กองทุนเพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้แก่เด็ก

ในห้อง 'ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสัตว์' ตั้งกระทู้โดย paang, 7 มิถุนายน 2007.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,328
    [​IMG]


    "เด็กที่ถูกกระทำทารุณกรรมมา มีด้านหนึ่งของชีวิตที่จะถูกทำลายไปด้วย ก็คือ ความรัก ความไว้วางใจ และการเห็นคุณค่าของตนเอง ถ้าเปรียบเทียบกับแก้ว ก็กลายเป็นแก้วที่ร้าวหรือแตกสูญเสียสภาพไป เพราะฉะนั้นถ้าเรายังไม่ซ่อมแซมหรือบำบัดฟื้นฟูสภาพให้กลับมาใช้ชีวิตเช่นปกติ พวกเขาก็ไม่อาจเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้" นางสาวอัจฉรา จันทร์โอกุล หัวหน้าสถานแรกรับ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิและความจำเป็นที่จะต้องเยียวยาเด็กเหล่านี้

    "ดอกไม้" เป็นเด็กหญิงวัย 5 ขวบ ถูกพ่อทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส ได้รับการช่วยเหลือและเข้ามาพักพิงอยู่ในสถานพัฒนาและบำบัดฟื้นฟูของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า มีตราบาป รู้สึกหวาดหวั่น ไม่มั่นคง เพื่อนๆ ของดอกไม้ ก็มีพฤติกรรมที่ไม่ต่างกัน

    เพื่อนบางคนในบ้านพัก ก้าวร้าว มีลักษณะของการต่อต้าน บางคนมีอาการขาดรักรุนแรง เติมเท่าไรก็ไม่เต็มเหมือนถังน้ำที่มีรูรั่ว บางคนก็อยู่ในภาวะซึมเศร้า มีอาการของความเจ็บปวดทุกข์ใจ สูญเสียความฝัน และความหวังของวัยเยาว์ที่ควรจะได้เบิกบาน แจ่มใส

    เพื่อสร้างให้เกิดหัวใจดวงใหม่ที่เข้มแข็ง มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก พัฒนาระบบบ้านพักให้เป็นกระบวนการบำบัดฟื้นฟูเด็ก เพื่อสืบเสาะและพินิจ ค้นหาข้อเท็จจริงทาง กาย จิตและสังคมของเด็ก ให้บริการบำบัดฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และพัฒนาการของเด็ก ทั้งระยะสั้นและระยะยาวสำหรับเด็กแต่ละราย ด้วยการใช้กระบวนการทางสังคมสงเคราะห์และจิตวิทยา จัดกิจกรรมกลุ่มบำบัดต่างๆ อาทิ ศิลปะ ดนตรี กีฬา นันทนาการ เพื่อให้เด็กที่ชอกช้ำได้กลับคืนเข้าสู่สภาวะปกติ นอกจากนี้ยังต้องทำงานกับครอบครัวของเด็กเพื่อป้องกันการถูกกระทำซ้ำ รวมถึงการจัดหาครอบครัวทดแทนมารองรับ กรณีที่เด็กไม่สามารถกลับคืนสู่ครอบครัวเดิมได้
    <TABLE style="BORDER-RIGHT: #ffffff 1px dotted; BORDER-TOP: #ffffff 1px dotted; BORDER-LEFT: #ffffff 1px dotted; BORDER-BOTTOM: #ffffff 1px dotted" cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=right border=1><TBODY><TR bgColor=#ffe9ff><TD>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>


    ปัจจุบันมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก มีสถานที่เพื่อการบำบัดฟื้นฟูเด็กที่ถูกทารุณกรรม 2 แห่งเรียกว่า บ้านแรกรับ และบ้านอุ่นรัก

    บ้านแรกรับ เป็นสถานคุ้มครองเด็กระยะแรก ก่อนที่จะส่งเด็กไปยังสถานที่ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาของเด็กแต่ละคน มีภารกิจหลักคือ การประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเด็ก แล้วกำหนดแนวทางในการให้บริการ และการให้ความช่วยเหลือในระยะยาวแก่เด็กและครอบครัว โดยจะค้นหาและเก็บรวบรวมข้อมูลด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ พฤติกรรมและสังคม พร้อมกันนั้นได้ให้การบำบัดฟื้นฟูเบื้องต้น หรือในระยะวิกฤตไปด้วย

    บ้านแรกรับจึงมีความสำคัญต่อเด็กๆ ที่ถูกกระทำทารุณกรรมมาก เพราะหากการประเมินความต้องการรับบริการไม่สอดคล้องสภาพปัญหา ย่อมส่งผลให้การบำบัดฟื้นฟู ไม่ประสบผลสำเร็จและทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขนั่นเอง

    ส่วนบ้านอุ่นรัก เป็นสถานพัฒนาและบำบัดฟื้นฟูเด็ก ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ภารกิจหลักคือการช่วยเหลือ พัฒนาและบำบัดฟื้นฟูเด็กทั้งทางร่างกาย พัฒนาการด้านอารมณ์-จิตใจ พัฒนาการด้านครอบครัวและทักษะทางสังคม รวมไปถึงการจัดหาครอบครัวทดแทนให้แก่เด็กด้วย โดยทุกขั้นตอนของการช่วยเหลือเด็ก จะใช้กลไกการทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วยสายการแพทย์ จิตวิทยา สังคมสงเคราะห์และกฎหมาย เพื่อจุดมุ่งหมายสูงสุด คือ การทำให้เด็กกลับไปดำเนินชีวิตในครอบครัวที่มีบรรยากาศแห่งความผาสุก ความรักและความเข้าใจและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข

    กระบวนการบำบัดฟื้นฟูเด็ก ได้อาศัยกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และทำการบำบัดอย่างครอบคลุมทุกด้าน ทั้งทางกาย เป็นการดูแลและจัดกิจกรรมให้เด็กมีร่างกายเติบโตตามวัย มีการออกกำลังกาย มีโภชนาการที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา (อาหารบางชนิดอาจช่วยบำบัดด้านจิตใจ) และการดูแลรักษาสุขอนามัยส่วนตัว
    <TABLE style="BORDER-RIGHT: #ffffff 1px dotted; BORDER-TOP: #ffffff 1px dotted; BORDER-LEFT: #ffffff 1px dotted; BORDER-BOTTOM: #ffffff 1px dotted" cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=left border=2><TBODY><TR bgColor=#ffffe8><TD>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>


    นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบำบัดฟื้นฟูด้านอารมณ์จิตใจ ได้แก่ การพาเด็กไปพบจิตแพทย์ การประเมินสภาพจิตใจ การจัดกิจกรรมเพื่อบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้า เช่น การให้คำปรึกษาเฉพาะราย จัดกิจกรรมกลุ่มบำบัด จัดกิจกรรมศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด ละครบำบัด การบำบัดฟื้นฟูระยะสั้น เช่น การทำสมาธิ การทัศนศึกษา และการเล่นเกม รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรมที่เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย

    สำหรับกิจกรรมบำบัดฟื้นฟูด้านครอบครัวและสังคมเน้นที่การทำงานร่วมกับครอบครัวของเด็ก เช่น การเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามผลการดำเนินการ การพาครอบครัวเข้าพบจิตแพทย์ จัดค่ายครอบครัว จัดกิจกรรมเสวนาครอบครัว ฯลฯ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการจัดหาครอบครัวทดแทนที่จะมาดูแลหลังผ่านกระบวนการบำบัดฟื้นฟูแล้วแต่ไม่สามารถคืนสู่ครอบครัวเดิมได้

    นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า เด็กที่ถูกละเมิดสิทธิจะได้รับผลกระทบ 4 ด้านคือ ด้านร่างกาย จิตใจ พัฒนาการล่าช้า และพฤติกรรมที่ผิดปกติ โดยส่วนใหญ่สังคมมักเข้าใจว่าเพียงแค่รักษาสุขภาพกายก็เพียงพอ แต่ในความเป็นจริงต้องบำบัดฟื้นฟูสุขภาพจิต พัฒนาการที่ล่าช้าและบำบัดแก้ไขพฤติกรรมที่ผิดปกติด้วย

    การบำบัดฟื้นฟูสุขภาพจิต พัฒนาการที่ล่าช้าและบำบัดแก้ไขพฤติกรรมที่ผิดปกตินั้น ต้องใช้ทรัพยากรและบุคลากรผู้ประกอบวิชาชีพโดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญทางจิตบำบัด เป็นจำนวนมากและต้องใช้เวลายาวนานกว่าการบำบัดฟื้นฟูด้านร่างกาย และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการรักษาสุขภาพกายถึง 10 เท่าตัวขึ้นไป

    ในทางปฏิบัติรัฐบาลทุกชุด เน้นการบำบัดเฉพาะด้านสุขภาพกาย (โดยจัดสรรงบสนับสนุนการรักษาสุขภาพกายของพลเมืองเฉลี่ยปีละประมาณ พันกว่าบาทต่อคน) ทั้งที่ค่าใช้จ่ายในการบำบัดฟื้นฟูเด็กกลุ่มนี้ ถัวเฉลี่ยเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนบาทขึ้นไปต่อคน เมื่อรัฐบาลจัดสรรงบเฉลี่ยต่อประชากรหนึ่งคนจำนวนพันกว่าบาท ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ หรือสถานพยาบาลไม่สามารถรองรับเด็กกลุ่มนี้ได้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง จึงให้บริการเฉพาะการรักษาด้านร่างกายเท่านั้น

    ดังนั้นมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กจึงต้องจัดหางบประมาณให้สถานพยาบาล โดยขอรับการบริจาคจากประชาชนทั่วไปเพื่อนำมาใช้ในการบำบัดฟื้นฟูเด็ก ให้ครอบคลุมทุกด้าน มิฉะนั้นเด็กเหล่านี้จะมีแต่ความทุกข์ทรมานจากปัญหาที่ไม่รับการเยียวยา มีความพิกลพิการทางจิตใจ พัฒนาการที่ผิดปกติ และมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ซึ่งอาจจะเติบโตกลายเป็นผู้ก่ออันตรายให้แก่สังคมในอนาคตได้

    สำหรับผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินสนับสนุน "กองทุนเพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้แก่เด็ก" เพื่อร่วมสร้างโอกาสที่ดีและให้ชีวิตใหม่ที่สดใสแก่เด็กที่ถูกละเมิดสิทธิ บริจาคได้ที่ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาท่าพระ เลขที่บัญชี 017-2-35098-3 สอบถามได้ที่งานประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร. 0-2412-0738 0-2412-9834 0-2864-3381 www.thaichildrights.org



    ที่มา ข่าวสดรายวัน
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 7 มิถุนายน 2007

แชร์หน้านี้

Loading...