ช้างเผือกในป่าอีสาน หลวงตาสมหมาย วัดป่าสันติกาวาส คำสอน/ประสบการณ์/วัตถุมงคล/ (ช่างชิต)

ในห้อง 'ประสบการณ์ เรื่องเล่า' ตั้งกระทู้โดย ช่างชิต, 21 ตุลาคม 2013.

  1. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ติดตามไปตลอดนะครับ อย่าทิ้งผมนะ 55555
     
  2. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ............กมโล (ผู้งามดั่งดอกบัว)(5)...........(ต่อจากตอนที่แล้ว)
    .
    พบพระอาจารย์กงแก้ว ขนฺติโก
    .
    หลวงปู่ได้พบพระอาจารย์กงแก้ว ขนฺติโก ที่วัดเกาะแก้วอัมพวัน เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทามารยาทอันงดงามของท่าน จะเดินจะยืนจะนั่งท่านจะมีอาการสำรวมอยู่ทุกเวลา เมื่อได้พบเห็นแล้วทำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในองค์ท่านเป็นอย่างมาก (ภายหลังท่านมาอยู่ที่วัดกลางสนาม อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร มรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2523 รวมอายุ 75 ปี)
    .
    ในขณะที่พักอยู่วัดเกาะแก้วอัมพวันนั้น เวลากลางวันก็ได้ไปนมัสการพระธาตุพนม พอดีในปีนั้นคณะกรรมการวัดพระธาตุพนมได้คาดสะเภา (ทำนั่งร้าน) ขึ้นไปจนเกือบถึงยอด หลวงปู่เล่าว่าในสมัยนั้น 3 ปี จะคาดสะเภา (ทำนั่งร้าน) ขึ้นพระธาตุพนม 1 ครั้ง พอวันสุดท้ายคือวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 3 จะทำขึ้นไปจนถึงยอดสุดแล้วตกแต่งประดับประดาที่ยอด เสร็จแล้วก็รื้อสะเภาลงมาพร้อม เพราะว่าปล่อยไว้ไม่ได้ บนยอดพระธาตุพนมมีแต่ทองคำ คนทั้งหลายก็นิยมอธิษฐานขึ้นพระธาตุพนม ถือว่าใครมีบุญก็ได้ขึ้นไปถึงยอดได้ ใครไม่มีบุญก็ขึ้นไปได้นิดหน่อยต้องกลับลงมาเพราะเกิดลมวิงเวียนหน้ามืดตาลาย หลวงปู่อธิษฐานต่อองค์พระธาตุพนมว่า "ถ้าหากจะได้ดำรงอยู่ในเพศพรหมจรรย์จนตลอดอายุขัยนั้น ขอให้ขึ้นพระธาตุพนมได้ถึงยอด" เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้วหลวงปู่ก็ขึ้นไปได้ถึงยอดโดยไม่มีอุปสรรคใดๆเลย ต่อมาคำอธิษฐานของหลวงปู่ได้กลายเป็นความจริง คือหลวงปู่ได้อยู่ในเพศพรหมจรรย์จนตลอดอายุขัย
    .
    เดินธุดงค์ต่อไปทางจังหวัดนครพนม
    .
    เมื่อนมัสการพระธาตุพนมสมความตั้งใจแล้ว หลวงพ่อสิ้วได้พาออกเดินทางจากวัดเกาะแก้วอัมพวัน อำเภอพระธาตุพนม เลาะเลียบแม่น้ำโขงจนถึงนครพนม พักที่ป่าช้าเมืองนครพนม เมื่อพักอยู่ป่าช้าเมืองนครพนมหายเหนื่อยแล้ว ได้เดินต่อ จากนครพนมรอนแรมผ่านอำเภอกุสุมาลย์ เดินไปภาวนาไป ไม่ได้ปล่อยจิตใจให้โลเลไปตามสัญญาอารมณ์ การเดินธุดงค์แบบนี้ทำให้ได้กำลังทางจิตใจคือสติธรรมก็มีกำลัง ขันติธรรมก็มีกำลัง สมาธิธรรมก็มีกำลัง ปัญญาธรรมก็มีกำลัง ธรรมเหล่านี้มีอยู่ที่ไหนเล่า ก็มีอยู่ที่ใจนั่นเอง
    .
    พบพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
    .
    เมื่อเดินธุดงค์รอนแรมจากอำเภอกุสุมาลย์ ทะลุถึงเมืองสกลนคร ในขณะนั้นท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ได้พำนักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส เมืองสกลนคร เมื่อเดินทางถึงวัดป่าสุทธาวาส ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ของอาคันตุกวัตร คือผู้เข้าไปสู่อาวาสต้องแสดงความเคารพ ไม่แสดงความแข็งกระด้าง ลดผ้าห่มเฉวียงบ่า วางบริขารไว้ในที่อันสมควร ดูว่าครูบาอาจารย์ที่เป็นหัวหน้าในอาวาส ไม่ได้รับแขก เป็นโอกาสอันสมควร หลวงพ่อสิ้วจึงได้พาเข้ากราบนมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ขอพักค้างคืนอยู่กับท่าน ท่านพระอาจารย์เสาร์ไม่ขัดข้อง อนุญาตให้ฟักได้ คือในขณะนั้นต่างนิกายกันกับท่าน
    .
    หลวงปู่เล่าว่า เมื่อได้ทัศนาและกราบนมัสการท่านพระอาจารย์เสาร์ในครั้งแรก ได้เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาจริยาวัตรของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นอย่างยิ่ง จึงได้คิดในใจว่า "เมื่ออายุของเราครบบวชพระได้ เราจะบวชในสังกัดธรรมยุติกนิกายแล้วจะติดตามไปปฏิบัติอยู่กับท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์" พักอยู่กับท่านพระอาจารย์เสาร์ ที่วัดป่าสุทธาวาสนี้ 2 คืน เมื่อฉันบิณฑบาตและจัดแจงบริขารลงในบาตร เตรียมการเดินทางเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อสิ้วจึงได้พาเข้ากราบนมัสการลาท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ในขณะนั้นท่านได้เตือนให้ธรรมะว่า "ให้ตั้งใจให้ดี ตั้งสติให้ดีนะ" สามเณรบุญจันทร์พอได้ยินหลวงปู่เสาร์ให้โอวาทอย่างนั้น เกิดปีติเยือกเย็นซาบซ่านไปทั่วร่างกาย มีความเบากายเบาจิต คำที่ท่านเตือนให้โอวาทนั้นฝังอยู่ในจิตไม่ได้เลือนลาง
    .
    เมื่อกราบลาท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์แล้ว หลวงพ่อสิ้วได้พาเดินธุดงค์จากสกลนครข้ามเขาภูพานลงไปทางบ้านชาตินาโก ภูแล้นช้าง อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เดินรอนแรมผ่านอำเภอบัวขาว (กุฉินารายณ์) ทะลุถึงอำเภอแวง (อำเภอโพนทอง) จังหวัดร้อยเอ็ด ผ่านอำเภอเสลภูมิ เดินไปภาวนาไป ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น ในที่สุดการเดินทางก็ได้ทะลุถึงอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด พักที่วัดโนนช้างเผือก (ปัจจุบันวัดโนนช้างเผือกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดประชาธรรมรักษ์)
    .
    พ.ศ. 2478 อายุ 20 ปี ได้จำพรรษาที่วัดโนนช้างเผือก เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้วหลวงพ่อผงได้พาเดินธุดงค์เที่ยววิเวก
    ................
    พระอาจารย์กงแก้ว
    รูปหลวงปู่เสาร์
    ........
    *โปรดติดตามตอนต่อไป
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • kongkaew.jpg
      kongkaew.jpg
      ขนาดไฟล์:
      8.9 KB
      เปิดดู:
      105
    • sao.jpg
      sao.jpg
      ขนาดไฟล์:
      18.6 KB
      เปิดดู:
      75
  3. ฌานกร

    ฌานกร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 กันยายน 2010
    โพสต์:
    1,433
    ค่าพลัง:
    +14,651
    ใกล้ๆ วัน ถามมาอีกทีก็ได้ครับ เผื่อนัดไปด้วยกันได้ :cool::cool::cool:
     
  4. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ............กมโล (ผู้งามดั่งดอกบัว)(6)...........(ต่อจากตอนที่แล้ว)
    .
    มุ่งหน้าสู่เขาพระวิหาร
    .
    เมื่อจัดแจงบริขารลงในบาตร นำบาตรเข้าถุงเรียบร้อยแล้ว สะพายบาตรใส่บ่าข้างหนึ่ง มือข้างหนึ่งจับกลดแบกใส่บ่า มือข้างหนึ่งถือกาน้ำ ออกเดินทางจากวัดโนนช้างเผือก ถึงบ้านนาม่วง อำเภอพนมไพร เป็นเวลาใกล้ค่ำ มีป่าแห่งหนึ่งเป็นที่วิเวก เหมาะแก่พระธุดงค์กัมมัฏฐาน หลวงพ่อผงจึงได้พาเข้าพักในป่านั้น ในคืนนั้นฝนได้ตกตลอดทั้งคืน ได้นั่งกรำฝนอยู่ใต้กลดจนตลอดรุ่ง พอรุ่งเช้าเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้านนาม่วง ได้อาหารมาฉันพอประทังชีวิต ต่อจากนั้นได้เที่ยววิเวกไปทางอำเภอคง (อำเภอราษีไศลปัจจุบัน) รอนแรมไปจนถึงบ้านจุมพร ได้พักวิเวกในป่าช้าบ้านจุมพร หลวงปู่เล่าว่า โยมเขาทำร้านด้วยไม้เลียนลำ (ไม้กลมวางเรียงกันโดยไม่ได้ยึดติดกัน) ให้ยาวพอสุดหัวสุดเท้า กางกลดบนร้านนั้น และทำทางจงกรมข้างหลุมฝังศพใหม่ๆ เมื่อโยมทำสถานที่ให้แล้ว เขาก็กลับบ้านไป เหลือแต่หลวงปู่กับหลวงพ่อผงอยู่ในป่าช้านั้น ซึ่งทำที่พักอยู่ห่างๆกัน พอตะวันค่ำมืดลง จึงได้เข้าสู่ทางเดินจงกรม
    .
    ในขณะนั้นได้มีแสงพระจันทร์สาดแสงส่องสว่างมาแทนแสงพระอาทิตย์ เพราะในวันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือน 12 พอดี เดินจงกรมอยู่ริมหลุมฝังศพใหม่ๆนั้น เดินกลับไปกลับมา ตั้งสติกำหนดจิตบริกรรม พุท หายใจเข้า โธ หายใจออก ทันใดนั้นได้เกิดเสียงดังโครมครามขึ้นที่กองฟอนหลุมฝังศพนั้น หลวงปู่ตกใจจนเหมือนตัวหายไปหมด สักครู่หนึ่งจึงรู้สึกตัวขึ้นมา ตั้งสติสอนใจตัวเองว่า "คงจะไม่ใช่ผีหลอกผีหลอนอะไรหรอก เราจะกลัวอะไร ถ้าว่าผีก็ไม่เห็นมันมาต่อสู้อะไรกับเรา ไม่เห็นเป็นตัวเป็นตนอะไรมา" ในที่สุดก็ได้กำลังใจขึ้นมาทุกทีๆ ความกลัวนั้นก็หายไป ได้เดินจงกรมไปมาจนเหนื่อยแล้วจึงหยุด ล้างเท้าแล้วขึ้นบนร้าน จัดแจงเอามุ้งกลดลงแล้วเข้านั่งในมุ้งกลดนั้น เตรียมไหว้พระสวดมนต์ ขณะนั่งไหว้พระนั้นกระดุกกระดิกแรงก็ไม่ได้ เพราะไม้ที่ปูเลียนลำนั้นวิ่งออกจากกัน จึงต้องมีสติระมัดระวัง นี้จึงเป็นเหตุให้ธรรมะเกิดขึ้นที่ใจ คือ ความเพียร ความระลึกรู้ ความตั้งใจมั่นและความรอบรู้ของใจ เมื่อไหว้พระสวดมนต์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้เข้าที่นั่งภาวนาต่อไป ในขณะนั้นจิตได้รวมตัวสงบเข้าเป็นหนึ่ง คลายจากความกลัวทั้งหมด แล้วจึงได้หยุดพักผ่อน
    .
    รุ่งเช้าเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้าน กลับออกมาที่พักมีโยมผู้หญิง 3 คน ตามมาถวายอาหาร พักอยู่ 2 คืน จึงออกเดินทางต่อไปถึงบ้านนาทุ่ง พวกโยมทำที่พักให้ในป่าแห่งหนึ่งจึงได้พักอยู่ในที่นั้น ได้มีคนรู้จักกับหลวงพ่อผงได้มาสนทนาด้วย ต่อจากนั้นจึงได้เดินธุดงค์ต่อไปทางอำเภออุทุมพร ถึงบ้านนาม้อง พักในป่าแห่งหนึ่ง จัดแจงเอาสายระเดียงขึง สันข้างหนึ่งผูกต้นไม้ต้นหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็ผูกต้นไม้อีกต้นหนึ่ง แล้วเอากลดแขวนตรงกลางเอามุ้งกลดวงรอบ เอาผ้าอาบน้ำปูลงกับพื้นดิน ไหว้พระภาวนาแล้วจำวัดในที่นั้น รุ่งเช้าเข้าไปบิณฑบาต ชาวบ้านเขาตื่นสายไม่มีคนใส่บาตร เดินไปพอดีมีบ้านหลังหนึ่งเจ้าของกำลังติดไฟแล้วเอาหม้อหุงข้าวใส่น้ำตั้งบนก้อนเส้า จึงได้ยืนภาวนาคอยอยู่ในที่นั้น เมื่อเขาเอาหม้อตั้งไว้แล้ว เขาก็ไปตักเอาข้าวเปลือกในเล้ามาใส่ครกไม้ตำด้วยสากมือ คือเอามือจับสากแล้วตำข้าวในครก ตำไปแล้วก็ตักออกใส่กระด้ง ฝัดข้าวสารใส่หม้อ ที่เหลือเป็นข้าวเปลือกก็ใส่ครกตำไปอีก ฝัดเอาข้าวสารใส่หม้ออีก ทำอยู่อย่างนี้จนกะว่าจะกินอิ่มในครัวเรือนนั้นจึงหยุด เมื่อข้าวสุกดีแล้ว เขาก็ตักเอาข้าวในหม้อนั้นมาใส่บาตรให้ พร้อมกับเกลือก้อนหนึ่งเท่าหัวโป้มือ (หัวแม่มือ) และพริกแห้ง 2-3 ลูก และปลาระฮอก ก้อนหนึ่งเท่าลูกมะกอก รับบิณฑบาตโดยเคารพด้วยเมตตาและขันติความอดทน แล้วจึงกลับไปสู่ที่พักทำภัตตกิจ ฉันข้าวกับพริกเกลือและปลาระฮอก พอกำจัดความหิวและยังชีพให้เป็นไปพอได้เจริญสมณธรรมต่อไป เมื่อฉันเสร็จแล้วล้างบาตรจัดแจงแต่งบริขารเรียบร้อยแล้ว จึงได้อำลาบ้านนาม้อง สององค์กับหลวงพ่อผงได้ธุดงค์รอนแรมไปถึงห้วยทับทัน แล้วได้วกกลับมาจนถึงอำเภอพนมไพร ความตั้งใจจะไปเขาพระวิหารจึงไม่สำเร็จ เมื่อกลับถึงอำเภอพนมไพร จึงเข้าพักที่วัดป่าโนนช้างเผือกอีก ในระหว่างนั้นก็ไม่มีครูบาอาจารย์สอนเรื่องภาวนาก็ด้นเดาทำเอา
    .
    เร่งความเพียร
    .
    ในระยะนั้นได้ประกอบความเพียรเป็นอันมาก ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานเดินจงกรมตามเดือน (ตามพระจันทร์) ตั้งแต่ขึ้น 2 ค่ำ 3 ค่ำ ถ้าพระจันทร์ไม่ตกดินไม่หยุดเดิน จนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดินจงกรมตลอดคืนไม่นอน ผลที่เกิดขึ้นมีวันหนึ่งในขณะที่เดินจงกรมอยู่นั้นจิตรวมลงเป็นหนึ่ง ปรากฏว่าร่างกายไม่มี คล้ายๆกับเดินไม่เหยียบดินเลยเหมือนกับลอยไปลอยมา ไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิวอะไรเลย มีแต่ความเบากายเบาจิต แต่ในขณะนั้นยังไม่เกิดปัญญาพิจาณาอะไร มีแต่ความเบากายเบาจิตเท่านั้น
    .
    เดินทางเข้าจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ
    .
    ครั้นพักอยู่ที่วัดป่าโนนช้างเผือกถึงเดือน 7 พ.ศ. 2479 จึงออกเดินทางจากอำเภอพนมไพร เดินด้วยเท้าตามทางคนทางเกวียน สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เขียวชอุ่ม ชุ่มตาชุ่มใจในธรรมชาติ ระยะทางจากพนมไพรถึงร้อยเอ็ด 60 กิโลเมตร เดินทาง 2 วัน วันที่ 2 ยังไม่ค่ำถึงจังหวัดร้อยเอ็ด มีโยมจารย์สิ้ว (อดีตหลวงพ่อสิ้ว) สะพายเครื่องบริขารที่จะบวชพระเดินทางมาด้วย เมื่อถึงร้อยเอ็ดได้เข้ามอบตัวกับพระอาจารย์สีโห เขมโก ที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ ฝึกหัดอักขรฐานกรณ์ ที่แรกนึกว่าจะไม่ได้บวชเพราะฝึกหัดยาก ออกเสียงไม่ถูกตามมคธภาษา จึงได้ตั้งใจฝึกหัดไม่ลดละ ในที่สุดพระอาจารย์สีโหจึงรับรองว่าบวชได้
    .
    อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุตตามที่ได้ตั้งใจไว้
    .
    เมื่อฝึกหัดคำขอบวชได้คล่องแคล่วแล้ว พระอาจารย์สีโหจึงได้นำพาไปอุปสมบทที่วัดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 เวลา 15.15 น. โดยมีท่านเจ้าคุณพระโพธิญาณมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาบุญถึง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วได้กลับมาอยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์ ถือนิสัยกับท่านพระอาจารย์สีโห เขมโก ได้ตั้งใจปฏิบัติกิจวัตร อาจาริยวัตร ข้อวัตรปฏิบัติด้วยความเคารพไม่ให้ขาดตกบกพร่อง
    .............
    *โปรดติดตามตอนต่อไป
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 1234177028.jpg
      1234177028.jpg
      ขนาดไฟล์:
      71.7 KB
      เปิดดู:
      64
  5. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ............กมโล (ผู้งามดั่งดอกบัว)(7)...........(ต่อจากตอนที่แล้ว)
    .
    พรรษาที่ 1
    (พ.ศ. 2479 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด)
    .
    เมื่อถึงกาลเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 พ.ศ. 2479 เวลาเย็น บ่าย 4 โมง พระภิกษุสามเณรพร้อมกันทำกิจวัตร คือปัดกวาดลานวัดรอบศาลารอบกุฏที่พักของใครของมัน ซึ่งปลูกเป็นหลังๆอยู่ห่างจากกันพอประมาณ และตามทางเดินในวัด เมื่อปัดกวาดลานวัดเสร็จแล้วก็พร้อมกันขึ้นศาลาโรงธรรม ปัดกวาดเช็ดถูพื้นกระดานด้วยมะพร้าวแห้งตัดครึ่งลูก ถูไปมาทั่วศาลาแล้วจึงใช้ไม้กวาดกวาด แล้วใช้ผ้าแห้งถูจึงสะอาดเรียบร้อย เสร็จแล้วพร้อมกันตักน้ำหามน้ำใส่ตุ่ม สำหรับล้างบาตร ตามถาน (ส้วมเป็นส้วมปล่อยไม่ได้ใช้น้ำราด แต่น้ำนั้นสำหรับไว้ใส่กระบอกชำระล้างก้นเวลาถ่ายเสร็จแล้ว) ตามบันไดขึ้นกุฏิศาลาสำหรับล้างเท้า น้ำที่นำไปใส่ในที่ต่างๆนั้นจะต้องเปลี่ยนบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดเป็นลูกน้ำ เพราะถ้าเกิดลูกน้ำมีตัวสัตว์ ต้องนำน้ำนั้นไปเทลงในน้ำหนองน้ำบ่อ เทรดดินรดหญ้าไม่ได้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ การตักน้ำก็ตักขึ้นจากบ่อโดยใช้ไม้ไผ่เป็นลำ ทำเป็นไม้สำหรับเกาะครุตักน้ำ ไม้ไผ่เลี้ยงลำพอเหมาะมือ ตัดมาแล้วใช้สิ่วเจาะทางโคนต้นทำไม้เป็นเดือยเป็นไล เขาเรียกไลคันขอ ตีเข้ารูไม้ไผ่ที่เจาะไว้ เขาเรียกไม้คันขอ สำหรับเกาะครุหย่อนลงในบ่อลึกตักน้ำแล้วดึงขึ้นมาเทใส่ครุข้างบน พระเณรช่วยกันตักน้ำ รูปหนึ่งตักดึงขึ้นมา รูปหนึ่งรับครุเทใส่ครุข้างบน รูปหนึ่งถือผ้าสำหรับกรองน้ำ อีกพวกหนึ่งช่วยกันหามไปใส่ตุ่ม พระเณรต่างมีความสามัคคีกันช่วยกันทำกิจวัตรข้อวัตร
    .
    เมื่อเสร็จแล้วก็พร้อมกันทำอาจาริยวัตรสรงน้ำครูบาอาจารย์ผู้เป็นพระเถระด้วยการถูหลังถูเท้า รับผ้าอาบน้ำผลัดเปลี่ยน เสร็จแล้วตนเองจึงได้สรงน้ำ เมื่อสรงน้ำเสร็จเวลาย่ำค่ำ 1 ทุ่ม พร้อมกันขึ้นศาลาโรงธรรม ประธานสงฆ์โดยมีพระอาจารย์สีโหได้นำทำวัตรสวดมนต์เย็น จบแล้วทั้งพระภิกษุสามเณรได้ร่วมกันกล่าวคำอธิษฐานเข้าพรรษา ท่านให้ว่าทีละองค์ตามลำดับพรรษาจนครบหมดทุกองค์จึงได้เลิกกัน
    .
    หลวงปู่เล่าว่า ในพรรษานี้ได้ตั้งใจทำความเพียรไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ เวลากลางวันหลังจากฉันจังหันเช้าเสร็จแล้วล้างบาตร เก็บกวาดที่ฉัน ทำข้อวัตรเสร็จแล้วก็สะพายบาตรกลับกุฏิ พอถึงกุฏิแล้วไม่ขึ้นกุฏิ ยื่นบาตรขึ้นไว้บนกุฏิให้ห่างจากที่ตก 1 ศอก แล้วเข้าสู่ทางเดินจงกรม การเดินจงกรมได้แก่ การเดินภาวนานั่นเอง เดินไม่ช้าไม่เร็ว กำหนดรู้ที่ใจ สติเป็นเพื่อนสองของใจ บางวันก็เดินจงถึงเวลาทำกิจวัตร คือบ่าย 4 โมงเย็น กวาดลานวัด บางวันเดินจงกรมเหนื่อยก็นั่งภาวนาสลับกันไปจนถึงเวลาทำกิจวัตรจึงออกจากทางเดินจงกรม บางวันฝนตกก็นุ่งผ้าอาบน้ำเดินจงกรมตากฝนอยู่อย่างนั้น เร่งทำความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืนไม่ประมาท หาอุบายฝึกฝนทรมานตนเอง ถ้าเราไม่ฝึกตนเองก็ไม่มีใครที่ไหนจะฝึกให้เรา เราต้องฝึกตนเองเพื่อให้เกิดกำลังสติ สมาธิและปัญญาในทางอริยมรรค บางครั้งเวลาเดินจงกรม ถีนมิทธะความง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้นก็ต้องฝืน ไม่ได้ปล่อยตามความต้องการ การทำทางเดินจงกรมนั้นปลายทางทั้งสองข้างเป็นพุ่มหนามคัดเค้า พอเดินจงกรมขาดสติเคลิ้มไปก็เดินเลยเข้าพุ่มหนาม หนามเกาะหูเกาะขา เมื่อรู้สึกตัวปลดหนามออกกลับเดินจงกรมใหม่ ทำอยู่อย่างนั้นจนความง่วงหายไปเพราะกำลังสติกล้าขึ้น ในที่สุดจิตก็ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว มีสติระลึกรู้ตื่นอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งหลายเหล่านั้นก็หมดกำลังและสงบไป การทำความเพียรในพรรษานี้ได้รับผลคือความสงบทางใจเป็นอันมาก
    .
    ไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติกับท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
    .
    หลวงปู่เล่าว่า โอวาทธรรมที่หลวงปู่เสาร์ได้เตือน "ให้ตั้งใจให้ดี ตั้งสติให้ดี" ในคราวเป็นสามเณรไปกราบนมัสการท่านที่วัดป่าสุทธาวาสในคราวนั้น ยังเอิบอิ่มอยู่ในจิตใจ ด้วยเหตุนี้เมื่อได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วจึงได้คิดอยู่เสมอว่า อยากจะไปอยู่ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติและฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้วย่างเข้าฤดูหนาว ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวนำขึ้นไปใส่ยุ้งใส่เล้าเสร็จแล้ว เป็นฤดูที่เหมาะแก่การเที่ยววิเวกธุดงค์หาความสงบตามสถานที่ต่างๆ พระอาจารย์พานและพระภิกษุบุญจันทร์พร้อมด้วยพระภิกษุ 1 รูป สามเณร 1 รูป รวมเป็น 4 รูปด้วยกัน ได้พร้อมกันกราบลาพระอาจารย์สีโห เขมโก เพื่อเดินทางไปศึกษาอบรมกับท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล
    .
    ในระหว่างเดินทาง ท่านพระอาจารย์พานได้พาพักวิเวกไปตามหมู่บ้านต่างๆ อบรมประชาชนให้เข้าถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ที่บ้านเขืองใหญ่มีประชาชนมารับการอบรมฟังธรรมทั้งผู้เฒ่าผู้แก่เด็กหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก พักอยู่ที่บ้านเขืองใหญ่นี้เป็นเวลา 5 คืน ท่านอาจารย์พานจึงพาเที่ยวไปทางบ้านตาอุดตาเสือ และบ้านเหล่าแขม เมื่อเวลาอยู่ที่นั่น ท่านอาจารย์พานได้อบรมประชาชนให้นั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง โดยให้ยึดเอาพุทโธเป็นอารมณ์ของใจ อยู่มาวันหนึ่ง ได้มีพวกหนุ่มสาวพร้อมทั้งผู้ใหญ่บ้านเหล่าแขม ชื่อผู้ใหญ่เกษ ได้มารับการอบรมธรรมะ ท่านอาจารย์พานได้สอนให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ คือ ให้เป็นผู้มีความเคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ ให้เชื่อในผลของกรรมว่าทำดีจักได้รับผลดี ทำชั่วจักได้รับผลชั่ว หลวงปู่เล่าว่าตัวท่านเองได้เป็นผู้เอาใจใส่ในอาจาริยวัตร คอยดูแลอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ นั่งอยู่เป็นเพื่อนครูบาอาจารย์ในเวลามีแขกญาติโยมมาหาครูบาอาจารย์ จนแขกญาติโยมเลิกกลับไปหมดจึงจะได้พักผ่อน
    .
    อยู่ต่อมาวันหนึ่งไม่รู้ว่าเรื่องอะไร เป็นเวลาในราว 1 ทุ่ม ในขณะนั้นท่านอาจารย์พานกำลังเทศนาอบรมอยู่ ได้มีคนร้ายมาขว้างค้อนใส่ ครั้งที่ 1 ถูกต้นไม้ ครั้งที่ 2 ก็ถูกต้นไม้อีก ครั้งที่ 3 เป็นก้อนดินขว้างเข้ามาถูกต้นไม้แตกกระเด็นมาถูกหัวภรรยาผู้ใหญ่บ้าน ในขณะนั้นมีผู้ชายคนหนึ่งมานั่งฟังเทศน์อยู่ด้วย จึงวิ่งออกไปดู พวกเหล่าร้ายนั้นพากันวิ่งเตลิดหนีไป ไม่ว่ายุคใดสมัยใด คนเรานี้มีทั้งดีทั้งไม่ดีปะปนกันอยู่อย่างนั้น คนดีมีจิตใจประกอบไปด้วยศีลธรรมก็ตั้งใจฟังธรรมแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตาม คนร้ายจิตใจร้ายกาจเต็มไปด้วยอิจฉาริษยา คอยแต่จะเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น
    .
    พักอบรมอยู่บ้านเหล่าแขม เป็นเวลา 15 วัน พอดีมีโยมอีกบ้านหนึ่ง เขามาขอนิมนต์ไปพักอยู่ดอนอารักษ์ของเขา ท่านอาจารย์พานจึงได้พาไปโปรดญาติโยมตามที่เขานิมนต์นั้น พอไปพักอยู่ที่นั่น ได้มีคนมาฟังเทศน์รับการอบรมเป็นจำนวนมาก ท่านอาจารย์พานได้เทศน์อบรมญาติโยมที่ออกมาฟังเทศน์ในเวลากลางคืน มีคนเกิดศรัทธาเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก มีทั้งคนหนุ่มคนสาวออกไปรับการอบรมด้วย ในระยะนั้นท่านอาจารย์กำลังเทศน์อบรมอยู่ พวกชายหนุ่มเขาพากันเป่าแคนทำการรบกวนมาก ท่านอาจารย์จึงได้ห้ามให้เขาหยุด เขาก็ไม่หยุด ท่านจึงสั่งให้ญาติโยมที่นั่งรับการอบรมอยู่นั้นเลิกกลับบ้านหมด พอญาติโยมกลับบ้านไปหมดแล้ว ท่านอาจารย์พานพร้อมด้วยพระเณรลูกศิษย์กำลังนั่งสนทนาพูดคุยกันอยู่ ในระยะนั้นเป็นเวลาประมาณ 3 ทุ่ม
    .
    พุทธานุภาพมีอำนาจกว่าดิรัจฉานวิชา
    .
    ไม่มีลมมีฝนอะไรเลย แต่มีเสียงอันหนึ่งดังมาเป็นเสียงอึดๆมาทางอากาศ คงจะเป็นเวทมนตร์เขาทำมาทดลองพระกรรมฐาน พอมาถึงต้นไม้ มีกิ่งไม้หักลงมา จะว่าลมก็ไม่เห็นมีลมพัดอะไร ท่านอาจารย์พานจึงบอกว่าคงจะเป็นเขาปล่อยวัวธนู แต่ท่านไม่กลัวเพราะท่านมีความเชื่อมั่นต่อพุทโธอยู่แล้ว พุทโธเป็นใหญ่ในโลกสาม ผู้ใดมีความเชื่อมั่นต่อพุทโธตั้งใจปฏิบัติ ไปไหนมาไหนมีพุทโธประจำใจ ใจเข้าถึงพุทโธ พุทโธเข้าถึงใจแล้วไม่มีเวรมีภัย
    .
    ได้พักอยู่ที่ดอกอารักษ์ บ้านเหล่ากอยนี้ 3 คืน พอดีท่านอาจารย์พ่านได้พาออกเดินทางต่อไปอำเภอพนมไพร หลวงปู่เล่าว่าพอผ่านตัวอำเภอพนมไพรก็เลยไปถึงบ้านคำพระ (กุดโอ) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านเอง
    .
    พบมารดาผู้บังเกิดเกล้าเป็นครั้งสุดท้าย
    .
    เมื่อพระอาจารย์พานพาลูกศิษย์เดินเที่ยววิเวกรอนแรมมาถึงบ้านคำพระ ได้เข้าพักกางกลดในป่าดอนธาตุนั้นเอง เมื่อโยมมารดาของหลวงปู่ได้ทราบว่าลูกชายสุดที่รักของตนพร้อมด้วยครูบาอาจารย์มาพักที่ป่าดอนธาตุใกล้บ้านของตน จึงได้ออกมาต้อนรับถวายหมากพลูบุหรี่ ตามประเพณีชาวพุทธในครั้งนั้น ท่านอาจารย์พานได้เทศน์ธรรมให้ฟังบ้างเล็กน้อย เพราะเวลาไม่มาก เมื่อหลวงปู่มองดูโยมมารดาแล้วเกิดความสลดใจเป็นอย่างยิ่ง ในขณะนั้นได้มีความรู้อันหนึ่งขึ้นในใจว่า "แม่ของเรานี้เห็นจะอายุสั้นมากนัก" แต่แล้วก็ไม่กล้าจะพูดอะไรให้ฟัง เพียงแต่เตือนสติให้ตั้งใจภาวนาให้มากๆเท่านั้น แล้วโยมแม่ก็กลับเข้าบ้านไป พักอยู่ที่นี่ 1 คืน พอรุ่งเช้าก็เข้าบิณฑบาตตามสมณวิสัยแล้วกลับมาฉัน มีญาติโยมตามมาถวายจังหันบ้างไม่มากนัก ในวันนั้นฝนตกตลอดวัน พอฉันจังหันเสร็จแล้ว พระอาจารย์พานได้พาออกเดินทางต่อไปถึงบ้านกระจายศรีฐาน ค่ำพอดีเข้าพักที่วัดป่ากระจายศรีฐาน พักอยู่ได้ 6 วัน พอวันที่ 7 พี่ชายใหญ่ คือนายอ่อนสี ได้ตามมา
    .
    ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
    .
    หลวงปู่เล่าว่า "พอมองเห็นพี่ชายเดินเข้าวัดมา ในใจก็นึกขึ้นมาเองว่ามารดาของเราคงตายเสียแล้ว พอพี่ชายเข้ามาถึง จึงพูดไปเรื่องอื่นปลอบใจพี่ชายเสียก่อน เพราะกลัวว่าพี่ชายจะอดกลั้นความเศร้าโศกเสียใจไม่ได้ เพราะความเป็นห่วงในมารดาของตนที่จากไปไม่มีวันกลับ"
    .
    พอพูดเรื่องอื่นไปพอสมควรแล้ว จึงย้อนถามพี่ชายว่ามาในเวลานี้มีธุระอะไรกันแน่ พี่ชายจึงพูดขึ้นด้วยความเศร้าใจว่า "บัดนี้มารดาของเราได้ถึงแก่กรรมไปเสียแล้ว" พอพี่ชายพูดอย่างนั้น จึงได้พูดกับพี่ชายว่า "ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร หายใจตาง (แทน) กันก็ไม่ได้แล้ว เพราะว่าความตายเป็นของธรรมดาอยู่แล้ว เราก็จะตายเช่นกันไม่ว่าแต่มารดาของเราเลย เกิดกับตายเป็นของคู่กัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะให้ทำอย่างไร จะให้กลับหรือทำอย่างไร" พี่ชายจึงพูดว่า "การจะกลับหรือไม่กลับนั้นก็ไม่ว่า เวลานี้เป็นแต่เพียงตามมาบอกข่าวให้ทราบเท่านั้น" พอพี่ชายพูดอย่างนั้นจึงได้พูดกับพี่ชายว่า "การจะกลับนั้นเห็นจะกลับไม่ได้เพราะเวลานี้ก็จวนจะเข้าพรรษาแล้ว การจำพรรษานั้นยังไม่รู้ว่าจะได้จำที่ไหนแน่" และได้ย้อนถามพี่ชายว่า "เวลานี้ได้เก็บศพแม่ไว้อย่างไร เผาหรือฝัง" พี่ชายตอบว่า "ฝังไว้" จึงบอกพี่ชายว่า "ถ้าอย่างนั้นนัดกันตอนเดือน 4 จึงจะกลับไปทำบุญและนำศพแม่ขึ้นมาเผา"
    .
    เมื่อพูดกับพี่ชายเช่นนั้นแล้ว พี่ชายได้พักอยู่ที่นี่ด้วย 1 คืน จึงเดินทางกลับไป ตัวเองก็ได้พักอีก 1 คืน ท่านอาจารย์พานจึงได้พาออกเดินทางต่อไปยังอุบลราชธานี เพื่อจะได้นมัสการฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล เมื่อเดินทางไปถึงบ้านท่าวารี ได้พักอยู่กับท่านอาจารย์ทอง 1 คืน จึงออกเดินทางต่อไปบ้านข่าโคม (บ้านเกิดของพระอาจารย์เสาร์) เพื่อที่จะได้ฟังธรรมของท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ เพราะมีความหิวกระหายในการที่จะฟังธรรมเป็นอันมาก เมื่อเดินทางถึงบ้านข่าโคมแล้ว ท่านอาจารย์พานจึงได้พาลูกศิษย์ที่เดินทางด้วยกัน เข้ากราบนมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล พร้อมทั้งถวายตัวเป็นศิษย์ขอนิสัยจากท่านและขอฟังธรรมจากท่านด้วย
    .
    พระอาจารย์ใหญ่เสาร์แสดงธรรมให้ฟัง
    .
    หลวงปู่เล่าว่า ในขณะนั้นท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ก็แก่ชรามากแล้ว ท่านไม่ค่อยแสดงธรรมอะไรมาก "ท่านสั่งให้พิจารณาความตายให้มากๆ ไม่ว่าคนว่าสัตว์เกิดมาแล้วก็ต้องตายเพราะเกิดกับตายเป็นของคู่กัน จึงเป็นสิ่งที่ถูกกับจริตนิสัยของเรา เพราะปกติในคราวเป็นเด็กก็เคยพิจารณาความตายเป็นนิสัยมาอยู่แล้ว"
    ..............
    รูปหลวงปู่เสาร์และบรรดาลูกศิษย์
    ...
    *โปรดติดตามตอนต่อไป
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • images.jpg
      images.jpg
      ขนาดไฟล์:
      11.7 KB
      เปิดดู:
      71
  6. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ......สวัสดีวันอาทิตย์วันหยุดสุดแสนจะสบาย ช่างชิตขอคั่นเวลาประวัติหลวงปู่หน่อยนะครับ พอดีช่างชิตฟังเทปเทศน์ของหลวงตามหาบัว(พระอาจารย์ของหลวงตาเราอีกรูป) แล้วเล็งเห็นว่ามีประโยชน์กับทุกๆท่านที่นับถือ "พระพุทธศาสนา" อย่างแท้จริง
    ......จะได้รู้ว่าอะไรบ้างเป็นแนวทางคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ ไม่เอาไปปนกับคำสอนของศาสนาหรือลัทธิอื่นๆ จึงคัดลอกคำสอนท่านเอามาแบ่งปั่นกัน ตามนี้ครับ (เทศน์เมื่อปี 2541)
    .
    เมื่อพิธีกรรายงานกราบเรียนถามท่านว่า
    "ปีที่แล้วก็ไม่ค่อยดี ปีนี้ก็ไม่ดีอีก สองสามปีมานี้มีปัญหาตลอดเลย จะแก้ไขยังไงดีครับ"
    .
    หลวงตาท่านเมตตาตอบว่า
    “ปีกับเดือนมันมาโจมตีคนแบบไหนบ้างบอกมาสิ เห็นมีแต่คนที่ก่อกวนวุ่นวายเป็นข้าศึกกับคนด้วยกันเอง ปีเดือนเขามาเป็นข้าคึกกับคนที่ไหน มืดกับแจ้งมีมาตั้งกัปตั้งกันฑ์ ไปหาเรื่องใส่เขาทำไม ถ้าไปหาเรื่องใส่เขาแล้วเสร็จสมตามมุ่งหมายก็ทำเรือนจำบังคับมันไปสิมืดกับแจ้ง อย่าให้มันออกมาทำร้ายรุกรานคน แล้วนี้มันทำได้ไหม..!! "
    ".......ก็เขาเป็นธรรมชาติของเขามาตั้งกัปตั้งกันฑ์ ก็มีแต่คนละที่ลุกลิก สร้างความไม่ดีไม่งามกันเอง แล้วก็พาลไปใส่ดินฟ้าอากาศ
    ตัวเราเป็นสำคัญ ปีเดือนเขามีของเขามาตั้งกัปตั้งกันฑ์ หน้าร้อนก็ร้อนหน้าหนาวก็หนาว เราเองที่มาสัมผัสกับเขาก็ต้องปฏิบัติให้เหมาะให้สม ร้อนก็อาบน้ำ หนาวก็ห่มผ้า ไอ้ก่อเรื่องราวที่วุ่นวายทุกข์ทรมานมากๆ ฆ่าฟันกันเอง โลกถล่มไปนี้ก็มีแต่มนุษย์นี้ละทำกันเอง ให้ปรับปรุงตัวมนุษย์นี้ละอย่าไปหาปรับปรุงดินฟ้าอากาศ ปีนั้นไม่ดี ปีนี้ไม่ดี ปรับที่ตัวมนุษย์เอง
    ตัวของเราไอ้ตัวที่ไม่ดีนี้ละ ให้มีศีลมีธรรม อยากจะได้ดีต้องทำดีเอาเอง”

    .
    พิธีกรจึงถามต่อไปอีกแล้ว
    "ถ้างั้นเรื่องดวงละครับ เราไปดูดวงว่า ดี ไม่ดี อย่านั้นอย่างนี้ เราจะเชื่อดวงได้ไหมครับ"
    .
    หลวงตาตอบว่า
    “เชื่อดวง สมมุติ ถ้าดวงบอกทำบาปทำไปเถอะ จะได้แต่บุญมากๆ
    เราจะเชื่อไหม!! ถ้าเชื่อไม่ได้ แสดงว่าดวงก็โกหกละสิ เข้าใจไหม
    เราต้องเชื่อตัวเราเอง เรื่องดวงก็ต้องวัดด้วยตัวของเรา เราเป็นประธาน เราต้องเชื่อตัวเอง เราทำยังไงดวงจะเอนเอียงตามเรา เราเดินดวงก็เดิน เรานอนดวงก็นอน เราติดคุกดวงก็ติดคุก ถ้าเราเป็นคนดีดวงเราก็ดีดวงเป็นเงาตามตัวเรา ดวงตามเราไม่ใช่ดวงนำเรา ทำดีต้องได้ดีทำชั่วต้องได้ชั่ว
    นี้คือหลักธรรมชาติแก้ไขดัดแปลงลบล้างไม่ได้ ทุกอย่างอยู่กับเราทำเอง ดวงก็ดวงบอกมาหาเรา ไม่ได้บอกไปหาดินฟ้าอากาศ ให้เราปฏิบัติตัวเรา ถ้าดวงบอกว่าวันนี้จะไม่ดีนะ ถามสิไม่ดีอะไร ดวงบอกถ้าไปกินเหล้าเมานะ แล้วเราฝืนไปกินสิ เราจะเมาไหม กินมากเมามาก กินน้อยเมาน้อย กินมากๆขี้แตกทะลักออกไม่รู้ตัวเลยเห็นไหม นี้คือความจริง ดวงก็บอกตามความจริงที่เราทำ อย่าไปฝืนความจริงละเห็นไหม นี้ว่าดวงไม่ดีหรือตัวเราเองไม่ดี”

    .........
    ฝากเอาไว้ครับ ธรรมของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ท่านเอาสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนตรัสมา 2500 ปีมาสอน .....เรื่อง ดวง เรื่อง ฤกษ์ ยาม เรื่อง ปีชง ปีไม่ชง ถ้าเรางมงายมากๆ มันก็ขัดแย้งในสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอน
    ........บทความนี้อาจจะไม่ถูกใจในความรู้สึกของคนบางคน (อย่างเช่นเรื่อง ฤษีเป่าหัวพระหรือพระจับเงิน ที่ช่างชิตเอามาเขียนลง แต่ช่างชิตยึดความถูกต้องไม่เอาถูกใจครับ) ถ้าทุกท่านคิดว่านับถือพระพุทธศาสนาจริงๆ ก็ขอความกรุณาเปิดใจรับฟัง คิด วิเคราะห์ แยกแยะ บ้างก็จะดีกับตัวทุกท่านเองไม่มากก็น้อยนะครับ
    ..............

    รูปประกอบเอามาจากเนต
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • CeiuCI.jpg
      CeiuCI.jpg
      ขนาดไฟล์:
      167 KB
      เปิดดู:
      66
  7. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ชอบประโยคนี้จริงๆ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  8. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ............กมโล (ผู้งามดั่งดอกบัว)(8)...........(ต่อจากตอนที่แล้ว)
    .
    พรรษาที่2
    (พ.ศ. 2480 จำพรรษาที่วัดป่าบ้านวังถ้ำ จ.อุบลราชธานี)
    .
    เมื่อจวนจะเข้าพรรรษามีโยมจากบ้านวังถ้ำมาขอพระกับท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ ให้ไปอยู่จำพรรษาที่สำนักป่าบ้านวังถ้ำ ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์จึงสั่งว่า ให้ท่านบุญไปอยู่บ้านวังถ้ำกับท่านอาจารย์คำบง และก็มีท่านอาจารย์คำ สุมงฺคโลด้วยองค์หนึ่ง สำหรับท่านอาจารย์พานนั้น ท่านอาจารย์ใหญ่เสาร์ได้จัดให้ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านปะอาว จึงได้แยกกันกับท่านอาจารย์พาน ในพรรษานี้ได้ตั้งใจประกอบความเพียรด้วยความไม่ประมาท ได้ไปรับการอบรมฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ที่วัดป่าบ้านข่าโคมอยู่เนืองนิจ ซึ่งมีพระอาจารย์บัวพา ปญฺญาภาโส เป็นผู้อุปัฏฐากท่านอาจารย์เสาร์
    .
    ในขณะนั้นจิตได้รับความสงบเยือกเย็น แต่การมีปัญญารู้เห็นอย่างอื่นยังไม่มี อยู่มาวันหนึ่งในขณะที่เดินจงกรมทำความเพียรอยู่แต่หัวค่ำ เดินไปมาจิตรวมลงเป็นหนึ่ง เกิดแสงสว่างขึ้นสว่างไสว ในขณะจิตนั้นจึงนึกขึ้นว่านี้แสงอะไร แสงสว่างนั้นจึงหายไป ในขณะนั้นจิตก็ยังสงบอยู่ และเดินจงกรมต่อไป
    .
    ทดสอบความจริง
    .
    ชาวบ้านวังถ้ำเขาลือกันว่าในป่าช้ามีผีตายทั้งกลมดุมาก เวลากลางคืนจะดันดินกลบหลุมฝังศพขึ้นมา อยู่ต่อมาท่านอาจารย์คำบงได้พาไปเยี่ยมป่าช้า (ไปภาวนาในป่าช้า) ในเวลากลางคืนวันนั้นเดือนแจ้งสว่าง หลวงปู่บอกว่า "เราต้องการจะทดสอบความจริงตามที่เขาเล่าลือกัน จึงเลือกเอาที่หลุมฝังศพผีทั้งกลมนั้นเป็นที่นั่งภาวนา เอาผ้าปูลงบนเนินดินที่เขากลบศพไว้นั่นเอง ตั้งจิตอธิษฐานบูชาต่อพระรัตนตรัย ถ้ามีอะไรถ้าผีมันดุเหมือนเขาลือกันให้มันดันก้นที่นั่งภาวนาอยู่นี้ขึ้นมาเลยจะได้พูดคุยกัน" ในที่สุดไม่มีอะไร นั่งภาวนาไปจนถึงเวลา 6 ทุ่ม ท่านอาจารย์คำบงจึงได้พากลับวัด
    .
    ไปอย่างมีครู อยู่อย่างมีอาจารย์
    .
    ครั้นอยู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านวังถ้ำครบไตรมาส 3 เดือน แล้วจึงได้ปวารณาออกพรรษา ครั้นออกพรรษาแล้วได้มีการทอดกฐินและกรานกฐิน ท่านอาจารย์ใหญ่เสาร์ได้มาเป็นประธานในงานนี้ด้วย ต่อมาที่วัดป่าบ้านข่าโคมซึ่งเป็นที่ท่านอาจารย์ใหญ่เสาร์จำพรรษา ได้มีศรัทธาชาววังจากกรุงเทพมหานคร นำผ้ากฐินและผ้าบังสุกุล จำนวน 70 ไตร มาทอดถวาย ครูบาอาจารย์พระเณรที่อยู่ในละแวะนั้นได้มาร่วมช่วยกันตัดเย็บผ้ากฐิน ในจำนวนพระ 70 รูปที่จะรับผ้าไตรบังสุกุล 70 ไตรนั้น ท่านอาจารย์ใหญ่เสาร์จึงได้สั่งว่า "ให้ท่านบุญด้วยองค์หนึ่งเป็นผู้ชักผ้าบังสุกุล" (พระอาจารย์ใหญ่เสาร์มักเรียกหลวงปู่ว่า "บุญ") เมื่อครูบาอาจารย์สั่งอย่างไรจึงได้ทำอย่างนั้น เมื่อศรัทธาญาติโยมทอดผ้ากฐินบังสุกุลเสร็จแล้ว ญาติโยมชาววังจึงขอนิมนต์ให้ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์แสดงธรรมให้ฟัง เมื่อท่านขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์ พระภิกษุสามเณรและญาติโยมต่างก็ตั้งอยู่ในความสงบคอยสดับรับฟังธรรม ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์เริ่มแสดงธรรม ท่านตั้งนะโม 3 จบ เสร็จแล้วท่านก็ว่า "ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้" จบแล้วท่านก็ลงจากธรรมาสน์ ท่านเป็นผู้มีนิสัยพูดน้อยและเยือกเย็น
    .
    เมื่อเสร็จกิจของสงฆ์ในเรื่องกฐินแล้ว ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์จึงได้สั่งว่า "ให้ท่านบุญไปอยู่เป็นเพื่อนท่านอาจารย์อาดที่วัดสำราญ อำเภอวารินชำราบ" จึงได้ไปตามคำสั่งของครูบาอาจารย์ เมื่อไปอยู่วัดสำราญกับท่านอาจารย์อาดก็ได้ตั้งใจประกอบความพากเพียรไม่ประมาท ทำอาจาริยวัตร กิจวัตรข้อวัตรกับครูบาอาจารย์ด้วยความเอาใจใส่ การประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ว่าภายนอกภายใน เราเป็นผู้ทำเองคนอื่นทำให้เราไม่ได้
    .
    ได้กราบนมัสการสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)
    .
    หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ในระยะที่อยู่กับท่านอาจารย์อาดที่วัดสำราญนี้ สมเด็จท่านได้ออกตรวจการคณะสงฆ์ มณฑลอุบลราชธานี อยู่มาวันหนึ่งท่านได้เข้ามาที่วัดสำราญโดยไม่ได้บอกให้ทราบล่วงหน้า พอเข้ามาถึงวัดท่านจะเดินรอบวัดเลย ดูว่าพระเณรในวัดจะมีข้อวัตรปฏิบัติหรือไม่ พอเห็นท่านมาอย่างนั้นจึงได้เตรียมต้อนรับท่านที่กุฏิเจ้าอาวาส ซึ่งกุฏหลังนั้นพวกคณะทหารที่อุบลราชธานีเป็นผู้สร้างถวาย เขาเอาเขากวาง เขากระทิงมาติดไว้ที่กุฏิ ท่านจึงถามว่า "เอามาไว้ทำไมของพวกนี้ เดี๋ยวเขาจะมาตีหัวมันนะ กัมมัฏฐาน" ท่านอาจารย์อาดจึงกราบเรียนท่านว่า "เป็นของพวกทหารเขาเอามาประดับกุฏิของเขาเกล้ากระผม" ท่านจึงเงียบไป พอท่านนั่งบนอาสนะที่จัดถวายแล้ว ท่านอาจารย์อาดจึงพากราบนมัสการท่าน เสร็จแล้วท่านจึงถามว่า "ท่านองค์นี้มาจากไหน" หลวงปู่จึงประนมมือแล้วกล่าวคำว่า "ขอโอกาส" ตามแบบพระกัมมัฏฐาน สมเด็จท่านจึงพูดขึ้นว่า "ลูกศิษย์ท่านสิงห์มันเล่นแต่ขอโอกาสกันส่วนมาก" หลวงปู่หยุดพูด สมเด็จจึงบอก "พูดไปสิ" หลวงปู่กราบเรียนว่า "เกล้ากระผมมาจากจังหวัดร้อยเอ็ด" เมื่อท่านทักทายปราศรัยพอสมควรแล้วท่านจึงได้ลาจากไป
    .
    เป็นห่วงในการจะทำบุญอุทิศให้โยมมารดา
    .
    หลวงปู่ได้อยู่กับท่านอาจารย์อาดก็เป็นเวลาน้อย เพราะจวนจะกลับบ้านเกิดมาทำบุญอุทิศถึงโยมมารดาที่ได้ล่วงลับไปแล้ว จึงได้ปรารภให้ท่านอาจารย์อาดทราบ ท่านก็ไม่ขัดข้อง ต่อมาจึงได้จัดเตรียมบริขาร กล่าวมอบเสนาสนะแล้วกราบคารวะลาท่านอาจารย์อาด เดินทางจากวัดสำราญ อำเภอวารินชำราบ เข้ามาพักที่วัดเลียบ ในเมืองอุบลราชธานี พอดีท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ก็ได้มาพักที่นั้นด้วยพอดี จึงได้เข้ากราบนมัสการกราบเรียนให้ท่านทราบถึงการที่จะกลับร้อยเอ็ด เพื่อทำบุญอุทิศให้โยมมารดา ท่านก็อนุญาตและท่านได้เตือนสติว่า "ให้ตั้งใจให้ดีอย่าประมาท" พอท่านเตือนสติเท่านั้น เกิดปิติเป็นอย่างยิ่งในคำเตือนของท่าน น้อมรับโอวาทธรรมนำมาปฏิบัติตั้งอยู่ในความไม่ประมาทตลอดมา
    .
    ได้พักอยู่วัดเลียบไม่นาน เมื่อได้กราบนมัสการลาท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์และท่านอนุญาต ทำการคารวะขอขมาโทษท่านตามธรรมเนียมของพระกัมมัฏฐานในสมัยนั้นเสร็จตั้งแต่ตอนเย็นแล้ว พอตอนเช้าบิณฑบาตตามสมณวิสัยมา ฉันเสร็จแล้วจึงเตรียมบริขาร มอบเสนาสนะแก่พระในวัดแล้ว ออกเดินทางจากวัดเลียบลำพังองค์เดียว เมื่อมาถึงบ้านปะอาวได้แวะพักที่วัดป่าบ้านปะอาว เพื่อกราบลาพระอาจารย์พาน ได้กราบเรียนให้ท่านทราบถึงการจะกลับไปทำบุยอุทิศถึงโยมมารดา ท่านก็อนุญาต จากนั้นจึงได้ออกเดินทางจาดวัดป่าบ้านปะอาว โดยมีพระสมเป็นเพื่อนเดินทางด้วยมุ่งหน้าสู่พนมไพร
    .
    ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นไปตามคาดหมาย
    .
    เดินทางด้วยเท้ารอนแรมมาเรื่อยๆ พักระหว่างทางมาตามสบายไม่รีบร้อน ในใจจดจ่อในเรื่องทำบุญอุทิศให้โยมมารดา เพราะได้นัดหมายไว้กับโยมพี่ชายว่าเดือน 4 จะกลับมาทำบุญอุทิศให้แม่โดยพร้อมเพรียงกัน ในที่สุดการเดินทางจากอุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงบ้านคำพระ (กุดโอ) อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นบ้านเกิดในระยะเดือน 4 พอดี แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นไปตามคาดหมายและนัดหมายไว้ เมื่อมาถึงบ้านแล้วไม่พบพี่น้องสักคนเลย บ้านที่เขาเคยอยู่ก็ไม่มี เหลือแต่เป็นสวนหม่อน สวนกล้วย "อนิจจาเอ๋ยทุกสิ่งก็ไม่ได้ทำ" หลวงปู่รำพึงในใจ เมื่อถามชาวบ้านเขาจึงได้ความว่า พี่สาวพี่ชายได้อพยพหนีขึ้นไปอยู่บ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เมื่อไม่ได้ทำบุญอุทิศให้โยมมารดาตามที่ได้นัดหมายกับพี่ชายไว้แล้ว จึงออกเดินทางจากบ้านคำพระต่อไปที่อำเภอพนมไพร เข้าจังหวัดร้อยเอ็ด เดินทางต่อไปที่กิ่งไผ่ (อำเภอบ้านไผ่) ขึ้นรถไฟที่สถานีกิ่งไผ่ไปลงที่สถานีจังหวัดอุดรธานี
    .
    ที่วัดป่าโนนนิเวศ
    .
    เมื่อลงจากรถไฟแล้วได้เดินทางต่อไปที่วัดป่าโนนนิเวศ หลวงปู่เล่าว่าวัดป่าโนนนิเวศอยู่ติดกับป่าช้าเมืองอุดรธานี สมัยนั้นเป็นป่าดงมีต้นไม้ใหญ่ๆ และอยู่ห่างจากเมืองอุดร พอเวลาเย็นลงแล้วไม่มีใครอยากผ่านเพราะกลัวผี ในเวลานั้นท่านพระอาจารย์ภูมี ฐิตธมฺโม เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในที่นั้น เมื่อหลวงปู่เดินทางไปถึงวัดป่าโนนนิเวศได้ปฏิบัติตามอาคันตุกวัตร เข้ากราบท่านพระอาจารย์ภูมี ฐิตธมฺโม ถวายตัวเป็นศิษย์และขอนิสัยจากท่าน ท่านจัดให้พักที่กุฏเล็กๆหลังหนึ่ง ในขณะที่พักอยู่กับท่านพระอาจารย์ภูมีนั้น ได้ตั้งใจปฏิบัติเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา และทำอาจาริยวัตรด้วยความเคารพไม่ให้ขาด
    .
    พระอาจารย์ภูมีทดสอบครั้งที่ 1 เรื่องความตั้งใจ
    .
    หลวงปู่เล่าว่า "ขณะที่เราเป็นพระพรรษายังอ่อน ถูกครูบาอาจารย์ทดสอบอยู่บ่อยๆ" ในขณะที่พักอยู่กับท่านพระอาจารย์ภูมีนั้น ในตอนเย็นก็ทำข้อวัตรตักน้ำใส่ตุ่มในห้องน้ำของท่าน เสร็จแล้วพอค่ำก็เดินจงกรม เมื่อเดินจงกรมเสร็จแล้วขึ้นกุฏิทำวัตรสวดมนต์ จบแล้วเข้าที่นั่งสมาธิภาวนาพิจารณาความตายเป็นอารมณ์ เมื่อหยุดจากนั่งสมาธิภาวนาแล้วก็จำวัดนอนภาวนาตั้งสติไว้ เมื่อรู้สึกตัวก็ลุกขึ้น ในขณะนั้นเป็นเวลาประมาณตี 1 ท่านพระอาจารย์ภูมีมาเรียกว่า "บุญ" พอได้ยินเสียงท่านเรียกคำเดียว จึงตอบท่านว่า "กระผม" พอท่านได้ยินเสียงตอบรับแล้ว ท่านก็ตอบใหญ่เลยว่า "ทำไมไม่รู้จักเอาน้ำใส่ตุ่มใส่โอ่งในห้องน้ำ หาน้ำจะล้างส้วมก็ไม่มี" พอได้ยินท่านว่าอย่างนี้จึงนึกอยู่ในใจว่า "น้ำเราก็ตักใส่ตุ่มใส่โอ่งไว้เต็มแล้ว ทำไมครูบาอาจารย์จึงว่าไม่มีน้ำ" ในขณะจิตหนึ่งจึงนึกขึ้นว่า "หรือว่าท่านจะทดลองเรา" แล้วหลวงปู่รีบลงจากกุฏิไปดูที่ห้องน้ำ ในตุ่มไม่มีน้ำเลย หลวงปู่บอกว่าน้ำที่ตักใส่ตุ่มไว้แต่ตอนเย็นนั้นทั้งอาบทั้งใช้ก็ไม่หมดเพราะห้องน้ำนั้นเป็นห้องน้ำเฉพาะท่านอาจารย์ใช้องค์เดียว เมื่อดูว่าน้ำไม่มีแล้ว จึงถือเอาครุไปตักน้ำในบ่อสระ เดินฝ่าความมืดเพราะสมัยนั้นไฟฟ้ายังไม่มี นำน้ำมากรองใส่ตุ่มในห้องน้ำจนเต็ม แล้วท่านให้นวดเส้นไปจนถึงตี 4 ท่านจึงบอกให้กลับกุฏิ พอกลับถึงกุฏิแล้วไหว้พระทำวัตรเช้าเสร็จแล้ว ถือห่อผ้าครองลงจากกุฏิเข้าทางเดินจงกรมไปจนสว่าง "ในขณะจิตนั้นมีความเอิบอิ่มในจิตใจ ไม่มีความโกรธความเคืองใจในครูบาอาจารย์ที่ท่านทดสอบเราเลย"
    .
    พระอาจารย์ภูมีทดสอบครั้งที่ 2 เรื่องความอดทน
    .
    หลวงปู่เล่าว่า อยู่ต่อมาท่านทดสอบอีก ในวันนั้นมีโยมนำใบพลูสำหรับฉันหมากมาถวายท่านอาจารย์ 1 ชบ ท่านให้โยมเอาตั้งไว้ที่ระเบียงกุฏิท่าน พอถึงเวลาเย็นทำอาจาริยวัตรสรงน้ำท่านเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์จึงพูดว่า "คืนนี้ให้ท่านบุญมาเฝ้าใบพลูที่โยมเขาเอาถวายนี้ที่ระเบียงกุฏิ" หลวงปู่เล่าว่า พอได้ยินท่านอาจารย์บอกอย่างนั้นก้นึกขึ้นในใจอีกว่า "ประสาพลูแค่นี้ก็จะให้มาเฝ้า" แต่แล้วในขณะจิตหนึ่งจึงนึกขึ้นว่า ท่านคงจะทดสอบเราอีก เมื่อกลับถึงกุฏิตัวเองสรงน้ำเสร็จแล้วได้ห่อผ้าครองแล้วกลับมานั่งภาวนาเฝ้าใบพลูที่ระเบียงกุฏิท่านอาจารย์ ยุงก็มาก อาศัยความอดทนและความเพียรนั่งภาวนาเฝ้าใบพลูสู้กับยุงไป จนถึงเวลาดึกสงัดได้ยินเสียงท่านอาจารย์เปิดประตูออกมาดู เห็นเรานั่งอยู่ท่านจึงพูดขึ้นว่า "โอ้ ยังอยู่หรือนึกว่าหนีไปแล้ว" ท่านจึงเรียกเข้าไปในกุฏิแล้วให้นวดเส้นจนใกล้สว่างท่านจึงให้หยุด เมื่อลงจากกุฏิท่านอาจารย์แล้วกลับไปกุฏตัวเองเข้าทางเดินจงกรมต่อไปจนสว่าง
    .
    พระอาจารย์ภูมีทดสอบครั้งที่ 3 เรื่องความสำรวม
    .
    ต่อมาท่านพระอาจารย์ภูมีทดสอบอีก ในวันนั้นเมื่อฉันจังหันเช้าเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์บอกว่า "ให้ท่านบุญไปบอกนางมทีมาหาด้วย" นางมทีเป็นหลานสาวของท่านอยู่บ้านไก่เถื่อนซึ่งห่างจากวัดป่าโนนนิเวศพอประมาณ หลวงปู่เล่าว่า พอท่านอาจารย์บอกแล้วก็คลุมจีวรเสร็จเรียบร้อยจึงเรียกเด็กวัดชื่อนายสำรวยว่า "สำรวยๆ ไปเป็นเพื่อนครูบาด้วย" พอท่านอาจารย์ได้ยิน ท่านจึงดุเอาว่า "ไปคนเดียวไม่ได้หรือ" แล้วท่านก็ไม่ให้นายสำรวยไปด้วย หลวงปู่จึงเดินทางออกจากวัดป่าโนนนิเวศไปบ้านไก่เถื่อนเพียงองค์เดียว เดินไปในใจคิดว่าครูบาอาจารย์คงจะทดสอบเราอีก จึงตั้งสติสำรวมจิตไว้ให้ดี พอไปถึงบ้านหลานสาวท่านอาจารย์เห็นสาวมทีกำลังขึ้นตักข้าวเปลือกอยู่บนเล้า (ยุ้งข้าว) จึงเดินเข้าไปใกล้พอพูดได้ยินแล้วบอกว่า "มที ท่านอาจารย์ภูมีสั่งให้เจ้าไปหาท่านด้วยวันนี้" เมื่อบอกแล้ว หลวงปู่ก็เดินกลับวัด ไม่นานสาวมทีก็มาหาท่านอาจารย์ หลวงปู่บอกว่า ในขณะนั้นเราก็นั่งอยู่เป็นเพื่อนท่านอาจารย์ คิดว่าท่านจะมีเรื่องราวอะไรจึงให้ไปเรียกหลานสาวมา พอเขามาถึงแล้วก็ไม่มีอะไร ท่านถามว่าเป็นอย่างไรไร่นาสู ถามเรื่องไร่นาเท่านั้นก็บอกให้กลับ พอสาวมทีเดินลงจากกุฏิท่านไป ท่านจึงพูดว่า "บุญๆ เบิ่งอีมทีมันย่างเอกเอ้น เอกเอ้นไป" (ดูนางมทีเดินอุ้งอุ้ย อุ้งอุ้ย) หลวงปู่เล่าว่าท่านนั่งสำรวมอยู่ ตาไม่ได้มองไปตามที่ท่านอาจารย์บอก สติก็กำหนดรู้อยู่ที่จิตของตัวเอง ในใจรู้อยู่ว่าครูบาอาจารย์ทดสอบ
    .
    พระอาจารย์ภูมีทดสอบครั้งที่ 4 เรื่องอาหาร
    .
    หลวงปู่เล่าว่า ต่อมาท่านทดสอบเรื่องอาหารอีก มีคหบดีในเมืองอุดรเสียชีวิต ลูกหลานตั้งศพไว้หลายวัน ในวันหนึ่งเขาได้มานิมนต์ท่านอาจารย์กับพระในวัดไปฉันเช้าหน้าศพ ท่านอาจารย์จึงสั่ง "ให้ท่านบุญไปด้วยองค์หนึ่ง" พอไปถึงบ้านเจ้าภาพงานแล้วแทนที่ท่านจะให้นั่งตามลำดับพรรษา ท่านกลับบอก "ให้ท่านบุญมานั่งทางนี้" ท่านให้มานั่งอยู่ทางขวามือท่านองค์เดียว พอเจ้าภาพถวายอาหารอันไหนเป็นอาหารประณีตท่านจะส่งไปทางพระที่นั่งเป็นแถวอยู่ พออันเป็นผักเป็นน้ำพริกท่านจะส่งมาให้ "อันนี้ให้ท่านบุญ" เราก็ยินดีไม่ได้น้อยใจในครูบาอาจารย์ กลับดีใจว่าครูบอาจารย์ท่านทดสอบเรา ฝึกเรา การอยู่กับครูบาอาจารย์จึงเป็นผลดี เพราะท่านเป็นครูฝึกเราให้มีความเข้มแข็งในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้ความเห็นในธรรม
    .
    เมื่อพักอบรมอยู่กับท่านพระอาจารย์ภูมีชั่วระยะเวลาไม่นาน จึงได้กราบลาท่านเดินทางกลับไปพนมไพรเพื่อคัดเลือกทหาร ในวันจะกลับนั้นท่านสั่งให้โยมเตรียมอาหารให้ฉันแต่เช้าเพราะต้องรีบไปให้ทันรถไฟ เมื่อฉันเสร็จท่านจึงสั่งให้สามล้อไปส่งที่สถานีรถไฟอุดรพร้อมตีตั๋วรถไฟให้ด้วย ไปลงที่กิ่งไผ่ (อำเภอบ้านไผ่) เมื่อรถไฟถึงบ้านไผ่แล้วลงจากรถไฟแวะพักที่วัดป่าสุมนามัย วันหลังออกเดินทางด้วยเท้าไปจังหวัดร้อยเอ็ดทะลุถึงอำเภอพนมไพร
    .
    พักที่วัดป่าโนนช้างเผือกอีกระยะหนึ่งเพื่อรอการคัดเลือกทหาร ในขณะที่พักอยู่นั้นได้มีท่านนายอำเภอขุนประชาธรรมรักษ์ และคุณนายลิ้นจี่ สองสามีภรรยา ท่านเป็นผู้ใจบุญได้อุปถัมภ์บำรุงด้วยการถวายอาหารบิณฑบาต เมื่อถึงวันพระ ท่านก็ได้มาสมาทานรักษาอุโบสถศีล ฝึกเดินจงกรมและนั่งสมาธิภาวนาด้วย นับว่าท่านทั้งสองนี้เป็นผู้มีอุปการะคุณต่อหลวงปู่เป็นอย่างมาก ก่อนจะคัดเลือกทหาร ท่านขุนประชาธรรมรักษ์ได้ถามหลวงปู่ว่า "ท่านอยากเป็นทหารไหม" หลวงปู่ตอบว่า "อาตมาอยากเป็นพระ จะได้ปฏิบัติเชิดชูพระพุทธศาสนา" ท่านขุนบอกว่า "ผมจะช่วยยกเว้นให้" เมื่อเสร็จภาระในการคัดเลือกทหารแล้ว จึงได้อำลาท่านนายอำเภอและคุณนายเดินทางต่อเข้ามาทางจังหวัดร้อยเอ็ด แวะพักที่วัดป่าศรีไพรวัลย์
    .
    พบพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ
    .
    ในขณะนั้นท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้มาพักที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ ท่านได้เป็นประธานสงฆ์ รองลงมาได้แก่ ท่านพระอาจารย์อินทร์ พระอาจารย์นิล และท่านพระอาจารย์เพ็ง ในระยะนั้นเมื่อหลวงปู่กลับจากการคัดเลือกทหารมาพักที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จึงได้ขอนิสัยจากท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่เล่าว่า ในระยะนั้นได้เร่งทำความพากเพียร ไม่ประมาท เวลากลางวันเข้าไปนั่งภาวนาในดงไม้ลำดวน ยุงก้นปล่องก็ชุม นุ่งผ้าอาบน้ำใส่แต่อังสะ นั่งภาวนาอธิษฐานจิต ยุงกัดไม่ไล่ ปล่อยให้ยุงกิน ทานเลือดให้ยุง ในเบื้องต้นยุงกัดก็รู้สึกเจ็บ เอาขันติความอดทนตั้งเข้าไว้ ใช้ปัญญาพิจารณา กายก็ต่างหาก ยุงก็ต่างหาก ไม่ใช่ของเรา ความเจ็บความแสบร้อนก็ไม่ใช่ของเรา เจ็บปวดขนาดนี้ไม่เป็นไร ตกนรกยิ่งทรมานกว่านี้ เมื่อพิจารณาตั้งสติอยู่ไม่ให้คลาดเคลื่อน ในที่สุดจิตก็รวมลงเป็นสมาธิ วางความเจ็บความปวดทั้งหมด เหลือแต่ความสุขหาสิ่งเปรียบไม่ได้ เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิปรากฏว่า ยุงที่กินเลือดแล้ว เลือดไหลออกจากก้นยุงหยุดย้อยลงรอบที่นั่งของท่าน ทำอยู่อย่างนั้นหลายวัน
    .
    ในวันหนึ่งขณะที่จิตสงบลง เกิดนิมิตปรากฏเห็นกลดผุดขึ้นมา แล้วมีพระเถระองค์หนึ่งหัวล้านแดงนั่งอยู่ พอดีในขณะนั้นพังพอนวิ่งไล่กันมาเสียงดังจิ๊กแจ๊กใกล้ๆที่นั่งภาวนา จิตจึงถอนออกจากสมาธิ พอตอนเย็นทำอาจาริยวัตรสรงน้ำท่านพระอาจารย์อ่อนเสร็จแล้ว จึงขอโอกาสกราบเรียนเรื่องภาวนาถวายท่าน กราบเรียนท่านไปตามตรง ลืมนึกถึงว่าท่านเป็นคนหัวล้าน เมื่อท่านได้ฟังก็ยิ่มๆ และท่านได้แนะอุบายให้ว่า "อย่าปล่อยให้ยุงกัดเพราะยุงมีเชื้อมาลาเรียจะทำให้เราลำบากทีหลัง ให้ใช้มุ้งกลดกางเสียก่อนจึงนั่งภาวนา" เมื่อได้รับคำเตือนจากท่านครูบาอาจารย์อย่างนั้น หลวงปู่ได้เร่งภาวนาในอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ด้วยความไม่ประมาท
    .
    ทำอาจาริยวัตรด้วยความเคารพ
    .
    หลวงปู่บอกว่า ในระยะนั้นได้ตั้งใจปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์ ในตอนเย็นเมื่อถวายการสรงน้ำครูบาอาจารย์เสร็จแล้ว ตัวเองสรงน้ำเสร็จ เข้าสู่ทางเดินจงกรมจนถึงเวลา 2 ทุ่ม ขึ้นไปรวมกันที่ศาลาทำวัตรสวดมนต์ รับการอบรมจากท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ไปจนถึงเวลาเที่ยงคืน ท่านจึงพาเลิกประชุม เมื่อเลิกแล้วก็ตามไปส่งย่าม เทกระโถน ถวายนวดท่านเป็นประจำ ในวันหนึ่งไม่ทราบว่าท่านจะทดลองหรืออย่างไร เมื่อถวายนวดไป ท่านไม่ยอมบอกให้หยุด ท่านนอนเงียบเหมือนหลับ พระที่ถวายนวดอยู่ด้วยกันก็ทยอยกลับกุฏิกันไปหมด เหลือแต่หลวงปู่นวดอยู่องค์เดียว ในใจก็คิดว่า ถ้าครูบาอาจารย์ไม่บอกให้หยุดก็จะไม่กลับกุฏิ
    .
    หลวงปู่เล่าว่าท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ท่านมีลักษณะล่ำสัน เนื้อแน่น ถวายนวดท่านต้องใช้ศอกนวดลงตามเส้น เท้าก็ยันฝากุฏิช่วย ถึงขนาดนั้นท่านยังบอกว่าไม่ถึงเส้น ในวันนั้นหลวงปู่ถวายนวดท่านอยู่องค์เดียวจนได้ยินเสียงไก่ขันกก เป็นเวลาประมาณตีสามครึ่ง ท่านจึงลืมตาขึ้นพร้อมกับพูดว่า "ยังอยู่หรือ เอาละกลับกุฏิเสีย" เมื่อท่านบอกอย่างนั้น หลวงปู่จึงหยุดนวดและประนมมือยกขึ้นใส่หัว กราบท่านแล้วลุกออกจากห้อง ปิดประตูให้ท่านแล้วเดินกลับกุฏิ เห็นว่าใกล้จะสว่างแล้วจึงขึ้นไปเอาผ้าครองบนกุฏิ กลับลงมาเข้าทางเดินจงกรมจนสว่าง หลวงปู่บอกว่า ทำอะไรก็ควรทำอย่างจริงจังด้วยความเคารพ หลวงปู่พักอยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์จนกระทั่งจวนจะเข้าพรรษา พระอาจารย์อินทร์จึงจัดให้ไปจำพรรษาเป็นเพื่อนท่านพระอาจารย์สวด เขมิโย ที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนเมือง
    .................
    ซ้ายไปขวา
    รูปอาจารย์บัวพา
    สมเด็จติสโส(อ้วน)
    พระอาจารย์ภูมี
    หลวงปู่อ่อน
    .....
    *โปรดติดตามตอนต่อไป
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  9. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ............กมโล (ผู้งามดั่งดอกบัว)(9)...........(ต่อจากตอนที่แล้ว)
    .
    พรรษาที่ 3-5
    (จำพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์)
    .
    จำพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนเมือง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ 3 พรรษา ได้ช่วยเหลือครูบาอาจารย์ทำกิจที่สงฆ์จะพึงทำด้วยความเอาใจใส่ เพราะวัดนี้เป็นวัดสร้างใหม่ มีปัญหาหลายสิ่งหลายอย่าง
    .
    "พระเจ้าคณะอำเภอเจ้าคณะจังหวัดไม่อยากให้พระกรรมฐานมาอยู่ในที่นี้ จึงรวมกันมาเพื่อขับไล่ให้ออก ให้เลิกการสร้างวัด ในที่สุดพวกเราก็เอาชนะด้วยความดี ความบริสุทธิ์ใจ เพราะเราไม่ได้อยู่เพื่อเบียดเบียนใคร อยู่เพื่อเจริญสมณธรรมต่างหาก เพราะในสถานที่นี้เป็นที่สงบดี ไม่พลุกพล่านด้วยฝูงชน เป็นป่าไม้ร่มรื่น"
    .
    สุดท้ายเรื่องปัญหาทั้งหลายก็สงบเรียบร้อยไปด้วยอำนาจแห่งศีลธรรม เรื่องภายในจิตใจ หลวงปู่ได้ตั้งใจทำความพากเพียร ไม่ประมาท พยายามไม่คุยกับญาติโยม เมื่อเหตุอะไรจะพูดก็พูดเฉพาะกับครูบาอาจารย์เท่านั้น ในระยะกาลเข้าพรรษา ท่านได้ตั้งใจสมาทานธุดงควัตร อดนนอนบ้าง ฉันอาหารเฉพาะที่ตกในบาตรบ้าง บางครั้งก็งดอาหาร ฉันแต่น้ำ 3 วันก็มี 7 วันก็มี เพื่อสะดวกสะบายในการภาวนา ตัดภาระตัดกังวลได้หลายๆอย่าง
    .
    เมตตากลายเป็นกามฉันท์
    .
    หลวงปู่เล่าว่า ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนเมืองเป็นเวลา 3 ปีนั้น เมื่อออกพรรษาแล้ว ในช่วงฤดูแล้งได้ออกเที่ยววิเวกไปทางจังหวัดมหาสารคาม ครั้งหนึ่งได้ไปพักอยู่วัดป่าที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้มีหญิงสาวคนหนึ่งเป็นลูกกำพร้า พ่อแม่ตายจาก อาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง มีศรัทธาเลื่อมใสเข้าวัดฟังธรรม
    .
    "อยู่มาวันหนึ่ง แกนำผ้าเช็ดหน้าที่ถักริมด้วยมือมาถวาย เราเห็นว่าแกเป็นลูกกำพร้าและมีศรัทธา จึงได้รับด้วยความเมตตาสงสาร พออยู่มาหลายวัน เราได้สังเกตเห็นจิตใจของตัวเองเปลี่ยนแปลงจากความเมตตาสงสารกลายเป็นกามฉันท์ ความยินดีพอใจในผู้หญิงคนนั้น เมื่อพิจารณาเห็นท่าไม่ดีอย่างนั้น ถ้าเราไม่รีบแก้ไขก็จะไม่มีใครจะแก้ไขให้ เราจึงได้ออกจากสถานที่นั้นไป" หลวงปู่ว่าเรื่องเมตตานี้แหละ ถ้าไม่ระวังให้ดี มันกลายเป็นกามฉันท์ได้
    .
    ผจญภัยดอกไม้พญามาร
    .
    อีกครั้งหนึ่งได้เที่ยววิเวกภาวนาไปตามป่าช้าหมู่บ้านต่างๆในเขตจังหวัดมหาสารคาม ในวันนั้นเดินทางทั้งวัน บ่าสะพายบาตร แบกกลด มือถือกาน้ำ เดินไปภาวนาไป สติเป็นเพื่อนสองของใจ พอเวลาใกล้ค่ำได้เดินทางถึงวัดป่าที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เมื่อไปถึงได้เข้ากราบนมัสการครูบาอาจารย์ที่เป็นประธานสงฆ์ ชื่อหลวงพ่อแดง ท่านได้จัดให้พักที่กุฏิหลังหนึ่งซึ่งห่างจากศาลาพอประมาณ พอดีในวันนั้นเป็นวันพระ 8 ค่ำ เมื่อสรงน้ำเสร็จแล้วได้ลงประชุมกันที่ศาลาโรงธรรม ทั้งพระทั้งโยมที่มาจำศีลฟังธรรม มีทั้งหนุ่มสาวและคนแก่ เมื่อทำวัตรสวดมนต์จบแล้ว หลวงพ่อแดงท่านก็แสดงธรรมอบรมญาติโยมไปเรื่อยๆ หลวงปู่เล่าว่า
    .
    "ตัวเราเองก็นั่งภาวนากำหนดจิตหลับตาฟังธรรมไปด้วย พอระยะหนึ่งเราลืมตาขึ้น มีหญิงสาวคนหนึ่งแกนั่งอยู่ตรงหน้า พอเห็นเราลืมตาขึ้น แกก็แสดงมารยาของกิเลสสารพัดอย่าง เมื่อเห็นอย่างนั้นเราก็รีบหลับตาภาวนาฟังธรรมต่อไปโดยไม่สนใจอะไรกับแก เมื่อฟังธรรมที่หลวงพ่อแดงท่านพูดไปเรื่อยๆ จนถึงเวลา 6 ทุ่ม รู้สึกเหนื่อยเพราะเดินทางทั้งวัน จึงลุกขึ้นกราบพระประธานแล้วกราบหลวงพ่อแดงขอโอกาสท่านไปพักผ่อน ท่านให้โอกาสเพราะเห็นว่าเดินทางทั้งวันเหน็ดเหนื่อย เราลงบันไดศาลาด้านสำหรับพระ ไม่ได้สนใจมองหญิงสาวคนนั้น
    .
    พอเราเดินไปถึงหลังกุฏิแล้วแวะเข้าไปถ่ายปัสสาวะอยู่ ไม่ทราบว่าหญิงสาวคนนั้นแกลงจากศาลามาแต่เมื่อไร ไปยืนอยู่ทางบันไดหน้ากุฏิพร้อมกับพูดขึ้นว่า "ทำไมจึงนอนตายแต่วันแท้" พอได้ยินเสียงอย่างนั้นเราก็รีบกลับขึ้นศาลา หลวงพ่อแดงท่านถามเราว่า "เอ้า ว่าจะไปพัก ไม่พักหรือ" เราไม่ได้ตอบท่านอะไร นั่งหลับตาภาวนาฟังธรรมไปจนสว่าง พอสว่างแล้วพวกญาติโยมก็กลับบ้านกัน พอเช้าถึงเวลาไปบิณฑบาต เราก็เป็นหัวหน้าแถวไปบิณฑบาตสายนั้น ไม่รู้ว่าบ้านหญิงสาวคนนั้นอยู่ทางนั้นด้วย พอเดินไปถึงบ้านแก แกได้กระติบข้าวเดินลงมาจากบ้านจะมาใส่บาตร เดินเข้ามาจะชนเรา เราต้องถอยหลังออก พอบิณฑบาตกลับไปถึงวัด ฉันเช้าเสร็จ รีบจัดแจงบริขารแล้วกราบลาหลวงพ่อแดงเดินทางต่อไปที่อื่น ขืนอยู่ไปไม่พ้นภัยพญามาร"
    หลวงปู่เล่าว่า เรื่องกิเลสนี้มันแหลมคมจริงๆ หาความละอายไม่มีเลย ถ้าเราไม่สำรวมระวังไม่ตั้งท่าตั้งทางไม่มีสติปัญญารอบคอบแล้ว สู้มันไม่ได้
    .
    พระธรรมเตือนใจ
    .
    ครั้งหนึ่งหลวงปู่ได้เที่ยววิเวกไปทางจังหวัดขอนแก่น และแวะเยี่ยมญาติที่บ้านโกธา พักที่วัดป่าส่องแมวริมสนามบินเก่าจังหวัดขอนแก่น ขณะพักอยู่ที่นั้น วันหนึ่งท่านได้เดินจงกรมอยู่ตั้งแต่หัวค่ำ ได้มีความรู้สึกอันหนึ่งเกิดขึ้น บอกว่า "วันนี้จะมีคนมาหาให้ระวัง" จึงพิจารณาดูว่าคนที่ไหนจะมาหา มาหาทำอะไร จากนั้นจึงได้ตั้งใจระวังอยู่ เดินจงกรมไปจนถึงเที่ยงคืนจึงหยุดแล้วขึ้นกุฏิ กุฏิมีประตูเป็นฝาไม้ไผ่ผลักเข้าข้างใน เมื่อขึ้นกุฏิปิดประตูไหว้พระสวดมนต์เสร็จ นั่งภาวนาระวังตัวอยู่ตลอดเวลา พอหยุดนั่งภาวนาเอนตัวลงนอนตั้งสติอยู่ เห็นไฟแวบเข้ามาทางประตู จึงลุกขึ้นนั่งคอยฟัง ได้ยินเสียงผลักประตูเข้ามาเป็นจังหวะแอ๊ดๆ หลวงปู่จึงตั้งท่าระวังอยู่ ได้ยินเสียงจับถุงกระดาษ จึงนึกได้ว่าเด็กนักเรียนเอาถุงรองเท้าหนังใหม่ๆมาฝากไว้ที่ข้างประตู จึงรีบตะครุบถูกแขนขโมย ขโมยตกใจถกแขนกลับ มือท่านหลุด ขโมยไม่ยอมวางถุงรองเท้า กระโดดลงกุฏิ หลวงปู่ตามลงไป ได้ยินเสียงที่กุฏิหลังอื่นดัง เค้ง! ขโมยพากันวิ่งหนีไปทางสนามบินเก่า หลวงปุ่เดินไปที่กุฏิพระรูปอื่นที่ได้ยินเสียงดังนั้น เห็นกระเป๋าหวายของพระใส่หนังสือทิ้งอยู่จึงร้องปลุก พระจึงพากันตื่นขึ้นมา ในสมัยนั้นคนกินฝิ่นกินยาแถวชานเมืองมีมาก จึงหาลักขโมย ได้อะไรก็เอา พอแก้ความหิวของตนเอง หลวงปู่พักอยู่ไม่นานึงได้เที่ยววิเวกกลับไปจำพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนเมือง
    .
    เกิดความน้อยใจในครูบาอาจารย์
    .
    หลวงปู่เล่าว่า ในพรรษาได้ตั้งใจตั้งสัจจะอธิษฐานสมาทานธุดงควัตรข้อบิณฑบาตเป็นวัตรได้อาหารอย่างไรก็ฉันอย่างนั้น ไม่รับอาหารที่นำมาถวายเมื่อภายหลัง เมื่อสมาทานแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อยู่มาวันหนึ่งฝนตกหนัก มีโยมจากบ้านเหล่าซึ่งอยู่คนละฟากแม่น้ำปาวกับบ้านโนนเมือง นำอาหารมาใส่บาตรไม่ทัน พระกำลังฉันอยู่ แกก็เอาอาหารที่นำมาถวายท่านอาจารย์สวด ท่านก็บอกให้พระเณรรับฉันฉลองศรัทธาให้โยมด้วย หลวงปู่นึกอยู่ในใจว่า "เราได้ตั้งสัจจะอธิษฐานแล้วจะไม่ให้เสียสัจจะที่ได้อธิษฐานไว้" เมื่อท่านส่งมาถึงจึงไม่เอาอาหารนั้นไว้ฉัน เมื่อท่านอาจารย์สวดมองเห็นไม่เอาอาหารนั้น ท่านจึงร้องขึ้นดังๆว่า "ของแค่นี้ก็สงเคราะห์ญาติโยมเขาไม่ได้หรือ" หลวงปู่จึงเกิดความน้อยใจคิดว่า "เราตั้งใจปฏิบัติธรรม ครูบาอาจารย์ก็ไม่ส่งเสริม สงเคราะห์ญาติโยมก็สงเคราะห์มาอยู่แล้ว เวลาตั้งใจขัดเกลาก็ให้ได้ทำบ้าง เมื่อครูบาอาจารย์ไม่ส่งเสริมในการปฏิบัติธรรม เราก็ไม่ควรจะอยู่ด้วย"
    .
    ช่วยคนป่วยด้วยธรรมโอสถ
    .
    ในระยะที่อยู่กับท่านอาจารย์สวดนั้น ครั้งหนึ่งมีคนเขาไม่สบาย เขามานิมนต์ให้ท่านอาจารย์สวดไปโปรดช่วยเหลือ ท่านอาจารย์สวดจึงแต่งตั้งให้หลวงปู่ไปแทน "ไป ให้ท่านบุญไปช่วยเขาบ้าง" หลวงปู่เล่าว่า เมื่อครูบาอาจารย์แต่งแล้วจำเป็นต้องไปกับโยมที่เขามานิมนต์ พอไปถึงบ้านเขา ได้พักอยู่ที่เถียงนากลางทุ่ง จึงจัดแจงที่พักเสร็จแล้ว โยมที่เขามานิมนต์ พอไปถึงเห็นคนป่วยนั้นนอนติดเสื่ออยู่มีแต่หนังหุ้มกระดูก มองดูเหมือนกับผีที่ตายแล้ว ถามดูเขาบอกว่า " ไม่สบายได้ 3 ปีแล้ว ไม่อยากข้าวอยากน้ำ" เขาบอกว่าเขาอยู่กับผีฟ้าเทวดา เอาผีเป็นที่พึ่ง หลวงปู่ถามว่า "ลุกขึ้นนั่งได้ไหม" เขาบอกว่า "ไม่ได้" "พูดตามได้ไหม" เขาบอกว่า "พอพูดได้" หลวงปู่จึงได้ทำพิธีประกาศปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์คือ ให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก นอนประนมมือแล้วให้ว่าตาม ว่านะโม 3 จบ แล้วว่า อิติปิโส...สวากขาโต...สุปฏิปันโน... ไปจนจบ แล้วว่าคำสมาทานถึงพระรัตนตรัย เสร็จแล้วจึงได้สอนให้ตั้งใจภาวนา คือให้นึก พุทโธ ธัมโม สังโฆ 3 หนแล้วจึงให้นึกพุทโธคำเดียว ให้ตั้งใจทำอยู่อย่างนั้น และให้มีข้อปฏิบัติ คือ ให้เว้นจากการไหว้เซ่นสรวงภูติผีปีศาจ อารักษ์หลักคุณ หักไม้ใส่หม้อ ดูฤกษ์งามยามดี เคราะห์ดีเคราะห์ร้าย ไม่ให้ทำ ให้เชื่อกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ให้เว้นจากการกินเหล้า เมาสุราและเบียร์ เว้นจากการกินอาหารที่เป็นเลือดเนื้อที่ไม่สุกด้วยไฟ เว้นมังสะ 10 อย่าง เมื่อเสร็จพิธีให้รับไตรสรณคมน์และสอนให้ภาวนาแล้วจึงกลับไปพักที่เถียงนา เช้าก็บิณฑบาตในหมู่บ้าน คนป่วยนั้นเมื่อได้รับธรรมโอสถแล้ว วันหลังมาก็ลุกขึ้นนั่งได้ อยากกินข้าวกินน้ำ ในที่สุดก็หายเป็นปกติ หลวงปู่พักอยู่ 2-3 วัน จึงเดินทางกลบวัด บ้านโนนเมือง
    .
    ทำบุญอุทิศให้โยมมารดา
    .
    เมื่อจำพรรษาอยู่กับท่านอาจารย์สวดที่วัดสามัคคีธรรม บ้านโนนเมือง ได้ 3 พรรษา แล้วก็ยังเป็นห่วงโยมมารดาที่ยังไม่ได้ทำบุญอุทิศให้ จึงได้ลาท่านอาจารย์สวดกลับไปที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด ในขณะนั้นมีพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม เป็นประธานสงฆ์อยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จึงได้นิมนต์พระอาจารย์เพ็งและท่านปิ่นพร้อมด้วยสามเณรอีก 1 องค์ เดินทางไปบ้านคำพระ อ.พนมไพร เพื่อทำบุญอุทิศให้โยมมารดา พวกญาติโยมในเมืองร้อยเอ็ดมี คุณนายคง และคุณแม่หนูเที่ยง ได้จัดข้าวของเครื่องทำบุญให้คนหาบเดินทางไปด้วยศรัทธา ญาติโยมเขาสงสาร เพราะไม่มีใคร เมื่อไปถึงบ้านแล้ว ได้จัดทำบุญที่วัดบ้านคำพระนั้นเอง มีการสวดมนต์เสร็จแล้วทอดบังสุกุลอุทิศให้โยมมารดา เสร็จแล้วมีการเทศน์ 2 ธรรมาสน์ คือ พระอาจารย์เพ็งและท่านปิ่นเป็นผู้เทศน์ปุจฉาและวิสัชนา พอรุ่งเช้าได้จัดถวายอาหารบิณฑบาต ถวายจตุปัจจัยไทยทานตามสมควร เสร็จแล้วจึงได้เดินทางกลับมาพักที่พนมไพร
    .
    กลับจากพนมไพร เดินทางต่อไปจังหวัดกาฬสินธุ์ กราบนมัสการท่านพระอาจารย์อ่อน จกฺกธมฺโม วัดประชานิยม ได้พักศึกษาธรรมและช่วยงานสร้างอุโบสถอยู่กับท่านระยะหนึ่ง เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาและเมตตาธรรมในท่านพระอาจารย์อ่อน จกฺกธมฺโม (ในขณะนั้นท่านมีสมณศักดิ์นามว่า พระครูปฏิภาณ สุดท้ายท่านมีสมณศักดิ์ที่พระราชธรรมานุวัตร) คิดหาสิ่งที่เป็นวัตถุจะถวายเพื่อเป็นการบูชาคุณธรรมของท่านก็ไม่มีอะไร พอดีมีรัดประคดเอวที่ตัวเองใช้อยู่เส้นหนึ่ง จึงได้นำเข้าไปถวายท่าน ตัวเองใช้ผ้าผูกแทนประคดเอว เมื่อจิตใจของเรายินดีน้อมไปในการให้แก่ท่านผู้มีศีลมีคุณธรรมย่อมนำมาซึ่งความอิ่มใจเบิกบานใจและใจมีความสุข
    .
    เมื่อช่วยงานท่านอยู่ระยะหนึ่ง จึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์อ่อน จกฺกธมฺโม เดินทางไปจังหวัดขอนแก่น ในระยะนั้น มีรถยนต์ใช้ฟืนเป็นเชื้อไฟแทนน้ำมัน วิ่งจากจังหวัดกาฬสินธุ์ถึงจังหวัดขอนแก่น ญาติโยมชาวกาฬสินธุ์จึงนิมนต์ให้นั่งรถยนต์ฟืน และจ่ายค่าโดยสารให้ด้วย จากกาฬสินธุ์ถึงขอนแก่นราคาค่ารถ 3 บาท ในขณะนั่งอยู่ในรถต้องคอยระวังไฟจะปลิวมาไหม้จีวร รถถึงขอนแก่น ลงจากรถแล้วจะเดินทางไปชุมแพ สะพายบาตรแบกกลด เดินตามทางจะไปชุมแพ พอดีมีรถผู้แทนจังหวัดขอนแก่นวิ่งมา เขาจอดถามว่า "ท่านจะไปไหน" ตอบเขาว่า "จะไปชุมแพ" เขานิมนต์ให้นั่งรถ จึงบอกเขาไปว่า "อาตมาไม่มีปัจจัยให้ค่าโดยสาร นิมนต์ท่านเลย แต่ว่าผมไม่ไปถึงชุมแพ ผมมีธุระไปถึงแค่หนองเรือ" จึงนั่งรถผู้แทนขอนแก่นชื่อนายสุพรรณไปถึงหนองเรือ ลงจากรถผู้แทนกล่าวคำอนุโมทนาแก่ผู้แทนแล้วสะพายบาตร แบกกลด หาที่พักห่างจากตลาดหนองเรือพอสมควร
    .
    จิตใจมั่นคง ไม่ลังเล
    .
    เช้าบิณฑบาตในตลาดหนองเรือ ฉันเสร็จแล้วจะเดินทางต่อไปชุมแพ พอดีมีโยมที่เป็นญาติกันชื่อโยมพัน เป็นญาติทางพ่อ แกมีรถจึงไปส่งถึงชุมแพ พอลงจากรถแล้ว นายพัดจึงถามว่า "ครูบาจะไปทางไหน" จึงตอบว่า "ไม่รู้ไม่มีจุดหมายปลายทาง ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน" นายพัดเป็นห่วง แกสงสารจึงพูดว่า "กล้บบ้านเราดีกว่าครูบา" หลวงปู่จึงบอกนายพัดว่า "เราได้ตั้งใจไว้แล้วเราไม่กลับ เราจะไปข้างหน้า" นายพัดพูดว่า "จะไปอย่างไร เคยไปหรือยัง" หลวงปู่ตอบนายพัดว่า "ไม่เคยมาสักครั้งเลยแถวนี้" นายพัดพูดว่า "กลับดีกว่าครูบา" หลวงปู่ตอบว่า "เราไม่กลับ" นายพัดพูดว่า "ไปยังไง ไปคนเดียว" หลวงปู่ตอบว่า "ไปยังงั้นแหละ" ผลสุดท้ายหลวงปู่จึงให้นายพัดไปต้องการ (ซื้อ) เทียนไขให้ห่อหนึ่ง สมัยนั้นราคาเทียนไขไม่แพง ห่อละ 25 สตางค์ (หนึ่งสลึง) เทียนไขตรารถไฟ นายพัดก็ยังหน่วงเหนี่ยวอยู่อย่างนั้น ไม่อยากจะไปหาเทียนไขมาให้ "อ้าว รีบไป" หลวงปู่สั่ง นายพัดก็เลยไปหาเทียนไขมาให้ เมื่อนายพัดเอาเทียนไขมาให้ เมื่อนายพัดเอาเทียนไขมาให้แล้ว หลวงปู่จึงออกเดินทางจากนายพัดไป แต่นายพัดยังอยากจะให้หลวงปู่กลับอยู่ จึงเดินตามหลวงปู่ไปอีก ไปสะพายถุงบาตรให้ตามไปส่ง ตอนนี้กำลังเดินออกจากตัวอำเภอชุมแพมุ่งหน้าไปทางอำเภอภูเขียว อีกสักครู่นายพัดก็พูดอีกว่า "กลับเสียดีกว่าครูบา" "ไม่! เราไม่กลับ ให้เจ้ากลับไปเสีย (ให้แกกลับไปเสีย)" "ไม่! ผมจะยืนอยู่ตรงนี้เพื่อมองดูครูบา" "เอ้า! มองดูก็มองดู" เมื่อหลวงปู่เดินจากไปปรากฏว่านายพัดยังยืนมองดูหลวงปู่อยู่อย่างนั้น จนลับตานายพัดยังตะโกนเรียกว่า "ครูบา กลับเสียเถอะ" จนหวิดเสียง (จนตะโกนไม่ได้ยิน) นายพัดจึงได้กลับไปที่รถ
    .
    หลวงปู่เดินหน้าไปตามลำพังองค์เดียวเข้าป่าเข้าดงไม่มีใครเป็นเพื่อน ตนเป็นเพื่อนของตนเอง เดินทางตอนกลางวันแดดก็ร้อน น้ำที่กรองใส่กาถือไปด้วยก็หมด หิวน้ำก็หิว คอแห้งผาก แสนทุกข์แสนทรมานในการเดินทาง แต่ก็ไม่ประมาท มีสติกำกับจิตใจ มีพุทโธเป็นอารมณ์ของใจไปตลอดทาง เดินทางถึงบ้านเป้าบ้านลาด เป็นเวลาพลบค่ำผึมฟ้า (กำลังจะมืด) จะถามหาที่พักจากชาวบ้าน ก็ไม่มีที่จะถาม ชาวบ้านก็กลัวพระธุดงค์กรรมฐาน เพราะสะพายบาตรที่บรรจุบริขารลูกใหญ่ๆ แบกกลดใหญ่ๆ มีผู้หญิงคนหนึ่งลงจากบ้านมาใต้ถุนบ้านจะมาหยิบเอาฟืนที่อยู่ใต้ถุน คิดว่าจะถามพอแกมองเห็นพระสะพายบาตรแบกกลด แกก็วิ่งขึ้นบ้านไป ในที่สุดไม่ได้เรื่องได้ราวจึงกลับออกมาทุ่งนานอกบ้าน
    .
    นอนแบบผู้ต่อสู้
    .
    หลวงปู่เล่าว่า
    "ในระยะนั้นเป็นฤดูเดือน 6 ตามทุ่งนาชุ่มไปด้วยน้ำ ชาวนาไถนาหว่านกล้า เมื่อกลับออกมาทุ่งนา มองหาเถียงนาที่ไหนก็ไม่มี มองหาร่มไม้ก็ไม่มี พอดีมีเนินดินอยู่ที่หนึ่งน้ำไม่ขังแต่ดินชุ่ม มีต้นกระทุ่มอยู่ต้นหนึ่ง เขาลิดกิ่งออกหมดเหลือแต่ยอด จะอาศัยแขวนกลดก็ไม่ได้ ฝนก็ตกพรำๆ ที่สุดต้องเอาบริขารเข้าในบาตรปิดฝาบาตรนั่งยองๆ มือจับกลดกันฝนอยู่ทั้งคืน ยุงก็เยอะเหมือนกับหว่านเมล็ดงาใส่ มุ้งกลดก็กางไม่ได้เพราะฝนมันตก จะนั่งให้สบายๆก็ไม่ได้เพราะดินชุ่ม จะนอนก็ไม่ได้ สุดท้ายต้องนั่งยองๆ ตลอดคืน ฝนก็ตกตลอดคืน เดินทางก็เหนื่อยตลอดวัน เลยภาวนาดูทุกข์อยู่ทั้งคืน พอใกล้สว่างนกไก่อูร้องเสียงดังอู้กๆ ดังสนั่นก้องไปหมด จึงรู้ว่าที่เรานั่งทรมานอยู่นั้นใกล้กับหนองน้ำ เขาเรียกว่าหนองสามหมื่น"
    .
    พอเวลาใกล้สาง วิดน้ำในทุ่งนาล้างหน้าบ้วนปากแล้ว สะพายบาตรออกเดินทาง พอดีมีผู้ชายคนหนึ่งแบกไถจูงควายออกจากบ้านมาแต่เช้ามืด หลวงปู่จึงถามว่า "พ่อออก บ้านนี้ชื่อบ้านอะไร" เขาบอกว่า "บ้านลาด" หลวงปู่ถามว่า "บ้านเป้าอยู่ไกลไหม" เขาบอกว่า "ไม่ไกลเท่าไร" ถามเขาอีกว่า "ไปบิณฑบาตทันไหม" เขาบอกว่า "ทัน" โยมผู้ชายนั้นเขาจึงพูดขึ้นอีกว่า "มีญาท่านองค์หนึ่งมาอยู่ที่บ้านโนนแห้นี้ชื่อว่าญาท่านคำบง" พอหลวงปู่ได้ยินจึงนึกในใจว่า "จะเป็นคำบงองค์เดียวกันกับที่เราตามหาท่านหรือไม่หนอ"
    .
    พบพระอาจารย์คำบง
    .
    เมื่อได้ความจากโยมแล้ว จึงเดินทางต่อไปถึงสำนักป่าบ้านโนนแห้ พอดีมีสามเณรอยู่ด้วย 2 องค์ กำลังจะออกบิณฑบาต จึงให้เณรคอยด้วย จัดแจงเอาบริขารออกจากบาตร คลุมจีวรซ้อนสังฆาฏิแล้วบิณฑบาตกับสามเณร เวลาเดินบิณฑบาตในหมู่บ้านก็แสนทรมาน ตามทางบิณฑบาตมีแต่หินแห้ (หินลูกรัง) เหยียบไปเท้าก็เจ็บ เนื่องจากเดินทางทั้งวันมาเท้าก็ระบมจึงอดทนเอา กลับมาถึงวัดถามสามเณรว่า "ท่านอาจารย์อยู่ที่นี่ท่านชื่ออะไร" สามเณรตอบว่า "ชื่อท่านอาจารย์คำบง" ถามเณรอีกว่า "ท่านไปไหน" เณรบอกว่า "ท่านไปกิจนิมนต์ วันสองวันท่านก็กลับมา" พอพักอยู่สองวันท่านอาจารย์คำบงก็กลับมาจึงได้กราบนมัสการและขอนิสัยจากท่านให้เป็นผู้อบรมสั่งสอน
    ...............
    *โปรดติดตามตอนต่อไป
     
  10. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ......สวัสดีครับทุกท่าน ช่างชิตขอแจ้งความคืบหน้าล่าสุดเรื่่องเหรียญที่พวกเราร่วมกันสร้างถวายหลวงตา รุ่น ปัญญาอิทธิฤทธิ์ หน่อยนะครับ
    จากรอบแรกที่ได้แจ้งไปว่า มีเรื่องประหลาดใจที่ทางโรงงานทำบล็อคพระหาย(แกะไม่สวย แล้วบล็อคหายแบบไร้ร่องลอย ทางโรงงานต้องทำใหม่ทั้งหมด) ช่างชิตก็ตามงานเกือบทุกวันจนเขาเบื่อจะเปลี่ยนเบอร์ละ 55555
    ......ตอนนี้ทางโรงงานบอกเสร็จเรียบร้อยแล้วนะครับ เบื้องต้นส่งภาพมาให้ดู ช่างชิตดูแล้ว เหรียญด้านหน้าพระพุทธก็โอเคดีกว่าเดิมมาก ด้านหลังรูปหลวงตาก็ดีขึ้น (แต่ดันถ่ายรูปส่งมาไม่สวยเท่าไร เซ็ง)
    ......ยังไงเสียจะให้คุณฌานกรหนึ่งในทีมงานผู้สร้างที่อยู่กรุงเทพ เข้าไปดูเหรียญจริงในวันสองวันนี้ แล้วจะแจ้งข่าวกับทุกท่านอีกทีนะครับผม
    .....ต้องบอกว่างานนี้ใกล้ความจริงเข้าไปทุกที หลังออกพรรษา ใครที่มีส่วนสร้างเหรียญรุ่นนี้เตรียมรับของมงคลที่พวกเราทำถวายหลวงตาท่านได้เลยครับ
    .......แจ้งข่าวแล้ว ก็นึกอะไรได้ในใจพอดี ขอเล่าสู่กันฟังหน่อยยนะ
    จริงๆวัตถุมงคลเหรียญในประเทศเรานี้มีมากมายนับไม่ถ้วน ต่างก็สร้างมาเพื่อให้ "ผู้ที่ยังมีกำลังใจอ่อนในการเข้าหาพระรัตนตรัยได้มีที่ระลึกถึงอยู่ติดตัวเสมอ" ส่วนเรื่องนอกเหนือจากนั้น ก็สุดแล้วแต่ความเชื่อศรัทธาของแต่ละบุคคลไป
    ......แล้ว เหรียญ "รุ่นปัญญาอิทธิฤทธิ์" ต่างจากเหรียญวัตถมงคลรุ่นอื่นๆตรงไหน จริงๆก็ไม่ต่างพิเศษพิศดารอะไรหรอกครับ แต่ก็พอจะมีเอกลักษณ์และบ่งบอกความเป็นเหรียญรุ่นนี้อยู่ก็ คือ
    .
    1) เหรียญมีทั้ง พระพุทธ พระธรรม พระอัครสาวก และ พระสงฆ์สาวก ในเหรียญเดียว
    ***เหรียญมีรูป พระศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในสามโลกธาตุ บารมีสุดแสนไพศาล บุญคุณท่านต่อสัตว์โลกไม่มีประมาณและยิ่งใหญ่สูงสุดในพุทธศาสนา
    ***เหรียญมีรูปอัครสาวกเบื้องซ้ายและขวา ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเลิศเรื่องปัญญาและเลิศในอิทธิฤทธิ์ คือ พระอรหันต์สาวก พระโมคลานะและพระสารีบุตร สมกับหลวงตาที่กล่าวว่า "สร้างรูปของท่านนะเพราะท่านเลิศล้ำเก่งกว่าหลวงตาอีก"
    ***มีรูปครูบาอาจารย์ของพวกเรา หลวงตาสมหมาย อัตตมโน พระสาวกที่เดินรอยตามทางของพุทธะ พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและพระผู้มีเมตตาเหลือประมาณกับลูกศิษย์ลูกหาและทุกคนที่เข้ามาขออาศัยบารมีจากท่าน
    แถมยังมีรูปเสือที่เป็นปีเกิดของหลวงตา หมอบอยู่เบื้องล่างเสมือนให้คุณทางเมตตาเป็นหลักและแฝงมหาอำนาจอยู่ในตัว
    .
    2)อักขระพระยันต์ต่างๆที่หลวงตาเป็นคนออกแบบเขียนให้กับมือ และที่สำคัญที่สุดคือยอดพระธรรมคำสอนของพุทธศาสนา "พุทโธ" (ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ใหญ่ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น บอกว่าเป็น พระธรรมคาถาและคำถาวนาที่มีอานุภาพครอบสามแดนโลกธาตุ จะเป็น อสูรกาย ผีเปรต สัตว์นรก สัตวร้าย และสิ่งไม่ดีต่างๆนาๆ ต่างต้องสยบและแพ้พ่ายให้กับผู้ที่ระลึกถึงคำนี้อยู่เสมอ
    ......ท่านจึงสอนให้เราภาวนาติดกับหัวจิตหัวใจไว้อย่าได้ขาด พื้นฐานของการเข้าพระนิพพานและหลีกหนีเมืองนรกก็คือ การเริ่มต้นภาวนา พุทโธ นี้ละครับ
    3)ข้อสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ "เจตนาการสร้าง" ที่ไม่ได้มีผลประโยชน์หรือการพานิชย์ใดๆ และที่โคตรเท่ไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่องคือ "ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นนายทุน ตอนเปิดร่วมบุญช่างชิตไม่ทุนซักบาท" คือถ้าไม่มีคนอยากร่วมทำ ยังไงก็ไม่เกิดขึ้นครับ แต่เป็นเพราะพวกเราทุกๆคน เหรียญรุ่นนี้จึงเกิดขึ้นได้จริง หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการสร้างแล้ว เหลือเท่าไรถวายหลวงตาเพื่อให้ท่านเอาไปทำประโยชน์กับพระศาสนาต่อไปทุกบาททุกสตางค์ครับ
    .......ฉะนั้นแรงพลังตรงนี้ละครับที่เป็นพื้นฐานในการหนุนนำกำลังใจว่า "เหรียญรุ่นนี้บริสุทธิ์จากการร่วมพลังศรัทธาจริงๆ" บวกกับการได้ ครูบาอาจารย์ พระอริยะเจ้าอย่าง องค์หลวงตาเรา อธิฐานจิตเดี่ยวแบบเต็มสูบ (ชาติเสือไม่ขอเนื้อใครกิน อธิฐานจนกว่าท่านจะพอใจ อย่างน้อยที่สุดก็ในพรรษา) ก็ต้องบอกด้วยคำแรงๆว่า "แขวนคอไม่มีคำว่าหนักคอเปล่าๆแน่นอนครับ"
    .......
    ........ความพิเศษจาก 3 ข้อที่ช่างชิตได้กล่าวมานั้น เป็นเบื้องต้นที่ช่างชิตและพวกเราทุกคนสามารถสัมผัสได้ พอรวมกันเป็นหนึ่งกับผู้ที่อารธนา
    มีสติระลึกถึงสิ่งดีๆสม่ำเสมอทุกเวลา เมื่อมีสติและมี "ปัญญา" ในการแก้ไขปัญหา ไม่ให้ติดให้ขัด ให้ลุล่วงไปได้ ผู้อื่นที่เห็นความสามารถของเรา ก็จะมองเสมือนเรามี "อิทธิฤทธิ์" มีเดชเดชะในตัวเป็นที่เกรงใจเป็นที่ยอมรับนับถือเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วๆไป
    ........นั้นคือ คุณของการมีวัตถุมงคลติดตัวให้ระลึกถึง นอกเหนือจากนั้นก็ขออาคัยบารมี คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ คุณพระคุณเทวดารักษา หนุนนำตามแรงบุญและผ่อนผันต้านแรงกรรม แคล้วคลาดปลอดภัย สมหวังในทุกๆประการ.......
    สมชื่อเหรียญรุ่น "ปัญญาอิทธิฤทธิ์"
    ...........ก็เป็นด้วยประการละฉะนี้แล...........
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  11. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ...........กมโล (ผู้งามดั่งดอกบัว)(10)...........(ต่อจากตอนที่แล้ว)
    .
    พรรษาที่ 6 พ.ศ. 2485
    (จำพรรษาที่วัดป่าบ้านโนนแห้ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ)
    .
    ได้จำพรรษาอยู่กับท่านอาจารย์คำบงเป็นครั้งที่สอง หลังจากเคยได้จำพรรษาอยู่กับท่านครั้งหนึ่งที่บ้านวังถ้ำ จังหวัดอุบลราชธานี หลวงปู่ได้ตั้งใจประกอบความเพียรด้วยความไม่ประมาท ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นที่หนักอกหนักใจครูบาอาจารย์ ท่านว่าการประกอบความเพียรก็ได้รับความสงบสุขเป็นที่พอใจ หลังจากออกพรรษาปวารณาแล้ว ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว เป็นฤดูเหมาะแก่การวิเวกไปในที่สงบสงัดเพื่อบำเพ็ญภาวนาตามอัธยาศัย หลวงปู่จึงกราบลาและขอขมาคารวะท่านอาจารย์คำบง แล้วเดินทางออกจากวัดป่าบ้านโนนแห้ อำเภอภูเขียว เที่ยววิเวกไปทางอำเภอมัญจาคีรี ทะลุถึงอำเภอบ้านไผ่
    .
    หลวงปู่เล่าว่า มีสามเณรองค์หนึ่งขอติดตามไปด้วย พอไปถึงวัดป่าแห่งหนึ่ง ในระยะนั้นเป็นเดือนเมษายน มะม่วงกำลังพอกินส้มจิ้มเกลือดีๆ ในวันหนึ่งพอฉันจังหันเช้าเสร็จแล้ว สามเณรก็ไปแอบกินมะม่วงคิดว่าจะไม่ให้ใครรู้ แต่หลวงปู่รู้จนได้ จึงพูดกับสามเณรว่า ทำอย่างนี้ไปด้วยกันไม่ได้ หลวงปู่จึงให้สามเณรอยู่ที่วัดป่านั้น แล้วท่านจึงเที่ยววิเวกไปลำพังองค์เดียว
    .
    พบพระอาจารย์คำดี ปภาโส
    .
    เมื่อหลวงปู่เที่ยววิเวกไปถึงอำเภอบ้านไผ่ ได้ทราบว่าพระอาจารย์คำดี ปภาโส ได้พักอบรมญาติโยมอยู่ที่บ้านฮ้านหญ้า อ.บ้านไผ่ จึงได้เข้ากราบนมัสการพักรับการอบรมอยู่กับท่าน ในขณะนั้นหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ก็ได้อยู่รับการอบรมกับท่านพระอาจารย์คำดีด้วย เมื่อหลวงปู่ได้พักอยู่กับท่านพระอาจารย์คำดี ปภาโสพอสมควรแล้ว จึงได้กราบลาท่านเดินเที่ยววิเวกไปทางจังหวัดมหาสารคาม ทะลุถึงจังหวัดร้อยเอ็ด พักที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ ในเวลานั้นวัดป่าศรีไพรวัลย์เป็นที่รวมของบรรดาพระธุดงค์กัมมฏฐาน
    ...............
    รูปหลวงปู่คำดี
    .
    *โปรดติดตามตอนต่อไป
    ..
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • kamdee.jpg
      kamdee.jpg
      ขนาดไฟล์:
      7.5 KB
      เปิดดู:
      55
  12. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ............กมโล (ผู้งามดั่งดอกบัว)(11)...........(ต่อจากตอนที่แล้ว)
    .
    พรรษาที่ 7
    (พ.ศ. 2485 จำพรรษาที่วัดประชาบำรง (วัดป่าพูนไพบูลย์) อ.เมือง จ.มหาสารคาม)
    .
    พอใกล้จะเข้าพรรษาหลวงปู่ได้เดินทางออกจากวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด ไปจำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม ที่วัดป่าช้าเมืองมหาสารคาม (ในครั้งนั้นเรียกชื่อวัดว่าวัดป่าพูนไพบูลย์ ปัจจุบันนี้เป็นวัดประชาบำรุง) หลวงปู่เล่าว่าในพรรษาได้ประกอบความพากความเพียร เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาด้วยความไม่ประมาท อดนอนผ่อนอาหาร เอากายกับใจเป็นหลักในการพิจารณา พิจารณากายแล้วก็พิจารณาใจ การพิจารณากายก็พิจารณาให้เห็นเป็นสิ่งปฏิกูลเน่าเปื่อย ในที่สุดก็จะต้องตายแตกสลายลงสู่ความเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตามธรรมชาติ พิจารณาใจก็พิจารณาให้เป็นเป็นของเกิดๆดับๆ ตามอารมณ์ต่างๆ เป็นไม่แน่นอน ไม่มีตัวตน เป็นเพียงนามธรรมเท่านั้น การปฏิบัติอาจาริยวัตรท่านได้ทำด้วยความเคารพในครูบาอาจารย์ ทำด้วยความเอาใจใส่ ไม่ให้ย่อหย่อน ไม่เห็นแก่หลับแก่นอน ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มีสติสัมปชัญญะคอยระมัดระวังอยู่อย่างนั้น ในการปฏิบัติทั้งภายนอกและภายใน หลวงปู่เล่าว่า โยมเมืองมหาสารคาม เขาก็เก่งเหมือนกันในการปฏิบัติรักษาศีลภาวนา พอถึงวันพระเขาก็สมาทานอุโบสถศีล คือ รักษาศีล 8 ประการ และอธิษฐานไม่นอน เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาฟังครูบาอาจารย์อบรมธรรมะไปจนสว่างและคอยเตือนใจให้สติพระเณรด้วย พอมีพระเณรองค์ไหนนั่งไม่ตรงพิงฝาพิงเสา เขาจะถามว่า "ท่านดูกสันหลังไม่มีหรือ" ในที่สุดพระเณรก็มีสติระมัดระวังไปด้วย
    .
    ผู้ปฏิบัติธรรมก็ต้องตาย
    .
    ในพรรษานี้มีโยมผู้ชายคนหนึ่งได้รับยศเป็นขุน หมู่เพื่อนทั้งหลายเรียกว่าท่านขุน ท่านขุนได้มารักษาอุโบสถศีล เดินจงกรมนั่งสมาธิ อดนอนในวันพระเป็นประจำ พออยู่มาใกล้จะออกพรรษา พอถึงวันพระอุโบสถ ท่านขุนก็ได้มาปฏิบัติธรรม รักษาศีล 8 เดินจงกรมนั่งสมาธิ อดนอนฟังครูบาอาจารย์อบรมไปจนสว่าง พอสว่างแล้วถึงเวลาพระไปบิณฑบาต หมู่เพื่อนทำข้อวัตร เตรียมอาหารสำหรับถวายพระ แต่ท่านขุนนั้นบอกหมู่เพื่อนว่าขอนอนพักผ่อนสักครู่หนึ่ง แต่แล้วจนะพระบิณฑบาตกลับถึงวัด ท่านขุนยังไม่ลุกไม่ตื่น หมู่เพื่อนจึงพูดกันว่าท่านขุนคงจะเหนื่อยปล่อยให้นอนไปก่อน จนในที่สุดพระเณรฉันบิณฑบาตเสร็จ ท่านขุนก็ยังไม่ตื่น หมู่เพื่อนจะรับประทานอาหาร จึงปลุกท่านขุนจะให้รับประทานอาหาร แต่แล้วในทีสุดทุกคนก็ตกตะลึงไปตามๆกัน เพราะท่านขุนนอนไม่ยอมตื่นได้หมดลมหายใจตายไปเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นหมู่เพื่อนทั้งหลายจึงพากันรับประทานอาหาร เสร็จแล้วจึงได้จัดแจงจัดงานฌาปนกิจศพให้ท่านขุนจนเป็นที่เรียบร้อย ท่านอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม จึงเทศนาว่าท่านขุนตายในขณะที่ศีลยังไม่ด่างพร้อยนับว่าตายดี สุคติย่อมเป็นที่ไป ความตายมีเหมือนกันหมดต่างกันแต่ว่า ตายในขณะที่ทำดี หรือทำความชั่ว ทำบุญหรือทำบาป
    .
    ผู้ทำบาปก็ต้องตายเหมือนกัน
    .
    ในเมืองสารคาม มีเจ๊กฆ่าหมูอย่คนหนึ่ง แกฆ่าหมูเป็นประจำทุกๆวัน ฆ่าแล้วก็ชำแหละเอาเนื้อไปขายในตลาด อยู่มาวันหนึ่งหมูที่แกจะฆ่าเป็นหมูแม่ลูกอ่อน ในวันนั้นขณะที่ท่านอาจารย์คูณท่านนั่งสมาธิจิตสงบอยู่ เป็นเวลา 4 ทุ่ม ได้มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามากราบท่านในนิมิตสมาธิ ร้องไห้ขอความเมตตาจากท่านอาจารย์ว่า "ขอให้ท่านอาจารย์เมตตาข้าน้อยด้วยเถิด เขาจะเอาข้าน้อยไปฆ่าในวันนี้ แต่ข้าน้อยมีลูกน้อยอยู่ ข้าน้อยสงสารลูกยังไม่โต" ท่านอาจารย์คูณจึงกำหนดถามในสมาธิว่า "โยมเป็นใคร" เขาจึงบอกว่า "เขาเป็นหมูแม่ลูกอ่อน" ท่านอาจารย์จึงบอกว่า "เอาละ เป็นกรรมของเฮา ขอให้ตั้งใจภาวนาพุทโธๆเด้อ" พอถึงเวลาตี 2 เสียงหมุร้อยกิ๊กๆ เจ๊กฆ่าหมูแม่ลูกอ่อน ท่านอาจารย์จึงนึกใจว่า "ตายแล้วหนอ จะทำอย่างไร กรรมของใครของมัน" พอเจ๊กแกฆ่าหมูเสร็จชำแหละเรียบร้อยแล้วบังเอิญยังไม่สว่าง เพราะแกฆ่าดึกไปหน่อย พอดีเข้าฤดูหนาวอากาศก็หนาวเย็น แกจึงก่อไฟผิง ขณะนั่งผิงไฟอยู่นั้นแกก็ง่วงนอนจึงเคลิ้มหลับฟุบลงไปในกองไฟ เสร็จแล้วก็ดิ้นวนอยู่ในกองไฟ ในทีสุดก็ขาดใจตายคากองไฟนั้น นี่แหละ คนทำบาป ก็ตายเหมือนกัน แต่ตายในขณะที่ทำบาป ทุคติย่อมเป็นที่ไป
    .
    คนใจบาปไม่กลัวบาป
    .
    หลวงปู่เล่าว่า มีชายคนหนึ่ง แกมาลักขโมยหน่อไม้ในวัด พอพระเดินไป แกเห็นพระแกนั่งทับหน่อไม้ไว้ พระจึงถามแกว่า "ทำอะไร" แกบอว่า "ผมถ่ายครับ" พระจึงพูดว่า "ถ่ายอะไร ไม่ใช่ลักหน่อไม้หรือ" พอพูดอย่างนั้นแกหอบหน่อไม้ได้ วิ่งออกจากวัดลงทุ่งไปเลย แกโกรธให้พระ วันหลังแกมาเดินข้างๆวัดแล้วก็ร้องลำด่าพระ "ปะโทนๆ ปะโทนๆ หัวโล้นวัดป่าขี้ใส่ต่า (ตะกร้า) มาให้มันกิน" พอแกว่าสมใจที่โกรธแค้นแล้วก็หนีไป พออยู่มาไม่นานแกก็เกิดท้องร่วง พอถ่ายออกมาก็กินของตัวเอง ในที่สุดก็ตายด้วยโรคท้องร่วงนั้น การทำบาปถึงแม้ไม่กลัวบาปก็ให้ผลได้
    .......เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้กราบลาท่านอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม กลับไปวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด
    .
    ไปเที่ยววิเวกทางอำเภอสุวรรณภูมิกับพระอาจารย์ลี ฐิตธมฺโม
    .
    ในระยะนั้นเป็นต้นปี พ.ศ. 2486 ได้พบกับพระอาจารย์ลี ฐิตธมฺโม เมื่อหลวงปู่พักอยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์ระยะหนึ่งแล้ว จึงได้เที่ยววิเวกไปทางอำเภอสุวรรณภูมิกับพระอาจารย์ลี ฐิตธมฺโม ไปถึงบ้านโนนลัง พักอยู่ที่ป่าช้าบ้านโนนลัง ในขณะนั้นมีโยมผู้หญิงคนหนึ่งมีลูกสาวคนเดียว พอดีลูกสาวของแกได้เสียชีวิตไป เกิดมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นกำลัง จะตายตามลูกสาวให้ได้ จึงต้องเป็นภาระของหลวงปู่กับพระอาจารย์ลี ได้ช่วยอบรมให้หายจากความโศกเศร้าเสียใจ เพราะความรักความอาลัย เมื่อมีความรักความอาลัยในสิ่งใด ก็ย่อมเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น เมื่อตัดความรักความอาลัยเสียได้ ทุกข์ก็ไม่มี หลวงปู่กับพระอาจารย์ลี ฐิตธมฺโม พักอยู่ป่าช้าบ้านโนนลังนี้หลายวัน พอเห็นว่าโยมผู้หญิงนั้นมีสติปัญญาพิจารณาเห็นสภาวะตามเป็นจริง จิตใจคลายจากความเศร้าโศกเสียใจได้แล้ว จึงได้ลาจากไป ได้เที่ยววิเวกกับพระอาจารย์ลี จนถึงเวลาใกล้จะเข้าพรรษาจึงได้กลับวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด
    .........
    *โปรดติดตามตอนต่อไป
    รูปหลวงปู่ลี
    ภาพประกอบคนใจบาปตกนรก
    .....
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 0908280311.jpg
      0908280311.jpg
      ขนาดไฟล์:
      412.4 KB
      เปิดดู:
      99
    • pm0l3.jpg
      pm0l3.jpg
      ขนาดไฟล์:
      32.5 KB
      เปิดดู:
      55
    • paragraph__1_201.jpg
      paragraph__1_201.jpg
      ขนาดไฟล์:
      200.1 KB
      เปิดดู:
      64
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 กรกฎาคม 2015
  13. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ............กมโล (ผู้งามดั่งดอกบัว)(12)...........(ต่อจากตอนที่แล้ว)
    .
    พรรษาที่ 8 พ.ศ. 2486
    (จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด)
    .
    ในฤดูการจำพรรษาไตรมาส 3 เดือน นั้นเป็นเวลาที่เร่งประกอบความพากความเพียร พระเณรต่างองค์ต่างมีความมุ่งมั่นในการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา อยู่ด้วยกันทำเหมือนกับว่าทะเลาะกัน คือ ไม่พูดคุยกัน ไม่คลุกคลีตีโมงกัน นอกจากจะมีสิ่งจำเป็นจริงๆ จึงจะถามกันพูดกัน เสร็จแล้วต่างองค์ต่างไปทำความพากเพียรของตนเอง เมื่ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้เที่ยววิเวกไปทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ตามอัธยาศัยจนใกล้จะเข้าพรรษาจึงได้กลับมาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์อีก
    .
    พรรษาที่ 9
    (จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด)
    .
    ในระยะนี้เป็นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มีความลำบากข้าวยากหมากแพง ของใช้ต่างๆอดอยาก ผ้าจีวรสังฆาฏิ ต้องใช้ผ้าทอหูก เมื่อตัดเย็บย้อมแล้วนำมาคลุม ลูกบวบจีวรท่วมหู ชาวบ้านชาวเมืองมีความขยาดต่อภัยสงคราม กลางคืนจุดไฟไม่ได้ เพราะกลัวเครื่องบินจะทิ้งระเบิดใส่ บ้านเรือนที่มุงด้วยสังกะสีสีขาวต้องเอาก้านมะพร้าวปิดไว้ พอได้ยินเสียงเครื่องบินมาต้องวิ่งลงหลุมเพลาะเพราะกลัวระเบิด ความเป็นอยู่ในระหว่างสงครามเป็นความลำบากยากเย็นมาก แต่หลวงปู่ท่านก็เป็นผู้ไม่ประมาท มอบกายถวายชีวิตในการทำความพากความเพียรจนตลอดไตรมาส 3 เดือน
    .
    เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว ช่วยทำกิจที่สงฆ์จะช่วยกัน มีการตัดเย็บผ้าจีวรสังฆาฏิหลังจากที่ได้รับผ้ากฐินทานแล้ว การเย็บผ้าจีวรสังฆาฏิก็เย็บด้วยมือ ช่วยกันเย็บเพราะจักรเย็บผ้าไม่มี เวลาย้อมก็ย้อมด้วยน้ำต้มแก่นขนุน คือเอาแก่นขนุนมาถากเป็นชิ้นบางๆ ให้ได้มากๆ แล้วใส่ปีบต้มให้ได้ 10 ปีบ แล้วเคี่ยวลงเหลือปีบเดียว จึงนำผ้ามาย้อม การตัดเย็บย้อมผ้าในครั้งนั้นรู้สึกว่าลำบากมาก
    .
    เมื่อเสร็จกิจที่สงฆ์ได้ช่วยกันทำแล้ว ย่างเข้าฤดูแล้ง ต้นปีพ.ศ. 2488 หลวงปู่ได้เที่ยววิเวกไปทางจังหวัดชัยภูมิ เพื่อกราบเยี่ยมนมัสการพระอาจารย์คำบงที่บ้านโนนแห้ อำเภอภูเขียว อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพักอยู่กับพระอาจารย์คำบงเป็นเวลาพอสมควรแล้ว จึงได้กราบลาคารวะพระอาจารย์คำบงออกเดินทาง มีพระรูปหนึ่งเป็นเพื่อนเดินทางด้วย ออกจากอำเภอภูเขียว เดินทางด้วยเท้ามาเรื่อยๆจนถึงอำเภอชุมแพ ในระยะนั้นอำเภอชุมแพกำลังเกิดโรคฝีดาษระบาดอยู่ ชาวบ้านแนะนำไม่ให้เดินผ่าน แต่หลวงปู่ไม่ฟัง เดินผ่านอำเภอชุมแพมุ่งหน้าไปทางอำเภอภูเวียง พอมาถึงบ้านฮ่องหอย อำเภอภูเวียง พระที่เดินทางมาด้วยเกิดไม่สบายเป็นไข้ จึงได้หยุดพักที่ป่าแห่งหนึ่ง มีโยมที่บ้านฮ่องหอยมาทำที่พักทางเดินจงกรมให้
    .
    โปรดนักเลงใหญ่ให้กลับใจ
    .
    หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า พอมาพักอยู่ที่บ้านฮ่องหอย วันหนึ่งพอไปบิณฑบาตกลับมาถึงที่พัก มีญาติโยมตามมาถวายอาหาร พอฉันเสร็จล้างบาตรแล้ว หลวงปู่ได้เทศน์อบรมศีลธรรมให้พวกญาติโยมฟังอยู่ พอดีมีผู้ชายคนหนึ่งรูปร่างกำยำน่าเกรงขามเดินเข้ามา แกนั่งอยู่ข้างหลังพวกโยม ในขณะนั้นหลวงปู่แสดงธรรมเรื่ององคุลิมาลโจร ทำบาปฆ่าคนเก้าร้อยเก้าสิบเก้าคนด้วยความหลงเพราะถูกหลอกลวง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดได้สำนึกในบาปที่ตนกระทำแล้วกลับใจขอบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า แล้วตั้งใจบำเพ็ญธรรม ได้สำเร็จพระอรหันต์ได้ เมื่อชายผู้นั้นได้ฟังจึงเข้าไปกราบใกล้ๆ แล้วบอกว่า "อาจารย์ ผมว่าจะไปไร่ พอมาถึงที่นี่ เห็นทางเตียนสะอาดดี ผมจึงเอาขวานซุกไว้แล้วเดินเข้ามา ได้ฟังอาจารย์เทศน์ให้ฟัง ทำอย่างไรผมจึงจะพ้นบาปพ้นกรรม เพราะผมทำทุกอย่าง ฆ่าเจ้าเอาของ แม้แต่พระก็เคยปล้น ถามหาเงินไม่มีก็แย่งเอาห่อผ้าครองพระไว้ ตีหัวพระจนสลบไป ทำอย่างนี้ผมก็เคยทำ" หลวงปู่จึงพูดปลอบใจว่า "ไม่เป็นไรหรอกโยม เมื่อเรารู้แล้ว ละในการทำบาป ตั้งใจทำคุณงามความดี เราก็จะพ้นจากบาปกรรมเหล่านั้น" เมื่อได้ฟังหลวงปู่พูดให้ฟังอย่างนั้น แกจึงพูดว่า "จะไปไร่ก็ไม่ไปหรอก เพราะเวลาก็บ่ายแล้ว" แกจึงลากลับบ้านไป
    .
    พอแกกลับไปแล้ว พวกโยมที่มาถวายอาหารบิณฑบาตจึงพูดว่า "ให้ท่านอาจารย์ระวังนะคนๆนี้ ถ้าปากว่าแล้วก็มือถึงด้วย เป็นนักเลงหัวโจกในเขตนี้" หลวงปู่จึงบอกญาติโยมว่า "แล้วแต่พระธรรมท่านจะรักษา" พอวันหลังโยมนักเลงนั้นแกก็มาถวายอาหารบิณฑบาตด้วย พร้อมรับสารภาพบาปกรรมและจะไม่ทำบาปกรรมอีกต่อไป พร้อมทั้งถวายตัวเป็นศิษย์รับใช้ตลอดมา อยู่ต่อมาหลวงปู่ปรารภจะเดินทางไปที่ถ้ำกวาง บ้านหินร่อง เพื่อนมัสการฟังธรรมจากพระอาจารย์คำดี ปภาโส เมื่อโยมนั้นทราบ แกอ้อนวอนไม่อยากให้หลวงปู่จากไป แกรับรองว่าจะสร้างวัดถวายให้ เพราะในหมู่บ้านนั้น แกพูดอย่างไรแล้วก็ได้อย่างนั้น เมื่อหลวงปู่ได้ฟังแกอ้อนวอนอย่างนั้น จึงมีความเมตตาสงสาร จึงพักรออีกระยะหนึ่ง
    .
    พระธรรมกำจัดภัยได้จริง
    .
    อยู่มาวันหนึ่งโยมลูกศิษย์นั่นแกมาถวายบิณฑบาตอยู่รับใช้หลวงปู่ หลวงปู่จึงสอนให้ยึดเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ก่อนหลับก่อนนอนให้ไหว้พระสวดมนต์ เจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ คือ สวดอิติปิโส...สวากขาโต...สุปฏิปันโน...ไปจนจบแล้วก็ให้เจริญเมตตาจิตเสร็จแล้วให้นั่งสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรงแล้วนึกพุทโธ ธัมโม สังโฆ ในใจ 3 หน แล้วให้นึกถึงพุทโธคำเดียวเป็นอารมณ์ของใจ ให้ทำไปจนกว่าใจของเราอยู่กับพุทโธจึงค่อยหยุดหลับนอน จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง
    .
    เมื่อหลวงปู่สอนวิธีปฏิบัติให้แล้ว จึงยื่นไม้ยาชนิดหนึ่งให้ พร้อมกับบอกว่า ไม้ชนิดถ้าผีปอบ (ผีชมก) เข้าสิงใคร ให้เอาไม้นี้จี้เข้าไปพร้อมกับภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ผีจะกลัวออกไปทันที พอโยมนั้นแกได้ไม้ยาพร้อมคำภาวนาจากหลวงปู่ ตอนเย็นก็กลับบ้าน พอถึงบ้านวันนั้นภรรยานั่งหันหลังให้ซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อน ถามอย่างไรก็ไม่พูด แกจึงเอาไม้ยาที่ได้จากหลวงปู่จี้ใส่ภรรยา พร้อมบริกรรมพุทโธ ธัมโม สังโฆ ทันใดนั้นภรรยาก็ปัสสาวะแตกออก จึงรู้สึกตัว แล้วพูดให้ฟังว่า "ไม่รู้เป็นอย่างไร เหมือนมีอะไรเข้ามาสิง" เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้โยมลูกศิษย์นั้นเพิ่มความเชื่อในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ยิ่งขึ้น
    .
    เดินทางไปถ้ำกวาง บ้านหินร่อง อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น
    .
    เมื่อหลวงปู่อยู่โปรดญาติโยมบ้านฮ่องหอย และลูกศิษย์กลับใจเป็นเวลาพอสมควรแล้ว จึงได้ลาญาติโยมเดินทางไปถ้ำกวางเพื่อกราบนมัสการและฟังธรรมจากพระอาจารย์คำดี ปภาโส โยมลูกศิษย์นั้นได้ติดตามไปส่งถึงถ้ำกวาง และพักอยู่ด้วย 2 คืนจึงได้ลากลับไป เมื่อมาพักอยู่ถ้ำกวาง หลวงปู่เป็นไข้จับสั่น ถึงขนาดนั้นท่านก็ไม่ได้ละในการทำความเพียร ร่างกายเป็นไข้ไป ใจก็ภาวนาไป วันหนึ่งเวลากลางคืนขณะที่นั่งภาวนาในกระท่อมไม้ไผ่ ไข้กำเริบภาวนาไปตัวก็สั่น เสียงฟากไม้ไผ่ที่ปูกระท่อมก็ดังแอ๊ดๆ แอ๊ดๆ ครู่หนึ่งได้ยินเสียงจากข้างนอกกระท่อมเข้ามาในหูดังแคบๆ แคบๆ ห่างๆ ในใจนึกขึ้นว่า "ไม่ใช่เสียงเสือหรือ" พอนึกขึ้นแค่นั้นก็มีสติระลึกได้ว่า "อะไรก็ช่างเถิดอย่าไปสนใจเลย" ตั้งใจภาวนาต่อไปจนจิตสงบ ไข้สั่นก็ระงับไป จึงได้พักผ่อน พอตอนเช้านำบาตรลงจากกระท่อมจะไปศาลา เห็นรอยเสือโคร่งอยู่ข้างกระท่อมที่พักนั้น อยู่ต่อมาอีกวันหนึ่งท่านพระอาจารย์คำดีได้พาระบมบาตร เมื่อจุดไฟระบมบาตร หลวงปู่ถูกไอความร้อนรู้สึกสบาย จึงไม่ขยับออก ท่านพระอาจารย์คำดีสังเกตเห็นท่าน ก็รู้ว่าเป็นไข้ ท่านจึงถามว่า "ท่านบุญ ไม่ใช่เป็นไข้หรือจึงไม่ขยับออกจากไฟ เป็นไข้ก็ไม่บอกกัน อย่างนี้ฆ่ากันทางอ้อมนะนี่" หลวงปู่ไม่ได้ตอบว่าอย่างไร
    .
    ในขณะพักอยู่กับท่านพระอาจารย์คำดี ปภาโสนั้น ได้รับความเมตตาจากท่านเป็นอันมาก ท่านมีนิสัยนิ่มนวลเยือกเย็น ท่านเป็นพระงาม ไม่ว่ากิริยาอาการเคลื่อนไหว ท่านงามทุกอิริยาบถ ในปีนั้นคิดว่าจะจำพรรษาที่ถ้ำกวางกับท่านพระอาจารย์คำดี พออยู่ต่อมาได้รับโทรเลขว่าพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม ซึ่งเป็นลูกชายของหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ในเวลานั้นท่านเป็นอาจารย์ ได้ป่วยอยู่วัดป่าสุมนามัย อำเภอบ้านไผ่ ให้รีบมาด่วน ถ้าช้าจะไม่เห็นใจ เมื่อได้รับโทรเลขแล้วจึงปรึกษากันกับหลวงปู่บัว เพราะขณะนั้นหลวงปู่บัวก็อยู่ถ้ำกวางด้วย จึงลงมติว่าควรจะกราบเรียนท่านพระอาจารย์คำดี ท่านจะเห็นว่าอย่างไร จึงได้นำโทรเลขกราบเรียนท่านพระอาจารย์คำดี ท่านจึงพูดว่า "อาจารย์เพ็งก็เป็นครูบาอาจารย์และมาด้วยกันก็ควรไปดูกันนั้นแหละ" หลวงปู่เล่าว่า "ความจริงนั้นท่านพระอาจารย์คำดีเห็นเราเป็นไข้เหมือนกัน ท่านอยากให้ออกจากถ้ำกวางเพราะท่านกลัวว่าธาตุขันธ์จะสู้ไม่ไหว"
    .
    ออกจากถ้ำกวาง
    .
    เมื่อได้รับความเห็นจากพระอาจารย์คำดีว่าควรจะกลับไปเยี่ยมพระอาจารย์เพ็งที่อำเภอบ้านไผ่ หลวงปู่พร้อมด้วยหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ จึงได้กราบลาคารวะท่านพระอาจารย์คำดี ปภาโส แล้วออกเดินทางด้วยเท้าจากถ้ำกวาง บ้านหินร่อง อำเภอภูเวียง สององค์ด้วยกันกับหลวงปู่บัว บนบ่าสะพายบาตรแบกกลด เดินไปไข้จับสั่นไป แสนทุกข์ทรมาน บางทีก้าวเท้าข้ามคันนาก็จะไม่ไหว สู้อดสู้ทนเอา กายไข้ไป ใจภาวนาไป พิจารณาทุกข์ไป เดินทั้งวัน ข้ามทุ่งเข้าป่า พอใกล้ค่ำถึงบ้านหนองขอน อำเภอเมืองขอนแก่น จึงได้หยุดพักที่ป่าใกล้ๆหมู่บ้าน ตอนเช้าบิณฑบาตในหมู่บ้านหนองขอนทั้งไข้จับสั่นไปด้วย ได้แต่ข้าวกับมะม่วงดิบลูกเล็กๆ กับห่ออาหารห่อหนึ่ง พอกลับมาถึงที่พักจัดแจงฉันเปิดห่ออาหารออก ปรากฏว่าเป็นปลาร้าดิบฉันไม่ได้ผิดวินัย ฉันข้าวกับมะม่วงดิบก็ฉันไม่ได้ เพราะอาการไข้ทำให้ขมปาก จึงฉันแต่ข้าวเปล่าพอประทัง แล้วจึงออกเดินทางต่อมาถึงขอนแก่น พักที่วัดป่าชัยวัน จังหวัดขอนแก่น ตอนเช้าจึงขึ้นรถไฟจากขอนแก่นไปบ้านไผ่ มีพระอีกองค์หนึ่งขอติดตามไปด้วยจึงเป็น 3 องค์ หลวงปู่เล่าว่า "รถไฟคนเต็มนั่งไม่ได้ ต้องยืนระหว่างตู้รถต่อกัน บ่าก็สะพายบาตรทั้งแบกกลดทั้งเป็นไข้ พระที่ขอไปด้วยก็เมารถเป็นลม ตัวเองก็เป็นไข้ มือก็ประคองพระ เพราะกลัวจะตกรถไฟ แสนทรมานในการเดินทาง ยืนจากขอนแก่นถึงบ้านไผ่ พอถึงบ้านไผ่ นายสถานีจึงนำรถมารับไปส่งที่วัดป่าสุมนามัย พอขึ้นศาลาวัดป่าสุมนามัย ต่างองค์ต่างไข้ ไม่มีใครดูใครเลย ต่างองค์ต่างนอนภาวนาไปพร้อมกับไข้จับสั่น" ในขณะนั้น ท่านพระอาจารย์สีโห เขมโก ก็ได้มาพักที่วัดป่าสุมนามัยด้วย
    .
    เมื่อไข้พอทุเลา พวกญาติโยมจังหวัดร้อยเอ็ดได้ทราบข่าวว่าพระอาจารย์เพ็ง หลวงปู่และหลวงปู่บัวมาป่วยอยู่อำเภอบ้านไผ่ จึงได้นำรถมารับกลับไปวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อกลับถึงวัดป่าศรีไพรวัลย์แล้ว พวกญาติโยมเมืองร้อยเอ็ดหายามาถวายให้ฉัน อาการไข้จับสั่นจึงค่อยทุเลาและหายไป
    .
    ความอยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
    .
    พอหายไข้ใหม่ๆ เริ่มฉันอาหารได้ รู้สึกว่าอยากโน่นอยากนี่ (ภาษาโบราณเขาว่ากำลังเป็นผีโพ คือกินอะไรไม่รู้จักอิ่ม) อยู่มาวันหนึ่งโยมเขานำลาบปลาปึ่ง (ปลาเทโพ) มาถวายจังหันตอนเช้า ฉันเอาเต็มที่ เพราะฉันไปไม่รู้จักอิ่ม ฉันด้วยความอยาก พอฉันเสร็จแล้ว อยู่อย่างไรก็ไม่สบาย สุดท้ายต้องไปยืนเหนี่ยวกิ่งไม้อยู่ตามร่มไม้ลำดวนในวัด เพราะแต่ก่อนวัดป่าศรีไพรวัลย์เป็นป่าไม้ลำดวน ทุกข์เกิดเพราะความอยาก ทุกข์เกิดเพราะการกิน พระพุทธเจ้าจึงให้รู้ประมาณในการกิน ให้รู้เท่าความอยาก ไม่ปล่อยไปตามกระแสแห่งความอยากโดยถ่ายเดียว ถ้าปล่อยตามกระแสแห่งความอยาก ก็จะเกิดทุกข์เรื่อยไป ถ้ารู้เท่าความอยาก ไม่ปล่อยตามกระแสแห่งความอยาก ทุกข์ก็จะดับไป
    ..........
    *โปรดติดตามตอนต่อไป
    ภาพประกอบองคุลีมาลที่หลวงปู่เทศน์โปรดนักเลง
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • hqdefault.jpg
      hqdefault.jpg
      ขนาดไฟล์:
      42.6 KB
      เปิดดู:
      86
  14. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ทวนกันอีกรอบ
    พรุ่งนี้ที่นครปฐมนะครับเรียนเชิญทุกท่านไปร่วมงานกัน
    เจอกันทักทายกันด้วยนะครับ.......^^
    งานเริ่ม 13.00 น
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  15. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ...........สวัสดีครับทุกท่าน หลังจากช่างชิตขึ้นไปกรุงเทพไปร่วมงานเททองหล่อพระของหลวงตามา ก็มีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังเยอะแยะเลย คืนนี้ช่างชิตก็ขอเอาภาพวันงานมาฝากทุกๆท่านเล็กน้อย พร้อมด้วยเรื่องที่น่าสนใจในบทความนี้เลยละกันเพื่อไม่ให้เปลืองพื้นที่
    .........ในวันงานที่ 5 ที่ผ่านมาได้มีการหล่อพระพุทธเมตตา 1 องค์ และรูปหล่อหลวงปู่เสาร์อีก 4 องค์ โดยเจ้าภาพพี่ใหญ่ใจดีของช่างชิต
    คือ พี่พรชัยและพี่สัญญา บรรยากาศในวันงานก็ราบรื่นเป็นไปโดยดีไม่มีติดขัดอะไร สมกับที่เทพยดาต่างร่วมอนุโมทนากับงานครั้งนี้ ยังไงช่างชิตก็ขออนุโมทนาบุญกับพี่ๆใจดีและทุกๆท่านที่มาร่วมบุญในครั้งนี้ด้วยนะครับ
    .
    ........ส่วนอีกเรื่องที่ต้องแจ้งกันต่อคือเรื่องเหรียญ รุ่น ปัญญาอิทธิฤทธิ์ ซึ่งจากการที่ช่างชิตขึ้นไปดูและนำให้หลวงตาพิจารณาอีกครั้ง ก็ยังมีขอแก้ไขพอสมควร ช่างชิตกับทีมงานก็กังวลว่าถ้าแก้อีกจะไม่ทันเข้าพรรษาแน่ๆ
    จึงประชุมกันก็สรุปว่า "ถ้าจะไม่ทันก็ไม่เป็นไรขอให้เหรียญออกมาสวยและดีเพราะยังไงหลวงตาก็ "จัดให้เต็มที่" อยู่แล้ว" ยังไงเสียช่างชิตจะพยายามเร่งให้เร็วที่สุดนะครับ
    .
    .........พร้อมกันนั้นการขึ้นไปงวดนี้ ก็ได้เห็นอลังการงานสร้าง
    "แหวนหัวพยัคฆ์ รุ่น 65 ปี" ของหลวงตาที่เรียบร้อยแล้วเสร็จ พร้อมกับหลวงตาอธิฐานให้จุใจ 2 รอบด้วยในคืนวันเสาร์จนเช้าวันอาทิตย์ ช่วงเย็นวันอาทิตย์ช่างชิตกราบเรียนถามหลวงตาว่า
    .
    ชช "หลวงตาจะอธิฐานจิตอีกไหมครับ"
    .
    ลต "อัดให้เต็มที่แล้ว 2 รอบลงให้ครบทุกอย่าง"
    .
    ชช "แสดงว่าพลังเต็มดีพร้อมแล้วใช่ไหมครับหลวงตา??"
    .
    ลต "ใช่ แหวนทำให้ดีแล้ว คราวนี้อยู่ที่คนได้ไปจะดีสมกับแหวนไหมเท่านั้นละ!!" หลวงตากล่าวพร้อมหันมาสบตาช่างชิตแล้วยิ้มตามสไตร์ของท่าน เสมือนสอนในตัวว่าดีชั่วอยู่ที่ตัวเราเป็นประธนใช่สิ่งอื่นใดรอบตัว
    .
    .......ครับ เล่าสู่กันแล้ว ใครอยากได้ ไม่ต้องขอช่างชิต!! ไม่มีให้ครับ
    อ่านด้วยนะ อย่าขอ!!! 55555 แล้วถามว่าทำไงถึงจะได้ ???

    ช่างชิตก็บอกได้แค่ว่า ก็ต้องใช้
    "ความวิริยะอุตสาหะบวกศรัทธาอันแรงกล้า"
    ไปกราบขอกับหลวงตาท่านเลยครับ คิดว่าหลวงตาจะแจกหลังจากวันเกิดท่าน(วันที่ 7 นี้)หรือวันงานใหญ่ของวัด "งานครบรอบหลวงปู่ละสังขาร"
    18 - 19 กรกฏาคมที่จะถึงนี้ด้วย
    ยังไงใครว่างก็ไปร่วมบุญร่วมงานกันด้วยนะครับ และขอให้โชคดีได้สมปราถนาทุกๆคน
    ............................
    *ชีวประวัติหลวงปู่ตอนที่ 13 ติดตามพรุ่งนี้นะครับ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_2899.JPG
      IMG_2899.JPG
      ขนาดไฟล์:
      1.8 MB
      เปิดดู:
      114
    • IMG_2927.JPG
      IMG_2927.JPG
      ขนาดไฟล์:
      1.3 MB
      เปิดดู:
      86
    • IMG_2944.JPG
      IMG_2944.JPG
      ขนาดไฟล์:
      1.7 MB
      เปิดดู:
      64
    • IMG_2826.JPG
      IMG_2826.JPG
      ขนาดไฟล์:
      1.9 MB
      เปิดดู:
      54
    • IMG_2820.JPG
      IMG_2820.JPG
      ขนาดไฟล์:
      2.1 MB
      เปิดดู:
      67
    • IMG_3040.JPG
      IMG_3040.JPG
      ขนาดไฟล์:
      2.1 MB
      เปิดดู:
      64
  16. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ............กมโล (ผู้งามดั่งดอกบัว)(13)...........(ต่อจากตอนที่แล้ว)
    .
    พรรษาที่ 10
    (พ.ศ. 2488 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด)
    .
    ในพรรษานี้หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกับพระภิกษุสามเณรจำนวนหลายรูป โดยมีพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม เป็นประธานสงฆ์ และมีครูบาอาจารย์ที่ได้จำพรรษาร่วมกัน ที่ยังดำรงอยู่ในพุทธศาสนา เป็นที่พึ่งของศิษยานุศิษย์ถึงปัจจุบันนี้คือ พระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ และพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ในครั้งนั้นพระอาจารย์สมชายยังเป็นสามเณร หลวงปู่ยังเคยเป็นผู้สอนคำขานนาคให้ด้วยก่อนบวชเป็นสามเณร ในพรรษานี้เป็นระยะสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะเลิกกัน กองทหารม้าจังหวัดร้อยเอ็ดได้ขอวัดป่าศรีไพรวัลย์เป็นที่หลบตั้งกองทหารม้า คณะสงฆ์ได้ยกศาลาให้พวกทหารเป็นที่พัก พระเณรอาศัยกุฏิเป็นที่ร่วมทำกิจสงฆ์ พวกทหารม้าอาศัยวัดอยู่จนตลอดออกพรรษา ในวัดมีแต่ขี้ม้าเต็มไปหมด เหม็นขี้ม้า พอพวกญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม พวกทหารม้าจึงได้ยกกองพลออกจากวัดไป
    .
    เกิดความสังเวชในการทรมาน
    .
    หลวงปู่เล่าว่าในขณะที่พวกทหารม้าอาศัยอยู่ในวัด ได้เห็นผู้บังคับบัญชาทรมานทหารที่ทำความผิดด้วยวิธีต่างๆ ทำให้เกิดความสังเวชสลดใจเป็นอย่างยิ่ง ในพรรษานี้หลวงปู่ได้ประกอบความเพียรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พูดน้อยไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ซึ่งเป็นนิสัยประจำองค์หลวงปู่
    .
    เมื่อออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์สุวัจน์และสามเณรสมชายได้เที่ยววิเวกไปทางสกลนครเพื่อรับการอบรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต สำหรับหลวงปู่ได้เที่ยววิเวกอยุ่แถวจังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์แล้วก็กลับมาวัดป่าศรีไพรวัลย์
    .
    พรรษาที่ 11
    (พ.ศ. 2489 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด)
    .
    ในพรรษานี้ หลวงปู่ได้จำพรรษาร่วมกับพระภิกษุสามเณรโดยมีพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม เป็นประธานสงฆ์ พระเณรต่างพากันตั้งสัจจะอธิษฐานประกอบความเพียร และอธิษฐานไม่พูดกัน ถ้ามีเหตุจำเป็นก็เวียนหนังสือถามกันเอง แต่ให้เหลือไว้คนหนึ่งสำหรับพูดเวลามีแขกคนมาวัดมีธุระจำเป็น วันหนึ่งมีนายอำเภอขี่ม้าเข้ามาในวัด มาถามพระเณร องค์ไหนก็ไม่พุด นายอำเภอจึงพูดว่า "อะไรกัน พระเณรเป็นใบ้กันหมดทั้งวัด" เพราะนายอำเภอถามไม่ถูกองค์ที่ตั้งไว้ให้รับแขก ในสมัยนั้นการประกอบความเพียรเพื่อเอาชนะกิเลสภายในใจจำต้องทำด้วยวิธีต่างๆ
    .
    ตั้งใจไปโปรดญาติ
    .
    เมื่อออกพรรษาปี 2489 ฤดูเดือน 12 หลวงปู่คิดถึงญาติที่ได้จากกันไปอยู่บ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลาหลายปี ยังไม่เคยได้ไปเยี่ยมเยือนเลย หลวงปู่จึงคิดที่จะทำประโยชน์แก่ญาติ จึงออกเดินทางจากวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด ไปขึ้นรถไฟที่สถานีกิ่งไผ่ (อำเภอบ้านไผ่) ไปลงที่สถานีรถไฟห้วยสามพาต อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี พอลงจากรถไฟเป็นเวลาใกล้มืด สะพายบาตรแบกกลดเดินผ่านบ้านห้วยสามพาต เลยออกไปทุ่งนา อาศัยโคนต้นไม้แสบงใหญ่มีรากเป็นที่พึ่ง เป็นที่พักจำวัด
    .
    บ้าบัตรเบอร์
    .
    ในสมัยนั้นคนเป็นบ้าหวยกันเพราะเจ็ดวันหวยออกครั้งหนึ่ง ชาวบ้านห้วยสามพาต เมื่อเห็นพระกัมมัฏฐานเดินผ่านบ้านไปตามทุ่งนา พอเวลาค่ำมืดก็พากันจุดไต้ตามออกไปหา เพื่อจะได้ขอหวยบ้าง
    หลวงปู่เล่าว่า
    " เราก็นั่งอยู่โคนต้นไม้ เขาก็เดินค้นหาผ่านไปผ่านมาใกล้ๆแต่เขาไม่เห็น ได้ยินเสียงเขาพูดกันว่า "เห็นท่านออกมาหยุดอยู่บริเวณนี้แหละ ทำไมไม่เห็นไม่พบ" เราก็นั่งนิ่งเงียบเพราะกลัวเขาจะเห็นเรา เมื่อเขาค้นหาเหนื่อยแล้ว ไม่พบ เขาก็กลับเข้าบ้านไป เราก็อาศัยพิงรากไม้นั้นแหละเป็นที่จำวัด ในคืนนั้นฝนก็ตกพรำๆตลอดคืน พอตอนเช้าเข้าบิณฑบาตตามสมณวิสัยในหมู่บ้านห้วยสามพาต พอบิณฑบาตแล้วจะกลับออกไปฉันที่ทุ่ง มีโยมคนหนึ่งให้ขึ้นไปฉันบนบ้านเขา เพราะตอนเช้าฝนก็ยังตกพรำๆอยู่ไม่หยุด เมื่อฉันเสร็จแล้วจะลาโยมเจ้าของบ้านและเพื่อนบ้านที่มาร่วมถวายอาหารบิณฑบาตด้วย เขาขอตัวดีจากเราว่า "อาจารย์ไม่มีตัวดีหรือ" บอกเขาว่า "มี...ตัวดีคือตัวเรา เราทำดีก็เป็นตัวดี เราทำไม่ดีก็เป็นตัวร้าย"
    .
    เมื่อบอกตัวดีให้เขาแล้วก็ออกเดินทางจากบ้านห้วยสามพาต ผ่านบ้านโพนทอง พังซ้อนงาวัว เดินทั้งวัน ถึงบ้านหนองแวงแก้มหอม ผ่านไปถึงบ้านหนองตูม ขณะนั้นมีบ้านอยู่ 4-5 หลังคาเรือน ผ่านบ้านหนองตูมเข้าบ้านไชยวาน คุ้มหนองยาง เป็นเวลามืดผึมผำ (มืดสลัว) เจอบ้านคนมีคนอยู่ใต้ถุนบ้าน พอจะถาม เขาก็วิ่งขึ้นบ้านไป จึงเดินผ่านเข้าไปกลางหมู่บ้านถามถึงญาติ คือพี่ชายชื่อคำสิงห์ เขาก็บอกว่าสิงห์มีหลายสิงห์ สิงห์ก่าก็มี สิงห์กระดูกม้าก็มี สิงห์โกโลก็มี สิงห์เพ็งก็มี เราก็ไม่รู้ว่า สิงห์อะไรเป็นพี่ชายของเรา จึงถามถึงคุณพ่อสอน เขาก็ไม่รู้อีกเลยไม่ได้หน้าได้หลัง"
    .
    หลวงปู่จึงเดินเลยหมู่บ้านออกไปริมทุ่ง พอดีมีโพนมะขามใหญ่อยู่โพนหนึ่ง ซึ่งอยู่ทิศตะวันออกของบ้านไชยวาน และอยู่ใกล้กับตึกใหญ่ (ตึกหมายถึงร้านค้าใหญ่) ของนายฮ้อยนิล มั่งมีศรี หลวงปู่จึงปักกลดจำวัดที่โพนมะขามใหญ่นั้น (โพน หมายถึงจอมปลวกใหญ่) พอถึงเวลาดึกน้ำค้างลงทำให้มีกลิ่นเหม็นพิกล พอสว่างเป็นวันใหม่จึงรู้ว่าที่นั้นมันเป็นส้วมปล่อยตามอัธยาศัยของชาวบ้าน เมื่อสว่างได้เวลาพอบิณฑบาตแล้ว หลวงปู่จึงสะพายบาตรพร้อมกับบริขารอย่างอื่นไปด้วย เดินบิณฑบาตจากตึกใหญ่เดินตามถนนมาจนถึงหน้าวัดท่าบ่อวารีรินทร์ จึงพบพวกญาติพี่น้องที่อพยพมาจากอำเภอพนมไพร มาตั้งบ้านเรือนอยู่คุ้มวัดท่าบ่อวารีรินทร์ปัจจุบันนี้
    .
    นายคำสิงห์ผู้เป็นพี่ชายจึงนิมนต์ฉันอาหารเช้าที่บ้าน ได้มีพวกญาติๆมาร่วมถวายอาหารบิณฑบาตด้วย เมื่อฉันเสร็จแล้วญาติโยมจึงนิมนต์ให้ไปพักที่อาคารโรงเรียนบ้านไชยวาน ขณะนั้นเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ยังไม่ได้เปิดเรียน พักที่อาคารโรงเรียน 1 คืน จึงย้ายไปพักที่ร่มไม้หว้าชมภู สวนนายสุจินต์ คำใสย์ อบรมศีลธรรมแก่ญาติพี่น้องและญาติโยมชาวบ้านไชยวาน ให้ยึดเอาพระไตรสรณคมน์และศีลห้าเป็นที่พึ่งและเป็นข้อปฏิบัติ
    .
    ความไม่เคยเห็นเคยรู้ทำให้เข้าใจผิดได้
    .
    ขณะที่หลวงปู่พักอยู่รุกขมูลร่มไม้หว้าชมภูเพื่ออบรมศีลธรรมแก่ญาติพี่น้องอยู่นั้น วันหนึ่งได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งท่านอยู่วัดในบ้านได้ออกมาพูดคุยกับหลวงปู่ คุยไปคุยมาท่านมองเห็นบั้งถาน (กระบอกสำหรับใส่น้ำชำระก้นเวลาถ่ายเสร็จ) และฟอยสับปะรด (เป็นของสำหรับเช็ดน้ำที่ล้างก้นให้แห้ง) ท่านจึงถามหลวงปู่ว่า "นี้อะไร" พร้อมกับยื่นมือไปจับมาดู หลวงปู่ตอบว่า "บั้งถาน" พระท่านจึงพูดว่า "เอ้า ไปถานก็พอจะหิวน้ำด้วยหรือ" พร้อมกับจับบั้งถานยกขึ้นทำท่าเทน้ำใส่ปากตัวเองด้วย แล้วพระนั้นท่านก็หยิบเอาฟอยสับประดาที่ทำด้วยเส้นฝ้ายนิ่มๆนั้นขึ้นมาถูที่จมูกของท่าน ถูไปถูมาพร้อมกับพูดว่า "แหม นิ่มดีเนาะ" หลวงปู่ได้แต่ยิ้มๆและนึกอยู่ในใจว่า "คนเราไม่เคยเห็นไม่เคยรู้ว่าเขาทำสำหรับอะไร ก็ทำให้เข้าใจผิดได้"
    .
    คุณพ่อสอน คำใสย์ ติดตามออกบวช
    .
    หลวงปู่พักอบรมศีลธรรมแก่ญาติพี่น้องและชักชวนพี่ชายให้ออกบวชด้วย แต่พี่ชายยังไม่ตกลง ท่านพักอยู่ไม่นาน จึงได้ลาญาติพี่น้องกลับไปจังหวัดร้อยเอ็ด ได้มีคุณพ่อสอน คำใสย์ สละครอบครัวติดตามหลวงปู่ไปบวชด้วย หลวงปู่พาคุณพ่อสอนเดินด้วยเท้า ออกจากบ้านไชยวาน ผ่านดงหลุบหวาย บ้านหนองกุงทับม้า (ปัจจุบันเป็นเขตอำเภอวังสามหมอ) มุ่งหน้าผ่านบ้านหนองลุมพุก พักรอนแรมไปเรื่อยๆ เข้าเขตอำเภอโนนศิลา (ปัจจุบันเป็นอำเภอสหัสสขันธ์) ผ่านกาฬสินธุ์ กมลาไสย ถึงวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด แล้วจึงให้คุณพ่อสอนบวชเป็นตาผ้าขาว ถือศีล 8 ฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติให้ชำนิชำนาญก่อน
    .
    ร่วมสร้างสาธารณประโยชน์
    .
    ในระยนี้พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม ได้พาสร้างโรงเรียนประชาบาลให้บ้านนาสร้าง โรงเรียนนี้สร้างอยู่ติดกับวัดป่าศรีไพรวัลย์ ทั้งพระทั้งเณรและชาวบ้านได้ช่วยกันเลื่อยไม้ทำอาคารเรียน การสร้างโรงเรียนยังไม่เสร็จ พระอาจารย์เพ็งได้ลาสิกขาบทออกไปเป็นฆราวาส (ภายหลังท่านกลับมาบวชอีก ต่อมาท่านได้อยู่ที่วัดเทิงเสาหิน ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) หน้าที่เจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัลย์จึงตกเป็นภาระของหลวงปู่ และการสร้างโรงเรียนที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยก็ตกเป็นภาระของหลวงปู่ด้วย ซึ่งท่านก็ดำเนินการต่อไปจนเสร็จเรียบร้อยทุกประการ
    .
    เห็นโทษในการเกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลก
    .
    เมื่อสร้างโรงเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงทำหนังสือขอครูใหญ่มาประจำโรงเรียน โดยขอครูคนที่ได้ร่วมสร้างโรงเรียนด้วยมาเป็นครูใหญ่ แต่มีอีกคนหนึ่งที่อยากมาเป็นครูใหญ่ เวลาทำงานสร้างโรงเรียนไม่ได้เอาใจใส่ เวลาอยากเป็นใหญ่มีหน้ามียศ กุลีกุจอวิ่งหน้าวิ่งหลังติดต่อผู้หลักผู้ใหญ่ จนกระทบกระเทือนมาถึงหลวงปู่ด้วย จึงเป็นเหตุให้ท่านเอือมระอาในการที่จะคลุกคลีเกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลก ทำให้ท่านเห็นโทษอย่างยิ่ง ในที่สุดหลวงปู่จึงชี้ขาดให้ผู้ที่ได้ร่วมทำงานด้วยมาเป็นครูใหญ่ประจำโรงเรียนบ้านนาสร้าง จึงเสร็จสิ้นภาระหน้าที่ในการสร้างโรงเรียน
    ...............
    รูปหลวงพ่อสมชาย
    และหลวงปู่สุวัจน์
    .
    *โปรดติดตามตอนต่อไป
    ....
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • somchai.jpg
      somchai.jpg
      ขนาดไฟล์:
      7.8 KB
      เปิดดู:
      50
    • suwaj.jpg
      suwaj.jpg
      ขนาดไฟล์:
      13 KB
      เปิดดู:
      57
  17. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ...........กมโล (ผู้งามดั่งดอกบัว)(14)...........(ต่อจากตอนที่แล้ว)
    .
    พรรษาที่ 12
    (พ.ศ. 2490 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด)
    .
    ในพรรษานี้ หลวงปู่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัลย์ และเป็นประธานสงฆ์ และมีหลวงพ่อศิลาซึ่งเป็นคู่นาคกันกับหลวงปู่อยู่เป็นผู้ช่วยหลวงปู่ด้วย หลวงปู่ได้นำพาพระภิกษุสามเณรประกอบความพากความเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา และได้อบรมญาติโยมที่มาเกี่ยวข้องให้ตั้งอยู่ในศีลห้าและพระไตรสรณคมน์สาม คือให้ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่เคารพด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งศีลธรรม
    .
    อำนาจพระรัตนตรัยทำให้เดรัจฉานวิชาจืดจาง
    .
    หลวงปู่ท่านเป็นผู้มีเมตตาประจำนิสัย เมื่อมีผู้ได้รับทุกข์มาพึ่งพาอาศัย ท่านจะสงเคราะห์ตามแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งไม่เหลือวิสัยและไม่ผิดต่อหลักธรรมวินัย วันหนึ่งในระยะเข้าพรรษาใหม่ๆ ได้มีโยมผู้ชายคนหนึ่งเป็นคนทางสุรินทร์ ตามองไม่เห็น ให้ญาติจูงมาวัด แล้วเล่าเรื่องความเป็นมาให้หลวงปู่ฟังว่า แต่ก่อนตาเขามองเห็น เขาเล่นวิชาเอาเข็มเข้าในตัวร้อยเล่ม เพื่อให้อยู่ยงคงกระพันชาตรี ครั้นอยู่ต่อมาทำให้ตาเขามองไม่เห็นหน เขาไม่มีที่พึ่งจึงมาขอพึ่งบารมีหลวงปู่ หลวงปู่ได้ให้สมาทานศีลห้ารับพระไตรสรณคมน์ ให้ตั้งใจไหว้พระสวดมนต์ภาวนาก่อนนอนและหลังตื่นนอนทุกวันเป็นประจำ เขาปฏิบัติตามอยู่มาไม่ถึงครึ่งพรรษา เข็มที่อยู่ในตัวก็หลุดออกมา ตกอยู่ตามที่นอน ตาก็มองเห็นหน มาวัดไม่ต้องจูง เดินมาเองได้ คลำดูในตัวยังมีเข็มเหลืออยู่ 3 เล่ม ต่อมาก็หลุดออกหายไปหมด หลวงปู่ท่านว่าวิชามันกินเจ้าของ เมื่อมาปฏิบัติตามศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว สิ่งเหล่านั้นมันจืดจางไปเอง
    .
    วิญญาณมีจริงหรือไม่
    .
    หลวงปู่เล่าว่า มีเด็กนักเรียนผู้ชายคนหนึ่งมาขออาศัยอยู่วัดด้วย เวลาเรียนก็ไปโรงเรียนในจังหวัดร้อยเอ็ด วันหนึ่งพอเลิกเรียนจะกลับวัด ความดื้อของเธอทำให้ไม่กลัวอะไร พอเดินผ่านหลักเมือง แกก็ไปปัสสาวะใส่หลักเมืองของเขา พอกลับถึงวัดก็มีอาการเหมือนเป็นบ้า พระเณรช่วยกันจับคุมตัวไว้ที่ศาลา ในวันนั้นหลวงปู่มีธุระเข้าไปในเมืองร้อยเอ็ด กลับออกมาเห็นพระเณรจับเด็กนักเรียนไว้ พระจึงบอกเด็กนักเรียนว่า "นั้นอาจารย์มาแล้ว มึงไม่กลัวหรือ" เด็กพูดว่า "อาจารย์ กูก็ไม่กลัว" หลวงปู่เข้าไปในห้องที่พักได้ไม้เรียวออกมา ถามว่า "ใครไม่กลัวอาจารย์" เด็กตอบว่า "กูนี้แหละ" หลวงปู่ฟาดไม้เรียวลงไปที่เด็ก 3 ที เด็กร้องว่า "ยอมแล้ว ยอมแล้ว" พร้อมกับปัสสาวะราดออกจึงหายเป็นปรกติ แล้วแกจึงถามว่า "ผมเป็นอะไรไม่รู้สึกตัวเลยเมื่อกี้นี้" หลวงปู่สอนว่า เราไม่เคารพไม่นับถือก็อย่าไปเหยียดหยามของเขา ความคึกคะนอง ความไม่มีสติปัญญารอบคอบ ความโลเล ย่อมทำให้ขาดสมบัติของผู้ดี
    .
    เอาใจใส่ในการดูแลปรนนิบัติครูอาจารย์อาพาธ
    .
    หลวงปู่เล่าว่า ในพรรษาปี พ.ศ. 2490 นี้ ท่านต้องจำสัตตาหกิจไปปรนนิบัติท่านพระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม ที่วัดป่าพูนไพบูลย์ (ปัจจุบันเป็นวัดประชาบำรุง) ที่เมืองมหาสารคาม เพราะท่านพระอาจารย์คูณได้อาพาธออดๆแอดๆ อยู่เรื่อย หลวงปู่จึงต้องไปๆมาๆ ระหว่างร้อยเอ็ดกับมหาสารคามจนออกพรรษา
    .
    ให้คุณพ่อสอนบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา
    .
    เมื่อออกพรรษาแล้วลุถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2490 หลวงปู่จึงได้นำตาผ้าขาวสอนที่ฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติและคำขานนาคได้ถูกต้องตามอักขรฐานกรณ์แล้ว ไปบวชที่วัดเหนือ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2490 เวลา 15.00 น. โดยมีพระครูศิริธรรมธาดาเป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์บุญยอด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระใบฎีกาหยาดเป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีนามฉายาว่า "สงฺจิตฺโจ" เมื่อบวชเสร็จแล้วได้นำหลวงพ่อสอนกลับไปอยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์ หลวงปู่ได้เอาธุระในการสั่งสอนศิษย์ผู้บวชใหม่ให้ปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา คือศีล สมาธิ และปัญญา ไม่ให้ประมาท
    .
    พระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม อาพาธหนักและมรณภาพ
    .
    เมื่อเวลาล่วงถึงต้นปี พ.ศ. 2491 ท่านพระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม วัดป่าพูนไพบูลย์ จังหวัดมหาสารคาม อาการอาพาธทรุดลง หลวงปู่จึงได้ไปปฏิบัติดูแลอยู่ประจำจนท่านมรณภาพละสังขารจากไป ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม มอบภาระในการดูแลเรื่องจัดการฌาปนกิจศพท่านพระอาจารย์คูณ ให้หลวงปู่เป็นผู้ดำเนินการหาวัสดุจัดทำเมรุที่เผาศพพระอาจารย์คูณ หลวงปู่ได้รับปฏิบัติตามที่ครูบาอาจารย์มอบหมายงานให้ จนการจัดงานฌาปนกิจศพของท่านพระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม ได้สำเร็จเสร็จสิ้นไปด้วยความเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงได้กลับไปวัดป่าศรีไพรวัลย์
    .
    อยากให้พี่ชายพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสาร
    .
    เมื่อเสร็จจากงานฌาปนกิจศพท่านพระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม และกลับไปวัดป่าศรีไพรวัลย์แล้ว หลวงปู่ต้องการทำประโยชน์แก่ญาติ จึงเดินทางขึ้นไปบ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เพื่อชักชวนเอาพี่ชายชื่อคำสิงห์ออกบวชด้วยให้ได้ เมื่อมาถึงบ้านไชยวานเป็นฤดูเดือนเมษายน หลวงปู่ได้พักอยู่ป่าใกล้ป่าช้าบ้านไชยวาน ญาติโยมได้ทำกระต๊อบให้พอได้อาศัยบังแดดดบังลม และได้อบรมญาติโยมให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม ได้มีนักปราชญ์อาจารย์มาถามปัญหาธรรมอยู่ไม่ขาด เพราะในสมัยนั้น คนนิยมทดสอบลองภูมิความรู้เรื่องหลักธรรมกันมาก
    .
    นักปราชญ์อาจารย์ถามปัญหาธรรม
    .
    วันหนึ่งได้มีโยมทิดขันตี มาถามปัญหาธรรม โยมทิดขันตีนี้แกเคยบวชเรียนหลายปีแล้วก็สึก และเคยเป็นหมอลำกลอน จึงมีความรู้มาก เมื่อโยมทิดขันตีเข้ามาหาทำความเคารพกราบไหว้แล้ว แกจึงพูดว่า "อาจารย์ ผมขอถามปัญหาธรรมกับอาจารย์ด้วย คำว่า วัดหก กกห้า พระเสมาทั้งแปด ได้แก่อะไร"
    .
    หลวงปู่ท่านเป็นผู้ถ่อมตนเป็นนิสัยประจำองค์อยู่แล้ว ท่านจึงพูดว่า "อาตมาเป็นพระอยู่ตามป่า ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนอะไรมาก ความรู้ก็มีน้อย จะขอตอบไปตามความรู้ของตนเอง คำว่าวัดหกนั้น วัดได้แก่ วัตรปฏิบัติ หกนั้นได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราปฏิบัติวัดตา วัดหู วัดจมูก วัดลิ้น วัดกาย วัดใจ วัดให้อยู่ในความพอดี เมื่อตาเห็นรูป หูได้เสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส การถูกต้องสัมผัส ใจนึกคิดอารมณ์ ให้มีสติรอบคอบอยู่ในอายตนะทั้ง 6 นี้ เมื่อเวลามันกระจายกัน ไม่ปล่อยจิตใจให้ไหลไปตามปรุงแต่งไปตามสิ่งที่สัมผัสนั้นๆ เรียกว่าวัดหก
    .
    กกห้านั้น กก หมายถึง ต้นถึงโคน ต้นของธรรมได้แก่ พละ 5 คือ ศรัทธา ความเชื่อ วิริยะ ความเพียร สติ ความระลึกชอบ สมาธิ ความตั้งใจไว้มั่นคง ปัญญา ความรอบรู้ในสภาวะความเป็นจริง นี้คือต้นของธรรม ต้นของขนคือ แขนสอง ขาสอง หัวหนึ่ง รวมเป็นห้า ปฏิบัติห้าอย่างนี้ให้แก่กล้า รักษาแขนสอง ขาสอง หัวหนึ่งนี้ไม่ให้ผิดศีลธรรมนี้เรียกว่ากกห้าเจริญสมบูรณ์
    .
    พระเสมาทั้งแปด เสมา หมายถึงหลักขอบเขต ขอบเขตแห่งทางเดิน 8 อย่าง ได้แก่ มรรคปฏิปทา คือข้อปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ 8 ประการ ได้แก่
    .
    สัมมาทิฏฐิ คือปัญญาอันเห็นชอบ เห็นความเกิดแก่เจ็บตาย เห็นกายเห็นจิตไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ ดับไป เป็นทุกข์ นี้เรียกว่าเห็นชอบ
    สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ คือ ดำริที่จะออกจากกองทุกข์ คือความคิดอยู่ในกามคุณห้า ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในการถูกต้องสัมผัส สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ดำริหาทางออกจากสิ่งเหล่านี้ไป
    สัมมาวาจา วาจาไม่เป็นพิษเป็นภัย เรียกว่าวาจาชอบ
    สัมมากัมมันโต การงานที่ทำเป็นการงานชอบ เป็นการงานที่จะออกจากทุกข์
    สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ ไม่เบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่น มาเลี้ยงชีวิตตน
    สัมมาวายาโม เพียรละสิ่งที่ไม่ดี เพียรทำสิ่งที่ดี
    สัมมาสติ ระลึกชอบ ระลึกในกายในจิตของตนเอง
    สัมมาสมาธิ ความตั้งใจไว้ชอบ ตั้งใจไว้มั่นคงในทางจะหาความพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสาร ความเวียนว่ายในการเกิดแก่เจ็บตาย
    ที่อธิบายมานี้รวมเรียกว่า วัดหก กกห้า พระเสมาทั้งแปด"
    เมื่อโยมทิดขันตีได้ฟังอธิบายปัญหาจบแล้วก็กราบลาจากไป
    .
    ได้พี่ชายออกบวชดังความตั้งใจ
    .
    หลวงปู่พักอบรมญาติพี่น้องและพี่ชายอยู่ไม่นาน พี่ชายชื่อคำสิงห์ได้ตกลงสละครอบครัวออกบวชด้วย หลวงปู่จึงพาพี่ชายเดินทางด้วยเท้าออกจากบ้านไชยวาน กลับไปวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อกลับถึงวัดป่าศรีไพรวัลย์ ได้จัดแจงให้พี่ชายบวชเป็นตาผ้าขาวถือศีล 8 ฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติและคำขานนาคให้ถูกตามมคธภาษา
    .
    ผีหลอก
    .
    วัดป่าศรีไพรวัลย์เป็นวัดตั้งอยู่ในป่าช้า เวลาคนตายเขาก็เอามาฝังมาเผาตามข้างกุฏิ หลวงปู่ให้ผ้าขาวคำสิงห์ผู้เป็นพี่ชายพักอย่กุฏิเดียวกันกับหลวงพ่อสอน อยู่คนละห้อง วันหนึ่งเขาเอาคนตายมาเผาที่หน้ากุฏิ ผ้าขาวคำสิงห์ไปอยู่ใหม่ๆยังกลัวผีหลอก พอค่ำมืดลง แสงไฟเผาศพที่หน้ากุฏิแดงโร่อยู่ ผ้าขาวคำสิงห์เข้าในห้องปิดประตูลงกลอนอย่างดีเพราะกลัวผี ใจก็นึกผีหลอกอย่างนั้นผีหลอกอย่างนี้ คือหลอกตัวเองอยู่ในห้อง นอนก็ไม่ค่อยหลับ พอตกดึก พระธรรมบันดาลให้ปวดท้องหนักขึ้นมา จะทำอย่างไรใจก็กลัวผี ปวดท้องก็ทนไว้ ทนไปก็ปวดหนักขึ้นเรื่อยๆ ใจก็กลัวผี แต่ท้องมันไม่กลัวด้วย มีแต่จะออกอย่างเดียว สุดท้ายเปิดประตูห้องออกมามองไปที่เผาศพ ไฟก็ยังแดงอยู่ไม่กล้าลงกุฏิ เรียกหลวงปู่สอน "คุณปู่ คุณปู่ พาผมไปถ่ายด้วย" หลวงปู่สอนตอบว่า "เดี๋ยว มวนบุหรี่ก่อน" ผ้าขาวคำสิงห์ก็ทนบิดหน้าบิดหลัง เรียก "คุณปู่ คุณปู่" หลวงปู่สอนก็ตอบว่า "เดี๋ยวจุดบุหรี่ก่อน" สุดท้ายทนไม่ไหวเพราะของอยู่ในท้องไม่กลัวผี ผ้าขาวคำสิงห์จึงกระโดดลงไปพร้อมกับถ่ายออกตรงนั้นเลย ผีไม่รู้ไปไหนหมด
    .
    หลวงปู่เล่าว่าอีกครั้งหนึ่งมีหลวงพ่ออิสสโร เป็นคนกลัวผี ตกกลางคืนเขียดตะปาดกระโดดลงจับขันในตุ่มน้ำสำหรับล้างเท้าที่บันได้กุฏิ ขันก็ลอยกระทบปากตุ่มดังป๋องแป๋งๆ หลวงพ่ออิสสโรกลัวไม่กล้าออกจากกุฏิ พอตอนเช้าลงรวมที่ศาลา หลวงพ่ออิสสโรกราบเรียนหลวงปู่ตาชี้ตาชันว่า "เมื่อคืนนี้ผีหลอกผมทั้งคืน ไม่ได้นอนเลย" หลวงปู่ถามว่า "ผีมันทำอย่างไร" หลวงพ่ออิสสโรตอบว่า "มันเล่นขันที่ตุ่มน้ำดังป๋องแป๋งๆทั้งคืน" หลวงปู่จึงบอกว่า "ไม่ใช่ผีดอก เขียดตะปาดมันลงเล่นน้ำ ป๋องแป๋งๆ" หลวงพ่ออิสสโรไม่ยอมเชื่อ บอกว่า "ผีจริงๆแหละท่านอาจารย์" หลวงปู่จึงบอกว่า "ถ้าอย่างนั้น คืนนี้เมื่อได้ยินเสียงให้ลงไปดูนะ" พอตกกลางคืนมีเสียงดังป๋องแป๋งๆอีก หลวงพ่ออิสสโรก็กลัวอีกแต่ก็ทนกัดฟันลงไปดู เห็นตะปาดจับอยู่ปากขันตักน้ำ หลวงพ่ออิสสโรร้อง "โอ้ย กูกลัวแทบตาย" พอตอนเช้าลงศาลาอีก หลวงปู่ถามว่า "เป็นอย่างไรหลวงพ่อ ผีหลอกอีกไหม" หลวงพ่ออิสสโรกราบเรียนว่า "โอ้ย เขียดตะปาดจริงๆท่านอาจารย์" หลวงปู่จึงพูดว่า "หลวงพ่อผีบ้ากลัวเขียดตะปาด ใจของเราเป็นผีหลอกตัวเอง ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติไม่กลัว ไปกลัวแต่ผีอย่างอื่น"
    ............
    รูปหลวงปู่สอน
    รูปผีประกอบเรื่อง
    .
    *โปรดติดตามตอนต่อไป
    ..
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  18. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ............กมโล (ผู้งามดั่งดอกบัว)(15)...........(ต่อจากตอนที่แล้ว)
    .
    พรรษาที่ 13
    (พ.ศ. 2491 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เป็นปีสุดท้าย)
    .
    ปี พ.ศ. 2491 เมื่อถึงฤดูกาลจำพรรษา หลวงปู่ได้จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด หลวงปู่เป็นประธานสงฆ์ ได้ทำหน้าที่อบรมพระภิกษุสามเณรและนำพาปฏิบัติในธุดงควัตร สมาทานเนสัชชิกังคธุดงค์ ถือไม่นอนในวันธรรมสวนะ คือวันพระ 8 ค่ำ 14 ค่ำ 15 ค่ำ อยู่ในอิริยาบถ 3 คือ ยืน เดิน นั่ง ตั้งใจปฏิบัติจิตตภาวนา เอาชนะความอยากมีสุขในการนอน หลวงปู่ทำหน้าที่ในการอบรมญาติโยมที่มาเกี่ยวข้อง ให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ 3 และศีลห้า ให้รักษาอุโบสถศีล ถือศีล 8 ในวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ
    .
    อธิษฐานฉันเจเพื่อการศึกษา
    .
    ในไตรมาส 3 เดือน หลวงปู่ได้อธิษฐานฉันอาหารเฉพาะของที่ไม่ประกอบด้วยเลือดเนื้อสัตว์ ที่เรียกกันว่าฉันเจ หลวงปู่เล่าว่าเจของท่านเป็นเจจริงๆ คือ ฉันแต่ข้าวกับเกลือกับพริก บางวันก็มีกล้วยบ้าง มีอยู่วันหนึ่งคุณนายอนงค์เป็นชาวจันทบุรีมาอยู่ร้อยเอ็ดถวายตัวเป็นศิษย์อุปัฏฐาก ได้ทำถั่วเหลืองทอดน้ำมันมะพร้าวให้เด็กนำมาถวาย หลวงปู่เข้าใจว่าเป็นไข่จึงไม่ฉัน วันหลังคุณนายอนงค์จึงมาถามว่า "ดิฉันทำอาหารเจให้เด็กนำมาถวาย ท่านอาจารย์ฉันหรือไม่" หลวงปู่ตอบว่า "อาตมาไม่ฉัน เข้าใจว่าเป็นไข่" คุณนายอนงค์กราบเรียนว่า "ไม่ใช่ เป็นถั่วเหลือง"
    .
    หลวงปู่เล่าว่าฉันเจอยู่ 3 เดือน ตัวเหลืองหมดแต่ก็ทำให้เบาสบาย "การทำก็ทำเพื่อการศึกษาจะได้เข้าใจในเรื่องธาตุขันธ์เท่านั้น ไม่ได้ทำเพื่ออย่างอื่น เพราะเรื่องฉันเจนี้ในครั้งพุทธกาล พระเทวทัตได้ขอให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามไม่ให้ภิกษุฉันเนื้อฉันปลา ให้ฉันเจ แต่พระองค์ไม่ทรงทำตามคำขอนั้น ทรงตรัสว่าการเลี้ยงชีพของสมณะเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย เขามีอย่างไรเขาให้อย่างไรซึ่งเป็นสิ่งไม่ผิดต่อพระธรรมวินัยก็ควรฉันอย่างนั้น เพราะการกินการฉันก็เพียงให้มีชีวิตเป็นอยู่ไปวันหนึ่งๆเท่านั้น ถ้าฉันเจสบายก็ฉันไปตามมีตามได้ ถ้าไม่สบายเราก็ฉันเนื้อฉันปลาตามมีตามได้ เราไม่เห็น เราไม่รู้ว่าเขาจะฆ่ามาเพื่อเราก็เป็นสิ่งที่ควร ถ้าเราเห็นเรารู้ว่าเขาจะฆ่ามาเพื่อเราก็เป็นของไม่ควร ทำอะไรให้ประกอบด้วยสติปัญญาใคร่ครวญถึงเหตุถึงผล จึงจะไม่เสียกาล"
    .
    ระงับพิษตะขาบด้วยธรรมโอสถ
    .
    วันหนึ่งท่านให้เด็กโกยดินกองไฟเก่า พอดีจอบสับหัวตะขาบขาดออกมาจากตัวมองไม่เห็นผสมอยู่กับดิน หลวงปู่เดินดูความเรียบร้อยเดินไปเดินมา เท้าไม่สวมรองเท้า จึงไปเหยียบหัวตะขาบ หัวตะขาบยังไม่ตายก็กัดที่ฝ่าเท้าหลวงปู่ พิษตะขาบก็กำเริบขึ้นปวดร้อนเหมือนกับเหยียบถ่านเพลิง ไม่มีหยูกยาอะไรใส่ เวลาสรงน้ำถูกน้ำยิ่งเพิ่มความปวดขึ้นอีกเป็นสองเท่า หลวงปู่เล่าว่าพอสรงน้ำเสร็จแล้วครองจีวร เข้าในกุฏิปิดประตูลงกลอนเรียบร้อยแล้วเข้าที่ นั่งสมาธิใช้ยาธรรมโอสถรักษาพิษตะขาบ พอจิตเข้าสู่ความสงบ ไม่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในทุกขเวทนา จนสว่าง พอจิตถอนออกจากสมาธิไม่รู้ว่าพิษตะขาบหายไปแต่เมื่อไร อำนาจของธรรมเหนืออำนาจทั้งปวง
    .
    ระงับโรคท้องร่วงด้วยธรรมโอสถ
    .
    อีกครั้งหนึ่ง ท่านเป็นโรคท้องร่วง ไม่มียาอะไรจะฉันรักษาโรคท้องร่วง ท่านจึงใช้ยาธรรมโอสถ เข้าที่นั่งสมาธิจิตเข้าสู่ความสงบตลอดคืนจนสว่าง พอจิตถอนออกจากความสงบ ไม่รู้ว่าโรคท้องร่วงหายไปแต่เมื่อไร เหมือนกับไม่เป็นอะไรเลย อำนาจของอธิษฐานธรรมและสมาธิธรรม บำบัดโรคภัยไข้เจ็บให้หายไปได้ จึงเรียกว่าธรรมโอสถ
    .
    กรรมนิมิต
    .
    หลวงปู่เล่าว่า คืนหนึ่งขณะที่ท่านเข้าที่นั่งสมาธิภาวนา พอจิตเข้าสู่ความสงบแล้ว จึงเกิดกรรมนิมิตขึ้นมา ปรากฏว่ามีสังเวียนที่เขาตีไก่ (ชนไก่) มีคนดูอยู่เต็ม แล้วตัวของท่านเองก็เดินไปยืนดูอยู่ด้วย ไก่ก็ตีกันไปกันมา พอดีตัวหนึ่งก็สับตาอีกตัวหนึ่งตาแตกไปข้างหนึ่ง แล้วตัวที่ตาแตกนั้นหันมามองท่าน เหมือนกับว่าท่านเป็นเจ้าของมัน แล้วนิมิตนั้นก็หายไป จึงพิจารณาได้กรรมว่าเป็นเรื่องกรรมนิมิต อยู่มาไม่นานได้มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งอยากมาอยู่ด้วย ให้พี่ชายมาฝากฝังมอบให้เป็นลูก เด็กชายนั้นถือหลวงปู่ว่าเป็นพ่อ เด็กชายนั้นชื่อเขียน เป็นคนตาลอ คือตาเสียข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งยังดีใช้การได้ แกเป็นคนปัญญาดี ฉลาด ว่านอนสอนง่าย แกอยู่อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่มาเรื่อยๆ
    .
    ให้ศิษย์ไปร่วมถวายผ้ากฐินแด่พระอาจารย์ใหญ่มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือ
    .
    เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. 2491 เป็นฤดูกาลกรานผ้ากฐิน ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้ชักชวนคณะศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ที่เลื่อมใสในท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ให้ไปร่วมกันถวายผ้ากฐินแด่ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นและพระภิกษุสงฆ์ ที่จำพรรษาที่สำนักวัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยพระอาจารย์สิงห์จะออกเดินทางโดยขบวนรถไฟจากโคราช ไปลงที่สถานีรถไฟอุดรธานี ท่านจึงนัดให้คณะศิษย์ทั้งหลายไปคอยร่วมเดินทางตามสถานีรถไฟที่ผ่านไป หลวงปู่จึงให้ลูกศิษย์คือหลวงพ่อสอนและผ้าขาวคำสิงห์ซึ่งเป็นพี่ชายของท่าน ไปคอยขึ้นรถไฟที่สถานีบ้านไผ่ เพื่อร่วมเดินทางไปกับคณะท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม รถไฟถึงสถานีอุดรเป็นเวลาเช้า เมื่อลงจากรถไฟแล้ว ท่านพระอาจารย์สิงห์ได้เป็นหัวหน้าพาหมู่พระภิกษุสงฆ์ที่เดินทางไปด้วยบิณฑบาตตามบ้านพักเจ้าหน้าที่รถไฟ เมื่อฉันเสร็จแล้วเดินทางโดยรถยนต์ต่อไปลงที่อำเภอพรรณานิคม แล้วเดินด้วยเท้าต่อไปพักค้างคืนที่วัดป่าบ้านหนองโดก เช้าฉันบิณฑบาตเสร็จแล้วเดินด้วยเท้าเข้าไปที่วัดป่าบ้านหนองผือนาใน
    .
    หลวงปู่คำสิงห์เล่าว่า ตัวท่านเองคือผ้าขาวคำสิงห์ เมื่อไปถึงวัดป่าบ้านหนองผือแล้ว ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้พาคณะศิษย์ตั้งองค์กฐินที่วัดป่าบ้านหนองผือ วันหลังจึงได้ทอดถวายท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ที่ได้จำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ การทอดกฐินในครั้งนั้นได้มีพระเถระที่เป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นมารวมกันหลายองค์ เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว ก็ยังพักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือเพื่อฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น
    .
    เช้าวันหนึ่งเมื่อฉันเช้าเสร็จแล้ว ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นบอกให้ผ้าขาวคำสิงห์ไปทำทางเดินจงกรมให้ท่านพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร (ท่านพ่อลี วัดอโศการาม) ผ้าขาวคำสิงห์ได้จอบแล้วก็ไปทำตามที่ท่านสั่ง ขณะทำทางเดินจงกรมอยู่นั้น ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นได้เดินไปดูความเรียบร้อยด้วย ผ้าขาวคำสิงห์มีความเอิบอิ่มใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพักอยู่พอสมควรแล้ว ผ้าขาวคำสิงห์พร้อมด้วยหลวงพ่อสอนจึงได้เดินทางกลับวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด
    .
    ให้ผ้าขาวคำสิงห์ผู้เป็นพี่ชายบวชเป็นพระในพุทธศาสนา
    .
    เมื่อหลวงปู่เห็นว่าพี่ชายฝึกข้อวัตรปฏิบัติและคำขานนาคขอบวชได้แล้ว จึงได้นำไปบวชที่วัดบึงพลาญชัย อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด โดยมีพระปลัดแก้ว อปฺติสฺโส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาเดช เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระใบฎีกาผาด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2492 เวลา 14.15 น. มีนามฉายาว่า "สุจิตฺโต" เมื่ออุปสมบทพี่ชายเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงได้นำหลวงพ่อคำสิงห์ สุจิตฺโต ผู้เป็นพี่ชายกลับไปพำนักที่วัดป่าศรีไพรวัลย์
    .
    สละหน้าที่เจ้าอาวาส อำลาญาติโยมจังหวัดร้อยเอ็ด
    .
    เมื่อให้พี่ชายบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาเสร็จสิ้นตามความประสงค์แล้ว หลวงปู่จึงสละหน้าที่เจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัลย์ ให้หลวงพ่อสีลา เป็นผู้ทำหน้าที่เจ้าอาวาสต่อไป และได้อำลาญาติโยมชาวจังหวัดร้อยเอ็ดที่ได้เคยอุปถัมภ์อุปัฏฐากถวายปัจจัยสี่ให้ได้รับความสุขสบายในการเจริญสมณธรรมว่า "อาตมาจากไปคราวนี้คงไม่ได้กลับมาอีก ขอให้ญาติโยมพากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติศีลธรรมตามที่เคยได้อบรมสั่งสอน อย่าประมาท" ญาติโยมต่างพากันร้องไห้เสียดายที่ครูบาอาจารย์จะจากไป ต่างพากันอ้อนวอนขอให้ท่านกลับมาเป็นที่พึ่งของเขาอีก ท่านบอกว่า "หากชีวิตยังมีอยู่และโอกาสอำนวย ก็จะกลับมาเยี่ยมเยือนอีก" เมื่ออำลาหมู่คณะและญาติโยมเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์ของท่าน คือ หลวงพ่อสอน สงฺจิตฺโจ, หลวงพ่อคำสิงห์ สุจิตฺโต, พระโพ, สามเณรประดิษฐ์ และเด็กชายเขียนได้ขอติดตามไปด้วย ท่านจึงบอกเด็กชายเขียนว่า "การเดินธุดงค์รอนแรมไปตามป่าตามเขามีความลำบากมากเป็นไข้เป็นหนาว ตามป่าตามเขามีความลำบากแสนสาหัส เรายังเป็นเด็กอยู่ เดี๋ยวจะทนไม่ไหว" เด็กชายเขียนจึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า "ถึงแม้อย่างไรผมก็จะขอติดตามไปด้วย ผมมีความรักท่านเหมือนกับเป็นพ่อ ถ้าหากว่าผมเป็นไข้ตายในที่ใด ท่านให้คนเขาขุดหลุมฝังผมทิ้งแล้วท่านจึงเดินทางต่อไปเถิด" หลวงปู่ได้ยินเด็กชายเขียนพูดเด็ดเดี่ยวอย่างนั้นจึงอนุญาตให้ติดตามไปด้วย
    .
    ขณะนั้นเป็นต้นปี พ.ศ. 2492 หลวงปู่ได้พาลูกศิษย์ออกจากวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด เดินธุดงค์ด้วยเท้ารอนแรมไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน ผ่าน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ สี่แยกโนนศิลา (ปัจจุบันเป็นอำเภอสมเด็จ) ผ่านบ้านโพนบ้านโจด ตอนมาถึงบ้านโจดนี้พักค้างคืน 1 คืน เช้าเข้าบิณฑบาต ได้ข้าวเหนียวและน้ำอ้อย 7 ก้อน แบ่งกันฉันเสร็จแล้ว ออกเดินทางต่อขึ้นภูพานตรงช่องหิ่งห้อย พักวิเวกอยู่ที่สร้างแข้ จึงเดินทางต่อไปที่บ้านคำไฮ ในขณะนั้นท่านอาจารย์สวด เขมิโย ได้พักวิเวกอยู่ที่ภูเขาใกล้บ้านคำไฮ จึงได้พักวิเวกอยู่กับท่านอาจารย์สวดระยะหนึ่ง ในขณะนั้นท่านพระอาจารย์ขาว อนาลโย ได้พักวิเวกอยู่ที่ถ้ำค้อดงหลุบหวาย ลำพังองค์เดียว ที่ถ้ำค้อนั้นไม่มีที่บิณฑบาต เพราะไม่มีหมู่บ้านอยู่ใกล้ อาศัยโยมจากบ้านคำเลาะ บ้านทุ่งเชือก เปลี่ยนกันขึ้นไปปฏิบัติ หมู่บ้านละคนรับผลัดเปลี่ยนกัน
    .
    ในขณะที่หลวงปู่พักอยู่กับท่านอาจารย์สวดนั้น อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์สวดเดินลงจากเขาจะมาบิณฑบาต มีพระเณรเดินตามหลัง พอมาถึงหินก้อนหนึ่งจึงหยุดยืนแล้วพูดว่า "เมื่อคืนนี้ได้นิมิตมีผู้หญิงมาบอกให้ว่ามีสมบัติอยู่ใต้หินก้อนนี้ อยากได้ก็ให้เอาไปซะ" พูดจบท่านอาจารย์สวดจึงเอาไม้เท้าเคาะหินก้อนนั้น เสียงดังเหมือนกับเป็นโพรงข้างล่าง เสร็จแล้วก็เดินผ่านไปบิณฑบาต พอฉันจังหันเสร็จ มีพระองค์หนึ่งแอบไปงัดก้อนหิน เพื่อจะเอาสมบัติ แต่ทำอย่างไรก็งัดไม่ขึ้น ในที่สุดพระองค์นั้นก็หยุดทำ พอตกกลางคืนผู้หญิงนั้นก็ไปเข้านิมิตท่านอาจารย์สวดอีก ด่าว่า "พระอะไรปากบอน ปากไม่เป็นสุข อยากได้ก็เอาไปซีสมบัติ จะไปพูดให้คนอื่นฟังทำไม เดี๋ยวจะเอาขี้กระบอง (ขี้ไต้) ยัดปากพระปากบอน" ว่าอย่างนั้น พอตอนเช้าวันใหม่ท่านอาจารย์สวดเทศน์ดุด่าให้ลูกศิษย์ใหญ่เลยว่า "ใครไปทำอะไร ไปงัดก้อนหินจะเอาสมบัติ คืนนี้เจ้าของมันจะเอาขี้กระบองยัดปากเรา"
    .
    เมื่อพักวิเวกอยู่กับท่านอาจารย์สวดระยะหนึ่งแล้ว หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์จึงได้ลาท่าน เที่ยววิเวกขึ้นไปบนภูอางศอ ซึ่งเป็นภูเขาสูงลูกหนึ่งที่ใหญ่ในเทือกเขาภูทาน ที่ภูอางศอนี้เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ๆเขียวชอุ่ม และมีสัตว์ป่านานาชนิด ตกเวลากลางคืนมีเสียงสัตว์ป่าที่เที่ยวหากินกลางคืนส่งเสียงร้อง ประกอบกับความวิเวกวังเวงในเวลาดึกสงัด ทำให้จิตใจตื่นอยู่ตลอดเวลา และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เมื่อพักวิเวกอยู่บนภูอางศอพอสมควรแล้ว หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์จึงลงจากภูอางศอ มุ่งหน้าสู่บ้านคำบิด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
    .
    พบท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
    .
    หลวงปู่เล่าว่า พอมาถึงบ้านคำบิด ได้ทราบว่าท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน พักวิเวกอยู่ที่เสนาสนะป่าหนองน่อง บ้านคำบิด จึงได้พาลูกศิษย์เข้ากราบนมัสการ และพักอยู่กับท่าน 7 คืน ตอนเช้าเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้านคำบิด เวลากลับออกจากบ้าน หลวงปู่จะรับบาตรท่านพระอาจารย์มหาบัว แต่ท่านไม่ยอมให้รับง่ายๆ อาศัยความพยายาม ทำด้วยความเคารพ ทำด้วยความจริงใจ ในที่สุดท่านจึงยอมให้รับบาตรท่าน พอกลับถึงที่พักจัดแจงฉันภัตตาหารตามมีตามได้ เสร็จแล้วจึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์มหาบัว เดินทางมุ่งหน้าสู่ภูผาเหล็ก หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์เที่ยววิเวกที่ภูผาเหล็ก ผาดงก่อถ้ำพวง พอสมควรแล้วจึงได้เดินทางจากภูผาเหล็กมุ่งหน้ามาทางบ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
    .
    เกิดความสงสัยในการปฏิบัติ
    .
    พอมาถึงบ้านจำปา เขตอำเภอสว่างแดนดิน พวกโยมชาวบ้านจำปาบอกว่าที่ป่าหนองเม้าผีดุมาก ใครไปตัดไม้ถางป่าใกล้ที่นั้นไม่ได้ ชาวบ้านจำปาโดยมีคุณพ่อสา พรหมโคตร เป็นหัวหน้า ได้กราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่พร้อมด้วยพระเณรลูกศิษย์ที่ติดตามมา ให้พักอยู่ที่ป่าหนองเม้า หลวงปู่รับนิมนต์ ชาวบ้านจึงช่วยกันทำเสนาสนะ เป็นกระต๊อบมุงหญ้าคาแอ้มฝาใบตองถวายให้เป็นที่พักพอบังแดดบังฝน ในระยะนั้นเป็นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2492 ใกล้จะถึงวันวิสาขบูชา ในขณะนั้นหลวงปู่ท่านมีความสงสัยในอุบายธรรมที่ได้ปฏิบัติอยู่ คือ การพิจารณาในกายและพิจารณาในจิตเป็นอารมณ์ ค้นกายค้นจิต เพื่อให้รู้ตามเป็นจริง จะเป็นอุบายที่ถูกต้องหรือไม่หนอ มองไม่เห็นใครที่จะแก้ความสงสัยนี้ได้ มีแต่ท่านพระอาจารย์มั่นเท่านั้นที่จะแก้ความสงสัยนี้ได้ หลวงปู่จึงให้ลูกศิษย์คอยอยู่ที่สำนักป่าหนองเม้า บ้านจำปา ส่วนตัวท่านเดินทางไปที่บ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน พักอยู่ไม่กี่วัน หลวงปู่จึงชวนเอาโยมพ่ออ่อน คำใสย์ ซึ่งเป็นโยมน้าบ่าวของท่าน เดินทางไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นด้วยกัน
    .
    เดินทางด้วยเท้าจากบ้านไชยวานไปถึงบ้านต้อง นั่งรถโดยสารไปลงที่อำเภอพรรณานิคม เดินเท้าต่อไปที่บ้านหนองโดก ถึงวัดป่าบ้านหนองโดกเป็นเวลาค่ำพอดี พักค้างคืนที่วัดป่าบ้านหนองโดก ในขณะนั้นท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่นั้น และได้พบพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร, พระอาจารย์บุญมี ปริปุณฺโณ , พระอาจารย์เพียร วิริโย ที่วัดป่าบ้านหนองโดกนี้ ท่านพระอาจารย์กู่ ท่านไม่อยากให้เข้าไปหาท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ท่านบอกว่า "ไปรบกวนครูบาอาจารย์" หลวงปู่คิดอยู่ในใจว่า "ไม่ได้ไปรบกวนครูบาอาจารย์ ต้องการจะกราบนมัสการให้ท่านแก้ความสงสัยให้เท่านั้น" หลวงปู่เล่าว่า พักที่วัดป่าบ้านหนองโดก 1 คืน เช้าฉันบิณฑบาตเสร็จแล้ว เดินทางด้วยเท้าเข้าไปบ้านหนองผือนาในพร้อมกันกับท่านพระอาจารย์เพียร วิริโย (ซึ่งการเข้าไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นครั้งนี้เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของหลวงปู่ แต่เป็นครั้งที่ 2 ของท่านพระอาจารย์เพียร)
    .
    พบท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต
    .
    พอเดินทางถึงวัดป่าหนองผือเป็นเวลาใกล้ค่ำ ได้พบท่านพระอาจารย์มหาบัวที่วัดป่าหนองผืออีก จึงได้กราบเรียนถามท่านถึงเวลาที่จะเข้ากราบนมัสการฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น หลวงปู่เล่าว่าพระอาคันตุกะที่ไปถึงใหม่จะต้องรอคอยก่อน ท่านพระอาจารย์มหาบัวจะเป็นผู้เข้าไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นก่อน ว่าท่านให้พักในวัดหนองผือด้วยหรืออย่างไร หรือท่านจะให้พักกุฏิหลังไหน เมื่อท่านสั่งอย่างไรก็ทำตามอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำตามอำเภอใจของตนเอง
    .
    พอท่านพระอาจารย์มหาบัวเข้าไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ท่านก็บอกเสนาสนะให้และบอกให้สรงน้ำเสร็จแล้วจึงขึ้นไปกราบนมัสการฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นบนกุฏิท่าน เมื่อหลวงปู่สรงน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงนุ่งห่มครองจีวรให้เรียบร้อย สำรวมใจให้อยู่ในความสงบ ไม่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อย่างอื่น มีสติอยู่กับใจตัวเอง หลวงปู่เล่าว่า การสำรวมนั้นได้สำรวมระมัดระวังมาโดยตลอด พอคิดว่าจะไปกราบนมัสการท่านอาจารย์ใหญ่มั่นยิ่งเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ พอขึ้นไปบนกุฏิท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ต้องระมัดระวังไม่ให้มีเสียงอะไรรบกวนท่าน ในขณะนั้นได้มีพระเถระและพระภิกษุรูปอื่นขึ้นไปนั่งฟังธรรมอยู่ก่อนแล้ว ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นกำลังแสดงธรรมอยู่ พอหลวงปู่ขึ้นไปแล้วก็กราบเบาๆ เสร็จแล้วก็นั่งกำหนดจิตฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นต่อไป
    .
    พอท่านแสดงธรรมไปๆ ท่านจึงถามขึ้นว่า "ไหนพระมาจากอำเภอหนองหาน" พอหลวงปู่ได้ยินท่านถามอย่างนั้นก็คิดในใจว่าคงจะมีหลายองค์ จึงไม่ได้ตอบท่าน ท่านก็แสดงธรรมต่อไปแล้ว ท่านก็ถามอีกเป็นครั้งที่สองว่า "ไหนพระมาจากอำเภอหนองหาน" หลวงปู่ได้ยินท่านถามครั้งที่ 2 ก็ยังนึกว่าคงจะเป็นองค์อื่นก็ยังไม่ตอบอะไร ท่านก็แสดงธรรมต่อไปอีก แล้วท่านก็ถามอีกเป็นครั้งที่ 3 ว่า "ไหนพระที่มาจากอำเภอหนองหาน" หลวงปู่นึกในใจว่าคงจะเป็นเรา จึงประนมมือขึ้นแล้วตอบว่า "ขอโอกาสเกล้ากระผม" ท่านขึ้นเสียงดัง "มันหาน (หาญ) แต่ชื่อ จะพิจารณาอะไร ผมปฏิบัติมานี้ 40 ปีแล้ว ผมไม่หนีจากกายกับใจ พิจารณากายแล้วก็พิจารณาใจจนหายสงสัย" แล้วท่านก็แสดงธรรมต่อไป พอหลวงปู่ได้รับโอวาทคำตอบจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ทั้งที่ยังไม่ได้ถามท่านอย่างนั้น จึงหมดความสงสัยภายในใจลงในขณะนั้น เมื่อท่านแสดงธรรมต่อไปพอสมควรแล้วท่านจึงยุติการแสดงธรรมในวันนั้น ลูกศิษย์ลูกหาต่างพากันได้รับความเอิบอิ่มในธรรมที่ท่านเมตตาแสดงอย่างถึงอกถึงใจ เมื่อท่านหยุดในการแสดงธรรมแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาต่างพากันกราบท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นแล้วกลับที่พักของตน
    .
    หนังห่อขี้
    .
    ในวันต่อมาเป็นวันวิสาขบูชา พวกญาติโยมชาวบ้านหนองผือ และบ้านใกล้เคียงในแถวบ้านนั้นพากันมารวมทำบุญในวันวิสาขบูชา ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นพากพระภิกษุสามเณรรับบิณฑบาตในวัด พวกญาติโยมพากันใส่บาตรด้วยความเคารพ ในขณะที่ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นเป็นหัวหน้านำรับบิณฑบาตอยู่นั้น พระเณรทั้งแก่ทั้งหนุ่มรับบิณฑบาตตามหลังท่าน ไม่ทราบว่าองค์ไหนไปคิดชอบหญิงสาวที่เขากำลังใส่บาตรอยู่นั้น อยู่ๆท่านก็หันหน้ามองกลับมาข้างหลัง พร้อมกับพูดขึ้นว่า "ประสาหนังห่อขี้" แล้วท่านเดินรับบิณฑบาตต่อไป หลวงปู่อยู่กับท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นไม่กี่วัน ก็เดินทางกลับมาบ้านจำปา
    ..........
    รูป
    ลป มั่น
    ลป สิงห์
    กุฏิ หลวงปู่มั่นที่วัดป่าหนองผือ
    ลป คำสิงห์
    ลต มหาบัว
    พอ กู่
    พอ สิงห์ทอง
    .
    *โปรดติดตามตอนต่อไป
    ....
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • man.jpg
      man.jpg
      ขนาดไฟล์:
      11.4 KB
      เปิดดู:
      53
    • singh.jpg
      singh.jpg
      ขนาดไฟล์:
      12 KB
      เปิดดู:
      46
    • 3.jpg
      3.jpg
      ขนาดไฟล์:
      18.7 KB
      เปิดดู:
      52
    • kamsingh.jpg
      kamsingh.jpg
      ขนาดไฟล์:
      10.8 KB
      เปิดดู:
      88
    • luangta.jpg
      luangta.jpg
      ขนาดไฟล์:
      49.8 KB
      เปิดดู:
      73
    • gu.jpg
      gu.jpg
      ขนาดไฟล์:
      6.1 KB
      เปิดดู:
      64
    • singthong.jpg
      singthong.jpg
      ขนาดไฟล์:
      8.3 KB
      เปิดดู:
      54
  19. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ........หลวงตากับสมุดบันทึก........
    ...........ครั้งล่าสุดที่ช่างชิตได้เข้าไปกราบปรนิบัติหลวงตา ตอนที่ช่างชิตกับสหายฌานกรกำลังนวดถวายท่านอยู่นั้น หลวงตาก็หยิบสมุดเล่มสีแดงออกมาแล้วเปิดพร้อมพูดกับพวกเราว่า
    ลต “หลวงตาจดเอาคาถาของหลวงปู่ก้านท่านมา ที่ท่านใช้ลงตะกรุดเวลาเขียนก็ต้องกลั้นหายใจเขียนนะ เป็นบทๆไป หลวงปู่ก้านท่านไปอเมริกาก็ต้องจารตะกรุดทั้งวันขนาดนั้นก็ยังไม่หมดยังได้เอากลับมาจารต่อที่ไทยอีก”
    .
    พวกเราก็รีบชะโงกหน้าเข้าไปดูอย่างสนอกสนใจ
    ลต “นี่คาถาหลวงปู่วังนะ.... นี่คาถานะโมตาบอด ...บลาๆ(ขออภัยจำไม่ได้)..”
    หลวงตาอ่านพร้อมกับชี้นิ้วอธิบายที่ของคาถาให้พวกเราฟัง เสมือนพ่อแม่กำลังสอนลูก
    ชช "เดี้ยวจะเอามาให้หลวงตาเขียนให้ซักแผ่นเป็นสิริมงคลนะครับ"
    ลต "เขียนไม่เป็นหรอก เอาไปให้อาจารย์อู๋เขียนนู้น ท่านเขียนสวย"
    ฌก "เขียนภาษาไทยก็ได้ครับหลวงตา 5555"
    ก็ว่ากันไปครับตามภาษาปถุชนคนชอบของขลัง
    .
    ลต “สมุดเล่มนี้เขียนก่อนสงกรานต์จนถึงตอนอเมริกา เขียนจะเต็มเล่มแล้ว เดี้ยวจะอ่านให้ฟัง” (อาจารย์อู๋เคยเล่าให้ช่างชิตฟังว่า หลวงตาท่านเป็นคนละเอียดอ่อนรอบคอบมาก ไปไหนมาไหนท่านจะจดบันทึกไว้ตลอด ไม่มีวันไหนที่จะไม่บันทึกไว้เลย)
    .
    แล้วหลวงตาก็อ่านบันทึกของท่านให้พวกเราฟัง ช่างชิตก็นั่งฟังไปเรื่อยจนไล่ยาวไปมาถึง ประโยคๆท่อนหนึ่งที่หลวงตาอ่าน
    ลต “เช้าวันที่ 18 เมษายนไปฉันท์เช้าที่บ้านทิดออยที่กุมภวาปีพร้อมหลวงตาสาทและพระอีก3รูป...บลาๆ..”
    ช่างชิตนวดอยู่ได้ยินท่อนนี้ก็นึกในใจ “หลวงตาไปบ้านใครว่ะ ทิดออย??? ชื่อเหมือนกูเลย บ้านเดียวกับกูอีก” (ขออภัยไม่สุภาพเพราะเป็นความคิดในใจ)
    .
    ช่างชิตสงสัยเลยถามหลวงตา
    ชช “ใครอะครับหลวงตา ชื่อเหมือนออยเลย???”
    ช่างชิตถามพร้อมใบหน้าฉงนแบบควายกินหญ้าแล้วหันหน้ามามองคน (ถ้าสงสัยลองไปหาดูนะครับ5555)
    .
    หลวงตาท่านก็ยิ้มและตอบว่า
    ลต “ก็ออยนั้นละ จำตัวเองก็ไม่ได้ติ”
    .
    ชช “..............อ้อออออ ออยก็นึกว่าใคร 5555 ยังคิดอยู่ “ใครว่ะชื่อเหมือนกันบ้านเดียวกัน ทำไมไม่รู้จัก 5555” “เท่านั้นละ ก็ฮากันยกใหญ่
    .
    ลต “อะไรกันตัวเองก็ยังจำไม่ได้” หลวงตาทั้งพูดทั้งหัวเราะ ...........
    .
    ........เห็นท่านยิ้มท่านหัวเราะ แล้วก็มีความสุข ร้อนใจทุกข์ใจจากไหน ขอแค่เข้ามาใกล้มาฟังท่านพูดทั้งสอน ใจก็เย็น ใจก็สงบมีแต่ความสุขความปิติเกิดขึ้น บางทีในใจก็คิดนะ “ถ้าช่างชิตไม่เจอไม่มารู้จักหลวงตา ป่านนี้จะยังเป็นยังไง??” สงสัยจะสนุกสนานกับกิเลสตัณหา จนกู่ไม่กลับแล้วก็เป็นได้............
    จบละ ไม่มีอะไรมากครับ แค่อยากเล่าสู่กันฟังเท่านั้นเอง^^
    ..................
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_2849.JPG
      IMG_2849.JPG
      ขนาดไฟล์:
      2 MB
      เปิดดู:
      53
    • IMG_2851.JPG
      IMG_2851.JPG
      ขนาดไฟล์:
      1.9 MB
      เปิดดู:
      74
  20. ช่างชิต

    ช่างชิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +6,109
    ............กมโล (ผู้งามดั่งดอกบัว)(16)...........(ต่อจากตอนที่แล้ว)
    .
    พรรษาที่ 14
    (พ.ศ. 2492 จำพรรษาที่สำนักป่าหนองเม้า บ้านจำปา อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร)
    .
    พรรษานี้มีหลวงปู่สอน สงฺจิตฺโจ, หลวงปู่คำสิงหื สุจิตฺโต, พระโพ, สามเณรประดิษฐ์ และอาจารย์กุ ซึ่งเป็นพระมหานิกาย แต่ท่านปฏิบัติตามปฏิปทาท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น การปฏิบัติระหว่างพระต่างนิกายอยู่ด้วยกันนั้น หลวงปู่ท่านให้อาจารย์กุนั่งต่อท้ายหมู่เวลาฉันบิณฑบาต ไม่ให้รับประเคนของให้หมู่ฉัน ให้หมู่พระธรรมยุตเป็นผู้รับประเคนของฉัน แต่ท่านรับประเคนฉันเฉพาะท่านเองได้ เวลาลงอุโบสถฟังปาฏิโมกข์ก็ไม่ให้เข้าร่วม พอพระธรรมยุตลงปาฏิโมกข์เสร็จแล้วจึงให้พระต่างนิกายเข้ามาบอกบริสุทธิ์ ในพรรษานี้หลวงปู่ได้ประกอบความเพียรอย่างหนัก งดอาหาร ฉันเจ็ดวัน งดเจ็ดวัน สลับกันไป
    .
    อาพาธหนักครั้งที่ 2
    .
    พอครึ่งพรรษาหลวงได้เกิดอาพาธด้วยโรคสะอึกอย่างแรง ติดต่อกันถึง 15 วัน ญาติโยมทั้งบ้านจำปาและบ้านไชยวานได้ช่วยกันหาหมอยาพื้นบ้านมารักษาก็ไม่หาย หลวงปู่จึงตั้งสัจจะอธิษฐานว่า "หากชีวิตยังไม่ถึงที่สุด ยังจะได้เชิดชูพระพุทธศาสนาอีกต่อไป ขอให้มีหมอมารักษาให้หายภายใน 3 วัน หรือ 7 วัน" เมื่ออธิษฐานแล้วได้ 3 วัน มีหมอแผนปัจจุบันชื่อหมอมะลิ มาจากอำเภอหนองหาน มาเยี่ยมญาติที่บ้านไชยวาน ชื่อพ่อพร นาคอินทร์ พ่อพรจึงเล่าให้หมอฟังว่ามีอาจารย์ป่วยอยู่บ้านจำปา เอายาที่ไหนรักษาก็ไม่หาย พอหมอได้ฟังแล้วเกิดความร้อนอกร้อนใจอยากจะไปรักษา เคี่ยวเข็ญจะให้พ่อพรพาไปบ้านจำปาในคืนนั้นให้ได้ พ่อพรจึงบอกว่ารอให้สว่างเสียก่อน เพราะขณะนี้น้ำหลากไหลมากต้องเดินข้ามทุ่งข้ามห้วยไป ไปกลางคืนกลัวจะถูกน้ำพัดไป ในที่สุดหมอก็ยอมรอให้สว่าง พอสว่างหมอรีบเคี่ยวเข็ญให้พาไป พอไปถึงหมอได้ดูอาการแล้วจึงถวายยาสวนทางทวาร พอหมอสวนยาไม่นานหลวงปู่ก็ปวดหนัก พอถ่ายก็มีก้อนอุจจาระเท่าหัวแม่มือหลุดออกมา พอก้อนนั้นหลุดออกมา หลวงปู่รู้สึกโล่งสบาย ในกายทั้งหมด จึงคิดว่า "เรายังไม่ตายในคราวนี้" หมอได้ฉีดยาให้อีก ในที่สุดหลวงปู่จึงหายจากอาพาธในครั้งนั้น
    .
    เมื่อออกพรรษาแล้วระยะเดือน 12 หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์จึงได้ลาญาติโยมชาวบ้านจำปา ออกจากสำนักป่าหนองเม้า มาบ้านไชยวานตามคำนิมนต์ของญาติพี่น้อง พอมาถึงบ้านไชยวาน หลวงปู่ได้พักอยู่ที่ป่าช้า พวกญาติโยมบ้านไชยวานได้พากันจัดที่พักถวาย หลวงปู่ได้อบรมญาติโยมให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง สอนให้บำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญเมตตาภาวนา พวกญาติโยมต่างพากันเกิดศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใส ทั้งชาวบ้านไชยวานและบ้านหนองตูม จึงกราบนิมนต์หลวงปู่ให้อยู่ที่ป่าช้าบ้านไชยวานนี้ เขาจะสร้างเป็นวัดถวายให้
    .
    เมื่อหลวงปู่พักอยู่ป่าช้าบ้านไชยวานเป็นเวลา 3 เดือน เห็นว่ามีปัญหาเรื่องน้ำไม่ดี คือขุดบ่อแล้ว เมื่อตักเอาน้ำใส่ตุ่ม แล้วน้ำเป็น้ำคำ มีสีเหลืองจับตามขันตามตุ่ม ไม่เหมาะแก่การสร้างเป็นวัด เพราะน้ำไม่ดี น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญใช้อาบใช้กิน เมื่อน้ำไม่ดีไม่ควรสร้างเป็นวัดในที่นี่ หลวงปู่จึงปรารภกับศรัทธาญาติโยมว่าจะกลับขึ้นไปเที่ยววิเวกทางภูผาเหล็ก ภูอางศออีก
    .
    มูลเหตุที่ได้มาสร้างวัดป่าสันติกาวาส
    .
    ย่างเข้าปี พ.ศ. 2493 ขณะนั้นบ้านหนองตูมมีเพียง 11 หลังคาเรือนเท่านั้น คณะศรัทธาญาติโยมบ้านหนองตูม มีพ่อมา สนทอง, พ่อสี นันทราช พ่อโส กล้าหาญ, พ่อทา บุษราคำ, นายพิมพ์ นิรเท ได้มีศรัทธาเลื่อมใสไปถวายทานและฟังธรรมจากหลวงปู่ที่ป่าช้าบ้านไชยวานด้วย เมื่อไม่ทราบว่าหลวงปู่จะไม่อยู่ที่ป่าช้าเพราะมีปัญหาเรื่องน้ำ คุณพ่อมา สนทอง จึงได้กราบเรียนให้หลวงปู่ทราบว่า ที่บริเวณป่าหนองท้มดงแสนแวน เป็นที่ว่างเปล่า เหมาะแก่การสร้างเป็นวัดป่า ขอนิมนต์ท่านอาจารย์ไปอยู่ในที่นั้น เมื่อหลวงปู่ได้ฟังอย่างนั้น จึงบอกให้พ่อมา สนทอง พร้อมกับหมู่คณะให้พากันไปขุดบ่อน้ำดูเสียก่อน ถ้าได้น้ำดีจึงค่อยไปอยู่ในที่นั้น พ่อมา สนทอง พร้อมหมู่เพื่อนพากันไปขุดบ่อน้ำในวันนั้น ขุดลึกไปประมาณ 4-5 เมตร ได้น้ำจืดสนิทดี จึงได้นำเอาน้ำไปถวายให้หลวงปู่ฉันดู เมื่อหลวงปู่ฉันน้ำดูแล้วเห็นว่าน้ำดี จึงตกลงย้ายจากป่าช้าบ้านไชยวาน มาที่ป่าหนองท้มในวันต่อมา
    .
    สร้างวัดป่าสันติกาวาสในครั้งแรก
    .
    เมื่อหลวงปู่ย้ายจากป่าช้าบ้านไชยวานมาสร้างวัดป่าสันติกาวาสในครั้งแรกที่ป่าหนองท้ม เป็นฤดูเดือน 3 พ.ศ. 2493 ในขณะนั้นหลวงปู่มีพรรษาได้ 14 พรรษาแล้ว ได้มีลูกศิษย์ที่ติดตามมาร่วมสร้างวัดป่าสันติกาวาสด้วย คือ 1.หลวงพ่อสอน สงฺจิตโจ 2.หลวงพ่อคำสิงห์ สุจิตฺโต 3.พระโพ 4.อาจารย์กุ 5.สามเณรประดิษฐ์ 6.เด็กชายเขียน ลูกศิษย์เหล่านี้ได้ติดตามหลวงปู่นับแต่ออกจากวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ดมา เมื่อมาอยู่บริเวณป่าหนองท้มดงแสนแวนใหม่ๆ ได้มีศรัทธาญาติโยมจากบ้านหนองตูม คือ คุณพ่อมา สนทอง, คุณพ่อสี นันทราช, คุณพ่อโส กล้าหาญ, คุณพ่อทา บุษราคำ, คุณพ่อพิมพ์ นิรเท, คุณพ่อพรหมมา ส่วนญาติโยมจากบ้านไชยวาน มีคุณพ่อขุนไชยวานวิศิษฐ์, คุณพ่อขันตี จันทรัก, คุณพ่อพร นาคอินทร์ และตระกูลคำใสย์ คุณพ่อท่อน คำใสย์, คุณพ่ออ่อน คำใสย์, นายปรีชา คำใสย์, คุณพ่อสุจินต์ คำใสย์, คุณพ่อทหารป่า คำใสย์ ท่านที่กล่าวนามมานี้ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างวัดป่าสันติกาวาสนี้
    .
    ที่ดินตั้งวัด
    .
    เมื่อหลวงปู่มาอยู่บริเวณหนองท้มดงแสนแวนแล้ว ได้มีผู้เป็นเจ้าของที่ดิน ได้แสดงกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่เดิน แต่ทุกคนเมื่อรู้ว่าจะสร้างวัดขึ้นในที่นี้ ต่างก็มีศรัทธาอนุโมทนาพร้อมใจกันยกที่ดินรวมทั้งหมดจำนวน 28 ไร่ ถวายให้หลวงปู่สร้างเป็นวัด ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินคือ 1.คุณพ่อบุ่น 2.คุณพ่ออ้วน วงษ์อารีย์ 3.คุณพ่อป้อม ทับซ้าย 4.คุณพ่อตึ่ง วรยศ 5.คุณพ่อคำพัน ชานันโต
    .
    สร้างเสนาสนะในปีแรก
    .
    เมื่อเจ้าของที่ดินทั้ง 5 คน ยกที่ดินถวายให้มีขอบเขต 28 ไร่แล้ว หลวงปู่จึงให้ทำถนนรอบเพื่อกันไฟไม่ให้ลามไหม้เข้ามาในบริเวณวัด เพราะในสมัยนั้นมีไฟป่าลุกไหม้อยู่เรื่อยๆ แล้วจึงให้ทำที่พักของพระเณร เป็นกระท่อมมุงแฝกแอ้มฝาใบตองไว้เป็นจุดห่างกันพอสมควร ตามแบบวัดป่าพระกัมมัฏฐานสายพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น คุณพ่อสา พรหมโคตร บ้านจำปา ได้มีศรัทธาถวายเรือน 1 หลัง ให้มาสร้างเป็นศาลาเล็กๆ สำหรับเป็นที่ฉัน ที่ประชุมทำวัตรสวดมนต์ และใช้เป็นสถานที่อบรมญาติโยมด้วย ได้มีผู้ศรัทธาทั้งหญิงทั้งชายพากันออกจากบ้านมารับการอบรมจากหลวงปู่ หลวงปู่ท่านเป็นผู้มีความเมตตา สู้อดสู้ทนแนะนำพร่ำสอนศรัทธาญาติโยม ให้รู้จักบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญเมตตาภาวนา ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์เป็นจำนวนมาก ในที่สุดป่าหนองท้มดงแสนแวนจึงกลายเป็นวัดขึ้นมาที่สุด
    .
    ชื่อวัดในครั้งแรก
    .
    ในครั้งแรกชาวบ้านเรียกชื่อ "วัดป่าหนองท้ม" ตามนามหนองน้ำธรรมชาติซึ่งมีต้นท้ม (ต้นกระทุ่ม) ขึ้นอยู่ตามริมหนองน้ำนั้น (ปัจจุบันหนองท้มได้ปรับปรุงเป็นบ่อสี่เหลี่ยมตรงวิหารพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ทุกวันนี้) ครั้นต่อมาเมื่อหลวงปู่ได้ตั้งใจปักหลักอยู่ในสถานที่นี้แล้ว จึงได้ไปกราบเรียนพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ที่วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี ซึ่งในเวลานั้นท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานีฝ่ายธรรมยุต ท่านได้เมตตาออกมาเยี่ยมเยือน และได้ให้นามวัดใหม่ว่า "วัดป่าสันติกาวาส" หลวงปู่เล่าว่าเมื่อพระเดชพระคุณท่านตั้งชื่อวัดให้ไหม่แล้ว ท่านก็แปลให้ฟังด้วยว่า "สันติ" แปลว่า "สงบ" "กาวาส" แปลว่า "วาทะ" จึงแปลรวมกันว่า "ที่สงบจากวาทะ" ท่านแปลให้ฟังอย่างนั้น
    .
    หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ร่วมสร้างวัดด้วย
    .
    เมื่อหลวงปู่พาญาติโยมจัดทำเสนาสนะสร้างวัดในปีแรก พอใกล้จะเข้าพรรษา ปีพ.ศ. 2493 หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ในขณะนั้นท่านเที่ยววิเวกอยู่ทางอำเภอวาริชภูมิ เมื่อทราบว่าหลวงปู่มาอยู่ที่บ้านไชยวาน ท่านจึงเดินทางมาตั้งใจว่าจะจำพรรษาด้วย พอท่านมาถึง ท่านได้ช่วยพาญาติโยมทำกุฏิทำส้วมสำหรับให้พระเณรอยู่อาศัย และท่านได้เทศน์แบบปรมัตถธรรมให้พวกโยมฟัง
    .
    หลวงปู่บัวท่านเทศน์สอนว่า "ให้พิจารณาในกายเป็นของสกปรกเต็มไปด้วยขี้ กายนี้เรียกว่าก้อนขี้ ข้าวปลาอาหารที่กินเข้าไปก็เป็นขี้ เรากินขี้รู้จักไหม" เมื่อท่านเทศน์ปรมัตถธรรมอย่างนี้ พวกที่ไม่มีปัญญาจึงเกิดความรังเกียจท่าน พากันคิดประมาท เมื่อท่านรู้ด้วยธรรมในจิตของท่าน พวกโยมพากันรังเกียจประมาทท่าน ท่านจึงปรารภกับหลวงปู่ "กระผมคิดว่าจะจำพรรษาอยู่กับครูบาอาจารย์ แต่พวกโยมพากันประมาท ถ้าผมอยู่ในที่นี้เขาจะเป็นบาปกันมาก เพราะฉะนั้นกระผมจะได้ลาครูบาอาจารย์ไปจำพรรษาที่อื่น" แล้วท่านก็ได้กราบลาหลวงปู่ไปจำพรรษาทางเมืองอุดรธานี
    ..........
    รูป ลป จูม
    ลป บัว
    ป้ายวัดป่าสันติกาวาสในปัจจุบัน
    .
    *โปรดติดตามตอนต่อไป
    .
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...