ธรรมะ ครูบาเจ้าบุญคุ้ม เรื่อง คนไกลธรรม

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย จิม, 13 กันยายน 2013.

  1. จิม

    จิม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    87
    ค่าพลัง:
    +123
    ธรรมะ ครูบาเจ้าบุญคุ้ม

    วัดโพธิสัตว์บรรพตนิมิต จ.กาญจนบุรี

    เรื่อง คนไกลธรรม


    เรียบเรียงโดย ครูบาคงสุขศิษย์ครูบาเจ้าบุญคุ้ม


    คนไกลธรรม

    เป็นธรรมดาสำหรับทุกสิ่ง หากเราอยู่ใกล้ชิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งรู้จัก ยิ่งคุ้นเคย และยิ่งเห็นสิ่งนั้นได้อย่างชัดเจน แต่กลับกัน หากเราอยู่ไกลห่างจากสิ่งๆหนึ่ง เราจะมองสิ่งนั้นได้ไม่ชัด และยิ่งไกลออกไปมากเท่าไหร่ ทุกสิ่งก็ยิ่งรางเลือน จนมองไม่เห็นอะไรในที่สุด
    เรื่องบุญบาปก็เหมือนกัน บุญยิ่งเข้าใกล้ ยิ่งเห็นบุญ บาปยิ่งเข้าใกล้ ก็ยิ่งไม่เห็นบุญ
    เรื่องธรรมะก็เป็นอย่างเดียวกัน ผู้ใดยิ่งเข้าใกล้ธรรม ก็ยิ่งเห็นธรรม มีสติปัญญามาก เกิดกุศลทำให้จิตใจมีความสุขสงบ
    ธรรมะสอนให้เรารู้จักสิ่งผิดถูกชั่วดี สอนให้คนมีเหตุผล ใช้ปัญญาดำเนิน ไม่มุ่งตามอารมณ์ซึ่งถูกควบคุมโดยกิเลสตัณหาที่มักทำให้เกิดความผิดบาปตามมาทีหลัง

    ธารน้ำใต้ดินนั้นอยู่ลึก มีความเย็นและใสสะอาดมาก เพราะผ่านการกลั่นกรองจากชั้นหินใต้ดิน ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุนานาชนิด จึงเป็นน้ำที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ถ้าหากเราอยากได้น้ำชนิดนี้ มีแต่ต้องขุดเจาะลงใต้ผืนดินให้ลึกพอ เราจึงจะเจอ
    ธรรมะเป็นเรื่องลึกซึ้ง ต้องใช้ปัญญาคิดติดตาม เราจึงจะเห็นคุณค่าของธรรมะ
    ผู้ใดสามารถเข้าลึกถึงธรรมะ ผู้นั้นจะเห็นทางพ้นทุกข์ แต่หากใครถลำลึกในบาปกรรม ผู้นั้นมีแต่จะจมอยู่กับเพลิงทุกข์อย่างเดียว
    ต้นไม้ที่อยู่ใกล้ชายน้ำ เพื่อที่จะหาน้ำมาหล่อเลี้ยงชีวิต รากของมันจำต้องชอนไชแทรกผืนดินไปยังสายน้ำเท่านั้น
    รากนั้นต้องหยั่งน้ำ แต่น้ำนั้นหาได้หยั่งเอารากไม่
    ดังนั้นผู้ที่ต้องการสร้างความเจริญทางจิต ต้องนำตัวเองเข้าใกล้ธรรมะเท่านั้นจึงจะเห็นผล
    ผู้มีปัญญาพึงรู้ว่า สิ่งใดควรเข้าหา ผู้ใดควรเคารพบูชา ธรรมะเป็นของประเสริฐจริง แต่ธรรมะจะไม่วิ่ง หาเรา ธรรมะเป็นของยากลำบาก ผู้ใฝ่ธรรมจึงควรเข้าใกล้ธรรมะให้มากที่สุด
    การที่เราจะมีธรรมได้ เราต้องหมั่นเข้าหาครูบาอาจารย์เพื่อฟังธรรม คนดีจะเลือกฟังสิ่งที่มีประโยชน์ แล้วนำไปพิจารณาให้เกิดสติปัญญาเพื่อแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีในชีวิต นอกจากการฟังธรรมให้เกิดเป็น “วิชชาจะระณะ สัมปันโณ” ที่เป็นคลังความรู้ที่มีประโยชน์แก่ตนเองแล้ว การนำธรรมะไปปฏิบัติในยามที่เราประสบปัญหา อุปสรรคกีดขวาง กระทั่งความทุกข์ ความสูญเสียต่างๆ ที่อาจทำให้เราเกิดการถดถอยในวาระจิตและกำลังใจ จะทำให้เรามีกำลังจิตที่แข็งแรงขึ้นและพร้อมที่จะสู้ต่อไป
    สิ่งที่มีค่าประมาณไม่ได้ที่เราจะได้รับจากธรรมะก็คือ “สัมมาปัญญา” ปัญญาทางโลกนั้นไม่สามารถจะเอาชนะหรืออยู่เหนือปัญญาชนิดนี้ไปได้ เพราะเป็นปัญญาที่ยังอยู่ภายในอาณัติของความรัก โลภ โกรธ หลง ไม่สามารถข้ามพ้นความทุกข์และความเวทนาทางจิตไปได้
    ปัญญาทางโลกจึงยังมิใช่ปัญญาที่ทำให้เราเข้าใจในโลกและเข้าใจในสัจธรรมอย่างชัดแจ้งได้

    “สัมมาปัญญา” จะต้องประกอบด้วยองค์ธรรมเป็นแก่นใน มีมรรคทั้ง ๘ ประการเป็นหัวใจในการปฏิบัติเพื่อการบรรลุทางปัญญาอันได้แก่ ๑การมีความเห็นถูก ๒ความระลึกนึกคิดดี ๓มีวาจาดีเป็นสาระ ๔มีความเพียรในธรรมดี ๕มีสมาธิดีไม่อ่อนไหวคล้อยตามคนง่าย ๖มีสติยับยั้งชั่งใจ ๗หาเลี้ยงชีพด้วยความสุจริต ๘ไม่ประพฤติตนในทางที่ไม่ดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น นี่เรียกว่ามีศีลเต็ม มีอริยมรรคบริบูรณ์ เป็นวุฒิภาวะทางปัญญาอย่างถูกต้อง
    จิตที่บริสุทธิ์ปราศจากมลทินในความคิด มีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาเป็นปกติ มีปัญญารู้ชั่วดีชัดเจน รู้ในความวิบัติเบื้องหน้า มีความเฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง มีไหวพริบปฏิภาณแก้ไขสถานการณ์ได้ดี ซื่อตรงคงมั่นในบุญกุศล ประการสำคัญที่สุดคือ ต้องมีธรรมอันสว่างรุ่งโรจน์และมีคุณประโยชน์ต่อผู้อื่น นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “สัมมาปัญญา”
    ความดีจะเป็นตัวแก้ไขความผิดหรือความเลวร้ายให้กลายเป็นความถูกต้องได้ ถ้าเราคิดทำดี
    ความเห็นถูก คือ ไม่มีความเห็นผิด จึงทำแต่สิ่งที่ดีเสมอ เมื่อมีความถูกต้องเป็นบรรทัดฐาน สิ่งอื่นๆจึงอยู่เหนือ “สัมมาปัญญา” ไปไม่ได้
    ปัญญาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด เพราะทำให้เราอยู่ด้วยความดีและความถูกต้องได้

    “กุศลาธัมมา” คือ คนมีกุศลดี
    ผู้มีปัญญาจึงเป็นผู้คิดดี ไม่ทำตัวเป็นอันธพาล เกเร ทำร้ายผู้อื่นให้เป็นทุกข์ทั้งทางกาย วาจาและใจ รู้รักษาน้ำใจผู้อื่น มีความเห็นอกเห็นใจ คอยเกื้อกูลกันและกันในยามลำบาก
    คนดีมักเข้าหาคนดี เมื่อรู้จักเลือก เขาจึงได้เพื่อนที่ดี มีครูดี คนดีจะเป็นผู้อ่อนน้อม เชื่อฟังคำสอนสั่ง ไม่ละเมิดในคำตักเตือนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์เป็นต้น
    คนมีบุญกุศลจะมีจิตน้อมนำไปในทางธรรมได้ง่าย ชอบเข้าวัด สร้างบุญบารมีอยู่เป็นนิจ ไปขอฟังธรรมะจากครูอาจารย์เสมอ เขาจึงเป็นผู้ว่าง่าย แต่เสียยาก เพราะเขายอมรับในคำอบรมด้วยความจริงใจ
    เมื่อได้รับการบ่มนิสัยด้วยธรรมะอย่างถูกต้อง เขาจึงเป็นผู้มักน้อย ไม่โลภ ไม่เรียกร้องเอาแต่ใจ มีเมตตาเอื้ออาทรแก่ผู้อื่น เป็นคนใจกว้าง ไม่ถือประโยชน์ส่วนตัวแต่มองผลดีส่วนรวมเป็นหลัก ไม่แสดงความน้อยอกน้อยใจ ประชดประชันเมื่อไม่ได้รับผลตอบแทน คำพูดคำจาก็ไพเราะ ไม่นิยมการนินทายุแยงผู้อื่น ไม่มักโกรธจ้าวอารมณ์ มีความสัตย์ซื่อถือความจริงใจ ไม่คิดคดโกงผู้ใด มีความกตัญญูรู้คุณคน ไม่คิดทำลายแม้ว่าเขาอาจเคยหยิบยื่นแม้เพียงข้าวก้อนเดียวให้แก่เราก็ตาม คนดีจึงเป็นที่รักของผู้อื่น เวลาคนดีอยู่ห่างไกลคนก็คิดถึง หลวงพ่อสอนไว้เช่นนี้
    ผู้ที่มีธรรมจะอยู่อย่างเป็นสุข ทำแต่ความดี ไม่สร้างปัญหาให้ใคร เขาจึงมีความวุ่นวายน้อย และไม่มีภัยมาถึงตัว คนดีจะให้ไปทำเรื่องอัปรีย์ชั่วช้า เขาก็ทำไม่ได้ เพราะเขามีปัญญาคิดได้แล้ว มีศรัทธามั่นแล้ว
    ธรรมะนั้นบอกทางสุข ทางสงบ ที่เกิดจากการระงับเหตุทุกข์ได้ ฉะนั้นผู้ที่เข้าใกล้ธรรม จึงเป็นผู้ที่มีความเห็นถูกแล้ว
    และด้วยธรรมอันเป็นกุศลนี่เอง ที่จะนำพาคนดีสู่ความยั่งยืนและความสำเร็จในชีวิต สามารถไปเกิดในภพภูมิที่ดี เป็นเทพไท อินทร์ พรหม หรือแม้กระทั่งบรรลุมรรคผลทางธรรมชั้นสูงได้ตั้งแต่พระโสดาบัน พระอนาคามี และพระอรหันต์จนถึงระดับพระโพธิญาณต่อไป

    “อกุศลาธัมมา” คือ คนมีอกุศลกรรม
    ผู้อยู่ไกลธรรม ชอบก่อเวรสร้างกรรม ให้สร้างธรรมไม่เอา เมื่อไม่มีธรรม มีแต่อกุศล จึงไม่เห็นความสุข จะเร่าร้อนด้วยไฟแห่งบาปกรรมเผาผลาญจิตใจอยู่เสมอ
    คนบาปจะมีความมืดมัวหมองหม่น เพราะแสงแห่งความดีไม่เคยมีโอกาสเล็ดลอดทอดความสว่างเข้าไปในใจของคนเหล่านี้ ชีวิตจึงอยู่ภายใต้เงาบาป มากกว่าในร่มโพธิ์บุญ
    คนไกลธรรมจะมีความเห็นผิดมาก มักคิดในสิ่งไม่ดี พูดหยาบทำลายคน มีวาจาสกปรก ชอบทำในสิ่งที่เขาห้าม ชอบทำเรื่องปั่นป่วนให้เดือดร้อนผู้อื่น มักทำอะไรให้ใกล้ความถูกใจของตัว แต่ห่างไกลจากความถูกต้องนัก ชอบให้ความสำคัญแก่ตัวเองมากกว่าผู้อื่น มักคิดว่าตนดีกว่าผู้อื่นเสมอ
    เมื่อเห็นดีแต่ตัวเอง เห็นแต่ความผิดผู้อื่น เลยไม่คิดว่าตัวเองผิด มักปกปิดความชั่วที่ตนได้กระทำ แต่กลับชอบเปิดโปงความผิดผู้อื่น และจะแค้นเคืองหากมีคนพยายามเปิดโปงความชั่วของตนบ้าง
    คนไกลบุญขาดธรรมจะมีคับแคบในความคิด เป็นคนไม่มีเหตุผล มักทำอะไรตามใจ ตัดสินอะไรตามอารมณ์ โดยไม่ใส่ใจว่ามันจะถูกหรือผิด ขอเพียงให้สมความอยากของตัวเองพอ
    เมื่อปัญญาแคบ ก็พาให้เป็นคนใจแคบตามไปด้วย ไม่มีความเมตตากรุณา ขาดความเอื้ออาทรแก่ผู้อื่น จึงเป็นคนเห็นแก่ตัว เป็นผู้เสียสละได้ยาก คนเหล่านี้จะมีความโลภอยู่ในตัว ได้ดีได้มากเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ อิจฉาริษยาเก่ง เห็นใครดีกว่าตัวไม่ได้ ไม่เคยพอใจ อยากเอาเท่าเขาหรือจะเอามากที่สุดให้ได้ เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็โมโหโทโส บางคนถึงกับปั้นแต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อยุยงทำลายเขา พูดเอาดีใส่ตัวเอง แต่ละเลงขี้ใส่ผู้อื่น
    คิดอยากได้แต่ของดี แต่ตัวก็ไม่เคยคิดทำดี ไม่คิดปรับจิตใจให้สูงขึ้นเหมือนคนอื่น มักทำว่าดีต่อหน้า ลับหลังพูดนินทา เสาะหาวิธีลักซ่อนผลประโยชน์ใส่ตัวเอง
    เมื่อเห็นแต่ตัวเอง จึงมองไม่เห็นผู้อื่น คนเหล่านี้มักขาดความเกรงใจและเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่คนปัญญาเขลาจะสรรเสริญในความดีของผู้อื่น นอกจากจะเยินยอกันเองในฝูง
    คนไกลธรรมจะไม่มีความซื่อสัตย์ ขาดความซื่อตรง จะซ่อนความคดอยู่ในจิตลึกๆ มักมีวาระแอบแฝงหลบเร้น แม้กับผู้บุญคุณก็ตาม
    กับคนที่ไม่มีศรัทธาในความดี มนต์ดำภูตผีจึงชักพาให้กระทำการทุจริตโดยง่าย
    เพราะการขาดสติ ขาดปัญญา เมื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ ความโลภอาจทำให้บุคคลประเภทนี้คิดทรยศหรือทำลายผู้มีพระคุณก็เป็นได้
    เราจึงเห็นคนเนรคุณ อกตัญญู ได้ดีแล้วกลายเป็นวัวลืมตีน คอยวัดรอยเท้า แล้วคิดล้างครู
    คนบาปเช่นนี้จะมีวาระจิตตกต่ำ เร่าร้อนเพราะมีกรรมหนัก ทำอะไรไปก็ไม่เจริญ มีแต่ความล่มจมรออยู่
    หากผู้ใดเคยทำผิดพลาด แล้วเกิดการยั้งคิดหากมีผู้ให้คำตักเตือน ผู้นั้นก็สามารถเป็นคนดีได้ต่อไป เพราะโอกาสในการแก้ไขรออยู่สำหรับผู้ที่สำนึกระลึกได้
    แต่กับผู้ที่มีบาปอยู่เต็มเปี่ยมแล้ว คำสอนบอกเตือนนั้นเปรียบเสมือนไอน้ำในอากาศ มันไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะไปกดทับยับยั้งการก่อกรรมทำเข็ญของเขา พูดไปเขาอาจไม่พอใจในความหวังดี เพราะมันไปขัดขวางความสุขเขา หากเขายินดีในบาป ก็ต้องปล่อยเขาไป
    เพราะการให้คนชั่วไปเป็นคนดีนั้นก็เป็นเรื่องยากเหลือประมาณ หลวงพ่อสอนไว้เช่นนี้
    กรรมใดใครสร้างไว้ คนนั้นต้องรับผล ไม่มีผู้ใดอยู่เหนือกรรม
    กรรมนั้นติดตามเราเป็นเงา แล้วมีใครบ้างที่เดินหนีเงาตัวเองพ้น
    คนที่มีบาปหนักนั้น ตายไปต้องไปเกิดในทุคติภูมิ เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต อสุรกาย ภูตผี หรือสัตว์เดรัจฉานน้อยใหญ่เพื่อใช้กรรม บ้างมีความทุกข์ทรมานแสนสาหัสจากกรรมลงทัณฑ์ โดนฉีกเนื้อเถือหนังน่าสยดสยอง สุดเวทนา หิวโหยต้องกัดกินกันเอง เพราะไม่เคยสร้างบุญเอาไว้ บ้างยังพอมีบุญแม้ไปเกิดเป็นสัตว์ก็ไม่ต้องถูกฆ่าเพื่อเอาเนื้อตัวเองแลกบุญ ยังมีผู้ชุบเลี้ยงให้ข้าวปลาหาที่นอนให้ ถึงแม้ได้เกิดเป็นคน ก็ไม่มีความสุขสบาย กายอาจพิการ ติดโรคร้าย ตายด้วยเหตุน่ากลัว มีปัญญาต่ำ อับจน ตกระกำลำบากเพราะกุศลธรรมไม่เคยมี
    ดังนั้นเราจึงไม่ควรประมาทในชีวิต ถึงแม้เราจะหนีเงากรรมไม่พ้น แต่ทุกคนสามารถหนีบาปได้จากการสร้างความดีให้เป็นนิสัยนั่นเอง

    “อัพยากตาธัมมา” คือ คนที่ทำทั้งดีและไม่ดีสลับกันไป อยู่ก้ำกึ่งระหว่างบุญกับบาป
    เป็นเช่นปุถุชนธรรมดาที่ทำถูกบ้างผิดบ้าง โดยทั่วไปแล้วมักมีจิตใจดีเป็นฐาน อันที่จริงก็รู้จักการทำบุญให้ทาน ตักบาตรบ้าง เข้าวัดฟังธรรมบำเพ็ญกุศลเป็นบางวาระ เช่น พ่อค้าแม่ค้าในตลาดอาจต้องฆ่าสัตว์เพราะมันเป็นอาชีพ แต่ก็รู้จักทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่สัตว์เหล่านั้นเมื่อถึงเวลา หรือเมื่อคืนอาจไปดื่มเที่ยวเมามายตามผับบาร์ แต่วันถัดไปอาจเดินเข้าวัดไปบริจาคเงินเพราะอยากร่วมสร้างโบสถ์ก็ได้ ทำอะไรบางทีก็อยู่ในขอบเขต บางทีก็ล้ำเส้นไป ที่ผิดไปเพราะรัก โลภ โกรธ หลงตามประสาคนก็พาให้วุ่นวายกันไป
    เรียกว่ามีบุญพอประมาณ มีบาปติดตามบ้าง เพราะยังมีความเห็นผิดปะปนอยู่ด้วย ไม่สามารถเดินออกจากความทุกข์จนกระทั่งหนีออกจากวงวัฏสงสารได้ เนื่องจากปัญญายังน้อยและมีตบะบารมีไม่มากพอ ต้องกลับมาเวียนว่ายในภพภูมิต่างๆต่อไป บุคคลเหล่านี้ตายไปสามารถไปเกิดเป็นเทวดาหรือเกิดเป็นคนได้ต่อไปตามกำลังบุญกุศลของตน
    ความไม่รู้มักทำให้คนเห็นผิด แต่ความเข้าใจจะทำให้คนเห็นถูกได้ เหมือนคนเคยเดินหลงทางแล้วพบทางออก ครั้งต่อไปเขาก็จะไม่เดินทางเดิมอีก ธรรมะจึงเป็นพลังอันหาญกล้า ที่จะปราบอุปาทานและความหลงผิดให้หมดไปได้
    หลวงพ่อย้ำเสมอว่า การฟังธรรมจะทำให้เรามีปัญญาดี เป็นผู้รู้ในความจริง ธรรมะจะบอกสิ่งถูกและสิ่งผิดแก่เรา จึงไม่ได้เป็นการประณามผู้หนึ่งผู้ใดหรือเป็นการบังคับให้ใครต่อใครต้องกระทำตาม พระพุทธองค์ก็ทรงดำรัสเอาไว้แล้วว่า ท่านเป็นเพียงผู้บอกทาง แต่เราจะเดินตามหรือไม่นั่นเป็นเรื่องของเราว่าเราจะคิดเห็นอย่างไร ท่านก็บอกแล้วว่า จงพิจารณาด้วยสติปัญญาก่อนแล้วจึงเชื่อ แต่ที่คนเราไม่เห็นทุกข์กัน ก็เพราะไม่ยอมฟังคำสอนของท่าน และก็หัวรั้นนึกว่าตัวเองคิดถูกแล้วมากเกินไป

    ..............................

    ธรรมะได้ชี้ให้เห็นแล้วว่ามันมีบุคคลประเภทไหนและจำแนกออกได้ตามกรรมที่บุคคลทำเอาไว้เอง
    ทุกสิ่งเราเลือกของเราเองไม่ว่าจะดีหรือชั่ว คนจะเห็นธรรมได้ก็ต้องรู้จักธรรมะด้วยปัญญาของตนเท่านั้น
    เพราะ “ความคิด” และ “ความจริง” อาจคลาดเคลื่อนกัน เพราะกิเลสตัณหามักชักใบให้เราหลงทิศทางแม้ในความเชื่อของเราเอง
    “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ” ผู้ฟังธรรมแล้วปฏิบัติตาม จะรู้และเข้าใจอย่างชัดเจนด้วยปัญญาเฉพาะตัวเท่านั้น ผู้ไม่ทำตามย่อมไม่มีวันรู้

    ไกลธรรม มันใกล้ทุกข์ หากอยากมีสุข เราต้องอยู่ในธรรม
    ใกล้บาปกรรม คือ หมดธรรมและหมดทางไป
    ทุกสิ่งถ้าไม่ก่อ ไม่บังเกิด มันไม่มีใครมาบันดาล นอกจากเรากำหนดดีชั่วของเราเอง...
     

แชร์หน้านี้

Loading...