ความเป็นมาของพระไตรปิฏก ตอน61

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย guawn, 27 พฤศจิกายน 2006.

  1. guawn

    guawn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    10,642
    ค่าพลัง:
    +42,113
    ความเป็นมาของพระไตรปิฏก ตอน61

    คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์



    (4) ธาตุสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า นิพพานธาตุมี 2 อย่างคือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ และอนุอาทิเสสนิพพานธาตุ โดยอธิบายว่า "ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว มีประโยชน์ตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นแล้ว หลุดพ้นเพราะรู้ชอบ ภิกษุย่อมเสวยอารมณ์ที่พึงใจและไม่พึงใจ ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่ เพราะอินทรีย์ทั้งห้าเหล่าใดยังไม่บุบสลาย อินทรีย์ทั้งห้าเหล่านั้นยังตั้งอยู่นั้นเทียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะของภิกษุนั้น นี้เราเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันตขีณาสพ...หลุดพ้นเพราะรู้ชอบ เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของภิกษุนั้น อันกิเลสตัณหา เป็นต้น ให้เพลิดเพลินมิได้แล้ว จักดับเย็น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี่เราเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ"

    (5) สังฆาฏิสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถึงภิกษุจะจับชายสังฆาฏิของพระองค์ เดินตามไปข้างหลัง ถ้าเธอมากด้วยความโลภจัด กำหนัดแรงกล้าในกาม มีจิตพยาบาท มีความคิดชั่วร้าย หลงลืมสติ จิตไม่ตั้งมั่น จิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์ ก็นับว่าอยู่ห่างพระองค์ แต่ถ้าภิกษุมีคุณสมบัติตรงข้ามจากที่กล่าวมา ถึงแม้เธอจะอยู่ห่างไกลพระองค์ตั้งร้อยโยชน์ ก็ชื่อว่าอยู่ใกล้พระองค์โดยแท้ เพราะเธอย่อมเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมก็ชื่อว่าเห็นพระพุทธองค์"

    (6) พรหมสูตร พระองค์ตรัสว่า ตระกูลใดบูชาบิดามารดาในเรือนของตน ตระกูลนั้นชื่อว่ามีพระพรหม บุรพเทวดา บุรพาจารย์ อาหุไนยบุคคล ( พระอรหันต์) คำว่าพรหม บุรพเทวดา บุรพาจารย์ อาหุไนยบุคคล เป็นชื่อเรียกบิดามารดา เพราะท่านทั้งสองเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้ถนอมเลี้ยง เป็นผู้แสดงโลกนี้แก่บุตร

    2.5 สุตตนิบาต ประชุมสูตรสั้นๆ เป็นคาถาล้วน (มีร้อยแก้วปนบ้างเล็กน้อย) มีทั้งหมด 70 สูตรแบ่งเป็น 5 วรรค ดังต่อไปนี้

    ก.อุรควรรคที่ 1

    (1) อุรคสูตร พระสูตรเปรียบด้วยงู (ลอกคราบ) กล่าวถึงภิกษุผู้ละกิเลสชั่วร้ายต่างๆ ได้ เช่น ราคะ ตัณหา มานะ วิตก เป็นต้น ย่อมละฝั่งนี้ไปถึงฝั่งโน้น (พระนิพพาน) ได้ เหมือนงูลอกคราบเก่าทิ้งไปฉะนั้น

    (2) ธนิยสูตร เป็นคำโต้ตอบระหว่างคนเลี้ยงโคชื่อธนิยะกับพระพุทธเจ้า ถ้อยคำโต้ตอบน่าสนใจ นายธนิยะมองโลกในแง่โลกียะ หรือคิดอย่างชาวโลก แต่พระพุทธองค์ทรงมองในแง่โลกุตตระ เช่น นายธนิยะเชิญให้ฝนตกลงมาเพราะตนได้ทำหน้าที่เสร็จแล้ว เช่น มุงหลังคาบ้านดีแล้ว นำเชื้อไฟมาเตรียมไว้แล้ว ฝนตกก็ไม่กลัว พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ทรงเปิดหลังคาบ้านไว้แล้ว (ละกิเลส) ได้ดับไฟแล้ว ฝนจะตกก็เชิญตกลงมาเถิด เป็นต้น

    (3) ขัคควิสาณสูตร กล่าวถึงประโยชน์ของการเที่ยวไปคนเดียวของภิกษุเหมือนนอแรด (ซึ่งมีอันเดียว) ด้วยคาถาที่มีคำและความไพเราะกินใจ เช่น "คนที่วางอาชญาในสัตว์ทั้งปวงได้แล้ว เว้นการเบียดเบียนจะพึงปรารถนาบุตรและสหายแต่ที่ไหน พึงเที่ยวไปคนเดียวเหมือนนอแรด เมื่อมีความเกี่ยวข้องกัน ความเยื่อใยก็ย่อมมี ทุกข์ย่อมเกิดตามมา ผู้เล็งเห็นโทษ ควรเที่ยวไปคนเดียวเหมือนนอแรด"

    (4) กสิภารทวาชสูตร ว่าด้วยพราหมณ์ชาวนา พราหมณ์กล่าวว่า คนทั้งหลายเขาไถนาหว่านกัน พระพุทธองค์ทรงไถหว่านกับเขาหรือไม่ พระองค์ตรัสว่า พระองค์ก็ทรงไถและหว่านพืชเช่นกัน "ศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญาเป็นแอกและไถ หิริเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือก สติเป็นผาลสำหรับไถนา" เท่ากับบอกว่าวิธีการทำนาแบบนี้เป็นการทำนาแบบพุทธนั่นเอง

    (5) จุนทสูตร พระพุทธเจ้าตอบคำถามของนายจุนทะกัมมารบุตร เรื่องสมณะ 4 ประเภท คือ มัคคชินะ (ผู้ชนะกิเลสได้ด้วยมรรค) มัคคเทสกะ (ผู้ชี้ทาง) มัคคชีวี (ผู้ดำรงอยู่ในมรรค คือผู้ปฏิบัติตามมรรค) มัคคทูสี (ผู้ทำลายมรรค คือไม่ปฏิบัติตามหลักอริยมรรค)

    (6) ปราภวสูตร ทรงแสดงทางแห่งความเสื่อมไว้เป็นชุดๆ น่าศึกษาอย่างยิ่ง ทำนองเดียวกับทรงแสดงมงคลสูตร ทางแห่งความเสื่อมในสูตรนี้มี 12 ประการ เช่น รู้ชั่ว ชังธรรม รักอสัตบุรุษ ไม่รักสัตบุรุษ มักหลับ ชอบคุย ขี้เกียจ มักโกรธ ไม่เลี้ยงดูบิดามารดา เย่อหยิ่งเพราะชาติ เป็นต้น

    (7) วสลสูตร ว่าด้วยคนถ่อย 20 จำพวก เช่น คนมักโกรธ ลบหลู่คุณท่าน มีความเห็นวิบัติ มีมารยา เบียดเบียนสัตว์ ยกตนข่มท่าน กู้เงินเขาแล้วพูดว่าไม่ได้เป็นหนี้ จี้ปล้นชิงทรัพย์ เป็นพยานเท็จ เป็นต้น แต่ละข้อล้วนเป็นลักษณะของคนถ่อยโดยสมบูรณ์

    (8) เมตตสูตร ว่าด้วยเมตตาจิตไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยทั่วหน้ากัน สูตรนี้ซ้ำกับที่กล่าวไว้ในขุททกปาฐะข้างต้น

    (9) เหมวตสูตร สูตรนี้เป็นการโต้ตอบกันระหว่างสาตาคิรยักษ์ กับเหมวตยักษ์และมีพุทธภาษิตตอนท้าย คำถามและคำตอบเรื่อง "โลก" น่าสนใจ คือสาตาคิรยักษ์ทูลถามว่า โลกเกิดขึ้นในอะไร ทำความพอใจในอะไร โลกอาศัยอะไร และเดือดร้อนเพราะอะไร พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า โลกเกิดขึ้น ใน 6 สิ่ง อาศัย 6 สิ่ง เดือดร้อน เพราะ 6 สิ่ง (6 สิ่งนี้คือกามคุณ 5 กับ ใจ)

    (10) อาฬวกสูตร พระพุทธเจ้าทรงปราบอาฬวกยักษ์ดุร้ายลงแล้ว ได้ตอบคำถามยักษ์ในเรื่องต่างๆ เช่น อะไรเป็นเครื่องปลื้มใจของคน (ตรัสตอบว่า ศรัทธา) อะไรที่คนประพฤติแล้วนำความสุขมาให้ (ธรรมะ) อะไรมีรสอร่อยกว่ารสทุกอย่าง (สัจจะ) ปราชญ์กล่าวชีวิตเช่นไรว่าประเสริฐสุด (ชีวิตอยู่ด้วยปัญญา) คนจะได้รับเกียรติโดยวิธีใด (สัจจะ) จะผูกมิตรอย่างไร (การให้) เป็นต้น

    (11) วิชยสูตร บรรยายความน่าเกลียดน่าขยะแขยงของส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างละเอียด แล้วสอนไม่ให้ลุ่มหลง ยึดติดในร่างกายอันน่าเกลียดนี้ และทิ้งท้ายให้แง่คิดว่า "ผู้ใดพึงสำคัญเพื่อยกย่องตนหรือพึงดูหมิ่นผู้อื่น จักมีอะไรนอกจากการมองไม่เห็นอริยสัจ"

    (12) มุนิสูตร พรรณนาลักษณะของบุคคลที่เรียกว่า "มุนี" เช่น ผู้ที่ตัดกิเลสที่เกิดขึ้นได้ เพราะไม่ปลูกกิเลสขึ้นในใจอีก ไม่ยอมให้มันไหลเข้าไปในใจอีก ปราศจากกำหนัดยินดี ไม่ก่อกรรม ถึงฝั่งโน้น (ถึงจุดหมายปลายทาง) ครอบงำสิ่งทั้งปวง รู้แจ้งสิ่งทั้งปวง มีปัญญา ไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา เรียกว่าเป็นมุนี


    ref.http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03bud05031149&day=2006/11/03
     

แชร์หน้านี้

Loading...