ความเป็นไทยกับวิกฤตมนุษยศาสตร์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 24 พฤศจิกายน 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    'ความเป็นไทย'กับวิกฤตมนุษยศาสตร์

    "ความเป็นไทย" กับวิกฤตมนุษยศาสตร์

    คอลัมน์ ภูมิสังคมวัฒนธรรม

    ปรับปรุงและตัดทอนจากบทความวิชาการยาว 31 หน้า (A4) ของ รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่




    <TABLE cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=left border=0><TBODY><TR bgColor=#f8b8cb><TD>[​IMG]
    "การแสดง" ความเป็นไทย เพื่อ "ขาย" การท่องเที่ยวตายซาก กลวงเปล่า และล่องลอยเพ้อเจ้อ ไร้แก่นสาร

    </TD></TR></TBODY></TABLE>
    วิกฤตของมนุษยศาสตร์เป็นวิกฤตของวิธีคิด ซึ่งส่วนสำคัญส่วนหนึ่งมาจากวิธีคิดและมุมมองที่อยู่ในกรอบมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" อันเป็นวิธีคิดและมุมมองที่คับแคบเกินกว่าจะเข้าใจมนุษย์และสังคมไทย ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว จนชีวิตและสังคมเต็มไปด้วยความหลากหลายซับซ้อน (รวมทั้งปัญหาของชีวิตและสังคมก็มีความหลากหลายและซับซ้อนตามไปด้วย)

    นักมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่มุ่งแต่จะเข้าถึง "ความจริง ความดี ความงาม" แบบไทยหรือแบบสากล (ที่ "ความเป็นไทย" ก็มี "ความเป็นสากล" หรือมีสิ่งดีๆ เทียบเท่ากับสากล--อย่างน่าภาคภูมิใจ) ดังนั้น นักมนุษยศาสตร์จึงมักศึกษาวรรณกรรมและศิลปะไทย เพื่อค้นหาคุณค่าของ"ความเป็นไทย"ที่ตกทอดมาแต่โบราณ(ซึ่งหยุดนิ่งตายตัว) หรืออาจจะพยายามแสดงให้เห็นว่า "ความเป็นไทย" นั้นมี "ความเป็นสากล" ก็ได้

    แต่ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในแบบใดก็ตาม ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อยืนยันว่า "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ทั้งสิ้น

    ด้วยเหตุนี้ ผลงานวิจัยแบบที่ช่วยให้ผู้อ่านหรือผู้เรียนได้พัฒนาความรู้สึกนึกคิดให้แหลมคมและละเอียดอ่อนจึงมีอยู่น้อย แม้ในระยะหลังจะมีการมองวรรณกรรมจากแง่มุมใหม่ๆ มากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับการมองตามกรอบทฤษฎี หรือการพิสูจน์ทฤษฎี หากมีความยืดหยุ่นหรือการพลิกแพลงในการวิเคราะห์และอธิบาย ผลงานของนักมนุษยศาสตร์ก็จะมีเสน่ห์ขึ้นมากทีเดียว

    มโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ทำให้มนุษยศาสตร์ไทยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่การจรรโลงจิตใจที่เข้าถึง "ความจริง ความดี ความงาม" โดยปราศจากจินตนาการที่จะตั้งคำถามว่า ใครคือผู้นิยาม "ความจริง ความดี ความงาม" นั้นๆ จึงสร้างความรู้เพื่ออนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมไทยในฐานะ "ความดีและความงามแห่งชาติไทย"

    หากนักมนุษยศาสตร์ไทยพยายามสร้างความรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทย วัฒนธรรมไทย และศิลปะไทย ให้ตอบสนองต่อพลวัตทรงเศรษฐกิจและการเมือง ในวิถีทางที่เอื้อให้คนไทยมีความเสมอภาคมากขึ้น และทำให้คนทุกคนมีโอกาสกับเสรีภาพในการเข้าถึง "ความจริง ความดี ความงาม" ตามความใฝ่ฝันของแต่ละคน จนสามารถบรรลุความสงบสุขในชีวิตพร้อมไปกับการมีชีวิตที่มีคุณค่าต่อสังคมอย่างเต็มตามศักยภาพ ก็จะส่งผลดีเป็นอย่างยิ่ง

    หากวงวิชาการมนุษยศาสตร์ไม่เปลี่ยนแปลงตนเองมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น โดยปรับเปลี่ยน "ความเป็นไทย" ให้มีพลวัตเพียงพอที่จะตอบสนองคนทุกกลุ่มที่ประกอบกันขึ้นเป็น "สังคมไทย" อย่างทันท่วงทีแล้ว กระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งส่งผลให้สำนึกปัจเจกชนของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้คนไทยขาดความสำนึกในความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับคนอื่น กับสังคมไทยและกับมนุษยชาติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คนไทยแต่ละคนก็จะทำทุกอย่างให้ตัวเองอยู่รอด โดยมีอัตลักษณ์ที่ลื่นไหลไปตามความจำเป็นเฉพาะหน้า

    เมื่อถึงตอนนั้น "ความเป็นไทย" ที่วงการมนุษยศาสตร์มอบให้ ก็จะเป็นเพียง "ความจริง ความดี ความงาม" ที่น่าเบื่อหน่ายที่ถูกบังคับให้เรียน ให้ภาคภูมิใจ และให้ยึดมั่นหวงแหนโดยที่ไม่รู้ว่าจะเอา "ความเป็นไทย" ไปวางไว้ตรงไหน ในวิถีชีวิตที่แทบจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ "ความเป็นไทย" อีกแล้ว นอกจากเอาไว้ขายนักท่องเที่ยว หรือขายให้แก่คนไทยที่ยังมีความต้องการที่จะบริโภค "ความเป็นไทย"เป็นครั้งคราว ซึ่งในปัจจุบันเวลาเช่นนั้นก็เริ่มปรากฏให้เห็นมากแล้ว อันทำให้ "ความเป็นไทย" มีลักษณะดังที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ได้วิเคราะห์ไว้ในบทความ "บริโภคความเป็นไทย" อย่างน่าสนใจว่า

    "ความเป็นไทย...ได้ถูกลดทอนลงให้เหลือเป็นเพียงเครื่องหมายหรือเปลือกปลอกสัญลักษณ์ที่ตายซาก กลวงเปล่า และล่องลอยอิสระ ซึ่งสินค้าชนิดใดๆ ก็สามารถเข้ามาสวมเสียบได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะไทยหรือไม่ไทย"

    จำเป็นอย่างยิ่งที่นักมนุษยศาสตร์จะต้องปรับเปลี่ยนความหมายของ "ความเป็นไทย" ให้ตอบสนองปัญหาชีวิตและปัญหาสังคมปัจจุบัน และยุติการใช้วิธีคิด "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" แบบเดิม อันจะส่งผลให้ความรู้ทางมนุษยศาสตร์สามารถกระตุ้นให้คนกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ เพราะ "ความจริง ความดี ความงาม" มิได้มีความหมายเดียวและมิได้หยุดนิ่งตายตัว ที่ทุกคนต้องท่องจำให้ขึ้นใจ แต่มีความหมายที่แตกต่างหลากหลายจนแต่ละคนต้องครุ่นคิดอย่างจริงจัง ต้องรู้สึกอย่างลึกซึ้งละเอียดอ่อน และต้องแสวงหาอย่างไม่สิ้นสุด

    ขณะเดียวกัน การคิดนอกกรอบ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ที่ทำให้ตระหนักอย่างเพียงพอว่า "มิติด้านพื้นที่ เวลา และความเป็นจริงเปลี่ยนไป เมื่อเราเปลี่ยนจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่ง" ก็จะทำให้เรามีความเคารพต่อคนในวัฒนธรรมอื่น วิธีคิดที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายนี้ สำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์ ที่จะเกิดสังคมแยกย่อย (fragmented societies) ขึ้นมากมาย และคนไทยจะมีจิตสำนึกปัจเจกชนเข้มข้นขึ้น ซึ่งความแตกต่างหลากหลายทางความคิดย่อมจะตามมาอย่างไพศาล

    หากไม่สามารถสร้าง "ความรู้ทางมนุษยศาสตร์" ที่ช่วยให้เราคิดได้มากขึ้นและรู้สึกได้มากขึ้น จนทำให้เรามีขันติธรรมและสันติธรรมอย่างมีปัญญา และจิตใจที่เคารพในความแตกต่าง และไม่สามารถเสริมสร้างวิธีคิดและวิธีรู้สึกที่เอื้อให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมและมนุษย์ วิชามนุษยศาสตร์ก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่อีกต่อไป

    ในขณะที่วิกฤตมนุษยศาสตร์เป็นวิกฤตของวิธีคิดและวิธีรู้สึก พลังของมนุษยศาสตร์ก็อยู่ที่วิธีคิดและวิธีรู้สึกเช่นเดียวกัน มนุษยศาสตร์จะต้องพัฒนาวิธีคิดและวิธีรู้สึกเพื่อจะสร้างความรู้ที่ส่งเสริมให้ทุกคนมีอิสรภาพและมีความสามารถที่จะเลือกสิ่งที่ "ถูกต้องที่สุด ดีที่สุด และงามที่สุด" ด้วยตนเองตลอดไป



    "ความเป็นไทย"กระแสหลัก

    บทความนี้มองมนุษยศาสตร์ไทยในแง่ร้าย มิได้หมายความว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น หรือผู้เขียนมองไม่เห็นด้านที่ดีขึ้น แต่ด้านที่ดีขึ้นนั้นเป็นผลงานของนักมนุษยศาสตร์ส่วนน้อย ทำให้ความรู้ทางมนุษยศาสตร์ไทยยังมีพลังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อชีวิตคนไทยและสังคมไทย ในมิติที่เกี่ยวเนื่องกับ "ปัญญา" "จิตใจ" และ "อารมณ์ความรู้สึก"

    ขณะเดียวกันความรู้ทางมนุษยศาสตร์จำนวนมากที่ได้รับการสร้างขึ้นในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ยังเป็นส่วนหนึ่งที่จรรโลงโครงสร้างความรุนแรงในสังคมไทย เนื่องจากได้รับการสร้างขึ้นด้วยวิธีคิดที่มาจากมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" กระแสหลัก ผู้เขียนจึงเห็นว่าการสร้างความรู้ทางมนุษยศาสตร์มีปัญหามากในระดับที่สามารถเรียกได้ว่า "วิกฤตมนุษยศาสตร์"

    ที่มาของการนิยามหรือการสร้าง "ความเป็นไทย" กระแสหลักก็คือความจำเป็นและความต้องการของชนชั้นนำตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่จะจรรโลงโครงสร้างรัฐแบบรวมศูนย์อำนาจ และโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น ให้คนแต่ละชั้นมีสิทธิและหน้าที่แตกต่างกัน ในสภาวการณ์ที่อุดมการณ์แบบธรรมิกราชาธิราชเริ่มหมดพลัง ระบบไพร่และทาสที่เคยเป็นกลไกสำคัญในการจัดระเบียบสังคม กำลังสลายตัวลงจากการเข้ามาของทุนนิยม ในขณะที่เกิด "คนชั้นกลาง" ทั้งในและนอกระบบราชการ ซึ่งเริ่มสำนึกและเผยแพร่ความคิด "ชาตินิยม" ที่เน้นว่า "ชาติ" เป็นของประชาชน

    การสร้าง "ความเป็นไทย" จึงเริ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ชนชั้นนำพยายามสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็น "ชุมชนในจินตนาการ" ของชาวสยาม โดยทำให้มโนทัศน์ที่ชนชั้นนำสถาปนาขึ้นมานี้ มีอำนาจครอบงำเหนือความคิดที่เสนอโดยคนกลุ่มอื่นๆ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ชาวสยามผูกพันกับ "ชาติไทย" แบบที่ชนชั้นนำนิยามแทน "ชุมชน" ทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมเล็กๆ ที่ชาวสยามได้เคยผูกพันใกล้ชิดมาก่อน เกิดความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้การนำของ "พระมหากษัตริย์แห่งชาติ" และมี "วัฒนธรรมแห่งชาติ" ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

    นั่นคือ "วัฒนธรรมไทย" ที่จะช่วยจรรโลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้มีความมั่นคงและยั่งยืนและเอื้อให้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

    "ความเป็นไทย" ทางวัฒนธรรมที่ชนชั้นนำสร้างขึ้นนี้ เป็นผลมาจากการตัดสินใจว่าจะเลือกสรรและจัดการอย่างไรกับวัฒนธรรมเดิมของรัฐแบบราชาธิราชที่ตกทอดมา ในขณะที่วัฒนธรรมใหม่จากตะวันตกขยายอิทธิพลไปทั่วโลก ซึ่งปรากฏว่าชนชั้นนำได้เลือกที่จะรับเอาความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยีจากตะวันตกเพื่อใช้เป็นกลไกอำนาจรัฐ และเพื่อช่วยยืนยันในความสำเร็จ (คือความเจริญของบ้านเมือง) อันเกิดจากการปกครองแบบไทย

    ขณะเดียวกันก็เลือกรักษา "วัฒนธรรมไทย" หรือ "ความเป็นไทยทางจิตใจ" เอาไว้ เพราะจะช่วยจรรโลงสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น ที่ "เจ้า" มีความชอบธรรมในการมีอำนาจเหนือคนชั้นอื่นๆ ทั้งนี้ โดยเลือกสรรบางส่วนจากศิลปะ พิธีกรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมเท่าที่จำเป็น แล้วนิยามความหมายใหม่ พร้อมกับสร้าง "วัฒนธรรมใหม่" บางอย่าง แล้วทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ "ความเป็นไทย"

    สาระสำคัญของวิธีคิดในกรอบมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่ชนชั้นนำในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สร้างขึ้น และปัญญาชนในยุคหลังทำการสืบทอดต่อมา ก็คือวิธีคิดที่ว่า "ความเป็นไทย" ทำให้ "เมืองไทยนี้ดี" คือกอปรไปด้วยระเบียบ ความมั่นคง ความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้า

    กล่าวได้ว่าวงวิชาการมนุษยศาสตร์ ถูกมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ครอบงำแน่นหนาและยาวนานกว่าวงวิชาการสังคมศาสตร์เป็นอันมาก และตราบจนกระทั่งปัจจุบัน นักมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ยังคงสร้างความรู้ด้วยวิธีคิดที่มาจากมโนทัศน์ดังกล่าวนี้

    "ความเป็นไทย" กระแสหลัก กับ "วิกฤตมนุษยศาสตร์" หลายทศวรรษ ที่ผ่านมา การวิจัยและการสอนวิชาด้านมนุษยศาสตร์ เช่น ภาษาไทย วรรณคดีไทย ประวัติศาสตร์ไทย ปรัชญาความคิดไทย ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวิธีคิด "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" อย่างเห็นได้ชัด เพราะการสร้างความรู้ทางมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่แล้วยังคงเป็นไปเพื่อค้นหา "ความจริง ความดี ความงาม" ที่มีอยู่ในศิลปะและวัฒนธรรมไทย ตามมุมมองของปัญญาชนกระแสหลัก และยึดเอาปัญญาชนกระแสหลักเป็นปรมาจารย์

    ในปัจจุบันนักมนุษยศาสตร์เริ่มพูดว่าสังคมมีปัญหาเพราะคนเราแข็งกระด้าง เนื่องจาก "เราคิดมากเกินไป และรู้สึกน้อยเกินไป" และที่เรารู้สึกน้อยก็เพราะสังคมของเรามองไม่เห็นคุณค่าของมนุษยศาสตร์

    ข้อความข้างต้นนี้อาจนำมาดัดแปลงเสียใหม่ว่า วิธีคิดในกรอบมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ทำให้นักมนุษยศาสตร์ไทย "คิดน้อยเกินไปและรู้สึกน้อยเกินไปด้วย"


    ---------------------------
    ที่มา: มติชน
    http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra04241149&day=2006/11/24
     

แชร์หน้านี้

Loading...