ตัวรู้-รู้ตัว (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย โลกุตตระ, 21 กรกฎาคม 2010.

  1. โลกุตตระ

    โลกุตตระ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    448
    ค่าพลัง:
    +2,624
    พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
    (พระอาจารย์<?xml:namespace prefix = st1 ns = "urn:schemas-microsoft-com[​IMG]ลี ธมฺมธโร</st1:personName>)

    ...ในการนั่งภาวนานี้ ถึงแม้เราจะไม่มีความรู้อะไรเลย ก็ให้รู้เพียงว่า ลมเข้าเราก็รู้ ลมออกเราก็รู้ ลมยาวเราก็รู้ ลมสั้นเราก็รู้ ลมสบายเราก็รู้ หรือลมไม่สบายเราก็รู้ เท่านี้ก็เป็นอันใช้ได้ ส่วน "สัญญา" ในเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในใจของเรานั้น ก็ให้ปัดทิ้งเสีย ทั้งดีและชั่ว ทั้งอดีตอนาคต ไม่ให้นำมายุ่งเกี่ยวและก็ไม่ต้องต้องไปแก้ไข

    เมื่อสัญญาผ่านเข้ามา ก็ปล่อยให้ผ่านไปตามเรื่องของมัน ความรู้ของเราก็ให้เฉยอยู่กับปัจจุบันอย่างเดียว

    ข้อที่ว่าใจเราไปอย่างนั้นไปอย่างนี้มันก็ไม่ใช่ตัวจริง เป็นเพียงแต่สัญญามันพาไป เท่านั้น สัญญา นี้เปรียบเหมือนกับ "เงา" ส่วนตัวจริงของมันนั้นก็คือ "จิต" ต่างหาก ถ้ากายของเราเฉยไม่มีอาการเคลื่อนไหวไปมาแล้ว เงาของเราจะเคลื่อนไหวไปได้อย่างไร ?

    เพราะกายของเรามันไหวไม่อยู่นิ่ง เงาของเราจึงไหวไปด้วย และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราจะไปจับเอาเงามาอย่างไร? เงานี้จะจับมันก็ยาก จะละมันก็ยาก จะตั้งให้เที่ยงก็ยาก ความรู้ที่เป็นตัวปัจจุบัน นั่นแหละคือ "ตัวจริง" ส่วนความรู้ที่เป็นไปตามสัญญานั้น ก็คือ .."เงา"

    ความรู้ตัวจริงนั้น ย่อมเป็นตัวที่อยู่คงที่ ไม่มีอาการยืน เดิน ไปมา ส่วนจิต ก็คือ "ตัวรู้" ซึ่งไม่มีอาการไปอาการมา ไม่มีไปข้างหน้า ไม่มีมาข้างหลัง มันก็สงบเฉยอยู่ และเมื่อตัวจิตราบเรียบอยู่ในปกติไม่มีความคิดนึกวอกแวกไปอย่างนี้ ตัวเราก็ย่อมสบาย คือ จิตไม่มีเงา

    ถ้าจิตของเราไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ไหวตัวไปมาอยู่ก็ย่อมจะเกิดสัญญาขึ้นมา และเมื่อสัญญาเกิดขึ้น มันก็ฉายแสงออกมา และเราก็จะไหลไปตามมัน จะไปเหนี่ยวดึงเข้ามา การที่เราไปตามเข้ามานั่นแหละมันเสีย ใช้ไม่ได้ จึงให้ทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า "ตัวรู้" นั้น ไม่เป็นไรดอก แต่ "เงา" สัญญานั้นแหละสำคัญ

    เราจะมุ่งไปทำให้ "เงา" มันดีขึ้นก็ไม่ได้ เช่น "เงา" มันดำเราจะเอาสบู่ไปขัดฟอกจนตายมันก็ไม่หายดำเพราะเงามันไม่มีตัว ฉะนั้น สัญญาความคิดนึกต่าง ๆ เราจะทำให้ดีเลว ย่อมได้ เพราะมันเป็นเพียง "หุ่น" หลอกเราเท่านั้น

    พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงว่า ใครไม่รู้จัก ตัว ไม่รู้จัก กาย ไม่รู้จัก ใจ ไม่รู้จัก เงา ของตัวเอง นั่นคือ อวิชชา คนที่สำคัญว่าจิต เป็นตน ตนเป็นจิต จิตเป็นสัญญา ปนเปกันไปหมดเช่นนี้ เขาเรียกว่า.. "คนหลง" ... คือเหมือนกับคนที่หลงป่า

    การหลงป่านั้นย่อมจะต้องลำบากทุก ๆ อย่าง ทั้งอันตรายในสัตว์ป่า ทั้งลำบากในเรื่องอาหารการกิน และการหลับการนอนจะมองไปทางไหนก็หาทางออกไม่พบ

    แต่ที่เรา "หลงโลก" นี้ก็ยิ่งจะร้ายไปกว่า "หลงป่า" ตั้งหลายเท่า เพราะจะไม่รู้จักทั้งกลางวันกลางคืน และไม่ได้พบกับความสว่างไสวเลย เพราะดวงจิตมันมืดไปด้วย "อวิชชา"

    ฉะนั้น การที่เรามาทำความสงบอย่างนี้ ก็เพื่อจะให้เรื่องราวต่าง ๆ ลดน้อยลง เมื่อเรื่องราวต่าง ๆ น้อยไปแล้ว จิตก็จะมีความสงบ เมื่อจิตได้รับความสงบก็จะค่อย ๆ สว่างขึ้นในตัว เกิด "วิชชา" เป็นความรู้ขึ้น ถ้าความยุ่งยากมากขึ้น ความรู้ก็จะไม่เกิดขึ้นได้ นั่นเป็นความมืด

    ดวงจิตที่เจือปนอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ นั่นก็เหมือนกับเรือที่ถูกลมพายุอันพัดมาจากข้างหลัง ข้างหน้า ข้างซ้าย ข้างขวา ทั้ง ๘ ด้าน ๘ ทิศ มันก็จะไม่ทำให้เรือนั้นตั้งลำตรงอยู่ได้ มีแต่จะทำให้เรือจมลง ๆ ไฟที่จะใช้สอยก็ดับหมดด้วยอำนาจความแรงของกระแสลมที่พัดมานั้น

    สัญญานี้เหมือนกับระลอกคลื่น ที่วิ่งไปมาในมหาสมุทร ใจนั้นก็เปรียบเหมือนกับปลาที่ดำผุดดำว่ายอยู่ในน้ำ ธรรมดาของปลาย่อมเห็นน้ำเป็นของสนุกเพลิดเพลินฉันใด บุคคลผู้หนาแน่นไปด้วยอวิชชา ก็ย่อมเห็นเรื่องยุ่ง ๆ เป็นของเพลิดเพลินเป็นของสนุก เหมือนกับปลาที่เห็นคลื่นในน้ำเค็มเป็นของสนุกสนานสำหรับตัวมันฉันนั้น

    ตามใดที่เราทำความสงบให้เรื่องต่าง ๆ บรรเทาเบาบางไปจากใจได้ ก็ย่อมทำอารมณ์ของเราให้เป็นไปใน " กรรมฐาน" คือฝังแต่ "พุทธานุสติ" เป็นเบื้องต้นจนถึง "สังฆานุสสติ" เป็นปริโยสานไว้ในจิตใจ

    เมื่อเป็นไปดังนี้ ก็จะถ่ายอารมณ์ที่ชั่วให้หมดไปจากใจได้ เหมือนกับเราถ่ายของที่ไม่มีประโยชน์ออกจากเรือ และนำของที่มีประโยชน์เข้ามาใส่แทน ถึงเรือนั้นจะหนักก็ตาม แต่ใจของเราก็เบา เพราะเรื่องของบุญกุศลเป็นของเบา เมื่อใจของเราเบาอย่างนี้ภาระทั้งหลายก็น้อยลง

    สัญญาต่าง ๆ ก็ไม่มี นิวรณ์ก็ไม่ปรากฏ ดวงจิตก็จะเข้าไปสู่ "กรรมฐาน" ได้ทันที

    เราก็ต้องมี สติสัมปชัญญะ คอยสำรวจว่าลมที่หายใจเข้าออกนี้ มันเกิดผลแก่ร่างกายอย่างไร จิตของเราได้ผลอย่างไรบ้าง ถ้าลมอ่อนก็ให้ถอนลมเสียใหม่ อย่าให้เผลอตัว ปรับปรุงลมหายใจจนรู้สึกว่า กายและจิตได้รับความสะดวกสบาย (การถอนลม คือการสร้างความรู้สึก) เมื่อเกิดความสะดวกสบายอย่างนี้ จิตก็สงบ เมื่อจิตสงบแล้วก็ย่อมเกิดผล ๆ ได้หลายอย่าง

    ๑. ผลเกิดขึ้นในทางร่างกาย

    ๒. ผลที่เกิดในทางใจ

    ผลทางกาย คือ กายโปร่งเบาคล่องแคล่ว ไม่อึดอัดเดือดร้อน นั่งอยู่ก็ไม่แน่น ไม่จุก ไม่เสียด ส่วนจิตก็ไม่มีความยุ่งยากอะไร โล่งโถงว่างเปล่า ปราศจากสัญญาอารมณ์ภายนอก ผลอันนี้แหละรักษาไว้ให้ดี รักษาไว้ให้นาน

    ส่วนผลอื่น ๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมาอีก กล่าวตามความรู้ก็คือ "วิชชา" ส่วนรูปได้แก่ "อุคคหนิมิต" นี่เป็นผลเกิดในส่วนร่างกาย นิมิตชนิดไหนก็ตามซึ่งปรากฏเป็นรูปในใจ ย่อมเป็นผลซึ่งเกิดซ้อนขึ้นมาอีก
    ถ้าพื้นของร่างกายสบาย พื้นใจก็ย่อมสบาย และผลก็จะเกิดขึ้นในทางจิตใจ เรียกว่า "วิชชา" เป็นต้นว่า เราไม่เคยศึกษาเล่าเรียนอะไรเลย แต่มันผุดขึ้นมาได้ อีกอย่างหนึ่งเวลาที่จิตสงบดี ถ้าเราประสงค์จะทราบเรื่องราวอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ขยับจิตเพียงนิดเดียว ก็สามารถจะรู้เรื่องราวนั้น ๆ ได้ทันที

    เหมือนเข็มที่จ่อลงในแผ่นจานเสียง พอจ่อลงไปเสียงก็จะปรากฏบอกเรื่องราวในจานนั้น ๆ ให้รู้ได้โดยแจ่มชัด

    ความรู้ตอนนี้แหละจะเป็น "วิปัสสนาญาณ" ถ้าเป็นความรู้เบื้องต่ำเกี่ยวกับสัญญาอดีต อนาคต เราสาวไปยาวนักก็เป็น "โลกิยวิชชา" คือ เล่นในส่วนกายมากไปก็ทำให้จิตต่ำ เพราะไม่แก่ใน "นาม" ตัวอย่างเช่น นิมิตเกิดขึ้น ก็ไปติดอยู่ในนิมิต เช่น "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ"

    เห็นชาติภพที่ล่วงมาแล้วของตัวเองก็เกิดความดีอกดีใจ ว่าเราไม่เคยรู้ เคยเห็น ไม่เคยมีเคยเป็น ก็มามีขึ้นอย่างนี้ก็มี อันเป็นเหตุให้ดีใจเกินไปหรือเสียใจเกินไปก็ได้ ในระหว่างที่เรากำลังสาวไปในเรื่องนิมิต ทำไมจึงเกิดดีใจหรือเสียใจได้?

    นั่นก็เพราะจิตเข้าไปยึดถือในเรื่องนั้น ๆ เป็นจริงเป็นจัง คือบางทีไปเห็นภาพตัวเองในฝ่ายที่เจริญ เช่นเป็นเจ้าเป็นนาย เป็นพระราชามหากษัตริย์ อันอุดมไปด้วยศฤงคารบริวารใหญ่โต ก็เป็นเหตุให้พอใจยินดี เพลิดเพลินไปในอารมณ์นั้น ๆ

    อย่างนี้ก็เป็น "กามสุขัลลิกานุโยค" พลาดไปจากมัชฌิมาปฏิปทา ก็เป็นการผิด บางทีเห็นตัวเองไปปรากฏในรูปภพที่ไม่พึงปรารถนา เช่น เป็นหมู เป็นหมา เป็นนก เป็นหนู กระจอกงอกง่อยก็เกิดใจเหี่ยวแห้ง สลดหดหู่ นี่ก็เป็น "อัตตกิลมถานุโยค" พลาดไปจากมรรคอีก ไม่ตรงกับคำสอนของพระองค์

    บางคนก็สำคัญผิด พอได้ไปพบสิ่งที่ตัวไม่เคย ได้รู้ได้เห็นเข้าก็นึกว่าตัวเป็น "ผู้วิเศษ" เกิดความเหลิงขึ้นในใจ ใจมี "อัสมิมานะ" เกิดขึ้น มรรคที่ถูกอันเป็น "สัมมามรรค" ก็หายไปโดยไม่รู้ตัว นี่ "วิชชาโลกีย์" ย่อมเป็นอย่างนี้

    ถ้าเรามีหลักวิจารณ์แล้วเราก็จะเดินไปถูกต้องตามมรรคโดยไม่พลาด คือความรู้ต่าง ๆ มันจะจริงในฝ่ายดีก็ตาม ในรูปนิมิตที่ปรากฏดีหรือไม่ดีก็ตาม จริงก็ตามไม่จริงก็ตาม เราไม่ต้องดีใจ หรือเสียใจ ทำจิตใจให้เป็นกลาง มัธยัสถ์ลงในธรรม เราก็จะเกิดปัญญาให้เห็นว่า นิมิตนั้น ก็เป็นทุกขสัจ ความเกิดก็เป็นชาติ ที่เสื่อมไปก็เป็นชรา ที่ดับไปก็เป็นมรณะ

    เมื่อรู้อย่างนี้ เราก็จะวางเฉยเป็นกลาง จิตก็จะปล่อยนิมิต ทิ้งออกจากใจได้ นิมิตนั้นก็จะดับ แต่ไม่ใช่ดับสูญ นิมิตนั้นก็มีความจริงอยู่อย่างนั้น เหมือนไฟที่มีอยู่ในโลก แสงไฟแดงก็มี แต่มือของเราไม่จับไม่เกี่ยว ไม่แตะต้อง รูปทั้งหลายมันก็ดับจริง ๆ แต่ไม่สูญ

    ถึงเราจะไปอยู่ที่ไหน มันก็มีอยู่ แต่เราไม่ยึดเท่านั้น มันจะเกิดก็เกิดไป จะดับก็ดับไป ตามสภาพของมันแต่ "ตัวรู้" ของเราก็ยืนอยู่อย่างธรรมดา

    นี่เป็นตัว "มรรค" เมื่อมรรคตั้งขึ้นอย่างนี้ "สมุทัย" ก็ดับ แต่นิมิตก็ยังอยู่ คือ "ความรู้ธรรม" เช่น เราอยากรู้เรื่องนรกสวรรค์เป็นอย่างไร จะมีจริงหรือไม่จริง นิมิตก็จะปรากฏขึ้นมาทันที

    บางทีก็รู้ในเรื่องของคนอื่น เช่น คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ แล้วต่อไปก็ตายไป เป็นอย่างนั้น ๆ ตลอดจนที่เกิดที่อยู่เป็นอย่างไร ๆ เมื่อรู้อย่างนี้ ก็เพลินไปในเรื่องของเขา เพลินไปในความรู้ของตัว บางทีก็ไปเห็นหน้าศัตรูที่มันเคยเบียดเบียนข่มเหงเราอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา จิตก็ตกไปใน "อัตตกิลมถานุโยค"

    ทางที่ถูกเราจะต้องไม่แสดงความดีใจ หรือเสียใจ ทั้งในสิ่งที่พึงปรารถนาและไม่พึงปรารถนา ต้องคิดว่าคนเรานั้น ก็ย่อมมีดีบ้าง เลวบ้างเป็นธรรมดา เรื่องของความเกิดมันก็วนไปเวียนมาอย่างนี้ ไม่มีอะไรแน่ ไม่มีอะไรจริง ดีก็ดีไม่จริง ชั่วก็ชั่วไม่จริง แล้วมันก็กลับกลอกไปอีกตัวเราก็อย่างนี้ คนอื่นก็อย่างนี้

    เมื่อเห็นความจริงเป็นดังนี้แล้ว จิตก็จะเกิดความเบื่อหน่าย เพราะเห็นชัดว่าทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดขึ้นแล้วก็แปรไป แปรไปแล้วก็ดับ จิตก็จะว่างเฉยเป็นมรรคขึ้น ดวงใจก็ยืนตัวคงที่อยู่เฉย ๆ ไม่มีอะไรไปเกาะเกี่ยวกังวล จิตก็จะพ้นไปจากรูปนิมิตอันเรื่องของตัวเอง และคนอื่น

    พ้นไปจากความรู้ไม่ยึดความรู้ในเรื่องของตน คือ "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" ในเรื่องของคนอื่น คือ "จุตูปปาตญาณ" เมื่อเราไม่เกี่ยวข้องในเรื่องของตน อันมีความจริงหรือไม่จริงก็ตาม ดีหรือไม่ดีก็ตาม รู้หรือไม่รู้ก็ตาม

    จิตก็จะพ้น "โลกิยะ" กลายเป็น "อาสวักขยญาณ" แต่บางคนที่ไปยึดก็หลงไปเลย ส่วนผู้ที่มีวาสนาบารมีแก่กล้าก็จะรู้จัก ยับยั้งความรู้ของตน จิตก็เข้าไปสู่กระแสธรรม ขั้นต่ำที่สุดคือ "โสดา"

    บางคนไปได้ "วิชชา" เกิดขึ้นในส่วนนามคือ บางทีก็มีญาณรู้ขึ้นมาในเรื่องจิต นิมิตของนามเป็นความรู้ซึ่งผุดขึ้นมาจากความสงบ โดยที่เรามิได้นึกคิด แต่มันก็ผุดขึ้นมาได้ พอเรานึกถึงอะไร สิ่งนั้นก็ผุดขึ้นมาได้อย่างเรานึกทันที เหมือนกับเราเปิดวิทยุรับฟังเสียง และเรื่องราวต่าง ๆ นั้น

    บางทีก็รู้อย่างโน้น บางทีก็รู้อย่างนี้ บางทีก็ไม่รู้ บางทีก็ผุดขึ้นมาเองเลยเป็น "วิปัสสนูปกิเลส" ไปก็มี
    เพราะฉะนั้น ถึงเรื่องที่เรารู้จริง ก็อย่าไปยึดถือเอา เรื่องไม่จริงเราก็ไม่ยึดไม่ถือเอา ยึดในความเห็นก็มีโทษ ยึดในความรู้ที่ไม่จริงก็มีโทษ ยึดในความรู้ที่จริงก็มีโทษ ฒความรู้จริงน่ะแหละมีโทษมาก

    ตัวอย่างเช่น ตัวรู้จริงแล้ว กล่าวไปก็เป็น "อุตตริมนุสสธรรม" รู้ไม่จริง กล่าวไปก็มีโทษ เพราะฉะนั้น นักปราชญ์ท่านจึงเห็นว่า ความรู้ความเห็นก็เป็นตัวทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร? เพราะมันมีโทษ "รู้" ตัวนี้เป็น "ทิฏฐิโอฆะ" ถ้าเข้าไปยึดก็ผิด รู้ก็ต้องสักแต่ว่ารู้ เห็นก็สักแต่ว่าเห็นเท่านั้น ไม่ต้องไปตื่นเต้น ชื่นชม ยินดี หรือโอ้อวดใคร

    คนที่เขาไปเรียนสำเร็จวิชาชั้นสูงสุดมาจากเมืองนอกนั้น เมื่อเขาไปเที่ยวตามชนบท ตามท้องไร่ท้องนา เขาก็ไม่เคยเล่าให้พวกบ้านนอกฟังถึงเรื่องราวที่เขาได้ไปรู้ไปเห็นมา เขาจะพูดคุยไปตามภาษาของชาวบ้านเท่านั้น การที่เขาไม่เล่าก็เพราะ

    ๑. คนที่จะรับวิชาจากเขาไม่มี

    ๒. การเล่าให้เขาฟังนั้นไม่ได้รับประโยชน์

    ใช่แต่เท่านั้น แม้กับคนที่สามารถจะรู้ได้ เขาก็ยังไม่เล่า ในทางธรรมก็เหมือนกัน ถึงรู้ก็ต้องทำเป็นไม่รู้ ทำเหมือนกับคนโง่ ๆ

    ที่ไม่รู้อะไร เพราะธรรมดาคนดีจริงแล้วเขาก็ต้องทำอย่างนั้น คนที่รู้อะไรแล้ว ก็ไปเที่ยวพูดคุยโม้ โอ้อวดใครต่อใครเขานั้น ถ้าเขาว่า "ไม่จริง" หรือ "ขี้ปด" ก็ยิ่งร้ายไปอีก ถึงเราจะรู้ก็รู้ไป ต้องปล่อยวางตามสภาพ ความสำคัญว่า ตนรู้ก็ไม่มี

    เมื่อเป็นไปอย่างนี้ จิตนั้นก็จะเป็นโลกุตตระ พ้นจากความยึดสิ่งทั้งหลายในโลก ย่อมมีความจริงในตัวของมันเองทุกอย่าง ถึงจะไม่จริงมันก็จริงคือ จริงที่มันไม่จริงนั่นแหละ ฉะนั้น เราจะต้องละทั้งความจริง ทั้งความไม่จริง แต่ถึงกระนั้น ก็เป็น "ทุกขสัจ"

    เมื่อเรามีความจริงและละความจริงของเราได้ เราก็จะสบาย ไม่ยากจน เพราะเรามีจริง ไม่ใช่เหลว ๆ ใหล ๆ เหมือนเรามีเงินทองมาก ๆ เราก็กองไว้ในบ้านของเรา เราก็ยังมีอยู่ ไม่ยากจน ผู้ที่ความรู้ก็เช่นเดียวกัน ถึงเขาจะทิ้งก็มีไม่ทิ้งก็มี

    ดังนั้น จิตของพระอริยเจ้าทั้งหลายจึงไม่ขาดลอย เพราะท่านไม่ได้ทิ้งอย่างฉิบหาย ท่านทิ้งอย่างคนมั่งคนมี ถึงแม้ท่านจะทิ้งแต่สมบัติของท่านก็ยังกองมากมายอยู่อย่างนั้น

    คนที่ทิ้งอย่างอนาถายากจนก็คือ ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นของดี และของไม่ดี เมื่อทิ้งของดีเสียแล้วก็ต้องเกิดความฉิบหายเท่านั้น เช่น อะไร ๆ ก็เห็นเป็นของไม่จริงไปทั้งหมด ขันธ์ ๕ ก็ไม่จริง รูปก็ไม่จริง ทุกข์ก็ไม่จริง สมุทัย ก็ไม่จริง มรรคก็ไม่จริง นิโรธก็ไม่จริง นิพพานก็ไม่จริง

    ไม่ใช้ความพินิจพิจารณาไตร่ตรองอะไร ๆ ก็ขี้เกียจขี้คร้าน ไม่อยากทำ ปล่อยวางทิ้งหมด ทิ้งอย่างนี้เขาเรียกว่า ทิ้งอย่างอนาถายากจน เช่นอย่างนักปราชญ์สมัยใหม่นั้น ตายไปแล้วเกิดมาก็ยังจนอีก ส่วนพระพุทธเจ้าท่านทิ้งแต่ของจริง ไม่จริง ที่ปรากฏในส่วนรูปนาม

    ท่านไม่ให้ทิ้งรูปทิ้งนาม ท่านจึงร่ำรวยไม่อดไม่อยาก แล้วท่านก็ยังมีสมบัติแจกจ่ายให้ลูกหลานของท่านอีก เพราะฉะนั้น ลูกหลานของท่านจึงไม่ยากไม่จน ไปถึงไหน ๆ ก็มีข้าวเต็มบาตรอยู่เสมอ ไม่ต้องกลัวอดกลัวอยาก สมบัติอย่างนี้ย่อมประเสริฐยิ่งเสียกว่าที่จะขี่วอช่อฟ้า หรือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์นั้นก็ยังสู้ไม่ได้

    ฉะนั้น เราทั้งหลายจึงควรดูแบบอย่างที่พระองค์ทรงกระทำ ถ้าใครเห็นว่า ขันธ์ ๕ ไม่ดี มีแต่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแล้ว ก็พากันทิ้งขันธ์ ๕ เสียหมด ดังนี้ เขาก็จะต้องเป็นผู้ยากจนอย่างแน่ ๆ

    เหมือนคนโง่ที่รังเกียจบาดแผลเปื่อยเน่าที่เกิดขึ้นในร่างกาย ไม่กล้าเอามือไปแตะต้องเลยทิ้งไว้ไม่รักษา ปล่อยให้เน่าเหม็นอยู่กับตัวอย่างนั้น แผลมันก็ไม่มีโอกาสจะหายได้ ส่วนคนฉลาด ก็จะรู้จักรักษาบาดแผลของตนโดยการชำระล้างและหายามาใส่ แล้วก็หาผ้ามาปกปิดพันไว้ไม่ให้เป็นที่น่ารังเกียจ ในที่สุดแผลนั้นก็จะหายเป็นปกติได้

    ฉันใดคนที่รังเกียจในขันธ์ ๕ ของตัวเอง มองเห็นแต่ส่วนที่เป็นโทษฝ่ายเดียว ไม่มองเห็นฝ่ายดี ทิ้งขันธ์ ๕ ของตนเสีย ไม่ทำให้เป็นบุญเป็นกุศลขึ้น เช่นนี้ก็ย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใดได้เลย คนมีปัญญาย่อมเห็นว่า ขันธ์ ๕ มีทั้งคุณทั้งโทษ จึงควรบำเพ็ญบุญกุศล ให้ปัญญาเกิดขึ้นในรูปนาม

    เมื่อปัญญานี้เกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องร่ำรวยเป็นสุข นั่งกินนอนกินสบาย จะอยู่หลายคนก็เป็นสุข อยู่คนเดียวก็เป็นสุข คนจนนั้นถึงมีเพื่อน ก็เป็นทุกข์ ไม่มีก็เป็นทุกข์ ถ้าเรามี "ความจริง" คือ " ธรรมะ" เป็นทรัพย์ของเราแล้ว ถึงจะมีเงิน ก็ไม่ทุกข์ ไม่มีก็ไม่ทุกข์ เพราะจิตของเราเป็นโลกุตตระแล้ว

    ส่วนขี้ต่าง ๆ เช่น "โลภะ" ความขี้โมโห อยากได้ของของเขา "โทสะ" ความขี้โกรธ ขี้ชัง "โมหะ" ความขี้หลงซึ่งเป็นขี้สนิมต่าง ๆ ที่เคยเปรอะเปื้อนปกปิดอายตนะของเราไว้ดังนี้ ก็จะหลุดออกไป

    คราวนี้ ตา หู จมูก ปาก คอ ของเราก็จะสะอาดและสว่างไสวไปหมด พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ธมฺโม ปทีโป" ธรรมเป็นแสงสว่าง (คือ ดวง "ปัญญา") จิตของเราก็จะไกลจากโทษจากทุกข์ทั้งปวง ไหลไปสู่กระแสนิพพานทุกเวลา …..<O:p</O:p

    *********************************************

    ที่มา จาก:ธรรมจักษุ ปีที่ ๘๗ ฉบับที่ ๑๒ เดือนกันยายน ๒๕๔๖

    http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=dokgaew&topic=5472<O:p</O:p
     

แชร์หน้านี้

Loading...