ทำพระนิพพานให้แจ้ง

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย สุริยันจันทรา, 30 สิงหาคม 2007.

  1. สุริยันจันทรา

    สุริยันจันทรา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    766
    ค่าพลัง:
    +4,588
    ทำพระนิพพานให้แจ้ง (8 กพ. 2529)

    หลวงพ่อเทียน



    นิมนต์เพื่อนภิกษุสามเณร และญาติโยมทุกๆ ท่าน ตั้งใจฟังกัน ในขณะนี้ตีสี่สามสิบ...สามสิบสี่นาที วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2529 ที่เราทำวัตรเช้าวันนี้ เสร็จแล้วก็มีการแนะแนววิธีที่ปฏิบัติ ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่าเป็นวิธีปฏิบัติธรรม ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่ง ก็เป็นวิธีที่ปฏิบัติตัวเอง พูดไปมันมาก เป็นวิธีที่ปฏิบัติเรื่องชีวิตของแต่ละคน ๆ เอง
    ดังนั้น ที่เราเคยพูดกัน ผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาก ก็ต้องรู้มาก คนที่ไม่ศึกษาเล่าเรียน ก็ไม่มีความรู้ เป็นอย่างนั้น แต่ที่เราพูดกันนั้นว่า หลักพุทธศาสนานั้น เป็นแก่นแท้ หรือเป็นหัวใจของพุทธศาสนานั้น เราพูดกันเรื่องอริยสัจ 4 นั่น หรือสติปัฏฐาน 4 นั่น พูดกันเป็น 2 บท เรียกว่า สติปัฏฐาน 4 กับอริยสัจ 4
    นอกจากสติปัฏฐาน 4 กับอริยสัจ 4 แล้ว ก็เรื่องปฏิจจสมุปบาท นอกจากปฏิจสมุปบาทแล้วก็เรียกว่าขันธ์ห้า อายตนะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 ไป อินทรีย์ยี่....ปฏิจสมุปบาท อริยสัจ 4 ปฏิจสมุปบาทไปอย่างซั่น มันวกวนอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา
    ดังนั้น การศึกษานั้น ถ้าคนมีความรู้ รู้เพียงคำพูด และจำมา ก็พูดได้ แต่ไม่เข้าใจว่าคำพูดนั้นหมายถึงอะไร ไม่เข้าใจก็มีเป็นจำนวนมาก แต่บุคคลที่ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เล่าเรียนนั้น ปฏิบัติรู้ แต่เมื่อมีบุคคลใดคนหนึ่งพูดขึ้น สิ่งที่ไม่ได้เรียนนั้นก็รู้ แต่บางบทบางตอนอาจจะมีข้อสงสัยก็ได้ คำว่าสงสัยเป็นทุกข์มั้ย ไม่ใช่อย่างนั้น คือว่าความสงสัยสิ่งนี้ เราคือไม่รู้...นี่..มันไม่รู้ สิ่งที่นอกตัวไป...เราไม่รู้
    ดังนั้น การศึกษาหลักพุทธศาสนาก็ตาม การศึกษาธรรมะก็ตาม การศึกษาเรื่องชีวิตก็ตาม ต้องศึกษาเพื่อความเข้าใจ เพื่อให้รู้ ไม่ใช่ว่ารู้จำนะ...ที่พูดนี้ การศึกษาวิธีนี้จึงรับรองและยืนหยัดว่า คำพูดตัวเองนี่แหละไม่พลาด ว่าถูกต้อง ถูกยังไง ไม่พลาดยังไง ไม่พลาดเพราะศึกษาของจริง ถูกต้อง ก็ต้องรู้ของจริง ถ้าไม่รู้ของจริงแล้ว ก็แปลว่าพลาดผิดไปจากของจริง ถ้าว่าไม่ถูกต้อง ก็หมายถึงว่า พลาดผิดไปจากของจริงทั้งนั้น
    ดังนั้น ของจริงจึงว่าเป็นสัจจะแท้ ถึงจะรู้ มันก็มีอยู่อย่างนั้น ไม่รู้ มันก็มีอยู่อย่างนั้น เรียกว่าเป็นสัจจะ คำว่าสัจจะนี่ หมายถึงของจริง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผัน คงที่ถาวรอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ถึงจะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ธรรมะขนิดนั้น หรือชนิดนี้ ก็มีอยู่แล้ว หรือไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ธรรมะชนิดนั้น หรือชนิดนี้...แล้วแต่จะพูดนะ ก็มีอยู่อย่างนั้น ถึงจะมีผู้รู้ ก็มีอยู่อย่างนั้น ไม่มีผู้รู้ ก็มีอยู่อย่างนั้น จังว่า เป็นสัจจะแท้
    ดังนั้น เราไปคำนึงคำนวณนอกตัวเราไป ก็เลยไม่รู้ว่าสัจจะคืออะไร อยู่ที่ไหน ไม่รู้ เมื่อไม่รู้อย่างนั้นก็หมายถึงว่า บุคคลนั้นเกิดมาเสียชาติ เสียที เสียความเป็นมนุษย์ คนโบราณท่านว่า เมืองคนดี กลับเป็นคนไม่ดี คำว่าเมืองคนดี กลับเป็นคนไม่ดีนี้ พูดน้อยๆ แต่มันกินความมาก กว้างมาก เมืองคนดี หมายถึง การเกิดเป็นคนนี่ยากนัก ที่จะเกิดเป็นคนได้ เราพอที่จะมองเห็นได้ บางคนแม่ตั้งท้องขึ้นมา แท้งออกมา ไม่ได้เกิดเป็นคน บางคนคลอดออกมา พอดีหลุดจากท้องแม่ ตายไปทันทีก็มี บางคนมีอายุเพียงเก้าวันสิบวัน ตายไปก็มี
    บางทีเป็นหนุ่มเป็นสาว ตายไปก็มี บางทีเป็นพ่อบ้านเเม่เรือน ตายไปก็มี บางทีอายุหกสิบ เจ็ดสิบ ถึงร้อยปี ตายไปก็มี ไม่รู้ว่าอะไร อยู่ที่ไหน ควรหรือไม่ควร ไม่รู้
    ตัวของผมเอง อันนี้ ตัวของอาตมาเอง เกิดมา พ่อแม่เล่าให้ฟัง ว่าเกิดวันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น จำได้ แต่บางครั้งก็ลืม ถามถึงสองครั้ง..เอ้อ..สองครั้งสามครั้ง ยังจำได้บางคำ บางคำถามถึงสี่ครั้ง ก็ยังจำไม่ได้นะ อันนั้น ไม่ใช่เป็นการเกิดในทางพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เกิดในทางความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เกิดความรู้ความเห็นความเข้าใจ
    ดังนั้น พวกเรามาที่นี่ วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ 8 อาตมาได้มาที่สำนักนี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มาถึงที่นี่ ก็วันที่ 2 ก็ยังไม่ได้พูดอะไรให้ฟัง วันที่ 3 ก็พูดให้ฟัง วันที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 วันนี้เป็นวันที่ 8 ก็ถือว่าจะเป็นการพูดเพื่อทำความเข้าใจ ให้เราเอาไปใช้กับชีวิตของเราได้ทุกเพศทุกวัย แม้จะเป็นเพศหญิงก็ใช้ได้ เป็นเพศชายก็ใช้ได้ เป็นเพศบรรพชิตหรือสมณะ หรือเป็นเพศพระเพศเณร จะว่ายังไงก็ได้ เป็นเรื่องสมมุติ ก็เอาไปใช้ได้
    ธรรมะจึงมีอันเดียวเท่านั้น มีอันเดียวคือรู้กับชีวิตตัวเองนี้เอง เรียกว่าธรรมะแท้ ถ้าไม่รู้กับชีวิตตัวเองแล้ว อันนั้นก็เป็นความรู้แก้ปัญหาไม่ตก เป็นความรู้ของอวิชชา
    ดังนั้น การปฏิบัติธรรมะแบบที่หลวงพ่อหรือผมนำมาเล่าสู่ฟังวันนี้นั้น มันเป็นวิธีไกชนิดหนึ่ง หรือเป็นนโยบายชนิดหนึ่ง เรียนรู้ก็ได้ ไม่เรียนรู้ก็ได้ แต่ให้มั่นใจว่า การกระทำนั้น-ทำ ทำเป็นทุกคน ทำไมจึงว่าทำเป็นทุกคน เพราะมันมีการเคลื่อนไหว พลิกมือขึ้น-รู้สึก คว่ำมือลง-รู้สึก อันนี้เรียกว่าสติ-รู้สึก ไม่ใช่สติ-กำหนดรู้นะ ถ้ากำหนดลงไปแล้ว-มันหนัก มันติด มันยึด ถ้ากำหนดรู้แล้วมันเพ่ง...แน่ะ...คำว่าเพ่ง มันติด มันยึด มันลงตัวเดียว เอาเบาๆ เราเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ตาม-ให้มันรู้ เรียกว่าสติ สติ-รู้ เรียกว่าสติปัฏฐาน 4
    คำว่าสติปัฏฐาน 4 ในตำราและครูบาอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า ต้องมีสติเข้าไปกำหนดรู้กายในกาย-ท่านสอน มีสติเข้าไปกำหนดรู้กายในกาย สติปัฏฐาน 4 ข้อที่ 2 ให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้เวทนาในเวทนา ท่านว่าอย่างนั้น ข้อที่ 3 ท่านว่า ให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้จิตในจิต เรียกว่าจิตตานุปัสสนา ท่านว่า ข้อที่ 4 ท่านว่า ให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้ธรรมในธรรม คือธัมมานุปัสสนานั่นเอง อันนั้นมันตำราพูด แต่มันดีแล้ว-ตำรา เอาไว้ที่นั้นแหละ
    แต่เรามาศึกษาวิธีลัดๆ ไม่ต้องกำหนดว่าเวทนา หรือว่ากาย อะไรก็ตาม ความรู้นั้น มันรู้มาเอง เพราะมันมีแล้วนี่ มันมีแล้ว เราเคลื่อนมือ จะเคลื่อนวิธีใดก็ตาม แต่เรามาทำเป็นจังหวะ เป็นจังหวะ เป็นจังหวะ เพราะคนมันเป็นจังหวะ มีข้อมือ ข้อศอก ข้อแขน มันเป็นจังหวะ เป็นส่วน เป็นส่วนของมัน ให้มันไปตามจังหวะของมัน เช่น พริบตาก็ตาม ไม่ต้องหลับตา..อันนี่ ไม่ฝืนธรรมชาติจริงๆ ศึกษากับธรรมชาติจริงๆ...อันนี้ เพราะธรรมชาติมันมีอย่างนั้น ต้องศึกษาเข้าไปกับตัวธรรมชาติมันจริงๆ จึงว่ารู้ของจริง รู้ของจริงอันนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผันจริงๆ คงที่ถาวรตลอดมา เป็นอย่างนั้น
    คนเกิดมา สัตว์เกิดมา เกิดแล้วหลุดออกจากท้องแม่มาแล้ว มันต้องเป็นอย่างนั้น มันต้องมีการเคลื่อนการไหว เปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนั้น เราก็เลยมารู้อันนั้นแหละ สิ่งนี้แหละคือรูป รู้เอง แต่ไม่ต้องเรียนกับใครก็ได้ แต่ทำให้มันถูก ถ้าไม่ถูก ไม่รู้ เหมือนกับลูกกุญแจ เอาไปซุกเข้าในรูมัน แต่มันเข้ากันได้ แต่ไม่ใช่ลูกของมัน บิดมันก็ไม่ออก ถ้าเป็นลูกของมัน ซุกเข้า เอาไปสอดเข้า ซุกเข้ากับสอดเข้าเป็นคำเดียวกันมั้ย หรือ..หรือเป็นยังไง หลวง...หลวงพ่อไม่...ไม่รู้คำหมาย เอาซุกเข้าหรือสอดเข้า (ผู้ฟังตอบ-สอดเข้า) สอดเข้านะ หรือเอาสอดเข้ากับซุกเข้าเป็นคำเดียวกันนะ บ้านหลวงพ่อเรียกว่าซุกเข้า เอาสอดเข้าแล้วบิดเบาๆ ถ้าเป็นตัวของมัน ลูกของมันจริงๆ บิดเบาๆ ออกเลย
    อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าทำถูกต้องแล้ว ต้องรู้อย่างนี้ อย่าไปว่ากำหนดรู้เพียงเอารู้ รู้เฉยๆ รู้เบาๆ อันนี้เรียกว่าสติก็ได้ เรียกว่าความรู้สึกก็ได้ หรือว่าความฮู้แล้วก็ได้ จะว่ายังไงก็ได้ ไม่ต้องว่าสติก็ได้ ว่ารู้สึกนั้นก็พอ....ให้รู้ คว่ำลงให้รู้ ยกไปให้รู้ เอามาให้รู้ มันรู้ มันหยุด ให้รู้ ไม่ใช่ว่ารู้ไปเรื่อยๆ ไปไหนไปไหน คือมันหยุดก็ให้รู้ทันที มันไหวไปก็ให้รู้ทันที นี่เรียกว่า ความรู้สึกตัว ตื่นตัว รู้สึกใจ ตื่นใจ อันนี้
    คำว่า รู้สึกตัวนั่น ที่เป็นวัตถุ มองเห็นด้วยตา เรียกว่ารูป ให้รู้รูปนี่เอง รูปกับนาม มันติดกันอยู่นี้ แยกออกจากกันไม่ได้ แยกจากกันเมื่อใด ตายเมื่อนั้น หมดลมหายใจ จึงว่า ให้รู้จักว่ารูปกับนาม ไม่ใช่ลูบคลำอย่างนี้ ลูบอย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น คือรูปจริงนี่แน่ะ ให้เป็นรูปจริงๆ ไม่ใช่รูปในกระดาษนะ คือเอาตัวจริงนี่แหละ เป็นรูปขึ้นมา รู้อันนี้
    จึงว่า มันเป็นของจริง จะศึกษาก็ได้ ไม่ศึกษาก็ได้ ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า กายกับใจ ภาษาธรรมะเรียกว่า รูปกับนาม เป็นอย่างนั้น
    เมื่อรู้อันนี้แล้วก็ รู้รูปโรค นามโรค รูปอันนี้เกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นโรค ถ้าไม่เป็นโรค...ไม่ตาย เขาว่าอย่างนั้น โรคเจ็บหัว ปวดท้อง อันนี้เป็นโรคทางเนื้อหนัง ต้องไปโรงพยาบาล ให้หมอผู้เชี่ยวชาญตรวจเช็คร่างกาย ให้ยา ให้ยามาแล้ว คนที่เป็นโรคน่ะต้องกินยา โรคจึงจะหาย ถ้าหมอตรวจเช็คร่างกายดีแล้ว ให้ยามา คนที่เป็นโรค..ไม่กิน ยาไม่เข้าไปในท้อง เข้า...ไม่แทรกซึมเข้าไปเนื้อ..ในเนื้อในหนัง โรคก็ไม่หาย เป็นอย่างนั้น
    ดังนั้น จึงว่า โรคชนิดนี้ หมอตามโรงพยาบาลรักษาได้ โรคอีกอย่างหนึ่ง คือ จิตใจมันนึกมันคิด ชอบ เกลียด ดีใจ เสียใจ โรคอันนี้หมอโรงพยาบาลรักษาได้ยาก ต้องจำเป็นเอาความรู้สึกนี้เอง หรือจะพูดไปกว้างๆ ก็เรียกว่า เอาคำสอนของพระพุทธเจ้าท่านมาเป็นกลางๆ ไว้ และต้องปฏิบัติตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น จึงจะรักษาโรคอันนี้ได้...โรคอันนี้
    เมื่อรู้จักอันนี้แล้วก็รู้จักการเคลื่อนไหวทุกส่วนเป็นทุกข์ เมื่อเห็นความทุกข์แล้วก็ไม่ต้องการความทุกข์ เมื่อไม่ต้องการความทุกข์ ก็เรียกว่า เราไม่ต้องการความอยากมาเกิดเป็นคน..นี่..เพราะเห็นทุกข์จริงๆ ไม่ต้องการอยากมาเป็นคน ไม่ต้องการอยากเป็นเทวดา อินทร์ พรหม แม้ยังไงก็ตาม เรียกว่าคนที่เห็นทุกข์จริงๆ
    เมื่อเห็นทุกข์แล้วก็ไม่ต้องเข้าไปในทุกข์ เป็นอย่างนั้น เพียงสมมุติ..บัดนี่ ให้รู้จักสมมุติ สมมุติผี สมมุติเทวดา รู้ เห็น เข้าใจ อย่างที่อาตมา หรือผมพูดให้ฟังนี้ คนมีปัญญาฟังแล้ว นำไปใช้ได้เลย อันนี้เรียกว่าเข้าใจสมมุติ คนทำชั่ว พูดชั่ว เขาเรียกว่าไอ้ผี หรือนางนี้เป็นผี พระสงฆ์องค์เณรก็เป็นผีเหมือนกัน จึงว่า มันเป็นเพียงสมมุติ การบวชเนี่ยะ บวชแล้วสึกไปก็ได้ สึกแล้วบวชเข้ามาก็ได้ มันเป็นเพียงสมมุติ ตัวจริงนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผัน บวชก็ได้ ไม่บวชก็ได้ มันเป็นอย่างนั้น
    เมื่อรู้จักสมมุติดีแล้ว ก็รู้จักศาสนา ศาสนาไม่ได้หมายถึงวัตถุ หรือเช่นว่าวัด พระพุทธรูป หนังสือ เจดีย์ โบสถ์ วิหาร เหล่านั้น ไม่ได้หมายถึงอันนั้นอย่างเดียว อันนั้นก็จริงอยู่ จริงโดยสมมุติ เป็นอย่างนั้น
    ศาสนา คือ ตัวคน ทุกคนนั่นแหละเป็นตัวศาสนา ตัวพุทธศาสนา คือตัวสติ ตัวสมาธิ ตัวปัญญา ที่มีอยู่ในคนนั่นแหละ แต่ว่าทุกคนนั่นมันต้องมีสติ มีสมาธิ มีปัญญา อันนั้นแหละตัวพุทธศาสนา ตัวที่จะรู้ได้ ท่านว่า ศาสนาแปลว่าคำสอน คนรู้เรื่องอันใด นำมาสอนทั้งนั้น ตัวพุทธศาสนานี่ลึกกว่าตัวศาสนา จึงว่าพุทธะคือรู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง ท่านว่าอย่างนั้น จึงพุทธศาสนานั้นคือว่า เป็นการรู้แจ้ง รู้จริง รู้แล้วไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผัน ไม่กลับคำได้ รู้แล้วต้องเอาอยู่อย่างนั้นตลอดเวลาจนหมดลมหายใจเมื่อใด ก็จึงหยุดเมื่อนั้น อาตมาเข้าใจอย่างนั้น แล้วคนอื่นจะเข้าใจยังไงไม่ทราบ แต่เข้าใจเรื่องตัวเอง นำเอาเรื่องตัวเองมาพูด เป็นอย่างนั้น
    แล้วก็เข้าใจบาป บุญ นี่แหละ เข้าใจจริงๆ เห็น รู้ เข้าใจ บุญก็คือเรารู้ เราเห็น เราเข้าใจ เราสบายใจ แต่เมื่อเรายังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ ก็มีความสงสัย มืดตื้ออยู่ภายในจิตใจ จิตใจมันหนัก มันแน่น มันไม่เข้าใจ ใครพูดเรื่องอะไร ไม่เข้าใจ ไม่มีความสว่างเลย พอดีมาเข้าใจอย่างนี้ อย่างที่พูดแล้วนี่..ฮื่อ...มีความสว่าง ใครจะพูดยังไง...รู้ ฟังได้ แต่ว่าตัวเองจะเอาหรือไม่เอา เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
    ดังนั้น เมื่อรู้จักอย่างนี้แล้ว ก็เลยรู้จักตัวเองว่าเคารพตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้..นี่ เคารพตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้เพื่ออะไร โลกสังคมเขายกมือไหว้กัน โลกสังคมไปกราบพระพุทธรูป โลกสังคมกราบผีไหว้ผี สมัยนี้ก็ตาม หรือจะเป็นสมัยตั้งแต่ดีกดำบรรพ์มาก็ตาม โลกมันเป็นอยู่อย่างนั้น
    ดังนั้น เมื่อบุคคลที่รู้อย่างนี้แหละ เข้ากับสังคมแล้ว ไม่พลาดผิด เขากราบผี เราก็กราบได้ เขากราบพระพุทธรูป ก็กราบได้ เขาไม่กราบผี ก็ไม่กราบ เขาไม่กราบพระพุทธรูป ก็ไม่กราบ เขาไหว้นางธรณี เทวดา อะไรๆ ไหว้ได้ทั้งหมด กราบได้ทั้งหมด แต่ตัวเองเนี่ยะไม่ต้องกราบผี ไม่ต้องกราบเทวดา ไม่ต้องกราบอะไรทั้งหมด กราบตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเอง แต่คนที่ไม่รู้ จำเป็นต้องไปกราบผีจริงๆ ไปไหว้ผีจริงๆ ไปกราบเทวดาจริงๆ ไปไหว้เทวดาจริงๆ อยู่ที่ไหนไม่รู้ ผี เทวดา ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ
    เมื่อมาสัมผัสกับธรรมชาติมันจริงๆ แล้ว ตัวชีวิตจริงๆ แล้ว ไหว้ผี เทวดา เราเห็นมีตาทิพย์ขึ้นมาแล้ว..นี่..จึงว่ายกมือไหว้ตัวเอง เป็นการทำให้ครบจบถ้วนหมด ยกมือไหว้ตัวเอง เป็นการทำครบทั้งหมดเลย ดังนั้น จึงบุคคลนั้นแหละคือรู้ธรรมะ เห็นธรรมะ เข้าใจธรรมะ รู้ธรรมในการกระทำนั้นเอง รู้ธรรมในการพูดนั้นเอง รู้ธรรมในจิตใจนึกคิดนั้นเอง จึงว่ารู้ธรรมแท้ ดังนั้น เมื่อเห็นอันนี้ รู้อันนี้แล้วก็หมดทุกข์ประเภทนี้ เเม้จะเรียนหนังสือก็รู้อย่างนี้ ไม่เรียนหนังสือก็รู้อย่างนี้ เขียนหนังสือเป็นก็รู้อย่างนี้ เขียนหนังสือไม่เป็นก็รู้อย่างนี้
    ถ้ารู้ผิดจากนี้ไปแล้ว แปลว่าไม่รู้อันนี้ และทำไม่ถูกต้องเรื่องนี้ ถ้าทำถูกต้องเรื่องนี้ ต้องมารู้เรื่องนี้ ถ้าทำไม่ถูกต้องเรื่องนี้ มันจะรู้เรื่องนี้ได้ทำไม เหมือนกับกุญแจ ถ้าไม่เป็นลูกของมันแล้ว เอาซุกเข้ารูมัน ซุกเข้าได้ แต่บิดมันไม่ไข บิดบางทีก็ลูกมันหักคาตัวก็มีนะ เป็นอย่างนั้น
    ดังนั้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ยังไม่ท้อถอย ไม่ย่อหย่อนต่อการกระทำ เรียกว่ารัก รักการ รักงาน รักหน้าที่ เพราะเราเป็นคน เป็นมนุสภูโต เรียกว่าเป็นใหญ่ในตัวแล้ว เป็นใหญ่ในจิตในใจแล้วบัดนี่ ทำไป ทำอย่างเดิมนั่นแหละ สร้างจังหวะให้มันรู้สึกตัวอย่างเดิมนั่นแหละ เมื่อทำช้ามันตึงเครียด ทำเร็วขึ้นบัดนี่ ทีแรกต้องทำช้า เพื่อเรายังไม่ชำนาญกับสิ่งเหล่านั้น บัดนี้ความชำนาญมัน...มันคล่องแคล่ว มันไวขึ้น จิตใจมันนึกมันคิดก็เห็น ก็รู้ ก็เข้าใจ สัมผัสได้ เป็นอย่างนั้น
    เมื่อรู้เท่าทันเหตุการณ์อย่างนี้แล้ว เรื่องโทสะ โมหะ โลภะ เข้าใจว่าเป็นของไม่ดี เราก็เลิกมันได้ ถ้าเรายังไม่เห็น เลิกมันไม่ได้ แต่ความเป็นเองนั่น มันเป็นอยู่อย่างนั้น เรียกว่าสิ่งนั้นมันมีอยู่อย่างนั้น จะรู้ก็มีอยู่อย่างนั้น ไม่รู้ก็มีอยู่อย่างนั้น เรียกว่าเป็นสัจจะแท้ ท่านว่าอย่างนั้น
    ดังนั้น คนที่รู้ จึงไม่เอาสิ่งนั้นเข้ามาเป็นเพื่อน แต่มันเป็นเพื่อนแต่ไม่เอาเข้ามาเป็นเพื่อน จึงว่า เมืองคนดี แต่ให้เป็นคนดี เมืองคนดี แต่เป็นคนไม่ดี เอาสิ่งนั้นมาเป็นเพื่อน เอาสิ่งนั้นมาปกครอง แต่ว่าเมืองคนดี ร่างกายนี้ดีแล้ว แต่เอาจิตใจชนิดนั้นเข้ามาครองในทางที่ไม่ดี เรียกว่าเป็นคนไม่ดี ท่านว่าอย่างนั้น เมืองคนดี กลับเป็นคนไม่ดีนี่ คนไม่ดีจึงพูดคำหยาบคาย คนไม่ดีจึงทำความผิด คนไม่ดีจึงคิดผิดตี้ ถ้าเมืองคนดี เป็นคนดีเข้ามาอยู่ เราก็ทำดี พูดดี คิดดีตี้ อันนี้เราไม่เข้าใจความหมาย แต่เพียงเราพูดได้
    อันคำพูดนั้นจึ่งว่า ร้อยคำ พันคำ หมื่นคำ แสนคำก็ตาม สู้การกระทำให้เห็นแจ้งครั้งเดียวไม่ได้ สู้การกระทำให้เห็นแจ้งครั้งเดียวไม่ได้ เมื่อการกระทำเห็นแจ้งครั้งเดียวแล้ว มันซาบซึ้งตรึงใจอยู่กับสิ่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้นจึงว่ามันก็มีอยู่ในนั้น แต่ไม่เอาสิ่งนั้นเข้ามาใช้เท่านั้นเอง
    ดังนั้น สิ่งนี้แปลว่าไม่ยึด ไม่ถือ คำว่าไม่ยึด ไม่ถือ มันพูดได้ แต่มันไม่หลุดออกจากกัน เมื่อมันไม่หลุดออกจากกัน มันก็ต้องติดเหมือนกับลูกโซ่ มันเป็นเปาะ..เป็นเปาะ เกาะกันไว้อย่างนั้น เมื่อเรามีสะไบ(ตะไบ) หรือมีเพชรหรือมีอะไรตัด...ตัดออกไปแล้ว มันก็เกาะกันไม่ได้ อ้าว...สมมุติให้ฟัง มีกระจกบานหนึ่ง มาตั้งไว้ที่ตรงนี้ เราอยู่ด้วยกันนี่หลายคนนี่ แต่รูปของทุกคนมองเข้าไปหน้ากระจก ต้องไปอยู่ในกระจกทั้งหมด กระจกนั้นไม่รู้สึกว่ามันหนัก เมื่อหันหน้ากระจกออกไปแล้ว รูปภาพในหน้าของเรานี่ จะไม่มีอยู่ในกระจกเลย อันนี้ก็ฉันนั้น
    แต่เมื่อเรารู้แจ้ง เห็นจริงแล้ว รูปภาพอันนั้นมีอยู่ แต่กระจกไม่หนัก เราก็เหมือนกัน แต่ฟังเสียงพูดนั้น ฟังได้ จะพูดดีก็ฟังได้ จะพูดชั่วก็ฟังได้ ตาเราก็มองเห็นได้..การกระทำของบุคคล แต่มันไม่หนัก แสดงว่ามันไม่ยึดแล้ว มันขาดออกจากกันแล้ว ท่านว่าอย่างนั้น อันนี้รู้ต้องรู้ไปอย่างนี้ เป็นขั้นเป็นตอนไปอย่างนี้ เพราะว่ามันไปตามส่วนของมัน เหมือนกับมือเรานี้ มันมีข้อมือ กำมือได้ เหยียดมือได้ มันเป็นข้อตามจังหวะๆ ของมันไป
    ดังนั้น การที่หลุดแล้ว ก็หลุดไปตามจังหวะของมันไป หลุดทีแรก เรื่องรูปนาม หลุดที่สองเข้าไป เรื่องโทสะ โมหะ โลภะ หลุดไปขั้นที่สาม หลุดเรื่องความยึดมั่นถือมั่น หลุดไปขั้นที่สี่ หลุดเรื่องที่เรียกว่ามีศีล มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ศีลจึ่งไม่ไปยึดอยู่กับตำรา ดูเอาใจทีเดียว ศีลอยู่ในตำรานั้นมันหนัก มันมาก รักษาไม่ไหว เพียงรักษาเห็น รู้ เข้าใจ จิตใจมันนึกมันคิด มันก็เสร็จเรื่องกับการรักษาศีล การกินเจก็เหมือนกัน การให้ทานก็เหมือนกัน ทุกสิ่งทุกอย่างมันหลุดไปอย่างนี้ เป็นขั้นเป็นตอนของมันไปอย่างนี้
    หลุดออกไปขั้นต่อไป เราพูดกันว่าความสงบ คำว่าความสงบเนี่ยะ สงบโดยวิธีไหน เราจะรู้ ไม่ใช่นั่งสงบ, สงบจากความพ้นไป สงบจากความหลุดพ้น สงบจากการที่ไม่รู้ เพราะมันรู้ มันเห็น มันเข้าใจ อันนี้แหละเป็นการเจริญสติแท้ๆ แต่ว่าไม่กำหนดรู้ แต่เพียงรู้ ถ้ากำหนดรู้ มันหนัก เรียกว่ารู้กายทีแรก เรียกว่ากายานุปัสสนา ไม่ใช่กายในกายนะ ไม่ใช่กายในกายเข้าไปตับ ไต ไส้ ปอดนะ อันนี้แปลว่ารู้กาย เวทนา รู้การเคลื่อนไหว เวทนาหมายถึงการเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็รู้..นี่ อันนี้เรียกว่ารู้กาย
    บัดนี้รู้...เรียกว่า...รูปบัดนี่ เรียกว่าการเคลื่อนไหว กำหนดรู้ รูปเนี่ยะมันเคลื่อนไหว มันเป็นรูป ต้องให้รู้รูป มันเคลื่อนไหวเป็นเวทนา จิตมันคิด รู้มัน ธรรมอันทำให้จิตใจคิดนั่นน่ะ เราต้องรู้ธรรมในธรรม แต่ว่าไม่กำหนดมัน มันรู้เอง อันนี้เรียกว่าสติปัฏฐาน 4
    อริยสัจ 4 บัดนี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ เพราะเกิดมาเป็นก้อนทุกข์ เป็นรูปนี้เป็นก้อนทุกข์ เป็นก้อนทุกข์ สมุทัยทำให้ทุกข์เกิด คือ ตัวคิดนั่นเอง เมื่อมันคิดออกไป เราไม่รู้ มันสร้าง..(เน้นเสียง)..ขึ้นมา เรียกว่า สังขาร มันปรุงขึ้นมาเป็นเรื่องเป็นราว เพราะเราไม่รู้ทันนั่นเอง ตัวสมุทัยจึ่งให้ละ ทุกข์จึงกำหนดรู้ ท่านว่าอย่างนั้น แต่เราไม่กำหนด เพียงแต่รู้ มันเคลื่อนไหว เรารู้ มันเป็นก้อนทุกข์ เราก็เลิก ละมันได้
    ตัวสมุทัยทำให้ทุกข์เกิด คือ ตัวคิดนั่นเอง ถ้าเราเห็นมันคิดแล้ว ความคิดมันหยุด จึงว่าสมุทัยต้องละ มันละ กับมันหยุด ก็เป็นอันเดียวกัน
    มรรค ต้องเจริญ ว่าซั่น มรรค ต้องทำ พลิกมือ คว่ำมือ เคลื่อนไหวไปมา ต้องทำ มรรคต้องเจริญ คำว่าเจริญ ก็ต้องทำนั่นเอง ทำให้มาก พริบตาก็รู้ หายใจก็รู้ อันนี้คนอื่นมองเห็น กำมือ เหยียดมือ เคลื่อนไหว เอียงซ้าย เอียงขวา ก้มเงย มันเป็นของหยาบ พริบตา ละเอียดเข้าไป มันละเอียดก็มัน...มันมองไกลไม่เห็น หายใจ ละเอียดเข้าไป เราก็ต้องศึกษาตามหลักการเหล่านี้ มันละเอียดเข้าไป
    ส่วนคิดนี่ คนอื่นมองไม่เห็น บัดนี้..นี่ แต่ตัวเองก็ยังไม่เห็น ไม่รู้แล้วนี่ อันนี้เรียกว่า อริยสัจ 4 คือ ทุกข์-รู้ เพราะการเคลื่อนไหว สมุทัย ทำให้ทุกข์เกิด ตัวสมุทัย คือตัวคิด มันคิด เราต้องรู้ พอดีเห็น รู้ เข้าใจ ความคิดมันหยุด แปลว่า สมุทัยต้องละ มรรคต้องเจริญ มรรคต้องทำ ทำบ่อยๆ มากขึ้นๆ มันเป็นอย่างนั้น
    นิโรธจึงว่าทำให้แจ้ง ให้แจ้งคืออะไร มันเห็น มันรู้ มันเข้าใจ วิธีกลไกเทคนิคของจิตใจ...รู้ ไม่ใช่จะไปจำเอากับตำรา อันคนไปจำเอากับตำรา..ตำรับตำรานั้น ดีแล้ว แต่ว่ามีทุกข์บ้างมั้ย ถ้ามีทุกข์ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าคนนั้นไม่มีทุกข์ ก็ดีแล้ว ดีเหมือนกัน แต่ที่เราไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนนั้น ก็ต้องรู้อันนี้ รู้จริงๆ เรื่องนี้ อันนี้เรียกว่า อริยสัจ 4 และสติปัฏฐาน 4 ไม่ต้องแปลอะไรมาก ทำเพียงเท่านี้แหละ มันจะรู้......( จบหน้า A )
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 30 สิงหาคม 2007
  2. สุริยันจันทรา

    สุริยันจันทรา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    766
    ค่าพลัง:
    +4,588
    หน้า B
    .......ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน หรือฌานมีองค์ 5 หรือฌาน 10 อะไร.. อะไร..โอ๊..จิปาถะ ไม่ต้องพูดอย่างนั้นก็ได้ เราจะเห็นว่ามันหลุดไปจากสิ่งเหล่านั้นแล้ว เราก็ต้องไม่ไปทุกข์กับสิ่งเหล่านั้น เพราะมันพ้นไปแล้ว นิโรธจึงว่าทำให้แจ้ง พ้นไปสิ่งเหล่านั้น เราก็ต้องไม่ไหว้ผีได้ หรือจะไหว้ผีก็ได้ แต่คนไม่มีหูมีตา ก็นึกว่าเขาไหว้ผีจริง แต่ความจริง เขาเคารพตัวของเขา ยกมือไหว้อย่าง...เคารพตัวของเราเอง เราทำดีแล้ว รูปอันนี้มันทำดีแล้ว คำพูดพูดออกไปนี่ พูดดีแล้ว ใจนี่มันคิดออกมานี่ คิดดีแล้ว เขาเรียกว่าเคารพตัวเอง ไหว้ตัวเอง เห็นตัวเอง ไม่เป็นคนประมาท ท่านว่าอย่างนั้น
    ดังนั้น ขั้นแรกต้องรู้รูปนามก่อน ขั้นที่สองต่อไปนะ ไม่ต้องพูดไปให้มันมาก ต้องเห็น รู้ เข้าใจเรื่องโทสะ โมหะ หลุดพ้นไปแล้ว เวทนาจึงไม่ทุกข์ สัญญาเรียกว่าไม่ต้องจำ สังขารไม่ต้องปรุง วิญญาณแปลว่ารู้ วิญญาณไม่ใช่ตายแล้ว ล่องลอยไปเข้าท้องคนนั้น ไปเข้าท้องคนนี้ กลับมาเกิดเป็นคน อันนั้นมันเป็นวิญญาณของบุคคลผู้รู้อย่างนั้น แต่ความจริงตัวเองเข้าใจว่าวิญญาณคือรู้ ตาเรามี..บัดนี่ ตาหมดวิญญาณก็ไม่เห็น ไม่รู้ หูเรามี..บัดนี่ แต่หมดวิญญาณ...ไม่เห็น..ไม่รู้ จมูกเรามี หมดวิญญาณ ไม่รู้เหม็น ไม่รู้หอม ปากเรามี กินข้าวไม่รู้รส กายเราก็เหมือนกัน รูปนี่ หมดวิญญาณ...ไม่รู้สึกตัว ใจหมดวิญญาณ ก็คิดไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้น จึงว่า ต้องมีวิญญาณ วิญญาณจึงเป็นการรู้แจ้ง รู้จริง เท่านั้นเอง
    ดังนั้น คำว่าวิญญาณเนี่ยะ มันมีหลายคำที่สลับซับซ้อนกัน เราจะไปให้คนนั้นไม่รู้...ห้ามไม่ได้ ห้ามไม่ได้ ถ้าเขาทำถูกจังหวะแล้ว เหมือนกับลูกกุญแจนี่ ซุกเข้าไปสอดเข้าไปนะ บิดเข้าไปถูกจังหวะ มันไขเอง มันเป็นธรรมชาติของมันจริงๆ เรื่องโทสะ โมหะ โลภะ ก็เช่นเดียวกัน เรื่องความยึดมั่นถือมั่นก็เช่นเดียวกัน เขาเรียกอุปาทาน มีเช่นเดียวกัน..บัดนี่ หรือศีลที่เป็นปกติก็เช่นเดียวกัน หรือความสงบก็เช่นเดียวกัน เมื่อเห็น รู้ เข้าใจแล้ว มันจะพ้นไปจากสิ่งที่ไม่รู้ มันจะหมดไปกับสิ่งที่ไม่รู้ มันจึงว่า นิโรธจึงทำให้แจ้ง มรรคจะต้องเจริญ แน่ะ...มันเป็นอย่างนั้น
    บัดนี้ เมื่อถึงที่สุดทุกข์ คือ เราจะรู้จำพวกไปนั่งสงบว่า กาม พวกนั้นติดอยู่ในกาม กามาสวะ ตกอยู่ในอาสวะคือกาม ภวาสวะ ตกอยู่ในภพอันนั้น อวิชชาสวะ เขาไปไม่ได้ เพราะมันมียางเหนียว ดังนั้น สิ่งเหล่านั้นจึงหลุดพ้นไม่ได้ แม้ใครจะพูดยังไงก็ตาม ตกอยู่ใน 3 ประเภทนี้เอง กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อวิชชาคือความไม่รู้จริง ท่านว่าอย่างนั้น
    ดังนั้น พวกที่ไม่รู้ ให้เขาทำไปก่อน แม้เขาอยู่ด้วยทุกข์ เขาจะไม่รู้ทุกข์ แต่เมื่อเขาเห็นแจ้ง เขาก็ออกจากทุกข์ได้ เพราะเขาเห็นทุกข์ เบื่อหน่าย คลายกำหนัด เขาว่าอย่างนั้น แต่อันนั้นเป็นคำพูด มันไม่ต้องเบื่อ ไม่ต้องหน่าย แต่มันหลุดพ้นไปจาก.... ความหลุดพ้นนั้น คือการเห็นแจ้ง ถ้าไม่เห็นแจ้งจะหลุดพ้นไม่ได้ เป็นอย่างนั้น
    ดังนั้น การพูดธรรมะให้ฟังวันนี้ เพื่อจับใจความ นำไปใช้ให้มันได้ แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เป็นถึงที่สุดของทุกข์ ที่เล่ามานี่ ต่อไป แต่อารมณ์นั้นไม่ต้องพูดไปมาก ตอนที่ถึงที่สุดของทุกข์ พูดวานนี้ก็พูดแล้ว ที่ไหน อาตมาก็พูดอย่างนั้น เหมือนกับสำลีที่มันมีน้ำ สำลีที่มีน้ำ เราบีบออก สำลีมันจะคายน้ำจนหมดเลย เหมือนกับผ้า ที่สมัยนี้เขามีผ้าไนล่อน...อะไร ไปชุบน้ำ แต่ผ้าน่ะมันไม่จุ่มเอาน้ำเลย แต่..ผ้า..น้ำก็ติดขึ้นมา พอดียกขึ้น น้ำมันจะไหลออกหมดเลย มันเป็นอย่างนั้น เหมือนกัน(เน้นเสียง) จึงว่า มันหลุดแล้ว สิ่งนั้นออกจากกันแล้ว แต่มันก็อยู่ด้วยกันได้ เพราะว่าคนนี่มันต้องกินข้าวปลาอาหารได้ เรื่องอาหารใหม่ อาหารเก่านั้น จะทำให้เป็นอย่างนี้ไม่ได้ อาหารกินเข้าไปในท้องแล้วนี่ จะทำให้หมดทุกข์ได้? ไม่ได้ แต่อาหารยังไม่ได้กิน จะทำให้หมดทุกข์ได้? ไม่ได้ เพียงแต่มาเลี้ยงร่างกายเท่านั้นเอง แต่ร่างกายนี้จะรู้อะไรไม่ได้
    ดังนั้น อาหารใหม่ อาหารเก่านั้นน่ะ จะมาทำให้รู้แจ้ง เห็นจริง หลุดพ้นได้? ไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติของสัตว์ มันต้องเป็นอย่างนั้น ดังนั้น การกินข้าวปลาอาหาร ใครจะกินอันใดก็ได้ แต่ขอให้ทำถูกต้อง ถ้าไม่กินข้าว ทำไม่ถูกต้อง ก็ไม่รู้ ไม่หลุด ถ้ากินข้าว ทำไม่ถูกต้อง ก็ไม่รู้ ไม่หลุด ไม่กินข้าว ถ้าทำถูกต้อง ก็รู้ ก็หลุดได้ มันเหมือนกัน กินก็ได้ ไม่กินก็ได้ ถ้าทำถูกต้องนะ มันก็ต้องรู้ ต้องหลุดได้ ถ้าทำไม่ถูกต้อง กินก็ไม่ได้ ไม่กินก็ไม่ได้ เพราะเรื่องมันเป็นคนละเรื่อง
    ดังนั้น อันความรู้สึกตัวได้น้อยเนี่ยะ มันเป็นผลที่พลอยได้ มันเป็นผลที่พลอยได้ ดังนั้น เขาเปรียบเอาไว้ การตักบาตรครั้งเดียว ได้ผลา 6 กัปป์ อาตมาเคยเป็นเณร ไปอ่านหนังสือให้คนฟัง ไปส่งอาหารพระตอนเช้า ได้ผลา 5 กัปป์ ไปส่งอาหารตอนกลางวัน ได้ผลา 4 กัปป์ กัปป์หนึ่งกว้าง 100 โยชน์ ลึก 100 โยชน์ ร้อยปีของเมืองคน จึ่งเป็นปีทิพย์ของเทวดา 1 ปี ร้อยปีของเมืองคนนะ จึ่งเป็นปีทิพย์ของเทวดา 1 ปี เทวดาจึงเอาเมล็ดงาไปทิ้งลงที่ในบ่อ กว้าง 100 โยชน์ ลึก 100 โยชน์นั้น ให้ราบเตียนหมดแล้ว นั้นเป็น 1 กัปป์ ท่านว่าอย่างนั้น
    บัดนี้ เราไปใส่บาตรเพียงครั้งเดียว ได้ 6 กัปป์ บัดนี่ แล้วบัดนี้ เอายา...กับกาพระ หรือยากาหม่องเนี่ยะ เราตื่นมา เอาไปทิ้งใส่ทุกวัน ตื่นมา จนตาย ก็ไม่ได้...ไม่ได้เต็มเลย เป็นอย่างนั้น เนี่ยะ..เราไม่เข้าใจคำพูดสั้นๆ อย่างนี้ แล้วเราไปตีปัญหมปัญหากันเป็นเรื่องอื่น อันความรู้สึกตัวนี่แหละ อันกว้างร้อยโยชน์ก็หมายถึงเราไม่รู้สึกตัว หรือโมหะนั่นเอง มันมีโทสะ โมหะ โลภะ
    บัดนี้ เม็ดหมากงาคือรู้สึกตัวนี่เอง เมื่อรู้เข้า ๆ ๆ ก็เลยรู้ทุกส่วน รู้ข้อมือ รู้ข้อข้อมือ รู้ข้อเข้า รู้ข้อศอก รู้ข้อแขน รู้ไปทุกข้อทีเดียว เมื่อรู้ทุกข้ออย่างนั้นนะ สมมุติพูดนะ มันจะรู้ลักษณะความเป็นมาอย่างนั้นๆ ไม่ต้องไปเรียนพระไตรปิฎกก็ได้ เพราะมันมีในเรา จึ่งมาศึกษาที่ตัวเรา กว้างศอก ยาววา หนาคืบนี้ มีพร้อมแล้วให้เราศึกษาได้ทุกอย่างทีเดียว เมล็ดงาก็หมายถึงความรู้สึก หรือจะว่าสติก็ได้ อันมันกว้างร้อยโยชน์ก็หมายถึงเราไม่รู้สึกตัว เราเป็นคนประมาท คนประมาทนั้น ท่านจึงกล่าวเอาไว้ในตำราว่า เหมือนกับคนตายแล้ว ถึงจะมีชีวิตอยู่ก็เหมือนกับคนตายแล้วนั่นว่า เพราะว่ามันไม่รู้สึกตัวนี่ จะมีค่ามีคุณอะไร จึงว่า เมืองคนดี แต่เป็นคนไม่ดี ท่านว่าอย่างนั้น
    เมืองคนดี ต้องเป็นคนดี ก็คือรู้สึกนั่นเอง คือเมล็ดงามันเต็มแล้ว นั้นแหละจึงว่าเป็นกัปป์เป็นกัลล์ขึ้นมา เรียกว่า พระศรีอริยเมตไตรย์จึงมาตรัสรู้ ท่านว่าอย่างนั้น แต่เราก็เลยไปติดเอาตำรา..ตัวอาตมาเอง พระศรีอริย-เมตไตรย์มีอายุ 80,000 ปี แล้วจะมาเป็นมหากษัตริย์อยู่ 40,000 ปี จะไปประกาศพุทธศาสนา 40,000 ปี เราทำบุญให้ทาน ปรารถนาอยากไปเกิดที่ตรงนั้น แล้วมันจะไปเกิดได้ทำไม อันนั้นมันเป็นปุคคลาธิษฐาน เรื่องสมมุติเอามาพูดให้ฟัง จึงให้รู้จักสมมุติจริงๆ พระแปลว่าผู้ประเสริฐ ศรีคืองามตา ริแปลว่าข้าศึก ยะแปลว่าพ้นไป เรียกว่า พระศรีอริยเมตไตรย์ ลักษณะทั้งนี้แหละ รู้ได้ จึงว่า สิ่งนี้แหละเป็นสมบัติของพระอริยบุคคลก็ได้ สิ่งนี้แหละเป็นสมบัติของมนุสสภูโตก็ได้ สิ่งนี้แหละเป็นสมบัติของมนุษ์ก็ได้ แล้วแต่จะพูดสมมุติขึ้นมาเท่านั้นเอง
    ดังนั้น เรามาที่นี่ วันนี่ อาตมาก็จะได้ลาจากพรรคพวกเพื่อนภิกษุสามเณร และญาติโยมทุกท่าน เพราะว่ามาตั้งแต่วันที่ 2 วันนี้ก็เป็นวันที่ 8 แล้ว จะกลับไปที่ทางโน้น เรียกว่า วัดสนามใน เพราะว่าวัดสนามในก็นัดเพื่อน ไม่ใช่เรานัด เพื่อนนัดเรามา ให้มาพบวันที่ 7 วันที่ 7 ก็เลยไม่ได้ไป วันนี้ก็ต้องเป็นวันที่ 8 แล้ว
    ดังนั้น การเจริญสติก็ดี การเจริญสมาธิก็ดี การเจริญปัญญาก็ดี มันเป็นเพียงสมมุติ ให้เรารู้ว่าสมมุติ อย่าไปติดสมมุติ ถ้าคนใดไปติดสมมุติ แน่นปึ๊ดอยู่กับสมมุติ แสดงว่าคนนั้นแหละเรียกว่า วัฏฏสงสารยืนยาวนานสำหรับบุคคลผู้ที่ไม่รู้ธรรม หาบของหนักอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา
    ดังนั้น เราจะวางภาระอันหนัก ภาราหาเว ปัญจะขันธา ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนัก เราต้องรู้จัก ขันธ์ห้าคืออะไร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เอง เป็นของหนัก เราปล่อยเสียแล้วนี่ ปล่อยของหนักแล้ว รูปไม่เป็นทุกข์ เวทนาไม่เป็นทุกข์ สัญญาไม่เป็นทุกข์ สังขารไม่เป็นทุกข์ วิญญาณจึ่งรู้สภาพไม่เป็นทุกข์นี่เอง วิญญาณจึงเป็นผู้รู้ ไม่ใช่วิญญาณตายแล้วไปเกิดเมืองสวรรค์ ไม่ใช่วิญญาณตายแล้วไปเกิดนิพพาน อันนั้นเอาไว้ก่อน ต้องศึกษาลักษณะปัจจุบัน ถ้าเราไม่ศึกษาลักษณะปัจจุบันแล้ว เราก็ไม่รู้ทุกข์ เมื่อเราไม่รู้ทุกข์ เราก็ขยับเข้าไปหาทุกข์นั่นเอง
    ดังนั้น คนรู้ทุกข์ กับคนไม่รู้ทุกข์ จึงมันไม่เหมือนกัน รู้ทุกข์น้อย มันก็...ทุกข์ก็หมดไปน้อย ถ้ารู้มากๆ ทุกข์มันก็หมดไปมาก ถ้ารู้ทุกข์ให้จบให้สิ้น ทุกข์ก็เลยไม่มีเลย เพราะเราเห็นแล้ว แต่ทุกข์ก็มี แต่ทุกข์นั้นจะมาทำอะไรกับเราไม่ได้ เพราะเราเป็นใหญ่ในทุกข์ ถ้าเราเป็นน้อย ก็ทุกข์แล้ว..(พูดกลั้วหัวเราะ)..มันก็...ทุกข์ก็ต้องบังคับเราได้
    อาตมาก็เคยพูดให้ฟัง ถ้าเราจะเป็นนักมวยจริงๆ แล้ว อย่าไปฝึกหัดกับครูมาก ฝึกหัดกับตัวเองให้มาก ถ้าไปฝึกหัดกับครูแล้ว...อาจจะได้ผลน้อย ถ้าฝึกบ่อยๆ กับคู่ต่อสู้ ขึ้นในเวทีต้องชกทันที แพ้-ชนะมันเป็นเกมส์กีฬา เมื่อชำนาญ เปรียว ไว คล่องแคล่ว ขึ้นไปในเวที ไม่ต้องไหว้ครูอะไร คู่ต่อสู้เข้ามา ชกหลุมตาทีเดียว ชกเข้าเบ้าตาสองตานี่เลย คู่ต่อสู้จะสู้เราไม่ได้จริงๆ
    อันนี้ก็เช่นเดียวกัน พอดีมันคิดปุ๊บ เห็นปั๊บทันที ความคิดถูกหยุดเลย จะไม่มีเรื่องอะไรเลย มันจะกระทบกัน พอดีกระทบปุ๊บ มันแตกทันทีเลย พอดีมันแตกกะที มันก็เข้าสู่สภาพเดิมของมันจริงๆ
    ถ้ามันไม่แตกแล้ว มันจะไม่เข้าสู่สภาพของมันจริงๆ นี่ ที่อาตมาเปรียบให้ฟัง เหมือนกับเชือกไนล่อน หรือจะเป็นยางก็ตาม ผูกส้นนั้นไว้กับเสานั้น ผูกส้นนี้ไว้กับเสานี้ เรามาตัดตรงกลาง ตัดปุ๊บ มันจะสะท้อนเข้ามาติดตรงนี้ทันทีเลย อันนั้นก็จะติดเข้าทันทีเลย
    จังว่า มันขาดออกจากกันแล้ว มันก็สะท้อนเข้าไปอยู่กับธรรมชาติของมัน ที่มันดึงเข้าไปผูกกันได้นั่น อันนั้นมันเป็นยางเหนียว มันเป็นยางเหนียว ท่านจึงให้รู้ เห็น เข้าใจ เรื่องอุปาทาน เรียกว่า กิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม ก็เสวยทุกข์อันนั้นแหละ แต่เราไม่รู้ทุกข์อันนั้นแหละ จึงออกจากทุกข์ไม่ได้
    คนที่รู้ทุกข์ เห็นทุกข์ แต่เขาไม่ได้อยู่ด้วยทุกข์ แต่อยู่ด้วยทุกข์ เขาจะไม่เข้าไปในทุกข์
    เอาแหละ วันนี้ที่นำธรรมะมาเล่าให้ฟังในตอนเช้าวันนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว เพราะว่าการพูดนี้ มีประโยชน์น้อยกับพวกคุณ หรือพวกท่าน แต่มีประโยชน์มากสำหรับพวกคุณพวกท่าน นำไปปฏิบัติ ให้มันรู้สึกตัว รู้แล้วปล่อยไป รู้แล้วปล่อยไป ไม่ต้องเข้าไปยึดไปถือ และความเป็นเอง มันจะเป็นเอง แต่ไม่ทำ ไม่เป็น รู้เฉยๆ ไม่เป็น รู้เท่าไรก็ไม่เป็น เป็นอย่างนั้น
    วันนี้จึงขอหยุดในการพูด การคุยกับพวกเราแล้ว ก็จะขอวิงวอนเอาถึงคุณของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าในประเทศอินเดียพู่นนะ ที่พูดนี้นะ พระพุทธเจ้าคือตัวสติ ตัวสมาธิ ตัวปัญญาที่มีอยู่ในเรานี่แหละ จะเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา
    ท้ายที่สุดนี้ อาตมาจึงขออ้างอิงเอาคุณของพระพุทธเจ้า และพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และคุณของพระอรหันตสาวกพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเตือนจิตสะกิดใจของพวกเรา ให้พวกเรา ได้ทำความเข้าใจกับความรู้สึกนี่แหละ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ดีแล้ว จึงว่า สัตว์ทั้งหลาย เราผู้เป็นตถาคต ไปถึงแล้วแห่งนั้น แล้วจึงนำมาสอนพวกเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทำอย่างที่เราตถาคตนี้ และก็จะรู้อย่างเราตถาคตนี้ แล้วก็จะเห็นอย่างเราตถาคตนี้ ก็จะหลุดพ้นไปอย่างเราตถาคตนี้ อันนี้ เราไม่ทำ ไม่ทำ มันจะเป็นมั้ย? เหมือนกับลูกกุญแจนั่นเอง ไม่ใช่เป็นลูกของมัน มันจะไปไขมันออกมาใด้ทำไม
    ดังนั้น ต้องทำอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านว่า ให้มีความรู้สึกตัว อย่าไปกำหนดมาก อันว่ารู้สึกตัว กับกำหนดเนี่ยะ มันผิดกันนะ อันนี้เรียกว่าสติ ความระลึกได้ แต่ไม่ต้องระลึกถึงวานนี้ ไม่ต้องระลึกอะไร คือว่า รู้สึกตัวนั่นแหละ เป็นการที่สัมผัส หรือว่าผัสสะ หรือว่าระลึกได้ หรือว่ารู้ได้ เท่านั้นเอง
    ต่อเมื่อเรากระทบสิ่งแข็งๆ กระทบกัน แตกออกจากกันแล้ว มันเข้าสู่สภาพเดิม นั้นแหละ คือรู้แจ้ง รู้จริง ผิดไปจากธรรมชาติเดิมแล้ว ขอให้พวกเราทุกคนๆ ได้พบเอาในชีวิตนี้ จงทุกท่านทุกคน เทอญ
    <!--mstheme-->
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • normal.jpg
      normal.jpg
      ขนาดไฟล์:
      41.5 KB
      เปิดดู:
      72

แชร์หน้านี้

Loading...