การแพทย์แผนทิเบต

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 9 เมษายน 2007.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    การแพทย์แผนทิเบต

    โดย "กิ่งสุรางค์"


    น่ายินดีที่คนเราเดี๋ยวนี้รักสุขภาพกันมากขึ้น คงเป็นเพราะว่าอัตราการเสียชีวิตโดยเฉลี่ยลดอายุลงไปเรื่อยๆ และอัตราการเสียชีวิตจากโรคภัยต่างๆ เช่น เบาหวาน มะเร็ง ก็สูงขึ้นทุกปีเช่นเดียวกัน

    หญิงไทยก็นำเสนอข้อมูลดีๆเกี่ยวกับสุขภาพให้กับคุณผู้อ่านได้อ่านกันเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการออกกำลังกาย หรือการแพทย์ในรูปแบบต่างๆ และครั้งนี้ได้นำเรื่องการแพทย์แผนทิเบต มานำเสนอเป็นความรู้กันค่ะ


    ต้องขอออกตัวก่อนว่าการแพทย์ในรูปแบบนี้ค่อนข้างลึกซึ้ง ต้องอาศัยระยะเวลาในการทำความเข้าใจ การฟังบรรยายอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถเข้าใจได้มากนัก ต้องมีการลงมือปฏิบัติประกอบจึงจะเข้าใจมากขึ้น ดังนั้น ข้อมูลในวันนี้จึงเป็นข้อมูลเบื้องต้น ที่เป็นการแนะนำการแพทย์ในเรื่องของการแพทย์แผนทิเบตเท่านั้น...


    มีปรัชญาทางพระพุทธศาสนาบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า ทุกสรรพสิ่งในจักรวาลหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นล้วนเป็นอนิจจัง ความจีรังยั่งยืน ที่สุดแล้วก็คือความไม่จีรังหรือความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสรรพสิ่งนั้น ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ไม่สำคัญว่าจะมีสิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบปรากฏขึ้นหรือไม่ แต่สัจธรรมหนึ่งที่ปรากฏขึ้นแน่นอนก็คือสรรพสิ่งมีชีวิตทั้งหลายล้วนเป็นอนิจจัง ความเป็นอนิจจังนี้เอง ที่เป็นเหตุให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเป็นทุกข์ ไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่งของชีวิต ความทุกข์ไม่ได้เกิดจากเหตุบังเอิญ แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำในชาตินี้ หรือไม่ก็ในชาติภพที่แล้ว ผู้ที่ผ่านการปฏิบัติธรรมอย่างเหมาะสมและจริงใจเท่านั้นจึงจะสามารถปลดปล่อยตัวตนจากวัฏสงสารแห่งความทุกข์ได้


    การแพทย์แผนทิเบตก็เป็นอีกทฤษฎีหนึ่งที่อาศัยหลักขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยได้กล่าวไว้ว่า โรคภัยไข้เจ็บนั้นเกิดมาจากอวิชชาหรือความไม่รู้ และความไม่รู้นี้เองได้ถูกปรุงต่อจนกลายเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง และกิเลส ทั้งสามตัวก็คือตัวที่ส่งต่อให้เกิดโรคต่างๆในร่างกายของเราดังที่จะอธิบายพิ่มเติมต่อไป


    ทฤษฎีการแพทย์แผนทิเบตกล่าวไว้ว่า สรรพสิ่งในจักรวาลล้วนแล้วแต่ประกอบขึ้นจากธาตุทั้ง 5 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ และว่างเปล่า โดยดินจะมีหน้าที่ในการสร้างกล้ามเนื้อ กระดูก จมูก และประสาทการรับรู้กลิ่น น้ำทำหน้าที่ในการสร้างเลือด ของเหลวในร่างกาย ลิ้นและประสาทในการรับรู้รส ไฟทำหน้าที่เกี่ยวกับอุณหภูมิของร่างกาย ผิวพรรณ ตา และประสาทการรับรู้ทางสายตา ลมทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจ ผิวหนัง และประสาทการรับรู้ถึงการจับต้อง สัมผัส และความว่างเปล่าทำหน้าที่เกี่ยวกับช่องท้องหรือช่องว่างในร่างกาย หู และประสาทการรับรู้ทางเสียง


    นอกจากนี้ ปรัชญาพื้นฐานของการแพทย์แผนทิเบตได้แยกออกเป็น ตรีธาตุ องค์ประกอบของร่างกาย 7 อย่าง และของเสีย 3 อย่าง


    ตรีธาตุ ได้แก่ วาตะ (ธาตุลม) การเคลื่อนไหว ปิตตะ (ธาตุไฟ) ความร้อน การเผาไหม้ เสมหะ (ธาตุดินและน้ำ) ความเย็น


    องค์ประกอบของร่างกาย 7 อย่าง ได้แก่ สารอาหาร เลือด เนื้อ ไขมัน กระดูก ไขกระดูก ของเหลวสืบพันธุ์


    ของเสีย 3 อย่าง ได้แก่ อุจจาระ ปัสสาวะ และเหงื่อ


    และถ้าเมื่อใดที่พื้นฐานทั้งสามเกิดการเสียสมดุล ความเจ็บป่วยจึงจะเกิดขึ้น ดังที่กล่าวไว้ว่าการแพทย์ในรูปแบบนี้เชื่อว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยเกิดจากอวิชชา (ความไม่รู้) ซึ่งต่อเนื่องก่อให้เกิดภาวะอกุศลทางด้านจิตใจ 3 ประการ และความอกุศลทั้ง 3 ประการนี้เอง ที่ส่งผลให้เกิดการเสียสมดุลของตรีธาตุ


    ความโลภ จะเป็นตัวกระตุ้นวาตะในร่างกาย (การเคลื่อนไหวต่างๆ)


    ความโกรธ จะเป็นตัวกระตุ้นปิตตะในร่างกาย (ความร้อน)


    ความหลง จะเป็นตัวกระตุ้นเสมหะในร่างกาย (ความเหนียวหนืด)


    อธิบายอย่างนี้เชื่อว่าคุณผู้อ่านคงยังมองไม่เห็นภาพเป็นแน่ จึงขออนุญาตขยายความต่อไปว่า หากตรีธาตุปั่นป่วนแล้วร่างกายเราจะได้ผลอย่างไร และเงื่อนไขซึ่งก่อให้เกิดความผิดปกติของตรีธาตุ รวมถึงวิธีการป้องกันและแก้ไขนั้นมีอะไรบ้าง


    ปิตตะปั่นป่วน หมายถึง องค์ประกอบทั้งหมดจะถูกทำให้ร้อน ปิตตะตั้งอยู่ส่วนล่างของร่างกาย แต่เมื่อถูกรบกวนจะกำเริบหรือกระจายไปยังร่างกายส่วนบน เนื่องมาจากธรรมชาติ ความร้อนหรือไฟจะลอยขึ้นสู่เบื้องบน ดังนั้น โรคร้อนทุกชนิดจะมีมูลเหตุมาจากปิตตะถูกรบกวน


    เสมหะปั่นป่วน จะทำให้ความร้อนในร่างกายลดหรือบั่นทอนลง เสมหะมีธรรมชาติของดินและน้ำ จึงมีคุณสมบัติหนักและเย็น เพราะฉะนั้นถึงแม้เสมหะจะตั้งอยู่ในร่างกายส่วนบนแต่จะตกหรือเคลื่อนลงมายังร่างกายส่วนล่าง เสมหะจะเป็นตัวที่เกี่ยวข้องกับโรคเย็นทุกชนิด หมายความว่าโรคเย็นทุกชนิดจะมีพื้นฐานมาจากความปั่นป่วนของเสมหะ


    วาตะปั่นป่วน วาตะจะเกี่ยวข้องกับทั้งโรคเย็นและโรคร้อน วาตะจะเป็นตัวเสริมปิตตะหรือเสมหะที่มีลักษณะเด่น วาตะจะทำให้ปิตตะปั่นป่วนและทำให้เกิดโรคร้อน วาตะจะแผ่ซ่านไปทั่วร่างกายและเป็นตัวเสริมทั้งโรคร้อนและโรคเย็น


    ความผิดปกติของตรีธาตุนั้น การแพทย์ทางด้านนี้บอกว่าเกิดมาจากการบริโภคพฤติกรรมที่น้อยเกินไป มากเกินไป และไม่ถูกต้อง ดังเช่น ความผิดปกติของวาตะเกิดจากการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาซึ่งมีรสขม และปราศจาคุณค่า มีความอยากมากเกินไป โดยเฉพาะความต้องการทางเพศ ความหิว การอดหลับอดนอน การพูด หรือทำกิจกรรมมากเกินไปขณะที่ท้องว่าง ฯลฯ สิ่งที่บ่งชี้และอาการของโรคที่เกิดจากวาตะโดยทั่วไป คือ ลิ้นสีแดง แห้ง หยาบ ปัสสาวะใส จาง เหลว ชีพจรจะมีลักษณะลอยว่าง และบางครั้งก็หยุดไปชั่วคราวถ้าออกแรงกด หลังจากนั้นก็กลับมาเต้นใหม่ตามความผ่อนคลายของแรงกด ส่วนอาการของคนที่มีความผิดปกติในเรื่องของวาตะจะมีอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวายใจ ถอนหายใจบ่อย จิตใจฟุ้งซ่าน วิงเวียน มึน นอนไม่หลับ ฯลฯ


    ส่วนความผิดปกติของปิตตะเกิดจากการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากๆ เช่น การออกกำลังกายหนักๆ ยกของหนัก ทำงานหนัก ทานอาหารเผ็ดร้อน แหลม เค็ม และมันในปริมาณมากเกินไป เกิดความโกรธเกลียด และมีสภาวะจิตใจที่อกุศลฯลฯ สิ่งที่บ่งชี้และอาหารของโรคโดยทั่วไป ลิ้นจะหนาและมีรสขม ปัสสาวะสีเหลืองแดง มีฟองอากาศเล็กๆเกิดขึ้นและสลายไปอย่างรวดเร็ว มีกลิ่นฉุน ส่วนชีพจรเบาบาง เกร็ง และเร็ว อาการที่เห็นสำหรับคนที่มีความผิดปกติคือ ตา สีผิว และอื่นๆออกเป็นสีขาว เหลืองๆ หิวตลอดเวลา คันตามส่วนต่างๆของร่างกาย ปวดศีรษะ ฯลฯ


    และในเรื่องของเสมหะมีเงื่อนไขความผิดปกติมาจากบริโภคอาหารที่มีรสหวาน หรือที่มีคุณสมบัติที่หนัก เย็น หรือมันเกินความจำเป็น การอยู่เฉยๆ โดยไม่เคลื่อนไหว โดยเฉพาะหลังอาหารมื้อหนัก การนอนหลับในที่ชื้นๆ และอื่นๆ สิ่งที่บ่งชี้และอาการของโรคที่เกิดจากเสมหะโดยทั่วไปคือ ลิ้นสีซีด หนา ชื้น นิ่ม เรียบ ปัสสาวะสีขาว ไม่มีกลิ่น ฟองน้อย ส่วนชีพจร จม เบา และช้า อาการของคนที่มีความผิดปกติของเสมหะที่สังเกตได้คือ มีเสมหะเยอะ คิดช้า รู้สึกทึบๆที่ศีรษะ ความอยากอาหารลดลง ความร้อนในร่างกายลดลง อาหารไม่ย่อย รู้สึกไม่สบายตรงบั้นเอว ฯลฯ


    ผู้ที่มีความผิดปกติของตรีธาตุควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และเริ่มปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารและพฤติกรรมที่ทำเป็นประจำของตัวเอง โดยเฉพาะคนเมือง เพราะคนกลุ่มนี้อยู่ค่อนข้างห่างไกลธรรมชาติและใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกบีบคั้นจากตัวเองและสิ่งรอบข้าง การได้มีโอกาสลดความโลภ ความโกรธ ความหลง จะสามารถช่วยให้สุขภาพของผู้ปฏิบัติดีขึ้นมาก และการกลับไปหาธรรมชาติทั้งทางกายและใจจะช่วยลดภาวะความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากเราสร้างเองได้ อย่าลืมว่าเราก็เกิดมาจากธรรมชาติ หากใช้ชีวิตห่างจากธรรมชาติมากไป ผลร้ายจะเกิดขึ้นกับเราเป็นแน่


    สำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอาหาร ทางการแพทย์แผนทิเบตได้แนะนำพอสังเขปไว้ว่า สำหรับผู้มีความผิดปกติทางวาตะนั้น ควรทานอาหารที่มีไขมันและมีคุณค่าทางอาหาร เช่น เนย เนื้อแกะ น้ำมัน เบียร์หมัก ข้าวต้มกับเนย หรือเนื้อ นมร้อน เป็นต้น ในเรื่องพฤติกรรม คนกลุ่มนี้ควรอยู่ในที่เงียบสงบและอุ่น ควรมีเพื่อนสนิทอยู่ด้วย พยายามทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ปราศจากความวิตกกังวลใดๆ


    อาหารและเครื่องดื่มที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีความผิดปกติของปิตตะ ได้แก่ อาหารที่เย็นและอ่อน เช่น โยเกิร์ต เนื้อต่างๆ ธัญพืช ฯลฯ คนกลุ่มนี้ควรอยู่ในที่ปลอดโปร่ง เย็นสบาย เช่น การนั่งพักผ่อนใต้ต้นไม้หรือริมแม่น้ำ หลีกเลี่ยงกิจกรรมใดๆ ที่จะใช้พลังกายและใจมากเกินไป สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติทางเสมหะควรรับประทานอาหารที่ร้อน อ่อน และย่อยง่าย เช่น เครื่องเทศต่างๆ น้ำผึ้ง ปลา ขิง เป็นต้น ส่วนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คนกลุ่มนี้ควรอยู่ในที่ที่อบอุ่น เช่น ใกล้ๆเตาผิง อาบแดด และควรออกกำลังกายเป็นประจำ


    ศาสตร์โบราณของทิเบตมีรากจากคำสอนของพระพุทธองค์ และหัวใจสำคัญของคำสอนเหล่านี้คือศูนย์กลางความสำคัญของจิตใจ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

    ไม่กระทำความไม่ดีแม้แต่อย่างเดียว

    บ่มเพาะความมั่งคั่งแห่งคุณความดี

    เพื่อกำราบจิตใจของเรา

    นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย



    จิตใจเป็นทั้งแหล่งแห่งความสุขและรากแห่งความทุกข์ ในขณะเดียวกันก็มีศักยภาพอันเยี่ยมยอดในการรักษา แล้วก็มีบทบาทที่จะทำให้เราเจ็บป่วยด้วย


    ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงแต่โดยสังเขป ยังไม่ได้ลงรายละเอียดในเรื่องของการรักษา เพราะดังที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่าเป็นเรื่องละเอียดและลึกซึ้ง ถ้าต้องการความถูกต้องแม่นยำควรจะไปพบแพทย์ ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึง คุณหมอ Passang Wangdu จากสถาบันแมนซีคัง เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย จะมาทำการตรวจรักษาการแพทย์แผนทิเบตให้กับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่เสมสิกขาลัย โทรศัพท์ 0-2314-7385 - 6 [​IMG]




    -------------
    ที่มา: นิตยสารหญิงไทย
    ฉบับที่ 756 ปีที่ 32 ปักษ์แรก เดือนเมษายน พ.ศ. 2550








     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 9 เมษายน 2007
  2. ธรรมวิวัฒน์

    ธรรมวิวัฒน์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    26,414
    กระทู้เรื่องเด่น:
    82
    ค่าพลัง:
    +115,435
    สังเกตชาวธิเบตจะชอบสวดมนต์ ก็เพื่อรักษาสมดุลในร่างกาย ตามคำพูดที่ว่า"จิตใจที่แข็งแรง ย่อมอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์"
     

แชร์หน้านี้

Loading...