คลิปวีดีโอ..สำหรับผู้ต้องการฝึกกสิณ 10..

ในห้อง 'ประสบการณ์อภิญญา' ตั้งกระทู้โดย apichayo, 1 กุมภาพันธ์ 2013.

  1. apichayo

    apichayo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2011
    โพสต์:
    488
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,936
    คลิปวีดีโอสำหรับฝึกปฏิบัติกสิณ 10 อย่าง

    กสิณดิน กสิณน้ำ กสิณลม กสิณไฟ กสิณสีแดง กสิณสีเหลือง กสิณสีเขียว กสิณสีขาว กสิณแสงสว่าง กสิณอากาศ

    (ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ วาโยกสิณ เตโชกสิณ นีลกสิณ โลหิตกสิณ ปีตกสิณ โอทาตกสิณ อาโลกกสิณ อากาสกสิณ)


    วีดีโอภาพกสิณ 10 อย่าง - YouTube
     
  2. apichayo

    apichayo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2011
    โพสต์:
    488
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,936
    วิธีการเพ่งกสิณ​


    [ame=http://www.youtube.com/watch?v=9fiLU9E5os4]วิธีการเพ่งกสิณ - YouTube[/ame]
     
  3. apichayo

    apichayo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2011
    โพสต์:
    488
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,936
    อันตรายของการฝึกกสิณ

    ถาม : ฝึกกสิณอันตรายไหมคะ ?
    ตอบ :ต้องดูว่าเราเองมีสติสัมปชัญญะบกพร่องหรือเปล่า ถ้าบกพร่องแล้วไปได้กสิณไฟ เดี๋ยวไปไล่เผาชาวบ้านเขาสนุกสนาน จริง ๆ แล้วคนที่ทำได้ถ้าไปใช้ผิดก็จะเสื่อม แต่ว่าในการเสื่อมลักษณะนี้ไม่นานหรอก พอเรารวบรวมกำลังใจได้ก็ได้ใหม่ แต่ถ้าใช้ผิดอีกก็พังอีก

    เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าฝึกกสิณอันตรายไหม? ก็ต้องดูอย่างหลวงพ่อท่านฝึกปฐวีกสิณ คือ กสิณดินแล้วก็ไปหัดเดินในน้ำ ปรากฏว่าก้าวลงไปร่วงตูมเลย อธิษฐานใช้ผิด ตอนนั้นถ้าว่ายน้ำไม่เป็นก็อันตราย ...(หัวเราะ)... ถ้าว่ายน้ำเป็นก็ไม่เท่าไร ท่านไปอธิษฐานว่าให้แม่น้ำทั้งสายแข็งตัว นั่นผิด เพราะว่าเรือแพต่าง ๆ สัญจรไม่ได้ ต้องอธิษฐานว่าน้ำทุกจุดที่เราเหยียบเท้าลงไปให้แข็งเหมือนแผ่นดิน ถ้าอย่างนั้นนะได้ ใช้ผิดหน่อยเดียวอาบน้ำเที่ยงคืนเลย ...(หัวเราะ)... หนาวแทบแย่ ฤดูหนาวด้วย

    หรือไม่ก็อย่างเจ้าจ๊อบเจ้าเมย์ลูกสาวพี่สามารถเขา ตอนนี้คงจะโตเป็นสาวแล้ว ตอนนั้นเรียนมัธยมอยู่ มันแกล้งเพื่อนเวลาเข้าห้องน้ำ ห้องน้ำของวัดเขาจะทำรางน้ำยาว ๆ ทะลุถึงกันทุกห้องเลย เจ้านั่นเข้าไปถึงก็เพ่งน้ำ เพื่อนจ้วงลงไปเสียงดังก๊อง! แทนที่จะเป็นน้ำ กลายเป็นน้ำเเข็งไปเลย เด็ก ๆ เขาเล่นกันสนุก เพื่อนจะตักน้ำล้างก้นมันไม่ให้ล้าง..(หัวเราะ)..แกล้งทำให้น้ำแข็งซะ

    ถาม : ฝึกกสิณกับฝึกอานาปานสติอย่างไหนเร็วกว่ากันครับ ?
    ถาม : จริง ๆ แล้วฝึกกสิณจะมีภาพเป็นเครื่องจูงใจ ทำให้กำหนดได้ง่ายกว่า อานาปานสติเรากำหนดรู้ตามลมไปใช่ไหม ? บางทีรู้สึกว่าไม่เห็นภาพไม่เห็นอะไร สำหรับบางคนแล้วจะไม่ตรงกำลังใจเขา เพราะฉะนั้นต้องดูว่าตัวเองถนัดอย่างไหน ถ้าเราถนัดอย่างไหน ทำอย่างนั้นเราจะได้เร็ว
    ดังนั้นที่ถามว่าอันไหนจะได้ผลเร็วกว่ากัน หรือว่าคล่องตัวกว่ากัน ก็ต้องดูว่าเราชอบเราถนัดแบบไหน

    ถาม : สมมุติว่าได้มาแล้วเสื่อมเร็ว ?
    ตอบ : ได้มาแล้วเสื่อมเร็วก็ต้องหัดซ้อมให้ให้คล่องตัว ถ้าใช้จนคล่องตัวนึกเมื่อไรได้เมื่อนั้น โอกาสเสื่อมก็ยาก ยกเว้นว่าเราไปใช้ผิด ใช้ผิดประเภทโดนลงโทษคิดอยากจะช่วยเขาอยู่เรื่อย

    พวกเราส่วนใหญ่แล้วติด..ใช่ไหม ? นิสัยเห็นเขาแล้วอดสงสารไม่ได้ เห็นเขาลำบากโดยไม่ได้ดูก่อนว่าเขาลำบากเพราะทำกรรมอะไรมา ถึงเวลาก็ลุยไปช่วยเลย ก็เป็นการฝืนกฏของกรรม ถ้าฝืนกฏของกรรมวิชาจะเสื่อมไป จนกว่าจะรวบรวมกำลังใจได้ใหม่อีก การใช้ฤทธิ์ใช้อภิญญาสำคัญตรงต้องยอมรับกฏของกรรม ตราบใดที่จิตยังไม่ยอมรับกฏของกรรมจริง ๆ จะต้องไปฝืนนั้น เราไม่สามารถใช้ได้เต็มที่หรอก

    บางคนก็แปลกใจ ขนาดฝึกกสิณมาแท้ ๆ แต่ใช้ได้นิดเดียว คือ ถ้ายังไม่ยอมรับกฏของกรรมจริง ๆ ใช้ยาก โดยเฉพาะพวกฤทธิ์พวกอภิญญาสำหรับนักปฎิบัติแล้ว ท่านให้ใช้ส่วนของธรรมะเท่านั้น ไม่ใช่สำหรับตัวเอง ตัวเองต้องยอมรับกฏของกรรมเป็นปกติ จึงสามารถเข้าถึงมรรคผลได้

    ถาม : แสดงว่าใช้กรรม ...?
    ตอบ : จริง ๆ แล้วก็คือว่า มีหรือไม่มีก็เท่ากันนั่นแหละ มีก็ดีตรงที่กำลังใจเข้มแข็ง ทำให้อาศัยกำลังตัวนั้นตัดกิเลสได้ง่ายแต่ ถ้าเผลอก็ติดอยู่แค่นั้น

    สนทนากับพระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ เดือนกรกฏาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔
     
  4. apichayo

    apichayo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2011
    โพสต์:
    488
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,936
    อานิสงส์ของการเพ่งกสิณ
    Advantage of Kasina's Meditation

    การทำสมาธิด้วยวิธีเพ่งกสิณ ถือว่าเป็นกรรมฐานอันดับหนึ่งที่ให้จิตมีอานุภาพเกิดขึ้นมากมายยิ่งกว่ากรรมฐานอย่างอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวอภิญญาอภินิหารทั้งหลาย ล้วนแต่เกิดขึ้นจากอำนาจของกสิณทั้งสิ้น ยกตัวอย่างอภิญญาที่เกิดขึ้นกับพระพุทธองค์และพระสาวกทั้งหลาย โดยมากจะเกิดด้วยอำนาจของกสิณ ทั้งที่เกิดขึ้นด้วยกสิณที่เจริญโดยตรงในชาตินี้ และทั้งที่เกิดโดยอ้อมจากกสิณในอดีตชาติส่งให้เกิดเมื่อบรรลุธรรมถึงที่สุดแล้ว ตามหลักฐานแล้วผู้เพ่งกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งมามีอานิสงส์ที่จะได้จากการเพ่งกสิณหลายอย่างด้วยกัน คือ

    อานิสงส์ข้อที่ 1 การเพ่งกสิณสามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้เร็ว และตั้งมั่นอยู่ได้นานกว่ากรรมฐานอื่น ๆ ทั้งหมด ทั้งนี้เพราะการเพ่งกสิณเป็นการฝึกจิตด้วยวิธีการใช้กสิณเป็นสื่อเพื่อดึงจิตให้จับอยู่กับกสิณนั้น ๆ และเมื่อจิตจับอยู่กับกสิณนั้นนานๆ จิตจะสามารถเก็บเอาภาพของกสิณนั้นเข้าไปไว้ในสัญญาของเราได้ ภาพที่จิตของเราเก็บเอามาจากกสิณนั้น เราเรียกว่า นิมิต (Mental Image) ซึ่งถ้าหากจิตเก็บไว้ได้ดีภาพนั้นจะชัดเจนมาก เราสามารถจะนึกภาพให้เกิดขึ้นมาในใจแทนกสิณจริงได้เลย เหมือนกับเราท่องหนังสือสวดมนต์ 10 ถึง 20 หน้า ตอนแรกๆ เพียงอ่านอย่างเดียวก็แทบจะอ่านไม่ออกอยู่แล้ว แต่พอท่องกลับไปกลับมาบ่อย ๆ ภาพตัวหนังสือเหล่านั้นจะถูกเก็บเข้าไว้ในสัญญา (Perception) ของเรา เมื่อเก็บไว้ได้ชัดเจนมากๆ เราสามารถที่จะท่องบทสวดมนต์ได้ด้วยปากเปล่าอย่างถูกต้องทุกตัวอักษรเลย ไม่จำเป็นต้องดูหนังสืออีกก็ได้

    การฝึกจิตด้วยวิธีเพ่งกสิณก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราเพ่งมองแผ่นกสิณบ่อยๆ จิตของเราจะกำหนดภาพนิมิตกสิณนั้นไว้ในใจ และเมื่อเรารักษานิมิตนั้นไว้ให้ปรากฏเด่นชัดมากขึ้น และจิตจะนิ่งเป็นสมาธิอยู่กับภาพกสิณนั้นจนทำให้เกิดคุณภาพจิตที่เรียกว่าฌานเกิดขึ้นได้มากถึง 8 ฌาน ดังนั้น การเพ่งกสิณจึงทำให้จิตเป็นสมาธิได้เร็วและนิ่งอยู่ได้อย่างมั่นคงยาวนานกว่ากรรมฐานอื่น ๆ

    2. ไม่คิดฟุ้งซ่าน และไม่ง่วงนอนในเวลาทำสมาธิ ปกติคนเราเวลานั่งสมาธิไปได้สักพักหนึ่ง จะเกิดอาการคิดไปเรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง หรือ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะง่วงนอนและนั่งหลับอยู่เสมอ การง่วงนอนในเวลาทำสมาธิเป็นภาพที่เห็นจนคุ้นตาเปรียบเสมือนของคู่กับกรรมฐานเลยทีเดียว
    ส่วนการเพ่งกสิณจะไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องนี้มากนัก เพราะการเพ่งกสิณจะทำให้ได้เปลี่ยนอารมณ์สลับกันอยู่ตลอดเวลาระหว่างลืมตาเพ่งมองแผ่นกสิณ และหลับตานึกเพื่อจำภาพกสิณนั้นไว้ในสัญญาสลับกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้จิตได้ทำงานและได้พักผ่อนไปในตัว จึงทำให้จิตมีการเดินหน้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้จิตไม่มีเวลาในการคิดฟุ้งซ่านและจะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลากับภาพนิมิตที่จำได้ จึงทำไม่เกิดอาการง่วงนอน
    ถ้าผู้เพ่งกสิณเฝ้าสังเกตดูจะรู้ว่า ในช่วงใดที่จิตของเราคิดไปที่อื่น หรือเริ่มมีอาการง่วงนอน ภาพนิมิตกสิณที่ปรากฏอยู่นั้นจะเลือนหายไปทันที ดังนั้น ผู้เพ่งกสิณจะรู้ตัวได้ว่า ขณะไหนตัวเองเริ่มมีอาการฟุ้งซ่านหรือง่วงนอน เพราะภาพนิมิตกสิณจะเป็นตัวบอกเหตุทำให้เปลี่ยนอารมณ์ได้ทัน จึงทำให้สมาธินิ่งได้นานกว่ากรรมฐานอื่น ๆ

    3. ทำให้ภาพนิมิตติดตาได้ง่าย จุดประสงค์ของการเพ่งกสิณนี้ เป้าหมายหลักก็คือ การเพ่งมองวัตถุเพื่อให้วัตถุที่เพ่งนั้นติดตา แล้วต่อไปจึงใช้ภาพที่ติดตานั้นไปทำประโยชน์ในทางสมาธิต่อไป โดยหลังจากที่ภาพกสิณติดมาในใจได้แล้ว จะส่งผลดีต่อการฝึกเป็นอย่างมาก เพราะจิตจะได้นิมิตเป็นตัวยึดทำให้ไม่ฟุ้งซ่าน และมุ่งตรงไปกับนิมิตนั้นจนกระทั้งจิตเกิดคุณภาพทางสมาธิได้อย่างสมบูรณ์ การที่กสิณเป็นสมาธิที่ติดตาได้ง่ายจึงมีผลดีมากต่อการทำสมาธิด้วยวิธีนี้

    4. ทำให้สัญญาดี มีความจำดี ไม่หลงลืมสติ อานิสงส์ข้อนี้ นับว่ามีความสำคัญมากเพราะเป็นการฝึกเข้าไปถึงศักยภาพภายในของแต่ละคนเลยทีเดียว ศักยภาพที่ว่านี้ คือ สัญญา หมายถึง ความจำของสัตว์โลกทั้งหมดนั่นเอง พระพุทธองค์ทรงอธิบายส่วนประกอบของสัตว์โลกไว้ว่า สัตว์โลกมีส่วนประกอบสำคัญหลักๆ อยู่ 5 ประเภท เรียกว่า ขันธ์ 5 คือ

    ร่างกายทั้งหมด เรียกว่า รูปขันธ์ (Body or Form)
    ความรู้สึกต่างๆ เรียกว่า เวทนาขันธ์ (Sensation)
    ความจำข้อมูลต่างๆ ไว้ได้ เรียกว่า สัญญาขันธ์ (Perception)
    ความคิดทั้งหมด เรียกว่า สังขารขันธ์ (Mental Activities)
    จิตที่รับอารมณ์ทั้งหมด เรียกว่า วิญญาณขันธ์(Consciousness)

    การเพ่งกสิณนี้เป็นการฝึกสัญญา หรือ ฐานความจำของเราให้ดี เมื่อสัญญาดีมีความชัดเจนแล้ว เวลารับอารมณ์อย่างอื่นอารมณ์นั้นๆ จะติดตาได้เร็ว และมีความชัดเจนเหมือนกับผ้าขาวบริสุทธิ์เมื่อมีสีอะไรมากระทบก็ติดได้ทันทีแล้วชัดเจนมาก ต่างจากผ้าที่สกปรกแม้จะย้อมกับสีอื่นก็ไม่อาจติดได้ดี เพราะมีของสกปรกหุ้มอยู่ เมื่อเราเพ่งกสิณฝึกสัญญาให้ดีมีความบริสุทธิ์แล้ว จิตจะรับอารมณ์ได้ดีและจำได้แม่นยำไม่หลงลืมง่ายๆ เมื่อมีความจำดีและจำได้มากๆ ท่านเรียกว่า มีข้อมูลทางสมอง (มโนสัญเจตนาหาร) มาก ทำให้สามารถดึงเอาออกมาศึกษาวิเคราะห์ด้วยตัวเองได้ ทำให้กลายเป็นคนฉลาดก็เพราะมีข้อมูลทางสมองมาก เหมือนคอมพิวเตอร์เครื่องที่ถูกป้อนข้อมูลเข้าไปมากๆ ก็ใช้งานได้มาก

    5. สามารถทำรูปฌาน 4 ให้เกิดได้ง่าย คำว่า ฌาน ในที่นี้หมายถึง การเพ่ง (Gazing) เมื่อต่อกับคำว่ารูป จึงมีรูปเป็น "รูปฌาน" หมายถึงการเพ่งอยู่กับรูปธรรม หรือ รูปวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งจนสภาวะจิตนิ่งได้ระดับที่มีคุณภาพดี ท่านเรียกจิตที่เพ่งได้ในระดับเหล่านี้ว่า ฌาน ในระดับต่าง ๆ โดยแบ่งออกเป็นการเพ่งที่อาศัยรูปธรรม 4 ระดับ เรียกว่า รูปฌาน 4 และจิตที่เพ่งอาศัยอรูปธรรมอีก 4 ระดับ เรียกว่า อรูปฌาน 4

    ในอานิสงส์ข้อนี้ ผู้เพ่งกสิณที่สามารถทำนิมิตติดตาได้แล้ว ภายหลังเมื่อหลับตาลงจะเพ่งกสิณ ภาพกสิณที่เก็บไว้ในนิมิตนั้นจะปรากฏเด่นชัดขึ้นมาในสัญญาและสดใสบริสุทธิ์มากกว่าภาพกสิณจริงหลายร้อยเท่า ทั้งนี้เป็นเพราะอานิสงส์จากข้อ 4 คือ มีสัญญาดี จึงทำให้นิมิตปรากฏง่ายและชัดเจน เมื่อเพ่งอยู่กับภาพนิมิตกสิณนั้นนานๆ จิตจะนิ่งได้ระดับการเพ่งที่เรียก ฌานในระดับต่างๆ ได้เร็ว ดังนั้น การเพ่งกสิณจึงสามารถทำให้เกิดรูปฌาน 4 ได้ง่าย พระพุทธองค์ทรงเรียกผู้เพ่งนิมิตกสิณนานๆ ว่า ฌานกีฬา แปลว่า ผู้เล่นฌาน หมายถึง เล่นอยู่กับการเพ่งนิมิตกสิณต่างๆ นั่นเอง

    นอกจากนี้คำว่า ฌาน ยังหมายถึงการเผาได้ด้วย หมายถึง ฌานเป็นตัวเผานิวรณ์และกิเลสต่างๆ ให้เหือดแห้งไป ตั้งแต่นิวรณ์ไปจนถึงตัณหาและอุปาทาน (ความต้องการทางกามคุณและความยึดติดเหนี่ยวรั้งไว้) คำว่า ฌาน เป็นคำชนิดเดียวกับ "ฌาปนกิจ" ที่เราใช้ในการเผาศพ แต่ "ฌาน" นี้ใช้ในการเผากิเลสให้หมดไป

    บางคนอาจตั้งคำถามขึ้นมาใจว่า ถ้า ฌาน หมายถึงการเผากิเลส แล้วทำไม? พวกฤาษีที่ได้ฌานจึงไม่อาจเผากิเลสให้หมดไปได้ คำถามนี้ก็ต้องตอบว่า เพราะท่านฤาษีทั้งหลาย เป็นพวกชนิดที่หวังได้อัตตาอมตะ หวังได้ชีวิตถาวรอมตะอยู่ ยังมีความเข้าใจผิดอยู่ ดังนั้น แม้จิตจะเผากิเลสได้เบาบางมากแล้ว แต่ก็ยังไม่หมดเชื้อของอวิชชา เมื่อหมดอายุขัยจากการเป็นพรหมแล้ว ท่านจึงยังต้องกลับมาเกิดใหม่ได้อีก

    6. สามารถใช้กสิณเป็นฐานของฌานขั้นที่ 5 ได้ (อากาสานัญจายตนะ - ขั้นกำหนดอากาศ - Gazing at Space) อานิสงส์ข้อนี้นับว่าสำคัญมาก ถ้าคนผู้ไม่เคยเพ่งกสิณชนิดใดชนิดหนึ่งมาก่อนเลย จะไม่สามารถทำอรูปฌานใดๆ ได้ เพราะอรูปฌานจะต้องเจริญต่อจากกสิณ 9 ชนิดอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น (ยกเว้นอากาสกสิณ) อยู่ๆ จะเจริญอรูปฌานโดยตรงไม่ได้

    บุคคลผู้ที่ฝึกจิตด้วยกรรมฐานอื่นๆ มา เช่น อานาปานสติ (Mindfulness on Breathing) หรือ อสุภกรรมฐาน (Corpses Meditation) คือ กรรมฐานที่เพ่งซากศพ เป็นต้น แม้บางกรรมฐานจะทำฌานได้ถึงฌาน 4 ก็จริง แต่ก็ไม่สามารถนำกรรมฐานเหล่านั้น มาเป็นฐานเพื่อกำหนดจิตให้ขึ้นสู่อารมณ์ขั้นอรูปฌานได้ ทั้งนี้ก็เพราะอารมณ์ของอรูปฌานนั้น จะต้องอาศัยกสิณ 9 ชนิดเป็นฐานให้เสียก่อนจึงจะเจริญได้ เหมือนกับอุเบกขา (พรหมวิหาร) ผู้ที่จะเจริญอุเบกขาได้จะต้องเจริญพรหมวิหาร 3 ข้อแรก คือ เมตตา (Friendliness) กรุณา (Compassion) และมุทิตา (Sympathetic Joy) มาเป็นฐานเสียก่อน ต่อจากนั้นจึงจะเจริญอุเบกขา (Neutrality) ต่อได้ ผู้ฝึกจิตด้วยกรรมฐานอื่นๆ มาก็ไม่สามารถเจริญอุเบกขาได้เช่นกัน

    ดังนั้น นิมิตกสิณทั้ง 9 ชนิดจึงมีความสำคัญต่อผู้ปฏิบัติกรรมฐานเพื่อเจริญสมาบัติ 8 เป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่เพ่งกสิณมาจะทำอรูปฌานให้เกิดไม่ได้

    การใช้นิมิตกสิณเป็นฐานของฌานขั้นที่ 5 นั้น จะต้องฝึกกสิณจนเป็นปฏิภาคนิมิตได้เสียก่อน ต่อจากนั้นจึงขยายนิมิตนั้นให้เต็มขอบตา โดยขยายให้เป็นสีเดียวล้วนๆ แล้วเปลี่ยนจิตจากการกำหนดสีของกสิณนั้นไปกำหนดอากาศทับซ้ำเข้าบนนิมิตกสิณนั้นอีกต่อหนึ่ง จิตจะเปลี่ยนจากการกำหนดสีของกสิณมากำหนดอากาศว่างๆ ทับบนกสิณอีกต่อหนึ่ง

    ต่อจากนั้นให้ใช้อากาศนั้นเป็นฐานของการกำหนดฌานขั้นที่ 6 ต่อไปอีก คือ เปลี่ยนจิตจากการที่กำหนดอยู่กับอากาศนั้นหันมากำหนดยังจิตของตัวเอง (วิญญาณัญจายตนะ) ให้รู้ถึงการรับรู้ที่อยู่บนอากาศนั้น

    ต่อจากนั้นให้ใช้ฌานขั้นที่ 6 นั้นเป็นฐานของฌานขั้นที่ 7 ต่อไปอีก คือ เปลี่ยนจากการกำหนดดูจิตตัวเองมาเป็นพยายามดับการรับรู้ของจิตทั้งหมด พยายามที่จะไม่รับรู้อะไรทั้งหมด (อากิญจัญญายตนะ) โดยพยายามที่จะดับจิตตัวเอง เพื่อมิให้มีการรับรู้ใดๆ

    ต่อจากนั้นฌานขั้นที่ 7 นี้จะเป็นฐานในฌานขั้นที่ 8 ต่อไปอีก (เนวสัญญานาสัญญายตนะ) ได้เอง ฌานขั้นนี้ จิตจะไม่มีการรับรู้ใดๆ แล้ว ไม่มีความนึกคิด ไม่มีความทรงจำผุดขึ้นมาในใจ มีสภาวะจิตเหลืออยู่อย่างเบาบางมาก แต่ยังไม่ถึงกับดับได้ทั้งหมด

    และฌานขั้นที่ 8 นี้ จะเป็นฐานของนิโรธสมาบัติ หรือ สัญญาเวทยิตนิโรธได้อีก คือ ในขั้นนี้จิตจะดับไปทั้งหมด ไม่มีจิตใดๆ เหลืออยู่ในการรับรู้อารมณ์เลย สภาวะในขั้นนี้เป็นเหมือนการนิพพานจริงของพระอรหันต์ แต่สมาบัติในขั้นนี้เกิดในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นเพียงการชิมรสของพระนิพพานในปัจจุบันของพระอนาคามีและพระอรหันต์ที่ได้ฌาน 8 มาเท่านั้น ทำให้ท่านทราบว่า อารมณ์ของนิพพานในการดับนั้นเป็นเช่นใด ก่อนจะนิพพานจริงเมื่อสิ้นอายุขัย

    ในการเข้าฌานถึงระดับนิโรธสมาบัตินี้ มีข้อจำกัดอยู่อย่างหนึ่งว่า จะต้องเป็นพระอนาคามีและพระอรหันต์ที่ได้สมาบัติ 8 มาเท่านั้น ส่วนบุคคลธรรมดาแม้จะทำสมาธิมาถึงสมาบัติ 8 ได้ ก็จะไม่สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ ทั้งนี้ก็เพราะสภาวะจิตยังละกามสังโยชน์เบื้องสูงยังไม่ได้ หรือแม้แต่ท่านที่เป็นพระอนาคามีและพระอรหันต์เอง แต่ไม่มีฌานสมาธิไม่สามารถทำสมาบัติ 8 ได้ ก็จะเข้านิโรธสมาบัตินี้ไม่ได้เหมือนกัน

    ดังนั้น สมาธิกสิณจึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับนักปฏิบัติที่ต้องการความสำเร็จสูงสุดในทางสมาธิ เพราะเป็นฐานสำคัญที่จะนำจิตให้ขึ้นไปสู่สมาธิชั้นสูง คือ อรูปฌานได้ เพราะถ้าทำอรูปฌานไม่ได้แล้ว ก็ไม่สามารถทำสมาบัติให้ครบ 8 ได้ ดังนั้น ท่านจึงนิยามกสิณว่า กสิณ คือ บ่อเกิดแห่งฌานและสมาบัติ

    นอกจากนี้อำนาจของฌานสมาบัติ ยังมีผลต่อการบรรลุธรรมอีกด้วย ดังพุทธพจน์ที่ว่า ฌานสมาบัติมีอยู่เท่าใด การบรรลุธรรมก็มีได้เท่านั้น

    7. สามารถเนรมิตรูปต่างๆ และสีต่างๆ ขึ้นมาได้ อานิสงส์ข้อนี้ สำหรับผู้ฝึกเพ่งกสิณชนิดใดสำเร็จได้แล้ว และมีความชำนาญในกสิณนั้นมากๆ เรียกว่า มีวสี (Experience) ในกสิณนั้น ๆ แล้ว สามารถที่จะใช้อำนาจจิตที่ฝึกมาดีแล้วนั้นในการเนรมิตรูปต่างๆ และสีต่าง ๆ ตามชนิดกสิณที่ตนเองฝึกมาให้ปรากฏได้ เช่น ผู้เพ่งกสิณสีแดงสำเร็จ สามารถเพ่งวัตถุให้เป็นสีแดงตามที่เราต้องการได้ โดยจะให้ตนเองเห็นหรือให้คนอื่นเห็นด้วยก็ได้ ตราบเท่าเวลาที่เรากำหนดจิตให้ปรากฏ แต่เมื่อเราหยุดกำหนดหรือที่เรียกว่าคลายฤทธิ์แล้ว ทุกอย่างจะกลับมีสภาพปกติเหมือนเดิม

    จากความจริงข้อนี้ เราจะเห็นความจริงอีกข้อหนึ่งว่า แม้พระพุทธเจ้าจะมีอิทธิฤทธิ์มากมาย แต่พระองค์ก็ไม่เคยเนรมิตสิ่งใดให้กับสาวกคนใดเลย ทั้งนี้เพราะว่า สิ่งที่เนรมิตขึ้นมานั้นจะเห็นเป็นจริงอยู่ได้ตลอดเวลาเท่าที่เรากำหนดจิตให้เป็นเท่านั้น เมื่อคลายจิตแล้วทุกอย่างจะกลับเข้าที่เดิม

    ดังนั้น เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ (Marvel of Psychic Power)ต่างๆ พระพุทธองค์สรรเสริญเพียงอนุสาสนีปาฏิหาริย์ (Marvel of teaching) อย่างเดียว คือ ปาฏิหาริย์ที่สามารถสอนผู้อื่นให้เข้าใจธรรมะและบรรลุมรรคผลตามได้ ปาฏิหาริย์นอกนี้ไม่ทรงสรรเสริญ แม้ผู้ที่ทำได้เอง แต่ถ้าเมื่อใดที่สภาวะจิตตกต่ำลง ก็อาจเสื่อมจากฤทธิ์เหล่านี้ได้เช่นกัน

    แต่อำนาจฤทธิ์นี้จะมีประโยชน์มากสำหรับพระอริยสาวกในการประกาศพระศาสนา แม้พระพุทธองค์จะไม่ทรงแสดงต่อหน้าพระสาวกทั่วไป แต่ภายในพระองค์ทรงใช้อยู่ตลอดเวลาทั้งในการตรวจดูอุปนิสัยของผู้ฟังธรรม ทั้งในการแสดงธรรมต่อเหล่าเทวดา หรือแสดงเพื่อปราบพวกเดียรถีย์ เป็นต้น

    8. ทำให้ได้โลกียอภิญญา คำว่า โลกียอภิญญา (Worldly Super knowledge) หมายถึง อิทธิฤทธิ์ต่างๆ ที่ยังอาจเสื่อมได้ อานิสงส์ข้อนี้ สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับอภิญญาต่างๆ อยู่ มีทัศนะผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่มาก เช่น จะได้ยินบางคนพูดอยู่เสมอๆ ว่า ‘ไม่กล้านั่งสมาธิเพราะกลัวเหาะได้' ซึ่งการพูดเช่นนี้แสดงว่า ผู้พูดยังไม่เข้าใจในเรื่องของอภิญญาต่างๆ เลย ตามความเป็นจริงแล้ว การนั่งกรรมฐานที่สอนๆ กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันนี้ คือ อานาปานสติ แม้จะทำอานาปานสติจนได้ฌานหรือแม้แต่บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ก็ไม่สามารถเหาะเหินเดินอากาศตามที่กล่าวได้ เพราะอานาปานสติไม่มีอานุภาพในด้านนี้

    กรรมฐานที่สามารถทำให้เกิดอภิญญาต่างๆ ได้นั้น โดยมากเป็นเพราะอานุภาพของกสิณทั้ง10 ชนิด และกสิณแต่ละชนิดก็ทำให้เกิดอภิญญาได้แตกต่างกันตามชนิดของกสิณนั้นๆ เช่น การเหาะเหินเดินอากาศจะต้องทำจากวาโยกสิณ คือ กสิณลม การเดินบนน้ำได้จะต้องทำได้จากปฐวีกสิณ คือ กสิณดิน การดำดินได้ก็จะต้องทำจากอาโปกสิณ คือ กสิณน้ำ การมีตาทิพย์ได้ ก็จะต้องทำจากโอทาตกสิณ คือ กสิณสีขาว หรือ เตโชกสิณ คือ กสิณไฟ เป็นต้น

    กสิณแต่ละชนิดทำให้เกิดอภิญญาได้ต่างกันตามศักยภาพของแต่ละกสิณ ดังเช่นอานุภาพของกสิณที่พระพุทธองค์ทรงใช้แสดงอภิญญาครั้งแสดงยมกปาฏิหาริย์เพื่อปราบพวกเดียรถีย์ ครั้งนั้นพระองค์ทรงแสดงท่อเปลวไฟและท่อสายน้ำพุ่งออกจากพระวรกายในส่วนต่าง ๆ สลับกัน เช่น ท่อไฟพุ่งออกทางช่องพระกัณณ์ด้านขวา ท่อน้ำพุ่งออกทางช่องพระกัณณ์ด้านซ้ายสลับกันเช่นนี้ไปตามองคาพยพส่วนต่างๆ การแสดงครั้งนี้ทรงใช้เพียงกสิณไฟ และกสิณน้ำสองอย่างนี้เท่านั้น

    แต่การที่จะทำอภิญญาให้เกิดได้ถึงขั้นนี้ พระอรรถกถาจารย์ กล่าวว่า เป็นงานหนักสำหรับผู้ปฏิบัติเป็นอย่างมาก ถ้าเปรียบเทียบกับผู้ปฏิบัติด้วยกันแล้ว เพียงแค่ผู้ปฏิบัติเพื่อให้เกิดอุคคหนิมิตนั้นก็ยากอยู่แล้ว ต่อจากผู้ที่ทำอุคคหนิมิตได้นั้นจะทำให้เป็นปฏิภาคนิมิตได้นั้นก็ยาก แต่สำหรับผู้มีความมุ่งมั่นจริง และผู้มีบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้วก็ไม่เกินวิสัยที่ท่านจะทำได้

    9. สามารถได้อภิภายตนะ 8 อย่าง คำว่า อภิภายตนะนี้ พวกเรามักจะไม่คุ้นหูกันเท่าที่ควรนัก เพราะไม่ค่อยมีการนำมาอธิบายกัน อภิภายตนะนี้ เป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของจิตที่มีผลมาจากการเพ่งกสิณสีทุกสี คือ กสิณสีแดง สีเขียว สีเหลือง และสีขาว และนอกจากนี้ปฐวีกสิณ (กสิณดิน) ก็อาจทำได้บ้างเล็กน้อย ส่วนกสิณอื่นๆ นอกจากนี้ไม่สามารถทำให้เกิดอภิภายตนะใดๆ ได้เลย

    คำว่า อภิภายตนะ (Special Resistance) นี้ แปลว่า ภูมิคุ้มกันความบกพร่องทางอารมณ์ หรือ ภูมิคุ้มกันพิเศษทางอายตนะ หรือแปลง่ายๆ ว่า สัมผัสพิเศษ คือ มีความรู้สึกพิเศษที่แตกต่างไปจากคนทั่วไปเวลามองในสิ่งเดียวกัน เป็นภูมิคุ้มกันที่ทำให้จิตอยู่เหนืออารมณ์ทั้งปวงได้ โดยอารมณ์ต่างๆ จะไม่สามารถมีอิทธิพลครอบงำจิตของผู้มีอภิภายตนะได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นๆ จะมีลักษณะเช่นใดก็ตาม เพราะสภาวะจิตของผู้ที่ได้อภิภายตนะจะตัดสินอารมณ์ได้ก่อนเสมอ ก่อนที่อารมณ์เหล่านั้นจะมาครอบงำจิตของท่านได้ เช่น เวลาสัมผัสกับอารมณ์ครั้งใด ท่านจะตัดสินอารมณ์ได้อย่างละเอียดชัดแจ้ง แล้วเกิดความรู้สึกขึ้นมาในใจด้วยอาการ 3 ขั้นตอนเสมอว่า เรารู้แล้ว เราเห็นแล้ว เราเข้าใจธรรมชาติของสิ่งนี้แล้ว ก่อนที่ความไม่เข้าใจจะครอบงำจิต ทำให้หลงใหลยึดติดเพลิดเพลินไปตาม

    อภิภายตนะนี้ ตามที่ท่านอธิบายไว้มีทั้งหมด 8 อย่าง แต่อาจสรุปย่อๆ ได้ว่า ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคนธรรมดา หรือ มีผู้ฌานวิเศษก็ตาม ถ้าได้อภิภายตนะแล้ว ในเวลาพบกับอารมณ์ไม่ว่า จะมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ มีความสวยงาม หรือ มีความสกปรก หรือน่าเกลียด ทั้งที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือเห็นด้วยตาทิพย์ก็ตาม จะมีสีสดสวยเป็นทับทิมแดง สีเขียวมรกต สีเหลืองบุษราคัม หรือ สีขาวเป็นเพชร ที่สวยงามเพียงใดก็ตาม เช่น เพชรพลอยต่างๆ ผู้นั้นจะมีความรู้สึกในใจว่า เรารู้แล้ว เรารู้ความจริงของสิ่งนี้แล้ว เราเห็นความเป็นธรรมดาของมันแล้ว ดังนี้ผุดขึ้นมาในความคิด ทำให้ไม่หลงยึดติดกับสิ่งที่เห็นเหล่านั้นได้

    สรุปความว่า อภิภายตนะที่ได้จากการเพ่งกสิณสีนี้ จะทำให้แนวความคิดและทัศนะการมองของผู้ได้มีความชัดเจนขึ้น ไม่เอนเอียงไปในทางใฝ่หาตามความต้องการของกิเลส ทำให้วางใจได้ เพราะรู้และเข้าใจธรรมชาติของมัน

    10. สามารถบรรลุสุภวิโมกข์ได้ ข้อนี้ก็เป็นความสามารถพิเศษเฉพาะกสิณสีเช่นเดียวกับข้ออภิภายตนะ ส่วนกสิณอื่นๆ ไม่สามารถได้อานิสงส์ข้อนี้

    คำว่า สุภวิโมกข์ (Beautifully or Liberation) แปลว่า หลุดพ้นได้ง่ายแม้มองเห็นสิ่งสวยงาม ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เราสามารถสร้างภาพนิมิตของกสิณสีขึ้นมาในใจได้ และเห็นภาพนิมิตเหล่านั้นมีความสวยงามมากกว่าภาพที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่าเป็นหลายร้อยเท่า

    ดังนั้น ถึงแม้สิ่งที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่าซึ่งคนทั่วไปเห็นว่าเป็นของสวยงาม แต่สำหรับผู้ที่ได้นิมิตกสิณที่สวยงามกว่านั้น จะมีความรู้สึกธรรมดา และยังสามารถทำให้บรรลุธรรมได้ด้วย แทนที่จะยึดติดหลงใหลเหมือนคนทั่วไป

    นอกจากนี้ คำว่า สุภวิโมกข์ ยังมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือ ทำให้บรรลุธรรมได้ง่าย (Easily Liberation) อันเป็นผลมาจากอภิภายตนะด้วยเหมือนกัน

    11. สามารถเจริญวิปัสสนาต่อเพื่อบรรลุมรรคผลได้ สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ก็คือข้อนี้ ได้แก่ การนำจิตที่มีศักยภาพเต็มที่แล้วนั้นมาใช้เป็นฐานสำหรับเจริญวิปัสสนาต่อเพื่อให้เข้าใจความจริงของชีวิตและรู้แจ้งแทงตลอดได้ อันจะทำให้สิ้นกิเลสหลุดพ้นจากการผูกมัดของกิเลสทั้งปวง ดำเนินไปสู่ทางที่ถูกต้อง คือ มรรคผล และดับได้อย่างสนิท อันเป็นการสิ้นสุดการเดินทางในวัฏสงสารที่ยาวนาน อันเต็มไปด้วยทุกข์นานาประการนี้ได้อย่างนิรันดร เป็นบรมสุขตลอดกาล

    ในข้อนี้มีผู้ยังไม่เข้าใจได้กล่าวตำหนิว่า สมถกรรมฐานเช่นการเพ่งกสิณนี้ ไม่สามารถทำให้เกิดปัญญาได้ ไม่ควรฝึก แต่ได้ชักชวนว่าควรฝึกวิปัสสนาจะดีกว่าเพราะทำให้สิ้นกิเลสได้ เรื่องนี้ผู้เขียนจะไม่ตอบเอง แต่จะสรุปจากพระไตรปิฎกเล่มที่ 20 ข้อ 43 หน้า 10 มาตอบแทนว่า สมถะกับวิปัสสนาอย่างไหนควรเจริญหรือไม่อย่างไร?

    พระพุทธองค์ตรัสว่า คนที่ยังมีจิตวุ่นวายอยู่ จะทำวิปัสสนาให้เกิดได้นั้นเป็นอฐานะ คำว่า อฐานะ แปลว่า เป็นไปไม่ได้ ท่านเปรียบเหมือนน้ำที่ขุ่น แม้คนที่มีตาดีก็ไม่สามารถมองเห็น กุ้ง หอย ปู ปลา ภายใต้น้ำได้ เพราะน้ำขุ่น ต่อเมื่อเราทำน้ำนั้นให้ใสแล้ว คนที่มีตาดีจึงสามารถมองเห็น กุ้ง หอย ปู ปลา ภายใต้น้ำได้ เพราะน้ำใสแล้ว

    คนที่ยังมีจิตขุ่นมัวด้วยกิเลส ก็จะทำวิปัสสนาให้เห็นแจ้งความจริงไม่ได้เช่นกัน ต่อเมื่อเราทำจิตให้นิ่งสงบผ่องใสด้วยสมถกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจนได้ฌาน และฌานนั้นเป็นตัวข่มกิเลสให้สงบลง จิตใจจะผ่องใส ต่อจากนั้นปัญญาก็จะมีโอกาสผุดขึ้นมาพิจารณาความจริงของโลกและชีวิตได้ และมีโอกาสบรรลุธรรมได้ในที่สุด

    ความจริงเรื่องฌานสมาธิหรือสมถกรรมฐาน ที่จะทำเป็นฐานเพื่อต่อยอดด้วยวิปัสสนานี้ ถ้าจะพูดให้ถูกจริงๆ ต้องพูดว่า ฌาน(สมถะ)ทำให้ออกผลมาเป็นวิปัสสนาจึงจะถูก เพราะว่าฌาน(สมถะ)นี้เป็นเหตุ วิปัสสนาเป็นผล วิปัสสนา(ปัญญาที่เข้าใจความจริง)เกิดได้ก็เพราะจิตได้รับการฝึกมาอย่างบริสุทธิ์แล้วด้วยฌาน(สมถะ)จึงทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา เหมือนเราพูดว่า ปลูกต้นไม้เพื่อให้ต้นไม้นั้นเป็นฐานแล้วค่อยต่อยอดทำให้ผลเกิดทีหลังอย่างนี้ก็ไม่ถูก เพราะต้นไม้เมื่อเจริญเติบโตดีแล้วไม่จำเป็นต้องรอเวลาไปต่อยอดให้ผลเกิดภายหลังก็ได้ เมื่อมีความสมบูรณ์ได้ที่แล้ว มันก็ออกผลของมันขึ้นมาเองได้ไม่ต้องรอเวลาต่อยอด เรื่องนี้ถ้าจะพูดให้ถูกควรพูดว่า ปลูกต้นไม้ให้สมบูรณ์แล้วจะทำให้ออกผลมาได้เอง ดังนี้จึงจะถูก เหมือนกับการพูดเรื่องฌานกับวิปัสสนา

    ดังนั้น การทำสมาธิให้จิตสงบด้วยการเพ่งกสิณ (หรือสมถกรรมฐานอื่น ๆ) จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะขาดไม่ได้ เพราะจิตของคนเรานั้น มีลักษณะที่หยาบกระด้างบังคับได้ยาก คิดไปในเรื่องต่างๆ ได้อยู่ตลอดเวลา เมื่อถูกฝึกให้นิ่งสงบอยู่กับกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งจนบังคับได้แล้ว จิตจะนุ่มนวล (เป็นมุทุกะ - Soft) สามารถบังคับได้ เหมาะที่จะนำไปใช้งานได้ทุกอย่าง (เป็นกัมมนิยะ - Adaptability) เหมือนทหารที่แข็งแรงจากการได้ฝึกมาอย่างโชกโชนแล้ว ก็อาจที่จะสู้รบกับข้าศึกศัตรูได้ทุกรูปแบบเหมือนกัน

    นอกจากปัญหาเรื่องนี้แล้ว ยังมีบางคนกลัวว่า เมื่อเพ่งกสิณแล้วจะไปยึดติดกับนิมิตกสิณจะทำให้เสียสติได้
    เรื่องของนิมิต (Mental Image) นี้ จะต้องเข้าใจไว้ก่อนว่านิมิตที่พูดๆ กันนี้ มีอยู่ 2 ชนิด ด้วยกัน คือ

    1. นิมิตที่เป็นรูปภาพ และความรู้สึกต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้นมาในเวลานั่งสมาธิ และ ความฝันที่ปรากฏให้เห็นในเวลานอนหลับ เหล่านี้ท่านเรียกว่า นิมิต

    2. ภาพนิมิตของกสิณทั้งหมดที่ปรากฏขึ้นมาในใจในเวลาเพ่งกสิณ ท่านก็เรียกว่า นิมิต เช่นเดียวกัน
    นิมิตประเภทแรกนั้น ท่านเรียกว่านิมิตแทรก ที่ปรากฏขึ้นมารบกวนสมาธิ เป็นสิ่งที่จะขจัดทิ้งหรือไม่ต้องสนใจให้มากนัก เหมือนกับความฝันที่ปรากฏขึ้นมารบกวนการนอนหลับ ความจริงแล้วการนอนที่ดีที่สุด คือ การหลับโดยที่ไม่ฝันเลยเหมือนการนอนหลับของพระอรหันต์ เมื่อนอนหลับไม่ฝันจะทำให้ได้พักผ่อนเต็มที่ แต่ถ้าฝันทั้งคืนเวลาตื่นมาตอนเช้าก็จะเกิดอาการเมื่อยล้าเหมือนกับไม่ได้นอนทั้งคืน
    นิมิตประเภทแรกที่แทรกเข้ามารบกวนสมาธินี้ก็เช่นเดียวกัน แต่นิมิตประเภทนี้

    ก็เป็นเครื่องบอกเหตุที่ดีได้อย่างหนึ่งว่า เราได้มีการฝึกจิตก้าวหน้าไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่เราต้องการ เปรียบเหมือนเราอยู่ที่กรุงเทพต้องการเดินทางไปเชียงใหม่ เมื่อออกเดินทางจากกรุงเทพไปแล้วจะพบอยุธยา ชัยนาท นครสวรรค์ ไปตามลำดับ การพบเห็นอยุธยาก็จะเป็นเครื่องบอกเหตุว่า เราออกจากจากกรุงเทพไปไกลเท่าไรแล้ว เหลืออีกเท่าไรจะถึงเชียงใหม่ หรือไปถึงนครสวรรค์ก็จะรู้ไปอีกระดับหนึ่ง แต่ในเรื่องนี้ อาจมีผู้เข้าใจผิดคิดว่านครสวรรค์เป็นเชียงใหม่แล้วหยุดอยู่ที่นครสวรรค์นั้นก็ได้ สำหรับคนที่ไม่รู้

    การพบเห็นนิมิตต่างๆ ในสมาธิก็เช่นเดียวกัน ท่านบอกว่า เป็นนิมิตฝ่ายดี เพราะเป็นเครื่องบอกเหตุถึงความก้าวหน้าของการฝึกจิต ไม่ว่าเราจะฝึกจิตมาด้วยกรรรมฐานใดๆ ก็ตาม นิมิตเหล่านี้จะปรากฏให้เห็นอย่างแน่นอนไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เห็นนิมิตนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า นิมิตเหล่านี้ ท่านเรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส แปลง่ายๆ ว่า นิมิตแทรกเข้ามา ซึ่งบางครั้งอาจทำให้คนที่ไม่เข้าใจนิมิตหลงผิดคิดว่าตนเองบรรลุธรรมแล้วก็มี ถ้าแปลตามรูปศัพท์แล้ว ก็แปลว่า อุปกิเลสของวิปัสสนา หรือสิ่งที่จะมาปิดบังการรู้แจ้ง หรือจะแปลว่า นิมิตที่จะมาทำให้เข้าใจผิดก็ได้

    วิปัสสนูปกิเลสหรือนิมิตแทรกนี้ เรียกตามศัพท์อีกอย่างหนึ่งว่า ธัมมุทธัจจวิคตหิตมานัส แปลให้งงเล่นๆ ว่า ใจที่ถูกชักนำให้เขวด้วยธรรมอุทธ์ แต่ถ้าจะแปลเอาความหมายง่าย ๆ คือ วิธีที่จิตของผู้ปฏิบัติอาจถูกสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาในเวลาทำกรรมฐานชักนำให้ออกนอกลู่นอกทางของการตรัสรู้ได้ เหมือนนครสวรรค์ชักนำให้บางคนเข้าผิดคิดว่าเชียงใหม่

    นิมิตแทรกที่มีผู้เข้าใจผิดบ่อยที่สุด คือ นิมิตโอภาส คือ แสงสว่าง เมื่อเห็นแสงเกิดขึ้นมาในใจ บางคนคิดว่าตนเองบรรลุธรรมแล้วก็มี ซึ่งจริงๆ เป็นเพียงนิมิตโอภาสอย่างหนึ่งในบรรดาวิปัสสนูปกิเลสทั้ง 10 อย่างนั้น ผู้ปฏิบัติจึงไม่ควรดีใจกับสิ่งที่พบเห็นจนกลายเป็นความเข้าใจผิดไป

    ส่วนนิมิตประเภทที่สอง เป็นนิมิตที่สำคัญจะต้องทำให้เกิดขึ้นมาในใจให้ได้นั้น นั่นคือ นิมิตกสิณ เรียกว่าอุคคหนิมิต หรือ ปฏิภาคนิมิตจากกสิณ นิมิตประเภทนี้จะต้องสร้างขึ้นมาในใจเพื่อให้จิตมีที่ยึดเหนี่ยว และเป็นตัววัดคุณภาพจิตไปในตัวด้วย คือ ถ้านิมิตมีความชัดเจนและเป็นสีเดียวกันกับกสิณจริงได้แล้ว แสดงว่า จิตเป็นสมาธิได้ดี นิ่งจนได้ในระดับที่น่าพอใจแล้ว ยิ่งทำได้จนถึงขั้นที่สามารถบังคับได้ด้วยแล้ว ยิ่งแสดงว่า จิตมีความสมบูรณ์เต็มที่ พร้อมที่เกิดปัญญาผุดขึ้นมาในใจพิจารณาความจริงได้ทุกอย่าง และสามารถทำลายกิเลสทั้งปวงให้สูญสิ้นไปจากจิตใจได้ด้วยเช่นกัน

    ดังนั้นนิมิตชนิดใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เสียสติได้ เพราะมันเกิดขึ้นมาเพียงเพื่อเป็นตัวบอกเหตุของสภาวะจิตเท่านั้น ถ้าเข้าใจธรรมชาติความจริงของมันแล้ว ก็จะหมดปัญหาในเรื่องนิมิตนี้ได้...

    http://palungjit.org/threads/อานิสงส์ของการเพ่งกสิณ.85420/

     
  5. apichayo

    apichayo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2011
    โพสต์:
    488
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,936

    กสิณ ๑๐

    กสิณมีทั้งหมด ๑๐ กองด้วยกันคือ

    ๑.ปฐวีกสิณ เพ่งดิน ๖.โลหิตกสิณ เพ่งสีแดง
    ๒.อาโปกสิณ เพ่งน้ำ ๗.ปีตกสิณ เพ่งสีเหลือง
    ๓.เตโชกสิณ เพ่งไฟ ๘.โอทากสิณ เพ่งสีขาว
    ๔.วาโยกสิณ เพ่งลม ๙.โอโลกกสิณ เพ่งแสงสว่าง
    ๕.นีลกสิณ เพ่งสีเขียว ๑๐.อากาสกสิณ เพ่งอากาศ

    อารมณ์ของฌานในกสิณทั้ง ๑๐

    จิตเข้าสู่ระดับฌานเมื่อปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นแล้ว จิตก็เข้าระดับฌาน อารมณ์ของฌานในกสิณทั้ง ๑๐ อย่างนั้นมีอารมณ์ดังนี้ ฌานในกสิณนี้ท่านเรียกฌาน ๔ บ้างฌาน ๕ บ้าง เพื่อเป็นการป้องกันการเข้าใจผิด ขออธิบายฌาน ๔ และฌาน ๕ ให้เข้าใจเสียก่อน

    ฌาน ๔ ท่านเรียกว่า จตุตถฌาน ที่เรียกว่ากสิณทั้งหมดทรงได้ถึงฌาน ๔ ท่านจัดไว้อย่างนี้ สำหรับในที่บางแห่งท่านว่ากสิณทั้งหมดทรงได้ถึงฌาน ๕ ท่านจัดไว้ดังต่อไปนี้

    ๑.ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    ๒.ทุติยฌานมีองค์ ๔ คือละวิตกเสียได้ คงทรง วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    ๓.ตติยฌานมีองค์ ๓ คือละวิตก วิจาร เสียได้ คงทรงปีติ สุข เอกัคคตา
    ๔.จตุตถฌานมีองค์ ๒ คือละวิตก วิจาร ปีติเสียได้ คงทรงสุขกับเอกัคคตา
    ๕.ฌาน ๕ หรือที่เรียกว่าปัญจมฌาน มีองค์เหมือนกัน คือ ละวิตก วิจาร ปีติ สุขเสียได้ คงทรงอยู่ในเอกัคคตา และเพิ่มอุเบกขาเข้ามาอีก ๑

    เมื่อพิจารณาดูแล้วฌาน ๔ กับฌาน ๕ ก็มีสภาพอารมณ์เหมือนกัน ผิดกันนิดหน่อยที่ฌาน ๒ ละองค์เดียว ฌาน ๓ ละ ๒ องค์ ฌาน ๔ ละ ๓ องค์ มาถึงฌาน ๕ ก็มีสภาพเหมือนฌาน ๔ ตามนัยนั่นเอง อารมณ์ฌานมีอาการเหมือนกันในตอนสุดท้าย อารมณ์อย่างนี้ ท่านแยกเรียกเป็นฌาน ๔ หรือฌาน ๕ เพื่ออะไรไม่เข้าใจเหมือนกัน กสิณนี้ถ้าท่านผู้ปฏิบัติทำให้ถึงฌาน ๔ หรือฌาน ๕ ซึ่งมีอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์และอุเบกขารมณ์ไม่ได้ ก็เท่ากับท่านผู้นั้นไม่ได้เจริญในกสิณนั้นเอง เมื่อได้แล้วก็ต้องฝึกการเข้าฌานออกฌานให้คล่องแคล่ว กำหนดเวลาเข้า เวลาออกให้ได้ตามกำหนด จนเกิดความชำนาญ เมื่อออกเมื่อไร ได้ตามใจนึก การเข้าฌานต้องคล่อง ไม่ใช่เนิ่นช้าเสียเวลาแม้แต่ครึ่งนาที พอคิดว่าเราจะเข้าฌานละ ก็เข้าได้ทันที

    ต้องยึดฌาน ๔ หรือฌาน ๕ คือ เอาฌานที่สุดเป็นสำคัญ เมื่อเข้าฌานคล่องแล้ว ต้องฝึกนิรมิตตามอำนาจกสิณให้ได้คล่องแคล่วว่องไว จึงชื่อว่าได้กสิณกองนั้น ๆ ถ้ายังทำไม่ได้ถึงไม่ควรย้ายไปปฏิบัติในกสิณกองอื่น การทำอย่างนั้นแทนที่จะได้ผลเร็วกลับเสียผล คือของเก่าไม่ทันได้ ทำใหม่ เก่าก็หาย ใหม่ก็ไม่ปรากฏผล ถ้าชำนาญช่ำชองคล่องแคล่วในการนิรมิต อธิษฐาน แล้วเพียงกองเดียว กองอื่นทำไม่ยากเลย เพราะอารมณ์ในการฝึกเหมือนกัน ต่างกันแต่สีเท่านั้น จะเสียเวลาฝึกกองต่อๆไปไม่เกินกองละ ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน เป็นอย่างสูง จะนิรมิตอธิษฐานได้สมตามที่ตั้งใจของนักปฏิบัติ จงอย่าใจร้อน พยายามฝึกฝน จนกว่าจะได้ผลสูงสุดเสียก่อน จึงค่อยย้ายกองต่อไป

    องค์ฌานในกสิณทั้ง ๑๐ กอง

    ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ วิตก มีอารมณ์จับอยู่ที่ปฏิภาคนิมิต กำหนดจิตจับภาพปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นอารมณ์ วิจาร พิจารณาปฏิภาคนิมิตนั้น คือพิจารณาว่า รูปปฏิภาคนิมิตสวยสดงดงาม คล้ายแว่นแก้วที่มีคนชำระสิ่งเปรอะเปื้อนหมดไป เหลือไว้แต่ดวงแก้วที่บริสุทธิ์สะอาดปราศจากธุลีต่างๆ มีประเภท ๕ คือ

    ๑.ขุททกาปีติ มีอาการขนพองสยองเกล้าและน้ำตาไหล
    ๒.ขณิกาปีติ มีแสงสว่างเข้าตาคล้ายแสงฟ้าแลบ
    ๓.โอกกันติกาปีติ มีอาการร่างกายกระเพื่อมโยกโคลง คล้ายเรือที่ถูกคลื่นซัด บางท่านก็นั่งโยกไปโยกมา อย่างนี้เรียกโอกกันติกาปีติ
    ๔.อุพเพงคาปีติ มีกายลอยขึ้นเหนือพื้น บางรายก็ลอยไปได้ไกลหลายๆกิโลก็มี
    ๕.ผรณาปีติ อาการเย็นซ่าซาบทั้งร่างกาย และมีอาการคล้ายกับร่างกายใหญ่สูงขึ้นกว่าปกติสุข มีอารมณ์เป็นสุขเยือกเย็น ในขณะที่พิจารณาปฏิภาคนิมิต

    เอกัคคตา มีจิตเป็นอารมณ์เดียว คือมีอารมณ์จับอยู่ในปฏิภาคนิมิตเป็นปกติไม่สอดส่ายอารมณ์ออกนอกจากปฏิภาคนิมิต ทั้ง ๕ อย่าง นี้ เป็นปฐมฌาน มีอารมณ์เหมือนกับฌานในกรรมฐานอื่นๆ แปลกแต่กสิณมีอารมณ์ยึดนิมิตเป็นอารมณ์ ไม่ปล่อยอารมณ์ให้พลาดจากนิมิต จนจิตเข้าสู่จตุตถฌาน หรือปัญจมฌาน

    ทุติยฌานมีองค์ ๓ คือตอนนี้จะเว้นจากการภาวนาไปเอง การกำหนดพิจารณารูปกสิณจะยุติลง คงเหลือแต่ความสดขื่นด้วยอำนาจปีติอารมณ์สงัดมาก ภาพปฏิภาคนิมิตจะสดสวยงามวิจิตรตระการตามากกว่าเดิม มีอารมณ์จิตแนบสนิทเป็นสมาธิมากกว่า

    ตติยฌาน มีองค์ ๒ คือ ตัดความสดชื่นทางกายออกเสียได้ เหลือแต่ความสุขแบบเครียดๆ คือมีอารมณ์ดิ่งแห่งจิต คล้ายใครเอาเชือกมามัดไว้มิให้เคลื่อนไหว ลมหายใจอ่อนระรวยน้อยเต็มที ภาพนิมิตดูงามสง่าราศีละเอียดละมุนละไม มีรัศมีผ่องในเกินกว่าที่ประสบมา อารมณ์ของจิตไม่สนในกับอาการทางกายเลย

    จตุตถฌาน ทรงไว้เพียงเอกัคคตา กับอุเบกขา คือมีอารมณ์ดิ่ง ไม่มีอารมณ์รับความสุขและความทุกข์ใดๆ ไม่รู้สึกในเวทนาทั้งสิ้น มีอุเบกขาวางเฉย ต่ออารมณ์ทั้งมวลมีจิตสว่างโพลง คล้ายใครเอาประทีปที่สว่างมากหลายๆดวงตั้งไว้ในที่ใกล้ ไม่มีอารมณ์รับแม้แต่เสียง ลมหายใจสงัด รูปกสิณเห็นชัดคล้ายดาวประกายพรึก ฌานที่ ๔ เป็นฌานสำคัญชั้นยอด ควรกำหนดรู้แบบง่ายๆไว้ว่าเมื่อมีอารมณ์จิตถึงฌาน ๔ จะไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจ ควรกำหนดไว้ง่ายๆ แบบนี้สะดวกดี

    ท่านทำได้ถึงระดับนี้ ก็ชื่อว่าจบกิจในกสิณ ไม่ว่ากองใดก็ตาม จุดจบกสิณต้องถึงฌาน ๔ และนิมิตอะไรต่ออะไรตามอำนาจกสิณ ถ้าทำไม่ถึงกับนิมิตได้ตามอำนาจกสิณ ก็เป็นเสมือนท่านยังไม่ได้กสิณเลย


    ๑. ปฐวีกสิณ

    กสิณนี้ ท่านเรียกว่า ปฐวีกสิณ เพราะมีการเพ่งดินเป็นอารมณ์ ศัพท์ว่า "ปฐวี" แปลว่า "ดิน" กสิณแปลว่า "เพ่ง" รวมความแล้วได้ว่า "เพ่งดิน"
    อุปกรณ์กสิณ ปฐวีกสิณนี้ มีดินเป็นอุปการณ์ในการเพ่ง จะเพ่งดินที่เป็นพื้นลานดิน ที่ทำให้เตียนสะอาดจากผงธุลี หรือจะทำเป็นสะดึงยกไปมา ได้ก็ใช้ได้ทั้งสองอย่าง ดินที่จะเอามาทำเป็นดวงกสิณนั้น ท่านให้ใช้ดินสีอรุณอย่างเดียว ห้ามเอาดินสีอื่นมาปน ถ้าจำเป็นหาดินสีอรุณไม่ได้มาก ท่านให้เอาดินสีอื่นรองไว้ข้างล่างแล้วเอาดินสีอรุณทาทับไว้ข้างบน ดินสีอรุณนี้ ท่านโบราณาจารย์ท่านว่าหาได้จากดินขุยปุย เพราะปูขุดเอาดินสีอรุณขึ้นไว้ปากช่องรูที่อาศัย เมื่อหาดินได้ครบแล้ว ต้องทำสะดึงตามขนาดดังนี้ ถ้าทำเป็นลายติดพื้นดิน ก็มีขนาดเท่ากัน

    ขนาดดวงกสิณ วงกสิณที่ทำเป็นวงกลมสำหรับเพ่ง อย่างใหญ่ท่านให้ทำไม่เกินเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ คืบ ๔ นิ้ว อย่างเล็กไม่เล็กกว่าขอบขัน ระยะนั่งเพ่งบริกรรม ท่านให้นั่งไม่ใกล้ไม่ไกลกว่า ๒ คืบ ๔ นิ้ว ตั่งที่รองวงกสิณ ท่านให้สูงไม่เกิน ๒ คืบ ๔นิ้ว ท่านว่าเป็นระยะที่พอเหมาะพอดี เพราะจะได้ไม่มองเห็นรอยที่ปรากฏบนดวงกสิณ ที่ท่านจัดว่าเป็นกสิณโทษ เวลาเพ่งกำหนดจดจำ ท่านให้มุ่งจำแต่สีดิน ท่านไม่ให้คำนึงถึงของและริ้วรอยต่าง ๆ

    กิจก่อนการเพ่งกสิณเมื่อจัดเตรียมอุปการณ์เรียบร้อยแล้ว ท่านให้ชำระร่างกายให้สะอาดแล้วนั่งขัดสมาธิที่ตั่งสำหลับนั่ง หลับตาพิจารณาโทษ ของกามคุณ ๕ ประการตามนัยที่กล่าวไว้ในอสุภกรรมฐาน ต้องการทราบละเอียด โปรดดูที่บทว่าด้วยอสุภกรรมฐานจะทราบละเอียด เมื่อพิจารณาโทษของกามคุณจนจิตสงบจากนิวรณ์แล้ว ให้ลืมตาขึ้นจ้องมองภาพกสิณ จดจำให้ดีจนคิดว่าจำได้ ก็หลับตาใหม่ กำหนดภาพกสิณไว้ ในใจภาวนาเป็นเครื่องผูกใจไว้ว่า "ปฐวีกสิณ" เมื่อเห็นว่าภาพกสิณเลือนไปก็ลืมตาดูใหม่ เมื่อจำได้แล้วก็หลับตาภาวนากำหนดจดจำภาพนั้นต่อไป

    ทำอย่างนี้บ่อยๆ หลายร้อยหลายพันครั้งได้ ไม่จำกัด จนกว่าอารมณ์ของใจจะจดจำภาพกสิณไว้ได้เป็นอย่างดี จะเพ่งมองดูหรือไม่ก็ตาม ภาพกสิณนั้น ก็จะติดตาติดใจ นึกเห็นภาพกสิณได้ชัดเจนทุกขณะที่ปรารถนา จะเห็นติดตาติดใจตลอดเวลาอย่างนี้ ท่านเรียกว่า "อุคคหนิมิต " แปลว่านิมิตติดตา อุคคหนิมิตนี้ ท่านว่ายังมีกสิณโทษอยู่มาก คือภาพที่เห็นเป็นภาพดินตามที่ทำไว้และขอบวงกลมของสะดึงย่อมปรากฏริ้วรอยต่างๆ เมื่อเข้าถึงอุคคหนิมิตแล้วท่านให้เร่งระมัดระวังรักษาอารมณ์สมาธิและนิมิตนั้นไว้ จนกว่าจะได้ปฏิภาคนิมิต ปฏิภาคนิมิตนั้น รูปและสีของกสิณเปลี่ยนจากเดิม คือกสิณทำเป็นวงกลมด้วยดินแดงนั้น จะกลายเป็นเสมือนแว่นแก้ว มีสีใสสะอาดผ่องใสคล้ายน้ำที่กลิ้งอยู่ในใบบัว

    ฉะนั้น รูปนั้นบางท่านกล่าวว่า คล้ายดวงจันทร์ที่ปราศจากเมฆหมอกปิดบัง เอากันง่ายๆ ก็คือ เหมือนแก้วที่สะอาดนั่นเอง รูปคล้ายแว่นแก้ว จะกำหนดจิตให้เล็กโตสูงต่ำ ได้ตามความประสงค์ อย่างนี้ ท่านเรียกปฏิภาคนิมิต เมื่อถึงปฏิภาคนิมิตแล้วท่านให้นักปฏิบัติเก็บตัว อย่ามั่วสุมกับนักคุยทั้งหลาย จงรักษาอารมณ์กายใจให้อยู่ในขอบเขตของสมาธิเป็นอันดี อย่าใส่ใจอารมณ์ของนิวรณ์แม้แต่น้อยหนึ่ง เพราะแม้นิดเดียวของนิวรณ์ อาจทำอารมณ์สมาธิที่กำลังจะเข้าสู่ระดับฌานนี้สลายตัวได้โดยฉับพลัน ขอท่านนักปฏิบัติจงระมัดระวังอารมณ์ รักษาปฏิภาคนิมิตไว้ คล้ายกับระมัดระวัง บุตรสุดที่รัก ที่เกิดในวันนั้น

    ๒. อาโปกสิณ

    อาโปกสิณ "อาโป" แปลว่า "น้ำ" กสิณแปลว่า "เพ่ง" อาโปกสิณแปลว่า "เพ่งน้ำ" กสิณน้ำมีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้ ท่านให้เอาน้ำที่สะอาด ถ้าได้น้ำฝนยิ่งดี ถ้าหาน้ำฝนไม่ได้ท่านให้เอาน้ำที่ใส แกว่งสารส้มก็ได้ อย่าเอาน้ำขุ่น หรือสีต่างๆมา ท่านให้ใส่น้ำในภาชนะเท่าที่จะหาได้ ใส่ให้เต็มพอดี อย่าให้พร่อง การนั่ง หรือเพ่งมีอาการอย่างเดียวกับปฐวีกสิณจนกว่าจะเกิดอุคคหนิมิต อุคคหนิมิตของอาโปกสิณนี้ปรากฏเหมือนน้ำไหวกระเพื่อม สำหรับปฏิภาคนิมิตปรากฏเหมือนพัดใบตาลแก้วมณี คือใสมีประกายระยิบระยับ เมื่อถึงปฏิภาคนิมิตแล้วจงเจริญต่อไปให้ถึงจตุตถฌาน บทภาวนา ภาวนาว่า อาโปกสิณัง

    ๓. เตโชกสิณ

    เตโชกสิณ แปลว่า "ไฟ" กสิณ "เพ่งไฟ" เป็นอารมณ์ กสิณนี้ท่านให้ทำดังต่อไปนี้ ท่านให้จุดไฟให้ไฟลุกโชนแล้วเอาเสื่อหรือหนังมาเจาะทำเป็นช่องกว้าง ๑ คืบ ๔ นิ้ว แล้ววางเสื่อหรือหนังนั้นไว้ข้างหน้า ให้เพ่งพิจารณาไปตามช่องนั้น การนั่งสูง หรือระยะไกลใกล้ เหมือนกันกับปฐวีกสิณ การเพ่ง อย่าเพ่งเปลวไฟที่ไหวไปมา ให้เลือกเพ่งแต่ไฟที่มีแสงหนาทึบที่ปรากฎตามช่องนั้นเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า เตโชกสิณัง ๆ ๆ ๆ ๆ หลายๆ ร้อยพันครั้งจนกว่านิมิตจะเป็นอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตปรากฏเป็นดวงเพลิงตามปกติ สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้นมีรูปคล้ายผ้าแดงผืนหนา หรือคล้ายกับพัดใบตาลที่ทำด้วยทองหรือเสาทองคำที่ตั้งอยู่ในอากาศ เมื่อได้ปฏิภาคนิมิตแล้วท่านจงพยายามทำให้ถึงจตุตถฌานเถิด ผลที่ตั้งใจไว้จะได้รับสมความปรารถนา

    ๔. วาโยกสิณ

    วาโยกสิณ แปลว่า "เพ่งลม" การถือเอาลมเป็นนิมิตนั้น ท่านกล่าวว่าจะถือเอาด้วยการเห็น หรือจะถือเอาด้วยการกระทบก็ได้ การกำหนดถือเอาด้วยการเห็น ท่านให้ถือเอาการที่ลมพัดถูกต้องปลายหญ้าหรือปลายไม้เป็นอารมณ์เพ่งพิจารณา
    การถือด้วยการถูกต้อง ท่านให้ถือเอาการที่ลมพัดมากระทบตัวเป็นอารมณ์ สมัยนี้ การถือเอาลมกระทบ จะให้พัดลมเป่าแทนลมพัด หรือถือเอาการเห็นต้นหญ้าต้นไม้ที่ไหวเพราะลมพัด จะใช้ลมเป่าให้ไหวแทนลมธรรมชาติก็ได้ เมื่อเพ่งพิจารณาอยู่ให้ภาวนาว่า วาโยกสิณัง ๆ ๆ ๆ

    อุคคหนิมิตของวาโยกสิณนี้ ปรากฏว่ามีการไหว ๆ คล้ายกับกระไอแห่งการหุงต้มที่มีไอปรากฏมากระทบจักษุ พูดให้ชัดเข้าก็คือ มีปรากฏการณ์คล้ายตามองเห็นไอน้ำที่ต้มเดือดแล้วนั้นเอง มีอาการปรากฎขึ้นอย่างนั้น
    สำหรับปฏิภาคนิมิต มีอาการปรากฏภาพเหมือนไอน้ำที่ลอยขึ้น แต่ไม่เคลื่อนไหวหรือคล้ายกับก้อนเมฆบางที่ลอยอยู่คงที่นั้นเอง อาการอื่นนอกนี้เหมือนปฐวีกสิณ

    ๕. นิลกสิณ

    นิลกสิณ แปลว่า "เพ่งสีเขียว" ท่านให้ทำสะดึงขึงด้วยผ้าหรือหนังกระดาษก็ได้แล้วเอาสีเขียวทา หรือจะเพ่งพิจารณาสีเขียวจากใบไม้ก็ได้ ทำเช่นเดียวกับปฐวีกสิณ
    อุคคหนิมิต เมื่อเพ่งภาวนาว่า นีลกสิณัง ๆ ๆ ๆ อุคคหนิมิตนั้นปรากฏเป็นรูปที่เพ่งนั่นเอง

    ๖. ปีตกสิณ

    ปีตกสิณ แปลว่า "เพ่งสีเหลือง" การปฏิบัติทุกอย่างเหมือนนีลกสิณ แต่อุคคหนิมิตเป็นสีเหลือง ปฏิภาคนิมิตเหมือนนีลกสิณ นอกนั้นเหมือนกันหมด บทภาวนา ภาวนาว่าเป็นปีตกสิณัง ๆ ๆ

    ๗. โลหิตกสิณ

    โลหิตกสิณ แปลว่า ไเพ่งสีแดง" บทภาวนา ภาวนาว่าโลหิตกสิณัง ๆ ๆ ๆ นิมิตที่จัดหามาเพ่ง จะเพ่งดอกไม้สีแดงหรือ เอาสีแดงมาทาทับกับสะดึงก็ได้ อุคคหนิมิตเป็นสีแดง ปฏิภาคนิมิตเหมือนนีลกสิณ

    ๘. โอทากสิณ

    โอทากสิณ แปลว่า "เพ่งสีขาว" บทภาวนา ภาวนาว่า โอทาตกสิณัง ๆ ๆ ๆ สีขาวที่จะเอามาเพ่งนั้น จะหาจากดอกไม้หรืออย่างอื่นก็ได้ ตามแต่จะสะดวก หรือจะทำเป็นสะดึงก็ได้นิมิต ทั้งอุคคหะและปฏิภาคก็เหมือนนีลกสิณ เว้นไว้แต่อุคคหะเป็นสีขาวเท่านั้นเอง

    ๙. อาโลกสิณ

    อาโลกสิณ แปลว่า "เพ่งแสงสว่าง" ท่านให้หาแสงสว่างที่ลอดมาตามช่องฝาหรือช่องหลังคา หรือเจาะเสื่อลำแพน หรือหนังให้เป็นช่องเท่า ๑ คืบ ๔ นิ้ว ตามที่กล่าวในปฐวีกสิณ แล้วภาวนาว่า อาโลกสิณัง ๆ ๆ ๆอย่างนี้ จนอุคคหนิมิตปรากฏ อุคคหนิมิตของอาโลกสิณเป็นเสงสว่าง ที่เหมือนรูปเดิมที่เพ่งอยู่ ปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏเป็นเสงสว่างหนาทึบ เหมือนกับเอาแสงสว่างมากองรวมกันไว้ที่นั่นแล้ว ต่อไปขอให้นักปฏิบัติ จงพยายามทำให้เข้าถึงจคคุถฌาน เพราะข้อความที่จะกล่าวต่อไปก็เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วในปฐวีกสิณ

    ๑๐. อากาศกสิณ

    อากาสกสิณแปลว่า "เพ่งอากาศ" อากาสกสิณนี้ ภาวนาว่า อากาสกสิณัง ๆ ๆ ท่านให้ทำเหมือนในอาโลกกสิณคือ เจาะช่องฝาเสื่อหรือหนัง หรือ มองอากาศ คือความว่างเปล่าที่ลอดมาตามช่องฝา หรือหลังคา หรือตามช่องเสื่อหรือผืนหนัง โดยกำหนดว่า อากาศ ๆ จนเกิดอุคคหนิมิต ซึ่งปรากฏเป็นช่องตามรูปที่กำหนด ปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏคล้ายอุคคหนิมิต แต่มีพิเศษที่บังคับให้ขยายออกให้ใหญ่เล็ก สูงต่ำได้ตามความประสงค์ อธิบายอื่นก็เหมือนกสิณอื่น


    อานุภาพกสิณ ๑๐

    กสิณ ๑๐ ประการนี้ เป็นปัจจัยให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ตามนัยที่กล่าวมาแล้ว เมื่อบำเพ็ญปฏิบัติในกสิณกองใดกองหนึ่ง สำเร็จถึงจคคุถฌานแล้ว ก็ควรฝึกตามอำนาจที่กสิณกองนั้นมีอยู่ให้ชำนาญ ถ้าท่านปฏิบัติถึงฌาน ๔ แล้ว แต่มิได้ฝึกอธิษฐานต่างๆตามแบบ ท่านว่าผู้นั้นยังไม่จัดว่าเป็นผู้เข้าฌานถึงกสิณ อำนาจฤทธิ์ในกสิณต่างๆมีดังนี้

    ปฐวีกสิณ มีฤทธิ์ดังนี้ เช่น นิรมิตคนๆเดียวให้เป็นคนมากได้ ให้คนมากเป็นคนๆเดียวได้ ทำน้ำและอากาศให้แข็งได้

    อาโปกสิณ สามารถนิรมิตของแข็งให้อ่อนได้ เช่น อธิษฐานสถานที่เป็นดินหรือหรือหินที่กันดารน้ำให้เกิดบ่อน้ำ อธิษฐานหินดินเหล็กให้อ่อน อธิษฐานในสถานที่ฝนแล้งให้เกิดฝนอย่างนี้เป็นต้น

    เตโชกสิณ อธิษฐานให้เกิดเป็นเพลิงเผาผลาญหรือให้เกิดแสงสว่างได้ ทำแสงสว่างให้เกิดแก่จักษุญาณ สามารถเห็นภาพต่างๆในที่ไกลได้คล้ายตาทิพย์ ทำให้เกิดความร้อนในที่ทุกสถานได้

    วาโยกสิณ อธิษฐานจิตให้ตัวลอยตามลม หรืออธิษฐานให้ตัวเบา เหาะไปในอากาศก็ได้ สถานที่ใดไม่มีลมอธิษฐานให้มีลมได้

    นีลกสิณ สามารถทำให้เกิดสีเขียว หรือทำสถานที่สว่างให้มืดครึ้มได้

    ปีตกสิณ สามารถนิรมิตสีเหลืองหรือสีทองให้เกิดได้

    โลหิตกสิณ สามารถนิรมิตสีแดงให้เกิดได้ตามความประสงค์

    โอทากสิณ สามารถนิรมิตสีขาวให้ปรากฏ และทำให้เกิดแสงสว่างได้ เป็นกรรมฐาน ที่อำนวยประโยชน์ในทิพยจักษุญาณ เช่นเดียวกับเตโชกสิณ

    อาโลกสิณ นิรมิตรูปให้มีรัศมีสว่างไสวได้ ทำที่มืดให้เกิดแสงสว่างได้ เป็นกรรมฐานสร้างทิพยจักษุญาณโดยตรง

    อากาสกสิณ สามารถอธิษฐานจิตให้เห็นของที่ปกปิดไว้ได้ เหมือนของนั้นวางอยู่ในที่แจ้ง สถานที่ใดเป็นอับด้วยอากาศ สามารถอธิษฐานให้เกิดความโปร่งมีอากาศสมบรูณ์เพียงพอแก่ความต้องการได้

    วิธีอธิษฐานฤทธิ์

    วิธีอธิษฐานจิตที่จะให้เกิดผลตามฤทธิ์ที่ต้องการ ท่านให้ทำดังต่อไปนี้ ท่านให้เข้าฌาน ๔ ก่อนแล้วออกจากฌาน ๔ แล้วอธิษฐานจิตในสิ่งที่ตนต้องการจะให้เป็นอย่างนั้นแล้วกลับเข้าฌาน ๔ อีก ออกจากฌาน ๔ แล้วอธิษฐานจิตทับลงไปอีกครั้ง สิ่งที่ต้องการจะปรากฏสมความปรารถนา

    (จากหนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน พิมพ์โดย โฮมเพจศรัทธาธรรม)


    แนะกสิณร่วมวิปัสสนาญาณ

    ท่านผู้ฝึกกสิณ ถ้าประสงค์จะให้ได้อภิญญาหก ก็เจริญไปจนกว่าจะชำนาญทั้ง ๑๐ กอง ถ้าท่านประสงค์ให้ได้รับผลพิเศษเพียงวิชชาสาม ก็เจริญเฉพาะอาโลกกสิณ หรือเตโชกสิณ หรือโอทาตกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วฝึกทิพยจักษุญาณ แต่ท่านที่มีความประสงค์จะเร่งรัดให้เข้าสู่พระนิพพานเร็วๆ ไม่มีความประสงค์จะได้ญาณพิเศษเพราะเกรงจะล่าช้าหรืออัชฌาสัยไม่ ปรารถนารู้อะไรจุกจิก ชอบลัดตัดทางเพื่อถึงจุดหมายปลายทางขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

    ๑. สักกายทิฏฐิ เห็นตรงข้ามกับอารมณ์นี้ที่เห็นว่า ร่างกายคือขันธ์ ๕ เป็นเรา เป็นของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเราเสียได้ โดยเห็นว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา เพราะถ้าขันธ์ ๕ มีในเรา เรามีในขันธ์ ๕ หรือขันธ์ ๕ เป็นเรา เราเป็นขันธ์ ๕ จริงแล้ว ในเมื่อเราไม่ต้องการความทุกข์อันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บและการเปลี่ยนแปลง ขันธ์ ๕ ก็ต้องไม่มีการป่วยไข้และเปลี่ยนแปลง เราไม่ต้องการให้ขันธ์ ๕ สลายตัว ขันธ์ ๕ ถ้าเป็นของเราจริงก็ต้องดำรงอยู่ ไม่สลายตัว แต่นี่หาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับเต็มไปด้วยความทุกข์ เปลี่ยนแปลงไม่หยุดยั้ง ทั้ง ๆ ที่เราไม่ต้องการ และพยายามเหนี่ยวรั้งด้วยวิธีการต่างๆ ขันธ์ ๕ ก็มิได้เป็นไปตามความปรารถนา ในที่สุดก็สลายตัวจนได้ เพราะขันธ์ ๕ เป็นสมบัติของกฎธรรมดา กฎธรรมดาต้องการให้เป็นอย่างนั้น ไม่มีใคร
    มีอำนาจเหนือกฎธรรมดา ฝ่าฝืนกฎธรรมดาไม่ได้

    เมื่อจิตยอมรับนับถือกฎธรรมดา ไม่หวั่นไหวในเมื่อร่างกายได้รับทุกข์เพราะป่วยไข้ หรือเพราะการงานหนักและอาการเกิดขึ้นเพราะเหตุเกินวิสัย อารมณ์ใจยอมรับนับถือว่า ธรรมดาของผู้ที่เกิดมาในโลกที่หาความแน่นอนไม่ได้ โลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขจริงจังมิได้ ที่เห็นว่าเป็นสุขจากภาวะของโลก ก็เป็นความสุขที่มีผีสิง คือสุขไม่จริง เป็นความสุขอันเกิดจากเหยื่อล่อของความทุกข์ พอพบความสุขความทุกข์ก็ติดตามมาทันที เช่น มีความสุขจากการได้ทรัพย์ พร้อมกันนั้นความทุกข์เพราะการมีทรัพย์ก็เกิด เพราะทรัพย์ที่หามาได้นั้นจะมีชีวิตหรือไม่ก็ตาม เมื่อได้มาแล้ว ก็ต้องมีทุกข์ทันทีด้วยการคอยระวังรักษาไม่ให้สูญหายหรือทำลาย เมื่อทรัพย์นั้นเริ่มค่อย ๆ สลายตัวหรือสูญหายทำลายไป ทุกข์เกิดหนักขึ้นเพราะมีความ เสียดายในทรัพย์ แม้แต่ตัวเองก็แบกทุกข์เสียบรรยายไม่ไหว จะเอาอะไรมาเป็นเครื่องบำรุงความสุขได้จริงจัง ไม่ว่าอะไรก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของกฎธรรมดาสิ้น

    จิตเมื่อเห็นอย่างนี้ ความสงบระงับจากความหวั่นไหวของการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น เป็นจิตที่ประกอบไปด้วยเหตุผล ไม่มีน้ำตาไหล ในเมื่อได้ข่าวญาติหรือคนที่รักตาย ไม่หนักใจเมื่อความตายกำลัง คืบคลานมาหาตน และพร้อมเสมอที่จะรอรับความตายที่จะเกิดแก่ตน ตามกฎของธรรมดา รู้อยู่ คิดอยู่ถึงความตายเป็นปกติ ยิ้มต่อความทุกข์และความตายอย่างไม่มีอะไรหนักใจ จิตมีอารมณ์อย่างนี้ ท่านเรียกว่า ละสักกายทิฏฐิได้แล้ว ได้คุณสมบัติของพระโสดาบันไว้ได้หนึ่งอย่าง

    ๒. วิจิกิจฉา ละความสงสัยในมรรคผลเสียได้ โดยมีสัทธาเกิดขึ้นเที่ยงแท้มั่นคงว่าผลของการปฏิบัตินี้มีผลที่จะพ้นจากวัฏทุกข์ได้จริง

    ๓. สีลัพพตปรามาส ถือศีล ๕ อย่างเคร่งครัด ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด ไม่ยอมให้ศีลบกพร่อง เมื่อมีคุณสมบัติครบสามประการดังนี้ ท่านก็เป็นพระโสดาบันแล้ว ไม่ต้องรอให้ใครบอก และออกใบประกาศโฆษณา
    องค์ของพระโสดาบัน

    เพื่อสะดวกแก่การพิจารณาตัวเอง ขอบอกองค์ของพระโสดาบันไว้ เพราะรู้ไว้เป็นคู่มือพิจารณาตัวเอง
    ๑. รักษาศีล ๕ เป็นปกติ ไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อยตลอดชีวิต
    ๒. เคารพพระรัตนตรัยอย่างเคร่งครัด ไม่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย แม้แต่จะพูดเล่นๆ ก็ไม่พูด
    ๓. มีอารมณ์รักใคร่ในพระนิพพานเป็นปกติ ไม่มีความปรารถนาอย่างอื่นนอกจากพระนิพพาน

    พระโสดาบันตามปกติมีอารมณ์สามประการดังกล่าวมานี้ ถ้าท่านได้ ท่านเป็นพระโสดา ท่านก็จะเห็นว่าอาการที่กล่าวมานี้เป็นความรู้สึกธรรมดาไม่หนัก แต่ถ้าอารมณ์อะไรตอนใดในสามอย่างนี้ยังมีความหนักอยู่บ้าง ก็อย่าเพ่อคิดว่าท่านเป็นพระโสดาบันเสียก่อน
    สำเร็จ จะเป็นผลร้ายแก่ตัวท่านเอง ต้องได้จริงถึงจริง แม้ได้แล้วถึงแล้ว ก็ควรก้าวต่อไปอย่าหยุดยั้งเพียงนี้ เพราะมรรคผลเบื้องสูงยังมีต่อไปอีก ...

    http://www.horasaadrevision.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=96388&Ntype=6
     

แชร์หน้านี้

Loading...