การระลึกชาติของ..หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 22 พฤศจิกายน 2011.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    <center>[​IMG]</center>

    <dd> ตามประวัติได้เล่าว่า หลวงปู่มั่น ท่านได้เที่ยวปลีกวิเวกธุดงค์ไปป่าตามจังหวัดต่างๆ ผ่านอุบลราชธานี ดงพญาเย็น ภูเขาหลายลูก ในวันหนึ่งเกิดนิมิตถึง ถ้ำสิงห์โต หรือ ถ้ำไผ่ขวาง อยู่บนเขาพระงาม จ.ลพบุรี

    </dd><dd>ถ้ำไผ่ขวางอยู่ข้างน้ำตก มีลักษณะเป็นป่าทึบ อากาศเย็นสบาย อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่านานาชนิดอาทิ ช้าง เสือ งูเห่า สถานที่แทบจะไร้ผู้คนอาศัย ระหว่างทางเดินขึ้นเขา ชาวบ้านเห็นมีพระภิกษุต่างถิ่นรูปหนึ่งสะพายบาตรกลดกิริยามารยาทเคร่งครัดใน พระธรรมวินัย จึงตรงเข้ามาสอบถามด้วยความเป็นห่วงว่า

    “หลวงพ่อจะไปไหน”
    หลวงปู่มั่นตอบว่า “จะไปบำเพ็ญสมณธรรมในเขาลูกนั้น”

    </dd><dd>ชาวบ้านฟังแล้วตกใจ รีบยกมือไหว้ท่านแล้วกราบนิมนต์ว่า “อย่าเข้าไปเลยหลวงพ่อ เพราะพระที่เข้าไปในถ้ำนี้ตายไปแล้ว 6 องค์ ขอให้อยู่กับพวกฉันที่บ้านไร่นี้เถิด อย่าเข้าไปเลย”

    </dd><dd>หลวงปู่มั่นรับความปรารถนาดีของชาวบ้านเอาไว้ในใจแล้วตอบว่า “เออ.. โยม ขอให้อาตมาเป็นองค์ที่ 7 ก็แล้วกัน”

    </dd><dd>จากคำพูดของชาวบ้าน ก็พอทำให้หลวงปู่มั่นเข้าใจสภาพของถ้ำบนภูเขาในป่าได้ดี จิตใจไม่มีหวาดกลัวกลับเต็มไปด้วยความเด็ดเดี่ยวยอมสละชีวิตเพื่อธรรมะ พอถึงถ้ำไผ่ขวางจัดแจงวางสัมภาระ เก็บปัดทำความสะอาดบริเวณที่พัก พอตกค่ำบำเพ็ญภาวนาตามวิสัย

    </dd><dd>รุ่งเช้าเดินลงเขาบิณฑบาตอย่างนี้ผ่านเดือนอ้าย เดือนยี่จนล่วงใกล้เข้าคืนเพ็ญเดือน 3 อันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ทำให้หลวงปู่มั่นระลึกถึงสมัยพุทธกาล ช่วงที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญภาวนาต่อสู้กับกิเลสมารจนบรรลุธรรม ท่านได้ปรารภว่า

    </dd><dd>“เราบำเพ็ญสมณธรรมมาถึงบัดนี้ก็เป็นเวลา 12 ปี ทุกอย่างพร้อมแล้ว ที่จะทำสุดแห่งทุกข์ในวัฏสงสารในคืนเพ็ญนี้” การตัดสินใจเช่นนี้แบบทิ้งทวนแลกชีวิตกับธรรมะ

    </dd><dd>ยามเช้า... เช่นเดียวกับทุกๆ วัน หลวงปู่มั่นหลังจากฉันเช้าเรียบร้อยเพียงพอแก่สังขารให้บำเพ็ญธรรมะได้ จากนั้นจึงบำเพ็ญสมาธิภาวนา พอนั่งได้ไม่นานเกิดไม่สบายกาย อาหารที่ฉันเข้าไปไม่ย่อย ทำให้อาหารเป็นพิษ ส่งผลให้ท้องร่วง อาเจียนอย่างหนัก ท่านจึงหวนนึกถึงคำพูดของชาวบ้าน พรางรำพึงกับตนเองว่า

    </dd><dd>“ตัวเราเองก็เห็นจะตายแน่เหมือนพระเหล่านั้น” แต่คำปรารภนี้ล้วนไม่ใช่วิสัยนักรบแห่งกองทัพธรรม หลวงปู่มั่นจึงออกเดินสำรวจมองหาสถานที่นั่งสมาธิ และแล้ว..

    </dd><dd>ที่หน้าผาเหวลึก.. มีก้อนหินใหญ่อยู่บนปากเหว พอให้คนไปนั่งได้ หลวงปู่มั่นไปขึ้นไปยืนบนก้อนหินใหญ่ แล้วหยิบก้อนหินอันเล็กๆ โยนลงไปในเหว ใช้เวลานานพอควรจึงจะได้ยินเสียงกระทบของก้อนหิน หลังจากดูทำเลเป็นที่เรียบร้อยหลวงปู่มั่นกล่าวปณิธานว่า

    </dd><dd>“เอาล่ะ.. ถ้าเราไม่รู้แจ้งเห็นจริง ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด ถ้าเราจะต้องตายขอให้ตายตรงนี้ ขอให้หล่นลงไปในเหวนี้ จะได้ไม่เป็นที่วุ่นวายแก่ใครๆ ซึ่งจะต้องกังวลทำศพให้เรา”

    </dd><dd>คืนนั้น ท่ามกลางขุนเขาแสงจันทร์กระจ่างเป็นสักขีพยานเฝ้าดูการบำเพ็ญภาวนาของหลวง ปู่มั่น จิตของท่านสว่างไสวดุจกลางวัน เห็นกระจ่างชัดแม้เม็ดทรายเล็กๆ

    </dd><dd>จิตโอภาสประภัสสรเห็นชัดในนิมิตที่เข้ามา รวมถึงการพิจารณากายคตาตอลดจนธรรมะต่างๆ นาน 3 วัน 3 คืน โดยไม่ลงไปบิณฑบาต ไม่ฉันอาหาร เกิดนิมิตปรากฏเห็นบุตรสาวของโยมที่อุปัฎฐาก มายืนร้องเรียกความรักจากท่าน จิตของหลวงปู่มั่นไม่ได้หวั่นไหวไปตาม จิตไม่ได้ยินดียินร้ายกับสาวงามนั้น ท่านพิจารณาว่า

    </dd><dd>“อันเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราก็พิจารณามาอย่างช่ำชองแล้ว จะมาหลงอีกหรือ”

    </dd><dd>ฉับพลันภาพหญิงสาวนั้นก็แก่เฒ่าและล้มตายลงเหลือแต่กองกระดูกหายไปในแผ่นดิน จิตจึงถอนออกมา



    <center>ระลึกชาติ.. เกิดสมัยพุทธกาล</center>
    </dd><dd>ขณะนั้นจิตมีปีติซาบซ่านเข้าถึงเอกัคคตาญาณ กายเบาจิตใจมีความสงบระงับ จิตเดินเข้าสู่ปฐมฌาน ทุติยฌาน และจตุตถฌานโดยลำดับ พักอยู่ในจตุตถฌานนานพอควรแล้วถอยออกมาจนถึงปฐมฌานจึงหยุด ในลำดับนี้หลวงปู่มั่นท่านว่าเกิดปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือรู้อดีตชาติ เกิดนิมิตภาพลูกสุนัขกินนมแม่

    </dd><dd>หลวงปู่มั่นรู้ด้วยใจว่า ลูกสุนัขก็คือตัวท่านเองในอดีตชาติที่เกิดเป็นสุนัขนับชาติไม่ถ้วน สาเหตุมาจากลูกสุนัขมีความพอใจในอัตภาพของมัน จงส่งผลให้เกิดเป็นสุนัขจึงติดอยู่ในภพนี้หลายชาติ สร้างความสลดสังเวชให้กับท่านเป็นอย่างมาก จากนั้นหลวงปู่มั่นได้ค้นลงหาถึงต้นสายปลายเหตุพบว่า

    </dd><dd>“เราปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณ” จากนั้นภาพในอดีตชาติสมัยพุทธกาล หลวงปู่มั่นเกิดเป็นเสนาบดีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าศากยมุนีขณะที่พระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาถึงมหาสติปัฎฐานสูตร หลวงปู่มั่นได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อหน้าเบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าว่า

    </dd><dd>“ขอให้ข้าพเจ้าพึงได้เป็นพระพุทธเจ้าเช่นพระองค์เถิด”

    </dd><dd>นับจากวาระจิตนั้น หลวงปู่มั่นดำรงอยู่โพธิสัตว์ธรรมบำเพ็ญพระโพธิญาณมาหลายร้อยชาติ เมื่อได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณทำให้หลวงปู่ระลึกถึงชาติภพต่างๆ มาพอสมควร เห็นความน่ากลัวของสังสารวัฏ และหากปรรถนาจะบรรลุพระนิพพานในชาตินี้ จะต้องละเสียจาก “พระโพธิญาณ”

    </dd><dd>ก่อนที่หลวงปู่มั่นจะตั้งจิตถอนจาก “โพธิญาณ” ท่านได้เดินสมาธิเฝ้าย้อนรำลึกในอดีตชาติว่า ท่านเพิ่งจะเริ่มตั้งจิตปรารถนาต่อพุทธภูมิต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าศากย โคดมเท่านั้น เส้นทางบำเพ็ญเพียรเพียงแค่กึ่งพุทธกาล อีกทั้งในอดีตชาติที่ผ่านมา ท่านระลึกได้ถึงความยากลำบากของการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฎ

    </dd><dd>ท่านสลดสังเวชแม้ท่านจะบำเพ็ญบารมีเพียงใดยังเคย เกิดเป็นหมาขี้เรื้อนถึง 500 ชาติ ทำให้หลวงปู่มั่นมองดูสรรพสัตว์ในสังสารวัฎที่ยังคงหลับไหล เขาเหล่านั้นยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับชะตากรรมเช่นไรเมื่อสิ้นชีวิตลงไป

    </dd><dd>ครั้นหลวงปู่มั่นจะละถอนจาก “โพธิญาณ” ก็ให้สงสารสัตว์เหล่านั้น แต่เมื่อมองดูท่ามกลางสรรพสัตว์ทั่วไตรภพ ยังมีขบวนพระมหาโพธิสัตว์มีจำนวนมากที่ได้พยากรณ์จากพระพุทธเจ้าว่าเป็น นิตยโพธิสัตว์ (พระโพธิสัตว์ที่จักได้รับการบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต) และยังมีพระโพธิสัตว์อีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการพยากรณ์อยู่ในสังสารวัฎ เพื่อบำเพ็ญบารมีช่วยขนสรรพชีวิตให้พ้นทุกข์ เมื่อพิจารณาดังนี้หลวงปู่มั่นจึงอธิษฐานจิตละจากพระโพธิญาณ



    <center>สู้รบกับยักษ์... หวิดตาย</center>
    </dd><dd>คืนจันทร์สว่างฟ้า พระจันทร์เต็มดวงมีธรรมชาติจะทรงกลดยามเที่ยงคืน ..เป็นภาพที่งดงาม สงบสงัด มีแต่สรรพเสียงของป่าเป็นเพื่อน ขณะที่หลวงปู่มั่นเดินจิตภาวนาใหม่ ปรากฏแสงสว่างเมื่อจิตรวมแล้ว..

    </dd><dd>เกิดเรื่องอันน่าสะพรึงกลัว.. ภูเขาทั้งลูกสั่นสะเทือนราวกับมีใครเอามือมาเขย่า เสียงลมพัดโหมกระหน่ำผ่านราวป่า เสียงไม้หักโค่นเกรียวกราว..แต่หลวงปู่มั่นดำรงในสมาธิไม่หวั่นไหวกับเสียงอึกทึกรอบค้าง ท่านบอกว่า

    </dd><dd>“แรงสั่นสะเทือน ราวกับภูเขาจะพลิกค่ำ” บรรยากาศอันน่ากลัวรอบข้างทำเอาท่านเกือบลืมตา ..แต่ระลึกได้ถึงคำอธิษฐานจิตถึงธรรมะ หลวงปู่มั่นจึงพิจารณาภาวะธรรมะที่เกิดขึ้น

    </dd><dd>ยิ่งพิจารณาธรรมเท่าไร ความโหดร้ายของสภาพรอบตัวยิ่งทวีความรุนแรงไม่มีท่าทีว่าจะหยุด แต่สติของท่านมั่นคงกว่าขุนเขาที่นั่งไม่อาจโยกคลอนได้ ขณะที่เฝ้าดูอาการของ “สติ-สมาธิ” ที่มั่นคงไม่หวั่นไหวกับสิ่งรอบข้างอยู่นั้น ..

    </dd><dd>จู่ๆ มียักษ์สูงร่างสูงใหญ่ทะมึนสูงเท่าต้นไม้ ถือตะบองเหล็กส่องรัศมีเหมือนเปลวไฟ เดินย่างสามขุมตรงมายังหลวงปู่มั่น พร้อมตวาดลั่นสะท้านป่าว่า

    </dd><dd>“จงลุกจากที่นี้เดี๋ยวนี้ มิฉะนั้นจะต้องตาย” พูดจบยักษ์เงื้อตะบองขึ้นสุดแขน เพื่อหวดฟาดหลวงปู่มั่นเต็มกำลัง

    </dd><dd>หลวงปู่มั่นเกือบเผลอลืมตาขึ้นมอง แต่อำนาจสติได้ตามรู้ทันจึงระงับไว้ได้ ตลอดเวลาเกือบ 3 เดือนที่เจริญสติจนกลายเป็นมหาสติไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ให้ปรุงแต่งเคลื่อนจิตให้สะท้านกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย ท่านตอบยักษ์ไปว่า “เราไม่ลุก”

    </dd><dd>ทันใดนั้นเอง... ยักษ์ฟาดตะบองลงมายังร่างของท่านเต็มพละกำลังอันมหาศาล จนร่างหลวงปู่มั่นจมลึกลงในดินราว 10 วา แต่ร่างของท่านลอยขึ้นมาเหนือพื้นดิน เจ้ายักษ์ทมิฬหันลีหันขวาง เห็นต้นตะเคียนขนาด 10 คนโอบ ตรงเข้าไปถอนขึ้นมาทั้งต้น รากของต้นไม้ขาดจากดิน เศษดินยังกระเด็นมาโดนร่างหลวงปู่มั่นที่นั่งสมาธิด้วย

    </dd><dd>ยักษ์ใหญ่แค้นมองร่างหลวงปู่มั่นตัวจิ๋วด้วยความโกรธ ตาแดงเป็นไฟ เงื้อต้นตะเคียนฟาดมาที่ร่างหลวงปู่มั่นจนแบนไปกับก้อนหิน จนก้อนหินไม่สามารถต้านทานได้แหลกละเอียดไปในพริบตา ในวินาทีนี้หลวงปู่มั่นเกือบจะลืมตาขึ้นดูสภาพรอบข้าง แต่กำลังของมหาสติดำรงมั่น เป็นตัวกำกับพิจารณาอารมณ์อันละเอียดอ่อนที่ปรากฏเกิดขึ้นในใจ

    </dd><dd>ค้นพบว่าแท้จริงแล้วใจของท่านมีอาการพะว้าพะวังของการปรารถนาพระโพธิญาณ ซึ่งเรื่องนี้ซึ่งนี้เป็นธรรมชาติของหน่อเนื้อพุทธะ ทันทีที่ว่านเมล็ดพันธุ์โพธิจิตลงในเนื้อนาใจ ต้นไม้แห่งโพธิจะแทงหน่อเติบโต ต้นไม้นี้ย่อมเป็นที่พึ่งพาอาศัยของสัตว์ทั้งปวง คุณธรรมแลความรอบรู้ในขอบข่ายของพุทธะอันประมาณมิได้นี้ จะหลั่งไหลเข้าสู่จิต

    </dd><dd>ตลอดเส้นทางพระโพธิญาณ หลวงปั่มั่นได้สร้างสมทศบารมี เพื่อให้บริบูรณ์พร้อมที่จะสั่งสอนอบรมสรรพชีวิตให้เหมาะสมตามนิสัย แลตลอดแตกฉานในอุบายเพื่อสอนให้ผู้อื่นให้เข้าถึงธรรมได้ง่าย และรวดเร็วตามกำลังบุญของแต่ละคน เมื่อมหาสติทราบชัดถึงเครื่องกางกั้นชั้นสุดท้าย สิ่งที่ติดค้างในใจของท่านก็หมดลง



    <center>แสงธรรมสว่างไสว ทั่วโลกธาตุ</center>
    </dd><dd>“ภพเบื้องหน้าเราไม่มีแล้ว พรหมจรรย์เราได้จบแล้ว” หลวงปู่มั่น ภูริฑัตโต ณ. กาลเวลานี้ เมื่อได้สละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง หลวงปู่มั่นอธิบายว่า “ทุกอย่างในโลกนี้มีสภาพเป็นอันเดียวดุจหน้ากลองชัย โลกนี้ราบลงหมด คือสว่างเตียนโล่ง ร่างกายของเราประมวลเข้าดังเดิม”

    </dd><dd>ยักษ์สูงทะมึนมองเห็นเหตุการณ์พลิกผัน ได้กลายร่างเป็นมนุษย์แล้วเข้ามากราบขอขมาลาโทษ แล้วหายไปในที่สุด ...ขณะนั้นเสียงไก่ขัน... ดังเป็นระยะๆ บอกเวลาว่าใกล้รุ่ง คะเนว่าน่าจะราวตี 3-4 ความเงียบสงบของราตรีกลับมาบรรเลงอีกครั้ง ราวกับเตรียมเฉลิมฉลองในวาระพิเศษของการกำเนิดสัตตบุรุษในรอบพันปี

    </dd><dd>หลวงปู่มั่นเจริญสมาธิก้าวลงสู่ทุติยฌาน ตติยฌานและจตุตถฌาน พอล่วงดึกจิตก็พักเอากำลังในฌาน ส่วนปฐมฌานคือการพิจารณาวิปัสสนาญาณ เมื่อจิตใช้กำลังพิจารณาข้อธรรมแล้วย่อมพักในฌานเพื่อให้เกิดกำลังต่อไป
    พอจิตพักในจตุตถฌานจนมีกำลัง จิตได้ถอยออกมาสู่ปฐมฌาน เกิดวิปัสสนาญาณรู้เห็นความเป็นไปของชาติภพของสัตว์โลก จากนั้นได้พิจารณาต้องต้นสายปลายเหตุของชาติภพในหมู่สัตว์ทั้งปวง หลวงปู่มั่นค้นลงได้ความตามปฏิจสมุทรบาทว่า

    </dd><dd>หลวงปู่มั่นแทงตลอดลูกโซ่ของภพชาติได้อริยมรรค อันเป็นเครื่องตัดกิเลส จึงพิจารณาในดวงจิตพบว่า
    </dd><dd>“เมื่ออวิชชาไม่เกาะเกี่ยวได้แล้ว อวิชชาดับ สังขารก็ดับ สังขารดับวิญญาณก็ดับ ตลอดจน ฯลฯ ตัณหา อุปทาน ภพ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกปริเทวะ ทุกข์โทมนัส อุปายสะก็ดับหมด”

    </dd><dd>คราวนี้จิตรวมใหญ่แต่จิตไม่พักเหมือนที่ผ่านมา เกิดมีญาณขึ้นมาว่า
    “ภพเบื้องหน้าเราไม่มีแล้ว พรหมจรรย์เราได้จบแล้ว กิจอันเราควรทำ เราได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ควรไม่มีอีกแล้ว ญาณชนิดนี้เรียกว่า "อาสวักขยญาณ" คือความรู้ว่าความสิ้นไปแห่งอาสวะพร้อมกับอวิชชาก็หายไป ไม่ก่อนไม่หลังตะวันขึ้นมาและเดือนก็ตกไป รวมความว่า ญาณเกิดขึ้น อวิชชาหายไป พระอาทิตย์ขึ้นมา พระจันทร์ตกไป อปุพพํ อจิรมํ ไม่ก่อนไม่หลัง

    </dd><dd>เมื่อญาณเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ได้ขับไล่ไสส่งอวิชชา เจ้าผู้มีอวิชชาเอ๋ย เจ้าเป็นผู้ไม่รู้ไม่เห็น เจ้าจงหนีไปอยู่กับเราไม่ได้แล้ว อวิชชาก็ไม่ได้บอกกล่าวอำลาว่า ญาณผู้แจ้งผู้เห็นจริง เจ้าเป็นผู้รู้ผู้เห็นเอ๋ย ข้าอยู่กับเจ้าไม่ได้แล้ว ข้าขอลาเจ้าไปก่อน ต่างไม่ได้ขับไล่ แต่ท่านว่าความมืดและพระอาทิตย์ก็เหมือนกัน พระอาทิตย์ขึ้นมาความมืดก็หายไป

    </dd><dd>พระอาทิตย์ก็ไม่ได้ขับไล่ไสส่งความมืดหรือพระ จันทร์จะว่า เจ้าผู้มืดผู้ดำเอ๋ย เจ้าอยู่กับข้าไม่ได้แล้ว เจ้าจงหนีไป ความมืดก็ไม่ได้บอกกล่าวอำลา หรือไม่ได้ว่าพระอาทิตย์ผู้แจ้งสว่าง ผู้มีเดชอันกล้าเอ๋ย ข้าอยู่กับเจ้าไม่ได้แล้ว ข้าขอลาเจ้าไปก่อน หาใช่อย่างนั้นไม่ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นมาความมืดก็หายไปฉันใดก็ฉันนั้น”



    <center> หลวงปู่มั่นได้พบกับครูบาศรีวิชัย</center>
    </dd><dd>(ขอเพิ่มเติมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับ ครูบาศรีวิชัย อ้างอิงเนื้อหาจากหนังสือบูรพาจารย์ ซึ่งเป็นหนังสือกล่าวถึงหลวงปู่มั่นกับบรรดาลูกศิษย์ต่าง ๆ ที่เป็นครูบาอาจารย์ในสมัยต่อ ๆ มา และมีกล่าวถึง ครูบาศรีวิชัย ด้วยครับ)

    </dd><dd>ในสมัยที่หลวงปู่มั่นท่านจาริกไปอยู่เชียงใหม่ ท่านทราบว่ามีสุปฏิบันโนสงฆ์อยู่คือครูบาศรีวิชัย ในขณะเดียวกันท่านครูบาศรีวิชัยท่านก็ได้ชื่อเสียงของหลวงปูมั่นเช่นกัน ต่างมีความนับถือกันมากแม้ไม่ได้พบหน้า

    </dd><dd>มีคราวหนึ่งที่ท่านทั้งสองได้พบกัน (ไม่ทราบว่าด้วยวาระอะไร) หลวงปู่มั่นท่านกล่าวชวนครูบาศรีวิชัยว่า "มาปฏิบัติกับผมไหม" ครูบาศรีวิชัยตอบว่า "ผมไปไม่ได้ ผมได้รับพุทธทำนายแล้ว"นั่นหมายความว่าท่านปราถนาพุทธภูมิ และความปราถนานั้นจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว เพราะได้รับการทำนายจากพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แล้วในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นท่านมีแต่จะต้องบำเพ็ญบารมีต่อไปจนเต็มภูมิ ซึ่งการบำเพ็ญของท่านก็มักจะมีภูมิลึกลับคอยช่วยเสมอ ๆ

    </dd><dd>ส่วนหลวงปู่มั่นเองตามประวัติที่เขียนโดย หลวงตามหาบัว ท่านกล่าวว่าหลวงปู่มั่นในช่วงปฏิบัติช่วงหนึ่งเกิดติดขัด ไปต่อไม่ได้ จิตอาลัยอาวร กล่าวคือท่านก็ปราถนาพุทธภูมิเช่นกัน แต่ท่านอธิฐานละพุทธภูมินั้นเสียและขอรวมบารมีที่ได้สั่งสมไว้ดีแล้วนั้นถ้า เต็มบารมีสาวกภูมิก็ขอให้บรรลุมรรคผลนิพพานในชาตินี้ (เพราะท่านเจริญสมาธิจนรู้ได้ ว่าท่านเคยเกิดเป็นสุนัขอยู่ 500 ชาติ เกิดสลดสังเวช ไม่อยากเกิดอีกแล้ว)

    </dd><dd>หลังจากอธิษฐานละแล้วการปฏิบัติก็ก้าวหน้าเป็น ลำดับ ท่านหลวงตามหาบัวได้แสดงความเห็นแทรกไว้ว่าการที่ท่านละได้นั้นเพราะความปรา ถนาท่านยังไม่ถึงขั้นพุทธทำนาย จึงยังมีโอกาสละและประมวลบารมีทั้งหมดให้มามีผลในปัจจุบันได้ เมื่อสำเร็จสาวกภูมิในชาตินี้แล้วความรู้อันเป็นของพุทธภูมิหรืออุปนิสัย ความสามารถในทางพุทธภูมิ คือการถ่ายทอดสอนคนอื่นต่อจึงมีความสามารถมาก รู้แยกแยะสอนสั่งผู้อื่นได้ชำนาญ

    <hr>
    <center>[​IMG]</center>
    </dd><dd>ในตอนท้ายที่สุดนี้ จะขอนำเรื่องที่เล่าไว้ในหนังสือประวัติหลวงปุ่มั่น ซึ่งมีข้อมูลคล้ายๆ กัน แต่ก็จะมีสำนวนที่เล่าลึกลงไปในรายละเอียดบ้างดังต่อไปนี้



    <center> การปฏิบัติธรรมในขั้นสุดท้าย </center>
    </dd><dd>หลวงปู่มั่นได้หาที่ที่น่าหวาดเสียวที่สุด เห็นว่าริมปากเหวเหมาะที่สุดที่จะนั่งบำเพ็ญเพียร ท่านตั้งใจแน่วแน่ว่า “หากจะตายขอตายตรงนี้ ขอให้ร่างกายหล่นลงไปในเหวนี้ จะได้ไม่ต้องเป็นที่วุ่นวายเดือดร้อนแก่ใครๆ ” ตั้งแต่บัดนั้น หลวงปู่มั่น ได้ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่า “ถ้าไม่รู้แจ้งเห็นจริงในธรรม ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด”

    </dd><dd>หลวงปู่ได้นั่งสมาธิอยู่ ณ จุดนั้นติดต่อกันเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืนโดยไม่ขยับเขยื้อนและไม่ลืมตาเลย หลวงปู่เริ่มกำหนดจิตต่อจากที่เคยดำเนินการครั้งหลังสุด ได้เกิดการสว่างไสวดุจกลางวัน ความผ่องใสของจิตสามารถเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามต้องการ แม้จะกำหนดดูเม็ดทรายก็เห็นได้อย่างชัดเจนทุกเม็ด แม้จะพิจารณาดูทุกอย่างที่ผ่านมา ก็แจ้งประจักษ์ขึ้นในปัจจุบันหมด

    </dd><dd>ในขณะที่จิตของท่านดำเนินไปอย่างได้ผล ก็ปรากฏเห็นเป็นลูกสุนัขกำลังกินนมแม่ ท่านพิจารณาใคร่ครวญดู ว่าทำไมจึงเกิดมีนิมิตมาปน ทั้งๆ ที่จิตของท่านเลยขั้นที่จะนิมิตแล้ว เมื่อกำหนดจิตพิจารณาก็เกิดญาณรู้ขึ้นว่า “ลูกสุนัขนั้นก็คือตัวเราเอง เราเคยเกิดเป็นสุนัขอยู่ตรงนี้มานับอัตภาพไม่ถ้วน เวียนเกิดเวียนตายเป็นสุนัขอยู่หลายชาติ ”

    </dd><dd>เมื่อพิจารณาโดยละเอียดได้ความว่า "ภพ" คือความยินดีในอัตภาพของตน สุนัขก็ยินดีในอัตภาพของมัน จึงต้องเวียนอยู่ในภพของมันตลอดไป เมื่อหลวงปู่มั่น ทราบความเป็นไปในอดีตชาติของท่านก็ได้ถึงความสลดจิตเป็นอย่างมาก

    </dd><dd>ความสว่างไสวในจิตของท่านยังคงเจิดจ้าอยู่ แต่ทำไมยังมีการห่วงหน้าพะวงหลังอยู่ ไม่สามารถพิจารณาธรรมให้ยิ่งขึ้นไปได้ เมื่อตรวจสอบดูก็พบความจริงที่ท่านไม่เคยทราบมาก่อน นั่นคือ “การปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณ” ของท่าน โอ ! แล้วจะต้องเวียนตายเวียนเกิดไปอีกกี่หมื่นกี่แสนชาติ จึงจะถึง คิว ได้เป็นพระพุทธเจ้าสมความปรารถนา

    </dd><dd>หลวงปู่มั่น ได้ย้อนพิจารณาถึงภพชาติในอดีตปรากฏว่า ท่านเคยมีตำแหน่งเป็นเสนาบดีเมืองกุรุรัฐ (กรุงเดลฮี ในปัจจุบัน) พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดชาวกุรุรัฐ พระองค์ทรงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตร หลวงปู่ในชาตินั้นก็ได้เจริญสติปัฏฐาน แล้วยกจิตขึ้นอธิษฐานว่า “ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นพระพุทธเจ้าเช่นพระองค์เถิด”

    </dd><dd>ได้ความว่า หลวงปู่มั่นได้ปรารภโพธิญาณมาตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านต้องชะงักในการพิจารณาอริยสัจเพื่อทำจิตให้หลุดพ้นได้ ต้องสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ไปอีกชั่วกัปชั่วกัลป์ ถ้าไม่ปล่อยวางความปรารถนานั้น

    </dd><dd>หลวงปู่มั่น ยังเห็นต่อไปอีกว่า หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เคยเป็นหลานชายของท่านในชาติที่เป็นเสนาบดีเมืองกุรุรัฐ นั้น ภายหลังเมื่อหลวงปู่เทสก์ตามท่านไปอยู่ที่เชียงใหม่ หลวงปู่เคยบอกหลวงปู่เทสก์ว่า “เธอเคยเกิดเป็นหลานเราที่กรุงกุรุรัฐ ฉะนั้น เธอจึงดื้อดึงไม่ค่อยจะฟังเรา และสนิทสนมกับเรายิ่งกว่าใคร”

    </dd><dd>ต่อจากนั้น หลวงปู่มั่น ได้ระลึกถึง หลวงปู่ใหญ่เสาร์ พระอาจารย์ของท่าน ก็ปรากฏว่า หลวงปู่ใหญ่ก็ได้เคยปรารถนาเป็นพระปัจเจกโพธิญาณ (พระปัจเจกพุทธเจ้า) จึงไม่สามารถที่จะกระตือรือร้น ที่จะทำจิตให้ถึงที่วิมุตติได้

    </dd><dd>หลวงปู่มั่นตั้งใจไว้ว่าจะต้องหาโอกาสไปกราบอาราธนาให้หลวงปู่ใหญ่เสาร์ได้ละวางความปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในชาตินี้ให้ได้ นี่คือความกตัญญูส่วนหนึ่งของท่าน

    </dd><dd>หลังจากที่ได้ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ แล้ว หลวงปู่มั่น รู้สึกสลดใจที่เคยเกิดเป็นสุนัขนับอัตภาพไม่ถ้วน และยังจะต้องเวียนวายตายเกิดเพื่อสร้างบารมีต่อไปอีกนานแสนนาน ท่านจึงได้อธิษฐานจิตหยุดการปรารถนาพระโพธิญาณ ตั้งใจแน่วแน่ที่จะขอบรรลุธรรมในชาติปัจจุบัน

    </dd><dd>ต่อจากนั้น หลวงปู่มั่น ได้พิจารณาธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ จึงระลึกได้ว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่ทรงแสดงในปฐมเทศนาเป็นทางบรรลุที่แท้จริง พระองค์ทรงแสดงจากความเป็นจริงที่พระองค์ได้ทรงรู้ แล้วนำออกแสดงโปรดพระปัญจวัคคีย์ ทรงแสดงถึง อริยสัจ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และทรงย้ำว่า

    </dd><dd>ปริเญยฺยนฺ เม ภิกฺขเว ทุกข์พึงกำหนดรู้ ปริญาตนฺ เม ภิกฺขเว เราได้กำหนดรู้แล้ว ปหาตพฺพนฺติ เม ภิกฺขเว สมุทัยควรละ ปหีนนฺติ เม ภิกฺขเว เราได้ละแล้ว สทฺฉกาตพฺพนฺติ เม ภิกฺขเว นิโรธควรทำให้แจ้ง เราทำให้แจ้งแล้ว ภาเวตพฺพนฺติ เม ภิกฺขเว มรรคควรเจริญให้มาก ภาวิตนฺติ เม ภิกฺขเว เราก็เจริญให้มากแล้ว

    </dd><dd>เมื่อได้ระลึกถึงธรรมะอันเป็นหัวใจของพระธัมมจัก กัปปวัตนสูตรคือ อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ ควรกำหนดรู้ สมุทัย ควรละ นิโรธควรทำให้แจ้ง และ มรรค ควรเจริญให้มาก ดังนี้แล้ว หลวงปู่มั่นก็ได้พิจารณาอริยสัจไปตามลำดับ

    </dd><dd>หลวงปู่ได้พิจารณากายคตาสติ โดยยกเอาการระลึกชาติที่เกิดเป็นสุนัขมาเป็นตัวทุกข์ จนกระทั่งเกิดความแจ่มแจ้งขึ้นในจิต กลายเป็นญาณ คือ การหยั่งรู้ที่เกิดจากการดำเนินทางจิตจนพอเพียงแก่ความต้องการ (อิ่มตัว) ไม่ใช่เกิดจากการนึกเอาคิดเอา หรือน้อมเอาเพื่อให้เป็นไป แต่เกิดจากการพิจารณาโดยความเป็นจริงแห่งกำลังของจิตที่ได้รับการฝึกอบรมมาพอแล้ว

    </dd><dd>(ตัวอย่างเช่น ผลไม้ มันจะต้องพอแก่ความต้องการของมันจึงจะสุกได้ ไม่ใช่นึกเอาคิดเอา หรือ ข้าว จะสุกได้ก็ต้องได้รับความร้อนที่พอแก่ความต้องการของมัน)

    </dd><dd>ในการพิจารณากาย ที่เป็นตัวทุกข์ก็เช่นกัน กว่าจะกลับกลายเป็นญาณ ขึ้นมาได้ ก็ต้องอาศัยการพิจารณาทางจิต จนเพียงพอแก่ความต้องการ คือ อิ่มตัวในแต่ละครั้ง จะเกิดเป็นนิพพิทาญาณ คือความเบื่อหน่าย จะตั้งอยู่ในใจได้ ก็เมื่อการพิจารณากายได้เห็นชัดด้วยความสามารถแห่งพลังจิต...
    </dd><dd>“การพิจารณาทุกข์เป็นเหตุให้เกิด นิพพิทาญาณ ถ้าเกิดความเพียงพอแห่งกำลังเข้าเมื่อใด ญาณนั้นจึงจะเป็นกำลังตัดกิเลสได้”

    </dd><dd>โดยย่นย่อ หลวงปู่มั่นได้พิจารณาอริยสัจ ๔ จนเกิดญาณรู้แจ้งขึ้นในจิตโดยลำดับ ในวาระสุดท้าย หลวงปู่ได้กำหนดทบทวนกระแสจิตกลับมาหา ฐีติภูตํ คือ ที่ตั้งของจิต จนปรากฏตัว “ผู้รู้ - ผู้เห็น” และ “ผู้ไม่ตาย” ท่านพิจารณาทบทวนกลับไปกลับมา จนหมดความสงสัยทุกอย่างโดยสิ้นเชิง

    </dd><dd>ความจริงมีเรื่องราวการพิจารณาธรรมของหลวงปู่มั่นต่อไปอีกหลายอย่าง ครั้นจะนำเสนอในที่นี้ก็จะยาวและออกนอกเรื่องมากไป

    </dd><dd>(ท่านที่ต้องการทราบเพิ่ม เติม โปรดอ่านได้ที่หนังสือ “หลวงปู่มั่นภูริทตโต : ประวัติ ข้อวัตรและปฏิปทา” โครงการหนังสือบูรพาจารย์เล่ม ๑” หรือถ้าต้องการอ่านรายละเอียดอย่างพิสดาร โปรดอ่านได้ที่หนังสือ ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เขียนโดย หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร วัดธรรมมงคล สุนมวิท ๑๐๑ พระโขนง กรุงเทพฯ)

    </dd><dd>เมื่อออกจากถ้ำไผ่ขวาง หลวงปู่มั่น ไปพักบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำสิงโต เขาช่องลม หรือที่เรียกว่า เขาพระงาม จังหวัดลพบุรี ในปัจจุบันประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๖ พ ศ ๒๔๕๗ หลวงปู่มั่น ได้รับการขอร้องจาก ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ให้ลงมาจำพรรษาที่กรุงเทพฯ เพื่อโปรดพระเณรและประชาชนที่สนใจในธรรมปฏิบัติ ท่านพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม

    </dd><dd>พ.ศ. ๒๔๕๘ หลวงปู่มั่น อายุ ๔๗ ปี อายุพรรษา ๒๕ ได้เดินทางกลับอิสาน พักจำพรรษาที่ วัดบูรพาราม ในเมืองอุบลฯ มีช่วงหนึ่งขณะที่ท่านกำลังพิจารณาว่า “ใครหนอจะเป็นผู้ควรแก่การสั่งสอน” ก็พอดีกับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม เข้าไปกราบถวายตัวเป็นศิษย์

    </dd><dd>หลวงปู่มั่น ทักทายเป็นประโยคแรกว่า “เราได้รอเธอมานานแล้ว ที่อยากจะพบและต้องการชักชวนให้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน”

    </dd><dd>หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม (วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา) องค์นี้จึงเป็นศิษย์รุ่นแรก ได้ติดตามปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น ได้รับความไว้วางใจและมอบหมายให้เป็นผู้ปกครองดูแลพระภิกษุสามเณรสายกรรมฐาน แทน เมื่อครั้งหลวงปู่มั่นท่านปลีกตัวไปอยู่ภาคเหนือนานถึง ๑๒ ปี และหลวงปู่สิงห์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม

    </dd><dd>ในปีเดียวกันนั้นหลวงปู่มั่น ได้ไปโปรดโยมมารดาจนเกิดศรัทธาแก่กล้า ลาลูกหลานออกบวชชีจนตลอดชีวิต ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ หลังออกพรรษา หลวงปู่มั่น ได้ธุดงค์ไปหาหลวงปู่ใหญ่เสาร์ พระอาจารย์ของท่านซึ่งทราบว่าจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำภูผากูด บ้านหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ในขณะนั้น)
    </dd><dd>เพื่อหาโอกาสให้สติหลวงปู่ใหญ่ได้วางการปรารถนาพระปัจเจกโพธิ ทำให้หลวงปู่ใหญ่ได้ปฏิบัติก้าวหน้าต่อไป จนบรรลุ หมดความสงสัยในพระธรรม สำเร็จคุณธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนาดังใจปรารถนา

    <hr>


    <center> ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย </center>

    </dd><dd>ท่านกำเนิดในสกุล แก่นแก้ว บิดาชื่อ คำด้วง มารดาชิ่อ จันทร์ ปู่ของท่านชื่อ "เพี้ยแก่นท้าว" นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน

    </dd><dd>ท่านเป็นบุตรคนหัวปี ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวดำแดง แข็งแรงว่องไว สติปัญญาดีมาแต่กำเนิด ฉลาดเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ได้เรียนอักษรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอมอ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะ มีความทรงจำดีและขยันหมั่นเพียร ชอบการเล่าเรียน ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา

    </dd><dd> เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปราณีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เมื่อท่านอายุได้ ๑๗ บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน ท่านได้ลาสิกขาออกไปช่วยงานบิดามารดาเต็มความสามารถ

    </dd><dd>ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่เคยลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนหนหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก” คำสั่งของยายนี้คอยสกิดใจอยู่เสมอ

    </dd><dd>ครั้นอายุท่านได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่า มีความยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดามารดาบวช ท่านทั้งสองก็อนุมัติตามประสงค์ ท่านได้ศึกษา ในสำนักท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ วัดเลียบ เมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอุปสมบทกรรมเป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

    </dd><dd>พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌายะ มี พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาย์ และพระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระอุปัชฌายะขนานนามมคธ ให้ว่า ภูทตฺโต เสร็จอุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาสำนักศึกษาวิปัสสนาธุระ กับ พระอาจารย์เสาร์ กันตศีลเถระ ณ วัดเลียบต่อไป

    </dd><dd>เมื่อแรกอุปสมบท ท่านพำนักอยู่วัดเลียบ เมืองอุบลเป็นปกติ ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมืองอุบลบ้าง เป็นครั้งคราว ในระหว่างนั้น ได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งพระวินัย คือ อาจาระ ความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร แล้อุปัชฌายวัตร ปฏิบัติได้เรีบยร้อยดี จนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกลม นั่งสมาธิ สมาทานธุดงควัตร ต่างๆ

    </dd><dd>ในสมัยต่อมา ได้แสวงหาวิเวก บำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฎ ที่แจ้ง หุบเขาซอกห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ในกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนา กับ เจ้าพระคุณพระอุบาลี (สิริจันทเถระ จันทร์) ๓ พรรษา

    </dd><dd>แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม แล ถ้ำสิงห์โต ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้ง ในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัย ในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสาน ทำการอบรมสั่งสอน สมถวิปัสสน าแก้สหธรรมิก และอุบาสกอุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสพอใจปฏิบัติมากขึ้น โดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลาย กระจายทั่วภาคอีสาน

    </dd><dd>ในกาลต่อมา ได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับ เจ้าพระคุณอุบาลีฯ (สิริจันทรเถระ จันทร์) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับมา จังหวัดอุบลราชธานี พักจำพรรษาอยู่ที่ วัดโนนนิเวศน์ เพื่ออนุเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษา

    </dd><dd>แล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่ วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองขอบ อำเภอเมืองสกลนคร (ปัจจุบันคือ อำเภอโคกศรีสุพรรณ) ๓ พรรษา จำพรรษาที่ วัดหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอเมืองพรรณานิคม ๕ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติ ได้ติดตามศึกษาอบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่าน ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยังเกียรติคุณของท่าน ให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป



    <center>สอนชาวเขาตามหา "พุทโธ"</center>
    </dd><dd> ครั้งหนึ่งหลวงปู่มั่น ไปพักอยู่ที่ชายเขาห่างจากหมู่บ้านชาวเขาประมาณ ๒ กิโลเมตร ตอนเช้ามาบิณฑบาตในหมู่บ้าน ชาวเขาถามท่านว่า “ ตุ๊เจ้ามาทำอะไร ” ท่านบอกว่ามาบิณฑบาตข้าว เขาถามว่าเอาข้าวสุกหรือข้าวสาร ท่านบอกว่าข้าวสุก แล้วเขาก็บอกกันให้หาข้าวสุกมาใส่บาตรให้ท่าน

    </dd><dd>แม้ว่าชาวบ้านจะใส่บาตรกันบ้างแต่ก็ไม่ไว้วางใจ ท่าน โดยสงสัยว่าท่านเป็นเสือเย็นที่ปลอมตัวมาคอยหาโอกาสทำร้ายชาวบ้าน พวกเขาจึงเตือนกันให้คอยระมัดระวังและส่งคนไปแอบสังเกตดูท่านแล้วกลับมา รายงาน พวกชาวบ้านที่คอยไปสังเกตดูท่านนานเป็นเดือนก็กลับมารายงานว่า ท่านไม่น่ามีพิษภัยอันใด เวลาที่ไปเฝ้ามองสังเกตดูก็เห็นแต่ท่านนั่งหลับตานิ่ง บางทีก็เดินมาเดินไป ไม่รู้ว่าท่านเดินหาสิ่งใด ทางที่ดีพวกเราควรเข้าไปถามท่านให้ได้ความเสียจะดีกว่า

    </dd><dd> จึงได้ส่งคนไปถามท่านว่า ท่านนั่งหลับตาและเดินไปมานั้น “ ตุ๊เจ้านั่งและเดินหาอะไร ” ท่านบอกว่า “ พุทโธของเราหาย ” ชาวบ้านถามท่านต่อว่าพุทโธหน้าตาเป็นยังไง ? กันผีได้ไหม ? พวกเราช่วยหาได้ไหม ? และอื่นๆ อีกหลายคำถาม ท่านก็ตอบคำถามเขาไปและบอกกับเขาว่าถ้าจะช่วยหาพุทโธก็ให้พากันนั่งนิ่งๆ หรือ เดินไปเดินมา นึกในใจว่า พุทโธ พุทโธ อย่าส่งจิตออกไปนอกกาย ให้รู้อยู่กับคำว่าพุทโธ เท่านั้น ถ้าทำอย่างนี้ไม่แน่ว่าเขาอาจหา "พุทโธ" เจอก่อนท่านก็ได้

    </dd><dd>พอพวกชาวบ้านได้ความแล้วก็นำไปเล่าสู่กันฟัง ต่างคนต่างนึก "พุทโธ" ตามคำที่ท่านบอก ตั้งแต่หัวหน้าหมู่บ้านไปจนถึงลูกบ้านไม่เว้นแม้แต่เด็กและผู้ใหญ่ ในเวลาไม่นานนักก็มีชายผู้หนึ่งรู้ธรรมเห็นธรรมตามท่านเขาถึงได้ทราบว่าที่ แท้ก็เป็นอุบายธรรมอันฉลาดของท่านนั่นเอง เขามีความรู้ในธรรมและยังสามารถรู้จิตของผู้อื่นได้อีกด้วย

    </dd><dd>ท่านอยู่สั่งสอนชาวเขาหมู่บ้านนั้นอยู่นานถึง ๑ ปี กับอีก ๒ เดือน ท่านจึงได้อำลาจากพวกเขาไป วันที่ท่านจะจากไปพวกเขาออกมาส่งท่านกันหมดทั้งหมู่บ้านด้วยความอาลัยอาวรณ์ ไม่อยากให้ท่านจากพวกเขาไป พอท่านเดินไปได้เพียงสองสามก้าวเท่านั้น พวกเขาก็พากันวิ่งมาฉุดชายสบงจีวรของท่านไว้ไม่ยอมให้ท่านไปเสียงร้องไห้ดัง ระงมไปทั่วทั้งผืนป่า

    </dd><dd>ท่านต้องชี้แจงเหตุผลให้ฟังจนพวกเขาเข้าใจ แต่พอท่านเดินออกมาเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีก พวกเขาวิ่งมาแย่งเอาอัฐบริขารของท่านไว้จะไม่ยอมให้ท่านไป ทำให้ท่านต้องแสดงธรรมและทำความเข้าใจกับพวกเขาอยู่นาน กว่าจะจากหมู่บ้านแห่งนั้นมาได้



    <center> เดินทางกลับอีสาน</center>
    </dd><dd>หลังจากที่ท่านจาริกแสวงธรรม อยู่ทางภาคเหนือนานถึง ๑๒ ปี ท่านจึงได้เดินทางกลับมายังภาคอีสานตามคำอาราธนานิมนต์ของลูกศิษย์ลูกหา พอกลับมาถึงภาคอีสานท่านได้เข้าพักที่วัดป่าสาลวัน เมืองโคราช จากนั้นท่านได้โดยสารรถไฟต่อไปยัง จ.อุดรธานี

    </dd><dd>ที่ จ.อุดรธานีนี้ท่านได้เข้าพักที่วัดโพธิสมภรณ์ และวัดป่าโนนนิเวศน์ จนกระทั่งมีคณะศรัทธาจาก จ.สกลนคร มานิมนต์ให้ท่านไปโปรดพวกเขา ท่านจึงรับคำนิมนต์ โดยได้ไปพักอยู่ที่วัดป่าบ้านโคก (วัดป่าวิสุทธิธรรม ) อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ที่สำนักป่าบ้านโคกแห่งนี้นี่เองที่ ท่านหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้เดินทางไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์และรับข้อวัตรจากท่านมาปฏิบัติ

    </dd><dd> หน้าแล้งในพรรษาหนึ่งก็ได้มีคณะศรัทธาจากบ้านหนองผือนาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เดินทางมานิมนต์ท่านไปสั่งสอนธรรม ท่านจึงรับนิมนต์และย้ายจาก อ.โคกศรีสุพรรณ ไปยังบ้านหนองผือนาใน และที่วัดป่าบ้านหนองผือแห่งนี้นี่เองเป็นสถานที่ที่ท่านพระอาจารย์มั่น จำพรรษาอยู่นานถึง ๕ พรรษา จนถึงวาระสุดท้ายปลายแดนแห่งปฏิปทาของท่าน


    <center> รู้วาระจิต</center>
    </dd><dd> เป็นที่ทราบกันว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านสามารถทราบวาระจิตความนึกคิดของผู้อื่นได้ อย่างน่าอัศจรรย์ แม้เรื่องแสดงฤทธิ์ต่างๆท่านก็สามารถทำได้ แต่ท่านก็ไม่ได้นำไปแสดงโอ้อวดใคร ท่านมีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือปราบลูกศิษย์หัวดื้อ และผู้ที่คิดไปลองดีท่านเท่านั้น ขอยกตัวอย่างเรื่องรู้วาระจิตของท่านสักสองสามเรื่อง

    </dd><dd> เรื่องแรก เกี่ยวกับท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล แห่งวัดป่าแสนสำราญ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ท่านเป็นพระน้องชายของพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม วันหนึ่งท่านพระมหาปิ่น ปัญญาพโลเกิดความรู้สึกดูหมิ่นดูแคลนหลวงปู่มั่นว่า “ ท่านพระอาจารย์มั่น มิได้ร่ำเรียนปริยัติธรรมมามากเหมือนเรา ท่านจะมีความรู้กว้างขวางได้อย่างไร เราได้ร่ำเรียนมาถึงเปรียญธรรม ๕ ประโยค จะต้องมีความรู้กว้างขวางมากกว่าท่าน และที่ท่านสอนเราอยู่เดี๋ยวนี้ จะถูกหรือมิถูกประการใดหนอ ”

    </dd><dd> ขณะนั้นหลวงปู่มั่นอยู่ที่กุฏิของท่าน คนละมุมวัด ได้ทราบวาระจิตของท่านพระมหาปิ่น ว่ากำลังคิดดูถูกท่าน อันเป็นภัยแก่การบำเพ็ญธรรมอย่างยิ่ง ท่านจึงลงจากกุฏิ เดินไปเอาไม้เท้าเคาะฝากุฏิของท่านพระมหาปิ่น แล้วพูดเตือนสติว่า “ ท่านมหาปิ่นเธอจะมานั่งดูถูกเราด้วยเหตุอันใด การคิดเช่นนี้เป็นภัยต่อการบำเพ็ญสมณธรรมจริงหนา..ท่านมหา ”

    </dd><dd> ท่านพระมหาปิ่นตกใจเพราะคาดไม่ถึง รีบลงจากกุฏิมากราบขอขมาท่านว่า “ กระผมกำลังนึกถึงท่านอาจารย์ในด้านอกุศลจิต กระผมขอกราบเท้าโปรดอโหสิให้กระผมเถิด ตั้งแต่นี้ต่อไป กระผมจะบังคับจิตมิให้นึกถึงสิ่งที่เป็นอกุศลจิตอย่างนี้ต่อไป ”

    </dd><dd> เรื่องที่สองนี้เกิดขึ้นกับพระอาจารย์มหาอินทร์ ถิรเสวี แห่งวัดศรีจันทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ท่านเล่าว่าท่านเคยไปอยู่ศึกษาธรรมกับหลวงปู่มั่น ที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ วันหนึ่งหลวงปู่มหาอินทร์คิดในใจว่า “ นรกสวรรค์น่ะ มีจริงไหมหนอ ทำยังไงจะได้รู้จะได้เข้าใจบ้าง เราน่าจะไปกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นนะ ”

    </dd><dd> ขณะนั้น หลวงปู่มหาอินทร์ นั่งสมาธิอยู่ทางด้านตะวันออกของเจดีย์ ส่วนหลวงปู่มั่นนั่งอยู่ทางด้านตะวันตก พอคิดว่าจะไปเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นดีกว่า ก็ลุกขึ้นเดินไปได้ครึ่งเจดีย์เท่านั้น ท่านก็รู้ด้วยอำนาจจิตของท่าน ท่านพูดขึ้นดังๆว่า

    </dd><dd> “ถ้าหากมีคนละก็ ต้องมีแน่นอน เรื่องนรกเรื่องสวรรค์น่ะ ถ้าไม่มีคน นรกสวรรค์ก็ไม่มี ไม่ต้องถามถึงหรอก นรกสวรรค์น่ะเป็นเรื่องของคน ถ้าเป็นพระอริยบุคคลหมดโลก นรกก็ดี สวรรค์ก็ดี หมดไม่มีเหลือ ”

    </dd><dd> พอได้ยินเสียงท่านพูดจบรู้สึกเหมือนกับว่ามีใครเอาน้ำเย็นรดซู่จากศรีษะลงมาถึงปลายเท้า ความสงสัยเป็นอันว่าหมดไป

    </dd><dd> เหตุการณ์นี้เกิดกับท่านพระอาจารย์ดี ฉันโน แห่งวัดป่าสุนทราราม อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ หลวงปู่ดีได้เดินทางขึ้นไปจังหวัดสกลนครและนครพนม โดยให้นายมี วงศ์เสนา ผู้เป็นน้องชายติดตามและถือเงินไปด้วย ๒ ชั่ง จุดประสงค์ก็เพื่อจะไปเรียนวิชาอาคมเพิ่มเติม และหาเหล็กไหล ขณะนั้นได้เข้าไปพักที่วัดป่าบ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ทำให้ได้พบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตที่วัดนี้

    </dd><dd> พอตกเย็นหลวงปู่ดีได้เข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ท่านพระอาจารย์มั่น ได้ทักขึ้นก่อนว่า “ เดี๋ยวนี้ผมรู้ในญาณแล้วว่าท่านได้ให้น้องชายถือเงิน ๒ ชั่งมาด้วย เพื่อที่จะมาหาวิชาอาคม หาของดีเหล็กไหลใช่ไหม ” และหลวงปู่มั่นได้พูดต่อไปว่า “ ท่านอยู่ที่วัดบ้านกุดแห่นั้น ก็ได้ฆ่าหนังทำอานม้า ทำเข็มขัด กระเป๋าขายด้วย ของเหล่านี้ไม่ใช่กิจของสงฆ์ที่จะประพฤติปฏิบัติ มันเป็นบาป ขอให้ท่านมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเสียเถิด จะแนะแนวทางให้ เห็นว่ากุศลหนหลังของท่านเคยเกิดเป็นศิษย์พระมหากัสสปะเถระมาแต่ชาติปางก่อน อยู่นะ ”

    </dd><dd> หลวงปู่ดี ฉันโน เกิดอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง คิดว่าท่านพระอาจารย์มั่นคงมีหูทิพย์ตาทิพย์เป็นแน่จึงรู้ได้ ทั้งๆที่ไม่เคยพบเห็นหรือรู้จักกันกับท่านมาก่อน จึงเกิดศรัทธาตัดสินใจฝากตัวเป็นศิษย์ทันที



    <center> กายทิพย์มาขอฟังธรรม</center>
    </dd><dd>สถานที่บางแห่งจะมีพวกเทวดา หรือ พญานาคมาฟังธรรมกับหลวงปู่มั่น ส่วนมากจะมาตอนกลางคืนดึกสงัด พอมาถึงก็พากันทำประทักษิณ ๓ รอบ แล้วนั่งเป็นระเบียบเรียบร้อย จากนั้นท่านก็แสดงธรรมให้ฟัง เมื่อจบแล้วเหล่าเทพก็พากันสาธุการ ๓ ครั้ง เสียงบันลือโลกธาตุ ผู้มีหูทิพย์จะได้ยินทั่วกัน แล้วพร้อมกันทำประทักษิณ ๓ รอบ พอออกไปพ้นเขตวัดหรือที่หลวงปู่พักแล้ว เหล่าเทวดาก็พากันเหาะขึ้นสู่อากาศ เหมือนปุยนุ่นลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าฉะนั้น

    </dd><dd> มีพระกราบเรียนถามท่านว่า เวลาพญานาคมาหาท่านเขามาในร่างแห่งงูหรือร่างอะไร ท่านบอกว่าพวกนี้เอาแน่เอานอนไม่ได้ ถ้าเป็นพญานาคก็มาในร่างแห่งกษัตริย์ มีบริวารห้อมล้อม การสนทนาก็เหมือนพระสนทนากับกษัตริย์ ใช้ราชาศัพท์กันเป็นพื้น เขามีความเคารพกันมากกว่าพวกมนุษย์ ขณะนั่งฟังธรรมไม่มีใครแสดงอาการกระดุกกระดิกเลย จนเป็นที่เข้าใจหมดความสงสัยแล้วก็พากันลากลับ


    <center> อานุภาพพระพุทธมนต์ </center>
    </dd><dd>คราวหนึ่งท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พักอยู่บนดอยปะหร่อง ได้มีเทพพวกหนึ่งจากเขาจิตรกฎ มาเรียนถามท่านว่า “ เสียง สาธุ สาธุ อะไร สะเทือนสะท้านทุกวัน พวกเทพทั้งหลายได้ฟังแล้วมีความสุขไปตามๆกัน ” ท่านจึงนำมาพิจารณาก็ระลึกได้ว่า ตอนเช้าหลังจากที่ชาวเขาตักบาตรท่านแล้ว ท่านก็ให้พรพวกเขาและสอนให้เขากล่าวคำว่า “ สาธุ ” พอรับทราบแล้ว พวกเทพก็ว่าเขาก็พากันสาธุการด้วย

    </dd>
    ท่านพระอาจารย์มั่น จึงพิจารณาต่อว่า การสาธยายพระพุทธมนต์ ใครสวดก็ตาม เพียงแต่ระลึกในใจ มีอานุภาพแผ่ไปได้หมื่นจักรวาล พูดออกเสียงพอฟังได้มีอานุภาพแผ่ไปได้ถึงแสนจักรวาล สวดเต็มเสียงสุดกู่มีอานุภาพแผ่ไปได้เป็นอนันตจักรวาล แม้สัตว์ที่อาศัยอยู่ในมหานรกอเวจี ยังได้รับความสุขเมื่อแว่วเสียงพระพุทธมนต์

    ที่มา
     
  2. Mon Treal

    Mon Treal เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    182
    ค่าพลัง:
    +536
    ขออนุโมทนาค่ะ ช่วยรวบรวมสิ่งดีมีประโยชน์ มาให้อ่านที่ท่ีไม่เคยรู้เคยได้ยินมาก่อน
     
  3. Putra-Jit

    Putra-Jit สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 พฤศจิกายน 2011
    โพสต์:
    59
    ค่าพลัง:
    +7
    กราบพระอรหันต์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโตเจ้าค่ะ เชื่อในคำสอนของท่านว่าเป็นจริงทุกประการคะ
    เคยดูสารคดีประวัติพระอรหันต์ในไทยมาบ้างแล้ว แต่กระทู้นี้ลงเรื่องราวคำสอนและประวัติของท่านได้ระเอียดมากคะ

    ชอบเรื่องราว สอนชาวเขาตามหาพุทโธ ^^ ขอขอบคุณเจ้าของกระทู้ที่นำคำสอนและประวัติของท่านมาให้อ่านนะคะ ไว้จะไปหาซื้อหนังสือมาอ่านเพิ่มเติมคะ
     
  4. khundech

    khundech Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 พฤศจิกายน 2011
    โพสต์:
    50
    ค่าพลัง:
    +54
    ขออนุโมทนาครับ ทุกอย่างที่หลวงปู่พูด ได้พูดโดยชอบแล้ว ถูกต้องแล้ว
     
  5. deelek

    deelek เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    6,696
    ค่าพลัง:
    +16,255
    กราบอนุโมทนา สาธุ ๆ
    ในบุญกุศลทุกอย่างกับพระอาจารย์
    ด้วยครับ
    นิพพานัง ปัจจโย โหตุ
     
  6. คิดดีจัง

    คิดดีจัง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 มกราคม 2010
    โพสต์:
    1,626
    ค่าพลัง:
    +5,354
    (ตามประวัติได้เล่าว่า หลวงปู่มั่น ท่านได้เที่ยวปลีกวิเวกธุดงค์ไปป่าตามจังหวัดต่างๆ ผ่านอุบลราชธานี ดงพญาเย็น ภูเขาหลายลูก ในวันหนึ่งเกิดนิมิตถึง ถ้ำสิงห์โต หรือ ถ้ำไผ่ขวาง อยู่บนเขาพระงาม จ.ลพบุรี ถ้ำไผ่ขวางอยู่ข้างน้ำตก มีลักษณะเป็นป่าทึบ)

    ข้อความข้างต้นน่าจะเป็นวัดถ่ำสาริกา จังหวัดนครนายกนะครับ

    เพราะที่อ่านๆมาไม่ใช่ จ.ลพบุรีนะครับ

    อนุโมทนาด้วยครับ ที่นำเรื่องราวดีๆมาฝากกันครับ..
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...