ปลูกดอกบัวให้บานขึ้นในใจเรา

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย อโศ, 23 ธันวาคม 2014.

  1. อโศ

    อโศ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    2,689
    ค่าพลัง:
    +5,830
    โลกธาตุ เป็นที่คุมขังของบรรดาสัตว์ ผู้หลงติดอยู่ในวัฏฏะสงสาร
    ทุกดวงจิตวิญญาณ หมุนเคว้งคว้างล่องลอยไป
    เวียนเกิดเวียนตายไป ในภพน้อยภพใหญ่อย่างสิ้นไร้จุดหมาย


    กรงขังของกิเลส มีเจ้าจอมมารแห่งวัฏจักร คือ อวิชชา
    ผู้ครองบัลลังค์แห่งวัฏฏะสงสาร
    เป็นเจ้านายใหญ่ชี้นิ้วบงการสั่งให้เรา ไปเกิดที่นู้นไปตายที่นี่ไม่จบสิ้น
    โดยที่เราผู้เป็นทาส ยอมให้มันเหยียบหัวเราย่ำยีเราอย่างสิ้นไร้ความปราณี


    วัฏฏะสงสาร เป็นสิ่งที่ยากเกินวิสัยไม่มีเงื่อนต้นไม่มีเงื่อนปลาย
    ยืดยาวจนสุดความสามารถ ของผู้ท่องเที่ยวในวัฏฏะจะมองเห็นฝั่งแห่งความเป็นมาของตน
    ความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อน เวียนเกิดเวียนตายในวัฏฏะสงสาร
    เสมือนติดคุกมืดถูกจองจำ โดยกิเลสเป็นผู้คุมขังบรรดาสัตว์ผู้มืดมนไม่มีวันพ้นโทษ


    กิเลสเป็นตัวการสำคัญ ย่ำยีกดขี่บังคับใจทั้งวันทั้งคืน ทุกภพทุกชาติ ตลอดกัปตลอดกัลป์
    ใจเป็นผู้ก่อทุกข์ ก่อเรื่องก่อราวกลายเป็นไฟแผดเผาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
    เกิดความรุ่มร้อนขึ้นภายในจิตใจ ก่อไฟและใส่ฟืนเข้าในเตาไฟไม่หยุด
    ส่งเสริมทุกข์ เผาหัวใจให้ลุกไหม้ด้วยไฟแห่งกองทุกข์
    ใจแสนเจ็บปวดทุกข์ทรมาณ ร้อนเหมือนไฟนรกเผาไหม้ใจให้แตกดับสิ้นลง
    อวิชชาตัณหา ครอบครองดวงใจให้มืดมนจนจิตลุ่มหลงปิดบังวัฏฏะหมุนรอบตัวอยู่ทุกขณะนั้น
    เชื้อแห่งวัฏฏะและตัวของวัฏฏะที่แท้จริง จึงถูกปิดบังด้วยกิเลสจอมสกปรกโสมม หาคุณค่าไม่ได้


    ทุกข์ จึงครอบงำใจอยู่ตลอดเวลา ทุกอาการที่กายและใจเคลื่อนไหว
    กิเลส บงการจิตใจให้ลุ่มหลง คึกคะนอง ดิ้นรนกวัดแกว่ง ทะยานอยาก ด้วยอำนาจกิเลส
    ใจ เป็นผู้หลง ผู้ยึด ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ เพราะหลงกลมายาของกิเลส


    ใจ ที่มีสัญญา เป็นเครื่องปกปิดใจ ย่อมมองไม่เห็นโทษของกิเลส
    ที่เที่ยวก่อความทุกข์ ให้ใจเรามากน้อยเพียงไร
    มารยาของใจ ที่มีกิเลส ย่อมแสดงความหลอกลวงต้มตุ๋น ได้ร้อยแปดพันประการ
    ทำให้จิตหลงสำคัญผิด ยึดเอาสิ่งนั้น ถือเป็นหลักยึดของใจ


    จนกลายเป็น สมมุติจุดหนึ่ง ขึ้นมาให้เป็นเครื่องกดถ่วงใจโดยไม่รู้สึกตัว
    จิตเกิดความฟุ้งซ่านคิดปรุงแต่งไปตามสัญญาอารมณ์
    ขันธ์กดทับจิตจนกิเสสฝังลงในจิต เชื่อมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิต
    ทำให้หลงไปทำความสำคัญว่า สิ่งเหล่านั้น เป็นเราและเป็นของเราขึ้นมา
    จุดนั้น เป็นที่เกิดขึ้นแห่งทุกข์และสมุหทัยทั้งมวล


    ธรรมจึงเป็นเครื่องแก้กิเลส เป็นสิ่งเดียวที่กิเลสเกรงกลัวยิ่งสิ่งใดในโลกวัฏฏะ
    หัวใจของเรา เปรียบเสมือนสมรภูมิสนามรบ ระหว่างจิตกับขันธ์
    สงครามนี้เป็นศึกกิเลสสงครามระหว่างกิเลสกับธรรม
    อวิชชาเจ้าจอมมารแห่งวัฏจักร ผู้ครองบัลลังค์ในสามแดนโลกธาตุเป็นจอมทัพฝ่ายกิเลส
    อริยมรรค เป็นจอมทัพผู้เกรียงไกรแห่งฝ่ายกองทัพธรรม


    การต่อสู้รบกับกิเลส เป็นงานของการรื้อถอนภพชาติ
    เป็นงานที่ยากเย็นแสนเข็ญยิ่งกว่างานใดในโลก
    จะต้องเป็นผู้เสียสละ จิตใจเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ไม่ยอมก้มหัวให้กับกิเลส
    การสู้รบกับกิเลส เพื่อบูชาธรรม จึงเป็นงานของพระอริยะเจ้าทั้งหลาย


    ไม่มีการงานใด ที่จะมีค่าเลอเลิศยิ่งไปกว่า "การชนะใจตนเอง"
    งานภายใน นี้เป็นงานอันประเสริฐ เป็นงานของพระอริยะเจ้า
    สงครามการสู้รบของกองทัพธรรมกับกองทัพกิเลสต่อสู้กันมาตั้งแต่เริ่มต้น
    หัวใจเราเคยตกเป็นทาสเมืองขึ้นของกิเลส เพราะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อศึกสงคราม
    กิเลสครอบครองชัยชนะเรื่อยมา เราเป็นฝ่ายพ่ายแพ้หมอบราบคาบ


    เสมือนเรามือเปล่า เข้าต่อสู้กับจ้าวป่าเสือโคร่งผู้ดุร้ายในกรงขังกิเลส
    เราทั้งตื่นเต้นหวาดหวั่น หัวใจสั่นกลัว ขนลุกซู่ จนก้าวขาไม่ออก
    กิเลสเป็นเช่นเสือร้าย กระโดดขย้ำกัดฉีกเหยื่อ อย่างไร้สิ้นความปราณี
    ความเจ็บปวดจากกรงเล็บ และเขี๊ยวอันแหลมคมของพญาเสือผู้ดุร้าย
    ทั้งหวั่นหวาดพรั่นพรึง กลัวความตายในขณะกำลังจะสิ้นใจ
    จนเกิดเป็นสัญญา ฝังแน่นลึกอยู่ภายในจิตใจเราไปทุกภพทุกชาติ


    เมื่อร่างกายแตกดับสิ้นสลายตายไป
    ใจเป็นผู้ไม่ตาย จิตปฏิสนธิไปเกิดในภพใหม่
    เวียนว่ายตายเกิดไม่จบสิ้น ในวัฏจักรกรงขังของกิเลส
    เราเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ต่อกิเลส เสือร้ายอย่างไม่รู้จบสิ้น


    จนหัวใจ เริ่มจะมีธรรมครองใจขึ้นมาบ้าง
    กิเลสซึ่งเคยเย้ยหยันหัวเราะเยาะสมน้ำหน้าเรา ผู้พ่ายแพ้อย่างหลุดหลุ่ย
    คราวนี้ ขอสู้ตายแบบเอาชีวิตเข้าแลกกับกิเลส
    ไม่ยอมให้กิเลส กระทำย่ำยีเราฝ่ายเดียวแบบสิ้นไร้ความปราณี


    ธรรมกับกิเลส เริ่มจะผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ
    บางคราวธรรมมีกำลังเหนือกว่ากิเลส ธรรมเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ
    แต่บางคราวกิเลสก็มีกำลังเหนือกว่า เป็นฝ่ายชนะเช่นเดียวกัน
    เสมือนหัวใจเรานี้ เป็นเก้าอี้ดนตรี
    บางครั้งกิเลสนั่งทับครอบครองอยู่บนหัวใจเรา
    แต่บางคราวธรรมก็ครองใจเหนือกิเลส


    กิเลสกับธรรมจึงเป็นอริคู่ศัตรูกัน เสมือนน้ำกับน้ำมันย่อมเข้ากันไม่ได้
    ที่ใดมีธรรม ที่นั้นกิเลสย่อมหลบหนีหายหน้า
    ธรรม จึงเป็นสิ่งเดียวที่กิเลสเกรงกลัวยิ่งสิ่งใด


    เราจึงต้องมาสร้างคุณงามความดีขึ้นภายในจิตใจ
    เปรียบเสมือนการปลูกดอกบัวให้บานขึ้นในใจเรา
    ดอกบัวนี้ จะงดงามเจริญเติบโตได้ด้วย การที่เราหมั่นดูแลทะนุบำรุงรักษา
    ด้วยสิ่งสำคัญ 3 ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา


    1.ศีล เป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งของจิตใจ เป็นรั๊วกั้นไม่ให้จิตใจกระทำชั่วทางกาย วาจา
    ศีล จึงเปรียบเสมือนดิน ที่บัวอาศัยลำต้นหยั่งรากเหง้าลึกลงไปอาศัยเจริญเติบโต


    2.สมาธิ เป็นหลักใจสำคัญยิ่ง ทำให้จิตใจมีความสงบตั้งมั่น
    ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบก่อกวนต่อจิตใจ
    สมาธิ จึงเป็นเสมือนน้ำในบึงที่สงบนิ่งใสเย็นไม่ขุ่นมัว
    จิตที่เป็นสมาธิ จึงเปรียบเสมือนน้ำในบึงที่สงบนิ่งไม่ขุ่นมัวเช่นเดียวกัน
    สมาธิ จึงเป็นกำลังที่สำคัญยิ่งหนุนปัญญา เพื่อฆ่าชำระล้างกิเลสในจิตใจ


    3.ปัญญา เป็นยอดธรรมที่สำคัญที่สุดของใจ
    เป็นเสมือนแสงสว่างแห่งธรรมที่ทำลายความมืดมิดของกิเลส
    ที่ครอบงำจิตใจให้มืดมนอันตรธานหายไปจากจิตใจ
    ปัญญานี้ จึงเปรียบเสมือนแสงแดดที่ทำให้ดอกบัวงดงามบานขึ้นในใจเรา


    ศาสนาพุทธสอนลงที่ใจ รู้ที่ใจละที่ใจ
    พุทธะ คือ ผู้รู้ มีอยู่ในใจเราทุกคน
    มรรคผลนิพพาน ไม่ได้อยู่ในสถานที่แห่งหนไหน อยู่ที่ใจเรา
    การสร้างอำนาจวาสนา ก็ต้องสร้างขึ้นมาจากภายในใจดวงนี้


    เสมือนการปลูกดอกบัว ให้ขึ้นมาบานในหัวใจของเรา
    ก็ต้องอาศัยสิ่งสำคัญ คือ การพิจารณาเจริญมหาสติปัฏฐาน 4
    คือ กาย เวทนา จิต ธรรม อันใดอันหนึ่ง รวมลงที่ใจเรา


    ดอกบัวนี้ แม้จะเกิดจากโคลนตม แต่ดอกก็มีสีสรรสวยสดงดงาม
    เช่นเดียวกันกับหัวใจของเรานี้ เปรียบเป็นเช่นดอกบัว
    ที่อาศัยอยู่ในกายอันสกปรกโสโครก เปรียบเป็นเช่นโคลนตม
    จิตนี้ จึงย่อมอาศัยกายเป็นเครื่องพิจารณา เพื่อทำให้ดอกบัวนี้เจริญงอกงามขึ้นมา


    งานกรรมฐาน คือ งานของจิต
    โดยมี สติเป็นนายคุมงาน เพื่อทำความสงบของใจเข้ามาให้เกิดเป็นสมาธิ
    มีสติระลึกรู้อยู่ภายในกาย ไม่ส่งกระแสจิตออกไปรับรู้สัญญาอารมณ์ภายนอก อันเป็นสมุหทัย
    จิตไม่คิดปรุงแต่งสัญญาอารมณ์ต่างๆ จนจิตเริ่มมีความสงบ แน่วแน่ ภายในจิต


    จนคุณค่าแห่งความสงบ ประจักษ์ขึ้นภายในจิตใจ
    จิตระลึกรู้อยู่ภายใน ทวนกระแสย้อนเข้าภายในกายไม่ส่งจิตออกนอก
    จนเข้าสู่ฐานของจิตเป็นที่ตั้งอยู่ของจิต สงบตั้งมั่นเป็นหนึ่ง่เดียว
    ทำให้จิตเห็นจิต เป็นมรรค นั่นคือ "จิตเห็นความเป็นจริงของตนเอง"


    เมื่อจิตนี้อิ่มตัว จากความสงบของสมาธิจนมีกำลัง
    จิตนี้จะถอนออกจากสมาธิมาเองตามลำดับ
    จงปล่อยให้จิตนี้ ถอนตัวออกมาจากสมาธิตามธรรมชาติของตัวมันเอง
    อย่าได้บังคับจิตให้ออกจากสมาธิโดยเด็ดขาด
    เพราะจะทำให้จิตนี้มีกำลังสมาธิไม่เพียงพอต่อการเป็นเครื่องหนุนของปัญญา


    จิตนี้ จึงเป็นจิตที่ควรแก่หน้าที่การงาน เพราะมีสติและสมาธิพร้อม
    ใช้ปัญญาที่เกิดขึ้นจากจิตที่สงบจากสมาธิ พิจารณาถอดถอนกิเลสภายในจิตใจ
    เพราะ ปัญญา ที่มีสมาธิเป็นเครื่องสนับสนุนนั้น เป็นปัญญาประเภทเดียวที่ฆ่ากิเลสได้ เป็น"ภาวนามยปัญญา"


    แตกต่างจากปัญญาที่ไม่มีสมาธิ เป็นเครื่องสนับสนุน
    เป็นปัญญาทางโลก ที่เกิดจากสมอง คิดปรุงแต่งตามอำนาจกิเลส
    เป็นปัญญาที่ขาดกำลังสมาธิ ไม่มีสมาธิ เป็นเครื่องสนับสนุน
    เป็นเพียงสัญญาความจำเท่านั้น ไม่สามารถฆ่ากิเลสได้


    ใช้ปัญญา ที่เกิดขึ้นจากจิตที่สงบจากสมาธิ
    พิจารณาระลึกรู้ถึงกาย เพื่อถอดถอนกิเลสภายในจิตใจ
    พิจารณา แยกส่วนขยายส่วนของกาย เพื่อให้เห็นความจริงของกาย
    พิจารณาด้วยปัญญา กายนี้มีความเสื่อมเป็นธรรมดา เพราะโรคภัยไข้เจ็บ และความแก่ชรา


    เมื่อมีความเสื่อมของสังขารนั่นเอง กายนี้ย่อมแตกดับและตายเป็นธรรมดา
    กลับคืนสูสภาพเดิม คือ ธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ

    พิจารณาแยกแยะ ขุดคุ้ยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้ละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบ
    พิจารณากลับไปกลับมา จนจิตเกิดความชำนิชำนาญไปโดยลำดับ



    เอาทุกข์เป็นหินลับปัญญา เพื่อให้จิตเห็นความจริงของเวทนา
    ขณะที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปนั้น
    กายก็ยังอยู่ ไม่ได้ดับไปพร้อมกับทุกขเวทนาแต่อย่างใด
    ทุกข์ไม่ใช่กาย กายไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ เป็นทุกขสัจจ์ เป็นสัจจะ เป็นความจริงอันหนึ่ง


    กิเลสจอมมายา จะหลอกลวงเรา ด้วยการเอาความตายมาข่มขู่
    สร้างกลมายาลวงให้หลงยึดมั่นถือมั่น หวาดหวั่นกลัวความวตายมาทุกภพทุกชาติ
    หากใจนี้ ไม่หวาดหวั่นเกรงกลัวความตายแต่อย่างใด
    เพราะความกลัวตายนี้ คือ อุปทาน เป็นการหลอกลวงต้มตุ๋นของกิเลส


    พิจารณาให้เห็นชัด ทุกขเวทนา ไม่เลยความตาย
    ความตาย เป็นที่สุดของทุกขเวทนา
    พิจารณาให้ถึงที่สุด สิ่งที่เลยความตาย สิ่งนั้น คือ อะไร

    สุดท้าย ความจริงประจักษ์แสดงออกมาให้รับรู้
    ได้แก่ ใจนี้เป็นผู้ไม่ตาย ไม่แตกไม่ดับเหมือนร่างกาย


    จิต อาศัยอยู่ภายในกาย กายเป็นผู้ไม่รู้ แต่จิตนี้เป็นผู้รู้
    จิตกับกายนี้ แยกกันคนละส่วน
    จิตเป็นผู้รู้ รู้ตลอดสาย อะไรเกิดขึ้นก็รู้ ไม่เกิดไม่ดับเหมือนเวทนา
    เพราะจิตหลงกาย จึงเกิดเป็นเวทนาขึ้นมา


    ถ้าจิตไม่หลงกาย จิตนี้ก็ไม่เกิดเป็นความทุกข์ เพราะเวทนา แต่อย่างใด
    เวทนา จึงสักแต่ว่า เวทนา จิตกับทุกข์เวทนานี้ แยกกันคนละส่วน
    ทุกข์ก็เป็นเรื่องทุกขเวทนา เป็นเรื่องของขันธ์
    ส่วนจิตที่เป็นผู้รู้ ก็เป็นเรื่องของจิต
    ขันธ์กับจิตนี้ ต่างอันต่างจริง ไม่เกี่ยวข้องกัน


    ทั้งสามสิ่งนี้ คือ กาย ทุกขเวทนา จิต
    ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน เป็นสิ่งที่แตกต่างกัน
    แต่ทั้งสามสิ่งนี้ มีความเป็นจริงในตนของตน
    และอาศัยอยู่ด้วยกันตามหลักธรรมชาติของมัน


    จับเอาจุดใด จุดหนึ่ง เป็นจุดที่เด่นมากขึ้นมาพิจารณา
    จุดไหนที่เป็น “ทุกข์”ปรากฏเด่นชัด กำหนดจุดนั้นเป็นต้นเหตุก่อน
    เพราะทุกข์เกิดขึ้นที่ตรงไหน ย่อมเข้าไปเกี่ยวข้องกับจิตโดยตรง
    ครั้นทราบในเงื่อนหนึ่งแล้ว ต่อไปก็จะทราบอีกเงื่อนหนึ่งไปโดยลำดับ


    เมื่อทราบชัดด้วยปัญญา ทุกข์มันแสดงอยู่ตลอดเวลาเป็นอนิจจัง อย่างประจักษ์ใจ
    พิจารณา ให้เห็นชัด ด้วยปัญญาอย่างถึงใจ
    หากสติปัญญานี้มีกำลังไม่เพียงพอ พิจารณาไปไม่ถึง “ฐานแห่งความจริง”
    สำคัญมั่นหมายหลงสำคัญผิด คว้าตะครุบเงากิเลส เข้าใจว่าเป็นธรรม
    เพราะความอยาก ให้ทุกขเวทนาดับไป เป็นการเพิ่มสมุหทัย โดยไม่รู้ตัว


    พิจารณาให้รู้โดยทั่วถึง ตามหลักสติปัญญาของผู้ต้องการทราบต้นเหตุแห่งเรื่องทั้งปวง
    ขุดค้นหาสาเหตุที่เป็นตัวการสำคัญ ทำให้จิต หลงไปทำความสำคัญว่า
    สิ่งเหล่านั้น เป็นเราและเป็นของเราขึ้นมา
    ปัญญา พิจารณาแยกแยะเหตุผลต่างๆ
    ที่จิตไปติดพัน เกี่ยวข้องจนกลายเป็นไฟขึ้นมาเผาตัวเอง
    จะทราบสาเหตุ ร่องรอยและตัวเหตุตัวผลของมัน


    พิจารณา ให้ละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
    จนจิตเกิดความความรู้เด่นชัดภายในจิตดวงนี้



    จิต เมื่อได้ถอดถอนตัวการสำคัญ ได้เปิดเผย รื้อฟื้นตนจากสิ่งที่ปิดบังทั้งหลาย
    โดยความรู้ชัดว่า สิ่งเหล่านี้เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แล้ว
    อุปาทาน การยึดมั่นถือมั่น เปิดเผยตัวออกไปโดยลำดับ
    ความสว่างไสว กระจ่างแจ้งเด่นชัดของจิต เกิดเป็นความอัศจรรย์ของจิต
    จิตหมดความกังวล หมดภาระเป็นเครื่องกดถ่วงจิตใจ


    เกิดเป็นคุณงามความดีขึ้นในจิตใจ
    จนเกิดเป็นดอกบัวแห่งคุณธรรม มีแปดกลีบ ได้แก่ อริยมรรค มีองค์ 8คือ
    กลีบที่ 1 ได้แก่ สัมมาทิฐิ มีปัญญาเห็นชอบ รู้ในเหตุแห่งทุกข์และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
    กลีบที่ 2 ได้แก่ สัมมาสังกัปปะ มีการดำริชอบ ในการออกจากกาม ไม่พยาบาท มีความคิดที่ถูกต้อง
    กลีบที่ 3 ได้แก่ สัมมาวาจา มีวาจาชอบ งดเว้นการประพฤติผิดทางวจาทั้งปวง
    กลีบที่ 4 ได้แก่ สัมมากัมมันตะ มีการกระทำชอบ ไม่เป็นโทษต่อตนเอง และผู้อื่น
    กลีบที่ 5 ได้แก่ สัมมาอาชีวะ คือ มีการงานชอบ งานต่อสู้กิเลส
    กลีบที่ 6 ได้แก่ สัมมาวายามะ คือ มีความเพียรชอบ เพียรสร้างกุศล และรักษากุศลที่สร้างไว้ไม่ให้เสื่อม
    กลีบที่ 7 ได้แก่ สัมมาสติ คือ การมีสติชอบ ระลึกในมหาสติปัฏฐาน ๔ อยู่เนืองๆ
    กลีบที่ 8 ได้แก่ สัมมาสมาธิ คือ การมีจิตตั้งมั่นชอบ ไม่เป็นมิจฉาสมาธิ


    การสร้างคุณงามความดีขึ้นในหัวใจของเรานี้ จะต้องปลูกดอกบัวขึ้นมาทั้งหมด 4ดอก ได้แก่
    บัวดอกที่ 1 คือ ดอกบัวสีแดง หมายถึง สุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี ได้แก่ พระโสดาบัน
    พระอริยะบุคคลผู้ละ สังโยชน์ เบื้องต่ำ ๓ ประการ คือ
    1.สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดว่า ว่ากายนี้ เป็นเราเป็นของเรา
    2.วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
    3.สีลัพพตปรามาส คือ การลูบคลำในศีล ข้อวัตรปฏิบัติ
    พระโสดาบัน เป็นผู้เข้าถึงกระแสธรรมโลกุตตระ พ้นจากอบายภูมิ เกิดอีกไม่เกิน 7ชาติ
    เป็นผู้ที่เที่ยงแท้จะบรรลุพระนิพพานในเบื้องหน้าอย่างแน่นอน


    บัวดอกที่ 2 คือ ดอกบัวสีม่วง หมายถึง อุชุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติตรง ได้แก่ พระสกิทาคามี
    เป็นผู้ที่เที่ยงแท้จะบรรลุพระนิพพานเช่นเดียวกันกับพระโสดาบัน
    ทำสังโยชน์เบื้องต่ำ คือ กามราคะ ความพอใจยินดีในกาม และปฏิฆะ ความหงุดหงิดรำคาญใจ
    อีกสองประการที่เหลือให้เบาบางลง


    บัวดอกที่ 3 คือ ดอกบัวสีเหลือง หมายถึง ญายะปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติชอบ ได้แก่ พระอนาคามี
    เป็นผู้ไม่มาเกิดในกามาวจรภพอีก แต่จะเกิดใน พรหมโลกอีกเพียงครั้งเดียว
    แล้วจะบรรลุอรหันต์นิพพานบนพรหมโลกนั้น
    เป็นผู้ละสังโยชน์เบื้องต่ำ ทั้ง 5ประการได้แล้ว ยังเหลือสังโยชน์เบื้องสูง อีก5ประการ คือ

    รูปราคะ หมายถึง ความพอใจยินดีในรูป
    อรูปราคะ หมายถึง ความพอใจยินดีในอรูป
    มานะ หมายถึง ความสำคัญตน ว่าเราเหนือกว่าเขา
    อุทธัจจะ คือ พิจารณาด้วยปัญญา โดยไม่ยอมหยุดพักในสมาธิ
    อวิชชา คือ ความไม่รู้


    บัวดอกที่ 4 คือ ดอกบัวสีขาว หมายถึง สามีปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม ได้แก่ พระอรหันต์
    พระอริยบุคคลชั้นสูงสุดในพุทธศาสนา ละสังโยชน์ได้ครบ 10 ประการ
    เป็นผู้หมดจดจากกิเลส ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด เป็นผู้จบกิจพรหมจรรย์


    การปลูกดอกบัวให้บานขึีนในใจเรา
    เป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์ ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเรา
    ไม่มีใครจะมาปลูกดอกบัวให้บานในใจเรา แทนเราได้
    เพราะ ความบริสุทธิ์นี้เป็นของเฉพาะตน เป็นสันทิฐิโก


    เอวังฯ
     
  2. ฟางว่าน

    ฟางว่าน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 มีนาคม 2010
    โพสต์:
    1,080
    ค่าพลัง:
    +968
    ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ เหตุไฉนจึงบอกว่าเป็นคน-เป็นสัตว์ ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น สุขทุกข์ไม่ได้เกิดเอง เกิดแต่เนื่องจากกรรม กรรมดีกรรมชั่วอยู่ที่ใจ คนหรือสัตว์เป็นชื่อเรียกขนานนามสักแต่ว่าโวหารโลกๆ เป็นเพียงสมมติบัญญัติ บุคคลจะดีหรือเลวอยู่ที่ตัวทำ กรรมนั้นเป็นของเจ้าของ ธรรมทั้งปวงคือจิต จิตที่ปราศจากกิเลสโลภะ โทสะ โมหะ ย่อมได้จิตแท้ใจแท้ของตน จิตมีหนึ่งเดียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรม ธรรมทั้งปวงคือจิต จิตที่ไม่ไปจับฉวยว่าตัวว่าตนทุกข์ย่อมไม่เกิด คนเราติดอุปาทาน อุปาทานอื่นก็ไม่อื่นไปจากอุปาทานในขันธ์ 5 ไปสำคัญว่ารูปเรา เวทนาเรา สัญญาเรา สังขารเรา วิญญาณเรา เพราะถือมั่น เมื่อจิตเต็มเปี่ยมไปด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมหลุดพ้น เพราะปัญญา ว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
     
  3. สับสน!

    สับสน! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 เมษายน 2010
    โพสต์:
    0
    ค่าพลัง:
    +3,984
    ท่านอโศ..ยังบวช และจำวัดอยู่ที่วัดเดิมใช่ไหมคัรบ สาธุ:cool:
     
  4. VERAJAK

    VERAJAK เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    998
    ค่าพลัง:
    +1,579
    สาธุ สาธุ สาธุ
     

แชร์หน้านี้

Loading...