้แค่นั้นพอ

    ถ้าหากยังไม่รู้ใจ ก็ขอให้รู้กายก่อน แล้วค่อยตามรู้ใจทีหลัง โดยหมั่นฝึกฝนเรื่อย ๆ ก็จะเห็นว่าเราทุกข์เพราะความคิด ไม่ได้ทุกข์เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ใช่เพราะมีสิ่งภายนอกมากระทบเรา ไม่ใช่เพราะแดด ไม่ใช่เพราะอากาศหนาว ไม่ใช่เพราะรถติด ไม่ใช่เพราะคำพูดของคนอื่น แต่เป็นเพราะใจที่หลงต่างหากทำให้เป็นทุกข์

    เราจะพ้นจากความหลง เห็นความจริงได้ ก็ด้วยการหมั่นรู้ตัวอยู่บ่อย ๆ เห็นความจริงบ่อย ๆ ปัญญาก็จะเกิด ตอนแรกจะเห็นด้วยสติ ตอนหลังเราจะเห็นด้วยปัญญา การเห็นด้วยสติ คือ การรู้ตัว ส่วนการเห็นด้วยปัญญา คือรู้ความจริง ทำให้หลุดจากความหลงซึ่งเป็นรากเหง้าของความทุกข์

    ดังนั้นเราขอให้หมั่นเจริญสติ สร้างความรู้สึกตัวบ่อย ๆ เพื่อรับมือความทุกข์ที่จะเกิดขึ้น จนสามารถเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งปวงได้
    :- https://visalo.org/article/5000s18.html
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    LpChaProblemhearTalk.jpg
    อย่ารบกวนเสียง
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อหลวงพ่อชา สุภัทโท เดินทางไปแสดงธรรมที่ประเทศอังกฤษเป็นครั้งแรกในปี ๒๕๒๐ ท่านและคณะ ซึ่งมีพระอาจารย์สุเมโธ เป็นล่าม พำนักอยู่ที่วิหารแฮมพ์สเตดกลางกรุงลอนดอนเป็นส่วนใหญ่ ตรงข้ามของวิหารนั้นเป็นแหล่งบันเทิง มีทั้งผับและดิสโก้เทค จึงมีเสียงดนตรีดังกระหึ่มทั้งคืน

    คืนหนึ่งขณะที่พระสงฆ์และญาติโยมกำลังนั่งสมาธิ มีเสียงดนตรีจังหวะกระแทกกระทั้นดังเข้ามาในห้องตลอดเวลา ทั้งพระและโยมพากันหน้านิ่วคิ้วขมวด นั่งไม่เป็นสุขเอาเลย แต่หลวงพ่อชากลับนิ่งสงบราวกับไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย เมื่อนั่งสมาธิเสร็จ โยมผู้หนึ่งได้เข้าไปหาหลวงพ่อ และขอโทษที่มีเสียงรบกวนระหว่างที่นั่งสมาธิ หลวงพ่อชากลับตอบว่า “โยมก็คิดว่าเสียงดนตรีมันมารบกวนเรา แต่ความจริง เราไปรบกวนเสียงต่างหาก”

    คำพูดของหลวงพ่อชา เตือนให้เราตระหนักว่า เสียงอะไรก็ตาม หากได้ยินแล้ว เราวางใจเฉยกับมัน ความทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าใจเราต่อต้านผลักไสหรือโรมรันพันตูกับเสียงนั้นเมื่อใด ก็จะเป็นทุกข์ทันที ทุกครั้งที่หงุดหงิดเมื่อได้ยินเสียงใด ลองสังเกตให้ดี จะพบว่าตอนนั้นใจเรากำลังต่อสู้ฟาดฟันกับเสียงนั้นอย่างไม่ยอมเลิกรา รวมทั้งอาจกำลังบ่นก่นด่าต้นตอของเสียงอยู่ก็ได้

    ไม่ใช่แต่เสียงเท่านั้น ความคิดฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้นขณะนั่งสมาธิ แท้จริงก็ไม่ได้รบกวนเรา แต่เป็นเราต่างหากที่ไปรบกวนความคิดนั้น นั่นคือ พยายามผลักไส กดข่ม และต่อสู้กับมันอยู่ตลอดเวลา ถ้าเพียงแต่ดูมันเฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรกับมัน ความสงบก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

    ความทุกข์ใจมิได้เกิดขึ้นเพราะมีอะไรมากระทบ แต่เป็นเพราะใจเรารู้สึกลบกับมัน พยายามต่อต้านผลักไสมัน หรือรู้สึกโกรธเกลียดมันต่างหาก แม้เป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้าใจไม่ยอมรับ มันก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ จนถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับ ด้วยเหตุนี้หนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยจึงรู้สึกเป็นทุกข์มากเพียงเพราะมีสิวไม่กี่เม็ดบนใบหน้า ในสหรัฐอเมริกา ร้อยละ ๑๐ ของคนที่มีสิวถึงกับบอกว่า การเป็นสิวเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดในชีวิต บางคนทนไม่ได้ถึงกับฆ่าตัวตาย

    ในทางตรงข้าม ถึงแม้จะเป็นโรคร้าย เช่น มะเร็ง แต่หากใจยอมรับมันได้ ไม่ต่อต้านผลักไสมัน ก็สามารถมีชีวิตอย่างปกติสุข จริงอยู่บางครั้งมันทำให้เจ็บปวด แต่หากใจไม่ไปต่อสู้กับมันหรือกับความเจ็บปวด ก็จะปวดแต่กาย ใจไม่ปวดด้วย ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนสามารถอยู่กับโรคนี้ได้ โดยกินยาระงับปวดน้อยมาก มีคนหนึ่งพบว่าความปวดมักกำเริบตอนกลางคืน ทำให้เธอนอนลำบาก เธอก็จะพูดกับมะเร็งดี ๆ ว่า “ตอนนี้ดึกแล้ว ได้เวลาเธอนอนแล้ว ฉันก็จะนอนด้วย” บางครั้งเธอก็ร้องเพลงกล่อมมะเร็ง ราวกับกล่อมลูก

    อีกคนหนึ่งป่วยด้วยโรคสะเก็ดเงิน อาการลุกลามมากจนเธอต้องนอนบนใบตอง แม้จะปวด แต่ก็ไม่รู้สึกทุกข์ทรมาน เธอเป็นอีกคนหนึ่งที่พึ่งยาระงับปวดน้อยมาก สาเหตุสำคัญเป็นเพราะเธอไม่รู้สึกโกรธเกลียดสะเก็ดเงิน กลับมีเมตตาให้ด้วยซ้ำ เธอจะพูดกับสะเก็ดเงินบ่อย ๆ ว่า “สะเก็ดเงิน ถ้าเธอจะไป ก็อย่าลืมเอาบุญกุศลของฉันไปด้วยนะ แต่ถ้าเธอจะอยู่ ก็ต้องระวังนะเพราะยาที่ฉันกินมันแรง”

    เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องรักษา แต่อย่ารักษากายอย่างเดียว ใจก็ควรรักษาด้วย นั่นคือคอยดูแลอย่าปล่อยให้โทสะครอบงำใจ จนเอาแต่ผลักไสหรือต่อสู้ฟาดฟันกับทุกขเวทนาและโรคที่เกิดขึ้น หากยังรู้สึกบวกกับมันไม่ได้ ก็ลองทำใจยอมรับมัน หรือรู้สึกเฉยกับมัน จะพบว่าความทุกข์ใจลดลงไปมาก
    :- https://visalo.org/article/secret255809.html
     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    anger and sati.jpg
    อย่าปล่อยให้ความหลงครองใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    ที่โรงเรียนดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ทุกวันตอนเลิกเรียนรถจะติดมากเพราะเด็กนักเรียนแทบทุกคนมีรถส่วนตัวมารับ นอกจากรถติดแล้ว ยังหาที่จอดรถยาก ผู้ปกครองคนหนึ่งขณะที่รอรถขยับทีละนิดอยู่ภายในโรงเรียน สังเกตว่าขวามือมีที่จอดรถว่าง ตามระเบียบของโรงเรียนรถทุกคันต้องตรงไปข้างหน้าและยูเทิร์นกลับมา ถึงจะจอดรถตรงจุดนั้นได้ แต่ว่าผู้ปกครองคนนี้ แทนที่จะยูเทิร์นเสียก่อนก็หักขวาเลย รถก็เสียบเข้าที่จอดรถซึ่งเป็นจุดเดียวที่เหลืออยู่ เจ้าตัวก็ดีใจ

    แต่มีผู้ปกครองอีกคนเล็งที่จอดรถตรงนั้นไว้เหมือนกัน เขาขับรถตามกติกา ยูเทิร์นเพื่อจะมาจอดรถตรงนี้ แต่กลับถูกแย่งไปต่อหน้าต่อตาอย่างไม่ถูกต้อง เขาก็ไม่พอใจ ลงจากรถมาต่อว่าผู้ปกครองคนแรกซึ่งเป็นนายทหารยศนายพันนายพล นายทหารคนนี้ไม่เคยถูกต่อว่าแบบนี้มาก่อน ก็โกรธและพูดว่า คุณรู้ไหมว่าผมเป็นใคร ผู้ปกครองคนนั้นตอบว่าผมไม่รู้หรอก แต่คุณทำไม่ถูก ทำแบบนี้ใช้ไม่ได้ พูดเสร็จก็เดินกลับไปที่รถของตัว นายทหารถูกต่อว่าก็โกรธจึงหยิบปืนที่เก็บไว้ในรถ แล้วเดินตามหลังผู้ปกครองคนนั้นไป ผู้ปกครองคนนั้นไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังจะถึงฆาต

    บังเอิญบริเวณนั้น มีพนักงานขับรถของโรงเรียนคนหนึ่งเห็นเหตุการณ์ เขาเห็นว่าถ้าปล่อยไปต้องเกิดเรื่องแน่ จำเป็นต้องเข้าไปห้าม แต่เขาก็รู้ดีว่าถ้าห้ามไม่ถูก ก็อาจเจ็บตัวได้ มีตัวอย่างเยอะแล้ว ทีนี้ทำอย่างไรถึงจะห้ามไม่ให้เขาไปยิงผู้ปกครองคนนั้น พนักงานคนนี้มีปฏิภาณ เขาเดินไปแตะนายทหารคนนั้นเบา ๆ แล้วพูดว่า “คุณพ่อครับ คุณพ่อมารับลูกไม่ใช่เหรอครับ” เท่านี้แหละ นายทหารคนนั้นซึ่งกำลังโกรธจัดก็ได้สติทันที พอได้สติความโกรธหายไป เท้าชะงัก รู้ตัวเลยว่ากำลังจะทำอะไร ก่อนหน้านั้นไม่รู้ตัว คิดแต่จะไปยิงเขาให้ตาย เพราะตอนนั้นความโกรธครอบงำใจ หน้ามืด พูดง่าย ๆ คือหลงเต็มที่ พอเขาได้สติ รู้ตัวขึ้นมาก็หันหลังกลับไปที่รถ เอาปืนไปเก็บ อันนี้เรียกว่าได้สติเพราะมีคนช่วย คนเราส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนี้ ได้สติเพราะมีคนช่วย แต่ถ้าไม่มีตัวช่วยก็เดือดร้อนไป

    อารมณ์อกุศลทั้งหลายหากครองใจเราเมื่อใดก็สามารถเป็นอันตรายได้ทุกเมื่อ อย่างไรก็ตามอารมณ์เหล่านี้มีจุดอ่อนคือกลัวถูกรู้ถูกเห็นด้วยสติ เพราะเมื่อสติมารู้มาเห็นเมื่อไหร่ มันก็จะอ่อน เหลว และหายไปเลย เหมือนที่ยกตัวอย่างเมื่อสักครู่ นายทหารที่โกรธผู้ปกครองอีกคน เดินตามหลังหมายจะไปยิงให้ตาย แต่พอมีคนมาทัก มีคนมาแตะมือก็ได้สติ พอเขาเห็นความโกรธที่เกิดขึ้น รู้ตัวว่ากำลังโกรธ ความโกรธที่ท่วมท้นใจก็หายไปเลยทันที โดยไม่ต้องไปกดข่มมัน เพราะจุดอ่อนของมันคือการถูกรู้ ถูกเห็นด้วยสติ

    ความโกรธหรืออารมณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้น มันจะกลัวนักหนา กลัวถูกเห็น มันจึงพยายามส่งจิตออกนอก พอส่งจิตออกนอกมันก็ปลอดภัย ไม่มีสติมารู้ทันแล้ว เมื่อจิตถูกส่งออกไปข้างนอก อารมณ์ต่าง ๆ ก็จะลอยนวลต่อไป และเข้ามามีอิทธิพลบงการเราได้มากขึ้น แถมจะเพิ่มอำนาจ ขยายตัวใหญ่ขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราหมั่นรู้สึกตัวบ่อย ๆ หมั่นดูใจบ่อย ๆ อารมณ์พวกนี้จะคลอนแคลนหรือฝ่อลง ถึงแม้จะไม่หายไปทันทีแต่มันก็จะฝ่อตัว แบบนี้มันยอมไม่ได้ มันจึงพยายามล่อหลอกให้ส่งจิตออกนอก จดจ่อข้างนอกไม่ให้กลับมารู้ทันมัน

    เราต้องพยายามกลับมาตามดู รู้ใจบ่อย ๆ จนเป็นนิสัย อารมณ์ต่าง ๆ เช่นความโกรธจะยึดครองใจได้ยากขึ้น ขอให้สังเกตเวลาที่เราเกิดอารมณ์เศร้าโศก เสียใจ โกรธ จิตจะส่งออกนอกตลอดเวลา หรือไม่ก็ไหลเปิดเปิงไปกับเรื่องราวในอดีต แต่นั่นไม่ใช่อุบายอย่างเดียวของมัน มันพยายามที่จะสรรหาเหตุผลเพื่อมารองรับสนับสนุนอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ใดก็ตาม คนที่ขโมยหรือคอรัปชัน คนเหล่านั้นรู้ทั้งรู้ว่ามันไม่ถูก ไม่ดี แต่เวลาหน้ามืดขึ้นมา ถูกความอยากหรือความหลงครอบงำ แม้จะมีเสียงเตือนในใจว่าไม่ดี ผิดกฎหมาย ผิดศีล แต่ความอยากความหลงก็จะอ้างเหตุผลสารพัด เช่น ไม่เป็นไรหรอก ใคร ๆ เขาก็ทำกัน ไม่มีใครรู้หรอก หรือไม่ก็อ้างว่าจะเอาเงินไปทำบุญ

    หลายคนรู้ว่าเหล้าไม่ดี แต่ความอยากหรือความหลงก็จะให้เหตุผลว่า เฮ้ย นิดเดียวเอง แค่เป๊กเดียวเอง หรือให้เหตุผลว่าเป็นแค่การสังสรรค์ เพื่อนอุตส่าห์ชวนถ้าเราปฏิเสธมันน่าเกลียด มันจะมีเหตุผลมากมายมาสนับสนุนความอยากหรือความหลง

    ความโกรธก็เหมือนกัน เวลาโกรธมันจะมีเหตุผลมาสนับสนุนว่าเราควรโกรธต่อไป พยายามคิดถึงความไม่ดีของเขา รู้สึกว่าเราจำเป็นต้องสั่งสอนมัน เพราะมันชั่ว มันไม่ดี ต้องสั่งสอน ต้องทำให้มันเป็นเยี่ยงอย่าง พวกเราคงเคยดูคลิป “น็อตกราบรถกู” ตอนที่เขาต่อยและตบคนที่ชื่อบอย ซึ่งชนท้ายรถเขาแล้วหนี น็อตก็ตะคอกว่า “หนีทำไม หนีทำไม” พูดทำนองต้องการสั่งสอนว่า ชนแล้วอย่าหนี เขาต้องการสั่งสอนคนที่ชนแล้วหนี ว่ามันน่ารังเกียจ ต้องจัดการให้เป็นเยี่ยงอย่าง ที่พูดอย่างนั้นก็เพราะความโกรธมันต้องการเหตุผลรองรับว่าทำไมต้องโกรธ ทำไมต่อยและตบเขา คนเราไม่ว่าจะด่าหรือเตะต่อย ก็ต้องการหาเหตุผลมาสนับสนุนความโกรธและพฤติกรรมดังกล่าว แม้รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี แต่ก็จะมีเหตุผลมารองรับว่า ถึงตายกูก็ไม่ยอม ต้องจัดการมึงให้ได้

    ความเศร้าก็เหมือนกัน เวลาเศร้าก็จะมีเหตุผลมารองรับว่า ทำไมเราควรเศร้า เช่นถ้าเราไม่เศร้าก็แปลว่าเราไม่รักเขา พ่อแม่ทั้งคนตายไป เราต้องเศร้าสิ ต้องร้องห่มร้องไห้สิ เพราะเดี๋ยวคนเขาจะว่าเราไม่รักพ่อรักแม่ พยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนความเศร้า นี่คือวิธีการที่อารมณ์เหล่านี้หลอกเรา ให้จม ให้ยอมรับ อยู่ในอำนาจของมัน มันจะบงการให้เราเป็นผู้รองรับอารมณ์เหล่านี้ ทั้งที่รู้ว่ามันไม่ดีแต่เราก็ตกเป็นทาสของมัน

    สุดท้ายเราจึงกลายเป็นองครักษ์พิทักษ์ความโกรธ เป็นองครักษ์พิทักษ์ความเศร้า รวมทั้งเป็นองครักษ์พิทักษ์ความคิด ใครจะคิดต่างจากเราไม่ได้ ต้องจัดการ ต้องด่า ต้องสั่งสอน อันนี้เป็นอุบายของอารมณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้จิตใจย่ำแย่ มันหลอกให้เราเป็นองครักษ์พิทักษ์ตัวมันเอาไว้

    เวลาเราเศร้าพอมีคนมาชวนไปทำโน่นทำนี่ จะได้หายเศร้าเราก็ไม่ยอม เขาชวนไปเที่ยวเราก็ไม่ไป จะเศร้าเจ่าจุกอยู่ที่บ้าน เวลาฟังเพลงก็จะฟังเพลงเศร้า เพลงไหนที่ฟังแล้วทำให้เกิดความกระชุ่มกระชวย เกิดความตื่นตัวก็ไม่ฟัง จะขอฟังแต่เพลงเศร้า ๆ เพื่ออะไร ก็เพื่อให้มันเศร้าหนักขึ้นไปอีก เพราะนี่คือสิ่งที่ความเศร้าต้องการ

    เวลาโกรธถ้ามีคนแนะนำว่าให้อภัยเขาไปเถอะ ความโกรธก็จะสรรหาเหตุผลว่าให้อภัยไม่ได้ บางทีกลับโกรธคนที่แนะนำเสียอีก มีรายหนึ่ง ลูกพยายามขอร้องแม่วัย ๗๐ ว่า อย่าโกรธเขาเลย ให้อภัยเขาไปเถอะ เรื่องผ่านไป ๒๐-๓๐ ปีแล้วจะไปโกรธทำไม ลูกกลัวว่าแม่จะเส้นเลือดในสมองแตก กลัวแม่จะตายแล้วไปอบาย เลยขอร้องให้แม่ให้อภัยเขา แม่กลับโกรธลูก ด่าลูก ราวกับว่าลูกมาแย่งชิงของรักของหวงไปจากแม่

    ความโกรธมันน่าหวงแหนเสียที่ไหน แต่แม่ด่าลูกเพราะอะไร เพราะความโกรธมันสั่ง ความโกรธมันต้องการครอบงำจิตใจของแม่ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ มันเหมือนกับสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่งที่ต้องการอยู่รอดให้ได้ มันจะทำทุกอย่างเพื่อให้มันอยู่รอดและแพร่กระจาย ทำนองเดียวกับเชื้อโรคในร่างกาย เวลาเรากินยาปฏิชีวนะ เชื้อโรคก็จะสู้ มันพยายามดื้อยา ทำทุกอย่างเพื่อสู้กับฤทธิ์ยา ทำให้มันอยู่ในร่างกายได้นาน ยิ่งมะเร็งยิ่งแล้วใหญ่ ฉายแสงเข้าไป ฉีดคีโมเข้าไป มันสู้ มันพยายามอยู่ในร่างกายของเราให้นานที่สุด และต้องการแผ่ขยายให้ได้มากที่สุดด้วย

    อารมณ์ก็เช่นเดียวกัน ตัวหลงก็เช่นเดียวกัน มันพยายามทุกทางที่จะครองใจของเรา แต่ว่ามันแพ้ทางสติ มันกลัวถูกรู้ ถูกเห็น นี่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญ ดังนั้นเราจึงควรเพียรเจริญสติ หมั่นรู้สึกตัวบ่อย ๆ หมั่นสังเกตความคิด หมั่นมองตนบ่อย ๆ เราจะรู้ทันอารมณ์ได้เร็วขึ้น และไม่เปิดโอกาสให้มันครองใจเรา หรือบงการชีวิตของเราไปตามอำนาจของมัน
    :- https://visalo.org/article/suksala30.html
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    e6275.gif
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,346
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    skymountain.png
    หมาบันดาลใจ

    พระไพศาล วิสาโล
    มีคลิปวีดีโอเรื่องหนึ่งซึ่งเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ค คือ มีคนเอาปิ้งไก่ยื่นให้หมาตัวหนึ่ง พอมันคาบปิ้งไก่ได้ก็รีบวิ่งหายไปเลย ทีแรกนึกว่ามันคงกลัวหมาตัวอื่นแย่งเพราะมันเป็นหมาตัวเมีย หมาตัวผู้ที่แข็งแรงก็อาจจะแย่งชิงเอาปิ้งไก่จากมันไปได้ คนให้ปิ้งไก่สงสัยจึงตามไปดูว่ามันวิ่งไปไหน ปรากฎว่ามันไปไกลเลย เข้าซอกนั้นออกซอกนี้ สุดท้ายก็พบว่ามันเอาไปให้ลูก ลูกยังเล็กอยู่ พอลูกเห็นแม่ก็วิ่งมาหาแม่ แม่ก็คายปิ้งไก่ให้ลูกกิน ตัวมันเองไม่ได้แตะปิ้งไก่สักนิด มันให้ลูกหมดเลย อันนี้เป็นความรักและความเสียสละ แม้แต่หมาก็มีความรัก และความรักนำไปสู่ความเสียสละ ตัวเองยอมอดได้เพื่อลูก

    มีแม่หมาตัวหนึ่ง เป็นหมาขี้เรื้อน วันหนึ่งไปคาบเนื้อแห้งที่คนตากไว้ ปรากฏว่าเจ้าของเป็นคนที่ใจคอดุร้ายมาก ยิงนกตกปลาเป็นว่าเล่นแถมยังกินหมาด้วย พอเห็นหมาขี้เรื้อนตัวนี้คาบเนื้อแห้งไป ชายคนนี้เอาปืนยิง หมาฟุบคาที่ ด้วยความแค้นมากผู้ชายคนนี้กะว่าจะแล่เนื้อหมาขี้เรื้อนตัวนี้ บอกว่ากินหมาธรรมดามาเยอะแล้วยังไม่เคยกินเนื้อหมาขี้เรื้อน แค้นขนาดนี้เลยนะ เขาไม่ได้ทำเพราะความโลภหรือความอยาก แต่ทำด้วยความแค้น

    ระหว่างที่ชายคนนี้ไปเอาเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อมาแล่เนื้อหมาขี้เรื้อน ก็ให้เด็กเฝ้าหมาเอาไว้ เด็กเฝ้าดูสักพักก็ปีนต้นตะขบเล่น เก็บลูกตะขบกิน พอลงมาปรากฏว่าหมาหายไปแล้ว หมายังไม่ตาย ก็เลยตามรอยเลือดไป ตามไปไกลก็พบว่าหมาคลานกลับไปที่รัง แล้วก็มีลูกหมาตัวเล็ก ๆ ๕ ตัวคลานเข้ามารุมล้อม เด็กเห็นกับตาว่า ขนาดแม่หมากำลังจะตายก็ยังอุตส่าห์กระเสือกกระสนกลับไปให้นมลูก มันคงรู้ว่าถ้าตัวเองตายไปลูกไม่ได้กินนม ลูกคงแย่ จึงพยายามกลับไปหาลูก ให้ลูกได้กินนมเป็นครั้งสุดท้าย ส่วนลูกหมาก็ไม่รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น ไม่รู้ว่าแม่กำลังจะตาย ลูกหมาทั้ง ๕ ตัวก็เข้าไปกินนมแม่

    สักพักชายคนที่ยิงหมาก็ตามมาถึง พอเห็นภาพนี้ก็อึ้งเลย เพราะว่าสิ่งที่เขาเห็นไม่ใช่หมาขี้เรื้อนที่ขโมยเนื้อแห้งของเขา แต่มันคือแม่ที่มีน้ำใจประเสริฐมาก ตัวจะตายแล้วก็ยังนึกถึงลูก พยายามกระเสือกกระสนมาให้นมลูกเป็นครั้งสุดท้าย
    ตั้งแต่นั้นมาชายคนนี้เปลี่ยนนิสัยไปเลย เขาเลิกยิงนกตกปลา อย่าว่าแต่เลิกกินหมาเลย สัตว์ชนิดอื่นก็เลิกกินเหมือนกัน เพราะว่าสะเทือนใจในสิ่งที่ตัวเองทำลงไป เขาได้คิดว่าสัตว์ที่ตัวเองยิงเล่นนั้น อาจมีลูกน้อยที่คอยหาแม่อยู่ อีกอย่างเขาคงซาบซึ้งในน้ำใจของสัตว์เหล่านี้ ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ไร้หัวจิตหัวใจที่ใครจะฆ่าเล่นได้

    อันนี้เรียกว่าเขาได้ธรรมจากหมา หมาเป็นผู้สอนธรรมให้ ที่จริงสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายสามารถสอนธรรมให้เราได้ เช่น สอนให้เห็นถึงความรักของแม่ ผู้ชายที่ยิงหมาขี้เรื้อนคนนี้ คิดว่าคงจะรักแม่มากขึ้นด้วย เพราะได้เห็นน้ำใจและความเสียสละของสัตว์เพศแม่ ขนาดเดรัจฉานยังรักลูกขนาดนี้ คนจะรักลูกขนาดไหน
    ธรรมะนั้นไม่ใช่ว่าจะรับรู้ได้จากการอ่านพระไตรปิฎก หรือฟังเทศนาของพระ ของครูบาอาจารย์ ของพระอริยเจ้าเท่านั้น แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉานก็สามารถสอนธรรมให้เราได้ ไม่ใช่แค่เรื่องความรัก ความเมตตา ความเสียสละ สัตว์ยังสอนอย่างอื่นได้อีกเยอะ พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงผีเสื้อว่า ผีเสื้อนั้นอยู่ได้ด้วยน้ำหวานจากดอกไม้ แต่เวลาผีเสื้อดูดน้ำหวานจากดอกไม้ มันไม่เคยทำให้ดอกไม้บอบช้ำ ดอกไม้ก็ยังเหมือนเดิม

    ผีเสื้อพึ่งพาดอกไม้ฉันใด พระก็ต้องอาศัยญาติโยมฉันนั้น ในเมื่อพระต้องพึ่งพาญาติโยม ก็ไม่ควรทำให้ญาติโยมเดือดร้อน ควรเรียนรู้จากผีเสื้อที่ทะนุถนอมดอกไม้ ในทำนองเดียวกันคนเราต้องพึ่งพาธรรมชาติ จึงไม่ควรทำให้ธรรมชาติเดือดร้อน ไม่ควรทำลายธรรมชาติ สมัยนี้คนเราไม่ค่อยตระหนักว่าเราต้องพึ่งพาธรรมชาติ เราเห็นธรรมชาติเป็นแค่วัตถุหรือสินค้าที่จะมาสนองปรนเปรอความอยากหรือทำกำไรให้กับมนุษย์ ก็เลยทำลายธรรมชาติกันมากขึ้น

    เมื่อเราอยู่ที่นี่ มีธรรมชาติอยู่รอบตัว ก็ควรเรียนรู้จากธรรมชาติ หมั่นเปิดใจ รับรู้ รับฟัง ใคร่ครวญ ก็จะเห็นธรรมะที่ธรรมชาติแสดงให้เห็นอยู่ทุกเมื่อ
    :- https://visalo.org/article/komol6005.html
     

แชร์หน้านี้

Loading...