ทศพิธราชธรรม ว่าด้วยทานกถา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 21 เมษายน 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    คำว่า ทาน คือ การให้เพื่ออนุเคราะห์ผู้ที่ขาดแคลน เพื่อสงเคราะห์ผู้ที่ยากไร้ เป็นการผูกมิตรไมตรีหรือเพื่อบูชาผู้ที่มีพระคุณ หรือการบำเพ็ญทานในบุญเขต พระพุทธองค์ตรัสสอนให้ทำทานอย่างมีขอบเขตและเหตุผล ทรงสรรเสริญการเลือกให้ทานและทรงแสดงคุณสมบัติของทานไว้ 3 ประการ คือ

    1. เจตนาสมบัติ ถึงพร้อมด้วยเจตนา คือ มีเจตนาดีก่อนแต่จะให้ทาน มีเจตนาดีขณะกำลังให้ทานและมีเจตนาดีภายหลังการให้ทานแล้ว

    2. วัตถุสมบัติ ถึงพร้อมด้วยวัตถุ คือ วัตถุเป็นของที่ควรให้เป็นประโยชน์แก่ผู้รับทาน

    3. ปฏิคาหกสมบัติ ถึงพร้อมด้วยปฏิคาหก คือ ผู้รับซึ่งเป็นผู้ควรให้ทาน

    บุคคลประกอบด้วยสิ่งสำคัญสองส่วน คือ กายกับใจ ถึงแม้จะกล่าวกันว่า จิตใจสำคัญกว่ากาย ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว แต่ก็ไม่ควรมองข้ามกาย เพราะร่างกายที่มีพลานามัย เป็นที่มาแห่งความมีสง่าราศีหากตรงกันข้าม ร่างกายอ่อนแอ ทรุดโทรม เศร้าหมอง ความดีหรือโครงการที่วางไว้เป็นอันล่มสลาย ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคคลทั่วไป จึงมี 2 ลักษณะ คือ

    1. ทุกข์หรือความขาดแคลนในสิ่งที่เป็นไปทางกาย

    2. ทุกข์หรือความขัดข้องในสิ่งที่เป็นไปทางใจ

    ในการแก้ไขปัญหานั้น ต้องแยกแยะจับประเด็นปัญหาให้ถูก ถ้าขบไม่แตก แยกไม่เป็น ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนทางร่างกายและจิตใจ พระพุทธองค์จึงได้ประทานวิธีแก้ไขปัญหา 2 ประการ คือ

    1. อามิสทาน ได้แก่ การแก้ไขปัญหาทางกายด้วยการให้วัตถุสิ่งของ อาหารเครื่องนุ่งห่ม เครื่องมือประกอบอาชีพ ทุนในการดำเนินกิจการ เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาดแคลน ยากจนข้นแค้นทางกายภาพ หรือความเจ็บไข้ที่ไม่ได้รับการดูแลให้ถูกวิธี ก็นับว่าเป็นความทุกข์ทางกายที่ควรได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูล หรือฟื้นฟูให้อยู่ในสถานที่เหมาะสม

    2. ธรรมทาน ได้แก่ การแก้ไขปัญหาทางใจ ด้วยการให้ธรรม คือ การแนะนำ สั่งสอน ให้ข้อคิด กำลังใจ อันเป็นการชี้นำในหนทางที่ถูกต้อง บางครั้ง คนเราอาจจะไม่ทราบว่า ความเหมาะสม ความถูกต้องและความสมควร อยู่ ณ จุดใด เพราะขาดปัญญาไตร่ตรอง ขาดประสบการณ์ หรือมีตัวเลือกมากจนยากที่จะกำหนดได้ ทำให้ขาดความมั่นใจในการตัดสินปัญหา จึงต้องอาศัยกัลยาณมิตรเป็นผู้แนะนำให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินปัญหา นอกจากนี้ การให้ธรรมทาน ยังเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความประพฤติเสียหายทางจิตใจ อาทิ ความโลภ ความโกรธ และความหลงได้อย่างดียิ่ง

    บทความพิเศษนี้ เป็นการสรุปความโดยย่อจากบทพระธรรมเทศนาทศพิธราชธรรม กัณฑ์ที่ 1 ว่าด้วยทานกถา ที่วัดทั่วราชอาณาจักร จะได้จัดแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องดังกล่าว เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเพื่อเพิ่มพูนศรัทธา ปัญญาบารมีของพสกนิกร ผู้รับฟังทุกหมู่เหล่าสืบไป
     

แชร์หน้านี้

Loading...