พระแก้วมรกต จากคำเทศน์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย มองทุกมุม, 11 มีนาคม 2014.

  1. มองทุกมุม

    มองทุกมุม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 เมษายน 2013
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +1,822
    [​IMG]

    พระแก้วมรกต

    เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งท่านพระอาจารย์มั่นพักที่วัดป่าบ้านหนองผือ พระอุปัชฌาย์อุ่น (พระครูบริบาลสังฆกิจ (อุ่น อุตตโม) วัดอุดมรัตนาราม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร) ได้ไปกราบนมัสการฟังเทศน์ และได้นำรูปพระแก้วมรกตขนาด 20 นิ้ว เป็นภาพพิมพ์ใส่กรอบไปถวายท่านพระอาจารย์ แต่ดูท่านจะลืมทำความสะอาด เพราะมีฝุ่นจับอยู่ ท่านพระอาจารย์ก็น้อมรับด้วยความเคารพ

    หลังจากท่านอุปัชฌาย์อุ่นลาลงกุฏิไปแล้ว ท่านพระอาจารย์ได้ทำความสะอาด โดยนำผ้าสรงน้ำของท่านฯ มาเช็ดถู ผู้เล่า (หลวงตาทองคำ-ภิเนษกรมณ์) เอาผ้าเช็ดพื้นเข้าไปช่วยทำความสะอาดด้วย เพราะเห็นว่าผ้ายังสะอาดอยู่ ท่านหันมาเห็นเข้า พูดว่า

    "อะไรกัน นั่นรูปพระพุทธเจ้าแท้ๆ ยังเอาผ้าเช็ดพื้นมาถูได้"

    ผู้เล่าสะดุ้งไปทั้งตัว เพราะความโง่เขลาปัญญาอ่อน ท่านฯ ก็เลยทำความสะอาดเอง

    เสร็จแล้วก็มีเพื่อนภิกษุทยอยกันขึ้นไป รวมทั้งท่านอาจารย์วิริยังค์ด้วย ท่านเลยเทศน์ถึงความมหัศจรรย์ของพระแก้วมรกต ท่านว่า

    "พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในประเทศใด ประเทศนั้นจะไม่ว่างจากพระอริยบุคคล พระอริยบุคคลมีอยู่ในประเทศใด ประเทศนั้นจะไม่ฉิบหายด้วยภัยแห่งสงคราม"

    การเสด็จไปสู่สถานที่ต่างๆ ของพระแก้วมรกตนั้นมีปัจจัย 3 อย่าง คือ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา เกิดกลียุคในประเทศนั้น และด้วยความรัก

    และท่านยังบอกอีกว่า วัดพระแก้วนี้เป็นวัดพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ พระสงฆ์อยู่ไม่ได้ เพราะพระสงฆ์มาจากตระกูลต่างๆ ทั้งหยาบทั้งละเอียด ไม่รู้พุทธอัธยาศัย พุทธธรรมเนียม เพราะพระพุทธเจ้าเป็นทั้งกษัตริย์ และผู้สุขุมาลชาติ เมื่อพระสงฆ์ไม่รู้พุทธธรรมเนียม ถ้าไปอยู่ก็มีแต่บาปกินหัว
    ผู้รู้ทั้งพุทธอัธยาศัยและพุทธธรรมเนียมแล้ว มีพระมหากษัตริย์องค์เดียวเท่านั้น ครั้งพุทธกาลก็มีพระเจ้าพิมพิสารเท่านั้นทรงรู้ แต่จอมไทย คือ พระมหากษัตริย์ทรงรู้มาแล้ว ได้ทรงสร้างวัดถวายจำเพาะพระแก้วเท่านั้น

    พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์เป็นหน่อเนื้อพุทธางกูร คือ จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลข้างหน้า ต่างแต่วาสนาบารมีมากน้อยต่างกันเท่านั้น ท่านจึงทรงรู้พุทธอัธยาศัยเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า

    ผู้ใดย่างกรายเข้าสู่วัดพระแก้วเป็นบุญทุกขณะที่อยู่ในบริเวณวัด แม้แต่ชาวต่างชาติ มีโอกาสเข้าไปในบริเวณวัดพระแก้ว จะด้วยศรัทธาหรือไม่ก็ตาม ก็ได้เข้ามาสู่วงศ์พระพุทธศาสนาโดยปริยาย หรือจะบังเอิญก็แล้วแต่ สามารถเป็นนิสัยให้เข้ามาได้ ต่อไปจะสามารถมาเกิดเป็นคนไทย สืบต่อบุญบารมีสำเร็จมรรคผลได้


    เครดิต...https://www.facebook.com/photo.php?fbid=615961328493550&set=a.238316889591331.54695.238296179593402&type=1&theater
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 มีนาคม 2014
  2. มองทุกมุม

    มองทุกมุม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 เมษายน 2013
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +1,822
    [​IMG]

    ตำนานประวัติพระแก้วมรกต พระมหามณีรัตนปฏิมากร

    พระแก้วมรกต คือ พระพุทธรูปสร้างจากก้อนแก้วมรกต มีความสวยงามศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทยเรา มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจยิ่งทั้งในด้านประวัติศาสตร์จะได้ทราบเรื่องราวระหว่างช่วง พ.ศ.1200 กว่าลงมาจึงถึงปัจจุบัน

    ทำให้เราได้รู้ประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยที่อยู่ในดินแดนแหลมทองก่อนยุคสมัยสุโขทัย พ.ศ. 1800 ที่แผ่นดินผืนนี้ชนชาติไทยได้ตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่ในเมืองต่าง ๆ ในยุคสมัยทราวดีศรีวิชัย

    พงศาวดารตำนานต่างๆ ที่องค์พระแก้วมรกตได้ไปโปรดทั่วทุกภาคและประเทศเพื่อนบ้าน ดังนักประวัติศาสตร์โบราณคดีได้สละแรงกาย แรงใจ ค้นคว้า ข้อเท็จจริงต่าง ๆ มาเผยแพร่แก่อนุชนรุ่นหลังให้ได้รับทราบข้อเท็จจริง

    ประวัติการสร้างพระแก้วมรกต

    สมัยเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในดินแดนภาคใต้ที่นครศรีโพธิ์ (โพธิ์) ไชยา นครตามพรลิงค์ที่นครศรีธรรมราช และนครพานพาน ที่ตำบลเวียงสระปัจจุบัน ระหว่าง พ.ศ. 900-1400 คนไทยที่เขียนตำนานได้ให้พระนามพระมหากษัตริย์ในนครเหล่านี้ว่า “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” เหมือนกันหมด เพราะพระองค์ท่านเหล่านี้ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเหมือนอย่างพระเจ้าศรีธรรมโศกราช (อินเดีย) ตำนานไทยจึงเรียกนครของพระศรีธรรมาโศกราชในแดนไทยว่า นครปาตลีบุตร ด้วย ในลายแทงเจดีย์วัดแก้วไชยากล่าวไว้ว่า

    “เจดีย์วัดแก้ว ศรีธรรมาโศกสร้างแล้วแลเห็นเรืองรอง สี่เท้าพระบาท เหยียบปากพะเนียงทอง ผู้ใดคิดต้องกินไม่สิ้นเลย” แสดงว่าคนไทยโบราณเรียกกษัตริย์ของตนเองว่า “ศรีธรรมาโศก” ซึ่งครองนครปาตลีบุตรในโคลงยอพระเกียรติพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรีของนายส่วนมหาดเล็กแต่งไว้ ได้กล่าวถึงเมือง “ปาตลีบุตร” มีว่า

    ปางปาตลีบุตรเจ้า นัครา

    แจ้งพระยศเดชา ปิ่นเกล้า

    ทรนงศักดิ์อหังกา เกกเก่ง อยู่แฮ

    ยังไป่ประนตเข้า สู่เงื้อมบทมาลย์

    เจ้าปาตลีบุตรนั้น อัปรา ชัยเฮย

    ไปสถิตเทพาพา พวกแพ้

    หนีเข้าพึ่งตนนา ทัพเล่า

    ทัพราชรีบรมแหร้ แขกม้วยเมืองทลาย

    จะเห็นได้ว่าบทโคลงในสมัยนั้นเรียกเมืองนครศรีธรรมราชว่าเป็น “นครปาตลีบุตร”

    จากจดหมายเหตุการณ์ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุอิจิงที่มาแวะพัก จารึกปฏิบัติธรรมที่นครโพธิ์ ซึ่งในภาษาจีนเรียกว่า “ฮุดซี” เมื่อ พ.ศ. 1214-1238 แล้วเดินทางจากเมืองท่ากาจา (ไทรบุรี) ไปอินเดีย เมื่อท่านเดินทางกลับจากอินเดีย พ.ศ. 1232 ปรากฏว่ารัฐต่าง ๆ ในแถบทะเลใต้มีรัฐพานพาน (เวียงสระ) รัฐไฮลิง (ตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช) ปองพอง (ปาหัง) กิลันตัน (กลันตัน) ปลึกฟอง (ปาเลมบัง) และรัฐอื่น ๆ อีก 10 รัฐ เข้ารวมกันเป็นประเทศ ซีหลีฮุดซี หรือที่ท่านเซเดส์เรียกว่า “ศรีวิชัย” มีพระอินทรวรมเทวะเป็นประมุข

    ในตำนานพระแก้วมรกตของไทย กล่าวถึงพระมหากษัตริย์และพระราชบุตร ที่ร่วมสร้างพระแก้วมรกตถวายพระนาคเสน คือพระอินทร์กับพระวิษณุกรรมเทพบุตร ได้ชวนกันไปหาก้อนแก้วมรกตจากเขาเวบุลบรรพต คนไทยโบราณหมายถึงแดนยูนาน(น่านเจ้า) มาแปลงเป็นพระแก้วมรกตสำเร็จในเวลา 7 วัน นามพระมหากษัตริย์ทั้งสองนี้ เป็นพระนามจริงในประวัติศาสตร์ของอาณาจักรศรีวิชัย

    ตามประวัติศาสตร์อาณาจักรศรีวิชัย กษัตริย์ที่ครองเมืองระหว่าง พ.ศ. 1230-1270 ทรงพระนามว่า พระอินทร์บรมเทพ มีนามเป็นภาษาสันสกฤตว่า ศรีนทรวรมเทวะ พระองค์ได้ส่งพระราชบุตรพระวิษณุไปถวายบังคมพระเจ้ากรุงจีนในปี พ.ศ. 1267 จากพงศาวดารราชวงศ์สูงของจีน บันทึกไว้ว่า

    “ปี พ.ศ. 1267 มีพระราชกุมาร (กิวโมโล) มาจากประเทศซีหลีฮุดซีมาถวาย คนเงาะชายสองหญิงหนึ่งคนและนักดนตรีคณะหนึ่งกับนกแก้วห้าสีหลายตัว พระเจ้ากรุงจีนตั้งให้พระราชกุมารเป็นนายพลในกองทัพจีนและพระราชทานผ้าแพรหนึ่งร้อยม้วนและถวายตำแหน่งอ๋องให้แก่เจ้าเมืองซีหลีฮุดซี พระนามว่า เช ลี โตเลปะโม” คำนี้เป็นภาษาจีนคือ ศรีน-ทะระ-วรมะ ในภาษาสันสกฤต

    จากศิลาจารึกอาณาจักรศรีวิชัย พ.ศ. 1318 พบที่วัดเวียงไชยา ของพระวิษณุ เสวยราชระหว่าง พ.ศ. 1270-1330 จารึกด้านหน้านามพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง ชื่อศรีวิชเยศวรภูบดี ทรงสร้างปราสาทอิฐขึ้น 3 ปราสาท คือ ปราสาทอิฐวัดหลง ปราสาทอิฐวัดแก้ว ปราสาทอิฐวัดเวียง

    เป็นที่ประดิษฐานพระโพธิสัตว์วัชรปาณี สร้างอุทิศให้แก่พระอัยการผู้สร้างพระนครนี้อยู่ปราสาทองค์ทิศเหนือ

    ปราสาทองค์ทิศใต้ ประดิษฐานพระโพธิสัตว์ปัทมปาณี อุทิศให้พระอินทร์พระราชบิดา

    ส่วนปราสาทองค์กลาง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย

    ด้านหลังแผ่นศิลาจารึก ลงนามผู้สร้างจารึกนี้นามว่าพระวิษณุ (วิษฺณวาชโย) เป็นประมุขไศเลนทร์วงศ์

    จากศิลาจารึกนี้ ทำให้เราทราบถึงอาณาจักรศรีวิชัย และพระวิษณุเป็นกษัตริย์ครองนครโพธิ์องค์ที่ 3 พระองค์ทรงสร้างพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเนื้อสำฤทธิ์ขึ้นสององค์ คือ พระโพธิสัตว์ปัทมาปาณีกับพระโพธิสัตว์วัชรปาณี ซึ่งมีพุทธลักษณะงดงามมาก

    องค์ใหญ่มีเครื่องประดับน้อย ซึ่งสร้างก่อนองค์เล็กที่มีเครื่องทรงประดับวิจิตรงดงาม สร้างอุทิศให้พระอัยกาและพระบิดาตามวัฒนธรรมไศเลนทร์ ตามความเชื่อของคนโบราณในการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

    พระมหากษัตริย์องค์ใดที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาทำให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยกย่องของคนทั่วไป เมื่อสวรรคตแล้วจึงมีการสร้างเจดีย์เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของพระนางจามเทวี หรือการสร้างพระพุทธรูปอุทิศถวายเพื่อเป็นความหมายของนิพพานธรรม เช่น พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช

    ในตำนานพระแก้วมรกตและประวัติศาสตร์ศรีวิชัยกล่าวไว้ว่านครโพธิ์เจริญรุ่งเรืองมากในสมัยพระอินทร์และพระวิษณุในการหล่อพระโพธิสัตว์วัชรปาณีด้วยฝีพระหัตถ์ของพระวิษณุเทพบุตร ซึ่งเป็นกษัตริย์จึงทำตรีเนตรเป็นตุ่มเล็กๆ ระหว่างพระเนตรของพระพุทธรูป อุทิศให้กับพระอินทร์พระราชบิดา ตุ่มนี่จึงเป็นความหมายของท้าวสามตาพระอินทร์

    องค์พระแก้วมรกต ที่พระวิษณุกรรมสร้างให้เป็นตัวแทนของพระมหาธรรมรักขิต ซึ่งเป็นพระอรหันต์ก็เป็นตรีเนตรแต่เดิมฝังเพชรเม็ดเล็กไว้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ถวายเพชรเม็ดใหญ่ เปลี่ยนเพชรตรีเนตรแบบศรีวิชัยออก

    เมื่อพระวิษณุสวรรคต มีผู้สร้างพระโพธิสัตว์แทนพระองค์ท่านขึ้นที่เมืองไชยา เป็นพระโพธิสัตว์มี 4 กร ด้วยที่ท่านมีพระนามในศิลาจารึกว่า พระวิษณุ จึงสร้างพระนารายณ์แทนองค์ท่าน แต่ไม่มีเครื่องหมายตรีเนตรเพราะคนสร้างมิได้เป็นกษัตริย์หรือองค์เจ้า

    ในปลายรัชกาลพระอินทร์ พระวิษณุราชบุตรได้ร่วมกันสร้างพระแก้วมรกตขึ้น เมื่อประมาณ พ.ศ. 1260-1270 ที่นครโพธิ์ไชยา ส่วนพระภาณุโอรสของพระอินทร์อีกพระองค์หนึ่งได้ไปปกครองเกาะชวา เป็นปฐมวงศ์ของไศเลนทร์วงศ์อีกสาขาหนึ่งที่ได้สร้างเจดีย์บรมพุทโธเจดีย์ปะวน เจดีย์มณฑปในเกาะชะวา เป็นศิลปของพระพุทธศาสนาตราบเท่าทุกวันนี้

    ตำนานพระแก้วมรกต กล่าวถึงพระมหากษัตริย์นครปาตลีบุตร ต่อจากพระวิษณุกรรม คือพระราชาธิราชบุนดะละและพระเจ้าดะกะละ (หลานของพระเจ้าบุนดะละ) แล้วถึงพระศิริกิตติกุมาร ในรัชกาลของพระศิริกิตติ เกิดศึกสงครามคนล้มตายเป็นอันมาก พวกข้าปฏิบัติรักษาพระแก้วมรกต เห็นเหตุการณ์ไม่ดี กลัวพระแก้วจะเสียหาย จึงอัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นสู่เรือสำเภาลำหนึ่งพร้อมกับพระธรรมปิฏก พากันหนีไปสู่กัมโพชวิสัย คือ ลังกาทวีปที่นครศรีธรรมราช

    ตามตำนานพระแก้ว กษัตริย์ที่ครองนครโพธิ์ รหือนครปาตลีบุตรเป็นลูกหลานกษัตริย์ของพระเจ้ากรุงทวาราวดีที่อู่ทอง พ.ศ. 1100-1200

    ในประมาณ พ.ศ. 1180 พระเจ้าอนุรุธกษัตริย์มอญได้ยกกองทัพมาตีกรุงทวาราวดี ลูกหลานของพระเจ้ากรุงทวาราวดีพวกหนึ่งอพยพลงมาตั้งนครโพธิ์ที่ไชยา

    อีกพวกหนึ่งไปตั้งนครละโว้ ขึ้นเป็นเมืองหลวง พระเจ้ากรุงละโว้ได้ส่งพระนางจามเทวีไปครองนครหริภุญชัย เมื่อประมาณ พ.ศ.1205

    ต่อมาถึง พ.ศ. 1400 พระเจ้าศิริกิตติได้ยกกองทัพไปยึดนครละโว้ (จากตำนานมูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์จามเทวีวงศ์ได้กล่าวไว้) ทางนครปาตลีบุตร เกิดการแย่งชิงราชสมบัติขึ้นมีผู้เกรงพระแก้วมรกตจะเสียหายจึงได้ลักลอบพาลงเรือไปนครศรีธรรมราช ซึ่งมีกษัตริย์ไศเลนทร์วงศ์องค์หนึ่งปกครองอยู่พุทธศาสนานครนี้ก็เจริญรุ่งเรือง

    จากพงศาวดารเหนือของไทยเขียนไว้ว่า พระเจ้าอนุรุธ กษัตริย์องค์ปฐมวงศ์ของมอญเป็นผู้ตั้งจุลศักราชขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1181 เมืองต่าง ๆ ของคนไทยทางแดนล้านนาตกอยู่ ภายใต้การปกครองของมอญและพม่าเป็นเวลานานมาก จนนิยมใช้จุลศักราช กษัตริย์ในดินแดนล้านนาไปชุมนุมกันทั่วล้านนา ยกเว้นแต่กษัตริย์ที่นครหริภุญชัยและสวรรคโลก

    พอตั้งจุลศักราชได้ปีเดียวพระเจ้าอนุรุธก็สวรรคต พระเจ้ากากวรรณดิศราชโอรสพระเจ้าอนุรุธยกทัพมาตีเมืองละโว้ถึง 7 ปี แล้วมาตั้งพระประโทนเจดีย์ที่นครปฐม เมื่อ พ.ศ. 1199

    ตำนานไทยโบราณเรียกนามกษัตริย์ทางดินแดนมอญว่าพระเจ้าอนุรุธไปทุกพระองค์หลายยุค เหมือนตำนานไทยเรียกพระเจ้าแผ่นดินทางไชยาเวียงสระนครศรีธรรมราชว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เรียกกษัตริย์ทางกรุงสุโขทัยว่า พระร่วงไปทุกพระองค์ ตำนานพระแก้วมรกตฉบับของ ชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวไว้ว่า พระเจ้าอนุรุธที่ไปชิงพระแก้ว เป็นลูกหลานของพระเจ้าอนุรุธที่ตั้งจุลศักราช

    ดินแดนของไทยที่อยู่ตั้งแต่เชียงแสนไปกำแพงเพชรละโว้ อโยธยา ไชยา นครศรีธรรมราช ตลอดเวลาสองพันปีที่คนไทยได้เขียนตำนานเล่าไว้เป็นความจริงทั้งสิ้น แต่เราไปเชื่อประวัติศาสตร์ที่ฝรั่งเขียนไว้ว่า ตำนานที่คนไทยเขียนไว้เป็นนิยายไม่มีความจริงทางประวัติศาสตร์

    ดินแดนแห่งนี้มีการรบมุ่งกับพวกมอญทางด้านตะวันตกและเขมรทางดินตะวันออก ผลัดกันแพ้ชนะกันมาหลายยุคหลายสมัย คนไทยโบราณที่อยู่ทางล้านนาเรียกว่าพวกโยนกคนไทยโบราณที่อยู่ทางละโว้ อโยธยา ไชยา นครศรีธรรมราช เรียกว่า พวกกัมโพช (หมายถึงชาวใต้ในสมัยต่อมาเมื่อคนไทยที่มีมารดาเป็นเขมรมีอำนาจมาก ไทยเหนือเลยเรียกไทยใต้ว่า เป็นพวกขอมไปหมด)

    ตำนานต่าง ๆ ของไทยและพงศาวดารเหนือ จดเรื่องก่อนสมัยตั้งกรุงอโยธยาที่หนองโสน ล้วนเป็นเรื่องของไทยกัมโพชหรือไทยไศเลนทร์ มาตั้งนครที่สวรรคโลก กำแพงเพชร ละโว้ อโยธยา ไชยา นครศรีธรรมราช

    คนไทยที่สร้างพระแก้วมรกตเรียกตัวเองในศิลาจารึกว่า ไศเลนทร์วงศ์ ตำนานพระแก้วมรกตเรียกเมืองนครศรีธรรมราชว่าลังกาทวีปกัมโพชวิสัยปาตลีบุตร

    ลังกา หมายถึง เมืองที่มีพระไตรปิฏกของชาวกัมโพช เมืองที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างชมพูทวีป คือ เมืองนครศรีธรรมราช

    ตามตำนานพระแก้วมรกตว่า พระเจ้าอนุรุธได้ยกกองทัพม้ามาเอาพระแก้วมรกตที่ลังกาทวีป (ตามตำนานจะเป็นเกาะลังกาของชาวสิงห์ไม่ได้ เพราะมาทางบกจากเมืองมอญลงมาทางใต้ต้องเป็นเมืองพระไตรปิฏกที่นครศรีธรรมราช) แล้วนำพระไตรปิฏกกับพระแก้วมรกตลงเรือนำกลับเมืองมอญ แต่เรือสำเภาพระแก้วมรกต พวกไศเลนทร์วงศ์ได้ปลอมปนลงมาบนเรือสำเภาแล้วประหารพวกมอญที่ควบคุมอยู่จากนั้นก็นำเรือสำเภาพระแก้วมรกตเข้าปากน้ำปันทายมาสหนีไปยังนครอินทปัตรได้

    นครอินทปัตในตำนานพระแก้วมรกต เป็นนครของไศเลนทร์วงศ์ที่ได้นางเขมรเป็นมเหสี ทางเขมรถึงว่า ถ้ามารดาเป็นเขมร ต้องเป็นเขมร

    ต้นราชวงศ์เขมร คือ พราหมณ์กัมพู มาได้นางเขมรเป็นมเหสีลูกหลานของพราหมณ์กัมพูก็ต้องเป็นเขมรที่เรียกกันว่า พวกเจนละ

    จนมาถึงสมัยพระอุทัยราช ได้นางนาคเป็นมเหสี เป็นธรรมเนียมของกษัตริย์ไศเลนทร์ที่ปกครองพระนครวัด ต้องมีมเหสีเป็นเขมร มิฉะนั้นพรรคพวกพระยานาคจะก่อการกบฏ พระนางมีโอรสออกมาเป็นฟอง ต้องนำไปทิ้ง พระคงเคราเมืองละโว้ได้เก็บไปเลี้ยงไว้ ภายหลังได้เป็นพระร่วงเมืองละโว้

    โอรสของนางนาคอีกพระองค์หนึ่งเป็นมนุษย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 5 (นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเรียก ยโศวรมเทวะ ระหว่าง พ.ศ. 1432-1453) มีอำนาจมากได้ปราบปรามหัวเมืองใกล้เคียงอยู่ในอำนาจดินแดนไทยเมืองหลายแห่งต้องส่งส่วยให้พระองค์

    เมื่อพวกไศเลนทร์จากนครศรีธรรมราช นำเรือสำเภาพระแก้วมรกตเข้ามาถึงนครอินทรปัตในปลายรัชกาลพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ พระองค์ทรงโสมนัสปลื้มปิติในองค์พระแก้วมรกตมาก ทรงถวายพระนครของพระองค์ให้แก่พระแก้วมรกต หลังจากสมโภชแล้วก็ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ พระองค์ก็ปฏิบัติบูชาพระแก้วมรกตเป็นประจำมิได้ขาด พระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองไปทั่วสกลทวีป มีชัยเหนือศาสนาพราหมณ์ในทั่วดินแดนพระนครอินทรปัต

    เมื่อพระองค์ยกปราสาทราชวังถวายแก่พระแก้วมรกตเป็นพระนครวัดแล้ว พระองค์ก็ไปสร้างพระนครหลวงใหม่ ที่ยโศธร ปุระ โดยเอาภูเขาพนมบาแค็ง (ผาแค็ง) เป็นใจกลางของพระนครหลวง ต่อมาลูกหลานขอมทุกยุคทุกสมัย จึงยกย่องพระองค์เป็นเทพเจ้าประจำยโศธรปุระเมืองพระนครหลวง

    ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 พ.ศ.1656-1695 ได้ทรงสร้างปราสาทนครวัดตรงพระนครที่พระปทุมสุริยวงศ์ ถวายแก่พระแก้วมรกตสร้างเป็นปรางค์ขอม มีเก้ายอดเป็นสัญลักษณ์แสดงว่า กษัตริย์ผู้ทำให้ศาสนาเจริญรุ่งเรืองเข้าถึงพระพุทธศาสนาเสมือนผู้บรรลุนิพพานธรรม

    ยอดกลางสูงสุดหมายถึงพระนิพพาน ยอดสี่ยอด ยอดอีกสองชั้น แสดงถึงมรกต 4 ผล 4 ยอดปรางค์ ทำเป็นฉัตรหลายชั้น ฉัตรแต่ละชั้นประดับด้วยกลีบบัวเหมือนฝักข้าวโพดยอดปราสาทนครวัดทั้งเก้ายอดปิดทองเหลืองอร่ามไปหมด ตามแบบไศเลนทร์

    ปราสาทใหม่ที่พระระเบียงวิหารคดของปราสาทนครวัดสลักเป็นภาพ นรก สวรรค์ ตามคัมภีร์ไตรภูมิ แสดงให้เห็นว่าปราสาทนครวัด เป็นปรางค์ของฝ่ายพระพุทธศาสนามีภาพสลักเป็นเรื่องรามเกียรติ์มหาภารตะ เพื่อยกย่องพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เป็นกษัตริย์ที่ทรงธรรมและมีฤทธิ์อำนาจเหมือนพระนารายณ์ ตอนสมัยท่านมีชีวิตอยู่พระองค์ชอบมานั่งวิปัสสนาในปราสาทพระแก้ว เมื่อพระองค์สวรรคตแล้วก็บรรจุอัฐิของท่านไว้ที่นี้ด้วย ลูกหลานของท่านทุกพระองค์จึงนิยมไปนั่งวิปัสสนาที่นครวัด

    พงศาวดารกรุงกัมพูชา เล่าถึงตอนที่พระแก้วมรกตอยู่ในนครอินทรปัตได้ถูกต้องกว่าฉบับอื่น ๆ ว่าพระแก้วมรกตเข้ามาในรัชกาลของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ จนถึงรัชกาลที่ 6 พระทะเมิญชัย จึงได้โปรดให้นำพระไตรปิฏกที่ติดมากับเรือสำเภาพระแก้วมรกต ส่งคืนไปให้พระเจ้าอนุรุธ แต่องค์พระแก้วมรกตไม่ยอมคืนให้

    ตามตำนานพระแก้วมรกต เขียนไว้ว่าเมื่อพระเจ้าอนุรุธไม่ได้พระแก้วมรกต ก็ได้ติดตามปลอมเป็นราษฎรไปสืบเรื่องพระแก้วมรกต เมื่อรู้ว่าพระแก้วมรกตตกไปอยู่ในเมืองอินทรปัต พระองค์ก็ไม่กล้าตามไปแย่งเอามา เพราะเมืองอันทรปัตตอนนั้นมีพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์กษัตริย์ผู้เรืองอำนาจมีพระเดชานุภาพมาก

    ต่อมามีลูกหลานของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ปกครองตั้งแต่ พ.ศ. 1453-1471 อีก 6 พระองค์ จนประมาณ พ.ศ. 1471 พวกเจ้านายเขมรได้มาแย่งชิงเมืองได้ (พงศาวดารกัมพูชาว่าเป็นราชวงศ์ใหม่ตั้งนครหลวงที่โคห์แกร์ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ)

    มีการกวาดล้างพวกเจ้านายขอม จนบางพวกต้องหนีไปพึ่งพวกไศเลนทร์วงศ์ที่เมืองละโว้

    ในรัชกาลพระเสนก โอรสของพระเสนกเลี้ยงแมลงวันเขียวถูกแมงมุมเสือของบุตรปุโรหิตเขมรที่เลี้ยงไว้กินแมลงวันเขียวของพระโอรส พระเสนกให้ทหารไปจับบุตรของปุโรหิตไปถ่วงน้ำ เพราะเหตุว่าพระเสนกไม่ทรงธรรม พวกเขมรจึงชวนกันก่อการกบฏปราบขอม พระเถระต้องพาพระแก้วมรกตหนีไปอยู่ที่ปราสาทตาแก้ว ซึ่งมีพวกไศเลนทร์อยู่

    ข่าวการเกิดจลาจลในนครอินทรปัตทราบไปถึง พระเจ้าอาทิตย์ราช ซึ่งครองราชย์สมบัติในกรุงอโยธยาปุระในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พระอาทิตย์ราชเป็นห่วงพระแก้วมรกต เกรงพวกเขมรที่นับถือพระศิวะจะทำลายเสีย แล้วตั้งศิวลึงค์แทน จึงรีบยกทัพพร้อมด้วยจัตุรงคเสนา ทะแกล้วทหารเป็นอันมากไปเอาพระแก้วมรกตมาไว้ตั้งแต่รัชกาลพระเสนก พ.ศ.1545 แล้วกวาดต้อนผู้คนที่รักษาพระแก้วมรกตเป็นอันมาก แล้วเสด็จกลับมายังกรุงอโยชฌ ปุระที่หนองโสน

    ตามตำนานพระแก้วมรกตและตำนานไทย กล่าวว่าพระอาทิตยราชนี้เป็นกษัตริย์ไทย ลูกหลานของพระอินทร์ผู้สร้างพระแก้วมรกตในสมัยพระเจ้าศิริธรรมราชได้ยกกองทัพบก กองทัพเรือมายึดนครละโว้ไว้ได้ในปี พ.ศ. 1400

    ต่อมาประมาณ พ.ศ. 1417 กษัตริย์ขอมที่เมืองพระนครอินทรปัตถูกกวาดล้าง

    ธิดาของพระอินทรวรมัน พี่น้องของพระเจ้าปทุมสุริยะวงศ์มาเป็นมเหสีของพระเจ้ากรุงละโว้พระองค์หนึ่ง มีพระโอรสเป็นพระอาทิตยราช ต่อมาได้ย้ายพระนครจากละโว้กลับมายังนครอโยชฌ ปุระโบราณ ตรงเมืองอู่ทอง

    แต่นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเขียนประวัติศาสตร์เขมรว่า เป็นพระสุรยวรมเทวะ (สุรยวรมันที่ 1) เป็นกษัตริย์เขมรในเมืองพระนคาอินทรปัต ปี พ.ศ. 1545-1592 ได้มาแย่งราชสมบัติจากราชวงศ์เดิมได้ มีอาณาเขตกว้างขวางตลอดดินแดนไทยทั้งหมด เพราะเป็นโอรสของพระเจ้ากรุงตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) และเข้ามาครองกรุงกัมพูชา โดยอ้างพระราชมารดาของพระองค์เป็นธิดาของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 มีสิทธิ์ในราชบัลลังค์นี้ จึงปราบไปทั่วเกือบหมดแดนกัมพูชาโบราณสถานที่สร้างในสมัยพระองค์ มีปราสาทพิมานากาศปราสาทตาแก้วและปราสาทเขาพระวิหารสมัยสุริยวรเทวะคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำตาปีใช้คำว่า “สุริยงศ์” เข้ามาแทนคำว่า “ไศเลนทร์”

    ประมาณ พ.ศ. 1595 พระอาทิตยราชสวรรคตพระยาจันทโชติอำมาตย์ พระสามีของเจ้าฟ้าปฏิมาสุดาจันทร์เป็นกษัตริย์องค์ต่อมา เนื่องจากไม่มีโอรสสืบวงศ์ เจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์พระธิดาในสุริยวงศ์ ซึ่งมีสิทธิในราชบัลลังค์พระสามีพระเจ้าจันทโชติจึงขึ้นเสวยราชย์แล้วย้ายนครหลวงจากอโยชฌปุระ ไปนครละโว้ตามเดิม หลังจากเสวยราชได้ 5 ปี ได้สร้างวัดกุฎีทอง ถวายพระอาจารย์ส่วนพระอัครมเหสีสร้างวัดคงคาวิหาร

    พ.ศ. 1601 พระเจ้าอโนรธามังฉ่อ กษัตริย์มอญ ลูกหลานของพระเจ้าอนุรุธ ทราบข่าวการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินมีการแย่งชิงราชสมบัติ จึงยกทัพมาล้อมเมืองละโว้ พระเจ้าจันทโชติเห็นว่าไม่สามารถสู้กับกองทัพมอญได้ จึงปรึกษาเจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์ ขอถวายพระพี่นางเจ้าฟ้าแก้วประพาสให้กษัตริย์มอญ-พม่า เป็นอัครมเหสีเพื่อเป็นทางพระราชไมตรี

    ต่อมามีโอรสเป็น พระนเรศวรหงศา ส่วนเจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์มีโอรสเป็นพระนารายณ์ เมื่อมีพระชนม์ได้ 14 ปี ได้ไปเยี่ยมพระเจ้าป้าอยู่จนคุ้นเคยในราชสำนักพระเจ้าอโนรธามังฉ่อ เกิดวิวาทกับพระนเรศวรหงศา

    พระนารายณ์จึงเกลี้ยกล่อมชาวไทยและมอญ ที่ตกอยู่ทางกรุงหงศาพาหนีกลับมาได้จำนวนมาก พอพระบิดาสวรรคตพระนารายณ์ซึ่งเป็นหลานทางสายมารดาได้ครองราชย์ ก็ย้ายนครหลวงกลับไปอโยชฌปุระ

    ปี พ.ศ. 1630 พระนเรศวรหงศา ยกกำลังพลสีแสนมาปิดล้อมกรุงอโยชฌปุระ แล้วมีการนัดก่อเจดีย์พนันเมืองกัน พระเรศวรหงศาแพ้ยกทัพกลับไปพระนารายณ์ได้ไปสร้างพระปรางค์สามยอดเมืองละโว้ แล้วขนานนามเมืองละโว้ใหม่ว่า เมืองลพบุรี

    พระนารายณ์สร้างพระปรางค์สามยอดที่ละโว้ ตามความเชื่อของวัฒนธรรมไศเลนทร์สร้างเป็นมณเฑียรธรรมในพระพุทธศาสนาสร้างอุทิศให้บรรพบุรุษ ยอดกลางประดิษฐานพระพุทธรูป ยอดซ้ายและขวาประดิษฐานพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธรูปทรงเครื่อง

    พระองค์สร้างอุทิศให้แก่พระบิดา พระอัยกา เมื่อพระนารายณ์ ประชวรสวรรคต อำมาตย์เก้าคนฆ่าฟันแย่งชิงราชสมบัติกับพระเจ้าหลวงได้ราชสมบัติ ให้ยกวังเป็นวัด แล้วลงไปสร้างพระนครอโยธยาใหม่อยู่ท้ายเมืองไปวัดโปรดสัตว์

    ตำนานพระแก้วมรกตเล่าถึง พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในกรุงอโยธยามานาน สืบได้พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ จนอยู่มาวันหนึ่ง เจ้าพระยากำแพงเพชรยกกองทัพเรือลงมาขอพระแก้วมรกตขึ้นไปไว้ในเมืองกำแพงเพชร

    เมืองกำแพงเพชรโบราณ คงจะมีมาก่อนแต่ไม่ค่อยมีหลักฐานของกษัตริย์ที่คงเมืองมากนัก จะมีก็แต่โบราณสถานเก่าแก่ทั่วไป ในแถบทุ่งเศรษฐีที่พบพระพิมพ์ต่าง ๆเช่น พระจำพวกซุ้มกอ พระกำแพง ลีลาต่าง ๆ

    มีตำนานพระพิมพ์ ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์โบราณผู้ทรงธรรมจนมีผู้เรียกเทียบเท่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่มหานครแถวเมืองกำแพงเพชร มีประวัติว่า พระฤาษี 11 ตน ได้ปรึกษากันที่จะสร้างอะไรเพื่อเป็นพระเกียรติแก่พระยาศรีธรรมาโศก แล้วก็ช่วยกันทำพระพิมพ์แบบกำแพงเพชรขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ทำให้เราทราบเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก่อนเป็นเวลาเป็นพันปี และมีชนชาติไทยเราอาศัยอยู่มีเมืองต่าง ๆ รบพุ่งกันตลอดมา เราเพียงแต่รู้ประวัติศาสตร์จากศิลาจารึกในช่วง 1 สองสมัยพระร่วงชนช้างกับเจ้าสมาชนเจ้าเมืองฉอด (อยู่แถวจังหวัดตาก)

    จากหนังสือพระบรมราชธิบายของรัชกาลที่ 5 เขียนถึงพระแก้วมรกตว่า “ต่อนั้นไปจึงถึงวัดใหญ่ซึ่งมีวิหารอย่างเดียวกันกลางเป็นรูปไม้สิบสอง จะเป็นเจดีย์หรือปรางค์อันใดพังเสียหรือไม่ แล้วด้านหลังก็เป็นวิหารใหญ่ อีกหลังหนึ่งในลานวัดนั้นเต็มไปด้วยพระเจดีย์ที่เป็นฐานเดียวกันหลาย ๆ องค์บ้าง ลักษณะเดียวกับวัดหน้าพระธาตุลพบุรีและวัดพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช จะเป็นวัดอื่นนอกจากวัดหน้าพระธาตุไม่ได้เลย

    วัดนี้ดูบริบูรณ์มากกว่าวัดอื่น ซุ้มประตูใหญ่น้อยก็ยังมีข้างหน้าวัดมีสระสี่เหลี่ยมกว้าง ยาวลึกประมาณสัก 5 วา


    เครดิต...https://www.facebook.com/photo.php?fbid=615963465160003&set=a.238316889591331.54695.238296179593402&type=1&theater
     

แชร์หน้านี้

Loading...