การทำสมาธิสองวิธี : พระอาจารย์ทูล ขิปปปัญโญ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 11 พฤศจิกายน 2013.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    ทำสมาธิวิธีที่ ๑

    วิธีทำสมาธินั้น ต้องกำหนดจิตเพ่งดูร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อให้เป็นนิมิตเครื่องหมายของจิต การกำหนดเพ่งดูร่างกายนี้ ก็ต้องใช้สัญญา และสมมติ เป็นแนวทางของสติไปก่อน ร่างกายส่วนไหน จุดใด ตั้งอยู่ที่ไหน มีสัณฐานลักษณะเป็นอย่างไร ก็ต้องกำหนดจิตเพ่งดูในร่างกายส่วนนั้น ๆ ให้เห็นชัดด้วยจิต ให้รู้เห็นจริงตามสภาพของร่างกาย หรือจะใช้คำบริกรรมประกอบอีกก็ได้ สมมติว่า ขณะนี้ เรากำหนดจิตเพ่งดูหนัง ก็ให้นึกคำบริกรรมว่า ตะโจ ๆ ๆ ๆ พร้อมกับการกำหนดจิตเพ่งดูในหนังส่วนนั้นอย่าให้เผลอ ทั้งคำบริกรรม ทั้งกำหนดจิตเพ่งดูหนัง ก็ให้เป็นไปพร้อม ๆ กัน หรือจะใช้คำบริกรรมว่า พุทโธ ๆ ๆ ๆ พร้อมกับกำหนดจิตเพ่งดูหนังก็ได้ ข้อสำคัญ คือให้จิตไปจดจ่ออยู่ที่ผิวหนัง ถ้าฝึกสติกำหนดเพ่งดูหนังมีความชำนาญแล้ว เมื่อออกจากสมาธิแล้ว ต่อไปก็จะได้เอาหนังส่วนที่เราเพ่งดูนั้น มาเป็นที่รองรับของปัญญาต่อไป ปัญญาก็จะได้พิจารณาแยกแยะหนังส่วนนั้น ให้เป็นไปใน อสุภะ ความสกปรกโสโครกเน่าเปื่อยลงเป็นธาตุ หรือพิจารณาให้ลงสู่ไตรลักษณ์ คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา การพิจารณาหนังที่ห่อหุ้มร่างกาย ก็เพื่อให้จิตได้รู้หนังตามความเป็นจริง หรือจะกำหนดเอามีดปาดเฉือนออกไปเป็นชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ ก็ให้เห็นโดยสมมติไปก่อน เมื่อพิจารณาหลายครั้งหลายหน ความชำนาญของจิตที่ฝึกเพ่งบ่อย ๆ นั้น ก็จะรู้เห็นตามความเป็นจริง หรือจะพิจารณาเนื้อ เอ็น กระดูก ก็ให้กำหนดจิตเพ่งดูตามปัญญาต่อไป ปัญญาพิจารณาไปในลักษณะใด ก็ให้จิตรู้เห็นไปตามปัญญาในลักษณะนั้นตามความเป็นจริง เมื่อจิตรู้จริงเห็นจริงตามปัญญาแล้ว จิตก็จะเกิดความเบื่อหน่ายคลายจากความกำหนัดยินดี การพิจารณาด้วยปัญญานี้ ก็ได้อธิบายมาแล้วในเบื้องต้น ขอจงได้ถือเอาเป็นแบบอย่างในการพิจารณาด้วยปัญญาต่อไป

    ทำสมาธิวิธีที่ ๒

    อุบายการทำสมาธิวิธีนี้ละเอียดอ่อน ถ้าชำนาญในการกำหนดเพ่งดูร่างกายแล้ว การกำหนดจิตเพ่งดูในอารมณ์ของจิต ก็จะมีความสะดวกขึ้น เพราะการเพ่งดูอารมณ์ของจิตนี้ ไม่ได้เอาร่างกายเป็นนิมิตเครื่องหมาย เพียงมีสติ กำหนดรู้ในอารมณ์ของจิตเท่านั้น อารมณ์ของจิตเป็นอย่างไร ก็ให้มีสติกำหนดรู้อยู่กับอารมณ์ภายในจิตนั้น ๆ อย่าให้เผลอ อารมณ์ของจิตที่เป็นทุกข์ ก็ให้กำหนดจิตรู้ในอารมณ์ที่เป็นทุกข์ อารมณ์ของจิตที่เป็นสุข ก็ให้กำหนดจิตรู้ในอารมณ์ที่เป็นสุข อารมณ์ของจิตมีราคะ ก็ให้กำหนดจิตเพ่งดูอยู่ที่อารมณ์ของราคะ จิตมีอารมณ์ของโลภะ จิตมีอารมณ์ของโทสะ จิตมีอารมณ์ของโมหะ จิตมีอารมณ์แห่งความรัก จิตมีอารมณ์แห่งความชัง ก็มีสติกำหนดจิตเพ่งลงไปในอารมณ์นั้น ๆ อย่าให้เผลอ อย่าส่งจิตออกไปคิดค้นในต้นเหตุของอารมณ์เป็นเด็ดขาด ถ้าส่งจิตออกไปหาต้นเหตุของอารมณ์แล้ว อารมณ์ภายในจิตก็จะเพิ่มความรุนแรงขึ้น อารมณ์ของจิตนี้ ยังไม่ใช่เป็นกิเลสตัณหา แต่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากกิเลสตัณหานั่นเอง ถ้ารู้อารมณ์ภายในจิต ก็เหมือนรู้กิเลสตัณหาภายในจิต เพราะกิเลส ตัณหา อวิชชา ห้อมล้อมจิตไว้อย่างแน่นหนา จึงพาให้จิตเป็นไปในความรักความชัง และมีความพอใจยินดีในกามคุณทั้งหลาย อารมณ์ภายในจิต ก็เป็นพิษที่มาจากกิเลสตัณหา

    ฉะนั้น การกำหนดเพ่งดูอารมณ์ภายในจิต ก็เพื่อหาจุดเด่นชัดที่เป็นศูนย์รวมของกิเลสตัณหา เพื่อว่าจะใช้ปัญญาลบล้างได้ถูกจุด กิเลสตัณหาตั้งฐานทัพอยู่ทีไหน สติปัญญาก็จู่โจมที่นั้น และทำลายข้าศึกคือกิเลสตัณหาให้ถูกจุดเป้าหมาย จิตมีความรักใคร่ มีความพอใจในของสิ่งใด ก็เอาสิ่งที่จิตเคยรักใคร่ยินดีนั่นแหละมาสอนจิต ยกเอาโทษยกเอาภัยในสิ่งนั้น ๆ มาสอนจิต ยกเอาโทษยกเอาภัยในสิ่งนั้น ๆ มาสอนจิต เพื่อให้จิตได้รู้เห็น และมีความฉลาด เฉียบแหลม และจิตก็จะรู้โทษภัยในการยึดถือ จะรู้โทษภัยในความรักความใคร่ จิตก็จะรู้โทษภัยในราคะตัณหา รู้โทษภัยในความโลภ ความโกรธ ความหลง และรู้โทษภัยในการเกิดการตาย เมื่อจิตรู้เห็นอย่างนี้ ก็จะเกิดความกลัว เมื่อจิตมีปัญญาช่วยตัวเองได้อย่างนี้ ก็จะมีหนทางที่จะถอนรากถอนโคนของกิเลส ตัณหา อวิชชา ได้ง่ายขึ้น ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ว่าเป็นตนเป็นตัว จิตก็จะถอนออกจากความยึดถือทันที เหมือนกับคนที่เล่นน้ำในห้วยบึงต่าง ๆ ด้วยความสนุกสนานร่าเริง เมื่อมองเห็นจระเข้ในน้ำนั้นแล้ว การเล่นก็หมดจากความสนุกสนานร่าเริงทันที และจะหาหนทางขึ้นฝั่งโดยเร็วเพื่อให้พ้นไปจากภัยฉันใด เมื่อจิตได้รู้เห็นโทษภัยตามปัญญาว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นโทษภัย จิตก็จะหาหนทางที่จะไม่เกิดไม่ตายอีกต่อไปฉันนั้น หนทางที่จะไม่เกิดไม่ตายนี้ ปัญญาก็ต้องเปิดเส้นทาง คือ สัมมาทิฏฐิ คอยรับอยู่แล้ว การพิจารณาในขันธ์ห้า ก็จะรู้ว่าไม่ใช่ตน ตนก็จะไม่มีในขันธ์ห้านี้ ขันธ์ทั้งห้า ก็ตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือทุกขัง อนิจจัง อนัตตา และรู้ว่า ขันธ์ห้านี้เป็นภาระอย่างหนัก และรู้ว่าการยึดถือขันธ์ห้าเป็นทุกข์ เมื่อจิตรู้เห็นชัดตามปัญญาอยู่อย่างนี้ ก็จิตนั่นแล จะปล่อยวางขันธ์ทั้งห้าเสียเอง เมื่อจิตปล่อยวางขันธ์ห้าได้แล้ว สิ่งอื่นใดในโลกนี้ จิตก็ปล่อยวางได้ทั้งหมด เมื่อจิตปล่อยวางแล้ว ความสุขความทุกข์จะมีมาจากที่ไหน เพราะไม่มีสิ่งใดเป็นเราและเป็นของของเรา จะเอาอะไรมาเป็นความสุขความทุกข์ในโลกนี้ ถ้าจิตได้รู้เห็นความจริงตามปัญญาอยู่อย่างนี้ ก็จะตัดกระแสของ “วัฏฏะ” ให้ขาดไปอย่างง่ายดาย การอธิบายในวิธีกำหนดจิต เพ่งดูในร่างกายและอารมณ์ของจิต คิดว่า นักปฏิบัติพอจะเข้าใจและนำไปเป็นแบบอย่าง เพื่อเป็นแนวทางภาวนาต่อไป และให้มีความตั้งใจปฏิบัติกันอย่างจริงจัง ผู้จะรู้จริงเห็นจริงในธรรม ก็ต้องเป็นนักปฏิบัติที่จริง เพราะสัจธรรมเป็นของจิรงอยู่แล้ว ยังขาดแต่ผู้ตั้งใจจริงเท่านั้น!

    บทสรุป

    ดังได้ชี้แนะแนวทางปฏิบัติมา คิดว่านักปฏิบัติพอจะเข้าใจ และจะมีผลแก่นักปฏิบัติไม่มากก็น้อย และพอจะเข้าใจในการสร้างพื้นฐานให้ปัญญาเกิดขึ้น เพราะ การสร้างพื้นฐานของปัญญานั้น คือ การสร้างความคิดกลั่นกรองใคร่ครวญในสัจธรรม พิจารณาให้มีเหตุมีผลไปตามหลักความจริง เพราะทุกสิ่งในโลกนี้เพียงเป็นสมมติเท่านั้น มีความยินดีพอใจรักใคร่ในสิ่งใด จงทำความเข้าใจว่า ทั้งหมดนั้นตกอยู่ในสมมติทั้งนั้น จงใช้ความพยายามพินิจแยกแยะพลิกแพลงดูให้ละเอียด จะพิจารณาในเรื่องไหน ก็ให้จิตจดจ่อรู้เห็นไปตามปัญญาทุกครั้ง และให้ลงสู่ไตรลักษณ์ทุกเรื่องไป และพยายามยกระดับจิตให้สูง อย่าให้จิตตกเป็นทาสแห่งความรักความใคร่ อันจะทำให้จิตตกไปในกามคุณที่เป็นอารมณ์ฝ่ายต่ำ เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเหนื่อยแล้ว ก็กำหนดคำบริกรรมในสมาธิต่อไป ออกจากการทำสมาธิแล้ว ก็เริ่มพิจารณาต่อไป และให้พิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ทุกครั้ง

    การพิจารณาด้วยปัญญาอยู่บ่อย ๆ จิตก็จะค่อย ๆ มีความฉลาดรู้เห็นในสัจธรรม ให้พิจารณาซ้ำ ๆ ซาก ๆ หลายครั้งหลายหน จนจิตมีความรู้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อจิตรู้เห็นจริงตามปัญญาแล้ว จึงเรียกว่า ปัญญาญาณ ทั้งรู้ทั้งเห็นไปพร้อม ๆ กัน การพิจารณาอยู่บ่อย ๆ จิตก็จะค่อยรู้โทษรู้ภัยในสรรพสังขารทั้งหลาย จิตก็จะเริ่มถอนตัวตีห่างออกจากการยึดถือ เพราะจิตรู้ว่า ทุกสิ่งในโลกนี้เป็นเพียงสมมติเท่านั้น ไม่มีใครเป็นเจ้าของโดยแท้จริง และไม่มีใครได้อะไรเลยในโลกนี้ เพราะเป็นธรรมชาติที่เกิดดับไปตามเหตุปัจจัยของสังขารเท่านั้น และเป็น สภาพ ที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งสิ้น จิตก็จะรู้เห็นว่า ไม่มีอะไรเป็นตน และเป็นของของตนโดยแท้จริง เพราะทุกสิ่งเป็นของอาศัยประจำวันเท่านั้น ไม่มีสิ่งใดเป็นของเราอย่างแท้จริง เมื่อจิตรู้เห็นในสรรพสังขารทั้งภายในและภายนอก ใกล้ไกล หยาบละเอียดอยู่อย่างนี้ ก็เนื่องมาจากปัญญาสอนจิตให้มีความฉลาดรู้รอบนั้นเอง นี้เป็นวิถีทางที่จะให้เกิด วิปัสสนาญาณ เป็นญาณรู้เห็นช่องทางที่จะหนีไปให้ไกลจากข้าศึกโดยไม่มีปัญหา เหมือนคนตาดี มีโคมไฟที่สว่างอยู่ในตัว ย่อมมองเห็นทางที่จะไป เพื่อให้ถึงที่สุดฉันนี้

    ขอทำความเข้าใจอีกครั้งว่า การมีสติ รู้จิต และรู้ความเคลื่อนไหวของจิต จิตคิดอะไรก็รู้ จิตมีความกระเพื่อมตามอารมณ์อย่างไร ก็รู้ทัน การมีสติรู้จิต และรู้อารมณ์ภายในจิตอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่การปล่อยวางและละกิเลสตัณหาแต่อย่างใด นี้เป็นเพียงมีสติรู้เท่าจิต และรู้อารมณ์ของจิตเท่านั้น หรือเพียงมีสติประคองจิตให้ทรงตัวอยู่ได้ประจำวัน เป็นในลักษณะนี้ จึงอยู่ในขั้น สมถะ ยังไม่เป็นวิปัสสนาญาณ ดังความเข้าใจแต่อย่างใด

    นักปฏิบัติอย่าพึงติดความสงบ และติดความสุขอยู่เพียงในขั้นสมาธิเท่านั้น และอย่าหลงในความสว่างที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิ และอย่าเข้าใจว่า ความสว่างนั้นเป็นวิปัสสนาญาณเลย นั้นเป็นโอภาส เป็นอำนาจของจิตที่แสดงออกเท่านั้น หรือ มีอภิญญารู้ไปในลักษณะใดก็อย่าติดใจเมาเล่นจนลืมตัว หรือมีฌาน มีสมาบัติ ก็อย่าพึงเข้าใจว่าตัวเองหมดกิเลสตัณหา อวิชชา เพราะนั้นเป็นเพียงมีฌาน มีสมาบัติ กลบกิเลส ตัณหา อวิชชาไว้เท่านั้น และเป็นเพียงความสงบในขั้นสมาธิ ยังไม่ใช่ความสงบที่แท้จริง ความสงบที่แท้จริงนั้น คือมีปัญญาญาณ มี วิปัสสนาญาณ เป็นเครื่องชำระให้กิเลสตัณหา อวิชชา ให้หมดไป สิ้นไปได้ นั้นแลจึงเรียกว่าความสงบที่แท้จริง ไม่มีกิเลสตัณหา มาก่อกวน ให้จิตกระเพื่อมอีกต่อไป และเป็นความสงบ ที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ จึงเรียกว่า สงบแล้วจากข้าศึกทั้งหลายอย่างสิ้นเชิง เป็นความสงบที่ไพบูลย์ เป็นความสงบที่เป็นปกติแล้ว จึงขอให้นักปฏิบัติมีความเข้าใจ ในความสงบทั้งสอง ดังที่ได้อธิบายมาดังนี้

    จากหนังสือ ตัดกระแส
    พระอาจารย์ทูล ขิปปปัญโญ

    อ่านต้นฉบับได้ที่นี่
    หนังสือและเสียงธรรม..วัดป่าบ้านค้อ..แหล่งรวมธรรมคำสอนหลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ

    ที่มาแสดงกระทู้ - การทำสมาธิสองวิธี : พระอาจารย์ทูล ขิปปปัญโญ • ลานธรรมจักร
     

แชร์หน้านี้

Loading...