ทางเดินปัญญาชนสยาม

ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย sithiphong, 18 มีนาคม 2006.

  1. sithiphong

    sithiphong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    45,445
    ค่าพลัง:
    +141,949
    <TABLE><TBODY><TR><TD>[FONT=Tahoma,]วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2549 [/FONT][FONT=Tahoma,]ปีที่ 27 [/FONT][FONT=Tahoma,]ฉบับที่ 05[/FONT]</TD></TR></TBODY></TABLE>http://www.matichon.co.th/art/art.php?srctag=0604010349&srcday=2006/03/01&search=no
    [FONT=Tahoma,]บทความพิเศษ

    สายชล สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    ทางเดินปัญญาชนสยาม : จากอดีตถึงปัจจุบัน

    บทความนี้ปรับปรุงจากปาฐกถาเปิดงานสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในวาระครบรอบ ๗๒ ปี ปัญญาชนสยาม สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๘

    ขอขอบคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ที่ให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัย "ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน พ.ศ. ๒๔๓๕-๒๕๓๕" ซึ่งเป็นที่มาของมโนทัศน์ในการเขียนบทความนี้



    บทความนี้มุ่งสำรวจ "ทางเดินของปัญญาชนสยาม" ในระยะ ๑ ศตวรรษที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นว่า สังคมไทยได้เคยมี "ทางเลือก" สำคัญๆ ทางใดบ้าง โดยจะเน้นทางเดินของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มากเป็นพิเศษ เนื่องจากนำเสนอในงาน "ลมหายใจแห่งชีวิต" เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสที่อาจารย์สุลักษณ์มีอายุ ๗๒ ปี

    เมื่อกล่าวถึง "ทางเดิน" ของปัญญาชน บทความนี้เน้นความคิดที่ปัญญาชนสื่อสารกับสังคม เนื่องจากบทบาททางสังคมและการเมืองที่สำคัญที่สุดของปัญญาชน ก็คือบทบาททางความคิด

    หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นไม่มากก็น้อย ว่า "ทางเดิน" สายที่อาจารย์สุลักษณ์เลือกเดิน มีส่วนใดบ้างที่สืบเนื่องกับทางสายหลัก และเพราะเหตุใดอาจารย์สุลักษณ์จึงเดินแยกออกจากทางสายหลัก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อาจารย์สุลักษณ์ได้พยายามสืบทอดความคิดอะไรของปัญญาชนกระแสหลัก ได้ปรับเปลี่ยนจุดเน้นและความหมายไปอย่างไรบ้าง เพราะเหตุใดจึงได้ปรับเปลี่ยนจุดเน้นและความหมายไปเช่นนั้น และการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงตรงไปตรงมาต่อสถาบันหลักบางสถาบันนั้น มีความหมายที่แท้จริงอย่างไร

    บทความนี้แบ่งปัญญาชนออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ แต่จะกล่าวถึงปัญญาชนกระแสหลักมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นต้นกำเนิดทางความคิดของอาจารย์สุลักษณ์ ส่วนปัญญาชนอีก ๒ กลุ่มจะกล่าวถึงอย่างสังเขป โดยเน้นความคิดส่วนที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับความคิดของอาจารย์สุลักษณ์

    การแบ่งปัญญาชนเป็น ๓ กลุ่มเช่นนี้ เป็นการแบ่งที่ค่อนข้างหยาบ เพราะภายในแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างทางความคิดอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้บางท่านก็เสนอความคิดที่คาบเกี่ยวหลายกลุ่ม เช่น อาจารย์สุลักษณ์ เป็นต้น

    ผู้เขียนหวังด้วยว่า บทความขนาดสั้นนี้ จะแสดงให้เห็นได้ชัดเจนพอสมควรว่า "ทางเดิน" ของปัญญาชนกลุ่มแรก มุ่งส่งเสริมอำนาจของชนชั้นนำ "ทางเดิน" ของปัญญาชนกลุ่มที่ ๒ มุ่งส่งเสริมอำนาจของประชาชน และ "ทางเดิน" ของปัญญาชนกลุ่มที่ ๓ มุ่งช่วยให้คนทั้งหลายพ้นทุกข์ หรือมีความทุกข์ในชีวิตน้อยลง

    อนึ่ง การศึกษา "ทางเดินของปัญญาชน" ควรจะพิจารณาปัญญาชนในบริบท และควรวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ทางความคิดระหว่างปัญญาชนทั้งหลายในแต่ละยุค รวมทั้งต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของปัญญาชนแต่ละคน ตลอดจนอิทธิพลทางความคิด ที่ปัญญาชนแต่ละคนมีต่อสังคมในยุคต่างๆ ด้วย แต่เนื่องจากผู้เขียนมีเวลาจำกัด จึงไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ จำเป็นจะต้องวิเคราะห์ให้เห็นเฉพาะแนวความคิดสำคัญที่ปัญญาชนแต่ละกลุ่มเสนอ และแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างปัญญาชนแต่ละกลุ่มอย่างสังเขปเท่านั้น



    ๑. ปัญญาชนกระแสหลัก

    เป็นปัญญาชนที่มีความเชื่อ (และพยายามทำให้ผู้อื่นเชื่อ) ว่า สังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น และมีโครงสร้างการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ เป็นสังคมที่ดีงาม ถูกต้อง เหมาะสม สำหรับคนไทยและเมืองไทย

    ปัญญาชนสำคัญในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นบุคคลในพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

    ปัญญาชนบางพระองค์ทรงเป็นผู้กุมอำนาจเด็ดขาดสูงสุดของรัฐ บางพระองค์หรือบางท่านเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกุมอำนาจ หรือเป็นผู้รับใช้ผู้กุมอำนาจ "ทางเดิน" ของปัญญาชนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ เป็น "ทางเดิน" ที่พร้อมจะ "สร้าง (construct) ความจริง" หรือ "ชำระความจริง" เพื่อให้เกิดระบอบแห่งสัจจะ (regime of truth) ที่ช่วยจรรโลงโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น และโครงสร้างการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ ให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืน

    ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชำระวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน เพื่อลดทอนภาพที่ไม่ศิวิไลซ์ของเมืองไทยและผู้ปกครองเมืองไทย ทรงชำระพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์หลายรัชกาล เพื่อทำให้คนในสังคมมีความทรงจำที่เป็นประโยชน์ต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กล่าวคือ นอกจากจะทรงลบภาพความป่าเถื่อนออกไปจากความทรงจำแล้ว ยังทรงเน้นความสำเร็จของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ในการรักษาเอกราชและสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวิทยาการแก่เมืองไทย นอกจากนี้ยังทรงชำระเรื่อง "เสด็จประพาสต้น" เพื่อสถาปนา "สมเด็จพระปิยมหาราช" ให้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ "ของราษฎร" และ "เพื่อราษฎร" เพื่อจะลดกระแสเรียกร้องรัฐธรรมนูญในสมัยนั้นลง๑ ส่วน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้ "ชำระประวัติศาสตร์" ด้วยการเขียนนวนิยายสี่แผ่นดิน เพื่อทำให้ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมาเป็นตัวแบบในอุดมคติของคนไทยอีกครั้ง อันจะส่งผลให้พระมหากษัตริย์มีความสำคัญในฐานะ "หัวใจของความเป็นไทย" และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังสร้างความรู้เกี่ยวกับ "การปกครองสุโขทัย" เพื่อสถาปนา "การปกครองแบบไทย" ให้เป็นอุดมการณ์ของระบอบเผด็จการในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และสร้างความรู้เกี่ยวกับ "สังคมสมัยอยุธยา" เพื่อแสดงให้เห็นว่า "การปกครองแบบไทย" และ "สังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น" ของไทย มีความถูกต้องดีงาม เพราะส่งผลดีแก่รัฐและสังคมไทยอย่างมาก นอกจากนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังได้ "อ่าน" วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน "ใหม่" เพื่อตอกย้ำความสำคัญของ "ความเป็นไทย" ในด้านต่างๆ รวมทั้งภาพความสัมพันธ์อัน "ถูกต้อง" ระหว่างสถาบันทหารกับพระมหากษัตริย์ด้วย๒

    การที่ปัญญาชนกระแสหลักสร้างความเชื่อว่า สังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้นเป็นสังคมที่ดี มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการเสนอว่า "การปกครองแบบไทย" ที่อำนาจรัฐรวมศูนย์อยู่ในมือของคนๆ เดียว เป็นการปกครองที่ดี โดยที่การเลือกตั้ง ก็คือการเลือก "คนดี" แล้วให้อำนาจสูงสุดเด็ดขาดแก่ "คนดี" ปัญญาชนกระแสหลักอธิบายว่า ชาติกำเนิดและพุทธศาสนาทำให้ผู้ปกครองเป็นผู้มีคุณธรรมและมีอุดมคติ จึงใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องมีกระบวนการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจ หรือถ้าจะมี ก็ให้พระมหากษัตริย์นั้นเองทรงทำหน้าที่แทนราษฎรในการควบคุมดูแล "แขนขาแห่งรัฐ" คือฝ่ายบริหารและข้าราชการ มิให้ใช้อำนาจกดขี่เบียดเบียนราษฎรหรือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว

    ปัญญาชนกลุ่มนี้พยายามทำให้คนเชื่อว่า พุทธศาสนาทำให้รัฐไทยเป็นรัฐที่เมตตา และสังคมไทยเป็นสังคมที่เมตตา เพราะศีลธรรมของพุทธศาสนาทำให้คนที่อยู่ใน "ที่สูง" กับคนที่อยู่ใน "ที่ต่ำ" (หรือ "ผู้ใหญ่" กับ "ผู้น้อย") มีความสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง กล่าวคือ "ผู้ใหญ่" จะคอยช่วยเหลือเกื้อกูล "ผู้น้อย" ด้วยความเมตตากรุณา ไม่กดขี่เบียดเบียนให้ได้รับความเดือดร้อน ส่วน "ผู้น้อย" ก็มีความซื่อสัตย์กตัญญูกตเวทีต่อ "ผู้ใหญ่" ทำให้เกิดระเบียบ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้า ทั้งแก่ชาติไทยและคนไทยตลอดมา

    อิทธิพลทางความคิดของปัญญาชนกลุ่มนี้ ทำให้ความสัมพันธ์โดย "รู้ที่ต่ำที่สูง" หรือโดยยอมรับความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาค มีความสำคัญสืบมา แม้ว่าสังคมไทยจะได้ผ่านการปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มานานกว่า ๗๐ ปีแล้วก็ตาม๓

    มีความแตกต่างทางความคิดในปัญญาชนกระแสหลักนี้อยู่ไม่น้อย เช่น ปัญญาชนบางพระองค์หรือบางท่านให้ความสำคัญแก่ชาติกำเนิดในการแบ่งชั้นของคนมากเป็นพิเศษ บางท่านให้ความสำคัญแก่ความรู้ความสามารถ บางพระองค์หรือบางท่านเน้นชาติพันธุ์ไทยให้เหนือกว่าชาติพันธุ์อื่น พยายามปลูกฝังความคิดว่า "ชาติไทย" เป็นชาติของคนไทย แล้วกีดกันเบียดขับชาติพันธุ์อื่นให้เป็น "คนอื่น" บางพระองค์หรือบางท่านก็ยอมให้คนชาติพันธุ์อื่นกลายเป็นไทย แต่บางท่านก็เน้นเชื้อชาตินิยมแบบ "ล้าหลังคลั่งชาติ"๔ ในขณะที่บางพระองค์หรือบางท่านเห็นความจำเป็นที่จะต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลาย กล่าวคือ เห็นว่าถึงแม้คนไทยจะเป็นใหญ่ในประเทศสยาม แต่ประเทศสยามมีคนหลายชาติพันธุ์ บางชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในประเทศสยามมาก่อนคนไทยเสียอีก และมีคนเป็นอันมากที่เป็นคน "เลือดผสม" ดังนั้นจึงควรเรียกชื่อประเทศว่า "สยาม" มากกว่า "ไทย" บางท่านก็เน้นว่าประเทศสยามมีชนชาติไทยเป็นใหญ่ จึงเรียกว่า "เมืองไทย" แต่ชนชาติไทยมีเอกลักษณ์ คือ ความปราศจากวิหิงสาและความฉลาดในการประสานประโยชน์ ชนชาติไทยจึงไม่เบียดเบียนชนชาติอื่น แต่ปกครองทุกชนชาติให้อยู่เย็นเป็นสุข อย่างไรก็ตามปัญญาชนกลุ่มนี้มีพื้นฐานความคิดคล้ายคลึงกัน ซึ่งทำให้สร้าง "ระบอบแห่งความจริง" เพื่อส่งเสริมอำนาจของชนชั้นนำอย่างจริงจัง

    พื้นฐานความคิดของปัญญาชนกลุ่มนี้ คือ คนเกิดมาดีและเก่งไม่เท่ากัน สามารถจะเรียนรู้ และเป็น "ผู้ดี" ได้ไม่เท่ากัน และเฉพาะคนในชั้น "ผู้ดี" เท่านั้นที่มี "ศีลธรรม" หรือมีอุดมคติ (ideal) จึงเหมาะสมที่จะเป็นชนชั้นปกครอง ส่วนราษฎรนั้นตกอยู่ในวัฏจักร "โง่ จน เจ็บ" จะอยู่รอดและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชนชั้น "ผู้ดี" หรือชนชั้นนำให้ความเมตตาเอื้ออาทร แม้ปัญญาชนบางท่านในกลุ่มนี้จะเห็นว่าสังคมไทยเปิดโอกาสให้เลื่อนชั้นได้ ถ้าหากมีความรู้ความสามารถและกลายเป็น "ผู้ดี" ขึ้นมาด้วยการศึกษาอบรม แต่กระนั้นก็ยังเห็นว่าการมีชาติกำเนิดสูง เอื้อให้เป็น "ผู้ดี" ได้ง่ายกว่า เฉพาะหลวงวิจิตรวาทการเท่านั้นที่มิได้เน้นความเป็น "ผู้ดี" แต่ก็เน้นความเป็น "มหาบุรุษ" ที่มีความดีและความเก่งเหนือผู้อื่น ซึ่งทำให้ "มหาบุรุษ" มีอำนาจปกครองผู้อื่น๕

    ปัญญาชนกระแสหลักนี้เห็นว่าเมืองไทย/สังคมไทยดีอยู่แล้ว และพยายามทำให้คนเห็นว่า "เมืองไทยนี้ดี" มาแต่โบราณ เนื่องจากมี "ความเป็นไทย" เป็นเอกลักษณ์อันดีเลิศ เมืองไทยอาจมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะที่ไหนๆ ในโลกก็ต้องมีปัญหาเป็นธรรมดา และบางปัญหาก็เป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นเพราะโลกภายนอกเปลี่ยนแปลงไป ทางเลือกในการแก้ปัญหาที่ปัญญาชนกลุ่มนี้เสนอ ได้แก่ การปฏิรูประบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสงวนรักษาอำนาจไว้ในมือของชนชั้นนำ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงระบบหรือโครงสร้าง พร้อมกันนั้นก็ต้องรักษา "ความเป็นไทย" เอาไว้อย่างมั่นคง "หัวใจของความเป็นไทย" คือพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนา ซึ่งเป็นทั้งแหล่งกำเนิดและเป็นแหล่งที่จรรโลงแบบแผนอันถูกต้องดีงามของ "ความเป็นไทย" ในด้านอื่นๆ เช่น การปกครองแบบไทย ศีลธรรมไทย มารยาทไทย ภาษาไทย ศิลปะไทย ฯลฯ "หัวใจของความเป็นไทย" จึงส่งผลให้ "เมืองไทยนี้ดี" สืบมา

    วิธีคิดที่ว่า "ความเป็นไทย" ทำให้ "เมืองไทยนี้ดี" ได้ถูกทำให้เป็นวิธีคิดกระแสหลักในสังคมไทย ดังนั้นคนไทยจึงเชื่อว่า ตราบใดที่ยังรักษา "ความเป็นไทย" เอาไว้ได้ เมืองไทยนี้ก็จะดีตลอดไป และคนไทยมักจะอธิบายปัญหาตลอดจนอธิบายความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ว่าเป็นเพราะการละทิ้ง "ความเป็นไทย" และการรับอิทธิพลที่ไม่ดีจากภายนอกเข้ามา โดยมิได้พิจารณาอย่างเพียงพอถึงพลวัตและผลกระทบที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยหลากหลายภายในโครงสร้างของสังคมไทยเอง

    ปัญญาชนกระแสหลักเน้นเรื่อง "ความยุติธรรม" มากทีเดียว แต่เป็น "ความยุติธรรมที่ไม่เสมอภาค" คำว่า "เสมอภาค" ที่ปัญญาชนบางพระองค์ในกลุ่มนี้ทรงใช้อยู่เสมอ หมายถึงทุกๆ คนมีส่วนได้ส่วนเสียเท่าเทียมกัน แต่เป็นความเท่าเทียมกันในระหว่างคนชั้นเดียวกัน ไม่ใช่ความเท่าเทียมกันของคนทุกคนในสังคม อีกทั้งยังเน้นด้วยว่า "ผู้นำแบบไทย" เป็นแหล่งที่มาของ "ความยุติธรรม"๖ ส่วน "เสรีภาพ" ก็มิได้หมายถึงเสรีภาพทางความคิดและในความสัมพันธ์กับรัฐ หรือในระบบความสัมพันธ์ทางสังคม แต่ปัญญาชนกระแสหลักจะเน้นว่า ใน "ความเป็นไทย" ก็มีเสรีภาพอยู่แล้ว นั่นคือเสรีภาพทางใจซึ่งเป็นผลมาจากการบรรลุธรรมะขั้นสูงของพุทธศาสนา

    วิธีคิดที่ปัญญาชนกลุ่มนี้ปลูกฝัง ยังคงเป็นวิธีกระแสหลักสืบมาจนถึงปัจจุบัน แต่ปัญหาที่น่าคิดก็คือ พุทธศาสนาแบบโลกิยธรรมที่คนกลุ่มนี้หวังว่าจะทำให้ "คนในที่สูง" ให้ความเมตตากรุณาต่อ "คนในที่ต่ำ" นั้น ยังมีพลังอยู่เพียงใด และการที่สังคมไทยฝากความหวังไว้ที่คนๆ เดียว หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งเพียงสถาบันเดียว ให้ทำหน้าที่ดูแล "ผู้ปกครองแบบไทย" แทนสังคมนั้น ถูกต้องหรือไม่ เพราะสังคมไทยซับซ้อนขึ้นมาก การจัดการทรัพยากรโดยคนๆ เดียว หรือโดยคนกลุ่มเล็กๆ ที่ผูกขาดอำนาจไว้ในมือ ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมได้เลย จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร และมีส่วนร่วมในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจ ทั้งอำนาจที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการของทุกสถาบัน

    อาจารย์สุลักษณ์เคยเป็นสมาชิกของปัญญาชนกลุ่มแรกนี้ และเคยเดินตามอย่างเชื่อมั่น แต่ในที่สุดก็ได้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันอันเป็นองค์ประกอบของ "ความเป็นไทย" อย่างรุนแรง เนื่องจากพบว่าหลายสถาบันมิได้ทำตัวให้ดีตามอุดมคติของ "ความเป็นไทย" นั่นคือ มิได้ทำหน้าที่ของตนเพื่อให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข และมิได้ทำให้ "เมืองไทยนี้ดี" อย่างที่พึงจะเป็น ดังนั้นนอกจากจะวิพากษ์วิจารณ์เองแล้ว อาจารย์สุลักษณ์ซึ่งต้องการทำให้ทุกสถาบันทำหน้าที่ตามอุดมคติของ "ความเป็นไทย" (ในความหมายที่อาจารย์สุลักษณ์นิยาม ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า) ยังได้เรียกร้องให้ทุกสถาบันเปิดกว้างต่อการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้และการปรับตัวของสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันที่เป็น "หัวใจของความเป็นไทย" คือพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา การปรับตัวมิได้เกิดขึ้นในวิถีทางที่อาจารย์สุลักษณ์คาดหวัง ในที่สุดอาจารย์สุลักษณ์ก็ได้เดินแยกออกจากทางสายหลักนี้

    การที่ "ทางเดิน" ของอาจารย์สุลักษณ์มีความแตกต่างจากปัญญาชนกระแสหลัก แม้ว่าจะมี "แนวโน้มอันแรงกล้า...ไปในทางชนชั้นนำนิยม (elitism)"๗ เช่นเดียวกันกับปัญญาชนกระแสหลักท่านอื่นๆ น่าจะเกิดจากปัจจัยสำคัญอย่างน้อย ๓ ประการ ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน

    ประการแรก อาจารย์สุลักษณ์ไม่คิดจะมีอำนาจทางการเมืองหรืออำนาจในระบบราชการ และไม่คิดจะสั่งสมความมั่งคั่ง จึงไม่คิดจะรับใช้ หรือสยบยอม หรืออ่อนข้อต่อผู้มีอำนาจ ดังนั้นอาจารย์สุลักษณ์จึงไม่จำเป็นต้องพยายามสร้างหรือรักษา "ระบอบความจริง" ที่จรรโลงโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น และโครงสร้างการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ อันจะทำให้ตนมีอำนาจและอภิสิทธิ์ในโครงสร้างสังคม-การเมืองดังกล่าว และไม่จำเป็นต้องทำให้ผู้ครองอำนาจรัฐมีความพึงพอใจ จนมอบตำแหน่งหรือแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ให้

    ประการที่ ๒ อาจารย์สุลักษณ์มีความมักใหญ่ใฝ่สูงทางปัญญาและทางจิตวิญญาณ และมีความรักในความรู้ จึงเรียนรู้จากผลงานของปัญญาชนมาก ปัญญาชนที่มีอิทธิพลสูงในช่วงเวลาที่อาจารย์สุลักษณ์เติบโตและเริ่มเรียนรู้ คือปัญญาชนกระแสหลัก ดังนั้นอาจารย์สุลักษณ์จึงมีความรู้แบบกระแสหลักมาก แต่อาจารย์สุลักษณ์มีชีวิตอยู่ต่อมาจนถึงสมัยหลัง ซึ่งสังคมไทยประสบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซับซ้อน และกว้างขวาง จนอาจารย์สุลักษณ์ได้พบว่า ความรู้และคำอธิบายในกรอบของ "ความเป็นไทย" กระแสหลัก ตอบปัญหาหลายอย่างไม่ได้ และโดยที่อาจารย์สุลักษณ์ได้ติดตามสถานการณ์ในเมืองไทยและในโลกกว้างอย่างใกล้ชิด จึงค้นพบมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า มีปัญหาในระดับวิกฤตที่ความรู้แบบเดิมที่ปัญญาชนกระแสหลักสร้างไว้นั้น ไม่สามารถจะตอบปัญหาหรือให้คำอธิบายที่น่าพอใจได้ จำเป็นจะต้องวิพากษ์วิจารณ์ความรู้เดิมและค้นหาความรู้ใหม่ ซึ่งอาจารย์สุลักษณ์สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีวิญญาณเป็นขบถ คือ ไม่ยอมจำนนต่ออะไรง่ายๆ คอยคิดค้านอยู่เสมอ จนพบความบกพร่องของคนและแนวความคิดหรือความรู้ที่อาจารย์สุลักษณ์เองเคยยกย่อง และพอใจที่จะปรับเปลี่ยนความคิดของตนเองไปจากเดิม

    ถึงแม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา อาจารย์สุลักษณ์จะไม่ถึงกับปฏิเสธคุณงามความดีของปัญญาชนส่วนใหญ่ในกระแสหลัก และไม่ถึงกับปฏิเสธส่วนใหญ่ของความคิดและความรู้ที่ปัญญาชนกระแสหลักสร้างเอาไว้ แต่ก็ได้พยายามแสวงหาความรู้หรือทางเลือกใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อจะนำมาปฏิรูป "ความเป็นไทย" และฟื้นฟูให้ "เมืองไทยนี้ดี" อีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่า "ความรู้ใหม่" บางอย่าง ทำให้อาจารย์สุลักษณ์ถึงกับเปลี่ยนท่าทีต่อบุคคลบางคน และต่อสถาบันบางสถาบันไปจากเดิม ทั้งๆ ที่มาตรฐานหรือมุมมองต่อ "ความจริง ความดี ความงาม" ของอาจารย์สุลักษณ์ ที่ใช้ในการมองบุคคลและสถาบันต่างๆ จะมิได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักก็ตาม

    ประการที่ ๓ นอกจากความรู้จากการอ่านแล้ว อาจารย์สุลักษณ์ยังมีความรู้และประสบการณ์ต่างจากปัญญาชนอื่นๆ ในทางสายหลัก เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับคนหลายชั้น หลายชาติพันธุ์ หลายเพศ หลายวัย หลายอาชีพ หลายสถานภาพ ทั้งในเมืองไทยและในโลกภายนอก ทำให้มีโอกาสเรียนรู้มาก รวมทั้งได้เรียนรู้เกี่ยวกับคุณค่าของวิถีชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ปรากฏว่า ในที่สุดอาจารย์สุลักษณ์ก็ได้ปฏิเสธโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น หรือปฏิเสธความสัมพันธ์แบบ "รู้ที่สูงที่ต่ำ" ที่เน้นหลักชาติวุฒิและเน้นความเป็น "ผู้ดี" แบบเดิม หันมาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมไทยแบบชาวบ้าน ที่มีฐานอยู่บนหลักความเสมอภาค ไม่แบ่งแยกคนออกเป็นฐานันดร พร้อมกันนั้นอาจารย์สุลักษณ์ก็ตระหนักมากยิ่งขึ้นว่า เมืองไทยเต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ นานา และหลายปัญหาอยู่ในระดับวิกฤต จนแนวทางปฏิรูประบบนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องเดินแยกออกจากทางสายหลัก เพื่อหาหนทางทางใหม่ๆ ที่จะทำให้ "เมืองไทยนี้ดี" พร้อมกับหาทางทำให้ "ความเป็นไทย" มีคุณค่าต่อชาวโลกอีกโสดหนึ่งด้วย

    กล่าวได้ว่า เมื่ออาจารย์สุลักษณ์มองเห็นความบกพร่องของความรู้ในกรอบ "ความเป็นไทย" และมองเห็นศักยภาพและพลังของประชาชนชัดเจนขึ้น อาจารย์สุลักษณ์ก็ได้สลับสับเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันที่เป็น "หัวใจของความเป็นไทย" ซึ่งนอกจากจะเห็นได้ชัดเจนจากชื่อหนังสือที่อาจารย์สุลักษณ์เขียน เช่น เจ้า-ข้า ฟ้าเดียวกัน (พ.ศ. ๒๕๒๕) และฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง (พ.ศ. ๒๕๒๘) แล้ว ยังเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบระหว่างอาจารย์สุลักษณ์กับหลวงวิจิตรวาทการและ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

    หลวงวิจิตรวาทการ ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้พยายามทำให้ "ชาติ" สำคัญเหนือศาสนาและพระมหากษัตริย์ และเน้นความหมายของ "ชาติไทย" ตามคติเชื้อชาตินิยม เพื่อกีดกันชาวจีนออกจากพื้นที่ทางการเมือง และเพื่อตอบสนองนโยบายสร้างชาติไทยให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง

    ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในต้นทศวรรษ ๒๔๙๐ เน้นชาตินิยมแบบ "เชื้อชาตินิยม" และ "ทหารนิยม" แต่นับตั้งแต่กลางทศวรรษ ๒๔๙๐ เป็นต้นมา ได้พยายามทำให้พระมหากษัตริย์มีความสำคัญเหนือชาติและพุทธศาสนา โดยเน้นให้ทหารจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และเน้นความเป็นไทยทางวัฒนธรรม พร้อมกับส่งเสริมให้คนชาติพันธุ์อื่น "กลายเป็นไทย" จนกระทั่งในปลายทศวรรษ ๒๕๑๐ เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงได้ประกาศให้ยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมของคนใน "ชาติไทย" โดยเฉพาะวัฒนธรรมของชาวจีนและชาวมลายูมุสลิม เพื่อหวังผลทางการเมือง แต่ก็มิได้ดำเนินการอย่างจริงจังที่จะทำให้สังคมไทยเคารพความแตกต่างและยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างแท้จริง

    ส่วนอาจารย์สุลักษณ์ ได้ยกสถานะของพุทธศาสนาให้มีความสำคัญเหนือชาติและพระมหากษัตริย์ และนิยามว่า "ชาติไทย" เป็นชาติของประชาชนหลายชาติพันธุ์ ที่มีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอันมีคุณค่าอยู่มาก แม้ว่าประชาชนจะมีจุดอ่อนอยู่ไม่น้อยก็ตาม

    กล่าวได้ว่าอาจารย์สุลักษณ์ได้พยายามเปลี่ยนสถานะของประชาชน (ซึ่งเคยอยู่ใน "ที่ต่ำ" เพราะตกอยู่ในวัฏจักร "โง่ จน เจ็บ" ได้แต่รอคอยความเมตตาเอื้ออาทรจากจากชนชั้นอภิสิทธิ์ที่อยู่ใน "ที่สูง" รวมทั้งจาก "ผู้นำแบบไทย") ให้กลายเป็น "หัวใจ" อีกอย่างหนึ่งของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย"

    อย่างไรก็ตามในระยะหลัง แม้ว่าอาจารย์สุลักษณ์จะเห็นว่าคนเท่าเทียมกันในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน และเห็นว่าทุกวัฒนธรรมล้วนมีคุณค่า แต่ก็ยังจำแนกคนออกเป็นหลายสถานะ เกณฑ์ที่อาจารย์สุลักษณ์มีอยู่ในใจในการแบ่งสถานะของคน ได้แก่ ความรู้ สติปัญญา และจริยธรรม ซึ่งทุกคน ไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดอย่างไร เพศใด ชาติพันธุ์ใด ล้วนสามารถครอบครองได้เท่าเทียมกัน อาจารย์สุลักษณ์เห็นว่าความแตกต่างทางปัญญาและทางจริยธรรมนี้ ทำให้คนแต่ละกลุ่มมีสถานะและหน้าที่แตกต่างกัน เช่น พระมหากษัตริย์ พระสงฆ์ ปัญญาชน ชาวบ้าน เป็นต้น แต่คนทุกสถานภาพควรมีความ "เสมอภาค" และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น

    อาจารย์สุลักษณ์มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญแก่ปัญญาชน หรือ "คนหนุ่ม"๘ ค่อนข้างมาก นั่นคือ เห็นว่ามนุษย์บางคนมีความเป็น "คนหนุ่ม" มากกว่าคนอื่น (เช่นตัวอาจารย์สุลักษณ์เอง เป็นต้น) จึงควรทำหน้าที่ช่วยคนอื่นๆ ให้มีโอกาสดำรงชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และถึงแม้ว่าอาจารย์สุลักษณ์จะวางชาวบ้านไว้ในสถานะที่สูงกว่าปัญญาชนกระแสหลักอื่นๆ แต่อาจารย์สุลักษณ์ก็เห็นว่าชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือจากปัญญาชนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังนั้นอาจารย์สุลักษณ์จึงพยายามทำงานเพื่อสร้างคนให้เป็นปัญญาชนหรือเป็น "คนหนุ่ม" เพื่อจะได้ช่วยกันรับผิดชอบต่อสังคมในมิติที่เหมาะสมกับความรู้และสถานะของแต่ละคน เช่น ในสถานะของพระสงฆ์ นักพัฒนาเอกชน นักวิชาการ แพทย์ เป็นต้น

    จากผลงานของอาจารย์สุลักษณ์ เห็นได้ชัดว่าอาจารย์สุลักษณ์ไม่ต้องการจรรโลงโครงสร้างอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ และไม่มีอคติทางเชื้อชาติ แต่ต้องการทำให้สังคมไทยสงบสุขและคนทุกชาติพันธุ์มีชีวิตที่ดี (ดีตามทัศนะของท่าน ไม่ใช่ดีแบบบริโภคนิยม) อาจารย์สุลักษณ์จึงพยายามทำให้คนไทยฉลาดในการประสานประโยชน์ คือ รู้จักเลือกวัฒนธรรมที่ดีจากภายนอก มาผสมผสานกับสิ่งที่ดีที่มีอยู่แล้วในเมืองไทย โดยไม่ปฏิเสธความคิดแบบเสรีนิยม (ต่างจากปัญญาชนกระแสหลักที่พยายามขัดขวางไม่ให้ความคิดเสรีนิยมมีอิทธิพลในสังคมไทย เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ทางสังคมแบบแบ่งคนเป็นลำดับชั้นและการผูกขาดอำนาจทางการเมือง) แต่จนถึงปัจจุบัน อาจารย์สุลักษณ์ก็ยังเห็นว่าสังคมไทยไม่ฉลาดในการประสานประโยชน์ และไม่ฉลาดแม้แต่จะรู้ว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี

    ผมเห็นว่าสังคมไทยรับความเลวระยำจากตะวันตกมาเยอะแล้ว แต่คุณงามความดีของตะวันตกในเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ ในการให้ข้อเท็จจริง ในการแยกแยะอะไรบวกอะไรลบ ไม่เข้ามาสู่ญาณเลย อันนี้อันตรายมากครับ๙

    ในปัจจุบันอาจารย์สุลักษณ์ยังคงเห็นพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์เป็น "หัวใจของความเป็นไทย" เพราะเชื่อว่าสถาบันทั้งสองมีความสำคัญอย่างมากต่อสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต แม้ว่าอาจารย์สุลักษณ์จะปฏิเสธลักษณะสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของ "ความเป็นไทย" กระแสหลัก นั่นคือ ความสัมพันธ์แบบรู้ที่ต่ำที่สูง หรือปฏิเสธการแบ่งคนเป็น "ฐานันดร" ดังเห็นได้ชัดจากคำกล่าวที่ว่า

    ไอ้ฐานันดร มันเป็นสัญลักษณ์ของศักดินา ขัตติยาธิปไตย ซึ่งปี ๒๔๗๕ เลิกไปหมดแล้ว...

    สิ่งเหล่านี้จอมพลสฤษดิ์ได้ทำขึ้น...

    นับตั้งแต่นั้นมา ใครก็แตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ แล้วจอมพลสฤษดิ์ก็เอาประเพณีพิธีกรรมตั้งแต่ก่อนรัชกาลที่ ๕ มาใช้ ต้องหมอบกราบ ต้องคลานเข้าไป...

    เรื่องนี้ รัชกาลที่ ๕ ท่านสั่งเลิกหมดแล้วนะครับ...จอมพลสฤษดิ์มารื้อฟื้นเพื่ออะไร เพื่อใช้สถาบันพระมหากษัตริย์มอมเมาคน...๑๐

    เมื่ออาจารย์สุลักษณ์ปฏิเสธการแบ่งคนเป็น "ฐานันดร" การนิยามความหมายสถาบันที่เป็น "หัวใจของความเป็นไทย" จึงแตกต่างจากปัญญาชนกระแสหลักอย่างมาก อาจสรุปการนิยามความหมายของอาจารย์สุลักษณ์ได้ ดังนี้



    การนิยาม "พุทธศาสนา"

    อาจารย์สุลักษณ์มิได้เน้นศีลธรรมของพุทธศาสนาแบบโลกิยธรรม ที่จรรโลงสังคมแบบมีลำดับชั้น พร้อมทั้งเป็นศีลธรรมที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระบบทุนนิยม ดังที่ปัญญาชนกระแสหลักทั้งหลายได้พยายามเน้นอย่างต่อเนื่อง แต่อาจารย์สุลักษณ์เห็นว่า

    พุทธศาสนา...เป็นศาสนาที่ประเสริฐสุด เพราะ...ให้เหตุผล ให้แต่ละคนเป็นตัวของตัวเอง...เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของความเป็นไทย โดยเฉพาะตัวรากตัวแก่น เพราะอันนี้อันเดียวที่สามารถจะพัฒนาคนไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์๑๑

    อาจารย์สุลักษณ์ได้เสนอทางเลือกสำคัญที่แตกต่างจากปัญญาชนกระแสหลักอื่นๆ คือ พุทธศาสนาแบบ "ฉลาดในการประสานประโยชน์"๑๒ โดยพยายามทำให้เห็นว่าพุทธศาสนาเป็นทางรอดของโลก กล่าวคือ ส่งเสริมให้คนไทยและคนชาติต่างๆ รู้จักและเข้าใจพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง แล้วใช้หลักพุทธศาสนาเป็นฐานในการประกอบกิจการและการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยไม่ได้แยกโลกิยธรรมออกจากโลกุตรธรรม และไม่จำกัดว่าต้องเป็นพุทธศาสนาแบบไทย คือแบบเถรวาท แต่ได้นำเอาคำสอนของทุกนิกายจากหลายประเทศมา "ประสานประโยชน์" กับเถรวาท ขณะเดียวกันก็รับเอาปรัชญาความคิดทางโลกจากประเทศอื่นๆ มา "ประสานประโยชน์" กับพุทธศาสนา ดังนั้นอาจารย์สุลักษณ์จึงต่อต้านเพียงบางส่วนของทุนนิยม เช่น ต่อต้านวัฒนธรรมบริโภคนิยม แต่ยอมรับระบบกรรมสิทธิ์เอกชนและอุดมการณ์เสรีนิยม อาจารย์สุลักษณ์ต่อต้านบางส่วนของสังคมนิยม เช่น การต่อสู้ระหว่างชนชั้น เพราะขัดกับหลักสันติวิธีของพุทธศาสนา แต่ยอมรับหลักความเสมอภาคทางสังคม เพราะเห็นว่าทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน เป็นต้น

    นอกจากจะเขียนหนังสือและแสดงปาฐกถาจำนวนมาก ด้วยวิธีคิดหรือมุมมองทางพุทธศาสนาแล้ว อาจารย์สุลักษณ์ยังมีบทบาทในการจัดตั้งองค์กรทางพุทธศาสนาหลายองค์กร รวมทั้งสนับสนุนการพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับหลักธรรมของพุทธศาสนาที่เขียนโดยปัญญาชนชาวพุทธจากหลากหลายประเทศ เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนธรรมได้รับการเผยแผ่ออกไปสู่สังคมทั้งในเขตเมืองและชนบท และเผยแผ่ออกไปยังส่วนอื่นๆ ของโลกอย่างกว้างขวางด้วย๑๓

    นอกจากนี้อาจารย์สุลักษณ์ยังเห็นว่าพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ดั้งเดิมนั้น มีความเป็นประชาธิปไตย โดยยกตัวอย่างเรื่องวันมหาปวารณา และการที่วัดมีลักษณะเป็นคอมมูน ดังนั้นสังคมไทยจึงสามารถเรียนรู้ "ประชาธิปไตยแบบไทย" จากประเพณีของพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ แล้วพึงนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยของรัฐไทยให้ก้าวหน้าขึ้น๑๔

    เนื่องจากอาจารย์สุลักษณ์มองมนุษย์จากวิธีคิดแบบพุทธศาสนา นั่นคือ เชื่อว่ามนุษย์สามารถพัฒนาศีล สมาธิ และปัญญาได้ จึงยกย่องบุคคลที่มีศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น และคิดว่าการยกระดับศีล สมาธิ ปัญญาของคน เป็นวิธีแก้ปัญหาทั้งในระดับบุคคลและสังคม อาจารย์สุลักษณ์จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญแก่การทำความเข้าใจปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่างละเอียดอ่อน หรือหาทางที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมโดยตรง นอกจากนี้เป็นไปได้ว่า ลึกๆ แล้วอาจารย์สุลักษณ์เห็นว่าโครงสร้างของสังคมและวัฒนธรรมไทยนั้นดีอยู่แล้ว ปัญหาต่างๆ เกิดจากคนเลวบางคน (โดยเฉพาะคนเลวที่เป็นผู้นำ แต่มิได้ "เป็นผู้นำแบบไทย" ซึ่งจะต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา มากกว่าผู้อื่น) รวมทั้งเกิดจากความเขลาในการรับวัฒนธรรมจากภายนอกอย่างไม่รู้จักเลือกสรร หากคนไทยมีศีล สมาธิ และปัญญามากขึ้น ก็จะรู้จักเลือกสรรสิ่งที่ดีจากภายนอกมาประสานประโยชน์กับ "ความเป็นไทย" ดังที่พระมหากษัตริย์และเจ้านายบางพระองค์ในอดีตได้ทรงกระทำมาแล้ว พร้อมกับรักษาส่วนที่มีคุณค่าในวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชาวบ้านเอาไว้ให้มากที่สุด ก็จะสามารถทำให้ "เมืองไทยนี้ดี" อีกครั้งหนึ่ง



    การนิยาม "การปกครองแบบไทย"

    การปกครองของชาติไทยนั้น อาจารย์สุลักษณ์เสนอตัวแบบในอุดมคติที่ควรบรรลุถึง มิใช่การสร้างความชอบธรรมแก่ระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ และแก่ผู้นำที่ครอบครองอำนาจรัฐ ดังเช่นปัญญาชนกระแสหลักอื่นๆ แต่ลักษณะของการปกครองชาติไทยที่อาจารย์สุลักษณ์เสนอ มีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงและแตกต่างจากความคิดของปัญญาชนกระแสหลัก

    ในหนังสือชาติ ศาสน์ กษัตริย์ (พ.ศ. ๒๕๒๕) อาจารย์สุลักษณ์เสนอว่า ประชาธิปไตยไทยควรมีลักษณะ village republic เป็นการอ้างอิงการปกครองของหมู่บ้านในชนบทเป็นต้นแบบ ซึ่งแตกต่างจากปัญญาชนกระแสหลัก ที่มักอ้างอิงการปกครองแบบพ่อปกครองลูกของอาณาจักรสุโขทัย อย่างไรก็ตามการที่อาจารย์สุลักษณ์เน้นว่า ระบบการปกครองหมู่บ้านมีการเลือกผู้ปกครองที่มีคุณธรรม มาปกป้องความสงบสุขและความยุติธรรมขั้นพื้นฐานของสังคม หรือมีการเลือกตั้ง "คนดี" ให้เป็นผู้ปกครอง และ "คนดี" ก็รับตำแหน่ง "เพราะรู้สึกว่าเป็นภาระหน้าที่...เป็นเพื่อจะได้มีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน" รวมทั้งการเน้นให้พัฒนาประชาธิปไตย "ด้วยการกลับไปหารากเดิมของเรา"๑๕ ก็เป็นการเน้นเกี่ยวกับ "การปกครองแบบไทย" และ "ผู้นำแบบไทย" ที่ไม่แตกต่างไปจากปัญญาชนกระแสหลัก

    ความแตกต่างสำคัญระหว่างอาจารย์สุลักษณ์กับปัญญาชนกระแสหลัก อยู่ที่อาจารย์สุลักษณ์เสนอให้ปกครองแบบกระจายอำนาจ คือ "แต่ละหมู่บ้านเขาสามารถมีอธิปไตยของเขาเอง...แต่ละตำบลเขาปกครองของเขาเอง...มีอำนาจเต็มที่ เมืองหลวง...มีอำนาจให้น้อยที่สุดเข้าไว้ ทำในสิ่งที่ราษฎรเขาไม่ทำ ประชาธิปไตยมันขึ้นอยู่กับการกระจายอำนาจ กลับไปหาชุมชนเล็กๆ น้อยๆ"๑๖ ซึ่งนับว่าต่างจากปัญญาชนกระแสหลักอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ เพราะปัญญาชนกระแสหลักทั้งหลาย ล้วนมุ่งสร้างความชอบธรรมแก่ระบอบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ



    ความหมายของ "พระมหากษัตริย์"

    อาจารย์สุลักษณ์พยายามทำให้สังคมไทยเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญอย่างสูงต่อ "ชาติไทย" ในแง่ที่ช่วยสร้างความสืบเนื่องแก่สังคมไทย และเป็นศูนย์รวมจิตใจ ซึ่งไม่แตกต่างจากที่ปัญญาชนกระแสหลักเน้น ดังความว่า "สถาบันพระมหากษัตริย์เกือบจะเป็นสถาบันเดียว ที่เชื่อมอดีตให้เข้ากับปัจจุบัน และเป็นความหวังสำหรับอนาคต...เป็นพลังสำคัญที่จะดึงดูดคนทั้งชาติเอาไว้ได้"๑๗ แม้พระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะบกพร่องในแง่ที่ไม่กระจายอำนาจ แต่ทั้งพระมหากษัตริย์และเจ้านายต่างก็ได้ทำหน้าที่ "นักการทูตชั้นเยี่ยม นักการปกครองชั้นเลิศ นายช่างชั้นวิเศษ...พลิกการปกครองแผ่นดินเพื่อประโยชน์ของปวงชน"๑๘

    ในปัจจุบันอาจารย์สุลักษณ์ยังคงยืนยันว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญในด้านต่างๆ หลายด้าน ถึงแม้ว่าโดยทฤษฎีแล้ว "พระมหากษัตริย์" ทรงเป็น "พระมหากษัตริย์" ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ทรงมี "หน้าที่" ในระบอบการปกครองของไทยอย่างไม่เป็นทางการ

    พระราชอำนาจอยู่ตรงไหน อันนี้พระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงรับสั่งเห็นด้วย พระเจ้าแผ่นดินมีหน้าที่ หนึ่ง-เตือนรัฐบาล สอง-แนะนำ สาม-วิพากษ์วิจารณ์ แต่ทั้งหมดนี้ต้องทำเป็น private ไม่เปิดเผยให้คนเห็นให้คนรู้๑๙

    นอกจากนี้อาจารย์สุลักษณ์ยังเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ "ต้องเป็นตัวนำทางจริยธรรม"๒๐ โดยให้เหตุผลว่า "รัฐบาลขาดจริยธรรมแทบทุกอย่าง...เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะมองไปที่ไหน เราก็ต้องมองไปที่ผู้ซึ่งสามารถนำได้ในทางจริยธรรม ผมว่าอันนี้คือสถาบันพระมหากษัตริย์ ประเสริฐสุด เป็นแสงสว่าง เป็นชัยธรรม"๒๑

    อาจารย์สุลักษณ์เน้น "ความเป็นกลาง" ของพระมหากษัตริย์ด้วย โดยระบุว่า "แต่ท่านจะต้องไม่เข้าข้างใคร จะเป็นเช่นใดก็ตาม...โดยเฉพาะกรณีฝ่ายอธรรมสู้กัน"๒๒ นอกจากนี้บทบาททางการเมืองของพระมหากษัตริย์ก็ควรมีอย่างจำกัด กล่าวคือ "การมีบทบาททางการเมืองนั้นสมควร แต่บทบาทนั้นต้องเป็นบทบาททางจริยธรรม ในทางอุดหนุนประชาธิปไตย"๒๓

    อาจารย์สุลักษณ์เสนอว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มี "หน้าที่" ในระบอบการปกครองแบบไทย คล้ายคลึงกับที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เคยเสนอไว้ในระหว่างทศวรรษ ๒๕๐๐-๒๕๑๐ เป็นอย่างมาก แต่ส่วนที่แตกต่างจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์อย่างสิ้นเชิงก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เน้นความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่อาจารย์สุลักษณ์เน้นความเป็นมนุษย์ที่ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ได้ เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งต้องป้องกันไม่ให้บุคคลที่ทำงานในโครงการตามพระราชดำริแย่งชิงทรัพยากรจากสังคมไปใช้ในโครงการต่างๆ อย่างไม่คุ้มค่าด้วย๒๔

    นอกจากนี้อาจารย์สุลักษณ์ยังแตกต่างจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ในแง่ที่เน้น "หน้าที่" ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการส่งเสริมประชาธิปไตย (แบบกระจายอำนาจ) ในขณะที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ส่งเสริม "การปกครองแบบไทย" ที่ผู้นำมีอำนาจเด็ดขาดสูงสุด โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงทำหน้าที่ดูแลการใช้อำนาจของผู้นำและทรงเป็นที่พึ่งสุดท้ายของราษฎร แม้ในบางบริบท ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จะสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย แต่ก็เป็นประชาธิปไตยในความหมายที่มีการเลือกตั้งเท่านั้น มิใช่ประชาธิปไตยแบบกระจายอำนาจ หรือแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐดังที่อาจารย์สุลักษณ์เน้น

    จะเห็นได้ว่าอาจารย์สุลักษณ์เสนอความคิดเกี่ยวกับ "พระมหากษัตริย์" ที่อยู่พ้นกรอบความคิดกระแสหลักไปมากทีเดียว พร้อมกันนั้นอาจารย์สุลักษณ์ก็ชี้ให้เห็นปัญหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าเกิดขึ้นมากนับตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมา เพราะอาจารย์สุลักษณ์เห็นว่าในทางปฏิบัติไม่เป็นไปตามแบบแผนอัน "ถูกต้อง" ซึ่งแบบแผนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ยุคจอมพลสฤษดิ์ที่อาจารย์สุลักษณ์เห็นว่าไม่ถูกต้องนั้น มาจากการนิยามของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์๒๕

    อาจารย์สุลักษณ์หวังว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะอยู่ได้ เพราะสำคัญต่อบ้านเมือง แต่มิใช่ว่าเฉพาะการอยู่รอดของสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะทำให้บ้านเมืองทั้งหมดอยู่รอด ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกหลายประการ ที่สำคัญก็คือ "คนรุ่นใหม่"

    "คนรุ่นใหม่ที่มีกึ๋น มีความกล้าหาญ เห็นบ้านเมืองสำคัญกว่าเรา เห็นว่าลูกหลาน ๖-๗ ชั่วคนสำคัญกว่าคนรุ่นนี้...เห็นว่าการรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญ และที่สำคัญไม่ใช่เพียงเพื่อเมืองไทย แต่ต้องให้ความสำคัญโดยเคารพเพื่อนบ้านที่เป็นพม่า ลาว เคารพคนเล็กคนน้อยทั้งหมด อยู่อย่างประสานสอดคล้องกัน ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน...ผมเห็นว่าต้องเปลี่ยนจุดยืนทั้งหมด และผมเห็นว่าเปลี่ยนได้ในแง่หนึ่ง คนไทยมีอัจฉริยภาพบางอย่าง มีความฉลาดเพียงพอ หลายคนมองไม่เห็น...ในความเป็นมนุษย์เรายังเหนือกว่ามาเลเซียด้วยซ้ำ ทำไมเราไม่อุดหนุนความเป็นมนุษย์ พระราชาเป็นเพียงหัวหน้าของมนุษย์ที่เสมอกันเท่านั้นเอง...เราไม่ได้ต้องการสถาบันที่พิเศษหรือศักดิ์สิทธิ์..."๒๖

    คำนำหนังสือฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง สะท้อนการเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่และความหมายขององค์ประกอบต่างๆ ของ "ความเป็นไทย" และสะท้อนทางเดินแห่งการต่อสู้ของอาจารย์สุลักษณ์ในทศวรรษ ๒๕๑๐ เป็นต้นมา ได้เป็นอย่างดี ดังนี้

    ที่ให้ชื่อหนังสือนี้ว่าฟ้าต่ำ แผ่นดินสูงนั้น ก็ไม่มีความอาจเอื้อมอันใด ดังได้ตั้งชื่อ เจ้า-ข้า ฟ้าเดียวกัน มาแล้วนั่นเอง ทั้งนี้เพราะเห็นว่าถ้าฟ้าต่ำลงมาหาความเป็นสามัญมนุษย์ได้เท่าไร ย่อมเท่ากับเดินตามรอยพุทธยุคลบาทมากเท่านั้น นับเป็นการก้าวเข้าหาวิทยาศาสตร์ เข้าหาความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โดยทิ้งไสยศาสตร์และความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ตลอดจนอาสัตย์อาธรรม์ เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองนั้นเอง โดยที่ทวยราษฎร์ ซึ่งเป็นตัวแทนของแผ่นดิน ต้องได้รับการสนับสนุนให้สูงส่งขึ้นทุกๆ ทาง ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือวัฒนธรรมก็ตามที ถ้าเป็นไปได้ดังนี้ ทุกฝ่ายจะอยู่ด้วยกันได้อย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกัน นี้แลคือความฝันของข้าพเจ้าที่ต้องการให้เป็นจริง...ต้องเรียกร้องและทำการให้ได้มาโดยทุกวิถีทาง ซึ่งอยู่ในกระแสแห่งสันติประชาธรรม๒๗

    มีคนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับทางเลือกที่อาจารย์สุลักษณ์เสนอ มีทั้งที่เห็นด้วยทั้งหมด และเห็นด้วยเป็นบางส่วน แต่น่าสังเกตว่าแม้แต่คนที่เห็นด้วยกับอาจารย์สุลักษณ์เพียงบางส่วน หรือไม่เห็นด้วยเลย ก็ยังเคารพอาจารย์สุลักษณ์ ในฐานะของบุคคลที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม เพราะเคารพใน "ความจริง" กล้ายืนยันในสิ่งที่เชื่อว่า "ถูกต้อง" และต่อสู้อย่างยาวนานเพื่อบรรลุถึงความถูกต้อง

    แม้ทางสายที่อาจารย์สุลักษณ์เลือกเดินไปในปัจจุบัน จะมิได้อยู่ตรงกันข้ามกับทางสายหลักอย่างสิ้นเชิง หรือมิใช่การเดินสวนทางกับเส้นทางสายหลัก ยังเชื่อมต่อกับทางสายหลักอยู่เสมอ๒๘ แต่ทางเดินของอาจารย์สุลักษณ์เป็นทางแยกที่มีนัยสำคัญ การที่อาจารย์สุลักษณ์ปฏิเสธการรวมศูนย์อำนาจรัฐ และปฏิเสธการมีฐานันดรในสังคม หรือการแบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น นับเป็นการปฏิเสธมิติที่สำคัญที่สุดของ "ความเป็นไทย" ที่ปัญญาชนกระแสหลักนิยาม ดังนั้นถึงแม้ว่าอาจารย์สุลักษณ์จะไม่แตกหักอย่างสิ้นเชิงกับปัญญาชนกระแสหลัก แต่ก็ถือได้ว่าอาจารย์สุลักษณ์ได้เดินแยกออกมาจากทางเดินสายหลักไปไกลมากแล้ว

    หากสังคมไทยนับเอาทางเดินของอาจารย์สุลักษณ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทางเลือกในอนาคต เส้นทางข้างหน้าของสังคมไทยก็จะสวยงามขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากทีเดียว

    เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะหลัง แม้อาจารย์สุลักษณ์จะยังคงเคารพยกย่องปัญญาชนกระแสหลักหลายพระองค์เป็นอย่างสูง แต่เนื่องจากได้คิดเพิ่มเติมและเรียนรู้จากปัญญาชนกระแสอื่นๆ เพิ่มขึ้นเป็นอันมาก ทำให้มีความคิดใหม่ๆ หลายประการที่สอดคล้องกับปัญญาชนกลุ่มอื่น จึงเห็นควรกล่าวถึงปัญญาชนกลุ่มอื่นๆ อีก ๒ กลุ่มโดยสังเขป



    ๒. ปัญญาชนที่เชื่อว่าคนเสมอภาคกัน

    ควรมีสิทธิและมีส่วนได้ส่วนเสียในชาติเท่าเทียมกัน

    และไม่นิยมโครงสร้างการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ

    ปัญญาชนในกลุ่มนี้ อาจแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่มย่อย แต่ ๓ กลุ่มย่อยนี้ไม่ได้แยกออกจากกันเด็ดขาด ปัญญาชนบางคนค่อนมาทางกลุ่ม ๒.๑ มาก บางคนค่อนไปทางกลุ่ม ๒.๒ มาก และบางคนค่อนไปทางกลุ่ม ๒.๓ มาก

    ๒.๑ ปัญญาชนที่เชื่อในความเสมอภาคและประชาธิปไตย แต่เห็นว่าอีกนานกว่าสังคมไทยจะก้าวไปถึงจุดนั้น จึงเข้าไปทำงานในระบบ และใช้ความรู้ความสามารถในการประคับประคองระบบให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ไว้ว่า ในช่วงเวลาที่อาจารย์สุลักษณ์เรียนจบจากอังกฤษและกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ และตัดสินใจที่จะ "ไม่เข้าสู่ระบบ" นั้น "ปัญญาชนไทยส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า ต้องเข้าไปสู่ตัวระบบเพื่อแก้ระบบ (หรืออย่างน้อยก็ถ่วงดุลไม่ให้ระบบเสื่อมทรามลงไปกว่านั้น)"๒๙ ปัญญาชนสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ และอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นต้น

    อาจารย์สุลักษณ์ยกย่องทั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ และอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในแง่ที่เป็น "ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน" มีความเมตตากรุณาต่อ "ผู้น้อย" และใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่มากไปในทางที่เป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง สำหรับอาจารย์ป๋วยนั้น อาจารย์สุลักษณ์ยกย่องเป็นพิเศษในหลายเรื่อง เช่น เรื่องอาจารย์ป๋วย "ต้องการระดมทรัพยากรจากคนรวยไปช่วยคนจน และคนมีความรู้ไปช่วยผู้ที่ด้อยการศึกษากว่า กับให้คนกรุงสนใจคนชนบท" และ "ท่านมีรากฐานอันมั่นคงทางจริยธรรม (morality) และความชอบธรรม (decency) ท่านจึงเป็นคนที่น่ารัก และเป็นคนที่ไม่เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ และท่านหาทางเพื่อสร้างสันติประชาธรรมตลอดมา"๓๐

    ถึงแม้ว่าอาจารย์สุลักษณ์จะไม่เห็นพ้องกับอาจารย์ป๋วยในหลายเรื่อง เช่น เห็นว่า "คุณป๋วยนิยมยกย่องฝรั่งมากเกินไป เสรีนิยมมากเกินไป สำหรับไทยคำตอบอยู่ที่การกลับไปหาค่านิยมดั้งเดิมของเราให้ยิ่งไปกว่านี้ พื้นฐานของประชาธิปไตยอยู่ที่ระบบหมู่บ้าน อุดมการณ์อยู่ที่รูปแบบดั้งเดิมและแท้จริงของคณะสงฆ์ หมู่บ้านต้องปลดแอกออกจากเมือง...นอกไปจากนี้แล้วข้าพเจ้ายังเห็นว่าคุณป๋วยให้ความสำคัญกับความคิดแบบตรรกะ (rationalism) และแนวการกระทำแบบได้ผล (pragmatism) มากเกินไป ให้ความสำคัญในด้านความลึกซึ้งแห่งรหัสยนัย (mysticism) และความเข้าใจในด้านจิตด้านวิญญาณ (spiritual) น้อยไป"๓๑ แต่ก็สรุปเกี่ยวกับอาจารย์ป๋วยไว้ดังนี้

    เมื่อเปลโต้เขียนเกี่ยวกับโสกราตีสผู้เป็นอาจารย์ของท่านโดยอาศัยปากเฟโดนั้น ข้าพเจ้าอาจนำมาดัดแปลงใช้ได้เป็นอย่างดีกับคุณป๋วยว่า "ในบรรดาคฤหัสถ์ชนคนไทยในปัจจุบันที่รู้จักมานั้น ท่านผู้นี้เป็นผู้ที่ใช้ความฉลาดปราดเปรื่องเพื่อเพื่อนมนุษย์อย่างมากที่สุด อย่างกล้าหาญทางจริยธรรมที่สุด และอย่างเห็นแก่ตัวน้อยที่สุด" แม้ท่านจะไม่ใช่คนบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างปราศจากข้อบกพร่อง แต่จะหาคนเช่นนี้ในสังคมไทยบัดนี้ แทบเป็นการงมเข็มในมหาสมุทรกันทีเดียว๓๒

    ๒.๒ ปัญญาชนที่ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางสังคมอันเชื่อมโยงกับความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและความเป็นประชาธิปไตยทางการเมือง

    ปัญญาชนกลุ่มนี้ ได้รับอิทธิพลทางความคิดแบบสังคมนิยมหรือมาร์กซิสม์ค่อนข้างมาก จึงให้ความสำคัญแก่ระบอบกรรมสิทธิ์ร่วม เพื่อให้เกิดวิถีการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ส่งผลให้เกิดความเสมอภาคทางสังคม และส่งผลให้สังคมมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นทั้งในทางการเมืองและศิลปวัฒนธรรม ปัญญาชนในกลุ่มนี้ ได้แก่ ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ คุณสุภา ศิริมานนท์ เป็นต้น บางท่านเน้นการบรรลุสังคมดังกล่าวข้างต้นด้วยสันติวิธี แต่บางท่านก็เลือกการต่อสู้ด้วยอาวุธ หลังจากที่ได้ต่อสู้ด้วยสันติวิธีแต่ถูกรัฐขัดขวางปราบปราม ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

    ในกรณีของอาจารย์ปรีดีนั้น อาจารย์สุลักษณ์ยกย่องในหลายด้าน เช่น กล่าวว่า "นายปรีดีรับใช้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ...เป็นผู้นำในการกู้ชาติ...ทำให้เขาอยู่ในสถานะสูงส่ง ไม่น้อยไปกว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเลยทีเดียว"๓๓ ข้อที่อาจารย์สุลักษณ์ยกย่องอาจารย์ปรีดีมากเป็นพิเศษ คือ การเป็นผู้ "ปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงเผด็จการ ป. พิบูลสงคราม" การเป็น "ผู้นำในด้านประชาธิปไตย" "และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ เขาเป็นผู้นำในการกอบกู้เอกราชให้ชาติไทยในสงครามโลกครั้งที่ ๒"๓๔ ทั้งหมดนี้มาจากจุดยืนของอาจารย์สุลักษณ์ ที่ให้ความสำคัญแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ประชาธิปไตย และเอกราชของชาติ

    อย่างไรก็ตามอาจารย์สุลักษณ์ไม่กล่าวถึงระบอบกรรมสิทธิ์ร่วมที่ปรากฏใน "เค้าโครงเศรษฐกิจ" ที่อาจารย์ปรีดีเสนอ เพราะมิได้เห็นด้วยกับการนำระบอบดังกล่าวมาใช้ในสังคมไทย

    ๒.๓ ปัญญาชนที่ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางสังคม อันเชื่อมโยงกับอิสรภาพทางจิตใจและทางปัญญาของมนุษย์ ตลอดจนความเป็นประชาธิปไตยทางการเมือง

    ปัญญาชนที่สำคัญในกลุ่มนี้คือ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในข้างหลังภาพ และสงครามแห่งชีวิต คุณกุหลาบแสดงให้เห็นว่า ความไม่เสมอภาคก่อให้เกิดความเจ็บปวดแก่มนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันคุณกุหลาบยืนยันว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน จึงควรมีสิทธิและเสรีภาพ และรัฐบาลก็ควรปกครองโดยฟังเสียงของราษฎรอย่างแท้จริง รวมทั้งใช้ทรัพยากรต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ตามหลักการว่า "รัฐบาลของประชาชนจะต้องใช้จ่ายเงินของประชาชนตามปรารถนาของประชาชน"๓๕ และประเทศไทยต้องมีความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ อย่างเท่าเทียม เป็นมิตร และเป็นกลาง มุ่งให้เกิดสันติภาพตามหลักธรรมของพุทธศาสนาที่เน้นสันติและเมตตาธรรม

    คุณกุหลาบปฏิเสธความไม่เสมอภาค โดยอธิบายจากมุมมองของพุทธศาสนา ซึ่งแตกต่างจากปัญญาชนกระแสหลักที่ใช้พุทธศาสนาเพื่อจรรโลงสังคมแบบมีลำดับชั้น คุณกุหลาบเขียนไว้ว่า

    "ชาวพุทธผู้เคารพธรรมของพระศาสดา และผู้เจริญเมตตา ย่อมเล็งเห็นว่า มนุษย์ทั้งหลายย่อมเสมอกันในฐานเป็นสิ่งมีชีวิตที่ร่วมการเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน...การถือชาติชั้นวรรณะ ว่าเป็นเครื่องวัดความสูง ความต่ำ ความดี ความเลวของมนุษย์ ไม่มีที่อยู่ในพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนว่ามีแต่กรรมหรือการกระทำเท่านั้น ที่จำแนกบุคคลให้แตกต่างกัน ที่จำแนกบุคคลให้เป็นคนดีและคนเลว"๓๖

    "ความยุติธรรม" ที่คุณกุหลาบพยายามต่อสู้ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย จึงเป็นความยุติธรรมที่เสมอภาค และ "อิสรภาพ" ก็หมายถึงอิสรภาพทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ส่วน "เสรีภาพ" มุ่งเน้นไปที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้สังคมไทยมองเห็นทางเลือกใหม่ๆ และทำให้การปกครองเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง นั่นคือ เป็นการปกครองโดยฟังเสียงของประชาชนดังกล่าวมาแล้วนั่นเอง

    เรื่องราวของ ม.ร.ว.กีรติในข้างหลังภาพนั้น แม้ว่าดูเผินๆ แล้ว ม.ร.ว.กีรติจะไม่มีทางเลือกในชีวิต แต่คุณกุหลาบได้เสนอทางเลือกให้แก่คนผ่านการดิ้นรนของ ม.ร.ว.กีรติ ที่ไม่ยอมจำนนโดยดุษณีต่อจารีตประเพณีที่คนไม่เสมอภาคกัน อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรวณิชย์กุล ซึ่งเขียนเรื่อง "ปริศนา ข้างหลังภาพ ของศรีบูรพา" ได้ชี้ให้เห็นว่า

    "บ่อยครั้งเธอจะเป็นฝ่ายพูดจายั่วยวนให้นพพรแสดงออกถึงความรักที่มีต่อเธอ...ม.ร.ว.กีรติเป็นฝ่ายเริ่มเปิดประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ของเธอกับนพพร และใช้วิธีถามนำ...เพื่อชักจูงความรู้สึกของนพพรให้เห็นคล้อยตามไปว่าทั้งสองมีอะไรกันมากกว่าความเป็นเพื่อนสนิท ซึ่งก็นับว่าได้ผล คำถามของเธอทำให้นพพร "งงไปครู่หนึ่ง" เพราะนพพรไม่เคยคิดมาก่อนว่าเขาและเธอจะเป็นอะไรมากกว่าเพื่อน จากนั้นเราจะเห็นว่า ม.ร.ว.กีรติได้เปิดฉากรุกนพพรหนักขึ้นไปอีก..."๓๗

    คุณกุหลาบคงต้องการแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ต้องไม่ยอมจำนนอย่างง่ายๆ อย่างน้อยที่สุด ในสภาวะและเงื่อนไขที่กดดัน มนุษย์ก็มีอิสรภาพทางจิตใจและทางปัญญาเหลืออยู่ และอิสรภาพทางจิตใจและทางปัญญานี้เองที่เป็นเครื่องหมายของ "มนุษยภาพ" หรือ "ความเป็นมนุษย์" ที่มนุษย์ทุกคนจะต้องมี ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ

    กล่าวโดยรวบรัดที่สุดก็คือ ทางเดินของคุณกุหลาบ เป็นทางเดินแห่งการต่อสู้เพื่อให้บรรลุถึง "สมภาพและภราดรภาพ" ทั้งนี้โดย "ไม่เลือกเชื้อชาติ ชั้นวรรณะ และไม่เลือกลัทธิความเชื่อถือทั้งในทางศาสนาและในทางการเมือง...ผิวขาว ผิวเหลือง ผิวดำ...เพื่อส่งเสริมสันติภาพและมิตรภาพของเพื่อนมนุษย์ เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ดีงามของกันและกัน...เพื่อที่จะเรียนรู้ถึงการที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ และผาสุก"๓๘

    เมื่อเกิด "ขบวนการสันติภาพ" ในประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๙๔ คุณกุหลาบก็ได้เข้าร่วมในขบวนการนี้อย่างแข็งขัน เพราะเป็นขบวนการที่เคลื่อนไหวเพื่อให้คนไทยได้ร่วมมือกับชาวโลก ในการสร้างสันติภาพขึ้นมา โดยเชื่อว่าสันติภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อโลกมีความเสมอภาคเท่านั้น๓๙

    คุณกุหลาบเป็นปัญญาชนที่เดินอยู่บนทางเดินที่ท่านเห็นว่าถูกต้อง คือทางเดินที่ทุกคนมีอิสรภาพทางจิตใจและทางปัญญา ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความไม่เสมอภาคและอำนาจเผด็จการ ทางเดินที่คุณกุหลาบเลือกเดิน จึงทำให้ท่านมีความเป็นมนุษย์ที่สูงส่ง และคุณกุหลาบก็กลายเป็นปัญญาชนในอุดมคติของปัญญาชนในยุคหลังอีกมาก เช่น อาจารย์เสน่ห์ จามริก อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ อาจารย์อัมมาร สยามวาลา อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ฯลฯ ปัญญาชนเหล่านี้ทำงานต่างๆ กันไปตามความสนใจเฉพาะตัว แต่ลึกลงไปแล้ว ปัญญาชนทุกท่านล้วนแต่บูชา "สมภาพ" หรือความเสมอภาค และอิสรภาพทางจิตใจและทางปัญญาเช่นเดียวกับคุณกุหลาบ

    อาจารย์สุลักษณ์ในปัจจุบัน เป็นปัญญาชนสำคัญคนหนึ่ง ที่เดินอยู่แถวหน้าบนเส้นทางสายที่คุณกุหลาบได้บุกเบิกไว้นี้



    ๓. ปัญญาชนที่เป็นบรรพชิต

    เป็นปัญญาชนที่บวชในพุทธศาสนาเป็นเวลานาน ศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้งจริงจัง นอกเหนือจากการแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว ยังเผยแผ่ธรรมะโดยการเขียนหนังสือจำนวนมากเพื่ออธิบายหลักธรรม และพยายามทำให้พุทธศาสนาเป็นทางออกสำหรับแก้ปัญหาชีวิตและปัญหาสังคม โดยให้ความสำคัญแก่การรื้อฟื้นโลกุตรธรรมเป็นอย่างมาก เช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พระไพศาล วิสาโล เป็นต้น

    ทางเดินของปัญญาชนที่เป็นบรรพชิตนี้ ไม่เพียงแต่จะอุทิศชีวิตเพื่อเผยแผ่ธรรมะ แต่ยังเป็นแบบอย่างให้เห็นว่า วิถีชีวิตที่เป็นอิสระจากวัฒนธรรมบริโภคนิยม โดยกอปรไปด้วยศีล สมาธิ และปัญญา เป็นวิถีชีวิตที่ดี และเป็นไปได้ในโลกยุคทุนนิยมหรือโลกาภิวัตน์

    ปัญญาชนที่เป็นบรรพชิตมีบทบาทสำคัญในการทำให้ "พุทธศาสนาแบบไทย" ยังคงมีคุณค่าต่อสังคมไทยและสังคมโลก และอาจารย์สุลักษณ์ในสถานะที่เป็นคฤหัสถ์ สามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ปัญญาชนที่เป็นบรรพชิตทำได้ไม่สะดวก ทำให้พุทธศาสนาแบบที่ปัญญาชนที่เป็นบรรพชิตพยายามเผยแผ่ เป็นที่รับรู้แพร่หลายขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อคนไทยและต่อมนุษยชาติกว้างขวางขึ้นมาก โดยเฉพาะต่อคนรุ่นใหม่ซึ่งเติบโตขึ้นในยุคที่คนสนใจศาสนาน้อยลง แต่อาจารย์สุลักษณ์ได้ช่วยทำให้พุทธศาสนายังคงมีความหมายต่อชีวิตของคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยในโลกนี้

    เท่าที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าปัญญาชนไทยมีหลายแบบ แต่ละแบบมีทางเดินแตกต่างกัน เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน สิ่งที่น่าคิดก็คือ เพราะเหตุใดปัญญาชนกระแสหลักจึงยังคงมีอิทธิพลอย่างสูง โดยที่คนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ยังคงตอบปัญหาต่างๆ จากวิธีคิดที่ได้รับการปลูกฝังโดยปัญญาชนกระแสหลักอยู่เสมอ

    คำตอบน่าจะอยู่ที่ว่า ความคิดของปัญญาชนกระแสหลัก โดยเฉพาะความคิดว่า "ความเป็นไทย" ทำให้ "เมืองไทยนี้ดี" มีส่วนสำคัญอย่างมากในการจรรโลงโครงสร้างการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งเป็นโครงสร้างการเมืองของรัฐไทยตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ จนถึงปัจจุบัน ทำให้ได้รับการผลิตซ้ำในสื่อประเภทต่างๆ อย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง รวมทั้งในตำราเรียนของนักเรียน และของพระภิกษุสามเณร ตลอดจนในนิทานสำหรับเด็ก๔๐ ทำให้มีพลังครอบงำวิธีคิดของคนไทยในระดับลึก และยากจะถ่ายถอนได้

    เมื่อพิจารณาทางเดินของปัญญาชนสยามตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีหลายเส้นทางด้วยกัน เส้นทางที่ปัญญาชนกระแสหลักเลือกเดิน มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่การเสริมสร้างอำนาจของชนชั้นนำ อันเป็นชนชั้นที่ปัญญาชนกระแสหลักสังกัดอยู่ ส่วนเส้นทางที่ปัญญาชนซึ่งเชื่อในความเสมอภาคเลือกเดิน เป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยการต่อสู้เพื่อเสริมสร้างอำนาจให้แก่ประชาชน ในขณะที่ทางเดินของปัญญาชนที่เป็นบรรพชิตมุ่งนำคนทั้งหลายไปสู่ความพ้นทุกข์ และมุ่งบรรลุเป้าหมายทางจิตวิญญาณเป็นสำคัญ



    ภารกิจของปัญญาชนไทยในปัจจุบัน

    เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สังคมไทยในปัจจุบันเผชิญปัญหาที่ใหญ่หลวงและซับซ้อนกว่าในอดีตมาก เห็นได้ชัดถึงความอ่อนแอของรัฐชาติและท้องถิ่น ในสภาวะที่เผชิญหน้ากับโลกาภิวัตน์ รวมทั้งในรัฐชาติเองก็มีการเถลิงอำนาจของกลุ่มทุน ซึ่งทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยถูกแย่งชิงทรัพยากรหนักหน่วงขึ้น วัฒนธรรมในแต่ละชุมชน แต่ละท้องถิ่น มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ชาวบ้านสูญเสียความสัมพันธ์ที่เคยมีต่อกัน ในขณะที่อำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของทุนข้ามชาติเข้ามาครอบงำอีกชั้นหนึ่ง ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยไม่มีทางออก และไม่มีทางเลือกในชีวิต ความขัดแย้งและความรุนแรงทุกระดับจึงขยายตัวขึ้น ก่อให้เกิดปัญหามากมาย ซึ่งแต่ละปัญหาอาจมองได้หลายมิติ ไม่อาจเข้าใจได้อย่างง่ายๆ และไม่อาจหาทางออกอย่างมักง่ายอีกต่อไป เพราะจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาเป็นลูกโซ่นับไม่ถ้วน

    ขณะเดียวกัน อิทธิพลของปัญญาชนกระแสหลัก ก็ยังคงทำให้คนไทยยอมรับโครงสร้างรัฐแบบรวมศูนย์และโครงสร้างสังคมที่ไม่เสมอภาค มองว่าชาติไทยเป็นชาติของ "คนไทย" เบียดขับชาติพันธุ์อื่นที่มีฐานะยากจน หวาดระแวงต่อเสรีภาพว่าจะนำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวาย ให้ความสำคัญแก่การฝึกอบรมเยาวชนให้เคารพเชื่อฟัง "ผู้ใหญ่" มากกว่าให้รู้จักคิดเอง ไม่ยอมรับการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของคนด้อยโอกาส โดยเห็นว่าเป็นการทำลายระเบียบ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าของชาติ ฯลฯ

    ในสภาวะเช่นนี้ สังคมไทยต้องการปัญญาชนที่เหมือนกับอาจารย์สุลักษณ์ ในแง่ที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม มีจินตนาการทางสังคมและการเมืองทั้งในเชิงความเป็นจริงและในเชิงอุดมคติ และเรียนรู้อย่างกว้างขวาง โดยเรียนรู้จากคนทุกชั้น ทุกชาติพันธุ์ ทุกศาสนา ทุกอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย เพื่อจะสามารถเข้าใจความหลากหลายและความซับซ้อนของความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนความซับซ้อนของปัญหาต่างๆ จากหลากหลายมุมมอง สามารถเสนอทางเลือกแก่สังคมแยกย่อย (fragmented societies) ที่เกิดขึ้นได้ โดยชี้ให้เห็นแนวโน้มได้ชัดเจนพอสมควร ว่าหากเลือกทางเดินหนึ่งๆ สังคมไทยและคนแต่ละกลุ่มในสังคมไทยจะได้อะไรและจะเสียอะไร และเมื่อต้องการจะแก้ปัญหาหนึ่งๆ สังคมควรจะต้องพิจารณาไปถึงประเด็นอะไรบ้าง เพราะความหลากหลายและความซับซ้อนที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันและอนาคต ทำให้ทางเลือกหนึ่งๆ ใช้ไม่ได้สำหรับคนทุกกลุ่มหรือทุกคน ปัญญาชนจำเป็นต้องค้นหาทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อเสนอแก่สังคม เช่น เกษตรทางเลือกก็ต้องมีหลายแบบ การแพทย์ทางเลือก การศึกษาทางเลือก เศรษฐกิจทางเลือก ฯลฯ ล้วนต้องมีหลากหลายแบบทั้งสิ้น

    นอกจากนี้ปัญญาชนในปัจจุบันยังต้องตระหนักถึงภารกิจของตนในแง่ที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เคยเน้นเอาไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๙ เพราะปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่คนไทยจำเป็นจะต้อง "คิดเองเป็น" ยิ่งกว่าในยุคใดๆ ที่ผ่านมา มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถนำตนเองและชาติไทยให้อยู่รอดได้ อาจารย์ป๋วยกล่าวถึงภารกิจของปัญญาชนไว้ดังนี้

    ปัญญาชนผู้สามารถพูด เขียน หรือแสดงออกแก่มหาชน...มีหน้าที่ที่สำคัญอยู่ข้อหนึ่ง คือต้องพูด เขียน หรือแสดงให้เขาคิด ให้เขาได้โอกาสใช้ความตริตรอง และให้เขาได้เบิกความคิดให้กว้างขวาง ให้แตกฉาน ให้ลึกซึ้ง ให้ขึ้นระดับสูง ปัญญาย่อมเป็นอาภรณ์อันประเสริฐ ปัญญาที่ประเสริฐนั้นย่อมยั่วยุความประพฤติของปัญญานั้นให้แพร่หลายและก้าวหน้าสืบไป๔๑

    ภารกิจข้างหน้าของปัญญาชนจึงใหญ่หลวง ทั้งนี้ รวมไปถึงภารกิจที่ปัญญาชนต้องหาคำตอบด้วยว่า มีหลักการใหม่ๆ อะไรบ้างที่คนไทยควรนำมาพิจารณา เพื่อจะเลือกสรรมาเป็นส่วนหนึ่งของ "ความเป็นไทย" และมีอะไรบ้างในมรดกของ "ความเป็นไทย" ที่ควรช่วยกันรักษาไว้ "ความเป็นไทย" ที่รักษาไว้นั้น ควรจะปรับเปลี่ยนความหมายไปอย่างไร เพื่อจะทำให้ "ความเป็นไทย" เป็น "หัวใจ" หรือเป็น "หลักการกลาง" ที่คนทุกกลุ่ม รวมทั้งชาวมลายูมุสลิมและคนชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศไทยสามารถยึดถือร่วมกัน และเป็น "หัวใจ" หรือเป็น "หลักการกลาง" ที่จะทำให้สังคมไทยและคนทั้งหลายในสังคมไทย บรรลุถึงคุณภาพชีวิตที่ดี มีความผาสุกอย่างมั่นคงและยั่งยืน และมีความสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างสร้างสรรค์ไปพร้อมกัน



    เชิงอรรถ

    ๑. สายชล สัตยานุรักษ์. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๖.

    ๒. สายชล สัตยานุรักษ์. การเมืองและการสร้าง "ความเป็นไทย" โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (อยู่ในระหว่างดำเนินการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน).

    ๓. โปรดดู สายชล สัตยานุรักษ์. การเมืองและการสร้าง "ความเป็นไทย" โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช.

    ๔. คำว่า "ล้าหลังคลั่งชาติ" เป็นสำนวนของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ หมายถึงผู้ที่มีความคิดชาตินิยมแบบที่เน้นความเหนือกว่าของเชื้อชาติไทย และเห็นว่าชาติอื่นด้อยกว่าหรือเป็นศัตรูของชาติไทย

    ๕. โปรดดู สายชล สัตยานุรักษ์. ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการ. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๕.

    ๖. โปรดดู สายชล สัตยานุรักษ์. "สองร้อยปีวัฒนธรรมไทยและความยุติธรรม" (เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน).

    ๗. นิธิ เอียวศรีวงศ์. "สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทย," ใน ศิลปวัฒนธรรม ๒๕, ๕ (มีนาคม ๒๕๔๗), หน้า ๑๖๒.

    ๘. "คนหนุ่ม" ในทัศนะของอาจารย์สุลักษณ์ มิได้ใช้อายุและเพศเป็นเกณฑ์วัด แต่หมายถึงคนที่ยังมี "พลัง" ทางปัญญาและทางจิตวิญญาณ ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น

    ๙. สุลักษณ์ ศิวรักษ์. "การมีสถาบันกษัตริย์ถูกกว่ามีประธานาธิบดี," ใน ฟ้าเดียวกัน ๓, ๔ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๔๘), หน้า ๘๗.

    ๑๐. สุลักษณ์ ศิวรักษ์. "เสียงจากปัญญาชนสยาม," ใน กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๓๔๑ วันเสาร์ที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘, หน้า ๘.

    ๑๑. สุลักษณ์ ศิวรักษ์. อยู่อย่างไทย. กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, ๒๕๒๕, หน้า ๒๗-๒๘.

    ๑๒. "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" นี้ เป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทยที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเน้น อาจารย์สุลักษณ์ซึ่งเคารพยกย่องพระองค์อย่างสูง คงจะได้รับอิทธิพลทางความคิดในเรื่อง "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" จากพระองค์

    ๑๓. พระไพศาล วิสาโล. "ส. ศิวรักษ์ กับงานสันติภาพในประเทศไทย," ใน หกรอบ ส.ศ.ษ. กรุงเทพฯ : ศยาม, ๒๕๔๘, หน้า ๒๙-๓๐.

    ๑๔. สุลักษณ์ ศิวรักษ์. ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในศตวรรษที่สามแห่งรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, ๒๕๒๕, หน้า ๑๐๓.

    ๑๕. เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๖-๒๗.

    ๑๖. เรื่องเดียวกัน. (เน้นโดยผู้เขียน)

    ๑๗. สุลักษณ์ ศิวรักษ์. คันฉ่องส่องเจ้า. กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, ๒๕๒๕, หน้า ๒๔.

    ๑๘. เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๔.

    ๑๙. เรื่องเดียวกัน.

    ๒๐. เรื่องเดียวกัน, หน้า ๙.

    ๒๑. เรื่องเดียวกัน. (เน้นโดยผู้เขียน)

    ๒๒. เรื่องเดียวกัน.

    ๒๓. สุลักษณ์ ศิวรักษ์. "การมีสถาบันกษัตริย์ถูกกว่ามีประธานาธิบดี," ใน ฟ้าเดียวกัน ๓, ๔ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๔๘), หน้า ๘๗.

    ๒๔. เรื่องเดียวกัน, หน้า ๘๔-๙๓.

    ๒๕. โปรดดู สายชล สัตยานุรักษ์. การเมืองและการสร้าง "ความเป็นไทย" โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช.

    ๒๖. เรื่องเดียวกัน, หน้า ๙๓.

    ๒๗. สุลักษณ์ ศิวรักษ์. ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งแสงการพิมพ์, ๒๕๒๘, หน้า "คำนำ".

    ๒๘. เช่น ให้ความสำคัญแก่พุทธศาสนา ซึ่งเป็นหัวใจอย่างหนึ่งของ "ความเป็นไทย" ตามทัศนะกระแสหลัก และเห็นว่าสังคมไทยยังจำเป็นต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้จะยกพุทธศาสนาให้สำคัญเหนือพระมหากษัตริย์ ซึ่งแตกต่างจากปัญญาชนในกระแสหลักท่านอื่นๆ ยกเว้นพลเอกแสวง เสนาณรงค์ ซึ่งให้ความสำคัญแก่พุทธศาสนามากเป็นพิเศษเช่นเดียวกัน แต่พลเอกแสวงก็เน้นความสำคัญของพุทธศาสนาเฉพาะสำหรับสังคมไทย มิใช่สำหรับมนุษยชาติ และพลเอกแสวงยังทำงานทั้งในระบอบการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร อีกด้วย

    ๒๙. นิธิ เอียวศรีวงศ์. "สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทย," ใน ศิลปวัฒนธรรม ๒๕, ๕ (มีนาคม ๒๕๔๗), หน้า ๑๖๑-๑๖๒.

    ๓๐. สุลักษณ์ ศิวรักษ์. นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน. พิมพ์ครั้งที่ ๘. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๔๓, หน้า ๑๓๕-๑๓๖.

    ๓๑. เรื่องเดียวกัน, หน้า ๖๘.

    ๓๒. เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๕๐.

    ๓๓. สุลักษณ์ ศิวรักษ์. เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๔๐, หน้า ๑๒.

    ๓๔. เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑-๖.

    ๓๕. กุหลาบ สายประดิษฐ์. การเมืองของประชาชน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, ๒๕๔๘, หน้า ๗๐.

    ๓๖. เรื่องเดียวกัน, หน้า ๗๒.

    ๓๗. ชูศักดิ์ ภัทรวณิชย์กุล. "ปริศนา ข้างหลังภาพ ของศรีบูรพา," ใน อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, ๒๕๔๕, หน้า ๑๐๒-๑๐๓.

    ๓๘. เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๒๙.

    ๓๙. โปรดดู วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์. กบฏสันติภาพ. กรุงเทพฯ : คบไฟ, ๒๕๓๙.

    ๔๐. โปรดดูความคิดกระแสหลักที่ครอบงำนิทานสำหรับเด็กไทยในปัจจุบัน ใน สรณี วงศ์เบี้ยสัจจ์, หัทยา จันทรมังกร, ศตนันท์ เปียงบุญทา. "ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กไทย," ใน เอกสารประกอบการประชุมระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ ๒. จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว วันที่ ๑๐-๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๘.

    ๔๑. อ้างใน ส. ศิวรักษ์. นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน. พิมพ์ครั้งที่ ๘. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๔๓, หน้า ๒๘.
    [/FONT]
     

แชร์หน้านี้

Loading...