ความเป็นมาของพระไตรปิฎก ตอน 59

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย guawn, 27 ตุลาคม 2006.

  1. guawn

    guawn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    10,642
    ค่าพลัง:
    +42,113
    ความเป็นมาของพระไตรปิฎก ตอน 59

    คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์

    ไต้ ตามทาง



    (55) โทษคนอื่นเห็นง่าย โทษของตนเห็นยาก คนเรามักเปิดเผยโทษคนอื่นเหมือนโปรยแกลบปิดบังโทษของตนเหมือนนักเลงเต๋าโกงซ่อนลูกเต๋า

    56) เพียงมีผมหงอกยังไม่นับว่าเถระ เขาแก่แต่วัยเท่านั้น คนเช่นนี้เรียกว่าแก่เปล่า

    (57) พวกเธอจงพยายามทำความเพียรเสียแต่บัดนี้ ตคาคตเป็นเพียงผู้ชี้บอกทางเท่านั้น ผู้ที่เดินทางสายนี้ (อริยมรรคมีองค์แปด) โดยปฏิบัติภาวนา ก็จะพ้นจากบ่วงมาร

    (58) ปัญญาเกิดเพราะการตั้งใจพินิจ เสื่อมไปเพราะไม่ตั้งใจพินิจ เมื่อรู้ทางเจริญและทางเสื่อมของปัญญาแล้ว ควรทำตนโดยวิถีทางที่ปัญญาจะเจริญ

    (59) บุตรก็ป้องกันไม่ได้ บิดาหรือพวกพ้องก็ป้องกันมิได้ คนเราเมื่อถึงคราวจะตายหมู่ญาติก็ป้องกันไม่ได้

    (60) ผู้ใดปรารถนาสุขเพื่อตนโดยการก่อทุกข์ให้คนอื่น ผู้นั้นมักเกี่ยวพันด้วยเวรไม่รู้จบสิ้น ไม่มีทางพ้นทางเวรไปได้

    (61) การสละโลกียวิสัยออกบวชก็ยาก การยินดีในบรรพชาก็ยาก การครองเรือนเป็นทุกข์ การอยู่ร่วมกับคนไม่เสมอกันก็เป็นทุกข์ การท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ไม่ควรท่องเที่ยวในสังสารวัฏและไม่ควรแส่หาทุกข์ใส่ตน

    (62) คนดีย่อมปรากฏเด่นดุจขุนเขาหิมพานต์ คนไม่ดีถึงอยู่ใกล้ก็ไม่ปรากฏ เหมือนลูกศรที่เขายิงไปในราตรี

    (63) สถานหนึ่งได้บาป สถานสองได้ภพชาติชั่วร้ายในอนาคต สถานสามทั้งคู่มีสุขชั่วแล่นแต่สะดุ้งใจเป็นนิตย์ สถานสี่พระราชาย่อมลงโทษอย่างหนัก เพราะฉะนั้นไม่ควรผิดภรรยาผู้อื่น

    (64) ทำอะไรหละหลวมมีข้อปฏิบัติเศร้าหมอง ประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่เต็มใจ ปฏิปทาเช่นนั้นไม่เป็นไปเพื่อผลอันไพศาล

    (65) เราจักอดทนต่อคำส่อเสียดของคนอื่น เหมือนพระยาคชสารในสนามรบ ทนต่อลูกศรที่ปล่อยออกไปจากคันธนู เพราะว่าคนโดยมากมีสันดานชั่ว

    (66) ม้าอัสดร ม้าอาชาไนย จากลุ่มสินธุหรือพระยากุญชรที่ได้รับการฝึกปรือ นับเป็นสัตว์ประเสริฐ แต่บุคคลผู้ฝึกตนแล้วย่อมประเสริฐกว่านั้น

    (67) คนกินจุ สะลึมสะลือ กลิ้งเกลือกไปมาบนที่นอน เหมือนสุกรที่เขาขุนให้อ้วนด้วยเศษอาหาร เป็นคนโง่ทึ่ม ย่อมเกิดไม่รู้จบสิ้น

    (68) มีเพื่อนตายก็เป็นสุข ยินดีเท่าที่ตนหามาได้ก็เป็นสุข ทำบุญไว้ถึงคราวจะตายก็เป็นสุข ละทุกข์หมดได้ก็เป็นสุข

    (69) เราขอบอกแก่ท่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายผู้มาชุมนุมกัน ณ ที่นี้ จงมีความเจริญ ขอให้ท่านทั้งหลายขุดรากเหง้าตัณหา เหมือนถอนรากหญ้ารก อย่าปล่อยให้มารรังควาญบ่อยๆ เหมือนกระแสน้ำพัดโค่นต้นอ้อ ฉะนั้น

    (70) เหล่าสัตว์มีแต่โสมนัส ชุ่มชื้นด้วยรักเสน่หา ซาบซ่านในกามารมณ์ทั้งปวง พวกเขาใฝ่แสวงหาแต่ความสุขสันต์หรรษา ก็ต้องเกิดต้องแก่ร่ำไป

    (71) ธรรมทานชนะการให้ทุกอย่าง รสพระธรรมชนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรมชนะความยินดีทุกอย่าง ความสิ้นตัณหาชนะทุกข์ทุกอย่าง

    (72) จงปล่อยวางทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ไปให้ถึงที่สุดภพ เมื่อใจหลุดพ้นจากทุกอย่างแล้ว พวกเธอจะไม่มาเกิด จะไม่มาแก่อีกต่อไป

    (73) ผู้ไม่ยึดมั่นโดยประการทั้งปวงว่า "กู" "ของกู" ไม่ว่าในรูปหรือนาม เมื่อไม่มีก็ไม่เศร้าโศก เขาผู้นั้นแหละเรียกได้ว่าเป็นภิกษุ

    (74) ภิกษุผู้อยู่ด้วยเมตตา เลื่อมใสในพระศาสนา พึงบรรลุสภาวะอันสงบเป็นสุข และระงับสังขารทั้งหลาย

    (75) ภิกษุ เธอจงวิดน้ำออกจากเรือนี้ เมื่อวิดน้ำออกหมดแล้ว เรือจักแล่นเร็ว ทำลายราคะ โทสะ โมหะ เสียแล้ว เธอจักไปถึงพระนิพพาน

    (76) ถึงจะเป็นภิกษุหนุ่ม แต่อุทิศเพื่อพระพุทธศาสนา ท่านย่อมส่องโลกนี้ให้สว่าง เหมือนพระจันทร์พ้นจากเมฆ

    (77) พระอาทิตย์สว่างกลางวัน พระจันทร์สว่างกลางคืน นักรบสง่างามเมื่อยามสวมเสื้อเกราะเตรียมรบ พราหมณ์สง่างามเมื่อเข้าฌาน พระพุทธเจ้าสง่างามทั้งกลางวันและกลางคืน

    2. อุทาน ได้แก่คาถาที่พระพุทธองค์ ทรงเปล่งด้วยโสมนัส มีทั้งหมด 82 สูตร พุทธอุทานนี้มีปรากฏในที่อื่นด้วย เช่น ธรรมบท, สังยุตตนิกาย เป็นต้น ขอนำมาแสดงเพียงบางสูตร

    (1) โพธิสูตร หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นโพธิ์ 7 วัน ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาททั้งฝ่ายเกิดและฝ่ายดับ ทรงเปล่งพุทธอุทาน 3 คราว ในยามทั้ง 3 แห่งราตรี คือ ในปฐมยามทรงเปล่งอุทานว่า

    "ในกาลใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรเพ่งพินิจอยู่ ในกาลนั้น

    ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะรู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ" ในมัชณิมยามทรงเปล่งอุทานว่า

    "ในกาลใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรเพ่งพินิจอยู่

    ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป

    เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย"

    ในปัจฉิมยามทรงเปล่งอุทานว่า

    "ในกาลใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแห่งพราหมณ์ผู้เพียรเพ่งพินิจอยู่

    พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารพร้อมทั้งเสนามารเสียได้

    เหมือนดวงอาทิตย์อุทัยขึ้น กำจัดความมืด ส่องสว่างอยู่ในอากาศ ฉะนั้น"

    (2) พาหิยสูตร พาหิยะเดินเรือไปค้าขาย เรือแตก เกาะแผ่นกระดานลอยไปขึ้นที่ท่าสุปปาระ ชาวบ้านนึกว่าเป็นพระอรหันต์ (เพราะเธอนุ่งเปลือกไม้) จึงให้ข้าวและน้ำ ภายหลังมีผู้เตือนสติ พาหิยะ รู้สึกตัวจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พบพระองค์กำลังเสด็จบิณฑบาตอยู่ ทูลขอให้แสดงธรรมให้ฟัง พระองค์ตรัสว่าไม่ใช่เวลา พาหิยะรบเร้าให้แสดงจึงทรงแสดงธรรมสั้นๆ พาหิยะได้บรรลุอรหัตทันทีและขอบวช พระองค์ตรัสให้เขาไปหาบาตรและจีวร ขณะที่เดินเที่ยวหาอยู่ถูกแม่โคขวิดตาย พระพุทธองค์ตรัสว่า พาหิยะนิพพานแล้ว ได้ตรัสเปล่งพุทธอุทานว่า

    "ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด นิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ก็ไม่ปรากฏ พระจันทร์ก็ไม่ส่องสว่าง ความมืดก็ไม่มี เมื่อใดพราหมณ์ชื่อว่านุนีเพราะรู้อริยสัจด้วยตน เมื่อนั้นพราหมณ์นั้นหลุดพ้นจากรูป อรูป จากสุขและทุกข์"



    ref.http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03bud03271049&day=2006/10/27
     

แชร์หน้านี้

Loading...