ความเป็นมาของพระไตรปิฏก ตอน 67

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย guawn, 27 พฤศจิกายน 2006.

  1. guawn

    guawn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    10,642
    ค่าพลัง:
    +42,113
    ความเป็นมาของพระไตรปิฏก ตอน 67

    คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์

    ไต้ ตามทาง



    (2) อรรถกถาได้สะท้อนภาพเกี่ยวกับพุทธจริยาวัตรชัดเจนกว่าตัวคาถา เมื่ออ่านอรรถกถาธรรมบทจบแล้ว จะเกิดมโนภาพชัดเจนเกี่ยวกับบุคลิกของพระองค์ เห็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ พระองค์เป็นศูนย์รวมจิตใจของเหล่าพุทธบริษัท ช่วยชี้แนะแนวทางปฏิบัติและแก้ปัญหาต่างๆ อยู่เสมอ ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธองค์กับพระสงฆ์สาวก เป็นแบบ "พ่อกับลูก" มีความเรียบง่ายเป็นกันเอง พร้อมที่จะเข้าเฝ้าทูลถามความสงสัยต่างๆ ได้ตลอดเวลา

    (3) ในอรรถกถาธรรมบท สะท้อนภาพธรรมสภา ซึ่งเรียกว่า "อุปัฏฐานศาลา" แปลกันว่า "หอฉัน" เข้าใจว่าคงใช้เป็นที่ฉันอาหารและสถานที่ฟังธรรมด้วย เวลาเย็นพระจะมาประชุมถกเถียงกันในอุปัฏฐานศาลา มีตั้งแต่เรื่องพื้นฐานไปจนถึงหลักธรรมที่ลึกซึ้ง (แสดงว่าในระยะต้น ที่พระองค์ทรงประกาศศาสนา สาวกทั้งหลายยังเข้าใจหลักธรรมไม่ทั่วถึงกัน) เช่น

    - พระอรหันต์ฆ่าสัตว์โดยไม่เจตนา บาปหรือไม่

    - พระอรหันต์ยังมีความรู้สึกในกามารมณ์เหมือนปุถุชนหรือไม่

    - โจรฆ่ามนุษย์เป็นจำนวนมาก ทำไมบรรลุอรหัตปรินิพพานได้

    - ศีล 5 ข้อ ข้อไหนดีกว่ากัน

    - ความสุขอย่างไหนที่ดีที่สุด

    (4) ความขัดแย้งในหมู่สงฆ์สาวก อรรถกถาธรรมบทบันทึกไว้ค่อนข้างชัดเจน เริ่มตั้งแต่ ความมักใหญ่ใฝ่สูงของพระเทวทัต จนสร้างความแตกแยกขนานใหญ่ในสังฆมณฑล เรื่องนี้นอกจากการแสดงพระปรีชาสามารถในการแก้ปัญหาของพระพุทธองค์แล้ว ยังเน้นพระมหากรุณาต่อผู้ปองร้าย เช่น พระเทวทัตได้ชัดเจนด้วย ความแตกแยกครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งคือ การทะเลาะวิวาทของพระสงฆ์เมืองโกสัมพี ในเรื่องนี้แสดงให้เห็นบทบาทของ "อุบาสิกา" มีส่วนในการผดุงรักษาพระพุทธศาสนาด้วย

    (5) อรรถกถาธรรมบท บันทึกวิธีและเทคนิคการสอนของพระพุทธเจ้า ไว้อย่างน่าศึกษายิ่ง เช่น พระกระสันอยากสึก (ซึ่งมีบ่อยครั้งที่สุด) แต่ละรูป พระพุทธองค์ทรงใช้วิธีการปลอบประโลมให้พวกเธอกลับยินดีในเพศพรหมจรรย์ แตกต่างกันอย่างไร กรณีภิกษุณีถูกข่มขืนตั้งครรภ์ ทรงใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างไรจึงจะทำให้ความบริสุทธิ์ของภิกษุณีนั้นเป็นที่ยอมรับโดยไม่มีใครกินแหนงแคลงใจภิกษุหลงรูปสตรี หลงรูปพระพุทธองค์ ทรงใช้วิธีการอย่างไร ตลอดถึงพระภิกษุที่มีภูมิปัญญาต่ำหลงๆ ลืมๆ ทรงทำอย่างไรให้เธอประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม วิธีการเหล่านี้หาอ่านและศึกษาได้จากอรรถกถาธรรมบทนี้ กล่าวได้ว่าอรรถกถาธรรมบทเป็นจดหมายเหตุบันทึกประวัติพระพุทธศาสนาไว้เกือบจะทุกแง่ทุกมุมที่ชาวพุทธไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง

    (6) อุปมาอุปไมย เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นข้อเด่นชัดของธรรมบท โดยเฉพาะในตัวคาถาคำอุปมาอุปไมยสั้น แต่ให้ภาพชัดเจน เข้าใจง่าย เช่น

    - ความทุกข์ติดตามคนทำชั่ว เหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค

    - ความสุขติดตามคนทำดี เหมือนเงาตามตัว

    - คิดร้ายคนบริสุทธิ์ บาปไม่พ้นตัว เหมือนซัดฝุ่นทวนลม ฝุ่นจะกลับเข้าหาตัว

    - ชรามรณะไล่ต้อนชีวิตคน เหมือนเด็กเลี้ยงโคต้อนโคไปหากิน

    - กิเลสตัณหาไม่ค้างใจพระอรหันต์ เหมือนหยาดน้ำตกจากใบบัว

    - บัณฑิตไม่หวั่นไหว เพราะคำนินทาและสรรเสริญ เหมือนภูเขาไม่สะเทือนเพราะแรงลม

    - คนมีราคะกิเลส ติดในรูป เสียง กลิ่น รส เหมือนลูกโคยังไม่หย่านม ติดแม่

    - ตัณหาที่ถอนไม่ได้หมดงอกงามได้อีก เหมือนต้นไม้ที่ยังไม่ถอนรากทิ้ง

    - คนไม่ประมาททิ้งคนประมาทไว้ห่างไกล เหมือนม้าฝีเท้าเร็วทิ้งม้าแกลบ

    - ผู้คัดค้านคำสอนของพระอริยเจ้าทำลายตนเอง เหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ ผลกล้วยฆ่าต้นกล้วย

    - ราคะ โทสะ โมหะ ทำให้คนเสียคน เหมือนหญ้าที่ทำให้นาเสียหาย

    - ความชั่วไม่มีอิทธิพลแก่คนไม่ทำชั่ว เหมือนมือไม่มีแผลจับต้องยาพิษได้

    - น้อยคนจะไปสวรรค์ เหมือนนกติดข่ายน้อยตัวจะหลุดรอดไปได้

    - สามัญชนตามพระอรหันต์เหมือนนกบินบนฟ้า ตามทันยาก

    - ทำชั่วและดีทีละเล็กละน้อยก็มีมาก เหมือนฝนตกทีละหยาดๆ ก็เต็มตุ่มได้

    - คนชั่วไม่เด่น เหมือนลูกศรที่ยิงเวลากลางคืน

    - คนโง่ไม่รู้รสพระธรรม เหมือนจวักไม่รู้รสแกง

    - ใจคนดิ้นรนด้วยอำนาจกิเลส เหมือนปลาถูกโยนขึ้นบกดิ้นรนหาน้ำ

    - บัณฑิตฝึกตนได้ เหมือนชาวนาไขน้ำเข้านา ช่างศรดัดลูกศร ช่างไม้ถากไม้

    - พระอรหันต์หนักแน่นไม่โกรธใคร เหมือนแผ่นดิน

    - พระอริยสาวกเดิมก็มีกิเลส เหมือนดอกบัวสวยงามก็เกิดจากโคลนตม

    - ร่างกายแตกดับง่าย เหมือนหม้อดิน เหมือนฟองน้ำ เหมือนพยับแดด

    - สมัยหนุ่มสาวไม่ตั้งตัว แก่มาก็นั่งซบเซา เหมือนนกกระเรียนจับเจ่าอยู่ริมสระไร้ปลา

    3.3 นิทานเรื่องตาบอดคลำช้าง ให้แง่คิดว่าเวลามองอะไรอย่ามองแง่เดียว มุมเดียว ผู้ที่เห็นอะไรมุมเดียวและยึดมั่นถือมั่นว่าตนรู้เท่านั้นถูกต้อง ย่อมนำไปสู่การดูถูกเหยียดหยามคนอื่น และทะเลาะวิวาทกันกับคนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับตน พระพุทธเจ้าทรงเตือนว่า แม้แต่เรื่องศีล เรื่องวัตร ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าถือศีลวัตรผิดไปจากจุดหมายของวัตร เช่น ยึดว่าปฏิบัติอย่าง (ที่ตนทำ) นี้เท่านั้นถูกต้อง ปฏิบัติอย่างอื่นไม่ถูกต้อง อย่างนี้ไม่ควร เพราะจะกลายเป็น "สีลัพพตปรามาส" ได้

    3.4 ในธัมมสูตร พระพุทธเจ้าแสดงสุกกธรรม 2 ข้อคือ หิริ โอตตัปปะ ว่าเป็นคุณธรรม สามารถปกครองโลกได้ทั้งโลก ถ้าโลกขาดคุณธรรม 2 ข้อนี้ มนุษย์กับสัตว์จะไม่แตกต่างกัน "สัตว์โลกก็จะไม่มีป้า น้า ภรรยาของอาจารย์ หรือภรรยาของครู จักสำส่อน ไม่ต่างแพะ แกะ ไก่ สุกร สุนัขจิ้งจอก" เป็นคำพูดที่ให้เห็นภาพชัดเจนดีมาก ความหมายหนึ่งของคำว่า "ศาสนา" คือการปกครอง น่าสังเกตว่ายิ่งปกครองขยายวงกว้างออกไปมากเท่าไร คุณธรรมที่ใช้สำหรับการปกครองก็ยิ่งลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ คือ

    - ปกครองตนเองให้พึ่งตนเองใช้ นาถกรณธรรม 10 ประการ

    - ปกครองประเทศให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ ใช้ ราชธรรม 10 ประการ หรือ อปริหานิยธรรม 7 ประการ

    - ปกครองโลกทั้งโลกใช้ สุกกธรรม 2 ประการ



    ref.http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03bud07241149&day=2006/11/24
     

แชร์หน้านี้

Loading...