ธรรมบรรณาการ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย LOCOMOTIVE, 3 มิถุนายน 2010.

  1. LOCOMOTIVE

    LOCOMOTIVE สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    28
    ค่าพลัง:
    +21
    "ชีวิตนี้อาจแตกดับได้ทุกนาที ท่านได้มีชีวิตอยู่ถึงวันนี้ ท่านให้อะไรแก่ชีวิตหรือยัง?"

    ชีวิตนี้น้อยนัก รวบรวมโดยพระิอาจารย์ฐิติสมฺปนฺโน ภิกขุ และคณะ

    "ทุกชีวิต มีเวลาอันจำกัด" พระโอวาทของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

    ถึงรูปสวย รวยทรัพย์ สักเพียงไหน

    ที่สุดไซร้ ย่อมเน่าเหม็น เป็นเหยื่อหนอน

    ชีวิตนี้ ไม่ดำรง คงถาวร

    ความม้วยมรณ์ เท่านั้น เป็นความจริง

    จาก หนังสือดับไม่เหลือ

    ในพุทธศาสนาได้แสดงเหตุของความตายไว้ดังนี้

    ๑.การตายเพราะสิ้นอายุ (อายุขัยมรณะ) เปรียบได้กับดวงประทีปดับลงเพราะไส้หมด ตามหลักทางพุทธศาสนาเชื่อว่า ปัจจุบันอายุขัยของมนุษย์มีได้ถึง ๗๕ ปี แต่บางคนอยู่เลยอายุขัย

    ๒.การตายเพราะสิ้นกรรม (กัมมักขัยมรณะ) กรรมในที่นี้เฉพาะกรรมที่ส่งผลมาให้เกิดเป็นมนุษย์ และอุปถัมภ์กรรมที่คอยส่งเสริมให้ชีวิตตั้งอยู่ได้ดับลง เปรียบได้กับดวงประทีปดับลง เพราะน้ามันหมด

    ๓.การตายเพราะสิ้นอายุขัยและสิ้นกรรม (อุภยักขัยมรณะ) เปรียบได้กับดวงประทีปดับลง เพราะทั้งไส้และน้ำมันหมดลงพร้อมกัน

    ๔.การตายเพราะกรรมที่เป็นบาปอกุศล (การฆ่า) ที่ได้ทำในอดีตเข้าไปตัดรอน (อุปัจเฉทกมรณะ) ได้แก่การตายเพราะประสบอุบัติเหตุต่างๆ ทำให้ชีวิตจบลงก่อนถึงวัยอันควร เปรียบได้กับดวงประทีปที่ดับลงไป ทั้งที่ไส้และน้ำมันยังคงมีอยู่ แต่ลมพัดทำให้ดับไปเองฉันนั้น

    ไม่ว่าจะเป็นการตายแบบใดก็ตาม บุคคลไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ว่า

    ๑.เวลาตาย เราจะตายเมื่อใด เวลาใดของชีวิต

    ๒.สาเหตุการตาย เราจะตายด้วยเหตุใด จะตายเพราะโรคหรือจะตายเพราะอุบัติเหตุ

    ๓.สถานที่ตาย เราจะตายลง ณ ที่ใด จะตายในน้ำ จะตายกลางถนน จะตายกลางอากาศ หรือจะตายกลางกองเพลิง

    ๔.ชีวิตหลังความตาย คติของสัตว์เป็นสิ่งไม่แน่นอน คือเมื่อตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไร ก็จะรู้ล่วงหน้าไม่ได้

    ชีวิตของตนเป็นที่รักยิ่งกว่าสมบัติอื่นใดในโลก เมื่อเงาของมัจจุราชปรากฏขึ้น จึงนับว่าเป็นช่วงเวลาวิกฤติของชีวิต ย่อมมีเพียงจิตมั่งคงที่ฝึกฝนมาดีแล้วเท่านั้น จะเป็นสรณะที่พึ่งอันแท้จริง

    สิ่งที่ควรกล่าวขณะไปเคารพศพหรือวางดอกไม้จันทน์

    *อวสฺสํ มยา มริสฺ ตพฺพํ เราเองก็ต้องตายเช่นกัน (ควรน้อมใจตามความเป็นจริงด้วย)

    *กรรมชั่วอันใดที่ข้าพเจ้ากระทำแล้ว ต่อ (กล่าวชื่อผู้วายชนม์) ด้วย กาย วาจา และใจ ทั้งต่อหน้า และลับหลัง โปรดอโหสิกรรมด้วยเทอญ

    การทำงานของกิเลส กรรม วิบากกรรม (รับผลกรรม)

    เหตุของการเวียนเกิดเวียนตายในสังสารวัฏ

    กิเลส (เสียใจ โกรธ ชอบ ดีใจ) เพราะไม่รู้ว่าเป็นผลกรรมที่ได้ทำไว้ } เป็นเหตุให้ทำกรรม (สร้างกรรมใหม่ทั้งที่เป็นบุญและบาป) } ส่งผลให้เกิดวิบากกรรม (รับผลของบาป = ทุกข์ทรมาน , รับผลของบุญ = สุขสบาย) เป็นเหตุให้เกิด } กิเลส (เสียใจ โกรธ ชอบ ดีใจ) เพราะไม่รู้ว่าเป็นผลกรรมที่ได้ทำไว้

    เพราะไม่เห็นแจ้งในริยสัจ ๔ ตามความจริง จึงมีการเวียนเกิดเวียนตาย แม้จะกลัวตายหรือฆ่าตัวตายก็ตาม ปุถุชนผู้ยังมีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น ตัณหาเป็นเครื่องผูก ย่อมต้องท่องเที่ยวเวียนตายเวียนเกิดในสังสารวัฏอีกนับไม่ถ้วน (ติงสมัตตสูตร)

    กิเลสสร้างให้มีภพชาติข้างหน้าอีกมาก ท่านควรเตรียมสิ่งจำเป็นในการเดินทางไกลที่เต็มไปด้วยทุกข์ คือ ทุกข์ที่มีขันธ์ ๕ (กายและใจ) อันเป็นรังของโรค เช่น มะเร็ง มีทั้งหมดถึง ๒๐๐ กว่าชนิด (นายแพทย์กำพล ศรีวัฒนกุล) กายและใจจึงเป็นที่มาของความเจ็บ ปวด ร้อน หนาว หิว กระหาย การพลัดพราก ความแก่ เจ็บ ตาย

    ส่วนทุกข์ที่เกิดจากกิเลสโลภ โกรธ หลง นั้น เป็นเหตุให้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา จึงไ่ม่ควรประมาท เพราะถ้าสะสมแม้กรรมเล็กน้อย กิเลสก็จะเพิ่มกำลัง ทำกรรมหนักหรือก่อคดีอาชญากรรม ซึ่งทำให้ต้องรับผล เป็นผลของความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ในอนาคตตลอดกาลนาน ไม่มีแรงใดเสมอด้วยแรงกรรม (พุทธภาษิต)

    สิ่งสำคัญประจำเส้นทางชีวิตที่ขาดไม่ได้คือ แผนที่ชีวิต เข็มทิศชีวิต เสบียงชีวิต

    ๑.แผนที่ชีวิต การเลือกทำ พูด คิด มีความสำคัญที่สุด จะทำให้ีสุข หรือทุกข์ เจริญ หรือเสื่อม จึงต้องอาศัยแผนที่ ความรู้ และมิตรสหายที่ดี ผู้มีความรอบคอบย่อมเลือกใช้เส้นทางชีวิตที่พระพุทธองค์ได้ทรงชี้นำ เช่น ทรงให้ประพฤติตาม มงคล ๓๘ ที่เริ่มด้วยการไม่คบคนชั่ว แต่คบคนดีเป็นมิตร ทั้งพาลและบัณฑิตที่แท้ย่อมมีในจิตปุถุชนทุกคน คราวใดที่เลือกทำตามจิตพาล บาปอกุศลย่อมเป็นเหตุให้ทำกรรมชั่ว จึงต้องรับผลเป็นทุกข์ เช่น ผู้ยินดีในการฆ่า กรรมนั้นย่อมสามารถนำเกิดในอบายภูมิ หลังจากนั้นถ้าเกิดเป็นมนุษย์จะมีอายุสั้น ตรงข้าม ถ้าสะสมกุศลจิตบ่อยๆ ย่อมเป็นเหตุให้ทำดี เช่น งดเว้นการฆ่าสัตว์ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุขคติ โลกสวรรค์ ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ย่อมมีอายุยืน ส่วน

    ผู้เบียดเบียนสัตว์ จะมีโรคมาก

    ผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ จะมีโรคน้อย

    ผู้ตระหนี่ไม่บริจาค ย่อมลำบากยากจน

    การให้ทานควรตั้งเจตนาว่า ทำทานเพื่อเสียสละและละความตระหนี่ ไม่ใช่ทำเพื่อให้ได้รูปสวย รวยทรัพย์ อันเป็นเจตนาตามกระแส กิเลสบุญย่อมไม่บริสุทธิ์ ผลบุญย่อมลดลง และไม่เป็นเหตุปัจจัยให้ละคลายความติดยึด จึงต้องพัวพันอยู่ในความทุกข์ (ถ้าทำดี แม้ไม่ขอ ย่อมได้ผลดี)

    ถ้าหมั่นศึกษาหาความรู้ รู้ว่าอะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป รู้ว่าอะไรคือเหตุของทุกข์ และทางที่จะดับทุกข์ย่อมเป็นผู้มีปัญญา ถ้าไม่สนใจแสวงหาความรู้จะเป็นคนเขลา ย่อมมีโอกาสพบปัญหาและภัยพิบัติมากกว่าผู้มีสติปัญญาที่ไม่ประมาท และสนใจน้อมนำความรู้ไปปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ "ระวังกาย ปลอดภัย ระวังใจ ปลอดทุกข์" (ขยายความจากจุลกัมมวิภังคสูตร)

    อนึ่ง บ่อยครั้งที่การรับผลของกรรมเก่า ไม่ตรงกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น คนรวยไม่ชอบบริจาค หรือคนยินดีในการฆ่าสัตว์กลับมีอายุยืน สาเหตุคือจิตของปุถุชนที่มีกิเลส ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามการเรียนรู้และสภาพแวดล้อม การทำดีหรือชั่วจึงไม่แน่นอน หรือแม้จะทำดีแต่กลับได้รับทุกข์เพราะกรรมเก่ายังให้ผล กรรมใหม่ยังไม่ส่งผล

    ๒.เข็มทิศชีวิต ช่วยชี้ให้การเดินทางมุ่งตรงไปสู่เป้าหมาย ให้พ้นจากวิกฤติการณ์ของชีวิต เข็มทิศในที่นี้หมายถึง สติปัญญา ที่ต้องอาศัยการ โยนิโสมนสิการ คือรู้จักคิดอย่างไตร่ตรองด้วยสติ ให้ถูกต้องตรงกับความจริง ชาวพุทธมักเข้าใจผิดว่าทุกข์หรือสุขเกิดจากกรรมเก่าทั้งสิ้น พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ได้กล่าวไว้ในพุทธธรรมว่า ความเชื่อนี้มาจาก บุพเพกตวาทีลัทธิของพราหมรณ์

    พุทธศาสนาให้ความสำคัญทั้ง กรรมเก่า (วิบาก) และกรรมปัจจุบันที่มาจากการใช้สติปัญญาไตร่ตรอง เช่น การแสวงหาสาระประโยชน์จากกัลยาณมิตร ทั้งที่เป็นบุคคล และการอ่าน การฟัง เป็นเหตุให้ได้ความเห็นถูก ซึ่งถ้าฝึกฝนไว้ดีแล้ว จะใช้ได้ทุกสถานการณ์ของชีวิต คือรู้ตัวว่า ขณะนี้กำลังทำอะำไร ช่วยให้ทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ สามารถแก้ไขปัญหาชีวิตด้วยความรอบคอบและมีเหตุผล ลดการใช้อารมณ์และความรุนแรง

    ถ้าอาศัยแผนที่และเข็มทิศประจำชีวิตจะช่วยให้ คิดถูก วางใจถูก บุญและความสุข เช่น เมตตากรุณาก็จะเกิดได้ทันที แต่ถ้า วางใจผิด คิดผิด กิเลสและความทุกข์ เช่น ความโกรธ ความโลภ ก็เกิดได้ทันได้เช่นกัน (ใจเป็นใหญ่เป็นหัวหน้า จากพุทธภาษิต)

    ถ้าไม่มีทั้งแผนที่และเข็มทิศ ย่อมหลงทาง ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม และควรดำเนินชีวิตอย่างไร จึงจะสมควรกับการที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ที่ได้ยากกว่าเดียรัจฉาน

    ๓.เสบียง คือบุญ (บุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย)

    บุญ แปลว่า การชำระจิตใจให้สะอาดจากกิเลส ; กุศล แปลว่า ความฉลาด ทั้งหมดให้ผลเป็น ความสุข

    บุญทั้งหมดมี ๑๐ อย่าง ย่อแล้ว ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา บุญทั้งหมดให้ผลเป็นความสุข เป็นเสบียงติดตามไปได้ทุกภพชาติ ทั้ง ๓ อย่าง อาศัยกัน แต่ผลต่างกัน จึงต้องทำทุกอย่าง เช่น การให้ทาน การบริจาคที่ เต็มใจทำ ตั้งใจทำ ทั้งก่อนทำ ขณะทำ และภายหลังจากทำแล้ว ย่อมให้ผลสมบูรณ์กว่าทำแบบไม่เต็มใจหรือเสียดาย

    ส่วนการได้เกิดเป็นมนุษย์ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสงบสุข ย่อมได้มาจากการมี ศีล ๕ เป็นมหาทาน (ทานที่ยิ่งใหญ่) เพราะสร้างความไม่มีภัย ไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนกัน ส่วนการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนหรือเจ็บป่วยด้วย กาย วาจา ก็จัดเป็นกุศลศีลได้

    อนึ่ง แม้จะทำทานอย่างเดียวก็สามารถทำบุญได้ครบ ๓ ประการ ถ้าทานนั้นมีศีลเป็นพื้นฐาน คือ วัตถุที่ทำทานนั้นได้มาด้วยความสุจริต ทั้งยังไม่ฆ่าสัตว์หรือสั่งให้ฆ่าเพื่อนำไปทำบุญ ให้ด้วยความสุภาพ พร้อมทั้งพิจารณาเรื่องกรรม ผลของกรรม และปรารภถึงความไม่แน่นอนของชีวิต บุญนั้นจึงจะเป็นบุญที่ประกอบด้วยปัญญา เรียกได้ว่า ทำ ๑ ได้ ๓ {จากเรื่องก้าวไปในบุญ ของ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)}

    ภาวนาคือ การฝึกอบรมจิตให้มีคุณภาพ มีสติปัญญา อิสระจากกิเลส ย่อมได้มาจากการศึกษาและการปฏิบัติธรรม (ศีล สมาธิ ปัญญา) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบารมีเพื่อพ้นจาก มรณภัยในอนาคต

    ธรรมะที่ควรพิจารณาบ่อยๆ คือ เราจะต้องมีความแก่ ความเจ็บ ความตาย และต้องพลัดพรากจากของรักไปทั้งสิ้น เราต้องรับผลทั้งกรรมดีและกรรมชั่วที่ได้ทำไว้

    ทั้งหมดนี้ขอถวายและมอบให้เป็นธรรมทาน ขออุทิศถวายบุญกุศลนี้แด่พระพุทธองค์ ขออุทิศบุญกุศลนี้แด่ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย อุปัชฌาอาจารย์ ครูอาจารย์ทุกท่าน ญาติๆทุกท่าน เพื่อนๆทุกท่าน สัตว์ทั้งหลายและเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 มิถุนายน 2010

แชร์หน้านี้

Loading...