ทาน ศีล ภาวนา (พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย apichai53, 31 ธันวาคม 2009.

  1. apichai53

    apichai53 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    630
    ค่าพลัง:
    +2,261
    ทาน
    ........คือ เครื่องแสดงน้ำใจของมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง
    มีเมตตาจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ด้วยการให้ การเสียสละแบ่งปัน มากน้อยตามกำลังของวัตถุเครื่องสงเคราะห์ที่มีอยู่ จะเป็นวัตถุทาน ธรรมทานหรือวิทยาทาน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ นอกจากกุศล คือความดี ที่ได้จากทานนั้น เป็นสิ่งตอบแทนที่เจ้าของทานได้รับอยู่โดยดีเท่านั้น อภัยทานควรให้แก่กันเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งผิดพลาดหรือล่วงเกิน คนมีทานย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผยและเด่นในปวงชน เป็นที่เคารพรักในหมู่ชน จะตกอยู่ทิศใดย่อมไม่อดอยากขาดแคลน จะมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ไม่อับจนทนทุกข์ ผู้มีทานประดับตนย่อมไม่เป็นคนล้าสมัย บุคคลทุกชั้นไม่รังเกียจ ผู้มีทานย่อมเป็นผู้อบอุ่น หนุนโลกให้ชุ่มเย็น การเสียสละจึงเป็นเครื่องค้ำจุนโลกการสงเคราะห์กันทำให้โลกมีความหมายตลอดไป ไม่เป็นโลกที่ไร้ชาติขาดกระเจิงเหลือแต่ซากแผ่นดินไม่แห้งแล้งแข่งกับทุกข์ตลอดไป


    ศีล
    ........คือรั้วกั้นความเบียดเบียนและทำลายสมบัติร่างกาย และจิตของกันและกัน ศีล คือพืชแห่งความดีอันยอดเยี่ยมที่ควรมีประจำชาติมนุษย์ ไม่ปล่อยให้สูญหายไปเพราะมนุษย์ไม่มีศีลเป็นรั้วกั้น เป็นเครื่องประดับตัวจะไม่มีที่ให้ซุกหัวนอนหลับสนิทได้โดยปลอดภัย แม้โลกเจริญด้วยวัตถุจนกองสูงกว่าพระอาทิตย์ แต่ความรุ่มร้อนแผดเผาจะทวีคูณยิ่งกว่าพระอาทิตย์ ถ้ามัวคิดว่าวัตถุมีค่ามากกว่าศีลธรรม ศีลธรรมเป็นเพียงสมบัติของมนุษย์ พระพุทธเจ้าผู้ค้นพบและนำมาประดับโลกที่กำลังมืดมิดให้สว่างไสว ร่มเย็นด้วยอำนาจศีลธรรมเป็นเครื่องปัดเป่า ความคิดของมนุษย์ผู้มีกิเลสผลิตอะไรออกมา ทำให้โลกร้อนจะบรรลัยอยู่แล้ว ยิ่งปล่อยให้ความคิดตามอำนาจโดยไม่มีศีลธรรมช่วยเป็นยาชโลมไว้บ้าง จะผลิตยักษ์ใหญ่ทรงพิษขึ้นมากว้านกินมนุษย์ จนไม่มีอะไรเหลืออยู่บ้างเลย ความคิดของคนสิ้นกิเลสที่ทรงคุณอย่างสูงคือพระพุทธเจ้า มีผลให้โลกได้รับความร่มเย็นซาบซึ้งกับความคิดที่เป็นกิเลส มีผลให้ตนเอง และผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนจนคาดไม่ถึงผิดกันอยู่มาก ควรหาทางแก้ไข ผ่อนหนักให้เบาลงบ้าง ก่อนจะหมดทางแก้ไขศีลจึงเป็นเหมือนยาปราบโรค ทั้งระบาดและเรื้อรัง

    ภาวนา
    ...........คือการอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผลอรรถธรรม รู้จักวิธีปฏิบัติต่อตัวเองและสิ่งทั้งหลาย ยึดการภาวนาเป็นรั้วกั้นความคิดฟุ้งของใจให้อยู่ในเหตุผลอันจะเป็นทางแห่งความสงบสุข ใจที่ยังมิได้รับการอบรมจากภาวนาจึงเปรียบเหมือนสัตว์ที่ยังมิได้รับการฝึกหัด ยังมิได้รับประโยชน์จากมันเท่าที่ควร จำต้องฝึกหัดให้ทำประโยชน์ ถึงจะได้รับประโยชน์ตามควร ใจจึงควรได้รับการอบรมให้รู้เรื่องของตัว จะเป็นผู้ควรแก่งานทั้งหลายทั้งส่วนเล็กส่วนใหญ่ภายนอกภายใน ผู้มีภาวนาเป็นหลักใจจะทำอะไรชอบใช้ความคิดอ่านเสมอ ไม่เสี่ยงและไม่เกิดความเสียหายแก่ตนและผู้เกี่ยวข้อง การภาวนาจึงเป็นงานเพื่อผลในปัจจุบันและอนาคต

    การงานทุกชนิดที่ทำด้วยใจของผู้มีภาวนา จะสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อยทำด้วยความใคร่ครวญเล็งถึงประโยชน์ที่จะได้รับ เป็นผู้มีหลักมีเหตุผลถือหลักความถูกต้องเป็นเข็มทิศทางเดินของกาย วาจา ใจ ไม่เปิดช่องให้ความอยากอันไม่มีขอบเขตเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะความอยากดั้งเดิม เป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา ซึ่งไม่เคยสนใจต่อความผิดถูกดีชั่ว พาเราเสียไปจนนับไม่ถ้วนประมาณไม่ถูก จะเอาโทษมันก็ไม่ได้ยอมให้เสียไปอย่างน่าเสียดาย ถ้าไม่มีสติระลึกบ้างเลยแล้ว ของเก่าก็เสียไปของใหม่ก็พลอยจมไปด้วย ไม่มีวันฟื้นคืนตัว ฉะนั้น

    การภาวนาจึงเป็นเครื่องหักล้างความไม่มีเหตุผลของตนได้ดี วิธีภาวนานั้นลำบากอยู่บ้าง เพราะเป็นวิธีบังคับใจ วิธีภาวนาก็คือวิธีสังเกตตัวเองสังเกตจิตที่มีนิสัยหลุกหลิก ไม่อยู่เป็นปกติสุขด้วยมีสติตามระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของจิต โดยมีธรรมบทใดธรรมบทหนึ่งเป็นคำบริกรรม เพื่อเป็นยารักษาจิตให้ทรงตัวอยู่ได้ ด้วยความสงบสุขในขณะภาวนา ที่ให้ผลดีก็มีอานาปาณสติ คือ กำหนดจิตตามลมหายใจเข้าออกด้วยคำภาวนา พุทโธพยายามบังคับใจให้อยู่กับอารมณ์แห่งธรรมบทที่นำมาบริกรรมขณะภาวนา พยายามทำอย่างนี้เสมอจะค่อยรู้สึกตัว และปล่อยวางไปเป็นลำดับ มีความสนใจหนักแน่นในหน้าที่ของตนเป็นประจำ จิตที่สงบตัวลงเป็นสมาธิเป็นจิตที่มีความสุข เย็นใจมาก และจำไม่ลืมปลุกใจให้ตื่นตัวและตื่นใจได้อย่างน่าประหลาด เมื่อพูดถึงการภาวนาบางท่านรู้สึกเหงาหงอยน้อยใจว่า ตนมีวาสนาน้อยทำไม่ไหว เพราะกิจการยุ่งยากทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน ตลอดงานสังคมต่างๆ ที่ต้องเป็นธุระจะมานั่งหลับตาภาวนาอยู่ เห็นจะไม่ทันอยู่ทันกินกับโลกเขาทำให้ไม่อยากทำประโยชน์ที่ควรได้ จึงเลยผ่านไป ควรพยายามแก้ไขเสียบัดนี้ แท้จริงการภาวนา คือ วิธีแก้ความยุ่งยากลำบากใจทุกประเภท ที่เป็นภาระหนักให้เบาและหมดสิ้นไป ได้อุบายมาแก้ไขไล่ทุกข์ออกจากตัว

    การอบรมใจด้วยการภาวนา ก็เป็นวิธีหนึ่งแห่งการรักษาตัวเป็นวิธีที่เกี่ยวกับจิตใจ ผู้เป็นหัวหน้างานทุกด้านจิตจำ ต้องเป็นตัวการรับภาระแบกหาม โดยไม่คำนึงถึงความหนักเบาว่าชนิดใดพอยกไหวไหมจิตต้องรับภาระทันที ดี-ชั่ว-ถูก-ผิด-หนัก-เบา เศร้าโศกเพียงใดบางเรื่องแทบเอาชีวิตไปด้วย ขณะนั้นจิตใจยังกล้าเอาตัวเข้าเสี่ยงแบกหามจนได้มิหนำซ้ำยังหอบเอามาคิดเป็นการบ้านอีกจนนอนไม่หลับ รับประทานไม่ได้ก็มีคำว่าหนักเกินไปยกไม่ไหวเกินกำลัง ใจคิดและต้านนั้นไม่มีงานทางกาย ยังมีเวลาพักผ่อนนอนหลับและยังรู้ประมาณว่าควรหรือไม่ควรแก่กำลังของตนเพียงใด

    ส่วนงานทางใจไม่มีเวลาได้พักผ่อนเอาเลย พักได้เล็กน้อยขณะนอนหลับเท่านั้นแม้เช่นนั้นจิตยังอุตส่าห์ทำงานด้วยการละเมอเพ้อฝันต่อไปอีก ไม่รู้จักประมาณว่าเรื่องต่างๆ นั้น ควรแก่กำลังของใจเพียงใด เมื่อเกิดอะไรขึ้นทราบแต่ว่าทุกข์เหลือทน ไม่ทราบว่าทุกข์เพราะงานหนักและเรื่องเผ็ดร้อนเหลือกำลังใจจะสู้ไหว ใจคือนักต่อสู้ ดีก็สู้ ชั่วก็สู้ สู้จนไม่รู้จักหยุดยั้งไตร่ตรอง สู้จนไม่รู้จักตายหากปล่อยไปโดยไม่มีธรรมเป็นเครื่องยับยั้ง คงไม่ได้รับความสุข แม้จะมีสมบัติก่ายกองธรรม เป็นเครื่องปกครองสมบัติและปกครองใจ ถ้าขาดธรรมเพียงอย่างเดียวความอยากของใจจะพยายามหาทรัพย์ ได้กองเท่าภูเขาก็ยังหาความสุขไม่เจอไม่มีธรรมในใจเพียงอย่างเดียว จะอยู่ในโลกใด กองสมบัติใด ก็เป็นเพียงเศษเดนและกองสมบัติเดนเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อะไรแก่จิตใจแม้แต่นิด ความทุกข์ทรมาน ความอดทน ทนทานต่อสิ่งกระทบกระทั่งต่างๆ ไม่มีอะไรจะแข็งแกร่งเท่าใจ ถ้าได้รับความช่วยเหลือที่ถูกทาง ใจจะกลายเป็นของประเสริฐให้เจ้าของได้ชมอย่างภูมิใจต่อเรื่องทั้งหลายทันที จิตเป็นสมบัติสำคัญมากในตัวเราที่ควรได้รับการเหลียวแลด้วยวิธีเก็บรักษาให้ดี ควรสนใจรับผิดชอบต่อจิตอันเป็นสมบัติที่มีค่ายิ่งของตน วิธีที่ควรกับจิตโดยเฉพาะก็คือ ภาวนา ฝึกหัดถาวนาในโอกาสอันควรควรตรวจดูจิตว่ามีอะไรบกพร่องและเสียไป จะได้ซ่อมสุขภาพจิตคือนั่งพินิจพิจารณาดูสังขารภายใน คือ ความคิดปรุงแต่งของจิตว่าคิดอะไรบ้างในวันและเวลาที่นั่งๆ มีสาระประโยชน์ไหม คิดแส่หาเรื่อง หาโทษขนทุกข์มาแผดเผาตนอยู่นั้น พอรู้ผิดถูกของตัวบ้างไหมพิจารณาสังขารภายนอก ว่ามีความเจริญขึ้นหรือเจริญลงสังขารร่างกายมีอะไรใหม่หรือมีความเก่าแก่ชราหลุดลงไ ป

    พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเสียแต่เวลาที่พอจะทำได้ ตายแล้วจะเสียการให้ท่องอยู่ในใจเสมอว่า เรามีความแก่เจ็บตายอยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน ป่าช้าอันเป็นที่เผาศพภายนอก และป่าช้าที่เผาศพภายในคือตัวเราเองเป็นป่าช้าร้อยแปดพันเก้าแห่งศพที่นำมาฝัง หรือบรรจุอยู่ในตัวเราตลอดเวลาทั้งศพเก่าศพใหม่ทุกวัน พิจารณาธรรมสังเวช พิจารณาความตายเป็นอารมณ์ย่อมมีทางถอดถอนความเผลอเย่อหยิ่ง ในวันในชีวิตและวิทยฐานะต่างๆ ออกได้จะเห็นโทษแห่งความบกพร่องของตัว และพยายามแก้ไขเป็นลำดับมากกว่าจะไปเห็นโทษของคนอื่นแล้วมานินทาเขา ซึ่งเป็นความไม่ดีใส่ตน นี่คือการภาวนาคือวิธีเตือนตน สั่งสอนตน ตรวจตราดูความบกพร่องของตนว่า ควรแก้ไขจุดใดตรงไหนบ้างใช้ความพิจารณาอยู่ทำนองนี้เรื่อยๆ ด้วยวิธีสมาธิภาวนาบ้างด้วยการรำพึงในอิริยาบทต่างๆ บ้าง ใจจะสงบเย็น ไม่ลำพองผยองตัวและความทุกข์มาเผารนตัวเอง เป็นผู้รู้จักประมาณในหน้าที่การงานที่พอเหมาะพอดีแก่ตัว ทั้งทางกายและทางใจ ไม่ลืมตัวมั่วสุมในสิ่งที่เป็นหายนะต่างๆคุณสมบัติของผู้ภาวนานี้มีมากมาย ไม่อาจพรรณนาให้จบสิ้นได้ ทาน ศีล ภาวนา ธรรมทั้ง ๓ นี้ เป็นรากแก้วของความเป็นมนุษย์ และเป็นรากเหง้าของพระศาสนาผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องเป็นผู้เคยสั่งสมธรรมเหล่านี้มาอยู่ในนิสัยของผู้จะมาสวมร่างเป็นมนุษย์ ที่สมบูรณ์ด้วยมนุษย์สมบัติอย่างแท้จริง……………………..
    พระอาจารย์<?xml:namespace prefix = st1 ns = "urn:schemas-microsoft-com[​IMG]</st1:personName>มั่น ภูริทัตโต

    ที่มา http://www.samathi.com/meditation/showthread.php?t=1096
     
  2. fcaon

    fcaon Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    34
    ค่าพลัง:
    +72
    ความเห็นของผมสรุปสั้นๆง่ายๆ ก็คือ
    ทาน คือการให้ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ
    ศีล คือสิ่งที่กำหนดให้จิตใจเราไม่ข้อเกี่ยวกับกิเลส
    ภาวนา คือการตั้งสติและเตือนจิตใจให้เรามีสมาธิต่อสิ่งต่างๆ

    อนุโมทนาครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...