หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ "มักน้อยสันโดษเป็นปัจจัย ๔ เสียสละเป็นสมณะที่ดี"

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย chinanat, 27 กรกฎาคม 2014.

  1. chinanat

    chinanat สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 มีนาคม 2014
    โพสต์:
    5
    ค่าพลัง:
    +11
    คำสอนหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

    บางส่วนจากพระธรรมเทศนาเรื่อง "มักน้อยสันโดษเป็นปัจจัย 4 เสียสละเป็นสมณะที่ดี"

    สำหรับผู้ที่รู้ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วอย่างนี้
    ผู้ที่พิจารณาสังขาร ก็ต้องแต่งร่างกายนี้พอสมควร
    เมื่อเวลาไม่ควรตกแต่ง ก็อย่าไปตกแต่งมัน
    ธรรมดาคนไม่หลงไม่เมาไม่ลืมตัวเกินไป ก็ควรเป็นอย่างนั้น
    เพื่อรักษาชีวิตอันมีค่าเหล่านี้นะให้มันอยู่ในโลกนี้ไป
    แล้วได้สะสมคุณงามความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
    ดีกว่าจะมาตายโดยยังไม่หมดบุญหมดอายุสังขาร
    ตายเพราะห่วงเพราะหวงทรัพย์สมบัติภายนอก
    ตายเพราะความอยากจะดัง อย่างนี้น่าเสียดายอย่างยิ่ง

    ควรตื่นตัวกันนะ รักษาชีวิตเอาไว้เพื่อสั่งสมบุญกุศลให้มากขึ้นไป
    ดีกว่าที่เราจะไปเพลิดเพลินเจริญใจกับโลกสันนิวาสอันนี้
    ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ถึงเราเพลิดเพลินไป
    สักหน่อยนึงสิ่งที่เพลิดเพลินไปก็แปรปรวนไป แตกดับไปแล้ว
    ไม่มีอะไรให้เราเพลิดเพลินได้ตลอดไป

    เมื่อผู้ใดได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างนี้นะ
    ชีวิตผู้นั้นก็อยู่เย็นใจ ไม่สะดุ้งหวาดกลัวว่าใครจะล้างผลาญชีวิตตน
    ก็สบายใจ อย่างคนที่ไม่มีเครื่องประดับ คนก็ไม่สนใจหรอก
    ไม่แวววาวไม่หรูหราจนเกินประมาณ ให้พอดิบพอดี
    อย่างนี้แล้วมันก็สบายใจ

    การอยู่ในโลกอันนี้ การพูดการจาก็ระมัดระวัง
    อย่าให้กระทบกระทั่งคนอื่นให้เจ็บอกเจ็บใจ คนที่เบียดเบียนในโลกอันนี้
    เนื่องจากว่าฝ่ายหนึ่งไปกระทบกระทั่งอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายผูกอาฆาตไว้
    เมื่อได้ช่องเมื่อใด ก็ตอบโต้กันไป ทำให้เกิดมีกรรมมีเวรผูกพันกันไป
    ไม่สิ้นสุดลงได้ นี่เพราะฉะนั้นน่ะ เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว
    ขอให้พากันตั้งอกตั้งใจสำรวมใจให้ดี ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

    แล้วเราก็จะเป็นผู้มีบุญมีกุศลตั้งมั่นอยู่ในจิตใจ ไม่มีบาปอยู่ในใจ
    ถึงมี ก็น้อยเต็มที เพราะว่าเป็นผู้ทำอะไร พูดอะไร มีสติสัมปชัญญะ
    สำรวมระวังตนอยู่เสมอไป ไม่เผลอตัว ควบคุมใจดวงนี้เสมอ
    ระวังภัยมันจะมาถึง ภัยก็คือความชั่วร้ายต่างๆ นั้นน่ะ
    เราจะไปห้ามได้อย่างไรล่ะ เราจะห้ามคนอื่นไม่ให้ประพฤติชั่วต่อตนอย่างนี้
    ห้ามไม่ได้ เราไม่ต้องไปคิดจะห้ามเขาอย่างนั้น คิดห้ามตัวเองดีกว่า
    เราไม่มีสิทธิ์ห้ามเขาอย่างนั้น เตือนตนลงไปอย่างนี้เสมอ
    เวลามีเรื่องชั่วร้ายกระทบกระทั่งมา ห้ามจิตใจตัวเองได้เลย
    เพราะระมัดระวังตัวอยู่เสมอ

    ทุกคนให้รู้ว่าตนนั้นยังละกิเลสอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นยังไม่หมด
    บางอย่างยังละไม่ได้ ให้รู้ตัวอย่างนี้ ฉะนั้นเมื่อรู้ว่าเรายังละไม่ได้
    กิเลสที่ยังละไม่ได้เป็นเชื้อ ถ้ามีเรื่องไม่ดีภายนอกกระทบเข้ามา
    ก็ทำให้เชื้ออันนี้ปะทุขึ้นมา กิเลสที่หมักดองอยู่ในจิตใจคนเรานี่
    เมื่อมันยังไม่มีเหตุสมควรกระทบกระทั่งเข้ามา
    มันก็สงบตัวอยู่เหมือนไม่มีกิเลส

    แต่พอมีเรื่องต่างๆ กระทบเข้ามา ก็ทำให้กิเลสที่หมกตัวอยู่ฟูขึ้นมา
    อย่าไปนอนใจ อย่าไปนึกว่าเราไม่มีกิเลสในใจ แล้วเลยไม่สำรวมตน
    อย่างนี้ไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่าท่านผู้ละกิเลสอันเป็นธรรมชาติ
    ที่เรียกว่าเป็นการสำรวมในตน เพราะไม่มีเชื้อที่จะก่อให้เกิดขึ้นมาอีก
    จิตก็เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง บริสุทธิ์ยังไง ก็บริสุทธิ์อย่างงั้น
    เพราะไม่มีเชื้อให้ยึดเอาเรื่องภายนอกเข้ามาไว้ได้เลย
    เมื่อไม่ยึดถือ มันก็หายไป จิตผู้รู้ก็เหมือนเดิม
    นั่นผู้หมดกิจที่จะทำแล้ว ท่านจึงมีความสบายมาก

    แต่ผู้ที่มีกิจที่จะต้องทำ คือมีกิเลสที่ต้องเพียรละอยู่นั่นน่ะ
    จะนิ่งนอนใจไม่ได้เลย ต้องระมัดระวังตัวอยู่
    ต้องประคับประคองจิตที่ตั้งมั่นอยู่แล้วให้ตั้งมั่นเสมอ
    เป็นรากฐานไป พอมีเรื่องไม่ดีกระทบกระทั่งเข้ามา
    หากจิตฉลาดรู้เท่าทัน แก้ไขตัวเองไม่ให้ยึดถือเรื่องชั่วร้ายต่างๆ ในโลกได้
    นั่นก็ชื่อว่าได้เพิ่มความรู้นั้นให้ยิ่งขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

    ฉะนั้นไอ้ความรู้ที่จะยิ่งได้ก็เพราะได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปได้
    ไม่ใช่อยู่เฉยๆ แล้วมันยิ่งขึ้นอีกนะ มันไม่ได้ มันต้องต่อสู้กับกิเลส
    กิเลสชนิดใดเกิดขึ้น เราไม่ท้อถอย หาอุบายละมัน

    เมื่อมีอุบายแยบคายในการละมันได้ ความรู้ก็ยิ่งขึ้นไป
    กิเลสที่ยังละไม่ได้ เผลอๆ มันโผล่ขึ้นมานะ เรากำหนดละมันไป
    เมื่อเราไม่ส่งเสริมมันอะ เราไม่ยึดถือมันอะ มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้
    กิเลสเหล่านั้นน่ะ มันก็ดับไป

    ถ้าหากว่าเรื่องชั่วทั้งหลายกระทบกระทั่งเข้ามา
    จิตใจอ่อนแอพับลงไปตามเรื่องชั่วเหล่านั้นเสีย
    ใจตั้งอยู่ไม่ได้ หวั่นไหวไปซะเลยอย่างนี้
    ความรู้ของผู้นั้นก็ไม่ยิ่ง ก็อ่อนพับไปตามกิเลส
    ตกเป็นทาสของกิเลส

    อย่าไปเข้าใจว่าเราอยู่เฉยๆ แล้วจะมีความฉลาดขึ้นใจ
    ไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อมีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้นในกายในจิต
    แล้วเราต่อสู้พิจารณาไป ให้เกิดความรู้แจ้งตามเรื่องนั้นได้
    สิ่งใดควรละก็ละไปได้ นั่นล่ะทำให้เกิดความรู้ยิ่ง

    เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วอย่าไปย่อท้อ อย่าไปโทษคนอื่นว่าคนนั้นข่มเหงเรา
    ดูถูกเรา อย่าไปคิดอย่างนั้น หรือถ้าไปวิตกอย่างนั้นแล้ว
    ความโกรธความน้อยเนื้อต่ำใจก็เกิดขึ้นมา ไม่เป็นผลดีอะไรต่อผู้นั้นเลย
    อย่าไปถือว่าเขาเบียดเบียนเรา ให้ถือว่าเป็นเรื่องของคนมีกิเลสอยู่
    เมื่อกิเลสของเขามีอย่างไรเขาก็แสดงออกมาอย่างนั้น

    ทีนี้เมื่อเราเห็นว่าเป็นความชั่วของเขา เราอย่าไปถือเอามา
    ขึ้นชื่อว่าความชั่ว ไม่มีใครต้องการไม่ใช่หรือ
    เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะไปเอาความชั่วของเขามาทำไมอะ
    ต้องสอนใจตัวเองลงไปอย่างนี้ ใครจะด่าว่าร้ายติฉินนินทาก็ไม่สนใจ
    นั่นเรื่องของเขา นี่เรื่องของเรา เราไม่ชอบ เราไม่ยึดถือ
    มันเกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไปเองอะ

    นี้แหละ การปฏิบัติธรรมนะ ให้พากันเข้าใจ
    อย่าไปกลัวความชั่ว อย่าไปกลัวกิเลส
    ถ้าไม่มีความชั่วนี่ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนให้คนเราปฏิบัติธรรม
    เพราะว่าธรรมะนี่เป็นเครื่องระงับความชั่วออกจากจิตใจของคน
    ถ้าความชั่วไม่มีในใจในกายของคนเราแล้ว
    พระองค์จะไม่ทรงแสดงธรรมะให้คนเอาไปปฏิบัติตามเลย
    ให้พิจารณาอย่างนั้น

    เมื่อผู้ใดพิจารณาเห็นอย่างนี้
    จะเป็นผู้ยินดีพอใจในธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว
    จิตใจจะไม่จืดจางจากพระธรรมคำสอน
    เมื่อใจมันดูดดื่มในพระธรรมคำสอนแล้ว
    มันก็คลายจากกิเลสไปเรื่อยๆ
    มันจะยินดีพอใจพร้อมๆ กันไปไม่ได้นะ

    ถ้าใจมันยินดีพอใจไปทางกิเลส มันก็เบื่อหน่ายในธรรมะ
    แม้ท่านจะสอนให้น้อมเอาธรรมะไปพิจารณา มันก็ไม่เอาอะ
    นั่นอะจิตที่มันเอนไปในทางกิเลสตัณหาแล้ว

    ดังนั้น เราต้องพอใจในธรรมะ อย่าพอใจในกิเลส
    เพราะว่าจิตดวงนี้นะมันยินดีพอใจในกิเลสมานับชาติไม่ถ้วนแล้ว
    กิเลสพาเทียวเกิดแก่เจ็บตาย พาไปตกนรกหมกไหม้มาไม่รู้กี่ชาติกี่ภพ
    แต่มันระลึกชาติหนหลังไม่ได้เฉยๆ ดอก

    ตั้งแต่พระพุทธเจ้าของเราน่ะ ทรงสร้างบารมีมาในสงสาร
    พระองค์ก็ยังทรงนำมาแสดงให้พุทธบริษัททั้งหลายฟัง
    พระองค์ระลึกชาติหนหลังของพระองค์ได้ว่าชาตินั้นๆ น่ะ
    เราได้ทำความชั่วอย่างนั้นตายแล้วไปตกนรกอะ
    พระองค์ไม่ได้อายใครหรอก ว่าใครจะดูถูกดูหมิ่น

    ที่พระองค์แสดงอย่างนั้น เพื่อให้ทุกคนรู้ว่ากรรมชั่วไม่ดีเลย
    พระองค์ได้ทรงประสบมาแล้ว
    เราผู้เป็นบริษัทของพระองค์จะต้องเว้นจากความชั่วอย่างนั้นให้ได้
    เอาเป็นอุบายเตือนตนให้ละความชั่วเหล่านั้นออกไป
    เช่นนี้แล้ว ชีวิตผู้นั้นก็ห่างไกลจากทุคติภูมิมีนรกเป็นต้นเรื่อยไป

    ถ้าบุญบารมียังไม่เต็ม เทียวเกิดเทียวตายอยู่ในวัฏสงสารนี่
    ตายจากมนุษย์ก็ไปเกิดสวรรค์
    ตายจากสวรรค์ก็ลงมาเกิดในมนุษย์โลกอันนี้ มาสร้างบุญบารมี
    บุญนั้นน่ะบันดาลให้มาเกิดในยุคในสมัยที่มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น
    หรือมีศาสนาของพระพุทธเจ้ายังอยู่
    เหมือนอย่างเราเกิดมาในยุคนี้สมัยนี้นี่แหละ
    ก็ได้มาพบพระพุทธศาสนานี่ แล้วจะได้มาศึกษา
    สดับตรับฟังคำสอนของพระองค์
    แล้วอาศัยบุญเก่านู่นน่ะมาช่วยสนับสนุน
    ให้เรารู้แจ้งในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า เป็นนิยยานิกธรรม
    นำผู้ประพฤติปฏิบัติตามให้พ้นทุกข์พ้นภัยได้จริงๆ

    ไม่ใช่ว่าง่ายๆ นะ กว่าว่าแต่ละคนจะมามีความเลื่อมใส
    ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเนี่ย
    ถ้าไม่อาศัยบุญกุศลหนหลังที่ตนเคยทำมา เคยเลื่อมใสมา
    เป็นนิสัยปัจจัยติดตามมาแล้ว ไม่ดอก

    ดูแต่คนทั่วๆ ไปเป็นยังไงอะ ว่านับถือพุทธศาสนาจริงอยู่
    แต่แล้วก็สนใจเรื่องศาสนาเพียงเบาๆ บางๆ ไปเท่านั้นแหละ
    เดือนทีปีหนเข้าวัดครั้งหนึ่ง
    เข้าวัดก็ได้แค่ทำบุญทำทานตักบาตรญาติพบไปเท่านั้นเอง
    อันซึ่งจะสนใจฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
    สนใจในการรักษาศีล สนใจในการไหว้พระภาวนาอย่างนี้
    มีน้อยเต็มทีนะ ส่วนมากไม่ค่อยสนใจ ลองสังเกตดู

    เพราะอะไรเล่าถึงเป็นอย่างนั้น
    ก็เพราะคนพวกนั้นแต่ชาติก่อนเขาก็ไม่สนใจมาอย่างนั้นล่ะ
    เขาสนใจแค่กินๆ นอนๆ ตามประเพณีเท่านั้นล่ะ
    เพราะฉะนั้นบุญกรรมอันนั้นมันก็มาตกแต่งให้แค่นั้นแหละ
    สำหรับผู้ที่สนใจในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
    ให้ลึกไปกว่านั้นแต่ชาติก่อนโน้นน่ะ
    มันก็เป็นอุปนิสัยปัจจัยติดตามมา
    ในชาตินี้ จึงว่ามาเกิดความสนใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแรงกล้า
    พยายามประพฤติปฏิบัติตามจนครบวงจรให้ได้
    เป็นอุบาสกอุบาสิกาอย่างนี้นะ

    เพียรพยายามทำบุญทำทานตามที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนไว้ว่า
    ให้ทานอย่างไรจึงมีผลมาก ศึกษา รู้ เข้าใจแล้วก็พยายามให้ทานอย่างนั้น
    ไม่ใช่ว่าคิดได้ยังไงก็ให้ทานไปอย่างนั้น ไม่ได้พิจารณาให้ลึกซึ้งอะไรอย่างนี้
    อย่างนั้นเรียกว่าให้ทานแบบไม่มีปัญญา ให้ไปโดยปราศจากเหตุผล
    ผลที่มันจะได้ก็ไม่มาก ให้แบบปราศจากเหตุผล

    สำหรับผู้ที่ให้ทานนั้นที่มีปัญญาแล้ว
    ก็ต้องพิจารณาเหตุผลในการที่ตนจะให้นั้นให้มันแจ่มแจ้งในใจก่อน
    ตนจะให้ของสิ่งนี้สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับอย่างไรบ้าง
    หรือจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างไรบ้าง
    แล้วจะเป็นเหตุให้ความโลภความตระหนี่ในหัวใจมันเบาบางไปอย่างไรบ้าง
    ต้องพิจารณาให้เห็นแจ้งด้วยปัญญาอย่างนี้แล้ว
    อ้อ การให้ทานนี่มีประโยชน์จริง มีประโยชน์แก่ตนด้วย แก่ผู้อื่นด้วย
    แก่ประโยชน์ในปัจจุบันและเบื้องหน้าด้วย ไม่มีโทษ
    การทำการพูดอย่างนั้นๆ พิจารณาอย่างนี้แล้วก็ให้ทานไป
    ก็มีผลมาก เพราะมันเป็นประโยชน์มาก

    แม้การรักษาศีลก็เหมือนกัน มันต้องใช้ปัญญาประกอบด้วย
    รักษาอย่างไรจึงมีผลมาก กล่าวโดยรวบรัดว่า
    การรักษาศีลนี่ที่จะมีผลมากนั้น
    เรารักษากายวาจานี้เพื่อป้องกันไม่ให้บาปเกิดขึ้นในใจเท่านั้น
    ไม่ใช่รักษาศีลเพื่ออวดอ้างคนโน้นคนนี้
    เพื่อให้เขายกย่องสรรเสริญ ให้เขานำลาภสักการะอะไรต่ออะไรมาให้
    ไม่ได้มุ่งอย่างนั้น มุ่งป้องกันบาปอกุศลต่างๆ
    ความชั่วต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้นในกายวาจาใจ

    ถ้าใช้อุบายแยบคายอย่างนี้แล้ว รักษาศีลไปอย่างนี้นะ
    มันก็ได้บุญมาก ก็มีผลมาก

    ภาวนาก็เหมือนกัน เราภาวนาไม่ใช่มุ่งลาภสักการะอะไร
    ไม่ใช่ให้ใครยกย่องสรรเสริญ ไม่ใช่ภาวนาให้เห็นบัตรเห็นเบอร์
    ให้ร่ำให้รวยทรัพย์สินเงินทอง ไม่อย่างนั้นนี่
    เราภาวนาเพื่อส่องดูหัวใจตัวเองนี้ มันมีความชั่วอะไรแฝงอยู่นี่บ้าง
    แล้วก็กำจัดความชั่วนี้ออกไป
    มันหลงถือมั่นว่าร่างกายนี้มันเป็นตัวตนหรือไม่ถือมั่น
    ถ้ามันถือมั่นอยู่ ก็จะพยายามละความถือมั่นอันนั้นไป
    ให้มันหมดไปสิ้นไป อย่างนี้แลเป็นทางพ้นทุกข์พ้นภัยในสงสาร
     

แชร์หน้านี้

Loading...