ความทุกข์เป็นสิ่งมีค่าที่หาซื้อไม่ได้

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย tamsak, 26 สิงหาคม 2013.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. tamsak

    tamsak ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    7,857
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +161,171
    พระอาจารย์ กล่าวว่า ขอให้จำไว้นะ ความทุกข์เป็นสิ่งมีค่าที่หาซื้อไม่ได้ ต่อไปถ้ากำลังใจเราสูงกว่านี้ จะขอบคุณเขาอย่างบอกไม่ถูก ดีไม่ดีจะนั่งร้องไห้เป็นวันๆ

    ใครทำให้เราโกรธ ใครทำให้เรากลุ้ม ใครทำให้เราเกลียด ใครทำให้เรากลัว ถ้าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกเข็ด ไม่อยากเกิดอีก ต่อไปเราต้องกราบขอบคุณเขาชนิดนับครั้งไม่ถ้วน จ้างใครช่วยให้เราเห็นทุกข์อย่างนี้ยังไม่ได้เลย พอปฏิบัติไปถึงระดับหนึ่ง เหมือนโลกพลิกกลับ มองคนละมุมไปเลย สิ่งที่เคยเห็นเป็นทุกข์เป็นโทษ กลับเป็นประโยชน์ไปหมด

    ถ้ายังทำไม่ถึง ก็ยังวางไม่ได้ ถ้าทำถึงจริงๆ แล้วจะเห็นประโยชน์ของทุกสิ่งทุกอย่าง หลวงปู่มั่น ท่านนั่งกราบกระท่อมน้ำตาไหลอยู่ครึ่งค่อนวัน กระต๊อบหลังเดียวแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หมดทุกอย่างเลย

    เราจะเห็นว่ากระท่อมแค่นั้น ถ้าสภาพจิตเราละเอียดอ่อนจะเห็น ทุกสิ่งทุกอย่าง ประเภทเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องใช้ไม้สอย ทุกอย่างอยู่ในหลักธรรมทั้งหมด เป็นครูของเราทั้งหมด เสื้อผ้าตอนแรกใหม่ ตอนนี้เก่า ตัวผ้าเองสะอาด พอเราใส่ไปโดนเหงื่อไคลเข้าไปก็สกปรก เห็นเป็นหลักธรรมหมด

    ถาม : ทำไมเห็นถึงขนาดนั้นคะ ?

    ตอบ : ถ้าทำไปถึงแล้วจะเห็นยิ่งกว่านี้อีก ตอนนี้เอาแค่นี้ก่อน ให้มีสติรู้ว่า กาย วาจา ใจ ที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ เราต้องทำให้ได้ อย่าไปหยุดอยู่แค่นั้น โดยเฉพาะคำพูดบางอย่าง ถ้าไม่พูดมีประโยชน์กว่าพูด เพราะฉะนั้น..ตั้งสติอยู่กับคำพูดให้มากๆ บางอย่างเราพูดไปสะเทือนคนอื่น กลายเป็นเราสร้างศัตรูโดยไม่รู้ตัว ต่อให้เขาไม่คิดเป็นศัตรูกับเรา เขาก็จะไม่ชอบหน้าเรา

    พระพุทธเจ้า ถึงได้ตรัสว่า ในเรื่องของคำพูดนั้น

    วาจาที่ไม่มีประโยชน์ กล่าวไปแล้วคนไม่ชอบใจ ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
    วาจาไหนไม่มีประโยชน์ กล่าวไปแล้วคนชอบใจ ตถาคตก็ไม่กล่าววาจานั้น
    วาจาไหนมีประโยชน์ กล่าวไปแล้วคนไม่ชอบใจ ตถาคตรู้ว่าควรจะกล่าวเวลาไหน
    วาจาไหนมีประโยชน์ กล่าวไปแล้วคนชอบใจ ตถาคตมักกล่าววาจานั้น


    ฉะนั้น..พยายามตั้งสติให้ดี ระวังเรื่องคำพูดได้ ต่อไปก็จะระวังเรื่องใจได้

    พวกเราปฏิบัติในเรื่องของ ศีล สมาธิ ปัญญา มามาก ตอนนี้เรื่องของศีล เราบังคับกายของตนเองได้ แต่จะไปเผลอเรื่องวาจา เมื่อคอยระวังเรื่องวาจาได้ เมื่อควบคุม กาย วาจา ได้ ต่อไปก็ระวังเรื่องใจ ไปเป็นขั้นๆ ตอนนี้ก็ระวังว่าจะพูดคำหยาบไหม ? จะพูดเพ้อเจ้อไหม ? จะพูดส่อเสียดไหม ? จะพูดโกหกไหม ?

    ถาม : บางทีก็มีค่ะ

    ตอบ : กลับไปก็หาเหรียญมาอม อาตมาเคยอมมาแล้ว ไม่อย่างนั้นปากไว เมื่อก่อนปากไวมาก ถึงเวลาก็อมเหรียญ พอจะขยับลิ้นก็ติดเหรียญหลวงพ่อ ก็นึกได้ว่าต่อไปจะไม่พูดอย่างนั้นๆ อีก แต่อย่าอมนานนะ เดี๋ยวเหรียญสึก ราคาตก ...(หัวเราะ)...

    ถาม : บางอย่างเราก็ไม่อยากจะโกหก แต่ถ้าเราพูดอย่างนั้นแล้วสถานการณ์ดีขึ้น ?

    ตอบ : ในเรื่องของการโกหก เขาเน้นว่าหลอกลวงคนอื่นแล้วผลประโยชน์ตกแก่เรา ถ้าผลประโยชน์ตกแก่ส่วนรวม ผิดสัก ๒๕ เปอร์เซ็นต์ก็พอ อย่างสมัยก่อน เวลาขี่ม้าลากกิ่งไม้คนละ ๗ - ๘ กิ่ง ฝุ่นตลบมาแต่ไกลเลย พวกนั้นคิดว่ากองทัพม้ามาเยอะ ความจริงมีแค่ ๕ ตัว ๑๐ ตัวเอง นั่นเจตนาโกหกเลย แต่แหม..คนเขามาเป็นหมื่น ถ้าตีเราก็ตายสิ..ก็ต้องหลอกเขาก่อน...

    สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
    ณ บ้านวิริยบารมี ต้นเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๖


    ที่มา : http://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=3787&page=4


    .
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 สิงหาคม 2013
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...