การดูแลด้านจิตวิญญานแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย คลินิกจิตเวช ธรรมศาสตร์

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย dogsman, 19 กุมภาพันธ์ 2010.

  1. dogsman

    dogsman เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    898
    ค่าพลัง:
    +3,094
    การดูแลด้านจิตวิญญานแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย
    ตามแนวพระพุทธศาสนา สำหรับญาติ
    อ.พญ. ลำพู โกศัลวิทย์


    [​IMG] มนุษย์ทุกคนต่างสงสัยกันมานาน คือ ตายแล้วไปไหน
    พราะความไม่รู้ มนุษย์จึงกลัวตายและไม่รู้ว่าจะไปหาคำตอบจากที่ใด
    บ้างก็ได้ยินได้ฟังมาจากปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ว่าอย่างนี้อย่างนั้น
    ได้เรียนรู้มาจากศาสนาที่ตนนับถือบ้าง พอได้ยินได้ฟังมากๆ หลายๆ กระแส
    ก็นึกคิดเอาเองบ้างตามแต่ที่ตนจะเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ บ้างก็ว่าตายแล้วสูญ
    บ้างก็ว่าตายแล้วก็เกิดใหม่ ไปสวรรค์ ไปนรก ไปพบพระเจ้า ไปแดนสุขาวดี
    บ้างก็ว่าตายแล้วก็เป็นปุ๋ยคืนสู่โลก

    อันที่จริงความตายอาจไม่น่ากลัว เท่ากับ การกลัวตาย หรือ
    กลัวคนอันเป็นที่รักของเราต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ

    ส่วนหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา
    ก็คือ ความสงสัยในเรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้เช่นกัน และแน่นอน
    สิ่งที่พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีมานับชาติไม่ถ้วน เพื่อตอบคำถามเหล่านี้
    ห้แก่สรรพสัตว์ผู้ไม่รู้ทั้งหลาย ซึ่งเป็นทั้งผู้ที่รู้ว่าตัวไม่รู้ และ
    ผู้ที่ไม่รู้ว่าตัวไม่รู้ หรือพูดให้ง่าย ก็คือ ผู้ที่คิดว่าตัวรู้ แต่แท้จริง
    ไม่รู้ว่าตัวยังไม่รู้ พระองค์ได้ให้คำตอบเอาไว้มากมายในพระไตรปิฎก
    เกี่ยวกับเรื่อง ตายแล้วไปไหน และมนุษย์ควรมีวิธีเตรียมตัวอย่างไร
    เมื่อหลุดพ้นจากความตายในโลกนี้

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า

    “ จิตเต อสงฺกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา เมื่อจิตผ่องใสไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นที่ไป ”
    พุทธพจน์บทนี้จัดเป็น หัวใจหลักของการเตรียมตัวตายให้เป็น

    ก่อนอื่นต้องกล่าวก่อนว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
    เป็นเรื่องที่เป็นสัจธรรม ที่สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังไม่บรรลุอรหันต์
    ไม่มีทางหนีพ้น อันที่จริง ความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
    เป็นความจริงของชีวิตที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และ
    มิได้เป็นจุดจบ หรือจุดสิ้นสุด อย่างที่เราๆ เข้าในกัน

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้คือ “เมื่อเราตายจากการเป็นมนุษย์แล้ว
    เราไม่ได้สูญไปไหน” หรือ พูดให้สั้นเข้าก็คือ “ตายแล้วไม่สูญ”

    หากเรายังไม่หมดกิเลส เรายังต้องว่ายเวียนตายเกิดต่อไป
    การตายจากการเป็นมนุษย์ จะเป็นจุดเชื่อมต่อให้เราไปเกิดเป็นอย่างอื่นๆ
    ตามกำลังบุญและบาป ที่เราได้กระทำไว้ในขณะที่เป็นมนุษย์ในชาติปัจจุบัน



    [​IMG]ตายแล้วไปไหน
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเรื่องนี้ไว้ ๓ ประเด็นใหญ่ว่า เมื่อตายแล้ว
    ๑. บางพวกตกนรก หรือ ไปนรก
    ๒. บางพวกไป สวรรค์ (เทวโลก หรือ พรหมโลก)
    ๓. บางพวกหมดกิเลสแล้ว ไปนิพพาน
    ในธรรมบทกล่าวว่า พวกที่ไปนรกกับพวกที่ไปสวรรค์ ๒ พวกนี้
    ยังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร ต้องเกิดอีกนับชาติไม่ถ้วนจนกว่าจะเข้าสู่นิพพาน
    จึงไม่ต้องย้อนกลับมาเกิดอีก เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย

    บางพวกกระทำแต่ อกุศลกรรมเอาไว้มาก ตายแล้วไปนรก
    ตกนรกอยู่นานนับล้านๆปีมนุษย์ พอหมดเวรก็กลับมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
    อีกหลายชาตินัก กว่าจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครา

    บางพวกที่ได้ไปสวรรค์ เป็นพวกที่ยังมีบาปอยู่เหมือนกัน
    แต่ว่าบุญเยอะกว่า หรือ จิตก่อนละโลกนึกถึงบุญที่ตัวทำน้อยนิดได้
    จนกระทั่งบาปหนักที่ตนได้ทำมาตลอดชีวิต ไม่ได้ช่องส่งผลในคตินิมิต
    เมื่อละโลกแล้วจึงได้ไปสวรรค์


    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงการมาเกิด-
    ไปเกิดของคนเราว่ามี ๔ แบบ คือ
    ๑. มามืดไปมืด : คือ ก่อนมาเกิดเป็นมนุษย์มาจากนรก จากสัตว์เดรัจฉาน
    พอเกิดเป็นคนแล้วยังก่ออกุศลกรรมเป็นอาจิณอีก เมื่อตายจากชาติที่เป็นมนุษย์
    ก็กลับไปเกิดในนรก เสวยวิบากกรรมอันเป็นผลที่ตนได้กระทำไว้อีก

    ๒. มามืดไปสว่าง : คือ พวกที่พ้นนรกขึ้นมา แล้วได้เกิดเป็นมนุษย์
    ได้ตั้งใจทำความดี พอละโลกก็ได้ไปเกิดในสวรรค์

    ๓. มาสว่างไปมืด : คือพวกที่มาจากสวรรค์ เพราะชาติก่อนๆ
    ได้ทำกรรมดีไว้มากกว่ากรรมชั่ว แต่พอชาตินี้มาเกิดเป็นมนุษย์
    ได้ใช้ชีวิตอย่างประมาท ก่ออกุศลกรรมไว้มาก เมื่อละโลก ก็ต้องไปเกิดในนรก

    ๔. มาสว่างไปสว่าง : คือ พวกที่มาจากสวรรค์ ครั้นมาเกิดเป็นมนุษย์อีก
    ก็กระทำแต่กุศลกรรมเป็นส่วนมาก เมื่อตายไป ก็ได้กลับไปเกิดในเทวโลก
    คือโลกแห่งเทวดา หรือ สวรรค์นั่นเอง

    ฉะนั้น เราจึงควรประกอบกุศลกรรมเพื่อเป็นเสบียงบุญติดตัวไปในภพเบื้องหน้า
    เพราะแม้ว่าเราเคยได้ยินได้ฟังมาว่า เมื่อเรามาเกิด เราไม่ได้เอาอะไรมา
    เมื่อเราตายเราก็เอาอะไรไปไม่ได้ อันที่จริงมีอยู่ 2 สิ่งที่ตอนเราเกิด และ
    ตอนเราตาย เราต้องเอาไปด้วย แม้ว่าเราไม่อยากเอาไป เราก็ไม่อาจขัดขืนได้
    ของ 2 สิ่งดังกล่าว ที่ติดตามตัวเราไปทุกหนทุกแห่ง นั้นก็คือ บุญ และ บาป
    เมื่อเรามาเกิด เราก็นำเอา บุญเก่า และ วิบากกรรมเก่า
    ที่ได้เคยกระทำไว้นับภพนับชาติไม่ถ้วนมาด้วเมื่อตายลง
    เราก็ต้องนำเอา บุญ-บาปเก่า และ บุญ-บาปใหม่ในชาตินี้
    ไปด้วยเช่นเดียวกันเมื่ออ่านมาถึงตอนนี้ก็ขออย่าเพิ่งท้อแท้ใจ
    หากแม้ว่าตลอดชีวิตไม่ค่อยได้ทำบุญทำทาน
    ก็ควรรีบทำเสียตั้งแต่วันที่ยังพอมีลมหายใจ หรือ
    แม้ว่าต้องนอนอยู่บนเตียงผู้ป่วย ก็ยังไม่ควรละความพยายามที่จะสร้างบุญกุศล
    เพื่อเป็นที่พึ่งที่ระลึกให้เราได้เกาะเกี่ยวไปสู่สุคติ


    [​IMG]ทำอย่างไรจึงได้ตายดี
    เป็นที่แน่นอนว่า เราทุกคนหากให้เลือกว่าเมื่อตายแล้วอยากไปไหน
    คนส่วนใหญ่คงตอบว่า อยากไปสู่สุคติ
    แต่มีคำถามว่า ปุถุชนอย่างเราๆท่านๆ บ้างก็ทำชั่ว บ้างก็ทำดี
    และแน่นอนว่ายังไม่หมดกิเลส บางคนวัดก็เข้า เหล้าก็กิน
    ฆ่าสัตว์ทำอาหารไปเลี้ยงพระก็บ่อย แล้วจะทำอย่างไร จะได้ไปสวรรค์ หรือ นรก

    เรื่องภพเบื้องหน้า อันเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของชีวิตหลังการตาย
    จากการเป็นมนุษย์ของเรานี้ ตามศาสนาพุทธ กล่าวไว้ว่า
    อยู่ที่ว่าจิตก่อนละโลกเป็นอย่างไร หากจิตผ่องใส
    นึกถึงคุณงามความดีที่ตนได้กระทำไว้ตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต
    จนก่อนวาระสุดท้ายของชีวิตไว้ได้ จิตที่ผ่องใสนั้น ก็จะนำให้ไปเกิดในสวรรค์

    การที่จิตก่อนละโลกจะผ่องใส หรือเศร้าหมองอยู่ที่ว่า
    ณ ขณะนั้นของจิตบุญมาส่งผลก่อน หรือ บาปมาส่งผลก่อน

    ช่วงท้ายของชีวิตมนุษย์ทุกคน จะมีคตินิมิต
    ที่เป็นเสมือนภาพยนตร์ส่วนตัวของคนๆ นั้น ว่าในอดีต
    ตนได้กระทำกรรมดี กรรมชั่วอะไรไว้บ้าง

    บางคนทำปาณาติบาต เป็นอาจิณกรรม เช่น ทุบหัวปลาทำอาหาร
    ยิงนกตกปลา ก็จะมีคตินิมิตก่อนตายเป็นภาพปลาบ้าง นกบ้าง
    มาว่ายเวียนรอบตัวกลุ่มรุมทำร้าย ทำให้ผู้ป่วยกลัวและกระวนกระวายยิ่งนัก
    บ้างก็ทำท่าเหมือนกำลังจะทอดแหจับปลา
    บ้างก็บอกว่ามีปลามากมายมาว่ายอยู่รอบตัว
    หากเป็นเช่นนี้ ก็ต้องบอกว่าอันตรายยิ่งนักที่ชีวิตใหม่หลังความตาย
    อาจต้องไปเกิดในนรก เพราะคตินิมิตที่เห็นนั้นเป็นบาปอกุศลทั้งสิ้น

    บางคนทำบุญเป็นอาจิณกรรม จิตก่อนละโลก
    จึงเหนี่ยวนำให้เกิดคตินิมิตเป็นภาพกุศลกรรมต่างๆ
    ที่ตนได้สั่งสมกระทำไว้มาก เช่น ภาพตักบาตร
    ภาพงานบวชพระลูกชาย ภาพยกช่อฟ้าศาลาวัด
    ภาพช่วยผู้ประสบภัย คตินิมิตเหล่านี้ ก็จะยังจิตของผู้ป่วยให้ผ่องใส
    ย่อมได้ไปเกิดในเทวโลก เรื่องใจผ่องใส กับ ใจเศร้าหมอง ขุ่นมัว
    ในช่วงใกล้ละโลกเป็นเรื่องสำคัญในทางพระพุทธศาสนา
    เพราะเป็นตัวกำหนดความสุข-ความทุกข์ของชีวิตใหม่ในสัมปรายภพ
    จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องทำให้ผู้ป่วยที่ใกล้จะละโลกนี้
    มีคตินิมิตที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพื่อให้เขาได้ไปสู่สุคตินั่นเอง
    ซึ่งหน้าที่นี้ ไม่มีใครทำได้ดีเท่าลูกหลาน

    หากลูกหลานทำไม่เป็น ไม่เคยทำ ไม่ทราบเรื่องราวทางพุทธศาสนา
    เช่นนี้มาก่อน แต่ในเมื่อครานี้ได้มีโอกาสทราบแล้ว
    ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทดแทน และช่วยเหลือทำศึกชิงภพนี้ให้แก่บุพการี
    และ ญาติมิตร ในช่วงสุดท้ายของชีวิต
    ทางพระพุทธศาสนานั้นถือว่า
    ชีวิตคนมีโอกาสตลอดเวลาจนถึงวาระสุดท้ายที่ยังมีโอกาส
    ที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล เช่นที่ได้มีเรื่องเล่าว่า
    คนทุศีลคนหนึ่งตลอดชีวิตไม่เคยรู้บาปบุญคุณโทษ
    แต่เมื่อวาระจิตสุดท้ายนึกได้ถึงอกุศลกรรมทีตนได้กระทำไว้มาก
    ทำให้รู้สึกสำนึกผิดขึ้นมา วาระจิตสุดท้ายที่ดีงามนั้นเอง
    จึงช่วยให้เขารอดพ้นจากอบายภูมิ

    [​IMG]ข้อแนะนำการช่วยเหลือด้านจิตใจแก่
    ผู้ป่วยระยะสุดท้าย

    การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ

    1. การดูแลรักษาโรคทางกาย

    การดูแลทางกายทำได้โดยพาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาให้ดีที่สุด
    เท่าที่เราจะทำได้ที่ฐานะ, สภาพแวดล้อมจะอำนวย และ เท่าที่ผู้ป่วยจะทนได้
    หากไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ ก็พยายามประคับประคองให้ผู้ป่วย
    ทุกข์ทรมานกายให้น้อยที่สุดในช่วงสุดท้ายของชีวิต


    2. การดูแลรักษาใจของผู้ป่วย
    ขอยกเอาพุทธพจน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่า
    “บุตรพึงแบกมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง แบกบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง
    เขามีอายุมีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และพึงปฏิบัติบำรุงทั้ง ๒ ด้วยการอบกลิ่น
    การนวด การให้อาบน้ำ และการบีบนวดอวัยวะต่าง ๆ แก่ท่านทั้งสอง
    แม้ท่านทั้ง ๒ ก็พึงถ่ายอุจจาระบนบ่านั่นเอง ถึงกระนั้นเขาก็ยังไม่ชื่อว่า
    ตอบแทนบุญคุณแก่มารดาบิดา บุตรพึงตั้งมารดาไว้ในราชสมบัติ
    มีอำนาจยิ่งใหญ่ในแผ่นดินใหญ่ แม้กระนั้นก็ยังไม่ชื่อว่าตอบแทนคุณมารดาบิดา
    ส่วนบุตรคนใด ทำให้มารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธาให้สมาทานตั้งมั่นในสัทธาสัมปทา
    ให้มารดาบิดาผู้มีทุศีลสมาทานตั้งมั่นในสีลสัมปทา ให้บิดามารดาผู้มีความตระหนี่
    สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา ให้มารดาบิดาผู้ทรามปัญญา
    สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านั้น
    และบุตรย่อมชื่อว่าเป็นผู้อันกระทำตอบแทนบุญคุณแก่มารดาบิดาแล้ว ”

    เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ตอบแทน
    ผู้มีพระคุณด้วยการยังจิตสุดท้ายก่อนดับให้อยู่ในกระแสแห่งบุญและธรรมะ

    [​IMG]ขั้นตอนการดูแลจิตก่อนตายอย่างชาวพุทธ

    แม้ว่าบางครั้งการให้ยาระงับความทุกข์ทรมานทั้งปวงแล้ว
    ก็ยังไม่อาจลดทุกขเวทนาของผู้ป่วยได้
    บ่อยครั้งที่ธรรมโอสถอาจเป็นทางออกสุดท้าย
    เพื่อเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวใจให้รู้สึกหวาดหวั่น หวาดกลัว ต่อมรณภัยให้น้อยลง
    แม้ว่าตลอดชีวิตผู้ป่วยท่านนั้นอาจไม่ได้เคารพเลื่อมใส
    ในพระพุทธศาสนามากนักก็ตาม ก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสินแทนผู้ป่วย
    ว่าในช่วงวินาทีทองของชีวิตอันจัดเป็นช่วงศึกชิงภพนี้
    ผู้ป่วยจะไม่ยินดีต่อการทำบุญทำทาน

    @ การจัดเตรียมสถานที่ตาย

    ในห้องผู้ป่วย ควรมีพระพุทธรูป หรือ ภาพของพระพุทธเจ้า
    หรือ พระสงฆ์ ให้ผู้ป่วยได้มีที่พึ่งที่ระลึกอาจมีการเตรียมเสียงธรรมะ
    เพื่อเปิดให้ผู้ป่วยฟัง เพื่อเป็นการส่งผู้ป่วยในวาระสุดท้าย
    ซึ่งดีกว่าการที่ผู้ป่วยได้ยินลูกหลานถกเถียงกันเรื่องมรดก
    หรือเรื่องต่างๆที่อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจ
    หรือการที่ญาติร้องไห้คร่ำครวญเสียใจกับอาการป่วย
    ก็หวังได้ว่า การตายครั้งนี้ของเขาคงไม่ดีนัก
    ทำให้จิตของผู้ป่วยปล่อยวางได้ยาก
    หากแม้ว่าวาระสุดท้ายญาติและ/ หรือผู้ป่วยมีความประสงค์
    ที่จะสิ้นลมที่บ้าน ก็เป็นสิทธิ์ที่จะร้องขอ หรือ ปรึกษากับแพทย์ผู้รักษาได้
    ด้วยการตรึกตรองถึงประเด็นการตายอย่างมีศักดิ์ศรี และ
    การตายดี ที่ทุกคนล้วนต้องการด้วยกันทั้งนั้น
    ว่าหากเป็นเราเลือกที่จะตายโดยมีแพทย์พยาบาลและ
    สายระโยงรยางค์ หรือว่าอยากสิ้นลมที่บ้านท่ามกลางลูกหลานที่ตนรัก

    @ ความสะเทือนใจที่ญาติควรระมัดระวัง

    สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ จิตที่หวาดหวั่น รับไม่ได้ต่อการสูญเสีย
    บุคคลอันเป็นที่รักของญาติหลายๆครอบครัว ญาติพากันร้องไห้ระงม
    ซึ่งอาจนำพาให้จิตของผู้ป่วย ไม่คลายความห่วง จิตไม่ผ่องใสเท่าที่ควร

    ญาติจึงควรตั้งสติของตนเสียก่อนที่จะพยายามให้ผู้ป่วยตั้งสติ เพราะ
    ในยามที่คนเราหวาดหวั่นมากที่สุด หากคนที่อยู่รายล้อมเรามีความสงบระงับ
    และ มั่นคงแห่งอารมณ์ ก็จะทำให้เราอบอุ่นใจมากขึ้น
    ที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราจะเจอต่อไป

    @ การช่วยให้ผู้ป่วยมีสติเป็นเรื่องสำคัญ
    ในกรณี ผู้ป่วยหนัก มีอาการเป็นตายเท่ากัน
    เรื่องการให้สติแก่ผู้ป่วยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
    เพื่อให้ใจของผู้ป่วยพอเป็นใจที่สงบระงับรองรับการเกาะเกี่ยว
    ในคุณงามความดีที่ตนได้สั่งสมมา ทำให้ใจคลายความทุรนทุรายลง
    เพราะการละโลกไปสุคติ หรือ ทุคติ ขึ้นอยู่ที่สติก่อนตายนี้เอง
    ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
    “ เมื่อจิตผ่องใสไม่เศร้าหมอง สุคติ เป็นที่ไป
    ” ซึ่งตรงกันข้ามกับ “ เมื่อจิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส ทุคติเป็นที่ไป”


    @ สิ่งที่ควรทำเพื่อช่วยผู้ป่วยก่อนตาย

    บอกความจริงแก่ผู้ป่วยด้วยใจที่มั่นคง อบอุ่น และให้กำลังใจ

    หากลองหลับตานึกว่า ถ้าเรากำลังจะตาย เราอยากที่จะทำอะไร
    อยากให้รอบข้างของเราเป็นอย่างไร มีลูกหลานมากมาย
    ซุบซิบพูดแต่เรื่องอาการป่วยหนักของเรา หรือว่า
    อยากให้ลูกหลานบอกทุกอย่างกับเราตรงๆ เพื่อจะได้เตรียมพร้อม
    และ สะสาง สั่งเสีย สิ่งต่างๆ ที่ติดค้างอยู่ในใจให้จบสิ้นไปเท่าที่ร่างกายจะพอทำไหว


    @ ยังจิตของผู้ป่วยให้อยู่ในกระแสแห่งกุศลธรรม

    หากลูกหลานแสดงความห่วงใย ไม่เพียงแค่ดูแลเช็ดล้างอุจจาระ
    ปัสสาวะ หรือ มานอนเฝ้าเฉยๆ เท่านั้น แต่สวดมนต์ให้ฟัง
    อ่านธรรมะของหลวงพ่อองค์ที่นับถือให้ฟัง ทั้งที่ลูกหลานคนนั้น
    ไม่ได้นับถือหลวงพ่อองค์นั้นเลยก็ตาม หรือ ลูกหลานซื้อไทยธรรมมาให้
    พยายามจับมือที่ไร้เรี่ยวแรงให้อธิษฐานจิต เพื่อนำไทยธรรมนั้นๆ
    ไปถวายพระแทนผู้ป่วย อย่างน้อยความรู้สึกก่อน
    ลมหายใจสุดท้ายของชีวิตคงจะแช่มชื่น นึกขอบใจลูกหลาน
    ที่มีใจอันละเอียดอ่อน ใจคงจะชื้นขึ้นว่าที่ผ่านมา
    แทบไม่ได้ทำบุญแต่อย่างน้อยช่วงสุดท้ายของชีวิต
    ก็ยังได้ทำบุญ ก็หวังว่าบุญที่ทำนี้จะนำไปสุ่สุคติบ้าง


    @ ผู้ป่วยโคม่าช่วยให้อยู่ในกระแสกุศลธรรมได้อย่างไร

    แม้ว่าป่วยหนักถึงขั้นโคม่า ก็มิได้เป็นเรื่องผิดประหลาดแต่อย่างใด
    ที่จะอ่าน บทสวดมนต์ หรือ เอาหูฟังเสียงธรรมะให้ผู้ป่วยฟังเพื่อยังให้ถึง
    พุทธานุสติ ธัมมานุสติ และ สังฆานุสติ เรพาะจิตก่อนละโลกเป็นจิตที่อ่อนถูกเหนี่ยว
    ได้ง่ายทั้งจากสิ่งที่เป็นกุศลและสิ่งที่เป็นอกุศล

    มีเรื่องเล่าหลายครั้งว่า แม้ว่าผู้ป่วยโคม่า ไม่ตอบสนองใดๆ
    ต่อการเรียกชื่อจากปากของลูกหลานที่เขารักมากที่สุด
    แต่กลับน้ำตาไหลพราก เมื่อพยาบาล หรือ ใครก็ตามแม้ไม่ใช่ญาติ
    เลยได้สวดมนต์ให้เขาได้ฟัง


    @ สอนให้ผู้ป่วยนอนทำสมาธิ

    การให้ผู้ป่วยนอนทำสมาธิ เพื่อดำรงสติในวาระก่อนตายได้ง่ายขึ้น
    โดยอาจให้ตามลมหายใจเข้าออก หรือ ให้นึกถึงภาพพระพุทธรูปที่
    ผู้ป่วยเคารพนับถือ เพื่อเจริญพุทธานุสติ หรือ นึกถึงหลวงปู่หลวงพ่อที่นับถือ
    เพื่อเจริญสังฆานุสติ เป็นต้น

    สมาธินอกจากช่วยให้มีสติแล้ว อาจช่วยลดความเจ็บปวดทรมาน
    ทำให้ใจสงบ น้อมระลึกถึงคุณงามความดีของตนได้ง่ายขึ้น
    แทนที่ความรู้สึกผิดบาปที่ตนได้ทำเอาไว้ และเป็นการปลดปล่อย
    ความห่วงความกังวลที่มีอยู่ให้หมดสิ้น ทั้งเรื่อง คู่ครอง ลูกหลาน
    ทรัพย์สิน คู่แค้น อันเป็นเครื่องผูกใจให้เศร้าหมอง


    วิธีการนอนทำสมาธิ

    การทำสมาธิมีหลายวิธี อาจเลือกในแบบที่คิดว่าทำได้ง่ายที่สุด
    โดยการคำนึงถึงเรื่องจริต เป็นสิ่งที่ไม่ควรกังวลมากนัก

    ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการทำสมาธิแบบง่ายเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงความสงบ

    วิธีที่ 1 สอนให้ผู้ป่วยวางใจให้นิ่งเฉยๆ ไว้กลางท้อง

    ให้นึกว่าช่องท้องของตนนั้นเป็นห้องสว่างที่โล่งกว้าง
    ในห้องนั่นมีพระพุทธรูปตั้งอยู่ ให้ผู้ป่วยพยายามนึกให้เห็นภาพเช่นนั้นตลอดเวลา
    โดยอาจบริกรรมภาวนาไปพร้อมกัน เช่น ใช้คำว่า พุทโธ สัมมาอะระหัง หรือ สว่าง สงบ

    วิธีที่ 2 ให้ผู้ป่วยนึกถึงพระพุทธรูปหรือ พระสงฆ์ที่ผู้ป่วยนับถือ
    ไว้ให้ได้ตลอดเวลา โดยอาจจะบริกรรมหรือ ไม่บริกรรมใดๆ ก็ได้

    วิธีที่ 3 ให้ผู้ป่วยตามดูลมหายใจเข้าและออก เมื่อหายใจเข้า
    ให้บริกรรมในใจว่า “พุท” เมื่อหายใจออก บริกรรมว่า “โธ”
    โดยตามดูลมหายใจเช่นนั้นไปเรื่อยๆ

    @ เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ขออโหสิกรรม และ
    ให้อโหสิกรรมแก่ผู้ที่ได้เคยมีเรื่องกันมาให้อดีต

    ทำได้ด้วยวิธีการต่างๆ เท่าที่จะทำได้ เช่น ให้ผู้ป่วยเขียนแทนคำพูดโดย
    จินตนาการว่าคนที่ตนต้องการพูดด้วยนั้นอยู่ต่อหน้า หรือ
    ให้ผู้ป่วยได้พูดออกมาด้วยตนเองจะด้วยการจินตนาการหรือ
    ด้วยการตามคู่กรณีมาเยี่ยมหากผู้ป่วยอยู่ในระยะโคม่า
    ก็ให้ญาติสนิททำสิ่งต่างๆข้างต้นแทน โดยการพูดข้างหู
    ของผู้ป่วยเสมือนว่าผู้ป่วยรับรู้สิ่งเหล่านั้นได้
    เพราะภาวะจิตของผู้ป่วยก่อนละโลกเป็นช่วงที่แม้ไม่มีสติ
    พูดคุยไม่ได้ แต่พลังชีวิตช่วงสุดท้ายของเขายังทำให้เขารับรู้
    การสื่อสารต่างๆ ที่เป็นความดีงามและ ความชั่วร้ายได้
    ฉะนั้นจึงอยู่ที่เราจะจัดสภาพแวดล้อมเหล่านั้นอย่างไร


    ************************************************************************************************
    เอกสารอ้างอิง
    1. พระภาวนาวิริยคุณ. ศึกชิงภพ. กรุงเทพฯ : วัชระอินเตอร์ปริ้นติ้ง จำกัด, 2550.
    2. พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) การแพทย์ยุคใหม่ในพุทธทัศน์ :
    ช่วยให้ตายเร็วหรือช่วยให้ตายช้า. กรุงเทพฯ : ธีระอรุณการพิมพ์, 2542.
    3. อนุพันธ์ ตันติวงศ์, ผ่องพักตร์ พิทยพันธุ์, สุชาย สุนทราภา.
    การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย. กรุงเทพฯ : เอช.ที.พี เพรส จำกัด, 2550.
    อ.พญ. ลำพู โกศัลวิทย์ , โครงการจัดตั้งภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    <!-- -->
    Tags: บทความอาจารย์ประจำ, ผู้ป่วยระยะสุดท้าย
    Prev: UPDATE INTERESTING PAPER
    Next: ความเห็นผู้เข้าชม web


    ที่มา

    คลินิกจิตเวช ธรรมศาสตร์ - บทความจาก อ. พญ. ลำพู โกศัลวิทย์ "การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย"
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 19 กุมภาพันธ์ 2010

แชร์หน้านี้

Loading...