“ชีวิตนี้สำคัญนัก”

ในห้อง 'บุญ-อานิสงส์การทำบุญ' ตั้งกระทู้โดย ไม้ขีด, 22 ธันวาคม 2012.

  1. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ปรากฏว่าหลานสะใภ้ผู้นั้นตั้งครรภ์ได้สามเดือนแล้วแท้งไป เรื่องนี้เล่าไว้เพื่อเป็นเครื่องพิจารณาว่าจะต้องมีผู้ไปเกิด (ซึ่งอาจจะเตรียมไปเกิดใหม่ตั้งแต่ยังไม่ตายจากชาตินี้)
    ความเชื่อของคนในโลกนี้ว่าตายเกิดน่าจะมากกว่าตายสูญมากนัก และเมื่อเชื่อว่าตายเกิดจึงมีคติความเชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องเกิดอีกมาก เช่น ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันระหว่างบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปจนถึงกลุ่มใหญ่ ในอดีตชาติซึ่งให้เกิดผลสืบมาถึงปัจจุบันชาติ และความเชื่อว่ามีสิ่งหรือเครื่องกำหนดให้เกิดมาเพื่อทำหน้าที่อย่างหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งก็เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากอดีตนั้นเอง
    แม้ความเชื่อในเรื่องอวตารก็แสดงว่ามีอดีต คำว่า อวตาร ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำแปลว่า “การลงมาเกิด การแบ่งภาคมาเกิด” ตามคำแปลหลังแสดงว่าไม่ได้มาทั้งหมด แต่แบ่งภาค คือแบ่งส่วนใดส่วนหนึ่งมาเกิด คือยังมี ตัวเดิม อยู่ในที่ของตน สมมติว่าสวรรค์ชั้นหนึ่ง ส่วนที่มาเกิดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของตัวเดิม เมื่อสิ้นวาระในโลกนี้แล้วก็กลับไปรวมเข้ากับตัวเดิม จะแปลความอย่างนี้ หรือจะแปลความว่า แบ่งภาคก็คือแบ่งภาค (ส่วน) ของเวลามาเกิด หมายความว่าเวลาของตนในที่นั้น สมมติว่าสวรรค์ชั้นหนึ่งนั้นยังไม่หมด ยังจะอยู่ต่อไปอีกนาน หรืออยู่ไปเป็นนิรันดรตามความเชื่อของบางลัทธิ เช่น พระนารายณ์ของฮินดู แต่แบ่งเวลาส่วนหนึ่งลงมาเกิดในมนุษย์ โดยตัวเดิมนั่นแหละลงมาเกิด ไม่ใช่แบ่งตัวเล็กตัวน้อยลงมา เมื่อทำธุระเสร็จแล้ว ตัวเดิมก็กลับไปยังที่ของตน คำว่าแบ่งภาคจึงยังมีปัญหา จนกว่าจะมีผู้รู้มาแสดงให้เชื่อว่าอย่างไรแน่
    คัมภีร์พระพุทธศาสนาแสดงเรื่องนี้ไว้อย่างไร ถ้าจะให้ตอบตามคัมภีร์ ก็ควรจะกล่าวก่อนว่า คัมภีร์ต่างๆ แต่งกันหลายยุคหลายสมัย ปรากฏว่ามีคติความเชื่อต่างๆ แทรกเข้ามาเป็นอันมาก แต่ก็ยังไม่พบเรื่องแบ่งภาคมาเกิด
    เรื่องทำนองแบ่งภาค เวลา มีอยู่เรื่องหนึ่งในอรถกถาธรรมบท ถึงดังนั้นก็ไม่ทิ้งหลักกรรมและตั้งความปรารถนา นิทานธรรมบทนั้นมีความย่อว่า เทพธิดาองค์หนึ่งกำลังชมสวนกับเทพบุตรผู้สามีกับหมู่เทพธิดาทั้งปวง จุติลงมาเกิดเป็นนางมนุษย์ในขณะนั้น ระลึกชาติได้ จึงตั้งความปรารถนาไปเกิดอยู่กับสามีตามเดิม และได้ทำบุญกุศลต่างๆ ถึงแก่กรรมแล้วก็ไปเกิดในสวนสวรรค์นั้นอีก ขณะที่ไปเกิดนั้น หมู่เทพก็ยังชมสวนกันอยู่ แสดงว่าเวลานานหลายสิบปีในมนุษย์เท่ากับครู่หนึ่งของสวรรค์ เรื่องนี้เข้าทำนองแบ่งภาคแห่งเวลามาเกิดอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็กล่าวว่าได้อธิษฐานใจตั้งความปรารถนา (นับว่าเป็นตัณหาอย่างหนึ่ง) และทำบุญกุศลเพื่อให้ไปเกิดเป็นเทพ (นับว่าเป็นกรรมที่เป็นชนกกรรม คือกรรมที่ให้เกิด) จึงเข้าหลักพระพุทธพจน์ที่แปลความว่า “ตัณหายังคนให้เกิด โลกคือหมู่สัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม”
    ทางพระศาสนา ปัญหาเรื่องตายแล้วเกิดอีกหรือไม่เป็นเรื่องประกอบเท่านั้น เพราะมุ่งสอนให้คนละความไม่ดี ทำความดีในชาตินี้หรือในปัจจุบัน แต่ส่วนมากก็อดสงสัยมิได้ในเรื่องตายเรื่องเกิด และกล่าวได้ว่า ส่วนมากเชื่อว่าตายแล้วเกิดอีก หรือว่าตายไม่สูญวิญญาณยังไปท่องเที่ยว หรือไปเป็นอะไรอย่างหนึ่ง หรือไปเกิดอีกพวกหนึ่งซึ่งน่าจะน้อยกว่าเห็นว่าตายสูญ ไม่มีอะไรไปเกิด ลองวิจัยดูว่าความเชื่อความเห็นของทั้งสองฝ่ายนี้ ฝ่ายไหนจะถูก ทีแรกต้องถามก่อนว่า เป็นความเชื่อ ความเห็นว่าอย่างนั้น หรือเป็นปัญญาซึ่งเป็นความรู้จริง ก็คงจะได้คำตอบว่าเป็นความเชื่อ ความเห็นเสียโดยมาก คือเป็นเรื่องที่ไม่รู้ด้วยตนเอง แต่ก็มีความเชื่อว่าตายเกิด อีกฝ่ายหนึ่งไม่เชื่อ เพราะเวลาคนตายก็ไม่เห็นมีอะไรไปเกิด สิ้นลมแล้วทุกๆ อย่างก็ทอดทิ้งอยู่ในโลกนี้ จึงไม่เชื่อว่าตายเกิด หรือเห็นว่าตายสูญทีเดียว ด้วยความไม่รู้นั้นแหละ ตกว่าความเชื่อ ไม่เชื่อ หรือความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากความไม่รู้ แล้วก็ลงความเห็นเอาเองอย่างคาดคะเนหรือเดา เหมือนอย่างเข้าไปในห้องมืดสนิทมอง
     
  2. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ไม่เห็นอะไรเลย คนหนึ่งเชื่อว่าห้องนั้นมีคนซ่อนอยู่ อีกคนหนึ่งไม่เชื่อว่ามี ทั้งสองคนมีระดับเท่ากัน คือมองไม่เห็นเหมือนกัน ใช้ความคาดคะเนหรือเดาเอาเช่นเดียวกัน
    สรุปความในตอนนี้ว่า เรื่องตายเกิดหรือไม่เกิด ใครจะเชื่อหรือไม่อย่างไรไม่สำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าความจริงเป็นอย่างไร ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่เกิด ปัญหาจึงมีว่า ใครจะเป็นผู้บอกได้ จะรู้จริงได้อย่างไร ตอบได้ว่า ผู้บอกมีอยู่แล้ว คือพระพุทธเจ้า ท่านตอบไว้ในหลักอริยสัจ4 ถอดความสั้นๆว่า มีตัณหา (ความอยาก) ก็มีชาติ (ความเกิด) สิ้นตัณหาก็สิ้นชาติ ถอดคำออกมาให้เข้าเรื่องนี้ว่า ยังมีตัณหาตายแล้วเกิดอีก สิ้นตัณหาแล้วไม่เกิดท่านบอกไว้ดังนี้ แต่จะรู้จริงด้วยตนเองได้นั้น มีผู้แนะว่าต้องทำสมาธิจนได้ดวงตาชั้นในมองเห็นความจริงได้ด้วยตนเอง จึงจะสิ้นสงสัย ถ้ายังไม่ได้ดวงตาชั้นใน อย่างดีก็ต้องอาศัยศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าไปก่อน
    ในครั้งพุทธกาล มีแม่ทัพใหญ่ผู้หนึ่งชื่อท่านสีหะไปเฝ้า กราบทูลถามว่า จะทรงอาจบัญญัติแสดงผลทานที่มองเห็นได้ในปัจจุบันได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าตรัสว่าได้ คือ
    1.เป็นที่รักของชนมาก 2.เป็นที่คบหาของคนดี 3.มีเสียงพูดถึงในทางดีงาม 4.กล้าเข้าหมู่คนชั้นต่างๆ เหล่านี้เป็นผลทานที่มองเห็นได้ในปัจจุบัน และ 5.ตายไปสุคติ (ไปดี) โลกสวรรค์ ข้อหลังนี้เป็นผลภายหน้า ท่านแม่ทัพสีหะกราบทูลว่า สี่ข้อต้นไม่ต้องถึงความเชื่อต่อพระพุทธเจ้า เพราะรู้ได้ด้วยตนเอง ส่วนข้อหลังไม่รู้ แต่ก็ถึงความเชื่อต่อพระพุทธเจ้าในข้อนั้น ท่านแม่ทัพเป็นทหาร กราบทูลตรงๆ ร่ารู้ ไม่รู้ว่าไม่รู้ แต่ก็มีศรัทธาต่อพระพุทธองค์มั่นคง ฉะนั้นถึงไม่รู้ แต่มีผู้รู้เป็นผู้นำทางและมีความเชื่อฟังผู้รู้ ก็ย่อมเดินถูกทางแน่
    เราเกิดมาทำไม เราเกิดมาทำไม ปัญหานี้ถ้าตั้งขึ้นคิดก็น่าจะจน เพราะขณะเมื่อทุกคนเกิดนั้นไม่มีใครรู้มารู้เมื่อเกิดมาและพอรู้เดียงสาแล้วว่า มีตัวเราขึ้นคนหนึ่งในโลก แต่ทุกๆคนย่อมมีความไม่อยากตาย กลัวความตาย อยากจะดำรงชีวิตอยู่นานเท่านาน นอกจากนี้ยังมีความอยากในสิ่งต่างๆ อีกมากมาย คล้ายกับว่าความที่ต้องเกิดมานี้ไม่อยู่ในอำนาจของตนเอง มีอำนาจอย่างหนึ่งทำให้เกิดมา ตนเองจึงไม่มีอำนาจ หรือไม่มีส่วนที่จะตั้งวัตถุประสงค์แห่งความเกิดของตนว่า เกิดมาเพื่อทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเพื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดูคล้ายๆกับจะเป็นดั่งที่ว่ามานี้ ที่ว่าดูคลายๆ ก็เพราะความไม่รู้ หรือจะเรียกว่า “อวิชชา” ก็น่าจะได้ แต่ถ้าจะยอมจนต่อความไม่รู้ก็ดูจะมักง่ายมากไป น่าจะลองทำตามหลักอันหนึ่ง ที่ว่าอนุมานและศึกษา คือสิ่งที่ประจักษ์แก่สายตาก็รู้ได้ง่าย แต่สิ่งที่ไม่ประจักษ์แก่สายตาก็ใช้อนุมาน โดยอาศัยการสันนิษฐานและใช้ศึกษาในถ้อยคำของท่านผู้ตรัสรู้
    พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ได้ตรัสไว้ แปลความว่า “ตัณหา (ความอยาก) ยังคนให้เกิด” และว่า “โลกคือหมู่สัตว์ ย่อมเป็นไปตามกรรม” ลองอนุมานตามคำของท่านผู้ตรัสรู้นี้ดูในกระแสปัจจุบันก่อนว่า สมมุติว่าอยากเป็นผู้แทนราษฎร ก็สมัครรับเลือกตั้งและทำการหาเสียง เมื่อได้ชนะคะแนนก็ได้เป็นผู้แทนราษฎร นี้คือความอยากเป็นเหตุให้ทำกรรม คือทำการต่างๆ ตั้งต้นแต่การสมัคร การหาเสียง เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับผล คือได้เป็นผู้แทน หรือแม้ไม่ได้เป็น ถ้าจะตัดตอนเอาเฉพาะความเกิดมาในช่วงแห่งชีวิตตอนนี้ ก็จะตอบปัญหาข้างต้นนั้นได้ว่า “เกิดมาเพื่อเป็นผู้แทน” ตัวอย่างนี้เป็นรายละเอียดเฉพาะเรื่อง ถ้าจะตอบให้ครอบคลุมทั้งหมดก็ควรตอบได้ว่า “เกิดมาเพื่อสนองความอยากและสนองกรรมของตนเอง” ถ้าจะแย้งว่าตอบอย่างนั้นฟังได้สำหรับกระแสชีวิตปัจจุบัน แต่เมื่อเกิดมาทีแรกยังมองไม่เห็น เพราะไม่รู้จริงๆ ถ้าแย้งดังนี้ก็ต้องตอบว่า ฉะนั้นจึงว่าต้องใช้วิธีอนุมานโดยสันนิษฐาน ถ้ารู้จริงแล้วจะต้องอนุมานทำไม และก็อาศัยคำของท่านผู้ตรัสรู้เป็นหลัก ดังจะลองอนุมานต่อไปว่า จริงอยู่ เมื่อเกิดมาไม่รู้ แต่เมื่อรู้ขึ้นแล้วก็มีความกลัวตาย อยากดำรงชีวิตอยู่นานเท่านาน แสดง
     
  3. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ว่าทุกคนมีความอยากที่เป็นตัวตัรหานี้ประจำเป็นจิตสันดาน ความอยากเกิดย่อมรวมอยู่ในความอยากดำรงอยู่นี้ เพราะความตายเป็นความสิ้นสุดแห่งชีวิตในภพชาติอันหนึ่งๆ เมื่อยังมีความอยากดำรงอยู่ประจำอยู่ในจิตสันดาน ก็เท่ากับความอยากเกิดอีกเพื่อให้ดำรงอยู่ตามที่อยากนั้น ทั้งก็ต้องเกิดตามกรรม เป็นไปตามกรรม
    ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า “เราเกิดมาด้วยตัณหา (ความอยากและกรรม) เพื่อสนองตัณหาและกรรมของตนเอง” ตัณหาและกรรมจึงเป็นตัวอำนาจหรือผู้สร้างให้เกิดมา ใครเล่าเป็นผู้สร้างตัวอำนาจนี้ ตอบได้ว่าคือตนเอง เพราะตนเองเป็นผู้อยากเองและเป็นผู้ทำกรรม ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ตนเองนี้แหละเป็นผู้สร้างตนเองให้เกิดมา
    แต่ผู้ถือทางไสยกล่าวว่า ชีวิตของคนเรานี้มีพรหมลิขิต คือพระพรหมกำหนด เหมือนอย่างเขียนมาเสร็จว่าจะเป็นอย่างไร แต่ผู้ถือทางพุทธมามักใช้คำว่า กรรมลิขิต คือกรรมกำหนดมา โดยผลก็เป็นอย่างเดียวกัน คือมีสิ่งกำหนดให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ น่าพิจารณาว่าทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้จริงๆ อย่างไร
    ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า “มา กตเหตุ อย่าถือว่าเพราะเหตุแห่งกรรมที่ได้ทำไว้” คืออย่าถือว่าทุกๆ อย่างที่จะได้รับมีเพราะเหตุแห่งกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว เพราะถ้าถืออย่างนั้นก็จะไม่ต้องทำอะไรขึ้นใหม่ รออยู่เฉยๆ อย่างเดียวเพื่อให้กรรมเก่าสนองผลต่างๆ ขึ้นเอง ถือเอาความดังนี้ก็เท่ากับไม่ให้ถือกรรมลิขิตนั่นเอง
    มีปัญหาว่า ถ้าเช่นนั้นพระพุทธศาสนาแสดงเรื่องกรรมไว้ทำไม พิจารณาดูจะตอบได้ว่า แสดงเรื่องกรรมไว้เพื่อให้รู้ว่ากรรมเป็นเหตุให้วิบาก คือผลตั้งแต่ให้ถือกำเนิดเกิดมา และ ติดตามให้ผลต่างๆ แก่ชีวิต ทำนองกรรมลิขิตนั่นแหละ แต่กระบวนการของกรรมที่ทำไว้มีความสลับซับซ้อนมาก ทั้งเกี่ยวกับเวลาที่กรรมให้ผล และข้อที่สำคัญที่สุดคือ เกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติของแต่ละบุคคลในปัจจุบัน คือทางพระพุทธศาสนาสอนให้ไม่เป็นทาสของกรรมเก่า เช่นเดียวกับให้ไม่เป็นทาสของตัณหา แต่ให้ละกรรมชั่ว กระทำกรรมดี และชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์สะอาด ตามหลักพระโอวาท 3 หรือกล่าวโดยทั่วไป มีกิจอะไรที่ควรทำก็ทำ โดยไม่ต้องนั่งรอนอนรอผลของกรรมเก่าอะไร
    ความพิจารณาเพื่อให้รู้กรรมและผลของกรรมนั้น ก็เพื่อให้จิตเกิดอุเบกขาในเวลาที่เกิดเหตุการณ์เหลือที่จะช่วยแก่ทั้งคนเป็นที่รักและที่ชัง กับเพื่อจะได้ปฏิบัติตนตามหลักพระโอวาท 3 ข้อนั้น ทั้งคนเรามีจิตใจที่เป็นต้นเดิมของกรรมทุกอย่าง ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ เพราะจะต้องมีจิตเจตนาขึ้นก่อนแล้วจึงทำกรรมอะไรออกไป ฉะนั้นจึงสามารถและทำอธิษฐาน คือตั้งใจว่าจะประสงค์ผลอันใด เมื่อประกอบกรรมให้เหมาะแก่ผลอันนั้น ก็จะได้รับความสำเร็จ และจึงสามารถตอบปัญหาว่า “เราเกิดมาทำไม” ได้อีกอย่างหนึ่งว่า “เราเกิดมาตามที่ตั้งใจไว้ว่าจะมาทำ” เป็นอันไม่พ้นไปจากคำตอบที่ว่า “เราเกิดมาเพื่อสนองตัณหาและกรรมของตนเอง” แต่คนดีๆ ย่อมมีอธิษฐานใจที่ดี ดังพระโพธิสัตว์ทรงอธิษฐานพระหทัยเพื่อบำเพ็ญพระบารมี ความเกิดมาของพระองค์ในชาติทั้งหลายจึงเพื่อบำเพ็ญบารมีคือความดีต่างๆให้บริบูรณ์
    อันที่จริงทุกๆ คนมีสิทธิ์ที่จะถือว่าตนเกิดมาเพื่อบำเพ็ญความดีให้มากขึ้น และสามารถที่จะบำเพ็ญความดีได้ความสำนึกเข้าใจตนเองได้ว่า “เราเกิดมาเพื่อทำความดี” “เราเกิดมาเพื่อเพิ่มพูนปัญญา คือความรู้ความฉลาด” ดังนี้ย่อมมีประโยชน์ ไม่มีโทษ เพราะจะทำให้ขวนขวายทำความดีและศึกษาเพิ่มความรู้ของตนอยู่เสมอ แต่ชีวิตของคนเราก็ยังเนื่องด้วยกรรมเก่า และยังเนื่องด้วยกิเลสในจิตใจ สิ่งที่ทุกคนได้มา ตั้งต้นแต่ร่างกายและชีวิตนี้ เป็นวิบาก คือผลของกรรมและกิเลสของตนเอง แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่ง คือความดีที่แต่ละคนได้อบรมสั่งสม
     
  4. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    มา อันเรียกว่า “บารมี” คือความดีที่เก็บพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งเสริมจิตใจให้เกิดความเห็นที่ถูกต้องและดำเนินไปในทางที่ถูก
    ท่านกล่าวไว้ว่า มนุษย์เราเกิดมาด้วยอำนาจของกุศล คือกุศลจิตและกุศลกรรม ไม่ว่าจะเกิดมายากดีมีจนอย่างไร เพราะมนุษยภูมิเป็นผลของกุศล ทุกคนจึงชื่อว่ามีกุศลหนุนให้มาเกิดด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า มนุษย์ ที่แปลอย่างหนึ่งว่า ผู้มีใจสูง คือมีความรู้สูง ดังจะเห็นได้ว่าคนเรามีพื้นปัญญาสูงกว่าสัตว์ดิรัจฉานมากมาย สามารถรู้จักเปรียบเทียบในความดีความชั่ว ความควรทำไม่ควรทำ รู้จักละอาย รู้จักเกรง รู้จักปรับปรุงสร้างสรรค์ สิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรม” “อารยธรรม” “ศาสนา” เป็นต้น แสดงว่ามีความดีที่ได้สั่งสมมาโดยเฉพาะปัญญา เป็นรัตนะอันส่องแสงสว่างนำทางแห่งชีวิต ถึงดังนั้น คนเราก็ยังมีความมืดที่มาเกิดกำบังจิตใจให้เห็นผิดเป็นชอบ ความมืดที่สำคัญนั้นก็คือกิเลสในจิตใจและกรรมเก่าทั้งหลาย
    อะไรคือกรรมเก่า ไม่มีอธิบายอื่น จะอธิบายอย่างมองเห็น เช่นพระพุทธาธิบายที่ตรัสไว้ ความว่า “กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะ(ใจ)” กล่าวคือ ร่างกายที่ประกอบด้วยอายตนะทั้งหกนี้แหละเป็นตัวกรรมเก่า เป็นกรรมเก่าที่ทุกๆ คนมองเห็น นอกจากนี้ยังเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งกรรมใหม่ทั้งปวงอีกด้วย เพราะกรรมที่ทำขึ้นในปัจจุบันจะเป็น กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมก็ตาม ก็อาศัยกรรมเก่านี้แหละเป็นเครื่องมือกระทำ ทั้งกรรมเก่านี้ยังเป็นชนวนให้เกิดเจตนาที่ทำกรรมใหม่ๆ ทั้งหลายด้วย เพราะ ตา หู เป็นต้น มิใช่ว่าจะมีไว้เฉยๆ ต้องดู ต้องฟัง แล้วก็ก่อกิเลส เช่น ราคะ (ความติดความยินดี) โทสะ(ความขัดเคือง) โมหะ(ความหลงใหล) ให้เกิดขึ้น ขณะที่ร่างกายเจริญในวัยหนุ่มสาว ซึ่งกล่าวได้ว่ากรรมเก่ากำลังเติบโตเป็นหนุ่มสาว ตา หู เป็นต้น ก็ยิ่งเป็นสื่อแห่งราคะ โทสะ และเป็นสื่อแห่งกรรมต่างๆ ตามอำนาจของจิตใจที่กำลังระเริงหลง จึงจำต้องมีการควบคุมปกครองจะปล่อยเสียหาได้ไม่ ถ้าตนเองควบคุมตนเองได้ก็เป็นวิเศษที่สุด แต่ถ้าควบคุมตนเองไม่ได้ ก็ต้องมีผู้ใหญ่ เช่นมารดา บิดา และผู้ใหญ่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องควบคุมให้อยู่ในระเบียบวินัยที่ดีงาม ให้เกิดความสำนึกว่า “เรานี่เกิดมาเพื่อทำความดี”
    ภาพชีวิตของแต่ละคนคำว่า “ชีวิต” มิได้มีความหมายเพียงความเป็นอยู่แห่งร่างกาย แต่หมายถึงความสุขความทุกข์ ความเจริญ ความเสื่อม ของบุคคลในทางต่างๆด้วย บางคนมีปัญหาว่าจะวาดภาพชีวิตของตนอย่างไรในอนาคต หรืออะไรควรจะเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต และจะไปถึงจุดที่มุ่งหมายนั้นหรือที่นึกวาดภาพไว้นั้นด้วยอะไร ปัญหาที่ถามคลุมไปดังนี้น่าจะตอบให้ตรงจุดเฉพาะบุคคลได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าทางแห่งชีวิตของแต่ละบุคคลตามที่กรรมกำหนดไว้เป็นอย่างไร และถ้าวาดภาพของชีวิตอนาคตไว้เกินวิสัยของตนที่พึงจะได้พึงถึง แบบที่เรียกว่าสร้างวิมานบนอากาศ ก็จะเกิดความสำเร็จขึ้นมาไม่ได้แน่ หรือแม้วาดภาพชีวิตไว้ในวิสัยที่จะพึงได้พึงถึงแต่ขาดเหตุที่จะอุปการะให้ไปถึงจุดหมายนั้น ก็ยากอีกเหมืออนกันที่จะเกิดเป็นความจริงขึ้นมา
    ภาพของชีวิตที่วาดไว้ก็จะเทียบได้กับแบบแปลนของสิ่งที่จะสร้างขึ้นในกระดาษพิมพ์เขียวคนที่ไม่มีบ้าน คิดจะสร้างบ้านอยู่ของตนเอง ต้องมีที่ทาง มีทุนก่อสร้าง ทีแรกก็จะต้องมีแบบแปลนในแผ่นกระดาษตามที่ตนชอบ แต่ก็ต้องตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ของตน ถ้าอยากได้บ้านที่ใหญ่โตเกินกำลังมากไปก็จะทำไม่ได้แน่ แต่ตัวอย่างนี้มีจุดมุ่งหมายชัดเจนอยู่แล้วว่าจะสร้างบ้าน ส่วนปัญหาข้างต้นที่ว่าอะไรควรจะเป็นจุดหมายของชีวิตนั้น ยังไม่มีจุดหมายชัดเจน จึงว่าเป็นปัญหาที่ถามคลุม ตอบได้ยาก เหมือนอย่างจะถามว่า จะสร้างอะไรจึงจะดี
     
  5. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ซึ่งตอบได้ยาก ถ้ามีจุดหมายแน่นอนว่าจะสร้างบ้านอยู่ ก็พอจะช่วยกันคิดว่าจะสร้างแบบไหน ด้วยเครื่องอุปกรณ์อะไรบ้าง
    อันจุดหมายแห่งชีวิตของคนนั้นมีต่างๆ กัน บางคนมีจุดหมายของตนเอง คือมีความคิดเองว่าจะเรียนจะทำงานอะไรทางไหน บางคนมีผู้อื่น เช่น ผู้ปกครองหรือมิตรสหายแนะนำ บางคนก็เป็นไปตามที่คิดไว้ตั้งแต่ต้น บางคนก็เป็นไปในทางอื่น เพราะมีเหตุการณ์บางอย่างมาทำให้เปลี่ยนไปเสีย
    เมื่อไม่นานมานี้มีนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากที่แห่งหนึ่งพร้อมกันเมื่อหลายสิบปีมาแล้วนัดมาบำเพ็ญกุศลพร้อมกันในวัดหนึ่ง บัดนี้นักเรียนเหล่านั้นมีอายุเกิน 60 ด้วยกันแล้ว ที่รับราชการก็เกษียณอายุราชการแล้ว และก็ไม่ใช่นักเรียนแล้ว ต่างได้ผ่านการสร้างชีวิตของตนมาด้วยกันแล้ว มีอายุแห่งชีวิตอยู่ในระยะพักในบั้นสุดท้าย กล่าวได้ว่า ทุกคนได้มาถึงจุดสูงสุดแห่งการสร้างชีวิตของตนแล้ว จะสร้างให้ดียิ่งขึ้นไปอีกก็คงไม่ได้มากเท่าไร ลองสำรวจดูแต่ละคนมีทางชีวิตไปคนละทาง คือทำงานต่างๆ กันไป ถึงระดับที่สูงต่ำต่างๆ กัน ทั้งทางทรัพย์ ทางยศ ทางเกียรติ ชื่อเสียง ชีวิตจริงของแต่ละคนเมื่ออายุหลังจาก 60 ปี ย่อมเป็นเครื่องตัดสินว่าภาพของชีวิตที่วาดไว้เมื่อเป็นนักเรียนนั้นผิดหรือถูกเพียงไหน
    ภาพชีวิตที่ทุกคนวาดไว้เมื่อเป็นเด็กหรือในวัยรุ่น กับชีวิตจริงเมื่ออายุ 60 อาจต่างกันมาก ทุกคนขณะอยู่ในวัยเด็กหรือในวัยรุ่น อาจจะวาดภาพชีวิตอนาคตของตนเองไว้ด้วยตนเอง หรือบางทีผู้ใหญ่ช่วยคิดแนะนำให้ โดยปกติก็ต้องสังเกตดูสติปัญญา ความถนัด ความชอบ และต้องพิจารณาถึงกำลังสนับสนุนต่างๆ ตลอดถึงอัธยาศัย นิสัย การศึกษาตั้งแต่ในเบื้องต้น คือปฐมศึกษากับมัธยมศึกษา เป็นเครื่องช่วยชี้บอกได้ว่าทางอนาคตจะไปได้อย่างไร
    ผู้ที่มีพื้นสติปัญญาต่ำ เรียนได้แค่ปฐมศึกษา ก็จะต้องไปทำงานด้านใช้กำลังกายมากกว่าใช้สมอง แต่เมื่อจับอาชีพถูกทาง มีความขยันหมั่นเพียร รู้จักเก็บหอมรอมริบ ก็อาจตั้งตัวได้ดีเหมือนกัน ผู้ที่มีสติปัญญาปานกลาง เรียนได้จบมัธยมศึกษาหรือเรียนจบทางการช่าง เป็นต้นต่างๆ ก็สามารถทำงานใช้วิชาได้บ้าง เมื่อตั้งใจทำการงานให้ดีและประพฤติตนดีดังกล่าว ก็ตั้งตนได้ดีตามสภาพ ส่วนผู้ที่มีสติปัญญาดี ทั้งมีปัจจัยสนับสนุน เรียนสำเร็จอุดมศึกษาทางใดทางหนึ่งจะสามารถทำงานได้ประณีตกว่า อาจตั้งตนได้ดีมาก
    แต่ความสำเร็จผลอย่างดีนั้น นอกจากต้องอาศัยกำลังสติปัญญาวิชาความรู้ดังกล่าว ยังต้องอาศัยปัจจัยอุปถัมภ์อย่างอื่นอีก ฉะนั้นคนที่บรรลุความสำเร็จ เช่น เป็นพ่อค้าใหญ่ เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นชาวนาชาวสวนที่มีฐานะมั่นคง จึงมิใช่เป็นผู้ที่มาจากมหาวิทยาลัย จากวิทยาลัยเทคนิค หรือจากโรงเรียนมัธยมเสมอไป ใครจะถึงความสำเร็จแค่ไหนเพียงไหนนั้น เมื่อได้ผ่านบางตอนของชีวิตไปแล้ว ก็พอจะคิดคาดคะเนเอาได้ว่าจะไปได้สูงเพียงไหน เว้นไว้แต่มีเหตุพิเศษทั้งในด้านสนับสนุน ทั้งในด้านตัดรอน เช่น บางคนถูกลอตเตอรี่ที่ 1 ก็เปลี่ยนเป็นมั่งมีขึ้นทันที หรือบางคนกำลังจะดี แต่มีเหตุมาตัดรอน เช่น ประสบอุบัติเหตุ หรือมีโรคร้ายมาตัดรอน จึงเป็นเหตุตัดรอนผลดีที่น่าจะได้
    มีเรื่องเล่าเกี่ยวแก่ผู้ที่เรียกได้ว่าตายฟรี คือตายเปล่าอยู่รายหนึ่งว่า มีคนผู้หนึ่งซื้อลอตเตอรี่ไว้ฉบับหนึ่ง ต่อมาลอตเตอรี่ออก ปรากฏว่ารางวัลที่ 1 ตรงกับเลขลอตเตอรี่ที่ผู้นั้นซื้อเก็บไว้ เขาเห็นตัวเลขเข้าก็ดีใจจนสิ้นใจไปในขณะนั้นเอง แต่ความจริงเขาหาได้ถูกรางวัลที่ 1 ไม่ เพราะลอตเตอรี่ที่เขาซื้อไว้ไม่ใช่งวดที่ออกคราวนั้น เหตุการณ์พิเศษต่างๆ เช่นนี้มีอยู่เหมือนกัน
     
  6. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ฉะนั้น ชีวิตจริงของทุกๆ คนจึงไม่แน่อย่างที่คาดคิดไว้หรืออย่างที่น่าจะเป็น เมื่อถึงเข้าแล้วนั่นแหละจึงเป็นการแน่นอน เหมือนอย่างเมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว จึงจะรู้ว่าความเจริญทางราชการของตนไปได้สูงแค่ไหน ทั้งนี้ก็ต้องเว้นแต่ท่านผู้รู้ แต่ท่านผู้รู้ก็ไม่ต้องการชีวิตเหมือนอย่างที่คนเป็นอันมากต้องการแล้ว
    ชีวิตต้องการอะไรชีวิตนี้ต้องการอะไร อาจจะเป็นปัญหาเดียวกับปัญหาที่ว่า ควรจะวาดภาพชีวิตอนาคตอย่างไร หรืออาจจะต่างกันก็ได้ สุดแต่ความประสงค์ของผู้ถาม อาจจะมุ่งผลทางวัตถุหรือทางโลกทั่วๆไปก็ได้ อาจจะหมายถึงผลที่พิเศษไปกว่านั้นก็ได้
    ว่าถึงผลทางวัตถุหรือทางโลกทั่วๆไป ทุกคนก็น่าจะมีทางของตน หรือมีความคิดเห็นของตนเอง เกี่ยวแก่การเรียน อาชีพการงาน เป็นต้น แต่ถ้าหมายถึงผลที่พิเศษไปกว่านั้นก็น่าคิดว่านอกจากสิ่งต่างๆ ที่เป็นบุคคล เป็นวัตถุ เป็นชื่อเสียง เป็นต้น ที่โลกต้องการแล้วชีวิตนี้ต้องการอะไรอีก เพราะสิ่งที่โลกต้องการทั้งปวงก็ดูคล้ายๆกัน เช่น ต้องการวิชา ต้องการอาชีพ ต้องการภริยา สามี ต้องการบุตร บุตรี ต้องการทรัพย์ ต้องการยศ ต้องการชื่อเสียง เป็นต้น เช่นเดียวกับชีวิตต้องแก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเหมือนกันทุกๆชีวิต
    ชีวิตและเหตุการณ์ของชีวิตทำให้คนมีความเห็นต่อชีวิตต่างๆกัน บางคนรื่นเริงยินดีอยู่กับชีวิต มักจะเป็นคนวัยรุ่น กำลังมีร่างกายเจริญ มองเห็นอะไรในโลกยิ้มแย้มแช่มชื่นไปทั้งนั้น บางคนระทมอยู่กับชีวิตจนถึงคิดหนีชีวิตก็มี เพราะความไม่สมหวังน้อยหรือมาก บางคนก็ดูเฉยๆ ต่อชีวิต แต่มิใช่เฉยเพราะรู้สัจจะของชีวิต หากเฉยๆ เพราะไม่รู้ ทั้งไม่ต้องการที่จะศึกษาเพื่อรู้ จึงอยู่ไปทำไปตามเคยวันหนึ่งๆ โดยมากน่าจะอยู่ในลักษณะนี้ไม่สู้จะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์อะไรมากนัก เพราะไม่อยากจะคิดรู้อะไรมากนัก หรือเพราะไม่มีอะไรจะทำให้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์มากนัก สรุปลงว่ายินดีต่อชีวิตบ้าง ยินร้ายต่อชีวิตบ้าง หลงงมงาย เช่น ที่มีความเฉยๆ เพราะไม่รู้ดังกล่าวนั้นบ้าง คนทั่วๆไปย่อมเป็นดังนี้ จะต้องพบทั้งความยินดีทั้งความยินร้าย ทั้งความหลงใหลในชีวิต จะต้องพบทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งได้ทั้งเสีย ขณะเป็นเด็กหรือเป็นวัยรุ่นอาจจะสุข มีสนุกรื่นเริงมาก แล้วจะค่อยๆ พบทุกข์เข้ามาแทนสุข น้อยหรือมากตามวัยที่เพิ่มขึ้น ตามเหตุการณ์ของชีวิตที่ต้องการพบมากขึ้นจะต้องพบทั้งความยินแย้มทั้งความระทม หรือจะต้องทั้งหัวเราะทั้งร้องไห้ นั่นแหละเป็นชีวิตหรือเป็นโลก
    ว่าถึงชาวโลกทั่วไป เมื่อได้มีประสบการณ์จากโลกทั้งสองด้านแล้ว จึงจะรู้จักโลกดีขึ้น แต่ก็มีอยู่สองจำพวกเหมือนกัน คือ พวกหนึ่งแพ้โลก คือต้องเป็นทุกข์น้อยหรือมากไม่สามารถจะแก้ทุกข์ได้ คล้ายกับรอให้โลกช่วย คือให้เหตุการณ์ข้างดีตามที่ปรารถนาเกิดขึ้น อีกพวกหนึ่งไม่แพ้โลก คือไม่ยอมเป็นทุกข์ ถึงจะต้องเป็นทุกข์บ้างอย่างสามัญชน ก็ไม่ยอมให้เป็นมากหรือเป็นนานนัก พยายามแก้ทุกข์ได้ ไม่ต้องรอให้เหตุการณ์ข้างดีที่ปรารถนาต้องการเกิดช่วย ซึ่งเป็นการไม่แน่ แต่ทำความรู้จักโลกนั่นแหละให้ดีขึ้นตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ เช่นว่า “สูจงมาดูโลกนี้...ที่พวกคนเขลาติดอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่” คือการศึกษาทำความรู้ชนิดที่ไม่ติดข้องให้เกิดขึ้น ด้วยปล่อยโลกให้เป็นไปตามวิถีของโลก เหมือนอย่างไม่คิดดึงดวงอาทิตย์ให้หยุดหรือให้กลับ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ หน้าที่ของบุคคลคือดึงใจให้หยุดหรือให้กลับจากกิเลสและความทุกข์ ให้ดำเนินไปในทางที่ดี ไม่ยอมพ่ายแพ้แก่ชีวิตและโลก
    คนเราต้องพบชีวิต หมายถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต ตามที่ปรารถนาไว้ก็มี ที่มิได้ปรารถนาก็มี ว่าถึงปัญหาที่ว่า คนเราควรจะวาดภาพชีวิตอนาคตของตนอย่างไร หรือ จะให้ชีวิตเป็นอย่างไร ถ้าตอบตามวิถีชีวิตทั่วไป ก็คงจะว่าให้เป็นชีวิตที่บริบูรณ์ด้วยผลตามที่ปรารถนากันทางโลกทั่วไปนี้แหละ รวมเข้าก็คือ ลาภ ยศ
     
  7. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    สรรเสริญ สุข อันเรียกว่าโลกธรรม(ธรรมคือเรื่องของโลก) ส่วนที่น่าปรารถนาพอใจ แต่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า จะต้องพบชีวิตส่วนที่มิได้ปรารถนาอีกด้วย คือส่วนที่ตรงกันข้าม รวมเข้าก็คือ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ชีวิตของทุกคนจะต้องพบกับโลกธรรมทั้งสองฝ่ายนี้อยู่ด้วยกัน
    คำว่า โลกธรรม พูดง่ายๆ ก็คือ ธรรมดาโลก เพราะขึ้นชื่อว่าโลก ย่อมมีธรรมดาเป็นความได้ ความเสีย หรือความทุกข์ เช่นนั้น สิ่งที่ได้มาบางทีรู้สึกว่าให้ความสุขมากเหลือเกิน แต่สิ่งนั้นเองกลับให้ความทุกข์มากก็มี พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสชี้ให้เห็นทุกข์ไว้ก่อน ดังเช่นเมื่อมีเทพมากล่าวคาถาแปลความว่า
    “ผู้มีบุตรย่อมบันเทิงเพราะบุตร ผู้มีโคย่อมบันเทิงเพราะโค นรชนย่อมบันเทิงเพราะทรัพย์สมบัติ ผู้ไม่มีทรัพย์สมบัติย่อมไม่บันเทิง”
    พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก้ว่า
    “ผู้มีบุตรย่อมโศกเพราะบุตร ผู้มีโคย่อมโศกเพราะโค นรชนย่อมโศกเพราะทรัพย์สมบัติ ผู้ไม่มีทรัพย์ (เป็นเหตุก่อกิเลส) ย่อมไม่โศก”
    คำของเทวดากล่าวไว้ว่าเป็นภาษิตทางโลก เพราะโลกทั่วไปย่อมเห็นดังนั้น ส่วนคำของพระพุทธเจ้ากล่าวไว้เป็นภาษิตทางธรรม แต่ก็เป็นความจริง เพราะเป็นธรรมดาโลกที่จะต้องพบทั้งสุขและทุกข์ที่แม้เกิดจากสิ่งเดียวกัน ฉะนั้น ทุกๆ คนผู้ต้องการโลก คือปรารถนาจะได้สิ่งที่น่าปรารถนา หรือต้องการที่จะให้เป็นไปตามปรารถนา ก็ควรต้องการธรรมอีกส่วนหนึ่งที่เป็นเครื่องช่วยรักษาตน ทั้งในคราวได้ ทั้งในคราวเสีย
    พระพุทธศาสนาได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกๆคน ตรงจุดนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้พิจารณาว่า สุขหรือทุกข์ข้อนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ คือแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เมื่อพิจารณาอยู่ดังนี้จนเกิดปัญญาเห็นจริง สุขหรือทุกข์นั้นๆ ก็จะไม่ตั้งครอบงำจิตอยู่ได้ ผู้ที่มีปัญญาพิจารณาเห็นจริงอยู่ดังนั้น จะไม่ยินดีในเพราะสุข จะไม่ยินร้ายในเพราะทุกข์นั้นๆ ความสงบจิตซึ่งเป็นความสุขจะมีได้ด้วยวิธีนี้
    ศึกษาชีวิตทั้งสองด้านพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ แปลความว่า
    “ความโศกย่อมเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก ภัยคือความกลัว ย่อมเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก สำหรับผู้ที่พ้นแล้วจากสิ่งที่เป็นที่รัก จะไม่มีความโศก ภัยจักมีแต่ที่ไหน”
    พระพุทธภาษิตนี้ดูคล้ายกับมองในทางร้ายว่า สิ่งเป็นที่รักจะเป็นแหล่งแห่งเกิดความโศกและภัยเสมอ แต่ก็เป็นความจริงที่ความโศกและภัยทุกอย่างเกิดจากแหล่งรักทั้งนั้น ใครก็ตามที่ได้รับความสุขจากสิ่งเป็นที่รักเพียงอย่างเดียว ยังไม่ชื่อว่าได้พบโลกหรือผ่านโลกทั้งสองด้าน ต่อเมื่อได้รับความทุกข์จากสิ่งเป็นที่รักอีกอย่างหนึ่ง จึงจะชื่อได้ผ่านพบโลกครบสองด้าน เป็นโอกาสที่ทำให้รู้จักโลกดีขึ้น
    อันที่จริงชีวิตที่ดำเนินผ่านสุขทุกข์ต่างๆในโลก หรือผ่านโลกที่มีทั้งสุขทั้งทุกข์ เท่ากับเป็นการศึกษาให้เกิดเจริญปัญญาขึ้นอยู่เสมอ อาจจะมีการหลงผิดไปในบางคราว ก็ไม่ใช่ตลอดไปและทุกคนที่เกิดมาย่อมมีพื้นปัญญาที่จะเพิ่มเติมขึ้นได้เสมอ ทั้งปัญญาที่จะเป็นปัญญาที่สมบูรณ์ขึ้นก็เพราะรู้ทั้งสองด้าน คือรู้ทั้งสุขทั้งทุกข์ ถ้ารู้จักแต่สุข ไม่รู้จักทุกข์ ก็ยังไม่ใช่ปัญญาสมบูรณ์
    จะรู้จักทุกข์ได้ก็ต้องประสบกับความทุกข์ และดูเข้าไปที่ทุกข์ หรือดูเข้ามาที่จิตใจอันมีทุกข์ว่า จิตนี้มีทุกข์ ดูอาการจิตในที่มีทุกข์ว่าเป็นอย่างไร อาการคือ แห้งผากใจปราศจากความสดชื่น เหมือนอย่างต้นไม้เหี่ยว
     
  8. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    คร่ำครวญใจด้วยความคิดถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้วหรือถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ไขว่คว้าในสิ่งที่สิ้นไปหายไปแล้ว เหมือนอย่างไล่จับเงา หรือกลัวสิ่งที่ยังอยู่ว่าหายไปเสีย หรือกลัวว่าอะไรที่น่ากลัวจะเกิดขึ้น ตรอมใจ ไม่มีความผาสุก คับแค้นใจ เหมือนอย่างถูกอัดถูกบีบ อาการใจเหล่านี้แสดงออกมาให้เห็นทางกายอันเป็นเรือนอาศัยของจิตใจ อวัยวะทางกายที่บอกใจอย่างดีที่สุดคือดวงตาและสีหน้า ดวงตาจะเศร้า สีหน้าจะหมอง ร่างกายทั่วไปจะซูบ อาการทางกายเหล่านี้กล่าวได้ว่าเป็นผลพลอยเสีย
    ดูอาการจิตใจที่มีทุกข์ว่าเป็นอย่างนี้ๆ ดูให้เห็นชัด ให้คล้ายกับส่องกระจกเห็นเงาหน้าของตนชัดเจน แล้วศึกษา คือพยายามค้นหาความจริงในจิตใจของตนเองต่อไปว่า เป็นอาการประจำหรือเป็นอาการจร เทียบอย่างเป็นโรคประจำหรือเป็นโรคจร มีอะไรเป็นเหตุเป็นสมุฏฐานจะเห็นว่าเป็นอาการจร เพราะแต่ก่อนนี้ไม่เคยมีเคยเป็น เคยมีแต่อาการที่เป็นความสุขอันตรงกันข้าม ถึงอาการที่เป็นความสุขก็เหมือนกัน คือเป็นอาการจร เพราะก่อนแต่นั้นก็ไม่เคยมีเคยเป็น ได้แก่ เมื่อเป็นเด็กยังไม่มีอาการจิตใจเช่นนี้ มาเริ่มมีขึ้นตั้งแต่เมื่อย่างเข้าดรุณวัยเริ่มมีสิ่งเป็นที่รักขึ้นตั้งแต่หนึ่งสิ่งสองสามสิ่ง เป็นต้น เมื่อศึกษาจิตใจของตนเองไปดังนี้ จักได้พบสัจจะขึ้นสมจริงตามพระพุทธพยากรณ์นี้ แหละเป็นเหตุเป็นสมุฏฐาน
    การหัดศึกษาให้รู้จักกระบวนแห่งจิตใจของตนเองนั้นเป็นข้อที่ควรทำ ทั้งในคราวมีสุขและในคราวมีทุกข์ เหตุแห่งสุขและทุกข์ข้อที่สำคัญก็คือ สิ่งที่เป็นที่รัก ในขณะที่มีสุขจะยกไว้ก่อน จะกล่าวแต่ที่มีทุกข์ ให้รวมใจดูที่ตัวความทุกข์ที่กำลังเสวยอยู่ ดูอาการของจิตที่เป็นทุกข์ว่าเป็นอย่างไร ห่อเหี่ยวอย่างไร มีอาการเศร้าหมองอย่างไร ห่อเหี่ยวอย่างไร หมดรส หมดความสำราญอย่างไร ดูความคิดว่าในขณะที่จิตเป็นทุกข์เช่นนี้ จิตมีความคิดอย่างไร คิดถึงอะไร ก็จะรู้ว่ากำลังคิดถึงเรื่องที่ทำให้ทุกข์นั้นแหละ เพราะจิตผูกอยู่กับเรื่องนั้นมาก ความผูกจิตมีมากในเรื่องใด ก็ดึงจิตให้คิดถึงเรื่องนั้นมากและเป็นทุกข์มาก ฉะนั้น ความทุกข์จึงเป็นผลตามความผูกจิต (สังโยชน์) ซึ่งคอยดึงจิตให้คิดไปถึงเรื่องที่ผูกไว้ในใจ
    อันที่จริงเรื่องที่ผูกใจไว้นี้มิใช่เฉพาะแต่สิ่งที่เป็นที่รักเท่านั้น ถึงสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็ผูกใจไว้เหมือนกัน จึงเกิดความชอบใจและความไม่ชอบใจ ถ้าไม่มีความผูกใจไว้เสียเลยก็จะไม่มีทุกสิ่งคือที่รักก็ไม่มี ที่ไม่รักก็ไม่มี ตลอดถึงความยินดียินร้ายก็จะไม่มี
    ตามที่กล่าวมานี้เป็นกระบวนทางจิต กล่าวสั้นคือ ความผูกจิตอยู่กับเรื่อง (อันเรียกว่า อารมณ์) ที่ทุกๆ คนประสบพบผ่านมาทางอายตนะ มีตา หู เป็นต้น และความคิดที่ถูกดึงให้คิดไปในเรื่องที่ผูกใจอยู่เสมอ ถ้าเป็นเรื่องของสิ่งอันเป็นที่รัก และไม่เป็นไปตามที่ปรารถนาต้องการ ยิ่งคิดไปก็ยิ่งเป็นทุกข์ไป จิตครุ่นคิดไปด้วยเสวยทุกข์ไปด้วย “หยุดคิดได้เมื่อใด ก็หยุดทุกข์ลงเมื่อนั้น”
    คำว่า หยุดคิด หมายถึง หยุดคิดถึงเรื่องที่ทำให้เป็นทุกข์ ถ้ากล่าวดังนี้แก่ใคร ก็น่าจะได้รับตอบว่า สำหรับหลักการที่ว่านั้นไม่เถียง แต่ทำไม่ได้ คือจะห้ามมิให้คิดไม่ได้ ถ้าแย้งดังนี้ก็ต้องรับรองว่าห้ามไม่ได้จริง ด้วยเหตุที่ยังมีความผูกจิตอยู่ในเรื่องนั้น ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า ความผูกจิตไว้นี้เองคอยดึงจิตให้คิดไปในเรื่องที่ผูกไว้ เป็นดังนี้จนกว่าจะปล่อยความผูกนี้ได้ ถ้าว่าดังนี้ก็น่าจะถูกประท้วงอีกว่าปล่อยไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ซึ่งเป็นที่รัก และสามัญชนทั่วไปก็จะต้องมีสิ่งเป็นที่รัก เช่น จะต้องมีพ่อแม่ลูกหลาน เป็นต้น ที่เป็นที่รัก เมื่อมีขึ้น จิตใจก็จะต้องผูกพัน ที่เรียกว่าความผูกจิต จึงไม่สามารถจะปล่อยไว้ ถ้ามีการประท้วงดังนี้ก็ต้องตอบชี้แจงได้ว่า รับรองว่าสามารถแน่ ถ้าลองปฏิบัติดูตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพราะความผูกพันแห่งจิตใจนี้เป็นกิเลส เพื่อที่จะชี้ให้เห็นหน้าตาให้ชัดขึ้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในธรรมบท แปลความรวมกันว่า
     
  9. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    “ความโศก ความกลัว เกิดจากความรัก ความยินดี ความใคร่(กาม) ความอยาก (ตัณหา) สำหรับผู้ที่พ้นแล้วจากความรัก ความยินดี ความใคร่(กาม) ความอยาก (ตัณหา) จะไม่มีความโศก ความกลัวจักมีแต่ที่ไหน”
    สิ่งอันเป็นที่รักของชีวิตคนทั่วไปนั้นย่อมมีความรัก ความยินดี ความใคร่ ความอยาก ว่าถึงความรักเพียงข้อเดียวก่อน ทุกๆ คนก็มีอยู่ในบุคคลและในส่วนต่างๆมาก เช่น บุตรธิดารักมารดาบิดา มารดาบิดาก็รักบุตรธิดา สามีก็รักภรรยา ภรรยาก็รักสามี แต่มักจะลืมนึกถึงอีกผู้หนึ่งซึ่งเป็นที่รักของตนเองอย่างลึกซึ้ง คือตนเอง คือลืมนึกรักตนเอง คิดดูให้ดีจะเห็นว่าตนเป็นที่รักยิ่งของตนเองอยู่แล้ว ดังที่มีเรื่องเล่าว่า
    ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามพระนางมัลลิกาเทวีของพระองค์ว่า ใครเป็นที่รักของพระนางยิ่งกว่าตนเอง(ของพระนาง) พระนางกราบทูลว่าไม่มี แล้วกราบทูลถามพระราชาเช่นเดียวกันว่า ใครเป็นที่รักของพระองค์ยิ่งกว่าพระองค์เอง ตรัสตอบว่าไม่มีเช่นเดียวกัน พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลข้อที่ตรัสโต้ตอบกันนี้ พระพุทธเจ้าอุทานขึ้นในเวลานั้นว่า
    “ตรวจดูด้วยใจไปทุกทิศแล้ว ก็ไม่พบผู้ที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตนในที่ไหน ตนเป็นที่รักมากของคนอื่นๆ อย่างนั้น เพราะเหตุนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น”
    พระพุทธอุทานนี้ตรัสสอนให้คิดถึงใจเราเทียบกับใจเขา ดังที่กล่าวกันว่า นำใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อจะได้สังวรจากการทำที่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น แต่ก็เป็นอันทรงรับรองข้อที่พระนางมัลลิกากราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นว่า ไม่มีใครจะเป็นที่รักของตนยิ่งกว่าตน และพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในพระธรรมบทว่า
    “ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก พึงรักษาตนไว้ให้ดี บัณฑิตพึงประคับประคองตนตลอดยาม (คือวัย) ทั้งสามยามใดยามหนึ่ง”
    นี้เป็นพระพุทธโอวาทตรัสเตือนไว้เพื่อมิให้หลงลืมตนเองไปเสีย หน้าที่ของตนนั้นจะต้องรักษาประคับประคองตนเองไว้ให้ดี
    ควรสังเกตว่า พระพุทธองค์มิได้ตรัสสอนว่า จงรักตน หรือควรรักตน หรือต้องรักตนเพราะตนเป็นที่รักของตนอยู่แล้วแก่ทุกๆ คน คือทุกๆ คนต่างรักตนเองอยู่ด้วยกันแล้ว และรักยิ่งกว่าสิ่งอื่นหรือใครอื่นทั้งหมด เมื่อมีความจริงอยู่ดังนี้ จึงไม่จำเป็นจะต้องตรัสสอนให้รักตนเข้าอีก แต่ตรัสสอนให้ทำความรู้ดังกล่าวและให้รักษาตนให้ดี
    คิดดูอีกสักหน่อย เมื่อเกิดมาก็มาตนผู้เดียว คราวจะตายไปก็คงไปตนผู้เดียวอีกเหมือนกัน บุคคลและสิ่งทั้งปวงแม้จะเป็นที่รักยิ่งนัก ก็เกิดขึ้นหรือมาพบกันเข้าในภายหลัง และมีอยู่เฉพาะในชีวิตนี้ ไม่มีที่จะไปด้วยกันกับตนในภพหน้า สิ่งที่จะไปด้วยคือบุญหรือบาปที่ทำไว้เองแม้ในชีวิตนี้ก็มิใช่ว่าจะร่วมสุขร่วมทุกข์ไปด้วยกันทุกอย่าง เช่น ถึงคราวเจ็บก็ต้องเจ็บเอง ใครจะเจ็บแทนกันหาได้ไม่ ตนเองเท่านั้นต้องร่วมสุขทุกข์กับตนเองตลอดไป ในคราวเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในโลกนี้ โลกหน้า ในมนุษย์ ในนรก ในสวรรค์ ตลอดถึงนิพพาน ก็เป็นเรื่องของตนเองผู้เดียวทั้งหมด พิจารณาให้ตระหนักในความจริงดังนี้ จะช่วยถอนความผูกใจเป็นทุกข์ออกได้บ้างไม่มากก็น้อย
    ในครั้งพุทธกาล เมื่อพระเจ้ามหากัปปินะทรงสละราชสมบัติ เสร็จออกจากรัฐของพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้เป็นภิกษุแล้ว ฝ่ายพระเทวีของพระองค์มีพระนามว่าอโนชา ได้เสด็จติดตามไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงสอดส่ายพระเนตรหา
     
  10. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    พระราชาว่าจะประทับอยู่ที่ไหน ในหมู่พระพุทธสาวกที่นั่งแวดล้อมพระพุทธองค์อยู่นั้น เมื่อไม่ทรงเห็น ก็กราบทูลถามพระพุทธองค์ว่าได้ทรงเห็นพระราชาบ้างหรือ พระพุทธองค์ได้ตรัสถามว่า ทรงแสวงหาพระราชาประเสริฐหรือว่าแสวงหาพระองค์ (ตน) ประเสริฐ พระนางทรงได้สติ กราบทูลว่า แสวงหาตนประเสริฐทรงสงบพระทัยฟังธรรมได้
    ครั้นทรงสดับธรรมไปก็ทรงเกิดธรรมจักษุ คือดวงตาเห็นธรรม ที่เรียกว่าธรรมจักษุนี้มีแสดงไว้ในที่อื่นว่า คือเกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา” ได้แก่ เห็นธรรมดาที่เป็นของคู่กัน คือเกิดและดับ จะกล่าวว่าเห็นความดับของทุกสิ่งที่เกิดมาก็ได้
    ชีวิตนี้เรียกได้ว่าเป็นความเกิดสิ่งแรก ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดของสิ่งทั้งหลายในภายหลัง ก็ต้องมีความดับ สิ่งที่ได้มาพร้อมกับชีวิตก็คือตนเอง นอกจากตนเองไม่มีอะไรทั้งนั้น สามีภริยา บุตรธิดา ทรัพย์สินเงินทองไม่มีทั้งนั้น เรียกว่าเกิดมาตัวเปล่า มาตัวคนเดียว พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตนแลเป็นคติ (ที่ไปหรือการไป) ของตน” ในเวลาดับชีวิต ก็ตนเองเท่านั้นต้องไปแต่ผู้เดียวตามกรรม ทิ้งทุกสิ่งไว้ในโลกนี้ แม้ชีวิตร่างกายนี้ก็นำไปด้วยไม่ได้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
    “บุคคลผู้จะต้องตาย ทำบุญและบาปทั้งสองอันใดไว้ในโลกนี้ บุญบาปทั้งสองนั้นเป็นของผู้นั้น ผู้นั้นพาเอาบุญบาปทั้งสองนั้นไป บุญบาปทั้งสองนั้นติดตามผู้นั้นไปเหมือนอย่างเงาที่ไม่ละตัว”
    ก็เมื่อตนเองเป็นผู้มาคนเดียวไปคนเดียว เมื่อมาก็มาตามกรรม เมื่อไปก็ไปตามกรรมถึงผู้อื่นก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น คือจะเป็นสามี ภริยา เป็นบุตร ธิดา เป็นญาติมิตร หรือแม้นเป็นศัตรู ต่างก็มาคนเดียวตามกรรม ไปตามกรรม ฉะนั้นก็ควรที่จะต้องรักตนสงวนตน แสวงหาตนมากกว่าที่จะรัก จะสงวน จะแสวงหาใครทั้งนั้น
    คำว่าแสวงหาตนเป็นคำมีคติที่ซึ้ง คิดพิจารณาให้เข้าใจให้ดีจะบังเกิดผลดียิ่งนัก แต่ที่จะเริ่มแสวงหาตนได้ ก็ต้องได้สติย้อนมานึกถึงตนในทางที่ถูกที่ควร และคำว่าแสวงหาตนหาได้มีความหมายว่าเห็นแก่ตนไม่ เพราะผู้เห็นแก่ตนหาใช่ผู้ที่แสวงหาตนไม่ กลายเป็นแสวงหาสิ่งที่มิใช่ตนไปเสีย
    แง่คิดเกี่ยวกับชีวิตอันเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นแก่ชีวิต มีอยู่เป็นอันมากที่บังเกิดขึ้นโดยไม่รู้ไม่คิดมาก่อน แต่เมื่อเป็นเหตุการณ์ที่จะต้องเกิดก็เกิดขึ้นจนได้ ถ้าหากใครมองดูเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นอย่างของเล่นๆ ไม่จริงจัง ก็ไม่เกิดทุกข์เดือดร้อน หรือจะเกิดบ้างก็เกิดอย่างเล่นๆ ถ้าจะหนีเหตุการณ์เสียบ้างก็เหมือนอย่างหนีไปเที่ยวเล่นหรือไปพักผ่อนเสียครั้งคราวหนึ่ง
    คนเรานั้นเมื่อเห็นว่าที่ใดมีทุกข์ ก็จะต้องหนีไปให้พ้นจากคนหรือเหตุการณ์ที่ก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นฉะนั้นถ้าแต่ละคนได้ระลึกถึงข้อนี้ ก็ควรจะไม่ประพฤติหรือกระทำการก่อทุกข์ให้แก่กัน ทั้งนี้ด้วยมีความสำนึกตนและประพฤติตนให้อยู่ในขอบเขตที่สมควร
    เรื่องว่าอะไรสมควรอะไรไม่สมควรนั้น ถ้าเรามีสติรู้จักตนตามเป็นจริง ไม่หลงตน ไม่ลำเอียงแล้ว ก็จะรู้ได้โดยไม่ยาก บางทีหลอกคนอื่นได้ แต่หลอกตนเองหาได้ไม่ เช่น คนที่รู้อยู่ว่าตนเองเป็นอย่างไร แต่เที่ยวพูดโอ้อวดคนอื่นว่าวิเศษต่างๆ บางทีหลอกตนเองให้หลงไปสนิท แต่หลอกคนอื่นไม่ได้ เช่นคนที่หลอกหาได้มีความวิเศษอันใดไม่ แต่เข้าใจตนเองว่าวิเศษ แล้วแสดงตนเช่นนั้น ส่วนคนอื่นเขารู้ว่าเป็นอย่างไร จึงหัวเราะเอา หากได้มองดูความเป็นไปต่างๆ กันของคนในทางที่น่าหัวเราะดังนี้ ก็น่าจะมีทุกข์น้อยลง การมองดูคนอื่นนั้นสู้มองดู
     
  11. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ตนเองไม่ได้ เพราะตนเองต้องรับผิดชอบต่อตนเองโดยตรง ส่วนคนอื่นเขาก็ต้องรับผิดต่อตัวเขาเอง เรื่องความรับผิดชอบนี้บางทีนึกไปไม่ออกว่าได้ทำอะไรไว้จึงต้องรับผิดชอบเช่นนี้ เช่น ต้องรับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต
    ในฐานะเช่นนี้ ผู้เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าย่อมใช้ศรัทธาความเชื่อในกรรมและผลของกรรม ทำกรรมที่ผิดไว้ก็ต้องรับผิดต่างๆ ทำกรรมที่ชอบไว้ก็ต้องรับชอบต่างๆ จะเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งหาได้ไม่ เมื่อยอมรับกรรมเสียได้ดังนี้ ก็จะมีใจกล้าหาญ เป็นอะไรเป็นกันไม่กลัวต่อเหตุการณ์ต่างๆ และเมื่อเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นจะแก้อย่างไร ศิษย์ของพระพุทธเจ้าย่อมแก้ด้วยสติและปัญญา เพื่อให้เป็นผู้ชนะด้วยความดี
    พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “พึงชนะคนตระหนี่หรือความตระหนี่ด้วยการให้” นี้เป็นวิธีเอาชนะวิธีหนึ่ง ใครเป็นคนมีความตระหนี่และความโลภ ก็คือตัวเราเองหรือคนอื่นก็ได้ ถ้าเป็นตัวเราเองก็จะต้องเอาชนะด้วยการให้ พยายามให้ตัวเราเองเป็นผู้ให้ ถ้าเป็นคนอื่นก็อาจเอาชนะเขาด้วยการให้ได้เหมือนกัน เช่น ให้สิ่งที่เขาต้องการเขาก็พอใจแล้ว ให้สิ่งที่เราต้องการบางทีก็ซื้อเขาได้ด้วยการให้ทรัพย์ ผู้ที่มีจิตใจสูงบางคนสละให้ยิ่งกว่าเขาขอ เป็นทานอย่างสูงซึ่งทำให้เป็นที่พิศวงแก่คนอื่นๆ ว่าทำไมจึงให้ได้
    คนย่อมปฏิบัติตามระดับของจิตใจ ไม่สามารถจะทำให้ต่ำกว่าระดับของตนได้ แต่คนดีนั้นพระย่อมรักษา ดังภาษิตว่า “ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” ศิษย์ของพระพุทธเจ้าย่อมมีศรัทธาอยู่อย่างมั่นคงดังนี้ และย่อมปฏิบัติตนเป็นผู้หลีกออกอยู่เสมอ โดยเฉพาะเป็นผู้หลีกออกทางใจ จึงไม่เป็นทุกข์
    อันเรื่องของชีวิต บางคราวก็ดูเป็นของเปิดเผยง่ายๆ บางคราวก็ดูลึกลับ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต บางอย่างก็เกิดตามที่คนต้องการให้เกิด บางอย่างก็เกิดขึ้นโดยคนมิได้เจตนาให้เกิด แต่ผลทุกๆอย่างย่อมมีเหตุ ถ้าได้รู้เหตุก็เป็นของเปิดเผย ส่วนที่ว่าลึกลับก็เพราะไม่รู้เหตุ จู่ๆ ก็เกิดผลขึ้นเสียแล้ว เช่น ไม่ได้คิดว่าพรุ่งนี้จะไปข้างไหน ครั้นถึงวันพรุ่งนี้เช้า ก็ต้องไปด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบัดเดี๋ยวนั้น ว่าถึงคนทั่วไปแล้ว เรื่องของพรุ่งนี้เป็นเรื่องลึกลับ เพราะต่างก็ไม่รู้พรุ่งนี้ของตนเองจริงๆ ถึงวันนี้เองก็รู้อยู่เฉพาะปัจจุบัน คือเดี๋ยวนี้แต่อนาคตหารู้ได้ไม่ ว่าต่อไปแม้ในวันนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
    คนเรามีความคิดหวังกันไป ซึ่งจะคิดอย่างไรก็คิดได้ และก็อาจจะทำให้ผลตามที่คิด แม้คนที่คิดทุจริตทำทุจริต ก็อาจได้ผลจากการทำทุจริต คนที่ประทุษร้ายมิตรหรือคนดี คนบริสุทธิ์ก็อาจได้รับผลจากการทำนั้น เช่น ได้ทรัพย์สินเงินทอง วันนี้จน แต่พรุ่งนี้มั่งมีขึ้น ชวนให้เคลิบเคลิ้มไปไม่น้อย และคนเป็นอันมากก็ดูเหมือนจะเคลิ้มไปในผลที่ล่อใจเช่นนี้ง่าย จนถึงบางทีคนที่เคยตรงก็กลับคด เคยเป็นมิตรก็กลับเป็นศัตรู เพราะมุ่งแต่จะได้เป็นประมาณ เพราะความกลัวต่อวันพรุ่งนี้หรือโลภต่อวันพรุ่งนี้ บางทีก็เพื่อตนหรือเพื่อผู้อื่นที่ตนรักใคร่ วันพรุ่งนี้อาจจะรวยขึ้นจริง แต่วันพรุ่งนี้มิใช่มีเพียงวันเดียว ผู้ที่คิดให้ยาวออกไปอีกหลายๆ พรุ่งนี้จึงน่าจะสะดุดใจ
    และถ้าใช้ความคิดให้มากสักหน่อย เช่นว่า น่าละอายไหมที่ไปช่วงชิงของของผู้อื่น ยิ่งถ้าผู้อื่นนั้นเป็นคนดี คนบริสุทธิ์ ก็ยิ่งน่าละอายใจ เพราะคนดีอย่างที่เรียกว่าใจพระนั้นย่อมถือว่า “แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร” จึงเป็นผู้ยอมให้แก่ผู้ที่ต้องการ แม้จะต้องเสียจนหมดสิ้น ก็ยังดีกว่าจะเป็นทุกข์ใจมาก เพราะเหตุที่จะต้องแก่งแย่ง จะคิดเอาเปรียบนั้นไม่ต้องพูดถึง เพียงคิดให้พอเสมอกันก็ไม่ประสงค์จะได้เสียแล้ว คนดีที่มีใจเช่นนี้ ไม่มีประทุษร้ายจิตต่อใครเลย แม้แต่น้อย ใครต้องการจะเอาเปรียบเมื่อใดก็ได้เปรียบเมื่อนั้น แต่ข้อที่สำคัญ หากไปกระทบคนดีมีใจพระนั้นมิใช่จะได้เปรียบอย่างง่ายดายอย่างเดียว ยังได้กรรมที่หนักด้วย คือได้บาปหนักหนา คิด
     
  12. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    เอาเปรียบคนที่คิดเอาเปรียบด้วยกันยังบาปน้อยกว่า เพราะมีใจเป็นอกุศลเสมอกัน ข้อที่ว่าเป็นบาปหนักหนานั้น คือกดระดับแห่งจิตใจของตนเองลงไปให้ต่ำทรามไม่จำต้องไปพูดถึงนรกหรือผลอะไรที่คอยจะค้านอยู่
    ระดับของคน แม้เพียงคนสามัญย่อมมียุติธรรมตามควร ไม่ต้องการเสียเปรียบ ไม่ต้องการเอาเปรียบใคร ไม่รังแกข่มเหงผู้อื่น ไม่ต้องพูดถึงมิตรหรือผู้มีคุณมีอุปการะแก่ตนซึ่งจะต้องมีความซื่อตรงต่อมิตร มีความกตัญญูต่อผู้มีคุณโดยแท้ คนบาปหนักก็คือคนที่มีระดับแห่งจิตใจต่ำลงไปกว่านี้ พระพุทธเจ้าทรงปรารภคนที่มีระดับจิตใจต่างๆ กันนี้ จึงตรัสว่า “ความดีอันคนดีทำง่าย แต่คนชั่วทำยาก ส่วนความชั่วอันคนชั่วทำง่าย แต่คนดีทำยาก”
    เมื่อนั่งรถไปตามถนนสายต่างๆ ถึงตอนที่มีสัญญาณไฟเขียวแดง จะพบว่าถูกไฟแดงที่ต้องหยุดรถมากกว่าไฟเขียวซึ่งแล่นรถไปได้ น่านึกว่าการดำเนินทางชีวิตของทุกคนมักจะต้องพบอุปสรรคที่ทำให้การงานต้องชะงัก หากเทียบกับทางโปร่ง น่าจะต้องพบความติดขัดมากกว่าที่จะปลอดโปร่งไปได้ทีเดียว บางครั้งอาจต้องประสบเหตุที่น่าตกใจว่าจะล้มเหลวหรือเสียหายมาก คล้ายอุบัติเหตุของรถที่วิ่งไปบนถนน คนที่อ่อนแอย่อมยอมแพ้อุปสรรคง่ายๆ ส่วนคนที่เข้มแข็งย่อมไม่ยอมแพ้ เมื่อพบอุปสรรคก็แก้ไขไป รักษาการงานหรือสิ่งที่มุ่งจะทำไว้ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น ถืออุปสรรคเหมือนอย่างสัญญาณไฟแดงที่จะต้องพบเป็นระยะ ถ้ากลัวจะต้องพบสัญญาณไฟแดงตามถนนซึ่งต้องหยุดรถ ก็จะไปข้างไหนไม่ได้ แม้ในการดำเนินทางชีวิตก็ฉันนั้น ถ้ากลัวจะต้องพบอุปสรรคก็ทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนไว้แปลความว่า “คนพึงพยายามร่ำไปจนกว่าจะสำเร็จประโยชน์ที่ต้องการ”
    ความไม่สำเร็จและความพิบัติต่างๆ อาจมีได้เหมือนกัน เมื่อได้ใช้ความพยายามเต็มที่แล้วไม่ได้รับความสำเร็จก็ไม่ควรเสียใจ ควรคิดปลงใจลงว่าเป็นคราวที่จะพบความไม่สำเร็จในเรื่องนี้ ทั้งไม่ควรจนปัญญาที่จะคิดแก้หรือทำการอย่างอื่นต่อไป เพราะการงานที่จะพึงทำให้เกิดผลนั้นมีอยู่เป็นอันมาก ดังคำว่า “ทรัพย์นี้มิไกล ใครปัญญาไว หาได้บ่นาน” วิสัยคนมีปัญญาไม่อับจนถึงกับไปคิดแย่งทรัพย์ของใคร คนที่เที่ยวลักขโมยแย่งชิง หรือทำทุจริตเพื่อได้ทรัพย์ล้วนเป็นคนอับจนปัญญาที่จะหาในทางสุจริตทั้งนั้น ส่วนความพิบัติต่างๆ นั้น เมื่อไม่ประมาทยังต้องพบ ก็แปลว่าถึงคราว หรือที่เรียกว่าเป็นกรรม เช่น ถูกไฟไหม้หรือถูกเสียหายต่างๆ
    เรื่องของกรรมที่หมายถึงกรรมเก่า เป็นแรงดันที่สำคัญอย่างหนึ่ง กรรมเก่าที่ทำไว้ไม่ดีย่อมเป็นแรงดันให้พบผลที่ไม่ดี กรรมก่าที่ทำไว้ดีป็นแรงดันให้พบผลที่ดี แต่ยังมีแรงดันอีกอย่างหนึ่งที่ส่งเสริมหรือต้านทาน คือกรรมใหม่ที่ทำในปัจจุบัน ถ้ากรรมปัจจุบันไม่ดีเป็นแรงดันโต้แรงดันของกรรมดีเก่า ส่งเสริมแรงดันของกรรมเก่าที่ไม่ดีด้วยกัน ถ้ากรรมปัจจุบันดีก็เป็นแรงดันโต้แรงดันของกรรมเก่าที่ไม่ดี ส่งเสริมแรงดันของกรรมเก่าที่ดีด้วยกัน ความที่จะโต้กันหรือส่งเสริมกันได้เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่แก่ระดับของกำลังที่แรงหรืออ่อนกว่ากันเพียงไร
    คติทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า “บาปกรรมที่บุคคลใดทำไว้แล้ว บุคคลนั้นย่อมละได้ด้วยกุศล” ฉะนั้น ผู้ที่มีศรัทธาในกรรมหรือในบุญบาปจึงทำการที่ดีอยู่เสมอ และมีจิตใจเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เพราะได้เห็นแล้วว่าบุญช่วยได้จริงและช่วยได้ทันเวลา ผลที่เกิดขึ้นในระยะเวลาต่างๆ กันเป็นเครื่องพิสูจน์ ความจริงเรื่องบุญบาปซึ่งจะเห็นกันได้ในชีวิตนี้
    ชีวิตของทุกๆคนที่ผ่านพ้นไปรอบปีหนึ่งๆ นับว่าเป็นลาภอย่างยิ่ง เมื่อถึงวันเกิด บรรดาผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาจึงถือเป็นปรารภเหตุทำบุญน้อยหรือมาก เพื่อฉลองอายุที่ผ่านมาและเพื่อความเจริญอายุ พร้อมทั้งวรรณ สุข พล ยิ่งขึ้น ความเจริญอายุ วรรณ สุข พล เป็นพรที่ทุกๆ คนปรารถนา แต่พรเหล่านี้หาได้เกิดขึ้นด้วย
     
  13. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ลำพังความปรารถนาเท่านั้นไม่ ย่อมเกิดขึ้นจากการทำบุญ ฉะนั้นคนไทยเราส่วนมากจึงยินดีในการทำบุญ และยินดีได้รับพรอนุโมทนาจากพระสงฆ์หรือผู้ใหญ่ ยินดีรับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ในที่สุดแห่งการทำบุญถือว่าเป็นสิริมงคล
    พิจารณาดูถึงพฤติกรรมในเรื่องนี้โดยตลอดแล้ว จะเห็นว่าพึงเป็นสิริมงคลจริง เพราะสาระสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าได้ทำบุญแล้ว คำอวยพรต่างๆ จึงตามมาทีหลัง สนับสนุนกันให้จิตใจมีความสุขขึ้นในปัจจุบันทันที ความสุขอันบริสุทธิ์นี้แหละคือบุญ ดังมีพุทธภาษิตตรัสไว้แปลความว่า “ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อแห่งความสุข” หมายถึง ความสุขที่บริสุทธิ์ คือความสุขอันเกิดจากกรรมที่บริสุทธิ์ ซึ่งก็เรียกว่าบุญเช่นเดียวกัน
    อีกแห่งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ แปลความว่า “ผู้ที่ได้ทำบุญไว้บันเทิงเบิกบาน เพราะเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตน ผู้ที่ได้ทำบาปไว้อับเศร้า เพราะเห็นความเศร้าหมองแห่งกรรมของตน” อันกรรมที่บริสุทธิ์เกิดจากจิตใจที่บริสุทธิ์ เพราะสงบความโลภ โกรธ หลง ประกอบด้วยธรรมมีเมตตากรุณา เป็นต้น จะเห็นได้จากจิตใจของผู้ที่ทำการบริจาคในการบุญต่างๆ ของผู้ที่รักษาศีลและอบรมจิตใจกับปัญญา
    ใครๆก็เคยทำทาน รกษาศีล และอบรมจิตกับปัญญาดังกล่าว ย่อมจะทราบได้ว่ามีความสุขอย่างไร ตรงกันข้ามกับจิตใจที่เร่าร้อนด้วยกิเลสต่างๆ และแม้จะได้อะไรมาด้วยกิเลส มีความสุข ตื่นเต้น ลองคิดดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าเป็นความสุขจอมปลอม เพราะเป็นความสุขของคนที่หลงไปแล้ว เหมือนความสุขของคนที่ถูกเขาหลอกลวงนำไปทำร้าย ด้วยหลอกให้ตายใจและดีใจด้วยเครื่องล่ออย่างใดอย่างหนึ่ง คนที่ตายใจเสียเพราะเหตุนี้คือคนที่ประมาทไปแล้วดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนประมาทแล้วเหมือนคนตาย” ไม่อาจจะเห็นสัจจะ คือความจริง ตามธรรมของพระพุทธเจ้า อาจคัดค้านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ อย่างที่คิดว่าตนฉลาด
    ไม่มีอะไรจะช่วยบุคคลประเภทนี้ได้นอกจากการทำบุญ เพราะการทำบุญทุกครั้งไปย่อมเป็นการฟอกชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดขึ้นทุกที่ เหมือนอย่างการอาบน้ำชำระร่างกายซึ่งทำให้ร่างกายสะอาดสบาย เมื่อจิตใจมีความสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นตามสมควรแล้ว จะมองเห็นได้เองว่าความสุขที่บริสุทธิ์แท้จริงนั้นเกิดจากกรรมที่บริสุทธิ์เท่านั้น จะได้ปัญญาซาบซึ้งถึงคุณพระทั้งสามว่า “ความเกิดขึ้นของพระพุทธทั้งหลายให้เกิดสุขจริง การแสดงพระสัทธรรมให้เกิดสุขจริง ความพร้อมเพรียงของสงฆ์คือหมู่ให้เกิดสุขจริง ความเพียรของหมู่ที่พร้อมเพรียงกันให้เกิดสุขจริง”
    ผู้ที่มีจิตใจ กรรม และความสุขที่บริสุทธิ์ดังนี้ ชื่อว่าผู้มีบญอันได้ทำแล้วในปัจจุบันเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในตนเองอย่างที่ใครๆ หรืออะไรจะทำลายมิได้ และจะเจริญพร คือ อายุวรรณ สุข พล ยิ่งๆ ด้วยเดชบุญ
    ความเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ส่วนตนและส่วนรวม ตลอดถึงที่เรียกว่าเหตุการณ์ของโลก ได้เกิดขึ้น บางทีก็รวดเร็วอย่างไม่นึก ถึงกับทำให้คนทั้งปวงพากันตะลึงงันก็มี เหตุการณ์ในวันนี้เป็นอย่างนี้ แต่วันพรุ่งนี้เล่า ยากที่จะคาดว่าจะเป็นอย่างไร วันนี้ยังอยู่ดีๆ พรุ่งนี้มีข่าวออกมาว่าสิ้นชีพเสียแล้วก็มี เมื่อวานนี้ระเบิดกันตูมตามอยู่ วันนี้ประกาศออกไปว่าหยุดระเบิดส่วนใหญ่ก็มี วันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรอีกก็ยากที่จะทราบ
    ความเปลี่ยนแปลงของโลกดังนี้ ผู้ที่ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าย่อมไม่เห็นเป็นของแปลก ถ้าโลกจักหยุดเปลี่ยนแปลงนั่นแหละจึงจะแปลก ซึ่งไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เพราะขึ้นชื่อว่าโลกแล้วต้องเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ที่เรียกว่าความเปลี่ยนแปลงนั้น คือเหตุการณ์อย่างหนึ่งดับไป เหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งก็เกิดขึ้นแทน ฉะนั้น
     
  14. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ความเปลี่ยนแปลงก็คือความดับ – เกิด หรือความเกิด – ดับของสิ่งทั้งหลาย นี้เป็นวิบาก คือเป็นผล ถ้าเป็นผลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติก็มีคำเรียกว่าปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ซึ่งจะยกไว้ไม่พูดถึงในที่นี้ จะพูดถึงแต่ที่เกี่ยวกับบุคคลคือบุคคลก่อขึ้นเอง
    อันเหตุการณ์ที่คนก่อให้เกิดขึ้นนั้น นับว่าเป็นกรรมของคน หมายความว่า การที่คนทำขึ้นไม่ใช่หมายความว่ากรรมเก่าอะไรที่ไม่รู้ กรรมคือการที่ทำที่รู้ๆ อยู่นี่แหละ เมื่อก่อขึ้นด้วยกิเลส ก็เป็นเหตุทำลายล้าง แต่เมื่อก่อขึ้นด้วยธรรม ก็เป็นเหตุเกื้อกูลให้เกิดความสุข เหตุการณ์ส่วนใหญ่ของโลกนั้นมีขึ้นด้วยกิเลสหรือกรรมของคนไม่มากคนนัก แต่มีผลถึงคนทั้งปวงมากมาย
    ถ้าจะถามว่ากิเลสซึ่งนับว่าอธรรมเป็นธรรมนั้น ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่างกันตรงกันข้ามใครๆ ก็น่าจะมองเห็น แต่ไฉนจึงยังใช้กิเลสกันอยู่ พระพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่นๆจะช่วยให้คนใช้ธรรมกันให้มากกว่านี้มิได้หรือ
    ถ้ามีคำถามมาดังนี้ ก็น่าจะมีคำถามย้อนไปบ้างว่า เมื่อเป็นสิ่งที่น่ามองเห็นกันง่ายดังนั้นทำไมใครๆ จึงไม่สนใจที่จะปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้ากันให้มากขึ้นเล่า พระพุทธศาสนาพร้อมที่จะช่วยทุกๆ คนอยู่ทุกขณะ แต่เมื่อใครปิดประตูใจ ไม่เปิดรับธรรม พระพุทธศษสนาก็เข้าไปช่วยไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ โลกจึงต้องปราบกันลงไปด้วยกำลังต่างๆ แม้ฝ่ายถูกก็ต้องใช้กำลังแก่ฝ่ายผิด นับว่าเป็นเรื่องของโลก ซึ่งมีวุ่นวายมีสงบสลับกันไป และมนุษย์เรานั้นแม้มีกำลังกายด้อยกว่าช้างมาเป็นต้น แต่มีกำลังปัญญาสูงกว่า กำลังปัญญานี้เองที่สร้างแสนยานุภาพได้ยิ่งใหญ่ ทั้งสร้างระบอบธรรมอย่างดีวิเศษขึ้นด้วย ฉะนั้น ในขณะที่มีจิตใจได้สำนึกได้สติขึ้นแม้จะหลังตีกันมาพักใหญ่แล้ว ก็เป็นโอกาสที่มีปัญญามองเห็นธรรม และกลับมาใช้ธรรมสร้างความเจริญและความสุขกันต่อไป
    จุดหมายของชีวิตชีวิตอันอุดม เป็นจุดหมายที่พระพุทธเจ้าสอนให้ทุกคนปฏิบัติให้ถึง ถ้าจะตั้งปัญหาว่าอะไรคือชีวิตอันอุดม ก็น่าจะต้องพิจารณากัน คำว่า อุดม แปลว่า สูงสุด ชีวิตอันอุดมคือชีวิตที่สูงสุด ผลที่ปรารถนาจะได้อย่างสูงสุดในชีวิตใช่ไหมเป็นชีวิตอันอุดม ถ้าถือเอาความปรารถนาเป็นเกณฑ์ดังนี้ ก็ตอบได้ว่าไม่ใช่เกณฑ์จัดระดับชีวิตของพระพุทธเจ้าแน่นอน เพราะแต่ละคนย่อมมีความปรารถนาต่างๆ กัน ทั้งเพิ่มความปรารถนาขึ้นได้เสมอ จนถึงมีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า “แม่น้ำเสมอด้วยตัณหา(ความอยาก) ไม่มี” เช่น บางคนอยากเรียนให้สำเร็จปริญญาขั้นนั้นขั้นนี้ บางคนอยากเป็นเศรษฐี บางคนอยากเป็นเจ้าเมือง อยากเป็นอธิบดี อยากเป็นผู้แทนราษฎร อยากเป็นรัฐมนตรี อยากเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นต้น แต่คนที่มีความอยากดังนี้ จะประสบความสำเร็จดังที่อยากได้สักกี่คน ตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้ย่อมมีจำนวนจำกัด จะเป็นด้วยกันทุกคนหาได้ไม่ บางทีคนที่ไม่ได้คิดปรารถนาว่าจะเป็นก็ได้เป็นบางคนคิดอยากและขวนขวายต่างๆ มากมายก็ไม่ได้เป็น ต้องไปเป็นอย่างที่ไม่อยากก็มีอยู่มาก
    ฉะนั้น ผลที่ได้ด้วยความอยากอันเป็นตัณหา จึงมิใช่เป็นเกณฑ์จัดว่าเป็นชีวิตอันอุดมเช่นว่าเมื่อได้เป็นอย่างนั้นๆ แล้วก็เป็นอันได้ถึงขีดชีวิตอันอุดม ในทางโลกอาจจะเข้าใจกันเช่นนั้น เช่น ที่พูดว่ากำลังรุ่งเรือง หมายถึงอยู่ในตำแหน่งสูง มีทรัพย์ มีบริวารมาก ก็ว่าชีวิตขึ้นถึงขีดสูงแต่ละคนย่อมมีขีดสูงสุดต่างกัน ขีดสูงสุดผู้ใดก็เป็นชีวิตอันอุดมของผู้นั้น แต่ความขึ้นถึงขีดสูงสุดของชีวิตแบบนี้ ตามสายตาของท่านผู้รู้ย่อมว่าเป็นเหมือนอย่างความขึ้นของพลุ หรือความขึ้นของปรอทคนเป็นไข้ คือเป็นของชั่วคราว บางทีในขณะที่ชะตาชีวิตขึ้นสูงนั้น กลับมีชีวิตไม่เป็นสุข ต้องเป็นทุกข์มากเสียอีก บางคนอาจจะไม่ต้องการตำแหน่งอะไรสูงนัก แต่อยาก
     
  15. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    เรียนให้รู้มากๆ ให้สำเร็จชั้นสูงๆ สิ่งอื่นๆ ไม่สำคัญ แต่ความมีวิชาสูง (ทางโลก) จะหมายความว่ามีชีวิตสูงขึ้นด้วยหรือไม่
    อันวิชาย่อมเป็นปัจจัยอุดมหนุนชีวิตขึ้นอย่างหนึ่ง แต่จะต้องมีปัจจัยอื่นร่วมสนับสนุนอีกหลายอย่าง ดังจะเห็นตัวอย่างคนที่เรียนมามีวิชาสูงๆ แต่รักษาตัวไม่รอด หรือรักษาตัวให้ดีตามสมควรไม่ได้ ทั้งไม่ได้รับความนับถือจากคนทั้งหลายก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสรู้ จึงได้ทรงวางเกณฑ์ของชีวิตไว้ว่า ชีวิตมี 3 อย่างก่อน คือ ทุชีวิต ชีวิตชั่วร้าย หมายถึงคนที่ใช้ชีวิตทำกรรมชั่วร้ายต่างๆ โมฆชีวิต ชีวิตเปล่า หมายถึงคนที่ปล่อยให้ชีวิตล่วงไปเปล่าปราศจากประโยชน์ และสุชีวิต ชีวิตดี หมายถึงคนที่ใช้ชีวิตประกอบกรรมที่ดีที่ชอบต่างๆ และชีวิตดีนี้นี่เอง เมื่อมีมากๆ ขึ้นจะกลายเป็นชีวิตอุดมในที่สุด
    ชีวิตอันอุดมคือชีวิตอันสูงสุด ในแง่ของพระพุทธศาสนาคือชีวิตที่ดี อันเรียกว่าสุชีวิต หมายถึงความดีที่อาศัยชีวิตทำขึ้น ชีวิตของผู้ที่ทำดีจึงเรียกว่าชีวิตดี เมื่อทำดีมาก ชีวิตก็สูงขึ้นมาก ทำดีที่สุด ชีวิตก็สูงสุด
    ที่เรียกว่าชีวิตอุดมนั้น องค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่าความดีในชีวิตมี 4 ประการ คือ กรรม วิชา ศีล และธรรม อธิบายสั้นๆ กรรม คือการงานที่ทำ หมายถึงการงานที่เป็นประโยชน์ต่างๆ วิชา คือความรู้ในศิลปวิทยา ศีล คือความประพฤติที่ดี ธรรม คือคุณสมบัติที่ดีในจิตใจ ชีวิตที่ดีจะต้องมีองค์คุณทั้งสี่ประการนี้ ชีวิตจะสูงขึ้นเพียงไร ก็สุดแต่องค์คุณทั้งสี่นี้จะสูงขึ้นเท่าไร
    นึกดูถึงบุคคลในโลกที่คนเป็นอันมากรู้จัก เรียกว่าคนมีชื่อเสียง ลองตรวจดูว่าอะไรทำให้เขาเป็นคนสำคัญขึ้น ก็จะเห็นได้ว่า ข้อแรกก็คือกรรม การงานที่เขาได้ทำให้ปรากฏเป็นการงานที่สำคัญในทางดีก็ได้ ในทางเสียทางร้ายก็ได้ ในทางดี เช่น คนที่ได้ทำอะไรเป็นสิ่งเกื้อกูลมาก ในทางชั่ว เช่น คนที่ทำอะไรเลวร้ายเป็นข้อฉกรรจ์ เหล่านี้เกี่ยวแก่กรรมทั้งนั้น
    ไม่ต้องคิดออกไปให้ไกลตัว คิดเข้ามาที่ตนเอง ก็จะเห็นว่าการงานของตนเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิต คนเราทุกคนจะเป็นอะไรขึ้นมาก็เพราะการงานของตน เช่น จะเป็นชาวนาก็เพราะทำนา กสิกรรมเป็นการงานของตน ของผู้ที่เป็นชาวนา จะเป็นพ่อค้าก็เพราะทำพาณิชยการ คือการค้า จะเป็นหมอก็เพราะประกอบเวชกรรม จะเป็นนักเรียนนักศึกษาก็เพราะทำการเรียนการศึกษา จะเป็นโจรก็เพราะทำโจรกรรม ดังนี้เป็นต้น
    กรรมทั้งปวงนี้ ไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมเกิดจากการทำ อยู่เฉยๆ จะเป็นกรรมอะไรขึ้นมาหาได้ไม่ จะเป็นกรรมชั่วก็เพราะทำ อยู่เฉยๆ กรรมชั่วไม่เกิดขึ้นมาเองได้ แต่ทำกรรมชั่วอาจรู้สึกว่าทำได้ง่าย เพราะมักมีความอยากจะทำ มีแรงกระตุ้นให้ทำ ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “กรรมชั่วคนชั่วทำง่าย แต่คนดีทำยาก”
    ฉะนั้น ใครที่รู้สึกตนว่าทำชั่วได้ง่าย ก็ต้องเข้าใจว่าตนเองยังเป็นคนชั่วอยู่ในเรื่องนั้น ถ้าตนเองเป็นดีขึ้นแล้ว จะทำชั่วในเรื่องนั้นได้ยากหรือทำไม่ได้เอาทีเดียว ชีวิตชั่วย่อมเกิดจากการทำชั่วนี่แหละ”
    ส่วนกรรมดีก็เหมือนกัน อยู่เฉยๆ จะเกิดเป็นกรรมดีขึ้นมาเองหาได้ไม่ แต่อาจรู้สึกว่าทำกรรมดียาก จะต้องใช้ความตั้งใจ ความเพียรมาก แม้ในเรื่องของกรรมดี พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า “กรรมดีคนดีทำง่าย แต่คนทำชั่วทำยาก”
    ฉะนั้นใครที่ทำดียากในข้อใด ก็พึงทราบว่าตนเองยังไม่ดีพอ ต้องส่งเสริมตนเองให้ดีขึ้นอีกด้วยความพากเพียรทำกรรมดีนี่แหละ ถ้าเกียจคร้านไม่ทำกรรมดีอะไร ถึงจะไม่ทำกรรมชั่ว ชีวิตก็เป็นโมฆชีวิต คือชีวิตเปล่าประโยชน์ ค่าของชีวิตจึงมีได้ด้วยกรรมดี ทำกรรมดีมาก ค่าของชีวิตก็สูงมาก
     
  16. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ชีวิตของทุกคนเกี่ยวข้องกับกรรม ทั้งที่เป็นกรรมเก่า ทั้งที่เป็นกรรมใหม่ จะกล่าวว่าชีวิตเป็นผลของกรรมก็ได้
    คำว่า กรรมเก่า กรรมใหม่ นี้อธิบายได้หลายระยะ เช่น ระยะไกล กรรมที่ทำแล้วในอดีตชาติเรียกว่ากรรมเก่า กรรมที่ทำแล้วในปัจจุบันชาติเรียกว่ากรรมใหม่ อธิบายอย่างนี้อาจจะไกลมากไป จนคนที่ไม่เชื่ออดีตชาติเกิดความคลางแคลง ไม่เชื่อ จึงเปลี่ยนมาอธิบายระยะใกล้ว่าในปัจจุบันชาตินี้แหละ กรรมที่ทำไปแล้วตั้งแต่เกิดมาเป็นกรรมเก่า ส่วนกรรมที่เพิ่งทำเสร็จลงไปใหม่ๆ เป็นกรรมใหม่ แม้กรรมที่กำลังทำหรือที่จะทำก็เป็นกรรมใหม่
    ความมีชีวิตดีหรือชั่วย่อมขึ้นอยู่แก่กรรมที่ทำแล้วนี้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ความขึ้นหรือลงแห่งชีวิตย่อมแล้วแต่กรรม แต่ก็อาจจะกล่าวว่าย่อมแล้วแต่บุคคลด้วย เพราะบุคคลเป็นผู้ทำกรรม เป็นเจ้าของกรรม สามารถที่จะละอกุศลกรรมด้วยกุศลกรรมได้ คือสร้างกุศลกรรมขึ้นอยู่เสมอ เมื่อกุศลกรรมมีกำลังแรงกว่า อกุศลกรรมจะตามไม่ทัน หรือจะเป็นอโหสิกรรมไป
    แต่ในการสร้างกุศลกรรมนั้น ย่อมขึ้นอยู่แก่จิตใจเป็นประการสำคัญ คือจะต้องมีจิตใจประกอบด้วยสัมมาทิฐิ คือความเห็นชอบ ตั้งต้นแต่เห็นว่าอะไรเป็นบาปอกุศล อะไรเป็นบุญกุศลตลอดถึงเห็นในเหตุผลแห่งทุกข์และความดับทุกข์ตามเป็นจริง ความเห็นชอบดังนี้จะมีขึ้นก็ต้องอาศัยวิชาที่แปลว่าความรู้
    อันคำที่หมายถึงความรู้มีอยู่หลายคำ เช่น วิชา ปัญญา ญาณ เฉพาะคำว่า วิชา หมายถึงคามรู้ดังกล่าวก็ได้ หมายถึงวิชาที่เรียนรู้ ดังที่พูดกันว่าเรียนวิชานั้นวิชานี้ก็ได้ ในที่นี้หมายถึงรวมๆ กันไป จะเป็นความรู้โดยตรงก็ได้ จะเป็นความรู้ที่เรียนดังที่เรียกว่าเรียนวิชาก็ได้ เมื่อหมายถึงตัวความรู้โดยตรงก็เป็นอย่างเดียวกับปัญญา
    วิชาเป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งชีวิตอีกข้อหนึ่ง และเมื่อพิจารณาดูแล้ว จะเห็นว่ากรรมทุกๆอย่างย่อมต้องอาศัยวิชา ถ้าขาดวิชาเสีย จะทำกรรมอะไรหาได้ไม่ คือจะต้องมีวิชาความรู้จึงจะทำอะไรได้ ทุกคนจึงต้องเรียนวิชาสำหรับใช้ในการประกอบกรรมตามที่ประสงค์ เช่น ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกสิกรรมก็ต้องเรียนวิชาทางกสิกรรม จะประกอบอาชีพทางตุลาการหรือทนายความ ก็ต้องเรียนวิชากฎหมาย ดังนี้เป็นต้น นี้เป็นวิชาความรู้ทั่วไป
    วิชาอีกอย่างหนึ่งคื่อวิชาที่จะทำให้เป็นสัมมาทิฐิดังกล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละอกุศลกรรมด้วยกุศลกรรม และที่จะเป็นเหตุให้ละความทุกข์ที่เกิดขึ้นทางใจได้ วิชาละอกุศลธรรมและวิชาละความทุกข์ใจนี้ เป็นวิชาสำคัญที่จะต้องเรียนให้รู้ และเป็นวิชาของพระพุทธเจ้าโดยตรง ถึงจะรู้วิชาอื่นท่วมท้น แต่ขาดวิชาหลังนี้ ก็จะรักษาตัวรอดได้โดยยาก
    พึ่งผิดที่ ชีวิตย่อมมีภัยภัยของชีวิตโดยตรงคือกิเลส กล่าวอย่างสามัญคือ โลภะ ความอยากได้ โทสะ ความขัดเคือง โมหะ ความหลง เรียกกันสั้นๆ ว่า โลภ โกรธ หลง สำหรับภูมิคฤหัสถ์หมายถึงที่เป็นมูลให้ประพฤติชั่ว เรียกว่า กิเลสภัย1 อกุศลทุจริต บาปกรรม เรียกว่า ทุจริตภัย1 ทางดำเนินที่ชั่วประกอบด้วยทุกข์เดือดร้อน เรียกว่า ทุคติภัย1 ทั้งสามนี้เป็นเหตุผลเนื่องกัน คือกิเลสเป็นเหตุให้ประกอบทุจริต ทุจริตก็ส่งไปสู่ทุคติ
    ภัยเหล่านี้บุคคลนั่นเองก่อขึ้นแก่ตน คือก่อกิเลสขึ้นก่อน แล้วก่อกรรมก่อทุกข์เดือดร้อน ทั้งนี้เพราะระลึกแล่นไปผิด จะกล่าวว่าถึงสรณะผิดก็ได้ คือถึงกิเลสเป็นสรณะ ได้แก่ ระลึกแล่นไปถึงสิ่งที่เป็นเครื่องก่อโลภ โกรธ หลง เช่น แก้วแหวนเงินทอง ลาภยศ ที่ไม่ควรได้ควรถึงแก่ตน จะกล่าวว่าถึงลาภยศเช่นนั้นเป็นสรณะ
     
  17. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ก็ได้ ด้วยจำแนกออกเป็นสิ่งๆ และระลึกแล่นไปถึงบุคคลผู้มีโลภโกรธธหลงว่าผู้นั้นเป็นอย่างนั้น ผู้นี้เป็นอย่างนี้ และถือเอาเป็นตัวอย่าง ถึงกรรมที่เป็นทุจริตเป็นสรณะ คือ ระลึกแล่นไปเพื่อฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เพื่อลักขโมยฉ้อโกง เพื่อประพฤติผิดในทางกาม เพื่อพูดเท็จ เพื่อดื่มน้ำเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท หรือระลึกแล่นไปในทางอบายมุขต่างๆ เมื่อจิตระลึกแล่นไปเช่นนี้ ก็เป็นผู้เข้านั่งใกล้กิเลสทุจริตนั้นๆ ด้วยจิตก่อน แล้วก็เข้านั่งใกล้ด้วยกาย ด้วยประพฤติทุจริตนั้นๆ ทางกาย วาจา ใจ ทางดำเนินของตนจึงเป็นทุคติตั้งแต่เข้านั่งใกล้กิเลสทุจริตในปัจจุบันนี้ทีเดียว
    คนเป็นผู้ก่อภัยขึ้นแก่ตนด้วยตนเองเพราะถึงสรณะที่ผิดฉะนี้ และเพราะมีกิเลสกำบังปัญญาอยู่ จึงไม่รู้ว่าเป็นภัย ส่วนผู้ที่ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่ระลึกแล่นไปของจิต ตลอดถึงนำกายเข้านั่งใกล้เป็นอุบาสกอุบาสิกาของพระพุทธเจ้าย่อมเป็นผู้ไม่ก่อภัยเหล่านี้ เพราะพระรัตนตรัยเป็นที่ระลึกที่ไม่ก่อภัยทุกอย่าง จึงเป็นผู้ละภัยได้
    อนึ่ง ผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ เข้านั่งใกล้พระรัตนตรัยย่อมเป็นผู้ใคร่ปรารถนาธรรม ที่เรียกว่าธรรมกามบุคคล จึงเป็นผู้พอใจขวนขวายและตั้งใจสดับฟังธรรม จึงได้ปัญญารู้ธรรมยิ่งขึ้นโดยลำดับ ความรู้ธรรมนั้น กล่าวโดยตรงก็คือ รู้สัจจะ สภาพที่จริง กล่าวอย่างสามัญ ได้แก่ รู้ว่าอะไรดี มีคุณประโยชน์ เป็นบุญเป็นกุศล เป็นทางเจริญ อะไรชั่วเป็นโทษ ไร้ประโยชน์ เป็นบาป เป็นอกุศล เป็นทางเสื่อมเสีย อะไรเป็นวิธีที่จะหลีกทางเสื่อมเสียนั้นๆ ดำเนินไปสู่ทางเจริญกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รู้อริยสัจ แปลว่า ของจริงของพระอริยะ คือรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หลักอริยสัจนี้อาจน้อมมาใช้เพื่อแก้ทุกข์ในโลกได้ทั่วไป และเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่นสอนแก่ผู้ที่ยังเกลือกกลั้วอยู่ด้วยทุกข์ และมีความปรารถนาเพื่อจะเปลื้องทุกข์ออกจากตน เพราะหลักอริยสัจเป็นหลักของเหตุผล ผลต่างๆ นั้นย่อมเกิดแต่เหตุ เมื่อจะเปลี่ยนแปลงผล ก็ต้องเปลี่ยนแปลงเหตุหรือแก้เหตุ
    ผู้กล่าวว่าไม่ต้องการผลอย่างนี้ๆ แต่ยังประกอบเหตุเพื่อให้เกิดผลอย่างนั้นอยู่ ไม่สามารถจะพ้นจากผลอย่างนั้นได้ เช่น กล่าวว่าไม่ต้องการความเสื่อมทรัพย์ แต่ก็ดำเนินไปในอบายมุข มีเป็นนักเลงการพนัน เป็นต้น ก็ต้องประสบความเสื่อมทรัพย์อยู่นั่นเอง กล่าวว่าไม่ต้องการความวิวาทบาดหมางในระหว่าง แต่ยังประพฤติก่อเหตุวิวาทอยู่ ก็คงต้องวิวาทกันอยู่นั่นเอง กล่าวว่า ไม่ต้องการทุคติ แต่ยังประพฤติทุจริตอยู่ ก็คงต้องประสบทุคติอยู่นั่นเอง กล่าวว่าไม่อยากแก่ เจ็บ ตาย แต่ยังยึดถือแก่ เจ็บ ตาย เป็นของเราอยู่ ก็ต้องประสบทุกข์เหล่านี้อยู่นั่นเอง ทุกข์ในข้อหลังนี้ พระบรมศาสดาทรงยกแสดงเป็นทุกขสัจจ์ ในที่ทรงแสดงอริยสัจทั่วไป และทรงยกตัณหาคือความดิ้นรนกระเสือกกระสนของใจ เพื่อได้สิ่งที่ชอบ เพื่อเป็นนั่นเป็นนี่ เพื่อไม่เป็นนั่นเป็นนี่ ว่าเป็นเหตุเกิดทุกข์ ยกทางมีองค์แปดมีความเห็นชอบ เป็นต้น ว่าเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ความเห็นชอบนั้นก็คือ เห็นเหตุผลทั้งสองฝ่าย ตามหลักอริยสัจนี้นั้นเอง
    กล่าวโดยย่อ เมื่อจะละทุกข์ก็ต้องรู้จักทุกข์และปล่อยทุกข์เสีย ด้วยปัญญาที่เข้าถึงสัจจะคือความจริง เมื่อละทุกข์ได้ ก็ย่อมประสบความสงบสุขโดยลำดับ
    ความสุขอยู่ที่ไหนอันความสุขย่อมเป็นที่ปรารถนาของคนทุกๆคน และทุกๆ คนย่อมเคยประสบความสุขมาแล้ว ความสุขเป็นอย่างไรจึงเป็นที่รู้จักกันอยู่ ในเวลาที่กายและจิตใจอิ่มเอิบสมบูรณ์สบายก็กล่าวกันว่าเป็นสุข ความสุขจึงเกิดขึ้นที่กายและจิตใจนี่เอง สำหรับกายนั้น เพียงให้เครื่องอุปโภคบริโภคพอให้เป็นไปได้ก็นับว่าสบาย แม้กาย
     
  18. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    สบายดังกล่าวมานี้ ถ้าจิตไม่สบาย กายก็พลอยซูบซีดเศร้าหมองด้วย ส่วนกายเมื่อไม่สบายด้วยความเจ็บป่วย หรือด้วยความคับแค้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าจิตยังร่าเริงสบายอยู่ ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์เป็นร้อนเท่าใดนัก และความไม่สบายของกายก็อาจบรรเทาไปได้เพราะเหตุนี้ ความสุขจิตสุขใจนั่นแลเป็นสำคัญ
    อันความสุขทางจิตใจนี้ คิดๆดูก็น่าเห็นว่าหาได้ไม่ยากอีก เพราะความสุขอยู่ที่จิตใจของตนเอง จักต้องการให้จิตเป็นสุขเมื่อใดก็น่าจะได้ ใครๆ เมื่อคิดดูก็จักต้องยอมรับว่าน่าคิดเห็นอย่างนั้น แต่ก็ต้องยอมจนอีกว่าสามัญชนทำไม่ได้เสมอไป เพราะยังต้องการเครื่องอุปกรณ์แห่งความสุข หรือเรียกว่าเครื่องแวดล้อมอุดหนุนความสุข มีเงินทอง เครื่องอุปโภคบริโภค เป็นต้น ถ้าเครื่องอุปกรณ์แห่งความสุขขาดไปหรือมีไม่เพียงพอ ก็ทำให้เป็นสุขมิได้ นี้เรียกว่ายังต้องปล่อยใจให้เป็นไปตามเหตุการณ์อยู่ ข้อนี้เป็นความจริง เพราะเหตุฉะนี้ ในที่นี้จึงประสงค์ความสุขที่มีเครื่องแวดล้อมหรือที่เรียกว่าสุขสมบัติ อันเป็นความสุขขั้นสามัญชนทั่วไป
    คิดดูเผินๆ ความสุขนี้น่าจักหาได้ไม่ยาก เพราะในโลกนี้มีเครื่องอุปกรณ์แห่งความสุขแวดล้อมอยู่โดยมาก หากสังเกตดูชีวิตของคนโดยมากที่กำลังดำเนินไปอยู่ จักรู้สึกว่าตรงกันข้ามกับที่คิดคาด ทั้งนี้มิใช่เพราะเครื่องแวดล้อมอุดหนุนความสุขในโลกนี้มีน้อยจนไม่เพียงพอ แต่เป็นเพราะผู้ขาดแคลนความสุขสมบัติ ไม่ทำเหตุอันเป็นศรีแห่งสุขสมบัติ จึงไม่ได้สุขสมบัติเป็นกรรมสิทธิ์ ส่วนผู้ที่ทำเหตุแห่งสุขสมบัติ ย่อมได้สุขสมบัติมาเป็นธรรมสิทธิ์ เพราะเหตุนี้ผู้ปรารถนาสุขจึงสมควรจับเหตุให้ได้ก่อนว่าอะไรเป็นเหตุของความสุข และอะไรเป็นเหตุของความทุกข์
    บางคนอาจมองเห็นว่าเหตุของความสุขความทุกข์อยู่ภายนอก คือสุขเกิดจากสิ่งภายนอก มีเงินทอง ยศ ชื่อเสียง บ้านที่สวยงาม เป็นต้น ส่วนความทุกข์ก็เกิดจากสิ่งภายนอกนั้นเหมือนกัน บางคนอาจเห็นว่าความสุขความทุกข์เกิดจากเหตุภายใน จักพิจารณาความเห็นทั้งสองนี้ต่อไป
    เงื่อนไขของความสุขสิ่งภายนอก โดยมากถ้าเป็นส่วนที่ดี มีเงินทอง ยศ ชื่อเสียง เป็นต้น ก็เป็นที่ปรารถนาตรงกันของคนเป็นอันมาก จึงต้องมีการแสวงหาแข่งขันกันโดยทางใดทางหนึ่ง เมื่อได้มาก็ให้เกิดความสุขเพราะสมปรารถนาบ้าง เพราะนำไปเลี้ยงชีพตนและผู้อื่นให้อิ่มหนำสำราญบ้างสิ่งภายนอกย่อมอุดหนุนความสุขฉะนี้ แต่สิ่งภายนอกเป็นของไม่ยั่งยืน แปรเปลี่ยนไปอยู่เสมอ ความสุขที่เกี่ยวเกาะติดอยู่ก็ต้องแปรเปลี่ยนไปตาม ความทุกข์จึงปรากฏขึ้นติดๆ กันไปทีเดียว ความสุขเช่นนี้เป็นความสุขที่ลอยไปลอยมา หรือเรียกว่าเป็นความสุขลูกโป่ง และในความแสวงหา ถ้าไม่ได้ หรือได้สิ่งที่ไม่ชอบ ก็ให้เกิดความทุกข์ เพราะไม่สมปรารถนา อนึ่ง ถ้าได้สิ่งนั้นๆ มาด้วยการกระทำที่ไม่ดี การกระทำนั้นก็จักเป็นเครื่องตัดทอนตนเองอีกส่วนหนึ่ง ข้อความที่กล่าวมานี้แสดงว่าสิ่งภายนอกอุดหนุนความสุขสำราญให้บ้าง แต่จัดเป็นเหตุของความสุขหรือ? ถ้าเป็นเหตุของความสุข ผู้ที่มีสิ่งภายนอกบริบูรณ์จักต้องเป็นสุขทุกคน แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ผู้ที่บริบูรณ์ด้วยสิ่งภายนอกแต่เป็นทุกข์มีถมไป เพราะเหตุนี้ สิ่งภายนอกจึงมิใช่เป็นตัวหตุของความสุข เป็นเพียงเครื่องแวดล้อมอุดหนุนความสุขดังกล่าวแล้วเท่านั้น บัดนี้ยังเหลืออยู่อีกความเห็นหนึ่ง ซึ่งว่าสุขทุกข์เกิดจากเหตุภายใน
    อันสิ่งภายนอก มีเงินทอง ยศ ชื่อเสียง เป็นต้น อันเป็นอุปกรณ์แก่ความสุข เมื่อคิดดูให้ซึ้งลงไป จักเห็นว่าเกิดจากการกระทำของตนเอง ถ้าตนเองอยู่เฉยๆ ไม่ทำการงานอันเป็นเหตุที่เพิ่มพูนสิ่งภายนอกเหล่านั้น สิ่งภายนอกนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น ที่มีอยู่แล้วก็ต้องแปรเปลี่ยนไป ถ้าไม่มีใหม่มาชดเชยก็จักต้องหมดไปในที่สุด เพราะเหตุฉะนี้จึงกล่าวได้ว่าสิ่งภายนอกที่เป็นอุปกรณ์แก่ความสุขนั้น ก็เกิดขึ้นเพราะการกระทำของตนเอง
     
  19. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ในทางธรรม การประกอบอาชีพ มีกสิกรรม พาณิชยกรรม เป็นต้น ไปตามธรรมดาไม่เรียกเป็นการงานที่ดีหรือชั่ว แม้ชาวโลกก็ไม่เรียกผู้ประกอบการอาชีพไปตามธรรมดาว่าเป็นคนดีหรือเป็นคนเลว แต่หากว่ามีการทำอย่างอื่นพิเศษออกไป ถ้าต้องด้วยเนติอันงามก็เรียกกันว่าดี ถ้าไม่ต้องด้วยเนติอันงามก็เรียกกันว่าเลว ไม่ดี เพราะเหตุฉะนั้น ผู้ปรารถนาสุขเบื้องต้นจึงสมควรหมั่นประกอบการงานหาเลี้ยงชีพตามทางของตน โดยไม่ตัดรอนกันไม่เฉื่อยชา เกียจคร้าน และแก้ไขในการงานของตนให้ดีขึ้น ก็จักไม่ต้องประสบความแร้นแค้นขัดข้อง ถ้าไม่มหั่นประกอบการงาน เกียจคร้าน เฉื่อยชา และไม่คิดแก้ไขการงานของตนให้ดีขึ้น ปล่อยไปตามเรื่อง ก็อาจจักต้องประสบความยากจนข้นแค้น ต้องอกแห้งเป็นทุกข์และนั่นเป็นความผิดใหญ่ต่อประโยชน์ปัจจุบันของตนเอง
    การทำอย่างหนึ่งทางธรรมเรียกว่าดี เป็นวิถีทางของคนฉลาด และทางโลกยกย่องนับถือว่าดี การทำอย่างนี้เรียกว่าสุจริต แปลว่า ประพฤติดี ประพฤติดีทางกาย เรียกว่ากายสุจริต ประพฤติทางวาจา เรียกว่าวจีสุจริต ประพฤติดีทางใจ เรียกว่ามโนสุจริต กายสุจริต จำแนกเป็น 3 คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในทางกามประเวณี วจีสุจริต จำแนกเป็น 4 คือ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล มโนสุจริตจำแนกเป็น 3 คือ ไม่เพ็งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่นด้วยโลภเจตนา คิดจะเอามาเป็นของของตน ไม่พยาบาทปองร้าย ไม่เห็นผิดจากคลองธรรม มีความเห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น รวม 10 ประการ
    ส่วนการกระทำที่ตรงกันข้าม เรียกว่าทุจริต แปลว่า ประพฤติชั่ว ประพฤติชั่วทางกาย เรียกว่า กายทุจริต ประพฤติชั่วทางวาจา เรียกว่า วจีทุจริต ประพฤติชั่วทางใจเรียกว่า มโนทุจริต ทุจริต 3 นี้มีจำแนกตรงกันข้ามกับสุจริต
    คำว่า ประพฤติ มักจะพูดมุ่งหมายถึงการกระทำทางกายและวาจา คำว่า ทำ ก็มักพูด หมายถึงการทำทางกาย การทำทางวาจาเรียกว่าพูด การทำทางใจเรียกว่าคิด ส่วนทางธรรมการทำ พูด คิด เรียกเป็นอย่างเดียวกันว่า ทำ หรือประพฤติ และมีคำว่า กาย วาจา ใจ กำกับ เพื่อให้รู้ว่าทำหรือประพฤติทางไหน
    ทุจริต ทางธรรมเรียกว่าไม่ดี เป็นวิถีทางของผู้ไม่ฉลาด ทางโลกก็เหยียดหยามว่าเลวไม่ดี โดยนัยนี้จึงเห็นว่า ทั้งทางโลกทั้งทางธรรมนับถือสิทธิของผู้อื่น หรือเรียกว่านับถือขอบเขตแห่งความสงบสุขของผู้อื่น เพราะสุจริตและทุจริตที่จำแนกไว้อย่างละ 10 ประการนั้น โดยความก็คือไม่ประพฤติละเมิดสิทธิ หรือไม่เบียดเบียนความสงบสุขของผู้อื่น และการประพฤติละเมิดสิทธิและความสงบสุขของผู้อื่นนั้นเอง แต่ทางโลกนับถือสิทธิของบุคคลและสัตว์เดียรัจฉานบางจำพวก ไม่นับถือบางจำพวก โดยอาศัยกฎหมายเป็นหลัก ส่วนทางธรรมนับถือทั่วไป ไม่มีแบ่งแยกยกเว้น เพราะทางธรรมละเอียดประณีต
    อนึ่ง ทุจริต อยู่เฉยๆ ประพฤติไม่ได้ ต้องประพฤติด้วยความขวนขวายพยายามจนผิดแผกแปลกไปจากปกติ จึงจัดเป็นทุจริตได้ ส่วนสุจริตประพฤติได้โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงประพฤติไปตามปกติของตนนั่นแล ไมต้องตกแต่งเปลี่ยนแปลงก็เป็นสุจริตได้ เพราะเหตุนี้เมื่อว่าทางความประพฤติ สุจริตจึงประพฤติได้ง่ายกว่า
    เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไรทุจริตจึงเกิดขึ้นได้ ข้อนี้เป็นเพราะยังขาดธรรมะในใจเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง ความประพฤติจึงเป็นไปตามใจของตนเอง ผู้รักษาศีลหรือประพฤติสุจริตหรือแม้ประพฤติกฎหมายของบ้านเมือง ถ้าไม่มีธรรมะอยู่ในใจบ้างแล้ว ก็มักจะรักษาหรือประพฤติทำนองทนายว่าความ เพราะการกระทำบางอย่างไม่ผิดศีลตามสิกขาบท ไม่ผิดสุจริตตามหัวข้อ แต่ผิดธรรมะมีอยู่ และจะประพฤติหรือรักษาให้ตลอดไปมิได้ เพราะเหตุนี้จึงสมควรมีธรรมะในใจสำหรับประพฤติคู่กันไปกับสุจริต
     
  20. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ธรรมะมีมาก แต่ในที่นี้จักเลือกแสดงแต่ที่สมควรประพฤติปฏิบัติคู่กันไปกับสุจริตโดยนัยหนึ่งคือ มีความละอายใจในการเบียดเบียน มีความเอ็นดูขวนขวายอนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวงด้วยประโยชน์ คู่กับการไม่ฆ่าสัตว์ มีความโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เฉลี่ยความสุขของตนแก่คนที่ควรเฉลี่ยให้ด้วยการบริจาคให้ คู่กับการไม่ลักทรัพย์ มีสันโดษยินดีเฉพาะสามีหรือภริยาของตน ไม่คิดนอกใจ สำหรับผู้ที่ยังไม่มีครอบครัว ก็มีเคารพในธรรมเนียมประเพณีที่ดี ไม่คิดละเมิด คู่กับการไม่ประพฤติผิดในทางกามประเวณี อนึ่ง มีปากตรงกับใจ ไม่ลดเลี้ยวลับลมคมใน คู่กับไม่พูดปด พูดชักให้เกิดสามัคคี สมานสามัคคีด้วยในใจสมานคู่กับไม่พูดส่อเสียด พูดกันดีๆ อ่อนหวาน ตามสมควรแก่ภาษานิยม มิใช่กด มิใช่ยกยอด้วยอัธยาศัยอ่อนโยนนิ่มนวล ไม่กระด้าง คู่กับไม่พูดคำหยาบ พูดมีหลักฐานที่อ้างอิง มีกำหนด มีประโยชน์ มีจบอย่างสูง เรียกว่ามีวาจาสิทธิ์ ด้วยความตกลงใจทันท่วงที มั่นคง ไม่โงนเงน โลเล คู่กับไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล อนึ่ง มีใจสันโดษยินดีในสมบัติของตนตามได้ ตามกำลัง ตามสมควร และมีใจยินดีด้วย หรือวางใจเฉยๆ ด้วยความรู้เท่าในเมื่อผู้อื่นได้รับสมบัติหรือในเมื่อเห็นสมบัติของผู้อื่น คู่กับไม่เพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่นด้วยโลภเจตนาคิดจะเอามาเป็นของตน มีเมตตาไมตรีจิตในสัตว์ทั้งปวง คู่กับไม่พยาบาทปองร้าย ทำความเห็นให้ตรงเพื่อให้ถูกให้ชอบยิ่งขึ้น คู่กับความเห็นชอบ
    ธรรมตามที่แสดงมานี้มีอยู่ในบุคคลใด บุคคลนั้นชื่อว่า ธรรมจารี ผู้ประพฤติธรรมหมายถึงความประพฤติเรียกว่า ธรรมจริยา ส่วนที่ตรงกันข้ามกับที่แสดงมานี้เรียกว่า อธรรม คู่กับ ทุจริต สุจริตกับธรรมที่คู่กันเรียกอย่างสั้นในที่นี้ว่า สุจริตธรรม นอกนี้เรียกว่าทุจริตธรรม
    สุจริตธรรม เหตุแห่งความสุขที่แท้จริงสุจริตธรรมให้เกิดผลอย่างไร ทุจริตธรรมให้เกิดผลอย่างไร คิดให้รอบคอบสักหน่อยก็จักให้เห็นได้ในปัจจุบันนี้เอง ผู้ประพฤติสุจริตธรรมย่อมเป็นคนไม่มีภัย ไม่มีเวร มีกาย วาจา ใจปลอดโปร่ง นี้เป็นความสุขที่เห็นกันอยู่แล้ว ส่วนผู้ประพฤติทุจริตธรรม ตรงกันข้าม มีกาย วาจา ใจหมกมุ่นวุ่นวาย แม้จักมีทรัพย์ ยศ ชื่อเสียงสักเท่าใด ก็ไม่ช่วยให้ปลอดโปร่งได้ ต้องเปลืองทรัพย์ เปลืองสุข ระวังทรัพย์ ระวังรอบด้าน นี้เป็นความทุกข์ที่เห็นกันอยู่แล้ว ส่วนในอนาคตเล่าจักเป็นอย่างไร อาศัยพุทธภาษิตที่แสดงว่า กลฺยาณการี กลฺยาณํ ผู้ทำดีย่อมได้ดี ปาปการี จ ปาปกํ ผู้ทำชั่วย่อมได้ชั่ว จึงลงสันนิษฐานได้ว่า สุจริตธรรมอำนวยผลที่ดีคือความสุข ทุจริตอธรรมอำนวยผลที่ชั่วคือความทุกข์แม้ในอนาคตแน่แท้ อนึ่ง ในที่นี้รวมผลแห่งสุจริตธรรมทั้งสิ้น แสดงรวมยอดอย่างเดียวว่าความสุข เพราะเหตุนี้ สิ่งใดเป็นอุปกรณ์แห่งความสุขหรือเรียกว่าสุขสมบัติ เช่น ความบริบูรณ์ทรัพย์ ผิวพรรณงาม อายุยืน ยศ ชื่อเสียง สิ่งนั้นทั้งหมดเป็นผลแห่งสุจริตธรรม
    จักแสดงวิธีปฏิบัติสุจริตธรรมสักคู่หนึ่งโดยย่อไว้เผื่อผู้ต้องการต่อไป คือ ไม่พยาบาทกับเมตตา เมื่ออารมณ์ร้ายอย่างเบา คือความหงุดหงิด ไม่พอใจ แรงขึ้นเป็นความฉุนเฉียวร้ายกาจ แรงขึ้นอีกเป็นพยาบาท เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ควรทำความรู้จักตัวและพิจารณาโดยนัยว่า นี้เท่ากับทำโทษตน เผาตนโดยตรง มิใช่ทำโทษหรือแผดเผาผู้อื่นเลยคราวที่ตนผิด ใจยังเคยให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธแค้น เหตุไฉนเมื่อผู้อื่นทำผิด ใจจึงมาลงโทษแผดเผาตนเล่า ผู้อื่นที่ตนโกรธนั้นเขามิได้ทุกข์ร้อนไปกับเราด้วยเลย อนึ่ง ควรตั้งกติกาข้อบังคับ สำหรับตนว่า เมื่อเกิดอารมณ์ร้าย มีโกรธเป็นต้นขึ้น จักไม่พูด จักไม่แสดงกิริยาของคนโกรธหรือตั้งกติกาประการอื่นซึ่งอาจจักรักษาอารมณ์ร้ายเหล่านั้นไว้ข้างใน มิให้ออกมาเต้นอยู่ข้างนอกและพยายามดับเสียด้วยอารมณ์เย็นชนิดใดชนิดหนึ่ง ด้วยการพิจารณาให้แยบคาย มิให้ลุกกระพือสุมอกอยู่ได้
     

แชร์หน้านี้

Loading...