วิธีการเจริญสติในชีวิตประจำวัน โดย พระอาจารย์วิมล จตฺตมโล

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย paang, 27 มีนาคม 2007.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,328
    วัดป่าเขาคงคา ตำบลโคกกระชาย อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา


    [​IMG]


    ขอกราบถวายความเคารพแด่พระเดชพระคุณหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ และคณะครูบาอาจารย์เพื่อนสหธรรมิกทุกรูป

    คณะพระสงฆ์ได้เดินทางมากราบถวายความเคารพแด่หลวงพ่อ (คำเขียน สุวณฺโณ) ก็มีความตั้งใจที่จะมารับโอวาทจากพระเดชพระคุณท่านเกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติในการเจริญสติปัฏฐาน

    ซึ่งเมื่อวานนี้หลวงพ่อก็ได้กล่าวชี้แนะแนวทางในการประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับอารมณ์การภาวนา ซึ่งมุ่งเน้นสู่การกลับไปอยู่ที่การรู้สึกตัว อยู่ที่สติที่จะต้องฝึกฝนอบรมให้มีพลังในการที่จะรู้เท่าทันต่ออารมณ์และความคิดที่เกิดขึ้นแต่ละขณะๆ

    เรื่องของการที่จะรู้ทันหรือที่จะเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดที่เกิดขึ้นปัจจุบันแต่ละขณะนั้น สิ่งที่จำเป็นที่สุดก็คือการฝึกให้มีสติอยู่ทุกขณะ ทุกเวลา อันนี้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการที่จะอบรมจิต จะฝึกจิต เพราะธรรมชาติของจิตของคนเรานั้น มักจะคิดไปตามความอยาก คิดไปตามความดำริต้องการ ฉะนั้นการที่เรามายึดกายเคลื่อนไหว กำหนดอิริยาบถของกายอยู่เป็นปกติเป็นการให้จิตมันระลึกรู้อยู่ที่อาการของกายอยู่ที่อิริยาบถเพื่อที่จะไม่ให้มันคิดนึกไปตาม ความอยาก หรือแม้แต่ความคิดนึกที่เกิดขึ้น ถ้าสติของเรามีกำลัง มีความว่องไว ก็จะระลึกรู้เท่าทันอาการของความคิดที่เกิดขึ้น

    หลวงพ่อเคยเน้น บ่อย ๆ ความคิดของคนเรานั้นมันมีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ

    หนึ่งเราเจตนาคิด คิดที่จะทำงานทำการ ทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ เรื่องโน้นเรื่องนี้คิดแล้วมันก็จบไป แต่ความคิดบางอย่างบางเรื่อง ทั้ง ๆที่เราไม่เจตนาคิดไม่ตั้งใจคิดแต่มันก็อุบัติขึ้นหรือเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้สึกตัวถ้าสติสัมปชัญญะของเราไม่เกิด ความคิดก็จะปรุงแต่งนึกไป คิดไป ด้วยอำนาจแห่งความหลง ความเพลิน ความยึดติดก็ทำให้เราหมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น อารมณ์ก็จูงไป ลากไป ทำให้ราคะ เกิดความกำเริบ ทำให้โทสะ เกิดความกำเริบ ด้วยอำนาจแห่งความหลงไม่รู้ทัน

    เพราะฉะนั้นการที่เราได้อยู่กับความรู้สึกของกายหรืออาการของกายที่เราเคลื่อนไหวอยู่ปัจจุบัน ตรงนี้แหละจึงถือว่าเป็นจุดที่เราจะต้องทำให้มากและก็เจริญให้มาก คือทำสติให้ระลึกรู้ลงไปในกายให้มาก การทำความเพียรนี้จึงเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะต้องประกอบ ต้องกระทำ เพราะอยู่ ๆ เราจะให้ความรู้สึกเกิดขึ้นมา ระลึกรู้เท่าทันต่อความนึกคิดปรุงแต่งก็เป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเราได้ฝึกฝนอบรม ได้ประพฤติปฏิบัติ ทำให้จิตมีสมาธิ มีความมั่นคง ทำให้สตินั้นมันระลึกรู้ จนเกิดความเป็นปกติ มีสติที่จะระลึกรู้อยู่บ่อย ๆ พยายามตั้งแต่อิริยาบถหยาบๆ ยืน เดิน นั่ง นอน และอิริยาบถย่อยก็คือ คู้ เหยียด เคลื่อนไหว เหลียวซ้าย แลขวา อ้าปาก หายใจเข้า หายใจออก แม้แต่กลืนน้ำลายที่ลงไปในลำคอ ถ้าเราพยายามสังเกตดูอาการแล้ว ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความรู้สึกตัวทั้งนั้น เพราะอิริยาบถต่าง ๆ ที่เราเคลื่อนไหวอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น ถ้าเราใช้สติใส่ความรู้สึกตัวไปทุกครั้ง ทุกขณะ ก็จะถือว่าเป็นการเจริญสติ เจริญสัมปชัญญะ ทำให้ความรู้สึกตัวที่มีน้อย ๆ ก็จะรู้สึกตัวมากขึ้น ๆ ทำให้ระลึกรู้ได้เร็วมากขึ้น ก็จะเห็นอาการของกายของใจมากขึ้น

    ฉะนั้นอาการของกายที่เราเคลื่อนไหวอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น ถ้าเราใช้ความระลึกรู้หรือใช้สติระลึกรู้ด้วยความแยบคายแล้ว ก็จะเห็นอาการของทุกข์ ทุกข์อันนี้เป็นทุกขสัจที่มันมีอยู่โดยธรรมชาติ ปกติของกายเรานี้มันต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอด มันจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ นั่นก็คืออาการของทุกข์มันก็บังคับ แม้แต่เราจะไม่กลืนน้ำลายลงไปในลำคอ บางครั้งบางคราวเข้าไปฝืนมันก็เกิดทุกข์ขึ้นมา ในการกระพริบตา ถ้าเราไม่กระพริบให้แก่ดวงตา มันก็มีอาการของทุกข์ปรากฏ ฉะนั้นสิ่งที่เราเคลื่อนไหวอยู่มันก็เป็นทุกขสัจอยู่โดยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เราควรกำหนดรู้ เป็นความทุกข์ที่เราไม่สังเกตก็ไม่เห็น เราก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเราฝึกสติ เจริญสติมีความรู้สึกตัวมากขึ้น อาการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ก็ล้วนเป็นอาการของทุกข์ที่มันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติเป็นทุกข์ที่เป็นผลที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ฉะนั้นเมื่อเราอยู่กับอิริยาบถ อยู่กับการเคลื่อนไหว(กาย) ดูลักษณะอาการของจิต ของใจที่มันเกิดขึ้นอยู่แต่ละขณะๆ ก็ถือว่า เป็นการกำหนดรู้ทุกข์ เป็นการกำหนดรู้ทุกขสัจ

    สาเหตุของความทุกข์เหล่านี้ ก็เกี่ยวเนื่องมาจากอารมณ์และความรู้สึกที่อยู่ภายใน เป็นเรื่องของใจ ที่นี้ใจเราเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกลงไปเป็นลักษณะของนามธรรมที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ และมันก็ดับไป และการที่ระลึกรู้อยู่ มันก็ดับ ดับของมันอยู่ตลอด เห็นอาการของใจ ความแยบคายในการใช้สติที่มันละเอียดอ่อน ค่อยกำหนดรู้ ค่อยดู ถ้าเราอยู่กับสมาธิ อยู่กับความรู้สึกตัว อยู่กับความรู้สึกปัจจุบันในทุกๆขณะแล้ว ก็จะเห็นเอง วัน ๆ หนึ่งความคิดของเรา มันเกิดขึ้น มันดับไปอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราไม่สังเกตก็เป็นเรื่องที่ไม่เห็นเหมือนกัน อาการของจิตที่มันเกิดขึ้น ปรุงแต่งในทุกขณะ ก็ล้วนมีเหตุมีปัจจัยที่เกิดขึ้น แล้วมันก็คิด เช่น การได้เห็น ได้ยิน ได้รับสัมผัส สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดการปรุงแต่งนึกคิดทั้งนั้น

    แม้แต่สัญญาที่เกิดขึ้นโดยภายใน ความระลึกนึกถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ จำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ล้วนแต่เป็นเหตุให้เราเกิดความคิดทั้งนั้น เพราะทุกครั้งที่มันมีอาการเกิดขึ้นภายในจิตหรือมีการนึกคิดขึ้นภายใน ถ้าเรารู้จักเฝ้าดู เหมือนหลวงพ่อกล่าวถึงเมื่อวาน คือไม่ต้องไปต่อสู้อะไรกับมัน คือมีสติระลึกรู้ขึ้นมาเฉย ๆ ทำความรู้สึกที่เป็นกลาง ๆ โดยไม่เข้าไปยินดี พอใจ ยึดอะไรกับมัน หรือไม่ยินดี ไม่พอใจอะไรกับมัน มันเกิดขึ้นก็สังเกต ดูมันเฉย ๆ มันก็จะผ่านไป เกิดมาให้เห็น แล้วมันก็ผ่านไป แล้วมันก็จะเกิดขึ้นมาอีก แล้วมันก็ผ่านไปของมันเอง โดยที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจ

    เมื่อความคิดมันเกิดขึ้นมาแล้ว มักจะเข้าไปในความคิด มักจะไปสำคัญมั่นหมาย ไปสร้างอัตตาขึ้นในความคิด ก็เกิดความพอใจ ไม่พอใจ ในเรื่องที่คิด ในอารมณ์หรือในสิ่งที่เราคิดเหล่านั้น ก็เลยเป็นความทุกข์เพราะความคิดอีก ทุกข์ทางกายมันก็หนักพอสมควรอยู่แล้ว แต่ถ้าไปมีความยึดถือในความรู้ในความคิด ในอารมณ์ต่าง ๆ ในความมีความเป็น ตรงนี้แหละมัน ทำให้จิตใจเราไม่สบาย เศร้าหมอง อารมณ์เหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้เราหลงผิดทั้งนั้น

    ฉะนั้นความรู้สึกที่เป็นปกติสบาย ๆ ให้เห็นได้นั้น อะไรก็ตามแต่ ถ้าเรารู้จักทำใจให้เป็นกลาง ๆ ไม่ไปหลงยึดในอารมณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ไปสำคัญมั่นหมายในอารมณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติทั้งหมด เพราะสติที่มันระลึกรู้ไปสู่อาการของใจแล้ว ก็ทำให้ใจที่มันเกิดความฉลาด เกิดกุศล เกิดความรู้เท่ารู้ทันกันขึ้นมา

    แม้แต่กามราคะที่มันเกิดขึ้นมา มันก็ไม่มีมาจากอื่น มันก็มาจากความคิดนั่นเอง ถ้าใจเราไม่ดำริในกามแล้ว มันก็ไม่มี มีแต่ความรู้สึกแล้วก็ผ่านไปเฉย ๆ แต่พอตาเราได้เห็น หูได้ยิน ตรงนี้แหละพอสัมผัสเข้ามาทางตาทางหูแล้ว ใจเรามันไม่มีสติที่จะระลึกรู้ มันก็ไปเพลิน ไปสำคัญมั่นหมายในความสวย ความงาม ในความน่ารักในสิ่งเหล่านั้น ใจเราก็เพลินไปในอารมณ์ในความคิด มันดำริขึ้นมา คิดขึ้นมา นึกขึ้นมา พอเราดำริคิดขึ้นมา ถ้าสติของเรามันฉับไวเห็นความคิดวูบ มันโต ถ้าสติเราเป็นกลางแล้ว มันไม่ค่อยยินดี รู้ว่า อาการของสมุทัยของทุกข์ มันกำลังเกิด มันจะเกิดแล้วจะรู้มันอย่างนี้แล้ว ก็เป็นการควบคุมได้ ควบคุมความยินดี ควบคุมความยินร้าย กายคุมความพอใจ ไม่พอใจ เมื่อเห็นตรงนี้แล้ว มันก็ไม่เกิดเอง ถ้าเราไม่เห็นตรงนี้แล้ว เห็นอะไรก็เพลินไป ถูกดึง ถูกดูด ซึมซับเข้าไป จิตก็เป็นไปกับสิ่งเหล่านั้น คือมันปนกันระหว่างจิตกับอารมณ์ สิ่งที่มากระทบแล้ว เมื่อมีการสัมผัสแล้วมันก็เข้าไปปนกัน มันแยกแยะไม่ออก อารมณ์ต่างๆมันจึงบังจิต บังความรู้สึกแท้ ๆ หรือบังความรู้ที่มันมีอยู่ มันบังคับไว้ มันไม่ได้เพิกออก ไม่ได้ถอนออก ก็เป็นไปด้วยกันระหว่างจิตกับอารมณ์

    ทีนี้ ถ้าหากเราปฏิบัติเข้าไปในความรู้สึก ระลึกรู้อยู่บ่อยๆ เห็นแล้วก็ผ่านไป ๆ มันไม่ได้สำคัญมั่นหมายอะไรกับสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน หรือแม้แต่ความคิด ตัวความคิดเอง แม้แต่ตัวความรู้ ถ้าเราไปสำคัญมั่นหมายกับมัน มันก็ตึง อาการของความรู้สึก ความยึดถือ ก็เกิดขึ้น ถ้าไม่ไปสำคัญมั่นหมาย เห็นแล้วก็เห็น ก็สักว่าเห็น ได้ยินก็สักได้ยิน จิตก็คงความเป็นปกติ รักษาความเป็นปกติเอาไว้ มันก็สมบูรณ์ รู้สึกตัวอยู่ตลอด ราคะ โทสะ โมหะ มันก็ไม่เกิด ตัวนี้ถือเป็นความแยบคายของผู้ที่เจริญความรู้สึกที่ดีแล้ว

    ฉะนั้นในขณะที่เราปฏิบัติไป ความรู้มากมายมันก็จะเกิดขึ้น ได้ความรู้มากมายที่ว่านี้ ก็คือ ความคิดของเรานั่นเอง มันจะวิตกวิจารณ์ รู้ไปเรื่องนั้น เรื่องนี้ เรื่องโน่น คิดไป นึกไป เกิดความแตกฉานเข้าไปในความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่รู้ ฉะนั้นความรู้เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรที่จะเข้าไปยึดถือ เห็นแล้ว รู้แล้วก็ปล่อยก็วาง เพราะเราปฏิบัติถึงจุด เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ความรู้ จุดเป้าหมายอยู่ที่ตัวความรู้สึกของจิตที่มันเป็นปกติ เพราะรู้เองก็เป็นเองไม่เที่ยง มันก็เกิดมันก็ดับของมันอยู่อย่างนี้

    ฉะนั้น ความเป็นปกติของใจเป็นจุดสำคัญ ถ้าเรารักษาความเป็นปกติของใจไว้ได้ตลอด ก็ถือว่าเป็นผลของการปฏิบัติ ทำให้จิตใจเกิดความสงบ เกิดความขยัน อะไรมันจะผุดขึ้นมันจะปรุงแต่ง มันจะเกิดขึ้นภายใน เราก็เห็น ก็รู้อยู่ ไม่เข้าไปสำคัญมั่นหมายหรือเข้าไปยึดถือมั่น ก็ถือว่าเป็นผลแล้วได้รับผลจากการปฏิบัติ ทำให้จิตใจเราอยู่สบาย อารมณ์ ใด ๆ ที่ผ่านเข้ามา ก็ผ่านไปเหมือนกับน้ำมันไหลอยู่ในลำธาร ไหลอยู่ในคลอง เราไปคูน้ำไหลเรายืนอยู่ที่ฝั่ง ฝั่งมันคงที่อยู่เดิม น้ำมันก็ไหลไป ผ่านไป มโนทวารคือ จิตของเรามันก็ทำหน้าที่ที่รู้ต่ออารมณ์ที่มันไหลมันนึกมันคิด มันปรุงแต่งเฉย ๆ แล้วไม่ต้องไปยึดมัน ไหลผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เรื่องเป็นอดีต ถือว่าเป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว เราอย่าไปวิตกกังวลเป็นทุกข์กับเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เรื่องในอนาคตต่างๆ นี่มันยังไม่เกิด ไม่เป็นไรก็อย่าไปกระวนกระวายกับมัน เมื่อมันยังไม่เกิด มันก็ยังไม่เกิด บางทีเรื่องยังไม่เกิด เราก็ไปปรุงแต่งให้มันเป็นไปล่วงหน้าแล้ว มันจะเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นอย่างนี้ มันจะเป็นอย่างโน่น จิตเราก็พัวพันกับเรื่องในอนาคต ไปวิตกกังวลเรื่องอนาคตจนเกินไป ก็ ทำให้เราอึดอัดวิตกกังวล ฟุ้งซ่านไม่สบาย

    ฉะนั้นการปฏิบัติก็ให้อยู่กับปัจจุบันนั่นแหละ ปัจจุบันที่ได้ยิน ได้เห็น ได้รับฟัง ได้นึก ได้คิด ได้มีสติระลึกรู้อยู่ ทำใจให้คงที่ กายจะเคลื่อนจะไหว จะไปจะมา ก็มีสติเหมาะจึงรู้อยู่ตลอด อยู่กับรูปนาม อยู่กับความรู้สึกตัว ตรงนี้มันแยกกันออกได้ในความรู้สึกของเราว่าส่วนไหนมันเป็นรูป ส่วนไหนมันเป็นนาม ส่วนไหนเป็นกายเป็นใจ เราก็รู้จักเห็นด้วยสติ ด้วยปัญญา กำหนดรู้ด้วยสติ ด้วยปัญญา เพราะสิ่งเหล่านี้มันก็เป็นเพียงมายาของรูปของนาม มันก็ไม่มีอะไรที่มันเป็นจริง มันปรุงแต่ง แล้วมันก็ผ่านไป ดับไป กลับไป ถ้าเราคอยสังเกตุดูแล้ว อารมณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในจิต อาการกระทบผัสสะแล้วรับมา มันก็พังหมด มันไม่มีอะไรที่มันคงที่ ยืนตัวอยู่ ทุกอย่างมันผ่านไป ผ่านไป ผ่านไปๆ ดับไป สิ้นไป หมดไป สิ่งที่เราทำในอดีต มันก็ผ่านไป แต่มันก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัยสู่การกระทำในปัจจุบันและสืบต่อในอนาคตเช่นเดียวกัน

    ทุกอย่างมันมีเหตุมีปัจจัยของมัน เช่น การกระทำของเราในขณะนี้เดี๋ยวนี้ มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัย เข้าไปเกิดไปปรุง ไปแต่ง ไปนึก ไปคิดในอนาคตยึดความคิดในอนาคตก็สืบต่อไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นสติของเรามันจะเป็นผู้รู้ ผู้เห็นเอง ถ้าเราเพียรพยายามคิดทำบ่อย ๆ ทำจนเป็นนิสัย ไม่ใช่ทำแล้ว มันจะรู้ขึ้นมาทันมี ค่อย ๆ ทำค่อย ๆ ฝึกหัดไปเรื่อย ๆ

    การปฏิบัติธรรมถ้าเราใจร้อน ทำด้วยความอยากได้เร็ว ๆ ต้องการรู้เร็วๆ ไปบีบ ไปบังคับ ไปฝืน ไปข่มขืนมันมากเกินไปก็ไม่ไหว ค่อยๆเป็น ค่อย ๆ ไป ก้าวทีละก้าว ก้าว ย่างด้วยความมั่นใจ ก้าวด้วยความมั่นคง ทีละก้าวๆๆ ค่อยรู้ ๆๆ ไปเรื่อยๆ ความรู้มันก็จะหนักแน่น ความรู้ที่มันจะเป็นฐานที่แข็งแรง เมื่อเกิดความรู้ขึ้นมามันจะชัดเจน แต่มันอยู่ที่ว่าความรู้ที่มันเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความเพียรความพยายาม ตั้งใจทำบ่อย ๆ ทำอยู่ไม่ขาดสาย แม้แต่เราทำอะไรอยู่ ถือว่าเป็นการปฏิบัติทั้งหมด ไม่ถือว่าเป็นเวลาที่เราอยู่ในห้องกรรมฐาน อยู่ในทางจงกรม อยู่ในที่นั่งภาวนา นั่นคือการปฏิบัติธรรม ที่จริงแล้วก็ดีที่เราถืออย่างนั้น แต่ว่าเวลาที่เราออกจากนี้แล้วเรามักจะปล่อยจิต ไม่ได้อยู่กับความรู้สึก มักจะเพลินไปกับการพูด การคุย การสนุกสนาน ลืมเนื้อลืมตัว เวลาขบ เวลาฉัน เวลาทำกิจภาระหน้าที่เรามักจะปล่อยจิตเราก้าวเดินไป สติเราก็หลงลืมไม่ระลึกรู้ ไม่เห็นอาการของกาย ไม่เห็นอาการของจิต ก็เพลินไป หลงไป ก็ลืมไป สติก็ขาดช่วง ไม่สืบต่อ ไม่ดำเนินต่อ มันก็เสียเวลา ทำให้เนิ่นช้าในการภาวนา

    ฉะนั้นการภาวนาจึงไม่ถือว่าเวลานั้นเวลานี้ ถ้าเราฝึกฝน หวังที่จะเข้าใจที่จะพ้นทุกข์จริง ๆ คือ ต้องทำอยู่ตลอดเวลา ทำอยู่ทุกขณะ เพราะกิเลสมันจะเกิด มันก็ไม่ได้บอกเราล่วงหน้า มันจะเกิดเวลานั้น เวลานี้ ฉะนั้น การเจริญสติเราจะต้องทำให้มันต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ อยู่ ที่ไหน ที่นั่นคือการปฏิบัติธรรม ถ้าเราใส่สติเข้าไปทุกเรื่อง ทุกขณะ ทุกเวลาอยู่กับความรู้สึกตัวอยู่บ่อย ๆ ไม่เพลินในความคิด ไม่หลงในความคิด ไม่มัวเมาในความคิด เราจะอยู่กับความรู้สึกตัว เพียบพร้อมตรงนี้ พยายามที่จะปลุก เขย่าธาตุรู้ ให้เกิดขึ้นกับกาย กับใจตรงนี้แหละ มันไม่ได้มีอะไรมาก ถ้าเราปฏิบัติเข้าไปจริงๆถ้าไม่ได้ไปหมกมุ่นอยู่กับความคิดกับความสงสัย ความอยากรู้อยากเห็น มันก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแต่ทำความรู้สึกที่มันมีอยู่แล้วในธรรมชาติให้มันสืบต่อเนื่องไปเรื่อย ๆๆ แล้ว สติของเรามันก็จะค่อยพัฒนาตัวของมันเอง ค่อยระลึกรู้ ค่อยมองเห็นไปเอง ค่อยสว่างไสว ค่อยรู้แจ้งของมันไปเอง ส่วนเรื่องนี้มันเป็นเอง อยู่ที่ว่าเราจะทำเหตุเบื้องต้นให้มันเกิดขึ้นหรือไม่เท่านั้นเอง

    การเดินจงกรม การนั่งสร้างจังหวะก็ดี การกำหนดอิริยาบถหรือแม้แต่การดูลมหายใจเข้าออกก็ดี เป็นการกระตุ้นให้จิตมันกลับมาอยู่กับกาย อยู่กับความรู้สึกตัวไม่ให้ไปหมกมุ่นมัวเมากับอารมณ์กับความคิด กับเรื่องต่างๆ หรืออารมณ์ของโลกต่าง ๆ ทำใจเราให้อยู่กับปัจจุบันเหตุให้ มาก ๆ ทุกครั้งที่เราเคลื่อนไหว ก็พยายามอยู่กับความรู้สึกตัวตรงนี้แหละ จะทำให้จิตเรากลับ มันจะกลับมาอยู่กับกายอยู่กับใจตัวเอง มันไม่ไปเพลิน ไม่ไปหมกมุ่นอยู่กับอารมณ์ต่าง ๆ

    การเจริญสติปัฏฐาน ให้เราเข้าใจว่า การที่เราอยู่กับกายก็ถือว่าเป็นเรื่องกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กับอิริยาบถ กับการเคลื่อนไหว กับการมีสติรู้สึกตัวอยู่กับกายอยู่เนือง ๆ อยู่ตลอดเวลา เหมือนว่าเรามีสติอยู่กับกาย เป็นหลักฐานที่มั่นคง ที่แนบแน่น เวทนาจิตธรรมเป็นเรื่องที่ต้องรู้เอง เพราะมีอยู่ในกายนี้ ความรู้สึกก็อยู่ในกายนี้ ความคิดก็อยู่ในกายนี้ อารมณ์ต่าง ๆ ก็อยู่ในความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้ เพราะเมื่อเรามีสติอยู่กับกาย ถือว่าเป็นหลักที่มั่นคงแล้ว มันจะสะท้อนให้เห็นความรู้สึกทั้งหมด ความรู้สึกทางกายอันเกิดขึ้นจากกายก็ดี ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากความคิดก็ดี มันจะปรากฏเด่นชัดขึ้นมาว่า โอ้อันนี้เป็นความรู้สึกทางกาย อันนี้เป็นความรู้สึกทางจิต อันนี้เป็นความคิด อันนี้มันเป็นอารมณ์ มันก็จะเห็นทะลุเข้าไปเอง เราจะไปเล่นกับความคิด หรือจะไประลึกรู้ความคิด ก็จะต้องอยู่กับกายให้เป็นซะก่อน ฝึกสติให้รู้กายให้ชัดเสียก่อน เวลามีการกระทบมีผัสสะ มีการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็จะเห็นจิตเอง ถ้าเรายังไม่สามารถที่จะมีสติระลึกรู้อยู่กับกายหยาบ ๆ อยู่กับส่วนที่หยาบ ๆ ระลึกรู้ดูอาการที่เคลื่อนไหว ถ้าเราไม่เห็นตรงนี้แล้ว เราจะไม่เห็นจิตเหมือนกัน ถ้าเราลืมตรงนี้เราก็ลืมจิตเหมือนกัน ถ้าลืมกายเมื่อใดเราก็ลืมจิตเมื่อนั้น ถ้าเราระลึกรู้ไปในกายของเรา ก็จะเห็น ความรู้สึกของจิตที่มันสะท้อนให้เห็นของมันเอง เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงว่าอิริยาบถทางกายของเรานี้อย่าประมาทว่ามันไม่ให้ผลในการที่จะรู้จิต

    ฉะนั้นการยกมือขึ้น เอามือลง เก็บมือเข้า เอามือออก การที่เราอยู่กับความรู้สึกในการเคลื่อนไหว อยู่กับปัจจุบัน ดูอาการของกายอยู่บ่อย ๆ อาการเหล่านั้นเกิดขึ้น อาการเหล่านี้เกิดขึ้น ให้มีสติระลึกรู้อยู่บ่อย ๆ รู้แล้วก็ปล่อยไป ผ่านไป รู้เข้าใจแล้วก็ปล่อยไป ผ่านไป ทำใจให้เราเป็นกลางคงที่อยู่ ก็ถือ ว่าเราได้เจริญสติปัฏฐาน ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

    ของหลวงพ่อครูบาอาจารย์ที่พระคุณท่านได้ชี้บอกทางให้แก่เรา ชี้แนะแนวทางให้กับเรา เป็นการออกจากความทุกข์ ความเศร้าหมอง ความไม่สบาย ให้มันหลุดไป พ้นไป ออกไป ถ้าใจเราไม่ไปมัวเมา เพลิดเพลิน ยึดติดอยู่กับเรื่องราวของความคิดต่าง ๆ แล้วมันก็ไม่มีอะไร ความคิดมันก็เป็นความคิด ความจำมันก็เป็นความจำ ความรู้มันก็เป็นความรู้ มันก็เกิดๆ ดับๆ ของมันอยู่โดยธรรมชาติ การทำงานของมัน กายก็มีหน้าที่ในการที่จะต้องเคลื่อนไหว ต้องยืน ต้องเดิน ต้องนั่ง ต้องนอน ต้องคู้ ต้องเหยียดตามธรรมชาติของมัน ฝ่าฝืนไม่ได้ เป็นอย่างนั้น หน้าที่ของใจก็นึกคิด ต้องจำ ต้องรู้ของมันโดยธรรมชาติ เป็นอาการของมันอยู่ มันก็เปลี่ยนแปลงของมันอยู่อย่างนั้น

    ฉะนั้นความสุข ความทุกข์ต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นผลที่มาจากความนึกคิดปรุงแต่งนั่นเอง ถ้านึกคิดปรุงแต่งถูก มันก็ไม่มีอะไร มันก็เป็นธรรมชาติ ถ้าคิดไม่ถูก คิดด้วยความไม่รู้เท่ารู้ทัน คิดด้วยความยึดถือ คิดด้วยความมีความเป็นแล้ว มันก็ทุกข์ขึ้นมาทันที เพราะมันไปผิดกฎของธรรมชาติ ยึดเอาธรรมชาติมาเป็นตัวเป็นตน มาเป็นตัวเรา เป็นของฉัน เป็นของคุณ ทั้งที่มันก็ไม่ได้เป็นของใคร มันเป็นของธรรมชาติอยู่อย่างนั้น อย่างที่ว่ากายก็เป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น ความนึกคิดมันก็เป็นธรรมชาติที่มันเกิดขึ้นของมัน มันเกิดขึ้นมันก็ดับไป ผ่านไป หมดไป สิ้นไป ไม่ได้มีอะไร ถ้าเราควบคุมจิตได้ เราก็จะเห็นว่า ความคิดมันมีสิ่งที่มันซ่อนเร้นอยู่ภายใน ถ้าเราเห็นความคิด รู้เท่าทันมันแล้ว ก็ไม่มีอะไรมาก

    เพราะฉะนั้นการเห็นขันธ์ห้า การเห็นอาการของขันธ์ห้า ก็คือการเห็นกาย เห็นใจที่ตามตำราเขาบอกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็คือ ความรู้สึก นึกคิดที่มันเกิดขึ้นนั่นเอง มันไม่ได้มีอะไร มันรู้สึกนึกคิดขึ้นมาแต่ละขณะนั้น ก็คืออาการเกิดขึ้นแห่งนามขันธ์ รูปขันธ์ มันเกิด แม้แต่รูปภายในก็เหมือนกัน รูปภายในก็หมายถึง ใจเรามันสร้างมโนภาพขึ้นมา เมื่อเราคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็เป็นมโนภาพเกิดขึ้นทางมโนทวาร เกิดขึ้นทางใจเรา เป็นเรื่องราวต่าง ๆ มันก็เป็นรูปได้เหมือนกัน เพราะว่ารูปหมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งใดที่ถูกรู้นั่นก็คือรูป แม้แต่อารมณ์ต่าง ๆ ก็เป็นรูปภายใน เป็นนามรูป เกิดขึ้นภายใน รูปที่สร้างขึ้นด้วยจิตสังขาร ที่ปรุงแต่งขึ้น ก็เป็นรูปได้เหมือนกัน เป็นรูปภายใน เพราะฉะนั้นตัวความรู้นั่นคือตัวนาม ความคิดต่างๆ ถ้าหากว่า เราจะกล่าวโดยภายใน ก็เป็น รูป เป็น นามรูป เป็นรูปชนิดหนึ่ง คือเป็นมโนภาพ เป็นความคิด เป็นการปรุง การสร้างขึ้นมา เป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้เหมือนกัน ฉะนั้นนามก็คือ ตัวรู้ มันมีอาศัยการกระทบกันการสัมผัส สัมพันธ์กัน แล้วเกิดอย่างนั้นเกิดอย่างนี้

    ฉะนั้นสติที่เราจะรู้ทันกัน ก็จะต้องเป็นมหาสติ เป็นความรู้สึกที่ใหญ่ เป็นความรู้สึกที่ไม่มีอิทธิพลที่เหนืออำนาจของความคิด เหนืออำนาจของการปรุงแต่ง อยู่เหนืออารมณ์ต่าง ๆ ถ้ามันอยู่เหนือได้ มันก็จะสามารถที่จะทำให้อารมณ์ต่างๆ มันขาดสะบั้นไปได้ เวลาเห็นความคิดออกมา สติระลึกรู้ทันปั๊บ มันขาดทันที อารมณ์มันขาด มันไม่ปรุงต่อ เห็นราคะเกิดขึ้น รู้ทันปั๊บมันก็หยุดของมันทันที เห็นจิตที่มันเกิดปฏิฆะเกิดความรู้สึกที่ไม่พอใจขึ้นมาในใจ รู้สึกทันแล้ว มันก็ขาดลงไปทันที มีอิทธิพลมีกำลังที่มันเหนือกว่ากัน มันเหนือกว่าความคิดเหนือกว่าการปรุงแต่ง เหนือกว่าความยินดียินร้าย

    ฉะนั้น ขอให้เราได้พอกพูน ได้เจริญสติได้ทำให้มาก ซึ่งความรู้สึกตัว ต้องอาศัยการทำความเพียร การประพฤติปฏิบัติอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อันนี้ก็ถือว่าเป็นการได้เจริญธรรม ปฏิบัติธรรม ทำใจเราให้เกิดความรู้ชัด รู้เท่าทัน ความยึดถือของจิตใจ ถ้าใจเราไปยึดถืออะไร สิ่งอะไรที่ได้เห็นได้ยิน ได้ฟัง ได้ทำ ได้คิด ขึ้นมา ก็เอามาเป็นตัวเป็นตนหมด เราก็ไม่เห็นว่าเป็นรูป ไม่ได้เห็นว่าเป็นนาม ไม่ได้เห็นว่าเป็นกายเป็นใจ มันรวมหมด รวมภาพทั้งหมดมาเป็นตัวตน เมื่อปฏิบัติไปรู้ไป อันนี้เป็นรูปอันนี้เป็นนาม เห็นการกระทบ เห็นผัสสะ เห็นรูป เห็นนามที่มันปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า เห็นความดับของมันที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า มันก็จะค่อยทำให้ความสงสัยลังเล ความไม่แน่ใจเรานี้หมดไป มันจะมองชัด เห็นชัดรู้ชัดว่าทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ทำอย่างไรทุกข์มันจึงเกิด เวลาที่เราจะดับทุกข์ จะแก้ไขอย่างไรจะดับอย่างไรเราจะเข้าใจเอง ทำอย่างไรทุกข์มันไม่เกิดในใจเรา เราปฏิบัติอย่างไรที่ทุกข์มันไม่ติดอยู่ในใจ ใจมันจะเบาจะสบาย เราจะทำอะไร มันจะรู้จักของเองมันมีสติ มันจะไปรู้ มันเห็นเองว่าทำอย่างไรใจจะไม่ทุกข์ มันรู้จักเอง

    แต่ถ้าเราไม่ฝึกฝน ไม่ปฏิบัติ ไม่เจริญสติแล้ว มันก็จะไม่เห็น ทุกข์ขึ้นมาก็ไม่เห็น นั่งกับทุกข์ นอนกับทุกข์ กินอยู่กับทุกข์ สนุกสนานอยู่บนกองทุกข์ เราก็ยังไม่เห็นทุกข์ ยังไม่เห็น แม้แต่กายเราเป็นทุกข์อยู่ เราก็ยังไม่เห็น ไม่เห็นมัน มันยืน มันเดิน มันคู้ มันเหยียด มันเคลื่อน มันไหว มันกระพริบตา มันกลืนน้ำลายลงไป ถ้าเราไม่กำหนดรู้ทุกข์นี้ เราก็ไม่เห็นทุกข์เหมือนกัน เมื่อไม่เห็นทุกข์ เราก็ดับทุกข์ไม่ได้ แก้ปัญหาให้กับตัวเองไม่ได้ แก้ปัญหาให้กับกายกับใจไม่ได้ เพราะเราไม่ชัดเจน ไม่เห็นทุกข์

    คำว่าทุกข์ท่านจึงกล่าวว่า เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้

    ฉะนั้น การเคลื่อนไหวทุกอย่างถือว่าเป็นทุกขสัจ ที่เราจะต้องกำหนดรู้ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ คือสิ่งที่ต้องกำหนดรู้อยู่ บ่อยๆ กำหนดรู้อยู่ทุกขณะ สมุทัย เหตุที่เกิดแห่งความทุกข์ ก็คือความนึกคิดปรุงแต่ง ด้วยความยึดถือ ด้วยความมี ความเป็น ด้วยตัณหา ด้วยความทะยานอยาก เหล่านี้ก็ถือว่า เป็นเหตุให้ทุกข์เกิดเหมือนกัน ก็ต้องระลึกรู้ต้องละ รู้ทันแล้วต้องหยุด ไม่ตาม ความดับทุกข์ก็หมายถึงใจ สติ ที่พอไประลึกรู้เห็นการปรุงแต่ง เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วไม่ไปยึดถือใจก็โปร่งเบาสบาย นั่นแหละการดับทุกข์

    การปฏิบัติก็คือ กริยาอาการที่เราเข้าไปปล่อยวาง การที่เราปล่อย คือการที่ไม่ยึดไม่ติด ไม่ไปมีไปเป็นกับมัน ไม่ปรุงแต่ง เป็นตัวสติ เป็นตัวสัมปชัญญะ เป็นตัวปัญญา เป็นตัวญาณ เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นมา ไม่เข้าไปหลงติด เห็นแล้วปล่อย เห็นแล้ววาง เห็นแล้วก็สลัดคืนให้กับธรรมชาติ นั่นแหละคือข้อปฏิบัติเป็นมรรคที่ต้องเจริญ ต้องทำ ต้องให้มี ต้องให้เกิดขึ้น พอเกิดขึ้นแล้วก็มองทะลุ เป็นข้อปฏิบัติ

    สำหรับวันนี้ผมคงจะกล่าวให้ข้อคิดแก่พระสงฆ์ นวกะ พอเป็นแนวทางแห่งการนึกคิดแห่งการที่จะเจริญปฏิบัติต่อไป ช่วงท้ายก็ขอคุณพระพุทธ คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ จงเจริญขึ้นในจิตในใจของพระคุณท่าน ทุกรูปทุกนามโดยทั่วกัน

    ขอกราบสวัสดีเพียงแค่นี้

    [​IMG]ที่มา http://www.contrib.andrew.cmu.edu/~arbtip/dailysati.html
     
  2. ธรรมวิวัฒน์

    ธรรมวิวัฒน์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    26,409
    กระทู้เรื่องเด่น:
    82
    ค่าพลัง:
    +115,434
    มีสติให้มาก จะเห็นทุกข์ในขันธ์ 5
     

แชร์หน้านี้

Loading...