สร้างพระสร้างวัด

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 26 มกราคม 2007.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,025
    ในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ที่ดินในเขตอำเภอไชโย แขวงอ่างทอง เพื่อสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่หน้าตักกว้าง ๘ ว่า ๗ นิ้ว สูง ๑๑ วา ๑ ศอก ๗ นิ้ว ก่ออิฐถือปูนประทับนั่ง ปางมารวิชัย ถวายพระนามว่า พระมหาพุทธนันท์ และสร้างวัดไว้ ณ ที่นั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงถิ่นกำเนิดของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โยมบิดาและโยมมารดาพบกัน) โดยตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดเกตุไชโย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตประทับตราแผ่นดินและตราพระราชบัญญัติวิสุงคามสีมา ถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เพื่อสร้างวัดเกตุไชโย อุทิศกุศลแก่โยมบิดา และสนองพระคุณโยมมารดาที่ทุกข์ทรมานอุ้มครรภ์และคลอด ตลอดจนกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูสั่งสอน สอนเดิน ณ ตำบลแห่งนี้
    ช่วงปลายชีวิตของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ท่านเดินทางไปหลายแห่งทั่วประเทศ และสร้างอนุสรณ์ไว้ เช่น

    ๑. พระพุทธรูปนอนใหญ่ที่วัดสะตือ ต. ท่าหลวง อ. ท่าเรือ จ. พระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธไสยาสน์ก่ออิฐถือปูน องค์พระยาว ๑ เส้น ๖ วา สูง ๘ วา ฐานยาว ๑ เส้น ๑๐ วา กว้าง ๔ วา ๒ ศอก สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๓

    ๒. พระพุทธรูปนั่งที่วัดพิตเพียน (วัดกุฎีทอง) จังหวัดพระนคร เป็นพระก่ออิฐถือปูน ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ วา ๓ ศอก

    ๓. พระพุทธรูปที่วัดกลาง ต. คลอดข่อย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร ทำด้วยอิฐถือปูน สูง ๖ วาเศษ เล่ากันว่า สถานที่แห่งนี้เดิมเป็นป่ารกชัฏ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จได้เอาเงินตราเก่า ๆ มีค่าโปรยเข้าไปในป่า ชาวบ้านย่านนั้นร่วมกันถางป่าจนราบเรียบเตียนโล่ง เพื่อหาเงินดังกล่าว จึงสามารถสร้างพระพุทธรูปยืนองค์นี้ได้ ต่อมาได้กลายเป็นสำนักสงฆ์ และเป็นวัดในที่สุด

    ๔. เจดีย์วัดละครทำ ที่แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี เป็นเจดีย์นอน ๒ องค์ หันฐานเข้าหากัน ห่างกันประมาณ ๒ ศอก ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมมาก องค์ด้านใต้ถูกรื้อทำลายไปนานแล้ว องค์ด้านเหนือก็แทบจะไม่เป็นรูปร่างเสียแล้ว เนื่องจากถูกคนขุดค้นหากรุพระสมเด็จ

    ๕. รูปปั้นแทนโยมตาและโยมแม่ สร้างกุฏิ ๒ หลัง อยู่ด้านทิศใต้ของวัดอินทรวิหาร ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง ขนาดเท่ากัน กว้าง ๑ วา ยาววาครึ่ง ปั้นรูปแทนโยมตาเป็นรูปพระสงฆ์นั่งขัดสมาธิ หน้าตักกว้าง ๒๔ นิ้ว อยู่กุฏิหลังซ้าย ส่วนแทนโยมมารดาปั้นเป็นรูปภิกษุนั่งขัดสมาธิ หน้าตักกว้าง ๒๓ นิ้ว ประดิษฐานอยู่กุฏิหลังขวา

    ๖. หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร ที่ตำบลบางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร สูง ๑๖ วาเศษ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จสร้างได้ประมาณ ๙ วาเศษ ท่านก็ถึงแก่มรณภาพเสียก่อน ต่อมาหลวงปู่แดงได้ก่อสร้างเพิ่มเติมจนเสร็จสมบูรณ์

    สร้างพระสมเด็จ

    โดยที่เจ้าประคุณสมเด็จ ท่านเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนาธุระยิ่งนัก กอปรด้วยพระเมตตาบารมีสูงยิ่ง เมื่อท่านเจริญชนมายุแก่กล้าเป็นพระมหาเถระแห่งยุคสมัยแล้ว ก็ได้ปรารภเหตุว่า มหาเถระแต่ปางก่อนนั้น มักจะนิยมสร้างพระพิมพ์จำนวนมาก บรรจุลงไว้ในปูชนียสถานต่าง ๆ เพื่อเป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนา และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนคนรุ่นหลังได้กราบไหว้บูชาเป็นการเจริญพุทธานุสติ ปรารภเหตุดังกล่าวนี้ เจ้าประคุณสมเด็จ จึงได้ลงมือสร้างพระพิมพ์รุ่นแรกขึ้นมีจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ เป็นพระสมเด็จรุ่นแรกที่เรียกกันว่า "ทรง ๓ ชั้น"

    ต่อมาเจ้าประคุณได้สร้างรุ่นสองขึ้นอีก ที่เรียกกันว่า "ทรง ๗ ชั้น" เพื่อนำไปบรรจุไว้ที่วัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง อันเป็นวัดที่ระลึกถึงโยมมารดาของท่าน แต่รุ่นนี้สร้างไม่ครบจำนวน สมเด็จได้บอกแก่นายเทศ ช่างแกะสลักพระ บ้านอยู่หลังตลาดบ้านขมิ้นติด ๆ กับวัดระฆังฯ ว่า รุ่นนี้คงจะทำไม่ครบจำนวน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ตามที่ตั้งใจไว้เสียแล้ว เพราะคงจะถึงแก่มรณภาพลงเสียก่อน เนื่องจากสังขารสูงวัยมากแล้ว ท่านจึงให้เอาพระคะแนนร้อยคะแนนพัน จากการสร้างรุ่นแรกเอามาบรรจบรวมกัน แล้วนำไปบรรจุไว้ที่วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง ตามที่ตั้งใจไว้จนครบบริบูรณ์

    พระสมเด็จองค์แท้เป็นอย่างไร

    ผู้ชำนาญการเฉพาะพระเครื่องสมเด็จกล่าวไว้ว่า พระสมเด็จองค์แท้จริงนั้น หมายถึงพระที่สมเด็จโตท่านสร้างไว้ สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๕๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๑๕ เท่านั้น ส่วนชุดอื่น ๆ ที่ใช้ผงสมเด็จมาผสม หรือกระทำพิธีอัญเชิญดวงพระวิญญาณสมเด็จมาประทับทรงระหว่างปลุกเสก คงได้ชื่อเพียง "พระตระกูลสมเด็จ" หรือ "แบบสมเด็จ" เท่านั้น
    เฉพาะกรุที่ทำโดยเอาผงสมเด็จไปผสมนั้น ยืนยันกันว่ามีเพียง ๓ กรุเท่านั้น คือ

    ๑. กรุวัดใหม่อมตรส กรุนี้มีประวัติเล่าไว้ว่า "เสมียนตราเจิม" บิดาของพระอักษรสมบัติ บ้านอยู่ตำบลบางขุนพรหม ได้สร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่หนึ่งองค์ขึ้นที่วัดนั้น เพื่อเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุสกุลวงศ์ ประสงค์จะสร้างพระสมเด็จบรรจุไว้ในพระเจดีย์นี้ด้วย จึงไปขอผงจากเจ้าประคุณสมเด็จได้มาครึ่งบาตร ประกอบพิธีสร้างที่วัดอินทรวิหาร ต่อหน้าเจ้าประคุณสมเด็จ ซึ่งเสมียนตราเจิมได้นิมนต์เจ้าประคุณให้มาฉันเพลในงานนี้ด้วย

    ๒. กรุวัดพลับ มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ไม่ทราบนามฉายา อยู่ที่วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) เข้าใจว่าจะเป็นเพื่อนสหธรรมิกของเจ้าประคุณสมเด็จนั่นเอง ได้ออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ได้ว่านยาชนิดต่าง ๆ มามากมาย กลับมาแล้วก็มีความคิดจะสร้างพระพิมพ์ขึ้นเช่นกัน จึงไปขอผงพระจากเจ้าประคุณสมเด็จ แต่ได้มาเพียงเล็กน้อย นำมาผสมกันสร้างเป็นพระพิมพ์เนื้อแข็ง สีขาวนั่งขัดสมาธิ มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ มีทั้งพิมพ์พระนอน และพิมพ์ ๒ หน้า แต่เป็นกรุที่หายากมาก ปัจจุบันนี้แทบจะหาดูกันไม่ได้เสียแล้ว

    ๓. กรุพระสมเด็จปิลันธน์ กรุนี้มีคำเล่าบอกของเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชโต) ศิษย์ก้นกุฏิของเจ้าประคุณสมเด็จ เล่าไว้ว่า
    หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) วัดพระเชตุพน เมื่อขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่ "พระพุทธุปบาทปิลันธน์" และยังสถิตอยู่ ณ วัดระฆังฯ ได้ทรงขอผงพระจากเจ้าประคุณสมเด็จ นำไปผสมกับผงดำของท่านสร้างเสร็จแล้ว ได้นำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์มุมพระอุโบสถด้านตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งต่อมาทางคณะกรรมการวัดระฆังฯ ได้ทำการเปิดกรุไปแล้ว
    เรื่องนี้ ท่านเจ้าคุณพระเทพญาณเวที (ละมูล สุตาคโม) วัดระฆังฯ เล่าเสริมว่า ได้ค้นพบพระสมเด็จปิลันธน์อีกกรุหนึ่งบนเพดานหอไตร มีทั้งที่สมบูรณ์และชำรุดจำนวนมาก จึงได้คัดเอาองค์ที่ชำรุดมาปลุกเสกสร้างขึ้นใหม่ โดยประกอบพิธีปลุกเสกในพระอุโบสถวัดระฆังฯ เมื่อ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมรวม ๑๐๘ รูป พระสมเด็จปิลันธน์ ชุดนี้เป็นพระปางสมาธิ มีทั้งชนิดนั่งองค์เดียวบ้าง ๒ องค์และ ๓ องค์บ้าง นั่งในม่านแหวกเจดีย์ ๒ องค์ สีดำเจือขาว เนื้อเหมือนปูนซิเมนต์

    พระสมเด็จแท้มี ๗๓ ชนิด

    พระอาจารย์ขวัญ วิสิฐโฐ วัดระฆังฯ อ้างว่า ได้ยินมาจากคำบอกเล่าของเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช่วง) ศิษย์ก้นกุฏิรุ่นแรกของเจ้าประคุณสมเด็จว่า พระสมเด็จซึ่งสร้างจากมือท่านแท้ ๆ นั้น มีรวมอยู่ด้วยกัน ๗๓ ชนิด แต่เท่าที่สืบทราบได้ในปัจจุบันนี้ มีเพียง ๒๙ ชนิดเท่านั้น

    เล่ากันมาอีกว่า พระสมเด็จรุ่นแรกสุด ชนิดทรง ๓ ชั้น มี ๓ อย่างคือ สีดำ มีคุณวิเศษทางคงกระพันชาตรีม สีขาว มีกลิ่นหอม แก้โรคภัยต่าง ๆ และสีขาวไม่มีกลิ่น ใช้ทางเมตตามหานิยม ทั้ง ๓ อย่างนี้มีขนาดเดียวกัน คือ กว้าง ๔.๑ ซม. สูง ๖.๑ ซม. โดยนายเทศช่างแกะสลักพระ บ้านอยู่หลังตลาดบ้านขมิ้น เป็นผู้ทำแม่พิมพ์ให้ และเมื่อเจ้าประคุณสมเด็จสร้างพระพิมพ์รุ่นแรกนี้สำเร็จลงแล้ว ท่านให้พระองค์แรกแก่ "นางเอี่ยม" แม่ค้าขายน้ำพริกเผาและกุ้งแห้งในตลาดบ้านขมิ้นเป็นคนแรก ซึ่งนางเอี่ยมก็ตำหนิตรง ๆ ว่า มีขนาดใหญ่เกินไป เจ้าประคุณสมเด็จก็ยอมรับว่าจริง แต่บอกว่ารุ่นแรก ๆ นี่ต้องทำให้ใหญ่หน่อย ต่อมาภายหลังเห็นว่าสร้างขนาดใหญ่เปลืองผงมาก จึงได้สร้างขนาดเล็กในเวลาต่อมา

    วัสดุที่ใช้สร้างพระ

    ท่านเจ้าประคุณพระเทพญาณเวที (ละมูล สุตาคโม) วัดระฆังฯ อ้างคำบอกเล่าจาท่านเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช่วง) ซึ่งเป็นพระฐานานุกรมของเจ้าประคุณสมเด็จอีกต่อหนึ่งว่า

    การสร้างพระสมเด็จของเจ้าประคุณนั้น ท่านใช้ปูนขาวเป็นหลัก ผสมด้วยเกสรดอกบัว ขี้ไคลใบเสมา น้ำอ้อย, เนื้อ และ เปลือกกล้วยน้ำละว้า, น้ำมันตั้งอิ้ว, ขี้ธูปในพระอุโบสถ ปูนและดินกรุตามพระเจดีย์เก่า ๆ เศษอาหารและชานหมากที่สมเด็จฉันแล้ว ผงจากใบลานเผา, ว่านวิเศษต่าง ๆ และผงวิเศษในทางแคล้วคลาด และเมตตามหานิยม จากผงดินสอ ซึ่งเจ้าประคุณเขียนอักขระตัวขอมในเวลาลงเลขยันต์ต่าง ๆ

    เมื่อเวลาจะสร้างนั้น สมเด็จมีดินสอเหลืองแท่งใหญ่อยู่แท่งหนึ่ง จะให้นายน้อย ซึ่งเป็นง่อยและอาศัยอยู่กับท่านมานานแล้ว เลื่อยดินสอเหลืองออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วลงประสมกับเปลือกกล้วย เจือด้วยน้ำผึ้งบ้าง น้ำอ้อยบ้าง ตำจนละเอียดดีแล้ว จึงให้นายน้อยกับพระธรรมถาวร (ช่วง) ช่วยกันพิมพ์พระลงบนแม่พิมพ์ที่ "ช่างเทศ" เป็นคนแกะให้ใหม่ เป็นแม่พิมพ์ขนาดเล็ก รูปหลังเบี้ยฐาน ๓ ชั้น เสร็จแล้วใส่บาตรไว้เก็บในกุฏิชั้นใน แล้วทำพิธีปลุกเสกวันละ ๓ ครั้ง คือ เช้า กลางวัน และหัวค่ำ จนพอแก่ความต้องการ จึงค่อยเอาออกแจกจ่ายแก่ผู้ประสงค์ต้องการ

    ต่อมาพิธีปลุกเสกพระสมเด็จเปลี่ยนแปลงไปบ้างกล่าวคือ สมเด็จได้เอาบาตรพระที่ใส่พระพิมพ์ไว้จนเต็มแล้วนั้นไปตั้งไว้ที่หอสวดมนต์หน้าพระพุทธรูปประธาน แล้ววงสายสิญจน์จากพระประธานไปยังที่บาตรพระ อาราธนาภิกษุทั้งปวงที่มาเจริญพระพุทธมนต์ในระหว่างเข้าพรรษาว่า "ช่วยกันปลุกเสกพระของฉันด้วย" ทำเช่นนี้ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานั้น ครั้นครบกำหนดไตรมาสแล้ว สมเด็จก็เอาพระที่ปลุกเสกครบกระบวนความแล้วไปบรรจุไว้ตามเจดีย์ของวัดต่าง ๆ เช่นวัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) วัดตะไกร ที่แขวงกรุงเก่า, วัดระฆังฯ และวัดไชโยที่จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น

    ผู้ช่วยในการสร้างพระสมเด็จฯ นั้น นอกจากท่านเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช่วง) และนายน้อย (ง่อย) ๒ คนที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีอีกหลายคนที่ช่วยกันคือ ๑. พระภิกษุพ่วง ๒. พระภิกษุภู (ต่อมาคือหลวงปู่ภู วัดอินทร์ เกจิอาจารย์ชั้นยอดอีกองค์หนึ่งของเมืองไทย) ๓. พระภิกษุแดง ๔. พระภิกษุโพธิ์ ๕. สามเณรเล็ก และ ๖. หลวงบริรักษ์โรคาพาธ แพทย์หลวงในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้วัดระฆังฯ เวลาว่าง ๆ ก็มักจะช่วยเจ้าประคุณในการสร้างพระพิมพ์ชุดต่าง ๆ อยู่เสมอ
     

แชร์หน้านี้

Loading...