ขอเชิญร่วมเดินทาง ตามรอยพระศาสดาอินเดีย-เนปาล ( 19-28 พ.ย. 2554 )

ในห้อง 'งานบุญอื่นๆ' ตั้งกระทู้โดย พนัสปราการ, 27 สิงหาคม 2011.

  1. พนัสปราการ

    พนัสปราการ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มกราคม 2011
    โพสต์:
    68
    ค่าพลัง:
    +191
    ตามรอยบาทพระศาสดา
    สักการะสังเวชนียสถาน และ ทอดผ้าป่า 10 วัน 8 วัด
    ในดินแดนพุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล


    รายการโดยย่อ
    กรุงเทพฯ – กัลกัตตา - คยา – ราชคฤห์ – นาลันทา – เวสาลี
    กุสินารา – ลุมพินี(เนปาล) - พาราณสี – คยา - กัลกัตตา – กรุงเทพฯ


    19-28 พฤศจิกายน 2554

    1) วันเสาร์ ที่ 19 พฤศจิกายน 2554 (แรม 9 ค่ำ เดือน 12) (กรุงเทพฯ –กัลกัตตา)
    17.30 น. พร้อมกันที่สนามบินสุวรรณภูมิ ชั้น 4 ประตู 7-8 เคาน์เตอร์ N สายการบินเจ็ต แอร์เวย์ เที่ยวบินที่ 9W 065
    20.05 น. เครื่องออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ
    21.00 น. เครื่องลงสนามบินกัลกัตตา ประเทศอินเดีย พร้อมเช็คเอาท์ และขึ้นรถบัสเดินทางต่อไปพุทธคยา

    2) วันอาทิตย์ ที่ 20 พฤศจิกายน 2554 (แรม 10 ค่ำ เดือน 12) (พุทธคยา)
    07.00 น. ทานอาหารเช้าบนรถบัส
    08.30 น. ถึงวัดไทยพุทธคยา เข้าที่พัก พักผ่อนตามอัธยาศัย
    11.00 น. อาหารเที่ยง
    12.00 น. เข้านมัสการและเยี่ยมชมพระมหาโพธิ์เจดีย์ อันเป็นเจดีย์ที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คณะเข้านมัสการและขอพรพระพุทธเมตตา ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในเจดีย์พระองค์นี้ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งถึงกับพระเจ้าศสางกาให้ทหารทำลาย แต่ทำลายไม่ได้และพระองค์เองไม่นานนักก็สิ้นพระชนม์
    คณะนำชมสิ่งสำคัญรอบ ๆ พระเจดีย์ นั่นคือ 1) ต้นพระศรีมหาโพธิ์ แม้ต้นนี้เป็นต้นที่ 4 ก็ถือว่าสำคัญยิ่ง เพราะงอกงามอยู่ในที่ซึ่งต้นเดิมอยู่นั่นแหละ 2) พระแท่นวัชรอาสน์ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างองค์พระเจดีย์และต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ประทับในคืนตรัสรู้ ซึ่งพระองค์ทรงลาดหญ้ากุสะเป็นบัลลังก์ประทับนั่ง และพระองค์ได้ทรงอธิษฐาน ณ อาสนะนี้ ความว่า “หากแม้นเลือดและเนื้อจะเหือดจะแห้งอย่างไร ถ้าไม่บรรลุพระอรหันตสัมมาสัมโพธิญาณแล้วจักไม่เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะนี้” อาสนะนี้จึงได้ชื่อว่า วัชระ (เพชร) อาสน์ อาสนะ (ที่นั่ง) ของบุรุษใจเพชร (แข็ง) 3) อนิมิสสเจดีย์ อนุสรณ์สถานที่พระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ 2 โดยประทับยืนมองไปยังต้นพระศรีมหาโพธิ์และไม่กระพริบพระเนตรตลอด 7 วัน ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ(นิดๆ)ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ 4)รัตนจงกรมเจดีย์ ด้านทิศเหนือขององค์พระเจดีย์ มีรัตนจงกรมเจดีย์คือ อนุสรณ์สถานที่พระพุทธองค์ทรงใช้เสวยวิมุตติสุขอีก 7 วัน โดยเสด็จเดินจงกรมตลอด 7 วัน ในสัปดาห์ที่ 3 หลังจากตรัสรู้ 5) รัตนฆรเจดีย์ สถานที่ทรงนั่งสมาธิพิจารณาอภิธรรม ในสัปดาห์ที่ 4 อีก 7 วัน ซึ่งอยู่ทิศเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ 6) สระมุจจลินทร์จำลอง ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของพระเจดีย์ (สระมุจจลินทร์จริง อยู่ห่างจาก พระศรีมหาโพธิ์ ประมาณ 2 กม. คณะไม่นำไป ที่ต้นราชายตนะก็ไม่นำไป ซึ่งอยู่ไกลไปทางใต้ ไกลจากสระมุจจลินทร์อีกประมาณ 1 กม. หรือห่างต้นพระศรีมหาโพธิ์ประมาณ 3 กม.)
    จากนั้น นำกล่าวคำบูชาองค์พระเจดีย์ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตลอดจนนำไหว้พระ สมาธิ-ภาวนา อธิษฐานจิต ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง อธิษฐานบุญเพื่อคนที่เรารักทุกๆท่าน ฟังปรารภธรรมพอสมควรแก่เวลา ลุกขึ้นพร้อมกันทำประทักษิณ เวียนรอบองค์ พระเจดีย์และพระศรีมหาโพธิ์ 3 รอบ ได้เวลาพอสมควร( ผู้ใดประสงค์สมาทานศีล 8 ก็สามารถสมาทานได้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์) ไปนมัสการและชมวัดนานานชาติ รอบ ๆ วัดไทยพุทธคยา ใกล้ ๆ สถานที่ตรัสรู้
    วัดนานาชาติที่เข้าชมมี 1) วัดภูฐาน เป็นวัดที่สวยงามมาก ศิลปะฝาผนังเป็นภาพปั้นนูนต่ำ แสดงพุทธประวัติ ตั้งแต่พระมารดาทรงพระสุบินว่า มีพระยาช้างเผือกนำดอกบัวมาและเข้าสู่พระครรภ์ของพระนาง จนกระทั่งถึงพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน 2) วัดธิเบต อีกวัดหนึ่งสวยงามไม่น้อย ภาพฝาผนังเป็นภาพวาดเกี่ยวกับประวัติเช่นเดียวกัน ยิ่งพระพุทธรูป ของภูฐานและทิเบตสวยงามยิ่งนัก 3) วัดญี่ปุ่น คณะของเราจะเข้านมัสการพระพุทธรูปศิลาที่ใหญ่ที่สุดแถบนั้น ซึ่งทำด้วยหินทรายแดง แกะสลักและนำมาต่อกันเป็นชิ้น และงดงามยิ่งนัก เช่นกัน 4) วัดไทยพุทธคยา ซึ่งเป็นวัดแรกของไทยที่ไปสร้างไว้ในดินแดนพุทธภูมิ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2500 มีอุโบสถเด่นสง่า จำลองรูปแบบจากวัดเบญจมฯ กรุงเทพฯ ภาพวาดภายในก็วิจิตรงดงาม ซึ่งเป็นภาพประวัติพระมหาชนก และเจดีย์ สังเวชนียสถาน 4 ตำบล และเราสามารถดูภาพมายาเทวีวิหารที่ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของเก่า ก่อนจะซ่อมแซมได้ พระพุทธรูปก็งดงามตามแบบฉบับของศิลปะไทย
    เดินทางไปชมเจตยานุสรณ์บ้านนางสุชาดา อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเนรัญชรา ณ ที่นี้ จะชี้ให้ดูภูเขาดงคสิริ ที่บำเพ็ญทุกกรกิริยาของพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ ต้นอชปาลนิโครธ ที่ทรงเสวยวิมุตติสุข สัปดาห์ที่ 5 สระมุจจลินทร์ สัปดาห์ที่ 6 และต้นราชายตนะ สัปดาห์ ที่ 7 ซึ่งสามารถที่จะชี้ให้ดูตามทิศทางที่ปรากฏในพระไตรปิฎก จากนั้นนำไปชมสถานที่ลอยถาด ที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา หลังจากเสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาแล้ว ที่นี่พระองค์ทรงอธิษฐานความว่า “ถ้าพระองค์จักได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ขอให้ถาดได้ลอยทวนกระแสน้ำ” และถาดได้ลอยทวนกระแสน้ำจริง ๆ
    19.00 น. ทานอาหารเย็นและลงโรงพระอุโบสถเพื่อถวายผ้าป่าช่วยเหลือกิจสงฆ์ที่นี้ อันเป็นวัดแรกของการถวายผ้าป่า 9 วัดในครั้งนี้ อนึ่งหลังจากนี้ใครต้องการจะซื้อของหรือต้องการบำเพ็ญกุศลเพิ่มเติมโดยวิธีใด เช่น สมาธิภาวนาใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ก็สามารถเดินทางไปเองได้ ประตูปิดเวลา 3 ทุ่ม ตลาดก็ปิด 3 ทุ่มเช่นกัน

    3) วันจันทร์ ที่ 21 พฤศจิกายน 2554 (แรม 11 ค่ำ เดือน 12) (คยา–ราชคฤห์ – นาลันทา – เวสาลี)
    06.00 น. หลังอาหารเช้าแล้ว เดินทางไปเมืองราชคฤห์
    08.30 น. ถึงเมืองราชคฤห์ คณะขึ้นภูเขาคิชฌกูฏโดยนมัสการและชมสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
    1) ภูเขาคิชฌกูฏ ผู้ขึ้นที่สูงไม่ไหวสามารถใช้เสลี่ยงได้ โดยต้องจ่ายคนละ 900 รูปี ณ ภูเขาคิชฌกูฏนี้มี สิ่งสำคัญอีกมากมาย คือ 1.1) มัตถกุจฉิ - สถานที่พระมารดาของพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จมาจะทำแท้ง 1.2) ถ้ำพระมหาโมคคัลลาน ผู้เลิศทางอิทธิฤทธิ์ เราเข้าไปกราบขอพร 1.3) ถ้ำสุกรขาตา หรือถ้ำคางหมู เป็นถ้ำที่พระสารีบุตรอยู่อาศัย และพระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ที่ถ้ำนี้ ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้ำพระสารีบุตร คณะเราเข้า ไปกราบขอพร 1.4) ลานหินโค้ง สถานที่พระพุทธองค์ทรงประทับแสดงธรรม แก่พระภิกษุสงฆ์ ขณะที่ประทับที่เขาคิชฌกูฏ 1.5) กุฏิพระอานนท์ ซึ่งเป็นที่อาศัย ของพระอานนท์ ตั้งอยู่หน้าพระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้า 1.6) พระคันธกุฎี กุฏิที่พระพุทธ-องค์ทรงประทับ ซึ่งอยู่บนเงื่อมยอดภูเขาคิชฌกูฏ ณ ยอดคิชฌกูฏเราสามารถมองสิ่งต่างๆอื่นดูได้อีก เช่น สระโบกขรณี ขณะที่ยืน ณ พระคันธกุฎี สามารถมองลงไปข้างล่างเห็นสระน้ำที่เคยสรงสนานและร่องรอยยังมีอยู่ ภูเขาปัณฑวะ ภูเขาอิสิคิลิ ยอดรัตนคีรี (วัดญี่ปุ่นประดิษฐานอยู่) จบกิจกรรมไหว้พระ สมาธิภาวนา บูชา บนยอดคิชฌกูฎแล้ว ลงมาแวะชม 2) โรงพยาบาล หมอชีวก อีกหน่อยหนึ่ง และต่อด้วยการเยี่ยมชม 3.คุกพระเจ้าพิมพิสาร สถานที่พระเจ้าอชาตศัตรู ผู้เป็นราชบุตรของพระเจ้าพิมพิสาร ได้จับเสด็จพ่อคือพระเจ้าพิมพิสารขังไว้ในคุก ทรมานจนสิ้นพระชนม์ในคุกนั้น
    11.00 น. จากนั้น ไปทานอาหารเที่ยง ที่วัดไทยสิริราชคฤห์ เสร็จจากอาหารเที่ยงแล้วคณะของเรา
    ถวายผ้าป่าช่วยเหลือกิจสงฆ์ที่นี่ อันเป็นวัดที่ 2 ตามกำลังศรัทธา จบแล้วไปชม4.) ตโปทา-ราม บ่อน้ำร้อน ที่ไหลมาจากภูเขาเวภาระ คณะจะได้ดูชม ชนชั้นสูงอาบน้ำ ณ ต้นน้ำ ชนชั้นต่ำอาบน้ำ ณ ชั้นล่างที่น้ำขุ่นคลักแล้วอย่างน่าสมเพช แต่ก็เขาไม่รังเกียจที่จะอาบและใช้สอย
    5.) วัดเวฬุวัน ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกของพระ พุทธศาสนา ที่พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายให้เป็นวัด และเป็นพุทธบูชา สถานที่นี้เป็นต้นกำเนิดวันมาฆบูชา ที่พระอรหันต์ 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมายและพระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทปาติโมกข์
    14.00 น. ออกจากเวฬุวัน เดินทางต่อไป มหาวิทยาลัยนาลันทา เข้าชม มหาวิทยาลัยนาลันทาเก่าแม้คนนอกศาสนาจะเผาทำลายจนเหลือแต่ซากแล้วก็ตาม ก็ยังคงมีร่องรอยแสดงความยิ่งใหญ่ และโอฬารให้คณะผู้เยี่ยมเยียนได้ชม จากนั้นก็ เข้านมัสการพระพุทธเจ้าองค์ดำ ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นพระ พุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มากองค์หนึ่ง ที่ประชาชนบนบานอันใด มักจะสัมฤทธิ์ผลเสมอ ๆ จึงทำให้ประชาชนนับถือพระพุทธรูปองค์นี้มาก จากนั้น คณะของเราก็เดินทางต่อไปเมืองเวสาลี
    20.30 น. ถึงวัดไทยเวสาลี ทานอาหารเย็น และพักผ่อนตามอัธยาศัย

    4) วันอังคาร ที่ 22 พฤศจิกายน 2554 (แรม 12 ค่ำ เดือน 12) (เวสาลี – กุสินารา)
    07.00 น. หลังอาหารเช้าแล้ว เข้าสักการะ และประทักษิณองค์พระเจดีย์พระเจ้าอโศกมหาราช ที่
    กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน พร้อมทั้งชมเสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งมีอยู่ต้นหนึ่งที่นี่ จากนั้น ไปนมัสการและประทักษิณองค์พระเจดีย์อีกองค์หนึ่ง ที่ ปาวาลเจดีย์ เสร็จแล้วเข้าวัดไทยเวสาลี อีกครั้งหนึ่ง ร่วมกันถวายผ้าป่าอีกกองหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือกิจสงฆ์ที่นี่คามกำลังศรัทธาจบแล้วทานอาหารเที่ยง
    12.00 น.. หลังอาหารเที่ยงแล้ว เดินทางต่อไปเมืองกุสินารา ระหว่างทาง เข้านมัสการพระเจดีย์ อีกองค์ ซึ่งเพิ่งจะค้นพบ กล่าวกันว่า เป็นเจดีย์ที่เก็บบาตรของพระพุทธองค์ ชื่อ เกสะริยา เป็นเจดีย์ที่ใหญ่มาก และยังมีกล่าวอีกว่า เป็นที่พระพุทธองค์ ทรงแสดง กาลามสูตร แก่ชาวกาลามะ ด้วย
    18.30 น. ถึงเมืองกุสินารา ตรงไปที่วัดไทยกุสินาราฯ ซึ่งเป็นวัดที่สวยงาม คณะของเราพักที่นี่
    20.00 น. หลังอาหารเย็นแล้ว ร่วมกันถวายผ้าป่าที่วัดนี่ อันเป็นวัดที่ 4 อธิษฐานบุญแล้วพักผ่อนตามอัธยาศัยหรือใครจะทำประทักษิณเวียนรอยพระเจดีย์ สัก 33 รอบ เพื่ออุทิศบุญให้ แก่ คุณพ่อ คุณแม่ และแก่ตนด้วย ก็จะได้บุญโขทีเดียว

    5) วันพุธ ที่ 23 พฤศจิกายน 2554 (แรม 13 ค่ำ เดือน 12) (กุสินารา - ลุมพินีวัน)
    06.00 น. ทานอาหารเช้า เตรียมตัวขึ้นรถไปนมัสการมกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิง พระพุทธ สรีระ จากนั้นเดินทางต่อมาที่พระพุทธรูปปางปรินิพพาน ถวายสักการบูชาด้วยผ้าห่มองค์พุทธรูป ต่อด้วยคำบูชา สมาธิภาวนา ตามสมควรแก่เวลา และไปทำประทักษิณรอบองค์พระเจดีย์ที่เสด็จดับขันธปรินิพพานและเมื่อได้เวลาพอสมควร ก็เข้าวัดไทย- กุสินารา อีกครั้งหนึ่ง
    10.30 น. ทานอาหารเที่ยง
    12.00 น. เดินทางต่อไปลุมพินีวันประเทศเนปาล
    16.00 น. ถึงด่านโสโนลี ผ่านด่านเข้าประเทศ และตรงไปที่ลุมพินีวันไปช้อปปิ้งสิ่งที่ตนชอบ หน้าลุมพินีวัน จากนั้นก็เข้าวัดไทยลุมพินี ทานอาหารเย็น
    20.00 น. ร่วมกันขึ้นโรงอุโบสถ เพื่อถวายผ้าป่าช่วยเหลือกิจสงฆ์ที่นี่ ตามกำลงศรัทธาอีกวัดหนึ่ง
    ซึ่งเป็นวัด 5 และวัดนี้เป็นวัดไทยแห่งเดียวที่มีอยู่ในประเทศเนปาล

    6) วันพฤหัสบดี ที่ 24 พฤศจิกายน 2554 (แรม 14 ค่ำ เดือน 12) (ลุมพินีวัน - พาราณสี)
    06.00 น. ทานอาหารเช้า
    07.00 น. เดินทางต่อไป เพื่อนมัสการสถานที่ประสูติ ซึ่งมีสิ่งสำคัญ ดังนี้ คือ
    1.1) มายาเทวีวิหาร ซึ่งเป็นวิหารที่ประดิษฐานพระรูปของพระนางสิริมหามายาประสูติพระกุมาร แต่ขณะนี้ได้รับการขุดและซ่อมแซมเปลี่ยนรูปทรงเป็นอีกแบบหนึ่งแล้ว
    1.2) รูปรอยฝ่าพระบาทของ พระกุมาร ได้รับเล่าว่า หลังจากขุดค้นในวิหารแล้วเจอรอยนี้ จึงสันนิษฐานว่า ณ รอยฝ่าพระบาทจำลองนี้ประดิษฐานนั้นแหละ คือ จุดประสูติที่แท้จริง 1.3) เสาศิลาจารึกพระเจ้าอโศก ซึ่งประดิษฐานอยู่ ด้านหลังของมายาเทวีวิหาร
    1.4) สระโบกขรณี สระสรงสนานหลังจากประสูติ สระน้ำกลางสวนลุมพินี และสิ่งอื่น ๆ อีกตามสมควร ณ สวนลุมพินีนี้ คณะของเราเวียนเทียน ไหว้พระ สมาธิภาวนา ตามสมควรแก่เวลา
    10.00 น. เสร็จภารกิจแล้วเดินทางกลับเข้าอินเดียอีกครั้งหนึ่ง
    11.30 น. ทานอาหารเที่ยงที่วัดไทย 960 หลังจากอาหารเที่ยงแล้ว ร่วมกันถวายผ้าป่า อีก 1 กองที่นี่ อันเป็นกองที่ 6
    12.00 น. เดินทางต่อไปเมือง พาราณสี
    20.30 น. ถึงวัดไทยสารนาถ เมืองพาราณสี ทานอาหารเย็น และพักผ่อนตามอัธยาศัย

    7)วันศุกร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2554 (แรม 15 ค่ำ เดือน 12) (พาราณสี)
    07.00 น. หลังอาหารเช้าแล้ว เดินทางไป เข้าชมพิพิธภัณฑ์เมืองสารนาถ ซึ่งมีพระพุทธรูปที่สวยที่สุดในโลกประดิษฐานอยู่ เป็นพระพุทธรูปศิลาปางปฐมเทศนา นอกจากนี้จะนำคณะไปชมภายในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ภายในนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สารนาถ ซึ่งมีสิ่งสำคัญดังต่อไปนี้ 1) ธัมเมกขสถูป พระเจดีย์อนุสรณ์สถานที่ทรงแสดงพระปฐมเทศนา คณะนำกล่าวคำบูชา ไหว้พระ สมาธิภาวนา และเวียนเทียน 2) ธัมมราชิกาสถูป พระเจดีย์อนุสรณ์สถานที่ทรงแสดงอนัตต-ลักขณสูตร 3) มูลคันธกุฎี สถานที่พระพุทธเจ้าประทับ
    4) เสาศิลาจารึกพระเจ้าอโศก 5) ปัญจายตนเจดีย์ สถานที่พระยสะพบพระพุทธเจ้า และเมื่อได้ฟังธรรมะ คือ อนุปุพพีกถาและอริยสัจจ์ 4 แล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ณ ตรงนี้
    6) เจดีย์ราย ซึ่งเป็นที่เก็บอัฐิธาตุของพระอรหันต์อีกมากมาย 7) ซากอาคารกุฏิพระสงฆ์
    8) สวนกวาง ท่านสามารถซื้ออาหารให้กวางได้ด้วย มีนกยูงให้ดูชมด้วย ออกจากป่าอิสิฯ ก็กลับไปทานอาหารเที่ยงที่วัดไทยสารนาถอีกครั้งหนึ่ง
    11.00 น. กลับมาทานอาหารเที่ยงที่วัดไทยสารนาถ
    12.00 น. เข้าโรงอุโบสถ ร่วมกันถวายผ้าป่าที่นี้อีกกองหนึ่ง อันเป็นกองที่ 7 พร้อมทั้งร่วมสมทบผ้าป่า เพื่อกองทุนการศึกษา พระนักศึกษา ปริญญาโท –เอก อีกกองหนึ่ง เป็นผ้าป่ากองที่ 8
    14.00 น. คณะนำไปไหว้และกล่าวคำบูชาพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ รอบ ๆ ต้นโพธิ์ลังกา ข้าง ๆ นิวมูลคันธกุฎี ดูชมอักษรจารึกพระธัมมจักกัปวัตตนสูตรของชาติต่าง ๆ รวมทั้งอักษรไทยด้วย ได้เวลาพอสมควร นำช้อปปิ้งสิ่งสำคัญของเมืองนี้ (ที่นี้ของที่ถูก หาซื้อได้ง่าย คือ ผ้าสาหรี เสาอโศกเป็นทั้งไม้ ทั้งหิน พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาเป็นดินเผา เพียง รูปละ 2-3 รูปีเท่านั้นส่วนองค์เล็กๆ เพียงองค์ละ 1 รูปีเท่านั้น)
    17.00 น. เดินทางไปล่องแม่คงคา เพื่อชมพิธีบูชาคงคาราตรี ณ ริมฝั่งแม่คงคา
    19.30 น. กลับไปวัดไทยสารนาถ ทานอาหารค่ำ พักผ่อนตามอัธยาศัย หรือหากจะซื้อผ้าสาลี่เพิ่มเติมก็ตามอัธยาศัยเช่นกัน ซึ่งร้านก็อยู่หน้าวัดที่พักนั่นเอง

    8)วันเสาร์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2554 (ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1) ( พาราณสี-คยา)
    06.00 น . ทานอาหารเช้า
    07.00 น. ชมบริเวณวัดไทยสารนาถ อันสวยงาม กราบขอพรพุทธองค์ ในหลายๆที่ภายในวัด เช่น พระพุทธรูปปางประทานพร องค์พระพุทธรูปภายในอุโบสถ พระพุทธรูปนอกอุโบสถ หรือหากมีโอกาสก็จะได้เข้าชมพระพุทธรูปอีกหลายองค์ ณ ชั้นใต้ดินของอุโบสถ และหากใครประสงค์จะซื้อหาอะไรเพิ่มเติมก็สามารถซื้อหาได้บริเวณ สารนาถนั่นเอง
    11.00 น. ทานอาหารเที่ยงที่วัดไทยสารนาถอีกมื้อหนึ่ง
    12.00 น. เสร็จจากอาหารเที่ยง ขึ้นรถเดินทางกลับไปพุทธคยาอีกรอบหนึ่ง เพื่อเติมเต็มความอิ่มบุญ ณ ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
    17.00 น. ถึงพุทธคยา เข้าที่พัก อาบน้ำท่าเรียบร้อยแล้ว ไปทานอาหารเย็นที่วัดไทยพุทธคยา
    18.30 น. หลังอาหารเย็นแล้วเตรียมตัวไปปฏิบัติธรรมใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์กันให้อิ่มบุญเต็มที่ ผู้ใดประสงค์ที่จะอยู่ ณ ที่นี้ตลอดคืน โปรดได้เตรียม กย.ทากันยุง หรือเต้นท์นั่งสมาธิไปด้วย

    9) วันอาทิตย์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2554 (ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 1) (พุทธคยา – กัลกัตตา)
    06.00 น. ทานอาหารเช้า
    07.00 น. กิจกรรมอิสระของแต่ละท่านอาจจะไปซื้อของอะไรเพิ่มเติมก็ได้
    10.00 น. ทานอาหารเที่ยงที่วัดไทยพุทธคยา
    11.00 น. เดินทางไปสนามบินเมืองกัลกัตตา
    18.00 น. ทานอาหารเย็น ระหว่างทาง
    22.00 น. ถึงสนามบินกัลกัตตา และเข้าสู่สนามบิน
    23.30 น. เข้าเช็คอิน สายการบิน เจ็ต แอร์เวย์ เที่ยวบินที่ 9W 066

    10) วันจันทร์ ที่ 28 พฤศจิกายน 2554 (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 1)( กัลกัตตา - สุวรรณภูมิ)
    01.30 น. เครื่องออก
    05.40 น. เครื่องถึงสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมเช็คเอาท์ และรับกระเป๋าและแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนาของตนๆ โดยสวัสดิภาพ

    สิ่งที่ต้องเตรียม
    1. เตรียมเพื่อจองเป็นผู้เดินทาง (เก็บเมื่อจอง)
    1.1) หนังสือเดินทาง(Passport)
    1.2) เอกสารสำเนาทะเบียนบ้าน 1 ชุด (โปรดได้เขียนเบอร์โทรศัพท์ลงในเอกสารนี้ด้วย เพื่อจักได้โทรกลับทันทีเมื่อได้รับเอกสารแล้วหรือมีปัญหาใดๆ)
    1.3) ภาพถ่าย 1 1/2 นิ้ว (หนึ่งนิ้วครึ่ง พื้นหลังภาพสีขาว) เพื่อทำวีซ่า 5 ภาพ (ทั้ง 2 ประเทศ )
    1.4) เงินมัดจำ 9,000 บาท/คน(เก้าพันบาท) จะรับว่าจองแล้วต่อเมื่อจ่ายค่ามัดจำแล้วเท่านั้น ส่วนที่เหลือจ่ายก่อนเดินทาง อย่างน้อย 15 วัน (ดูรายละเอียด ข้อ 3)
    1.5) เอกสาร 1.1) – 1.3) ส่งไปที่ พระมหานิพันธ์ วัดพระปฐมเจดีย์ คณะ 16 อำเภอเมือง
    นครปฐม 73000 โทร. 082-2432684 และติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ด้วย
    2. เตรียมเมื่อยามจะเดินทาง (นำไปเมื่อเดินทาง)
    2.1) ยาประจำตัว และติดยาพารา ไปบ้าง
    2.2) ผ้าถุงหนึ่งผืน (เฉพาะผู้หญิง) เผื่อต้องเข้าห้องน้ำในสถานที่ที่ไม่มีห้องน้ำ
    2.3) ไฟฉายเล็กๆ สัก 1 กระบอก
    3. ค่าบริการ ฆราวาสราคาท่านละ 29,000 บาท (สองหมื่นเก้าพันบาท) พระคุณเจ้า รูปละ 27,000 บาท (สองหมื่นเจ็ดพันบาท) ขอได้โปรดโอนเงินทั้งค่ามัดจำและส่วนที่เหลือไปที่ ธนาคารกรุงไทย สาขา นครปฐม เลขที่ 701-068-7625 บัญชีชื่อ พระมหานิพันธ์ ปริปุณโณ และ Fax. ใบโอนไปที่หมายเลข 034-242848 และโปรดเขียนชื่อและเบอร์โทรลงในใบเป-อินด้วย จะได้ทราบว่า ใครเป็นผู้โอนเงิน จำนวนนั้น หรือโทร.แจ้งให้ คุณราตรีทราบก็ได้ ราคานี้รวม ค่าวีซ่า – ค่าตั๋วเครื่องบินกรุงเทพ -กัลกัตตา –กรุงเทพ - ค่าที่พัก – อาหาร - ยานพาหนะในอินเดีย - ภาษีสนามบิน ค่าเข้าชมสถานที่ต่างๆ ไว้แล้ว แต่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7%

    **************************


    ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโดยตรง ได้ที่
    พระมหานิพันธ์ โทร. 082-2432684
    หรือ email: nipun2551@hotmail.com
     

แชร์หน้านี้

Loading...