การปฏิบัติธรรมแนวพุทโธ

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 23 ธันวาคม 2010.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]

    ถาม: การปฏิบัติของพระป่าที่ท่านใช้การบริกรรมพุทโธนั้นมีอารมณ์บัญญัติ เป็นเพียงการทำสมถะเท่านั้นใช่หรือไม่ครับ

    ตอบ: ครูบาอาจารย์ในสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่าสายพระป่า ท่านนิยมสอนให้ศิษย์บริกรรมพุทโธ เมื่อได้ยินคำว่าบริกรรมพุทโธ หลายท่านจะสรุปทันทีว่าเป็นการทำสมถะไม่มีทางที่จะทำวิปัสสนาได้เลย เพราะพระอภิธรรมสอนไว้ว่า บัญญัติอารมณ์ใช้ในการทำสมถะ ส่วนปรมัตถ์อารมณ์ใช้ในการทำวิปัสสนา ดังนั้นการบริกรรมคำว่าพุทโธซึ่งเป็นความคิด เป็นบัญญัติ หรือเป็นการทำพุทธานุสติ จึงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นการทำสมถะ

    แท้จริงคำบริกรรมพุทโธเป็นเพียงเหยื่อล่อเพื่อให้ เราเกิดสติรู้ทันจิต ครูบาอาจารย์พระป่าบางองค์ท่านเปรียบเทียบว่า คำบริกรรมพุทโธเป็นแค่เหยื่อตกปลา จิตคือปลา เราปฏิบัติไม่ใช่เพื่อเอาคำว่าพุทโธ แต่ปฏิบัติเพื่อจะรู้ทันจิต พุทโธเป็นบัญญัติก็จริง แต่จิตที่รู้พุทโธเป็นปรมัตถ์ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้

    ครูบาอาจารย์บางรูปเช่นท่านอาจารย์บุญจันทร์ จันทวโร แห่งวัดถ้ำผาผึ้ง จังหวัดเชียงใหม่ สอนถึงขนาดให้บริกรรมว่า "พุทโธใจ รู้ พุทโธรู้ใจ" คือบริกรรมแล้วให้หัดสังเกตว่า คำว่าพุทโธเป็นสิ่งที่ใจไปรู้เข้า และบริกรรมพุทโธแล้ว ก็ให้คอยชำเลืองสังเกตจิตใจตนเอง จะพบว่าระหว่างที่บริกรรมพุทโธอยู่นั้น บางขณะจิตเกิดความสุข บางขณะจิตเกิดความทุกข์ บางขณะจิตก็สงบ บางขณะจิตก็ฟุ้งซ่าน เป็นต้น เมื่ออ่านจิตใจตนเองออกแล้วก็วางคำว่าพุทโธเสีย แล้วเฝ้ารู้จิตต่อไป พ่อแม่ครูอาจารย์บางองค์เช่นหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ก็สอนศิษย์บางคนให้บริกรรมพุทโธ แล้วรู้ทันจิตผู้บริกรรมพุทโธ รู้ไปจนหมดคำพูด คือหมดการบริกรรม เหลือแต่การรู้สภาวะของจิตปรมัตถ์และเจตสิกปรมัตถ์ต่อไป

    การที่รู้ว่าบางขณะจิตมีความสุข ทุกข์ สงบ ฟุ้งซ่าน หรือมีกุศลและอกุศลต่างๆ นั้น จะทำให้ผู้ปฏิบัติสังเกตได้ชัดเจนว่า ความสุขก็ถูกรู้ ความทุกข์ก็ถูกรู้ กุศลก็ถูกรู้ อกุศลก็ถูกรู้ สิ่งเหล่านี้ปรากฏเกิดร่วมกับจิตเป็นคราวๆ เท่านั้น ส่วนจิตเป็นเพียงธรรมชาติที่รู้อารมณ์ นี้คือการหัดทำความเข้าใจนามเจตสิกอันได้แก่เวทนาและสังขาร กับนามจิตนั่นเอง นอกจากนี้ยังเห็นอีกว่า ทั้งจิตผู้รู้อารมณ์กับเจตสิกที่ถูกจิตรู้นั้น ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นเพียงนามธรรมที่เมื่อมีเหตุก็เกิดขึ้นเป็นคราวๆ แล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง นี้ก็คือการก้าวจากขั้นการรู้จักแยกสภาวะของขันธ์ ไปสู่ขั้นการทำวิปัสสนานั่นเอง

    การบริกรรมพุทโธยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีก คือครูอาจารย์พระป่าบางองค์ท่านสอนให้ศิษย์บริกรรมพุทโธซึ่งเป็นความคิด เพื่อเป็นอุบายตัดกระแสความคิดของจิตที่จะส่งส่ายออกไปคิดเรื่องอื่นที่ไม่ ควรคิด ทำให้จิตรวมสงบเข้ามาที่จิต แล้วมีสติสัมปชัญญะตามรู้จิตปรมัตถ์ต่อไป จนสามารถถอดถอนความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรา และถอดถอนความยึดถือจิตได้ในที่สุดด้วย


    [​IMG]

    นอกจากนี้ครูบาอาจารย์พระป่าท่านยังหัดให้ศิษย์พิจารณากาย ซึ่งการคิดพิจารณากายว่าเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เป็นธาตุ เป็นขันธ์ ก็เป็นการทำสมถะอีกอย่างหนึ่ง ท่านทราบ ไม่ใช่ไม่ทราบ ดังเช่นหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ก็เคยสอนเรื่อง นี้ไว้ตรงๆ ว่า "การคิดพิจารณากายว่า เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เป็นสิ่งที่ต้องตาย เป็นธาตุขันธ์ เหล่านี้เป็นไปเพื่อการแก้อาการของจิต (เป็นสมถะ)"

    หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ก็สอนอยู่เสมอๆ ว่า "สมถะเริ่มเมื่อหมดความตั้งใจ วิปัสสนาเริ่มเมื่อหมดความคิด (คือให้รู้หรือรู้สึกเอา)" แต่ครูบาอาจารย์ท่านก็ให้ทำ เพราะศิษย์ส่วนมากของท่านเป็นพระหนุ่มเณรน้อย การพิจารณากายเช่นพิจารณาผมขนเล็บฟันหนังเป็นเครื่องข่มราคะ ทำให้อยู่รอดในสมณเพศได้ง่ายขึ้น และถ้าเรื่องนี้ไม่จำเป็นจริงๆ พระพุทธเจ้าคงไม่ทรงบัญญัติให้พระอุปัชฌาย์ต้องสอนผู้บวชให้รู้จักตจปัญจก กรรมฐาน คือสอนให้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าพระอุปัชฌาย์ไม่สอน ท่านถึงกับปรับอาบัติพระอุปัชฌาย์ทีเดียว เพราะถือว่าเป็นการทำลายอุปนิสัยพระอรหันต์ของศิษย์


    เมื่อคิดพิจารณากายอยู่นั้น บางท่านจำแนกได้ว่า กายนี้เป็นเพียงสมมุติบัญญัติ แท้จริงคือรูปเย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหว หรือเมื่อยามเดินบิณฑบาต เดินจงกรม นั่งสมาธิ นั่งฉันอาหาร กวาดวัด ซักจีวร ทำข้อวัตรเช่นนวดครูบาอาจารย์ ฯลฯ

    ท่านก็มีสติรู้รูปยืนเดินนั่งนอนคู้เหยียด เพราะพระป่าท่านเน้นการเจริญสติในทุกอิริยาบถ และไม่ใช่เพียงเห็นรูปปรมัตถ์ ท่านยังเห็นอีกว่า จิตเป็นธรรมชาติที่รู้รูป เป็นอีกสิ่งหนึ่งต่างหากจากรูป ท่านจึงเห็นรูปไหวและเห็นนามรู้ได้ชัดเจน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ขัดแย้งกับภาคปริยัติเลย เพียงแต่ส่วนมากนักปฏิบัติไม่ได้ศึกษาปริยัติ จึงไม่สามารถพูดสื่อความเข้าใจกับนักปริยัติได้เท่านั้นเอง

    บางท่านคิดพิจารณากายสลับกับการเพ่งนิ่งอยู่กับกาย ในลักษณะของการเพ่งกสิณ คือเอารูปกายที่ยืนเดินนั่งนอนนั้นแหละเป็นบริกรรมนิมิตบ้าง หรือพิจารณากายสลับกับการกำหนดลมหายใจบ้าง แล้วจิตรวมลงเกิดอุคคหนิมิต (จำภาพกายได้ด้วยใจชัดเจนเหมือนตาเห็น เป็นบัญญัติอารมณ์) แล้วเกิดปฏิภาคนิมิตของกาย (เป็นบัญญัติอารมณ์) แล้วเกิดปีติ สุข เอกัคคตา หลังจากนั้นจิตจึงเอาองค์ฌานซึ่งเป็นปรมัตถ์อารมณ์มาใช้เจริญวิปัสสนา ท่านที่เดินในแนวอย่างนี้ก็มีมาก แต่ไม่ว่าท่านจะพิจารณากายอย่างไร พอเลิกพิจารณาแล้ว ท่านจะเน้นเรื่องการเจริญสติในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่



    บางท่านทำความสงบจนจิตแนบแน่นอยู่กับความสงบในจุด เดียว ไม่คิดไม่นึกปรุงแต่งอะไร เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิท่านก็น้อมจิตออกพิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เป็นธาตุ แล้วทำความสงบกลับเข้าไปอีก เมื่อจิตรวมลงก็เกิดนิมิตเห็นกายสลายตัวไปเพราะเคยพิจารณานำร่องให้จิตเห็น อย่างนั้นไว้ก่อนแล้ว ถึงจุดนี้อาศัยที่ท่านเคยรวมจิตเข้าจนถึงฐานด้วยการทำสมาธิมาจนชำนาญ

    เมื่อไร้กายแทนที่จิตจะเพ่นพ่านปรุงแต่งไปที่อื่น จิตกลับรวมลงมารู้อยู่ที่จิต แล้วเห็นอารมณ์ปรมัตถ์ภายในจิตเกิดดับ เช่นเห็นความไหวยิบยับเกิดดับไปโดยไม่มีสมมุติบัญญัติว่าสิ่งนั้นคืออะไร เป็นการเจริญวิปัสสนาได้ในอีกลักษณะหนึ่งจนเกิดตัดกระแสโลกเข้าถึงธรรมได้ วิธีการเช่นนี้น่าจะสอดคล้องกับเรื่องที่ตำราเรียนพระอภิธรรมในเรื่องภูมิ จตุกะและปฏิสนธิจตุกะอธิบายไว้ ว่าพระอริยบุคคลผู้ไปกำเนิดในอรูปภูมิ แม้กระทั่งในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ สามารถไปปฏิบัติธรรมต่อได้จนถึงนิพพานในอรูปภูมินั้นๆ

    และตรงจุดนี้เองที่ทำให้อาตมานึกถึงคำสอนในอรรถกถามหาสติ ปัฏฐานสูตรที่ท่านสอนว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะกับผู้เป็นสมถยานิก เพราะหากพระป่าคิดพิจารณากายโดยไม่มีกำลังของสมาธิเป็นเครื่องสนับสนุน เมื่อจิตพิจารณาจนหมดกายแล้ว จิตก็ย่อมฟุ้งซ่านไปหาอารมณ์ภายนอกเช่นไปหาอารมณ์ที่เป็นอรูป แทนที่จะย้อนเข้ามารู้จิตใจตนเองเพื่อเห็นความเกิดดับของจิตและเจตสิกจนตัด เข้าถึงกระแสธรรมได้ ดังนั้นพระป่าจึงทิ้งสมาธิไม่ได้ เว้นแต่จะหันมาเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นทางดำเนินของผู้เป็น



    วิปัสสนายานิก
    ถ้าศึกษาสังเกตคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์วัดป่าให้ดีจะพบว่า หลายองค์ทีเดียวที่คำสอนในยุคต้นของท่านจะเน้นที่การบริกรรมพุทโธและพิจารณา กาย แต่เมื่อท่านล่วงกาลผ่านวัยมีประสบการณ์มากขึ้น ท่านกลับเน้นเรื่องการเจริญสติรู้อยู่ที่จิตใจของตนเองมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ หลวงปู่ทา จารุธัมโม หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ และหลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นต้น ส่วนหลวงปู่ดูลย์ อตุโลนั้น ท่านสอนเน้นเรื่องจิตมานานแล้ว

    สรุป แล้วพระป่าท่านเริ่มการปฏิบัติจากการบริกรรมพุทโธซึ่งเป็นบัญญัติอารมณ์ แล้วก้าวเข้ามารู้นามจิต นามเจตสิก และรูป ซึ่งเป็นปรมัตถ์อารมณ์ การบริกรรมพุทโธจึงเป็นเพียงอุบายอย่างหนึ่งเพื่อการจำแนกและทำความรู้จัก รูปนามนั่นเอง อย่างไรก็ตามเมื่อเจริญสติสัมปชัญญะมากเข้า บางคราวเกิดอาการเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ท่านก็บริกรรมพุทโธเป็นที่พักซึ่งก็คือการทำสมถะ และบางทีท่านก็ใช้การบริกรรมพุทโธให้จิตรวมลงในจุดเดียว เพื่อรู้จิตให้ชัดเจนจนเห็นว่าจิตไม่ใช่ตนแล้วปล่อยวางจิต อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน

    คัดลอกมาจาก : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=cycle-of-life&month=10-2007&date=26&group=5&gblog=9
    โดย ศาลาลอยน้ำ
     
  2. canopus

    canopus เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กันยายน 2009
    โพสต์:
    86
    ค่าพลัง:
    +531
    อนุโมทนาครับ
    ถ้าจำไม่ผิด นี่น่าจะเป็นคำสอนของหลวงพ่อปราโมทย์หรือเปล่าครับ
     
  3. kamomros

    kamomros เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 มีนาคม 2010
    โพสต์:
    36
    ค่าพลัง:
    +153
    กราบนมัสการครูบาอาจารย์ และอนุโมทนา สาธุ ในแนวทางปฏิบัติที่ดีงาม
     

แชร์หน้านี้

Loading...