จาก ปฏิวัติคาร์เนชั่น ถึงปฏิวัติสีเหลือง

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 26 กันยายน 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    " เสรี พงศ์พิศ " เทียบการปฏิวัติของไทยกับ การปฏิวัติคาร์เนชั่นของโปรตุเกส เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เสนอแนวทาง ถอยอย่างไรไม่ให้ล้ม เพื่อปฏิรูปสังคมไทยให้มั่นคง ยั่งยืนอยู่ได้ในกระแสโลกาภิวัฒน์ ด้วยการถอยไปยึดหลัก "คืนสู่ต้นกำเนิด -คืนสู่รากเหง้า -คืนสู่พื้นฐาน" โดยใช้ปัญญาและความกล้าหาญ

    ดร.เสรี พงศ์พิศ นักพัฒนาอาวุโสของไทย เขียนบทความเรื่อง "ปฎิรูป -ถอยอย่างไรไม่ให้ล้ม " เผยแพร่ในเว็บไซต์ของเขาที่ชื่อว่า โฮมเพจ ดร. เสรี พงศ์พิศ ( The Home of Dr . Seri Phongphit - www.phongphit.com) แสดงทัศนะเกี่ยวกับการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข

    ดร. เสรี เรียกการปฏิวัติของ ไทยในครั้งนี้ ซึ่งเป็นไปอย่างสงบ ไม่เสียเลือดเนื้อว่า การปฏิวัติสีเหลือง และแฝงนัยแห่งความคาดหวังว่า การปฏิวัติสีเหลืองนี้น่าจะเป็นการปฏิวัติที่สร้างสรรค์ นำสังคมไทยไปสู่ความเข้มแข็ง ดั่งเช่น การปฏิวัติคาร์เนชั่นของโปรตุเกส เมื่อ คศ. 1974

    " คิดแบบนักประวัติศาสตร์ที่ค้นหาคำอธิบายบวกความชอบธรรมก็อาจบอกว่า นี่ไม่ใช่นวัตกรรมของคนไทย แต่เป็น "ปอร์ตุเกสโมเดล" ต่างหาก ซึ่งทำสำเร็จมาแล้ว ยึดอำนาจเพื่อปฏิรูปการเมือง และทำให้ปอร์ตุเกสเป็นปอร์ตุเกสที่เข้มแข็งอย่างทุกวันนี้

    เหตุการณ์ที่โปรตุเกสเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 1974 เมื่อทหารและพลเรือนร่วมกันทำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการซึ่งครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 1926 โดยประธานาธิบดีโอลิเวียรา ซาลาซาร์ เผด็จการครองอำนาจยาวนานที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ จนกระทั่งถูกโค่นโดยเผด็จการอีกคนหนึ่งในปี 1968 ก่อนจะถูกปฏิวัติในปี 1974

    การปฏิวัติในปี 1974 เรียกกันว่า Carnation Revolution เพราะประชาชนออกมาให้กำลังใจทหาร นำดอกคาร์เนชั่นไปให้ ทหารก็เอาดอกไม้ดังกล่าวเสียบที่ปากกระบอกปืน เป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติแบบสันติ มีเด็กๆ ออกไปถ่ายรูปและเล่นกับทหารตามถนน

    การปฏิวัติคาร์เนชั่นมีคนตายเพียง 4 คน เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เรียกกันอีกว่า Portuguese Revolution ซึ่งเป็นการปฏิวัติแบบสันติและสร้างสรรค์"

    ดร.เสรีเห็นว่า แม้การยึดอำนาจครั้งนี้ ในสายตาของหลายๆคนจะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง แต่การถอยหลังเข้าคลองนั้นเป็นเรื่องดีและจำเป็น

    "อาจจะมีคนบอกว่า นี่ไม่ใช่การถอยตั้งหลัก แต่เป็นการถอยหลังเข้าคลอง ก็แล้วแต่ใครจะคิด เพราะมีคนอย่างท่านพุทธทาสที่บอกว่า "ถอยหลังเข้าคลอง" นั้นดีและจำเป็น คือต้องเข้า "คลองธรรม" ทำให้ถูกต้องเสียก็จะดี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงบอกในเศรษฐกิจพอเพียงว่าต้อง "ถอยหลังเข้าคลอง" เพราะพายุแรงมาก ถ้าออกไปทะเลลึกก็จะอันตราย ถอยไปตั้งหลักก่อนดีกว่า "การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ.. ขอให้มีพอกินพอใช้ก็พอ"

    ประเด็นสำคัญในบทความชิ้นนี้คือ การเสนอหลักการในการถอยว่า ถอยอย่างไรไม่ให้ล้ม

    "ถ้าถอยไปตั้งหลัก ถอยไปยึดหลัก ก็จะไม่ล้ม

    ๑. คืนสู่ต้นกำเนิด (Back to the Source) กลับไปหาความจริง ความดี ความงาม หรือ "ถูกต้อง ดี งาม" กลับไปหาหลักธรรม "ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ" (พุทธทาสภิกขุ) ปัญหาสังคมวันนี้ไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการขาดเงิน แต่เป็นปัญหา "โรคบกพร่องทางจิตวิญญาณ" (ทะไล ลามะ) (Spiritual Deficiency Disease) สังคมเต็มไปด้วยความโลภ โกรธ หลง

    ๒. คืนสู่รากเหง้า (Back to the Roots) กลับไปศึกษาอดีต เชื่อมอดีตกับปัจจุบันเพื่อสานอนาคต กลับไปเรียนรู้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษว่าพวกเขาอยู่อย่างไรจึงไม่จน ไม่เป็นทุกข์ทรมานมากมายอย่างวันนี้ กลับไปเรียนรู้คุณค่าเพื่อนำมาสืบทอด ประยุกต์ให้สมสมัยกับวันนี้

    ๓. คืนสู่พื้นฐาน (Back to Basic) กลับไปสู่ "ธรรมดา-สามัญ" ความเรียบง่าย ความพอเพียงมากกว่าจะร่ำรวยทันสมัยแต่ไม่พัฒนา (ชีวิตจิตใจ) จนกลายเป็นโรคบกพร่องทางจิตวิญญาณ กินพอดี อยู่พอดี "คืนสู่ธรรมชาติ" ไม่เอาเปรียบธรรมชาติ ไม่เอาเปรียบผู้อื่น

    ถอยหลังครั้งนี้ ถอยอย่างไรไม่ให้ล้ม ขอให้ยืนสองขาให้มั่นคง คือ

    ๑. ปัญญา ปัญญาเป็นหลักคิดที่กอร์ปด้วยคุณธรรม การปฏิรูปการเมือง-สังคม-เศรษฐกิจจะเกิดขึ้นจริงและได้ผลถ้าหากเข้าใจความซับซ้อนของระบบสังคมโลกาภิวัตน์วันนี้ เข้าใจศักยภาพของตนเองที่จะลุกขึ้น (อยู่รอด survive) อย่างมั่นคง (ยั่งยืน sustain) และสามารถยืนหยัดในโลกาภิวัตน์นี้ได้ ต้องปฏิวัติการเรียนรู้ การศึกษา สร้างสังคมฐานความรู้และปัญญา ไม่ใช่อำนาจและเงิน

    ๒. ความกล้าหาญ ที่จะทวนกระแสทุนนิยมสุดขั้ว พัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจังในทุกระดับ ทุกภาคส่วน เป็นตัวของตัวเอง ยืนหยัดด้วยความมุ่งมั่นที่จะเห็นความเสมอภาคไม่เพียงแต่ในทางกฎหมาย แต่ในความเป็นจริง

    สิ่งที่เร่งด่วนที่สุดวันนี้ คือ ฟื้นฟูและเอาความเป็นพี่เป็นน้องของคนไทยทั้งชาติที่หายไปกลับคืนมา สี่ห้าปีที่ผ่านมาได้ทำลายความความเป็นหนึ่งเดียวของผู้คนไปเกือบหมด"

    ( อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ www.phongphit.com)
     

แชร์หน้านี้

Loading...