ทาน ศีล ภาวนา - หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย กล่องธรรม, 27 กุมภาพันธ์ 2013.

  1. กล่องธรรม

    กล่องธรรม สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 กันยายน 2011
    โพสต์:
    5
    ค่าพลัง:
    +19
    [​IMG]

    ทาน ศีล ภาวนา
    พระภูริทัตตเถระ ( หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)



    จดจารึกโดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (พระญาณสัมปันโน บัว)

    ทาน

    ทาน คือ เครื่องแสดงน้ำใจของมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง ผู้มีเมตตาจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ผู้อาภัพ ด้วยการให้ทานเสียสละแบ่งปันมากน้อยตามกำลังของวัตถุเครื่องสงเคราะห์ที่มีอยู่ จะเป็นวัตถุทาน ธรรมทาน หรือวิทยาทานแขนงต่างๆก็ตาม ที่ให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยมิหวังค่าตอบแทนใดๆ นอกจากกุศลคือความดีที่เกิดจากทานนั้น ซึ่งจะเป็นสิ่งตอบแทนให้เจ้าของทานได้รับอยู่โดยดีเท่านั้น ตลอดอภัยทานที่ควรให้แก่กัน ในเวลาอีกฝ่ายผิดพลาดหรือล่วงเกิน

    คนมีทานหรือคนที่เด่นในการให้ทานย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผยและเด่นในปวงชน ผู้เช่นนี้มนุษย์และสัตว์ตลอดเทวดาก็เคารพรัก จะตกทิศใดแดนใดย่อมไม่อดอยากขาดแคลนหากมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ไม่อับจนทนทุกข์ แม้ในแดนมนุษย์เรานี้ก็พอเห็นได้อย่างเต็มตารู้ได้อย่างเต็มใจว่า ผู้มีทานเป็นเครื่องประดับตัวย่อมเป็นคนไม่ล้าสมัยในสังคม และบุคคลทุกชั้นไม่มีใครรังเกียจ

    อำนาจทาน ทำให้ผู้มีใจบริจาคเกิดความเคยชินต่อนิสัยจนกลายเป็นผู้มีฤทธิ์ บันดาลไม่ให้อดอยากในภพที่เกิด กำเนิดที่อยู่นั้นๆ ฉะนั้น ทานและคนที่มีใจเป็นนักให้ทานเสียสละ จึงเป็นผู้ค้ำจุนโลกให้เฟื่องฟูตลอดไป โลกที่มีการสงเคราะห์กันอยู่ ยังจัดเป็นโลกที่มีความหมายตลอดไป

    ทานจึงเป็นสาระสำคัญสำหรับตัวและโลกทั่วๆ ไป ผู้มีทานย่อมเป็นผู้อบอุ่นและหนุนโลกให้ชุ่มเย็น
    ไม่เป็นบุคคลและโลกที่แห้งแล้งแข่งกับทุกข์ตลอดไป


    ศีล

    ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเมตตาสั่งสอนฆราวาสให้รู้คุณของศีล และรู้โทษของความไม่มีศีล
    ว่า ศีล คือ รั้วกั้นความเบียดเบียน และทำลายร่างกายและจิตใจของกันและกัน ศีลคือพืชแห่งความดีอันยอดเยี่ยมที่ควรมีประจำชาติมนุษย์ไม่ปล่อยให้สูญหายไปเสีย เพราะมนุษย์ที่ไม่มีศีลเป็นรั้วกั้นและเป็นเครื่องประดับตัว ก็คือกองเพลิงแห่งมนุษย์เราดีๆ นี่เอง

    การเบียดเบียนทำลายกันย่อมเป็นไปทุกย่อมหญ้า และทั่วโลกดินแดน ไม่มีเกาะมีดอนพอจะเอา
    ศีรษะซุกนอนให้ปลอดภัย แม้โลกจะเจริญด้วยวัตถุจนกองสูงกว่าพระอาทิตย์บนท้องฟ้า แต่ความรุ่มร้อนแผดเผาจะทวีคูณยิ่งกว่าพระอาทิตย์เป็นไหนๆ โลกจะไม่มีที่ปลงใจได้เลย ถ้ายังมัวคิดว่าวัตถุมีค่ามากกว่าศีลธรรม

    เพราะศีลธรรมเป็นสมบัติของจอมมนุษย์คือพระพุทธเจ้า ผู้ค้นพบและนำมาประดับโลกที่กำลังมืดมัวกลัวทุกข์ พอให้สว่างไสวร่มเย็นควรให้อาศัยได้บ้างด้วยอำนาจศีลธรรมเป็นเครื่องปัดเป่ากำจัด
    ศีลจึงเป็นเหมือนยาปราบโรคทั้งโรคระบาดและโรคเรื้อรัง อย่างน้อยก็พอให้คนไข้ที่สุมด้วยกิเลสกินอยู่หลับนอนได้บ้าง ไม่ถูกบีบคั้นด้วยโรคที่เกิดแล้วไม่ยอมหายนี้ตลอดไป มากกว่านั้นโรคนี้ก็หายขาดอยู่สบาย

    คำว่าศีลแท้จริงเป็นไปด้วยความมีสติ รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร ระวังการระบายออกทางทวารทั้งสาม
    คอยบังคับกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในขอบเขตของศีลที่เป็นสภาพปกติ ไม่คะนองกาย วาจา ใจ

    อานิสงส์ของการรักษาศีล ๕
    ๑. ทำให้อายุยืนปราศจากโรคภัยเบียดเบียน
    ๒. ทรัพย์สมบัติที่อยู่ในความปกครอง มีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย
    ๓. ระหว่าง ลูก หลาน สามี ภรรยา อยู่ด้วยกันผาสุก ไม่มีผู้คอยล่วงล้ำกล้ำกราย
    ต่างครองอยู่ด้วยความเป็นสุข
    ๔. พูดอะไรมีผู้เคารพเชื่อถือ คำพูดมีเสน่ห์เป็นที่จับใจไพเราะด้วยสัตย์ด้วยศีล
    ๕. เป็นผู้มีสติปัญญาดีเฉลียวฉลาด

    ภาวนา

    ภาวนา คือ การอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผล อรรถธรรมรู้จักวิธีปฏิบัติต่อตนเองและสิ่งทั้งหลาย ไม่ให้จิตผาดโผนโลดแล่นแบบไม่มีฝั่งมีฝา ยึดการภาวนาเป็นรั้วกั้นความคิดฟุ้งของใจให้อยู่ในเหตุผล อันจะเป็นหนทางแห่งความสงบสุขใจที่ยังมิได้รับการอบรมจากภาวนา

    ใจควรได้รับรู้ในเรื่องของตัวเองเสียบ้าง จะเป็นผู้ควรแก่การงานทั้งหลาย ทั้งส่วนหยาบส่วนละเอียด ทั้งส่วนเล็กส่วนใหญ่ ทั้งภายในและภายนอก ผู้มีภาวนาเป็นหลักใจจะทำอะไรชอบใช้ความคิดอ่านเสมอ ไม่ค่อยเอาตัวเข้าไปเสี่ยงต่อการกระทำที่ไม่แน่ใจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตนและผู้เกี่ยวข้องตลอดส่วนรวม

    การภาวนาจึงเป็นงานเพื่อผลในปัจจุบันและอนาคต ไม่เสียประโยชน์ทั้งสองทาง ประโยชน์สำคัญคือประโยชน์เฉพาะหน้าที่เรียกว่า “ทิฎฐธรรมมิกัตถประโยชน์” การทำงานทุกชนิดที่ทำด้วยใจของผู้ภาวนาจะสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ขณะที่ทำก็ไม่ทำแบบขอไปที แต่ทำด้วยความใคร่ครวญและเล็งถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากงานเมื่อสำเร็จลงไปแล้ว


    โดย พระภูริทัตโต (หลวงปู่มั่น)

    ที่มา-Bhuddhakhun: ทาน ศีล ภาวนา
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 กุมภาพันธ์ 2013

แชร์หน้านี้

Loading...