การชำระและการพิมพ์พระไตรปิฎก ในรัชกาลที่ ๗ (ฉบับสยามรัฐ)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย WebSnow, 3 กรกฎาคม 2005.

  1. WebSnow

    WebSnow ผู้ก่อตั้งเว็บพลังจิต ทีมงาน Administrator

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 เมษายน 2003
    โพสต์:
    8,695
    กระทู้เรื่องเด่น:
    129
    ค่าพลัง:
    +64,019
    [color=darkgold,direction=115);]รายงานการสร้างพระไตรปิฎก[/color] [color=darkgold,direction=115);](ฉบับสยามรัฐ)[/color]





    ของพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ


    จากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๔ หน้า ๓๙๒๗

    -----------------------------------

    กรุงเทพ ฯ

    วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐


    ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

    ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลรายงานการสร้างพระไตรปิฎก เปนอนุสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าจัดสนองพระเดชพระคุณนั้น ดังต่อไปนี้

    ๑. เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๘ ข้าพระพุทธเจ้าได้ออกใบแจ้งความ ประกาศกระแสพระบรมราชโองการทูลเชิญ พระบรมวงศานุวงศ์ ชักชวนบรรดาข้าราชการทุกกระทรวงทบวงการ ตลอดจนประชาราษฎรให้บริจาคทรัพย์โดยเสด็จในพระราชกุศล สร้างพระไตรปิฎกตามความศรัทธา และเพื่อช่วยเหลือในการอันนี้ ฝ่ายทางอาณาจัก เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งสมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดนายอำเภอ ให้ช่วยจัดการป่าวประกาศ ฝ่ายทางพุทธจักร สมเด็จพระสังฆราชเจ้ามีรับสั่งให้เจ้าคณะ ตลอดจนพระครู เจ้าอาวาสบอกบุญทั่วไป.

    ๒. ในการรับเงิน เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้จัดเจ้าพนักงานและสถานที่รับเงิน ให้เปนการสะดวกแก่ผู้บริจาคทรัพย์ คือ ในเขตต์มณฑลกรุงเทพฯ จัดเจ้าพนักงานรับเงินที่กรมพระคลังมหาสมบัติ ในมณฑลต่าง ๆ จัดรับเงินตามที่ว่าการคลังจังหวัด.

    อนึ่ง ในโอกาสที่ประกาศสถานที่รับเงินนั้น ได้ดำเนินกระแสพระบรมราชโองการ ซึ่งโปรดเกล้าฯ จักพระราชทานฉบับพระไตรปิฎกแก่ผู้บริจาคทรัพย์ เป็นจำนวนเงิน ๔๕๐ บาทนั้น ให้ทราบทั่วกันด้วย.

    ๓. การชำระพระไตรปิฎกสำหรับที่จะพิมพ์ครั้งนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงรับเปนประธานในการชำระ และพระราชาคณะอีก ๘ รูป ได้แบ่งกันรับหน้าที่ผู้ชำระ ดั่งมีนามต่อไปนี้

    ๑. พระญาณวราภรณ์ (สุจิตต) วัดบรวรนิเวศวิหาร
    ๒. พระสาสนโสภณ (ญาณวร) วัดเทพศิรินทราวาส
    ๓. พระธรรมปาโมกข์ (จัตตสัลล) วัดมกุฏกษัตริยาราม
    ๔. พระธรรมดิลก (สุมนนาค) วัดอรุณราชวราราม
    ๕. พระธรรมโกศาจารย์ (อุตตม) วัดราชาธิวาส
    ๖. พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เขมจารี) วัดมหาธาตุ
    ๗. พระธรรมปิฎก (ติสสทัตตป วัดพระเชตุพน
    ๘. พระเทพมุนี (กิตติโสภณ) วัดเบญจมบพิตร

    ๔. ต้นฉบับพระไตรปิฎกสำหรับที่จะพิมพ์นั้น ใช้ฉบับพิมพ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเมื่อพระพุทธศักราช ๒๔๓๖ นั้นเปนพื้น มีการแก้ไข คือ เปลี่ยนใช้ พินทุ แทนวัญฌการและยามักการ จัดวางระยะวรรคตอนหนังสือนั้นเสียใหม่ และใช้เครื่องหมายประกอบให้เปนอย่างเดียว ตามแบบที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ประทานไว้ในการพิมพ์อรรถกถาพระไตรปิฎก ส่วนคัมภีร์ที่ขาดไปในฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๓๖ ใช้ฉบับลานของหลวงเปนต้นฉบับ และชำระโดยวิธีเดียวกัน แก้คำผิดแต่จำเพาะที่ปรากฏว่าคัดลอกผิด กำหนดการให้ได้พิมพ์แล้วเสร็จในพระพุทธศักราช ๒๔๗๐

    อนึ่ง เพราะเหตุที่ได้ทรงเปนประมุขบริจจาคพระราชทรัพย์ในการสร้างพระไตรปิฎกฉบับนี้ และโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทวยราษฎรชาวสยามทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาสบริจจาคทรัพย์โดยเสด็จในพระราชกุศลนั้น ที่ประชุมชำระพระไตรปิฎก จึงขนานนามพระไตรปิฎกนี้ว่า "สฺยามรฏฐสฺสเตปิฏกํ" "พระไตรปิฎกสยามรัฐ."

    ๕. การชำระต้นฉบับ ได้เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ และการพิมพ์ก็ได้เริ่มพิมพ์ต่อกันไป แต่เวลาที่ผู้ชำระส่งต้นฉบับแก่เจ้าหน้าที่ผู้จัดส่งพิมพ์

    ฉบับพระไตรปิฎก ที่กำหนดว่าจะมีจำนวน ๔๕ เล่มนั้น เพียงวันที่ ๓๑ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้พิมพ์แล้วเสร็จบริบูรณ์ ๒๕ เล่ม (เล่มละ ๑,๕๐๐ ฉบับ รวม ๒๒,๕๐๐ ฉบับ<SUP></SUP> ที่พิมพ์เสร็จยังแต่จะบวกปทานนุกรมและเข้าเล่ม ๕ เล่ม ที่ส่งโรงพิมพ์แล้ว ๑๔ เล่ม ที่ยังชำระอยู่ ๑ เล่ม.

    ๖. การกำหนดจำนวนเล่ม จำนวนจบ และจำนวนเงินสำหรับใช้จ่ายในการสร้างพระไตรปิฎกสยามรัฐ เดิมกำหนดไว้ว่า จำนวนหนังสือที่จะพิมพ์ จบหนึ่ งเปนหนังสือ ๔๒ เล่ม และพิมพ์ ๑,๐๐๐ จบ ประมาณค่าพิมพ์เงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท ครั้นเมื่อสำรวจต้นฉบับ ปรากฏว่าพระไตรปิฎก ฉบับ พ.ศ. ๒๔๓๖ นั้น ยังขาดตกอยู่หลายคัมภีร์ คือในพระสุตตันตปิฎก ยังขาดวิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา อปทาน พุทธวัส จริยาปิฎก กับทั้งในฉบับที่รวบรวมจะพิมพ์ครั้งใหม่นี้ จักเพิ่มคัมภีร์ชาดกเข้าอีกคัมภีร์หนึ่งให้บริบูรณ์ ตามที่นิยมกัน และในพระอภิธัมมปิฎก คัมภีร์ปัฏฐานก็บกพร่องอยู่หลายตอน จักต้องพิมพ์เติมขึ้นบริบูรณ์ จึงเปนการจำเปนต้องเพิ่มจำนวนเล่มขึ้นอีก ส่วนจำนวนจบนั้น ได้มีผู้เลื่อมใสบริจจาคทรัพย์ขอรับพระไตรปิฎกรายละ ๔๕๐ บาท มากราย ทำให้จำนวนที่ได้กำหนดไว้ว่าจะพิมพ์ ๑,๐๐๐ จบนั้น ไม่พอที่จะพระราชทาน จักต้องเพิ่มจนวนจบขึ้นอีก ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งได้รับใส่เกล้า ฯ กำหนดใหม่ คือ จำนวนหนังสือที่พิมพ์จบหนึ่ง ให้เปนหนังสือ ๔๕ เล่ม จำนวนจบให้เปน ๑,๕๐๐ จบ กำหนดเงินค่าใช้จ่ายรวมค่าใช้จ่ายในการส่งหนังสือที่จักพระราชทานไป ณ ที่ต่าง ๆ ด้วยทั้งสิ้นเปนเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท.

    ๗. จำนวนพระไตรปิฎกสยามรัฐที่พิมพ์ ๑,๕๐๐ จบนี้ ได้กำหนดว่าเปนจำนวนที่จะได้พระราชทานไปแก่บุคคลผู้ศึกษา และสถานที่ศึกษา และสถานที่ศึกษาพระบาลี ในพระราชอาณาจักร และในนานาประเทศ ประมาณตามจำนวนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยพระราชทานหนังสืออรรถกถา ที่ทรงสร้างขึ้นในงานพระบรมศพสมเด็จพระพันปีหลวง คือ พระราชทาน<SUP></SUP> ในพระราชทานอาณาจักร ๒๐๐ จบ ในนานาประเทศ ๔๐๐ จบ รวม ๖๐๐ จบ กันในคราวนี้จักพระราชทานแก่ผู้บริจจาคทรัพย์ ๔๕๐ บาทต่อ ๑ จบอีก เปนหนังสือประมาณ ๘๐๐ จบ จึ่งรวมจำนวนที่จะพราชทานทั้งสิ้นประมาณ ๑,๔๐๐ บาท.

    ๘. สถานที่รับเงินสร้างพระไตรปิฎก ได้เริ่มเปิดรับเงินแต่ วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘ และได้รับไว้แล้ว เพียงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๐ รวมเงิน ๕๖๗,๘๐๘ บาท.

    ๙. การจ่ายเงินสร้างพระไตรปิฎกที่ได้รับแล้วนี้แบ่งออกได้เปน ๓ ประเภท คือ (๑) จ่ายขาดในการที่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานถวายพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า ฯ ๕,๗๓๖ บาท (๒) ประมาณจะจ่ายในการสร้างรักษา, และจัดส่งฉบับพระไตรปิฎก ๒๐๓,๘๖๔ บาท (๓) ประมาณจะจ่ายในการฉลองพระไตรปิฎก ๑๐,๔๐๐ บาท จึ่งรวมเงินทั้ง ๓ ประเภทเปน ๒๒๐,๐๐๐ บาท

    (๑) เงินจ่ายในการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานถวายพระบรมศพนั้น มีกรณีเหตุพึงจ่ายดั่งนี้ ตามประเพณีที่ได้มีมาในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และสมเด็จพระพันปีหลวงนั้น พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทุกกระทรวงทบวงการต่างได้เรี่ยรายเงินแยกย้ายกันบำเพ็ญกุศลถวายในงานพระบรมศพเปนเงินมากมาย ซึ่งน่าจะน้อมมาจัดเปนถาวรวัตถุที่ระลึกถึงพระเดชพระคุณให้งดงามได้ ในงานพระบรมศพ ครั้งนี้จึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกประเพณีที่แยกย้ายกันบำเพ็ญกุศลถวายพระบรมศพนั้นเสีย และให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบริจจาคทรัพย์โดยเสด็จในพระราชกุศลสร้างพระไตรปิฎก แต่เพื่อมิให้ขาดการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานสนองพระเดชพระคุณตามประเพณีเดิมนั้น จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมกันทำการบำเพ็ญกุศลตามหมู่ตามเหล่า และให้ใช้จ่ายเงินจากกองทุนสร้างพระไตรปิฎก อันเปนส่วนที่ได้เรี่ยราดจากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการนั้นได้

    ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใส่เกล้า ฯ จัดการจ่ายเงินส่วนของพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการไปดั่งนี้ ในการบำเพ็ญพระกุศลของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าและฝ่ายในฝ่ายละ ๑,๓๖๘ บาท เงิน ๒,๗๓๖ บาท ในการบำเพ็ญกุศลของเสนามาตย์ราชเสวก เหล่าละ ๑,๐๐๐ บาท เงิน ๓,๐๐๐ บาท รวมทั้งสิ้นเปนเงิน ๕,๗๓๖ บาท

    (๒) เงินที่ประมาณจะจ่ายในการสร้างรักษา และส่งฉบับพระไตรปิฎกนั้น มีรายละเอียดดั่งต่อไปนี้

    ก. ค่าพิมพ์หนังสือ ๔๕ เล่ม เปนหนังสือประมาณ ๓,๒๐๐ ยก พิมพ์ ๑,๕๐๐ จบ

    ค่าพิมพ์ยกละ ๓๕ บาท เงิน ๑๐๘,๐๐๐.๐๐

    ข. ค่ากระดาษสำหรับพิมพ์ประมาณ ๕,๐๐๐ ริม ๆ ละ ๑๐ บาท เงิน ๕๐,๐๐๐.๐๐

    ค. ค่าพิมพ์พระบรมรูปและทำปกกระดาษอ่อนและแข็ง เงิน ๓๐,๐๐๐.๐๐

    ฆ. ค่าใช้จ่ายในการทำที่เก็บและรักษาพระไตรปิฎกกับค่าพิมพ์ใบเสร็จ เงิน ๓,๘๖๔.๐๐

    ง. ค่าจัดส่งพระไตรปิฎกไปพระราชทาน ณ ที่ต่าง ๆ เงิน ๑๒,๐๐๐.๐๐

    รวม ๒๐๓,๘๖๔.๐๐

    (๓) เงินที่ประมาณจ่ายในการฉลองพระไตรปิฎกนั้น มีรายละเอียดดั่งนี้

    ก. ค่าเครื่องสักการผู้ชำระพระไตรปิฎก ๙ รูป เงิน ๗,๒๐๐.๐๐

    ข. ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการฉลอง เงิน ๓,๒๐๐.๐๐

    รวม ๑๐,๔๐๐.๐๐

    เงินรายที่ (๒) ที่ (๓) นี้ เปนแต่รายประมาณเมือ่ได้จ่ายไปแล้วจริงเท่าไร เงินที่เหลือก็คงเหลืออยู่ในยอดใหญ่ที่กระทรวงพระการคลัง ฯ ได้รับไว้นั้น.

    ๑๐. เงินรายรับทั้งหมด เมื่อได้หักเงินที่ประมาณว่าจะจ่าย ๒๒๐,๐๐๐ บาทนี้แล้ว คงมียอดเปนเงินเหลือ ในวันที่ ๓๑ มกราคม อยู่ ๓๔๗,๘๐๘ บาท เพื่อประโยชน์ที่จะไม่ให้เงินจำนวนนี้กองอยู่เปล่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ปรึกษากับเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และอธิบดีกรมบัญชีกลาง จัดซื้อใบกู้เงินต่างประเทศของรัฐบาลสยามปี ค.ศ. ๑๙๐๗ ซึ่งมีดอกเบี้ยร้อยละ ๔ กึ่งต่อปีนั้นไว้ ๓๐๐ ใบ โดยราคา ๙๓ ต่อ ๑๐๐ ปอนด์ เปนเงิน ๒๗,๙๐๐ ปนอด์ คิดเปนเงินบาท ๓๐๒,๖๔๔ บาท ๐๗ สตางค์ หรือรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการซือใบกู้นี้ด้วย ก็เปน ๓๐๓,๕๐๑ บาท ๖๗ สตางค์ ประโยชน์ที่พึงได้รับจากใบกู้เงิน ๓๐๐ ใบนี้ ก็คือดอกเบี้ยที่จะได้รวมปีหนึ่งประมาณ ๑,๓๕๐ ปอนด์ หรือ ๑๔,๖๒๓ บาท บาท ๔๒ สตางค์ กับเมื่อถึงวาระที่รัฐบาลสยามจะถ่ายใบกู้นั้น ได้รับกำไรที่ซื้อได้ราคาต่ำกว่า ๑๐๐ นั้นอีกร้อยละ ๗ ปอนด์ รวมทั้งสิ้นเปนเงิน ๒,๑๐๐ ปอนด์ หรือประมาณ ๒๒,๗๔๙ บาท ส่วนถ้าจะขายกลับเปนเงินสด ใบกู้เหล่านี้ย่อมเปนใบประกันเงินอย่างที่ซื้อขายได้สะดวก เมื่อประสงค์จะให้กลับเปนเงินสดในกาลใด ก็อาจขายรับเงินคืนได้เท่ากับที่ได้ลงไป เพราะฉะนั้น ใบกู้ ๓๐๐ ใบนี้ จะนับว่าเท่ากับเงินสด ๓๐๒,๖๔๔ บาท ๐๗ สตางค์ก็นับได้.

    ๑๑. เงินเหลือจ่ายจากการสร้างพระไตรปิฎกนั้น เดิมได้ทรงพระราชปรารภว่า จะควรจัดสถานใดจึ่งจะได้ปรากฏชั่วกาลนาน เป็นอนุสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัญหาข้อนี้พระเถรานุเถระมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเปนอาทิ ได้ลงมติเปนอันเดียวกันว่า จะจับจ่ายก่อสร้างสิ่งใดอื่นหาควรไม่ เพราะผู้ที่มีศรัทธาบริจาคทรัพย์ได้มีฉันทะจำเพาะเพื่อจะสร้างพระไตรปิฎก ควรสงวนไว้เปนทุนสำหรับบูรณะแบบพระไตรปิฎกที่ได้พิมพ์แล้วครั้งนี้ หรือจัดพิมพ์อรรถกถาฎีกา บรรดาที่ยังไม่มีฉบับพิมพ์ หรือหนังสือใด ๆ ที่ใช้เปนหลักประกอบการศึกษาพระปริยัติธรรม จึ่งจะสมกับความปรารถนาเดิมของผู้ที่บริจจาคทรัพย์นั้น

    เมื่อคำนึงตามมตินี้ของพระเถรานุเถระ และระลึกว่าเมืองไทยเปนเมืองเดียวในโลก ที่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงเปนพระบรมพุทธสาสนูปัตถัมภก การที่จะรวมเงินเหลือจ่ายนี้ตั้งไว้เปนทุนสำหรับบูรณะฉบับพระไตรปิฎกและพิมพ์หนังสือที่เปนหลักเครื่องประกอบการศึกษาพระปริยัติธรรม ให้ได้มีไว้จำหน่ายโดยไม่ขาดคราวนั้น ก็ควรเปนอนุสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า ฯ อันงดงามและยั่งยืน และจักเปนที่ปลื้มใจของประชาราษฎรชาวสยาม ที่ได้มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปนประมุขปลุกสมานัจฉันท์ ให้บริจาคทรัพย์ฝังไว้เปนบุญญนิธิในพระบรมพุทธสาสนา.

    ๑๒. การตั้งทุนพระไตรปิฎกและวางระเบียบการสำหรับจำหน่ายนั้น อาจจัดได้ด้วยประการฉนี้ บรรดาเงินค่าสร้างพระไตรปิฎกที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้รับไว้แล้วนั้น เมื่อหักรายจ่ายตามรายการที่กราบบังคมทูลพระกรุณานี้ และปัดเศษเปนจำนวนพองามไปตั้งเปนทุนสำรองสำหรับพิมพ์พระไตรปิฎกสยามรัฐ เป็นทุติยปกาสน์แล้ว จักมีเหลือเปนจำนวนที่จะตั้งเปนทุนพระไตรปิฎกในชั้นแรกนี้ ๓๑๐,๐๐๐ บาท เงินจำนวนนี้ควรพระราชทานให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเปนเจ้าหน้าที่รักษาและกระทำผลประโยชน์ตามระเบียบที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติรับฝากเงินทุนการกุศล ส่วนเงินค่าสร้างพระไตรปิฎกที่จะได้รับภายหลังแต่เวลาที่ได้ตั้งทุนพระไตรปิฎกแล้ว กับทั้งเงินผลประโยชน์ที่จะเกิดแต่ทุนพระไตรปิฎก เช่นดอกเบี้ย และกำไร และค่าขายหนังสือ หรือทรัพย์สมบัติใด ๆ ก็ดี ให้บวกเข้าในทุนสำรองสำหรับพิมพ์ฉบับทุติยปกาสน์ก่อนจนพอแก่การนั้นแล้ว จึ่งให้บวกเข้าในทุนพระไตรปิฎกตามวาระที่ได้รับมา

    การจ่ายนั้น เมื่อได้พิมพ์ฉบับทุติยปกาสน์แล้วให้จำกัดจ่ายแต่ในวงกำไรที่ได้รับในปีหนึ่ง ๆ และจ่ายจำเพาะบูรณะพระไตรปิฎกหรือพิมพ์หนังสือที่เปนหลักประกอบการศึกษาพระปริยัติธรรม หรือกระทำกิจที่เกื้อกูลแก่การนั้น ให้กรรมการฝ่ายคฤหัสถ์ของมหามกุฏราชวิทยาลัย เปนเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องจับจ่ายนี้

    การกำหนดว่าจะชำระและพิมพ์หนังสือใดบ้างนั้น ควรเปนหน้าที่ของเถรสมาคม มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงเปนประธาน ทรงวินิจฉัยทั้งวิธีและระเบียบการชำระและเลือกฟั้นแบ่งปันหน้าที่ผู้ชำระ และสั่งอนุญาตการชำระและพิมพ์ตลอดไป

    ในปีหนึ่ง ๆ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติประกาศบัญชีเงินรับเงินจ่าย และทรัพย์สมบัติของทุนพระไตรปิฎก และมหามกุฏราชวิทยาลัยประกาศบัญชีหนังสือที่ได้สร้างขึ้นใหม่ด้วยผลประโยชน์ของทุนนี้

    ถ้าได้จัดตั้งทุนพระไตรปิฎก โดยประการที่กราบบังคมทูลพระกรุณานี้ ประเทศสยามจักเปนคลังพระธรรมของโลก รักษาไว้ซึ่งพระพุทธวจนะสิ้นกาลหาที่สุดมิได้

    ตามที่กราบบังคมทูลพระกรุณามานี้ ถ้าชอบด้วยกระแสพระราชดำริ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตนำรายงานพิมพ์ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา.

    ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ

    ข้าพระพุทธเจ้า กิติยากร ขอเดชะ

    <CENTER>----------------------------------- </CENTER>

    <HR>๑. ภายหลังได้แก้ไขเพิ่มเติม คือพระราชทานในนานาประเทศ ๔๕๐ จบ เหลืออีก ๘๕๐ จบ พระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ขอรับพระไตรปิฎก </FONT>
     

แชร์หน้านี้

Loading...