คาถาเป็นบาทของอภิญญา คือขั้นต้นของอภิญญา ต้องเข้มระดับใกล้อภิญญา ไม่อย่างนั้นเล่นคาถาไม่ขึ้น

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย Saber, 31 มีนาคม 2015.

  1. Saber

    Saber เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    5,941
    กระทู้เรื่องเด่น:
    19
    ค่าพลัง:
    +11,819
    คาถาเป็นบาทของอภิญญา คือขั้นต้นของอภิญญา ต้องเข้มระดับใกล้อภิญญา ไม่อย่างนั้นเล่นคาถาไม่ขึ้น

    คาถามหาประสาน

    ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓
    พระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ

    ๑๑. คาถามหาประสาน

    คาถาแต่ละบทนั้น ผูกขึ้นโดยครูบาอาจารย์ที่ทรงอภิญญาสมาบัติอย่างหนึ่ง หรือได้มาจาก พระ หรือพรหม หรือ เทวดา ท่านมาบอกอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าหากเราเชื่อถือ และตั้งใจปฏิบัติตามด้วยความเคารพเลื่อมใสแล้ว ท่านเจ้าของคาถาก็จะแผ่บารมีลงมาช่วยให้คาถานั้น ๆ เกิดความศักดิ์สิทธิ์ สมดังความปรารถนาของเราทุกประการ...
    การเล่นคาถานั้นเป็นการทดสอบตรง ๆ ว่าเรามีความลังเลสงสัยในครูบาอาจารย์หรือไม่เพียงใด เพราะคาถาบางบท ฟังดูแล้วตลกขบขันไม่น่าเลื่อมใส บางทีก็เป็นคำด่าที่หยาบคาย ไม่น่าจะมีสรรพคุณ ดังที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกเลยซักนิดเดียว...!
    หลวงพ่อเล่าว่า หลวงพ่อเรื่อง วัดใหม่พิณสุวรรณ จังหวัดสุพรรณบุรี มีคาถาบทหนึ่ง ถ้าท่านขึ้นกุฏิจุดธูป แล้วด่าลั่นไปสามบ้านแปดบ้านเมื่อไร ชาวบ้านจะขนเอาผักหญ้า ข้าวสาร อาหารแห้ง มาถวายให้ท่านเลี้ยงพระเป็นหาบ ๆ เลย หลวงพ่อถามท่านว่า ทำไมต้องด่ากันหยาบคายขนาดนั้นด้วย...? ท่านตอบว่า “ก็คาถามันเป็นอย่างนั้นเองนี่หว่า...!”
    หลวงพ่อบอกว่า คาถาเป็นบาทของอภิญญา คือขั้นต้นของอภิญญา เพราะสมาธิจิตของคนเล่นคาถานั้น ต้องเข้มระดับใกล้อภิญญา ไม่อย่างนั้นเล่นคาถาไม่ขึ้น ที่สำคัญคือต้องเป็นคนจริงจังไม่เหลาะแหละมีสัจจะตั้งมั่น โดยเฉพาะตัวสัจจะสำคัญที่สุด จะเห็นได้จากบรรดาอ้ายเสือยุคก่อน ปล้นเขากินแท้ ๆ แต่กลับอยู่ยงคงกระพัน เป็นที่ปวดเศียรเวียนเกล้าของเจ้าหน้าที่ผู้ปราบปราม เหตุที่พวกนี้หนังดี เพราะเล่นของเล่นคาถา และมีสัจจะมั่นคงนั่นเอง
    ตัวสัจจะที่แต่ละคนยึดมั่น แตกต่างกันไปตามแต่ครูบาอาจารย์สั่งมา บ้างก็ห้ามลอดราวผ้า ห้ามด่าแม่คนอื่น ห้ามกินผักผลไม้บางอย่าง ที่เชื่อว่าล้างอาถรรพ์ได้ เช่นผักกระเฉด ฟัก แฟง แตง น้ำเต้า เป็นต้น ถ้าครูบาอาจารย์เป็นพระ ส่วนมากก็จะให้ลูกศิษย์ ถือศีล ๕ อย่างเคร่งครัด ถ้าศีลบกพร่อง คาถาก็เสื่อม เป็นต้น
    หลวงพ่อของอาตมานั้น ท่านมีกุศโลบายยอดเยี่ยม ในการสอนศิษย์ทุกประเภท ถ้าเป็นนักรบเก่าอย่างอาตมา ท่านจะหลอกให้คาถาไปภาวนา โดยกำชับว่า ต้องภาวนากันจริง ๆ และต้องรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ ไม่อย่างนั้นจะทำคาถาไม่ขึ้น...
    อาตมาได้คาถาไปก็ทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด ภาวนากันแบบเอาเป็นเอาตาย พอได้ผลก็วิ่งโร่หน้าบานมารายงาน หลวงพ่อก็จะให้คาถาบทใหม่ ที่มีอานุภาพแปลก ๆ ไปภาวนาใหม่ กว่าจะรู้ตัวก็ติดการภาวนาและรักษาศีลจนเป็นนิสัย ทีนี้หลวงพ่อก็เปลี่ยนให้ใช้การภาวนาพิจารณาตามแบบ กรรมฐาน ๔๐ มหาสติปัฏฐานสูตร หรือ วิปัสสนาญาณ ๙แทน ผลก็คือสามารถทำได้เร็วกว่าการปฏิบัติตรง ๆ ตามปกติ...
    วันหนึ่ง...หลวงพ่อบอก “คาถามหาประสาน”ให้ คาถาบทนี้หากทำถึงที่สุด ต่อให้เกิดบาดแผลใหญ่ขนาดไหน ก็สามารถเป่าให้แผลนั้น ประสานติดเป็นเนื้อเดียวกัน โดยไม่มีแผลเป็นหลงเหลืออยู่ ซึ่งดีกว่าศัลยกรรมใหม่หลายเท่า เพราะไม่ต้องเสียเงินซักบาท...

    คาถานี้มีเคล็ดสำคัญ คือต้องใช้ใบตองสดปิดแผล แล้วกลั้นใจว่าคาถาเป่าลงไป ตัวคาถาว่าดังนี้...
    “วะโรวรัญญู วะระโท วะราหะโร อนุตตะโร ธัมมะวะรัง อะเทสะยิ”
    อาตมาภาวนาคาถานี้อยู่เป็นนาน แต่โอกาสทดลองไม่ค่อยมีเพราะไม่ได้รับบาดแผลบ่อยนัก แรก ๆ เป่าลงไป พอเปิดใบตองดู เลือดก็ยังไหลโกรกเหมือนเดิม กว่าจะได้เป่าอีกหน อาจจะสองเดือนครึ่งปีไปโน่น พยายามแล้วพยายามเล่า ในที่สุด ก็สามารถเป่าให้เลือดหยุดไหลได้...
    หลังจากทบทวนว่า ใช้กำลังใจอย่างไร ใช้สมาธิระดับไหน พอแน่ใจแล้วอาตมาก็นอกครู เพราะขี้เกียจไปหาใบตองสด เอามือปิดแผลว่าคาถาเป่าไปเลย...มันง่ายดี...ผลก็คือเป่ากี่ทีก็เลือด นองอย่างเก่า กลั้นใจซะหน้าเขียว เป่าจนตาเหล่ก็ไม่เป็นผล...!
    เลยต้องยอมแพ้ไปหาใบตองมาปิดแผล เป่าปุ๊บเปิดดู เลือดหยุดแล้ว เฮ้อ...แปลว่าคำสั่งครูบาอาจารย์คือพรอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องเทิดไว้เหนือเศียรเหนือเกล้า อย่าได้บังอาจฝ่าฝืนเป็นอันขาด ถ้าเป็นบาดแผลขนาดใหญ่ หัวรั้นนอกครูอย่างอาตมา คงวายชีวาไปแล้ว...
    แต่อาตมาทำคาถาบทนี้ไม่ถึงที่สุด เพียงเป่าให้เลือดหยุดไหลเท่านั้น บาดแผลต้องไปให้หมอเย็บกันเอาเอง เลยไม่ใช่คาถามหาประสาน กลายเป็นคาถาห้ามเลือดไปซะฉิบ...และ ห่างต้นกล้วยไม่ได้เลย ขาดใบตองสดเมื่อไร ต้องปล่อยตามเวรตามกรรมเมื่อนั้น...

    คาถามหาประสาน - พระครูวิลาสกาญจนธรรม (หลวงพี่เล็ก สุธมฺมปญฺโญ) - www.indraphong.com - Powered by Discuz! Archiver


     

แชร์หน้านี้

Loading...