การเจริญสติในชีวิตประจำวัน

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย mylord, 12 พฤศจิกายน 2010.

  1. mylord

    mylord เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    46
    ค่าพลัง:
    +253
    เมื่อเราขึ้นรถหรือลงเรือ และนั่งลงเรียบร้อยแล้ว เราพลิกมือขึ้นพลิกมือลง เราเคลื่อนมือ เหยียดมือ หรือคลึงนิ้วมือ กะพริบตา หายใจกลืนน้ำลาย และอื่นๆ ให้รู้สึกตัวถึงการเคลื่อนไหวเหล่านี้ มันเป็นวิธีที่เรียกความรู้สึกให้กลับมาที่ตัวของเราเอง เมื่อความคิดเกิดขึ้นให้รู้ถึงความคิดนั้นและปล่อยวาง

    วิธีของการเจริญสติเมื่อเราอยู่บ้าน

    เราอาจจะนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งบนเก้าอี้ หรือนั่งเหยียดขา เราอาจจะยืนหรือนอนสร้างจังหวะได้เช่นเดียวกัน เมื่อเราเดินจงกรม (เดินกลับไปกลับมาระยะประมาณ ๘ - ๑๒ ก้าว) เราต้องไม่แกว่งแขน เราอาจกอดอกหรือเอามือประสานไว้ข้างหน้า หรือประสานไว้ข้างหลังก็ได้ วิธีปฏิบัติในท่านั่งมีดังนี้

    ภาค ๑ : อารมณ์สมมุติ

    ต้องรู้ รูป-นาม (ร่างกาย-จิตใจ) ต้องรู้ รูปทำ-นามทำ ต้องรู้รูปโรค-นามโรค

    รูปโรค-นามโรคมีสองชนิด
    โรคในทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง หรือมีบาดแผล เราต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
    โรคทางจิตใจ คือ โทสะ โมหะ โลภะ (ความโกรธ, ความหลง, ความโลภ) ในการแก้ไขเราต้องใช้วิธีของการเจริญสตินี้

    ต่อไปต้องรู้ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา (ทนไม่ได้, ไม่เที่ยง, บังคับควบคุมไม่ได้) แล้วต้องรู้ สมมุติ (สิ่งที่ยอมรับตกลงกัน) ไม่ว่าสมมุติ อะไรในโลกรู้ให้ถึงที่สุด

    แล้วต้องรู้ ศาสนา ("คำสอน") ต้องรู้ พุทธศาสนา ("คำสอนของพระพุทธเจ้า") ศาสนาคือคนทุกคนไม่ยกเว้น ศาสนาหมายถึงคำสอนของท่านผู้รู้ รู้พุทธศาสนา พุทธะหมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรมซึ่งได้แก่ สติ สมาธิ ปัญญา (การรู้ตัว, การตั้งใจ, การรู้) ดังนั้นเราจึงเจริญปัญญา

    แล้วต้องรู้ บาป ("ความชั่ว, ความมัวหมอง") ต้องรู้ บุญ ("ความดี, คุณงามความดี") บาปคือความมืด ความโง่ การไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นอย่างไร บุญคือความฉลาด การรู้ การรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ใครก็ตามที่ไม่รู้เรียกว่าเป็นผู้ยังไม่มีบุญ

    จบภาคที่ ๑ จะเกิดอุปสรรคขึ้นที่จุดนี้ เพราะว่าเรายึดติดในความรู้ของวิปัสสนุ วิปัสสนุ (เครื่องเศร้าหมองของความรู้ภายใน คือเมื่อเรารู้ออกนอกตัวของเราไม่สิ้นสุด เราจะต้องถอนตัวออกมา เราจะต้องไม่เข้าไปในความคิด)

    ภาค ๒ : อารมณ์ปรมัตถ์

    ใช้สติดูความคิด เมื่อความคิดเกิด รู้มัน เห็นมัน เข้าใจมัน สัมผัสมัน ทันทีที่ความคิดเกิด ตัดมันทิ้งไปทันที ทำเหมือนแมวตะครุบหนู หรือเหมือนนักมวยที่ขึ้นเวทีต้องชกทันที เขาไม่จำเป็นต้องไหว้ครู ไม่ว่าแพ้หรือชนะนักมวยต้องชก เราไม่ต้องคอยใครหรือเหมือนกับการขุดบ่อน้ำ เมื่อเราค้นพบน้ำ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตักโคลน ตักเลนออก ตักน้ำออกจนหมดน้ำเก่าเอาออกให้หมด บัดนี้น้ำใหม่จากภายในจะไหลออกมา เราจะต้องกวนที่ปากบ่อ ล้างปากบ่อ ล้างโคลน ล้างเลนออกให้หมด ทำมันบ่อยๆ น้ำจะใสสะอาดโดยตัวของมันเอง เมื่อน้ำใสสะอาดมีอะไรตกลงไปในบ่อ เราจะรู้เห็นและเข้าใจทันที การตัดความคิดก็เช่นเดียวกัน ยิ่งเราตัดเร็วเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น

    แล้วให้เราเห็น วัตถุ (สิ่งที่มีอยู่) เห็น ปรมัตถ์ (สิ่งที่กำลังมีอยู่เป็นอยู่ สัมผัสอยู่) เห็น อาการ (การเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่กำลังมีอยู่) วัตถุหมายถึงของที่มีอยู่ในโลก ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวคนและจิตใจของคนและสัตว์ ปรมัตถ์หมายถึงของที่มีอยู่จริง เรากำลังเห็นกำลังมีกำลังเป็นเดี๋ยวนี้ต่อหน้าต่อตาของเรา สัมผัสได้ด้วยจิตใจ อาการหมายถึงการเปลี่ยนแปลง สมมุติเรามีสีย้อมผ้าอยู่เต็มกระป๋อง เดิมคุณภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเรานำมาย้อมผ้ามันจะติดเนื้อผ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อเรารู้ เราเห็น เราสามารถสัมผัสด้วยจิตใจ สียังเต็มกระป๋องเหมือนเดิม แต่คุณภาพได้เสื่อมไปแล้ว นำมันไปย้อมผ้ามันจะไม่ติดเนื้อผ้า สิ่งที่เราต้องเห็นจริงๆ ต้องรู้จริงๆ แล้วเห็น โทสะ โมหะ โลภะ แล้วให้เราเห็น เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ (การรู้สึก-การจำได้-การปรุงแต่ง-การรับรู้) เห็นมัน รู้มัน และสัมผัสมัน เข้าใจสิ่งนี้จริงๆเราไม่ต้องสงสัย

    บัดนี้ จะเกิด ปีติ (ความยินดี) ขึ้นเล็กน้อย แต่ปีติเป็นอุปสรรคของการปฏิบัติในชั้นสูง เราไม่ต้องสนใจกับปีตินั้น เราต้องมาดูความคิด นี้คือจุดเริ่มต้นของอารมณ์ปรมัตถ์ของการเจริญสติแบบนี้ของผู้มีปัญญา ดูความคิดต่อไป จะเกิดความรู้หรือ ญาณ หรือ ญาณปัญญา(ความรู้ของการรู้) ขึ้น

    เห็น รู้ และเข้าใจ กิเลส (ยางเหนียว) ตัณหา (ติด, หนักอุปาทาน (ไปยึดไปถือ) และ กรรม (การกระทำหรือการเสวยผล) ดังนั้นความยึดมั่นถือมั่นจะจืดลง จะหลุดตัวออก จะจางหายไป เหมือนดังสีที่คุณภาพเสื่อมไปแล้ว ไม่สามารถจะย้อมติดผ้าได้อีก จะเกิดปีติขึ้นอีก เราต้องไม่สนใจในปีตินั้น ถอนความพอใจและความไม่พอใจออกเสีย ดูความคิดต่อไป ดูจิตใจที่กำลังนึกคิดอยู่ จะเกิดญาณชนิดหนึ่งขึ้นเห็น รู้ และเข้าใจ ศีล ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ หรือ อธิศีลสิกขา(ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัด อบรมในทางความประพฤติอย่างสูงๆ") อธิจิตตสิกขา("ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัดอบรมในทางจิตเพื่อให้เกิดสมาธิอย่างสูง") อธิปัญญาสิกขา("ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัดอบรมในทางจิต เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูงในทางหลุดพ้นหรือถอนราก") ขันธ์ หมายถึง รองรับหรือต่อสู้สิกขา หมายถึง บดให้ละเอียดหรือถลุงให้หมดไป

    ดังนั้น ศีล (ความเป็นปกติ) เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างหยาบ คือ โทสะ โมหะ โลภะ ตัณหา อุปาทาน กรรม เมื่อสิ่งเหล่านี้จืดลง จางลง และคลายลง ศีลจึงปรากฏ

    สมาธิ เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างกลาง คือ ความสงบ เห็น รู้ และเข้าใจ กามาสวะ (อาสวะ คือ "ความใคร่ ความอยาก") ภวาสวะ (อาสวะ คือ "ความเป็น") และ อวิชชาสวะ ("อาสวะคือ การไม่รู้") เพราะกิเลสนี้เป็นกิเลสอย่างกลางซึ่งทำให้จิตใจสงบ

    นี้คืออารมณ์หนึ่งของการเจริญสติวิธีนี้ เมื่อเรารู้และเห็นอย่างนี้ เราจะรู้ ทาน ("การ-ให้") การรักษาศีลและกระทำกรรมฐาน ("การภาวนา")ทุกแง่ทุกมุม แล้ว ญาณปัญญา จะเกิดขึ้นในจิตใจ ฯลฯ

    จบอารมณ์ของการเจริญสติวิธีนี้ มันจะเป็นอย่างมหัศจรรย์และยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งมีอยู่ในจิตใจของคนทุกคนไม่ยก เว้น ถ้าเรายังคงไม่รู้เดี๋ยวนี้ เมื่อใกล้จะหมดลมหายใจ เราต้องรู้อย่างแน่นอนที่สุด ผู้ที่เจริญสติ เจริญปัญญามีญาณจะรู้ ส่วนผู้ที่ไม่เคยเจริญสติ เจริญปัญญา เมื่อใกล้จะหมดลมหายใจมันจะเป็นอย่างเดียวกัน แต่เขาไม่รู้ เพราะว่าเขาไม่มีญาณรู้อย่างแจ่มแจ้ง และเห็นอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงการจำหรือการรู้จัก รู้ด้วยญาณปัญญาของการเจริญสติที่แท้ สามารถรับรองตัวเองได้ กล่าวกันว่าเมื่อถึงที่สุดแล้ว ญาณย่อมเกิดขึ้น ให้ระมัดระวังความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น ให้รู้สึกตัวของเธอเองอย่าได้ยึดติดในความสุขหรือสิ่งใดๆ ที่เกิดขึ้น ความสุขก็ไม่เอา ความทุกข์ก็ไม่เอา เพียงกลับมาทบทวนอารมณ์บ่อยๆ จากรูป-นาม จนจบทีละขั้นๆและรู้ว่าอารมณ์มีขั้นมีตอน
    แน่นอนทีเดียว ถ้าเธอเจริญสติอย่างถูกต้อง การปฏิบัติอย่างนานที่สุดไม่เกิน ๓ ปี อย่างกลาง ๑ ปี และอย่างเร็วที่สุด ๑ วัน ถึง ๙๐วัน เราไม่จำต้องพูดถึงผลของการปฏิบัตินี้ ความทุกข์ไม่มีจริงๆ

    มีการปฏิบัติกรรมฐานต่างๆ อยู่หลายวิธี ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติวิธีต่างๆมาเป็นอันมาก แต่วิธีเหล่านั้นไม่นำไปสู่ปัญญา บัดนี้วิธีที่เรากำลังปฏิบัติอยู่นี้คือวิธีที่นำไปสู่ปัญญาโดยตรง ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ถ้าเขารู้วิธีการอย่างถูกต้อง เมื่อปัญญาเกิดขั้นเขาจะรู้ เห็น และเข้าใจด้วยตัวของเขาเอง ดังนั้นวิธีของการพลิกมือขึ้นและลงนี้ คือวิธีสร้างสติ เจริญปัญญา เมื่อมีการปฏิบัติอย่างทั่วถึงโดยตลอดแล้ว มันก็จะสมบูรณ์และเป็นไปเอง

    ทุกคนสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ยกเว้น ไม่ว่าเขาจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ไม่ว่าเขาจะทำงานอะไร ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาไหน เขาสามารถปฏิบัติได้ ทุกคนมีร่างกายและจิตใจ ร่างกายคือวัตถุที่เราสามารถเห็นได้ด้วยตา เราอาจเรียกมันว่ารูป แต่จิตใจเราไม่สามารถเห็นได้ด้วยตา เราไม่สามารถสัมผัสด้วยมือเราอาจเรียกมันว่า นาม ทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวกัน

    เมื่อเราสร้างสติ เจริญสติ ปัญญาจะเกิดขึ้นและรู้ด้วยตัวของมันเองเพียงแต่ให้สิ่งที่มีอยู่แล้วได้เติบ โตงอกงามขึ้น สิ่งที่ไม่เป็นจริงเราไม่ต้องทำมันขึ้นมา เมื่อเรารู้รูป-นาม เรารู้ทุกสิ่งและเราสามารถแก้ทุกข์ได้จริงๆ ยกตัวอย่างเช่น เราจะไม่ยึดติดใจสมมุติ เมื่อรู้สิ่งนั้นแล้ว เราปฏิบัติความรู้สึกตัวให้มากขึ้นเคลื่อนไหวมือดังที่ข้าพเจ้าแนะนำเธอ บัดนี้ทำให้เร็วขึ้น ความคิดเป็นสิ่งที่เร็วที่สุด มันเร็วยิ่งกว่ากระแสไฟฟ้า

    เมื่อสติปัญญาเพิ่มขึ้น มันจะรู้ เห็นและเข้าใจโทสะ โมหะ โลภะเมื่อเรารู้มัน ทุกข์ในจิตใจจะลดลง คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดและคิดว่า โทสะ โลภะและโมหะ เป็นสิ่งปกติ แต่ผู้รู้กล่าวว่า โทสะ โมหะ โลภะ เป็นทุกข์ เป็นของน่าเกลียดสกปรก ดังนั้นเขาจะไม่ให้สิ่งนั้นมาเข้าใกล้นี้เรียกว่า การรู้ชีวิตจิตใจของตนเองซึ่งมีความสะอาด สว่างและสงบ เมื่อเรารู้จุดนี้ มันจะเกิดศักยภาพอันยิ่งใหญ่เหมือนดังลำธารสายเล็กๆ ไหลลงกลายเป็น แม่น้ำใหญ่

    ดังนั้น วิธีของการปฏิบัติคือ มีความรู้สึกตัวมากขึ้นๆ รู้อิริยาบถของร่างกาย และการเคลื่อนไหวเล็กๆ เช่น กะพริบตา เหลียวซ้ายแลขวาหายใจเข้าและหายใจออก การเคลื่อนไหวทั้งหมดเหล่านี้สามารถเห็นได้ด้วยตาแต่เราไม่อาจเห็นความคิดด้วยตาได้ เราเพียงสามารถรู้และเห็นด้วยสมาธิ สติปัญญา สมาธิที่ข้าพเจ้ากำลังพูดถึงอยู่นี้ มิใช่การนั่งหลับตา สมาธิหมายถึงการตั้งจิตใจเพื่อให้รู้สึกถึงตัวของเราเอง เมื่อเรามีความรู้สึกตัว อย่างต่อเนื่องนี้เรียกว่าสมาธิ หรืออาจเรียกว่าสติ เมื่อจิตใจคิดเราจะรู้ความคิดทันที และความคิดจะสั้นเข้าๆ เหมือนดังบวกกับลบ ถ้าหากจะพูดก็มีเรื่องจะต้องพูดอีกมาก แต่ข้าพเจ้าประสงค์ให้พวกเธอทั้งหมดปฏิบัติการเคลื่อนไหว ปฏิบัติด้วยตัวของเธอเองโดยวิธีของการเคลื่อนไหว ผลจะเกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง

    การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม อย่าไปแสวงหาที่ๆ มันไม่มี แสวงหาตัวเรานี้ ให้เราทำความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ นี่แหละ จะรู้จะเห็น

    แสดงธรรมโดย หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

    ที่มา :การเจริญสติในชีวิตประจำวัน : ศาลาธรรม
     
  2. mylord

    mylord เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    46
    ค่าพลัง:
    +253
    สติ เครื่องรับรองในธรรมทั้งหลาย

    ให้พากันตั้งอกตั้งใจ การปฏิบัติธรรม สติ เป็นของสำคัญมากทีเดียว

    อย่าปล่อยสติ ใครตั้งสติได้ดีคนนั้นยืนยันได้เลยว่าจะมีรากมีฐานขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงวิมุตติพระนิพพาน ไม่สงสัย ไม่นอกเหนือไปจากสติ อันดับสองก็เป็นปัญญา อันดับแรกนี้คือสติ

    สติเป็นพื้นฐานตลอดเลย พากันตั้งใจปฏิบัตินะ มรรค ผลนิพพานจ่ออยู่กับหัวใจเราพร้อมกันกับกิเลสมันเผาหัวใจเรานั่นแหละ ความเพียรจ่อเข้าไปเท่านั้นกิเลสจะถอย ถ้าความเพียรอ่อนกิเลสเหยียบเอาๆ นะ

    ตั้งใจปฏิบัตินะ ศาสนาก็จะไม่มีความหมายอะไรในเมืองไทยเราเป็นเมืองพุทธ เพราะชาวพุทธเรามันไม่มีศาสนาเลย ครั้นเรียนมาก็เป็นกิเลสไปหมด เรียนมากเรียนน้อยเรียนเพื่อเอาชั้นเอาภูมิไป มันก็เป็นเรื่องกิเลสไปหมด

    เรียนเพื่ออรรถเพื่อธรรมเพื่อการปฏิบัติแก้ไขดัดแปลงตนเองนี้มันไม่ค่อยสนใจ กิเลสเอาไปกินหมดเอาไปกินหมด นี่สำคัญมากนะ ธรรมไม่ค่อยได้กินแหละ เลยกลายเป็นธรรมน่ะกินเศษกินเดนของกิเลส ให้พร

    แสดงธรรมโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

    ที่มา: สติ เครื่องรับรองในธรรมทั้งหลาย (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) : ศาลาธรรม
     
  3. mylord

    mylord เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    46
    ค่าพลัง:
    +253
    การปล่อยวางมี ๒ ประเภท
    (๑) การปล่อยวางด้วยความรู้
    (๒) การปล่อยวางความเขลา

    การปล่อยวางด้วยความรู้เกิดขึ้น เพราะผู้ปล่อยวางนั้น ตระหนักรู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิตว่า ไม่อาจยึดเอาสิ่งใดมาเป็นของตนได้อย่างถาวร เพราะสรรพสิ่งล้วนตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ (กฎธรรมชาติที่เป็นสากลสำหรับทุกสิ่ง) ที่ว่า

    "ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา"
    หรือ
    "ไม่เที่ยง ไม่ทน ไม่แท้"
    หรือแปลอีกนัยหนึ่งว่า
    "ไม่แน่ ไม่ได้ดั่งใจ ไม่มีอะไรสมบูรณ์"


    สรรพสิ่งในโลกนี้ ล้วนมีความไม่เที่ยง คือ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นทุกข์ คือ ไม่สามารถทนอยู่ในลักษณะเดิมตลอดไป ทนอยู่ได้ก็ชั่วครู่ชั่วคราว

    และสรรพสิ่งล้วนเกิดจากองค์ประกอบที่แตกต่างหลากหลาย มารวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นองค์รวม แต่ก็รวมกันได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ในที่สุดแล้วก็มีอันจะต้องแตกดับ สลายไป เหมือนกันทั้งหมด

    ในเมื่อความจริงของสิ่งต่างๆ เป็นอย่างนี้ เราจึงไม่อาจ "ยึด" เอาอะไรมาเป็น "ของเรา" ได้อย่างแท้จริง เรา "ยึด" สิ่งต่างๆ ว่าเป็นของเราได้เพียงชั่วคราวในลักษณะของที่ขอ "ยืม" เขามาเท่านั้น ในเมื่อสรรพสิ่งที่เรามีอยู่ล้วนเป็นเหมือนของที่ยืมเขามา เมื่อถึงเวลาก็ต้องส่งคืนด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เช่น

    เรายืมอากาศมาหายใจ ในที่สุดก็ต้องคืนสู่ธาตุลม
    เรายืมดินมาเป็นร่างกาย ในที่สุดก็ต้องคืนสู่ธาตุดิน
    เรายืมไฟมาเป็นความอบอุ่น ในที่สุดก็ต้องคืนสู่ความเป็นธาตุไฟ
    เรายืมน้ำมาหล่อเลี้ยงร่างกาย ในที่สุดก็ต้องคืนสู่ธาตุน้ำ


    ขยายความให้กว้างออกไปจนครอบคลุมสิ่งของ เช่น เสื้อผ้า บ้านเรือน รถ เงินทอง ไร่นา ฯลฯ ตลอดจนถึงโลกธรรมอันเป็นที่ชื่นชม เช่น ได้ลาภจะมีเสื่อมลาภรอเตือนให้คืนลาภอยู่ในตัว ได้ยศจะมีอัปยศรอทวงอยู่ สรรเสริญจะมีนินทารออยู่ สุขจะมีทุกข์รออยู่ เห็นไหมว่า สรรพสิ่งล้วนตกอยู่ในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาหรือไม่เที่ยง ไม่ทน ไม่แท้ แม้แต่เพียงอย่างเดียว

    ดังนั้น เราจึงไม่อาจยึดเอาอะไรมาเป็น "ของเรา" ได้อย่างแท้จริง เราทำได้แค่เพียงใช้ มี ครอบครอง สิ่งต่างๆ ได้เพียงชั่วคราว ด้วยความตระหนักรู้ว่า "ไม่มีสิ่งใดเป็นของเราอย่างแท้จริง" หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ

    "สรรพสิ่ง คือ ของใช้ อย่าเข้าใจว่าเป็น ของฉัน"

    แสดงธรรมโดย ว.วชิรเมธี (พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี)

    ที่มา :สรรพสิ่งคือของใช้ อย่าเข้าใจว่าเป็นของฉัน : ศาลาธรรม
     

แชร์หน้านี้

Loading...