พุทธวจน...การทำกรรมทางใดมีโทษมากที่สุด

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย พุืทธวจน000, 14 พฤศจิกายน 2012.

  1. thepkere

    thepkere เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กุมภาพันธ์ 2012
    โพสต์:
    1,018
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,449
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น กายทัณฑะเท่านั้น
    มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ
    หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่.

    ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บ้านนาลันทานี้เป็นบ้านมั่งคั่ง เป็น
    บ้านเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น?

    อย่างนั้น พระเจ้าข้า บ้านนาลันทา เป็นบ้านมั่งคั่ง เป็นบ้านเจริญ มีชนมาก
    มีมนุษย์เกลื่อนกล่น.

    ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน ในบ้านนาลันทานี้ พึงมีบุรุษคนหนึ่ง
    เงื้อดาบมา เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้อ
    อันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่ง ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญ
    ความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะสามารถทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้อ
    อันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่งได้หรือ?

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษ ๑๐ คนก็ดี ๒๐ คนก็ดี ๓๐ คนก็ดี ๔๐ คนก็ดี ๕๐ คนก็ดี
    ไม่สามารถจะทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อ
    อันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึงได้ พระเจ้าข้า บุรุษผู้ต่ำทรามคนเดียว จะงาม
    อะไรเล่า.

    ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความ
    เป็นผู้ชำนาญในทางจิต พึงมาในบ้านนาลันทานี้ สมณะหรือพราหมณ์นั้น พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
    เราจักทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยใจคิดประทุษร้ายดวงเดียว ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญ
    ความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น จะสามารถ
    ทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่งได้หรือหนอ?

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บ้านนาลันทา ๑๐ บ้านก็ดี ๒๐ บ้านก็ดี ๓๐ บ้านก็ดี ๔๐ บ้านก็ดี
    ๕๐ บ้านก็ดี สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น สามารถจะทำให้
    เป็นเถ้าได้ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่ง บ้านนาลันทาอันต่ำทรามบ้านเดียวจะงามอะไรเล่า.

    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๓
    พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
    หน้าที่ ๕๓/๕๑๘ ข้อที่ ๗๐
     
  2. นายเทิด

    นายเทิด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    142
    ค่าพลัง:
    +1,341
    อ่านอรรถกถาจารย์ ประกอบด้วยจะเข้าใจ ท่านอธิบายได้ละเอียดยิบเลยครับ

    อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค
    อุปาลิวาทสูตร เรื่องทีฆตปัสสีนิครนถ์

    ๖. อรรถกถาอุปาลิวาทสูตร๑-
    ๑- อรรถกถาเป็นอุปาลิสูตร

    อุปาลิวาทสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาลนฺทายํ ความว่า ณ นครมีชื่ออย่างนี้ว่า นาลันทา เพราะกระทำนครนั้น ให้เป็นโคจรคาม บ้านสำหรับโคจร.
    คำว่า ปาวาริกมฺพวเน แปลว่า สวนมะม่วงของทุสสปาวาริกเศรษฐี.
    ได้ยินว่า สวนมะม่วงนั้นเป็นสวนของปาวาริกเศรษฐีนั้น. เศรษฐีนั้นฟังพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วเลื่อมใส สร้างวิหารอันประดับด้วยกุฏิ ที่เร้นและมณฑปเป็นต้นในสวนนั้น แล้วมอบถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. วิหารนั้นจึงได้ชื่อว่าปาวาริกัมพวัน เหมือนวิหารชื่อว่าชีวกัมพวันฉะนั้น. อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวันนั้น.
    เดียรถีย์ที่ได้ชื่ออย่างนี้ว่า ทีฆตปัสสี เพราะเป็นผู้บำเพ็ญตบะมานาน.
    คำว่า ปิณฺฑปาตปฏิกฺกนฺโต แปลว่า กลับจากบิณฑบาต.
    แท้จริง โวหารว่าบิณฑบาต ไม่มีในลัทธิภายนอกเหมือนในพระพุทธศาสนา.
    คำว่า ปญฺญเปติ แปลว่า แสดงตั้งไว้.
    ทีฆตปัสสีเดียรถีย์ถามตามลัทธินิครนถ์ จึงกล่าวคำนี้ว่า ทณฺฑานิ ปญฺญเปติ.
    ในคำนี้ว่า กายทณฺฑํ วจีทณฺฑํ มโนทณฺฑํ พวกนิครนถ์บัญญัติ ๒ ทัณฑะเบื้องต้นว่าเล็กน้อย ว่าไม่มีจิต เขาว่า เมื่อลมพัด กิ่งไม้ก็ไหว น้ำก็กระเพื่อม เพราะกิ่งไม้และน้ำนั้นไม่มีจิตฉันใด แม้กายทัณฑะก็ไม่มีจิตฉันนั้น. อนึ่ง เมื่อลมพัดกิ่งไม้มีใบตาลเป็นต้น จึงมีเสียง น้ำจึงมีเสียง เพราะกิ่งไม้และน้ำนั้นไม่มีจิตฉันใด แม้วจีทัณฑะก็ไม่มีจิตฉันนั้น พวกนิครนถ์บัญญัติทัณฑะทั้งสองนี้ว่าไม่มีจิต ดังกล่าวมาฉะนี้. บัญญัติว่า แต่จิตเป็นมโนทัณฑะ.
    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธประสงค์จะให้ทีฆตปัสสีนิครนถ์ยืนยันถ้อยคำนั้นไว้ จึงตรัสถามว่า กึ ปน ตปสฺสี เป็นต้น ในพระบาลีนั้น ถ้อยคำนั่นแลชื่อว่ากถาวัตถุ ในคำที่ว่า กถาวตฺถุสฺมึ อธิบายว่า ทรงให้เขาตั้งอยู่ในถ้อยคำ.
    ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงกระทำอย่างนี้.
    ตอบว่า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า ทีฆตปัสสีนิครนถ์นี้จักเอาถ้อยคำนี้ไปบอกนิครนถ์ใหญ่ผู้เป็นศาสดาของตนและอุบาลีคฤหบดีนั่งอยู่ในบริษัทของนิครนถ์นั้น เขาฟังคำนี้แล้วก็จักมายกวาทะของเราขึ้นได้ เราจักแสดงธรรมแก่เขา เขาจักถึงสรณะ ๓ ครั้ง แต่นั้นเราก็จักประกาศสัจจะ ๔ ด้วยอำนาจการประกาศสัจจะ เขาก็จักดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. แท้จริง เราบำเพ็ญบารมีทั้งหลายก็เพื่อสงเคราะห์บุคคลอื่นๆ เท่านั้น
    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นประโยชน์ข้อนี้ จึงได้ทรงกระทำอย่างนี้.
    นิครนถ์ถามตามลัทธิของพระพุทธเจ้าจึงกล่าวคำนี้ว่า กมฺมานิ ปญฺญเปสิ.
    ในคำนี้ว่า กายกมฺมํ วจีกมฺมํ มโนกมฺมํ ได้แก่ เจตนา ๒๐ คือเจตนาฝ่ายกามาวจรกุศล ๘ เจตนาฝ่ายอกุศล ๑๒ ที่ถึงการยึดถือ การรับ การปล่อยและการเคลื่อนไหวในกายทวาร ชื่อว่ากายกรรม. เจตนา ๒๐ นั้นแลที่ไม่ถึงการยึดถือเป็นต้นในกายทวาร ที่ให้ถึงการเปล่งวาจาเกิดขึ้นในวจีทวาร ชื่อว่าวจีกรรม. เจตนาฝ่ายกุศลและอกุศล ๒๙ ที่ไม่ถึงความไหวในทวารทั้งสองที่เกิดขึ้นในมโนทวาร ชื่อว่ามโนกรรม.
    อีกอย่างหนึ่ง เมื่อว่าโดยสังเขป กายทุจริต ๓ ชื่อว่ากายกรรม, วจีทุจริต ๔ ชื่อว่าวจีกรรม, มโนทุจริต ๓ ชื่อว่ามโนกรรม.
    แต่ในพระสูตรนี้ กรรมชื่อว่าธุระ. เจตนา แม้ที่จะถึงในพระสูตรลำดับต่อไป อย่างนี้ว่า บุญกรรม ๔ เหล่านี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองประกาศแล้ว ชื่อว่าธุระ. เจตนาที่เป็นไปในกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ มีประเภทเช่น กรรมดำมีวิบากดำเป็นต้น.
    แม้ในนิทเทสวารแห่งกรรมนั้น ท่านก็กล่าวเจตนานั้นไว้โดยนัยว่า ย่อมปรุงแต่งกายสังขาร พร้อมทั้งความเบียดเบียน ดังนี้เป็นต้น.
    ส่วนเจตนาที่เป็นไปในกายทวาร ท่านหมายเอาว่ากายกรรมในสูตรนี้. เจตนาที่เป็นไปในวจีทวาร เป็นวจีกรรม. เจตนาที่เป็นไปในมโนทวารเป็นมโนกรรม เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวว่ากรรมในพระสูตรนี้ชื่อว่าธุระ, เจตนาในพระสูตรลำดับต่อไป ก็ชื่อว่าธุระ. แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติกรรมว่ากรรม เหมือนอย่างแม้เจตนาในพระสูตรนี้นี่แล ก็ชื่อว่ากรรมเหมือนกัน.
    สมดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่ากรรม เพราะคนคิดแล้วจึงทำกรรม.
    ถามว่า ก็เพราะเหตุไร จึงตรัสเรียกเจตนาว่ากรรม.
    ตอบว่า เพราะกรรมมีเจตนาเป็นมูล.
    ก็ในอกุศลและกุศลทั้งสองนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสกายกรรม วจีกรรมที่ถึงอกุศลว่าเป็นใหญ่ ดังนี้ ย่อมไม่ลำบาก ตรัสมโนกรรมฝ่ายกุศลว่าเป็นใหญ่ ดังนี้ ก็ไม่ลำบาก.
    จริงอย่างนั้น บุคคลพยายามด้วยกายอย่างเดียวกระทำกรรม ๔ (อนันตริยกรรม) มีมาตุฆาตเป็นต้นก็ด้วยกายเท่านั้น บุคคลกระทำกรรมคือสังฆเภท (ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน) อันจะยังผลให้บุคคลตั้งอยู่ในนรกถึงกัปหนึ่ง ก็ด้วยวจีทวาร ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกายกรรม วจีกรรม ฝ่ายอกุศลว่าเป็นใหญ่ จึงชื่อว่าไม่ลำบาก.
    ส่วนเจตนาในฌานอย่างเดียวย่อมนำสวรรค์สมบัติมาให้ถึง ๘๔,๐๐๐ กัป เจตนาในมรรคอย่างเดียวเพิกถอนอกุศลทุกอย่างย่อมถือเอาพระอรหัตได้ ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสมโนกรรมฝ่ายกุศลว่าใหญ่ จึงชื่อว่าไม่ลำบาก.
    แต่ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสมโนกรรมฝ่ายอกุศลว่ามีโทษมาก จึงตรัสหมายถึงนิยตมิจฉาทิฏฐิ.
    ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามองไม่เห็นธรรมอย่างหนึ่ง
    อันอื่นที่มีโทษมาก เหมือนอย่างมิจฉาทิฏฐิเลย
    กระบวนโทษทั้งหลายมิจฉาทิฏฐิมีโทษอย่างยิ่ง.
    บัดนี้ แม้นิครนถ์ เมื่อจะเดินทางที่พระตถาคตเจ้าทรงดำเนินแล้ว ถึงมองไม่เห็นความสำเร็จประโยชน์อะไร ก็ทูลถามว่า กึ ปนาวุโส โคตม ดังนี้เป็นต้น.
    คำว่า พาลกิมิยา ความว่า บ้านชื่อพาลกคามของอุบาลีคฤหบดีมีอยู่.
    คนทั้งหลายยึดถือนิครนถ์ผู้ใดมาแต่บ้านนั้น นิครนถ์ผู้นั้นถูกบริษัทนั้นห้อมล้อมด้วยคิดว่า พวกเราจักเยี่ยมเยียนนิครนถ์ใหญ่ผู้เป็นศาสดาของพวกเราในหมู่นั้นก็ไปที่พาลกคามนั้น ท่านหมายถึงพาลกคามนั้น จึงกล่าวว่า พาลกิมิยา ปริสาย. อธิบายว่า อันบริษัทผู้อาศัยอยู่ในพาลกคาม.
    คำว่า อุปาลิปฺปมุขาย แปลว่า มีอุบาลีคฤหบดีเป็นหัวหน้า.
    อีกนัยหนึ่งคำว่า พาลกิมิยา แปลว่า ผู้โง่เขลา อธิบายว่า หนาแน่น.
    คำว่า อุปาลิปฺปมุขาย ความว่า ในบริษัทนั้น อุบาลีคฤหบดีเท่านั้นเป็นคนมีปัญญาอยู่หน่อย อุบาลีคฤหบดีนั้นเป็นประมุข คือหัวหน้าของคนเหล่านั้น แม้เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อุปาลิปฺปมุขาย.
    ศัพท์ว่า หนฺท เป็นนิบาต ลงในอรรถว่า กล่าวเชิญ.
    ศัพท์ว่า ฉโว แปลว่า ทราม.
    ศัพท์ว่า โอฬาริกสฺส แปลว่าใหญ่.
    ศัพท์ว่า อุปนิธาย แปลว่า ยกขึ้นมา.
    ท่านอธิบายไว้ว่า นิครนถ์แสดงว่า กายทัณฑะที่ยกขึ้นมามองเห็นได้อย่างนี้ว่า กายทัณฑะนี้หนอใหญ่ กายทัณฑะเป็นใหญ่ มโนทัณฑะต่ำจะงามอะไร จักงามแต่ไหน ไม่งามเลย แม้เพียงแต่ยกขึ้นมาก็ไม่เพียงพอ.
    คำว่า สาธุ สาธุ ภนฺเต ตปสฺสี ความว่า อุบาลีคฤหบดีเมื่อให้สาธุการแก่ตปัสสีนิครนถ์ ก็เรียกศาสดานาฏบุตรว่า ภนฺเต.
    บทว่า น โข เมตํ ภนฺเต รุจฺจติ ความว่า ทีฆตปัสสีนิครนถ์คัดค้านว่า ท่านเจ้าข้า ข้อนี้จะให้อุบาลีคฤหบดีไปโต้วาทะกับพระสมณโคดมนั้น ไม่ชอบใจข้าพเจ้าเสียเลย.
    ศัพท์ว่า มายาวี แปลว่า ผู้ทำกลลวง (นักเล่นกล).
    ศัพท์ว่า อาวฏฺฏนิมายํ แปลว่า มายาคือการกลับใจ.
    ศัพท์ว่า อาวฏฺเฏติ แปลว่า ลวง ล้อมจับไว้.
    คำว่า คจฺฉ ตฺวํ คหปติ ความว่า เหตุไร นิครนถ์ใหญ่จะส่งอุบาลีคฤหบดีไปถึง ๓ ครั้ง ส่วนทีฆตปัสสีนิครนถ์ก็คัดค้านทุกครั้ง ก็เพราะว่า นิครนถ์ใหญ่ถึงจะอาศัยอยู่นครเดียวกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า.
    ด้วยว่า ผู้ใดย่อมปฏิญาณตนด้วยวาทะว่า เป็นศาสดา ผู้นั้นยังไม่ละปฏิญาณนั้น ก็ไม่สมควรเห็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น นิครนถ์นาฏบุตรนั้นไม่รู้ถึงสมบัติ คือการเห็นและภาวะคือกถาที่แสดงนิยยานิกธรรมของพระทศพลเจ้า เพราะไม่เคยได้เห็นพระพุทธเจ้า จึงยืนยันจะส่งอุบาลีคฤหบดีไปถึง ๓ ครั้ง.
    ส่วนทีฆตปัสสีนิครนถ์บางครั้งบางคราว เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ยืนบ้าง นั่งบ้าง ถามปัญหาบ้าง เขารู้ถึงสมบัติคือการเห็นบ้าง ภาวะคือกถาแสดงนิยยานิกธรรมบ้างของพระตถาคตเจ้า.
    ครั้งนั้น เขาจึงวิตกว่า อุบาลีนี้เป็นคฤหบดีผู้บัณฑิต ไปสำนักพระสมณโคดมแล้วก็จะพึงเลื่อมใสเพราะเห็นบ้าง เลื่อมใสเพราะฟังกถาแสดงนิยยานิกธรรมบ้าง ดังนั้น อุบาลีก็จะไม่พึงกลับมาสำนักของพวกเราอีกเลย. เพราะฉะนั้น เขาจึงคัดค้านถึง ๓ ครั้งเหมือนกัน.
    ศัพท์ว่า อภิวาเทตฺวา แปลว่า ไหว้.
    ความจริง คนทั้งหลายเห็นพระตถาคตเจ้าแล้ว ทั้งผู้ที่เลื่อมใส ทั้งผู้ที่ไม่เลื่อมใส ส่วนมากไหว้กันทั้งนั้น ผู้ไม่ไหว้มีเป็นส่วนน้อย เพราะเหตุอะไร คนที่เกิดในตระกูลอันสูงยิ่ง แม้ครองเรือนก็ไหว้กันทั้งนั้น. ส่วนคฤหบดีผู้นี้ไหว้เพราะเป็นคนเลื่อมใส เขาว่าพอเห็นเข้าเท่านั้นก็เลื่อมใสเสียแล้ว.
    คำว่า อาคมา นุขฺวิธ แยกสนธิเป็น อาคมา นุ โข อิธ.
    คำว่า สาธุ สาธุ ภนฺเต ตปสฺสี ความว่า อุบาลีคฤหบดี เมื่อจะให้สาธุการแก่ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ก็เรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ภนฺเต.
    คำว่า สจฺเจ ปติฏฺฐาย ความว่า ตั้งอยู่ในวจีสัตย์ไม่สั่นคลอนเหมือนหลักที่ปักลงในกองแกลบ.
    คำว่า สิยา โน แปลว่า พึงมีแก่พวกเรา.
    ศัพท์ว่า อิธ แปลว่า ในโลกนี้.
    ศัพท์ว่า อสฺส แปลว่า พึงมี.
    คำว่า สีโตทกํ ปฏิกฺขิตฺโต ความว่า นิครนถ์ห้ามน้ำเย็นด้วยเข้าใจว่า มีตัวสัตว์. คำนี้ท่านกล่าวหมายถึงน้ำที่มีตัวสัตว์.
    คำว่า มโนสตฺตา นาม เทวา ความว่า เทพทั้งหลายผู้ติด ผู้ข้อง ผู้เกี่ยวข้องแล้วในใจ.
    คำว่า มโนปฏิพนฺโธ ความว่า อุบาลีคฤหบดีแสดงว่า บุคคลผู้ติดพันอยู่ในใจย่อมกระทำกาละ (ตาย) เพราะเหตุนั้น เขาจึงเกิดในเทพเหล่ามโนสัตว์.
    แท้จริง โรคที่เกิดแต่จิตจักมีแก่เขา เพราะเหตุนั้น การดื่มน้ำร้อนหรือนำน้ำร้อนเข้าไป เพื่อประโยชน์แก่การล้างมือและเท้าเป็นต้น หรือเพื่อประโยชน์แก่การรดอาบตนเองและคนอื่น จึงไม่ควรแก่เขา โรคจะกำเริบ. น้ำเย็นจึงควร ระงับโรคได้.
    ก็นิครนถ์นี้เสพแต่น้ำร้อนเท่านั้น เมื่อไม่ได้น้ำร้อนก็เสพแต่น้ำข้าวและน้ำผักดองแทน เขาต้องการดื่มและต้องการบริโภคน้ำเย็นนั้นแม้ด้วยจิต เพราะเหตุนั้น มโนทัณฑะของเขาจึงแตก เพราะไม่ได้ดื่มและบริโภคน้ำเย็นนั้น เขาไม่อาจจะกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะรักษากายทัณฑะและวจีทัณฑะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าต้องการดื่มหรือต้องการบริโภคน้ำเย็น ขอท่านโปรดให้แต่น้ำเย็นเท่านั้นเถิด.
    กายทัณฑะและวจีทัณฑะของเขาแม้รักษาไว้อย่างนี้ ก็ไม่สามารถจะชักจุติและปฏิสนธิได้. ส่วนมโนทัณฑะแม้แตกไปแล้วก็ยังชักจุติและปฏิสนธิได้อยู่นั่นเอง ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกะเขาว่า กายทัณฑะและวจีทัณฑะต่ำทราม มีกำลังอ่อน มโนทัณฑะมีกำลังใหญ่
    แม้อุบาสกนั้นก็วิตกว่าเขากำหนดด้วยอำนาจ. คำถามว่า ก็อัสสาสะและปัสสาสะของอสัญญีสัตว์ย่อมเป็นไปไม่ได้แม้ทั้ง ๗ วัน แต่อสัญญีสัตว์เหล่านั้นเขาไม่เรียกว่าตาย เพราะเพียงมีแต่ความเป็นไปแห่งสันตติของจิตเท่านั้น เมื่อใดจิตของอสัญญีสัตว์เหล่านั้นไม่เป็นไป เมื่อนั้นจึงตาย. จะถึงความเป็นผู้ที่เขาควรกล่าวว่า จงนำสัตว์เหล่านั้นไปเผาเสีย. กายทัณฑะปราศจากการไป ไม่ขวนขวาย วจีทัณฑะก็เหมือนกัน แต่สัตว์เหล่านั้นยังจุติบ้าง ปฏิสนธิบ้าง ก็ด้วยจิตอย่างเดียว แม้เพราะเหตุนี้ มโนทัณฑะจึงใหญ่ มโนทัณฑะเท่านั้นชื่อว่าใหญ่ ก็เพราะจิตแม้แตกไปแล้วก็ยังชักจุติและปฏิสนธิได้.
    ส่วนถ้อยคำของนิครนถ์ใหญ่ศาสดาของเราเป็นถ้อยคำที่ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์ได้จริง. แต่อุบาลีคฤหบดีนั้นต้องการจะฟังปัญหาปฏิภาณอันวิจิตร ของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่คล้อยตามเสียก่อน.
    คำว่า น โข เตสนฺธิยติ แปลว่า คำของท่านไม่เชื่อมกัน.
    คำว่า ปุริเมน วา ปจฺฉิมํ ความว่า คำนี้ว่า มโนทัณฑะใหญ่ ณ บัดนี้ กับคำก่อนที่ว่า กายทัณฑะใหญ่ไม่เชื่อมกัน.
    คำว่า ปจฺฉิเมน วา ปุริมํ ความว่า คำก่อนโน้นกับคำหลังไม่เชื่อมกัน.
    บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำเหตุแม้อย่างอื่นๆ มาแก่อุบาลีคฤหบดีนั้น จึงตรัสถามว่า ตํ กึ มญฺญสิ เป็นต้น.
    ในคำเหล่านั้นคำว่า จตุยามสํวรสํวุโต ความว่า ผู้สำรวมแล้วด้วยความสำรวม ๔ ส่วน คือไม่ฆ่าสัตว์เอง ไม่ใช้ให้เขาฆ่าสัตว์ ไม่ชอบใจต่อผู้ฆ่าสัตว์ส่วนหนึ่ง ไม่ลักทรัพย์เอง ไม่ใช้ให้เขาลักทรัพย์ ไม่ชอบใจต่อผู้ลักทรัพย์ส่วนหนึ่ง ไม่พูดเท็จเอง ไม่ใช้ให้เขาพูดเท็จ ไม่ชอบใจต่อผู้พูดเท็จส่วนหนึ่ง ไม่หวังกามคุณเอง ไม่ใช้ให้เขาหวังในกามคุณ ไม่ชอบใจต่อผู้หวังกามคุณส่วนหนึ่ง.
    ในคำเหล่านั้น คำว่า ภาวิตํ เขาหมายความว่า กามคุณ ๕.
    คำว่า สพฺพวาริวาริโต แปลว่า ห้ามน้ำทั้งหมด. อธิบายว่า น้ำเย็นทั้งหมดเขาห้าม. เป็นความจริง นิครนถ์นั้นสำคัญว่ามีตัวสัตว์ในน้ำเย็น เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่ใช้น้ำเย็น.
    อีกนัยหนึ่ง คำว่า สพฺพวาริวาริโต หมายความว่า ห้ามบาปด้วยการเว้นบาปทั้งหมด. คำว่า สพฺพวาริยุตฺโต หมายความว่า ประกอบด้วยการห้ามบาปทั้งหมด. คำว่า สพฺพวาริธุโต หมายความว่า กำจัดบาปด้วยการเว้นบาปนั้นหมด.
    คำว่า สพฺพวาริผุโฏ๒- หมายความว่า ถูกต้องด้วยการห้ามบาปทั้งหมด.
    คำว่า ขุทฺทเก ปาเณ สํฆาตํ อาปาเทติ ความว่า ทำสัตว์เล็กๆ ให้ถึงฆาต.
    ____________________________
    ๒- บาลีว่า ผุฏฺโฐ.

    เขาว่า นิครนถ์นั้นบัญญัติสัตว์มีอินทรีย์เดียวว่า ปาณะ (สัตว์มีชีวิต) บัญญัติสัตว์มี ๒ อินทรีย์ว่าปาณะ บัญญัติแม้ใบไม้แห้ง ใบไม้เก่าๆ ก้อนกรวด กระเบื้องแตกว่าปาณะ ทั้งนั้น. ในปาณะเหล่านั้น เขาสำคัญว่า หยาดน้ำน้อยๆ ก็ใหญ่ ก้อนหินเล็กๆ ก็ใหญ่.
    คำนั้น ท่านกล่าวหมายถึงข้อนั้น.
    คำว่า กสฺมึ ปญฺญเปติ ความว่า บัญญัติไว้ที่ส่วนนั้น คือ ส่วนไหน.
    มโนทณฺฑสฺมึ คือในส่วนที่เป็นมโนทัณฑะ.
    อุบาสกนี้เมื่อกล่าวว่า ภนฺเต ก็กำหนดรู้ด้วยตนเองว่า นิครนถ์ใหญ่ของเราบัญญัติกรรมที่ไม่จงใจ ทำว่ามีโทษน้อย กรรมที่จงใจว่ามีโทษมาก แล้วบัญญัติเจตนาว่ามโนฑัณฑะ ถ้อยคำของเขาไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์จริง ส่วนถ้อยคำของพระผู้มีพระภาคเจ้านำสัตว์ออกจากทุกข์ได้จริง.
    คำว่า อิทฺธา แปลว่า มั่งคั่ง.
    คำว่า ผีตา แปลว่า มั่งคั่งเหลือเกิน เหมือนดอกไม้บานสะพรั่งทั้งต้น.
    บทว่า อากิณฺณมนุสฺสา แปลว่า เกลื่อนกล่นด้วยผู้คน.
    บทว่า ปาณา ได้แก่ สัตว์ดิรัจฉานมีช้างม้าเป็นต้น และมนุษย์มีหญิงชายและทารกเป็นต้น.
    บทว่า เอกมํสขลํ ได้แก่ กองเนื้อกองเดียว.
    บทว่า ปุญฺชํ เป็นไวพจน์ของคำว่า เอกมํสขลํ นั่นเอง.
    บทว่า อิทฺธิมา คือ ผู้ถึงพร้อมด้วยอานุภาพ.
    บทว่า เจโตวสิปฺปตฺโต คือ ผู้ถึงความชำนาญในจิต.
    บทว่า ภสฺมํ กริสฺสามิ แปลว่า จักกระทำให้เป็นเถ้า.
    บทว่า กิญฺหิ โสภติ เอกา ฉวา นาลนฺทา ความว่า คฤหบดีนั้น แม้เมื่อกล่าวคำนี้ก็กำหนดได้ว่า ด้วยกายประโยค แม้มนุษย์ ๕๐ คน ก็ไม่อาจทำเมืองนาลันทาเมืองเดียวให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกันได้ ส่วนผู้มีฤทธิ์คนเดียวก็สามารถทำเมืองนาลันทาให้เป็นเถ้าได้ด้วยความประทุษร้ายทางใจอย่างเดียวเท่านั้น. ถ้อยคำของนิครนถ์ใหญ่ของเราไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์ ถ้อยคำของพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นนำสัตว์ออกจากทุกข์ได้จริง.
    คำว่า อรญฺญํ อรญฺญภูตํ ความว่า มิให้เป็นบ้าน คือเป็นป่านั่นเอง ชื่อว่าเกิดเป็นป่า.
    คำว่า อิสีนํ มโนปโทเสน ความว่า ด้วยการประทุษร้ายทางใจของฤาษีทั้งหลายทำให้พินาศแล้ว. รัฐทั้งหลายเหล่านั้นอันเทวดาผู้ไม่อดกลั้นความประทุษร้ายทางใจนั้นทำให้พินาศแล้ว ก็ชาวโลกสำคัญว่าผู้มีใจประทุษร้ายทำให้พินาศแล้ว เพื่อประโยชน์แก่ฤาษีทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า เขาตั้งอยู่ในวาทะของโลกอันนี้ จึงยกวาทะนี้ขึ้นกระทำแล้ว.
    ในข้อนั้นพึงทราบว่า ป่าทัณฑกีเป็นต้นกลายเป็นป่าดังต่อไปนี้.


    ที่มาครับ http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=62
     
  3. tjs

    tjs ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 เมษายน 2012
    โพสต์:
    3,654
    ค่าพลัง:
    +20,363
    เรียนท่านเจ้าของกระทู้ และทุกท่าน เราจะขอกล่าวธรรม เพื่อยังความสว่างกระจ่างชัดแก่ท่านทั้งหลายตามที่พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสไว้นั้น เธอและท่านทั้งหลายควรทำความกระจ่างในพระวัจนะทั้งหลายด้วย อย่าแค่เพียง ยกมา นำมา แต่ไม่สามารถอธิบายอย่างแยบคายให้เขาเหล่านั้นเข้าใจที่ถูกต้องได้
    เราจะขอกล่าวอธิบายพระวัจนะของพระพุทธองค์ดังนี้ว่า เป็น เช่นนั้น จริง กล่าวคือ
    มโนกรรม มีบาบมาก เพราะเป็นกรรมอันเกิดด้วยเจตนา อันเป็นผลที่เกิดแก่จิต ยังผลให้จิตไหลตกลงไปสู่ที่ต่ำ อันเป็นเครื่องนำจิตให้ติดอยู่ในกิเลสตัณหา และทุกข์ เป็นเครื่องพอกพูนกิเลสตัณหา ทำให้จิตตกลงสู่ที่ต่ำไม่สามารถหลุดพ้นทุกข์ได้

    อนึ่งว่าด้วยกายกรรม และวจีกรรม แม้ได้กระทำลงไปแล้ว แต่หากไม่เจตนา ไม่ได้ตั้งใจกระทำ ย่อมไม่มีบาบกรรมมาก เพราะไม่ได้มีเจตนาเป็นที่ตั้ง

    แต่ผลแห่งวิบากกรรมที่จะให้ผลจากกรรมเหล่านั้นมากน้อยนั้นไม่สามารถชีชัดได้ขึ้นอยู่กับกรรมนั้นๆว่าไปเกี่ยวพันธ์กับสิ่งรอบด้านอย่างไร ขยายผลไปให้เกิดทุกขเวทนาแก่ผู้อื่นมากน้อยอย่างไร เช่นกรณีการฆ่าคนที่เป็นอุบัติเหตุ คือไม่ได้คิดแต่บังเอิญไปฆ่าคนตาย ด้วยไม่เจตนา อย่างนี้ไม่มีบาบมาก เพราะไม่เจตนา ที่จะฆ่าเขา แต่หากว่าด้วยผลแห่งวิบากกรรม ย่อมเป็นบาบมากกว่าเป็นทุกข์มากกว่า เพราะเป็นการฆ่าทำลายชีวิตเขา ทำลายครอบครัวเขาเป็นต้น

    กระผมขอทำความเข้าใจเรื่องบาบบุญ และผลของบาบบุญหรือผลแห่งวิบากกรรมให้เราท่านทั้งหลายเข้าใจว่าเป็นคนละส่วนกัน แต่ก็เกี่ยวเนื่องกันอยู่ การทำคิดชั่วแต่ยังไม่ได้ทำ กับการไม่คิดชั่วแต่ทำชั่วไปแล้วนั้นจึงพิจารณาที่ต่างกัน หากมองเรื่องบุญและบาบ ก็ต่างกัน และหากไปมองเรื่องผลแห่งวิบากกรมคือผลที่จะได้รับก็ต่างกัน ดังนั้นเราชาวพุทธต้องเข้าใจและแยกให้ได้ในเรื่องทั้งสองนี้

    เรื่องบางเรื่องไม่คิดชั่ว แต่แค่ไปทำผิดโดยไม่ตั้งใจ อันเป็นบาบเล็กน้อย แต่กลายว่าไปทำผิดไปทำร้ายทำลายบางอย่างเข้า กลับกลายต้องติดคุกต้องได้รับทุกขเวทนามาก อันนี้ว่ากันไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของผลแห่งวิบากกรรม ฉนั้นกรรมทั้งหลายที่เราท่านพึงจะกระทำ ควรจะต้องน้อมพิจารณาให้ดีว่า กรรมเหล่านั้น ด้วยมโน ก็ดี ด้วยกายกรรม ก็ดี ด้วยวจีกรรมก็ดีนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นบุญหรือบาบมากน้อยอย่างไร และที่สำคัญคือต้องพิจารณาต่อไปว่า แล้วผลแห่งวิบากกรรมละมันจะให้ผลแก่เรามากน้อยอย่างไร
    ให้พิจารณาเป็นเช่นนี้เสมอ ก็จะเกิดปัญญาและไม่ประมาทใน กรรมทั้งหลายทั้งปวงครับ สาธุ
     
  4. tjs

    tjs ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 เมษายน 2012
    โพสต์:
    3,654
    ค่าพลัง:
    +20,363
    ฉนั้น หาก ทำความเข้าใจในพระวัจนะ จึงกล่าวว่า มโนกรรมเป็นใหญ่ มโนกรรมนี้ หมายถึง ทิฏฐิ บัณฑิต ทั้งหลาย ควรมีมโนกรรมที่ดี หรือที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ นั่นเอง
    เสมือนเรานี้มีความตั้งใจดีเสมอ ตั้งจิตมั่น ในสัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิก็ไม่ควรเกิดมีในจิตเรา หากมี เราต้องควรทำลายซึ่งมิจฉาทิฏฐิให้หมดไป เพื่อให้จิตเราประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิและสัมมาทิฏฐินี้เองย่อมก่อให้มโนสุจริต กายสุจริต วจีสุจริต ได้บริบูรณ์ได้ในที่สุด

    ขอท่านทั้งหลายพึงทำลาย ซึ่งมโนทุจริต กายทุจริต และวจีทุจริตให้หมดสิ้นไปด้วยเถิดครับ สาธุ
     
  5. thammakarn

    thammakarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กันยายน 2011
    โพสต์:
    98
    ค่าพลัง:
    +376
    กระทู้นี้สมควรแล้วจริงๆที่ได้เป็นกระทู้เด่น
    เพราะได้นำความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องมาเผยแพร่กัน

    ยังมีอยู่อีกประเด็นหนึ่งที่สมควรจะพูดในเรื่องมโนกรรม
    มโนกรรมนี้เป็นต้นตอของวจีกรรม และกายกรรมเป็นลำดับไป
    ถึงแม้ว่าจะมีเพียงมโนกรรม ไม่ได้กระทำต่อไปเป็นวจีกรรมและกายกรรม
    แต่การคิดชั่วที่เป็นมโนกรรมอันเป็นบาปอกุศลนั้น
    ย่อมเป็นการสั่งสมบาปอกุศลไว้แก่จิตของผู้นั้นเอง
    ย่อมเป็นเชื้อที่จะนำพาให้ไปเกิดในทุคติภูมิได้ง่าย

    แม้จะได้กลับมาเกิดเป็นคน จิตใจของผู้สั่งสมเต็มไปด้วยบาปอกุศลย่อมมีชีวิตที่เจริญได้ยาก พระพุทธองค์ท่านจึงยกให้มโนกรรมเป็นกรรมที่ให้ผลหนักที่สุด เพราะเป็นกรรมต้นทางเป็นกรรมที่เป็นเหตุต้นของกรรมอื่นๆตามมาอันจะนำไปสู่การเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู็จบสิ้นได้เลย
    ขออนุโมทนาสาธุในความเห็นอันเป็นสัมมาทิฐิครับ
    และขอบคุณเจ้าของกระทู้ที่ได้จุดประเด็นที่น่าสนใจยิ่ง
     
  6. tobetruly

    tobetruly เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มกราคม 2009
    โพสต์:
    210
    ค่าพลัง:
    +427
    ใครอยากค้านก็เชิญค้านไป เพราะคนค้านมักเป็นผู้ขี้เกียจในการทำของสูง ยิ่งรู้ว่ามโนกรรมเป็นบาปมากสุด ยิ่งต้องเร่งฝึกจิตฝึกใจ ไม่ใช่รบเร้าให้บาปที่กระทำบ่อยสุดกลับไปตกอยู่ที่อื่น อย่าขี้เกียจและมักง่ายเอาแต่สบายจนต้องประมาท
     
  7. หลานศิษย์

    หลานศิษย์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 เมษายน 2008
    โพสต์:
    191
    ค่าพลัง:
    +561
    เหตุใด มโนกรรม จึงสำคัญ และมีโทษมากที่สุด

    เพราะ ใจหรือจิตนี่เป็นจุดกำเนิดของทุกสิ่ง
    จิตก่อเกิด เวทนา สุข ทุกข์
    จิตก่อเกิดความคิด
    จิตก่อเกิดการปรุงแต่ง
    จิตก่อเกิดการรับรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ

    มีคนมาด่าเรา เสียงหายไปตั้งแต่ขณะนั้้นแล้ว
    แต่จิตเราเก็บมันมาไว้กับตัว

    เราทุกข์เพราะความคิดมากมายไม่รู้สักเท่าไหร่

    จิตยังพาให้ไปสู่ภพภูมิอื่น ๆ ได้อีก ติดตัวเราไปทุกภพทุกขาติ
    ถ้าไม่เปลี่ยนความคิด เสียใหม่ ก็คงจะไม่ได้กลับตัว กลับใจ

    บารมีนี่ก็อยู่ในจิต นิสัยการให้ทาน นิสัยการรักษาศีล นิสัยการปฏิบัติ ออกบวช ฯลฯ
    รวมอยู่ในจิต
     
  8. shaman loseless

    shaman loseless เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2010
    โพสต์:
    156
    ค่าพลัง:
    +185
    ก่อนเราจะลงมือทำอะไรความคิดของเราต้องมาก่อนเสมอจริงไหม
    พระพุทธองค์ทรงมองเห็นมูลเหตุของบาปกรรมที่จะเกิดขึ้นมากมายจากความคิด
    จึงตรัสว่ามโนกรรมนั่นสำคัญที่สุด เราควรเน้นควบคุมความคิดให้เป็นสำคัญ
    เพราะคิดดีเป็นกุศล การกระทำอื่นๆก็ออกมาเป็นกุศล
     
  9. ZenCott

    ZenCott สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 มกราคม 2011
    โพสต์:
    3
    ค่าพลัง:
    +6
    ขออนุญาตย้อนอธิบายขยายความอีกครั้งนะครับ ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายๆ

    ทำไม มโนกรรม ถึงผิดที่สุด !
    ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า
    มโนกรรม คือ เจตนาทำกรรมนั้นโดยตั้งใจ ด้วยความคิด

    ขออนุญาตยกตัวอย่างเช่น

    กรณีโดนยุงกัดนะครับ

    1. โดนยุงกัด แล้วมือเผลอไปตบยุงโดนสัญชาตญาณ ไม่ได้ตั้งใจ (กายกรรม)
    2. โดนยุงกัด แล้วสัญชาตญาณมันฟ้อง จึงอุทานว่า ไอ้ยุงบ้ากัดฉันอีกละ แล้วมือเผลอไปตบยุงโดนสัญชาตญาณ (กายกรรม และ วจีกรรม) ห้ามตัวเองไม่ทัน
    3. โดนยุงกัด แล้วสัญชาตญาณมันฟ้อง พร้อมทั้งเจตนา จึงคิดว่า ไอ้ยุงบ้ากัดฉันอีกละ เห็นทีจะต้องฆ่าให้ตายซะแล้ว จากนั้นก็ตบยุงทันที ( มโนกรรม ) คือตั้งใจฆ่าให้ตาย

    จาก 3 ตัวอย่างนี้ ท่านลองพิจารณาดูนะครับ ว่ากรรมรูปแบบไหนจะผิดมากที่สุด
    1. ยุงตายโดยไม่ได้ตั้งใจ
    2. ยุงตายโดยที่ห้ามตัวเองไม่ทัน
    3. ยุงตายโดยที่เราตั้งใจฆ่ามัน

    ลองใช้ความรู้สึกพื้นฐานดูนะครับ จะรู้สึกว่า ข้อ 3 น่าจะผิดมากที่สุด
    ยุงมันตายตั้งแต่เราเริ่มคิดจะฆ่ามันแล้วนะครับ
    เนื่องจากเราเจตนาฆ่ายุง ถูกต้องมั้ยครับ
    แล้วจะเข้าใจว่าทำไม มโนกรรม จึงผิดที่สุด
    หวังว่าจะช่วยให้เข้าใจมากขึ้นนะครับ

    ^^
     
  10. พูน

    พูน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    595
    ค่าพลัง:
    +2,479
    เพราะ มโนกรรม สร้าง สังขาร เลยอันตรายสุด จะไปเกิดใหม่หรือ นิพพาน ก็ว่ากันตรงนี้ล่ะ
     
  11. wondam

    wondam เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    133
    ค่าพลัง:
    +488
    พูดง่ายๆ ก็คือ มโนกรรมเป็นต้นเหตุของกรรมทั้งปวง แก้โดยใช้สัมมาทิฏฐิ และมีสติ คับ
     
  12. dns

    dns เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 สิงหาคม 2009
    โพสต์:
    111
    ค่าพลัง:
    +248


    พระพุทธองค์ท่านตรัสจริงแท้..........
     
  13. พุืทธวจน000

    พุืทธวจน000 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    259
    ค่าพลัง:
    +1,051
    ...และที่มาของพระสูตรนี้ แบบเต็มๆ ว่ามโนกรรมมีโทษมากที่สุด....
    ***ยาวมากครับ แต่นี่ก็คือต้นตอของเรื่องนี้ ใครอ่านจบจะเข้าใจแจ่มแจ้งครับ.....

    และนี่คือ พุทธวจน ล้วนๆครับ

    เรื่องทีฆตปัสสีนิครนถ์
    [๖๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน ใกล้เมืองนาลันทา. สมัยนั้น
    นิครนถ์นาฏบุตรอาศัยอยู่ ณ เมืองนาลันทาพร้อมด้วยบริษัทนิครนถ์เป็นอันมาก ครั้งนั้นแล.
    นิครนถ์ชื่อว่าทีฆตปัสสี เที่ยวบิณฑบาตไปในเมืองนาลันทา เวลาภายหลังภัต กลับจาก
    บิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงปาวาริกัมพวัน ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
    ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาค
    ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ กะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า ดูกรทีฆตปัสสี อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์
    ก็จงนั่งเถิด เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่งนั่ง
    ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
    กรรม ๓ ของนิครนถ์นาฏบุตร
    [๖๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า ดูกรทีฆตปัสสี
    ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม ไว้เท่าไร?
    ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ทูลว่า ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตร จะบัญญัติว่ากรรมๆ ดังนี้
    เป็นอาจิณหามิได้ ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่า ทัณฑะๆ ดังนี้แล เป็น
    อาจิณ.
    พ. ดูกรทีฆตปัสสี ก็นิครนถ์นาฏบุตรย่อมบัญญัติทัณฑะ ในการทำบาปกรรม ในการ
    เป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร?
    ที. ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตรย่อมบัญญัติทัณฑะในการทำบาปกรรม ในการเป็นไป
    แห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ กายทัณฑะ ๑ วจีทัณฑะ ๑ มโนทัณฑะ ๑.
    ดูกรตปัสสี ก็กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่ง
    หรือ?
    ท่านพระโคดม กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่ง.
    ดูกรตปัสสี ก็บรรดาทัณฑะ ๓ ประการนี้ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกัน
    เหล่านี้ ทัณฑะไหน คือ กายทัณฑะ วจีทัณฑะ หรือมโนทัณฑะ ที่นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่ามี
    โทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม?
    ท่านพระโคดม บรรดาทัณฑะทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่าง
    ต่างกันเหล่านี้ นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่า กายทัณฑะมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ใน
    การเป็นไปแห่งบาปกรรม จะบัญญัติวจีทัณฑะ มโนทัณฑะ ว่ามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะ
    หามิได้.
    ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ?
    ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าว่ากายทัณฑะ.
    ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ?
    ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวว่ากายทัณฑะ.
    ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ?
    ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวว่ากายทัณฑะ.
    พระผู้มีพระภาคทรงให้ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ยืนยันในเรื่องที่พูดนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการ
    ฉะนี้.
    [๖๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กราบทูลถามพระผู้มี
    พระภาคว่า ท่านพระโคดม พระองค์เล่าย่อมบัญญัติทัณฑะ ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไป
    แห่งบาปกรรมไว้เท่าไร?
    ดูกรตปัสสี ตถาคตจะบัญญัติว่ากรรมๆ ดังนี้เป็นอาจิณ.
    ท่านพระโคดม ก็พระองค์ย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่ง
    บาปกรรม ไว้เท่าไร?
    ดูกรตปัสสี เราย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้ ๓
    ประการ คือ กายกรรม ๑ วจีกรรม ๑ มโนกรรม ๑.
    พระโคดม ก็กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่งมิใช่หรือ?
    ดูกรตปัสสี กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่ง.
    ท่านพระโคดม ก็บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกัน
    เหล่านี้ กรรมไหน คือ กายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรมที่พระองค์บัญญัติว่ามีโทษมากกว่า
    ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม?
    ดูกรตปัสสี บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกัน
    เหล่านี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม
    เราจะบัญญัติกายกรรม วจีกรรมว่ามีโทษมากเหมือนมโนกรรมหามิได้.

    ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ?
    ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม.
    ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ?
    ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม.
    ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ?
    ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม.
    ทีฆตปัสสีนิครนถ์ให้พระผู้มีพระภาคทรงยืนยันในเรื่องที่ตรัสนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการ
    ฉะนี้ แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่.
    [๖๕] ก็สมัยนั้น นิครนถ์นาฏบุตรนั่งอยู่พร้อมด้วยคิหิบริษัทเป็นอันมาก ผู้มีความเขลา
    มีอุบาลิคฤหบดีเป็นประมุข. ได้เห็นทีฆตปัสสีนิครนถ์มาแต่ไกล ได้กล่าวกะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า
    ดูกรตปัสสี ดูเถอะ ท่านมาจากไหนแต่ยังวันเทียวหนอ?
    ทีฆตปัสสีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาจากสำนักพระโคดมนี้เอง.
    นิ. ดูกรตปัสสี ก็ท่านได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมเรื่องอะไรบ้างหรือ?
    ที. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมมาบ้าง.
    ดูกรตปัสสี ก็ท่านได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมมาอย่างไร?
    ลำดับนั้น ทีฆตปัสสีนิครนถ์บอกเรื่องการเจรจาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคจนหมดสิ้น
    แก่นิครนถ์นาฏบุตร. เมื่อทีฆตปัสสีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครนถ์นาฏบุตรได้กล่าวกะทีฆตปัสสีนิครนถ์
    ว่า ดูกรตปัสสี ดีละๆ ข้อที่ทีฆตปัสสีนิครนถ์พยากรณ์แก่พระสมณโคดม ตรงตามที่สาวกผู้ฟัง
    ผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของศาสดาโดยชอบ มโนทัณฑะอันต่ำทราม จะงามอะไรเล่า เมื่อเทียบกับกาย
    ทัณฑะอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม
    ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่.
    [๖๖] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดีได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตร
    ว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทีฆตปัสสีพยากรณ์ดีแล้วๆ ข้อที่ท่านทีฆตปัสสีพยากรณ์แก่พระสมณโคดม
    ตรงตามที่สาวกผู้ฟัง ผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของศาสดาโดยชอบ มโนทัณฑะอันต่ำทรามจะงามอะไรเล่า
    เมื่อเทียบกับกายทัณฑะอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำ
    บาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะ
    ไม่ ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม ถ้า
    พระสมณโคดมจักยืนยันแก่ข้าพเจ้า เหมือนอย่างที่ยืนยันกับท่านตปัสสีไซร้ ข้าพเจ้าจักฉุดกระชาก
    ลากไปมา ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณโคดม เหมือนบุรุษมีกำลังพึงจับแกะมีขนยาวที่ขนแล้ว
    ฉุดกระชากลากไปมา ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักฉุดกระชากลากไปมา ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณโคดม
    เหมือนบุรุษมีกำลังผู้ทำการงานโรงสุรา พึงทิ้งกระสอบเครื่องประกอบสุราใหญ่ไว้ในห้วงน้ำลึกแล้ว
    จับที่มุมฉุดกระชากลากไปมา ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักขจัด ขยี้ บด ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณ
    โคดม เหมือนบุรุษที่มีกำลังเป็นนักเลงสุรา พึงจับถ้วยสุราที่หูถ้วยแล้ว พลิกลง พลิกขึ้น
    ไสไป ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเล่นดังเล่นล้างเปลือกป่าน กะพระสมณโคดม เหมือนช้างแก่อายุ ๖๐ ปี
    ลงไปยังสระลึกเล่นล้างเปลือกป่าน ฉะนั้น ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะ
    ในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม.
    นิ. ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม ดูกรคฤหบดี
    เราก็ได้ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม.
    [๖๗] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวกะนิครนถ์
    นาฏบุตรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้า
    ไม่ชอบใจเลย ด้วยว่า พระสมณโคดมเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของ
    พวกอัญญเดียรถีย์.
    นิ. ดูก่อนตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดม
    มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี
    เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม
    เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม.
    ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวเตือนนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่
    อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยพระสมณโคดม
    เป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์.
    นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดม
    มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี
    เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม
    เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม.
    ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวเตือนนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๓ ว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่
    อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยพระสมณโคดม
    เป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์.
    นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดม
    มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี
    เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม เราก็ได้
    ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม.
    [๖๘] อุบาลีคฤหบดีรับคำนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว ลุกจากอาสนะไหว้นิครนถ์นาฏบุตร
    ทำประทักษิณแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงปาวาริกัมพวัน ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้ว
    นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆตปัสสีนิครนถ์
    ได้มา ณ ที่นี้หรือ?
    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า ดูกรคฤหบดี ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้มา ณ ที่นี้.
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์ได้เจรจาปราศรัยเรื่องอะไรๆ กับทีฆตปัสสีนิครนถ์
    บ้างหรือ?
    ดูกรคฤหบดี เราได้เจรจาปราศรัยกับทีฆตปัสสีนิครนถ์บ้าง.
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์ได้เจรจาปราศรัยกับทีฆตปัสสีนิครนถ์อย่างไรบ้าง?
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสบอกเรื่องการเจรจาปราศรัยกับทีฆตปัสสีนิครนถ์จน
    หมดสิ้นแก่อุบาลีคฤหบดี. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสบอกอย่างนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดีได้กราบทูล
    พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆตปัสสีพยากรณ์ดีแล้วๆ ข้อที่ทีฆตปัสสีพยากรณ์
    แก่พระผู้มีพระภาคนั้น ตรงตามที่สาวกผู้ฟัง ผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของพระศาสดาโดยชอบ มโนทัณฑะ
    อันต่ำทรามนั้นจะงามอะไรเล่า เมื่อเทียบกับกายทัณฑะนี้ อันยิ่งใหญ่อย่างนี้ โดยที่แท้
    กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ
    มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่.
    ดูกรคฤหบดี ถ้าแลท่านจะพึงมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน เราทั้งสองพึงเจรจาปราศรัยกันได้
    ในเรื่องนี้.
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจักมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัย
    กันในเรื่องนี้เถิด.
    พระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามปัญหากรรม ๓
    [๖๙] ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญในความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ในโลกนี้เป็นคน
    อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ห้ามน้ำเย็น ดื่มแต่น้ำร้อน เมื่อเขาไม่ได้น้ำเย็นจะต้องตาย
    ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติความเกิดของนิครนถ์ผู้นี้ในที่ไหนเล่า?
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาชื่อว่ามโนสัตว์มีอยู่ นิครนถ์นั้นย่อมเกิดในเทวดาจำพวกนั้น
    ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะนิครนถ์ผู้นั้นเป็นผู้มีใจเกาะเกี่ยวทำกาละ.
    ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้ว จงพยากรณ์คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อนกับ
    คำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
    ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจาต่อกัน ของเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้นกายทัณฑะเท่านั้น
    มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรมในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษ
    มากเหมือนกายทัณฑะไม่.
    [๗๐] ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ในโลกนี้พึงเป็นผู้
    สำรวมด้วยการสังวรโดยส่วน ๔ คือห้ามน้ำทั้งปวง ประกอบด้วยการห้ามบาปทั้งปวง กำจัดบาป
    ด้วยการห้ามบาปทั้งปวง อันการห้ามบาปทั้งปวงถูกต้องแล้ว เมื่อเขาก้าวไป ถอยกลับ ย่อมถึง
    การฆ่าสัตว์ตัวเล็กๆ เป็นอันมาก ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติวิบากเช่นไรแก่นิครนถ์
    ผู้นี้?
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรมิได้บัญญัติกรรม อันเป็นไปโดยไม่จงใจว่ามี
    โทษมากเลย.
    ดูกรคฤหบดี ก็ถ้าจงใจเล่า?
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นกรรมมีโทษมาก.
    ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนไหน?
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนมโนทัณฑะ.
    ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้ว จงพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อน
    กับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
    ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น กายทัณฑะเท่านั้น
    มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ
    หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่.
    ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บ้านนาลันทานี้เป็นบ้านมั่งคั่ง เป็น
    บ้านเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น?
    อย่างนั้น พระเจ้าข้า บ้านนาลันทา เป็นบ้านมั่งคั่ง เป็นบ้านเจริญ มีชนมาก
    มีมนุษย์เกลื่อนกล่น.
    ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน ในบ้านนาลันทานี้ พึงมีบุรุษคนหนึ่ง
    เงื้อดาบมา เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้อ
    อันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่ง ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญ
    ความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะสามารถทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้อ
    อันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่งได้หรือ?
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษ ๑๐ คนก็ดี ๒๐ คนก็ดี ๓๐ คนก็ดี ๔๐ คนก็ดี ๕๐ คนก็ดี
    ไม่สามารถจะทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อ
    อันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึงได้ พระเจ้าข้า บุรุษผู้ต่ำทรามคนเดียว จะงาม
    อะไรเล่า.
    ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความ
    เป็นผู้ชำนาญในทางจิต พึงมาในบ้านนาลันทานี้ สมณะหรือพราหมณ์นั้น พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
    เราจักทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยใจคิดประทุษร้ายดวงเดียว ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญ
    ความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น จะสามารถ
    ทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่งได้หรือหนอ?
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บ้านนาลันทา ๑๐ บ้านก็ดี ๒๐ บ้านก็ดี ๓๐ บ้านก็ดี ๔๐ บ้านก็ดี
    ๕๐ บ้านก็ดี สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น สามารถจะทำให้
    เป็นเถ้าได้ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่ง บ้านนาลันทาอันต่ำทรามบ้านเดียวจะงามอะไรเล่า.
    ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้วจงพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อน
    กับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
    ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริงถึงอย่างนั้น กายทัณฑะเท่านั้น
    มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ
    หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่.
    ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ
    ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาแล้วหรือ?
    อย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป
    ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว.
    ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ
    ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาว่าอย่างไร เกิดเป็นป่าไปเพราะเหตุอะไร?
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ
    ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไปนั้น เพราะใจประทุษร้าย อันพวกเทวดาทำเพื่อฤาษี.
    ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้วจงพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อน
    กับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
    ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.
    อุบาลีคฤบดีแสดงตนเป็นอุบาสก
    [๗๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาคด้วยข้ออุปมา
    ข้อแรก แต่ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะฟังปฎิภาณการพยากรณ์ปัญหาอันวิจิตร ของพระผู้มีพระภาค
    นี้ ฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงยังแกล้งทำเป็นดุจถือตรงกันข้ามอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิต
    ของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือน
    บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนที่หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า
    ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้น
    เหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระ
    ภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะ
    ตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
    [๗๒] ดูกรคฤหบดี ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ การที่มนุษย์ผู้มีชื่อเสียง
    เช่นท่านใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำเป็นความดี.
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยเหตุที่พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า ดูกร
    คฤหบดี ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ การที่มนุษย์ผู้มีชื่อเสียงเช่นท่านใคร่ครวญเสียก่อน
    แล้วจึงทำเป็นความดีนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายิ่งชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาคมากขึ้น ข้าแต่พระองค์
    ผู้เจริญ ด้วยว่าพวกอัญญเดียรถีย์ได้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวกแล้ว จะพึงยกธงปฏากเที่ยวไปตลอด
    บ้านนาลันทาทั้งสิ้น ซึ่งเป็นเหตุจะได้รู้กันว่า อุบาลีคฤหบดี ถึงความเป็นสาวกของพวกเราดังนี้
    แต่พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้ว
    จึงทำ ด้วยว่ามนุษย์ผู้มีชื่อเสียงเช่นท่าน ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำเป็นความดี ดังนี้ ข้าแต่
    พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ
    เป็นครั้งที่ ๒ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต
    ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
    [๗๓] ดูกรคฤหบดี ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวกนิครนถ์มานานแล้ว ท่านพึง
    สำคัญบิณฑบาตอันท่านพึงให้แก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึง.
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า
    ดูกรคฤหบดี ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวกนิครนถ์มานานแล้ว ท่านพึงสำคัญบิณฑบาต
    อันท่านพึงให้แก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึงนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายิ่งชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาค
    มากขึ้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำนี้มาว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า
    ควรให้ทานแก่เราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่คนเหล่าอื่น ควรให้ทานแก่สาวกทั้งหลายของเราเท่านั้น
    ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของผู้อื่น ทานที่บุคคลให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่บุคคลให้แก่สาวก
    ของผู้อื่นไม่มีผลมาก แต่ความจริง พระผู้มีพระภาคยังทรงชักชวนข้าพระพุทธเจ้าในการให้ทาน
    แม้ในพวกนิครนถ์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แต่ว่าข้าพระพุทธเจ้าจักทราบกาลอันควรในการให้ทาน
    นี้ ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ เป็นครั้ง
    ที่ ๓ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้
    เป็นต้นไป.
    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๓
    พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

    ***นี่คือเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบครับ
     
  14. mailgolf

    mailgolf เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    153
    ค่าพลัง:
    +306
    เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
     
  15. tjs

    tjs ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 เมษายน 2012
    โพสต์:
    3,654
    ค่าพลัง:
    +20,363
    พระธรรม คำสอน หลักคิดของพระพุทธเจ้า ใช้ได้ทุกกาล ทุกสมัย แม้ปัจจุบัน ฝรั่ง พยายามสอนให้เรา วิเคราะห์รากเง้าของปัญหา เวลาเราพิจารณาสิ่งต่างๆ ต้องพิจารณาที่เหตุ และผล เราจะมองที่ผลอย่างเดียวก็ไม่ได้ เดี๋ยวนี่หลักการทำงาน ทั้งของฝรั่งและยี่ปุญ เขาเน้นไปที่เหตุ คือต้องทำเหตุให้ดี เหตุจะดีได้ต้องเริ่มจากการสร้างทัศนะคติ ปลูกจิตสำนึก แล้วผลลัพท์ก็จะดีเอง
    ในการดำรงชีวิต ก็เช่นกัน ประเทศไทยเราขาดเรื่องการปลูกจิตสำนึกที่ดีของพระพุทธเจ้าที่ท่านทรงสอนไว้ ส่วนมากเราไปเน้นและดูที่ผล จนลืมไปว่ารากฐานของเราไม่แข็งแรงเพราะเราไม่ได้ช่วยกันสร้าง สุดท้ายจึงขอฝากไว้ขอให้เราท่านทั้งหลายพึงสำเนียกสิ่งเหล่านี้ให้มากครับ เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต จะได้เป็นคนดี มีความสุขในการดำเนินชีวิต สืบไปครับ สาธุ
     
  16. tatumabcd

    tatumabcd เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กันยายน 2007
    โพสต์:
    470
    ค่าพลัง:
    +3,197
    โอ้โห ท่านผู้ทรงภูมิใส่กันซะเต็มที่เชียว
    ผมขอชี้แจงบ้างแล้วกันนะครับ ส่วนใครจะมีโอกาสได้มาอ่านบ้างก็แล้วแต่วาระกรรมเถอะ
    ๑. ผมเชื่อพระไตรปิฏกเต็มที่แน่นอน แต่....
    ๒. การยกพระธรรมมาเพียงบางส่วน โดยไม่มีต้นสายปลายเหตุประกอบ ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก โดยเฉพาะกับคนปัญญาน้อยแบบผม
    ๓. หลังจากได้อ่านส่วนขยายที่คุณ "นายเทิด" รวมถึงต้นสายปลายเหตุที่ท่านเจ้าของกระทู้นำมาลงเพิ่มเติม ก็เท่ากับเคลียร์ทุกอย่างกระจ่างชัด ว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ทำไมพระพุทธเจ้าท่านถึงได้ตรัสแบบนั้น
    (ไม่ใช่ว่าหลับหูหลับตาอ่านแล้วเชื่อทันที)


    บางส่วนจากข้อความของ "คุณเทิด"
    ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงกระทำอย่างนี้.
    ตอบว่า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า ทีฆตปัสสีนิครนถ์นี้จักเอาถ้อยคำนี้ไปบอกนิครนถ์ใหญ่ผู้เป็นศาสดาของตนและอุบาลีคฤหบดีนั่งอยู่ในบริษัทของนิครนถ์นั้น เขาฟังคำนี้แล้วก็จักมายกวาทะของเราขึ้นได้ เราจักแสดงธรรมแก่เขา เขาจักถึงสรณะ ๓ ครั้ง แต่นั้นเราก็จักประกาศสัจจะ ๔ ด้วยอำนาจการประกาศสัจจะ เขาก็จักดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. แท้จริง เราบำเพ็ญบารมีทั้งหลายก็เพื่อสงเคราะห์บุคคลอื่นๆ เท่านั้น
    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นประโยชน์ข้อนี้ จึงได้ทรงกระทำอย่างนี้.



    เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนธันวาคม ๒๕๕๕

    ถาม : มโนกรรม วจีกรรม กายกรรม อันไหนโทษหนักกว่ากัน ?
    ตอบ: ถ้าคิดด่าพระอรหันต์ในใจกับชกชาวบ้านธรรมดา มโนกรรมที่คิดด่าพระอรหันต์ย่อมหนักกว่า ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำกรรมนั้นกับใคร

    ถาม : แล้วแต่กรณีใช่ไหมครับ ?
    ตอบ : ใช่
     

แชร์หน้านี้

Loading...