'ทาน' ควรเลือกให้หรือไม่ควร?

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย aprin, 3 กันยายน 2009.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ทาน ตามตัวอักษรแปลว่า การให้ จำแนกเป็น

    • การให้สิ่งของเป็นเครื่องอุปโภค เรียก อามิสทาน
    • การให้ธรรม - คำแนะนำสั่งสอนชักจูงใจในทางที่ดี เรียก ธรรมทาน
    • การให้อภัยไม่ถือโทษล่วงเกินของผู้อื่น โดยเฉพาะ เมื่อเขารู้สึกสำนึกผิดแล้วมาขอโทษ เรียก อภัยทาน การงดเว้นไม่เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นก็เป็นอภัยทานเหมือนกัน

    อามิสทาน การให้วัตถุสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค รวมเรียกว่าปัจจัย ๔ นั้น เป็นความจำเป็นสำหรับผู้อยู่ร่วมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เป็นการแสดงน้ำใจต่อกัน ทำ ให้มีใจผูกพันกันในด้านความสำนึกคุณ เป็นสาราณียธรรมข้อหนึ่ง ... สาราณียธรรม คือสิ่งอันก่อให้เกิดความระลึกถึงซึ่งกันและกันในด้านคุณ ด้วยเหตุนี้เราจึงนิยมให้ของที่ระลึกกันในโอกาสต่างๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่, แต่งงาน, วันเกิด และโอกาสอื่นๆ เท่าที่โอกาสจะเปิดให้ทำความดีต่อกันได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า การให้ย่อมผูกมิตรหรือไมตรีไว้ได้ (ททํ มิตฺตานิ คนฺถติ)

    • การให้ด้วยวัตถุประสงค์ ๓ อย่าง
    การให้วัตถุสิ่งของ ผู้ให้ย่อมมีวัตถุประสงค์ต่างกัน ให้เพื่ออนุเคราะห์บ้าง ให้เพื่อสงเคราะห์บ้าง ให้เพื่อบูชาคุณบ้าง

    การให้แก่คนยากจนแร้นแค้นลำบากหนัก เข้ามาพึ่งพิงขอความช่วยเหลือ การให้แก่ผู้น้อย ช่วยเหลือเขาให้พ้นความลำบากด้วยความกรุณา เรียกว่า ให้เพื่ออนุเคราะห์

    การให้แก่คนที่เสมอกันเพื่อรักษาไมตรีและน้ำใจกันไว้ เป็นการแบ่งปันเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันตามโอกาสที่มาถึง เรียกว่า ให้เพื่อสงเคราะห์

    การให้สิ่งของแก่มารดาบิดา อุปัชฌาย์อาจารย์ ครูผู้สั่งสอนอบรม นักพรตผู้ประพฤติธรรม ด้วยความสำนึกคุณของท่านที่มีต่อตัวเราหรือมีต่อโลกต่อสังคม เรียกว่า ให้เพื่อบูชาคุณ แม้ท่านจะไม่ขาดแคลนก็ควรให้บ้างตามกาล ตามความเหมาะสม เพื่อให้ท่านได้ปลื้มใจและทำหน้าที่ให้ดียิ่งๆขึ้นไป

    บุคคลที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ย่อมมีผู้ที่ตนต้องอนุเคราะห์และต้องบูชาอยู่ด้วยกันทุกคน มากบ้างน้อยบ้างสุดแล้วแต่ความผูกพันเกี่ยวข้องของแต่ละคน ผู้หวังความเจริญในธรรม ควรตั้งใจทำให้สมบูรณ์เท่าที่กำลังความสามารถของตนมีอยู่

    • ทาน ๓ ประเภท หรือทายก ๓ จำพวก
    ๑. ทานทาสะ บางทีเรียกว่า “ทาสทาน” ท่านหมายถึงการให้ของเลวเป็นทาน คำว่าเลวนั้นหมายถึงเลวกว่าที่ตนบริโภคใช้สอยเอง ที่ท่านเรียกว่าทาสทาน เพราะอธิบายว่าตกเป็นทาสของความตระหนี่ ถึงอย่างไรการให้ของเลวกว่าที่ตนบริโภคใช้สอยเองแก่คนที่ควรได้รับ เพียงแค่นั้นก็ยังนับว่าดี ดีกว่าการไม่ให้อะไรเสียเลย เช่น การให้แก่คนรับใช้ ให้แก่ขอทาน ให้เสื้อผ้าซึ่งตนไม่ใช้แล้วแก่คนยากจน ให้อาหารเหลือกินแก่สุนัข เป็นต้น ผู้ให้ของดังกล่าวท่านเรียกว่า “ทานทาโส” การให้ของที่เขาต้องการจำเป็นแก่เขา ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่ควรจัดเป็นการให้ที่เลว

    ๒. ทานสหาย บางทีเรียกว่า “สหายทาน” หมายถึงการให้ของที่เสมอกันอย่างเดียวกับกับที่ตนใช้สอย ตนบริโภคใช้สอยอย่างไร เมื่อถึงคราวจะให้ผู้อื่นก็ให้อย่างนั้น เหมือนการให้แก่เพื่อนฝูง ผู้ให้ของเช่นนั้นท่านเรียกว่า “ทานสหาโย”

    ๓. ทานสามี บางทีเรียก “สามีทาน” การให้ของที่ดีกว่าตนบริโภคใช้สอย ส่วนมากเมื่อจะให้แก่ผู้ที่ควร เคารพ ทายกมักให้ของดีเท่าที่ตนจะพอหาได้ เช่นของที่นำไปให้มารดาบิดา ครูอาจารย์ พระสงฆ์ หรือนักพรตผู้ประพฤติธรรม

    อนึ่ง ท่านผู้บริจาคทานด้วยความไม่ตระหนี่ บริจาคด้วยเจตนาอย่างแท้จริง ท่านเรียกผู้เช่นนั้นว่า “ทานบดี” ผู้เป็นใหญ่ในทาน

    • ประเภทของอามิสทาน
    กล่าวโดยย่อที่สุด ท่านจัดทานไว้ ๒ ประเภท ทานที่เจาะจงบุคคลเรียก “ปาฏิบุคลิกทาน” ทานที่ไม่เจาะจงให้เรียก “สังฆทาน” การให้แก่สงฆ์ หรือให้แก่หมู่คณะ

    คนส่วนมากเข้าใจสังฆทานผิดไป คือไปเข้าใจสังฆทานตามพิธีการ ได้แก่ จัดเครื่องไทยธรรมให้ครบตามประเพณีนิยม เช่น ต้องมีข้าวของอะไรบ้างในการทำสังฆทานนั้น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว สังฆทานมีความหมายไปในทางให้เจาะจงหรือไม่เจาะจง ถ้าให้เจาะจงบุคคล แม้จะจัดข้าวของมโหฬารอย่างไร ก็หาเป็น สังฆทานไม่

    ตัวอย่าง บุคคลผู้หนึ่งต้องการทำสังฆทาน ไปนิมนต์พระเองหรือส่งคนไปนิมนต์พระ แต่เจาะจงว่า พระ ก. ข. ค. ... แม้จะนิมนต์สักร้อยรูป ทานนั้นไม่เป็นสังฆทาน คงเป็นปาฏิบุคลิกทาน ถ้าไปนิมนต์กับเจ้าหน้าที่จัดพระ (ภัตตุตเทสก์) หรือกับพระที่ตนคุ้นเคยว่า ต้องการทำบุญ ที่บ้านหรือที่วัดก็ตาม ขอนิมนต์พระ ๑ รูป หรือ ๒ รูป (สุดแล้วแต่ต้องการ) ขอให้จัดพระให้ด้วย ไม่เจาะจงว่าเป็นใคร ทานนั้นเป็นสังฆทานเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยนัยนี้การทำบุญใส่บาตรตอนเช้า จึงเป็นสังฆทานเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

    อนึ่ง ในการทำสังฆทานนั้น ท่านสอนให้ทำใจให้ยินดีในบุญกุศล ไม่ยินดีในบุคคลผู้รับ ทำใจให้ตรงแน่วแน่ต่อคุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ ทานอย่างนี้แหละมีอานิสงส์มาก มีผลมาก เพราะเป็นการขัดเกลาจิตใจของตนไปด้วย พระพุทธเจ้าเคยตรัสกับพระอานนท์ ปาฏิบุคลิกทานจะมีผลมากกว่าสังฆทานไม่ได้เลยไม่ว่ากรณีใดๆ ตัวอย่างเช่น ถวายทานแก่พระพุทธเจ้าเป็นการเจาะจง ก็มีอานิสงส์สู้ถวายสังฆทานไม่ได้ แต่ต้องเป็นสังฆทานที่ถูกต้อง ไม่ใช่สังฆทานตามความเข้าใจของคนทั้งหลาย หรือสังฆทานตามประเพณีนิยม ที่แปลว่าหมู่หรือคณะ สังฆทานย่อมหมายถึงการให้แก่ส่วนรวม เมื่อมุ่งถึงประโยชน์แล้วการให้แก่ส่วนรวมย่อมอำนวยประโยชน์กว้างกว่าการให้เป็นส่วนตัว ผู้ให้จึงได้รับอานิสงส์มากไปด้วย ถ้าหมู่นั้นเป็นหมู่ที่ดีมีศีลธรรม เช่น พระอริยะด้วยแล้ว อานิสงส์ ก็ย่อมจะเพิ่มพูนขึ้น

    • ควรเลือกให้ หรือไม่ควรเลือกให้
    บางคนเข้าใจว่าเมื่อจะทำบุญทำทานแล้วไม่ควรเลือกให้ คือเห็นว่าเมื่อเป็นพระแล้วก็เป็นพระเหมือนกันทั้งนั้น ความเห็นนี้ไม่ตรงตามหลักพระพุทธภาษิต เพราะ พุทธองค์ตรัสว่า “ควรเลือกให้” (วิเจยฺย ทานํ ทาตพฺพํ) ในที่ที่จะมีผลมาก (ยตฺถ ทินฺนํ มหา ปฺผลํ)

    ความจริงแล้วเป็นพระเหมือนกันก็จริง แต่ก็ไม่เหมือนกันในด้านคุณภาพ ก็เหมือนคนเรานี่แหละ ซึ่งเป็นคนเหมือนกันแต่ก็ไม่เหมือนกันในด้านคุณภาพบางคนดีมาก บางคนดีน้อย แม้ในคนธรรมดาเราก็ควรเลือกคนที่ควรได้รับการสงเคราะห์ ไม่ใช้ให้ตะพึดตะพือ ไป อันจะเป็นการก่อโทษมากกว่าก่อคุณ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า “ให้แก่ผู้มีธรรมย่อมมีผลมากกว่าให้แก่ผู้ไม่มีธรรม”

    เพราะฉะนั้นการให้ทานเจาะจงบุคคล (ปาฏิบุคลิกทาน) ถ้าหวังอานิสงส์มากก็ควรเลือกให้แก่คนดีมีศีลธรรมหรือเป็นคนที่ควรได้รับการช่วยเหลือ ถ้าให้แก่หมู่คณะก็ควรเป็นหมู่ที่ดีเช่นเดียวกัน

    (จากหนังสือสิ่งที่ควรทำความเข้าใจกันใหม่ เพื่อความถูกต้อง)


    (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 106 กันยายน 2552 โดย อ.วศิน อินทสระ)

    Dhamma and Life - Manager Online
     

แชร์หน้านี้

Loading...